วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 11:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 08:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โดยเฉพาะเราที่เป็นชาวพุทธนับถือหลักว่า ไม่ทะเลาะกับใคร ในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน ถ้าจะสนทนากัน ก็พูดกันด้วยใจเย็นๆ เมื่อเห็นว่าฝ่ายหนึ่งชักจะผ่าวๆ ขึ้นมา เราก็หยุดพูดกัน ไต้องพูดต่อ มันผ่าวๆ ขึ้นมาแล้วไปยั่วกันทำไม ไฟมันลุก อย่าเอาน้ำมันเบนซินราดอีกดีกว่า เพราะมันจะไหม้เอาด้วย อันนี้ช่วยได้ สำหรับคุยกับคนที่มีทิฏฐิ เราก็จะปลอดภัย ทิฏฐิมันเป็นอย่างนี้

หนังสือทางพุทธศาสนามีเรื่องของทิฏฐิมากมาย เช่น เห็นว่าโลกเที่ยง เห็นว่าโลกไม่เที่ยง เห็นว่าตายแล้วเกิด เห็นว่าตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วเกิดบางอย่าง บางอย่างไม่เกิด ตายแล้วสูญเสียบางอย่าง บางอย่างไม่สูญเสีย การเกิดเป็นอะไร เวลาตายก็เป็นอย่างนั้น เกิดเป็นคนตายแล้วเกิดเป็นคนอีก เกิดเป็นสุนัขตายแล้วก็เกิดเป็นสุนัขอีก เกิดเป็นคนแล้วตายไปจะเกิดเป็นสุนัขขี้เรื้อนก็ได้ ความคิดเห็นของคนมันมากเรื่องเยอะแยะ แต่ทว่า ความเห็นอย่างนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เกื้อกุลต่อการศึกษาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ตอบปัญหาบางประเภท เช่น ไปถามว่า โลกนี้มีที่สุด โลกนี้ไม่มีที่สุด ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร ในที่สุดโลกนี้จะเป็นอย่างไร
พระองค์บอกว่า เราไม่พูดปัญหานี้ เราไม่พูดถึงปัญหานี้ ขอได้โปรดแสดงความคิดเห็นหน่อย พระองค์บอกว่า เราไม่พูดเรื่องพรรค์อย่างนี้

เขาก็ถามว่าทำไมไม่พูด ? พระองค์ก็บอกว่า มันไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพราะพูดแล้วมันไม่เป็นทางพ้นทุกข์ ไม่เป็นการก่อให้เกิดปัญญาที่จะให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน อะไรๆ แบบนั้นเราก็ไม่พูด คือพูดเฉพาะเรื่องที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือเรื่องที่จะปฏิบัติเพื่อให้จิตใจพ้นจากความทุกข์เท่านั้น ถ้าเรื่องนอกไปจากนี้ อย่าไปถามเลย พระองค์ไม่พูดดอก พระองค์ไม่พูดด้วย
อันนี้เรานำไปใช้เป็นหลักได้ เราจะพูดกับใครจะสนทนากับใคร ในเรื่องความคิดความเห็นถามเขาดูก่อน หยั่งเขาดูก่อน ถ้าลองหยั่งดูแล้วไม่ไหว คนนี้แรงมาก หยุดพูด คุยเรื่องอื่นดีกว่า อย่าไปทะเลาะกันเลย หลีกเลี่ยงเสีย อย่างนี้จะช่วยไม่ให้เกิดเรื่องยุ่งยากในเรื่องเกี่ยว กับ ทิฏฐิความคิดความเห็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 08:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับทิฏฐนี้ ก็คือ เราอย่าไปยึดมั่นในอะไรๆ จริงจัง แม้แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเขาก็ไม่ให้ยึดมั่น ใช้ศัพท์ว่า อุปาทาน คือมี อุปาทานในธรรมะ
แต่ถ้ามีความยึดมั่นในพระรัตนตรัย ก็ควรจะเข้าในคุณธรรมเพื่อยึดถือเป็นที่พึ่ง ดังคำพระบาลีว่า พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ ดังนี้ เราเรียกว่า ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถือว่าพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่เกาะที่อิง เหมือนเราไปยืนเกาะพิงเสาไว้ ถือไว้ เพียงให้เรามีกำลังได้พักผ่อนทางใจ
แต่ถ้าเราไปเกาะไว้ เหมือนกับเอามือรัดเสาไว้ ก็บอกว่า กูเอาไม่ออก กูดึงไม่ออกแล้ว เอามือไปรัดเสาไว้แล้ว เอาไม่ออก บอกให้ช่วยทีๆ ไอ้นี่มันไม่เต็มเต็งแล้ว เอาไม่ออก ทีนี้ไม่ใช่ เราไม่ได้ไปกอดพระรัตนตรัยไว้อย่างนั้น แต่เราไปอิงเอาไว้ อิงพระพุทธเจ้า อิงพระธรรม อิงพระสงฆ์ เพื่อให้เกิดกำลังภายในช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจ ไม่ได้ไปเกาะจับแน่นไว้ ถ้าจับแน่นเอาไว้เป็นอุปาทาน แล้วมันไม่ก้าวหน้า มันไปติดอยู่ตรงนั้น


เพราะฉะนั้น คนไปติดอยู่ในเรื่องอะไร ชีวิตมันไม่ก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้าทุกแง่ทุกมุม โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์นั้น ถ้าไปกอดแล้วไม่ได้เรื่อง แต่ไปอิงไว้ เพียงอาศัยเป็นทางเดินเท่านั้นเอง เหมือนใช้แพตามที่พูดเมื่อตะกี้นี้
แพข้ามฟากนี้พอกระโดดลงไปได้ ก็ใช้ไม้ค้ำ ถ่อค้ำข้ามฝั่งโน้น ที่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ แล้วก็ขึ้นไป ไม่ได้ไปยืนชมอะไรอยู่บนแพ ไอ้นี้ไอ้นั่นเข้าที อย่างนี้ ใช้ไม่ได้ ขึ้นยืนชมอยู่บนนั้นใช้ไม่ได้ มันไปติดแพเลยเมา เมาหลายอย่าง คนเรามันเมาในความคิดความเห็น เมาอะไรๆ

บางคนเมาในพระเครื่อง ชอบหาแต่พระเครื่อง เมาในพระเก่า เก็บ เก็บไว้เต็มบ้านเลย พวกเมาทั้งนั้น นี้เป็นอุปาทาน ไม่ใช่มีไว้เพื่อพ้นทุกข์ แต่มีไว้เป็นอุปาทาน มีพระไว้อย่างอุปาทานนี้มันหนักตัว คนละแบบ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปยึดมั่นในอะไรๆ ในความคิดความเห็นก็เหมือนกัน เราอย่าไปติดมัน เรารู้เราคิดแต่อย่าไปหยิบฉวยไว้จนมั่น มันไร้สาระ ควรรู้ทุกอย่าง แต่ไม่ติดในอะไรสักอย่างนั่นแหละดี ขอให้รู้ไว้ เพียงแต่รู้ นั่นแหละเขาเรียกว่า เรียนเป็น ศึกษาเป็น แต่พอไปยึดแล้ววุ่นวาย คือ ทิฏฐุปาทาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓) ประการต่อไป เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน. สีลัพพตุปาทาน หมายถึงยึดมั่นในอะไร ยึดมั่นในศีลพรต ศีลวัตร ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน
ที่ว่าศีลวัตร ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่หมายถึงเรื่องพิธีรีตองอะไรต่างๆ เป็นพวกมงคลตื่นข่าว อาศัยมาช่วยคนว่าจะทำให้พ้นทุกข์ พ้นจากความเดือดร้อน จะทำอะไรก็มีพิธีรีตอง ติดอยู่ที่พิธีการอันนั้นๆ ถ้าขาดพิธีไปสักหน่อย แหม ไม่สบายใจ อย่างนี้เขาเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน ไม่สบายใจ

เช่น นิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้าน ไม่ได้ตั้งขันน้ำมนต์เท่านั้น เป็นทุกข์กันทั้งบ้านเลย นี่คือความยึดถือ นึกว่าน้ำมนต์จะเป็นสิ่งที่ช่วยตนให้พ้นทุกข์ภัย บางทีตั้งขันน้ำมนต์แล้วไม่ได้ใส่ใบเงินใบทองลงไปในขันนั้น กลุ้มใจอีก ว่าไม่มีใบเงินใบทอง นั้นก็เหมือนกัน ติดอยู่ในพิธีการ ติดอยู่ในเรื่องอย่างนั้นๆหรือว่า มีพระพุทธรูปอยู่ในบ้าน แต่วางหันหน้าไปทางตะวันตก
อย่างพระเราในโบสถ์ หรือศาลา บนโรงเรียนที่ไหนก็ตาม หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ถ้าพวกยึดถือ สีลัพพตุปาทาน มาเห็นเข้าจะถามว่า ทำไมหันหน้าไปทางตะวันตก เขาว่าพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เลยถามว่า พระพุทธเจ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกจนตายหรือ ไม่มีผินหน้าไปทางทิศอื่นบ้างเลยหรือ
ก็ตอบว่า ก็คงมีบ้างละ ก็เหมือนกันแหละ วัดนี้หันหน้าไปตะวันออก วัดนั้นหันหน้าไปทิศใต้ วัดนั้นหันหน้าไปตะวันตก วัดนั้นหันหน้าไปทิศเหนือ มีทั้งนั้น ไม่เห็นมันจะเสียหายอะไร นี่แหละมันเป็นแต่เพียงความยึดถือ

เวลาจะบวชลูกต้องจัดโน่น จัดนี่ คอยให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เช่นว่า ก่อนเข้าโบสถ์ต้องวันทาเสมา ไม่ได้วันทาเสมาก็เป็นทุกข์แล้ว
พอลูกเข้าโบสถ์ไปเหยียบธรณีประตูเข้าหน่อย เป็นทุกข์แย่แล้วตรงที่ลูกไปเหยียบธรณีประตูเข้า เขาไม่ให้เหยียบธรณีประตูน่ะ ไม่ใช่เรื่องอะไรดอก ธรณีประตูเขามีลวดลายสวยงาม คนเหยียบขอบบ่อยๆ มันก็พังเท่านั้นเอง เลยเขาบอกว่าอย่าเหยียบธรณีประตูลวดลายมันเสีย
ไปดูสิตามโบสถ์โบราณเขามีลวดลายสวยๆ เหมือนเช่นบานประตู ประตูเขาไม่อยากให้เหยียบ หรือฝาผนัง กลัวมันจะเสีย เขาจึงบอกว่า อย่าเหยียบธรณีประตู ลวดลายจะเสีย ยิ่งไอ้ขี้เมาเหยียบก็จะหักไปหมด พอไปถึงนั่นก็ต้องยกเจ้านาคข้ามเข้าไป ถ้าได้ยกละก็สบายใจละ ไม่ได้ยกละ แหม ไม่ได้ยกข้ามประตู เป็นทุกข์เดือดร้อนใจ นี่แหละเขาเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน การไปยึดถือพิธีรีตองต่างๆเกินไปอย่างนี้ ว่าจะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน

เวลาจะไปไหนก็เหมือนกัน เวลาลงบันได้ ต้องเอามือคลำจมูก ลมเข้าทางด้านไหนคล่อง ถ้าลมเข้าทางด้านขวาคล่อง ก้าวเท้าขวาก่อน ถ้าลมเข้าทางด้านซ้ายคล่อง ก้าวเท้าซ้ายก่อน
ทีนี้ ถ้าลมมันเข้าจมูกคล่องทั้งสองข้าง มิต้องกระโดดลงไปเลยหรือ ไปเชื่อไม่เข้าเรื่อง นี่แหละเขาเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน มันมีเยอะแยะ ถือนั่น ถือนี่ ก่ายกอง
เวลานั่งกินข้าวนี้ก็ถือนะ บางคนหันไปทิศนั้นทิศนี้ สีลัพพตุปาทาน ซึ่งมันไม่เป็นเรื่องของความพ้นทุกข์ แต่เป็นเรื่องถ่วงทำให้เกิดทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ วิตกด้วยประการต่างๆ วิตกอย่างนั้น วิตกอย่างนี้ ยิ่งคนถือแรงๆ แล้วยิ่งวุ่นวาย จะเป็นโรคประสาทเอา สังเกตดู คนที่เป็นโรคประสาทหรือโรคจิต เนื่องจากข้อนี้ไม่ใช่น้อย เพราะถือนั่นถือนี่ มีสีลัพพตุปาทาน ทำให้เป็นโรคจิต โรคประสาทได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2018, 07:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ความยึดมั่นอยู่ในสิ่งแปลกๆต่างๆ นี้ ทำให้เกิดปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราที่นับถือพุทธศาสนา ต้องริดออกไปเสีย การที่จะริดเอาสิ่งนั้นออกไป เป็นเรื่องใหญ่ คือ ต้องมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่ง คือ เชื่อมั่นในกรรม เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยการกระทำ ไม่ได้เกิดด้วยอะไรมาดลบันดาลให้เป็นไป อะไรจะเกิดช่างเรื่องของมัน เราไม่เกี่ยว แต่เรามาพิจารณาตัวเรา ว่าเราทำถูกอยู่ ทำดีอยู่ ทำดีมีประโยชน์อยู่ แต่อะไรมาแทรกแซงในวิถีชีวิตของเรามันย่อมได้ เป็นของธรรมดา ต้องคิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น มีอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปยึดถือ ตัดทิ้งไปเสีย ใครเขามาพูดก็อย่าได้เอามายึดถือ

คนเรามันเสียตรงนี้ คืออะไรๆ ใครพูดแล้วเก็บมานั่งคิด ยิ่งบางคนเรียกว่าเป็นคนเจ้าวิตกกังวล ชอบวิตกกังวลในปัญหาร้อยแปด
ขอฝากไว้ว่าคนใดมัวแต่วิตกกังวล คนนั้นจะขึ้นบันไดไปสู่โรคประสาท แล้วย่างเข้าไปแล้ว วิตกกังวลด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆเอามาคิด เตรียมตัวเถอะ อย่าไปเก็บเอามาคิด หัดปล่อยวางเสียบ้าง หัดเฉยๆ เสียบ้าง

ถ้าจะต้องคิดคิดด้วยปัญญา อย่าคิดด้วยความเชื่องมงาย อย่าคิดด้วยความหลงใหลเข้าใจผิด ต้องคิดด้วยปัญญาว่า เขาว่า อย่างนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ มันจะเป็นไปได้หรือ สร้างปัญหาขึ้นเกิดขึ้นได้หรือ เมื่อไม่เห็นมีเรื่องอะไร เราก็ปล่อยวางเสีย จิตใจก็สบาย ไม่มีความวิตกกังวลห่วงใยอะไรมากจนเกินไป ปล่อยวางไว้เสีย ให้เข้าใกล้ผู้รู้ ผู้ฉลาด หัดสนทนาในเรื่องที่มีเหตุให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง เราก็ทำลายความเชื่อที่เหลวไหล ที่เกิดขึ้นอยู่ในจิตใจได้ นี่เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน การปล่อยวางสีลัพพตุปาทานได้ก็สบายใจ


ลิงค์เฉพาะเรื่องสีลัพพตปรามาส

viewtopic.php?f=1&t=55362

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔) สุดท้าย อัตตวาทุปาทาน. อัตตวาทุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นในตัวตน เรื่องเกี่ยวกับตัวตน ยึดมั่นว่ามีตัวมีตนอย่างมั่นคงถาวร ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และเป็นเหตุให้เกิดอะไรๆหลายอย่าง ซึ่งเนื่องมาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

อันนี้ จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนเป็นเบื้องต้นว่า คำสอนขั้นลึกของพระพุทธศาสนานั้น สอนเรื่องไม่มีตัว ให้เราจำข้อนี้ไว้ให้ดี พระพุทธศาสนาส่วนลึกนั้นสอนเรื่องไม่มีตัว

แต่ว่า พระพุทธศาสนาในส่วนตื้นๆ ในขั้นศีลธรรม ใครจะถือว่ามีตัวตนไปก่อนก็ได้ ไม่ว่าอะไร เพราะการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้น ไม่เป็นเรื่องเสียหายเท่าใดสำหรับศีลธรรม คือไม่ห้ามความสุขขั้นสวรรค์ ไม่ห้ามความสุขอย่างนั้น แต่ว่าเป็นการตัดทางไม่ให้ไปสู่นิพพาน

คนจะบรรลุนิพพานน่ะ ต้องทำลายอัตตาคือตัวตนให้หมดไป ถ้ายังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ตราบใด นิพพานไม่ถึง มันไปติดตัวติดตนติดเราติดเขาอยู่

คนที่จะถึงนิพพานนั้นจะต้องเห็นว่าอะไรเป็นอะไรเป็นของว่างเปล่า ไม่มีเนื้อแท้ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นว่าเป็นอนัตตานั้นเห็นขั้นสูง แต่ว่าคนธรรมดาสามัญยากที่จะเข้าถึงหลักอนัตตาได้ เพราะฉะนั้น จึงมีตัวอยู่ แต่ว่าตัวที่เรามีอยู่นั้น ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าใช้ไปในทางผิด ก็หมายความว่า อย่าเอาตัวไปกระทำชั่ว เพราะความยึดมั่นในตัวตนที่รุนแรง เขาเรียกว่ามีความเห็นแก่ตัว หรือมีอัตตานุทิฏฐิ

อัตตานุทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นแก่ตัว เมื่อมีความเห็นแก่ตัว มันก็ทำความชั่วได้ง่าย ทำบาปได้ง่าย

คนที่มีตัวแล้วเอาตัวไปทำบาปนั้นไม่ดี แต่ถ้ามีตัวแล้วในแง่ที่ไม่ทำบาปคิดอย่างไร ?

ถ้าเราคิดว่า เรามีตัวเราจะต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีกเราจะไปเกิดในที่เช่นไร เราก็ควรจะเกิดให้ดีขึ้น เกิดในภพในภูมิที่ดีกว่าเราเป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็การจะไปเกิดในที่ดีกว่าได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ปัจจัยเครื่องปรุงแต่งก็คือการกระทำ ซึ่งเรียกว่า กรรม

ถ้าเราทำกรรมในส่วนดีทั้ง กาย วาจา ใจ ก็ไปเกิดในที่ดี

แต่ถ้าทำไม่ดีทั้ง กาย วาจา ใจ เราก็จะไปเกิดในที่ชั่วร้าย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 20:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลักอัตตาคือถือว่ามีตัวตน ต้องมีกรรมเข้าไปเกี่ยว ผู้ที่ถือว่ามีตัวนั้นจะต้องเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม

ถ้าไม่มีความเชื่อในกฎแห่งกรรมแล้วจะเสียหาย จะเอาตัวไปใช้ในทางที่ผิด แต่ถ้ามีกรรมเป็นหลักมั่นคงในจิตใจ จะไม่เขว ไม่กระทำอะไรในเรื่องที่เสียหาย เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (ทำดีดี ทำชั่วชั่ว) เราจะหนีจากผลที่เรากระทำไว้ไม่ได้
อนาคตของชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันมันสร้างอนาคต อดีตมันก็สร้างจากปัจจุบันเหมือนกัน ถ้าปัจจุบันดีแล้ว อดีตมันก็ดี
แต่ถ้าตัวปัจจุบันเป็นความชั่ว อดีตก็จะชั่ว เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันเราทุกคน จึงควรจะจัดเรื่องปัจจุบันเสียให้เป็นการเรียบร้อย อย่าให้ตกไปในบาปอกุศล มิฉะนั้นแล้วจะทำให้ตนเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เราจึงควรคิด พูด ทำ แต่เรื่องดีเรื่องงาม เพราะมีความเชื่อว่าดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จะมีผลจากการที่เรากระทำ แล้วตัวจะเป็นผู้รับจากการกระทำนั้นไป ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เพราะผลกรรมที่ตัวได้กระทำไว้ อันนี้เรียกว่า มีตัวแล้วก็ใช้ตัวในทางที่ถูก ไม่เป็นการเสียหายแก่ผู้ประพฤติศีลธรรม ไม่เป็นการปิดประตูสวรรค์ ไมเป็นการปิดประตูแห่งพรหมโลก แต่ถ้ามีตัวตนอยู่ตลอดเวลาแล้วไปนิพพานไม่ได้


ทีนี้ เราจะเอาเพียงขั้นใดในการปฏิบัติของเราในชีวิตประจำวัน จะเอาเพียงสวรรค์หรือไปให้มันถึงนิพพาน ถ้าเอาเพียงสวรรค์ก็ให้มีตัวไปก่อน ไม่เสียหายอะไร

คนเราอยู่ในขั้นศีลธรรมนั้น ถ้าไม่มีอะไรเลย จิตมันว้าเหว่ แล้วก็จะไม่รักความงามความดี อาจคิดไปกระทำความชั่วก็ได้ คือมานึกว่า มันไม่มีอะไรนี่หว่า ทำชั่วมันก็ไม่ได้ผล มันจะให้ผลเมื่อเขารู้เขาเห็น เขาจับได้ไล่ทัน เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ไม่คิดถึงกฎแห่งกรรมที่แท้จริง ก็อาจเอียงไปทางมิจฉาทิฏฐิ อาจนำไปในทางแห่งความทุกข์ ความเดือดร้อนได้ง่าย ฐานทางจิตใจไม่ดี ซึ่งอันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างสำคัญ จึงควรเชื่อกฎแห่งกรรมไว้ให้มั่น ทำอะไรก็ควรคิดเสียก่อนจึงทำ อย่าทำด้วยอารมณ์ แต่ให้ใช้เหตุผลในการกระทำนั้น จึงจะเป็นการถูกต้องในเรื่องศีลธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2018, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ เรื่องเกี่ยวกับตนในเรื่อง ตายแล้วเกิด เกิดแล้วสูญ คนหนึ่ง คิดว่าตายแล้วไม่เกิด

อีกคน คิดว่าตายแล้วเกิดอีก ไอ้เรื่องนี้นั้น พิสูจน์กันยาก แต่เรามาพิสูจน์กันแบบนี้ว่า ความเชื่อสองอย่าง คือ หนึ่ง เชื่อว่าตายแล้วเกิด
อีกหนึ่ง ตายแล้วไม่เกิด อันไหนมันจะเป็นฐานทางศีลธรรมมากกว่ากัน

อันไหนจะเกื้อกูลให้คนประพฤติชอบมากกว่ากัน เรามาคิดในแง่นี้สักหน่อย

ถ้ามาคิดในแง่นี้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า คนที่ถือว่าตายแล้วเกิด ต้องรับว่าเขามีอนาคต มีความหวังอยู่ในกาลข้างหน้า เขาจึงตั้งใจประพฤติดี ประพฤติชอบ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนา ปฏิบัติอยู่ในขั้นศีลธรรมอันดีงาม เพราะเขามีความเชื่อมันว่าไม่ใช่ชีวิตมันมีอันจบสิ้นอยู่แต่เข้าโลง แต่มันยังมีต่อไปอีก มีการเกิดอีก เขาก็จะทำความดีต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออนาคต ชีวิตของคนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดนี้ ไม่ขาดทุนในการสร้างความดี ชีวิตไม่ตกต่ำ

ทีนี้ พวกหนึ่ง คิดว่าตายแล้วไม่เกิด อันนี้อันตรายที่สุด เพราะมันไม่มีอนาคต มีแต่เรื่องปัจจุบัน ไม่มีกาลข้างหน้า อะไรๆที่ทำกันก็เรียกว่าในเวลานี้ ในชาตินี้ ในภพที่เกิดนี้ พอตายแล้วมันก็หมดเรื่องกัน พอตายเข้าโลงเอาไปเผาเป็นขี้เถ้า มันก็หมดเรื่องเพียงเท่านั้น คนที่มีความเชื่อแบบนี้อันตราย ทำให้เกิดความเสียหายทางศีลธรรมหลายสิ่ง หลายประการ


ให้เราคิดกันว่าวัฒนธรรมอันดีอันงาม ที่มันมีอยู่ในสังคมมนุษย์ มันมีขึ้นเพราะความเชื่ออย่างไร มิได้มีความเชื่อว่าตายแล้วสูญ ถ้าใครคิดว่าตายแล้วสูญ มันจะไม่มีอะไรติดต่อไปแล้ว ลูกก็จะไม่คิดถึงพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว จะไม่สำนึกในความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เพราะคิดว่าตายแล้วเข้าโลงแล้วก็หมดเรื่องกัน มันทำให้ชีวิตสั้นมากเหลือเกิน แล้วก็ไม่ก้าวหน้าทางวัฒนธรรมประเพณีอะไร

ที่เรามีประเพณีวัฒนธรรมต่างๆกันดังนี้ ก็เพราะอะไร เช่น ชาวจีน เวลาตายแล้วต้องเอาไปฝังไว้ในฮวงซุ้ย ถ้าเป็นคนมั่งมีก็ฮวงซุ้ยใหญ่โตมโหฬาร เช่น พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าจักรพรรดิ บริเวณฮวงซุ้ยจะมีเนื้อที่นับสิบๆไร่ เดินกว่าจะเข้าไปถึงที่ฝังศพ ก็พบอะไรต่ออะไรหลายๆอย่าง เช่น รูปภาพทำด้วยหิน เป็นรูปคน รูปช้าง รูปม้า รูปสัตว์นานาชนิดที่มีอยู่ เขาจะทำไว้เป็นแถวทีเดียว
สมมติว่าไปกรุงปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ อะไรนี่น่ะ ก็จะพบว่าหลุมฝังศพของพวกคนโบราณใหญ่โตเหลือเกิน มีอะไรมากมาย แล้วคนที่ยังอยู่นี่ก็มีความสัมพันธ์กับคนที่ตายตลอดเวลา ต้องไปเยี่ยมหลุมฝังศพบ่อยๆ ปีหนึ่ง ต้องไปทำความสะอาดแผ้วถางหลุดฝังศพที่เรียกว่า เช้งเม้ง ต้องไปทำความสะอาด ไปไหว้ไปกราบ อันนี้ มันมีความสัมพันธ์ทางจิตใจ ความสัมพันธ์อันเกิดขึ้นนี้มีเพราะอะไร ฐานอะไร เพราะฐานที่ว่า ตายแล้วไม่สูญ ตายแล้วยังมีอะไรอยู่ เขาจึงได้ไปทำอย่างนั้น มันจึงเกิดการเคารพบูชาต่อบรรพบุรุษ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2018, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลัทธินับถือบรรพบุรุษนี้มีทั่วๆไป อินเดีย จีน หรือประเทศไหน ๆ ในเอเชียตะวันออกเรานี้ แม้ในเอเซียกลาง แถบตะวันออกกลางก็ถือบรรพบุรุษ เคารพบรรพบุรุษ
ชาวไอยคุปต์โบราณ สร้างหลุมศพของบรรพบุรุษที่เป็นกษัตริย์ใหญ่โตมโหฬาร เป็นแบบปิรามิด แล้วข้างในก็ใส่อะไรต่อมิอะไรจิปาถะ ทั้งของกิน ของใช้ สิ่งเหล่านี้ เขาคิดว่าผู้ตายจะได้กิน ได้ใช้ วิญญาณของเขาจะได้อยู่อย่างสบาย นี่ก็เป็นฐานมาจากความเชื่อว่ามีการเกิด

ศิลปะโบราณที่เขาฝังไว้ในดิน แล้วพวกเราไปขุดขึ้นมาศึกษาในแง่โบราณคดี ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ อันนี้ ก็เชื่อว่าเป็นเหตุของความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิด เช่น โบราณวัตถุบ้านเชียง ซึ่งเก่าแก่มาก เขาถือว่าเป็นวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนประวัติศาสตร์เมื่อไรไม่รู้ ไอ้วัตถุเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์นี้ มันถูกฝังอยู่ในดินเป็นไฟ ผมเคยไปดูแล้วที่บ้านเชียง เขาฝังไว้กับศพนั่นเอง ไม่ได้ใส่หีบ สมัยนั้นเขาไม่ได้ใส่หีบเลย เอาศพฝังไว้ในดินเฉยๆ เห็นแต่ร่างกายศพ ไม่เห็นหีบ หีบศพสมัยโบราณ ถ้าทำด้วยไม้ก็หนาๆ คงไม่ผุ วัตถุอยู่ในดินนี่คงไม่ผุไม่เปื่อย อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แต่ไม่เห็น เขาขุดลงไปในหลุม ลึกจากดินประมาณ ๒ เมตรครึ่ง ที่ในวัดมีอยู่ ๒ หลุม เขาขุดดี ขุดให้เห็นภาพการฝังศพแล้วก็เห็นกระดูกวางเรียงอยู่เป็นรูปคน แล้วก็มีหม้อใบเล็กใบใหญ่วางอยู่รอบตัวศพเลย หม้อเหล่านั้น ใส่ของกินทั้งนั้น ใส่ข้าวสาร ผลไม้ ใส่อาหารสด แล้วก็เครื่องใช้ไม้สอย วางอยู่รอบตัวศพ ที่เขาวางไว้อย่างนั้น ก็เพื่อให้วิญญาณที่ตายไปแล้วได้กินได้ใช้ แล้วก็เอาดินฝังไว้ลึก อยู่ได้อย่างถาวรเรียบร้อย
แต่ว่าคนที่ไปขุดกระจุยกระจาย อยู่ที่บ้านเชียงน่ะมันนานมาแล้ว มันมีมานานแล้ว แต่คนไม่ได้สนใจคิดว่าเป็นกระเบื้องธรรมดาๆ มีชาวอเมริกันเขามาเที่ยว มาพบกระเบื้องนี้เข้า ฝรั่งพวกนี้เขาศึกษาทางโบราณคดีมา เขาเลยเก็บกระเบื้องส่งไปที่สำนักงานใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไปพิสูจน์เขียนลงหนังสือพิมพ์ เรื่องก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ฯลฯ พวกศิลปากรเขาก็ไปขุดไว้ ขุดเป็นชั้นๆ ทำให้เห็นชั้นดินด้วย แล้วก็ให้เห็นสิ่งที่วางอยู่ด้วย

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะมีความเชื่อว่า ตายแล้ว จึงได้ทำไว้ในรูปอย่างนั้น ไม่ว่าวัตถุโบราณสถานใดๆ ซึ่งคนสมัยใหม่ได้ไปศึกษา เนื่องมาจากความเชื่อว่าตายแล้วเกิดทั้งนั้น
ถ้าพวกตายแล้วไม่เกิดนี่มันไม่ทำอะไร ฝังเฉยๆ ไม่มีอะไร ตายแล้วหมดเรื่อง มันมีแต่ร่างกาย ไม่มีวิญญาณที่เราเข้าใจว่ามี ก็เลยไม่ได้ทำอะไรในรูปอย่างนั้น ฐานมันผิดกันอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพราะฉะนั้น ความเชื่อว่าตายแล้วเกิดนี่ ไม่อันตราย ความเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดนี่ อันตราย

คนเรามันใจร้อนใจเร็ว หุนหันพลันแล่น อาจจะทำอะไรที่มันเสียหายขึ้นเมื่อใดก็ได้ เช่น เราโกรธใครขึ้นมาสักคนหนึ่ง เราไม่มีฐานเชื่อความว่ากรรมเป็นของตัว ตายแล้วจะต้องรับผลกรรมต่อไป ในโลกนี้ก็ได้รับ ตายแล้วยังจะได้รับต่อไป นี่มันไม่เชื่ออย่างนั้น ถ้าไม่เชื่ออย่างนั้นมันก็ฆ่าคนนั้นได้ง่าย ทำอะไรผิดๆ ได้ง่าย ทำอาชญากรรมประเภทแรงๆ นี่มันไม่เชื่อในเรื่องอย่างนี้

เคยไปคุยกันนักโทษในเรือนจำที่เป็นนักโทษขั้นร้ายแรง แล้วเราบอกว่ามันเป็นกรรมเก่า ไม่มีกรรมเก่าดอกครับ ชาติเดียวเท่านั้นแหละ มันถึงทำบาปนัก มันไม่มีอนาคต ไม่มีอดีต พวกนั้นไม่มีฐานความเชื่อว่าตายแล้วเกิด มันถือว่าตายแล้วหมดเรื่อง ก็เลยทำอย่างนั้น อันตราย เพราะฉะนั้น ในความสองประเภทนี้ ตายแล้วเกิด กับ ตายแล้วไม่เกิดนี่ เชื่อว่าตายแล้วเกิดดีกว่า แม้ว่าเราจะยังไม่พิสูจน์ให้เห็นชัดได้เหมือนกับเอาดินมาพิสูจน์ เอาหินมาพิสูจน์ก็ตามทีเถอะ แต่เชื่อไว้ว่าตายแล้วเกิดนั่นยังดีกว่า เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดนี่อันตรายที่สุดเลย จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อภัยอันตรายที่จะเกิดมีขึ้นแก่ตนต่อไปในกาลข้างหน้า เลยเกิดยับยั้งชั่งใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 08:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราดูของต่างๆ ที่เราทำไว้ ก็มาจากความเชื่อว่าตายแล้วเกิดทั้งนั้น เช่นว่า ลูกได้สร้างอะไร อุทิศให้แก่พ่อแม่ สร้างกุฎิเพื่ออุทิศให้คุณพ่อคุณแม่ อุทิศให้คุณย่าคุณยาย
ถ้าคนมีความเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด ก็ไม่สร้างอะไรดอก แล้วจะไม่ใส่บาตรพระด้วยซ้ำไป พวกนั้นน่ะแย่นะ อนาคตสั้นจู่
แต่ว่า พวกที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดนี่ ยังคิดอะไรอยู่มาก จึงได้กระทำอะไรๆ ที่เป็นไปในทางที่ดีงาม ไม่สร้างความเสื่อมโทรมให้แก่ชีวิตเกินไป จึงควรจะคิดให้ดีในข้อนี้ ให้คิดในข้อที่ตายแล้วเกิดดีกว่า เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดไม่ดี เพียงเท่านั้นไว้ก่อน ส่วนจะพิสูจน์หาหลักฐานอะไรกันนั้นก็ค่อยว่ากันไป ค้นคว้ากันไป ศึกษากันไป เอาหลักฐานมาพิสูจน์ เดี๋ยวนี้ ฝรั่งก็ชักจะเชื่อในเรื่องนี้มากขึ้น


ฝรั่งหรือว่า พวกคริสต์เตียน พวกอิสลาม เขาเชื่อว่ามีวิญญาณเหมือนกัน เขาไม่เชื่อว่าเกิด เขาว่าตายแล้วไม่เกิด แต่ว่ามันมีความหวังอยู่เหมือนกัน ในคัมภีร์ฝรั่งนี่เขาให้ความหวังไว้ อิสลามก็ให้ความหวังไว้ ถ้าไม่มีความหวังเลย มนุษย์จะชั่วช้าสามานย์มากขึ้นไปอีก เขามีความหวังไว้นิดหนึ่ง มีไว้ตรงไหน คือเขาว่า ตายแล้วไม่เกิดอีก แต่ว่าจะไปรออยู่ ไปรอการตัดสินในวันสิ้นโลกโน่น ความหวังมันอยู่ตรงนั้น ไปรอการตัดสินในวันสิ้นโลก โลกนี้ จะมีวันสิ้น พอถึงวันสิ้นโลกละก็ เทพเจ้าจะมาเป่าแตรให้ศพทั้งหลายที่ฝังไว้ลุกขึ้น เพราะฉะนั้น เขาไม่เผา เพราะอะไร เผาแล้วมันลุกขึ้นไม่ได้ เลยต้องฝังไว้ เอาไปฝังไว้ตามที่ต่างๆ ฝังแล้วพอวันสิ้นโลก เทพเจ้าจะเป่าแตรสนั่นก้องโลกเลย ร่างกายทั้งหลายก็ลุกขึ้นเป็นแถว เดินขบวนกันเป็นการใหญ่ คงจะเป็นล้านๆ มากมายเหลือเกินที่ไปฝัง เอาเดินขบวนเต็มทะเลทรายไปเลย เพราะแถวนั้นเป็นทรายทั้งนั้นนี่ ฝังกันไว้ เมื่อไปประชุมพร้อมกันแล้ว ก็จะมีการพิพากษา เทพเจ้าจะทำการพิพากษา ว่าใครได้ทำอะไรไว้บ้าง สิ่งที่ดีทำไว้ทั้งหมดอยู่ในบัญชีแล้ว นี่เขาให้อันนี้ไว้ดี แปลว่า ไม่มีความลับ


พระพุทธศาสนามีภาษิตว่า นัตถิ โลเก ระโห นามะ แปลว่า ที่ลับไม่มีในโลก

อิสลาม คริสต์เตียน เขาก็บอกว่ามีผู้รู้เห็น พระผู้เป็นเจ้าท่านรู้เห็นทั้งหมด ใครทำอะไรท่านรู้ แม้ทำในห้องก็รู้ ทำนอกห้องก็รู้ ทำที่ไหนพระผู้เป็นเจ้ารู้ทั้งนั้นแหละ หูท่านได้ยินสิ่งที่เราพูด ตาท่านได้เห็นสิ่งที่เราทำ เขาให้ความกลัวไว้ตรงนี้
เพราะฉะนั้น คนที่เชื่อมั่นในพระเจ้านี่กลัวพระเจ้าจะเห็น เขาไม่กระทำชั่ว และเมื่อตายแล้วให้มีความหวังไว้ว่าการตัดสินวันสุดท้ายของโลก

ทีนี้ การตัดสินน่ะ ผู้ใดกระทำความดี ก็ให้ไปอยู่ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า

พระเยซูเวลานี้ไปนั่งอยู่เบื้องขวาพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้น พวกคริสต์เตียนเขาบอกว่า พระบิดาของเราได้ไปคอยเราอยู่แล้วในสรวงสวรรค์ ว่าอย่างนั้น เราทั้งหลายจะติดตามท่านไปทีหลัง แล้วก็ให้ไปรออยู่ ตายแล้วไปรอยู่ ในหลุมศพนั่นแหละ รอลุกขึ้นฟังคำตัดสินในวันสุดท้ายของโลก แล้วตัดสินว่าใครทำดี ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าอย่างถาวรอนันตกาล
ถ้าใครทำชั่วตกนรกถาวรเลย ไม่ผุดไม่เกิดกันต่อไป ของเขาเป็นอย่างนั้น นี่คือความหวังที่ให้ไว้กับมนุษย์ แม้ว่าตายแล้วไม่เกิด แต่ความหวังมันมีอยู่ วันตัดสินในโลก เพราะฉะนั้น อย่าทำอะไรที่เป็นความชั่ว จะถูกตัดสินไปอยู่นรก
ทำดีก็จะได้ตัดสินให้ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เขาจึงย้ำหนักในเรื่องพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในก๊อด ในพระผู้เป็นเจ้า แล้วจะไม่ทำกระทำความชั่ว เพราะกลัวการตัดสินวันสุดท้าย ตริสต์เตียน กับ อิสลามเขาเป็นอย่างนั้น


ทีนี้ ฝ่ายฮินดูเขาไม่เป็นอย่างนั้น ฮินดูนี่มีวิญญาณที่ท่องเที่ยวได้ ออกจากร่างโน้นไปร่างนี้ ท่องเที่ยวออกไปจากร่างกายนี้ได้ ใครทำดีก็ไปเกิดได้ดี เช่น เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นผู้มั่งคั่ง เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่ตกต่ำ
ผู้ใดกระทำความชั่วก็จะไปเกิดในสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อะไรก็ว่ากันไปตามเรื่อง แต่ว่า วิญญาณนี้ เข้าไปเกิดในท้องสุนัขก็ได้ เกิดในท้องวัวก็ได้ เกิดในท้องควายก็ได้ ชาติก่อนเป็นคน แต่ว่าชาติต่อมาไปเกิดที่ไหน เขามีเรื่องเล่าไว้ว่า ชายคนหนึ่ง เมื่อใกล้จะตายเห็นสุนัขมันสบาย คิดตัวเองยากจนแล้วเห็นสุนัขมันมีอาหารกินสมบูรณ์ เวลาตัวเองใกล้จะตายนึกถึงสุนัข เลยไปเกิดในท้องสุนัข เกิดเป็นสุนัข ในสภาพสุนัข ต่อมาถึงจะได้เกิดในที่อื่นต่อไป มีเรื่องอย่างนี้ อันนี้ เป็นเรื่องกฎแห่งกรรม เพื่อจะให้คนได้กลัวบาปกลัวกรรมนั่นเอง เขามีกล่าวไว้อย่างนั้น


ทีนี้ พระพุทธศาสนาของเราเกิดในประเทศอินเดีย พื้นฐานของคนอินเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความเชื่ออยู่แล้ว เช่น เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏฏ์ มีอยู่พร้อมมูลแล้ว

พระพุทธเจ้าเวลาจะไปพูดกับคนธรรมดาสามัญก็ใช้ภาษาพื้นบ้าน ใช้ศัพท์พื้นบ้าน ใช้ความเชื่อแบบพื้นบ้านในขั้นศีลธรรมทั้งนั้น ให้คนเหล่านั้นได้คิดได้เชื่อในสิ่งที่ชอบ

แต่ถ้าไปพูดกับปัญญาชนที่มีการศึกษาอบรมเกี่ยวกับเรื่องจิตใจมาพอสมควรแล้ว จะไม่พูดเรื่องอย่างนี้ แต่จะพูดเรื่องไม่มีตัวกันทีเดียว พูดเรื่องอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน อันเป็นหนทางที่จะไปสู่นิพพานเพราะคนเรามีอุปนิสัยที่จะไปสู่นิพพานได้ในชีวิต ก็เลยสอนไปอีกอย่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 08:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพราะฉะนั้น ให้เรารู้ไว้เป็นสองอย่างว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น สูงสุด ไม่มีตัว ไม่มีตน เป็นอนัตตา

แต่ว่าในขั้นศีลธรรมนั้น อนุญาตให้มีไปก่อน

ถ้าไม่มีนั้น คนมันจะตีกันตาย ทำร้ายกันใหญ่ เพราะขาดหลักจิตใจ มีความเชื่อในทางขาดสูญ เขาเรียกว่า นัตถิกทิฏฐิ นี้เห็นว่าอะไรๆ มันไม่มี นี่แหละเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เข้าหลักอนัตตาในพระพุทธศาสนา

หลักอนัตตาทางพุทธศาสนานั้นมันไม่ตัวตน แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังต้องรับผลของกรรม ยังรับผลของบุญของบาป

เมื่อใดจิตบรรลุถึงขั้นอนัตตานุปัสสนาญาณ (อนัตตานุปัสสนา-การพิจารณาเห็นในสภาพที่เป็นอนัตตา คือหาตัวตนเป็นแก่นสารมิได้) มองเห็นสิ่งทั้งหลายที่ไม่มีอะไรเป็นสาระ จิตมันก็ถึงขั้นนั้น จะมาฆ่าคนไม่ได้ กิเลสมันไม่เกิด เพราะมองเห็นอะไรเป็นของว่างเปล่าไปหมด เห็นเป็นของที่ไม่มีตัวตนไปหมด กิเลสก็ไม่เกาะไม่ติด จิตมันไม่มีกิเลส

คล้ายกับเรื่องของ “เหว่ยหล่าง” ที่กล่าวว่า “ร่างกายนี้ เหมือนต้นโพธิ์ ใจเหมือนกับกระจำเงา เช็ดทุกวันฝุ่นไม่จับ” นั่นเป็นคนอื่นกล่าว

แต่ว่าเว่ยหล่าง แกกล่าวว่า “ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าฝุ่นมันจะจับที่ตรงไหน” เรื่องมันกล่าวไว้อย่างนั้น อันเป็นเรื่องที่ชาวจีนเขาเรียกว่า สูตรเว่ยหล่าง เว่ยหล่างนี้เป็นคนกวางตุ้ง บางทีก็เรียกว่า กุยเหน่ง ซึ่งจะเล่าให้ฟังหน่อยมันเข้าทีดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 14:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ในสมัยนั้น ในเมืองจีนมีพุทธศาสนานิกายหนึ่ง เรียกว่า นิกายเซ็น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ฌานะ นิกายฌานะ นั่นเอง เป็นคำสันสกฤต แปลว่า เพ่ง

นิกายนี้สืบเนื่องมาจากท่านโพธิธรรม ซึ่งท่านมาจากอินเดีย มาสอนพุทธศาสนานิกายนี้ในประเทศจีน แล้วท่านก็เป็นสังฆราชองค์แรกของนิกาย สืบมาโดยลำดับถึงองค์ที่ ๘ แล้ว องค์ที่ ๖ ก็คือ เว่ยหล่าง

เว่ยหล่าง เป็นลูกคนจน พ่อเคยทำราชการ แต่ทำผิดจึงได้ถูกออก แล้วก็ตรอมใจตายไป เหลือแต่เขากับมารดา ทำมาหากินลำบาก ต้องเข้าป่า ต้องไปทำการตัดไม้เอาฟืนไปขายเลี้ยงแม่

วันหนึ่ง ตัดฟืนไปขาย ตกลงราคากันอยู่ มีคนหนึ่ง นั่งสวด นั่งสวดมนต์ดังลั่นอยู่ สวดเขาเรียกว่า กินตังกี่ ในภาษาจีน ภาษาสันสกฤต เรียกว่า วัชรเฉทิกสูตร ภาษาอังกฤษเรียกว่า ไดมอนต์สูตร ที่แปลว่าเพชรน่ะ หรือแปลว่า สูตรเพชรตัดเพชร
เพชรมันแข็ง มันต้องเอาเพชรตัดมันถึงจะดี เขาสวดกันอยู่เสมอ ถ้าเราไปวัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดจีนอะไรก็ตาม จะเห็นว่าพวกอาซิ้มเขาไปสวดกัน ไปถึงก็มีหนังสือให้อ่าน สวด มือหนึ่งก็เคาะขันบ๊งเบ๊ง วนกันไปเรื่อยนั่นแหละ เรื่องนั้นแหละไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

เว่ยหล่างเขาได้ยินก็เข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำที่สวด ไอ้คนที่สวดอยู่นั้นไม่รู้เรื่อง แต่เด็กน้อยนี่เข้าใจก็เลยไปถามว่า ลุงทำไมจึงสวดไอ้นี่หล่ะ ตาคนสวดบอกท่านอาจารย์ที่วัดหนึ่งทางเหนือโน่น ใกล้กรุงปักกิ่ง วัดเขาอยู่แถวนั้น สั่งสอนสานุศิษย์ให้สวดอันนี้ ลุงจึงได้สวด
แล้วลุงรู้ไหมที่ลุงสวดน่ะหมายความว่าอย่างไร
ลุงไม่รู้ดอก เขาให้สวดก็สวดเรื่อยไป มันเป็นอย่างนั้น
แต่ว่าเด็กนี้เขาเข้าใจความหมาย เลยถามว่าอาจารย์นั้นอยู่ไหน ก็บอกว่าอยู่ไกล อยู่ทางเหนือโน้น หลานอยากจะไปหา ก็ไปซิ
เว่ยหล่างเขาบอกว่า หลานจะไปได้อย่างไร หลานเป็นคนจนนี่ เงินก็ไม่มี พอดีมีคนคนหนึ่งเป็นคนใจบุญสุนทานมาถึง บอกว่า ไอ้หนูอยากจะไปไหมล่ะ ที่สำนักนี่น่ะ ถ้าอยากไปละก็ ฉันจะแนะนำให้แล้วจะให้เงิน และเอาเงินให้ไป ๓ ตำลึง บอกว่าเงินนี้เอาไปให้แม่ แล้วก็ให้เงินอีกนิดหน่อยสำหรับเดินทาง เว่ยหล่างก็ไปเลย ลาแม่ออกเดินตรงไปจนถึงสำนักของอาจารย์นี่

เมื่อไปถึงแล้วก็เข้าไปหาอาจารย์ อาจารย์ถามว่า เธอมาจากไหน ? มาจากทางใต้ อาจารย์ก็บอกว่า อ้อ คนป่าคนดอย คนเมืองหลวงดูหมิ่นคนบ้านนอก เหมือนว่าไอ้คนบ้านนอกมาทำไม
เขาบอกว่า แม้ว่าผมจะเป็นคนบ้านนอก แต่ว่าจิตใจที่จะรู้ธรรมะก็เหมือนคนในเมืองเหนือเหมือนกัน ตอบแหลมคม
อาจารย์ว่า เอ้อ พูดจาแหลมคมดี ไปอยู่ในครัว ทำงานในครัว หุงข้าว ผ่าฟืน ตักน้ำ เด็กนี่เลยถูกส่งเข้าไปโรงครัวเลย

อยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมดในวัดนั้น แล้วก็บอกว่าพวกเธอทั้งหลายนี่มาอยู่ก็นานแล้ว ฉันอยากรู้ว่า จิตใจของเธอมันเข้าถึงธรรมะขนาดไหน เพราะฉะนั้น ให้ไปเขียนคำโคลงมาจากใจของเธอ จากความรู้ในทางธรรมะ ฉันจะตรวจดูว่าเธอถึงธรรมะขนาดไหน
ศิษย์ก็รับคำ เมื่อรับคำแล้วต่างคนต่างก็คิดว่า ไม่ได้ความ เราไม่ต้องเขียน ให้ท่านซินเซาหัวหน้าศิษย์เขาเขียนดีกว่า เขาเป็นหัวหน้า

ซินเซาเองก็ไปนั่งคิดว่า แหม กูจะเขียนอย่างไรดี เขียนไปแล้วมันไม่ได้ความก็เสียเหลี่ยม ไอ้ไม่เขียนเลยมันก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ต้องเขียนซะหน่อย เลยแอบไปเขียนไว้ที่ฝาริมทางเดิน ไปถึงเขียนไว้ว่า “กายเหมือนต้นโพธิ์ ใจเหมือนกระจกเงา เช็ดบ่อยๆ ฝุ่นไม่จับ” เขียนไว้เสร็จก็มานอนสะบัดร้อนสะบัดหนาว กลัวอาจารย์จะตอบว่า ไม่ได้เรื่อง

อาจารย์เมื่อถึงเวลาก็เดินผ่านมา อือ ใครเขียนไว้นี่ ก็บอกว่าท่านซินเซา หัวหน้าศิษย์ในสำนักนี้ ยังไม่ได้เรื่องยังไม่ได้ความเลย แต่ว่าใช้ได้ ให้คนไปจดไปเรียนไปท่องไว้ มันใช้ได้เพียงขั้นศีลธรรม ร่างกายเหมือนกับต้นโพธิ์ เหมือนกับต้นไม้ ใจเหมือนกระจก เช็ดบ่อยๆ ฝุ่นไม่จับ ก็นั่งเช็ดอยู่นั่นแหละไม่รู้จักจบซักที คอยเช็ดอยู่อย่าให้ฝุ่นมันจับเท่านั้นแหละ เพราะยังมีที่ให้ฝุ่นจับ มันก็ต้องจับเรื่อยไปละ

อาจารย์จึงเห็นว่า ยังไม่ได้เรื่อง แต่ว่า ใช้ได้ในแง่ปฏิบัติใช้ได้ ก็บอกให้ไปท่อง ท่องกันหมดทั้งวันเลย

วันหนึ่ง คนคนหนึ่ง เดินท่องไป “กายเหมือนต้นโพธิ์ ใจเหมือนกระจก เช็ดทุกวันฝุ่นไม่จับ” ท่องไปถึงในครัว เว่ยหล่างเขากำลังตำข้าว ได้ยินแต่มันไม่ชัดอะไรๆ ว่าอะไร ได้เจ้านั่นก็ดุเอาอีกแหละ ไอ้เด็กบ้านนอกยุ่งอยู่แต่ตำข้าวผ่าฟืน ไม่ลืมหูลืมตา เขาท่องกันทั้งวัด แล้วเราไปมุดหัวอยู่ที่ไหนล่ะ
เอาเถอะน่า ฉันมันเป็นคนบ้านนอก ไหนลองว่าให้ฟังซิ มันว่าอย่างไร ไม่ได้โต้เถียงดอก ว่าอย่างไร ว่าให้ฟังหน่อยซิ
เขาก็ว่า กายเหมือนต้นโพธิ์ ใจเหมือนกระจก เช็ดทุกวันฝุ่นไม่จับ

อือ เขาสั่นหัวแล้วก็ว่า พอไปได้ นึกในใจว่า เราต้องเขียนบ้าง ก็ไปที่ที่เขาเขียนไว้

เสมียนคนหนึ่งกำลังคัดโคลงโศลกนี้อยู่

เขาบอกว่า ท่านเสมียนช่วยเขียนให้หน่อยเถอะ เขาไม่ได้เรียนหนังสือ เขาไม่รู้หนังสือดอก
ไอ้เด็กผ่าฟืนจะมาเขียนโคลงกะเขาด้วยรึ ไม่เข้าเรื่อง ดุเอาเสียอีกแน่ะ

เว่ยหล่างจึงบอกว่า “ผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมไม่ดูหมิ่นสติปัญญาคนอื่น” ศอกกลับเอาเจ็บเหมือนกัน เด็กผ่าฟืนศอกกลับเอาเจ็บทีเดียว ผู้ปฏิบัติเขาไม่ดูหมิ่นสติปัญญาคนอื่น

เสมียนนั้นรู้สึก เอ้า บอกมา ฉันจะเขียนให้ บอกเลย “ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา ทุกอย่างว่างเปล่า แล้วฝุ่นมันจะจับตรงไหนล่ะ” นีหลักอนัตตาละมันก็ไม่มีอะไร แล้วฝุ่นมันจะจับได้อย่างไร ให้เขียนแล้วกลับมาตำข้าวต่อ

อาจารย์ลงมาเห็นเข้า ตาลุกเลย ใครเขียนนี่น่ะ ก็ไอ้เด็กที่มาจากบ้านนอกวันก่อน อาจารย์ส่งมันไปอยู่ในครัวน่ะ อาจารย์ไม่พูดอะไร เอาเท้าขยี้เสีย บอกว่าใช้ไม่ได้ แล้วเดินลัดเลาะไปหลังครัว ไปเจอเด็กคนนั้นกำลังตำข้าว อาจารย์ถามว่า ได้ดีแล้วหรือยัง ถามเป็นแบบธรรมะ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็เข้าใจว่าข้าวสารที่ซ้อมน่ะ มันเรียบร้อยแล้วหรือยัง

แต่เว่ยหล่างมิใช่เด็กตำข้าว เขาก็ลึกซึ้งกว่า ก็บอกว่า ได้ที่นานแล้ว แต่ยังหาตะแกรงสำหรับร่อนไม่ได้ ก็ตอบเป็นธรรมะ หมายความว่า ความรู้สึกนึกคิดในใจมันสุกงอมแล้ว แต่ไม่ได้ไปสอบกับอาจารย์ ไม่มีอาจารย์จะสอบ จึงตอบว่าได้ที่แล้ว แต่ไม่มีตะแกรงสำหรับร่อน อาจารย์ฟังก็เข้าใจ
พวกนักปราชญ์ด้วยกันมันก็รู้เรื่อง ถ้าไปพูดให้ควายฟังมันก็ไม่รู้เรื่อง
ทีนี้ อาจารย์ ก็เลยเอาไม้เท้าเคาะที่ครก ๓ ที ป๊อกๆๆ แล้วเดินเฉย
เว่ยหล่างรู้ว่า ๓ ทุ่ม อาจารย์นัดพบ คนมันถึงกัน พอ ๓ ทุ่มเขาก็ไปยืนรอที่หน้ากุฏิอาจารย์
อาจารย์ก็ออกมาพอดี เปิดประตู แอ๊ด ก็พบเว่ยหล่างยืนอยู่ก็พาเข้าไปในห้องเลย พาไปสอนธรรมะขั้นลึกซึ้งให้ แล้วก็มอบบาตรบริขารให้ บอกว่า เธอนี้ต่อไปจะเป็นสังฆราชสืบแทนฉัน แต่ว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้ จะถูกทำร้าย เพราะอะไรหรือ ก็ศิษย์ทั้งหลายมันริษยาน่ะซิ ว่าเด็กบ้านนอกมาผ่าฟืนเก่งกว่าเราซึ่งเรียนธรรมะมาเป็นสิบๆ ปี เดี๋ยวก็โดนทุบหัวเท่านั้น อาจารย์ก็เลยป้องกันศิษย์ บอกว่าไปเลย คืนนี้อาจารย์จะไปส่งไปจนถึงริมน้ำ

อาจารย์ก็ลงไปริมน้ำ บอกให้ศิษย์ลงไปในเรือ ฉันจะพาเธอข้ามฟาก
เว่ยหล่างก็บอกว่า อาจารย์ครับผมต้องแจวเรือเอง แล้วอาจารย์นั่ง
อาจารย์ก็บอกว่า ไม่มีธรรมเนียมที่ลูกศิษย์จะพาอาจารย์ข้ามฝั่ง อาจารย์ต้องพาลูกศิษย์ข้ามฝั่ง นี่ก็เป็นธรรมะอีก คือไม่ธรรมเนียมที่ศิษย์จะไปสอนอาจารย์ให้พ้นทุกข์ อาจารย์ต้องสอนศิษย์ให้พ้นทุกข์ อาจารย์ต้องพาลูกศิษย์ข้ามฝั่ง เธอไปนั่ง ฉันแจวเอง อาจารย์ก็แจวเอง อาจารย์ก็แจวพาลูกศิษย์ข้ามไปขึ้นฝั่ง เสร็จแล้วก็บอกว่า เธอเดินทางได้ ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรทั้งหมด หลบหลีกไปให้ดี รักษาชีวิตไว้ให้เรียบร้อย ต่อไปจะได้เป็นผู้ประกาศธรรมะในนิกายนี้ต่อไป จนมีชื่อเสียง

ศพก็ยังไว้ที่เมืองจีน ตั้งแต่สมัยโน้น เมื่อมีการปฏิวัติในประเทศจีน ระบบคอมมิวนิสต์ก็ได้ไปทำลายหลุมฝังศพในที่ต่างๆ ก็ไปเจอศพของเว่ยหล่างเข้าไม่เน่าไม่เปื่อย อยู่ในดินนี่ไม่เปื่อยเอง ไม่ใช่บุญญาบารมีอะไรดอก เขาก็เอามา มาโฆษณา ถ่ายรูปไว้ เอามาติดไว้ในหนังสือเหมือนกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องว่า ไม่มีตัวตนน่ะมันลึก

ไอ้เรื่องตัวตนน่ะมันตื้น

แต่ทีนี้เราจะเอาขั้นไหนก็ได้ ขั้นมีตัวตนก็ได้ ไม่มีตัวก็ได้

แต่ถ้ามีตัว อย่ายกตนข่มท่าน อย่าใช้ตนไปในทางที่ผิด เครื่องมือนี้ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเอาเครื่องมือไปใช้ฆ่าคนแล้ว ใช้ไม่ได้ มีมีดโกนไว้โกนหนวด หากินทางตัดผม เอามีดโกนนั้นไปเชือดคอคนมันก็ใช้ไม่ได้ เหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัว
แต่ถ้าเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์เด็ดขาด คือว่าจะไปนิพพานกันแล้ว ค่อยเปลื้องออกไป เปลื้องตัวตนให้หมดออกไปโดยลำดับ

อันนี้ การยึดถือในเรื่องตัวตนนั้น ยึดถืออย่างไร ? ยึดว่า รูปเป็นตน เวทนาเป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน วิญญาณเป็นตน หรือว่า
ตนอยู่ในรูป ตนอยู่ในเวทนา ตนอยู่ในสัญญา ตนอยู่ในสังขาร ตนอยู่ในวิญญาณ หรือพูดว่า
เอาขันธ์ ๕ เป็นต้นก็ได้ ยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่ามีตัวมีตน

พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ทำลายตัวตน เป็นสูตรที่ ๒ (เรียกว่า อนัตตลักขณสูตร)

สูตรแรก เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร พูดเรื่องที่พระองค์ตรัสรู้คืออริยสัจ ๔ อันนี้ เมื่อปัญจวัคคีย์ได้ฟังเรื่องอริยสัจ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้รู้ได้เข้าใจว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ จะดับก็เพราะเหตุดับก่อน แล้วพระองค์เห็นว่ามีอินทรีย์แก่กล้าพอจะอบรมปัญญาทางวิปัสสนาให้พ้นทุกข์ได้ ก็เทศน์สูตรที่ ๒

สูตรที่ ๒ นี่ก็เริ่มว่า รูปัง ภิกขะเว อะนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา

ถ้ารูปไม่เป็นอนัตตาแล้ว รูปก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย

ว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ก็เท่ากับว่าแยกสิ่งที่คนถือว่าเป็นตัวตนออกไป ความถือที่ว่าเป็นตัวตนนี่เขาถือว่า ฆนะสัญญา

ฆนะ แปลว่า ก้อน ฆนะสัญญา แปลว่า สำคัญมั่นหมายว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อน อันนี้ ถือว่าผิดจากความจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธศาสนานั้น เขาเรียกว่าเป็น ขณิกวาท ขณิกะ หมายความว่า ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ใช่ฆนิกวาท
ฆนิกะ แปลว่า เป็นก้อนเป็นกลุ่ม ทีนี้ ขณิกะ แปลว่า ชั่วขณะ

พระพุทธศาสนาเป็น ขณิกวาท หมายความว่า เกิด ดับ เกิด ดับ

อะไรๆ นั้นเป็นสิ่งทีเกิดดับถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา พระพุทธศาสนาส่วนลึกสอนอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่ว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง อันนี้เพื่อจะให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเนื้อแท้ คอยแยกออกเป็นก้อนเป็น ๕ ส่วนพอดี ส่วนรูป ส่วนเวทนา ส่วนสัญญา ส่วนสังขาร ส่วนวิญญาณ ให้ปัญจวัคคีย์ได้เห็นว่าแยกออกไปแล้วมันไม่มีอะไร แล้วยังแยกออกไปได้อีก

รูปนี้เป็นธาตุ เป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเรา เวทนาเป็นธาตุ สัญญาก็เป็นธาตุ สังขารก็เป็นธาตุ วิญญาณก็เป็นธาตุ รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ เป็นธาตุทั้งนั้น เป็นสิ่งที่รวมกันเข้า ไหลตามอำนาจแห่งการปรุงแต่ง ชั่วขณะ ชั่วขณะ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่ถาวร อันนี้ เป็นหลักให้พิจารณา ให้เห็นว่าตัวแท้ตัวจริงมันไม่มี แล้วจะได้ทำลายความถือมั่นในตัวตนเสียได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 15:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คคห.ท่านพูดอธิบายแยกเรื่องยึดกาย เรื่องยึดจิต เรื่องสมมติ เรื่องปรมัตถ์ (ธรรมะ) ชัดแจ๋วโล่งเลย สมมติสำหรับรู้สำหรับใช้ไม่ใช่ไปละสมมติ แต่ให้รู้ว่านั่นเขาสมมติเรียกกันว่า นั่นว่านี่ ดู


ในที่แห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่าคนที่ถือว่ากายคือตน แล้วยังไม่สู้กระไร แต่ถ้าถือว่าจิตคือตนแล้วหนักมาก
เพราะอะไร? ถือว่า กายคือตน นี้ ยังพอเปลี่ยนได้ เพราะว่าสังขารมันเปลี่ยนแปลง ร่างกายมันชำรุดทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงแก่ชราไป ยังพอจะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นได้

แต่ถ้าถือว่าจิตเป็นตัวตนแล้วหนัก เพราะว่ามองไม่เห็นความเกิดดับ คิดยากในเรื่องจิต ถ้าไปเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนเข้าแล้ว เป็นการยึดมั่นถือมั่นอย่างแรง
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เห็นกายเป็นตัวน่ะ ยังไม่ร้าย ยังพอผ่อนคลายได้

แต่ถ้าเห็นจิตเป็นตัวแล้วร้ายใหญ่ เป็นหลักธรรมชั้นสูง ที่เราควรพิจารณาเพื่อผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่น ด้วยการเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ หัดแยกออกไป

แต่ว่าในการแยกการรับนั้นรับอะไร รับสิ่งสมมติ สมมติว่าเป็นคน เราต้องรับว่านี่เป็นคน อันนี้เป็นสัตว์ นี่เป็นวัตถุ นี่เป็นสิ่งของ อันนี้เขาเรียกว่า สมมติ

ถ้าพูดว่าเป็นเนื้อแท้ ต้องพูดว่าเป็น ขันธ์ เป็น ธาตุ เป็น อายตนะ ท่านพูดตามแบบสภาวะตามธรรมชาติที่เป็นอยู่จริงๆ

อันนี้เพื่อจะได้เรียกขานได้สะดวก เอาชื่อใส่ลงไป ให้รู้ว่านั่นคน นั่นควายนะ นั่นสุนัขนะ นั่นแมวนะ แล้วในหมู่คนมันมากคน จะเรียกว่า คน คน คน มันก็ลำบาก เพราะไม่รู้ว่าคนไหนแน่ ก็เลยต้องสมมติชื่อว่า หมี เขาเรียกว่า กำนันหมี ลุงกำนัน แกก็มา ไม่ว่าอะไร

ผู้ใหญ่หมู ผู้ใหญ่หมูก็มาเหมือนกัน

นายหมาก็มาเหมือนกัน เพราะเขาชื่ออย่างนั้น มันชื่อสมมติสำหรับเรียกขาน



เราอย่าถือว่ามันดีเพราะชื่อเลย บางคนชื่ออย่างนี้แล้วก็ไปเปลี่ยน ถามว่าเปลี่ยนทำไม
เขาบอกว่า ชื่อนี้ไม่ค่อยดี เขาว่ามีกาลกิณีอยู่ในชื่อ

ครั้งพุทธกาลก็มีคนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขอเปลี่ยนชื่อ

พระองค์บอกว่า อย่าเปลี่ยนเลย เธอเดินไปพบใครแล้วถามชื่อเขาเถอะ ว่าเขาชื่ออะไร

เขาก็ออกเดินทางไปพบคนคนหนึ่ง ชื่อว่านายผอม แต่อ้วน อ้วนจ้ำม้ำเลย ก็ถามว่าชื่อะไร บอกว่าชื่อนายผอม อ๊ะ ไม่สมชื่อนี่ มันอ้วนนี่
ต่อไปก็พบอีกคนหนึ่ง ชื่อว่านายอ้วน แต่ว่าผอม
ไปพบอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า นายโย่ง แต่ตัวเตี้ยนิดเดียว
ไปพบอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า นายเตี้ย แต่ตัวสูงมาก
แล้วไปพบคนหนึ่ง ชื่อว่านายชำนาญทาง แต่ว่าหลงทาง
เขาเลยเปลี่ยนความคิดว่า ไม่ได้ความอะไร คนเรามักจะชื่อให้ตรงกันข้าม ไปพบคนบางคนชื่อว่า นายเผือก แต่ตัวดำเมี่ยมเลย หรือว่าชื่อขาว แต่ตัวไม่ขาวเลย อันนี้เป็นเรื่องธรรมะ
คนนั้นก็ไปบอกพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะข้าพระองค์ไปพบมาก็ไม่เห็นจะสมชื่ออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเปลี่ยนก็ได้

บางคนบอกว่า ตัวนี้ เป็นกาลกิณีต้องเปลี่ยนเสีย ความจริงมันไม่มีอะไร อย่างชื่อผมนี่ชื่อปั่น เขาว่าตัว “น” เป็นกาลกิณี แต่ไม่เคยก่อกรรมทำเข็ญให้แก่ใครๆ ไม่ได้เป็นกาลกิณีอะไร ตั้งแต่เด็กแล้วจนกระทั่งอายุ ๖๖ ไม่เห็นเคยเดือดร้อนเพราะไอ้ตัว “น” ตัวนั้น จะไปมีฤทธิ์เดชอะไร ไม่มีดอก

เดี๋ยวนี้ในหนังสือพิมพ์ยังงี้ เขาเอาเลขมาคิดทายไปตามเลข มันเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่ได้สาระอะไร เป็นเรื่องเอาไว้คุยกันเล่นยามว่าง นึกจะคุยอะไรก็เอาลายมือมาคุยกันมั่ง เอาดวงชะตามาคุยกันมั่ง แต่ถ้าคุยด้วยความยึดถือแล้ว มันเป็นทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 177 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร