วันเวลาปัจจุบัน 06 ต.ค. 2024, 17:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2009, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก


วัดโพธิ์ชัย
ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม



“พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก” หรือ “หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก” มีนามเดิมว่า เกิ่ง ทันธรรม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ตรงกับแผ่นดินในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โยมบิดาชื่อ นายทัน ทันธรรม มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านหนองขอนขวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีอาชีพค้าขาย ส่วนโยมมารดาชื่อ นางหนูมั่น ทันธรรม มีอาชีพทำไร่ทำนาสืบต่อครอบครัวของตน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓


๑. ชาติกำเนิดและอุปนิสัย

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นบุคคลรูปร่างสันทัด ไม่อ้วนไม่ผอม สูงประมาณ ๑๖๖ เซนติเมตร ผิวดำแดง มีนิสัยขยัน อดทน ประหยัด ตรงไปตรงมา เฉลียวฉลาด ชอบศึกษาหาความรู้ ชอบคิดริเริ่มทำการงานที่เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมุ่งมั่นในการงาน เมื่อลงมือทำกิจการงานใด ก็ตั้งใจทำให้เกิดผลจริงจัง เอาใจใส่เร่งรัดให้งานนั้นสำเร็จโดยเร็ว และจะไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจทำงานนั้นๆ โดยง่าย แม้จะยากลำบากปานใดก็ตาม และอุปนิสัยเด่นของท่านอีกประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีอุปการคุณ เช่น บิดามารดา อุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ ตลอดจนต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่าน เป็นต้น นิสัยกตัญญูกตเวทีนั้น ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่วัยรุ่นจนตลอดชีวิตของท่าน มีตัวอย่างแสดงหลายประการ เช่น ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่โยมบิดา-โยมมารดา

ตอนทำศพของท่านพระอาจารย์คำดี พระอุปัชฌาย์ของท่านสมัยอุปสมบทเป็นพระในฝ่ายมหานิกายนั้น แม้พระอาจารย์เกิ่งจะได้ญัตติใหม่เป็นพระในฝ่ายธรรมยุติกนิกายสายกรรมฐานแล้ว ท่านก็ยังให้ความเคารพนับถือท่านพระอาจารย์คำดีอยู่เสมอ เช่น ถวายดอกไม้ธูปเทียนและสิ่งของแด่ท่านพระอาจารย์คำดีเป็นครั้งคราว

ครั้นถึงเวลาที่ท่านพระอาจารย์คำดีถึงแก่มรณภาพ ขณะนั้นพระอาจารย์เกิ่งจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดวิเวการาม บ้านอางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พระอาจารย์เกิ่งได้ติดต่อญาติโยมทางบ้านสามผง ให้เก็บศพท่านพระอาจารย์คำดีไว้ระยะหนึ่งก่อน เพื่อท่านเองจะได้ร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เตรียมการฌาปนกิจศพพระอุปัชฌาย์เดิมของท่านให้ปรากฏเป็นเกียรติยศ พระอาจารย์เกิ่งได้พิมพ์หนังสือที่ท่านแต่งขึ้นเอง คือหนังสือคำกลอนปลุกชาติ นำไปแจกเป็นของชำร่วยพร้อมกับเครื่องไทยทานอื่นๆ ที่ท่านนำไปร่วมทำบุญ

ส่วนความกตัญญูต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่านนั้น ผู้อ่านประวัติของพระอาจารย์เกิ่งในตอนต่อไป ก็จะเห็นได้ชัดแจ้งเองว่าท่านทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ได้ผลอย่างใด แก่ชุมชนชนบทที่ให้กำเนิดแก่ท่าน อาทิ พระธรรมวินัยแห่งพระพุทธศาสนาอันถูกต้อง, การศึกษาทั้งพุทธศึกษา จริยศึกษา และหัตถศึกษา, สิ่งก่อสร้างและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์อื่นที่ท่านทำ และนำพาสานุศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวบ้านทำ ที่พระอาจารย์เกิ่งได้นำมาและทำให้เกิดมีขึ้นในชุมชนถิ่นกำเนิดของท่าน รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงนั้น มีมากเกินกว่าที่ผู้รวบรวมและเรียบเรียงประวัตินี้ผู้เดียวจะจดจำและบันทึกได้อีกมากหลายนัก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๒. การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่อสมัยเยาว์วัย ท่านเรียนหนังสือจากท่านผู้ใดที่ไหนบ้าง ไม่ปรากฏ แต่ท่านอ่านหนังสือไทย หนังสือธรรม และหนังสือขอมได้แตกฉาน และสามารถสอนคนอื่นได้ ท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๗ วันตามประเพณี ก็ลาสิกขา เพราะบวชในงานศพให้แก่โยมมารดาหรือโยมบิดาเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุได้ ๒๒ ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง โดยมี ท่านพระอาจารย์คำดี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์สอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ ๒ พรรษา

พรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๕๕ อายุ ๒๕ ปี) ได้พบ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร บ้านวาใหญ่ ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ซึ่งมีพรรษา ๓ เท่ากัน เมื่อรู้จักกันก็รักใคร่นับถือกันมาก ไปไหนก็ไปด้วยกันเสมอ เมื่อพรรษา ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุ ๒๘ ปี) ไปเรียนในสำนักอาจารย์จัทร์แดง บ้านกุดกุ่ม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อเรียนจบก็กลับมาอยู่วัดโพธิชัย บ้านสามผง ตามเดิม เป็นครูสอนพระธรรมวินัยและภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรในวัด และสอนภาษาไทยแก่คฤหัสถ์หรือฆราวาสโดยตั้งเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ในวัดขึ้น

ในพรรษา ๙ (พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๓๑ ปี) ท่านไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระอาจารย์สีลา ในสมัยนั้นการเดินทางมากรุงเทพฯ ยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน รถไฟมีไปถึงโคราชเท่านั้น ผู้ที่จะมากรุงเทพฯ โดยรถไฟต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่โคราช พระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลา ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากบ้านสามผง ใช้เวลาเกือบสองเดือนจึงถึงโคราช แล้วขึ้นรถไฟจากโคราชมากรุงเทพฯ

ครั้งแรกพากันพักอยู่ที่วัดสระเกษ อยู่ไม่นานก็ย้ายไปอยู่วัดปรินายก จำพรรษาอยู่ ๒ พรรษา ท่านเดินไปเรียนหนังสือบาลีที่วัดมหาธาตุฯ พระอาจารย์สีลาเรียนบาลีไม่นานก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่บ้านดงนาดี อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อรักษาตัวรอพระอาจารย์เกิ่ง ซึ่งยังเรียนบาลีและนักธรรมไปพร้อมกันจนจบหลักสูตร แต่ยังไม่ได้สอบไล่ (การสอบสมัยนั้นใช้วิธีสอบปากเปล่า ไม่ได้สอบข้อเขียนเหมือนปัจจุบัน) ท่านก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ เดินทางไปหาพระอาจารย์สีลา ที่บ้านดงนาดี ท่านพักรักษาตัวอยู่ประมาณ ๒ เดือน ก็พากันกลับบ้านสามผงทั้งสองรูป ท่านรักษาตัวอยู่ไม่นานก็หายเป็นปกติ

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล


๓. เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีบวชพระอาจารย์ทองรัตน์

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระอาจารย์เกิ่งท่านได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบทพระภิกษุรูปหนึ่งในฐานะพระกรรมวาจาจารย์ ในขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๗ ปี พรรษา ๗ พรรษา พระภิกษุรูปนั้นคือ พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ซึ่งตามประวัติที่เล่าไว้ในหนังสือ “มณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์” ว่า พระอาจารย์ทองรัตน์ในตอนนั้นอายุได้ ๒๖ ปี สาเหตุที่ออกบวชก็เนื่องจากท่านได้ไปจีบสาวต่างบ้าน สาวนั้นได้เกิดความชอบพอใจขึ้นมา และหลายครั้งได้คะยั้นคะยอให้ท่านนำญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามประเพณี ถ้าไม่ไปสู่ขอ สาวเจ้าได้ยื่นคำขาดว่าจะขอหนีตาม

หนุ่มทองรัตน์ได้คิดอยู่หลายวัน ถ้าจะปล่อยให้สาวหนีตามก็ไม่อยู่ในวิสัยของลูกผู้ชายอย่างหนุ่มทองรัตน์จะทำ ถ้าบอกปฏิเสธก็กลัวว่าสาวเจ้าจะเสียใจ และได้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ขอแต่งงาน ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็คงจะไม่พ้นอยู่ดี จึงบอกกับบิดาว่า ให้พาไปฝากกับพระอุปัชฌาย์เพื่อบวช บิดาก็ไม่อยากให้บวช เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญในบ้าน จึงอยากให้มีครอบครัวมากกว่าให้ออกบวช แต่ก็ต้องยอมตามคำอ้อนวอน และเหตุผลที่ได้อ้างต่อบิดาว่า “ยังไม่อยากมีเมีย” บิดาของท่านจึงได้นำท่านไปบวชกับ พระอุปัชฌาย์คาร คนฺธิโย วัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมี พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองรัตน์นี้ต่อมาก็ได้เป็นศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2009, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


๔. ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พระอาจารย์เกิ่งยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง และท่านได้เป็นสมภารหรือเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง สืบต่อจากพระอาจารย์สอน ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย เพราะมีพรรษาเกินสิบพรรษา มีความยึดมั่นในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ประกอบด้วยคุณสมบัติมีความรู้แตกฉานด้านพระปริยัติธรรม

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์เกิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประถม ต.สามผง ได้รับเงินเดือน ๑๒ บาท ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น โรงเรียนประถมตั้งอยู่ในวัด ใช้ศาลาโรงธรรมเป็นอาคารเรียน

ในขณะเดียวกัน พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งโรงเรียนนักธรรมและบาลีขึ้น ท่านเป็นครูผู้สอนเองทั้งนักธรรมและบาลี มีพระภิกษุสามเณรจากบ้านสามผงและบ้านอื่นๆ แม้จากต่างจังหวัดไกลๆ ก็มีมาเรียนกันมาก กุฏิที่อยู่ ที่ฉันอาหาร ที่ขับถ่ายของวัดจึงคับแคบ ไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรผู้มาเรียน ท่านต้องสร้างกุฏิขึ้นใหม่ บริเวณเนื้อที่กุฏิคลุมประมาณ ๑ ไร่ หรือ ๔๐๐ ตารางวา กุฏิยกพื้นสูงประมาณ ๒ เมตรครึ่ง เป็นใต้ถุนสูง ตรงกลางสร้างเป็นกุฏิสมภารและรองสมภารเป็นรูปตัวยู กุฏิแถวนั้นแบ่งเป็นห้องๆ เรียงติดต่อกันมีจำนวนมากกว่า ๓๐ ห้อง แต่ละห้องกว้างประมาณ ๓ คูณ ๔ เมตร

หน้าห้องกุฏิแถวเป็นระเบียงกว้างประมาณ ๒ เมตรครึ่ง ระเบียงใต้ชายคากุฏิแถวนี้โล่งยาว เดินถึงกันได้ตลอด ด้านหน้ากุฏิแถวเป็นรูปตัวยู ระหว่างเสาชายคาระเบียงกุฏิแถวทั้งหมดมีลูกกรงออกแบบสวยงาม และทำประตูลูกกรงนี้เปิดปิดได้กันไม่ให้สุนัขเข้าได้ ที่ระเบียงหน้าห้องกุฏิแถวใช้เป็นที่ฉันอาหารของพระภิกษุสามเณรเจ้าของห้องได้ด้วย ระหว่างกุฏิแถวกับกุฏิสมภารที่สร้างไว้ตรงกลางกุฏิแถวรูปตัวยูนั้น มีชานต่อเชื่อมกันโดยรอบ ชานกว้างประมาณ ๓ เมตร กุฏิสมภารที่อยู่ตรงกลางนั้น ทำเป็นอาคารมีหลังคาสูงกว่าหลังคากุฏิแถว ขนาดอาคารมีความกว้างประมาณ ๘ เมตร ความยาวประมาณ ๑๘ เมตร ตัวอาคารด้านหน้าทิศตะวันออก เป็นห้องโถงใหญ่หนึ่งห้อง สำหรับประชุมสงฆ์และสวดมนต์ มีความยาวประมาณ ๙ เมตร ด้านหลังห้องโถงถัดไปตามลำดับมีห้องใหญ่ ๒ ห้อง ใช้เป็นที่พักของสมภารหนึ่งห้อง และของรองสมภารอยู่ติดกับห้องประชุม มีประตูเข้าออกหนึ่งประตูเชื่อมห้องประชุม และมีประตูเข้าห้องด้านขวาทางทิศเหนืออีกหนึ่งประตู

ส่วนห้องรองสมภารก็มีประตูเข้าออกต่างหากทางด้านเหนือเช่นกัน อาคารหลังกลางทั้งหลังที่เป็นห้องประชุม ห้องสมภาร และห้องรองสมภารนี้ มีระเบียงใต้หลังคาโดยรอบมีความกว้างประมาณ ๒ เมตร มีลูกกรงรอบทุกด้าน มีประตูลูกกรงปิดเปิดทำไว้ ๕ ประตู คือ ด้านข้างด้านละ ๒ ประตู และตรงด้านหน้าห้องประชุมอีกหนึ่งประตู บันไดขึ้นอาคารกุฏิใหญ่ทั้งหลังมี ๓ บันได คือ ด้านหน้า ๒ บันได ตรงพื้นชานเชื่อมกุฏิแถวกับกุฏิใหญ่ทั้งด้านซ้ายและขวา อีกบันไดหนึ่งอยู่ด้านหลัง ตรงชานเชื่อมกุฏิแถวกับกุฏิสมภารลอดใต้ถุนกุฏิแถวลงไป ทั้งนี้ ทางขึ้นบันไดทั้ง ๓ แห่งมีลูกกรงและประตูเปิดปิดได้ทุกแห่ง

กุฏิใหญ่ทั้งหลังสร้างด้วยไม้ตะเคียน วงกบประตูหน้าต่าง ลูกกรงระเบียง เข้าลิ้น และใช้สลักไม้แทนตะปูทั้งนั้น หลังคากุฏิแถวและกุฏิสมภารมุงด้วยไม้กระดานทั้งหมด รูปแบบกุฏิใหญ่ทั้งหลังนี้ ตั้งแต่ส่วนที่กำหนดไว้เป็นประโยชน์ใช้สอยเป็นห้องพัก ระเบียงฉันอาหาร ชานเชื่อมกุฏิแถวและกุฏิสมภาร รวมทั้ง การเขียนรูปชาดก เช่น รูปพระมโหสถ รูปพระเตมีย์ใบ้ เป็นต้น ไว้ที่เพดานและฝาที่ต่อลงมาจากเพดาน โดยรอบห้องประชุมซึ่งทำฝาลงมาไว้แค่ประมาณ ๑ เมตรนั้น ทำให้ผู้เข้าไปชมต้องเพ่งดูและแหงนดูตลอด ด้วยความทึ่งและชื่นชมในความคิดอันละเอียดลึกซึ้งและรอบคอบของพระอาจารย์เกิ่ง นอกจากนี้ ยังมีอุโบสถขนาดเล็กอยู่หนึ่งหลัง ตั้งอยู่ด้านขวาของกุฏิหลังใหญ่เมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

รอบวัดทั้งหมดทำเสารั้วไม้เนื้อแข็งหกเหลี่ยม ตีไม้กระดานพาดเชื่อมรั้วโดยรอบ ประตูเข้าวัด ๔ ด้านเป็นประตูซึ่งทำเป็นขั้นบันไดเดินข้ามรั้วทั้งสิ้นโดยไม่มีประตูเปิดปิด ในบริเวณวัดมีต้นไม้นานาพันธุ์จำนวนมากมาย เช่น มะม่วง มะพร้าว กระท้อน มะไฟ เป็นต้น มีป้ายสลักบนแผ่นกระดานใหญ่ไว้ว่า ต้นไม้ที่เป็นไม้ผลทั้งหมดนี้ ชาวบ้านมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวหน้า ได้ชำระเงินต่อวัดบูชาเป็นค่าต้นไม้ไว้แล้ว เด็กและผู้ใหญ่กินผลไม้ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นไม้ผลไม้ของสงฆ์ ที่จะเป็นบาปกรรมให้เป็นเปรตมาเฝ้าต้นไม้เมื่อตายไป

กุฏิที่พระอาจารย์เกิ่งสร้างหลังนี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบและก่อสร้างด้วยฝีมือเป็นเอกชิ้นหนึ่งในยุคนั้น เสียดายที่ได้รื้อถอนไปหมดแล้ว โดยเอาไม้รื้อไปสร้างศาลาโรงธรรมและกุฏิที่วัดโพธิ์ชัยในปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่มีรูปถ่ายไว้เป็นอนุสรณ์เลย อนึ่ง สถานที่ขับถ่ายที่เรียกว่าฐานหรือ “ส้วม” นั้นท่านได้สร้างไว้ใหญ่และสูงมาก ก่อด้วยอิฐถือปูน แบ่งเป็นหลายห้อง เพื่อให้เพียงพอแก่พระภิกษุสามเณรจำนวนมาก

เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้ญัตติใหม่จากเดิมซึ่งเป็นพระในฝ่ายมหานิกาย มาเป็นพระในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้วประมาณ ๑๐ พรรษา ท่านได้ย้ายที่ตั้งของวัดโพธิ์ชัยออกมาตั้ง ณ ที่ป่าห่างจากหมู่บ้านสามผงประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปสร้างใหม่ตามสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ตลอดจนได้ถือธุดงควัตรตามแบบท่านพระอาจารย์มั่นโดยเคร่งครัด อาทิเช่น ฉันอาหารมื้อเดียว ฉันในบาตร ขณะที่ฉันหากต้องลุกจากที่ฉันแม้จะยังไม่อิ่ม ก็ไม่ฉันต่ออีกเลยในวันนั้น เป็นต้น

ณ ที่ตั้งของวัดโพธิ์ชัยแห่งใหม่นี้ พระอาจารย์เกิ่งยังคงดำเนินกิจการสำนักเรียนนักธรรมและบาลี เพื่อสอนพระภิกษุสามเณรอยู่ตามเดิม นอกจากนี้ท่านยังได้รับเด็กๆ ลูกชาวบ้านมาเป็นเด็กวัด สอนให้มีจริยธรรม สอนเสริมภาษาไทย และเลขคณิตให้แก่เด็กที่ไปโรงเรียนประถม เด็กที่อยู่วัดกับพระอาจารย์เกิ่งต้องรักษาความสะอาดร่างกาย และเครื่องแต่งตัว ฝึกหัดระเบียบการกินการอยู่หลับนอน ท่านจะมีนกหวัดเป่าเรียกโดยจะมีรหัสเสียงเฉพาะตัวเด็กทุกคนไว้ ให้มาหัดคัดลายมือภาษาไทยและทำเลขคณิตในวันโรงเรียนหยุด พร้อมกับสอนวิธีประหยัดดินสอและสมุดที่ใช้เขียนด้วย เด็กแต่ละคนพระอาจารย์เกิ่งจะมอบหมายให้อยู่กับพระภิกษุหรือสามเณรตามที่ท่านเห็นสมควร เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กอย่างทั่วถึง

พระอาจารย์เกิ่งได้รวบรวมหนังสือเรียนนักธรรมและบาลี ถึงขั้นนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยคไว้มาก ท่านจัดทำเป็นห้องสมุด มีหมวดหนังสือประเภทต่างๆ ไว้ดีมาก โดยมีพระภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฝึกหัดอบรมจากท่านแล้ว ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหรือทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ ต่อมาท่านได้สร้างอาคารหอสมุดในสระน้ำที่ขุดขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อกันปลวกและสัตว์บางชนิดขึ้นไปทำลายหนังสือ ท่านสร้างสะพานลอยมีหลังคาไม้กระดาน มีความยาวประมาณ ๔๐-๕๐ เมตร ลงไปหาอาคารหอสมุด แต่เว้นว่างไม่ให้สะพานเชื่อมกับอาคารหอสมุดโดยตรง แต่จะเว้นไว้ห่างประมาณ ๒ ฟุต ใช้ไม้กระดานทอดเฉพาะเวลาจะเข้าออกหอสมุด เพื่อไม่ให้สัตว์ เช่น ปลวก หนู จิ้งจก เป็นต้น เข้าไปหาตัวอาคารหอสมุดได้

ท่านตั้งชื่ออาคารหอสมุดซึ่งสร้างเป็นศาลา ๖ เหลี่ยมสวยงามหลังนี้ว่า “หอไตร” ซึ่งมีน้ำในสระที่ล้อมรอบหอไตรใสสะอาด มีบัวหลวงและบัวอื่นๆ หลายชนิดหลายสีบานสะพรั่ง มีฝูงปลามากมายแหวกว่ายอยู่ไปมา ท่านติดป้ายห้ามจับสัตว์ทุกชนิดในบริเวณโดยรอบ สถานที่บริเวณหอไตรนั้น ด้านหนึ่งเป็นป่าซึ่งเป็นบริเวณวัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างใหญ่ ฤดูน้ำมีน้ำท่วมลึกขังอยู่ประมาณ ๑ เดือน เป็นสถานที่เงียบสงบ ลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การค้นคว้าตำรา และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระนักการศึกษา เป็นผู้รักการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง จึงเห็นคุณค่าของการศึกษา หนังสือ และห้องสมุดมาก นับว่าเป็นพระภิกษุที่มีความคิดเห็นก้าวหน้าทันสมัยและมองเห็นการณ์ไกลได้เยี่ยมยอดมากองค์หนึ่งในยุคสมัยของท่าน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2010, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


๕. ญัตติเป็นธรรมยุต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระอาจารย์เกิ่งได้จาริกไปยังท้องที่ถิ่นต่างๆ เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้แนะนำแนวทางปฏิบัติกรรมฐาน ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาก มาพักผ่อนเพื่อหาความวิเวก และเผยแผ่ศีลธรรมแก่ประชาชน พักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พระอาจารย์เกิ่งจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นที่นั้น ได้ฟังพระธรรมเทศนา และเฝ้าดูข้อวัตรปฏิบัติของท่านอย่างใกล้ชิด ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าที่บ้านสามผง (บริเวณใกล้กับบริเวณวัดโพธิ์ชัย ในปัจจุบัน)

พระอาจารย์เกิ่งใช้เวลาพิจารณาศึกษาจริยาวัตรและคำสอนทางปฏิบัติกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิด และจริงจังตลอดพรรษา หลังเวลาออกพรรษาแล้ว ท่านได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแก่กล้า จึงได้แจ้งการที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตของท่านให้บรรดาพระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านได้ทราบว่า ท่านจะสละตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุติกนิกาย เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเท่ากับเป็นการอุปสมบทใหม่ นับพรรษาแห่งความเป็นพระภิกษุใหม่ในสายปฏิบัติแบบท่านพระอาจารย์มั่น มีคณะศรัทธาญาติโยมและศิษยานุศิษย์บางกลุ่มไม่เห็นชอบให้ท่านสละลาภยศที่พระอาจารย์เกิ่งมีอยู่แล้ว เพื่อเข้าสู่ภาวะเหมือนพระบวชใหม่โดยสิ้นเชิง

พระอาจารย์เกิ่งได้ใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงตัดสินใจเปลี่ยนฐานะในชีวิตของท่านอย่างอาจหาญ ในที่สุด พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุติกนิกายกับท่านพระอาจารย์มั่น และได้ติดต่อนิมนต์ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูชิโนวาทธำรง วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี มาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยมี ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นั่งหัตถบาสรวมอยู่ในองค์สงฆ์นั้นด้วย เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๑๓.๒๔ น. ณ อุทกุเขปสีมา หนองสามผง (อาคารพิเศษเหมือนอุโบสถกลางหนองน้ำ สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะขอญัตติใหม่ของพระอาจารย์เกิ่งครั้งนี้) บ้านสามผง ต.สามผง อ.ท่าอุเทน ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเขต อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

เมื่อได้ญัตติใหม่เป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกายแล้ว ในปีนั้นพระอาจารย์เกิ่งได้เดินทางออกจากวัดโพธิ์ชัย ไปพักจำพรรษาอยู่ ณ เสนาสนะป่า บ้านสามผง (ห่างจากวัดโพธิ์ชัยประมาณ ๑ กิโลเมตร) กับท่านพระอาจารย์มั่น โดยได้ฟังธรรมเทศนาและโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น และได้ปฏิบัติรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่นในฐานะลูกศิษย์ตลอดพรรษา รวมเวลาที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่บ้านสามผง ๒ พรรษา คือก่อนพระอาจารย์เกิ่งญัตติใหม่หนึ่งพรรษา และหลังพระอาจารย์เกิ่งญัตติใหม่อีกหนึ่งพรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์จาริกไปยังถิ่นต่างๆ เพื่อเผยแผ่ศีลธรรมแก่ประชาชน พร้อมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก โดยมีพระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลาร่วมคณะไปด้วย เมื่อถึงจังหวัดอุบลราชธานี ท่านพระอาจารย์มั่นได้พักจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอน อ.อำนาจเจริญ ส่วนพระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลา ได้พากันไปพักจำพรรษาอยู่ที่บ้านน้ำปีก อ.อำนาจเจริญ เป็นเวลา ๒ พรรษา ได้สร้างวัด (สำนักสงฆ์) ไว้ที่นั้นด้วย ต่อจากนั้นท่านก็เที่ยวธุดงค์ไปท้องที่จังหวัดต่างๆ กับพระอาจารย์สีลา ได้มาถึงเมืองขอนแก่นแล้วไปพักอยู่ที่บ้านศรีฐาน ได้สร้างวัด (สำนักสงฆ์) ไว้ที่นั้นอีก ปัจจุบันชื่อว่า วัดป่าชัยวัน พระอาจารย์เกิ่งพักจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้นานเท่าใดไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ทราบว่าที่บ้านศรีฐานนี้มีคนเคารพนับถือท่านมาก

เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้เที่ยวธุดงค์ไปทาง จ.นครราชสีมาและขอนแก่นพอควร จนได้แนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมั่นคงแล้ว ก็กลับมาอยู่เสนาสนะป่าบ้านสามผงอีก ได้สร้างวัดป่า (วัดโพธิ์ชัย ในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษาอยู่บริเวณนั้น ขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ถาวรดังได้กล่าวถึงแล้ว

ครั้งนั้น ประชาชนชาวบ้านสามผง และหมู่บ้านเครือญาติใกล้เคียงกัน เช่น บ้านศรีเวินชัย และบ้านดงน้อย เป็นต้น นับถือพระพุทธศาสนาก็จริง แต่ยังมีความเคารพนับถือภูตผีปีศาจ ผีไท้ ผีปู่ตา และไสยศาสตร์ สืบต่อมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ พระอาจารย์เกิ่งเห็นว่าเป็นการเชื่ออย่างงมงาย ไร้เหตุผล ผิดหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เท่ากับว่ายังไม่เคารพนับถืออย่างมั่นคงในพระรัตนตรัย พระอาจารย์เกิ่งท่านจึงตั้งปณิธานในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนชาวบ้านแถบนั้น ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ แล้วหันมาให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง ด้วยอุบายต่างๆ ที่เหมาะสม โดยใช้บารมีของท่านเป็นกุศโลบาย เช่น ครอบครัวใดนับถือผีไท้ ผีปู่ตา อย่างงมงายมาก ท่านจะไม่รับนิมนต์และไม่ให้พระภิกษุสามเณรในปกครองของท่านไปสวดมนต์ทำบุญแก่ครอบครัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานศพหรืองานมงคล ท่านจะบอกว่าให้เขาไปนิมนต์ผีไท้ ผีปู่ตา ที่เขานับถือนั้นไปสวดมนต์ทำบุญให้เถิด ดังนี้เป็นต้น แต่นั้นมาความเชื่อในภูตผีปีศาจของประชาชนชาวบ้านก็ค่อยๆ หมดไป นับว่าพระอาจารย์เกิ่งได้ปฏิวัติฟื้นฟูจิตใจของประชาชนชาวบ้านในถิ่นนั้น ให้ตื่นจากมิจฉาทิฏฐิความหลงงมงายได้อย่างน่าสรรเสริญ

รูปภาพ
พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม


การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดของพระอาจารย์เกิ่ง รวมทั้ง การปฏิบัติตามปณิธานอย่างมั่นคงในการเผยแผ่พระธรรมวินัยให้แก่พระภิกษุสามเณร และประชาชนชาวบ้านร่วมญาติ ร่วมชาติของท่าน ตลอดเวลาในชีวิตของท่าน ด้วยความอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือท่านโดยทั่วไป เหตุเนื่องจากพระอาจารย์เกิ่งได้ตั้งปณิธานพุทธภูมิไว้ในใจของท่านนั่นเอง เพราะกลางคืนวันหนึ่ง พระอาจารย์เกิ่งได้เคยปรารถกับ พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ณ วัดป่า (สำนักสงฆ์) แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะท่านไปพักเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านป่าเปอะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้ ๓-๔ คืน พระอาจารย์ตื้อซึ่งพักอยู่ที่วัดป่าบ้านป่าเปอะกับท่านพระอาจารย์มั่น ได้กล่าวชวนพระอาจารย์เกิ่งให้ไปพักที่วัดป่าแม่ริมซึ่งพระอาจารย์ตื้อได้สร้างไว้ ปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๘๒ เห็นจะได้ คืนนั้นพระอาจารย์ทั้งสองนั่งสนทนาธรรมกัน โดยมีสามเณรเล็กๆ รูปหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เกิ่งนั่งอยู่ด้วย

พระอาจารย์เกิ่งได้พูดกับพระอาจารย์ตื้อ ตอนหนึ่งในคืนนั้นมีใจความว่า “...พุทธภูมิเป็นภาระที่หนักมาก ไม่เหมือนกับปัจเจกภูมิ บางครั้งก็อ่อนใจ เบื่อหน่าย อยากสละความปรารถนานั้น...” พระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์ตื้อเกิดที่หมู่บ้านชนบทใกล้กัน คือบ้านสามผงและบ้านข่า ตามลำดับ ซึ่งหมู่บ้านทั้งสองห่างกันประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ท่านทั้งสองจัดว่าเป็นสหธรรมิกที่สนิทต่อกันเป็นอย่างยิ่ง

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๖. ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ติดตามคณะท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป เดินทางมาที่บ้านโนนแดง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่ง อ.นาหว้า) จ.นครพนม และที่นั้นได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรมและไปเทศนาสั่งสอนโปรดชาวบ้านญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ออกท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถของท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกของท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของท่านพระอาจารย์มั่น แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

การเดินทางไป จ.อุบลราชธานี อันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วยท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกรรมฐานและการถึงพระไตรสรณคมน์ ที่ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกรรมฐานนั้นเป็นอย่างดี และต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่ จ.สกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาประจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยัง จ.อุบลราชธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะเดินทางกลับไปที่ จ.อุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ในเขต อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านพักจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระที่เป็นศิษยานุศิษย์แต่ละคณะก็แยกกันจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาทิเช่น พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านทั้งสอง, พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าจำพรรษาอยู่ที่เดียวกัน คือที่บ้านบ่อชะเนง เป็นต้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2010, 06:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๗. พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเรื่อง จึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อนได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน


๘. พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกของท่านไปมอบให้น้องสาวในเมืองอุบลฯ ท่านพระอาจารย์มั่น และคณะศิษยานุศิษย์พักที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมดมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”


รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


ครั้นปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้เรียกคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่โยมมารดาของท่าน จนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลาโยมมารดา และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ

จากนั้นออกพรรษาแล้ว ประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เพื่อจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายัง จ.เชียงใหม่


๙. ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2010, 06:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


๑๐. เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”


รูปภาพ
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต


๑๑. แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ต.โนนทัน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ต.โนนทัน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ต.เมืองเก่า อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีอุปสมบทญัตติ “พระจวน กลฺยาณธมฺโม” มาเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในนามฉายาใหม่ว่า “กุลเชฏฺโฐ” แปลว่า “พี่ชายใหญ่สุดของวงศ์ตระกูลนี้” โดยมี พระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดป่าสำราญนิเวศน์ ต.บ้านบุ่ง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ต.บ้านบุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ในปัจจุบัน)

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ

รูปภาพ
พระอาจารย์ทอง อโสโก


๑๒. กลับไปอยู่ถิ่นเดิม

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก, พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ), พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์สนธิ์, พระอาจารย์คำ คมฺภีโร และพระอาจารย์จรัส พร้อมด้วยพระภิกษุและสามเณรหมวดละ ๗ องค์ ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในท้องที่ จ.นครพนม

เมื่อไปถึงจังหวัดนครพนมแล้ว ท่านได้แยกกันอยู่ตามสำนักต่างๆ ดังนี้

๑. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก อยู่สำนักวัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์

๒. พระอาจารย์บุญมา มหายโส อยู่สำนักวัดอรัญญิกาวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ

๓. พระอาจารย์ทอง อโสโก อยู่สำนักสงฆ์วัดเกาะแก้วอัมพวัน ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

๔. พระอาจารย์สนธิ์ อยู่สำนักสงฆ์วัดถ้ำบ้านนาโสก ต.บ้านแก้ง อ.นาแก จ.นครพนม

๕. พระอาจารย์คำ คมฺภีโร อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าศิลาวิเวก อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ต.ศรีบุญเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน)

๖. พระอาจารย์จรัส อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าท่าควาย อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

รูปภาพ
วัดเกาะแก้วอัมพวัน ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในปัจจุบัน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2010, 06:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๓. งานการพัฒนาชุมชนในชนบท

ความคิดและโครงการพัฒนาชุมชนในชนบทของพระอาจารย์เกิ่ง มีมากมายหลายประการ อาจสรุปให้สั้นพอเข้าใจง่ายได้ ๒ ด้าน คือ ด้านพัฒนาคน และด้านพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์

๑๓.๑ ด้านพัฒนาคน : พิจารณาจากผลงานด้านการพัฒนาคนของท่านแล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระอาจารย์เกิ่งมีธรรมจักษุอันแจ่มชัดในเรื่องความเจริญของชุมชน ว่าเกิดจากคนที่มีสติปัญญาและมีฝีมือในเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ หากขาดคนที่มีปัญญาและฝีมือ ชุมชนนั้นๆ ก็จะขาดความเจริญในทุกด้าน

ดังนั้น พระอาจารย์เกิ่งจึงได้ทำงานด้านให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และประชาชนชาวบ้านสามผงและชาวบ้านอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นศิษย์ของท่านอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี ณ วัดโพธิ์ชัย มาโดยตลอดเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส รวมทั้งในเวลาที่พระภิกษุอื่นเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น อนึ่ง ไม่เฉพาะแต่เป็นผู้บริหารการศึกษานักธรรมและบาลีเท่านั้น ท่านยังเป็นครูผู้สอนด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพของความเป็นครูสูงมาก จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ แม้ลูกศิษย์พระภิกษุสามเณรบางรูปที่ครูคนอื่นสอนเท่าใดก็ไม่มีทางจะทำให้เข้าใจหรือจำได้ ซึ่งคนชนิดนี้เรียกกันว่า “คนปึกหนา” หรือคนสมองทึบ แต่ท่านจะสอนคนปึกหนาให้เสียน้ำใจเลย เรื่องนี้มีตัวอย่างและพยานหลักฐานในหมู่ศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งกล่าวขวัญกันอยู่โดยทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

นอกจากสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว พระอาจารย์เกิ่งยังสอนความรู้สึกและการฝีมืออย่างอื่น ที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตภายหน้าของพระภิกษุสามเณรที่อาจลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสอีกด้วย เช่นให้ไวยาวัจกรวัดจัดหาจักรเย็บผ้ายี่ห้อพ๊าฟฟ์มาไว้ที่วัด ๑ คัน แล้วสอนพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดให้เย็บจักรเป็นเพื่อเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ตลอดจนเสื้อกางเกงสำหรับเด็ก ท่านสอนวิธีการจัดผ้าอังสะ สบง จีวร สังฆาฏิ และเสื้อกางเกง แก่พระภิกษุสามเณรและเด็กวัดด้วย สอนการฟอกหนังสัตว์ (วัว ควาย และอื่นๆ) เป็นขั้นตอน แล้วฟอกสีด้วยเปลือกไม้จนเป็นหนังฟอกสีน้ำตาลแก่ สำเร็จเป็นผืน แล้วสอนการตัดและเย็บหนังเป็นรองเท้า และของใช้อื่นๆ อีกหลายอย่าง สอนการตีเหล็กและชุบเหล็กเป็นมีด จอบ เสียม สว่าน และเครื่องใช้อื่นๆ ประจำบ้าน

ที่วัดของท่านมีโรงตีเหล็กและเตาสูบตีเหล็กไว้เพื่อใช้ทำงานเพื่อสอน และเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านทั่วไปได้ใช้ด้วย ท่านสอนการทำกระดานดำและชอล์กจากดินสอพองใช้เอง โดยให้พระภิกษุสามเณรและเด็กวัดช่วยกันทำตามแบบพิมพ์ที่ท่านประดิษฐ์ขึ้น, สอนการออกแบบอาคาร เช่น ศาลา กุฏิ ส้วม กระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ สอนการผสมปูนและทำเสาคอนกรีต, การช่างไม้และการก่อสร้าง และอื่นๆ อีกหลายอย่าง มีคนบอกว่า พระอาจารย์เกิ่งพร่ำสอนคณะศิษยานุศิษย์เสมอว่า “คนเรามีสมอง มีมือ มีตีน ต้องรู้จักใช้มันให้ทำงานให้เกิดประโยชน์ อย่าปล่อยทิ้งมันไว้เฉยๆ ธรรมชาติสร้างมันมาให้เราใช้....อย่าหายใจเข้าออกแยๆ ให้รู้จักเสียดายลมหายใจ....เมื่อคิดได้ทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นคนดี ตั้งตัวได้ทั้งในวัดและในบ้าน....”

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านลงไปทางภาคกลาง คือ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี นำพระภิกษุสามเณร และเด็กวัดลูกศิษย์ไปด้วย คือ พระหนึ่ง เณรสอง และเด็กหนึ่ง ท่านได้ฝากสามเณรและเด็กวัดลูกศิษย์ที่ท่านพาไปด้วยไว้กับพระผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพนับถือ เพื่อให้ช่วยอุปการะให้การศึกษาเล่าเรียน สามเณรและเด็กนั้นๆ ได้รับการศึกษาทั้งทางศาสนาและทางโลก ได้เปรียญธรรมชั้นสูง ได้ศาสนศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก บางคนได้ศึกษาต่อถึงขั้นปริญญาตรี โท และเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนหลายคน

รูปภาพ
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน

รูปภาพ
อุโบสถวัดป่าสาลวัน ในปัจจุบัน


เมื่อท่านลงไปภาคกลางประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๘ นั้น ปีแรกท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน ต่อมาท่านจาริกไปที่จังหวัดชลบุรี พักจำพรรษาอยู่ที่พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้สร้างวัดที่พัทยาขึ้น ปัจจุบันชื่อ วัดชัยมงคล โดยมอบหมายให้พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ) อยู่ที่นั่น ส่วนท่านไปสร้างวัดร้างที่บ้านบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชื่อ วัดวิเวการาม และพักจำพรรษาอยู่ที่นั่นหลายปี

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์เกิ่งท่านกลับไปบ้านสามผง เพื่อจัดงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์คำดี พระอุปัชฌาย์ของท่าน เมื่อสมัยอุปสมบทเป็นพระในฝ่ายมหานิกาย ท่านจัดพิมพ์หนังสือที่ท่านแต่งเอง ชื่อ “คำกลอนปลุกชาติ” เป็นคำกลอนภาษาไทยอีสาน ไปแจกในงานฌาปนกิจศพด้วย เสร็จงานท่านก็กลับมาอยู่วัดวิเวการาม บ้านบางพระ ตามเดิม ท่านได้นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดติดตามท่านมาหลายคน ฝากให้แยกย้ายกันไปอยู่ตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียน

ศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็มีหลายท่าน เช่น พระราชเมธากรกวี (สุบิน สุเมโธ ป.ธ. ๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา, พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโพนเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต), พระศรีธรรมวงศาจารย์ (ปาน ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นต้น สำหรับศิษย์ท่านที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานก็มีหลายท่าน เช่น พระอาจารย์แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นต้น

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)

รูปภาพ
พระอาจารย์แว่น ธนปาโล

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ)


เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ พระอาจารย์เกิ่งซึ่งขณะอยู่ที่วัดวิเวการาม บ้านบางพระ ได้ร่วมกับ พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง สมัยนั้นท่านทั้งสองได้วางโครงการศึกษาเพื่อฟื้นฟูการเรียนนักธรรมและบาลี ณ วัดโพธิ์ชัย ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรที่ไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง โดยขอให้ศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งที่ได้รับการศึกษานักธรรมและบาลีขั้นสูงได้แล้วกลับมาเป็นครูสอนคนละ ๑ ปี และได้ส่งพระมหาสุวิทย์ สุวิตฺโท (ติยะบุตร) ป.ธ. ๕ น.ธ. เอก ต่อมารับราชการอยู่แผนกศึกษาธิการ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีรูปแรกตามโครงการ มีพระภิกษุสามเณรสมัครเรียนกันมาก สอนอยู่ ๑ ปีก็กลับสำนักเดิม

ปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์เกิ่งได้ส่งพระมหาอาบ อาภสฺสโร (นคะจัด) ป.ธ. ๖ น.ธ. เอก แห่งวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน (ต่อมาพระมหาอาบได้เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีอยู่ ๑ พรรษา แล้วก็ลากลับสำนักเดิม ต่อจากนั้นก็หาครูสอนไม่ได้ กิจการโรงเรียนนักธรรมและบาลีวัดโพธิ์ชัย จึงจำต้องเลิกไป

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระอาจารย์เกิ่งกลับไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผงอีก ท่านได้ปรับปรุงการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และพัฒนาชุมชนชนบทกลุ่มน้อยที่ยังด้อยพัฒนา ทั้งทางวัตถุและจิตใจให้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่อำนวยให้ ท่านเอาใจใส่ในการศึกษาของกุลบุตรมาก บำเพ็ญตนเป็นครูอุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมให้แก่พระภิกษุสามเณร และศิษย์วัด ตลอดประชาชนทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ท่านสอนหนังสือนักธรรมและบาลี และเทศนาเผยแผ่ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งล้มป่วยจนลุกไม่ไหวจึงหยุดสอน ท่านเคยพูดเสมอว่า “การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้คนมีความฉลาด คนฉลาดย่อมรู้จักปรับปรุงฐานะของตนให้สูงขึ้น”

พระอาจารย์เกิ่งไม่เฉพาะแต่สนใจเรื่องการสร้างสติปัญญาของคนดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังสนใจมากเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความไม่มีโรคของชาวชนบทแถบนั้น ตามปกติชาวบ้านในถิ่นนั้นป่วยด้วยโรคภัยกันปีละมากๆ แต่ขาดแคลนยารักษาโรค ทั้งหมอรักษาก็หายาก เมื่อมีผู้ป่วยไข้ต้องเดินทางด้วยเกวียนหรือลงเรือจากบ้านสามผงไปซื้อยาที่ตัวอำเภอเป็นระยะทางไกลและกันดารมาก เสียทั้งค่าพาหนะและเวลา ไม่ทันกาลต่อความป่วยไข้ ท่านจึงคิดตั้งโครงการตู้ยาประจำบ้านขึ้น โดยให้ไวยาวัจกรติดต่อซื้อยาประจำบ้านต่างๆ มาไว้เป็นจำนวนมาก โดยขายในราคาพอสมควรเพื่อรักษาต้นทุนไว้หมุนเวียนซื้อยาต่อไป เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านชาวชนบท ท่านได้บอกบุญขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านญาติโยมที่มีฐานะดี ก็รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนทางวัดของท่านก็ได้ออกเงินวัดสมทบด้วย ดำเนินโครงการนี้อยู่หลายปีได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ต่อมามีอุปสรรคด้วยชาวบ้านเข้าใจเจตนารมณ์ของท่านผิดไป ท่านจึงสั่งให้เลิกกิจการเสีย เมื่อเลิกโครงการตู้ยาประจำบ้านแล้ว ท่านก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและป้องกันรักษาความป่วยไข้ของประชาชน ได้พยายามหาช่องทางอื่นต่อไปใหม่อีก คือได้คิดตั้งสถานีอนามัยถาวรขึ้นในหมู่บ้าน เป็นสถานีอนามัยระดับตำบล โดยท่านได้ชักชวนและนำชาวบ้านให้สร้างอาคารสุขศาลาขึ้น จากการใช้เงินของวัดไปก่อนแล้วให้ชาวบ้านผ่อนคืนวัดในภายหลัง เมื่อสร้างอาคารสุขศาลาเสร็จแล้ว ทางราชการได้คัดเลือกเด็กรุ่นสาวในบ้านสามผงให้รับทุนมาศึกษาการอนามัยและผดุงครรภ์ที่โรงพยาบาล “วชิรพยาบาล” กรุงเทพฯ หลังจากอาคารสุขศาลาสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นเวลา ๒ ปีกว่า จึงได้นางผดุงครรภ์ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งต่อมาได้รับการบรรจุและแต่งตั้งจากทางราชการให้มาประจำ ณ สถานีอนามัยนั้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ในการให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปนั้น พระอาจารย์เกิ่งก็ให้การศึกษาอบรมด้วยตัวท่านเองไม่ขาดเลย ตามปกติท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงสะสมหนังสือไว้มาก ท่านไปที่ไหนจะนำหนังสือติดตัวไปอ่านด้วยเสมอ การสั่งสอนให้การศึกษาแก่คนนั้น ท่านเห็นว่าทำด้วยสื่อตัวต่อตัวนั้นไม่พอเพราะอยู่ในวงแคบ ท่านจึงแต่งหนังสือและพิมพ์เผยแผ่ไว้ช่วยสอนและให้ความคิดแก่คนอื่นด้วย หนังสือที่ท่านแต่งมีหลายเรื่อง ส่วนมากเป็นคำกลอนภาษาไทยอีสาน เท่าที่ทราบคือ

๑. คำกลอนพุทธประวัติ
๒. คำกลอนปลุกชาติ
๓. คำกลอนกตัญญูกตเวที
๔. คำกลอนสอนบาลีไวยากรณ์ (ต้นฉบับหายไป)


ลักษณะนิสัยดีเด่นของพระอาจารย์เกิ่งอีกประการหนึ่งในการพัฒนาคน ที่สมควรนำมาเล่าไว้ คือ นิสัยประหยัด นิสัยประหยัดที่ท่านประพฤติเองและสอนคนอื่นให้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่นิสัยหนืดเหนียวประเภทมีของไม่ยอมใช้ของนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเลย เก็บไว้จนเก่าเก็บ ชำรุด หรือเสื่อมคุณภาพ แต่ท่านจะสอนให้รู้จักใช้ของโดยประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ท่านได้แจกน้ำมันก๊าดแก่พระภิกษุสามเณร และเด็กวัดใช้จุดให้แสงสว่างอ่านหนังสือในเวลากลางคืน ใส่ตะเกียงรั้วบ้าง ตะเกียงลานบ้าง ตะเกียงทำด้วยกระป๋องนมเปล่า มีไส้เป็นด้ายหรือเศษผ้าสบงและจีวรเก่าเป็นต้นบ้าง กลางคืนตอนดึกประมาณ ๔-๕ ทุ่ม ท่านจะเดินตรวจตราเป็นครั้งคราว ดูว่าผู้ใดนอนหลับแล้วจุดตะเกียงทิ้งไว้บ้าง ท่านจะทำเช่นนี้เสมอ

ท่านใช้นกหวีดเป่าเป็นรหัสเฉพาะตัวเรียกสามเณรและเด็กวัดไปหัดเขียนภาษาไทย คัดลายมือ หรือเรียนเลขคณิต ท่านแจกสมุดฝึกหัดให้คนละเล่ม ท่านให้ใช้เขียนทุกแผ่นตั้งแต่หน้าปกด้านในที่ว่างของสมุดไปจนถึงหน้าหลังของปกหลัง ดินสอดำและดินสอเขียนกระดานที่ใช้จนสั้น จับเขียนยากแล้ว ท่านก็ไม่ให้ทิ้งทันที ท่านสอนให้หาไม้ไผ่ลำเล็กๆ ที่มีรูพอดีกับดินสอ มาต่อดินสอให้ด้ามยามจับเขียนสะดวก ใช้ไปอย่างนั้นจนดินสอหมดไส้ บางครั้งท่านก็ให้ใช้กระดาษแข็งมาหุ้มดินสอที่สั้นแล้วมัดด้วยด้ายเป็นด้ามดินสอ เขียนต่อไปจนดินสอหมด

เมื่อผู้เขียนประวัตินี้จบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และทำราชการเป็นหลักฐานแล้ว เดินทางขึ้นไปบ้านเกิดและไปกราบนมัสการพระอาจารย์เกิ่งที่วัดโพธิ์ชัย เห็นท่านกำลังนั่งสอนเด็กวัดและสามเณรให้เขียนภาษาไทย คัดลายมือ และหัดทำเลขคณิตอยู่หลายคน พร้อมกันนั้นท่านก็ปะหนังสือเรียนนักธรรมและบาลีและหนังสือสวดมนต์ ที่ขาดและชำรุดพร้อมกันไปด้วย โดยตัดกระดาษเปล่ามาปะหนังสือส่วนที่ขาด แล้วท่านก็คัดข้อความที่หายไปลงไว้บนกระดาษที่ปะไว้ให้ตรงบรรทัดของข้อความนั้นเพื่อไม่ให้ลบเลือนง่าย เมื่อผู้เขียนสังเกตุเห็นท่านใช้ดินสอก๊อปปี้ที่ต่อด้วยด้ามไม้ไผ่แล้วก็เงียบไว้ วันรุ่งขึ้นจึงซื้อดินสอก๊อปปี้ไปถวายท่านครึ่งโหลหรือหนึ่งโหล ท่านบ่นว่าถวายมากไป ใช้ไม่ทัน จะเก่าเก็บหรือหายไปได้

พระอาจารย์เกิ่งมักเย็บปะสบง จีวร สังฆาฏิ และของใช้ของท่านเอง ทั้งๆ ที่ท่านอาจใช้วานผู้อื่นได้ รวมทั้งซ่อมแซมบูรณะของเก่าให้คงสภาพใช้สอยได้อีก เช่น ซ่อมเสนาสนะ จอบเสียม มีดพร้า บริขารประจำของพระภิกษุสามเณร เป็นต้น ท่านถือว่าเป็นการประหยัดอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่านจะถือเป็นการประหยัดอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่านจะถือเป็นการฝึกหัดจิตอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่าน (โพชฌงค์) ในเรื่องหรืองานนั้นๆ ทีเดียว เพราะเห็นท่านชอบแก้นาฬิกา จักรเย็บผ้า ตีเหล็กเป็นมีดพร้า เป็นต้น อยู่เสมอ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความประหยัดของท่านก็คือ ของใช้ประจำตัวท่านที่เรียกว่า อัฐบริขาร ท่านจะมีไว้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ นอกเหนือจากนั้นที่ท่านได้รับถวายมาท่านจะรวมเป็นกองกลางของวัด เพื่อให้ภิกษุสามเณรและศิษย์วัดเบิกไปใช้ตามที่จำเป็น

๑๓.๒ ด้านพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ : พระอาจารย์เกิ่งได้คิดริเริ่มและทำการพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์แก่ชีวิตของชาวชนบท โดยเฉพาะชาวบ้านสามผงและหมู่บ้านใกล้เคียงในบริเวณนั้นนานัปการ ขอหยิบยกมาบอกเล่าบางประการดังต่อไปนี้

(๑) สร้างอ่างเก็บน้ำ : พระอาจารย์เกิ่งบอกผู้เขียนถึงสาเหตุที่ท่านสร้างทำนบและอ่างเก็บน้ำหนองข่า บ้านสามผง (ผู้เขียนจดหมายมานมัสการถามท่านเมื่อผู้เขียนศึกษาปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร อยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ว่าท่านท่องเที่ยวไปทั่วในภาคอีสานของประเทศ เห็นว่าความทุกข์ยากของคนและของสัตว์ที่เกิดมีอย่างกว้างขวางตลอดมา เท่าที่เห็นในชีวิตของท่านนั้นเกิดจากความแห้งแล้งขาดน้ำเป็นสำคัญ ในฤดูฝนนั้น เกิดความแห้งแล้งในภาคอีสานในการการดำรงชีวิตจะมีน้อย จะลำบากอยู่แต่การเดินทางเท้าติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านไม่ค่อยสะดวกเพราะน้ำท่วมบ้างเท่านั้น

แต่ในฤดูแล้งจะลำบากอดอยาก ดังนั้น ท่านจึงคิดและชักชวนชาวบ้านสามผงสร้างทำนบขังน้ำไว้หลายแห่ง ที่สำคัญคือสร้างทำนบอ่างเก็บน้ำหนองข่า ท่านทำคันดินมีความกว้างประมาณ ๔ เมตร ความสูงประมาณ ๑ ครึ่งถึง ๒ เมตร ในบางแห่งมีความกว้างประมาณ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ เมตร เชื่อมระหว่างเขตบ้านสามผงและเขตบ้านศรีเวินชัย กั้นร่องน้ำหนองข่าที่ไหลไปลงแม่น้ำสงคราม ตรงกลางคันดินที่ร่องน้ำไหล ท่านทำท่อด้วยท่อนไม้ใหญ่ใส่ไว้ในระดับที่พอเหมาะ ใช้ไม้กระดานเปิดปิดได้ เพื่อกักและระบายน้ำตามต้องการ และทำทางน้ำล้นไว้ตรงปลายคันดินด้านเขตบ้านศรีเวินชัย ได้สร้างศาลามุงไม้กระดานหลังใหญ่ไว้ให้เป็นที่พักคนเดินทาง และชาวบ้านที่ไปธุระไร่นาหรืองเลี้ยงสัตว์แถบนั้น หนองข่าจึงเป็นอ่างเก็บน้ำเต็มอยู่ตลอดปี

ชาวบ้านได้อาศัยทำนาปรังในที่ดินบริเวณริมหนอง เลี้ยงวัวควาย แม้กระทั่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและที่หากินของประชาชนถิ่นนั้น ทำนบและอ่างเก็บน้ำหนองข่านี้พระอาจารย์เกิ่งได้พาชาวบ้านสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓ คันทำนบ นอกจากใช้กั้นกักเก็บน้ำแล้ว ยังใช้เป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านได้ตลอดทุกฤดูกาลด้วย ต่อมาทางราชการเห็นความสำคัญของทำนบนี้ จึงได้ให้เงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงเสมอมา

นอกจากทำนบกั้นน้ำหน่องข่า พระอาจารย์เกิ่งยังได้ออกแนวคิดและชักชวนชาวบ้านสามผงสร้างทำนบหนองสิม ทำนบหนองสามผง เป็นต้น อีกด้วย

หลังจากพระอาจารย์เกิ่งถึงแก่มรณภาพแล้ว ก็ยังได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โนนสาวเอ้ ซึ่งเก็บน้ำได้เป็นบริเวณกว้างประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ไร่ น้ำลึกเฉลี่ยประมาณหนึ่งเมตรถึงสองเมตรกว่า มีน้ำขังตลอดปี อ่างน้ำนี้อยู่ใต้ทำนบหนองข่าลงมา โดยผู้เขียนประวัตินี้ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านด้วยการสำรวจและสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของชาวบ้านสามผงและญาติมิตร ทั้งนี้จากคำแนะนำของพระอาจารย์เกิ่งสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ผู้เขียนสำเร็จปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร จากมหาวิทยาลัยออรีกอนสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วขึ้นไปกราบนมัสการท่าน อย่างไรก็ดี อ่างเก็บน้ำโนนสามเอ้ได้สร้างขึ้นหลังจากพระอาจารย์เกิ่งถึงแก่มรณภาพแล้วประมาณ ๓ ปี คือประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้นำเงินที่มีผู้บริจาคในงานศพพระอาจารย์เกิ่งบางส่วนมาร่วมเป็นทุนในการก่อสร้างด้วย

(๒) สร้างถนนและบ่อน้ำ : พระอาจารย์เกิ่งยังได้เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างถนนในหมู่บ้านสามผงเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านหลายสาย และสร้างบ่อในหมู่บ้านหลายบ่อ

(๓) สร้างสิ่งก่อสร้าง : ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๔ พระอาจารย์เกิ่งได้สร้างกุฏิขึ้นไว้ในวัดโพธิ์ชัย (ใหม่) จำนวน ๑๗ หลัง เป็นกุฏิเดี่ยวสองชั้น ชั้นล่างโล่ง ใช้เป็นที่รับแขก ชั้นบนเป็นห้องพักที่พักนอน ตีฝากระดานสี่ด้าน หลังคามุงไม้กระดาน มีอ่างปูนขังน้ำไว้ข้างบันไดขึ้นกุฏิเพื่อล้างเท้า ใต้ถุนกุฏินั้นก่ออิฐถือปูนเป็นรูปโค้ง ๔ ด้าน อากาศผ่านได้ ใช้เป็นที่เก็บของใช้ เช่น ไม้กวาด (ตาด) จอบเสียม เป็นต้น กุฏิที่ท่านอยู่เองท่านสร้างระเบียงมุงหลังคายาว ๑๔-๑๕ เมตร ไว้เป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างมีระดับเท่าพื้นกุฏิชั้นล่าง ปลายสุดระเบียงขั้นล่างเป็นห้องน้ำ ห้องส้วม ส่วนระเบียงชั้นบนมีระดับเท่าพื้นกุฏิชั้นบนที่เป็นห้องนอนใช้เป็นที่เดินจงกรม กุฏิทั้ง ๑๗ หลัง ท่านได้ออกแบบสร้างไว้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยของพระภิกษุสามเณร และเป็นรูปแบบที่สถาปนิกรุ่นใหม่พิศวงในความคิดทางสถาปัตยกรรมของท่านเป็นอันมาก

อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๕ ท่านได้สร้างอุโบสถไว้หนึ่งหลัง ผนังอุโบสถก่ออิฐโบกปูน หลังคามุงกระเบื้องไม้ภายนอกของผนังอุโบสถทุกด้าน ท่านให้ช่างเขียนรูปชาดกทางพระพุทธศาสนาไว้พร้อมกับระบายสีต่างๆ ให้เห็นชัดเจน ผู้ใหญ่และเด็กที่ไปทำบุญที่วัดจะเดินชมรูปชาดกรอบอุโบสถได้หลายรอบโดยไม่เบื่อ ระเบียงรอบอุโบสถปูด้วยไม้กระดานอยู่ระหว่างผนังอุโบสถกับกำแพงแก้ว เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว พระอาจารย์เกิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกายอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้สร้างศาลาโรงธรรมโดยใช้เป็นศาลาการเปรียญด้วยที่วัดโพธิ์ชัย นับเป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นสุดท้ายของท่านก่อนมรณภาพ ครั้นต่อมา พระอาจารย์เกิ่งได้ดำริจะสร้างอาคารให้โรงเรียนประถมบ้านสามผง ๑ หลัง เพื่อเป็นห้องประชุมสวดมนต์ไหว้พระของเด็กนักเรียน โดยจัดอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งไว้เป็นทุน สมัยที่ทางราชการได้ขยายการศึกษาชั้นประถมจากประถม ๔ เป็นประถม ๕-๗ แต่ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน อาคารดังกล่าวจึงยังไม่ได้ก่อเป็นรูปร่างขึ้น ต่อมาภายหลังหลายปีคณะศิษยานุศิษย์จึงสร้าง “อาคารหอประชุมเกิ่ง อธิมุตฺตโก” ขึ้นเป็นอนุสรณ์ไว้ที่บริเวณ โรงเรียนบ้านสามผง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2010, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

๑๔. ธุดงควัตรที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย และเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว ท่านได้ถือธุดงควัตรดังต่อไปนี้โดยเคร่งครัด คือ

(๑) ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือถือไปเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้พระอาจารย์เกิ่งท่านอาพาธ หากพอเดินได้ท่านก็ออกบิณฑบาต ไม่เคยขาดกิจวัตรข้อนี้เลย เมื่ออาพาธหนักลุกไม่ไหวจวนถึงแก่มรณภาพแล้ว ท่านจึงเลิกออกบิณฑบาต

(๒) เอกปัตติกังคธุดงค์ คือถือฉันในบาตรใช้ภาชนะเดียวเป็นนิตย์

(๓) เอกาสนิกังคธุดงค์ คือถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ลุกจากที่นั่งฉันแล้ว แม้จะยังไม่อิ่มท่านก็จะไม่ยอมฉันอีก

ส่วนธุดงควัตรอย่างอื่น พระอาจารย์เกิ่งท่านถือเป็นครั้งคราว เช่น บังสุกุลิกังคธุดงค์ คือถือการใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร, อรัญญิกธุดงค์ คือถือการอยู่ในเสนาสนะป่าอันสงัดเป็นวัตร เป็นต้น ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ นั้นพระอาจารย์เกิ่งปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อย่างเคร่งครัดและเสมอต้นเสมอปลาย ผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดและเคยพอเห็นท่าน คงพอจะทราบข้อวัตรปฏิบัติของท่านได้เป็นอย่างดี


๑๕. กิจวัตรประจำวัน

พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง เวลาเช้า ๐๔.๐๐ น. ท่านจะตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก เดินจงกรม นั่งสมาธิ พอสว่างได้เวลาอรุณ ครองผ้าจีวรนำบริขารลงสู่ศาลาโรงธรรม นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดไหว้พระสวดมนต์ เวลาเช้า ๐๖.๓๐ น. ออกบิณฑบาต กลับมาวัดฉันร่วมกันทั้งพระภิกษุสามเณรที่ศาลาโรงธรรม เสร็จแล้วกลับกุฏิ เวลา ๐๙.๐๐ น. เข้าสอนหนังสือนักธรรมหรือบาลี ซ้อมสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัด โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันตามกำหนดไว้ ๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น. หยุดพักผ่อน

๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป เริ่มสอนนักธรรม-บาลี หรือซ้อมสวดมนต์พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดอีกรอบหนึ่ง ตามวาระของแต่ละคนที่กำหนดไว้ เวลา ๑๖.๐๐ น. นำพระภิกษุสามเณรทำความสะอาดลานวัด เวลา ๑๖.๐๐ น. สรงน้ำชำระร่างกาย เวลา ๑๘.๓๐-๑๙.๐๐ น. ลงศาลารวมกัน นำไหว้พระสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด บางครั้งก็ซ้อมสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดแล้วแต่โอกาสมี

เวลา ๒๑.๐๐ น. กลับกุฏิแล้วสอนหนังสือหรือซ้อมสวดมนต์พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด โดยผลัดเปลี่ยนกันตามวาระ เวลา ๒๓.๐๐ น. เข้าห้องและพักผ่อน แล้วจำวัตร


๑๖. การปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์

๑๖.๑ ประโยชน์ส่วนตน : เมื่อพระอาจารย์เกิ่งท่านยังเป็นพระภิกษุรุ่นหนุ่ม ท่านได้ขวนขวายแสวงหาวิชาความรู้ทางพระปริยัติธรรม (คันถธุระ) เรียนทั้งนักธรรมและบาลีจากสำนักต่างๆ ซึ่งห่างไกลจากหมู่บ้านที่ท่านเกิด จนถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศ มีความรู้พระธรรมวินัยแตกฉานสามารถเป็นครูสอนได้ถึงนักธรรมเอก และมีความรู้ภาษาบาลีจนสามารถเป็นครูสอนชั้นประโยค เปรียญธรรม ๓ ประโยคได้

ส่วนทางด้านปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) ท่านเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดในสิกขาบทวินัยมาก เมื่อเห็นว่าปฏิบัติผิดทาง ท่านจะแก้ไขและเดินทางที่ถูกอย่างอาจหาญ เช่น การมอบตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น โดยขอญัตติกรรมทำทัฬหิกรรมซ้ำให้ถูกต้องเสียใหม่ การบำเพ็ญเพียรทางจิตใจหรือวิปัสสนาท่านก็ไม่เคยทอดทิ้ง ความรู้และความประพฤติของท่านจะดำเนินไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง

แม้จะมีงานทำเพื่อคนอื่นมาก เช่น งานสอนหนังสือและการก่อสร้าง ท่านก็ไม่เคยงดเว้นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิเลย นับเป็นนักปริยัติและนักปฏิบัติธรรมเพื่อตนเอง ที่สร้างสรรค์ความมีประโยชน์และความเจริญให้แก่ผู้อื่นหรือสังคม ทั้งในด้านจิตใจและวัตถุไปพร้อมกัน ให้แลเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านปริยัติและปฏิบัติเท่าเทียมกัน ท่านเคยกล่าว่า “พุทธศาสนาจะเจริญมั่นคงได้ ต้องอาศัยทั้งการศึกษา (คันถธุระ) และปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) เท่าเทียมกัน ถ้าขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาก็จะขาดความสมบูรณ์ไป”

รูปภาพ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รูปที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดสัมพันธวงศ์) รูปที่ ๑๑



๑๖.๒ ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม : ประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนหรือสังคม ที่พระอาจารย์เกิ่งได้เพียรบำเพ็ญมีมากมาย แต่พอสรุปได้เป็นสำคัญ ๒ ประการ คือ การพัฒนาคน และการพัฒนาด้านวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

การสร้างคนรุ่นหนุ่มสาวไว้สืบทอดงานทางคดีธรรมและคดีโลกของพระอาจารย์เกิ่ง นับว่าประสบความสำเร็จมาก โดยเปรียบ พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) [เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์] กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดสัมพันธวงศ์) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ บอกผู้เขียนประวัตินี้ว่า

“ถ้าไม่มีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ท่านคงไม่ได้เป็นเปรียญสูงสุด และเป็นพระมหาเถระ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์อย่างปัจจุบันนี้ดอก”

ในการสั่งสอนประชาชนชาวชนบทที่หลงผิด เชื่องมงาย นับถือผีไท้ ผีปู่ตา มาตั้งแต่บรรพบุรุษ พระอาจารย์เกิ่งก็ใช้ความเพียรและกุศโลบายให้ละเลิกแล้วหันมานับถือพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงได้ นับว่าเป็นการสร้างคนไว้เป็นพื้นฐานของยุคสมัยวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า และยุคของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

โดยการสร้างคนในชนบทให้มีความรู้สูงขึ้น ทั้งทางฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรตามแบบที่พระอาจารย์เกิ่งขวนขวาย นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดจากชนบทมาฝากตามวัดและที่ต่างๆ ให้ได้โอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง และในเมืองหลวงของประเทศ นับว่าเป็นการสร้างสะพานแห่งสังคมเพื่อเชื่อมโยงชนบทและเมือง ให้พลเมืองอพยพโยกย้ายแสวงอาชีพและเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมได้ส่วนหนึ่ง

นับได้ว่าพระอาจารย์เกิ่งได้พัฒนาคน ทั้งตัวท่านเองและคณะศิษยานุศิษย์ ตลอดจนประชาชนที่เคารพนับถือท่านได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาจเป็นเพราะเหตุที่ท่านมุ่งมั่นในพุทธภูมิดังที่ได้กล่าวแล้วก็ได้

ส่วนการพัฒนาหรือสร้างวัตถุสิ่งอันมีสารประโยชน์ขึ้นใช้นานัปการ ทั้งเพื่อวัดและเพื่อชุมชนส่วนรวมของพระอาจารย์เกิ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นที่น่าชื่นชมและทึ่งว่าอะไรทำให้ท่านมีสติปัญญาและฝีมือทำการสร้างวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้มากมายและใหญ่โตปานนั้น ทั้งที่ท่านไม่ได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแบบสมัยใหม่เป็นล่ำสันอะไรเลย จะเป็นเพราะบุญบารมีในจิตใจที่ท่านสั่งสมมาแต่ปางก่อนได้หรือเปล่า ? เพราะว่าท่านกำลังท่องเที่ยวอยู่ในเส้นทางพุทธภูมิที่ท่านมีปณิธาน

รูปภาพ
จดหมายของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย
เขียนกล่าวฝากสามเณรกงมาและสามเณรทองทิพย์ ไว้กับ
พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์


รูปภาพ
พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก)


พระอาจารย์เกิ่งในฐานะที่นอกจากจะเป็นพระกรรมฐานแล้ว ยังเป็นเป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง นี่เองที่เป็นผู้ที่ชักนำและชี้ช่องทางให้ สามเณรกงมา ก่อบุญ (ครั้นเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้เปลี่ยนชื่อจาก กงมา เป็น มานิต) ในปัจจุบันก็คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม และพระอาจารย์เกิ่งน่าจะเห็นแววการเรียนเก่งเรียนดีของสามเณรกงมา ในช่วงที่ได้รับใช้ใกล้ชิดท่านอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม ได้ก้าวเข้าสู่โลกของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอย่างจริงจัง

กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้พบกับ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัชชมงคลมุนี เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ในสมัยนั้น) ขณะท่านเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่ จ.ระยอง พระอาจารย์เกิ่งได้กล่าวฝาก สามเณรกงมา และสามเณรทองทิพย์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไพบูลย์ ภายหลังได้กลับไปอยู่สกลนคร สุดท้ายได้ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโพนเมือง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร ฝ่ายธรรมยุต) กับท่านเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งท่านก็เมตตารับไว้ เมื่อฝากเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์เกิ่งก็ส่งข่าวไปบอกสามเณรทั้งสอง ว่าได้ฝากให้อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ขอให้เดินทางลงมาจากนครพนมเพื่อมาอยู่วัดสัมพันธวงศ์ โดยกำชับให้พระช่วยอธิบายเส้นทางการเดินทางและซักซ้อมจนเข้าใจดี สามเณรกงมาพร้อมกับสามเณรทองทิพย์จึงออกเดินทางจาก จ.นครพนม ไปพัก จ.สกลนคร แล้วเดินทางไปขึ้นรถไฟที่ จ.อุดรธานี ในสมัยนั้นรถไฟไม่ได้แล่นรวดเดียวถึงกรุงเทพฯ ต้องแวะพักที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา

เมื่อลงรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว ก็เข้าไปถามตำรวจว่าวัดสัมพันธวงศ์ไปทางไหน เมื่อทราบแล้วสามเณรทั้งสองก็เดินเท้ามาและแวะถามมาเรื่อยๆ จนถึงกำแพงวัดก็จวนพลบค่ำ เมื่อเข้ามาในวัด ทราบว่าท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ไปประชุม วันนั้นกว่าท่านจะกลับก็ประมาณสี่ทุ่ม พระจึงจัดให้พักที่กุฏิสนธิ์ประสาท

เช้าวันรุ่งขึ้นหลังฉันเช้าแล้ว สามเณรทั้งสองก็เข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส เขียนใบรับรอง ท่านเจ้าอาวาสก็เมตตาให้ไปอยู่ที่กุฏินิตยเกษม โดยอยู่ในความกำกับดูแลของ ท่านเจ้าคุณพระเนกขัมมมุนี (เฉย ยโส) ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ ๑๐ จากนั้นสามเณรทั้งสองก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ตามที่ได้ตั้งใจไว้


๑๖.๓ ประโยชน์ในฐานะเป็นตัวอย่างของบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง ที่ผู้ใฝ่ดีควรจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง : ในการดำเนินชีวิตประจำวัน นับว่าพระอาจารย์เกิ่งได้เดินตามรอยพุทธปฏิปทาอย่างแท้จริง คือท่านไม่ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยไร้ประโยชน์ นับว่าเข้ากับคุณสมบัติหลักของผู้เป็นพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง คือ สุคโต ดำเนินชีวิตให้ดีเป็นประโยชน์ไปได้ทุกวันเวลา ผู้ที่เคยไปหาท่าน จะเห็นท่านทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดวัน เวลาที่ท่านไม่ได้สอนหนังสือหรือสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร หรือหาหนังสือ-สิ่งของที่ชำรุดมาซ่อมแซม บางทีขณะสอนหนังสือหรือซ้อมสวดมนต์ให้พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัด มือท่านก็จะเย็บจีวรหรือเย็บปะหนังสือไปด้วย หากมีผู้ถามท่านว่า ไม่เบื่อหรือ ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานบ้างหรือ พระอาจารย์เกิ่งก็จะตอบว่า “เสียดายลมหายใจจะเสียไปเปล่า เราจึงต้องทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น”


๑๗. วาระสุดท้าย

ครั้นพระอาจารย์เกิ่งท่านชราภาพลง สังขารร่างกายก็เสื่อมทรุดโทรมไปตามสภาพ ท่านอาพาธเป็นโรคกระเพาะและลำไส้เรื้อรังมานาน แม้จะพยายามเยียวยารักษาพยาบาลอย่างไร ก็ไม่มีอาการดีขึ้น มีแต่ทรุดลง หมดความสามารถของคณะแพทย์ที่จะเยียวยาช่วยเหลือได้ กระทั่งในที่สุด พระอาจารย์เกิ่งท่านจึงได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ ศาลาโรงธรรมและการเปรียญ วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ด้วยโรคกระเพาะและลำไส้เรื้อรัง สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๖ เดือน ๘ วัน พรรษาในฝ่ายมหานิกาย ๑๘ พรรษา และพรรษาในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๓๘ พรรษา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2012, 17:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ภาพเมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม มีอายุพรรษาไม่มากนัก



๑๘. หลวงตามหาบัวกล่าวถึงพระอาจารย์เกิ่ง

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน กล่าวถึง พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ไว้ว่า “ท่านอาจารย์เกิ่ง นี่ก็เป็นคนสามผง ลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระที่จริงจังมากนะ เด็ดเดี่ยว ท่านอาจารย์เกิ่งเราก็คุ้นเคยกับท่านอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ทราบว่าอัฐิธาตุของท่านเป็นพระธาตุ เราเชื่อไว้ก่อนแล้วแหล่ะ เรายังไม่ไปเห็นแต่เราก็เชื่อไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วเพราะเชื่อปฏิปทาการดำเนิน ความสัตย์ ความจริงของท่าน เคร่งครัดในธรรมวินัยมาก เพราะเชื่อปฏิปทาของท่านเป็นความเด็ดเดี่ยวจริงจังมากทุกอย่าง คล้ายคลึงกับนิสัยพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรา นิสัยเด็ดเดี่ยวจริงๆ ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลยเทียว นี่แหละหลวงปู่มั่นเราเป็นอย่างนั้น เด็ดเดี่ยว ว่าอะไรเป็นอันนั้น ท่านอาจารย์เกิ่งก็เหมือนกัน นิสัยแบบเดียวกัน”

:b44: :b47: :b44:

ท่านอาจารย์เกิ่ง

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


ท่านอาจารย์เกิ่งนี้ก็เป็นคนสามผง ลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านอาจารย์เกิ่งนี้แต่ก่อนท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์เกิ่ง อาจารย์สีลา นี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นอุปัชฌาย์มาก่อนในฝ่ายมหานิกาย แล้วเกิดความเคารพเลื่อมใสเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเราแล้ว เลยยกวัดญัตติใหม่หมดเลย อุปัชฌาย์ท่านอาจารย์เกิ่งนี้องค์หนึ่ง ท่านอาจารย์สีลา บ้านวา อากาศอำนวยนี้องค์หนึ่ง

ท่านอาจารย์เกิ่งนี้อยู่บ้านสามผง ยกขบวนไปญัตติเลย ญัตติทั้งวัดๆ อุปัชฌาย์เกิ่งหมดทั้งวัด อุปัชฌาย์สีลาก็ยกหมดทั้งวัด ญัตติใหม่ นี่เป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของท่านองค์หนึ่ง ก็คงเป็นนิสัยวาสนาจะเกี่ยวโยงอะไรกันมากับท่านนั่นแหละ นี่ละสายบุญสายกรรม หากเป็นมาเองนะ ท่านได้รับการอบรมกับหลวงปู่มั่นมาเต็มที่แล้ว จากนี้ท่านก็แยกออกไปนู่น ลงชลฯ ไปทางชลฯ เลยท่านไปตั้งวัดอะไร บางพระ นั่นท่านอาจารย์เกิ่งนะนั่น เหตุที่ท่านเหล่านั้นจะเข้าอกเข้าใจทางด้านธรรมปฏิบัติ ก็ท่านอาจารย์เกิ่งไปพักที่นั่นตั้งที่นั่น ไปอยู่หลายปีนะ บางพระ ท่านไปพักที่นั่นหลายปีแล้วแถวนั้น ท่านตั้งสำนักไว้ในที่ต่างๆ ตามประชาชนเขาขอร้องให้สร้างวัด

ท่านเป็นพระที่จริงจังมากนะ เด็ดเดี่ยว ท่านอาจารย์เกิ่งเราก็คุ้นกับท่านอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ทราบว่าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุนะ เราเชื่อไว้ก่อนแล้วแหละ เพราะท่านจริงจังมาก ข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดทางธรรมวินัย แต่เรายังไม่ได้ไปเห็นจริงๆ ที่ว่าเป็นพระธาตุแล้วนะ เรายังไม่ไปเห็น แต่เราก็เชื่อไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเชื่อปฏิปทาการดำเนิน ความสัตย์ความจริงของท่าน เคร่งครัดในธรรมวินัยมาก ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทางจังหวัดชลบุรีน้อยเมื่อไร ลูกศิษย์ลูกหาท่านอาจารย์เกิ่งนี่ ทั้งพระทั้งอะไรนะ ประชาชนก็เยอะ พระก็เยอะ แล้วจากนั้นก็ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

พระกรรมฐานเราเกี่ยวโยงกันตั้งแต่โน้นละ ตั้งแต่ท่านอาจารย์เกิ่งไป เป็นรู้สึกจะเป็นครั้งแรกเลย ทางฝ่ายกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นลงไปทางเมืองชลฯ นะ มีท่านอาจารย์เกิ่ง จากนี้ก็องค์นั้นไป องค์นี้ไป ท่านอาจารย์เกิ่งเป็นหลักอยู่นั้นนาน โอ๊ย หลายปีนะ เราไปพบกันอยู่ที่สกลนคร ที่ท่านมาเยี่ยมหลวงปู่มั่น พบกันกับเราที่สกลนคร

ตอนนั้นท่านอยู่จังหวัดชลฯ อยู่นะ ท่านยังไม่มา ท่านมาเยี่ยมบ้านของท่านด้วยความจำเป็น แล้วก็มากราบพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรา ก็ได้พบกันกับเราที่สกลนคร จากนั้นท่านก็กลับไปเมืองชลฯ คือตอนนั้นท่านยังอยู่โน้น ท่านยังไม่มา ตอนแก่นี่ท่านถึงได้ย้ายมาทางสามผง ก็มามรณภาพทางนี้ โห ท่านเป็นพระเด็ดเดี่ยวมากนะ แต่เรายังไม่ได้เข้าไปดูที่สำนักของท่าน บางพระ ว่าอยู่บางพระว่างั้นนะ จังหวัดชลฯ ผ่านไปผ่านมาหากไม่ได้เข้า ท่านอยู่จริงๆ สำนักนั้นอยู่ที่ตรงไหน บอกแต่ว่าบางพระเท่านั้นแหละ ท่านอยู่นาน แล้วแถวรอบๆ นั้นยังมีนะ แตกสาขาออกไป

พวกพระพวกอะไรที่มารับการศึกษาจากท่าน เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่าน กระจายออกไปตามเกาะตามอะไรก็มีอยู่ทางนั้นนะ เราไปอะไร เขาเลยบอก นี่สำนักนี้เราลืมแล้วแหละ เราไปเห็นสำนักนี้ก็ท่านอาจารย์เกิ่งท่านมาสร้าง พาลูกศิษย์มาสร้างที่นี่ ไม่ใช่บางพระนะ แถวนั้นแหละเป็นเกาะอะไรไม่รู้ เราก็ไปซอกแซก มันก็ดื้อเหมือนกันนั่นแหละ ไปที่นั่นที่นี่เห็นหมด ท่านเป็นพระที่น่าเคารพมาก

พูดถึงเรื่องท่านอาจารย์เกิ่ง ท่านไปทำประโยชน์ทางเขตเมืองชลฯ นี้มากที่สุด ดูว่าไม่ได้ไปทางระยองนะ ทราบว่าอยู่เขตเมืองชลฯ กว้างขวาง สำนักต่างๆ ออกจากท่านองค์เดียว มีลูกศิษย์ลูกหาไปตั้งสำนักมีความเคารพเลื่อมใสบวชอยู่กับท่าน แล้วก็แยกออกไปตั้งหลายแห่งจนกระทั่งทุกวันนี้ นี่ท่านอาจารย์เกิ่ง ทราบว่าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุแล้ว แต่เรายังไม่ได้ไปเห็น แต่เราค่อนข้างจะเชื่อไว้แล้ว ถึงยังไม่เห็นก็ตาม เพราะเชื่อปฏิปทาของท่าน เป็นคนเด็ดเดี่ยวจริงจังมาก ทุกอย่างคล้ายคลึงกับนิสัยพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรา นิสัยเด็ดเดี่ยวจริงๆ ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลยเทียว นี่ละหลวงปู่มั่นเราเป็นอย่างนั้น เด็ดเดี่ยว ว่าอะไรเป็นอันนั้น ท่านอาจารย์เกิ่งก็เหมือนกัน นิสัยแบบเดียวกัน มาพบก็คุยสนิทสนมกันอยู่กับท่านนะ

ตอนที่ได้คุยกันพอสมควร ก็คือตอนที่ท่านมากราบเยี่ยมพ่อแม่ครูจารย์มั่น อยู่สกลนคร ท่านมาจากเมืองชลฯ มีลูกศิษย์ตาผ้าขาวมาคนหนึ่ง แล้วมีพระติดตามมาองค์เดียว เพราะท่านบอก ท่านมาชั่วคราวแล้วท่านจะกลับ ท่านว่างั้น กลับเมืองชลฯ ก็ได้คุยกันตรงนั้นแหละ ดูลักษณะท่าทางของท่านสำคัญอยู่ จากนั้นก็ได้พบกันทางสามผงอีกทีนึงนะตอนท่านย้ายมาแล้ว ท่านแก่แล้ว ได้พบกันทีนึง ท่านอยู่สามผงเป็นอุปัชฌาย์ญัตติมาอยู่นั้น ท่านอาจารย์สีลาก็เสียแล้ว ท่านก็เสียแล้วแหละ

:b50: :b49: :b50: >>> อ่านเพิ่มเติมอีกจากกระทู้...
พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เกี่ยวกับ “หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก” แห่งวัดโพธิ์ชัย

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=78&t=57429

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

.............................................................

:b44: รวบรวมเรียบเรียงและคัดลอกมาจาก ::
(๑) ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก
- รวบรวมและเรียบเรียงโดย...
• อาบ นคะจัด (อดีตพระมหาอาบ อาภสฺสโร)
- ตรวจแก้ไขเพิ่มเติมโดย...
• สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
วัดสัมพันธวงศ์ แขวง/เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
• พระราชเมธากรกวี (สุบิน สุเมโธ ป.ธ. ๙)
วัดเทพนิมิต ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

จากเว็บไซต์ http://www.sakoldham.com/
(๒) พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เกี่ยวกับ “หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก” แห่งวัดโพธิ์ชัย

จากเว็บไซต์ http://www.luangta.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2012, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• หนังสือไม่มาเกิดมาตายเรียกว่า ชาติสุดท้าย •

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2015, 06:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


ศรัทธาในปฏิปทาขององค์หลวงปู่เกิ่งมากเลยเจ้าค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2019, 10:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2013, 10:07
โพสต์: 406

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2019, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2022, 16:21 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร