ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

๕ คุณ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=26755
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 06 พ.ย. 2009, 20:03 ]
หัวข้อกระทู้:  ๕ คุณ

:b8: :b8: :b8:

คุณวุฒิ (คุน-นะ-วุด) หมายถึง ความรู้ความสามารถของบุคคล มักจะเน้นที่ระดับการศึกษาที่ผู้นั้นได้รับ เช่น เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ปริญญาโท ปริญญาตรี หรือคุณวุฒิระดับมัธยมศึกษา ระดับประถมศึกษา เป็นต้น ในการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานใดๆ หน่วยงานนั้นมักจะกำหนดคุณวุฒิของผู้ที่หน่วยงานต้องการ โดยพิจารณาจากใบประกาศคุณวุฒินั้น เช่น ใบปริญญา ใบประกาศนียบัตร แต่ใบประกาศคุณวุฒิเหล่านั้นอาจจะไม่ทำให้ทราบความสามารถที่แท้จริงของบุคคล จึงต้องมีการทดลองให้ปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาความสามารถในการทำงานจริง คุณวุฒิในใบประกาศจึงเป็นเพียงใบเบิกทางขั้นแรกเท่านั้น คนที่มีใบประกาศจึงต้องพยายามแสดงความสามารถให้สอดคล้องกับใบประกาศนั้นด้วย มิฉะนั้นใบประกาศนั้นก็จะไร้ความหมาย และทำให้ไม่เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไป การให้ใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ผู้จัดการศึกษาจักต้องคำนึงถึง และมอบให้แต่ผู้ที่มีคุณวุฒิสมกับคำรับรองในใบประกาศนั้นๆอย่างแท้จริง


คุณสมบัติ (คุน-สม-บัด) มีหลายความหมาย ความหมายหนึ่งหมายถึง คุณความดี เช่น สาวน้อยคนนี้มีทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ลักษณะประจำตัวของบุคคลหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่เกี่ยวและไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ดี เช่น เคยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าต้องมีวุฒิการศึกษาจบชั้นปริญญาตรี ส่วนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีคุณสมบัติเฉพาะของตน บางอย่างเป็นประโยชน์แก่มนุษย์บางอย่างเป็นโทษ เราจึงต้องเรียนรู้และรู้จักเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการดำรงชีวิต


คุณภาพ (คุน-นะ-พาบ) หมายถึง ลักษณะที่ดีเด่นของสิ่งของใดๆ เช่น เราต้องพัฒนาสินค้าของเราให้มีคุณภาพเพื่อแข่งขันกับสินค้าของผู้อื่นในตลาดโลก สินค้าหัตถกรรมของเรามีคุณภาพจึงเป็นที่ต้องการ คุณภาพของสิ่งของอาจจะมองที่ลักษณะประโยชน์ใช้สอย ความทนทาน ความสวยงาม หรือประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณภาพของคนอาจพิจารณาจากความรู้ ความสามารถในการทำงาน ความสามารถในการบริหารหรือการแก้ปัญหา ตลอดจนคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลนั้น การพัฒนาคุณภาพของบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยการให้การศึกษาอบรม เราจึงควรจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย ให้เป็นคนมีความสามารถ มีความรู้ มีบุคลิกภาพและมีคุณธรรม


คุณประโยชน์ (คุน-ประ-โหยด) หมายถึง ลักษณะที่เป็นประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คุณประโยชน์ของสมุนไพรในการเป็นยารักษาโรค คุณประโยชน์ของการรับประทานผักและผลไม้ คุณประโยชน์ของการศึกษา คุณประโยชน์ของการออกกำลังกาย คุณประโยชน์ของการท่องเที่ยว คำว่าคุณประโยชน์ ประกอบด้วยคำว่า คุณ กับประโยชน์ คุณ แปลว่า ความดี ความเกื้อกูล ประโยชน์ หมายถึง ผลที่ได้ตามที่ต้องการ เป็นผลที่นำมาใช้ได้ตามต้องการ หรือทำให้เกิดสิ่งที่ดีเป็นที่ต้องการ เช่น อาหารมีประโยชน์ทำให้ดำรงชีพอยู่ได้และทำให้ร่างกายเจริญเติบโต เราอาจพูดถึงประโยชน์ของอาหารว่าทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้และเติบโต คนเราต้องกินอาหาร ถ้าอดอาหารก็ต้องตาย ประโยชน์ของอาหารในที่นี้จึงเป็นประโยชน์โดยรวม ในขณะเดียวกัน ก็อาจพูดถึงอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ในกรณีนี้จึงมุ่งพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารในส่วนที่สร้างหรือก่อให้เกิดผลดีแก่ร่างกาย คือพิจารณาเฉพาะผลที่จะเกิดแก่ร่างกายว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ หรือไม่เป็นคุณไม่เป็นโทษก็ได้ เมื่อใช้คำว่า จึง มักจะเน้นเฉพาะประโยชน์ในด้านที่เป็นคุณ คำที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า คุณประโยชน์ คือ โทษ หรือไม่มีคุณประโยชน์


คุณธรรม (คุน-นะ-ทำ) หมายถึง ธรรมะที่เป็นความดี ซึ่งคนควรมีประจำตน เช่น คุณธรรมที่ควรยึดถือไว้ประจำใจ คุณธรรมก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ ในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชน กุลบุตรกุลธิดาของเรา จึงกำหนดให้มีความรู้คู่คุณธรรม หรือให้คุณธรรมนำความรู้ คนมีความรู้หากไม่มีคุณธรรมอาจใช้ความรู้นั้นสร้างสิ่งที่สนองความต้องการของตน และเนื่องจากขาดคุณธรรม สิ่งที่กระทำนั้นจึงอาจทำลายผู้อื่นหรือทำลายชาติได้ คนที่มีคุณธรรมแม้ไม่มีความรู้ คุณธรรมก็จะควบคุมให้ประพฤติตนแต่ในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ผู้ที่มีแต่คุณธรรมอาจจะไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้สังคมได้ แต่ก็จะไม่ทำให้สังคมเสื่อมถอยไป คุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝังให้เจริญแนบแน่นแก่คนในสังคมก่อนความรู้อื่นๆ ควรปลูกฝังตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ และปลูกฝังต่อเนื่องเรื่อยไปอย่าให้ขาดตอน

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/