วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 14:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ต.ค. 2023, 05:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“กิริยาจิต” ที่แฝงอยู่ตาม “อายตนะ” หรือ “ทวารทั้ง ๕” มีดังนี้

“ตา” ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

“หู” ไปกระทบกับเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

“จมูก” ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่นจะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

“ลิ้น” ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

“กาย” ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัสจะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

“วิญญาณทั้ง ๕” อย่างนี้ เป็น “กิริยาแฝงอยู่” ในกาย ตามทวาร ทำหน้าที่ “รับรู้สิ่งต่างๆ” ที่มากระทบ เป็น”สภาวะแห่งธรรมชาติ” ของมัน “เป็นอยู่เช่นนั้น”

ก็ “สักแต่ว่า” เมื่อ “จิต” “อาศัยทวารทั้ง ๕” เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอก ที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยัง “สำนักงานจิตกลาง” เพื่อรับรู้ เราจะ “ห้ามมิให้เกิด” “มีเป็น” เช่นนั้น “ย่อมกระทำไม่ได้”

“การป้องกัน” “ทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น” เราจะต้อง “สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕” ไม่เพลิดเพลินใน “อายตนะ” เหล่านั้น

หาก”จำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น” ประกอบการงานทางกาย
ก็ควรจะ “กำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต” เช่น “เมื่อเห็น” ก็ “สักแต่ว่าเห็น” “ไม่คิดปรุง” “ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน” “ไม่คิดปรุง” ดังนี้เป็นต้น

(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้"จิตเอนเอียง" ไปในความเห็น ทั้งดี ทั้งชั่ว)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์






#ความเป็นมงคล_อัปมงคล

... ความเป็นมงคล ความเป็นอัปมงคล ขึ้นอยู่กับการกระทำ
ไม่ใช่จะขึ้นอยู่กับใครที่จะหยิบยื่นให้เรา
ใครยังหย่อนยาน ใครยังมีความพยายามไม่เต็มที่ ยังประมาทเลินเล่ออยู่ แก้ไขเจ้าของเสีย "

พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร






. สัญญา นี้เหมือนกับระลอกคลื่นที่วิ่งไปมาในมหาสมุทร ใจนั้นก็เปรียบเหมือนปลาที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ
ธรรมดาของปลาย่อมเห็นน้ำเป็นของสนุกเพลิดเพลินฉันใด

บุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยอวิชชาก็ย่อมเห็นเรื่องยุ่งๆ เป็นของเพลิดเพลิน เป็นของสนุก เหมือนกับปลาที่เห็นคลื่นในน้ำเค็มเป็นของสนุกสนานสำหรับตัวมันฉันนั้น

ตราบใดที่เราทำความสงบให้เรื่องต่างๆ บรรเทาเบาบางไปจากใจได้
ก็ย่อมทำอารมณ์ของเราให้เป็นไปใน “กัมมัฏฐาน”

คือ ฝังแต่ พุทธานุสติ เป็นเบื้องต้น
จนถึง สังฆานุสติ เป็นปริโยสานไว้ในจิตใจ เมื่อเป็นไปดังนี้ก็จะถ่ายอารมณ์ที่ชั่วให้หมดไปจากใจได้

เหมือนกับเราถ่ายของที่ไม่มีประโยชน์ออกจากเรือ และนำของที่มีประโยชน์เข้ามาใส่แทน

ถึงเรือนั้นจะหนักก็ตาม แต่ใจของเราเบาอย่างนี้ ภาระทั้งหลายก็น้อยลง สัญญาต่างๆ ก็ไม่มี นิวรณ์ก็ไม่ปรากฏ
ดวงจิตก็จะเข้าไปสู่ “กัมมัฏฐาน” ได้ทันที

โอวาทธรรมท่านพ่อลี ธมฺมธโร
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ







"...ก็เข้าใจอยู่ว่าคนดีมันหายากในปัจจุบัน
แต่ถ้าเราไม่ทำดีแล้วใครจะทำดี
การทำดีต้องเริ่มที่เราก่อน อย่าไปพูดให้คนนั้นคนนี้ว่าให้เธอทำความดีซะ
ถ้าอยากจะเห็นคนดีให้เราทำเป็นตัวอย่างเสียก่อน
ถ้าเราอยากจะเห็นพระดี เราก็ต้องทำตัวเป็นพระที่ดีเป็นตัวอย่างเขาเสียก่อน ค่อยแสวงหาพระดี
ถ้าเราอยากเป็นอุบาสกอุบาสิกาดี ก็ต้องเป็นตัวอย่างผู้ดีเสียก่อน ค่อยแสวงหาอุบาสกอุบาสิกาที่ดีต่อไป

เข้าใจบ่

กูอยากพ้อคนดีเด้...เจ้าของจักพอส่ำได๋ล่ะ แม่นบ่..
กูอยากพ้อพระดีเด้...เจ้าของกินเหล้าสุมื้อ
กะยังประกาศหาพระดียุนี่น้า..มันเป็นตาผางหน่าย
ผมบ่ไปกราบพระง่ายๆดอก มีแต่พระชั่วๆ..
เจ้าของเมาตาปลิ้นอยู่ แม่นไผชั่วกันแน่ ระหว่างพระกับโยม

นี่..เห็นบ่ล่ะนี่ มันต้องเอาตัวนี้มองมุมกลับ..."

ธรรมคำสอน องค์หลวงปู่น้อย ญาณวโร วัดป่าห้วยริน
๘ กันยายน ๒๕๖๒







การที่เราจะบรรเทาวิบากกรรม..ก็มีวิธีอยู่
เมื่อเราสำนึกได้ว่า...เราเคยทำบาป ๆ ไว้
ชาติก่อนๆ เรานึกไม่ออก
แต่ชาตินี้นึกได้
-เคยฆ่าสัตว์
-เคยลักทรัพย์
-เคยประพฤติผิดในกาม
-เคยโกหกหลอกลวง
-เคยใส่ร้ายป้ายสีไว้
-เคยดูถูก ดูหมิ่น
-เคยทำไม่ดีกับพ่อแม่
-เคยทำไม่ดีกับคนนั้นคนนี้
.
เกิดการเกรงกลัวต่อบาปขึ้นมา
เราจะแก้ไขอย่างไร
ที่จะไม่ให้บาปตามมาเล่นงานในชาตินี้
ในชาติที่สอง หรือในชาติต่อ ๆไป
.
ก็มีวิธีแก้ไข
1.ก็คือ
#ให้หยุดการกระทำบาปนั้นโดยเด็ดขาด
อย่าไปทำเขาอีก ต้องหยุดมันแค่นั้นไว้ก่อน
.
เรากลัวบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
อย่างบางคนเคยทำแท้งอะไรแบบนี้
บางคนเคยทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง
หยุด..อย่าทำอีก เป็นเด็ดขาด
เคยลักยักยอก ฉ้อโกง
ก็หยุด ๆ ทุจริตเป็นเด็ดขาด
เคยประพฤติผิดในกาม
ก็หยุดทำโดยเด็ดขาด
นี่เป็นข้อที่ 1 นะ ที่จะแก้กรรม
ต้องหยุดให้ได้จริง ๆ
.
2. ก็คือ
#ต้องเร่งทำกุศลต่าง ๆ ให้มาก
คือมันต้องเอาบุญมาแข่งบาป
เราจะต้องทำกุศลต่าง ๆให้มาก
ถ้ามีบุญมาก บาปก็หยุดไว้แค่นั้น
ถ้าบุญมันสูงกว่าเหนือกว่า
บาปนั้นก็จะไม่มีอำนาจ ในการให้ผลได้
.
อุปมา เหมือนถังน้ำใบหนึ่ง
ใส่เกลือ เกลือเปรียบเหมือนบาป
ใส่เกลือไป 1 ถ้วย ใส่น้ำไป 1 ถ้วย
น้ำจะเค็มไหม..มันก็เค็ม
แต่ถ้าเราหยุดใส่เกลือ เราเติมแต่น้ำ
เติมไปถ้วยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
น้ำครึ่งถัง ค่อนถัง เต็มถัง
จะเค็มไหม...มันก็หมดความเค็ม
ถามว่า เกลือยังอยู่ไหมในนั้น ก็ยังมีอยู่
.
เหมือนการที่เราเคยมีบาปไว้
แต่เราหยุดเราไม่เติมอีก
เราเติมแต่บุญ เติมแต่บุญ เติมแต่บุญ
พอบุญมันเพียงพอ มากพอ
บาปนั้นก็ มีก็ไม่มีโอกาสให้ผล
.
ฉะนั้นบาปก็จะไม่ส่งผล
ในชาตินี้ ชาติที่สอง
แต่ก็จะตามไปแบบนี้
ถ้าเราอ่อนบุญเมื่อไหร่
แล้วไปเพิ่มบาปอีก
ก็มีโอกาสตามทัน
พอมันทันเมื่อไหร่ เราก็จะเดือดร้อนแล้ว
มันจะรับผลวิบากกรรมตามแบบที่เราทำไว้
.
ฉะนั้น หยุด หยุดบาป
แล้วทำบุญกุศลความดีต่าง ๆ
บุญไม่ใช่จะเรื่องการบริจาคทานเท่านั้น
อันนั้นเป็นเพียงวัตถุทาน
แม้แต่ทาน ก็ยังมีอภัยทาน ให้อภัย
ธรรมทานให้ธรรมะ เป็นบุญกุศลได้
บุญจากการรักษาศีล
การแผ่เมตตา การอุทิศส่วนกุศล
การเจริญภาวนากำหนดรู้กายใจ
นี้คือการสั่งสมบุญ
.
บุญไม่เพิ่มเติมและยังไปทำบาปอีก
ใครจะช่วยได้...ไม่มีใครมาช่วยได้
ก็ต้องเสวยวิบากกรรม ที่เราทําไว้
.............................

ธัมโมวาท โดยพระวิปัสสนาจารย์
‪‎ท่านเจ้าคุณ‬ ‪‎พระภาวนาเขมคุณ‬ วิ.
(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา








ปฏิบัติอย่างไรถึงสำเร็จ

กิริยาที่ปรุงที่แต่งทั้งหมดในโลกนี้ ในสมมุติก็ต้องมีการบำรุง ไม่บำรุงไม่ได้ มีการเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลงเป็นธรรมดาของสมมุติ แต่วิมุตติไม่มีอะไรที่จะพูดว่าความเจริญขึ้นหรือความเสื่อมลง แต่เมื่ออาศัยสมมุติอยู่คือธาตุขันธ์ อันนั้นจะต้องออกมาทางธาตุขันธ์ ถ้าไม่พร้อมกันแล้วก็ไม่สะดวก มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นำออกแสดงไม่ได้ ในทางสมมุติที่เราฟังกันอย่างชัดเจนนี้มันออกอีกทางหนึ่ง เมตตาธรรมของท่านนั้นเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมชาติอยู่ภายในจิต

อยากเห็นนักปฏิบัติได้มาเล่าความรู้ความเห็นทางด้านปฏิบัติในทางจิตใจให้ฟัง ไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟัง เหมือนกับศาสนาของพระพุทธเจ้านี้เป็นโมฆะ ประกาศให้โลกกราบไหว้อยู่เฉยๆ ไม่แสดงผลแก่ผู้นับถือศาสนาเลย เป็นเพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในครั้งนั้นปรากฏเห็นผลเป็นลำดับลำดา ตั้งแต่กัลยาณปุถุชนจนถึงอริยบุคคลชั้นโสดา สกิทา อนาคา อรหัตอรหันต์ ล้วนแล้วแต่ออกจากพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่ทำไมตกมาสมัยทุกวันนี้จึงกลายเป็นโมฆะสำหรับพุทธบริษัททั้งหลาย มิหนำซ้ำยังกล่าวตู่ว่ามรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัย

เราเป็นโมฆะยังไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นโมฆะ ในวงของมนุษย์ในวงของพุทธบริษัท มันเป็นโมฆะอยู่ในความสนใจ เป็นโมฆะอยู่กับข้อปฏิบัติ วิธีดำเนินไม่ได้ตรงไปตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แล้วจะให้ปรากฏผลขึ้นมาได้อย่างไร นี่เป็นหลักสำคัญที่เราควรคำนึง ความเพียรก็ไม่พอสติปัญญาก็ไม่พอ วิธีการต่างๆ ที่จะส่งเสริมจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบสุข ให้เป็นไปเพื่อความแยบคายทางสติปัญญาก็ไม่พร้อม เมื่อไม่พร้อมแล้วสติปัญญาจะพร้อมได้ยังไง สติปัญญาไม่พร้อมกิเลสจะหลุดลอยไปไม่ได้ นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราควรคำนึง ส่วนเรื่องของกิเลสมันทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา คิดปรุงออกแต่ละด้านละทาง แต่ละแง่ละมุมนี้โดยมากมีแต่เรื่องของกิเลสสั่งสมตัวทั้งนั้น จึงมีผลเรื่อยๆ สำหรับทางกิเลส กิเลสมีผลมากเพียงไรเราก็อับเฉาเบาปัญญา จิตใจก็ไม่มีความสว่างกระจ่างแจ้งหาความสงบสุขไม่ได้ พูดอย่างนั้นเลย

การรักษาจิตสำหรับนักปฏิบัติด้วยแล้วเป็นหน้าที่โดยเฉพาะ ถือเป็นกิจจำเป็นเป็นกิจสำคัญ งานของพระเฉพาะอย่างยิ่งงานของพระกรรมฐาน คืองานรื้อถอนกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นตัวภพตัวชาติ เป็นรังแห่งความทุกข์ความลำบาก รังแห่งความเกิดแก่เจ็บตายให้ออกจากใจไปโดยลำดับๆ นี้เป็นงานใหญ่โต กรรมฐานๆ แปลว่าที่ตั้งแห่งงานของพระ พระกรรมฐาน ฐานะแปลว่าที่ตั้ง กรรมะแปลว่าการกระทำ ท่านสอนให้ทำลงที่ไหนให้สนใจลงในจุดนั้นให้ดี

บวชมาเบื้องต้นท่านสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่จะกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไปทั้งพระอุปัชฌายะ ทั้งผู้ที่บวชแล้วเวลานี้ ความจริง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจนี้เป็นทางแห่งมรรคผลนิพพาน เป็นทางหลุดพ้นสำหรับผู้ดำเนินตาม ไม่มีล้าสมัย เป็นธรรมคงเส้นคงวา มรรคผลนิพพานจะก้าวไปได้ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นทางเดิน เกสาเราพิจารณาให้เห็นชัดลองดูซิเป็นยังไง เพียงแต่ตกลงไปในอาหารเท่านั้นก็ขยะแขยงไม่อยากรับประทานกันแล้ว สกปรกหรือไม่ น่าเกลียดหรือไม่ เพียงเท่านี้เราก็พอทราบได้เกสา โลมาเหมือนๆ กัน นขา เล็บก็เหมือนกัน ดูซิเป็นของสวยของงามที่ไหนเล็บ ทันตา ฟันก็กระดูกดีๆ นี้เอง เหมือนกับกระดูกทั่วๆ ไปในร่างกายของเรา แต่ให้ชื่อว่าฟัน ความจริงก็คือกระดูก กระดูกมีความสวยงามที่ตรงไหน

ผม ขน เล็บมีความสวยงามที่ตรงไหน พิจารณาให้ถูกตามฐานพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้และทรงตำหนิว่าไม่สวยงาม ตโจ หนัง คนเราดูกันได้เพราะหนังเท่านั้น แล้วความหนาของหนังนี้ไม่เท่ากระดาษเลย บางนิดเดียว อันนี้ละเป็นเครื่องหลอกตาบุรุษตาฟาง นักบวชตาฟางไม่เห็นความจริง แล้วถัดเข้าไปนั้นสักนิดหนึ่งก็เยิ้มลงมาด้วยปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนองไม่น่าดูเลย นี่ถ้าเราพิจารณา หนังหุ้มห่อสิ่งสกปรกโสโครกทั้งหลายไว้ ถ้าเอาหนังออกแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ เราพิจารณาให้เห็นตามความจริงอย่างนี้แล้วเราจะไปหลงสัตว์หลงบุคคล หลงความสวยงามที่ไหน

ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมที่เป็นเครื่องรบรวนกวนใจเราอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะความสำคัญผิดนี้แล เมื่อเราได้พิจารณาตามหลักความจริงนี้อยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว ความรบกวนเหล่านี้จะไม่มี สงบตัวลงไปโดยลำดับๆ ยิ่งเข้าไปกว่านั้นก็ยิ่งเห็นชัดตามหลักธรรมชาติของส่วนร่างกายทั้งภายในภายนอก เบื้องบนเบื้องล่าง สถานกลางโดยไม่ต้องสงสัย การพิจารณาอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อตัดความกังวลความสำคัญมั่นหมายของเรา ซึ่งฝังจิตใจมานมนานว่าสิ่งนั้นสวยสิ่งนี้งาม ว่านั่นเป็นสัตว์ นี่เป็นบุคคล นั้นเป็นหญิงนี้เป็นชาย นั่นน่ารัก นั่นน่ากำหนัด นั่นน่ายินดี ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นขึ้นเพราะความสำคัญมั่นหมาย เพราะฉะนั้นท่านถึงให้คลี่คลายออกดูให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร

ดูให้เห็น ให้เห็นถึงฐานของสิ่งเหล่านี้ ผมเป็นอย่างไร ขนเป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร ฟันเป็นอย่างไร หนังเป็นอย่างไร แล้วฟาดเข้าไปนั้นเป็นอย่างไร เพียงหนังเปิดออกเท่านั้นมันก็ทั่วถึง ท่านจึงสอน ตจปัญจกกรรมฐาน สอนไปถึงหนัง พอหนังเปิดออกหมดแล้วมันก็หมดปัญหา น่าดูที่ไหนคนทั้งคน มีแต่แมลงวันตอมหึ่งๆ ถ้าไม่มีหนัง สัตว์ไม่มีหนังก็ดูกันไม่ได้ คนไม่มีหนังก็ดูกันไม่ได้ ที่ดูกันได้และติดกันงอมแงมจนไม่นึกไม่สนใจหาทางออกนี้เพราะหนังอันเดียวเท่านั้น นี่ละที่ปิดกั้นมรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานไม่มีก็เพราะสิ่งเหล่านี้ปิดกั้น ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของจิตมันปิดกั้น ปิดกั้นมรรคผลนิพพานเสียหมด ทางไปตามหลักธรรมชาติที่จะให้พ้นทุกข์มันไม่มีพอที่จะเดินที่จะก้าวไปได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ปิดตันเสียหมด

ที่ท่านสอนกรรมฐาน ๕ ท่านสอนเปิดทางให้เห็นตามหลักความจริง จิตใจเมื่อเห็นตามหลักธรรมชาตินี้เพียง ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นก็สงบไม่กวนตัวเอง ไม่มีอันใดที่จะกวนมากยิ่งกว่าราคะตัณหา อันนี้กวนมาก กวนจิตใจของสัตว์โลก ที่กำลังเดือดร้อนวุ่นวายกันอยู่เวลานี้เพราะอะไร ก็เพราะอันนี้เองพิจารณาให้ดี ยิ่งส่งเสริมเท่าไรก็ยิ่งลุกโพลงๆ จรดฟ้าโน่น ความเดือดร้อน ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับความเดือดร้อนมันตามกันไป ก็เพราะอันนี้ละมันปิดตัน ไม่ได้ดู แล้วเราเป็นกรรมฐานเราจะดูที่ไหนถ้าไม่ดูในงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างนี้ นี้เป็นงานชิ้นเอก เป็นงานเพื่อรื้อภพรื้อชาติเป็นงานใหญ่โต งานเพื่อถอดถอนกองทุกข์ทั้งมวล ไม่ใช่งานเล็กน้อย จงพากันดูด้วยความสนใจ

จะเป็นประเพณีไปแล้วเวลานี้ บวชกันก็เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ทิ้งไปเลยทั้งอุปัชฌาย์ทั้งผู้บวชไม่ได้สนใจ ถ้าดูตามหลักธรรมชาติที่ท่านประทานไว้จริงๆ แล้วจะเห็นความสำคัญของธรรมเหล่านี้มิใช่น้อย สติเป็นสิ่งสำคัญ ปัญญาตามมาเป็นลำดับที่สอง ก่อนปัญญาจะเข้าแทรก สติต้องตั้งไว้ก่อน สติตั้งลงในจุดใดจะเข้าใจในจุดนั้น ถ้าสติเผลอไปก็สิ่งนั้นไม่ชัด ท่านจึงสอนสติเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำหน้าที่การงานภายนอกภายใน สติต้องอยู่กับตัว คนมีสติอยู่กับตัวพูดอะไรฟังอะไรรู้เรื่อง ถ้าสติห่างจากตัวไปเท่านั้น ก็เผอเรอไปแล้วไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว มากไปกว่านั้นก็เป็นบอหรือเป็นบ้าไปเลย สติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธรรมะทั้งหมดสอนลงในสติ เรื่องของสติเป็นสิ่งสำคัญ จงพากันพิจารณา

การบวชในศาสนาไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นของเล่น ศาสนาพระพุทธเจ้าหรือพุทธศาสนานี้ ถ้าเราดูเผินๆ ก็เหมือนของเล่น เหมือนลัทธิ แต่ถ้าดูตามหลักธรรมชาติของศาสนาจริงๆ แล้วหาที่แย้งไม่ได้เลย ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เราขอพูดอย่างนี้ด้วยความถนัดใจเรา ว่าจะละเอียดยิ่งกว่าพุทธศาสนานี้ไป ถ้าได้ปฏิบัติดำเนินตามหลักศาสนาแล้วไม่ว่าฆราวาสญาติโยม ไม่ว่าพระ จะหาทางตำหนิกันไม่ได้ โลกนี้ไม่ต้องมีเรือนจำไม่มีตะราง เพราะเหตุไร เพราะหลักธรรมนี้สอนไปด้วยความสม่ำเสมอ สอนเป็นมัชฌิมา ให้ดูท่านดูเรามีน้ำหนักเสมอกัน เห็นใจเราเห็นใจท่าน เห็นความผิดของตัว เห็นความผิดของคนอื่นแล้วไม่กล้าทำลงไป แล้วความกระทบกระเทือนกันจะเกิดขึ้นที่ไหน ไม่มีทางเกิด นี่เพราะความเห็นแก่ตัวนั้นเอง

ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่หลักศาสนา ท่านไม่ได้สอน ความเห็นแก่เพื่อนร่วมชาติร่วมภพ เพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย มีความสุขเท่ากัน มีความทุกข์เท่ากัน มีคุณสมบัติประจำตัวเท่ากัน มีชีวิตจิตใจเท่ากัน มีความรักความสงวนตัวเท่ากัน รู้จักความผิดถูกชั่วดีเหมือนกัน แล้วต่างคนต่างรักษาอธิปไตยซึ่งกันและกัน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำกันไม่ลง อย่าว่าจะไปทำมนุษย์ด้วยกันเลย สัตว์เดรัจฉานก็มีสิทธิมีความรักความสงวนในชีวิตของเขา เท่ากันกับเรารักชีวิตของเรา แล้วจะไปทำกันลงที่ไหน หลักศาสนาเป็นอย่างนี้ แล้วสอนเข้ามาถึงพระ หลักธรรมวินัยท่านสอนไว้อย่างไร ดำเนินตามหลักที่ท่านสอนไว้แล้ว จะมีที่ตำหนิที่ไหน

ที่เขาตำหนิว่าพระไม่ดีไม่น่าเลื่อมใสเป็นความถูกต้องของเขา เพราะเหตุใด เพราะเราปฏิบัติไม่ตรงตามหลักธรรมวินัย ตรงไหนเป็นจุดที่เขาตำหนิ ตรงนั้นเองที่พระปฏิบัติตัวไม่ถูก เราจะไปว่าเขาไม่ดีไม่ได้ ถ้าเราพิจารณาตามหลักธรรมชาติตามหลักความจริงแล้ว คนเราอยู่ดีๆ จะมาตำหนิกันก็เป็นความผิดของคนตำหนิ แต่โดยมากนี้ชาวพุทธตำหนิพระไม่ใช่คนอื่นตำหนิ จึงน่านำมาพิจารณา ถ้าเป็นคนนอกศาสนาก็อย่างแบบที่จะปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนพระเศียรของพระพุทธรูปนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ภาษีภาษาอะไรเลย ทำอย่างนั้นก็ว่าตัวโก้ตัวเก๋ ตัวเก่ง ตัวดี ตัววิเศษ นั่นเป็นความเห็นผิดของเขาอันหนึ่ง ส่วนชาวพุทธด้วยกันตำหนิกันนี้ นี่เข้าใจว่ามีเหตุผลที่ควรจะตำหนิควรจะชม เราจึงควรสนใจตรงนี้

ส่วนเขาเองจะผิดประการใดนั้นให้เป็นเรื่องของเขา เพราะเหตุไร เพราะพระก็มีหูมีตาสามารถจะดูพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้เช่นเดียวกัน ใครผิดใครถูก ใครน่าดูน่าชม ใครไม่น่าดูน่าชม ไม่มีใครจะดูได้ละเอียดยิ่งกว่าพระดูโยม ไม่เพียงแต่โยมจะมาดูพระว่าองค์นั้นน่าเลื่อมใสองค์นี้ไม่น่าเลื่อมใสเลย พระดูฆราวาสยิ่งละเอียดยิ่งกว่านั้น แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขาของเราไปเสีย ทำไมเราดูเขาจะดูไม่ได้ เขาผิดที่ตรงไหน น่ายินดีน่าเกลียดที่ตรงไหน เราทำไมจะดูไม่ได้ เราทำไมจะไม่เข้าใจ เราเป็นพระองค์หนึ่ง เราเป็นผู้ปฏิบัติองค์หนึ่งด้วย แล้วทำไมจะดูคนไม่ออก เขาดูเราเขาก็ดูออกเช่นเดียวกับเราดูเขา

เมื่อเป็นอย่างนั้นถ้าเราดูเราแบบที่เราดูเขานั้น เราจะได้ความละเอียดมากยิ่งกว่าเขาดูเราเป็นไหนๆ เพราะศาสนาสอนให้เราดูเรา คือสอนให้ดูตนเอง ไม่ดูผู้อื่นมากไปกว่าตัวเอง ย่นเข้ามาตรงนี้เป็นจุดสำคัญ คือพระดูโยมก็ไม่สำคัญนัก โยมดูพระก็ไม่สำคัญนัก เราดูเราจะเป็นโยมดูโยมก็ตาม เขาดูเขา เราดูเรา นี่เป็นจุดสำคัญมาก ให้เห็นชัดเจนกว่านี้ ยิ่งการดูกิเลสตัวเองด้วยแล้วต้องดูทุกเวลา กิเลสจะเกิดขึ้นจากการสัมผัส การได้เห็น การได้ยิน ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและธรรมารมณ์ที่นำสิ่งนั้นมาคิด สิ่งที่เคยได้เห็นได้ยินนั้นนำมาคิด เกิดเป็นกิเลสขึ้นมาแต่ละประเภทเป็นชั้นๆ ถ้ามีสติแล้วจะทราบกันทันทีๆ

กระทบทางตามีความรู้สึกเกิดขึ้นมาอย่างไรบ้าง กระทบทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิตมีความรู้สึกอย่างไรขึ้นมา เป็นกิเลสขึ้นมา หรือเป็นธรรมะขึ้นมา ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นเครื่องผูกมัดตัวเองก่อเรื่องขึ้นมา ก่อเรื่องผูกมัดตัวเองขึ้นมา ถ้าเป็นฝ่ายธรรมะก็ได้สติ ได้อุบาย ได้ปัญญาจากสิ่งที่มาสัมผัสถอดถอนกิเลสไปเป็นลำดับๆ อารมณ์เกิดขึ้นมากน้อยภายในใจ สติปัญญาตามทัน แก้ไขได้ทันท่วงทีๆ ไปเป็นลำดับ นี่ชื่อว่าเป็นผลในการดูตนดูอย่างนั้น เข้าไปทางจงกรมถึงจะไปภาวนา เวลาเข้าที่สมาธิ ขัดสมาธิ แต่งตัวเต็มยศแล้วถึงจะเรียกภาวนา บางทีทั้งๆ ที่แต่งตัวเต็มยศอยู่นั้นละ จิตมันออกนอกโลกนอกสงสารไปไหนก็ไม่รู้ มันเต็มยศอยู่แต่ร่างกาย จิตใจไม่ได้ทำหน้าที่แห่งความเต็มยศนั้นเลย อันนี้ก็ใช้ไม่ได้

เดินจงกรมก็เดินก้าวไป ขาเดินไปก้าวไป ใครก็ก้าวได้ สุนัขมันมี ๔ ขา มันยิ่งเร็วยิ่งกว่าพระเสียอีก ก็ไม่เห็นว่ามันมีความเพียรเพราะความเดินเร็วของมัน เพราะเหตุไร เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เขาไปตามประสาของเขา ไอ้เรารู้เรื่องรู้ราวอยู่ เราเดินจงกรมแต่ว่าจิตส่งออกนอกลู่นอกทาง นอกโลกนอกสงสาร จะเป็นความเพียรเพื่อแก้กิเลสได้อย่างไร ความเพียรเพื่อแก้กิเลสก็คือความมีสติกำหนดดูเหตุดูผล ความผิดความถูกความกระเพื่อมของใจว่าคิดไปในทางใดบ้าง ถูกหรือผิด คอยกำจัด คอยระมัดระวังอยู่อย่างนั้น นี่ชื่อว่าเป็นความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลส จะรื้อภพรื้อชาติ ชื่อว่างานของพระจริงๆ สมกับว่ากรรมฐาน ๕ ที่ท่านมอบให้เราทำงาน เราต้องคิดอย่างนี้

จิตไม่ใช่ว่าจะโง่ตลอดไป สติปัญญาไม่ใช่จะอับเฉาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาไป ถ้าอาศัยการบำรุงอยู่เสมอสติก็จะแก่กล้าปัญญาจะสามารถ กิเลสจะค่อยหลุดลอยไปเป็นลำดับๆ จะหนาแน่นขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงสติปัญญาศรัทธาความเพียรได้หนุนเข้าไปเป็นลำดับๆ แล้วต้องขาดสะบั้นไปเป็นลำดับไม่มีอะไรเหลือ จนกระทั่งบริสุทธิ์พุทโธขึ้นภายในใจเพราะอำนาจแห่งความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องแก้โดยไม่ต้องสงสัย นี้คือหลักของการปฏิบัติ ให้ทำความเข้าใจอยู่กับตัวเอง

หลักธรรมของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีทางตำหนิ เรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกอย่างแล้ว ศีลก็ตรัสไว้ชอบ สมาธิก็ตรัสไว้ชอบ ปัญญาก็ตรัสไว้ชอบ มรรคผลนิพพานทุกขั้นทุกภูมิตรัสไว้ชอบแล้ว ความไม่ชอบเวลานี้ก็เพราะความบกพร่องเวลานี้อยู่กับพวกเรา จึงมาสนใจความบกพร่องของตนให้สมบูรณ์ขึ้นไปเป็นลำดับ เรื่องมรรคผลนิพพานไม่ต้องไปถามที่ไหน ขอให้ข้อปฏิบัติกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้านั้นกลมกลืนกันเถอะ มรรคผลนิพพานจะเกิดขึ้นในสถานที่กิเลสรัดรึงอยู่ภายในจิตใจนี้โดยไม่ต้องสงสัย

กิเลสถอนตัวออกไปเพราะอำนาจของสติปัญญา ความบริสุทธิ์ก็เป็นขึ้นที่นั่น จะเป็นขึ้นที่ไหน เราไม่ต้องไปหาที่โน่นที่นี่เรื่องมรรคผลนิพพาน เพราะกิเลสไม่อยู่ที่ไหน นอกจากหัวใจของคนที่คิดไม่ถูก สั่งสมกิเลสขึ้นมาเท่านั้น เมื่อคิดถูกแล้วกิเลสก็ค่อยหมดไปๆ คำว่ากิเลสคือเครื่องเศร้าหมอง เครื่องกวนใจ ทำใจให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่เสมอคือกิเลสของตัว เรื่องของตัว ไม่ใช่เรื่องของอะไร

ทำอะไรให้ทำจริง อย่าทำเล่น อย่าฝึกหัดทางไม่ดี อย่าโกหกตัวเอง กาลเวล่ำเวลาหน้าที่การงาน จะทำอะไรให้มีความปลงใจให้มีสติอยู่กับงานนั้นๆ อย่าให้เป็นนิสัยโกหกตัวเอง จริงนอกจริงใน สติใช้นอกใช้ใน ปัญญาใช้ข้างนอกใช้ข้างใน ฝึกหัดกันไปโดยลำดับสติจะแก่กล้าขึ้นมา ปัญญาก็จะมีความสว่างไสวรอบตัว เพราะการฝึกการอบรม การอบรมนี้เป็นสิ่งที่จะทำคุณธรรมทั้งหลายให้เจริญ แม้สมาธิไม่เคยปรากฏก็จะปรากฏ ปัญญาไม่เคยมีก็มี ถ้าปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ไม่มีอันใดที่จะเป็นที่สงสัยในหลักของพุทธศาสนาที่สอนไว้แล้วนี้ มีปัญหาอยู่เฉพาะเราผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น มีเท่านี้

อย่าไปหาบ่นมรรคผลนิพพานไม่มี มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหนถึงจะไม่มี กิเลสทำไมมันจึงเป็นก่ายเป็นกองเต็มหัวใจ มันมาจากไหน ใครสร้างมันขึ้นมา มันถึงมีมากมาย ถ้าไม่ใช่เราสร้างขึ้นมา แล้วมรรคผลนิพพานใครจะสร้างขึ้นมา ถ้าเราไม่เป็นผู้สร้างเสียเอง มีอยู่กับเราทั้งนั้น ในตู้ในหีบในคัมภีร์ใบลานมีแต่ชื่อของกิเลสตัณหาของมรรคผลนิพพาน ไม่มีตัวมรรคผลนิพพาน ไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ในตู้ในหีบในคัมภีร์ใบลาน ในตำรับตำรานั้นเลย แม้อันเดียวไม่มี ท่านสอนไว้ประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในสูตรนั้นในคัมภีร์นี้ มีแต่บอกเรื่องชื่อเรื่องนามของกิเลสที่มีอยู่ในหัวใจคน ไม่ได้นอกไปจากนี้ ผู้ต้องการมรรคผลนิพพานไม่สนใจดูหัวใจตัวเองจะดูอะไร ทางที่จะให้เห็นมรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่เรื่องความเพียรให้ถูกต้องตามหลัก

เวลาจะสงบก็ทำด้วยความสงบ ตั้งหน้าให้เป็นไปเพื่อความสงบจริงๆ จะกำหนดธรรมบทใดก็ให้มีความจริงจังกับธรรมบทนั้น ตั้งหน้าจะทำความสงบแก่ใจ ใจจะปรุงไปไหน มีใจดวงเดียวเท่านี้เป็นผู้ก่อเรื่องอยู่ตลอดเวลา โลกสงสารนี้กว้างแคบไม่มีปัญหา ไม่ใช่เป็นผู้มาก่อเรื่อง หัวใจของเรานี้กระเพื่อมตัวอยู่เสมอ ที่จะออกแสดงตัว เรื่องผิดเรื่องถูกเรื่องอะไรๆ โดยมากเป็นเรื่องผิด ปรุงขึ้นที่ใจ สังเกตความปรุงของตัวเอง มันจะปรุงไปได้ถึงไหน สติปัญญามีอยู่ ปรุงขึ้นพับ ดับพร้อมๆ ถ้ามีสติ ถ้าไม่มีสติก็ปรุงต่อกันเรื่อย ไม่มีจบสิ้นลงได้ เมื่อสติตามทันอยู่มันจะวุ่นไปไหนจิต มันต้องหมอบ

เอา เวลาจะใช้ปัญญา เอ้าใช้ลงไปพิจารณาลงไป ธาตุขันธ์อายตนะมีเท่าไรม้วนลงมาที่นี่หมด กำหนดให้เป็นสัจธรรมหรือเป็นไตรลักษณ์ ให้มันเห็นความจริงกับไตรลักษณ์จริงๆ แล้วจะแย้งพระพุทธเจ้าที่ไหน อนิจฺจํ อะไรเป็นของไม่เที่ยง มันมีอยู่ทุกส่วนในร่างกายและจิตใจ อาการของจิตทุกส่วนที่แสดงออกมาล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องกฎของวัฏฏะ ความหมุนเวียนความเปลี่ยนแปลงกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎของสัจธรรม ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย

ทุกฺขํ เป็นยังไง มันมีอยู่ที่ไหนทุกข์ เวลานี้เป็นอยู่ที่ไหน ไม่เป็นอยู่ที่กายที่ใจนี้เหรอ อนตฺตา อะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคลมันมีอยู่ที่ไหน ว่าเอาเฉยๆ มันไม่มีสัตว์บุคคลมาว่าเอาได้ไง ส่วนผสมของธาตุต่างๆ มารวมกันแล้ว มีวิญญาณสถิตอยู่นั้นแล้ว ก็จัดเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นท่านเป็นเราว่ากันไป ว่าแล้วยังไม่แล้วนะ ติดอีกด้วย มันติดก่อนว่าเสียด้วยซ้ำไป ติดชนิดที่ไม่ยอมถอยด้วย ติดเท่าไรยิ่งติดยิ่งพันเข้าไปไม่ยอมถอยหลัง นี่ตรงนี้นักต่อสู้ มันเป็นนักต่อสู้เพื่อตายจริงๆ ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อถอยเอาท่า เพื่อหลบหลีกปลีกตัวให้พ้น มันสู้แบบตายเอาตายเลย แบบหัวชนฝา ไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องแก้ ตายจริงๆ

พิจารณาจนมันหาทางไปไม่ได้มันก็ลงเอง จิต เมื่อคิดไปไหน ค้นไปไหนมีแต่สติปัญญาตามมัน มันคิดไปไหนสติปัญญาตาม มันจะไปไหนรอด เดี๋ยวมันก็ลงของมัน ไม่ว่าทางสมาธิไม่ว่าทางปัญญา เป็นทางจะให้เกิดความสงบเย็นใจได้ด้วยกัน ถ้าเราใช้ถูกเวล่ำเวลา ใช้ถูกกับหน้าที่การงานของตัว เป็นผลด้วยกันทั้งนั้น โน้นคอยฟังแต่ข่าวพระพุทธเจ้า สาวกท่านบรรลุอรหัตมรรคผลนิพพาน ท่านปฏิบัติอย่างไรท่านถึงสำเร็จมรรคผลนิพพานไม่ได้เอามาคำนึง ทำความเพียรนิดหน่อยก็กลัวแต่จะตาย อะไรๆ กลัวแต่จะตาย อะไรกลัวแต่ลำบาก มีแต่ความกลัวเพื่อจะไปมรรคผลนิพพาน มันกลัวเพื่อที่จะไปเสียมากกว่า ผลนี้ไม่กล้าจะทำอย่างไร

อะไรจะรื่นเริงบันเทิงยิ่งกว่าธรรมกับจิตสัมผัสกัน ธรรมกับจิตถ้าลงได้สัมผัสกันแล้วไม่มีอะไรที่จะรื่นเริง ไม่มีอะไรที่จะละเอียดอ่อน ไม่มีอะไรที่จะเป็นสุข ไม่มีอะไรจะอัศจรรย์ยิ่งกว่าจิตกับธรรมสัมผัสกัน ถ้าลงเข้าถึงขั้น เพียงแต่ขั้นสงบก็เพลินแล้ว ไม่ต้องพูดไปถึงขั้นปัญญาที่ละเอียดยิ่งกว่านี้เลย เพียงจิตสงบก็สบายแล้ว ปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งหลาย มันเคยว้าวุ่นขุ่นมัวมามันก็สงบเย็นลงไป จิตก็ผ่องใส เพียงเท่านี้เราก็มีที่อยู่พอให้สบายใจได้แล้ว

ยิ่งค้นลงไปทางด้านปัญญาให้เห็น ดูธาตุดูขันธ์ดูอวัยวะของเราทุกส่วนให้เห็นตามหลักความจริง เอาถ้าว่าปฏิกูลก็ดูให้มันเห็นปฏิกูลจริงๆ ทั้งข้างนอกข้างใน ทั้งเขาทั้งเราดูให้มันลงได้ระดับเดียวกัน แล้วมันจะฟุ้งเฟ้อไปไหน คนแล้วคนเล่า ดูแล้วดูเล่าอย่างนั้น จนมันพอตัวแล้วมันถอนของมันเอง ถอนเป็นขั้นๆ ไป สมบูรณ์เต็มที่ถอนหมด อาการของขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่มีเหลือ รูปก็ถอน เวทนาก็ถอน สัญญาก็ถอน สังขารก็ถอน วิญญาณก็ถอน อะไรที่ฝังอยู่ในจิตก็ถอน ถอนจนกระทั่งถึงจิต ไม่มีอะไรเหลือคำว่าเราว่าเขาอยู่ในจิต ไม่มีสิ่งใดที่จะสำคัญว่านี้คือเรา นี้คือของเรา ถอนไปโดยสิ้นเชิง นี่เรียกว่าเสมอ

ถอนข้างนอกไม่ถอนข้างในก็ลำเอียงยังติดอยู่ ถอนข้างนอกได้แล้วถอนข้างใน รู้ข้างนอกแล้วรู้ข้างใน เมื่อรู้รอบขอบชิดหมดแล้วถอนหมดโดยประการทั้งปวง ไม่ต้องถามเรื่องมรรคผลนิพพานถามหาอะไร ถามให้เกิดประโยชน์อะไร ใครเป็นผู้หลงใครเป็นผู้รู้เวลานี้ กิเลสปกคลุมหุ้มห่ออะไร เวลานี้ได้ถอดถอนจากอะไรมาแล้ว แล้วต่อไปนี้จะทำอะไรต่อไปอีก แล้วจะไปไหนเพื่ออะไรอีก มันหมดเพื่อเสียทุกอย่าง เมื่อพอแล้วมันหมด จะถามหาอะไรถามหามรรคผลนิพพาน ถามก็หลงนะซี นั่น เมื่อรู้แล้วเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางจะถาม ถามหาอะไร อยู่ไหนก็เป็นมรรคผลนิพพาน อยู่ไหนก็บริสุทธิ์ อยู่ไหนก็รู้ ถึงความรู้อันสมบูรณ์แล้ว อยู่ไหนก็รู้ทำ ท่าว่าจะหลงก็ยิ่งรู้

แล้วจะหาอะไรในโลกนี้ยิ่งกว่าธรรมชาติที่รู้ๆ ที่บริสุทธิ์นี้อีก ไม่มี โลกอันนี้มีจิตดวงเดียวเท่านี้ หยาบที่สุดก็คือจิตดวงนี้ ประเสริฐที่สุดก็คือจิตดวงนี้ หยาบที่สุดคืออะไร ก็คือจิตที่ก่อกวนวุ่นวายตัวเอง ก่อเรื่องก่อราวอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าจิตรบกวนตัวเอง เวลาแก้ได้แล้วไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าจิตที่ประเสริฐในตัวเอง เนื่องมาจากการชำระเสร็จสิ้นลงไปแล้ว เลยกลายเป็นธรรมทั้งแท่งหรือธรรมทั้งดวงไปแล้ว ใครจะว่าอะไรก็ไม่สนใจ ว่าบรรลุก็แล้ว นั่นก็เป็นชื่ออันหนึ่งเสีย ว่าตรัสรู้ก็เป็นชื่ออันหนึ่งเสีย ว่าบริสุทธิ์ก็เป็นชื่ออันหนึ่งเสีย ว่านิพพานก็เป็นชื่ออันหนึ่งเสีย ว่าอรหัตอรหันต์ก็เป็นชื่ออันหนึ่งเสีย ธรรมชาตินั้นไม่ได้ว่าอะไรกับใคร นั่น ถ้าพอแล้วไม่ต้องหาอะไรมาเป็นชื่อเป็นนามก็ได้

แต่ทำไมท่านตั้งชื่อตั้งนามไว้ เพราะโลกมีสมมุติก็ต้องตั้งไว้อย่างนั้นละ อันนั้นชื่อนั้นอันนั้นชื่อนี้ ตั้งอะไรท่านก็ไม่หลง เมื่อได้รู้แล้วไม่หลง ไม่ตั้งก็ไม่หลง ตั้งก็ไม่หลง ตั้งก็ตั้งเพื่อสมมุติเพื่อโลกต่างหากไม่ได้ตั้งเพื่อท่าน ถ้ารู้แล้วเป็นอย่างนั้น ธรรมชาตินี้อยู่ที่ไหน อยู่กับความรู้ของคนทุกคน ของเราทุกท่าน ถ้าชำระให้ถึงก็รู้เหมือนกันหมด ไม่ว่าครั้งพุทธกาลไม่ว่าครั้งนี้ เพราะสัจธรรมก็เป็นอันเดียวกัน เหมือนกัน อริยสัจเหมือนกัน ไตรลักษณ์เหมือนกัน มัชฌิมาปฏิปทาเหมือนกัน ศาสนาอันเดียวกัน อยู่ในใจในกายของเราอันเดียวกัน เมื่อปฏิบัติตามอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว ความรู้จะเป็นอื่นไปที่ไหน นอกจากจะเป็นอันเดียวกันเท่านั้น มีเท่านี้

ให้พากันเข้มแข็ง อย่าหัดอ่อนแอ พระพุทธเจ้าไม่มีใครจะเกินพระองค์ไปได้ เรื่องความอดทนก็อยู่กับพระพุทธเจ้า เรื่องความพากเพียรก็อยู่กับพระพุทธเจ้า ทำความเพียรสลบไสลไปกี่ครั้งเราก็เห็นแล้วในตำรา พวกเรามีไหม มีสลบไสลบ้างไหม ไม่มี เราจะว่าเราเก่งกว่าครูยังไง ความรู้ความฉลาดก็ไม่มีใครเกินพระองค์ไปได้ แล้วใครที่จะสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้เหมือนพระองค์ สอนโลกทั้งสามได้ ไม่มี ก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว นี่ละที่ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เกิดขึ้นมาจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็เป็นผู้ได้รับการอบรมจากพระพุทธเจ้า เกิดความเชื่อความเลื่อมใสปฏิบัติตาม ก็เพราะพระพุทธเจ้านั่นเอง ธรรมที่จะปรากฏในโลกก็เพราะพระพุทธเจ้า แล้วมีเพราะผู้ใดบ้าง มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่ประเสริฐ อยากฟังหมู่เพื่อนนั่งสมาธิสมาบัติเป็นอย่างไร ทำความเพียรมากี่ปีกี่เดือนทำไมไม่เห็นเกิดผลเกิดประโยชน์ เกิดความสงบเย็นใจ เกิดความเฉลียวฉลาดถอดถอนกิเลสไปได้โดยลำดับ มาเล่าให้ฟังบ้าง เราจะภาคภูมิใจสมกับว่าที่สอนนี้สอนเพื่อรู้ เพื่อจริง จริงๆ ไม่ได้สอนแบบสุ่มสี่สุ่มห้านี่นะ

หมู่เพื่อนอยู่กับผมมาเป็นเวลานานเท่าไร บางองค์ ๑๕-๑๖ ปีก็มี นี่ได้ถอดถอนออกหมดในจิตใจนี้ ถอดออกมาจากหัวใจจริงๆ มาสอน ไม่ได้ไปลูบนั้นคลำนี้ เห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลย ถ้าผิดนี้ก็ยอมผิดมานานแล้ว แต่ไม่ได้คิดในใจเลยว่าได้สอนหมู่เพื่อนผิดไป เพราะความรู้อันนี้เราเป็นที่แน่ใจของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ของเราแล้ว อะไรก็ตามในโลกนี้จะมาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเราอย่างนี้จะเปลี่ยนไปไม่ได้ จะยกสมบัติมาทั้งสามโลกธาตุนี้มาขอเปลี่ยนธรรมชาติของเราความรู้ของเรานี้ให้เป็นอย่างอื่นไป เราจะยอมไม่ได้เป็นอันขาด นั่น

ไม่มีอันใดที่เราจะเป็นที่มั่นใจยิ่งกว่าธรรมชาติที่เรารู้เราเห็นอยู่เวลานี้ และที่นำมาสอนหมู่เพื่อนอยู่เวลานี้และที่ผ่านมาแล้วด้วย ทั้งจะต่อไปข้างหน้าด้วย จึงสอนเต็มภูมิความรู้จริงๆ ได้ปฏิบัติมาอย่างไร รู้อย่างไรเห็นอย่างไรสอนหมด ไม่ว่าจะส่วนใหญ่ส่วนย่อยที่เกิดจากภาคปฏิบัติ แล้วทำไมถึงไม่ปรากฏกับเราแต่ละรายบ้าง มีแต่คนเดียวพูดบ๊งเบ๊งๆ เหมือนกับว่ามาโกหกหมู่เพื่อน ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้โกหก เทศน์ไปมากท่านปัญญาก็จะจำไม่ได้ ต่อจากนี้ให้ท่านปัญญาอธิบาย

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน







ก่อนจะ เป็นทาน
เป็นศีล เป็นภาวนา
ต้องละความชั่วเสียก่อน
ความดีต้องเริ่มจาก ละความชั่วเสียก่อน

การไม่กระทำบาปนั้น…มันเลิศที่สุด

บางคนบางคราว โจรมันก็ให้ได้ มันก็แจกได้
แต่ว่าจะพยายามสอนให้มันหยุดเป็นโจรนั่นนะ
มันยากที่สุด
การจะละความชั่ว
ไม่กระทำผิด…มันยาก

การทำบุญ_ โจรมันก็ทำได้ มันเป็น…”ปลายเหตุ”
การไม่กระทำบาป_ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ
เป็น…”ต้นเหตุ”
เครื่องมือที่ช่วยละความชั่วคือ สติ รู้ตัว.

คำสอน
หลวงพ่อชา สุภัทโท





..กุศลคือความฉลาด
..กุศลคือปัญญา
..กุศลคือผู้มีความเฉลียวฉลาด
..กุศลคือผู้แสวงหาความสุข
..ความเลิศประเสริฐ กรรมนั้นเป็นสิ่งที่กระทำ
กรรมคือกิริยา กรรมคือการกระทำ คือความเคลื่อนไหวนั่นเอง..

..#โอวาทธรรมพระพรหมวชิรคุณ ดร. (ไพบูลย์ สุมงฺคโล) #วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม​ เชียงของ จ.เชียงราย..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 202 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร