ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=18730 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ทัพหลวง [ 26 ต.ค. 2008, 15:25 ] |
หัวข้อกระทู้: | หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม |
![]() พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ “พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม” พระเดชพระคุณพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล ป.ธ.๙) เป็นพระมหาเถระผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านชำนาญทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทรงความรู้ในทางพระพุทธศาสนาซึ่งหาได้ยากยิ่งนักในคณะกรรมฐานยุคปัจจุบัน ท่านละทิ้งเกียรติยศตำแหน่งในการบริหารคณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่ คือ พระนิพพานละจากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังที่ติดหลงจมในลาภยศสรรเสริญได้เป็นอย่างดี ท่านมีอุปสิสัยพูดจริงทำจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่นมุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สำรวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ซึ่งตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติในไตรสิกขา ได้ถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ฝึกอบรมกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดหนองผือนาใน จังหวัดสกลนคร ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทจนตลอดอายุขัย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เดือน ๑๒ ปีฉลู ณ หมู่บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอม่วงคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรของนายสังข์ และนางค้อม ภูสาหัส บรรพชาเมื่ออายุ ๑๗ ปี ณ วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อุปสมบทอายุ ๒๑ ปี ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโพธิวงศาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมปิฎก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ – ๒๔๘๑ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓-๗ ประโยค สำนักเรียนวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ...เมื่อครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกัณฑ์แรกเรื่อง “โทษของการเกิด”และกัณฑ์ที่สองเรื่อง “มุตโตทัย” (ธรรมะเป็นเครื่องพ้น) ท่านถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น พร้อมกล่าวคำปฏิญาณเป็นภาษาบาลีว่า “สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนาชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์เป็นสักขีพยานด้วย” จากนั้นตราบจนสิ้นอายุขัย ท่านได้กระทำสัจวาจานั้นให้เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลายถึงความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้บริสุทธิ์หมดจดงดงามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาลำดับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๐ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล ทั้งหลักการและแนวทางปฏิบัติการบริหารภายในวัดตั้งเป้าไว้สูง มีระเบียบให้พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงศิษย์วัดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และคัดเลือกหมู่คณะให้เข้าไปรับการอบรมเป็นนักเรียนครูและนักเรียนการปกครองที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้กลับมาเป็นบุคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส อนุสรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ” ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ทุนทรัพย์เติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อได้วางรากฐานการปกครองและการศึกษาเข้าสู่ความเจริญในระดับหนึ่งตามเป้าหมายแล้ว ด้วยสาวกบารมีญาณมาเตือน ท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์วัดสุทธจินดาอย่างอาจหาญว่า “จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า” ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้สร้างวัดรังสีปาลิวัน บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ออกบำเพ็ญตามถ้ำ เงื้อมผาจำพรรษาในที่หลายแห่งตามสถานที่วิเวก สัปปายะ สมเจตนาที่ท่านตั้งไว้ ท่านปรารภถึงชีวิตของท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมืองอย่างน่าสนใจว่า “ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมาก สำหรับที่จะทำความพากเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่งๆมีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องราวต่างๆ เสียเวลาทำความเพียร เป็นการทำชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้น นอกจากนั้นยังเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาทเป็นปปัญจธรรม คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมนอนธการ คิดๆดูแล้วก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมื่องอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟังคิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติจึงจะมีโอกาสงามสำหรับการาบำเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ “ทุลฺลภขณ สมฺปตฺติ” สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้” วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ เมื่ออายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาตและเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้ประสาทสมองบางส่วนต้องสูญเสียไป ผลก็คือ พูดออกมาไม่เป็นคำพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทำงาน ช่วยตัวเองไม่ได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยนานถึง ๑๙ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ำเสมอ ๓ ปี พรรษาสุดท้ายแห่งการอาพาธ ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ตลอด เมื่อหมอเห็นว่าสุดวิสัยที่จะช่วยพยุงธาตุขันธ์ให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงนิมนต์ท่านกลับวัดรังสีปาลิวัน ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานอย่างสงบในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริอายุ ๙๐ ปี ๖๘ พรรษา ถวายเพลิงศพ ณ วัดรังสีปาลิวัน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ จากหนังสือ พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์ วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ |
เจ้าของ: | Bwitch [ 13 ส.ค. 2009, 02:27 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม |
...
![]() ![]() ![]() ![]() นะโม ข้าจะไหว้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เมื่อข้าดับจิตลง อย่าให้ใหลหลง ขอให้จิตจำนง ตรงทางพระนิพพาน ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ข้าจะไปนมัสการ พระเกษแก้ว พระจุฬามณี เจดีย์สถาน เป็นที่ไหว้ ที่สักการ กุศลสัมปันโน ฯ ![]() นะโม ข้าจะไหว้พระธรรมเจ้า ของพระพุทธองค์ เมื่อข้าดับจิตลง อย่าให้ใหลหลง ขอให้จิตจำนง ตรงทางพระนิพพาน ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ข้าจะไปนมัสการ พระเกษแก้ว พระจุฬามณี เจดีย์สถาน เป็นที่ไหว้ ที่สักการ กุศลสัมปันโน ฯ ![]() นะโม ข้าจะไหว้พระสังฆเจ้า ของพระพุทธองค์ เมื่อข้าดับจิตลง อย่าให้ใหลหลง ขอให้จิตจำนง ตรงทางพระนิพพาน ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ข้าจะไปนมัสการ พระเกษแก้ว พระจุฬามณี เจดีย์สถาน เป็นที่ไหว้ ที่สักการ กุศลสัมปันโนติ ฯ สาธุ สาธุ สาธุ กราบ กราบ กราบ ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |