วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 13:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2016, 05:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ให้สร้างบุญสร้างกุศลนั่นแหละไปไหนเย็นใจสบายใจ
สร้างบุญสร้างกุศลมากๆ จิตใจเบาหวิวเลย มันมาเบาอยู่ที่ใจนะ
เราสร้างอะไรก็ตามความดีงามทั้งหลายมาเบาอยู่ที่ใจของเรา
เบาหวิวๆ พอลมหายใจขาดก็ดีดเลย ดีดขึ้นนะ ไม่ใช่ดีดลง
คนสร้างบาปสร้างกรรมมากๆ ดีดลงเลย
ถ้าคนสร้างบุญสร้างกุศลมากๆ ดีดขึ้น ให้จำเอาไว้

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน





เมื่อภาวนาอยู่ไม่รู้จักคำว่า “หยุดถอย” อยู่มาวันหนึ่งในพรรษาที่ ๓
มานั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นกระบกที่วัดทรายงาม
จิตรวมใหญ่ด้วยการพิจารณากายอย่างละเอียดถึงที่สุด
การพิจารณากายครั้งนี้ ปรากฏประหนึ่งว่า “แผ่นดิน แผ่นฟ้าละลายหมด
กายกับใจนี้มันขาดออกจากกัน เหมือนว่าโลกนี้ขาดพรึบลงไป ไม่มีอะไรเหลือเลย
แม้แต่ร่างกายก็สูญหายไปหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้ทีเดียว”
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้แปลกประหลาดอัศจรรย์และพิสดารอย่างลึกล้ำ
ถึงกับได้อุทานภายในใจว่า
“นี่แหละชีวิตอันประเสริฐ เราได้พานพบแล้ว”
คืนนั้นจึงเป็นคืนที่น่าจดจำอย่างไม่มีวันลืมธรรมชาติของจิตนี้มันแปลกกว่าที่คาดอยู่มาก
มากขนาดว่าก่อนจิตรวมกับหลังจิตรวมนี้มันเหมือนคนละคน
ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกัน อันนี้พูดในด้านธรรมะนะ ไม่ได้โอ้อวด
พอจิตนี้รวมถึงที่สุดแล้ว ถอนจิตออกจากสมาธิแล้ว
จิตนี้มันอาจหาญ ไม่กลัวใคร คำไม่กลัว ไม่ได้หมายว่าเราเป็นนักเลง
คือไม่กลัว ต่อความจริง อันไหนเป็นความจริงเราอาจหาญที่จะต่อสู้และพิจารณา
เรียกว่า “ธรรมทำให้กล้าหาญ”
เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก
จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้
เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง
อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง
จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย ทั้งๆ ที่เคยสัญญากับคนรักไว้ก่อนบวชว่า
“บวชเพียงหนึ่งพรรษา ก็จะสึกออกมาแต่งงานกัน”
เมื่อจิตมิได้เยื่อใยในโลกเช่นนั้นอยู่มาวันหนึ่งเดินออกบิณฑบาต เจอคนที่เราเคยรักมาใส่บาตร
เราจึงบอกสาวคนที่เรารักนั้นไปว่า “แป้งเอ๊ย...ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ”
เมื่อเป็นสันทิฏฐิกธรรม คือรู้เองเห็นเองเฉพาะตนแล้ว
จึงไม่นำไปพูดกับใครและปิดไว้ไม่ให้ใครรู้
จึงนึกถึงแต่กิตติศัพท์และกิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท





ผู้ใดถ้าเป็นผู้รู้ บุคคลผู้นั้นก็ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ทำความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วทั้งหมดผู้รู้ไม่ทำ คนที่ยังทำความชั่วอยู่ คนประเภทนี้ชื่อว่ายังไม่รู้ หรือว่ารู้ไม่ครบ

คือว่ารู้ดีบ้าง รู้ชั่วบ้าง ถ้ารู้ชั่วบ้างก็ถือว่าไม่รู้ เพราะความชั่วต่าง ๆ เป็นปัจจัยของความทุกข์ เมื่อทำแล้วเกิดความเร่าร้อน

โลกใดถ้ามีสัตว์เดรัจฉาน โลกนั้นยังไม่รู้จริง นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั่นเป็นคนที่ไม่รู้จริง ความรู้น้อยมากเกินไป ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานทุกตัวมาจากคน คนที่ทำ ความชั่วบาปอกุศลอย่าง

๑. ฆ่าสัตว์
๒. ลักทรัพย์
๓. ประพฤติผิดในกาม
๔. พูดมุสาวาท
๕. พูดคำหยาบ
๖. พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน
๗. พูดจาเหลวไหลไร้ประโยชน์
๘. คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นโดยไม่ชอบธรรม
๙. คิดประทุษร้ายชาวบ้าน เช่น จองล้างจองผลาญ จองเวรจองกรรม แล้วก็
๑๐. มีความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง มีความอกตัญญูไม่รู้คุณคน

คนใดที่ไม่รู้คุณคนนั้น แทนที่จะยอมรับนับถือ กลับอกตัญญูสนองเขาด้วยความชั่ว ชื่อว่ามีความเห็นผิด คนประเภทนี้ถ้าตายจากความเป็นคน ก็ต้องไปเกิดในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น แล้วก็มาเป็นเปรต มาเป็นอสุรกาย แล้วก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นสัตว์เดรัจ ฉานทุกตัวก็มาจากคน ไม่ใช่ถือกำเนิดเกิดมาในโลกเป็นสัตว์ทีเดียว เกิดเป็นคนก่อนแต่เป็นคนที่มีความชั่ว

จากหนังสือ รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๖ หน้าที่ ๑๐ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน





“ท่านพ่อลี ธมฺมธโร” ลำดับอานาปานสติ

(1). เวลาเรานั่ง ถ้าเรายังสังเกตลมไม่ได้ก็ให้ตั้งใจว่า “เราจะหายใจเข้า เราจะหายใจออก” (คือ เราจะเป็นผู้หายใจ ไม่ใช่ปล่อยให้มันหายใจเองโดยธรรมชาติ)

ตั้งสติทำดังนี้ทุกครั้งที่หายใจ แล้วเราก็จะจับลมได้

(2). การกั้นจิตให้รู้อยู่ในตัว ไม่ใช่หมายความว่า ให้กั้นโดยกักขัง ได้แก่ การสะกดจิต สะกดลม กลั้นลม จนเกิดความอึดอัดขาดความอิสระ อย่ากลั้นลม หรือสกัดลมไว้ ต้องปล่อยให้จิตอยู่เฉยๆ ให้มีอิสระตามสภาพของมัน เพียงแต่คอยกันจิตไว้ให้อยู่คนละทางกับอารมณ์เท่านั้น ถ้าไปสะกดจิตสะกดลมเข้าแล้วก็จะทำให้ร่างกายอึดอัดทำการงานไม่สะดวก อาจทำให้ปวดให้เมื่อยบ้าง ทำให้ขัดยอกบ้าง หรือทำให้มึนชาเป็นเหน็บก็ได้ ฉะนั้น จึงต้องปล่อยให้จิตอยู่โดยธรรมดาของมันเอง คอยระวังแต่ไม่ให้วอกแวกหรือยื่นออกไปในสัญญาอารมณ์ภายนอกอย่างเดียวเท่า นั้น

(3). การกั้นจิตไม่ให้ยื่นออกไปหาสัญญา หรือกั้นสัญญาไม่ให้ยื่นเข้ามาถึงจิตนี้ก็เหมือนกับเราปิดประตูหน้าต่างบ้าน ของเรา ไม่ให้แมว สุนัขหรือผู้ร้ายเข้ามาในบ้าน ได้แก่ การปิดทวารทั้ง 6 เสีย คือ 1.จักขุทวาร รูปต่างๆ ที่รับจากทางตา 2.โสตทวาร เสียงทั้งหลายที่ได้ยินจากทางหู 3.ฆานทวาร กลิ่นทั้งหมดที่ได้รับจากทางจมูก 4.ชิวหาทวาร รสทุกชนิดที่ได้รับจากทางลิ้น 5.มโนทวาร อารมณ์ต่างๆ ที่กระทบทางใจ 6.กายทวาร สิ่งสัมผัสต่างๆ ที่กระทบทางกาย

สัญญาที่เกิดจากทวารทั้ง 6 นี้ ทั้งดีและไม่ดี ทั้งเก่าและใหม่ ต้องตัดทิ้งให้หมด

(4). “สัญญา” คือ ทูต หรือสื่อ แห่งความชั่วร้าย เพราะเป็นผู้นำมาแห่งความทุกข์เดือดร้อน ถ้าเราคบมันไว้ก็เท่ากับเราเป็นใจให้ผู้ร้ายมาปล้นบ้านของเราเอง ทรัพย์สมบัติของเรา ก็มีแต่จะพินาศหมดไปไม่มีอะไรเหลือติดตัว

(5). นิวรณ์ต่างๆ เกิดจากสัญญา อดีตบ้าง อนาคตบ้าง ถ้าจะเปรียบก็จะเหมือนกับต้นหญ้าต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในนาหรือที่ดินของเรา มีแต่จะแย่งอาหารต้นไม้อื่นและทำให้พื้นดินรก หาประโยชน์อันใดมิได้ จะมีประโยชน์ก็แต่สัตว์ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เคี้ยวกินเป็นอาหารนั้น เพราะเป็นธรรมชาติของมันจะต้องกิน ถ้าใครปล่อยให้ที่ดินของตนรกไปด้วยหญ้าแล้ว พืชผลที่เกิดจากที่ดินนั้นก็ย่อมงอกงามเจริญขึ้นมาไม่ได้ ฉันใดก็ดี ถ้าเราไม่มีสัญญาอารมณ์ออกจากใจแล้ว เราก็จะไม่สามารถทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสบริสุทธิ์ได้

สัญญาเป็นอาหารของคนโง่ ที่เห็นว่าเป็นของเอร็ดอร่อย แต่นักปราชญ์บัณฑิตท่านจะไม่ยอมบริโภคเลย

(6). นิวรณ์ 5 ที่เปรียบเหมือนกับต้นหญ้านั้นย่อมมีลักษณะอาหารต่างๆ กัน

กามฉันทะ ก็ได้แก่ใจที่กำหนัดยินดีและเพลิดเพลินไปในอารมณ์

พยาปาทะ ใจที่ไม่ชอบ มีโกรธ มีเกลียด มีชัง เป็นต้น

ถีน มิทธะ ใจที่เหงาหงอย ง่วงซึม หดหู่ ไม่เบิกบาน อุทธัจจกุกกุจจะ ใจที่หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ วิจิกิจฉา ใจที่ลังเลสงสัยในศีลธรรมในข้อปฏิบัติของตน

ทั้งหมดนี้ “อุทธัจจกุกกุจจะ” ดูเหมือนจะเป็นหญ้าที่มีพิษร้ายแรงกว่าอย่างอื่นทั้งหมด เพราะมีทั้งหงุดหงิดฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ เป็นหญ้าประเภทมีหนามและใบของมันก็คมด้วย ถ้าใครถูกเข้าก็ต้องมีพิษแปลบปลาบและแสบร้อนไปทั้งตัว

ฉะนั้น จงพากันทำลายมันเสีย อย่าให้มันมีขึ้นได้ในพื้นที่นาของเราเลย

(7). อานาปานสติภาวนา เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้เป็นหลักปฏิบัติ สำหรับขับไล่และปราบนิวรณ์ต่างๆ เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป คือ การภาวนาที่ใช้สติกำหนดอยู่กับลมหายใจ

วิตก ได้แก่ การกำหนดลม

วิจาร ได้แก่ การขยายลม

วิตกวิจาร เป็น กาเย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย คือ พิจารณาลมในกองธาตุ หรือพิจารณากายในกาย

วิตก เปรียบกับไถ วิจารเปรียบกับคราด ถ้าเราเพียงใช้ไถกับคราดบนที่นาของเราเสมอๆ แล้ว หญ้าทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นได้ พืชพันธุ์ที่หว่านไว้ก็จะเกิดผลงอกงามไพบูลย์ พื้นที่นาซึ่งเปรียบเหมือนกับร่างกายของเรา คือ ธาตุ 4 ก็สงบ ธาตุดินก็ไม่กำเริบ ธาตุน้ำก็ไม่เสีย ธาตุไฟก็ไม่อ่อน ธาตุลมก็ไม่กล้า ทุกๆ ธาตุก็ตั้งอยู่ปรกติ ไม่มีความยิ่งหย่อน มีความเสมอภาคกัน หมดทุกๆ ส่วน ร่างกายก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีอาการเจ็บไข้ อากาศก็โล่ง ใจก็โปร่ง ปราศจากนิวรณ์

(8). เมื่อเราปราบพื้นที่ของเราราบเรียบแล้ว ต่อไปนี้พืชมหากุศล คือ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณก็จะผุดขึ้นในดวงจิตดวงใจของเรา ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจ ก็จะเกิดความปีติ ความอิ่มใจ อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ ความรักความพอใจชอบใจในข้อปฏิบัติของตน วิริยะ ความพากเพียรบากบั่นไม่ทอดทิ้งในข้อปฏิบัติของตน วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญในข้อปฏิบัติของตนก็ย่อมเจริญขึ้นเป็นลำดับ

อิทธิ บาทนี้เปรียบเหมือนกับขาตู้หรือขาโต๊ะ 4 ขาที่ยันไว้ให้วัตถุนั้นตั้งตรงไม่คลอนแคลน เป็นอำนาจอันหนึ่งที่จะพยุงตัวเราให้แข็งแรงและก้าวไปสู่ที่สูงได้

จะ เปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเครื่องยา 4 สิ่งที่ประกอบกันขึ้นแล้วก็กลายเป็นยาอายุวัฒนะอย่างวิเศษขนานหนึ่ง ซึ่งใครกินแล้วไม่ตาย มีอายุยืน ถ้าใครอยากตายก็ไม่ต้องกิน ถ้าใครไม่อยากตายก็กินให้มากๆ ยิ่งกินได้มาก โรคที่เกาะกินใจของเราก็จะหายเร็ว คือ กิเลสมันตาย ฉะนั้น ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นโรคมากก็ควรกินยาขนาดนี้เสีย

(9). การตัดสัญญาต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าให้เราตัดความคิด เราไม่ได้ตัดความคิดนึกให้หายไป เป็นแต่น้อมความนึกคิดมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น มานึกตรวจตรองในข้อกัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่ง ถ้าเราให้จิตของเราทำงานอย่างนี้ เราก็จะไม่มีทุกข์และไม่เกิดโทษขึ้นแก่ใจและตัวเราเอง

(10). ปกติจิตของเราก็ทำงานอยู่เสมอ แต่งานนั้นไม่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นเรื่องวุ่นวาย ยุ่งๆ เหลวไหล ไม่มีสารประโยชน์ เราจึงต้องหางานที่มีสารประโยชน์มาให้จิตทำ คือ หาเรื่องดีๆ ไม่มีโทษ เรื่องที่เราทำนี้คือ อานาปานสติ ได้แก่ การตั้งใจกำหนดจริงของเราเอง หรือกำหนดลมหายใจของเราเอง เราจะงดเว้นงานอื่นทั้งหมด ตั้งหน้าทำงานนี้อย่างเดียว นี่เป็นจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิ





ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
คืนที่ ๙๗๙ บารมีและอาสวะ : สุคติ ทุคติ

และแม้ว่าทุกคนจะไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าจะไปยังไง จะตายเกิดหรือจะตายสูญอย่างไร ด้วยญาณปัญญาของตนเอง แต่เมื่ออาศัยศรัทธาคือความเชื่อตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะทราบได้ ว่าหาได้ทิ้งไว้ทุกอย่างไม่ ยังจะต้องถือเอาบุญบาปที่ได้กระทำไว้แล้วไป บุญก็ให้ไปดี บาปก็ให้ไปชั่ว ไปชั่วก็เป็นทุคติ ไปดีก็เป็นสุคติ

เพราะฉะนั้น หากพิจารณาดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้พากันบังเกิดความไม่ประมาท และในขณะที่ยังสามารถอยู่ก็ประกอบกรณียะคือกิจที่ควรทำอันเป็นประโยชน์ต่างๆ ตามหน้าที่ของตนก็ตาม ตามที่ควรทำก็ตาม ให้ไว้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และในการที่มีความไม่ประมาทประกอบกรรมดีต่างๆ นี้ ทุกคนสามารถจะกระทำได้ และการกระทำดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการกระทำกรรมที่ดี เพิ่มกรรมที่ดี เพิ่มบารมีอยู่เสมอ โดยอาศัยพุทธปฏิปทา คือปฏิปทาของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออก ปัญญา วิริยะ ความเพียร ขันติ ความอดทน สัจจะ ความจริง อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น และเมตตาความปรารถนาให้เป็นสุข อุเบกขาความเข้าไปเพ่งดู วางได้ เฉยได้ ในสิ่งที่ควรวางควรเฉยทั้งหลาย ด้วยปัญญาคือความรู้.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 142 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร