วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 01:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2017, 05:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เทศนา เรื่อง ศีลธรรมเป็นของพิเศษ
“อยู่เท่าเดิม”
..เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติศีลธรรม เป็นนักปฏิบัติ ต้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ตามจริตนิสัยความเป็นอยู่ของเรา เคยเป็นอยู่อย่างไหน พยายามแทรกทีละเล็กทีละน้อยไป ให้เปลี่ยนแปลงขึ้นไปสู่ระดับสูงเรื่อยไป นั้นหละ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ได้ผล ถ้าใครอยู่เท่าเดิม ก็อยู่เท่าเดิมไปอย่างนั้น ก็ไม่ได้ผลสักครั้งแหละ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร





เทศนา เรื่อง เอาสมาธิเป็นยาแก้ไข้
“อาจารย์ใหญ่”
..ไปอยู่คนเดียวในภูในเขา ดูช้างร้องก๊าก ๆ กิ๊ก ๆ อยู่แถวนั้น ถ้ามันมาใกล้มาผลักที่พักก็พังเลยนะ ถึงยังไงก็ตาม หาสิ่งที่ทำให้กลัวมันถึงจะอยู่ ที่จริงไม่มีอะไรน่ากลัวสักอย่างหรอก กลัวแต่จิตไม่เป็นเท่านั้นหละ ทรมานไม่ขบไม่ฉัน ไปอยู่คนเดียวในป่าในดง มีเสือ มีสาง บางคนก็ไปได้สมาธิ ตรงที่มีเสือมาร้องนะ มันกลัว จิตลงเป็นสมาธิเลย ไปอยู่ในป่าในดง ความกลัวมาก ๆ เอ้อ ! นั้นหละอาจารย์ใหญ่ ตรงนี้ผีดุมากนะ ที่เขาว่า เอ้อ ! นั้นหละ เป็นอาจารย์ใหญ่ ถ้ามันกลัว กลัวตาย มันก็เร่งความเพียรเข้าเท่านั้นหละ ถ้าที่ไหนน่ากลัว ไม่ไปหรอก โอ๊ย ! ไม่ได้เรื่องหรอกอย่างนั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร







"การสิ้นสุดของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย"

เวลาที่ร่างกายเราตายไป เวลานั้นใจของเราจะมีบุญและบาปมาดึงให้ไปทางใดทางหนึ่ง ถ้าบุญของพวกเรามีมากกว่าบาป บุญก็จะดึงเราไปทางสวรรค์ ถ้าบาปมีมากกว่าบุญก็จะดึงใจของเราไปทางอบาย ดึงไปจนกว่าบาปกับบุญมีกำลังเท่ากัน คือไม่สามารถดึงใจของเราให้อยู่ในอบายหรือดึงให้ไปสวรรค์ได้ เวลานั้นใจของเราก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เกิดมาทำบุญทำบาปใหม่ กลับมาแก่ มาเจ็บ มาตาย มาทุกข์ใหม่

จิตใจของพวกเราเป็นอย่างนี้ จนกว่าพวกเราจะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา มาพบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะรู้จักวิธีที่จะสามารถส่งจิตส่งใจของเราให้ไปอยู่ในชั้นที่ไม่ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป ไม่ต้องกลับไปเกิดในอบาย ไม่ต้องไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต ไม่ต้องไปตกนรก
มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่รู้จักวิธีจะช่วยเหลือจิตใจของเรา ให้หลุดพ้นจากวัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

จำนวนภพชาติของพวกเราที่ได้มาเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้นับไม่ถ้วน ถ้าอยากจะรู้ว่ามากน้อยเพียงไร ท่านบอกว่าให้เอาน้ำตาที่เราหลั่งในแต่ละภพแต่ละชาตินี้ มารวบรวมเอาไว้ น้ำตาของเราที่ร้องห่มร้องไห้กันนี้ ท่านบอกว่ามีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก คิดดูก็แล้วกันว่าเราต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจกันกี่ครั้ง ถึงจะได้ขนาดน้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร

นั่นแหละคือจำนวนของภพชาติของพวกเรา คือจำนวนของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของพวกเรา แล้วยังจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา มาพบกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะบอกวิธีให้พวกเราไม่ต้องกลับมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย อีกต่อไป นี่แหละคือความประเสริฐของพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า.

ธรรมะในศาลา

วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

"การสิ้นสุดของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








...ถ้าเราชำนาญทางสมาธิ แล้วเราสามารถ
นั่งสมาธิได้ ทุกเวลาที่เราต้องการ
เวลาจิตฟุ้งเมื่อไร ทำให้มันสงบได้เมื่อนั้น
อันนั้นแหละถึงเวลาที่จะต้องมาใช้ปัญญาต่อไป
.
...แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น พยายามฝึกสติไปก่อน
พยายามทำให้สามารถควบคุมใจของเรา
ไม่ให้มันพยศ เวลามันพยศก็หยุดมันได้
ถึงแม่ว่ามันจะเป็นการ "หยุดชั่วคราว"
ก้ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย
.
...ฉะนั้น "ขั้นแรกเราต้องฝึกสติ"...
.................................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 2/8/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








"หลวงปู่ชา สุภทฺโท สอนเดินจงกรม"

"ก้าวเท้าขวาออกก่อน ให้พอดีๆ ให้นึกพุทโธ พุทโธ ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ

ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่านหรือเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอสมควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อยๆ

ต้นทางออกก็ให้รู้จัก รู้จักหมด ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง

ทำความรู้สึกให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ

ขณะที่เราเดินจงกรมนั้น บางทีความหวาดระแววความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก มันเป็นของไม่แน่

ความกล้าหาญเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา (ความจำ) รู้จิตของเราที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมด เกิดขึ้นมาในใจของเรานี้แหละ

จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน

ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นแหละ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งไปกับสุข ไม่วิ่งไปกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วก็วาง อันนี้ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อยๆ

เหนื่อยพอสมควรแล้วก็หยุด ก็ออกจากทางจงกรม ระวังให้มีสติให้ติดต่อ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีสติอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อย จนกระทั่งไปบิณฑบาต ไปรับบาตร ไปขบฉันอะไรสารพัดอย่าง ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา การยืน เดืน นั่ง นอน การนอนก็นอนตะแคงข้างขวา เอาเท้าเหลี่ยมกันอย่างนี้ กำหนดอารมณ์พุทโธ พุทโธ จนกว่าจะหลับ อันนี้เรียกว่า การนอนมีสติ

เวลาฝนตกไม่มีทางเดินจงกรม เราจะเดินบนกุฏิของเรานี้ก็ได้ คือเดินขาเดียว ตั้งขาซ้ายไว้ เอาขาขวาขยับมาข้างหน้า ขยับมาข้างหลังอย่างนี้ ท่านว่าเป็นการเดินจงกรมเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ว่าให้เรามีสติอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ให้ติตตามรู้ทุกขณะที่ปฏิบัติ"







"แก้ดวง - แก้บาป"

ใครว่าดวงไม่ดี จะไปแก้ดวงได้อย่างไร นอกจากปฏิบัติดีเท่านั้น

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในศาสนาพุทธไม่มีการทำดีเพื่อล้างบาป ขอให้ทำความเข้าใจว่า "ไม่มีการทำบุญเพื่อล้างบาป แต่การทำบุญหรือทำดีเพื่อหนีบาปนั้นเรามีหนทางที่จะทำได้"

"หลวงพ่อพุธ ฐานิโย"






"ทุกคนมีอดีต แต่อย่าไปทุกข์กับอดีต"

ที่หลวงปู่เป็นอัมพาตทุกวันนี้
หลวงปู่ก็ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วทำอะไรไว้?
แต่ที่รู้คือ ชาตินี้หลวงปู่ไม่เคยทำชั่ว

โยมก็เหมือนกัน มีใครที่แก้อดีตได้บ้าง?
เราทุกคนแก้อดีตไม่ได้
ไม่มีใครรู้ว่าชาติที่แล้วเราทำกรรมอะไรไว้?

ให้รู้มันชาตินี้ ทำจากชาตินี้ ทำจากวันนี้ ทำจากเดี๋ยวนี้

ทุกคนมีอดีต แต่อย่าไปทุกข์กับอดีต

ทุกข์ไปมันก็แก้ไม่ได้
ของมันผ่านไปแล้ว ไม่มีประโยชน์
อดีตที่ผิดที่พลาด ที่เสียที่หาย มันทำให้เรา มีวันนี้ มีเดี๋ยวนี้ จะไปแก้มันทำไม?

"โยมจะเป็นอะไรก็ตาม เราทุกคนล้วนมีกรรม ปรุงให้เกิด อย่าไปแก้ตอนที่มันส่งมาให้เกิด ให้แก้จากวันนี้ไป อย่าคิดชั่ว อย่าทำชั่ว อย่าพูดชั่ว อย่าหนีปัญหา"

พระญาณวิสาลเถร(หา สุภโร)
วัดสักกะวัน(ภูกุ้มข้าว) จ.กาฬสินธุ์







10 คำสอน ของพระอาจารย์ ชยสาโร "

1. ทุกวันนี้เราก็เป็น ""ชาวพูด"" มากกว่า ""ชาวพุทธ"" พูดจริงแต่ไม่ค่อยทำ ชาวพูด พูดเฉยๆ เราไม่ได้เป็นชาวพุทธเพราะ ""ทะเบียน"" เราเป็นชาวพุทธเพราะ ""ความเพียร"" เราเพียรพยายามเลิกละสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม พยายามบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามในชีวิต พยายามทำสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาในชีวิต

2. ""บุญ"" คือเครื่องชำระจิตใจ ให้เราขัดหรือลดอำนาจความโลภ โกรธ หลง ได้นั่นก็คือตัวบุญ บุญไม่สามารถประเมินได้ด้วยวัตถุ ไม่ใช่ว่าคนทำบุญพันบาท ได้บุญมากกว่าคนทำบุญร้อยบาท บุญไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น แต่มันอยู่ที่เจตนาของความเสียสละในการสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้คนอื่น

3. ความสบายมันอยู่ที่ความพอดี คำว่า ""พอดี"" จึงเป็นปริศนาธรรมของพุทธ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพยายามเข้าถึง เรายังไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องพูดถึง สุญญตา ความว่าง อะไรสูงส่งอย่างนั้น เราพูดถึงง่ายๆ ธรรมดาๆ คำนี้ก็พอแล้ว ทำอย่างไรชีวิตของเราจึงจะพอดี ทุกแง่ทุกมุมของชีวิต หากเรามีความพอดีก็จะสบาย

4. ""คนดี"" ในความหมายของพุทธศาสนาคือต้อง ""ฉลาด"" รู้เท่าทันคนด้วย คนที่ไม่รู้มักคิดว่าถ้าเป็นคนดีจะมองทุกคนในแง่ดีหมด แล้วจะถูกคนไม่ดีเอาเปรียบ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้องของ ""คนดี""

5. หลวงพ่อชาสอนว่าความสบายมี 2 อย่าง คือ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความสบาย และ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบาย บางทีเราต้องผ่านความไม่สบายก่อนเราจึงได้ความสบายที่มีคุณค่า เพราะความสบายบางอย่างถึงแม้ว่าจะให้ความสุขในปัจจุบันแต่ก็เกิดความไม่สบายในอนาคต เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะทำลายธรรมชาติเพื่อความสุขความสบายอยู่ในขณะปัจจุบัน หรืออาจจะทำเพื่อลูกเพื่อหลานของเราได้ โดยลืมเสียว่าลูกของเราหลานของเราก็จะมีลูกมีหลานเหมือนกัน การสงเคราะห์ลูกหลานของเราอาจเป็นการเบียดเบียนลูกของลูกๆ ที่ยังไม่ได้เกิด

6. ความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต ชอบโทษคนอื่นชอบเป็น ""นักโทษ"" โทษคนนั้นโทษคนนี้โทษพ่อแม่ โทษลูกหลาน โทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร สิ่งที่โทษได้ในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงื่อนไขหรือเป็นปัจจัยหรือเป็นจุดกระตุ้น ความทุกข์อยู่ที่ใจ

7. พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ""ความเชื่อ"" เหมือนของขมๆ เอาของขมไว้ในภาชนะเล็กๆ เช่น แก้วน้ำ จะทำให้น้ำในแก้วขมหมดเลย แต่สมมุติว่าเอาของขมนั้นไปไว้ในแทงค์น้ำใหญ่ๆ เปิดก๊อกชิมน้ำดื่มน้ำก็ไม่ขม แต่ไม่ใช่ว่าความขมหรือของขมหายไปเลย มันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมแต่ว่ามีก็เหมือนกับไม่มี เพราะสิ่งที่จืด สิ่งที่สะอาด สิ่งที่ไม่ขมมากกว่าเสียจนความขมนั้นเกือบจะไม่มีความหมาย ถ้าเราทำคุณงามความดีไว้มากไม่ใช่ว่าจะลบล้างกรรมเก่าหรือบาปอกุศลที่ไม่ดีได้ทั้งหมด แต่เหมือนกับว่าพลังหรืออำนาจของความดีจะมากกว่าพลังของความชั่วจนมีเหมือนกับไม่มี

8. ถ้าเป็นคนดีแล้วรำคาญคนที่ไม่ดี ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เลิกแล้วดูคนอื่นสูบก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่า ""ติดดี"" ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดี ท่านไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์แก่ใจ

9. พระพุทธศาสนาบอกว่าโกรธเขาคือ ""เกิด"" รักเขาคือเกิด อิจฉาเขาก็คือเกิด หลายคนบอกว่าไม่อยากเกิดอีกแล้ว แต่ยังพอใจจะไปโกรธคนนั้น อิจฉาคนนี้ มันขัดกันอยู่ในตัว ฉะนั้นต้องเบื่อที่จะไปอิจฉาเขา เบื่อที่จะไปโกรธเขา เบื่อที่จะไปอยากได้ อยากมี เกิดก็คือความเกิดของกิเลส ถ้าเราไม่อยากเกิด ก็อย่าให้กิเลสเกิด

10. ขอให้เราทุกคนเป็นผู้ไม่มีซีเคร็ต ""ไม่มีความลับ"" พระพุทธองค์สอนว่า ""ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ต่อหน้าคนอื่นเป็นอย่างไร ลับหลังก็เป็นอย่างนั้น"" หากไม่มีลับลมคมใน ไม่มีความลับ ไม่มีสิ่งไม่ดีที่ต้องปิดบังอำพราง เราจะอยู่ด้วยกันด้วยความไว้วางใจ มีความเคารพซึ่งกันและกัน"







"เขาพูดว่าเราดี เราก็ไม่ดีเหมือนคำเขาพูด
เขาพูดว่าเราชั่ว เราก็ไม่ชั่วเหมือนคำเขาพูด
ถ้าเราไม่ยึด เราไม่มี จะเอาอะไรไปดีไปชั่ว"
-:-หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล-:-






"การเอาใจ ไม่ใช่กตัญญูกตเวที
การเอาใจนั้น เป็นไปได้ทั้งทางที่ควร
และไม่ควร แต่การแสดงกตัญญูกตเวทีนั้น
เป็นไปได้ในทางดีทางเดียว

ผู้มีพระคุณ ทำไม่ดีไม่ชอบ
จะแสดงกตัญญูกตเวที ต้องช่วยวิธีใดก็ตาม
เพื่อให้เลิกทำเช่นนั้น ไม่จำเป็นจะต้องให้ถูกใจ
อย่างเดียว

จะขัดใจบ้าง หรือแม้จะขัดใจอย่างยิ่ง
ก็ควรทำ หากด้วยการทำเช่นนั้น
จะสามารถช่วยให้ผู้มีพระคุณ หยุดทำไม่ดี
หันมาทำดีได้

ไม่มีการตอบแทนพระคุณใด
จะงดงาม เท่าการช่วยให้ท่านมีโอกาส
ได้ทำดีทำชอบ"

-:-สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สังฆปรินายกฯ-:-







"มีสติรู้ตัว รู้ลมหายใจ เข้าออก
มีสติพิจารณา ในความเป็นธรรมชาติ
ที่มีเห็นอยู่รอบๆ ตัวเรานี้ ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง

เกิดมีขึ้นแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป
ไม่หยุดนิ่ง แล้วก็ดับหาย ตายจากไป
ไม่เรา จากสิ่งนั้นไปก่อน
สิ่งนั้น ก็จากเราไปก่อน

ไม่มีใครจะยึดเหนี่ยวรั้ง สิ่งใดไว้ได้
เป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหลไป
อยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดา อย่ายึดถือไว้
เป็นความทุกข์"

-:-หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร-:-


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 146 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร