วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 23:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 96 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2018, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รัตนสูตร

ยงฺกิญฺจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา
สคฺเคสุ วา ยํ รตนํ ปณีตํ
น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

ฯลฯ



คำแปลทั้งหมด: ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น หรือรัตนะอันใด อันสูงค่าในสรวงสวรรค์ ทรัพย์หรือรัตนะนั้น ที่จะเสมอด้วยพระตถาคตเจ้าไม่มีเลย ข้อนี้เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

พระศากยมุนีเจ้า มีพระทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมตะ ประณีต ธรรมชาติไรๆที่จะเสมอด้วยพระธรรมนั้นไม่มี ข้อนี้เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระธรรมประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิใด ว่าเป็นความสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิว่าเป็นอนันตริกะ (ให้ผลไม่มีสิ่งใดคั่นได้) สมาธิอื่นที่จะเสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระธรรมประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

บุคคลเหล่าใด นับเรียงเป็น ๘ นับเป็นคู่ได้ ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานทั้งหลายอันบุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก ข้อนี้เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

บุคคลทั้งหลายเหล่าใดประกอบความเพียรอย่างดี ก้าวไปในศาสนธรรมของพระโคดมเจ้าด้วยใจอันมั่นคง บุคคลเหล่านั้นหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ได้บรรลุคุณอันควรจะบรรลุ คือพระอรหัตผลแล้วก็ได้เสวยอมตรส คือ นิพพุติ (ความดับความเย็น) เปล่าๆ (ไม่ต้องซื้อ) ข้อนี้ก็เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

กรรมเก่าของพระอริยบุคคลเหล่าใดสิ้นแล้ว กรรมอันเป็นเหตุสมภพใหม่ไม่มี พระอริยบุคคลเหล่าใด มีจิตเหนื่อยหน่าย ในอันที่จะเกิดในภพต่อไป พระอริยบุคคลเหล่านั้น สิ้นพืชแล้ว ปราศจากความพอใจในอันที่จะงอกขึ้นอีก เป็นผู้มีปัญญา ย่อมนิพพาน เหมือนประทีปดวงนี้ดับไปฉะนั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนะคุณอย่างสูง ในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2018, 18:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตำนานรัตนสูตร

ในอรรถกถารัตนสูตรกล่าวว่า แต่เดิมมากรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เป็นเมืองมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาธัญญาหาร เนืองแน่นไปด้วยอาณาประชาราษฎรร่มเย็นเป็นสุข ไม่เคยประสบความยากแค้นใดๆ
อยู่มาคราวหนึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นเอง พระนครนั้นเกิดฝนแล้งขาดแคลนอาหารถึงขนาด คนยากจนอดตายก่อนเพื่อน ซากศพถูกทิ้งเกลื่อน
พวกอมุษย์ได้กลิ่นซากศพ พากกันเข้าไปในพระนคร ซ้ำเติมทำอันตรายแก่มนุษย์ ก็ยิ่งทำให้คนตายมากขึ้น ในที่สุดเมื่อปฏิกูลมากเข้า อหิวาตกโรคก็เกิดระบาดไป ทำให้คนตายเหลือที่จะนับ นครเวสาลีได้ประสบภัย ๓ ประการพร้อมๆกัน ด้วยประการฉะนี้ คือ ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง) ๑ อมนุสภัย (ภัยจากอมนุษย์) ๑ โรคภัย (เกิดอหิวาตกโรค)

ชาวเมืองชวนกันเข้าไปร้องทุกข์ต่อพระราชาว่า ภัยร้ายแรง ๓ ประการนี้ ไม่เคยมีเลยในเมืองนี้นับได้ ๗ ชั่วคนแล้ว ชะรอยท่านผู้ครองรัฐจะประพฤติไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรมหรือไฉน จึงเกิดยุคเข็ญเช่นนี้
พระราชาพระทัยเด็ด โปรดให้ชาวเมืองประชุมกันที่ศาลากลางเมือง วิจัยความผิดของพระองค์ ก็ไม่เห็นความผิดของพระราชาสักน้อยหนึ่ง เป็นอันว่าภัยทั้งนี้มิใช่เกิดเพราะความอธรรมของผู้ครองรัฐแต่ประการใด จึงปรึกษากันต่อไปว่า ทำอย่างไรภัยร้ายแรงทั้ง ๓ นี้จึงจะสงบ
ผลการปรึกษาขั้นสุดท้ายตกลงให้เชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโปรด ด้วยเชื่อว่า พระองค์เป็นผู้ทรงพระมหากรุณาและมีมหิทธานุภาพ เมื่อพระองค์เสด็จมา ภัยจะระงับกลับเกิดความสวัสดีโดยฉับพลัน

เวลานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤค์แคว้นมคธ ในรัชสมัยพระเจ้าพิมพิสาร ชาววัชชีเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์มาก และเกรงภัยการเมืองจะซ้ำเติมเอาเป็น ๔ ภัย จึงแต่งให้เจ้าลิจฉวี ๒ องค์ เป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระองค์มาก ทูลความให้ทรงทราบแล้วขอพระราชทานวโรกาส กราบทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดชาววัชชี ก็ได้รับราชานุเคราะห์เป็นอันดี ทูตชาววัชชีได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเล่าความทุกข์ยาก แล้ววิงวอนเชิญเสด็จไปโปรดชาวกรุงเวสาลีให้พ้นภัย

พระบรมศาสดาทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงคำนึงเห็นว่า หากพระองค์เสด็จไปกรุงเวสาลีในครั้งนี้ จะได้ประโยชน์ถึง ๒ อย่าง คือ ภัยจะสงบไปอย่างหนึ่ง ชาววัชชีได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว จะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก นั้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแผ่พระศาสนา จึงรับนิมนต์

พระเจ้าพิมพิสารทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์ ก็โปรดให้รีบแต่งทางเสด็จพระพุทธดำเนิน ระยะทางจากกรุงราชคฤค์ถึงแม่น้ำคงคาอันเป็นพรมแดนแห่งแคว้นทั้งสองนั้น ๕ โยชน์ รับสั่งให้ปราบพื่นถมดินทำทางให้เรียบ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จพระพุทธดำเนินแต่วันละโยชน์แล้วทูลเชิญเสด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุเป็นพุทธบริวาร ๕๐๐ รูป การส่งเสด็จคราวนั้น ทำอย่าง่เอิกเกริกมโหฬาร จัดคนกั้นร่มถวายภิกษุทุกรูป จัดอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนทุกที่พักแรม เสด็จถึงแม่น้ำคงคาเป็นเวลา ๕ วันพอดี

เรือที่จะใช้เป็นเรือส่งเสด็จข้ามฝากนั้น พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้แต่งเป็นเรือขนาน (คือเรือ ๒ ลำ ตรึงติดกัน) ทำมณฑปเป็นที่ลาดพุทธอาสน์ และจัดที่ให้พระภิกษุทั้งปวงนั่งเป็นระเบียบ ตัวเรือนั้นก็ตกแต่งงดงามยิ่งนัก

ข้างฝ่ายกรุงเวสาลีนั้น มีความยินดีหาที่เปรียบมิได้ เตรียมการรับเสด็จเป็นการใหญ่ แต่งทางตั้งแต่แม่น้ำคงคาจนถึงกรุงเวสาลี ซึ่งเป็นระยะทาง ๓ โยชน์ อย่างเดียวกับที่ฝ่ายกรุงราชคฤค์ทำ แต่เพิ่มความมโหฬารขึ้นเป็น ๒ เท่า คอยรับเสด็จอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาในแดนของตน

เมื่อเรือส่งเสด็จใกล้ฝั่งวัชชีเข้าไป บัดดลก็มีเมฆฝนตั้งขึ้นมืดมาทั้ง ๔ ทิศ ฟ้าแลบแปลบปลาบ พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทแรกเหยียบดินที่ฝั่งแม่คงคาแดนวัชชี ฝนโบกขรพรรษก็ตกพรูลงมา

ฝนชนิดนี้ท่านกล่าวว่า ใครอยากให้เปียกก็เปียก ใครไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก และที่เรียกว่า “โบกขรพรรษ” นั้น ก็อธิบายว่า ฝนเหมือนน้ำตกในใบบัว

ฝนตกมากและนาน น้ำไหลนองพัดพาสิ่งโสโครกต่างๆลงแม่น้ำลำคลองไปสิ้น พื้นดินซึ่งแห้งผากแลโสโครก ก็ชุ่มเย็นและสะอาดทั่วไปในแคว้นวัชชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกรุงเวสาลีอันเป็นแดนภัย การนำเสด็จจากฝั่งแม่คงคาถึงกรุงเวสาลี เป็นเวลา ๓ วันพอดี

ครั้นพระผู้มีพระภาคถึงเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากก็มา ณ ที่นั้น เทวดาซึ่งเป็นใหญ่กว่ามากันมาก พวกอมนุษย์ก็ต้องถอยร่นหลบหลีกหนีไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี รับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร แล้วให้เข้าไปทำปริตรในภายในกำแพงสามชั้นแห่งกรุงเวสาลี พร้อมด้วยเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายติดตามห้อมล้อมไปด้วย
พระอานนท์เรียนจำรัตนสูตรซึ่งพระผู้มีพระภาคประทับยืน ตรัสบอกที่ประตูเมืองนั้นเองได้แล้ว ก็ขอพระพุทธานุญาตใช้บาตรของพระองค์ใส่น้ำเดินสวดรัตนสูตร พลางซัดน้ำในบาตรไปจนทั่วพระนคร

พอพระเถรเจ้าสวดขึ้นบท ยงฺกิญฺจิ วิตฺตํ พวกอมนุษย์หัวดื้อที่ไม่ยอมหนีไปแต่แรก (เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึง และเทวดาพวกพระอินทร์มา) แอบอยู่ตามที่ต่างๆ ก็ทนอยู่ไม่ไหวอีกต่อไป ชิงกันหนีออกทางประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู แน่นอัดยัดเยียด บางพวกทนรอออกทางประตูไม่ไหว ช่วยกันพังกำแพงหนีกระเจิงไปหมดสิ้น พอพวกอมนุษย์ออกไป โรคในตัวมนุษย์ก็หาย ผู้ที่หายโรคลุกได้ ก็ออกมาบูชาพระเถรเจ้าด้วยเครื่องบูชาต่างๆ

ในการรับเสด็จในเมืองเขาจัดแต่งศาลากลางเมืองเป็นที่ประทับ เมื่อเชิญเสด็จพระพุทธองค์ไปประทับแล้ว ภิกษุสงฆ์ คณะลิจฉวี ราษฎรก็เข้าไปเฝ้าที่นั่น แม้สักกเทวราชก็พาเทวดาทั้งปวงมาเฝ้าที่นั่นด้วย

ฝ่ายพระอานนท์เถรเจ้าเที่ยวทำการรักษาทั่วกรุงเวสาลีแล้ว ก็มาเฝ้าที่นั่น มีชาวพระนครเวสาลีติดตามมาเฝ้าด้วยเป็นอันมากรวมเข้าด้วยกัน ทุกพวกทุกเหล่าเป็นมหาสมาคม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรซ้ำอีกในมหาสมาคมนั้น เมื่อจบเทศนาลง ทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด สรรพอุปัทวันตรายภัยพิบัติสงบหาย ความสวัสดีสุขใจสุขกายเกิดปกแผ่ทั่วไป พุทธเวไนยได้ศรัทธาปสาทะและเกิดความรู้ธรรมเป็นอันมาก ฯลฯ แต่นั้น ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารกลับอุดมเหมือนดังเดิม

ภัยร้ายแรง ๓ ประการในกรุงเวสาลี ถึงซึ่งความรำงับดับหายไปโดยเร็ว ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธปริตรคือรัตนสูตร ดังพรรณนามาฉะนี้


หมายเหตุ การสวดรัตนสูตรนี้ โดยทั่วไปมักสวดแบบย่อขึ้น ยงฺกิญฺจิ วิตฺตํ ไปถึงบท เย สุปฺปยุตฺตา แล้ว ก็ตัดข้ามไปสวดบท ขีณํ ปุราณํ เพียงนี้เท่านั้น ส่วนยานีอีก ๓ บทข้างท้ายนั้น เรียกว่า ยานีน้อย มักตัดออกไปเลยไม่สวด

รัตนสูตรเป็นบททำน้ำมนต์ พระที่เป็นหัวหน้าจะเริ่มหยดเทียนลงในที่น้ำมนต์ ตั้งแต่ เย สุปฺปยุตฺตา หรือ ขีณํ ปุราณํ เป็นอย่างช้า พอถึง นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป ก็ดับเทียน โดยจุ่มลงไปในน้ำมนต์ เป็นอันเสร็จการทำน้ำมนต์เพียงเท่านี้
ที่ดับเทียนเมื่อสวดถึงตรงนี้ก็โดยเคล็ดแห่งคำบาลีนั้น ซึ่งมีความว่า กิเลสและความทุกข์ของพระอริยเจ้าดับ เหมือนประทีปดวงนี้ดับไปฉะนั้น ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมใช้บทนี้เป็นบททำน้ำมนต์ ตำนานบ่งชัดอยู่แล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2018, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดวงตาเห็นธรรม แปลจากคำว่า ธรรมจักษุ หมายถึง ความรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญารู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา; ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่น ที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะ เมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่ โสดาปัตติมรรคหรือโสดาปัตติมัคคญาณ คือ ญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 07:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กรณียเมตตสูตร


กรณียมตฺถกุสเลน - ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ
สกฺโก อุชู จ สหุชู จ - สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี

ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: กิจซึ่งภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ผู้ฉลาดในประโยชน์ ใคร่จะบรรลุสันตบทอยู่เสมอ พึงกระทำก็คือ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้อาจ เป็นคนตรง เป็นคนซื่อ เป็นคนว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง อีกทั้งเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย และเป็นผู้มีภารกิจน้อย ประพฤติเป็นคนเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญา รักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติความลามกอะไรๆเลย ซึ่งจะเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้ติเตียนได้
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ จงมีความเกษมเถิด ขอสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ทุกเหล่าหมดบรรดามี เป็นผู้ยังดิ้นรนอยู่ หรือเป็นผู้มั่นคง ก็ดี เป็นสัตว์มีตัวยาว หรือตัวปานกลาง หรือตัวสั้น ก็ดี เป็นสัตว์มีตัวใหญ่หรือตัวปานกลาง หรือตัวเล็ก ก็ดี เป็นสัตว์มีตัวละเอียด หรือมีตัวหยาบ ก็ดี เป็นผู้ที่ได้พบเห็นกัน หรือมิได้พบเห็นกัน ก็ดี เป็นผู้ที่อยู่ไกล หรืออยู่ใกล้ ก็ดี เป็นผู้ที่เกิดแล้ว หรือกำลังแสวงหาที่เกิดอยู่ ก็ดี ขอสัตว์ทั้งปวงนั้น จงเป็นผู้มีความสุขกาย สุขใจเถิด

บุคคลไม่พึงหลอกลวงกัน ไม่พึงกดขี่กัน ไม่ว่าใคร ไม่ว่าที่ไหน ไม่พึงคิดก่อความทุกข์ให้แก่กัน และกันด้วยแสดงความร้ายออกทางกาย วาจา หรือมุ่งร้ายอยู่ในใจ

มารดาถนอมบุตรคนเดียว ผู้เกิดในตนด้วยอายุ (คือยอมตายเพื่อลูก) ฉันใด พึงเจริญเมตตาจิต ไม่มีปริมาณไปสัตว์ทั้งปวงแม้ ฉันนั้น เถิด

บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต อันไม่มีปริมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ไปในสัตว์โลกทั้งสิ้น ทั้งในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศขวาง ผู้เจริญเมตตาเห็นปานนี้ เป็นผู้ปรารถนาจะตั้งไว้ซึ่งสติ ในเมตตาฌานให้นานเพียงใด ผู้นั้นจะอยู่ในอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็ตาม ก็เป็นผู้ปราศจากความง่วง ตั้งสติอันนั้นไว้ได้นานเพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงเมตตาวิหารธรรมนี้ว่าเป็นพรหมวิหาร ในพระธรรมวินัยนี้
บุคคลผู้นั้น ละเลิกความเห็นผิด (สักกายทิฏฐิ) เสียได้ เป็นผู้มีศีลมั่นคง บังเกิดความเห็นชอบแล้ว กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายได้แล้ว ย่อมไม่ถึงซึ่งการนอนในครรภ์อีกเป็นแน่แท้เทียวแล ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 07:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตำนานมงคลสูตร

มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถากรณียเมตตสูตร เมื่อใกล้เข้าพรรษา ภิกษุหมู่หนึ่งชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เวลานั้น ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ขอเรียนพระกรรมฐาน เรียนได้แล้วก็ทูลลา พากันไปหาสถานที่อันสมควรจะเป็นที่บำเพ็ญพระกรรมฐาน ไปถึงราวป่าเชิงเขาแห่งหนึ่ง ดูเหมาะดี มีลำธารน้ำ มีหมู่บ้านเป็นที่อาศัยบิณฑบาต อยู่ไม่ไกลนัก ชาวบ้านเล่าก็มีศรัทธาเลื่อมใสนิมนต์ให้จำพรรษา ปลูกกุฏิให้อยู่รูปละหลัง

ภิกษุหมู่นั้นจึงตกลงจำพรรษาอยู่ที่นั่น เริ่มทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรม ถ้าฝนไม่ตก ภิกษุทั้งหลายมักไปนั่งที่โคนไม้เป็นส่วนมาก
รุกขเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นไม้เหล่านั้น เห็นท่านผู้ทรงศีลมานั่งอยู่ใต้รุกขวิมานของตนเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะนิ่งเฉยเสียได้ ต้องหอบหิ้วกันลงจากวิมานมาอยู่ที่พื้นดิน ได้รับความลำบากมาก แรกๆก็ทนได้ ด้วยเข้าใจว่า ภิกษุหมู่นั้นจะกลับไปไม่ช้า
ครั้นปรากฏว่าภิกษุหมู่นั้นจำพรรษาที่นั่น เห็นว่าพวกตนจะต้องลำบากไปนานนัก ก็ไม่ยอมทน จึงคิดจะขับภิกษุหมู่นั้นไปเสีย แต่ไม่ใช้กำลังกายผลักไส ไม่ออกปากขับไล่ ใช้วิธีรบกวนทางประสาท คือทำเป็นผีหลอกรูปร่างน่ากลัวต่างๆบ้าง ทำเสียงร้องโหยหวนน่าสยองบ้าง ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆบ้าง
ภิกษุทุกรูปได้เห็นได้ยินแล้ว หัวใจไหวหวาดไม่เป็นอันสงบใจบำเพ็ญกรรมฐาน ยิ่งได้กลิ่นเหม็นอะไรก็ไม่ทราบ ทั้งวันทั้งคืนก็ปวดเศียรคลื่นเหียนสุดจะทนได้ ปรึกษากันว่า การเข้าพรรษานั้น มีพระพุทธบัญญัติไว้เป็น ๒ คือ เข้าพรรษาต้น (แรมค่ำ ๑ เดือน ๘) เรียกว่าปุริมิกาวัสสูปนายิกา เข้าพรรษาหลัง (แรมค่ำ ๑ เดือน ๙) เรียกว่าปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา พวกเรา อยู่ที่นี่ไม่ได้ จำต้องละพรรษาปุริมิกา รีบกลับไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลความให้ทรงทราบแล้ว ไปหาที่เข้าพรรษาปัจฉิมิกากันเถิด
ไม่บอกชาวชาวบ้าน พากันรีบเดินทางไป ครั้นถึงกราบทูลความแล้ว มีพระพุทธดำรัสว่า สถานที่ที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าที่นั่น ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะยกเว้นเทวดาภัยเสียอย่างเดียว ก็ไม่มีอะไรลำบากเลย ทรงแนะนำให้ภิกษุหมู่นั้นกลับไปที่นั่นอีก ตรัสว่า เทวดาภัยนั้น มีทางป้องกันได้ด้วยการเจริญเมตตาแล้วทรงสอนภิกษุหมู่นั้นให้ประพฤติตัวให้สมควรแก่การอยู่ป่า ให้เจริญเมตตาอัปปมัญญา คือ แผ่เมตตาไปทั่วหมดทั้งโลก มีความปรากฏอยู่ในกรณียเมตตสูตรนั้นแล้ว ตรัสว่าไปถึงที่นั่น ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ให้หยุดยืนตั้งใจเจริญเมตตาพร้อมกับสาธยายพระสูตรนี้ เทวดาภัยจะไม่มีอีกต่อไป กลับจะได้เทวดาอนุเคราะห์โดยไมตรีจิตเสียอีก
เป็นอันว่าพระบรมศาสดาทรงเปลี่ยนกรรมฐานให้ภิกษุหมู่นั้นใหม่ คือ เมตตากรรมฐาน อันสามารถจะเป็นบาทแห่งวิปัสสนาได้ด้วย เป็นปริตคือเป็นเครื่องป้องกันภัยได้ด้วย

ภิกษุหมู่นั้นกลับไปที่นั่น ปฏิบัติตามพระพุทธโองการ เป็นผลดีหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เทวดาทั้งหลายได้รับกระแสเมตตาจากภิกษุหมู่นั้น ให้จิตใจเยือกเย็นหายเกลียดหายชัง กลับเกิดเมตตาตอบ แทนที่จะทำตัวให้เป็นภัยเช่นแต่ก่อน กลับช่วยป้องกันภัยอื่นๆให้ด้วย ตั้งแต่นั้นไม่มีอะไรรบกวน
ภิกษุหมู่นั้นตั้งหน้าบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุอรหัตผล ภายในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้วจึงไปจากที่นั้นโดยสวัสดิภาพ


หมายเหตุ กรณียเมตตสูตรนี้ มักสวดแบบสังเขป คือ ขึ้น เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ ฯลฯ เลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดวัฏฏกปริต
+

ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร นิพฺพุตํ วฏฺฏกชาติยํ
ยสฺส เตเชน ทาวคฺคิ มหาสตฺตํ วิวชฺชยิ

ฯลฯ


คำแปล: ด้วยเดชพระปริตรบทใด เพลิงป่าเว้นห่าง คือ ไม่ลามเข้ามาใกล้ พระมหาสัตว์ผู้บำเพ็ญโพธิสมภาร (คุณธรรมอันเป็นองค์ประกอบ แห่งพระโพธิญาณ) คราวเกิดในกำเนิดนกคุ่ม ขอเราทั้งหลายจงสวดพระปริตรบทนั้นซึ่งมีเดชมาก ดำรงอยู่ชั่วกัลป อันพระโลกนาถเจ้าทรงภาษิตแก่พระสารีบุตรเถระ เทอญ.


วัฏฏกปริต

อตฺถิ โลเก สีลคุโณ สจฺจํ โสเจยฺยนุทฺทยา
เตน สจฺเจน กาหามิ สจฺจกิริยมนุตฺตรํ

ฯลฯ



คำแปลทั้งหมด: คุณคือศีล ความสัตย์ ความสะอาดและความเอ็นดู มีอยู่ในโลก ด้วยความสัตย์นั้น เราจักกระทำสัจจกิริยาอันยิ่งยวด
ครั้นเราพิจารณากำลังของธรรม และหวนระลึกถึงพระชินเจ้าในปางก่อนแล้ว อาศัยสัจจพละ ได้ทำสัจจกิริยาว่า “ปีกมีอยู่แต่บินไม่ได้ เท้ามีอยู่แต่เดินไม่ได้ และพ่อแม่เล่าก็บินออกไปแล้ว ดูก่อนเพลิง ท่านจงถอยกลับไปเถิด
พร้อมกับที่เราทำสัจจะแล้ว เปลวเพลิงกองใหญ่ซึ่งช่วงโชติ ก็เว้นห่าง (ไม่ลามเข้ามาใกล้) ถึง ๑๖ กรีส เป็นเหมือนเปลวไฟถึงถูกน้ำ ผู้ที่เสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี่เป็นสัจจบารมีของเรา ดังนี้แลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตำนานวัฏฏกปริต

พระปริตรบทนี้มีความพิสดารอยู่ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต มีชื่อเรื่องว่า วัฏฏชาดก แปลว่า ชาดกแสดงเรื่องนกคุ่มเกิดแล้วในอดีต หรือจะแปลว่า นิทานนกคุ่มก็ได้ ขอเก็บความมาเล่าโดยย่อ ดังต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ มคธรัฐ เช้าวันหนึ่งเสด็จบิณฑบาตพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ยังบ้านตำบลหนึ่ง และเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังอาหาร ขณะเสด็จดำเนินอยู่ระหว่างทาง เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นอย่างใหญ่หลวง และไฟลุกลามโอบล้อมเข้ามาทุกด้าน
พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ตกอยู่ในวงล้อม ไฟป่ากำลังโหมเข้ามาทุกขณะ
พระภิกษุบางรูปคิดอ่านแก้ไขด้วยวิธีจุดไฟรับ แต่บางรูปตักเตือนว่า อย่ามองข้ามพระพุทธเจ้าไปเสียเลย พระองค์ทรงมีพระกำลังมาก มาเถิด พวกเราไปเฝ้าให้ใกล้ชิดพระพุทธองค์กันเถิด
ภิกษุทั้งหลาย พากันไปยืนอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ขณะนั้น ไฟป่าลุกลามโหมเข้ามา ราวกับจะท่วมทับพระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ แต่ครั้นเข้ามาใกล้ประมาณ ๑๖ กรีสโดยรอบ ไฟป่าเหล่านั้นก็ดับไปเองเหมือนคบไฟถูกจุ่มน้ำ ภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นความมหัศจรรย์

ดังนั้น ในเวลาต่อมา เมื่อภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา จึงยกความมหัศจรรย์ของเรื่องนี้ขึ้นเป็นหัวข้อสนทนา
ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟป่าไม่ไหม้ภูมิประเทศแห่งหนึ่งหาใช่เป็นเพราะกำลังของเราในบัดนี้ไม่ หากเป็นเพราะแรงสัตยาธิษฐานของเราในปางก่อน ภูมิประเทศแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า กัปปัฏฐิติปาฏิหาริย์ คือเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น เพราะแรงสัตยาธิษฐานเพียงครั้งเดียว ดำรงอยู่ได้ถึงกัลป์หนึ่ง

พระภิกษุทั้งหลายจึงทูลอาราธนา ขอให้เล่าเรื่องในหนหลัง ได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าโปรดพระภิกษุทั้งหลาย มีใจความว่า

ในอดีตกาล สมัยหนึ่งพระองค์เสวยพระชาติเป็นนกคุ่ม อาศัยอยู่ ณ บริเวณป่านี้ ในเวลาที่เจาะฟองไข่ออกมาได้ไม่นาน ขนปีกยังไม่แข็ง เท้าก็ยังเดินไม่ได้ อาศัยพ่อแม่หาเหยื่อมาป้อน นอนอยู่ในรัง ไฟป่าเกิดขึ้นก็ไหม้ลุกลามเสียงสนั่นอยู่โดยทั่วไป บรรดาฝูงวิหคนกไพรที่แข็งแรง ก็พากันบินหนีอัคคีภัย
ส่วนตัวใดบินหนีไม่ได้ ก็ตกเป็นเหยื่อไฟป่า นกคุ่มหน่อพระโพธิสัตว์ฟังเสียงไฟไหม้ป่าดังใกล้เข้ามา จึงรำพึงในใจว่า ปีกของเราก็ยังไม่แข็งพอจะบินได้ เท้าของเราก็ยังอ่อนเดินไม่ได้ พ่อแม่ของเราก็บินหนีเอาตัวรอดไปแล้ว บัดนี้เราไม่มีที่พึ่งและที่ป้องกันต้านทาน ควรจะกระทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงตกลงใจทำสัจจกิริยา พร้อมกับสัจจกิริยานั้น ไฟป่าที่ลุกลามใกล้รังของนกคุ่มหน่อพระโพธิสัตว์ในระยะ ๑๖ กรีส ก็ดับไปเองคล้ายกับถูกน้ำ หมู่สัตว์ผู้อาศัยอยู่ในเนื้อที่มีปริมณฑลโดยรอบ ๑๖ กรีสนั้น ก็รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งนี้ด้วย เพราะแรงสัจจกิริยา ซึ่งนกคุ่มหน่อพระโพธิสัตว์ได้กระทำในครั้งนั้น เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณนั้นเกิดมีปาฏิหาริย์ คือ ไฟไม่ไหม้เป็นเวลาถึงกัลปหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภูมิประเทศแห่งนี้ วันนั้น ไฟป่าจึงไม่ไหม้


หมายเหตุ เรื่องนี้ถ้าจะพิจารณาตามเรื่อง ก็จะเห็นว่า เล่าความกระเดียดไปข้างผสมผสาน โยงเรื่องปัจจุบันต่อกับเรื่องอดีต เป็นการยากลำบากในการวินิจฉัย
แต่ถ้าจะพิจารณาอีกทางหนึ่ง ก็จะเห็นว่ามีสาระควรสนใจ เพราะภยันตรายต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส ไม่เลือกเวลาและสถานที่
ภยันตรายบางอย่างอยู่ในวิสัยพอจะแก้ไขได้ บางอย่างก็เหลือวิสัย เป็นภัยอันตรายนอกอำนาจ

ท่านผู้อ่านโปรดพลิกไปอ่านบทปริตรนี้อีกครั้ง ก็จะพบว่า ภัยที่เกิดแก่นกคุ่ม เป็นภัยชนิดเหลือวิสัยนอกอำนาจ ภัยอันตรายเช่นว่านี้ย่อมจะมีได้เสมอ เช่น ชุมนุมชนที่ปลูกอาคารบ้านเรือนอยู่กันหนาแน่น เมื่ออัคคีภัยเกิดขึ้นก็ย่อมเกิดเพราะความประมาท หรือเพราะจงใจของบุคคลเพียงคนเดียวหรือพวกเดียว
ส่วนคนอื่นหรือพวกอื่นก็พลอยได้รับอันตรายไปด้วย คนที่พลอยได้รับอันตรายเช่นนี้ เรียกว่าประสบภัยเหลือวิสัยนอกอำนาจ ถึงอย่างนั้น ถ้าร่างกายแข็งแรงดี ก็ยังพอหนีเอาตัวรอด แม้ทรัพย์สมบัติจะวอดวายไป แต่ชีวิตยังเหลืออยู่ ถ้าประจวบกับเวลาเจ็บไข้ลุกเหินเดินไม่ได้ ก็ย่อมจะสิ้นชีพอยู่ในกองเพลิงนั้นเอง หากไม่คำนึ่งถึงปัญหานี้ โดยตัดทิ้งไปเสีย ก็เป็นอันแล้วไป
สำหรับผู้ที่วิตกกังวลต่ออันตรายประเภทนี้และคิดจะแก้ไข ก็อาศัยพระปริตรนี้เป็นแนวปฏิบัติได้ เพราะปริตบทนี้แสดงยุทธวิธีของผู้ที่หมดกำลังทางกายแล้วเหลืออยู่แต่เพียงกำลังทางใจอย่างเดียวเท่านั้น

สรุปความในภาคปฏิบัติได้ว่า ทำความสงบใจด้วยวิธีเสี่ยงบารมีเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ดีกว่าตายไปพร้อมกับความหวาดกลัว ที่เรียกว่าหลงตาย ก็เป็นการตายอย่างทุรนทุราย
ผู้ที่รู้ตัวว่าไม่มีบารมีจะเสี่ยง ก็จะใช้ปริตรบทนี้สวดเพื่อป้องกันไฟดังกล่าวแล้ว ภายหลังจึงเรียกพระปริตบทนี้ว่า “คาถากันไฟ” ดังนี้แล.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัตยาธิษฐาน การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจกำหนดแน่วให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอ้างเอาความจริงใจของตนเป็นกำลังอำนาจ, คำเดิมในคัมภีร์นิยมใช้ สัจกิริยา, สัตยาธิษฐานนี้ เป็นรูปสันสกฤต รูปบาลีเป็นสัจจาธิฏฐาน

สัจจกิริยา “การกระทำสัจจะ” การใช้สัจจะเป็นอานุภาพ, การยืนยันเอาสัจจะคือความจริงใจ คำสัตย์ หรือภาวะที่เป็นจริงของตนเอง เป็นกำลังอำนาจที่จะคุ้มครองรักษา หรือให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ที่พระองคุลิมาล กล่าวแก่หญิงมีครรภ์แก่ว่า “ดูกรน้อยหญิง ตั้งแต่อาตมาเกิดแล้วในอริยชาติ มิได้รู้สึกเลยว่า จะจงใจปลงสัตว์เสียจากชีวิต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด ” แล้วหญิงนั้น ได้คลอดบุตรง่ายดาย และปลอดภัย (คำบาลีของข้อความนี้ ได้นำมาสวดกันในชื่อว่า อังคุลิมาลปริตร) และ
เรื่องวัฏฏกชาดกที่ว่า ลูกนกคุ่มอ่อน ถูกไฟป่าล้อมใกล้รังเข้ามา ตัวเองยังบินไม่ได้ พ่อนกแม่นกก็บินไปแล้ว จึงทำสัจกิริยา อ้างวาจาสัตย์ของตนเองเป็นอานุภาพ ทำให้ไฟป่าไม่ลุกลามเข้ามาในที่นั้น (เป็นที่มาของวัฏฏกปริตรที่สวดกันในปัจจุบัน) ในภาษาบาลี สัจกิริยานี้เป็นคำหลัก บางแห่งใช้สัจจาธิษฐานเป็นคำอธิบายบ้าง แต่ในภาษาไทยมักใช้คำว่า สัตยาธิษฐาน ซึ่งเป็นรูปสันสกฤตของสัจจาธิฏฐาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 18:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อริ ข้าศึก, ศัตรู, คนที่ไม่ชอบกัน


อริยะ เจริญ, ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส, บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มี โสดาปัตติมรรค เป็นต้น

อารยะ คนเจริญ, คนมีอารยธรรม, พวกชนชาติอริยกะ (ตรงกับบาลีว่า อริยะ แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายต่างกัน)

อริยกะ คนเจริญ, คนประเสริฐ, คนได้รับการศึกษาอบรมดี, เป็นชื่อเรียกชนชาติหนึ่งที่อพยพจากทางเหนือเข้าไปในอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ถือตัวว่า เป็นพวกเจริญ และเหยียดพวกเจ้าถิ่นเดิมลงว่าเป็นมิลักขะ คือพวกคนป่าคนดอย, พวกอริยกะอพยพเข้าไปในยุโรปด้วย คือ พวพที่เรียกว่า อารยัน

อริยกชาติ หมู่คนที่ได้รับการศึกษาอบรมดี, พวกที่มีความเจริญ, พวกชนชาติอริยกะ

อริยชาติ “เกิดเป็นอริยะ” คือ บรรลุมรรคผล กลายเป็นอริยบุคคล เปรียบเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยะ, อีกอย่างหนึ่งว่า ชาติอริยะ หรือชาวอริยะ ซึ่งเป็นผู้เจริญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงผู้กำจัดกิเลสได้ ซึ่งชนชั้นวรรณะไหน เผ่าไหน ก็อาจเป็นได้ ต่างจากอริยชาติ หรืออริยกชาติที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจำกัดด้วยชาติกำเนิด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2018, 12:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดขันธปริต

สพฺพาสีวิสชาตีนํ ทิพฺพมนฺตาคทํ วิย
ยนฺนาเสติ วิสํ โฆรํ เสสญฺจาปิ ปริสฺสยํ

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: พระปริตใด ยังพิษร้ายแห่งอสรพิษทุกชนิดให้หายไป ดุจมนต์ทิพย์และยาทิพย์ อนึ่ง พระปริตใด ย่อมห้ามกันอันตรายนอกจากนั้น ของสัตว์ทั้งสิ้นในเขตแห่งอำนาจพระปริต ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ โดยประการทั้งปวง เราทั้งหลายจงสวดพระปริตนั้น เทอญ.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2018, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขันธปริต

วิรูปกฺเข หิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ เอราปเถหิ เม
ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ เมตฺตํ กณฺหาโคตมเกหิ จ

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: ข้าพเจ้า มีเมตตาจิตกับงูตระกูลวิรูปักขะทั้งหลาย ข้าฯ มีเมตตาจิตกับงูตระกูลเอราปถะทั้งหลาย ข้าฯ มีเมตตาจิตกับงูตระกูลฉัพยาปุตตะทั้งหลาย และข้าฯ มีเมตตาจิตกับงูตระกูลกัณหาโคตมกะทั้งหลาย

ข้าฯ มีเมตตาจิตกับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย ข้าฯ มีเมตตาจิตกับสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย ข้าฯ มีเมตตาจิตกับสัตว์ ๔ เท้าทั้งหลาย ข้าฯ มีเมตตาจิตกับสัตว์มีเท้ามากทั้งหลาย
ขอสัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนข้า ฯ สัตว์ ๒ เท้าก็อย่าเบียดเบียนข้า ฯ สัตว์ ๔ เท้าก็อย่าเบียดเบียนข้า ฯ สัตว์มีเท้ามากก็อย่าเบียดเบียนข้า ฯ

ขอสัตว์ทั้งปวงผู้มีลมหายใจทั้งสิ้นและผู้เกิดแล้วทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จงประสบแต่ความเจริญทุกผู้เถิด อย่าได้รับโทษลามกอะไรๆเลย
พระพุทธเจ้าทรงพระคุณสุดจะประมาณ พระธรรมเจ้าทรงพระคุณสุดจะประมาณ พระสงฆเจ้าทรงพระคุณสุดจะประมาณ
สัตว์เสือกคลานทั้งปลายมีประมาณ คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู
การรักษา ข้าฯ ได้ทำแล้ว การป้องกัน ข้า ฯ ได้ทำแล้ว ขอสัตว์ทั้งหลายจงหลีกไป
ข้า ฯ นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.


ตำนาน

ภิกษุรูปหนึ่ง ถูกงูกัดตายในเมืองสาวัตถี ภิกษุทั้งหลายนำความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะภิกษุมิได้แผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลงูทั้ง ๔ หากแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้ว ก็จะไม่ถูกงูกัดตาย
ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คืออะไรบ้าง ? ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักษ์ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราบถ ๑ ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโกคมกะ ๑ ต่อแต่นี้ไป เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลงูทั้ง ๔ นี้ เพื่อคุ้มครองป้องกันตน

บทพระบาลีที่มีนามว่า ขันธปริตเป็นบทสำหรับสาธยาย แผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔


หมายเหตุ บทนี้สวดยาก คอยจะเป็นทำนอง โยนยาว ไม่เป็นสังโยค ต้องซักซ้อมกันดีจริงๆ จึงจะสวดสังโยคได้สะดวก บทนี้ ก็มีแบบสังเขป คือ ขึ้น อปฺปมาโณ พุทฺโธ ฯปฯ

คติที่ได้จากปริตบทนี้ว่า “เมตตาเป็นคุณธรรมประเสริฐยิ่ง เมื่อแผ่ไปในสัตว์ร้าย เช่น งูพิษ เป็นต้น สัตว์ร้ายเหล่านั้นก็กล้ำกรายไม่ได้”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2018, 18:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดโมรปริต

ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร นิพฺพตฺตํ โมรโยนิยํ
เยน สํวิหิตารกฺขํ มหาสตฺตํ วเน จรา

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: พวกพรานไพร แม้พยายามอยู่ช้านาน ก็ไม่อาจที่จะจับพระมหาสัตว์ผู้บำเพ็ญโพธิสมภาร เกิดในกำเนิดแห่งนกยูง จัดการรักษาตัวอย่างดีด้วย (สาธยาย) พระปริตรใด เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรอันเรียกว่า พรหมมนต์ เทอญ ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2018, 18:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โมรปริต


(เมื่อพระอาทิตย์อุทัย นกยูงโพธิสัตว์กล่าวคำมนัสการว่า)


อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: พระอาทิตย์นี้ อุทัยขึ้นมา เป็นผู้ให้ดวงตาแก่โลก เป็นเจ้าใหญ่ (ในการให้แสงสว่าง) สาดแสงสีทองส่องปฐพี เพราะฉะนั้น ข้า ฯ ขอนอบน้อมพระอาทิตย์ ผู้สาดแสงสีทองส่องปฐพีนั้น ข้า ฯ อันท่านคุ้มครองแล้ว พึงอยู่เป็นสุขตลอดเวลากลางวันวันนี้

(นกยูงโพธิสัตว์กล่าวคาถาแรกไหว้พระอาทิตย์แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ นมัสการอดีตพุทธและพุทธคุณดังต่อไปนี้)


เย พฺราหฺมณาเวทคุ สพฺพธมฺเม

ฯลฯ


ท่านผู้ไม่มีบาป (คือพระอดีตพุทธะ) เหล่าใด เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงได้รับความนอบน้อมของข้า ฯ ท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น โปรดรักษาข้า ฯ ด้วยเถิด ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่ท่านผู้วิมุตติแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นสวดปริตรนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร

(เมื่อพระอาทิตย์อัสดง นกยูงกล่าวคำนมัสการว่า)

อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส


พระอาทิตย์เป็นผู้ให้ดวงตาแก่โลกเป็นเจ้าใหญ่ สาดแสงสีทองส่องปฐพีกำลังอัสดง เพราะเหตุนั้น ข้า ฯ ขอนอบน้อมพระอาทิตย์ผู้สาดแสงสีทองส่องปฐพีนั้น ข้า ฯ อันท่านคุ้มครองแล้ว พึงอยู่เป็นสุขตลอดเวลากลางคืนวันนี้

(นกยูงกล่าวคาถาแรกไหว้พระอาทิตย์อัสดง จึงกล่าวคาถาที่ ๒ มนัสการอดีตพุทธะและพุทธคุณ เช่น เดียวกับตอนเช้า ดังต่อไปนี้)


เย พฺราหฺมณาเวทคุ สพฺพธมฺเม

ฯลฯ


ท่านผู้ไม่มีบาปเหล่าใด เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงได้รับความนอบน้อมของข้า ฯ ท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น โปรดรักษาข้า ฯ ด้วยเถิด ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่ท่านผู้วิมุตติแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของของข้า ฯ จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นสวดปริตรนี้แล้ว จึงพักผ่อนหลับนอน ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2018, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตำนานโมรปริต


ในโมรชาดก ทุกนิบาต เล่าไว้ว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูงทองงามน่าชมยิ่งนัก นกนั้นรู้จักระวังรักษาตัวดีเป็นที่สุด ที่อยู่ก็หาที่ลี้ลับและไกลตาไกลมือมนุษย์ คือ ขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูงชื่อ ทัณฑกหิรัญบรรพต
ยิ่งกว่านั้น
ยังมีพรหมมนต์สำหรับร่ายป้องกันตัวให้ปลอดภัยวันละ ๒ คาบ คือ
เมื่อพระอาทิตย์อุทัยคาบ ๑
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคาบ ๑ เป็นกิจวัตร
พิธีร่ายนั้น ต้องไปจับที่ตรงยอดสูงแห่งภูเขาลูกนั้น ตาเพ่งดูพระอาทิตย์ ซึ่งกำลังโคจรโพล่ขึ้นหรือลับลงไป พลางก็ร่ายพรหมมนต์

ตอนพระอาทิตย์อุทัยใช้มนต์บทที่หนึ่ง คือ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่ไปหาเหยื่อ

ตอนพระอาทิตย์อัสดงใช้มนต์บทที่สอง คือ อเปตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่อยู่อาศัย ทำเช่นนี้เป็นนิตย์มิได้ขาด


แต่ถึงแม้นกยูงทองจะระมัดระวังอย่างไร ก็ไม่พ้นสายตามนุษย์ได้ ด้วยว่าวันหนึ่ง พรานป่าคนหนึ่งเที่ยวด้อมไปถึงถิ่นนั้น ก็ได้เห็นนกยูงทองบนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพตนั้น ไม่ได้ทำอะไร เป็นแต่กลับมาบอกให้ลูกชายของตนทราบไว้
ต่อมาพระราชเทวีขอพระเจ้าพาราณสี พระนามว่า เขมา ทรงพระสุบินว่า ได้เห็นนกยูงทองกำลังแสดงธรรมอยู่ ครั้นถิ่นบรรทมแล้ว จึงทูลแด่พระราชสามีว่า พระนางมีพระประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง

พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์ว่า นกยูงทองมีหรือ ?

อำมาตย์ทูลว่า พวกพราหมณ์คงจะทราบ

พวกพราหมณ์รับรองว่า นกยูงสีทองมีอยู่จริง แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทูลว่า พวกพรานคงจะรู้
พระองค์จึงมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพรานป่าเข้ามาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสถามถึงเรื่องนกยูงทอง บุตรของตาพรานป่าคนนั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ทัณฑกหิรัญบรรพต
พระองค์จึงรับสั่งให้จับมาถวาย
พรานนั้น เสาะทราบถิ่นที่ยูงทองไปลงหาเหยื่อแล้วจึงไปวางบ่วงในที่นั้น พยายามดักอยู่ถึง ๗ ปี ไม่สามารถจับยูงทองได้ เพราะยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่องไม่แล่นบ้าง ในที่สุดตนเองก็ถึงแก่ความตายอยู่ในป่านั้น

ฝ่ายพระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่สมประสงค์ก็เสียพระทัยสิ้นพระชนม์ไป
พระเจ้าพาราณสีทรงพิโรธว่า พระราชเทวีของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ เพราะนกยู่ทองตัวนั้นเป็นเหตุ จึงรับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองมีใจความว่า “มีนกยูงทองตัวหนึ่ง อาศัยอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพต หากผู้ใดได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้น จะมีอายุยืน ไม่แก่ ไม่ตาย” ดังนี้ แล้วให้บรรจุใส่หีบทองเก็บไว้
เมื่อพระราชาองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว
พระราชาองค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน ได้ทราบความในแผ่นทองนั้น มีพระประสงค์ที่จะมีพระชนมายุยืน จึงรับสั่งให้พรานคนหนึ่ง ไปจับนกยูงทองตัวนั้น
ฝ่ายพรานคนนั้น แม้จะได้พยายามสักเท่าใด ก็ไม่สามารถที่จะจับนกยูงตัวนั้นได้ จนกระทั่งตนเองต้องตายอยู่ในป่าเช่นเดียวกับพรานคนก่อน และโดยทำนองเดียวกันนี้ พระราชาเปลี่ยนไปถึง ๖ พระองค์

ครั้นมาถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ แห่งพรหมทัตวงศ์ พระราชาองค์นี้ ก็มีรับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยู่ทองตัวนั้น โดยมีประสงค์เช่นเดียวกับพระราชาในรัชกาลก่อนๆ
นายพรานคนนี้ ปัญญาหลักแหลม ไปสังเกตการณ์อยู่หลายวัน จึงรู้เค้าว่า นกยูงตัวนี้ไม่ติดบ่วง เพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหากินทำพิธีร่ายมนต์ป้องกันตัวแล้วจึงไป จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาก็คิดตกลงว่าต้องจับก่อนร่ายมนต์ จึงจะจับได้
เมื่อตรองเห็นอุบายแล้ว ก็กลับลงไปชายป่า จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง นำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง หัดให้รำและร้องจนชำนาญดีแล้ว
ครั้นได้โอกาสเหมาะก็อุ้มนางนกยูงไปแต่เช้าตรู่ ก่อนเวลาที่นกยูงทองจะร่ายมนต์ จัดการวางบ่วงเรียบร้อยแล้ว ปล่อยนางนกยูงลงใกล้ๆบ่องนั้น และทำสัญญาณให้นางนกยูงรำแพน ส่งเสียงร้องอยู่ก้องป่า

คราวเมื่อความวิบัติจะมาถึง พอนกยูงทองได้ยินเสียงของนางนกยูง ก็เกิดความกระสัน ให้กระสับกระส่ายเร่าร้อนใจด้วยอำนาจกิเลส ไม่สามารถจะสาธยายมนต์ ตามที่เคยปฏิบัติมา เผลอตัวบินไปหานางยูงโดยเร็ว เลยติดบ่วงที่พรานดักไว้ พรานจับได้ นำไปถวายพระเจ้าพาราณสี

พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูทองนั้นแล้ว พอพระทัยและทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก ทรงลืมการที่จะเสวยเนื้อนกยูงนั้นเสียสิ้น

(ตรงนี้ พระอรรถกถาจารย์แต่งคำสนทนาโต้ตอบ ระหว่างพระราชากับนกยูงทองโพธิสัตว์ ไว้น่าฟังดังนี้)

นก: ข้าแต่มหาราช พระองค์รับสั่งให้จับข้าพระองค์ เพราะเหตุไร ?

ราชา: ได้ทราบว่า ผู้ใดได้กินเนื้อของเจ้า ผู้นั้น ไม่แก่ไม่ตาย เพราะเหตุนั้น ข้าปรารถนาจะได้กินเนื้อของเจ้า แล้วเป็นคนไม่แก่ไม่ตาย ข้าจึงให้จับเจ้ามา

นก: ข้าแต่มหาราช ผู้ใดได้กินเนื้อข้าพระองค์ ท่านเป็นคนไม่แก่ไม่ตายสบายไป แต่ตัวข้าพระองค์สิต้องตาย

ราชา: ถูกละ เจ้าต้องตาย

นก: เมื่อข้าพระองค์ยังตาย ก็แล้วท่านคิดเห็นกันอย่างไร จึงว่าได้กินเนื้อของข้าพระองค์แล้ว จักไม่ตาย

ราชา: เขาว่า เพราะเจ้ามีขนเป็นสีทอง หายากนัก เพราะฉะนั้น ผู้ได้กินเนื้อของเจ้าแล้วจักไม่แก่ไม่ตาย

นก: ข้าแต่มหาราช ที่ข้าพระองค์เกิดมีขนเป็นสีทองนี้ จะเป็นขึ้นเองโดยไม่เหตุหามิได้ ข้าพระองค์จะกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้แหละ ข้าพระองค์ รักษาเบญจศีเป็นนิตย์ และชวนชาวประชากรในพระราชอาณาเขตให้รักษาด้วย ข้าพระองค์ตายไปเกิดในภพดาวดึงส์อยู่จนสิ้นอายุในภพนั้น แล้วจึงมาเกิดในกำเนิดนกยูงนี้ เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอย่างหนึ่งตามาให้ผล เหตุที่ขนข้าพระองค์เป็นสีทอง ก็ด้วยอานุภาพแห่งเบญจศีลที่ได้รักษาแต่ปางบรรพ์นั่นเอง

ราชา: เจ้ากล่าวว่า เจ้าเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้ ฯลฯ คำที่เจ้ากล่าวนี้ พวกเราจะเชื่อได้อย่างไร มีอะไรเป็นสักขีพยานบ้างหรือไม่ ?

นก: มีพระเจ้าข้า

ราชา: อะไรเล่า

นก: ในเวลาที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ข้าพระองค์นั่งรถประดับด้วยแก้ว ๗ ประการแล้วเหาะไปได้ รถคันนั้น ข้าพระองค์ ให้ฝังจมไว้ใต้พื้นสระมงคลโบกขรณี ขอพระองค์ จงรับสั่งให้กู้รถคันนั้นขึ้นมาเถิด รถนั้น จักเป็นสักขีของข้าพระองค์

พระราชารับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระ แล้วให้จัดการกู้รถขึ้นมาได้ จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้โอกาสก็แสดงธรรมแด่พระราชา ขอให้พระราชาทรงตั้งอยู่ในเบญจศีล

พระราชาทรงเลื่อมใสมาก ทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ (คือยกราชสมบัติให้ครอบครอง) พระโพธิสัตว์รับแล้วก็ถวายคืนแด่พระราชา อยู่อีก ๒-๓ วัน ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วก็บินกลับไปสู่ภูเขาทัณฑกหิรัญบรรพตอันเป็นนิวาสสถานนั้นแล ฯ


หมายเหตุ บทโมรปริตนี้ ตามที่เคยสังเกตที่พระท่านสวดตามงานมงคล ถ้าเป็นเวลากลางวัน เช่น สวดมนต์เช้า หรือ สวดมนต์ฉันเพล สวดเฉพาะบทแรก คือ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ โมโร จรติ เอสนา
ถ้าเป็นสวดมนต์เย็น สวดเฉพาะบทหลัง คือ อเปตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ โมโร วาสมกปฺปยีติ คงจะดำเนินตามเค้าเดิมที่ปรากฏในตำนานนั่นเอง

มติของท่านแต่ก่อน เคยสอนกุลบุตรให้สวดตามแบบที่ปรากฏในตำนาน คือ ตื่นนอนสวด อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ
จะนอนสวด อเปตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ ว่าเป็นการขออำนาจพระปริตรคุ้มครองตนให้แคล้วคลาดปราศจากภัยอยู่เป็นสุข

ข้อที่เป็นคติในพระปริตบทนี้ ก็คือ “การเอาชีวิตหนึ่ง มาต่ออีกชีวิตหนึ่งนั้น ไม่ควรกระทำ”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2018, 11:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดองคุลิมาลปริต

ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส นิสินฺนฏฺฐานโธวนํ
อุทกมฺปิ วินาเสติ สพฺพเมว ปริสฺสยํ

ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: แม้แต่น้ำล้างตั่งรองนั่งของพระองคุลิมาลเถระ ผู้กล่าวพระปริตบทใด ยังบันดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้ อนึ่ง พระปริตบทใด ที่พระโลกนาถเจ้าทรงภาษิต แก่พระองคุลิมาลเถระ ย่อมยังการคลอดบุตรให้สำเร็จ โดยสวัสดีทันทีทันใด เราทั้งหลาย จงสวดพระปริตบทนั้น ซึ่งมีเดชมากตั้งอยู่ตลอดกัลป เทอญ ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 96 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 117 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร