วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 00:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 96 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2018, 11:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


องคุลิมาลปริต

ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: ดูก่อนน้อยหญิง จำเดิมแต่อาตมาเกิดในชาติอริยะแล้ว มิได้รู้สึกว่าจงใจทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยความจริงนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ตัวเจ้า ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเจ้าเถิด ฯ
พระเถระฟังพระดำรัสนั้นแล้ว มีความข้องใจจึงกราบทูลว่า “จะมิเป็นมุสาวาทหรือ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ตั้งแต่เกิดมานี้ ฆ่าสัตว์มากมายนัก”


ตำนาน


ปริตนี้คัดมาจากองคุลิมาลสูตร ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาเฉพาะความตอนนี้ว่า จำเดิมแต่พระองคุลิมาลบวชแล้ว ท่านลำบากด้วยการบิณฑบาต เพราะประชาชนยังหวาดกลัวท่านอยู่มาก พอทราบว่าท่านมา ต่างคนต่างหนี บางพวกขึ้นเรือนปิดประตู่ บางพวกหนีออกหลังบ้านไป พวกที่หนีไม่ได้ เพราะความชราหรือทุพพลภาพ ก็นั่งหันหลังให้
พระเถระจึงไม่ได้อาหาร เมื่อไม่ได้ภายนอกพระนคร จึงเข้าไปภายในพระนคร ด้วยคิดว่าในเมืองมีประชาชนหนาแน่น ทั้งสับสนปนคละ คงมีคนที่ไม่รู้จักอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้น พอข่าวแพร่ไปว่าพระองคุลิมาลมาแล้ว ประชาชนก็แตกตื่นกันอีก
ท่านได้พบหญิงมีครรภ์แก่คนหนึ่ง เจ็บครรภ์แต่คลอดไม่ได้ เนื่องด้วยครรภ์หลง คือ (ครรภ์ขัด) เจ็บปวดครวญครางอยู่ ชะรอยจะเป็นทำนองว่า หญิงผู้นี้มีครรภ์แก่จะคลอด ออมาใส่บาตรหรือออมาด้วยธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตกใจกลัวพระเถระ เพราะฤทธิ์แห่งความตกใจ เป็นเหตุให้เกิดกัมมัชวาตขึ้น แต่ทารกยังขัดคลอดไม่ได้
พระเถระเห็นแล้ว ให้รู้สึกสงสารเป็นกำลัง ใคร่จะช่วยให้พ้นจากทุกข์อันนั้น แต่มิรู้ที่จะช่วยอย่างไร ครั้นท่านกลับมาเวฬุวนาราม ได้เล่าเรื่องนี้ถวายพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งกราบทูลความในใจของท่านด้วย

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงกลับไปที่หญิงคนนั้น แล้วจงทำสัจจกิริยา กล่าวกะนางอย่างนี้ว่า “ยโตหํ ภคินิ ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คภฺภสฺส” แปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง จำเดิมแต่อาตมาเกิดแล้ว มิได้รู้สึกว่าจงใจทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยความจริงนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้า ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเจ้าเถิด”
พระเถระฟังพระดำรัสแล้ว มีความข้องใจจึงกราบทูลว่า “จะมิเป็นมุสาวาทหรือ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ตั้งแต่เกิดมานี้ ฆ่าสัตว์มากมายนัก” จึงรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงกล่าวเสียใหม่ว่า ... อริยาย ชาติยา ชาโต ...” แปลว่า “....เกิดแล้วในชาติอริยะ....(คือหมายความว่าตั้งแต่บวชแล้วมา) ...”

พระเถระหายข้องใจ รับพระดำรัสแล้ว จึงกลับไปที่หญิงผู้นั้นเพื่อทำสัจจกิริยา ชาวบ้านทราบความประสงค์ของท่าน ได้จัดการวงม่านให้หญิงผู้นั้นอยู่ในม่าน และถวายตั้งให้พระเถระนั่งอยู่นอกม่าน กับบอกให้หญิงผู้นั้นรู้ตัวว่า บัดนี้ พระเถระมาเพื่อทำความสวัสดีให้
ครั้นแล้ว พระเถระก็ทำสัจจกิริยา ตามนัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนนั้น พอท่านกล่าวจบ ทารกก็คลอด การคลอดนั้นง่าย คล้ายกับน้ำที่ไหลออกจากธัมกรก (กระบอกกรองน้ำ) มีความสบายทั้งมารดาและบุตร

ชาวบ้านเห็นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ จึงสงวนตั่งที่ถวายให้พระเถระนั่งไว้ ไม่เอาไปใช้ในกิจการอื่นๆ ถ้าหญิงคนไหนคลอดบุตรยาก ก็พามาที่ตั่งตัวนั้น คือ ใช้ตั่งตัวนั้นเป็นที่ทำคลอด การคลอดก็สะดวกดี และมีความผาสุกทั้งมารดาและบุตร
ส่วนผู้ที่มาไม่ได้ ก็ใช้น้ำล้างตั่งตัวนั้น แล้วนำน้ำนั่นไปรดศีรษะ การคลอดก็เรียบร้อย มีความสวัสดีทั้งมารดาและบุตร
เมื่อตั่งตัวนั้น กลายเป็นตั่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชาวบ้านก็ขยายเขตการช่วยเหลือออกไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย
ถ้าสัตว์ตัวไหนออกลูกยาก นำมาที่ตั่งตัวนั้นเป็นตกได้โดยสะดวก เพราะเหตุที่เป็นผู้เคยแต่ทำลายชีวิตเขา มากลายเป็นผู้ช่วยชุบชีวิตคนและสัตว์ไปเช่นนี้ เป็นผลให้ประชาชนหายกลัวในพระเถระ
ท่านก็บิณฑบาตได้สะดวก ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน เมื่อท่านได้อาหารพอเพียง จิตก็ระงับ ทำให้บำเพ็ญสมณธรรมสะดวกขึ้น ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

หมายเหตุ: พระปริตบทนี้ มีเนื้อความสั้น เพราะเป็นบทสัจจกิริยา บทสวดจึงสั้นไปด้วย ดังนั้น ในสิบสองตำนาน พระอาจารย์แต่เก่าก่อนจึงแนะให้สวดซ้ำให้ครบ ๓ คาบ เพื่อให้มีน้ำหนัก เห็นว่าเป็นการทำสัจจกิริยาหนักแน่นจริงจัง คือสวดดังนี้

ยโตหํ ภคินิ ฯเปฯ โสตฺถิ คพฺภสฺส จนครง ๓ ครั้ง


ข้อที่เป็นคติในพระปริตบทนี้ ก็คือ “ถึงร้ายกาจขนาดหนัก แต่ยังรู้จักดี ก็อาจกลับตัวเป็นคนดีได้”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2018, 11:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดโพชฌงคปริต

สํสาเร สํสรนฺตานํ สพฺพทุกฺขวินาสเน
สตฺต ธมฺเม จ โพชฺฌงคฺเค มารเสนปฺปมทฺทิโน

ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: สัตว์เหล่านี้แม้ใด รู้แจ้งซึ่งธรรม ๗ ประการอันเป็นองค์เครื่องตรัสรู้ ยังทุกข์ทั้งปวงแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏให้พินาศ ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนามาร เป็นผู้สูงสุดหลุดพ้นจากไตรภพ สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าบรรลุแล้วซึ่งพระนิพพาน อันไม่มีชาติชราพยาธิ เป็นอมตะไม่มีภัย เราทั้งหลายจงสวดมนต์นี้ อันชื่อว่า โพชฌงคปริต เป็นโอสถขนานแท้ ประมวลคุณไว้เป็นอเนก ประกอบด้วยคุณดังที่กล่าวแล้วอย่างนี้ เป็นต้น เทอญ ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2018, 11:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โพชฌงคปริต

โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา

วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิ - โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร

ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: โพชฌงฺค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖.สมาธิ ๗. อุเบกขา เหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ตรัสไว้โดยชอบ
บุคคลทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง เพื่อความตรัสรู้และเพื่อนิพพาน ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลานะ และพระกัสสปเป็นไข้ ได้ความลำบาก ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองชื่นชมพระธรรมเทศนานั้น หายจากโรคในบัดดล ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง ทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทเถระ กล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวาย โดยเคารพ ทรงบันเทิงพระทัย หายจากประชวรนั้น โดยแท้จริง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ก็อาพาธเหล่านั้น ของท่านทั้ง ๓ หายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลสอันมรรคกำจัดแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ฉะนั้น ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


หมายเหตุ: พระปริตบทนี้ มีข้อแตกต่างในทางปฏิบัติที่ใช้สวดกันอยู่บ้าง ท่านผู้อ่านพึงกำหนดสังเกตไว้ เป็นทางศึกษาดังนี้

ในการสวดมนต์เจ็ดตำนาน ท่านยกเอาไปสวดต่อกับองคุลิมาลปริตรวมเป็นบทเดียว ที่ทำเช่นนี้ เพราะองคุลิมาลปริตสั้นมาก จะสวดสั้นแค่นั้น ฟังดูไม่มีน้ำหนัก จึงแก้ด้วยยกเอาโพชฌงคปริต ซึ่งมีสรรพคุณละม้ายคล้ายกัน คือ แก้เจ็บไข้ด้วยกัน มาสวดต่อให้ยาวขึ้น
ส่วนสิบสองตำนานนี้ไม่จัดอย่างนั้น เพราะต่างก็มีบทขัดด้วยกันเวลาสวด ท่านจึงไม่นิยมนำมารวมกันอย่างเจ็ดตำนาน คงสวดไปตามลำดับบท

โพชฌงคปริตนี้ไม่มีตำนาน เพราะความในปริต แสดงตำนานอยู่ในตัวชัดพอแล้ว ขอกล่าวเพิ่มเติมแต่เพียงว่า ความที่กล่าวในพระปริตนั้น ท่านสังเขปมาจากโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ในภาณวารที่สอง แต่งเป็นคำสัจจกิริยา นัยเดียวกับองคุลิมาลปริต

ข้อที่เป็นคติในพระปริตบทนี้ ก็คือ “ยามเจ็บ ยามไข้ อย่าไร้สติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2018, 11:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โพชฌงค์ ๗ นั้น มีความหมายรายข้อ ดังนี้

๑. สติ ความระลึกได้ หมายถึง ความสามารถทวนระลึกนึกถึง หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้องหรือต้องใช้ต้องทำในเวลานั้น

ในโพชฌงค์นี้ สติมีความหมายคลุมตั้งแต่การมีสติกำกับตัว ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังมองดูพิจารณาเฉพาะหน้า * (ได้แก่ สติในการเจริญสติปัฏฐานทั่วๆไป ดู ม.อุ.14/290/198 ฯลฯ) จนถึงการหวนระลึกรวบรวมเอาธรรมที่ได้สดับเล่าเรียนแล้ว หรือสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้องต้องใช้ต้องทำ มานำเสนอต่อปัญญาที่ตรวจตรองพิจารณา * (สํ.ม.19/374/99)


๒. ธรรมวิจัย ความเฟ้นธรรม หมายถึง การใช้ปัญญาวิจัยสิ่งที่สติกำหนดจับไว้ หรือธรรมที่สติระลึกรวมมานำเสนอนั้น ตามสภาวะ เช่น ไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย จับสาระของสิ่งที่พิจารณานั้นได้ ตรวจตราเลือกเฟ้นเอาธรรมหรือสิ่งที่เกื้อกุลแก่ชีวิตจิตใจ หรือสิ่งที่ใช้ได้เหมาะดีที่สุดในกรณีนั้นๆ หรือมองเห็นอาการที่สิ่งที่พิจารณานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เข้าใจตามสภาวะที่เป็นไตรลักษณ์ ตลอดจนปัญญาที่มองเห็นอริยสัจ * (ม.อ. 3/552 และ สํ.อ.3/385 ให้ความหมายอย่างหนึ่งซึ่งกว้างมาก ว่าธรรมวิจัย ได้แก่ ญาณ คือความหยั่งรู้หยั่งเห็นที่ประกอบร่วมอยู่กับสตินั้น)


๓. วิริยะ ความเพียร หมายถึง ความแกล้วกล้า เข้มแข็ง กระตือรือร้นในธรรมหรือสิ่งที่ปัญญาเห็นได้ อาจหาญในความดี มีกำลังใจ สู้กิจ บากบั่น รุดไปข้างหน้า ยกจิตไว้ได้ ไม่ให้หดหู่ถดถอยหรือท้อแท้

๔. ปีติ ความอิ่มใจ หมายถึง ความเอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ปรีดิ์เปรม ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง แช่มชื่น ซาบซ่าน ฟูใจ

๕. ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ หมายถึง ความผ่อนคลายกายใจ สงบระงับ เรียบรื่น ไม่เครียด ไม่กระสับกระส่าย เบาสบาย

๖. สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น หมายถึง ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด ทรงตัวสม่ำเสมอ เดินเรียบ อยู่กับกิจ ไม่วอกแวก ไม่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน

๗. อุเบกขา ความเฉยดูอยู่ หมายถึงมีใจเป็นกลาง วางทีเฉย ใจเรียบสงบ นิ่งดูไป ในเมื่อจิตแน่วอยู่กับงานแล้ว ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง หรือดำเนินไปด้วยดีตามแนวทางที่จัดวางไว้หรือที่มันควรจะเป็น หรือยังไม่ควรขวนขวาย ไม่วุ่นวาย ไม่สอดส่าย ไม่แทรกแซง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2018, 11:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทขัดอภยปริต

ปุญฺญลาภํ มหาเตชํ วณฺณกิตฺติมหายสํ
สพฺพสตฺตหิตํ ชาตํ ตํ สุณนฺตุ อเสสโต
อตฺตปฺปรหิตํ ชาตํ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห ฯ

คำแปล: สาธุชนทั้งหลายจงฟังพระปริต อันจะให้ได้บุญ มีเดชมาก มีคุณและเกียรติยศใหญ่ เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงสิ้นเชิงนั้น เราทั้งหลายจงสวดพระปริตนั้น อันเป็นประโยชน์แก่และผู้อื่น เทอญ ฯ



อภยปริต

ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ อวมงฺคลญฺจ
โย จามนาโป สกุณสฺส สทฺโท

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: ลางร้ายอันใด อัปมงคลอันใด เสียงนกที่น่าตกใจอันใด เคราะห์ร้าย และฝันร้าย ที่ไม่น่าปรารถนาอันใด ขอความร้ายทั้งปวงนั้น จงถึงความเสื่อมสูญไป ด้วยพุทธานุภาพ

ลางร้ายอันใด อัปมงคลอันใด เสียงนกที่น่าตกใจอันใด เคราะห์ร้าย และฝันร้าย ที่ไม่น่าปรารถนาอันใด ขอความร้ายทั้งปวงนั้น จงถึงความเสื่อมสูญไป ด้วยธรรมานุภาพ

ลางร้ายอันใด อัปมงคลอันใด เสียงนกที่น่าตกใจอันใด เคราะห์ร้าย และฝันร้าย ที่ไม่น่าปรารถนาอันใด ขอความร้ายทั้งปวงนั้น จงถึงความเสื่อมสูญไป ด้วยสังฆานุภาพ


หมายเหตุ คาถานี้มีชื่อเฉพาะว่าอภยปริต ไม่ปรากฏตำนาน ใจความก็คือ ขออานุภาพของพระรัตนตรัยช่วยบำบัดปัดเป่าความร้ายทั้งปวงที่นอกเหนือวิสัยของตนจะบำบัดได้ และเชื่อมั่นว่าอานุภาพของพระรัตนตรัย สามารถจะบำบัดเรื่องเหล่านั้นได้ ประพันธ์ด้วยความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระรัตนตรัย เป็นเรื่องที่ปราศจากโทษ ทั้งอำนวยคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ได้สวดเสมอๆ
บางอาจารย์บอกว่า ถ้าเกิดฝันร้ายหรือเห็นนิมิตร้าย ก็ได้สวดคาถานี้ จะทำให้เรื่องร้ายนั้นคลายลง หนักจะเป็นเบา และบางท่านก็ว่า ถ้าได้สวดก่อนนอนทุกๆคืน จะไม่ปรากฏลางร้าย ฝันร้ายเลย

ในการสวดมนต์ตามงานต่างๆ บางทีท่านก็ตัดออก เพราะเป็นแต่บทประกอบเท่านั้น มิใช่เนื้อหา สวดก็ได้ ไม่สวดก็ได้ แต่ถ้างานนั้นเป็นพิธีเกี่ยวกับรับมิ่งรับขวัญ ก็เว้นไม่ได้ ต้องสวดเสมอไป

ข้อที่เป็นคติในพระปริตบทนี้ก็คือ “ขวัญดี ไม่มีร้าย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2018, 11:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทวตาอุยโยชนคาถา

ทุกฺขปฺปตฺตา จ นิทฺทุกฺขา ภยปฺปตฺตา จ นิพฺภยา
โสกปฺปตฺตา จ นิสฺโสกา โหนฺตุ สพฺเพปิ ปาณิโน

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด : ขอสัตว์ทั้งปวงที่ประสบทุกข์ จงหมดทุกข์ ที่ประสบภัย จงปราศจากภัย ที่ประสบความโสก จงสร่างโศก เทอญ

ขอเทวดาทั้งปวงจงอนุโมทนาบุญสมบัติที่ข้าพเจ้าทั้งหลายสร้างสมแล้วเพียงเท่านี้ เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวงเถิด

ขอเทวดาทั้งหลายจงให้ทานรักษาศีลบำเพ็ญภาวนา ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ เทวดาที่มาชุมนุม ณ พิธีมณฑลนี้ ขอเชิญกลับเถิด

ข้าพเจ้าผูกการคุ้มเกรงรักษาไว้ทุกประการ ด้วยเดชแห่งพระกำลังของพระพุทธเจ้าทั้งปวงผู้ทรงพระกำลังด้วยเดชแห่งกำลัง ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และด้วยเดชแห่งกำลังของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย


หมายเหตุ เทวตาอุยโยชนคาถา แปลว่า คาถาส่งเทวดา หมายความว่า เชิญมาตั้งแต่เริ่มเจริญพระปริต เมื่อใกล้จะจบก็เชิญกลับ ความในคาถานี้ แผ่เมตตากรุณาในตอนต้น แล้วเชิญเทวดาอนุโมทนาบุญในตอนต่อมา ลงท้ายชวนเทวดาให้ทำบุญบ้าง แล้วเชิญให้กลับ ต่อจากนั้น ขอกำลังพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายคุ้มครอง

การสวดคาถาส่งเทวดานี้ ต้องสวดทุกครั้งที่การชุมนุมเทวดา และสวดเป็น ๒ ระยะ คือ
ขึ้น ทุกฺขปฺปตฺตา ลง คจฺฉนฺตุ เทวตาคตา ระยะ ๑
ขึ้น สพฺเพ พุทฺธา พลปฺปตฺตา ลง รกฺขํ พนฺธามิ สพฺพโส ระยะ ๑
ถ้าเป็นการสวดมนต์ฉันเช้า หรือฉันเพล เมื่อจบคาถาส่งเทวดานี้แล้ว ก็สวดถวายพรพระ คือ พาหุง ต่อไปเลย ถ้าเป็นสวดมนต์เย็น หรือสวดไม่มีฉัน ก็สวดบทอื่นๆ ต่อไป

ข้อที่เป็นคติในคาถาบทนี้ ก็คือ “พึงตั้งความปรารถนาดีแผ่กว้างออกไปเนืองนิตย์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2018, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชัยปริต

มหาการุณิโก นาโถ หิตาย สพฺพปาณินํ
ปูเรตฺวา ปารมี สพฺพา ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมํ

ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: พระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ทรงมีพระกรุณาใหญ่ ทรงบำเพ็ญบารมีทุกประการเพื่อเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านเถิด ขอท่านจงเป็นผู้มีชัยชำนะในพิธีชัยมงคล เหมือนดังองค์พระทศพลขวัญใจแห่งชาวศากยะ ทรงมีชัยชำนะมาร ณ มูลสถานโพธิพฤกษ์ ทรงถึงความเป็นผู้เลิศ (คือได้ตรัสรู้) แล้ว ทรงบันเทิงอยู่บนอปราชิตบัลลังก์ ณ ผืนแผ่นดินอันเป็นจอมดิน ซึ่งเป็นที่อภิเษกแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

กายกรรม วาจากรรม มโนกรรม ความปรารถนาของท่าน เป็นประทักษิณ (คือเป็นสุจริต) (ในวันเวลาใด วันเวลานั้น) เป็นฤกษ์ดี มงคลดี แจ้งดี รุ่งดี ขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาอย่างดีในพรหมจารีทั้งหลาย คนทำกรรมอันเป็นประทักษิณาแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นประทักษิณ (คือเจริญดี)



หมายเหตุ ชัยปริตรนี้ ในสิบสองตำนานจัดเป็นปริตหนึ่ง มีบทขัดด้วย แต่ในเจ็ดตำนานใช้เป็นบทสวดต่อท้ายเท่านั้น
คาถา มหาการุณิโก นาโถ ฯปฯ อคฺคปฺโต ปโมทติ นี้ เป็นบทที่ท่านเรียงขึ้นใหม่ เพื่ออวยชัยให้พรแก่ท่านเจ้าภาพ และผู้ที่เข้าร่วมในงานอันเป็นมงคลพิธี เข้าใจว่าแต่งในยุคเดียวกับบทถวายพรพระ (คือพาหุํ) ทั้งนี้ สังเกตได้จากการที่เมื่อสวดบทถวายพรพระจบแล้ว จะสวดบทนี้ต่อทุกครั้ง จะเป็นบทสวดควบกันกับบทถวายพระพระมาแต่เดิม ภายหลังตัดตอนนำมาสวดประกอบท้ายเจ็ดตำนาน

มีข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือคำว่า สีเส ปฐิโปกฺขเร อภิเสเก สพฺพพุทฺธานํ ซึ่งแปลไว้ว่า “ณ ผืนแผ่นดินอันเป็นจอมดิน ซึ่งเป็นที่อภิเษกแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์” ความหมายของคำนี้กล่าวตามมติพระโบราณาจารย์ว่า “แผ่นดินตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นแผ่นดินที่เกิดก่อนส่วนอื่นๆในกัลป” คือว่า เมื่อโลกนี้สลายไปแล้วเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่ แผ่นดินตรงที่ตรัสรู้นั้นเกิดก่อน มีหลักฐานเป็นใบบัว นอกนั้นยังเป็นน้ำทั้งนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินขึ้นแล้ว ก็มีต้นไม้เกิดขึ้น คือ บัวหลวง เรียกเป็นศัพท์บาลีว่า ปทุม (ปทุมะ) แปลตรงตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ต้นแรก” บัวหลวงกอนี้มีดอกบอกจำนนวนพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จอุบัติในกัลปนั้นๆ ว่ามีกี่องค์ เช่นในกัลปนี้มี ๕ ดอก ก็จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ องค์ มากกว่ากัลปไหนหมด จึงเรียกว่า ภัทรกัลป แปลว่า กัลปเจริญ

ชัยปริตนี้ ตอนท้ายตั้งแต่ สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯปฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ เป็นพระพุทธวจนะ นำเข้ามาก่อไว้ เป็นการอ้างว่าและยืนยันว่าฤกษ์งามยามดีมีแก่บุคคลได้จริงๆ โดยที่ประกอบกรรมดีเมื่อใด ก็เป็นฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น

ขึ้น ชยนฺโต โพธิยา มูเล ลง ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ เพียงนี้ เรียกว่า ชัยมงคลคาถา ใช้สวดอวยชัยในพิธีต่างๆ ทำนองเดียวกันกับการบรรเลงเพลงมหาชัย

ข้อที่เป็นคติในพระปริตนี้ ก็คือ “ความประพฤติดี เป็นฤกษ์งามยามดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2018, 18:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สักกัตวา

สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ
หิตํ เทวมนุสฺสานํ พุทฺธเตเชน โสตฺถินา

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: เพราะกระทำความเคารพพระพุทธรัตนะอันเป็นโอสถประเสริฐสุด เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ขออุปัทวะทั้งปวงจงหายไป ขอทุกข์ทั้งหลายของท่านจงสงบไปโดยสวัสดี ด้วยเดชแห่งพระพุทธเจ้า เทอญ

เพราะกระทำความเคารพพระธรรมรัตนะอันเป็นโอสถประเสริฐสุด ระงับความเร่าร้อนได้แล้ว ขออุปัทวะทั้งปวงจงหายไป ขอภัยทั้งหลายของท่านจงสงบไปโดยสวัสดี ด้วยเดชแห่งพระธรรม เทอญ

เพราะกระทำความเคารพพระสังฆรัตนะอันเป็นโอสถประเสริฐสุด ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับแล้ว ขออุปัทวะทั้งปวงจงหายไป ขอโรคทั้งหลายของท่านจงสงบไปโดยสวัสดี ด้วยเดชแห่งพระสงฆ์ เทอญ

ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน เทอญ

ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน เทอญ

ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน เทอญ

รัตนะหลายหลากมากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นๆ ที่จะเสมอพระพุทธรัตนะไม่มีเลย เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน

รัตนะหลายหลากมากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นๆ ที่จะเสมอพระธรรมรัตนะไม่มีเลย เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน

รัตนะหลายหลากมากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นๆ ที่จะเสมอพระสังฆรัตนะไม่มีเลย เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2018, 18:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หมายเหตุ คาถาเหล่านี้ สวดต่อกันเรื่อยมา พระรูปที่เป็นหัวหน้าขึ้น สกฺกตฺวา แล้วก็สวดติดต่อกันไป จนถึง รตนํ สงฺฆสมํ นตฺถิ ตสฺมา โสตฺถี ภวนฺตุ เต จึงหยุดลง

คาถาเหล่านี้ เป็นสัจจกิริยา คือ การกระทำสัตย์ของพระที่เจริญพระพุทธมนต์ เพื่ออำนวยความสวัสดีแก่เจ้าภาพและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล

มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ในบท สักกัตวา เป็นบางประการ คือ คาถาทั้ง ๓ คาถานั้น มีความอย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่เฉพาะ พุทฺธเตเชน ธมฺมเตเชน สงฺฆเตเชน และทุกขา ภยา โรคา เท่านั้น เป็นทำนองว่าท่านผู้แต่งต้องการจะแยกพระเดชของพระรัตนตรัย ออกบำบัดแต่ละอย่าง คือ “พระพุทธเดชกำจัดทุกข์ พระธรรมเดชกำจัดภัย พระสังฆเดชกำจัดโรค” ความข้อนี้ เกี่ยวโยงไปถึงคำอาราธนาพระปริตที่ท่านเจ้าภาพหรือผู้แทนอาราธนาไว้แต่ต้นว่า

“วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ”

แปลรวมกันว่า “ขอพระคุณท่านทั้งหลาย จงเจริญพระปริตอันเป็นมงคล เพื่อป้องกันวิบัติ เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง เพื่อความเสื่อมหายไปแห่ง ทุกข์ ภัย โรค ทั้งปวง เทอญ”

คำอาราธนานี้ มีต่างกันอยู่ ๓ คำ คือ ทุกข์ ภัย โรค เช่นเดียวกัน เมื่อคำขอแสดงความประสงค์เช่นนั้น ท่านจึงแต่งคาถาสนองให้สมประสงค์หรืออย่างไร เป็นข้อที่น่าคิดอยู่
การกล่าวถึงเรื่องนี้ จำต้องพึ่งมติของเกจิอาจารย์ ที่ท่านอรรถาธิบายในเรื่องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณไว้ โดยนัยเป็นอันมากดังต่อไปนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2018, 18:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มติของเกจิอาจารย์ถือว่า พระรัตนตรัยเป็นมงคลในโลก ท่านได้แต่งไว้เป็นคาถาว่า

พุทฺ ธ สํ มงฺคลํ โลเก ทุกฺขนาสกรํ วรํ
พุทฺ ธ สํ สรณํ คจฺฉ สุขกาโมสิ เจ ตุวํ ฯ

พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นมงคลในโลก กำจัดทุกข์ได้อย่างประเสริฐ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าเป็นที่พึ่งเถิด ถ้าท่านต้องการความสุข ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2018, 18:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้นต่อมาก็เกิดเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่ง นิยมในทางประสิทธิภาพของพระรัตนตรัย อาศัยมติของเกจิอาจารย์ในยุคก่อน สร้างขึ้นเป็นบทมนต์ ประกอบด้วยพิธีการ เพื่อขอพระเดชพระคุณป้องกันตน เรียกมนต์บทนี้ว่า “มงคล ๓ สาย” มีบทบริกรรม คือ

พุทฺโธ มงฺคลํ โลเก พระพุทธเจ้าเป็นมงคลในโลก
ธมฺโม มงฺคลํ โลเก พระธรรมเจ้าเป็นมงคลในโลก
สงฺโม มงฺคลํ โลเก พระสงฆเจ้าเป็นมงคลในโลก


มีพิธีการในการที่จะคาดมงคล ๓ สายนี้ คือ

พระพุทธมงคลคาดที่ศีรษะ

พระธรรมมงคลคาดที่อก

พระสังฆมงคลคาดที่เอว

ตามมติของเกจิอาจารย์ ส่องความที่ควรกำหนดไว้ข้อหนึ่ง คือ

พระพุทธเจ้าทรงพระเดชปราบทุกข์ เมื่ออัญเชิญพระพุทธมงคลไว้ที่ศีรษะ ก็ประกาศว่า ตำแหน่งของทุกข์อยู่ที่นั่น คือ ทุกข์อยู่หัว

พระธรรมเจ้าทรงพระเดชปราบภัย เมื่ออัญเชิญพระธรรมมงคลไว้ที่อก ก็คือ อัญเชิญมาประทับใจ ประกาศว่า ตำแหน่งของภัยอยู่ที่นั่น คือ กลัวอยู่ที่ใจ

พระสงฆเจ้าทรงพระเดชปราบโรค เมื่ออัญเชิญพระสงฆมงคลมาคาดที่เอว ก็คือ อัญเชิญมาไว้ที่ท้อง ประกาศว่า ตำแหน่งของโรคอยู่ที่นั่น คือ ไข้อยู่ที่ท้อง

ทุกข์อยู่หัว หมายความว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆอยู่ตรงหัว เมื่อพิจารณาดูส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนไหนจะรับทุกข์มากที่สุด ตรวจดูแล้ว ก็ไม่เห็นส่วนไหนเกินกว่าหัวไปได้ อวัยวะที่เรียกเป็นสามัญว่า หัว นั่นแหละเป็นที่รับทุกข์มากที่สุด ทั้งนี้ เพราะสื่อของทุกข์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ล้วนแต่รวมกันอยู่ตรงหัวทั้งนั้น ที่คนเราจะมีทุกข์มีร้อน ก็เพราะตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น และในยามที่เกิดความทุกข์ มักจะทำให้เกิดอาการปวดหัว หนักหัว ความทุกข์เหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงปราบได้แล้ว และทรงสอนมหาชนให้ดำเนินตามพระองค์ จนกระทั่งพบโพธิ คือ ปัญญาอันรู้แจ่มแจ้งในสภาวธรรม ทุกข์ต่างๆ ก็หมดไป

กลัวอยู่ใจ หมายความว่า ความกลัวนั้นเป็นความสะดุ้งของจิตใจ จิตใจเกิดความหวาดเสียว แม้ในทางภาษาก็ระบุชัดอยู่ว่า กลัวเกิดที่ใจ ทำให้ใจมีอาการต่างๆ เช่น ในยามที่เกิดความกลัว จิตใจสะดุ้งสั่นระรัว บางครั้งถึงกับรู้สึกว่าใจไม่ได้อยู่กับตัวชั่วขณะหนึ่งก็มี อย่างที่พูดกันว่า “ตกใจ ใจสั่น ใจหายหมด” ที่กลัวก็เพราะยังไม่รู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้งแล้ว ก็หายกลัว
พระธรรมปราบอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง ทำให้วิชชา ความรู้แจ้งบังเกิดขึ้น ก็เท่ากับปราบภัยให้หมดไปนั่นเอง

ไข้อยู่ท้อง หมายความว่า โรค ความเจ็บ ความไข้ บรรดาที่บังเกิดจากเหตุภายในสำคัญอยู่ที่ท้อง พิจาณาดูตามพฤติการณ์ที่เป็นไปอยู่ ก็เห็นความจริงได้ เพราะคนเราถ้าท้องเสียแล้ว แม้อวัยวะส่วนอื่นๆจะยังดีอยู่ ก็พลอยเสีย คือ ไม่สำเร็จประโยชน์ไปด้วย
ตรงกันข้าม ถ้าส่วนอื่นๆเสีย แต่ท้องยังดี ยังสำเร็จประโยชน์ได้ ตามหน้าที่ของอวัยวะที่ยังไม่เสียนั้นๆ และเมื่อกล่าวถึงโรคที่สำคัญยิ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ชิคจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” ก็เป็นเรื่องท้องอีก
พระสังฆเดชปราบโรคสำคัญนี้ คือการบริหารท้องโดยประมาณที่เรียกว่า “โภชเน มตฺตญฺญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ”
คุณสมบัติข้อนี้เป็นหลักสำคัญในการประกันโรคท้อง ท่านจึงได้นำพระเดชของพระสงฆ์มาปราบโรค ดังนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2018, 18:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่นำมากล่าวนี้ เก็บความจากมติของเกจิอาจารย์ เป็นความจริงแก่ผู้ปฏิบัติเพียงไรหรือไม่ อยู่ที่ทดลองปฏิบัติด้วยตน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ กำจัดภัย และกำจัดโรคนั้น รวมอยู่ในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นแลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2018, 05:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มงคลจักรวาลใหญ่

สิริธิติมติเตโชชยสิทฺธิมหิทฺธิมหาคุณาปริมิตปุญฺญาธิการสฺส สพฺพนฺตรายนิวารณสมตฺถสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯลฯ

คำแปลทั้งหมด: ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระมงคลลักษณะ ๑๐๘ ประการ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัศมี ๖ สี ด้วยอานุภาพแห่งพระเกตุมาลา ด้วยอานุภาพแห่งพระอุปบารมี ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งพระศีล พระสมาธิ และพระปัญญาของพระผู้ทรงพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีความสำเร็จแห่งเดโชชัย อันเกิดแต่ความดีความรู้ความเห็นชอบ มีพระฤทธิมาก มีพระคุณใหญ่ มีพระบุญญาธิการอันประมาณมิได้ ผ้สามารถป้องกั้นอันตรายทั้งปวงได้

ด้วยอานุภาพแห่งพระพระพุทธเจ้า
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมเจ้า
ด้วยอานุภาพแห่งพระสังฆเจ้า
ด้วยอานุภาพแห่งพระเดช
ด้วยอานุภาพแห่งพระฤทธิ์
ด้วยอานุภาพแห่งพระกำลัง
ด้วยอานุภาพแห่งพระไญยธรรม
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐
ด้วยอานุภาพแห่งพระโลกุตรธรรม ๙
ด้วยอานุภาพแห่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘
ด้วยอานุภาพแห่งพระสมาบัติ ๘
ด้วยอานุภาพแห่งพระอภิญญา ๖
ด้วยอานุภาพแห่งพระญาณ ในพระอริยสัจ ๔
ด้วยอานุภาพแห่งพระทศพลญาณ
ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตาพระกรุณาพระมุทิตาและพระอุเบกขา
ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตทั้งปวง
ด้วยอานุภาพแห่งสรณะ คือพระรัตนตรัย
ขอสรรพโรค สรรพโศก สรรพอุบาทว์ และความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจทั้งปวงของท่าน จงสูญหายไป
แม้อันตรายทั้งปวง ก็จงสูญหายไป ขอความดำริทุกประการของท่าน จงสำเร็จด้วยดี
ขอความมีอายุยืนจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี ในกาลทั้งปวง
ขออารักขเทวดาทั้งหลาย ผู้อยู่ในอากาศ อยู่ ณ ภูเขา ลำเนาป่า ณ พื้นดิน ณ แม่น้ำ และมหาสมุทร จงตามรักษาท่านทั้งหลาย ทุกเมื่อ เทอญ ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2018, 05:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หมายเหตุ บทนี้แปลกอยู่ตรงที่มีชื่อไทยๆ ว่า “มงคลจักรวาฬ” เป็นบทสำหรับพระที่สวดมนต์ทำสัจจกิริยา อ้างอานุภาพของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ให้กำจัดทุกข์โศกโรคภัยอันตราย จาระไนออกไปละเอียดตามที่ปรากฏอยู่นั้นแล้ว
บทมงคลจักรวาฬนี้ เข้าใจว่าแต่งในเมืองไทยเรานี่เอง เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นไทย ยังมีคู่กันอีกบทหนึ่งเรียก มงคลจักรวาฬน้อย (สัพพะพุทธา) ใช้สวดเป็นบทอนุโมทนา ที่เติมคำว่าน้อยนั้น หาได้หมายความว่าเป็นจักรวาฬอีกอันหนึ่งไม่
แต่หมายความว่า เป็นบทสวดแบบมงคลจักรวาฬอีกแบบหนึ่ง ซึ่งน้อยกว่าสั้นกว่าเท่านั้น เมื่อเรียกแบบนั้นว่าน้อย ก็ต้องเรียกแบบนี้ว่าใหญ่ เป็นคู่กัน บทนี้มีปัญหามาก ตั้งต้นแต่ชื่อมงคลจักรวาฬไปทีเดียว จะขออธิบายไว้ตามที่ทราบ

อันสัทธาของพุทธศาสนิกชนแต่ครั้งก่อนๆนั้น ดำเนินตามแนวทางที่พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้อย่างมั่นคง ปลงจิตใจลงว่าจักรวาฬในเวหามีนับเป็นแสนโกฏิ
แต่ในจักรวาฬต่างๆนั้น ไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ เมื่อพระพุทธเจ้าไม่เสด็จอุบัติแล้ว พระธรรม พรสงฆ์ ก็เป็นอันไม่มี
แต่ในจักรวาฬที่เราอาศัยกันอยู่เดี๋ยวนี้ มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ตรัสสอนพระธรรม และมีพระสงฆ์สาวก ดำรงพระธรรมสืบต่อมา ดังนั้น จักรวาฬนี้จึงเรียกว่า มงคลจักรวาฬ บทสวดนี้อ้างอานุภาพของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ซึ่งปรากฏมีแต่ในจักรวาฬนี้เท่านั้น จึงได้นามว่า มงคลจักรวาฬด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2018, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภวตุสัพ

ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา
สพฺพพุทฺธานุภาเวน สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต

ฯลฯ


คำแปลทั้งหมด: ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครอง ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เทอญ

ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครอง ด้วยอานุภาพของพระธรรมเจ้าทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เทอญ

ขอมงคลทั้งปวงจงมี ขอเทวดาทั้งปวงจงคุ้มครอง ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เทอญ

หมายเหตุ บทนี้ ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า ภวตุสัพ เป็นบทสุดท้าย การสวดมนต์และอนุโมทนา ไม่ว่างานมงคล หรือมิใช่งานมงคล พอขึ้นบทนี้ พระท้ายแถวก็เริ่มม้วนสายสิญจน์ ส่งต่อเข้ามาจนถึงหัวหน้าพอดีจบ วางสายสิญจน์

กิจของเจ้าภาพ ทางฝ่ายเจ้าภาพ ซึ่งเตรียมอาหารไว้ พอจบก็ยกประเคนได้

ในงานมงคล บางทีท่านไม่จบเพียงนี้ ต่ออีกบทหนึ่งจึงจบ คือ บทนักขัตยักษ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 96 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 150 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron