วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 00:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 06:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


คำอธิบายแสดงความสัมพันธ์เชิงขยายความ

๑. อวิชชา→สังขาร : เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่เห็นแจ้ง ไม่เข้าใจชัด จึงคิดปรุงแต่ง เดาคิดวาดภาพไปต่างๆ เหมือนคนอยู่ในความมืด เห็นแสงสะท้อนนัยน์ตาสัตว์ มีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว จึงคิดเห็นเป็นรูปหน้าตาหรือตัวผีขึ้นมาจริงๆ และเห็นเป็นอาการต่างๆ เกิดความกลัว คิดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งหนี เป็นต้น หรือเหมือนคนไม่เห็นของทายที่อยู่ในกำมือ จึงคิดหาเหตุผลมาทาย เดา และถกเถียงต่างๆ

คนที่เชื่อว่าเทวดาชอบใจจะบันดาลอะไรๆ ให้ได้ ก็คิดปรุงแต่งคำอ้อนวอน พิธีบวงสรวงสังเวยต่างๆ ขึ้นกระทำการเซ่นสรวงอ้อนวอนต่างๆคนไม่รู้เท่าทันสภาวะของสังขารที่ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน เกิดจากการปรุงแต่งขององค์ประกอบต่างๆ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงคิดเห็นเป็นของดีงาม น่าเอา น่าครอบครอง คิดวาดภาพไปต่างๆ ตั้งความมุ่งหมาย คิดหาทางและทำการต่างๆ ที่จะได้จะเอามาครอบครอง

๒. สังขาร→วิญญาณ : เมื่อมีเจตนา คือ ตั้งใจ จงใจ มุ่งหมาย ใจเลือก ใจจะรับเอา หรือตกลงจะเกี่ยวข้อง วิญญาณที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่จำนง ไม่จงใจ ไม่เอาใจใส่ ใจไม่มุ่งออกรับ ถึงจะอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้ วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนคนกำลังคิดมุ่งหรือทำงานอะไรอย่างจดจ้องสนใจอยู่อย่างหนึ่ง จิตใจไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย เช่น อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตรับรู้เฉพาะเรื่องที่อ่าน มีเสียงดังควรได้ยินก็ไม่ได้ยิน ยุงกัดก็ไม่รู้ตัว เป็นต้น; กำลังมุ่งค้นหาของอย่างใดอย่างหนึ่ง มองไม่เห็นคนหรือของอื่นที่ผ่านมาในวิสัยที่จะพึงเห็น; มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้งด้วยเจตนาคนละอย่าง รู้เห็นไปตามแง่ของเจตนานั้น เช่น มองไปที่พื้นดินว่างแห่งหนึ่ง ด้วยความคิดของเด็กที่จะเล่น ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งด้วยความคิดจะปลูกสร้างบ้าน ได้ความรับรู้และความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งหนึ่งด้วยความคิดของเกษตรกร ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองด้วยความคิดของอุตสาหกร ได้ความรับรู้และความหมายอีกอย่างหนึ่ง มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้งด้วยความคิดนึกคนละอย่าง เกิดความรับรู้คนละแง่ละด้าน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในกลุ่มของหลายอย่างที่วางอยู่ใกล้กัน และอยู่ในวิสัยของการเห็นครั้งเดียวทั้งหมด มีมีดกับดอกไม้อยู่ด้วย คนที่รักดอกไม้ มองเข้าไป จิตอาจรับรู้เห็นแต่ดอกไม้อย่างเดียว และการรับรู้จะเกิดซ้ำอยู่ที่ดอกไม้อย่างเดียว จนไม่ได้สังเกตเห็นของอื่นที่วางอยู่ใกล้ ยิ่งความสนใจชอบใจติดใจในดอกไม้มีมากเท่าใด การรับรู้ต่อดอกไม้ก็ยิ่งถี่ขึ้น และการรับรู้ต่อสิ่งของอื่นๆ น้อยลงไปเท่านั้น ส่วนคนที่กำลังจะใช้อาวุธมองเข้าไป จิตก็จะรับรู้แต่มีดเช่นเดียวกัน และแม้ในกรณีเห็นมีดเป็นอารมณ์ด้วยกัน สำหรับคนหนึ่งอาจรับรู้มีดในฐานะอาวุธสำหรับประหารผู้อื่น อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในแง่สิ่งที่จะใช้ประโยชน์ในครัว อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในฐานะเป็นชิ้นโลหะชิ้นหนึ่ง สุดแต่ผู้นั้นเป็นโจร เป็นคนครัว หรือเป็นคนรับซื้อโลหะเก่า และอยู่ในภาวะแห่งความคิดนึกเจตจำนงอย่างใด ฯลฯ

เมื่อคิดนึกในเรื่องที่ดีงาม จิตก็รับรู้อารมณ์ที่ดีงาม และรับรู้ความหมายในแง่ที่ดีงามของอารมณ์นั้น เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่วร้าย จิตก็รับรู้อารมณ์ส่วนที่ชั่วร้าย และรับรู้ความหมายในแง่ที่ชั่วร้ายของอารมณ์นั้น โดยสอดคล้องกัน (ต่อไปข้างหน้า จะกล่าวถึงวิธีตัดกระบวนในบทที่ว่าด้วย)

๓. วิญญาณ→นามรูป : วิญญาณกับนามรูปอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างที่พระสารีบุตรกล่าวว่า

“ไม้อ้อ ๒ กำ ตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ ฉันนั้น ไม้อ้อ ๒ กำนั้น ถ้าเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งย่อมล้ม ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้ม ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณก็ดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ฯลฯ ฉันนั้น”

โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณเกิดมี นามรูปจึงเกิดมีได้ และต้องเกิดมีด้วย ในกรณีที่สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปพร้อมกันไปด้วย แต่เพราะนามรูปจะมีได้ต้องอาศัยวิญญาณในฐานะที่มันเป็นคุณสมบัติและเป็นตัวประกอบร่วมของวิญญาณ จึงแยกออกกล่าวว่า สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ในที่นี้ อาจแยกภาวะที่วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปได้ ดังนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑) ที่ว่าจิตรับรู้ต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นของสิ่งหนึ่ง ได้ยินเสียงอย่างหนึ่งนั้น แท้จริงก็คือรับรู้ต่อนามรูป (ในที่นี้หมายถึง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) ต่างๆ นั่นเอง สิ่งที่มีสำหรับบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ก็คือ สิ่งที่มีอยู่ในความรับรู้ของเขาในขณะนั้นๆ หรือนามรูปที่ถูกวิญญารับรู้ในขณะนั้นๆ เท่านั้น เช่น ดอกกุหลาบที่มีอยู่ ก็คือดอกกุหลาบที่กำลังถูกรับรู้ทางจักษุประสาทหรือทางมโนทวารในขณะนั้นๆ นอกจากนี้ ดอกกุหลาบอย่างนั้นๆ ก็มิได้มีอยู่ต่างหากจากบัญญัติ (concept) ในมโนทวาร และมิได้ผิดแปลกไปจาก เวทนา สัญญา และสังขารที่มีอยู่ในขณะนั้นๆ เลย โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมีอยู่พร้อมนั่นเอง และมีอยู่อย่างอิงอาศัยค้ำจุนซึ่งกันและกัน

๒) นามรูปที่เนื่องอาศัยวิญญาณ ย่อมมีคุณภาพสอดคล้องกับวิญญาณนั้นด้วย โดยเฉพาะนามทั้งหลายก็คือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง เมื่อความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ดีงาม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณซึ่งรับรู้อารมณ์ที่ดีงามและในแง่ที่ดีงาม ในขณะนั้น จิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสไปตาม อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ด้านร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะในทางที่ดีงามสอดคล้องกัน เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่ว ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ในส่วนและในแง่ที่ชั่วร้าย จิตใจก็มีสภาพขุ่นมัวหม่นหมอง อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ทางร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะเป็นความเครียดกระด้างหม่นหมองไปตาม ในสภาพเช่นนี้ องค์ประกอบต่างๆ ทั้งในทางจิตใจและร่างกาย อยู่ในภาวะที่พร้อมหรืออยู่ในอาการที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสังขารหรือวิญญาณที่เกิดขึ้น

เมื่อรู้สึกรักใคร่มีไมตรี (สังขาร) ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ส่วนที่ดีงาม (วิญญาณ) จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน (นาม) สีหน้าก็สดชื่นยิ้มแย้มผ่องใส ตลอดจนกิริยาอาการต่างๆ ก็กลมกลืนกัน (รูป) อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงออกในทางที่ดีงามต่อไป เมื่อโกรธเคือง ก็เกิดความรับรู้อารมณ์แต่ส่วนที่เลว จิตใจก็ขุ่นมัวขัดข้อง สีหน้ากิริยาอาการก็บึ้งบูดเคร่งเครียด อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงอาการและกระทำการต่างๆ ในแนวทางนั้นต่อไป นักกีฬาที่อยู่ในสนามเมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น ความนึกคิดเจตจำนงต่างๆ จะพุ่งไปในกีฬาที่แข่งขันอยู่นั้น ความรับรู้ต่างๆ ก็เกิดดับอยู่ในเรื่องนั้น ด้วยอัตราความถี่มากน้อยตามกำลังของเจตจำนงความสนใจที่พุ่งไปในกีฬานั้น จิตใจและร่างกายทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็อยู่ในภาวะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่แสดงพฤติกรรมออกมาโดยสอดคล้องกัน

ความเป็นปัจจัยในข้อนี้ หมายรวมไปถึงการเกิดดับสืบต่อของนามรูปใหม่ๆ คือส่วนต่างๆ ของร่างกายและจิตใจที่มาก่อหรือเสริมบุคลิกภาพ ให้เป็นไปตามสภาพของวิญญาณที่ถูกสังขารปรุงแต่งแล้วนั้น (พึงสังเกตความสัมพันธ์กับภพ)

ความเป็นไปในช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนแห่งกรรมและการให้ผลของกรรม วงจรแห่งวัฏฏะหมุนมาครบรอบเล็ก (อวิชชา: กิเลส → สังขาร: กรรม → วิญญาณ และนามรูป: วิบาก) และกำลังจะเริ่มตั้งต้นหมุนต่อไป นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างนิสัย ความเคยชิน ความรู้ ความชำนาญ และบุคลิกภาพทั้งหมด

๔) นามรูป→ สฬายตนะ: การที่นามรูปจะปฏิบัติหน้าที่ต่อๆ ไป ต้องอาศัยความรู้ต่อโลกภายนอก หรือดึงความรู้ที่สะสมไว้แต่เดิมมาเป็นเครื่องประกอบการตัดสิน หรือเลือกว่าจะดำเนินพฤติกรรมใดต่อไปในทิศทางใด ดังนั้น นามรูปส่วนที่มีหน้าที่เป็นสื่อหรือช่องทางติดต่อรับรู้อารมณ์ต่างๆ คืออายตนะที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้นๆ จึงอยู่ในสภาพตื่นตัวและปฏิบัติหน้าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับปัจจัยข้อก่อนๆ ตามลำดับมา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ดังเช่น ในกรณีของนักฟุตบอลในสนาม อายตนะที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์อันเกี่ยวกับกีฬาที่เล่นอยู่นั้น เช่น ประสาทตา ประสาทหู เป็นต้น ก็จะอยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาที่เล่นด้วยความไวเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน อายตนะที่ไม่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ที่มุ่งหมายนั้น ก็จะไม่อยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะให้เกิดการรับรู้อารมณ์ พูดง่ายๆ ว่าผ่อนการปฏิบัติหน้าที่ลงไปตามส่วน เช่น ความรู้สึกกลิ่น และความรู้สึกรส อาจไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่กำลังเล่นอย่างกระชั้นชิดติดพัน เป็นต้น

๕. สฬายตนะ→ผัสสะ : เมื่ออายตนะปฏิบัติหน้าที่ การรับรู้ก็เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง เข้าบรรจบกัน คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) กับ อารมณ์ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง) และวิญญาณ (ทางจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) การรับรู้ก็เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับอายตนะนั้นๆ

๖. ผัสสะ→เวทนา : เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึกเกี่ยวด้วยสุขทุกข์เกิดขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ สบาย ชื่นใจ เป็นสุข (สุขเวทนา) หรือไม่ก็ บีบคั้น ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ เรื่อยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา หรือ อทุกขสุขเวทนา)

ปฏิจจสมุปบาท ตั้งแต่หัวข้อที่ ๓ ถึง ๗ คือ วิญญาณ ถึง เวทนานี้ เป็นกระบวนการในช่วงวิบาก คือ ผลของกรรม โดยเฉพาะข้อ ๕ – ๖ – ๗ (สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา) ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ไม่ดีไม่ชั่ว โดยตัวของมันเอง แต่จะเป็นเหตุแห่งความดี ความชั่วได้ต่อไป

๗. เวทนา→ ตัณหา: เมื่อได้รับสุขเวทนา ก็พอใจ ชอบใจ ติดใจ อยากได้ และอยากได้ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อได้รับทุกขเวทนา ก็ขัดใจ อยากให้สิ่งนั้นสูญสิ้นพินาศไปเสีย อยากให้ตนพ้นไปจากทุกขเวทนานั้น และอยากได้ แส่ ดิ้นรนไปหาสิ่งอื่นที่จะให้สุขเวทนาต่อไป เมื่อได้รับอุเบกขาเวทนา รู้สึกเฉยๆ ก็ชวนให้เกิดอาการซึมๆ เพลิน อย่างมีโมหะ เป็นสุขเวทนาอย่างอ่อนๆ ที่ทำให้ติดใจได้ และเป็นเชื้อให้ขยายตัวออกเป็นความอยากได้สุขเวทนาต่อไป

ตัณหานั้น เมื่อแยกให้ชัดโดยอาการ ก็มี ๓ อย่าง คือ

๑) กามตัณหา (craving for sense-pleasure) ความอยากได้สิ่งสำหรับสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕

๒) ภวตัณหา (craving for self-existence) ความอยากได้สิ่งต่างๆ โดยสัมพันธ์กับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความอยากในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนานั้นๆ ได้ ในความหมายที่ลึกซึ้ง คือ ความอยากในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งยั่งยืนตลอดไป

๓) วิภวตัณหา (craving for non-existence or self-annihilation) ความอยากให้ตัวตนพ้นไป ขาดหาย พรากหรือสูญสิ้นไปเสียจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ปรารถนา ตัณหาชนิดนี้ แสดงออกในรูปที่หยาบ เช่น ความรู้สึกเบื่อหน่าย ความเหงา ว้าเหว่ ความเบื่อตัวเอง ความชังตัวเอง ความสมเพชตนเอง ความอยากทำลาย เป็นต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัณหาจึงแสดงออกในรูปต่างๆ เป็นความอยากได้กามคุณต่างๆ บ้าง อยากได้ภาวะแห่งชีวิตบางอย่าง เช่น ความเป็นเศรษฐี ความเป็นผู้มีเกียรติ ความเป็นเทวดา เป็นต้น ซึ่งจะอำนวยสิ่งที่ปรารถนาให้บ้าง อยากพ้นไปจากภาวะที่ไม่ปรารถนา เบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก ตลอดจนถึงอยากตายบ้าง หรือในกรณีที่แสดงออกในภายนอก เมื่อถูกขัดหรือฝืนความปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดปฏิฆะ ความขัดใจขัดเคือง โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความคิดทำลายผู้อื่น สิ่งอื่น เป็นต้น

๘. ตัณหา→อุปาทาน : เมื่ออยากได้สิ่งใด ก็ยึดมั่นเกาะติดเหนียวแน่น ผูกมัดตัวตนติดกับสิ่งนั้น ยิ่งอยากได้มากเท่าใด ก็ยิ่งยึดมั่นแรงขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่ประสบทุกขเวทนา อยากพ้นไปจากสิ่งนั้น ก็มีความยึดมั่นในแง่ชิงชังต่อสิ่งนั้นอย่างรุนแรง พร้อมกับที่มีความยึดมั่นในสิ่งอื่นที่ตนจะดิ้นรนไปหารุนแรงขึ้นในอัตราเท่าๆ กัน จึงเกิดความยึดมั่นในสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ยึดมั่นในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนา ยึดมั่นในตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นในความเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี และหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งที่สนองตัณหาของตน ตลอดจนยึดมั่นในแบบแผน ข้อยึดถือปฏิบัติ วิธีการต่างๆ ที่สนองความต้องการของตัวตน

๙. อุปาทาน→ภพ : ความยึดมั่นย่อมเกี่ยวข้องไปถึงภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ความยึดมั่นนั้นแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่ง คือ เป็นการนำเอาตัวตนไปผูกมัดไว้ หรือทำให้เป็นสิ่งเดียวกันกับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นภาวะชีวิตที่อำนวยสิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นภาวะชีวิตที่ช่วยให้พ้นไปจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีภาวะชีวิตที่ต้องการ ก็ย่อมมีภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการอยู่ด้วยพร้อมกัน ภาวะชีวิตที่ถูกยึดเกี่ยวเกาะไว้นี้เรียกว่า อุปปัตติภพ

เมื่อยึดมั่นในภาวะชีวิตนั้น จึงคิดมุ่งหมายหรือมีเจตจำนงเพื่อเป็นอย่างนั้นๆ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นอย่างนั้นๆ แล้วลงมือทำการต่างๆ เริ่มแต่คิดสร้างสรรค์ปรุงแต่งแสวงวิธีการต่างๆ ดำเนินการตามจุดมุ่งหมาย แต่ความคิดและการกระทำทั้งหมดนั้นย่อมถูกผลักดันให้ดำเนินไปในทิศทาง และในรูปแบบที่อุปาทานกำหนด คือ เป็นไปตามอำนาจของความเชื่อถือ ความคิดเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี วิธีการ ความพอใจ ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนยึดถือไว้ จึงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมและกระทำการต่างๆ โดยสอดคล้องกับอุปาทานนั้น

ตัวอย่างในชั้นหยาบ เช่น อยากเกิดเป็นเทวดา จึงยึดถือในลัทธิคำสอน ประเพณี พิธีกรรม หรือแบบแผนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าจะให้ไปเกิดได้อย่างนั้น จึงคิดมุ่งหมาย กระทำการต่างๆ ไปตามความเชื่อนั้น จนถึงว่า ถ้าความยึดมั่นรุนแรง ก็ทำให้มีระบบพฤติกรรมที่เป็นลักษณะพิเศษจำเพาะตัวเกิดขึ้นแบบใดแบบหนึ่ง หรือตัวอย่างใกล้เข้ามา เช่น อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็ย่อมยึดมั่นเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความมีเกียรติ ยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น ยึดมั่นในตัวตนที่จะมีเกียรติอย่างนั้นๆ เจตจำนง และการกระทำ ก็มุ่งไปในทิศทางและรูปแบบที่ยึดไว้นั้น พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกก็มีรูปลักษณะสอดคล้องกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง อยากได้ของมีค่าของผู้อื่น จึงยึดมั่นในภาวะที่ตนจะเป็นเจ้าของสิ่งของนั้น จึงยึดมั่นในความเคยชิน หรือวิธีการที่จะให้ได้สิ่งของนั้นมา ไม่รู้โทษและความบกพร่องของวิธีการที่ผิด จึงคิดนึก มุ่งหมาย และกระทำการตามความเคยชินหรือวิธีการที่ยึดไว้ กลายเป็นการลักขโมย หรือการทุจริตขึ้น ความเป็นเจ้าของที่ยึดไว้เดิม กลายเป็นความเป็นโจรไป

โดยนัยนี้ เพื่อผลที่ปรารถนา มนุษย์จึงทำกรรมชั่ว เป็นบาป เป็นอกุศลบ้าง ทำกรรมดี เป็นบุญ เป็นกุศลบ้าง ตามอำนาจความเชื่อถือ ความยึดมั่นที่ผิดพลาด หรือถูกต้อง ในกรณีนั้นๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 10:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


- กระบวนพฤติกรรมที่ดำเนินไปในทิศทางแห่งแรงผลักดันของอุปาทาน :b13: นั้น และปรากฏรูปลักษณะอาการสอดคล้องกันกับอุปาทานนั้น เป็นกรรมภพ

- ภาวะแห่งชีวิตที่สืบเนื่องมาจากกระบวนพฤติกรรมนั้น เช่น ความเป็นเทวดา ความเป็นคนมีเกียรติ ความเป็นเจ้าของ และความเป็นโจร เป็นต้น เป็นอุปปัตติภพ อาจเป็นภพ (ภาวะแห่งชีวิต) ที่ตรงกับความต้องการ หรือภพที่ไม่ต้องการก็ได้

ปฏิจจสมุปบาทช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำกรรม-รับผลกรรม การก่อนิสัยและสร้างบุคลิกภาพ

๑๐. ภพ →ชาติ : ชีวิตที่เป็นไปในภาวะต่างๆ ทั้งหมดนั้น ว่าตามความหมายที่แท้ ก็คือขันธ์ ๕ ที่เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลงไป โดยมีคุณสมบัติที่สะสมเพิ่ม-ลด ในด้านต่างๆ ตามเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีเจตจำนงคือเจตนาเป็นตัวนำ ทำให้กระแสโดยรวม หรือกระบวนธรรมนั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขันธ์ ๕ ที่รวมเป็นชีวิตนั้น เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะตลอดเวลา เมื่อกล่าวถึงความจริงนั้นด้วยภาษาตามสมมติ จึงพูดว่า คนเรานี้เกิด-แก่-ตายอยู่ทุกขณะ อย่างที่อรรถกถาแห่งหนึ่งกล่าวว่า

“โดยปรมัตถ์ เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดอยู่ แก่อยู่ ตายอยู่ การที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘ดูก่อนภิกษุ เธอเกิด แก่ และตายอยู่ ทุกขณะ’ ดังนี้ ก็พึงทราบว่า เป็นอันได้ทรงแสดงให้เห็นแล้วว่า ในสัตว์ทั้งหลายนั้น การเล็งถึงขันธ์ เสร็จอยู่แล้วในตัว”

อย่างไรก็ตาม สำหรับปุถุชน ย่อมมิใช่มีเพียงการเกิด-ดับของขันธ์ ๕ ตามธรรมดาของธรรมชาติเท่านั้น แต่เมื่อมีภพขึ้นตามอุปาทานแล้ว ก็เกิดมีตัวตนซึ่งสำนึกตระหนักขึ้นมาว่า “เรา” ได้เป็นนั่นเป็นนี่ อยู่ในภาวะชีวิตอันนั้นอันนี้ ซึ่งตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับความต้องการ พูดสั้นๆ ว่า ตัวตนเกิดขึ้นในภพนั้น จึงมีตัวเราที่เป็นเจ้าของ ตัวเราที่เป็นโจร ตัวเราที่เป็นคนไม่มีเกียรติ ตัวเราที่เป็นผู้ชนะ ตัวเราที่เป็นผู้แพ้ ฯลฯ

ในชีวิตประจำวันของปุถุชน การเกิดของตัวตน จะเห็นได้เด่นชัด ในกรณีความขัดแย้ง เช่น การถกเถียง แม้ในการเถียงหาเหตุผล ถ้าใช้กิเลส ไม่ใช้ปัญญา ก็จะเกิดตัวตน ที่เป็นนั่นเป็นนี่ชัดขึ้นมาว่า เราเป็นนาย เราเป็นผู้มีเกียรติ (พร้อมกับ เขาเป็นลูกน้อง เขาเป็นคนชั้นต่ำ) นี่เป็นความเห็นของเรา เราถูกขัดแย้ง ทำให้ความเป็นนั่นเป็นนี่ด้อยลงพร่องลง หรือจะสูญสลายไป เมื่อชรามรณะปรากฏ ชาติก็ยิ่งชัด แต่เพราะมีชาติ จึงมีชรามรณะได้

๑๑. ชาติ→ ชรามรณะ: เมื่อมีตัวตนที่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมมีตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ขาด พลาด หรือพรากจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาดหรือพรากไปจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวตนที่ถูกกระทบกระทั่ง ถูกขัดขวาง ขัดแย้งให้กระแสความเป็นอย่างนั้นๆ สะดุด หวั่นไหว สะเทือน ลดด้อยลง พร่องลง เสื่อมลงไป ไม่สมบูรณ์เต็มเปี่ยมอย่างที่อยากให้เป็น และอย่างที่ยึดถืออยู่ เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นแล้ว ก็อยากจะดำรงอยู่ตลอดไป อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างที่ต้องการ หรืออยากให้ภาวะแห่งชีวิตที่ต้องการนั้นอยู่กับตัวตนตลอดไป แต่เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นได้ ตัวตนก็ย่อมเสื่อมสลายได้ แม้เมื่อยังไม่สูญสลาย ก็ถูกคุกคามด้วยความพร่องตัว และความสูญสลายที่จะมีมา จึงเกิดความหวาดกลัวต่อความถูกหวั่นไหว กระทบกระแทก และความสูญสลาย และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันตัวตนไว้กับภาวะชีวิตนั้นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 10:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ความกลัวต่อความสูญสลายแห่งตัวตนนี้ เกิดสืบเนื่องมาจากความรู้สึกถูกคุกคามและหวาดกลัวต่อความตายของชีวิตนี้นั่นเอง ซึ่งแฝงอยู่ในจิตใจอย่างละเอียดลึกซึ้งตลอดเวลา และคอยบีบคั้นพฤติกรรมทั่วๆ ไปของมนุษย์ ทำให้หวาดกลัวต่อความพลัดพราก สูญสลาย ทำให้ดิ้นรนไขว่คว้าภาวะชีวิตที่ต้องการอย่างเร่าร้อน ทำให้เกรงกลัวและผิดหวังเมื่อได้รับ ทุกขเวทนา และทำให้เสวยสุขเวทนาอย่างกระวนกระวาย และด้วยความหวาดกลัวความพลัดพราก

โดยนัยนี้ เมื่อตัวตนเกิดขึ้นในภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการ ไม่เกิดในภาวะชีวิตที่ต้องการ ก็ดี เมื่อตัวตนเกิดได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ในภาวะชีวิตที่ต้องการ แต่ต้องสูญสลายพรากไป ก็ดี ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาด และพรากจากภาวะชีวิตที่ต้องการ ก็ดี ความทุกข์แบบต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้น คือ เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสสะ และอุปายาสะ และในภาวะแห่งความทุกข์เช่นนี้ ย่อมมีแต่ความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มีความขัดข้องขุ่นมัว ความหลงใหล และความมืดบอด อันเป็นลักษณะของอวิชชา จึงเกิดการดิ้นรนหาทางออกด้วยวิธีการแห่งอวิชชาตามวงจรต่อไป

ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการแข่งขัน และมีการชนะเกิดขึ้น สำหรับปุถุชนจะไม่มีเพียงการชนะที่เป็นเหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งมีความหมายและวัตถุประสงค์ตามที่ตกลงกำหนดวางกัน (สมมติ) ไว้เท่านั้น แต่จะมีความเป็นผู้ชนะที่ยึดมั่นไว้กับความหมายพิเศษบางอย่างเฉพาะตัวด้วย อุปาทาน(ภพ) ด้วย ในบางโอกาส โดยเฉพาะในกรณีของคนมักหยิ่งผยอง หรือในกรณีเกิดเรื่องกระทบกระเทือนใจ ก็จะเกิดความรู้สึกโผล่ขึ้นมาว่า เราเป็นผู้ชนะ = ตัวเราเกิดขึ้นในความเป็นผู้ชนะ (ชาติ) แต่ความเป็นผู้ชนะของเราในความหมายสมบูรณ์เต็มตัวต้องพ่วงเอาความมีเกียรติ ความยกย่องเยินยอ ความได้ผลประโยชน์ ความนิยมชมชอบ การยอมรับของผู้อื่น เป็นต้นไว้ด้วย ความเกิดของตัวเราในความชนะ หรือความชนะของเราจึงเกิดพร้อมกับการจะต้องมีผู้ยอมรับ ยกย่องเชิดชู การทำให้ผู้ใดผู้หนึ่งแพ้ไปได้ การได้ทำหรือแสดงออกอะไรสักอย่างที่สุดขีดของความอยาก ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง

จากนั้น ในขณะเดียวกับที่ตัวเราในฐานะผู้ชนะ พร้อมทั้งความหมายต่างๆ ที่พ่วงอยู่กับมัน เกิดขึ้น ความสมหวัง หรือไม่สมหวังก็เกิดขึ้น เมื่อสมหวัง ก็จะตามมาด้วยความรู้สึกที่จะต้องผูกพันมัดตัวไว้กับความเป็นผู้ชนะนั้นให้แน่นแฟ้น เพราะกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะสูญสิ้นไปจากตน กลัวว่า ความยอมรับนิยมยกย่องเชิดชูที่ได้รับในฐานะนั้น จะไม่คงอยู่อย่างเดิม จะลดน้อยลง เสื่อมไป หรือหมดไปจากตน เมื่อพบเห็นผู้ใดผู้หนึ่งแสดงอาการไม่เชิดชูให้เกียรติอย่างที่หวัง หรือเท่าที่หวัง หรือการยกย่องเชิดชูเกียรติที่เคยได้อยู่ มาลดน้อยลง ก็ย่อมเกิดความขุ่นมัวหม่นหมองใจและอุปายาส เพราะตัวตนในภาวะผู้ชนะนั้นกำลังถูกกระทบกระแทกหรือถูกบีบคั้นกำจัดให้พรากไปเสียจากภาวะผู้ชนะ คือ กำลังถูกคุมคามด้วยความเสื่อมโทรม (ชรา) และความสูญสลาย (มรณะ) จากความเป็นผู้ชนะพร้อมทั้งคุณค่าผนวกต่างๆ ที่ยึดไว้ (ภพ)

เมื่อภาวการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ความรู้สึกขุ่นมัวหม่นหมอง กังวล ผิดหวังต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งมิได้ถูกขุดทิ้งโดยสติและสัมปชัญญะ (ปัญญา) ก็จะเข้าหมักหมมทับถมในสันดาน มีผลต่อบุคลิกภาพ และพฤติกรรมของบุคคลนั้น ตามวงจรปฏิจสมุปบาทต่อไป เป็นการเสวยเวทนาอย่างที่เรียกว่าหมกตัวหรือผูกมัดตัว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 62 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron