วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระโพธิธรรมาจารย์เถร
(หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)


วัดป่าเขาน้อย
ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์



๏ อัตโนประวัติ

“พระโพธิธรรมาจารย์เถร” หรือ “หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ” มีนามเดิมว่า สุวัจน์ (อุ้ง) ทองศรี เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ณ บ้านตากูก ตำบลตากูก กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบุตร และนางกิ่ง ทองศรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน โดยมีพี่ชาย ๒ คน และน้องสาว ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓


๏ ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

เมื่ออายุถึงเกณฑ์ ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตำบลตากูก จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น และท่านได้อยู่ช่วยงานด้านเกษตรกรรมร่วมกับโยมบิดา-โยมมารดา และพี่ๆ น้องๆ นอกจากนั้น ท่านได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพกับช่างตีทอง จนมีความรู้พอประกอบอาชีพได้

ในวัยหนุ่มที่นมีอาชีพเป็นช่างทอง วันหนึ่งท่านนั่งอยู่กลางทุ่งนาเห็นพระธุดงค์เดินผ่านมา เมื่อได้สนทนาเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า “กาลข้างหน้าจะต้องออกบวชเป็นพระธุดงค์”

อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ปลงธรรมสังเวชในมนุษย์เป็นๆ คือ มีผู้หญิงท้องแก่คลอดก่อนกำหนดไม่มีใครอยู่ในหมู่บ้าน เธอร้องขอความช่วยเหลือ น้ำคร่ำไหลออกมาเต็มไปหมด ท่านเห็นเช่นนั้นจึงได้เข้าไปช่วยเหลือ ช่วยจับ ช่วยดึง ช่วยบอกให้ เบ่งๆ ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นตั้งแต่เกิดมาประจักษ์แก่ใจมากในวันนั้น สงสารก็สงสาร สังเวชก็สังเวช ทั้งเลือดทั้งคนปะปนกันออกมา ความเกิดเป็นทุกข์ประจักษ์แก่ใจแบบไม่มีวันลืม เกิดความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายขึ้นมาทันใด ได้กระทำไว้ในใจว่า “สักวันหนนึ่งจะต้องออกบวชอย่างแน่นอน”


๏ การบรรพชาและการอุปสมบท

ด้วยจิตใจที่ฝักใฝ่สนใจในทางธรรม และรักในเพศบรรพชิตมาตั้งแต่เป็นเด็ก ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๙ ปีบริบูรณ์ ท่านก็ได้ขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยเข้าพิธีบรรพชา ณ วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตำบลตากูก นั้นเอง

ท่านได้ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม จนเมื่ออายุใกล้ครบอุปสมบท ซึ่งแม้ว่าการปฏิบัติธรรมของท่านในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่นี้จะไม่นานนัก แต่ความศรัทธาต่อศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้หยั่งลึกในจิตใจท่านและเพียงพอที่จะเกิดเป็นปณิธานภายในใจท่านว่า อย่างไรเสียท่านต้องอุปสมบทเพื่อประพฤติธรรมในสมณเพศนี้สืบไป ดังนั้น ท่านจึงได้ขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาเพื่ออุปสมบท ซึ่งท่านทั้งสองก็ไม่ขัดข้อง อย่างไรก็ดีตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวพอดี ประกอบกับเพื่อจะได้จัดการในเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะอุปสมบท ท่านจึงได้ลาสิกขาจากสามเณรเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน

ในปีถัดมาคือปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลังจากที่ท่านได้จัดการเรื่องต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทอยู่ในภิกษุภาวะสมความตั้งใจ ณ พัทธสีมาวัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกายที่ท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระครูธรรมทัศน์พิมล (ด้น) เจ้าอาวาสวัดศาลาลอย (เมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เคลือบ วัดดาวรุ่ง บ้านขาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์อุเทน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ในพรรษาแรกนั้นเอง ได้มีคณะศรัทธาชาวบ้านบุแกรง อำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคืออำเภอจอมพระ) จังหวัดสุรินทร์ พากันมาอาราธนาท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุแกรง ซึ่งเป็นวัดร้างไม่มีพระจำพรรษา ต่อมาเห็นด้วยว่า หากจะอยู่ทำประโยชน์ไว้ในบวรพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จำเป็นต้องศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ และ พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามลำดับ


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลังจากสอบพระปริยัติธรรมได้นักธรรมชั้นโทแล้ว ท่านเกิดมีศรัทธาหนักไปในทางปฏิบัติจิตตภาวนา จึงได้เดินทางเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทั่งได้พบกับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา แล้วเกิดความเลื่อมใสข้อวัตรปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ฝั้นเป็นยิ่งนัก ดังนั้น ท่านจึงได้ขอญัตติใหม่ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร พันธ์เพ็ง ป.ธ. ๕) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูธรรมธร (ทองดี) วัดศรีจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุวโจ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้ว่ากล่าวตักเตือนง่าย”

เมื่อญัตติแล้วท่านได้กลับไปจำพรรษา ณ วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา เป็นเวลา ๒ พรรษา โดยได้อยู่จำพรรษาและศึกษาธรรมกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ติดตาม พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก ออกเดินธุดงค์ไปทางพระธาตุพนม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้ธุดงค์ไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นเทือกเขาภูพาน ไปจำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) จังหวัดสกลนคร เพื่อกราบนมัสการขอโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ให้โอวาทว่า “อาจารย์ของเธอคือพระอาจารย์ฝั้น ตอนนี้แก่มากแล้ว สมควรที่เธอจะต้องทดแทนบุญคุณ เธอไม่ต้องมาอยู่กับเราที่นี่ ให้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ฝั้น ศึกษาและปฏิบัติกับท่านอาจารย์ฝั้นก็เป็นที่เพียงพอแล้ว”

หลังจากนั้นท่านก็กลับมาติดตามอุปัฏฐากดูแลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จนได้รับการยกย่องว่าประดุจดัง “มือขวา” ของพระอาจารย์ฝั้น ท่านอุปัฏฐากดูแลกระทั่งพระอาจารย์ฝั้นได้ละสังขาร

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล พระกรรมวาจาจารย์
ในคราวหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ได้ญัตติใหม่ในธรรมยุติกนิกาย


รูปภาพ
พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



๏ ลำดับการจำพรรษา

พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๕ วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๖ วัดป่าพระสถิตย์ ตำบลพรานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. ๒๔๘๗ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ (ในพรรษานี้ท่านได้จำพรรษาร่วมกับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ประกอบกับดูแลโยมบิดา-โยมมารดาที่กำลังป่วยอยู่)

พ.ศ. ๒๔๘๘ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร (ในพรรษานี้ท่านได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ)

พ.ศ. ๒๔๘๙ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๒ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) จังหวัดสกลนคร (ช่วงนี้ท่านได้จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อีกครั้ง ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒)

พ.ศ. ๒๔๙๓ วัดเทพกัลยาราม บ้านน้อยจอมศรี ตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๔ วัดป่าพระสถิตย์ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. ๒๔๙๕ สำนักสงฆ์ควนเขาดิน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

พ.ศ. ๒๔๙๖ วัดเจริญสมณกิจ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๔๙๗ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๘ วัดป่าปราสาทจอมพระ ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

พ.ศ. ๒๔๙๙ วัดถาวรคุณาราม บ้านบางเหนียว ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๑๑ วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

พ.ศ. ๒๕๐๒ วัดถาวรคุณาราม จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๐๓ วัดป่าบ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๐๔ วัดถาวรคุณาราม จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๐๕ สำนักสงฆ์ถ้ำขาม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๕๐๖ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๕๐๗ วัดถาวรคุณาราม จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๐๘ วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๒๔ สำนักสงฆ์ถ้ำศรีแก้ว ตำบลสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖ สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน

พ.ศ. ๒๕๒๗ สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองแอนนาไฮม์ฮิล มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๒๘ วัดป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๒๙ วัดนอร์ทแซนฮวน เมืองซาคราเมนโต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๓ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๓๔ วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๓๕ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๓๘ วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๓๙ วัดป่าเขาน้อย ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
(หลวงปู่สุวัจน์ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙)

พ.ศ. ๒๕๔๐ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕ วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์
(หลวงปู่สุวัจน์ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕)


๏ การปฏิบัติศาสนกิจและสมณศักดิ์

๑. ได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถร) เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ตามหนังสือที่ ๒๖/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

๒. ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถร) เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ให้เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา ตามหนังสือที่ ๙/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

๓. ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระครูปลัดสุวัฒนญาณคุณ” เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒

๔. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระโพธิธรรมาจารย์เถร” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

รูปภาพ
(ซ้าย) พระอาจารย์เจฟฟรี ฐานิสฺสโร


๏ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖ หลวงปู่สุวัจน์ สวโจ ท่านเดินทางไปเผยแผ่ธรรม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำนิมนต์ นับแต่หลวงปู่สุวัจน์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตจากคณะสงฆ์ไทยในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านปฏิบัติศาสนกิจที่ได้รับมอบหมายนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในบางครั้งท่านต้องเดินทางไปแสดงธรรมยังที่ไกลๆ เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๔ ท่านเดินทางไปแสดงธรรมและอบรมจิตตภาวนา ตามคำอาราธนาของสมาคม IMS (Insight Meditation Society) ที่เมืองบอสตัน (Boston Town) มลรัฐแมสซาชูเซทท์ (Massachusetts State) ๒ ครั้งๆ ละประมาณ ๒ สัปดาห์

สำหรับการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศที่สำคัญยิ่ง ก็คือ การสร้างวัด รวมถึง การวางระเบียบข้อวัตรปฏิบัติตามแบบอย่างของวัดกัมมัฏฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เพื่อมุ่งเผยแพร่พระธรรมคำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปฏิบัติจิตตภาวนา ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ต่อมามีผู้ศรัทธาซื้อที่ดินถวายให้สร้าง วัดวอชิงตันพุทธวนาราม เมืองออเบิร์น มลรัฐวอชิงตัน เลขที่ 4401 South 360th Street Auburn, WA 98001. มีเนื้อที่ ๗ เอเคอร์ (ประมาณ ๑๗.๕ ไร่)

ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ สร้าง วัดป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีเนื้อที่ ๕ เอเคอร์ (ประมาณ ๑๒.๕ ไร่) และปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๕ สร้าง วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีเนื้อที่ ๔.๖๘ เอเคอร์ (ประมาณ ๑๒ ไร่)

ครั้นต่อมามีพุทธศาสนิกชนชาวอเมริกันท่านหนึ่งมีจิตศรัทธาถวายปัจจัยเพื่อซื้อที่ดินบนเขา ในเมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีเนื้อที่ ๖๐ เอคอร์ (ประมาณ ๑๕๐ ไร่) คิดเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ ดอลล่าร์ หรือประมาณ ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้เป็นสถานที่บำเพ็ญจิตตภาวนา ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น วัดเมตตาวนาราม โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ท่านได้มอบหมายให้ พระอาจารย์เจฟฟรี ฐานิสฺสโร รับเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา


๏ พระอริยเจ้าผู้หลุดพ้นด้วยอิริยาบถเดิน

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ พระอริยเจ้าผู้เป็นศิษย์สายกัมมัฏฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อีกรูปหนึ่ง เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก ได้รับโอวาทธรรมจากท่านว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเล่น ถ้าทำเล่นจะไม่เห็นของจริง” ท่านเป็นศิษย์ต้นของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้รับการยกย่องจาก หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ท่านเป็นพระที่รักสันโดษ โดดเดี่ยว ปลีกวิเวก มีจิตฝังลึกลงในธรรมของพระตถาคตเจ้าด้วยศรัทธา ที่มีเหตุผล มั่นคง มีความปรารถนาจะบรรพชาและอุปสมบทตั้งแต่เยาว์วัย

อุปนิสัยของท่านชอบท่องเที่ยวจาริกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศและต่างประเทศ ไม่ยึดติดในหมู่คณะ ไม่ติดสถานที่ ไม่คลุกคลีกับใคร หรือผู้ใด เปรียบเหมือนนกตัวน้อยๆโผปีกทั้งสองทะยานขึ้นสู่โลกกว้าง ไม่อาลัยกับสิ่งใดๆ ท่านจึงเป็นพระประเภท “เอเกโก ว” ชอบเที่ยวไปผู้เดียว ปรารถนารสแห่งวิเวกอันมีวิมุตติธรรมเป็นเครื่องดื่มด่ำ บางปีท่านเดินธุดงค์ถึง ๒ รอบ จากจังหวัดสกลนครไปทางจังหวัดอุบลราชธานี ลงไปทางจังหวัดนครราชสีมา แล้วก็ย้อนกลับมาทางจังหวัดอุดรธานี แล้วเข้าสู่จังหวัดสกลนครตามเดิม

บางครั้งท่านเป็นผู้นำพระกัมมัฏฐานรุ่นน้องออกเดินธุดงค์ เช่น คราวที่ถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นเสร็จ พระกัมมัฏฐานระส่ำระสายขาดที่พึ่ง ท่านจึงเป็นผู้นำออกเดินธุดงค์ไปทางเขตอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส, พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต และพระอาจารย์ประยูร เป็นผู้ติดตาม

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ท่านถึงที่สุดแห่งธรรมในระหว่างปี ๒๕๑๕-๒๕๒๔ ณ ถ้ำศรีแก้ว บ้านภูพานทอง ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ด้วยอิริยาบถเดิน ขณะกลับกุฏิ

ท่านเล่าว่า “คำเทศน์ของหลวงปู่ฝั้นและหลวงตามหาบัว เป็นหัวใจอันสำคัญที่นำท่านไปสู่อุดมธรรม”

ท่านได้ทำประโยชน์ตนถึงที่สุดแล้ว ก็ยังทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ท่านได้นำพระธรรมที่บรรลุรู้เห็นแจ้งไปประกาศกังวานไกลถึงต่างแดนเป็นที่เลื่อมใสของชาวต่างชาติ

ท่านเป็นพระประเภท “ปาสาณเลขูปโม” คือสลักความดีลงบนแผ่นหินคือหัวใจอันแข็งแกร่งไม่มีใครสามาลบล้างทิ้งไปได้ ถูกจารึกตลอดอนันตกาล


รูปภาพ
พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สรีระสังขารของ “หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ”


๏ สูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทร

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นเหตุทำให้องค์ท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลานานและเดินไม่ได้ ประกอบกับองค์หลวงปู่ท่านมีปัญหาเรื่องปอดไม่แข็งแรงมานานแล้ว ในช่วงระยะ ๑ ปีที่ผ่านมา องค์หลวงปู่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคปอดติดเชื้อมาโดยตลอด (ประมาณ ๔-๕ ครั้ง) ครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขารนี้ องค์หลวงปู่เข้ามารักษาองค์ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธและหัวใจท่านได้หยุดเต้นไปแต่เป็นบุญที่คณะแพทย์และพยาบาลได้ถวายการรักษาได้ทันท่วงทีจึงสามารถช่วยท่านไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษาองค์หลวงปู่มักจะปรารถอยู่เนืองๆ ว่าท่านอยากกลับไปวัด จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม องค์หลวงปู่แข็งแรงขึ้นมาก คณะแพทย์จึงเห็นสมควรให้ท่านเดินทางกลับบุรีรัมย์ได้

หลวงปู่ท่านสดใสมาก เมื่อได้กลับไปที่วัดป่าเขาน้อย อาการท่านก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แข็งแรงมากพอที่จะไปโปรดญาติโยมที่วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ได้ หลวงปู่เมตตาพำนักที่วัดป่าปราสาทจอมพระ และแสดงธรรมโปรดญาติโยมประมาณ ๑ อาทิตย์ คือในช่วงระหว่างวันที่ ๑๓ มีนาคม ถึง ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕ จึงได้กลับเดินทางกลับมายังวัดป่าเขาน้อย

หลังจากที่หลวงปู่ท่านเดินทางกลับมาพำนักที่เขาน้อยได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียมาก จนต้องพาท่านเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์ หลังจากที่ท่านได้เข้าไปรักษาตัวได้ ๒ วัน อาการดีขึ้นมาก แพทย์ที่ถวายการรักษาขอดูอาการ ซึ่งหากไม่ทรุดลงไปก็จะอนุญาตให้กลับวัดได้ แต่แล้วอาการของหลวงปู่ก็เริ่มทรุดลงเมื่อวันที่ ๒ เมษายน และอาการหนักในคืนวันที่ ๓ เมษายน เนื่องจากโรคปอดติดเชื้อที่แทรกซ้อนขึ้นมาเช้าวันที่ ๕ เมษายน เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดและคณะแพทย์ต้องตัดสินใจ คณะแพทย์แนะนำให้เจาะคอองค์หลวงปู่ แต่เมื่อประชุมร่วมกันแล้ว ลงความเห็นว่าไม่สมควรเจาะคอเพราะจะเพียงแค่ยืดอายุขัยท่านเท่านั้น นอกจากนี้ก็จะทรมานองค์หลวงปู่มากมายอีกด้วย คณะแพทย์หลายๆ ท่านพยายามติดต่ออาจารย์หมอที่ชำนาญทางปอด เพื่อให้เดินทางมาถวายการรักษาที่จังหวัดบุรีรัมย์

ประมาณช่วงเที่ยงวันที่ ๕ เมษายนนั้นเอง องค์หลวงปู่ท่านแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะละสังขารด้วยการค่อยๆ ถอนให้เห็น โดยปกติคนที่ป่วยหนัก ค่าต่างๆ ที่แสดงถึงความมีชีวิตอยู่ อาทิเช่น ความดัน ชีพจร เป็นต้น จะเปลี่ยนแปลง แปรผันขึ้นๆ ลงๆ แกว่งไปมา (fluctuate) แต่ขององค์หลวงปู่ท่านจะคงที่ ค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับ แสดงให้เห็นว่าองค์ท่านสามารถควบคุมได้ และไม่ประสงค์จะครองสังขารอีกต่อไป คณะศิษยานุศิษย์จึงเตรียมนำองค์ท่านกลับคืนสู่วัด หากแต่ก็ไม่ทันเวลา องค์หลวงปู่ละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๓.๑๒ น. สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พรรษา ๖๑

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน และองค์จุดไฟพระราชทานเผาสรีระสังขารหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

ภายหลังจากที่ได้พระราชทานเพลิงศพขององค์หลวงปู่ท่านแล้ว คณะศิษย์ยานุศิษย์ได้ร่วมกันจัดสร้าง “พระบรมธาตุเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์” เจดีย์พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ) ขึ้นมา เป็นเจดีย์อนุสรณ์สถานเพื่อบรรจุอัฐบริขารและอัฐิธาตุขององค์ท่าน


๏ ตัวอย่างคำสอนหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

(๑) ความทรงจำจดจำ แม้จะได้สูตรใดสูตรหนึ่งต้องจำได้ ปาฏิโมกข์ควรให้คล่องให้ถูกต้องตามภาษาที่ได้บัญญัติไว้ ชื่อว่าเราได้ศึกษาปริยัติธรรมเช่นเดียวกัน ปริยัติธรรมเป็นหลักของการปฏิบัติ เพราะเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราถือเป็นหลักการปฏิบัติ ถ้าไม่มีหลักสิ่งเหล่านี้แล้วก็ถือว่าเลื่อนลอยไปตามกิเลส ตามอารมณ์ที่มีกิเลสเจือที่จิตใจของเรา เราจะถือเป็นแบบฉบับที่ใจชอบหรือไม่ชอบตามใจของเราไม่ได้ ต้องถือหลักโอวาทศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาอยู่มาถึงพวกเราเป็นเวลายาวนานก็ต้องมีหลัก อาศัยหลักนี้เป็นเครื่องรองรับหมู่คณะ

(๒) พระพุทธเจ้าพระองค์รู้ดี รู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้ว พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพวกเราทั้งหลายให้ประพฤติตาม

(๓) พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงวางไว้ ให้รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิตใจ โดยอาศัยหลักศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาอย่าไปดูที่ตัวหนังสือ ความจดจำด้วยสัญญานั้นยังไม่ใช่ ยังเป็นรู้ภายนอก ศีล สมาธิ ปัญญานั้นก็คือการสำรวมกาย รักษากายนี้เอง เราก็ดูที่กาย เราสำรวมแล้วหรือยัง เรียบร้อยหรือยังในตัวเราเอง ในการเข้าสู่สังคมสมาคมเรียบร้อยเป็นระเบียบตามที่พระพุทธเจ้าพาดำเนินมาหรือไม่ ในกาย ในวาจาคำพูดของเรา เรามีสติคุ้มครองรักษา เลือกคำพูดได้สะอาดบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องรู้ตัวเราเอง

(๔) ที่เราสวดมนต์ไหว้พระอยู่เสมอ ก็อย่าไหว้แต่วาจา อย่ากราบแต่ด้วยมือ ต้องจิตใจน้อมระลึกถึงความจริงด้วย ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ให้มีศรัทธาความผ่องใสในจิตในใจ จะเห็นอานิสงส์ จะได้เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความพากเพียร เกิดสติระลึกคุ้มครองรักษาตัวเรา ให้เป็นผู้หมดจดสะอาดไปถึงสภาพแห่งความบริสุทธิ์ ให้จิตตั้งมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ได้ชื่อว่าเราเจริญรอยตามเป็นสาวกของพระองค์ ผู้เชื่อฟังผู้ทำตามพระองค์ เราเป็นผู้เดินตามพระองค์ต่อๆมา เราเป็นสาวกผู้น้อง ผู้ลูก ผู้หลาน แต่สุดท้ายเดินตามๆกันไป

(๕) ถ้าพวกเราพร้อมเพรียงกันรักษาธรรมวินัย แบบฉบับของครูบาอาจารย์ อย่าไปเถลไถลแบบใหม่ๆ แบบเขาว่าโลกเจริญก็เลยลืมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โลกมันเจริญแค่ไหนมันเพียงแค่กามเท่านั้นแหละ ผลที่สุดโรคเอดส์รุมหัวมันหมดแล้ว มันเจริญของโลกนี่ มันจะอัศจรรย์สักเท่าไร ธรรมของเรามันอัศจรรย์จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หมู่พวกเชื่อในธรรมในวินัย

(๖) ขอให้หมู่พวกลูกหลานทุกคนที่บวชเข้ามานี้ อย่าไปมุ่งหวังว่าให้โยมเขามีศรัทธาให้คนนั้นมีศรัทธา ไม่ต้อง ขอให้เรามีศรัทธาคนเดียว ให้ปฏิบัติจริงทำจริง ยังไม่ต้องมองคนอื่นให้มองตัวเรา พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มองพระองค์ก่อน พระองค์ไม่ได้วิ่งไปสอนโลกก่อน พระองค์สอนพระองค์จนเสร็จกิจแล้ว พระองค์จึงสอนคนอื่น

(๗) เหมือนกับหลวงปู่มั่น ผมไปดูไปอยู่ใกล้ชิดแล้ว ท่านไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องญาติโยมสักเท่าไร ท่านเอาใจใส่พระเราสามเณรของเรา ถ้าเราดีแล้วโยมเขาก็ดีด้วย ท่านพูดอย่างนั้นนะ ผมจำชัดจริงๆ

(๘) สัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยศีล สมาธิ ปัญญา แล้วยังผ่องใสสดใสบริสุทธิ์ไม่เสื่อมสูญอันตรธาน แต่จิตใจของเรานี่แหละไม่ฉลาด ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจของเรา ยังเถลไถลยังอนุโลมไปตามอารมณ์ จิตใจของเราที่ผสมกับกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ ง่วงเหงาหาวนอน ฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาในจิตในใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องที่ผสมในจิตใจของเรา ด้วยมองเห็นพระสัทธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าไม่แจ้งชัด เราเถลไถลอยู่ เราจึงไม่สามารถที่จะข้ามแม่น้ำอันเต็มไปด้วยอันตราย เพื่อให้พ้นอันตรายเหล่านั้นได้ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เพราะเหตุนั้นเราจึงจำเป็นต้องได้รับความทุกข์ ความเศร้าหมองทางจิตใจอยู่เสมอ

(๙) คำสอนพระพุทธเจ้าสอนกิเลสไม่ได้สอนอันอื่น อยู่ที่ไหนก็ชำระที่นั่นปฏิบัติที่นั่น ผมก็ทำตามมาตลอดไม่ได้ลดละ ฉะนั้นขอให้พวกเราช่วยกันตั้งใจปฏิบัติดูแลต่อไป เรื่องธรรมของพวกเราจะต้องช่วยกันทะนุบำรุงรักษา

(๑๐) เพราะฉะนั้นพวกเราตั้งใจปฏิบัติ ใครสงสัยอะไรก็รีบชำระ เรื่องศีล เรื่องอะไรก็รีบชำระ รีบปฏิบัติให้มันเห็นตรง อุชุปฏิปันโนจริงๆ อย่าทำเหลาะแหละเหลวไหลโลเล

(๑๑) ได้โอกาสดีแล้วทุกองค์อยู่ที่ไหนก็ขอร้องพวกเราทุกๆคน ให้เร่งทำความเพียรอย่าไปยุ่งกับญาติกับโยมมากนัก อย่าไปยุ่งกับอย่างอื่น พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ของเราท่านได้กำลังมา ได้สอนพวกเรามา ไม่ได้ไปยุ่งกับโยมชาวบ้านมากนะ ท่านเด็ดเดี่ยว เมื่อท่านทำกิจกำลังท่านพอแล้ว ท่านจึงมาทำ ที่เราเห็นภายหลังที่ท่านได้ฉันดี นอนดี อยู่ดี อันนี้มันเรื่องเปลือก ไม่ใช่เรื่องแก่น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องสนใจ สนใจแต่ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน เฉพาะในจิตในใจเฉพาะ มันไม่ใช่มากนะอันเรื่องที่จะพ้นทุกข์นี่

(๑๒) พวกเราทั้งหลาย ถ้าหากว่าพอจะมีบุญวาสนา มีศรัทธาอยู่ในจิตเป็นกองทุนแล้ว ก็พยายามสร้างศรัทธากับวิริยะความพากเพียร ปัญญาขึ้นมา คู่นี้แหละที่ปฏิบัติ ผมจะอยู่อเมริกาก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ธรรมะเท่านี้แหละ พลังนี้แหละเป็นตัวสำคัญ

(๑๓) อยากให้หมู่พวกทั้งหลายที่ได้บวชเข้ามาแล้วน่ะต้องเร่งความเพียร ไม่ต้องทำอะไรที่ไหนล่ะ ดูกายกับจิตนี้ ผมก็ทำตามแบบครูบาอาจารย์สอนนี้เอง แต่ความที่เราพูดเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราเป็นผู้รู้คนเดียวนะ มันยังรู้ว่าครูบาอาจารย์ของเราก็พ้นทุกข์ไปมากแล้ว

(๑๔) หลวงปู่ฝั้นนี่ท่านพ้นแล้วนะ มันเชื่อนะ เราโง่เราไม่รู้ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ ผู้ปฏิบัติจริงๆ ถึงท่านไม่พูดนี่ ไม่จำเป็นจะต้องพูด มันหมดสิ้นสุดในกิจ มันรู้บอกในขณะนั้นว่ากิจที่จะต้องทำอีกเสร็จสิ้นแล้ว

(๑๕) บางองค์ที่ท่านรู้ท่านรู้จริง แต่บางองค์ที่ท่านไม่บัญญัติมาพูด ไม่ได้ตั้งมาพูดมันรู้เลย อย่างหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน ครูบาอาจาย์ที่ท่านไม่พูด นึกว่าท่านไม่พ้นไม่ใช่นะ ไม่ใช่ว่าท่านไม่ได้อะไร บางคนไปเห็นนึกว่าท่านไม่เทศน์ไม่สอน นึกว่าท่านไม่เก่งเหมือนตัวเอง บาปกินไม่รู้ตัว

(๑๖) ปัญญาเรานะมันไปไม่ได้นะ เราต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันต้องยึดหลักพระองค์แล้วก็เร่งทำความเพียร เพราะทำแล้วจะต้องรู้ นอกจากพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารที่เราใกล้ชิดที่เห็นปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันผมก็ยึดหลวงปู่บ้านตาด เพราะนิสัยชอบท่านมาก การพิจารณาการพลิกแพลงอะไรต่างๆ นิสัยเราชอบหลวงปู่บ้านตาดกับหลวงปู่ฝั้นเหมือนกันนะ แต่ผมเสียอันหนึ่งที่มันไม่อดทนในญาติโยมเหมือนท่านเท่านั้นแหละ แต่เรื่องพลิกแพลงสติปัญญาที่ท่านแนะนำมาน่ะผมชอบ

(๑๗) พูดให้หมู่เพื่อนฟังก็อยากให้หมู่ใครคนใด ประสบเหตุการณ์อย่างไร ขอให้บอกให้เล่าให้ฟังเพื่อจะได้เป็นพยานขึ้นมา หรือถ้าหากว่าหมู่พวกทุกองค์เร่งทำความเพียรไม่เหลวไหล และศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เฉพาะศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพ้นทุกข์แน่นอน ขอให้พวกเราพยายาม

(๑๘) องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ตรัสว่าพระองค์ได้ตรัสรูแล้ว ทีนี้พอพระองค์สอนอัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุธรรม แน่ะมันเป็นพยานแล้วทีนี้

(๑๙) ใครสงสัยอะไรก็ถามได้ บางทีตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็แล้วไป บางทีก็คิดไม่ออก แต่หลวงปู่มั่นท่านท้าทายนะ เอ้า..สงสัยตรงไหนถามมา ท่านก็พูดเผงๆตรงๆไปเลย หลวงปู่มั่นน่ะ

(๒๐) ไปอยู่อเมริกาได้ทำความเพียรต่อเนื่องกันประจำ ทางจงกรมกับกุฏิก็อยู่ใกล้กันได้ทำตลอด อากาศก็ดีมันสัปปายะอันหนึ่ง แต่สำคัญว่าจิตของเราอย่าไปหลงความเจริญของบ้านเมืองของเขา ถ้าไปเอาอันนั้นมานี้แล้วเสร็จ ธรรมหายไปหมดเลย แต่จิตใจของคนมันไม่อัศจรรย์เลย แม้แต่เขาจะวิเศษอย่างไรมันไม่อัศจรรย์เลย อัศจรรย์แต่พระพุทธเจ้า ธรรมของพระองค์สามารถที่จะพ้นทุกข์ ความสุขจนขนาดที่เทวดานี่พระองค์ยังเห็นโทษ ขนาดนั่งฌานสงบ ที่เรานั่งสงบมีความสุข พอใจในความสุขอันนั้นแต่พระองค์ก็ยังเห็นโทษ

(๒๑) ท่านสอนกรรมฐานว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้มัวเมาในวัย ไม่มัวเมาในชีวิต ไม่มัวเมาในความไม่เป็นโรค ไม่มัวเมาในความเป็นอยู่ ให้รู้สภาพตามความเป็นจริง ตัวของเรานี้คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นของชำรุดทรุดโทรมคร่ำคร่าเปลื่อยเน่า ใครจะมากราบความเปลื่อยเน่าสักการะบูชาอันนี้ ใครจะบูชาสิ่งไหนนี้เราต้องกำหนดรู้ให้เห็นชัด

(๒๒) ที่เขากราบไหว้บูชาสักการะเวลานี้ ก็เพราะบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เรามาอยู่อาศัยบารมีของท่าน เรายึดหลักของท่าน เหมือนกับกาไปยึดหลักภูเขาทอง เวลาเขามองไปแล้วตัวกาก็เป็นทองไปด้วย เมื่อตราบใดกายังจับภูเขาทองอยู่นั้น เขาก็มองเห็นเป็นทองอยู่อย่างนั้น ถ้าทอดทิ้งภูเขาทองบินไปตามลำพังแล้ว มันก็เป็นกาดำๆ ดีๆ นี่แหละ

(๒๓) แต่เราอย่าลืมว่าเราเป็นตัวกา อย่าไปเข้าใจว่าตัวเราเป็นทองทั้งตัว อาศัยภูเขาทองอยู่ เรายึดภูเขาทองเฉยๆ นี่รูปเปรียบฉันใด ตัวเราเองต้องพิจารณาตัวเราเอง

(๒๔) คำสอนพระพุทธเจ้าก็เป็นคำสอนพระพุทธเจ้าที่เราได้อาศัย ส่วนกาคือเรา ก็เป็นกาเปลื่อยเน่าผุพังเหมือนกับคนธรรมดา ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนของธรรมดา ทำไมเขาจึงกราบไหว้ ทำไมเขาถึงบูชา เพราะเงาของภูเขาทองนี่เอง เพราะอานุภาพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเราควรกราบ ควรไหว้ ควรปฏิบัติ

(๒๕) อย่าเข้าใจอย่าหลงลืมตัวเองว่าเรามีผู้กราบไหว้สักการบูชา เขาได้ทำบุญให้ทาน เราได้รู้จักคนมาก แต่คนนับถือก็ให้อุปการะเลี้ยงดูเรา เลยไปถือตัวเราเองเป็นเกณฑ์ ใช้ไม่ได้ แม้ว่าคนไม่รู้ความจริงของเรา เขาก็ยังหลงใหลอยู่ มีตัวอย่างมากต่อมากแล้ว เอาตัวเองเป็นอุปมาแล้ว ยังพยายามปฏิบัติให้คนรักให้คนชอบ ให้คนนับถือ ไม่ได้แก้ไขจิตใจของตนเองให้เป็นตามคำสอนพระพุทธเจ้า โดยความถูกต้องหรือโดยความชอบ ผลที่สุดก็ถูกทอดทิ้ง ถูกขจัดออก อยู่กับหมู่คณะไม่ได้ ถูกประณามถูกลงโทษ ด้วยความสำคัญตัวเองผิด มัวเมาหลงตัวเองผิด เราต้องพิจารณา

(๒๖) ขอให้เราทั้งหลายพึงมีสมณสัญญา ความระลึกหมายว่าเราเป็นสมณะผู้ปฏิบัติผู้สงบ อยู่ที่ไหนให้สงบ เป็นหัวหน้าด้วยความสงบ เป็นหัวหน้าในความเพียร เป็นหัวหน้าในการเดินจงกรม ไม่เป็นหัวหน้าใครก็เป็นหัวหน้าจิตใจของเรา เป็นความเพียรในจิตใจของเรา ความขยันในจิตใจของเรา ความสงบในจิตใจของเรา ให้ระลึกตัวเราอยู่เสมอ ให้รักตัวของเราเป็นที่รัก เราจะต้องรักษาตัวเราให้ดี อย่าปล่อยให้สมกับเรารักตัวของเรา ที่พระพุทธเจ้าว่า ถ้าตัวเราเป็นที่รักของเราแล้ว เราก็มุ่งรักษาเราให้บริสุทธิ์หมดจดสะอาด อย่าไปทำความชั่วอันสกปรกแก่ตัวของเราเอง

(๒๗) เพราะฉะนั้นทุกท่านเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจดจำไว้ให้ดี ตั้งใจประกอบความพากความเพียร ทั้งกลางวันและกลางคืนให้ได้รู้ธรรม ถึงธรรม เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้พาพบเห็นมาแล้ว ได้เห็นตามพระองค์ เราก็จะได้ความสุขความเจริญ

.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) เว็บไซต์ http://www.luangta.com/
(๒) หนังสือพระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ


• ประมวลภาพ “หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ” วัดป่าเขาน้อย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42409

• รวมคำสอน “หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=48833

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ก.ย. 2009, 18:56
โพสต์: 4

ชื่อเล่น: ~*มังคุด*~
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนากับผู้จัดทำค่ะ ได้รับความรู้มาก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2010, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ผมได้ฟังพระธรรมเทศนาของหลวงปู่แล้ว
เกิดความรู้สึกที่สุดแสนจะพรรณา

การเทศน์ของท่านนั้น ฟังแล้วละมุนละไม อ่อนโยน สงบ มั่นคง
และเนื้อหาธรรมที่ท่านเทศน์นั้นเรียบง่าย ฟังง่าย รัดกุม ลึกซึ้ง และคุณประโยชน์เหลือประมาณ
ฟังแล้วก็ไม่อยากเลิกฟัง ท่านมีเทศน์เท่าไหร่ ก็อยากจะฟังให้หมด

สำหรับผมแล้ว ท่านเป็นสังฆัง สรณัง คัจฉามิ ที่รับเอาไว้อย่างหมดหัวใจ
อยากจะเชิญชวนให้ลองพิสูจน์ดู

http://www.fungdham.com/sound/suwat.html

ประวัติและปฏิปทา เพิ่มเติม PDF
http://www.fungdham.com/download/book/suwatbook.pdf
เป็นประวัติที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีทั้งที่เป็นการบอกเล่าของท่านเอง และผู้อื่นเขียนให้
แต่ผู้จัดทำ ได้ทำเป็น PDF ซึ่ง encode เอาไว้ จึงไม่สามารถ COPY มาได้
ต้องอ่านจากต้นฉบับ PDF เองนะครับ


แก้ไขล่าสุดโดย ชาติสยาม เมื่อ 27 มิ.ย. 2010, 12:45, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2010, 16:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2010, 15:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 20:44
โพสต์: 341

ที่อยู่: ภาคตระวันออก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b23: :b23:

อนุโมทนาสาธุด้วยความเคารพครับ

:b8: :b8: :b8:

เทพบุตร

.....................................................
การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ท้งปวง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร