ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พื้นฐานของวิปัสสนาญาณ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=22773 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ศิรัสพล [ 03 มิ.ย. 2009, 14:54 ] |
หัวข้อกระทู้: | พื้นฐานของวิปัสสนาญาณ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ |
จากนี้ไปจะได้อธิบายวิธีการพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ พื้นฐานของวิปัสสนาญาณนั้น มีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีทั่วไปเหมือนกับการทำสมาธิ วิปัสสนาญาณ คือ ความรู้เห็นที่แจ้งและรู้เห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย วิปัสสนาญาณแปลว่า ปัญญาที่หยั่งรู้ในสัจธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาที่หยั่งรู้นี้ต่อเนื่องมาจากปัญญาในองค์มรรค คือ สัมมาทิฐิ ปัญญาที่เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ นี้เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณโดยตรง ความเห็นที่ชอบธรรม ความเห็นในสัจธรรมที่เป็นจริง ถ้าความเห็นที่จริงแล้ว ความดำริพิจารณากลั่นกรองในสัจธรรม ก็ดำริพิจารณาไปตามความจริง สัมมาทิฏฐิเหมือนกับรูปแปลนแผนผังที่จะก่อสร้าง สัมมาสังกัปโปคือนายช่างที่จะต้องทำให้ถูกตามแปลนนั้นๆ จะเป็นบ้านเรือนหรืออาคารต่างๆ ที่มั่นคงถาวรก็ขึ้นอยู่กับการวางพื้นฐานให้ถูกต้องในเบื้องต้นฉันใด สัมมาทิฐิ คือ ปัญญาที่เห็นชอบนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็มาขึ้นต่อสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่เห็นชอบฉันนั้น การทำสมาธิต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่เห็นชอบเป็นพื้นฐานมิเช่นนั้นจะเป็นมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัว จะผิดพลาดจากสัมมาสมาธิไปได้ง่าย คำว่าสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น จะตั้งใจมั่นเป็นสัมมาสมาธิในองค์มรรคหรือไม่ หรือตั้งใจมั่นในมิจฉาสมาธินี้ ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่เห็นชอบในสมาธินั้นๆ อย่างถูกต้อง หรือให้ปัญญาเป็นพี่เลี้ยงในองค์สมาธิโดยรอบคอบ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นโมหสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น จึงมีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องดูแล ในความรู้เห็นที่เกิดขึ้นจากสมาธิอย่างใกล้ชิด ถึงจะมีนิมิจเกิดขึ้นเป็นลักษณะใด ก็ให้ทำความเข้าใจว่านั้นคือสังขาร จะเห็นรูปร่างกายตัวเอง เห็นเนื้อหนังกำลังพุผองเปื่อยเน่า เห็นโครงกระดูกของตัวเองและคนอื่น การเห็นลักษณะนี้เห็นเป็นเพียงนิมิตเท่านั้น อย่าเข้าใจว่าตัวเองเห็นอสุภะเลย เพราะการเห็นอสุภะไม่ใช่การเห็นในนิมิตแต่อย่างใด การเห็นอสุภะที่จริงต้องเห็นด้วยปัญญา การเห็นนิมิตในสมาธินั้นจะไม่เกิดความเบื่อหน่ายแต่อย่างใด จะให้จิตมีความเบื่อหน่ายได้ ก็ต้องมีปัญญาพิจารณาให้รู้จริง เมื่อจิตรู้จริงตามปัญญาแล้ว ก็จิตนั่นเองจะเกิดความเบื่อหน่ายจากความคลายกำหนัดยินดี จะเห็นนิมิตเป็นพระพุทธเจ้า เห็นเป็นพระพุทธรูป เห็นเป็นดวงแก้ว เห็นความสว่าง นี้ก็เป็นผลเกิดขึ้นจากสมาธิ ยังตกอยู่ในสังขาร ตกอยู่ในไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยงทั้งนั้น ที่มา : หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ |
เจ้าของ: | ศิรัสพล [ 03 มิ.ย. 2009, 14:56 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พื้นฐานของวิปัสสนาญาณ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ |
ประวัติ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๗๘ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ๒๕๐๔ ขณะอายุย่าง ๒๗ ปี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ขิปฺปปญฺโญ” หล่วงพ่อทูลเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระสุปฏิปันโนได้อุทิศชีวิตทุ่มเทให้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านได้สร้างวัดป่าบ้านค้อ ได้เขียนหนังสือธรรมะกว่า ๒๐ เล่ม แสดงเทศนาธรรม อีกทั้งแต่งคำกลอนมรดกอีสาน จัดทำสื่อธรรมในรูป ซีดี วีซีดี เอ็มพี ๓ ผลงานของท่านเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านจึงได้รับพระราชทานรางวัล เสาเสมาธรรมจักร สาขาการแต่งหนังสือทางพุทธศาสนา หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ เป็นอัจฉริยบุคคล ท่านสร้างคนด้วยคำสอนที่ตรงต่อมรรคผลนิพพาน สร้างพุทธสถานไว้ให้ลูกหลานได้กราบไหว้ ตั้งแต่ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ พระพุธรูป ๔ ปาง แกะสลักจากไม้ตะเคียนทอง ท่านสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บอัฐิธาตุและบริขารของท่านเองในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้สร้างวัดไทยและศูนย์ปฏิบัติธรรมในต่างประเทศหลายแห่ง และสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมขิปปปัญโญ (KPY) ในประเทศไทยอีกหลายสาขา จากการที่หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ได้สร้างคุณความดีและประโยชน์ให้ประเทศชาติและพระศาสนาอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ นามว่า พระปัญญาพิศาลเถร หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ พฤศติกายน ๒๕๕๑ ณ วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สิริอายุได้ ๗๓ ปี ๔๘ พรรษา ที่มา : หนังสือทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม |
เจ้าของ: | di_dee [ 03 มิ.ย. 2009, 17:27 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พื้นฐานของวิปัสสนาญาณ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ |
![]() อนุโมทนาด้วยค่ะคุณผู้นำพล ![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |