วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2018, 17:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2018, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วันนี้ จะได้อธิบายให้เข้าใจ ความหมายของถ้อยคำที่เราสวด ให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น

เริ่มด้วย อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ

ในบทสวดนี้ มีพระคุณ ๓ ประการ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

อะระหัง หมายถึง ความบริสุทธิ์

สัมมาสัมพุทโธ หมายถึง ปัญญา การตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง

ภะคะวา หมายถึง กรุณา อันเป็นพระคุณยิ่งใหญ่ ๓ ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญๆทั้งนั้น

อะระหัง หมายถึง ความบริสุทธิ์ของพระองค์ กล่าวถึงบท สัมมาสัมพุทโธ นึกถึงพระปัญญาตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

ภะคะวา ก็นึกถึงพระกรุณาในพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระคุณ ๓ ประการนี้ เป็นเรื่องที่เราควรจะน้อมเข้ามาใส่ไว้ในใจ คือเอามาปฏิบัติ

การปฏิบัติ ก็คือ ยึดถือเอาพระคุณทั้ง ๓ ไว้ในใจของเรา คือทำตนให้เป็นผู้มีความกรุณา มีปัญญา ทำตนให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร

ภะคะวา หมายถึง ความกรุณา ถ้าเป็นเรื่องของความกรุณาก็ควรจะต้องทำใจให้มีกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถือว่า เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย ไม่มีจิตคิดประทุษร้ายให้ใครๆ เดือดร้อน ด้วยการพูดหรือด้วยการกระทำ ด้วยการคิดในใจก็ไม่ให้มีขึ้นในใจด้วยอย่างหนึ่ง อย่างนี้ เรียกว่า มีความกรุณา
เราสร้างพระกรุณาไว้ในใจ เราก็มีความสุขทางจิตใจ ผู้อื่นก็มีความสุขไปด้วย เมื่อไม่เบียดเบียนกันก็มีความสุข

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก มหาตมคานธีกล่าวว่า อะหิงสา ปะระโม ธัมโม การไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม เป็นธรรมสูงสุด

มนุษย์เราควรจะอยู่ด้วยความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เราควรสร้างพระกรุณาไว้ในใจ นี้เป็นประการแรก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2018, 12:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาสัมพุทโธ หมายถึง พระปัญญา ความตรัสรู้ชอบของพระองค์เอง

สัมมาสัมพุทโธ พุทโธ หมายถึง ตรัสรู้ คือพระปัญญา สัมมา หมายถึง ชอบ สัม (สํ = เอง = สัม เอง, ตนเอง) เอง สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้ชอบเอง เพราะสิ่งที่พระองค์รู้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสอน แต่มันเกิดขึ้นในใจ โดยอาศัยการคิดค้นคว้าในเรื่องต่างๆ แล้วเกิดตรัสรู้ขึ้นด้วยพระองค์เอง เป็นเรื่องของปัญญา.
เราต้องทำตนให้เป็นคนมีปัญญา เพื่อมีชีวิตอยู่ด้วยการศึกษา ด้วยปัญญา มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า ปัญญาชีวีชีวิตะมาหุ เสฏฐัง บัณฑิตกล่าวว่า การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด ผู้ใดมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาก็จะเป็นสุข
ปัญญาในที่นี้ หมายถึง รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หลีกเลี่ยงจากสิ่งชั่วร้าย มาประพฤติปฏิบัติอยู่แต่ในสิ่งที่ดีงาม เรียกว่า มีปัญญาอยู่กับการดำเนินชีวิต
ผู้ใดมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ก็เรียกว่า มีชีวิตอยู่ชอบ
ถ้าดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความโงเขลา ก็แปลว่า อยู่โดยไม่ชอบ เพราะจะมีแต่ความเป็นทุกข์ ความเดือดร้อน และความไม่ถูกต้อง
ไม่ว่าจะพูดอะไร จะคิดอะไร จะทำในเรื่องอะไร ต้องไม่ใช่ทำลงไปด้วยอารมณ์ แต่ต้องทำด้วยเรื่องของเหตุผล เพราะเราคิดว่าควรทำ ทำด้วยเหตุผล สิ่งที่ไม่ดีไม่งามควรหลีกเลี่ยงเสีย ปัญญามันเผลอบ่อยๆ ทำไปโดยไม่รู้สึกตัว สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ท่านและตัวเอง ผู้มีปัญญาควรหลีกเลี่ยงจากการกระทำเช่นนี้เสีย

อะระหัง หมายถึง ความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เพราะอะไร ? เพราะพระองค์ตรัสรู้ เห็นชัดรู้ชัดในเรื่องตามสภาพที่เป็นจริง หายมัวเมา หายประมาท ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเศร้าหมอง ทรงดับเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสได้ กิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดพิษภัย ปาก คอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ก่อให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นกิเลสที่เผาใจให้เร่าร้อน
ใจที่เร่าร้อนนี้ก็คือถูกกิเลสเผา มีความทุกข์ในทางใจ เมื่อตรัสรู้แล้วก็ย่อมดับได้ทั้งสองอย่าง เพลิงกิเลสก็ดับได้ เพลิงทุกข์ก็ดับได้
อะระหัง เป็นบุคคลประเภทที่ไม่มีความทุกข์ เพราะพระองค์ท่านมองอะไรเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งตามสภาพที่เป็นจริง เพราะพระองค์เองก็เคยเจ็บไข้เหมือนกัน
มีคนถามว่า พระอรหันต์ เมื่อเจ็บไข้มีความทุกข์หรือเปล่า ตอบได้ว่า ท่านเป็นไข้ แต่ทว่า ไม่เป็นทุกข์เพราะความเจ็บไข้ เพราะท่านรู้ ท่านไม่มีความเจ็บไข้ทางใจ ไม่มีความกระวนกระวาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2018, 13:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าถูกหินที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา ถูกหน้าแข้งเลือดไหลซิบๆ ขนาดแมลงวันกินอิ่ม พระองค์ไม่ตรัสอะไรดอก พอเห็นว่ามีเลือกไหลเยิ้มๆ หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เอายาไปโปะให้ ในตอนกลางคืน กลับมาแล้วมานอนอยู่ที่บ้านเป็นทุกข์ตลอดคืน มีความวิตกเพราะยานี่มันร้อนคล้ายๆทิงเจอร์ เอาไปทาแผลมันร้อน คิดในใจว่า เราพอกยาชนิดร้อนให้พระองค์ท่าน ท่านคงจะนอนไม่หลับ เจ็บปวด รีบตื่นแต่เช้ามืดไปเฝ้าแต่เช้าตรู พอไปถึงก็ทูลถามว่า พระทรงทรงบรรทมหลับดีหรือพระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราเป็นคนหนึ่งในคนที่นอนหลับทั้งหลาย เพราะว่าจะนอนให้หลับก็หลับเลย จะตื่นก็ตื่นเลย ไม่ใช่หลับๆตื่นๆ อย่างนั้นหามิได้ หลับก็หลับ ตื่นก็ตื่น

หมอชีวกฯ ทูลว่า ข้าพระองค์พอกยาไว้ที่พระชงฆ์ของพระองค์ กลับบ้านนอนเป็นทุกข์ เพราะว่ายามันร้อน

พระองค์บอกว่า ความร้อนภายนอกและความร้อนภายในของเราไม่มี ความร้อนทั้งหลายเราดับมันเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ เมื่อเราตรัสรู้สัจธรรมแล้ว เหตุของความร้อน เหตุของความทุกข์ไม่มี ส่วนความเจ็บเป็นเรื่องของร่างกาย


ที่เขาพูดกันว่า พระอรหันต์ไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตาย ซึ่งบางคนฟังไม่รู้ มักจะถามว่า พระพุทธเจ้าทำไมแก่ ทำไมจึงตายได้ล่ะ นั่นมันไม่ใช่ “พุทธะ” นั่นเป็นเรื่องของร่างกาย ร่างกายของพระอรหันต์ก็ต้องแก่เป็นธรรมดา เมื่อถูกหนาวถูกร้อนก็ต้องเจ็บต้องไข้เป็นธรรมดา แล้วก็ต้องตายเป็นธรรมดา แต่ว่าเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นกับสังขาร ไมมีทุกข์ในใจของพระอรหันต์ เพราะท่านไม่เป็นทุกข์ต่อความเจ็บไข้ และท่านไม่เป็นทุกข์ต่อเรื่องความตาย ตายก็ตายไปตามเรื่องของกาย ท่านคิดเห็นได้ด้วยอำนาจปัญญา และไม่มีความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ มันเปลี่ยนแปลงไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2018, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เราปุถุชนมันอย่างนี้ เรามันเป็นทุกข์ สักนิดหนึ่งก็เป็นทุกข์ อะไรหายไปสักนิดหนึ่งก็เป็นทุกข์ละ เพราะอะไร ? เพราะเรายึดถือ เรียกว่า เรายังมีอุปาทาน หมายถึงว่า ยังยึดมั่นในสิ่งนั้นว่าเป็นของตัว ว่าเป็นของเรา

ส่วนพระอรหันต์ท่านดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิง และไม่มีความทุกข์ ท่านเป็นผู้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ยินดียินร้าย
พระอรหันต์ ท่านไม่ยินดียินร้าย อะไรทั้งนั้น เฉยๆ ของสวย ไม่สวย สำหรับพระอรหันต์เท่ากัน เพราะท่านมองเห็นได้ว่า มันไม่เที่ยง จึงมองเห็นได้ว่ามันไม่แตกต่างกัน

คนเรามองเห็นได้ว่าแตกต่างกัน เห็นว่านั่น เห็นว่านี่ สวย ไม่สวย เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ของเรามีการเปรียบเทียบกัน มองเห็นของสองสิ่ง คือ อันหนึ่งสวย อันหนึ่งไม่สวย อันหนึ่งดำ อันหนึ่งไม่ดำ อันหนึ่งต่ำ อันหนึ่งสูง อันหนึ่งยาว อันหนึ่งสั้น อันหนึ่งอ้วน อันหนึ่งผอม การเปรียบเทียบ ย่อมทำให้มองเห็นถึงความแตกต่างในสิ่งเหล่านั้น

ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบ ความแตกต่างก็ไม่มี จิตของอรหันต์ไม่มีการเปรียบเทียบ ท่านว่าอันหนึ่ง เราเห็นว่าเป็นสอง จิตปุถุชนยังเป็นสอง รู้เห็นว่า สูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วน ผอม เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ จึงเป็นสอง

ส่วนจิตของพระอรหันต์เป็นสิ่งเดียว ไม่มีการเปรียบเทียบ จึงเหมือนกัน ต้นไม้ ต้นไทรกับคนมันก็เท่ากัน คือเห็นอะไรๆ มันก็เท่ากันหมด จึงเป็นเรื่องของความจริง

แต่เรานั้นมันมองไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริง จึงเห็นแตกต่างกัน สภาพจิตที่แตกต่างกันอย่างนี้ จึงมีสุขมีทุกข์ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องมีสุขมีทุกข์อยู่

แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีสภาพจิตเช่นเรา สภาพจิตของท่านคงที่ แต่สภาพจิตของเราไม่คงที่ ชั่วโมงนี้คิดอย่างหนึ่ง ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ สภาพจิตใจอย่างนี้ เป็นของปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส
แต่ของพระอรหันต์ท่านไม่เป็นเช่นนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรกไว้เพื่อเทียบกับ คคห.บน

ภาวะจิตของผู้บรรลุนิพพาน

ความมีใจอิสระและมีความสุข

“ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ในธรรมวินัยนี้ ถึงยามเช้า นุ่งสบงทรงบาตรและจีวร เข้าไปสู่หมู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต พวกเธอย่อมกล่าวธรรม ณ ที่นั้น ชาวบ้านทั้งหลายผู้เลื่อมใส ย่อมทำอาการแสดงออกแห่งผู้เลื่อมใสแก่พวกเธอ พวกเธอไม่ติด ไม่หมกมุ่น ไม่สยบ ย่อมบริโภคลาภนั้นอย่างผู้รู้เท่าทันเห็นช่องเสีย มีปัญญาทำใจให้เป็นอิสระ ลาภผลนั้น ย่อมช่วยเสริมผิวพรรณแลกำลังของพวกเธอ หาเป็นเหตุให้พวกเธอเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตายไม่” (สํ.นิ.16/769/314)

“ผู้มีจิตไม่หวั่นไหว รู้แจ้งความจริง ย่อมไม่มีความคิดปรุงแต่งใดๆ เขาเลิกรำพึงรำพันหมดแล้ว จึงมองเห็นแต่ความปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน เขาไม่ยกตัวถือตนใดๆ ไม่ว่าในหมู่คนเสมอกัน คนต่ำกว่า หรือคนสูงกว่า” (ขุ.สุ.25/422/519)

“พระอริยะ ไม่มีความงุ่นง่านหงุดหงิดในใจ ท่านผ่านพ้นไปแล้วจากการที่จะได้เป็นหรือจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านปราศจากภัย มีแต่สุข ไม่มีโศก แม้แต่เทวดาก็มองใจท่านไม่ถึง” (ขุ.อุ.25/65/101)

“ตัดความติดข้องต่างๆได้หมด กำจัดความกระวนกระวายในหทัยเสียได้แล้ว ก็นอนเป็นสุข สงบสบาย เพราะใจถึงสันติ” (องฺ.ติก.20/474/175)

ความเป็นเจ้าแห่งจิต เป็นนายของความคิด

“บุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ มีปัญญายิ่งใหญ่นั้น ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น ประสงค์จะดำริข้อดำริใด ก็ดำริข้อดำรินั้น ไม่ ประสงค์จะดำริข้อดำริใด ก็ไม่ดำริข้อดำรินั้น ท่านบรรลุภาวะมีอำนาจเหนือจิต (เจโตวสี) ในกระบวนความคิดทั้งหลาย” (องฺ.จตุกฺก.21/35/46)

ความเป็นกันเอง กับ ชีวิต ความตาย การพลัดพราก และมีเมตตากรุณาต่อทุกชีวิต

“จะมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็หาโสกเศร้าไม่” (ขุ.อุ.25/108/142)


“ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้ อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีสติมั่น ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เรารอท่าเวลา เหมือนคนรับจ้างทำงานเสร็จแล้ว รอรับค่าจ้าง” (ขุ.เถร.26/396/403)

(จากพุทธธรรม หน้า ๓๙๗)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 07:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ความหมายของพระคุณ ๓ ประการ มีดังนี้ เราจึงต้องสร้างพระคุณนี้ให้เกิดขึ้นในใจตลอดเวลา
สร้างปัญญา สร้างความกรุณา สร้างความบริสุทธิ์ การสร้างความบริสุทธิ์ ความจริงไม่ต้องสร้างดอก เพียงแต่สำรวมกาย วาจา ใจให้ดีเสมอ เพราะสภาพของจิตดั่งเดิมบริสุทธิ์อยู่แล้ว ที่มีจิตเศร้าหมองเพราะมีสิ่งอื่นมากระทำ เหมือนขี้ฝุ่นเข้ามาทางหน้าต่าง ทำให้บ้านสกปรกเศร้าหมอง ฉะนั้น เราจึงต้องระวัง ระวังที่ไหน ?
ต้องระวังที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ก็เพราะมีตา มีรูป เมื่อตากับรูปกระทบกัน เกิดความรู้สึกทางตา รวมกันเกิดผัสสะ เมื่อผัสสะเกิดแล้ว ก็เกิดเวทนา ความยินดี ไม่ยินดี เป็นสุข เป็นทุกข์ ชอบใจ ไม่ชอบใจ อยากได้ ไม่อยากได้ เราจึงต้องระวังอย่างนี้ ระวังที่ผัสสะ อย่าให้เกิดมีเวทนาขึ้นได้
ถ้าไม่มีเวทนา มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเวทนาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุกข์ต่อไป
เราระวังผัสสะจุดเดียวทำให้ไม่เกิดเวทนา เพียงรู้สุขหรือทุกข์ ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น ขอให้กำหนดรู้ทันท่วงที หยุดตรงจุดนี้ อย่าให้เกิดเลยต่อไปเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน จนสร้างอะไรต่ออะไรขึ้นมา
นี้เป็นการสกัดกั้น สกัดกั้นสิ่งภายนอกไม่ให้เข้ามาถึงข้างใน เพราะที่จิตใจของเราบริสุทธิ์อยู่แล้ว จึงต้องคอยสกัดกั้นสิ่งภายนอกไม่ให้เข้าไปข้างในได้


การระวังไม่ให้เกิดเวทนาขึ้นตรงจุดผัสสะ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ตรงจุดนั้น ความทุกข์มันก็ไม่เกิด เราก็คงมีจิตเหมือนเดิม คือมีจิตบริสุทธิ์อยู่ ความทุกข์ไม่มี ความสุขไม่มี อะไรๆก็ไม่มี เป็นอย่างนี้ เราจึงควรสร้างภาพอย่างไว้ในใจของเรา ด้วยความระมัดระวัง ไม่เผลอ ไม่ประมาท จิตเราเผลอไม่ได้ เผลอทีไรเป็นจับอะไรเข้ามา ยินดียินร้ายในรูปต่างๆ เพราะเราเผลอ เราประมาท ทีนี้อย่าเผลอ
การที่เราฝึกจิตทุกคืนก็เพื่อไม่ให้เผลอ ไม่ให้ประมาท เป็นการสกัดกั้นสิ่งภายนอกไม่ให้เข้ามา
การฝึกจิตไว้ก็เหมือนคอยตื่นอยู่เสมอ ถ้าเผลอก็เหมือนหลับ ปล่อยให้โจรเข้าในบ้าน ขโมยเงินทองเอาข้าวของไป
จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเผลอหลับไป ความรู้สึกที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะเกิดขึ้น เช่น ความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาท มันเกิดขึ้นเพราะเราเผลอ
ถ้าเราไม่เผลอสิ่งเหล่านั้นไม่เกิด จิตเรายังคงมีสภาพปกติ เราเรียกว่าหน้าตาดั่งเดิม ตามภาษามหายาน
ส่วนเถรวาทเราไม่ค่อยพูดอย่างนั้น แต่ยังพูดว่าหน้าตาดั่งเดิมอยู่เหมือนกัน ซึ่งมาจากนิกายเซ็น มีเรื่องที่น่าฟังอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่เรียกว่าฉับพลันทันทีเพื่อสกัดกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นในใจ ถ้าคิดได้ก็เรียกว่าดับเพลิงกิเลสได้ เพลิงทุกข์ก็ดับได้ด้วยเหมือนกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สามคำนี้ก็น่าคิด น่านำเอามาปฏิบัติ

คำว่า “ผู้รู้” หมายความว่า มีสติอยู่ตลอด เป็นผู้รู้ เพราะมีปัญญากำกับอยู่ด้วย จึงเป็น “ผู้ตื่น” เมื่อเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น เราก็เป็น “ผู้เบิกบาน” ไม่มีเรื่องใจเหี่ยวใจแห้ง คนที่มีความวิตกกังวลต่างๆ ก็เป็นผู้ที่มีใจเหี่ยวใจแห้ง

เมื่อเราเป็นผู้สดชื่นรื่นเริง เพราะความสุขตลอดเวลานั้น คือเรามีใจเบิกบานด้วยธรรม เบิกบานอยู่ด้วย เห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริง เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส เราจึงควรทำตนให้เป็นผู้รู้ อย่าเผลอ อย่าประมาท
เมื่อรู้อะไรแล้วก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา ผู้ที่มีปัญญายิ้มข้างใน ไม่ใช่ยิ้มออกมาข้างนอก
บุคคลยิ้มข้างในจิตใจเบิกบานแจ่มใสอยู่ข้างใน “จงยิ้มได้เมื่อภัยมา เป็นการยิ้มได้ ไม่ต้องฝืน ชุ่มชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์ แต่คนที่ควรชมนิยมกัน มีจิตมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา” คนที่จิตมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา เมื่ออารมณ์มากระทบ เราก็ยังยิ้มได้ นี้เป็นความหมายของคำทั้ง ๓ คำนี้ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนมัสการบูชาว่า นะโมปุพพะภาคะนะมะการะ นมัสการเบื้องต้น หมายความว่า นมัสการเบื้องต้นต้องว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น

อะระหะโต เป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง

การนอบน้อมมี ๓ อย่าง
คือ
นอบน้อมด้วยกาย
นอบน้อมด้วยวาจา
นอบน้อมด้วยใจ

นอบน้อมด้วยกาย หมายความว่า ทำให้ถูกระเบียบทางกาย ถูกความนิยมทางกาย
เมื่อเข้าไปในศาลา ในโบสถ์ นั่งพื้นอย่างหนึ่ง นั่งพื้นก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย นั่งพับเพียบต่อหน้าพระพุทธรูป ต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า เรานั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธินั้นเป็นท่าที่คนไทยไม่นิยม

ส่วนแขกเขานิยมแบบนั้น แขกสิงหล แขกอินเดียเขาไปหาพระเขานั่งขัดสมาธิ ขัดแบบสมาธิเขานั่งอย่างนั้น เขาถือว่าถูกต้อง
ชาวลังกามาหาพระ ไม่นั่ง ยืน พระนั่ง ยืนพูด ยืนใกล้ๆเสียด้วย พูดไปยืนไป พูดไปบนหัวพระตลอดเวลา ถ้าเราไปเห็นต้องบอกว่าไอ้พวกนี้ไม่มีมารยาท ยืนพูด เอามือแกว่งไปบนหัวพระตลอดเวลา แต่เขาถือว่า ยืนนี้ เป็นการเคารพแล้ว เพราะแขกอินเดียลังกาไม่ถือศีล ถือสัจจะ คนไทยเราถือศีลถือสัจจะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวหนึ่งไปเห็นที่ลังกา เขามีการให้รางวัลเรียนดีในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พระเถระผู้ใหญ่มามาก ถ้าจะเปรียบเมืองไทยก็คงเป็นขั้นสมเด็จ ฯ อายุมากๆ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน นายกรัฐมนตรีก็มา ข้างหน้ามันเตี้ย ข้างหลังสูง ยกเก้าอี้ข้ามหัวคนมาเป็นแถว พอมาถึงหัวพระ ก็ส่งข้ามหัวพระเหมือนกัน ข้ามหัวพระมหาเถระ
ถ้าเป็นคนไทยก็ว่ายกเก้าอี้ข้ามหัวสมเด็จฯ ไปเลย ผมดูอุทานว่าแย่จริงๆ ไม่ไหว แต่ของเขาไม่ถือเขายกข้ามหัวไปได้ เรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องสมมติเฉพาะถิ่น เฉพาะประเทศ ฉะนั้น เมื่อเราจะทำให้ถูก จะต้องศึกษา



ไอ้เรื่องเล็กน้อยนี้มันสำคัญ ไปไหนๆ เรื่องอย่างนี้มันสำคัญมาก เราจะเสียคนก็ไอ้เรื่องเล็กน้อยนี้แหละ จะดีก็ไอ้เรื่องเล็กน้อยนี้แหละ ไปไหนประเทศไหน ถ้าไม่ดีไม่งามในเรื่องอะไร แม้จะเล็กน้อยเขาก็จะหาว่าไม่มีวัฒนธรรม ไม่ได้รับการอบรมในสำนักครูบาอาจารย์ เสียหาย เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าเขาทำอย่างไร เช่นว่า เราเข้าไปในโบสถ์ต้องนั่งพับเพียบ ทางที่ดีต้องกราบเสียก่อน เราเป็นพระไปหาใครก็ตามที่วัดอื่น เมื่อเราไปถึงตามวัดต่างๆ เขามักจะมีที่บูชา สมภารนั่งอยู่ไหน มักจะมีที่บูชาอยู่ด้วย มีพระพุทธรูปไว้บูชาสักการะ อันนี้ ต้องรู้ เมื่อขึ้นไปถึง ต้องกราบพระพุทธรูปก่อน กราบตรงพระพุทธรูปที่เขาวางไว้บูชา กราบตรงนั้นก่อน ไปถึงก็นั่งกราบพระพุทธรูป ๓ ครั้ง เรียบร้อย นั่งคุกเข่าตัวตรง กราบให้เรียบร้อย ๓ ครั้ง
กราบพระพุทธรูปเสร็จแล้วหันหน้าไปทางสมภาร กราบสมภาร ๓ ครั้ง แล้วก็ นั่งนับเพียบเรียบร้อย พูดจากับท่านไปตามเรื่องตามราว พูดชัดถ้อยชัดคำ
ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ต้องพนมมือด้วย พูดกับท่านให้เรียบร้อย รู้จักมรรยาทในที่นั้น
เวลาจะกลับ ก็อีกเหมือนกัน ต้องกราบพระพุทธรูปก่อนแล้วก็หันไปกราบพระสมภาร บอกว่ากระผมหรือผมขอลาละครับ ขอบพระคุณมากที่ได้กรุณาแนะนำอะไรหลายอย่างในวันนี้ กราบลา เวลาลุกขึ้นต้องเดินถอยหลังไปสักหน่อยก่อน แต่ก็ต้องคอยดูอย่าไปเหยียบอะไรๆ เข้า ถอยหลังห่างสมภารพอควร ห่างไปสัก ๒-๓ เมตรแล้วจึงหันหลังให้ อย่าลุกขึ้นปั๊บ แล้วหันหลังให้ทันทีอย่างนี้ไม่ดี ผ้าจีวรอาจจะไปถูกสมภารเข้าให้ จำไว้ ต้องถอยหลังออกไปก่อน จึงจะเรียบร้อย

เมื่อไปในโบสถ์ในวิหารในศาลาก็เหมือนกัน ต้องกราบเหมือนกัน กราบให้สวย อย่าสักแต่กราบเพื่อให้ผ่านพ้นไป ไม่ใช่พอไปถึงก้มลง กราบเอา กราบเอา ทำอย่างนั้นไม่ได้ เดี๋ยวจะว่าไม่อยู่ในสำนักครูอาจารย์ ไม่มีการอบรม กราบไม่เป็น ไม่เรียบร้อย เดี๋ยวเขาถามว่า นี่บวชวัดไหน บอกว่าวัดชลประทานฯ เอ้า เจ้าคุณปัญญานี่ไม่อบรมลูกศิษย์ กราบไม่เป็น เสียชื่อแล้ว เมื่อเข้าไปถึงต้องนั่งลงให้เรียบร้อย กราบด้วยความตั้งใจ เวลาจะกลับก็ต้องกราบลาซ้ำอีก คือ ไปลา มาไหว้ อย่างนี้เป็นการกระทำพร้อม กาย วาจา ใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 15:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวลาไหว้พระ ทางวาจากล่าวว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ เปล่งวาจาออกไป กายก็ต้องเรียบร้อย นั่งพนมมือไหว้เรียบร้อย ให้เสมอยอดอก ทุกนิ้วต้องแนบชิดกัน อย่าแสดงความอ่อนแอ เอียงไปทางนั้น เอียงไปทางนี้ ไม่มีความเข้มแข็ง แสดงว่าไม่มีสติ ไม่รู้สึกตัวว่าตัวทำอะไร ต้องพนมมือ เขาเรียกว่า ผู้พนมศีล เวลาจะกราบก็ยกมือขึ้น ต้องหัดทำ ทำให้มันเรียบร้อย เป็นวัฒนธรรม เป็นมรรยาท ตามระบบสังคมของไทยเรา เราต้องทำให้ถูก

การไหว้ เป็นการบูชาด้วยกาย ปากเปล่งวาจา ชัดถ้อยชัดคำ ว่าด้วยวาจา ใจคิดถึงสิ่งที่เราไหว้ เรียกว่า พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ขอนอบน้อม พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ด้วยพระคุณทั้งสาม คือ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ภะคะวะโต หมายถึง พระกรุณา
อะระหะโต หมายถึง พระบริสุทธิ์
สัมมาสัมพุทธัสสะ หมายถึง พระปัญญา เวลากราบพระ จิตต้องนึกถึงทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าพูดถึงความถูกต้อง ก็ต้องว่าถูกต้องตามระเบียบ

ในเวลาไหว้พระสวดมนต์นี้ ต้องการสมาธิด้วย จึงสำรวมกาย ต้องตั้งใจ จิตต้องนึกถึงพระพุทธเจ้า ปากก็ว่าไป อย่าคิดเรื่องอื่น อย่าไปนึกเรื่องอื่น
ถ้าไปนึกเรื่องอื่นจะว่าผิด ถึงเราจะจำขึ้นใจ พอจิตคิดฟุ้งซ่านไป พอว่าก็พูดผิด ว่าผิดไปได้ ฉะนั้นเวลาไหว้พระ สวดมนต์ ต้องการสมาธิด้วย จึงต้องว่าด้วยความตั้งอกตั้งใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 15:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การว่า นะโม ทำไมจึงต้องว่า ๓ ครั้ง ? ครั้งที่หนึ่ง เพื่อพระพุทธเจ้า ครั้งที่สอง เพื่อพระธรรม ครั้งที่สาม เพื่อพระสงฆ์
เราทำอะไร ๓ ทั้งนั้น เพราะเราถือพระคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ รัตนตรัย เราทำอะไรจึงนิยม ๓ ทั้งนั้น เช่นว่า จุดธูปบูชาพระก็ ๓ ดอก แต่เทียนไม่เอา ๓ เอา ๒ ทำไมจึงเอาอย่างนั้น ? ต้องอธิบายให้เข้าใจ
ถ้าจุดธูปบูชาพระเอา ๓ ดอก อย่าเอา ๔ – ๙ ดอก เอา ๓ เท่านั้นแหละ
ธูป ๓ ดอกบูชาใคร ? บูชาคุณของพระพุทธเจ้า
ดอกหนึ่งบูชา พระกรุณาคุณ
ดอกหนึ่งบูชา พระปัญญาคุณ อีก
ดอกหนึ่งบูชา พระบริสุทธิคุณ ใช้ ๓ ดอกถ้าบูชาพระ

ถ้าบูชาศพให้ดอกเดียว เราไปงานศพอย่าไปจุดมาก ให้ดอกเดียว เขาให้จุดดอกเดียว การจุดดอกเดียวก็เป็นปริศนาธรรมสอนใจ บอกว่า สิ่งเดียวที่เที่ยงแท้คือความตาย เป็นปริศนา งานศพเป็นปริศนาธรรมทั้งนั้นไม่ว่าทำอะไร บูชาศพดอกเดียว

บูชาพระ ๓ ดอก ไม่ใช่ ๕ ดอก บางคนบอกว่าพระเจ้า ๕ องค์ มากไป ๓ องค์ก็พอแล้วละ เปลืองธูป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 15:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธูปนี้ บูชาคุณพระพุทธเจ้า เทียนนั้นบูชาคุณพระธรรมวินัย แต่เอาเพียง ๒ เล่ม ไม่ต้องเอามาก ไม่ต้องถึง ๓ เล่ม
จุดเทียนนี้ ต้องจุดให้เป็นด้วย จุดด้านซ้ายมือเรา คือมือขวาของพระพุทธรูป

อันนี้ มันเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ต้องใช้ เพราะเดี๋ยวสึกไปแล้ว ไปเป็นผู้ใหญ่ เจ้าบ้านผ่านเมืองจุดธูปเทียนไม่เป็น เขาจะหาว่าเจ้าเมืองขี้เท่อ ต้องจุดด้านซ้ายมือเราก่อน คือด้านขวาของพระพุทธรูป เวลาจุดให้จุดเทียนก่อน อย่าไปจุดธูปก่อน ถ้าจุดธูปก่อนมันเปลือง เพราะธูปมันจุดช้า จุดเทียนก่อนแล้วค่อยจุดธูปทีหลัง เทียนนั้นสำหรับ บูชาพระธรรมวินัย ใช้ ๒ เล่ม

ส่วนดอกไม้ นั้น บูชาคุณพระสงฆ์ เพราะมาจากที่ต่างๆกัน เอามาเรียงใส่แจกัน ดอกบัวมาจากในหนองน้ำ
ส่วนดอกอื่นมาจากที่อื่นหลายแห่ง รวมกันด้วยอาศัยแจกัน ถ้าไม่มีแจกัน ใช้เชือกมัดไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกับ พระธรรมวินัยเป็นเครื่องมัดพระสงฆ์ให้อยู่ในระเบียบวินัย

ของ ๓ อย่างนี้ บูชาไม่เหมือนกัน ให้รู้ความหมายไว้ ต้องทำให้ถูก
จุดเทียน จุดธูป เสร็จแล้ว กราบพระ ๓ ครั้ง แล้วก็ไปนั่งตรงที่ที่เขาจัดไว้ให้นั่ง ขออาราธนาศีล

เรื่องอาราธนาศีลนี้ ควรท่องจำให้ได้ มันไม่ยากอะไร เดี๋ยวเขาถามว่า อ้อ บวชแล้วช่วยอาราธนาศีลทีเถอะ จะได้ทำได้ ไม่ยากอะไร ถ้าอึกอักอึกอักเขาจะบอกว่า บวชอย่างไร เรื่องแค่นี้ ไอ้เล็กน้อยควรท่องให้จำ อย่าให้ต้องคอยดูตามแบบตลอดเวลา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 16:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ พอว่า นะโม ๓ จบแล้ว ก็ว่า พุทธาภิถุติง อะภิถุติ แปลว่า ชมเชย. หันทะ มะยัง พุทธาภิถุติง กะโรมะ เส แปลว่า เรามาชมเชยพระพุทธเจ้ากันเถอะ เราทั้งหลายมาสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้ากันเถิด หันทะ มะยัง พุทธาภิถุติง นี้ ขึ้นต้นก็ว่า โย โส ตะถาคะโต พระตถาคตเจ้านั้น พระองค์ใด

“ตถาคต” นี้เป็นสรรพนามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกตัวเองว่า ตถาคต ตลอดเวลา

ตถาคต อย่างนี้ ตถาคตอย่างนั้น คำอื่นมีใช้น้อย เช่นคำว่า อะหัง มะยัง ใช้คำว่า “ตถาคต” แทนชื่อของพระองค์ ตถาคต แปลว่า มาอย่างใดไปอย่างนั้น โดยธรรมชาติ นั่นเอง

ตถาคต ก็คือโดยธรรมชาติ มาอย่างใดไปอย่างนั้น เวลาพูดกับใคร ตถาคตอย่างนั้น ตถาคตอย่างนี้
ตถาคตไม่เคยพูดอย่างนั้น อานนท์เอาผ้าสังฆาฏิปูลง ตถาคตจะนอน ไม่ค่อยใช้คำอื่น ใช้ตถาคตแทบทั้งนั้น
ให้รู้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า เป็นคำแทนชื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เวลาเรียกพระองค์ เราเรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นคำยกย่อง เหมือนเราเรียกว่า พระเดชพระคุณ หรือท่านอาจารย์ เราไม่เรียกพระพุทธเจ้าพระองค์ท่านว่า พระพุทธเจ้า เราเรียกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นการเคารพ

ชาวอินเดีย ใช้เรียกว่า ภะคะวา ภะคะวา นั่นแหละ พอเห็นพระพุทธรูปก็ก้มลงกราบใหญ่ทีเดียวว่า ภะคะวา พุทธะ พอกราบก็ออกชื่อ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า คือ พระตถาคตเจ้านั้น พระองค์ใด อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส กิเลสไม่เข้าใกล้ ไกลจากกิเลส

ทำไมพระองค์จึงได้ไกลจากกิเลส ? เพราะพระองค์ไม่มีฐานรองรับกิเลสแล้ว เรามันยังมีฐานกิเลสมาตั้งได้ มาตั้งอาศัยอยู่ในตัวเราได้เพราะมีฐาน ฐานนั้นคืออะไร ? ฐานนั่นก็คือ มีตัวตนนั่นเอง เขาเรียกในภาษาพระว่า อัตตา อัตตนียา ยังมีตน ทำอะไร มีอะไร เพื่อตนอยู่ เพราะมีตนเป็นที่รับเป็นฐาน กิเลสมันจึงมาตั้งได้เพราะมีตัวกูของกูขึ้นมา
ถ้าไม่มีตัวกูของกู ฐานก็ไม่มี กิเลสก็มาอยู่ไม่ได้ นี่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านไกลจากกิเลส เพราะไม่มีฐานรองรับกิเลส กิเลสก็ไม่รู้ว่าจะไปลงตรงไหน ราดจนน้ำมันหมดไฟก็ไม่ลุกขึ้น หรือว่าไม่มีสนามจอด

ไอ้เราน่ะมันมีสนามเยอะแยะ เปิดสนามตาไว้ สนามหู สนามจมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินชนิดไหนมาเป็นให้ลงทั้งนั้น เรายังให้กิเลสอยู่ได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านอยู่ไปไกลจากกิเลส ไม่เข้าใกล้กันเลยทีเดียวด้วย เรียกว่า อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส เราก็ต้องพยายามให้มันไกลๆ ไว้บ้าง อย่าเข้าใกล้ คอยตะเพิดให้มันออกไป บอกว่าอย่ามาเลย ข้าไม่รับ แต่โดยมากมักจะเปิดประตูรับ พอมาก็เปิดประตูรับเข้าไป ทำไมจึงรับ ? เพราะเรายังพอใจ ยินดีในสิ่งนั้น พระอรหันต์เจ้าท่านไม่ยินดีในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น รับไม่ได้ ไม่มีน้ำใจจะรับ เรามีน้ำใจจะรับจึงเป็นผู้ใกล้กับกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ ว่าไปแล้วเมื่อตอนต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 16:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตถาคต พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียก หรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง
คือ
๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือ ทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

๓. พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง

๔. พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือ ปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน

๕. พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตว์โลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง

๖. พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น

๗. พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น

๘. พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุดเป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร