ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
แยกธาตุ แยกขันธ์ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=62286 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | รสมน [ 12 ก.ค. 2022, 05:54 ] |
หัวข้อกระทู้: | แยกธาตุ แยกขันธ์ |
การทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงิน แต่ได้บุญมาก “อภัยทาน” "แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุทานนี้ก็เป็นเพียงทานเบื้องต้นเท่านั้นนะ ยังมีทานแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ให้กุศลผลบุญได้สูงกว่าวัตถุทานเสียอีก” หลวงพ่ออธิบาย “ทำทานแบบใดล่ะครับ?” ข้าพเจ้ารีบถามด้วยความสนใจ "อภัยทาน อย่างไรล่ะ ใครเขาทำผิดคิดร้ายต่อคุณอย่างไร คุณก็ไม่ถือโกรธ อภัยให้เขาไปเสีย เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านอภัย ให้แก่บรรดาผู้คนที่มุ่งร้ายต่อองค์ท่านนั่นแหละ เห็นไหมไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว แต่ได้กุศลผลบุญมากกว่าบริจาคเงินเป็นจำนวนมากๆเสียด้วยซ้ำไป" หลวงพ่ออธิบายยิ้มๆ "แหม!..หลวงพ่อครับ ได้บุญมาโดยไม่เสียเงินก็จริง แต่มันทำได้ยากนะครับ โดยเฉพาะผมแล้ว ผมชอบประพฤติปฏิบัติต่อผู้คนแบบเกลือจิ้มเกลือ คือดีมาก็ดีตอบ ร้ายมาก็ร้ายตอบ แรงมาก็แรงไป หวานมาก็หวานไป อะไรทำนองนี้แหละครับ มันค่อยมีชีวิตชีวาหน่อย ขืนอภัยให้บ่อยๆ คนเลวๆเหล่านั้นก็ยิ่งได้ใจใหญ่ คิดว่าเราแหยซิครับ เคยแค่แอบลอบนินทาลอบกัดลับหลัง คราวนี้ล่ะก็มันต้องบุกเข้ามาด่าว่าท้าทายถึงในบ้านเป็นแน่" ข้าพเจ้าตอบไปตามที่คิด "อ้าว!..อยากได้บุญมาก หนำซ้ำไม่ต้องเสียเงินเสียทองด้วยก็ต้องยากหน่อยซิ แต่ก็มิใช่ยากเย็นจนทำไม่ได้นะ หากควบคุมสติได้ แล้วคิดว่า โอ! หนอ คนเลวเหล่านี้ คงรับกรรมอยู่ในนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานมานานหลายภพหลายชาติแล้ว กว่าจะชดใช้กรรมชั่วหมด ได้เกิดมาเป็นมนุษย์กับเขาชาติแรกได้ก็ต้องทนทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส มาหลายกัปหลายกัลป์ แม้เป็นมนุษย์แล้วความเลวร้ายก็ยังติดตามมาตามสันดานดั้งเดิมอีก ดังนี้เราเองซึ่งเป็นมนุษย์ที่สร้างสมบุญบารมีมาแล้วหลายภพหลายชาติ จะใช้วิธีแบบเกลือจิ้มเกลือ คือร้ายมาร้ายไป เลวมาก็เลวไปอย่างที่คุณว่าแล้ว เราจะมิต้องเป็นคนเลวไปเช่นเขาเหล่านั้นหรอกหรือ ต้องพยายามคิดอย่างนี้นะ แล้วในที่สุดคุณจะให้ “อภัยทาน” ได้เองนะ ยิ่งถ้าคุณได้เจริญวิปัสสนาญาณด้วยแล้ว การให้อภัยทานจะเป็นของง่ายมาก" หลวงพ่ออธิบาย โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง จากหนังสือ "สู่แสงธรรม" โดย พล.อ.ต.มนูญ ชมภูทีป #อรหันต์อินเตอร์เน็ต โยม: หลวงปู่ครับหลวงปู่เป็นพระอรหันต์จริงไหมครับ หลวงปู่สังข์: ใครบอกล่ะ โยม: ในอินเตอร์เน็ตครับ หลวงปู่สังข์: โฮ้ย!!!คนสมัยนี้เนาะอินเตอร์เน็ตมันว่าอย่างใดก็เชื่อมันหมด ตุ๊นั้นเป็นอรหันต์ ตุ๊นี่เป็นอรหันต์ ก็พากันเชื่อหมด ธรรมะพระพุทธเจ้ามีบ่ยอมเข้าใจบ่เอาไปปฏิบัติฮ้องหาก่าพระอรหันต์ หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ "..ให้มีสติรักษาจิตให้ดี ระลึกพร้อมอยู่เป็นนิจ เมื่อพิจารณาเห็นว่าสังขารา อนิจจา แปรปรวน เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ความตายรอสังหารอยู่เบื้องหน้า เมื่อความตายมาถึงแล้วสิ่งที่มุ่งหวังคือความดี และความดีที่จะเกิดขึ้นนั้นเพราะทำความเพียร สวดมนต์ ภาวนา มีความอดทน ชนะตน เป็นตบะ แผดเผาเสียซึ่งกิเลสให้สิ้นไป.." หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ #ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก_มันหนักตนเอง “... มันถ่วงหัวทุบหาง ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านว่าอย่างนี้ หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านสอนอย่างนี้เสมอ ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ ที่หลงงมงายได้ ว่าตัวได้ตัวดีกว่าคนอื่นเขา อันนี้เราจำเอาจนขึ้นใจ ... ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไป วางไว้ กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้นก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก ... เมื่อเข้าไปกินเหยื่อ จะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้น ก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “ดักอีทุบ” ... สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไป ในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น สมณะ ที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญว่าขลังอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ ... จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ ... " หลวงปู่เจี๊ยะ_จุนโท ระลึกรู้ เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกหัด ฝึกฝน ใส่ใจ ส่วน ปล่อยวาง ก็เป็นเรื่องต้องฝึกหัดเช่นกัน บางคนระลึกได้ แต่ไม่ปล่อยวาง ยังยึดถือ ใจก็ไม่เบา ยังเศร้าหม่นหมองอยู่ ฉะนั้น เมื่อฝึกทำใหม่ ๆ อาจต้องใช้คำสอน ที่เตือนใจตนเองไปก่อน เวลาที่ใส่ใจระลึกรู้ ดูในกระแสจิต ให้สอนตัวเองว่า ปล่อยวาง ท่องคาถาว่า ปล่อยวางไปก่อน หรือไม่ก็ท่องว่า ไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไร จิตจะค่อย ๆ คลายตัวจากความอยาก จากความยึด พอมันคลายตัวก็จะเบา ใจจะใสขึ้น ๆ ความสุขก็เกิด ความทุกข์ก็คลี่คลาย เหมือนความร้อนที่มอดลง ความเย็นก็ปรากฏ ฉะนั้น ทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ ให้เราใส่ใจ ระลึกรู้สึกตัว รู้สึกตัวในที่นี้ คือทั้งกายทั้งใจ นึกขึ้นได้เมื่อไร ก็ใส่ใจระลึก ทำความรู้สึก ในกาย ในใจ ในปัจจุบัน แล้วก็ใส่คำสอนไปก่อนว่า ปล่อยวาง ไม่เอาอะไร แค่นี้ก็มีประโยชน์อย่างมหาศาล ได้รับประโยชน์ทันที ที่เกิดการระลึกรู้ อย่างปล่อยวาง ประโยชน์เกิดขึ้นทันที คือ ๑ ได้สะสมสติสัมปัชัญญะ ที่จะเป็นฐาน ให้เกิดปัญญารู้แจ้งได้ตลอดเกิดขึ้น ๒ ได้รับความคลี่คลาย ได้รับความสุขใจเกิดขึ้น ทำให้ชีวิตเราอยู่อย่างมีความสุข ดูเหมือนจะไม่ยาก เพียงแค่ระลึก อย่างปล่อยวาง แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ฝึกหัด ก็ทำไม่ได้ อยู่ที่เราต้องเริ่มต้นฝึกหัด ใส่ใจ ระลึกเอาความรู้สึกตัว รู้สังขารร่างกาย ด้วยความปล่อยวาง ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา #แค่เพียงใจเริ่มสงบก็จะมีความพากเพียร_มีกำลังใจในการเดินจงกรมนั่งภาวนามากขึ้น “ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่า ใจของเราอย่าปล่อยให้มันอยู่เฉย ๆ ถ้าปล่อยให้มันอยู่เฉพาะตัวมันก็เร่ร่อนไปเรื่อย เหมือนกับเรือที่มันอยู่ในแม่น้ำ มันก็ลอยไปตามกระแสน้ำ จะให้มันหยุดมันก็หยุดไม่ได้ก็ต้องลอยไปตามกระแสน้ำ พอลอยไปตามกระแสน้ำก็ไปกระทบฝั่งซ้ายไปกระทบฝั่งขวา กระทบไปกระทบมาเรือมันก็คว่ำไปตามกระแสน้ำ ถ้าพวกเราปล่อยใจของเราให้เร่ร่อนลอยไปกับความนึกคิดปรุงแต่งไปเรื่อย มันก็ไปกระทบกับความน่ายินดีกับความน่ายินร้าย กระทบความกลุ้มอกกลุ้มใจคับแค้นใจ ผลที่สุดบางคนก็เป็นบ้าไปในอารมณ์ก็มี แล้วมันได้ประโยชน์แก่นสารสาระอะไร เมื่อเราไม่อยากให้จิตใจเร่ร่อนออกไปอย่างนั้น ไม่อยากปล่อยให้เรือมันลอยไปตามกระแสน้ำแบบนั้นแล้ว ก็ให้หาเสาอะไรก็ได้ แล้วเอาเชือกมามัดเรือกับเสาไว้ จะเป็นเสาไม้เสาปูนหรือเสาเหล็กก็ได้ ถ้ามันสะดวกต่อการมัดแล้วก็มัดมันลงไปเลย จิตของเราก็เช่นเดียวกัน หาหลักอะไรมาให้จิตมันยึดไว้ เราจะสะดวกเอาพุทโธ หรือจะสะดวกเอาอานาปานสติการกำหนดลมหายใจเข้าออกประเภทไหนก็ได้ทั้งนั้น จะเป็นเสาไม้ เสาเหล็ก เสาปูนก็ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเสาไม้เท่านั้น ถ้าเสาไม้มันไม่มีก็ไม่ต้องวิ่งไปหาเอาแต่เสาไม้ ทั้ง ๆ ที่เสาปูนมันก็อยู่ตรงนั้นแต่เรากลับไม่สนใจ วิ่งหาแต่เสาไม้ วิ่งหาจนตายบางคนก็ยังหาเสาไม้ไม่เจอเลย อันนี้ก็เช่นเดียวกัน วิธีการใดที่ถูกจริตกับเราที่เราได้รับความสะดวกสบาย เรากลับไม่สนใจ แล้วเมื่อไหร่จิตใจจะได้หลักได้เกณฑ์ การภาวนาทำความสงบไม่ควรเจาะจงลงไปว่าครูบาอาจารย์องค์นั้นสอนแบบนั้นองค์นี้สอนแบบนี้ อาจารย์คุณสอนไม่ถูกอาจารย์เราสอนถูก ผลที่สุดก็เอาอาจารย์มาทะเลาะถกเถียงกัน แค่เพียงให้มันถูกจริตนิสัยกับเราก็พอ เหมือนกับยาที่มันอยู่ในตู้ยา ยามันก็ดีเหมือนกันหมด เราก็เลือกดูว่ายาตัวไหนที่มันถูกกับโรคของเรา ถ้าเราปวดหัวแต่กลับไปหยิบเอายาแก้ปวดท้องมาทาน แล้วก็ไปบอกว่ายาในตู้นี้มันไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ดีเอง ยาแก้ปวดหัวก็มีแต่ไปหยิบเอายาแก้ปวดท้องมากิน มันก็เลยไม่หายปวดหัว แล้วกลับไปบอกว่ายาทั้งตู้ไม่ดี เป็นอย่างนั้นไปเสียอีก การภาวนาวิธีไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ มันเป็นธรรมทั้งนั้น เมื่อเราเอามันมาทำแล้วมันถูกกับจริตนิสัยเรา มีความสะดวกถนัดมีความชัดเจนต่อการกำหนดอย่างนั้นแล้ว ก็ให้กำหนดลงไป ถ้าเห็นว่าเรากำหนด “พุทโธ” มาเป็นอารมณ์ของจิต แล้วมีความคล่องแคล่วมีความถนัดสะดวกในการกำหนดพุทโธ ก็ให้ยึดเอา “พุทโธ” เลย โดยเราไม่ต้องไปสนใจอาจารย์องค์ไหนที่จะมาว่าวิธีไหนดีอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปสนใจทั้งนั้น วิธีนี้ถูกกับจริตนิสัยของเรา เราลงใจกับวิธีนี้แล้ว ก็ให้ฝากเป็นฝากตายลงไปในวิธีนี้วิธีเดียว แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาลงไปว่า เรากับ “พุทโธ” นี้ จะเป็นตัวที่พาจิตดวงนี้ไปสู่ความสงบได้ ก็ให้เราจ้องอยู่กับ “พุทโธ” ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ฝึกใหม่ ถ้ามันมีเผลอหลุดออกไปจาก “พุทโธ” แล้ว มันก็จะแล่นไปกับความนึกคิดปรุงแต่ง เมื่อเรารู้ตัวระลึกได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ให้มาเริ่มต้นกำหนด “พุทโธ” ใหม่ โดยที่ไม่ต้องไปกังวลกับความนึกคิดปรุงแต่งอารมณ์เรื่องราวต่าง ๆ ที่น่ายินดีน่ายินร้าย จะดีหรือชั่วก็ปล่อยเขาไปตามเรื่องตามราว ว่ามันเป็นธรรมชาติของเขา เมื่อเขาเกิดเองได้เขาก็ดับเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปเสกสรรปั้นแต่งให้เขาดับหรือให้เขาเกิด เพราะเขาเกิดเองได้เขาก็ดับเองได้ทั้งนั้นแหละ เราไม่ต้องไปตั้งความปรารถนาหรือไปบังคับบัญชาให้เขาเกิดหรือดับหรอก ให้เรากลับมาเริ่มต้นที่พุทโธใหม่ด้วยความมีสติ คือระมัดระวังรักษาจิตให้อยู่กับพุทโธ นับวันมันก็จะแนบแน่นขึ้น เราก็กำหนดพุทโธได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น มีความละเอียดร่มเย็นเบิกบานผ่องใสเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจ แทนที่อารมณ์เรื่องราวเครื่องก่อกวนจิตก่อกวนใจภายนอก แล้วเราจะเห็นชัดเจนว่าจิตใจเริ่มมีความเบิกบานผ่องใส เริ่มจะเห็นคุณค่าของการภาวนาแล้ว เริ่มติดครูบาอาจารย์แล้ว เริ่มเอาครูบาอาจารย์เข้ามาสู่ใจ ใจของเราเริ่มเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ใจของเราเริ่มสงบเริ่มเป็นสมณะขึ้นมาบ้างแล้ว จากนั้นเราก็จะมีความพากเพียรมีกำลังใจในการเดินจงกรมนั่งภาวนามากขึ้น” พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ถ้ายังแยกธาตุแยกขันธ์... ไม่เป็น ยังแยกกายแยกจิต..........ไม่เป็น อย่ามาคุย... "เรื่องเจริญปัญญา" หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |