ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ฐานของอารมณ์กรรมฐาน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=50267
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  รสมน [ 14 มิ.ย. 2015, 10:20 ]
หัวข้อกระทู้:  ฐานของอารมณ์กรรมฐาน

ที่ตั้งฐานสูงต่ำแห่งอารมณ์ของจิต

กรรมฐานบางประเภทอันเป็นอารมณ์ของจิตย่อมมีฐานเป็นตัวอยู่แล้ว เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน มีฐานเป็นของตัวอยู่โดยเฉพาะ ส่วนหนังบางส่วนที่ถูกกำหนดเป็นฐาน ย่อมทราบว่าอยู่ในที่เช่นไร สิ่งที่ถูกกำหนดนั้น ๆ พึงทราบไว้ว่ามีอยู่ อารมณ์แห่งกรรมฐานในที่เช่นนั้น ๆ สูงหรือต่ำประการใด สิ่งนั้น ๆ มีฐานของตนที่เป็นอยู่ตายตัว เช่น ฟันมีอยู่ในมุขทวาร ผมตั้งอยู่บนศีรษะมีส่วนสูงเป็นที่อยู่ นอกนั้น เช่น หนัง ผม ขน เอ็น กระดูก มีอยู่ในที่ทั่วไปตามแต่จะกำหนดเอาอาการใดเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐาน และอาการนั้น ๆ ตั้งอยู่ในที่เช่นไร เวลากำหนดสิ่งนั้น ๆ เป็นอารมณ์ตามฐานของตนที่ตั้งอยู่สูงหรือต่ำประการใด กรุณาทราบไว้ตามฐานของสิ่งนั้น ๆ


เวลากำหนดอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมาเป็นอารมณ์ในขณะภาวนา พึงกำหนดเฉพาะอาการนั้นเป็นสำคัญกว่าความสูงหรือต่ำที่กำหนดไว้เดิม เช่นเดียวกับท่านั่งสมาธิที่เอนเอียงไปบ้างไม่สำคัญ ความสูงหรือต่ำที่เรากำหนดไว้เดิมอย่างไร ก็ปล่อยตามสภาพเดิม อย่ายกกรรมฐานที่เคยกำหนดแล้วว่าอยู่ในที่เช่นนั้นมาตั้งใหม่เรื่อย ๆ โดยเข้าใจว่าเคลื่อนจากที่เดิม ถ้ายกมาตั้งใหม่ตามความสำคัญของใจ จะทำให้เป็นกังวลไปกับฐานนั้น ๆ ไม่เป็นอันกำหนดภาวนากับกรรมฐานบทนั้นได้อย่างถนัดชัดเจน เช่น กำหนดกระดูกศีรษะและเพ่งสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ จนปรากฏเห็นเป็นภาพชัดเจนเหมือนกับดูด้วยตาเนื้อ แต่แล้วเกิดความสำคัญขึ้นว่ากระดูกศีรษะนั้นได้เคลื่อนจากฐานบนมาอยู่ฐานล่างซึ่งผิดกับความจริง แล้วกำหนดใหม่ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความลูบคลำสงสัยให้แก่ใจอยู่เสมอ ไม่มีเวลาพิจารณาอาการนั้น ๆ ให้แนบสนิทลงได้

ที่ถูกควรกำหนดอาการนั้น ๆ ให้อยู่ในความรู้สึกหรือความเห็นภาพแห่งอาการนั้น ๆ ด้วยความรู้สึกทางสติไปตลอดสาย แม้ภาพของอาการนั้น ๆ จะแสดงอาการใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงหรือแสดงอาการแตกสลายไป ก็ควรกำหนดรู้ไปตามอาการของมัน โดยไม่คำนึงถึงความสูงต่ำที่เคยกำหนดไว้เดิม การทำอย่างนี้จะทำให้จิตแนบสนิทและเกิดความสลดสังเวชไปกับอาการที่กำหนด ซึ่งแสดงอาการแปรสภาพให้เห็นอย่างเต็มใจ

การกำหนดลมหายใจและฐานที่ตั้งของลมก็เหมือนกัน เมื่อกำหนดลมทีแรกได้กำหนดไว้ในที่เช่นไร เช่น กำหนดที่ดั้งจมูกเป็นต้น เวลาดูลมเพลินไปด้วยความสนใจอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาในเวลานั้นได้ว่า ลมได้เคลื่อนจากดั้งจมูกไปอยู่ในฐานอื่นเป็นต้น แล้วตั้งลมที่ดั้งจมูกใหม่ดังนี้ เรียกว่าก่อกวนตัวเองด้วยความสำคัญ จะไม่เกิดผลได้เลย เพราะความสงสัยมาแย่งเอาไปเสียหมด เพื่อความถูกต้องและหายกังวลในฐานต่าง ๆ จึงควรปฏิบัติตามที่กล่าวมาในอาการอื่น ๆ คือพึงทำความรู้ชัดในกองลมที่ผ่านเข้าผ่านออกด้วยสติทุกระยะไปจนถึงที่สุดของลม แม้ฐานของลมจะปรากฏว่าสูงต่ำ หรือผิดฐานเดิมไปตามความเข้าใจก็ตาม จะไม่ทำให้การกำหนดนั้นเสียไปแม้แต่น้อยเลย ยิ่งจะทำให้จิตกับลมสนิทแนบต่อกันไปตลอดที่สุดของการภาวนาหรือที่สุดของลม

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน



ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่น่าดีใจที่
ธรรมะ"ความจริง"ไม่เคยเปลี่ยน
ความจริงก็ต้องเป็นความจริงอยู่อย่างงั้น
ความจริงก็คือความยุติธรรม
"ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว"
ธรรมะความจริงข้อนี้ไม่เคยเปลี่ยน

เจ้าของ:  sirinpho [ 22 มิ.ย. 2015, 11:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ฐานของอารมณ์กรรมฐาน

:b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/