วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 06:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2020, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ได้หนังสือมาอีกเล่มหนึ่ง :b12: จะคัดเสริม กท.เดิมที่เขาอธิบายเข้ากันได้

รูปภาพ




คำนำ

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาเหมือนมหาสมุทร ซึ่งเต็มไปด้วยรัตนะคือทรัพยากรอันมีค่ามากมาย สุดแต่ใครจะมีสติปัญญานำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
พระพุทธศาสนามีธรรมหรือคำสอนหลากหลาย ผู้ที่สนใจสามารถจะศึกษาได้ในหลายมิติหรือหลายแง่มุม สุดแต่จะสนใจหรือสุดแต่จะต้องการรู้อะไร หรือจะต้องการได้อะไร เสมือนการค้นหาทรัพยากรในมหาสมุทร ฉะนั้น

การศึกษาพระพุทธศาสนาในมิติแห่งปรัชญาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจหรือมองเห็นลีลาของพุทธธรรมในแง่ของเหตุผล หรือในลีลาของปรัชญา ซึ่งอาจจะช่วยให้ได้รับรสของพุทธธรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เนื่องจากการศึกษาพุทธธรรมในเชิงปรัชญาก็คือกระบวนการการคิดการตีความตามเหตุผลเท่าที่สติปัญญาของผู้ศึกษาจะอำนวยให้ได้
ฉะนั้น ผู้เรียบเรียงจึงถือว่า เรื่องราวและแง่มุมต่างๆ ที่ผู้เรียบเรียงนำเสนอในหนังสือนี้ เป็นเพียงทรรศนะของผู้เรียบเรียงที่นำเสนอให้ผู้อ่านได้พิจารณาเท่านั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องคิดหรือเข้าใจอย่างที่ผู้เรียบเรียงคิดและเข้าใจ

ผู้เรียบเรียง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2020, 18:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวิตกับความตาย

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในคำสอนเรื่องชีวิตของพระพุทธศาสนา คือ เรื่องความตาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ และมนุษย์ส่วนใหญ่มองความตายว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว กระทั่งถือว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดไม่ควรพูดถึง เพราะความตายหมายถึงจุดจบหรือความสิ้นสุดของชีวิต

แต่พระพุทธศาสนากลับสอนให้รู้จักความตาย สอนให้คิดถึงความตายไว้เสมอ และที่สำคัญคือสอนให้รู้จักวิธีที่จะทำให้ไม่ต้องตายอีกต่อไป

พระพุทธศาสนาแสดงให้เห็นว่า ความตายเป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต เรียกว่า ทุกขอริยสัจจ์
ความตายเป็นการเปลี่ยนแปลงช่วงหนึ่งของชีวิต เรียกว่า อนิจจัง และ
ความตายไม่ใช่ความสิ้นสุดหรือจุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดต่อระหว่างชีวิตหนึ่ง กับ อีกชีวิตหนึ่งเท่านั้น
โดยชายแดนของชีวิตปัจจุบัน คือ จุติจิต และชายแดนของชีวิตใหม่ คือ ปฏิสนธิจิต แล้วชีวิตก็เดินหน้าต่อไปเช่นเดิม นั่นคือ มนุษย์ตายแล้วก็เกิดอีก จนกว่ามนุษย์จะทำให้ตัณหา อันเป็นเหมือนสายใยที่ทำให้กระแสชีวิตไม่รู้จบขาดสะบั้น หรือ หมดสิ้นไปเท่านั้น ชีวิตจึงจะสิ้นสุดหรือดับ
จุดจบหรือจุดดับของชีวิตก็คือ ภาวะนิพพาน ซึ่งจะเรียกว่าว่า จุดจบของความตายก็น่าจะได้ เพราะเมื่อถึงภาวะนิพพานแล้วพระพุทธศาสนา เรียกว่า ถึงอมตธรรมหรือถึงภาวะอมตะ หรือ ภาวะที่ไม่ต้องตายอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะไม่มีการเกิดอีก

พระพุทธศาสนากล่าวถึงความตายด้วยคำหลายคำ คือ

@ จุติ ความเคลื่อน (จากโลกนี้)
@ เภทะ ความทำลาย
@ อันตรธานะ ความอันตรธาน (คือหายไป)
@ มัจจุ ความตาย
@ มรณะ ความตาย
@ กาลกิริยา ทำกาละ
@ ชีวิตินทรียอุปัจเฉทะ ความขาดไปของชีวิตินทรีย์
@ กเฬวรนิกเขปะ การทิ้งร่างกายไปหรือการทิ้งร่างให้เป็นศพ (สํ.นิ.16/120/68)

คำเหล่านี้ แสดงความหมายของปรากฏการณ์ของชีวิตที่เรียกว่าตาย ว่าเราเรียกได้หลายอย่างหรือมองได้หลายแง่มุม

ส่วนคำที่แสดงถึงความตายพร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของความตายที่ชัดเจนในคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ
@ ขนฺธานํ เภโท ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงขันธ์ ๕
@ กายสฺส เภทา ความแตกของกาย (คือที่รวมหรือประชุมแห่งธาตุ ๖) (สํ.นิ.16/120/68. ที.ม.10/295/341)

จากพุทธพจน์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ความตาย เป็นเพียงการแยกกันหรือความแตกออกจากกันของสิ่ง (คือ ธาตุ ๖ = ปฐวี อาโป เตโช วาโย อากาส วิญญาณ) ที่รวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน (คือกาย) หรือ เป็นกอง (คือ ขันธ์) เท่านั้น
ทั้งนี้ เพราะพระพุทธองค์ทรงพบว่า สิ่งที่เรียกว่า สัตว์ก็ดี มนุษย์ก็ดี นั้นเป็นเพียงกลุ่มก้อนหรือกองธาตุ (คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา หรือ ตามธรรมชาติของมัน) ๖ อย่างเท่านั้น
เมื่อธาตุเหล่านี้มารวมกันในลักษณะ ที่เรียกว่า กาย หรือ ขันธ์ ๕ ก็ปรากฏเป็นมนุษย์หรือสัตว์ขึ้น เมื่อกายหรือขันธ์ ๕ แยกหรือแตกจากกัน มนุษย์หรือสัตว์ก็หายไป
เพราะฉะนั้น การตาย การเกิดของสัตว์หรือมนุษย์ จึงเป็นเพียงกระบวนการแยกกัน และรวมกันของสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติหรือธาตุทั้งหลายเท่านั้น
ดังที่ท่าน แสดงไว้ในบางพระสูตรว่า “นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ” (สํ.ส.15/54/199)

ฉะนั้น ในคำสอนของพระพุทธศาสนา คำว่า สัตว์เกิดสัตว์ตาย หรือว่ามนุษย์เกิด มนุษย์ตาย จึงเป็นเพียงคำสมมติ หรือ ภาษาของชาวโลกเท่านั้น
ในความเป็นจริง การเกิดการตายเป็นเพียงกระบวนการรวมกัน กระบวนการแยกกัน ของธาตุทั้งหลายเท่านั้น แต่พระพุทธองค์ก็จำเป็นต้องใช้คำว่า เกิด – ตาย ตามภาษาของชาวโลก เพื่อสื่อความหมายในเบื้องต้น กับ ชาวโลก และเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาไปสู่ปัญญา หรือ ความรู้ขั้นสูงต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2020, 18:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ในมหาเวทัลลสูตรได้แสดงกระบวนการตายหรือกระบวนการแตกดับของกายไว้ว่า เริ่มจากกายสังขารดับ วจีสังขารดับ จิตตสังขารดับ อายุสิ้น ไออุ่นระงับ อินทรีย์ทั้งหลายแตกกระจาย (ม.มู.12/502/542)

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ขยายความต่อไปว่า คนที่จวนจะตาย ร่างกายจะซูบซีดไปโดยลำดับ อินทรีย์ทั้งหลาย คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา จะดับไปตามลำดับ กายินทรีย์ มนินทรีย์ และชีวิตินทรีย์ จะคงเหลืออยู่เฉพาะในหทัยวัตถุ
วิญญาณที่อาศัยอยู่ที่หทัยวัตถุ จะปรารภถึงครุกรรม บ้าง อาสันนกรรม บ้าง บุพพกตกรรม บ้าง อย่างไรอย่างหนึ่ง แล้วกรรมนิมิต คือ คตินิมิตก็จะมาปรากฏต่อวิญญาณนั้น
จากนั้น สังขารและตัณหาก็จะช่วยกันซัดโยนวิญญาณนั้นจากที่อาศัย (คือ หทัยวัตถุ) ในโลกนี้ ไปสู่ที่อาศัยใหม่ที่กรรมสร้างขึ้นใหม่ ดุจคนที่โหนเชือก ซึ่งผูกกับต้นไม้ไว้ที่ฝั่งนี้ โยนตัวข้ามคลองไปสู่ฝั่งโน้น ฉะนั้น (วิสุทฺธิ. แปล. 3/1/315)

ตราบใดที่ปัจจัยหรือสาเหตุคือ สังขาร ได้แก่ บุญ บาป และ กิเลส คือ ตัณหายังมีอยู่ กระบวนการตาย - เกิด ของชีวิตหรือสัตว์ หรือกระบวนการแยกกัน - รวมกัน ของธาตุทั้งหลาย ก็ยังคงดำเนินไปเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีที่สุด

ต่อเมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองไปตามกระแสธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตหรือขันธ์ ๕ วิชชาหรือความรู้เห็นตามจริงเกิดขึ้น อวิชชา คือ ความรู้ผิดรู้ไม่จริง หรือ ความไม่รู้หายไป กิเลสอันเป็นผลิตผลของอวิชชาก็หมดไปจากจิต เรียกว่า บรรลุถึงภาวะนิพพาน หรือ เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ กระบวนการตาย – เกิด จึงยุติ เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการเกิดอีก
เมื่ออัตภาพหรือชีวิตนี้สิ้นสุดลง ที่เรียกว่า ตาย ซึ่งหมายถึงจิตดวงสุดท้าย คือ จุติจิตดับ จิตก็ดับ ชีวิตก็ดับ (วิสิทธิ. แปล.3/1/65)

(หน้า 62)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร