วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2009, 14:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ


วัดกุดไผท
ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร



๏ อัตโนประวัติ

“พระครูสังวราภิบาล” หรือ “หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ” พระมหาเถระผู้มีวัตรปฏิบัติและศีลาจารวัตรอันงดงาม ท่านมีนามเดิมว่า ปาน ยะไชยศรี เกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๓ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีวอก ณ บ้านโพนปอหู ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุตรของนายที และนางบาง ยะไชยศรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง มีรายชื่อตามลำดับดังนี้

(๑) นายนุ้ย ยะไชยศรี
(๒) นางนวล ยะไชยศรี
(๓) นายทอง ยะไชยศรี
(๔) นางนี ยะไชยศรี
(๕) นางสี ยะไชยศรี
(๖) นายจันทร์ ยะไชยศรี
(๗) นายแปล ยะไชยศรี
(๘) หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ


๏ การศึกษาเบื้องต้น

ในวัยเยาว์ ท่านเป็นคนที่มีอุปนิสัยโอบอ้อมอารี เป็นคนซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต มีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งน้อยใหญ่ และจะยอมไม่ฆ่าสัตว์ชนิดใดเลยตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้อยหรือสัตว์ใหญ่

พออายุได้ ๑๐ ปี ท่านได้เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านกุดแข้ (ปัจจุบันเป็นวัดศรีทอง) ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีอาจารย์คำข่อง เทศน์ประสิทธิ์ เป็นอาจารย์ผู้สอนหนังสือ ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ ในสมัยก่อนนั้นโรงเรียนชั้นประถมศึกษามักจะอยู่ที่วัดตามหมู่บ้านต่างๆ โดยอาศัยศาลาการเปรียญของทางวัดเป็นที่สอนหนังสือ ไม่ค่อยมีโรงเรียนมากอย่างสมัยปัจจุบันนี้ จนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ท่านจึงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

พอจบจากการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้ช่วยบิดามารดาทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นต้น ในภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่พอหมดฤดูทำนา เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ บางครอบครัวก็ปลูกผัก บางครอบครัวก็ทำสวนทำไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำมาหากินไปตามประสาชาวบ้าน อยู่แบบพออยู่พอกิน มีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ยึดหลักการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไม่กระตือรือร้นไม่ดิ้นรนเหมือนกับคนในยุคปัจจุบันนี้

ส่วนการเรียนต่อชั้นมัธยมในสมัยก่อนนั้น หลวงปู่ปานท่านเล่าว่า “โรงเรียนมัธยมอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านมาก จึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม หากจะเรียนก็ต้องเข้ามาเรียนอยู่ในตัวเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอามาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่เรื่องทุนทรัพย์”


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

หลวงปู่ปาน ได้เล่าสาเหตุแห่งการบวชของท่านเอาไว้ว่า “สาเหตุที่ต้องบวชนั้นเพราะบวชตามประเพณีซึ่งชาวบ้านทั่วไปในแถบภาคอีสาน มักจะส่งบุตรหลานของตนเองที่จบจากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ถ้าไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยม ก็ต้องบวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาธรรมต่อ”

หลวงปู่ปานเองก็เช่นกัน ครั้นจบจากการศึกษาแล้ว บิดามารดาเห็นว่าเป็นบุตรชายคนเล็ก ควรที่จะส่งเข้าศึกษานักธรรมต่อ จึงได้นำท่านไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสที่วัดไทรทอง บ้านโพนปอหู ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อจะได้บรรพชาเป็นสามเณร พอหัดท่องบ่นคำบวชนาคได้แล้ว พระอาจารย์เจ้าอาวาสจึงได้นำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดธาตุศาสดาราม (วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ในปัจจุบัน) ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมี พระครูสกลสมณกิจ หรือท่านอาญาครูธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งในขณะนั้นอายุของท่านได้ ๑๗ ปีพอดี

พอหลังจากบรรพชาแล้ว ท่านก็กลับมาพักจำพรรษาที่วัดไทรทอง บ้านโพนปอหู ตามเดิม อยู่มาได้สักระยะหนึ่ง ท่านก็ได้เข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ และเรียนนักธรรมอยู่ที่วัดเหนือ อ.เมือง จ.สกลนคร

ครั้นพออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดธาตุศาสดาราม (วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ในปัจจุบัน) จ.สกลนคร โดยมี พระเทพวิมลเมธี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิมลสกลเขต เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรเกี้ยว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารยเกิ่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คุตฺตสติ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีสติอันรักษาแล้ว”

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้มาพักอยู่ที่วัดเหนือตามเดิม เพื่อเล่าเรียนนักธรรมต่อ จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท ครั้นจบนักธรรมชั้นโทแล้ว หลวงปู่ปานท่านก็ได้เดินทางเพื่อไปศึกษานักธรรมชั้นเอกต่อ ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้สมตามความปรารถนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ รวมทั้งได้ศึกษาวิชาภาษาบาลีเพิ่มเติมจนมีความรู้พออ่านออกเขียนได้

รูปภาพ
พระครูสังวราภิบาล (หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ) และวัดกุดไผท จ.สกลนคร


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2009, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ)


๏ ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระพิมลธรรม

พอจบการศึกษาทางด้านปริยัติคือนักธรรมชั้นเอก รู้แนวทางแห่งการปฏิบัติแล้ว หลวงปู่ปานท่านมองเห็นว่าได้ศึกษาพุทธประวัติและธรรมะในเบื้องต้นพอเป็นแนวทางปฏิบัติ จึงตัดสินใจหันมาปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างจริงจัง ด้วยการออกธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรม

พอดีในช่วงนั้นท่านได้ยินกิตติศัพท์ของ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ซึ่งเดินทางมาอบรมกรรมฐานอยู่ทางภาคอีสาน ท่านจึงเกิดความเลื่อมใส จึงได้ไปชักชวนหลวงปู่คำพัน วัดบ้านหนองบัวสร้าง ผู้เป็นสหธรรมมิก เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระพิมลธรรม ภายหลังเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ เพื่อศึกษาและฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน และได้ร่วมออกเดินธุดงค์หมู่จำนวน ๕๐๐ รูป กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) ไปทางภาคใต้ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคอื่นๆ หลายจังหวัด เพื่อปฏิบัติธรรมกรรมฐาน หาความสงบวิเวกในการบำเพ็ญสมณธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เจริญกรรมฐานไปตามป่าเขาลำเนาไพร

การเดินธุดงค์ในสมัยก่อนนั้น ท่านว่าต้องอดทนจริงๆ บุกป่าฝ่าดง มีทั้งไข้ป่ามาเลเรีย มีทั้งช้างทั้งเสือ และสัตว์ร้ายนานาชนิด ไปที่ไหนก็ทุกข์ยากลำบาก เดินธุดงค์ไปค่ำที่ไหนนอนที่นั่น สำหรับเรื่องการเดินธุดงค์และการปฏิบัติธรรมนั้น หลวงปู่ปานท่านได้เล่าว่า

“จุดเริ่มต้นที่อาตมาสนใจเรื่องกรรมฐาน เพราะท่านพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) อดีตประธานสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นท่านเดินทางมาอบรมพระภิกษุสามเณรในแถบภาคอีสาน”

“จุดแรกที่อาตมาธุดงค์ไป คือไปไม่ไกลจากวัดป่าของครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ซึ่งมีอยู่มากมายในจังหวัดสกลนคร เช่น หลวงปูกงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร และ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากท่านเหล่านั้นเป็นอย่างดี ท่านไม่ปิดบังอะไรมีแต่บอกให้หมั่นนั่งสมาธิทำความเพียรอย่างเดียว จะได้บุญมหาศาล ท่านบอกอยากได้บุญก็ทำเอา สิ่งทั้งหลายอยู่ใกล้ตัวเรานี่หล่ะไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ในจิตใจของเรานี่เอง”

ส่วนเรื่องคำบริกรรมภาวนานั้น หลวงปู่ปานท่านเล่าว่า “คำบริกรรมนั้น หลวงปู่มั่นท่านให้เจริญภาวนาคำว่า “พุทโธ” คำบริกรรมภาวนาเพื่อทำให้จิตสงบ ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ส่วนใหญ่ท่านสอนให้บริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ” “ธัมโม” “สังโฆ” บทใดบทหนึ่ง หรือไม่ก็ให้เจริญกายคตาสติกรรมฐาน คือยึดเอาคำบริกรรมมี “เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ” บทใดบทหนึ่งเป็นต้น หรือแล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน ว่าจะชอบคำบริกรรมภาวนาบทไหน ใครชอบแบบ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ก็ให้บริกรรมแบบนั้น ใครที่ชอบแบบเจริญกายคตาสติกรรมฐานท่านก็ให้บริกรรมภาวนาแบบนั้น

การเข้าอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ข้ออรรถข้อธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นั้น องค์ท่านจะไม่เลือกว่าเป็นมหานิกายหรือธรรมยุต ท่านจะรับเป็นลูกศิษย์ทั้งหมด องค์ท่านได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า “ไม่ว่านิกายใด ก็ธรรมวินัยตัวเดียวกัน หากตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้ว ย่อมสำเร็จมรรคผลนิพพานเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น จะแตกต่างก็แต่สมมุติว่าเป็นนิกายนั้น นิกายนี้เท่านั้น”

พระพุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่ตถาคตแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นแล จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเราตถาคต”

หลวงปู่ปาน ท่านจะเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอๆ ว่า “ท่านเคยไปสวดในงานศพหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาสด้วย เพราะอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จึงได้พบเห็นและได้เข้ากราบนมัสการครูบาอาจารย์ใหญ่มากมาย พร้อมทั้งได้พบปะแลกเปลี่ยนข้ออรรถข้อธรรมซึ่งกันและกันพอสมควร”

ภายหลังกลับจากการเดินธุดงค์ และศึกษาการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร แล้ว หลวงปู่ปานท่านได้มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดแดนโมกษาวดี บ้านพาน ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งในสมัยที่หลวงปู่มาพักอยู่ใหม่ๆ แถววัดแดนโมกษาวดีแห่งนี้เป็นดงช้าง ดงเสือ มีหมูป่า กวาง และสัตว์ป่านานาชนิด บางวันช้างเสือก็มาร้องอยู่ในเขตวัด ทำความหวาดกลัวให้กับพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างมาก ครั้นพักจำพรรษาอยู่ที่วัดแดนโมกษาวดี ได้สักระยะ หลวงปู่ปานท่านก็ได้มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดไทรทอง บ้านโพนปอหู

หากวันไหนที่ว่างจากการสอนหนังสือ หรือสอนกรรมฐานแก่พระเณรญาติโยมในวัด หลวงปู่ปานท่านก็จะหาโอกาสออกมาปลีกวิเวก ปฏิบัติธรรมกรรมฐานแต่เพียงผู้เดียวที่ดอนปู่ตา ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นวัดกุดไผท พักภาวนาอยู่เจ็ดวันแปดวันบ้างท่านจึงกลับวัด

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม ผู้อยู่สองรูปเป็นเหมือนเทพเจ้า ผู้อยู่มากกว่าสามองค์ขึ้นไปเหมือนชาวบ้าน ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น เพราะฉะนั้นภิกษุพึงเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว” (ยโสธเถรคาถา ๓๖/๓๐๓)

รูปภาพ
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ สร้างวัดกุดไผท

จนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ หลวงปู่ปาน ท่านจึงได้มาสร้างวัดกุดไผท บ้านเหล่ากุดจิก ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร หลวงปู่ท่านอยู่จำพรรษาเรื่อยมา รวมทั้งได้สร้างศาลาการเปรียญ เป็นที่ฉันภัตตาหาร ทำกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สร้างกุฏิสำหรับปฏิบัติธรรมกรรมฐาน สร้างอุโบสถเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของคณะสงฆ์ รวมไปถึงเป็นสถานที่อุปสมบทพระภิกษุสามเณร เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

รวมทั้ง ได้พัฒนาวัดวาอารามให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นวัดศูนย์กลางในการสอนวิปัสสนากรรมฐานให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย

วัดกุดไผท ในสมัยที่ยังไม่เป็นวัดนั้น เดิมเป็นดอนปู่ตา เป็นป่าดงที่ผีดุ ใครไม่กล้าเข้าไปใกล้ และเป็นที่มาพักภาวนาปฏิบัติธรรมของ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

หากในคราใดที่ว่างจากกิจกรรมต่างๆ ของทางวัดแล้ว หลวงปู่ปานท่านก็จะออกเที่ยวเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ถ้ำภูผาแอก” อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร สถานที่แห่งนี้หลวงปู่ท่านได้นั่งภาวนาเห็นในนิมิตสมัยที่ท่านไปฝึกกรรมฐานอยู่กับพระพิมลธรรม ใหม่ๆ ท่านจึงได้เสาะแสวงหาสถานที่ดังกล่าวจนพบ

ถ้ำภูผาแอกนี้ สมัยก่อนเป็นสถานที่ที่น่ากลัว มีวิญญาณร้ายหลายอย่าง ที่มาหลอกหลอนชาวบ้านและพระธุดงค์ไม่มีเว้นแม้กระทั่งกลางวัน หลวงปู่ได้พักอยู่ที่นั้นนานพอสมควร จนสามารถปราบวิญญาณผีที่ว่าร้ายได้อย่างราบคาบ ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้วิญญาณผีร้ายดังกล่าว จนวิญญาณผีร้ายที่ว่านั้นมาขออยู่ปรนนิบัติอุปัฎฐากอุปถัมภ์ท่าน

พอเหตุการณ์ต่างๆ สงบลงแล้ว หลวงปู่จึงได้ลาศรัทธาญาติโยมในหมู่บ้านเพื่อออกเดินธุดงค์ต่อ โดยมีจุดมุ่งหมายที่ “ภูค้อ” จุดมุ่งหมายหลักคือไปอยู่ฝากตัวเป็นศิษย์และปฏิบัติธรรมศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่สอน หลวงปู่สอนนี้ เป็นครูบาอาจารย์ที่ชาวบ้านในเขตนั้นให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ท่านเป็นครูบาอาจารย์รุ่นเดียวกันกับ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่ปาน ท่านได้วิชาอาคมจากหลวงปู่สอนหลายอย่าง แต่ที่ท่านนำมาใช้เป็นประจำคือ “วิธีการทำด้ายสายสิญจน์” เพื่อแจกให้แก่ผู้ที่มากราบนมัสการท่าน

รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 เม.ย. 2011, 09:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ)


๏ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

หลวงปู่ปาน ท่านเป็นพระที่มีความขยันหมั่นเพียรใฝ่ใจในการศึกษา เมื่อบรรพชาและอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้หมั่นศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย รวมทั้งหลักธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม

ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดไทรทอง

ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเจ้าคณะตำบลดงชน เขต ๑

ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักศาสนศึกษาวัดไทรทอง

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรผู้มีศรัทธา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ตั้งสำนักปฏิบัติเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดกุดไผท

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นประธานหน่วยอบรมศีลธรรมประชาชน ประจำตำบลดงชน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ในราชทินนามที่ “พระครูสังวราภิบาล” นำความปลาบปลื้มยินดีมาสู่คณะศิษยานุศิษย์อย่างหาประมาณมิได้

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม

ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ในราชทินนามเดิม


๏ ปฏิปทา

หลวงปู่ปาน ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร, หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร และ พระครูสมบูรณ์ปัญญาวุฒิ (หลวงปู่ใสย์ เขมิยเถระ) วัดม่วงลาย ต.ม่วงลาย อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นต้น สำหรับหลวงปู่ใสย์ เขมิโย นี้เป็นครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่ให้ความเคารพและนับถือองค์หนึ่ง ท่านจะไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ ในบางครั้งก็มาสนทนาธรรมกันนานเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว จึงได้กลับวัด

หลวงปู่ปาน พระเถระผู้มีชื่อเสียงมีความรู้มีคุณธรรมที่ดี เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กรปอด้วยศีลและธรรม มีศีลาจาริยวัตรอันงดงาม เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาล เป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่ผ่านการเจียระไนมาแล้วอย่างงดงาม จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชน มีลูกศิษย์ลูกหามากมายหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส สำหรับลูกศิษย์ทุกท่านทุกคน ที่หลั่งไหลมากราบไหว้สักการบูชาท่านนั้น ต่างก็พอใจไปตามๆ กัน เพราะปฏิปทาของหลวงปู่ปาน คือ ไม่เคยยึดติดต่อสิ่งใด มีเมตตาให้ความเสมอภาคกับคณะศิษยานุศิษย์ทุกระดับชั้นเท่ากันหมด ไม่มีแบ่งระดับชั้นว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในทางบ้านเมือง และเป็นแบบอย่างที่ดีอันประเสริฐ

รูปภาพ
หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล

รูปภาพ
หลวงพ่อสุธรรม สุธมฺโม

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


๏ เพื่อนสหธรรมิก

ส่วนเพื่อนสหธรรมิกของหลวงปู่ปาน ที่ไปมาหาสู่กันเสมออย่างมิได้ขาดนั้น คือ

(๑) พระครูสุวรรณปทุมาภรณ์ (หลวงปู่คำพัน) วัดบ้านหนองบัวสร้าง ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

(๒) หลวงพ่อสุธรรม สุธมฺโม วัดป่าหนองไผ่ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร

(๓) หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล วัดป่าดงชน ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นต้น


๏ งานด้านศาสนสงเคราะห์

ส่วนงานด้านการศาสนสงเคราะห์นั้น ไม่ว่าจะเป็นสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิกรรมฐาน สร้างอุโบสถ สร้างห้องน้ำห้องสุขา ซุ้มประตูวัด รวมไปถึงสร้างเมรุเผาศพให้กับชาวบ้าน ส่วนงานด้านสังคมสงเคราะห์นั้น หลวงปู่ปานท่านจะทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะส่งเสริมการศึกษา มอบอุปกรณ์การแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

หลวงปู่ปานท่านเล่าว่า “อาตมาอายุมากแล้ว อยากให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ จึงได้อบรมสั่งสอนเขาไม่ให้หยุดนิ่งในการทำความดี และความเจริญรุ่งเรืองของการศึกษา ตลอดจนการปฏิบัติธรรมเพื่อไม่ให้เงียบเหงา ไม่ใช่ว่าพอมีงานวัดทีจึงจะมีคนมาหาเรา เราต้องทำงานให้ตื่นตัวอยู่เสมอ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ทำอยู่ เช่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่ควรเอาแบบอย่าง เพราะท่านไม่เคยหยุดนิ่งเลย แม้ท่านจะอายุมากแล้วก็ตาม เราต้องเอาอย่างท่าน”

ด้านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่หลวงปู่ท่านจะจัดเป็นประจำทุกปีนั้น คือ งานเข้าปริวาสกรรมของพระภิกษุสงฆ์ และบวชชีพรหามณ์ การเข้าปริวาสกรรมของภิกษุสงฆ์นั้น ถือเป็นการชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ ปริวาสคือการอยู่ใช้กรรม ถ้าเรียกอย่างสามัญว่าอยู่กรรม เป็นระเบียบสำหรับออกจากครุอาบัติอย่างหนึ่งของพระภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ และจะต้องประพฤติวัตรเพื่อเป็นการลงโทษตัวเอง เพื่อชดใช้กรรมให้ครบกำหนด เท่าจำนวนวันที่ปกปิดทำผิดอาบัติ ก่อนจะประพฤติวัตรตามวิธีขั้นตอนของการออกจากอาบัติต่อไป

พระพุทธองค์ตรัสว่า “หญ้าคาที่จับไม่ดีย่อมบาดมือฉันใด ความเป็นสมณะถ้าปฏิบัติไม่ดี ย่อมถูกฉุดคร่าลงนรกฉันนั้น” (คาถาธรรมบท ๔๕/๒๕/๔๗)


๏ พระธรรมเทศนา

หลวงปู่ปาน ท่านได้เทศนาสั่งสอนญาติโยมในเรื่องของ “นิพพานไม่ใช่สวรรค์” ดังนี้

“นิพพานไม่ใช่เมืองแก้วเมืองสวรรค์อะไร และไม่ใช่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง นิพพาน คือ การดับกิเลสและกองทุกข์เป็นโลกุตรธรรม คือ สภาวะหลุดพ้นโลก มีอยู่ ๙ อย่าง ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ อันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา”

นอกจากนี้ หลวงปู่ปานได้เมตตาและอธิบายเคล็ดลับการปฏิบัติให้เกิดความสุขว่า “ให้หลุดพ้นเพราะเห็นอัตตา โดยยกว่า วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส ๓ ประเภท คือ สุญญตวิโมกข์, อมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง แล้วถอนนิมิตได้อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้”

รวมทั้ง พระธรรมคำสอนอันเป็นสิริมงคลของชีวิตจากหลวงปู่ปาน ที่ว่า “ความสบายเกิดจากความไม่สบาย ความไม่สบายเกิดจากความสบาย”


๏ การมรณภาพ

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ ได้มรณภาพด้วยโรคปอดอักเสบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๐๗.๑๐ น. ณ โรงพยาบาลสกลนคร สิริอายุรวมได้ ๘๕ ปี ๗ เดือน ๒๔ วัน พรรษา ๖๕ นับว่าชาวสกลนครได้สูญเสียพระเถระองค์สำคัญที่สร้างคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และสังคมส่วนรวมนี้ไปอย่างสงบ แต่คุณงามความดีของท่านยังคงเป็นที่ปรากฏชัดในจิตใจชาวสกลนครอย่างมิรู้เสื่อมคลายตลอดไป

ครั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมีหมายกำหนดการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ปาน คุตฺตสติ ณ เมรุชั่วคราว วัดกุดไผท จ.สกลนคร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ และคณะศิษยานุศิษย์อย่างล้นพ้นหาประมาณมิได้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชฺฌนฺติ เตสงฺ วูปสโม สุโข


สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
มีความเกิดขึ้นแล้วมีความดับไปเป็นธรรมดา
ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่ง

หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ มีสติอันตนรักษาแล้ว
อบรมธรรมจิตใจตนให้ผ่องแผ้ว
แล้วจึงนำธรรมสอนปวงประชา
อายุแปดสิบห้าปีเจ็ดเดือนผ่าน
ดับลมปาน ขึ้นสู่เมืองสวรรค์
ศิษย์ทุกคนต่างอาลัยทุกคืนวัน
ขอจงถึงความสุขพลัน นิรันดร์เทอญ


รูปภาพ
พระครูสังวราภิบาล (หลวงปู่ปาน คุตฺตสติ)



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.sakoldham.com/
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร