วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 23:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2009, 00:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 20:48
โพสต์: 744


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก
การเกิดแห่งโลก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพารามใกล้กรุงสาวัตถี สมัยนั้นสามเณรชื่อ วาเสฏฐและภารัทวาชะ (เดิมนับถือศาสนาอื่น) อยู่ปริวาส (อบรม) ในภิกษุทั้งหลาย ปรารถนาความเป็นภิกษุชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้งเพื่อฟังธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพวกท่านมีชาติเป็นพราหมณ์ มีสกุลเป็นพราหมณ์ ออกบวชพวกพราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม เป็นพรหมทายาท พวกท่านละวรรณะอันประเสริฐ ไปเข้าสู่วรรณะเลว คือ พวกสมณะศรีษะโล้น ซึ่งเป็นพวกไพร่ พวกดำ พวกเกิดจากเท้าของพระพรหม ซึ่งเป็นการไม่ดี ไม่สมควรเลยพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์พวกนั้นลืมตน เกิดจากองค์กำเนิดของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าประเสริฐสุด เกิดจากปากพรหม เป็นต้น ซึ่งเป็นการกล่าวตู่พระพรหมและพูดปด
แล้วตรัสเรื่องมนุษย์ ๔ วรรณะ ที่ทำชั่วดีได้อย่างเดียวกัน และเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล (ผู้เป็นกษัตริย์) แต่ปฏิบัติต่อพระองค์ ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าเป็นพวกดำ (เพราะปลงศรีษะออกบวช) อย่างเต็มไปด้วยความเคารพ
ครั้นแล้วตรัส (เป็นเชิงปลอบใจ หรือให้หลักการใหม่) ว่า ท่านทั้งหลายมาบวชจากโคตรจากสกุลต่างๆ เมื่อมีผู้ถามว่า เป็นใคร ก็จงกล่าวตอบว่าพวกเราเป็นสมณะศากยบุตร ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้างเป็นธรรมทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) ครั้นแล้วตรัสเรื่อง สมัยหนึ่งโลกหมุนเวียนไปสู่ความพินาศ สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก เมื่อโลกหมุนกลับ (คือเกิดใหม่ภายหลังพินาศ) สัตว์เหล่านั้นก็จุติมาสู่โลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นจากใจกินปีติเป็นภักษา (ยังมีอำนาจฌานอยู่) มีแสงสว่างในตัวไปได้ในอากาศ (เช่นเดียวกับเมื่อเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม)
อาหารชั้นแรก
แล้วเกิดมีรสดิน (หรือเรียกว่าง้วนดิน) อันสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รสสัตว์ทั้งหลายเอานิ้วจิ้มง้วนดินลิ้มรสดูก็ชอบใจ เลยหมดแสงสว่างในตัว เมื่อแสงสว่างหายไป ก็มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ มีดาวนักษัตร มีคืนวัน มีเดือนมีกึ่งเดือน มีฤดู และปี เมื่อกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้างความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม เพราะดูหมิ่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่นง้วนดินก็หายไป ต่างก็พากันบ่นเสียดาย แล้วก็เกิดสะเก็ดดินที่สมบูรณ์ด้วยสีกลิ่นและรสขึ้นแทนใช้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น สะเก็ดดินก็หายไป เกิดเถาไม้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรสขึ้นแทน ใช้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้นเถาไม้ก็หายไป ข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็เกิดขึ้นแทนใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็นเช้าก็แก่แทนที่ขึ้นมาอีก ไม่ปรากฏพร่องไปเลย ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น
เพศหญิงเพศชาย
จึงปรากฏเพศหญิงเพศชาย เมื่อต่างเพศเพ่งกันแลกันเกินขอบเขตก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อนและเสพเมถุนธรรมต่อหน้าคนทั้งหลาย เป็นที่รังเกียจและพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะสมัยนั้นถือว่าการเสพเมถุนเป็นอธรรมเช่นกับที่สมัยนี้ถือว่าเป็นธรรม (ถูกต้อง) ต่อมาจึงรู้จักสร้างบ้านเรือน ปกปิดซ่อนเร้น
การสะสมอาหาร
ต่อมามีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีมาตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าทั้งเย็น ต่อมาก็นำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ ๒ วัน ๔ วัน ๘ วัน มีการสะสมอาหาร จึงเกิดมีเปลือกห่อหุ้มข้าวสารที่ถอนแล้วก็ไม่งอกขึ้นมาแทน ปรากฏความพร่อง (เป็นตอนๆที่ถูกถอนไป) มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกันปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับแล้วมีการแบ่งข้าวสาลีกำหนดเขต (เป็นของคนนั้นคนนี้)
อกุศลธรรมเกิดขึ้น กษัตริย์เกิดขึ้น
ต่อมาบางคนรักษาส่วนตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ ๓ ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือขว้างด้วยก้อนหินตีด้วยไม้ เขาจึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้น ควรจะแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติคนที่ควรติ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเราจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงามมีศักดิ์ใหญ่แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคน (ติและขับไล่คนที่ทำผิด) คำว่า “มหาสมมต” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) กษัตริย์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งนา) ราชา (ผู้ทำความอิ่มใจสุขใจแก่ผู้อื่น) จึงเกิดขึ้น กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่นจากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม
เกิดพราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ยังมีคนบางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่วเป็นอกุศล จึงมีนามว่าพราหมณ์ (ผู้ลอยบาป), สร้างกุฎีหญ้าขึ้น เพ่งในกุฎีนั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ(ผู้เพ่ง); บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้านรอบนิคม แต่งตำรา (อรรถกถาว่า แต่งพระเวทและสอนให้ผู้อื่นสวดสาธยาย) คนจึงกล่าวว่า ไม่เพ่ง นามว่า อัชฌายกะ(ผู้ไม่เพ่ง) จึงเกิดขึ้น เดิมหมายความเลว แต่บัดนี้หมายความดี (อัชฌายกะปัจจุบันนี้แปลว่า ผู้สาธยาย)
ยังมีคนบางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีวิตจึงมีชื่อว่าศูทร (พระไตรปิฎกฉบับไทยตกหาย ข้อความวรรคนี้ทั้งวรรค จึงต้องแปลตามฝรั่ง อรรถกถาอธิบายคำว่า สุทท (ศูทร) ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ลุทท(นายพราน) หรือ ขุทท (งานเล็กๆน้อยๆ) เป็นเชิงว่าพวกแพศย์ คือผู้ทำงานสำคัญแต่พวกศูทรทำงานเล็กๆน้อยๆ ที่เข้าใจกันทั่วไป คือศูทรเป็นพวกคนงานหรือคนรับใช้)
ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากพวกคนพวกนั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม (แสดงว่าการแบ่งชั้นวรรณะนั้น ในชั้นเดิมมิได้มาจากหลักการอื่น นอกจากการแบ่งงานหรือแบ่งหน้าที่กันตามความสมัครใจ แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครวิเศษกว่าใครมาแต่ต้น แท้จริงก็คนชั้นเดียวกันมาแต่เดิม ทั้งนี้เป็นการทำลายทิฏฐิมานะ ช่วยให้ลดการดูหมิ่นกันแลกันเป็นการปฏิเสธหลักการของพราหมณ์ที่ว่าใครเกิดจากส่วนไหนของพระพรหมซึ่งสูงต่ำกว่ากัน)
สมณมณฑล
แล้วตรัสต่อไปว่า มีสมัยซึ่งบุคคลในวรรณะทั้งสี่มีกษัตริย์ เป็นต้นไม่พอใจธรรมะของตน ออกบวชไม่ครองเรือน จึงเกิดสมณมณฑลหรือคณะของสมณะขึ้น จากคณะทั้งสี่ คือ เกิดจากคนเหล่านั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรมมิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม (อันนี้เป็นการพิสูจน์อีกว่า คนชั้นสมณะที่พวกพราหมณ์ดูหมิ่นอย่างยิ่งนั้น ก็เกิดจากวรรณะทั้งสี่ ซึ่งมีมูลเดิมมาด้วยกัน ไม่ใช่ใครสูงต่ำกว่ากัน)

การได้รับผลเสมอกัน
ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะถ้าประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นผิด ประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นผิด เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน ถ้าตรงกันข้าม คือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นชอบประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นชอบ เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหรือถ้าทำทั้งสองอย่าง (คือชั่วก็ทำ ดีก็ทำ) ก็จะได้รับทั้งสุขทั้งทุกข์เหมือนกัน
อนึ่ง วรรณะทั้งสี่นี้ ถ้าสำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ ประการ ก็จะปรินิพพานได้ในปัจจุบันเหมือนกัน
และวรรณะทั้งสี่เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพหมดกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นก็นับว่าเป็นยอดแห่งวรรณะเหล่านั้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรมเพราะธรรมะเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในที่สุดตรัสย้ำถึงภาษิตของสนังกุมารพรหมและของพระองค์ที่ตรงกันว่า “กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชชา(ความรู้) จรณะ (ความประพฤติ) ผู้นั้นเป็น ผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์”
สมบัติ-วิบัติ ๔
สมบัติ ๔ คือ ๑. คติสมบัติ (สุคติ หมายถึง มนุษย์ สวรรค์ พรหม)
๒. อุปธิสมบัติ หมายถึง รูปร่าง ผิวพรรณ วรรณะงาม
๓.กาลสมบัติ หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่เกิดเหมาะสม
๔.ปโยคะสมบัติ หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร พรสวรรค์
ความชำนิชำนาญการงานต่างๆ
วิบัติ ๔ คือ ๑.คติวิบัติ (ทุคติ หมายถึง อบายภูมิ ๔ สัตว์นรก เปรต อสูรกาย
และสัตว์เดรัจฉาน)
๒.อุปธิวิบัติ หมายถึง รูปร่างพิกลพิการ ไม่สมประกอบไม่งาม
๓.กาลวิบัติ หมายถึง ช่วงกาลเวลาที่ขุกเข็ญเป็นทุกข์อัตคัต
ขัดสน เกิดทุพภิกภัยทั่วไป
๔.ปโยคะวิบัติ หมายถึง ความไม่พากเพียร ไม่มีฝีมือ ไม่ขยัน
พระพุทธองค์ทรงสอนสุข ๔ ประการของผู้ครองเรือน
สุข จากการมีทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรมด้วยน้ำพักน้ำแรง
สุข จากการใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงดูคนใกล้ชิดทิศหก
สุข จากการไม่เป็นหนี้ เพราะการเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก
สุข จากความประพฤติไม่เป็นโทษ
ความชั่วบางทีแม้มิทันให้ผลทันใดแต่ก็เหมือนไฟบรรลัยคอยเผาผลาญ

ดอกบัวสี่เหล่า พระพุทธองค์เปรียบคนที่เกิดมา ได้แก่ ดอกบัว ๔ เหล่า คือดังนี้
ดอกบัวเหล่าที่ ๑ ดอกบัวพ้นน้ำและบานแล้ว เปรียบได้กับคนที่มีปัญญาดีสอนง่าย เรียกคนประเภทนี้ว่า “อุคฆฏิตัญญู”
ดอกบัวเหล่าที่ ๒ ดอกบัวพ้นน้ำและจะบานในวันพรุ่งนี้ ได้แก่คนที่ฟังธรรมะเพียงหนเดียวก็เกิดปัญญา เรียกบุคคลประเภทนี้ว่า “วิปปจิตัญญู”
ดอกบัวเหล่าที่ ๓ ได้แก่ บัวใต้น้ำ พร้อมที่จะโผล่พ้นน้ำในวันรุ่งขึ้นและจะบานในวันต่อไป เปรียบได้กับคนที่จะต้องได้ฟังธรรมะบ่อยๆ ค่อยๆ เจริญสติปัญญาต่อไป เรียกคนประเภทนี้ว่า “เนยยะบุคคล”
ดอกบัวเหล่าที่ ๔ได้แก่ ดอกบัวอยู่ในโคลนตม อันจะเป็นอาหารของเต่าและปลา ไม่สามารถโผล่บานพ้นน้ำได้ เปรียบได้กับคนที่สอนไม่ได้รังแต่จะไปเกิดในอบายภูมิสถานเดียว เรียกคนประเภทนี้ว่า “ปทะปรมะ”
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเปรียบเทียบคนที่เกิดมาในโลกนี้ไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓ วรรคที่๑ ถึง ๕
วรรคที่ ๑ ชื่อวลาหกวรรค ว่าด้วยฝน ๔ อย่าง คือ
๑. คำรามแต่ไม่ตก ได้แก่ บุคคลผู้พูดแต่ไม่ทำ
๒. ตกแต่ไม่คำราม ได้แก่ ผู้ทำแต่ไม่พูด
๓. ทั้งไม่คำรามทั้งไม่ตก ได้แก่ บุคคลทั้งไม่พูดและไม่ทำ
๔. ทั้งคำรามทั้งตก ได้แก่ บุคคลผู้ทั้งพูดทั้งทำ
วรรคที่ ๒ ชื่อเกสีวรรคว่าด้วยนายเกสีผู้ฝึกม้า คือ
๑. เห็นเงาปฏักก็สำนึกตน
๒. ถูกปฏักแทงขุมขนจึงสำนึก
๓. ถูกปฏักแทงถึงหนังจึงสำนึกตน
๔. ถูกปฏักแทงถึงกระดูกจึงสำนึกตน
วรรคที่ ๓ ชื่อภยะวรรค ว่าด้วย ๔ อย่าง สำหรับผู้ลงน้ำ คือ
๑. ภัยจากคลื่น คือความโกรธ
๒. ภัยจากจระเข้ เปรียบด้วยความเห็นแก่ปากท้อง
๓. วังวนเปรียบด้วยกามคุณ ๕ คือ รูปเสียง ฯลฯ เป็นต้น
๔. ภัยจากปลา เปรียบดุจมาตุคามหรือหญิง
วรรคที่ ๔ ชื่อปุคคลวรรค ว่าด้วยบุคคล คือ
๑. ผู้ที่ได้ฌานแล้วติดใจในฌาน
๒. ผู้ได้ฌานแล้วพิจารณาขันธ์ ๕
๓. ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔
๔. ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ และพิจารณาขันธ์ ๕
วรรคที่ ๕ ชื่ออาภาวรรค ว่าด้วยแสงสว่าง คือ
๑. แสงจันทร์ เปรียบได้กับการฟังธรรมตามกาล
๒. แสงอาทิตย์ เปรียบได้กับการสนทนาธรรมตามกาล
๓. แสงไฟ เปรียบได้กับการสงบระงับ (สมถะ) ตามกาล
๔. แสงแห่งปัญญา เปรียบได้กับการเห็นแจ้ง (วิปัสสนา) ตามกาล
ทรงแสดงความอัศจรรย์ ๔ ประการ ที่เกิดแก่สัตว์โลก คือ
๑. มีความยินดี อาลัยในกามคุณ 5
๒. มีความยินดีในมานะความถือตัว
๓. มีความยินดีในความไม่สงบระงับ
๔. มีความยินดีในอวิชชาความไม่รู้
.ผู้ตกนรก "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำตัวไปวางไว้ ธรรม ๕ อย่างคือ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ เป็นผู้มักลักทรัพย์ เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม เป็นผู้มักพูดปด เป็นผู้มักตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำตัวไปวางไว้. ละธรรม ๑๐ อย่างไม่ได้ยังไม่ควรเป็นพระอรหันต์ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลธรรม ๑๐ อย่าง คือ
๑. ราคะ ความกำหนัดยินดี
๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย
๓. โมหะ ความหลง
๔. โกธะ ความโกรธ
๕. อุปนาหะ ความผูกโกรธ
๖. มักขะ ความลบหลู่บุญคุณท่าน
๗. ปลาสะ ความตีเสมอ
๘. อิสสา ความริษยา
๙. มัจฉริยะ ความตระหนี่
๑๐. มานะ ความถือตัว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ เหล่านี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ คือ ควรพิจาณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."

***********************************************

.....................................................
“เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น”

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อสันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2009, 19:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 21:25
โพสต์: 191


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณสำหรับความรู
ที่นำมาให้อ่านนะคร้า

สาธุและอนุโมทนาค่ะ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ศัตรูของคนเราที่แท้จริงแล้ว คือ โลภ โกรธ หลง
ต้องแก้ด้วยมี ศีล สมาธิ ปัญญา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 151 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร