วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 22:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 09:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


มหายานไม่ใช่เซ็น- เซ็นไม่ใช่มหายาน

ปรัศนี: มีผู้กล่าวว่า ท่านอาจารย์เอาลัทธิเซ็นมาเผยแพร่ในประเทศไทย แล้วก็สอนอะไรๆ เป็นเซ็น หรือมหายานไปหมด เป็นการเสียหายอย่างยิ่งแก่พุทธศาสนา นี่อาจารย์จะว่าอย่างไรครับ?

พุทธทาส: แปลว่า คนถามนั่นไม่รู้อะไรเป็นอะไร เขาไม่รู้ว่า เซ็นก็คือพุทธศาสนานั่นเอง คือหลักพุทธศาสนาที่เอาไปปรับปรุงวิธีพูด วิธีสอนให้มันโลดโผนรุนแรง ให้มันเหมาะกับคนเฉียบแหลม มีสติปัญญาของประเทศจีนในสมัยนั้น ประเทศจีนในสมัยที่พระพุทธศาสนานี้เข้าไปถึง ประชาชนส่วนใหญ่มันฉลาดอยู่ก่อนแล้วด้วยลัทธิขงจื้อ ลัทธิเล่าจื้อ ลัทธิเต๋า เขาฉลาดมาก จะไปสอนพุทธศาสนางุ่มง่ามๆ ธรรมดาอย่างนี้เขาไม่เอาหรอก มันต้องมีวิธีพูด วิธีสอนให้คมคายโลดโผน มันจึงเกิดวิธีพูดวิธีสอนอย่างเซ็นขึ้นมา แล้วก็เป็นพุทธศาสนาอยู่ตามเดิม ไม่ใช่เป็นศาสนาอื่นไป

ลัทธิเซ็นทุกนิกายเอามาดูแล้ว ก็สอนตรงกันในข้อที่ว่า อย่ามีอุปาทานในขันธ์ทั้งห้านั่นแหละ จะยกเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาแล้วก็สอนอย่าให้มีอุปาทานในขันธ์ แต่ละขันธ์อย่างนี้ทั้งนั้น แต่วิธีพูดวิธีสอนนั้นมีอย่างอื่นให้มันโลดโผนให้มันจับจิตจับใจ ก็เป็นพุทธศาสนาที่มีวิธีพูดอย่างใหม่ให้มันโลดโผน เซ็นนั้นก็ไม่ใช่ลัทธิอื่น ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา

ทีนี้คนถามนี้ไม่รู้อะไรเสียแล้ว แสดงว่า สอนอย่างนั้นเป็นเซ็น เป็นมหายานไปหมด มหายานนั้นไม่ใช่เซ็น เซ็นนั้นไม่ใช่มหายาน เซ็นเกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนมหายานมากกว่า มหายานนั้นมันง่ายเกินไป เพียงแต่ทำพิธีรีตองอย่างนั้นอย่างนี้ สวดมนต์ออกชื่อ อมิตาภะ กี่หมื่นครั้งก็ไม่รู้ ก็แปลว่า ไปอยู่สวรรค์ชั้นสุขาวี นี่เขาเรียกมหายาน คือทำให้ง่ายให้ไปได้ทุกคน เพราะทุกคนแม้จะไม่มีสติปัญญาอะไร เพียงแต่ปฏิบัติพิธีรีตองนี้นับว่าครบถ้วนแล้วก็ไปสุขาวดีได้ ไปได้มากจึงเรียกว่า "มหายาน"

ส่วน "เซ็น" นั้นเพื่อจะล้อมหายาน เขาต้องรู้ธรรมลึกซึ้งอย่างเดียวกับที่เรารู้ คือไม่มีอุปาทานในขันธ์ทั้งห้า ฉะนั้น "เซ็น" นั้นไม่ใช่มหายาน มหายานไม่ใช่เซ็น แม้มันเกิดในเมืองจีนด้วยกัน นี่มันเรียนมาลวกๆ มันฟังมาลวกๆ ว่า เซ็นนี้เป็นมหายาน ถ้าใครเคยเข้าใจอย่างนี้ ให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า เซ็นนั้นมันล้อมหายาน ไม่ใช่มหายาน แต่ก็เป็นพุทธศาสนาด้วยกัน

พุทธศาสนาอย่างเซ็นนั้น มันโลดโผนมีรสมีชาติเหมาะสำหรับนักปราชญ์ ส่วนมหายานนั้นขยายให้มันง่ายลงไป ให้มันมีรสมีชาติสำหรับตาแก่ ยายแก่ชาวนา คนที่ไม่มีปัญญาทั้งนั้นแหละ ก็ใช้สิทธิมหายานได้ เพราะเขาลดต่ำลงไปจนถึงว่า ทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองก็ได้ ถ้าเขาเชื่อจริง ก็ได้จริงเหมือนกัน คือไม่ต้องมีทุกข์จริงเหมือนกัน เพราะคนมันเชื่อเสียแล้ว

เช่นเขาเชื่อว่า ความหมายนี้ เป็นการเรียกร้องของพระเจ้า เขาก็ไม่กลัวก็ไม่เป็นทุกข์ และจะสมัครใจเสียด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการเรียกร้องของพระเป็นเจ้า นี่ด้วยอำนาจของความเชื่อ ทำให้การตายไม่เป็นที่หวาดเสียวแก่คนเชื่อ แต่เราไม่ถือลัทธิอย่างนี้ เรามีปัญญาที่จะถือว่า ความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่แปลกประหลาดอะไร นี่มันมีความหมายคนละอย่าง เราอย่าไปดูถูกเขาเลย แม้จะเป็นอย่างเซ็นหรือจะเป็นอย่างมหายาน เขาก็เป็นพุทธศาสนาที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ทั้งนั้น มันต้องเลือกให้เหมาะสม อย่างคนไม่มีปัญญาจะมาศึกษาอย่างเซ็น นี่ก็ทำไม่ได้ เอาอย่างมหายานดีกว่า เพียงแต่สวดมนต์ครบเท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง เท่านั้นก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

ถ้าความเจ็บไข้มาถึง จะตายอยู่ก็ยิ่งดีใจว่าจะได้ไปเร็วไม่ต้องรอนาน ฉะนั้น พวกอาซิ้มนี้เขาก็ไม่ต้องกลัวความตาย เพราะว่าเขาได้สวดมนต์ไว้พอแล้ว เช่นสมมติว่า แปดหมื่นครั้ง พอเขาจะเจ็บจะตายรถมารออยู่บนหลังคาแล้ว ฉะนั้น คนอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ เพราะพอดับจิตเขาไปขึ้นรถไปสุขาวดี มันเป็นอุบายเป็นวิธีที่เขาวางไว้ให้ครบถ้วน ให้คนทุกประเภททำได้ คนโง่ที่สุดก็ทำได้ คนละแบบคนละวิธี มุ่งผลอย่างเดียวกัน คือไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้น อย่าไปดูหมิ่นกันอย่างนี้.

แล้วที่ว่าผมทำความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนาโดยเอาลัทธิเซ็นมาเผยแผ่ในประเทศไทยนั้น ผมก็ไม่ได้ทำความเสียหายกลับเป็นผลดีเสียอีก คือให้คนไทยได้หายโง่ว่า เซ็นนั้น เขาปฏิบัติกันอย่างไร คนไทยจะได้หายโง่ไปเป็นกอง ถ้าคนไทยบางคนยังมีปัญญาเฉียบแหลม จะใช้วิธีอย่างเซ็นบ้าง มันก็อาจจะใช้ได้ ซึ่งก็เป็นพุทธศาสนารูปหนึ่ง ไม่เป็นการเสียหายแก่พุทธศาสนาตรงไหน เพราะมันเป็นพุทธศาสนาเดียวกัน ซึ่งมันมีวิธีต่างๆ กัน อย่างจะไปกรุงเทพฯ นี้ คนหนึ่งจะไปเรือบินก็ได้ ได้ยินว่าเสีย ๑๐๐ เท่านั้น ที่สถานีอากาศยานบินในกรุงเทพฯ คนหนึ่งเสียพันบาท แต่คนหนึ่งจะคลานไปก็ได้ จะว่าอะไรมันเล่า แล้วใครผิดใครถูกเล่า มันก็ถูกเฉพาะของตนๆ อย่าไปดูถูก ไปดูถูกเข้ามันจะโง่ คนหนึ่งมันจะขี่เกวียนไปก็ได้ คนหนึ่งมันจะขี่รถยนต์ไปก็ได้ แต่คนหนึ่งมันจะคืบคลานไปอย่างกับปลิงหรือหอยทากก็ได้ อย่าไปว่าเขาซี มันก็เป็นวิธีที่ไปถึงได้

พุทธศาสนาต้องการจะให้มีจิตใจที่ไม่เป็นทุกข์ มีวิธีใดที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ได้ละก็ ใช้ได้ทั้งนั้น

ฉะนั้น อย่าไปหาว่าเขาผิด-เขาถูก มันจะโง่เอง คนที่ว่านั้นมันจะโง่เอง ถ้าเขาเชื่อหรือพอใจแล้ว เขาจะไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน เขาเป็นพวกสัทธาธิกะ อาศัยกำลังของศรัทธา เป็นเบื้องหน้าเพื่อดับทุกข์ พวกเรามันเป็นปัญญาธิกะ อาศัยกำลังของปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ แต่ไม่ควรจะทะเลาะกัน เพราะว่าเขาไม่เป็นทุกข์ด้วยกัน ฉะนั้น เราจึงไม่ควรดูหมิ่นศาสนาอื่นที่เขาเอาศรัทธามาเป็นเบื้องหน้า เช่น ศาสนาคริสเตียนก็ดี ศาสนาอิสลามก็ดี ศาสนาพราหมณ์บางนิกายก็ดี ที่เขามีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า เขาก็ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว เพราะมันอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว

ฉะนั้น ผมไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่พุทธศาสนาแม้แต่นิดเดียว แต่ว่าไปเอาเรื่องพุทธบริษัทพวกอื่นมาให้พุทธบริษัทพวกนี้รู้ไว้บ้าง ว่าพวกอื่นเขามีวิธีอย่างไร และคงหายโง่ไปบ้าง ผมก็จะทวงบุญคุณว่า ผมได้ทำผลดีให้แก่พุทธบริษัท ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่พุทธศาสนาเลย.

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 09:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


หลักการของเซ็นคือจะใช้ปัญญา หรือหนักไปในทางใช้ปัญญา

เป็นการใช้ปัญญาอย่างฉับพลัน

ตัวอย่าง

มีศิษย์เซ็นถามอาจารย์ว่าการหลุดพ้นเป็นอย่างไร

อาจารย์ยกไม้เท้าฟาดไปที่ห้วศิษย์คนนั้น

ทำให้ศิษย์บรรลุธรรมทันที

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบายให้ฟังว่า

เมื่อศิษย์ถูกไม้ตีห้วรู้ลึกเจ็บ เกิดความทุกข์

จึงรู้จักทุกข์ และสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์

จึงเกิดทางดับทุกข์ขึ้นในปัญญาอย่างฉับพลัน

คือนิโรธ

เรียกซาโตริ หรือเปล่าไม่แน่ใจ

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 09:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก



นิทานสุดท้าย ที่อยากจะเล่า ก็คือ เรื่อง เกี่ยวกับเซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ตามชื่อ ของหนังสือ เล่มหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า "เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก" คือ หนังสือ ที่เอามา เล่านิทาน ให้ฟัง นี้เอง ควรจะทราบ ถึงคำว่า เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ด้วยจะง่าย ในการเข้าใจ เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก หมายความว่า ธรรมะ ชั้นที่เป็นเนื้อ เป็นกระดูก ยังไม่ถึง เยื่อในกระดูก ธรรมะชั้นลึกจริงๆ จัดเป็น ชั้นเยื่อในกระดูก นี่เราจะเล่ากัน แต่เรื่อง ชั้นเนื้อ และชั้นกระดูก หมายความว่า ในนั้นมันมี ชั้นเยื่อในกระดูก อีกทีหนึ่ง ถ้าเข้าไม่ถึง มันก็ติดอยู่ แค่เนื้อแค่กระดูก เหมือนที่ เราไม่เข้าถึง หัวใจ ของ พระพุทธศาสนา แล้วก็คุยโวอยู่ ซึ่งมันเป็น ชั้นเนื้อ ชั้นกระดูก ทั้งนั้น ไม่ใช่ ชั้นเยื่อในกระดูกเลย และเมื่อจะพูดกัน ถึงเรื่องนี้ เขาเล่า นิทาน ประวัติ ตอนหนึ่ง ของ ท่านโพธิธรรม คือ อาจารย์ ชาวอินเดีย ที่ไป ประเทศจีน ที่ไป ประดิษฐาน พระพุทธศาสนา นิกายธยานะ ลงไปใน ประเทศจีน ซึ่งต่อมา เรียกว่า นิกายเซ็น ญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็น หรือภาษาจีน เรียกว่า เสี่ยง

เมื่อท่านโพธิธรรม อยู่ในประเทศจีน นานถึง ๙ ปี ท่านก็อยากจะ กลับอินเดีย ทีนี้ไหนๆ จะกลับทั้งที อยากจะลอง สอบดูว่า บรรดาศิษย์ ต่างๆ ที่สอนไว้ที่นี่ ใครจะรู้อะไร กี่มากน้อย ก็เลยเรียก มาประชุม ถามทำนอง เป็นการสอบไล่ว่า ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร ข้อสอบ มีเพียงสั้นๆว่า "ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร?"

ศิษย์ชั้นหัวหน้าศิษย์ ที่เรียกว่า ศิษย์ชั้นมีปัญญา เฉียบแหลม ชื่อ ดูโฟกุ ก็พูดขึ้นว่า "ที่อยู่ เหนือ การยอมรับ และ อยู่เหนือ การปฏิเสธ นั้นแหละ คือ ธรรมะ ที่แท้จริง" คำตอบอย่างนี้ ก็ถูกมากแล้ว ถ้า ผู้ใดฟัง ไม่เข้าใจเรื่องนี้ พึงจัดตัวเองว่า เป็นผู้ที่ ยังไม่รู้ธรรมะได้เลย ไม่รู้ธรรมะ อะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้จัก สิ่งที่เหนือ การยอมรับ และการปฏิเสธ

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า "เอ้า! ถูก! แกได้ หนัง ของฉันไป" นี้ หมายถึง หนังที่หุ้มชั้นนอก ไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่กระดูก คือ ชั้นหนังแท้ๆ เสร็จแล้ว คนนี้ นั่งลง

นางชีคนที่ชื่อ โซจิ ก็ยืนขึ้น แล้วบอกว่า "สิ่งที่เห็นครั้งเดียว แล้วเป็น เห็นหมด เห็นตลอดกาล นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง"

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า " เอ้า! ถูก! แกได้ เนื้อ ของฉันไป" คือมัน ถูกกว่า คนทีแรก จึงได้เนื้อไป แล้วเขาก็นั่งลง

คนที่สาม ยืนขึ้น ตอบว่า "ที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแหละ คือ ธรรมะ" เขาใช้คำว่า ไม่มีอะไรเลย เท่านั้น แต่เรา ขยายความ ออกไป ก็ได้ว่า ไม่มีอะไร ที่ถือ เป็นตัวตน เลย นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง

อาจารย์ ก็บอกว่า "ถูก! แกได้ กระดูก ของฉันไป" คือ ลึกถึง ชั้นกระดูก

ศิษย์อีกคนหนึ่ง เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ชื่อ เอก้า ยืนขึ้น หุบปากนิ่ง แล้วยัง เม้มลึก เข้าไป ซึ่งแสดงว่า นิ่งอย่างที่สุด เป็นการแสดงแก่อาจารย์ว่า นี่แหละ คือ ธรรมะ การที่ต้อง หุบปาก อย่างนี้แหละ คือธรรมะ อาจารย์ ก็ว่า "เออ! แกได้ เยื่อในกระดูก ของฉันไป"

นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร บรรดา ครูอาจารย์ ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่มี สติปัญญา ได้ศึกษา เล่าเรียน มามาก จงลองคิดดู คำตอบที่ว่า อยู่เหนือ การยอมรับ และปฏิเสธนั้น ยังถูกน้อยกว่า คนอื่น ส่วนผู้ที่ตอบว่า ลงเห็นทีเดียวแล้ว เห็นหมด และ เห็นตลอดกาล ด้วย นี่ยังถูกกว่า แล้วที่ว่า ไม่มีอะไรเลยนั้น ยิ่งถูกไปกว่าอีก แล้วที่ถึงกับว่า มันพูดอะไรออกมาไม่ได้ มันแสดงออกมาเป็น คำพูด ไม่ได้ จนถึงหุบปากนิ่งนี้ ยิ่งถูกกว่าไปอีก นี่แหละ พวกเรามี สติปัญญา ละเอียด สุขุม แยบคาย มีความสำรวม ระมัดระวัง สงบอกสงบใจมาก จนถึงกับว่า ไม่หวั่นไหว และเข้าใจ เรื่องไม่หวั่นไหว หรือไม่มีอะไรนี้ได้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดู ถึงจะยังทำเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจว่า แนวของมัน เป็นอย่างนั้น คนที่รู้ อะไรจริงๆ แล้ว จะไม่พูดอะไรเลย เพราะรู้ซึ้ง ถึงขนาดที่อยู่ เหนือวิสัย ของการบรรยาย ด้วยคำพูด อย่างที่ เล่าจื้อ ว่า "คนรู้ไม่พูด คนที่พูด นั้นไม่ใช่ คนรู้" นี่ก็หมายถึง ตัวธรรมะจริงๆ นั้น มันพูดไม่ได้ ถึงแม้ ที่อาตมา กำลังพูด อยู่นี่ ก็เหมือนกัน ยังไม่ใช่ธรรมะจริง เพราะมันยังเป็น ธรรมะที่พูดได้ เอามาพูดได้ ลองทบทวนดูว่า ท่านเคยเข้าใจ ซึมซาบ ในความจริง หรือ ในทฤษฎีอะไร อย่างลึกซึ้ง จนท่านรู้สึกว่า ท่านไม่อาจ บรรยาย ความรู้สึก อันนั้น ออกมา ให้ผู้อื่นฟัง ได้จริงๆ บ้างไหม? ถ้าเคย ก็แปลว่า ท่านจะเข้าใจถึง สิ่งที่พูด เป็นคำพูด ไม่ได้

ธรรมะจริง มันพูดไม่ได้ ต้องแสดงด้วย อาการ หุบปาก แต่ขอให้ถือว่า เรากำลังพูดกัน ถึงเรื่องวิธี หรือ หนทาง ที่จะเข้าถึงธรรมะจริง ก็แล้วกัน แต่ว่า เมื่อเข้าถึงธรรมะจริง แล้ว มันเป็นเรื่อง ที่จะต้อง หุบปาก แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ จะต้องถึงเข้า ข้างหน้า เป็นแน่นอน ไม่มี ครูบาอาจารย์ คนไหน จะมีอายุเท่านี้ อยู่เรื่อยไป คงจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ เห็นโลก ในด้านลึก เห็นชีวิต ด้านลึก โดยสิ้นเชิง เป็นแน่ ฉะนั้นจึงควร เตรียมตัว ที่จะเข้าถึง แนวของ ธรรมะ เสียแต่ป่านนี้ จะไม่ขาดทุน และก็ไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องเศร้า หรือ เป็นเรื่องน่าเบื่อ จนเกินไป

ในที่สุด เราจะต้องมานึกกัน ถึงเรื่อง เปลือก และ เนื้อ บ้าง นิทาน ทั้งหลายนั้น มันเหมือนเปลือก ส่วน spirit ของนิทานนั้น เหมือนกับเนื้อใน แต่ว่า เปลือกกับเนื้อ จะต้องไปด้วยกัน ครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย อย่าได้เกลียด เปลือก และ อย่า ได้ยึดมั่น ถือมั่น เอาแต่เนื้อ มันจะเน่าไปหมด ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเนื้อไม่มีเปลือก มันจะเน่า จะต้องเป็นเนื้อที่เน่า เนื้อที่มีเปลือก เท่านั้น ที่จะไม่เน่า เหมือนอย่างผลไม้ ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อมันจะอยู่ได้อย่างไร จะเป็นมังคุด ทุเรียนอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีเปลือก ของมัน เนื้อของมันจะอยู่ได้อย่างไร จะสำเร็จประโยชน์ ในการบริโภคของเราได้อย่างไร ทั้งที่เราต้องการบริโภคเนื้อ เปลือกของมัน ก็ต้องมี หรือว่า การที่ผลไม้มันจะออกมาจากต้น มีดอกแล้ว จะเป็นลูก มันยังต้อง เอาเปลือกออกก่อน เพื่อให้เนื้อ อาศัยอยู่ในเปลือก แล้วเจริญขึ้น ถ้าไม่มีเปลือก ส่งเนื้อ ออกมาก่อน มันก็เป็นต้นไม้ ที่โง่อย่างยิ่ง คือ มันจะเป็นผลไม้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะเยื่อนั้น จะต้องเป็นอันตราย ไปด้วย แสงแดด ด้วยลม ด้วยอะไรต่างๆ หรือ มดแมลง อะไรก็ตาม ฉะนั้น มันต้องมีเปลือก ที่แน่นหนา เกิดขึ้นก่อน เนื้อเจริญขึ้น ในนั้น ก็เป็นผลไม้ ที่เติบโต แก่ สุก บริโภคได้ นั่นคือ คุณค่าของเปลือก มองดูอีกแง่หนึ่ง มันก็ยิ่งกว่าเนื้อ มันมีค่า มากกว่า เนื้อก็ได้ เพราะ มันทำให้ เนื้อ เกิดขึ้นได้ สำเร็จประโยชน์ แต่เราก็ ไม่มีใคร กินเปลือก เพราะ ต้องการจะ กินเนื้อ ฉะนั้น เราจะต้องจัด เปลือก และ เนื้อให้ กลมกลืน กันไป

นิทานอิสป หรือ นิทานอะไรก็ตาม ตัวนิทาน มันเหมือนกันกับ เปลือก ที่จะรักษา เนื้อใน ไว้ ให้คงอยู่ มาจนถึงบัดนี้ได้ ถ้าไม่ใส่ไว้ ในนิทานแล้ว ความคิดอันลึกล้ำ ของอิสป อาจจะไม่มาถึงเรา มันสูญเสีย ก่อนนานแล้ว และ จะไม่มีใคร สามารถ รับช่วงความคิด นั้นมาถึงเรา เพราะว่า เขาไม่มี การขีด การเขียน ในสมัยนั้น หรือว่า เอาตัวอย่างกัน เดี๋ยวนี้ว่า ชนชาติเอสกิโม ทางแลปแลนด์ ทางขั้วโลกเหนือนั้น ก็ยังมีวัฒนธรรม หรืออะไรของเขา เล่าต่อกันมา เป็นพันๆปี ยังพูด ยังเล่า ยังสอนกันอยู่ ชนพวกนี้ ไม่มีหนังสือเลย เดี๋ยวนี้ก็ยัง ไม่มีหนังสือ พวกเอสกิโม อยู่ใน "อิกลู" หรือ กระท่อม ที่ทำขึ้นด้วย แท่งน้ำแข็ง แต่พอถึง เย็นค่ำลง ก็จุดตะเกียง เข้าใน กระท่อม แล้วคนที่แก่ ชั้นปู่ ก็นั่งลง เล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ยิน มาจาก บิดา จากปู่ จากทวด เด็กเล็กๆ ก็มา นั่งล้อม และ ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ จำด้วย ทำอย่างนี้ไป เรื่อยทุกวันๆ จนเด็กเหล่านี้ โตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดา เป็นปู่ ก็ยังเล่าต่อไปอีก ฉะนั้น จึงสืบสิ่งต่างๆ ไปได้เป็นพันๆ ปี แล้วก็อยู่ใน "เปลือก" คือนิทานทั้งนั้น เขาจะต้อง เล่าเป็นนิทาน อย่างนั้น ชื่อนั้น ที่นั่น อย่างนั้นๆ ทั้งนั้น นั่นแหละ คือ อานิสงฆ์ ของเปลือก.



นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธทาสกับมหายาน (เซ็น)



สัมภาษณ์ ธีรทาส
ตีพิมพ์บางส่วนใน เสขิยธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๖
ภาคสมบูรณ์ ตีพิมพ์ที่ สารสยาม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘, ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓
ขอบคุณ เว็บไซต์เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย (ธรรมานุรักษ์)

"ธีรทาส" หรือคุณธีระ วงศ์โพธิ์พระ เจ้าของงาน ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานของปราชญ์มหายานท่านสำคัญ ๆ ของเมืองไทย และรู้จักมักคุ้นกับท่านพุทธทาสเป็นอย่างดีในแง่การศึกษาทางมหายานวิทยา ปัจจุบัน "ธีรทาส" ปักหลักใช้โรงเจแห่งหนึ่งย่าน คลองเตยเพื่อเผยแพร่ธรรม



อาจารย์ได้คุยกับท่านพุทธทาสเรื่องเซ็น เรื่องมหายานอย่างไรบ้าง

ผมพบท่านพุทธทาสที่เชียงใหม่ เมื่ออายุ ๒๓-๒๔ และที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นท่านมาอบรมผู้พิพากษาที่กรุงเทพฯ ทุกปี มาทีหนึ่งก็เดือนหรือเดือนกว่า ผมติดตามบริการท่าน

ตอนพบท่านท่านก็ดีใจ ผมบอกท่านว่า สูตรของเว่ยหล่าง ที่ท่านอาจารย์แปล เตี่ยสอนผมตั้งแต่อายุ ๘-๙ ขวบแล้ว ท่านก็แปลกใจ "๘-๙ ขวบ เตี่ยสอน สอนยังไง" ผมก็ท่องโศลก "กายคือต้นโพธิ์ ใจคือกระจกเงาใส..." ให้ฟัง ท่านก็ถามต่อว่า "ทำไมเมืองไทยรู้เรื่องเซ็นตั้งแต่โน่นเหรอ" ผมบอก "ใช่ เขามาก่อนเตี่ยผมแล้ว อาจารย์ ที่มาแล้วสอนไม่ได้ ไม่อาจถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพราะพูดจีนกลาง ตอนนั้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนปลาย จีนกลางใช้ไม่ได้ รวมทั้งแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน" มีพระอาจารย์เซ็นมาจากเมืองจีน ๓ องค์ ยังค้นชื่อที่แน่ชัดไม่พบ แต่พอจะได้หลักฐานเค้ามูลบ้างแล้ว พวกนี้มาถึงก็ปลงสังขารตกว่า ถ้าสอนได้ก็สอน สอนไม่ได้ก็เอาตัวรอดดับขันธ์ไป ไม่กลับเมืองจีน นี่รุ่นเก่าๆ บอกต่อๆ มาว่า อาจารย์ ๓ องค์หายไปในเมืองไทยได้อย่างไร

๑. รูปหนึ่งไปนั่งดับแห้งตายอยู่ในถ้ำเขาน้อย ท่าม่วง (กาญจนบุรี) พี่สาวผมทันเห็นองค์นี้ตอนอายุ ๙ ขวบ ช่วงนั้นฝนไม่ตกมา ๓-๔ ปี ชาวบ้านหาว่าหลวงพ่อแห้งที่อยู่บนถ้ำ ทำให้ฝนไม่ตก จึงอัญเชิญมาเข้ากองฟืนซะ แต่ศพไม่เน่า เพราะเซ็นเก่งเรื่องนี้ เขามีสูตรวิธีทำได้ แต่พวกฉันไม่กล้าแปล เพราะกลัวคนฆ่าตัวตาย

๒. หลวงพ่อกวงโพธิ์ อยู่ในถ้ำเมืองกาญจน์ มีพระธุดงค์มาเล่าให้ฟังว่า ธุดงค์เข้าไปในแดนกะเหรี่ยง มีกะเหรี่ยงที่พูดภาษาไทยได้บอกว่า มีถ้ำแปลก เขาบอกว่าคนนั่งตาย นอนตาย ตัวแห้งแข็ง พระท่านก็สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร เข้าไปแล้วไม่ออก (เรื่องนี้ ในฝ่ายเซ็นมีคำว่า "ป่าช้าเซ็น" เข้าไปแล้วไม่ออก หมายถึงตั้งใจเข้าไปตาย) ท่านก็เลยให้กะเหรี่ยงคนนั้นพาไป และถ่ายรูปหลวงพ่อกวงโพธิ์ออกมาได้ ศพนั่งแห้งจนนึกว่าปั้น แทบไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ทำให้พอจะจับเค้าได้ว่า สมัยก่อนพระมหายานมาเมืองไทย ก็จะเข้าเมืองกาญจน์หมด

๓. อีกองค์หนึ่ง มีเชื้อพระวงศ์ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ บอกว่า ปู่ของเขาแล่นเรือออกไปทางสมุทรปราการ ยิงนก ตกปลาเล่น พอ ลองเอากล้องส่องทางไกล ไปเจอพระนั่งนิ่งอยู่ไกลๆ อีก ๕ วันกลับมา ก็ยังเห็นพระนั่งอยู่อย่างนั้น จึงแวะไปดู สืบรู้ว่าเป็นพระมาจากเมืองจีน ท่านบอกว่าตั้งใจจะลาโลกแล้ว เพราะเจตนาจะมาสอนธรรมในเมืองไทย แต่ไปไม่รอด เพราะติดเรื่องภาษา เจ้าองค์นั้นจึงนิมนต์หลวงพ่อไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วบอกว่าจะหาช่วยวิธีถ่ายทอดธรรมะให้ แต่อยู่ได้ไม่ถึง ๒ อาทิตย์ ท่านก็บอกว่าอยากจะกลับที่เดิม ไม่ช้าพระรูปนั้นก็มรณภาพไปนี่เป็น ๓ องค์ที่ได้เค้าว่าเป็นพระเซ็นแน่ๆ



ท่านพุทธทาสรับฟังแล้วว่าอย่างไรบ้าง

ผมก็เล่าให้ท่านฟังว่า เตี่ยผมเรียนเซ็น สายอุบาสกมาจากเมืองจีน มาเมืองไทย ก็ไม่อาจถ่ายทอดหนังสือที่หอบมาด้วยได้ เพราะ ว่าหนังสือรุนแรงเกินไป สภาพการณ์ทั่วไปยังรับไม่ได้ คุณเสถียร โพธินันทะ ยังมองเลยว่ายุคนั้นยังรับไม่ได้ เพราะถือเป็นของต่างด้าว มาอยู่ในสมาคมต่างด้าว เอาออกไปไม่ได้ เลยรอกาลเวลาเป็นขั้นตอน

เมื่อท่านแปล สูตรของเว่ยหล่าง แล้วก็มา แปล คำสอนฮวงโป พอแปลเสร็จ เมื่ออบรมผู้พิพากษาก็เอามาด้วย มาหาหมอตัน ม่อ เซี้ยง ตรวจภาษาจีนทุกตัวอักษร ๑ เดือนเต็ม ทุกๆ คืนจากสี่ทุ่มถึงตีหนึ่ง ฉัน ๓ คน คือหมอตัน ม่อ เซี้ยง เจ้าคุณพุทธทาส และฉัน จะมาตรวจทุกตัวอักษร หมอตัน ม่อ เซี้ยง อ่านก่อนแล้วแปล เจ้าคุณฯ ก็เอามาเทียบ ฮวงโป จึงแปลได้ดีที่สุด ใกล้ภาษาจีนที่สุด เทียบตรวจกันอยู่เดือนกว่าๆ จึงเสร็จ กลางวันท่านอบรมผู้พิพากษา กลางคืนมาที่วัดปทุมคงคา นี้เป็นความจริง แต่ตอนนั้นไม่ได้เอ่ยถึงชื่อหมอตัน ม่อ เซี้ยง ฉันมาจัดพิมพ์ถึงได้จารึกไว้ ส่วนต้นฉบับ ฮวงโป หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ (สวัสดิวัตน์) เอาไปให้เจ้าคุณฯ แล้วหมอตัน ม่อ เซี้ยง แปลเป็นภาษาไทยให้เจ้าคุณฯฟัง ท่านก็ยังฉงน ผม ก็แก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างว่าอย่างนี้ๆ เจ้าคุณฯ ก็งงว่า "ธีระรู้ได้อย่างไร" ผมบอก "เตี่ยผม อธิบายให้ฟังตั้งแต่เก้าขวบ สิบสองขวบ แต่ผมรู้แบบนกแก้วนกขุนทอง ท่องเป็นคาถากันผี ผู้ใหญ่เขาบอกแบบนั้น"



อาจารย์เคยได้ยินไหม ที่ท่านพุทธทาสพูดว่าทำไมถึงมาสนใจในเรื่องของเซ็น

ท่านมองว่าปรัชญาขงจื๊อเป็นขั้นโลกีย์ ขงจื๊อเป็นโลกียปราชญ์ที่พระเจ้าแผ่นดินจีนทรงนับถือทุกยุคทุกสมัย ยังไม่มีนักปราชญ์คนใดในโลกนี้ ที่พระเจ้าแผ่นดินทุกราชวงศ์เอาหมด มองโกลเข้ามาก็เอา เราต้องยอมรับ ว่าท่านมีความเป็นอมตะ คำพูดนี้เป็นความจริง แสดงว่าขงจื๊อต้องมีอะไรดี ในขั้นโลกีย์ขงจื๊อปูฐานไว้ให้จีนดีมาก ส่วนภาคโลกุตตระ เต๋าเยี่ยม กึ่งๆโลกุตตระ ดูถูกไม่ได้ ท่านบอก อย่าดูถูก ท่านอบรมพระธรรมทูตแต่ละรุ่น ต้องเติมคำนี้ "คัมภีร์เต๋าเขาอย่าไปดูถูกนะ" ส่วนเซ็นนั้นมาทีหลัง

ที่จริงเซ็นมาก่อนแล้วในสมัยราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าฮั่นเม่งตี่ ต้นตระกูลสามก๊ก อัญเชิญพระไตรปิฎก แล้วสร้างวัดม้าขาวเมื่อสองพันปีเศษ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยอมรับกัน อันนั้นก็มีเซ็นปรากฏอยู่แล้ว และพวกฉันยังเชื่อว่าพุทธศาสนาเข้าสู่เมืองจีนตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ไปแบบพระธุดงค์ไม่เป็นทางการ มีประวัติศาสตร์อ้างอิงอยู่ อย่างในประวัติศาสตร์จีนสมัยเลียดก๊ก "เศ็กเกียม่อนี้ฮุดโจ้ว" นี้คือศากยมุนี สมัยเลียดก๊กทำไมถึงรู้จัก แสดงว่าชาติใหญ่มีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ (ศาสนาพุทธ) จึงไปแบบพระธุดงค์ ไม่เป็นทางการ พระเจ้าฮั่นเม่งตี่อัญเชิญ (พระคัมภีร์) มาแปล เป็นเรื่องทางการ

จากฮั่นเม่งตี่อีก ๕๐๐-๖๐๐ ปี ถึงมีโพธิธรรม นำนิกายเซ็น เอาบาตร จีวรของพระพุทธเจ้า หนีสงครามใหญ่ที่เผาอินเดียทั้งหมด โดยอ้อมแหลมมลายูมาไว้เมืองจีน เพราะมองดูว่าอินเดียจะถูกภัยสงครามใหญ่แน่นอน [อาจารย์เสถียร (โพธินันทะ) บอกว่า สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามอิสลาม แต่ภาษาจีนบอกแค่ว่า "สงครามใหญ่"]

เจ้าคุณพุทธทาสท่านมองเห็นคุณค่าของมหายาน แต่หาคนถ่ายทอดเป็นภาษาไทยไม่ได้ ท่านว่าได้พยายามบอกให้คนจีน ที่รู้ภาษาไทย (ให้ช่วย) เสร็จแล้วท่านไปเจอ สูตรของเว่ยหล่าง พระยาลัดพลีชลประคัลภ เอามาให้อ่าน (ฉบับภาษาอังกฤษ) อ่านดูก็ตกใจว่า "จีนมีของดี" แล้วมาเจอ คำสอนฮวงโป (ฉบับภาษาอังกฤษ) ยิ่งเชื่อมั่นใหญ่เลย

ท่านบอกให้อาจารย์เสถียร บอกให้พวกผมพยายามแปลเป็นภาษาไทย เรายังไม่มีปัญญาเอาจีนมาเป็นไทย ต้องไปอาศัยมือฝรั่ง (หมายถึงหนังสือทั้งสองเล่มในภาษาไทย ท่านพุทธทาสถ่ายทอดมาจากฉบับภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง)

เมื่อก่อนนี้คนไทยมักจะดูถูกพระจีนว่า เป็น "พระกงเต็ก" ทำพิธีกรรม เผากระดาษ งมงาย เสร็จแล้วพอ สูตรของเว่ยหล่าง ออกไป ปัญญาชนไม่กล้าดูถูก ของดีจีนเขามี เราไม่อาจจะเอื้อมถึง ปัญญาของสามก๊ก เลียดก๊ก เป็นโลกียปัญญาที่สุดยอด จีนเก่งปรัชญาโลกีย์อยู่แล้ว



ไม่ทราบว่า การที่ท่านพุทธทาสสนใจประวัติศาสตร์ของไชยา เป็นเหตุให้ท่าน สนใจมหายานหรือเปล่า อย่างการที่ท่าน สนใจเรื่องรูปปั้นพระอวโลกิเตศวร

ใช่ ท่านอ่านจากหลักฐานภาษาอังกฤษ และมีระฆังใบหนึ่งขุดได้ที่ไชยา เดี๋ยวนี้ตัวจีนหายไปแล้ว เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ผมบอกอาจารย์ธรรมทาส (น้องชายท่านพุทธทาส) ว่า อย่าให้ระฆังตากฝน เสียดายตัวภาษาจีนว่า "ก๊ก ไถ่ มิ้ง อัง กวง เตี๊ยว โหว สุก" คำพูด นี้ผมเอามาให้หมอตัน ม่อ เซี้ยง ดู แกบอกว่า ระฆังนี้ต้องเป็นกษัตริย์พระราชทาน แต่เดี๋ยวนี้หนังสือจีนหายหมดแล้ว เพราะตากน้ำฝน ฉะนั้น กรุงศรีวิชัยจึงมีความสัมพันธ์กับจีน อันนี้คงเป็นเรื่องที่เร้าอารมณ์ท่านให้ศึกษาเรื่องมหายาน ท่านพุทธทาสมองว่ามหายานต่างจากเซ็นอย่างไร

ท่านมองว่ามหายานทั้งหมดเป็นเรื่องงมงาย เป็นเทวนิยม ของผมนี่ก็เทวนิยมนะ แล้วปัจจุบันร้อยละ ๙๐ ในเมืองไทยก็เทวนิยม บวงสรวง กราบไหว้วิงวอน ขอโชคลาภ เจ้าคุณฯ ท่านมองว่าทั่วๆ ไปในมหายานเป็นเทวนิยม ยังมิใช่อเทวนิยม ไม่ใช่พุทธศาสนาจริงๆ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติในดงเทวนิยมทั้งหมด บวงสรวง ฆ่าสัตว์ บูชายัญ กระทั่งฆ่าคน เสร็จแล้วท่านมองทะลุด้วยปัญญาที่เหนือเขา จึงเห็นว่านั่นขาดหลักวิชาการ งมงาย (ถือ) อารมณ์เกินกว่าเหตุผล ระยะยาว จะไปไม่รอด จึงหนีออกบวช ก็ไปตรัสรู้หลักธรรม อเทวนิยม อนัตตานิยม กรรมนิยม นิพพานนิยม อันนี้กำมือเดียว ฟังได้ทุกคน แต่ปฏิบัติทันทีไม่ได้หมดนะ เคยมีคนกล่าวเป็นโศลกเปรียบเทียบไว้ว่า คน ศึกษาธรรมมีมากเท่าขนสัตว์ แต่ที่บรรลุธรรมมีจำนวนแค่เขาสัตว์เท่านั้น แล้วท่านพุทธทาสชอบเจออาจารย์เสถียร โพธินันทะ เจอพวกผมทีไรมักจะถามทุกที เจออาจารย์เสถียรยิ่งชอบ ชอบถามเรื่องพระสูตร สรุปแล้วพุทธศาสนาของจีนที่บริสุทธิ์จริงๆ คือ มหาสุญญตาสูตร ชื่อเต็มๆ คือ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ๖๐๐ ผูก พระถังซำจั๋งแปลไว้เป็นภาษาจีน พุทธศาสนาไม่ใช่เทวนิยม เป็นอเทวนิยมตาม มหาสุญญตาสูตร

ตอนแรก กษัตริย์หลี ซี หมิน (ถังไท่จง) ไม่สนพระทัย เพราะมองว่า จีนมีศาสนาขงจื๊อ เต๋า อยู่แล้ว ถ้าไปเพิ่มอีกจะปกครองยาก อีกเรื่องคือ พระองค์มองพุทธศาสนาผิดไป นึกว่าเป็นเทวนิยม เหมือนขงจื๊อ เหมือนเต๋า พระถังซัมจั๋งจับจุดได้ จึงทูลว่า พระอรหันต์ไม่เหมือนกับเต๋า เพราะเหนือบุญเหนือบาป ดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้ ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่ใช่เทวนิยม เป็น อเทวนิยม อันนี้เป็นประวัติศาสตร์



แล้วที่ท่านพุทธทาสบอกว่า "เซ็นเป็นผู้ล้อมหายานเป็นผู้คัดค้านมหายาน"

จริง อันนี้จริง คำพูดของเซ็นแทบทั้งหมด (ขอโทษเถอะ) เปรียบเทียบก็แบบทุบหม้อข้าว คือจะโจมตีพิธีกรรมที่งมงายจนเกินไป โจมตีการเอาหลักธรรมมาปฏิบัติอย่างไม่ถูกทาง เรื่องเทวนิยมก็ไม่พ้นจะหาเงิน แสวงลาภผล เพื่อปากเพื่อท้อง เทวนิยมที่สุดก็มาลงเอยที่วัตถุนิยม โลกเราที่ฆ่ากันทุกวันนี้ก็เพราะแย่งวัตถุนะ โบราณก็แย่งกัน จึงไปตรัสรู้ อเทวนิยม อนัตตานิยม สุญญตานิยม กรรมนิยม นิพพานนิยม



นอกจาก สูตรของเว่ยหล่าง และ คำสอนฮวงโป แล้ว ท่านเอาอะไรจากมหายานอีกบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นประเภทเรื่องข้างเคียงเจ้าคุณฯมักจะจดหัวข้อสำคัญๆที่สนใจมาถาม เช่น เคยถามหมอตัน ม่อ เซี้ยง อาจารย์เสถียร ว่าฝรั่งอ้างอย่างนี้ถูกหรือเปล่า คัมภีร์นั้นมีอะไรบ้าง ว่าพระไตรปิฎกจีนมีหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น แล้ว มหาสุญญตาสูตร เป็นแค่ผูกหนึ่งใน มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ตอนนั้น ฉันลาออกจากงานประจำ จะมาตั้งกองแปล มหาปรัชญาปารมิตาสูตร เอาอย่าง กษัตริย์หลี ซี หมิน ซึ่งจำนนต่อพระถังซำจั๋ง จนตั้งกองแปลพระสูตรนี้ทั้ง ๖๐๐ ผูก โดยให้ทุนหลวง และใช้พระนักปราชญ์จีนถึง ๑,๐๐๐ องค์ร่วมกันแปลจากภาษาบาลี สันสกฤตเป็นภาษาจีน จึงสำเร็จ

พวกฉันคิดว่าจะทำกัน ๓ คน โดยให้อาจารย์เสถียรแปลเป็นภาษาไทย ฉันคอยอัดเทป พอถอดเทปเสร็จ ก็เอาไปให้หมอตัน ม่อ เซี้ยง เกลาอีกทีหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็แปลได้แค่ผูกเดียวคือ กิมกังเก็ง(วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร) เพราะอาจารย์เสถียรตายเสียก่อน มีอีกเรื่องหนึ่ง ฉันขอพูดหน่อยเถิด ใครบอกท่านพุทธทาสจะไม่เกิด ผมเอาตามแบบมหายาน เขาเชื่อกันว่าท่านเป็นอรหันต์ ไม่เกิด เรื่องนี้มหายานว่าอย่างไร เซ็นว่าอย่างไร เห็นเหมือนกัน เป็นอรหันต์แล้วไม่กลับมาเกิดอีก แต่ว่าถ้าต้องการเกิด เกิดได้ไหม? ตรงนี้ขัดกัน เพราะมหายานบอกว่าได้ ถ้าต้องการ เพราะฉะนั้น ผมยังไม่เชื่อว่าท่าน พุทธทาสจะไม่เกิด เพราะท่านมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่ยังทำไม่สำเร็จอยู่ คือ "สารานุกรม พุทธศาสนาภาษาไทย" ทำออกมาได้เล่มเดียวย่อๆ ภาษาคน ภาษาธรรม ท่านบอก ว่าเป็นงานชิ้นสุดท้าย ไม่รู้จะมีชีวิตทำหรือไม่ บอกกับผมอย่างนี้ หลักฐานมีพร้อมแล้ว ท่านให้ผมช่วยหา ปณิธานนี้ยังไม่เสร็จ ผมเชื่อว่าท่านจะต้องกลับมาเกิดอีก และผมก็ขอให้ท่านกลับมาเกิดอีก



ท่านพุทธทาสจะชอบพูดว่า "การศึกษา ศึกษาเพื่อให้พ้นทุกข์ สิ่งที่ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ก็ไม่ศึกษา" ในด้านมหายานนี้ท่านให้ความสนใจเซ็นในแง่นี้หรือเปล่า

ขอโทษ มหายานทั้งหมด ท่านดูถูกเลย แต่เซ็นนี่ท่านสนใจ เพราะเซ็นเข้ากับเถรวาทได้ โดยเฉพาะเรื่อง "สุญญตา" ของเราก็มีในหลักสูตรนักธรรมโท "วิโมกข์สาม" แต่ไม่มีอาจารย์สอนขยายความ ตอนที่คนโจมตีท่านพุทธทาสว่า สุญญตาไม่มีในพระไตรปิฎก เจ้าคุณนรฯ (เจ้าคุณนรรัตน์) บอกเลยว่า "ผิด เจ้าคุณฯ (หมายถึง ท่านพุทธทาส) ถูก" คือ มีวิโมกข์สามอยู่ เพียงแต่ไม่มีคนอธิบายเอง รุ่นก่อนก็ไม่มีคนอธิบาย เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์เป็นคนยืนยันว่ามี หาคนสอนไม่ได้ สุญญตาจึงขาดตอน เจ้าคุณฯ (ท่านพุทธทาส) พูดถูกแล้ว

เซ็นเป็นสายสุญญตาโดยเฉพาะ เฉพาะ มหาสุญญตาสูตร นี้ เจ้าคุณฯ หลงเลย ฉันเคยฟังสรุปย่อๆ มาตอนอายุ ๑๔ ครั้งหนึ่ง หลังๆ อายุเกือบสามสิบ เคยฟังพระจีนสวด ๒-๓ ครั้ง เป็นปัญญาวิมุติล้วน แทบจะไม่มีเรื่องอภินิหาร (ขอโทษ) เรื่องงมงายแทบไม่มี สติปัฏฐานสี่ มรรคแปด โพธิปักขิยธรรม อยู่ในนั้นครบ

ที่ถูกใจท่านพุทธทาสมากที่สุดคือ มหาสติปัฏฐานสี่ของไทยเรามี กาย เวทนา จิต ธรรม เขาบอกว่า พิจารณาเห็นกายในกาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ครบ แต่ไทยเน้นแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตาแทบไม่เคยได้พูด ยกเว้นแต่ที่เจ้าคุณพุทธทาส ยกมา ท่านเป็นคนบุกเบิกสุญญตา อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เราได้ยินกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตามหลักเซ็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสุดท้ายเป็นสุญญตา สามอย่างแรกแปลเหมือนกันคือ อนิจจังแปลว่าไม่ เที่ยง ทุกขังคือทนอยู่ไม่ได้ แต่เซ็นเติมไปอีกนิดว่า "ยึดมั่นเป็นทุกข์" ไทยไม่พูดคำนี้ ใช้แต่ว่า "ทนอยู่ไม่ได้" แล้วอนัตตา "ใช่ตัวใช่ตน ไม่มีตัวตน" แปลความหมายตรงกันทั้งสามคำ แต่เซ็นเติมว่า ถ้าเอา มหาสุญญตาสูตร เป็นหลัก สามอย่างนี้ยังเป็นโลกีย ธรรม ไม่ใช่โลกุตตระ เพราะอนิจจัง จิตยังปรุงแต่ง ทุกขังก็ยังปรุงแต่ง อนัตตาก็ยังปรุงแต่ง ต้องจิตหลุดพ้นจากความคิดปรุงแต่ง นั่นถึงจะเป็นสุญญตาเป็นนิพพาน ตราบใดยังอยู่ที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตเธอยังปรุงแต่ง จิตยังวนเวียนเกิดดับ ยังเป็นโลกีย์ ไม่เป็นโลกุตตระ จิตต้องหลุดพ้นจากกระแสดึงดูดของโลกีย์ จึงจะเป็นสุญญตา อันนี้เป็นสิ่งที่เร้าใจให้ท่านศึกษาเซ็น

อย่างกายานุปัสสนานี้ สุดท้ายจิตจะต้องหลุดพ้นเป็นความว่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คุณพูดได้ แต่จิตคุณหลุดพ้นหรือยัง ถ้ายังไม่หลุดพ้นยังไม่เป็นความว่าง ยังไม่เป็นนิพพาน ต้องจิตหลุดพ้นเมื่อไรจึงเป็นสุญญตา นี้คือขันธ์ ๕ ตามแนวจิตว่าง อันนี้เจ้าคุณฯ สนใจที่สุด บอก "แหม น่าจะแปลคัมภีร์ชุดนี้" ท่านอธิบายด้วยภาพเด็กเลี้ยงวัว

อีกคัมภีร์หนึ่งที่สำคัญมาก นอกจากเว่ยหล่าง แล้วยังมีเว่ยไห่ หลานศิษย์เว่ยหล่าง อาจารย์เสถียรแปลเป็นภาษาจีนแล้ว เสร็จตอนใกล้ๆจะตาย มีขุนฯอะไรก็ไม่ทราบ ขอเอาไปพิมพ์ดีดให้ แกก็ให้ไป ไม่ถามชื่อแซ่ ที่อยู่ จนบัดนี้ ฉันประกาศจนไม่ประกาศแล้ว สงสัยจะหายเข้าโลงตาขุนคนนั้นไปด้วย คัมภีร์นั้นชื่อ หุ่ยไห้ (มหาสาคร)

ในวงการพุทธศาสนาไทย-จีน ฉันได้ยินมาว่า เขานับถือนักปราชญ์อยู่สามท่าน หนึ่ง หมอตัน ม่อ เซี้ยง พูดเสียงตามสาย สถานีวิทยุจีนทุกแห่ง บอกเราอยู่เมืองไทยต้องเคารพพระเจ้าแผ่นดินไทย สอง ต้องควร ใส่บาตรพระภิกษุสามเณร คนจีนถึงใส่บาตร พระทุกองค์บอกคนจีนใส่บาตรไม่น้อยกว่าคนไทย บุญคุณนี้อยู่ที่หมอตัน ม่อ เซี้ยง พูดเสียงตามสายทุกสมาคมจีน มาที่นี่ (โรงเจเป้าเก็งเต๊ง) ก็พูดอย่างนี้ จากนั้นก็มีเจ้าคุณฯพุทธทาสที่แปล สูตรของเว่ยหล่าง และ คำสอนฮวงโป ทำให้ไทยกับจีนเชื่อมกันได้ อีกคนคือเสถียร โพธินันทะ ผู้แปลวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร แปลวิมลเกียรตินิทเทศสูตร เมธีตะวันออก และปรัชญามหายาน ฯลฯ ๓ นักปราชญ์นี่นำพุทธศาสนาไทย-จีน เชื่อมกันได้ คนรุ่นเก่าเขาพูดอย่างนี้ และข้าพเจ้า "ธีรทาส" มีบุญอยู่หน่อยที่ได้มาพิมพ์คำสอนเหล่านั้นเผยแพร่.

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


นิทานเซ็น

โพสท์ในเวปบอร์ด กองทัพพลังจิต โดยคุณ Kamen rider เมื่อ 10-01-2005

http://www.palungjit.com/board/showthread.php?t=3148



สอนวิชาแบบเซ็น

มีขโมยที่เพิ่งจะหัดกระทำโจรกรรม ลอบเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีเพียงตาและหลาน เมื่อเข้าไปแล้วก็ลงไปแอบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงนอนของชายชรา บังเอิญชายชราได้อุ้มหลานมานั่งเล่นบนเตียงนอนนั้น หลานชายซึ่งยังเล็กกำลังเล่นผลส้ม ปรากฏว่าได้ทำผลส้มหลุดจากมือกลิ้งหายไปใต้เตียง ขโมยหน้าใหม่ตกใจคิดว่าถ้าปล่อยไว้ประเดี๋ยวชายชราก้มลงมาเก็บก็คงเห็นตนแน่ ก็เกิดปัญญาขึ้น จึงหยิบผลส้มออกไปวางข้างๆ รองเท้าของชายชรา ชายชราก้มลงไปเก็บ ขณะที่ก้มลงนั้น เท้าของแกก็ไปเหยียบถูกส้มที่วางอยู่ข้างรองเท้า แกรู้ทันที จึงพูดขึ้นว่า

"พี่ชายที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง ออกมาเสียดีๆ จะดีกว่า"

ขโมยตกใจ รู้ว่าเจ้าของรู้แล้วก็คลานออกมาแต่โดยดี กราบไหว้อ้อนวอนขอให้ยกโทษ ชายชราจึงว่า

"แกเป็นคนมีปัญญาเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงที่สุด แกเริ่มงานโจรกรรมมานานเท่าไรแล้ว ?"

"ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ" ขโมยตอบ

"แกมีครูสอนบ้างไหม ?" ชายชราถาม

"ไม่มีเลย" หัวขโมยตอบ

"ไม่มีครูสอนก็มักพลาดอย่างนี้ ฉันประกอบโจรกรรมมาสิบกว่าปีแล้วไม่เคยถูกจับเลย วันนี้แกมาเข้าบ้านโจรอย่างฉัน แต่ฉันไม่เอาโทษแกหรอก" ชายชราเปิดเผยความจริง

หัวขโมยพอรู้เรื่องก็อ้อนวอนขอเรียนวิชาโจรกรรม ชายชราตกลง แต่มีข้อแม้ว่า แกสอนอะไรหัวขโมยจะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง แล้วก็กำหนดจะพาไปขโมยของที่บ้านเศรษฐีในคืนวันพรุ่งนี้ เมื่อถึงเวลาทั้งสองก็ลอบเข้าไปในบ้านเศรษฐี ผู้คนกำลังนอนหลับสนิท ชายชราได้เปิดหีบสมบัติ ซึ่งเป็นหีบโบราณขนาดใหญ่ สามารถบรรจุคนได้สบาย แกขนเอาสมบัติออกจากหีบจนหมด แล้วสั่งให้หัวขโมยเข้าไปอยู่ในหีบ ชายชราปิดหีบสมบัติและลั่นกุญแจปล่อยทิ้งไว้ ตนเองรีบหลบหนีออกไป ฝ่ายขโมยพอถูกวิธีนี้เข้าก็ตกใจเป็นที่สุด คิดว่าเสียรู้ขโมยแก่เสียแล้ว จึงครุ่นคิดหาอุบายหาทางออกอยู่ครู่ใหญ่ก็คิดออก ด้วยสมัยโบราณ คนจีนไม่ว่าหนุ่มหรือแก่จะไว้ผมยาวกันทั้งนั้นและรัดเกล้าเป็นมวยไว้บนศีรษะ หัวขโมยหนุ่มจึงแก้รัดเกล้า แล้วปล่อยให้ผมสยายยาวรุงรัง ฉีกเสื้อผ้าขาดวิ่นให้ดูคล้ายภูตผี แล้วทำเสียงตึงตังอยู่ในหีบ ข้างเศรษฐีได้ยินเสียงก็ตกใจ งัวเงียลุกขึ้นมาเปิดหีบดูพอหีบเปิดเจ้าขโมยก็ทำเสียงกรีดร้องหลอกหลอน จนเศรษฐีขวัญหนีดีฝ่อคิดว่าเป็นปีศาจ เลยล้มสลบลง ขโมยหนุ่มได้โอกาสก็รีบหลบหนีออกไป และไปต่อว่าชายชราต่างๆ นานา ชายชราจึงอธิบายว่า

"ถ้าฉันไม่ทำกับแกเช่นนั้น ปัญญาของแกจะเกิดหรือ แกจงรู้เถิดว่าความสามารถนั้นถ่ายทอดกันไม่ได้ เพราะเป็นของแต่ละคนฉันทำเช่นนี้ก็เพื่อปลุกปัญญาแกให้เกิด เมื่อถึงคราวอับจนจะได้นำออกมาใช้แก้ไขได้เอง แกจะมัวแต่พึ่งคนอื่นตลอดเวลาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนแนะนำแกจะมิตายหรือ เมื่อถึงคราวอับจนแกสามารถหลุดออกมาได้เช่นนี้จึงใช้ได้"

ขโมยหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจตลอด

การสอนแบบเซ็น จะไม่ใช้วิธีแบบป้อนข้าวป้อนน้ำเด็ดขาด แต่จะใช้วิธีตั้งโจทย์ให้ศิษย์ขบคิดเอาเอง โดยไม่แนะอะไรให้ทั้งสิ้นขบปัญหาแตกเมื่อไรก็สำเร็จเมื่อนั้น เซ็นจึงมีปริศนาธรรมมากมาย

ท่านพร้อมที่จะไปกระทำโจรกรรมกับขโมยเฒ่าหรือยัง ?

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 44 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร