วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 11:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชุมนุมเทวดา กล่าวคำเชิญชวนเทวดาให้มาชุมนุมกันเพื่อฟังธรรม ในโอกาสที่พระสงฆ์สวดพระปริตร, เรียกเต็มว่า "บทขัดชุมนุมเทวดา" หมายถึงบทสวดที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น สำหรับให้บุคคลหนึ่ง (ธรรมเนียมบัดนี้ ให้ภิกษุที่นั่งอันดับ ๓) สวดนำ (เรียกว่า ขัดนำ) ก่อนที่พระสงฆ์จะเริ่มสวดพระปริตร

มีข้อความเป็นคำเชิญชวนเทวดาทั่วทั้งหมดให้มาฟังธรรมอันมีในบาลีภาษิต แห่งพระปริตรที่จะสวดต่อไปนั้น

ดังคำลงท้ายว่า "ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา" (ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี้เป็นเวลาที่จะฟังธรรม)


ชยปริตรคาถา คาถาของชยปริตร, คาถาที่ประกอบขึ้นเป็นชยปริตร


ชยปริตร "ปริตรแห่งชัยชนะ" ปริตรบทหนึ่ง ประกอบด้วยคาถาที่แต่งขึ้นใหม่ในยุคหลัง โดยนำเอาพุทธพจน์ (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯปฯ สห สพฺเพหิ ญาติภิ (องฺ.ติก.20/595/371) มาตั้งเป็นแกน เร่ิ่มต้นว่า "มหาการุณิโก นาโถ" จัดเป็นปริตรบทที่ ๑๒ (บทสุดท้าย) ใน "สิบสองตำนาน"


ชยปริตร นี้ นิยมสวดกันมาก นอกจากใช้สวดรวมในชุดสิบสองตำนาน และพ่วงท้ายเจ็ดตำนานแล้ว ยังตัดเอาบางส่วนไปใช้ต่างหากจากชุด สำหรับสวดในพิธีหรือในโอกาสอื่นด้วย เช่น นำไปสวดต่อจากชยมังคลัฏฐกคาถา (พุทธชัยมงคลคาถา) ในการถวายพรพระ และ จัดเป็นบทเฉพาะสำหรับสวดในกำหนดพิธีพิเศษ หรือมงคลฤกษ์ต่างๆ เป็นต้นว่า
โกนผมไฟ ตัดจุก วางศิลาฤกษ์ เปิดงาน เปิดร้าน รับพระราชทานปริญญาบัตร เททองหล่อพระ เรียกว่า เจริญชัยมงคลคาถา

ชยปริตรที่นำบางส่วนมาใช้นั้น เรียกส่วนที่นำเอามาว่า ชยปริตตคาถา (คาถาของ ชยปริตร คือ ไม่ใช่เต็มทั้งชยปริตร) โดยเฉพาะชยปริตตคาถา ส่วนที่นำมาใช้ในการเจริญชัยมงคลคาถา เรียกชื่อเป็นพิเศษว่า ชัยมงคลคาถา (คือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ชยันโต ฯลฯ ...)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 11:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชยมังคลัฏฐกคาถา "คาถาว่าด้วยหมวด ๘ แห่งชัยมงคล" ได้แก่ คาถาอันแสดงมงคลคือชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ เรื่อง ดังนี้

๑. ทรงชนะมาร ด้วยบารมีธรรมมีทาน เป็นต้น

๒. ทรงชนะอฬวยักษ์ ด้วยขันติ

๓. ทรงชนะช้างนาฬาคิรีที่ตกมัน ด้วยเมตตา

๔. ทรงชนะโจรองคุลิมาล ด้วยการดลฤทธิ์

๕. ทรงชนะนางจิญจมาณวิกา ด้วยความสงบเย็นใจเป็นสันติธรรม

๖. ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ ด้วยปัญญา

๗. ทรงชนะนันโทปนันทนาคราช ด้วยอนุภาพการใช้ฤทธิ์ แก่พระมหาโมคคัลลานะ

๘. ทรงชนะพระพรหมนามว่าพกะ (คนไทยเรียกว่า พกาพรหม) ด้วยพระญาณหยั่งรู้, บางทีแยกเรียกเป็น ชยมังคลอัฏฐกคาถา, พุทธชัยมงคลคาถา ก็เรียก,
ชาวบ้านมักเรียกง่ายๆว่า คาถาพาหุง (เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า พาหํุ) เรียกอย่างเต็มแท้ว่า "พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา"

ชัยมงคล มงคลคือชัยชนะ, ความชนะที่เป็นมงคล

ชัยมงคลคาถา คาถาเพื่อชัยชนะ, คาถาว่าด้วยมงคลคือชัยชนะ, หมายถึงชยปริตตคาถาท่อนที่ว่า "ชยนฺโต โพธิยา มูเล ฯปฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ" ซึ่งใช้ในการเจริญชัยมงคลคาถา,

พึงสังเกตว่า ชัยมงคลคาถา นี้ ต่างหากจากพุทธชัยมงคลคาถา ซึ่งหมายถึงชยมังคลัฏฐกคาถา ที่มักเรียกกันว่า คาถาพาหุง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 11:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


องคุลิมาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณ์ เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน)

ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย

อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่า มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย)

ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง



ประวัติอหิงสกะ

https://www.youtube.com/watch?v=6Do1fRH_rQQ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 19:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เชตวัน “สวนเจ้าเชต” ชื่อวัดสำคัญ ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้า อุทิศสงฆ์จากจาตุรทิศ ที่เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล (คงจะสร้างในพรรษาที่ ๓ แห่งพุทธกิจ) โดยซื้อที่ดินอุทยานของเจ้าเชต (เชตราชกุมาร) ด้วยวิธีเอาเกวียนขนเงินเหรียญมาปูให้เต็มพื้นที่ (เรื่องมาใน วินย.7/256/109)

ตามเรื่องว่า เมื่อหมู่เกวียนขนเงินมาเที่ยวแรก เงินเหรียญปูยังไม่เต็มพื้นที่ ขาดอยู่ตรงที่ใกล้ซุ้มประตูหน่อยเดียว ขณะที่อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งคนให้ไปขนเงินมาอีก

เจ้าเชตเกิดความซาบซึ้งในศรัทธาของท่านอนาถบิณฑิก จึงขอมีส่วนร่วมในการสร้างวัดด้วย โดยขอให้ที่ตรงนั้นเป็นส่วนที่ตนถวาย ซึ่งอนาถบิณฑิกคหบดีก็ยินยอม เจ้าเชตจึงสร้างซุ้มประตูวัดขึ้นตรงที่นั้น


เชตวัน อนาถบิณฑิการามนี้ เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา คือ (อาจจะครั้งแรกในพรรษาที่ ๓ ) พรรษาที่ ๑๔ และในช่วง พรรษาที่ ๒๑ – ๔๔ ซึ่งประทับสลับไปมาระหว่างวัดพระเชตวัน กับ วัดบุพพาราม ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา,

ด้วยเหตุนี้ การทรงแสดงธรรม และบัญญัติวินัย จึงเกิดขึ้นที่วัดพระเชตวันนี้มาก โดยเฉพาะสิกขาบทของภิกษุณี ทรงบัญญัติที่วัดพระเชตะวันแทบทั้งสิ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 19:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชวนะ (จิต) "การแล่นไป" "การไปเร็ว" "การสว่างวาบ" ความเร็ว, ความไว, จิตขณะที่แล่นไปในวิถี ทำหน้าที่รับรู้เสพอารมณ์ทางทวารทั้งหลาย (ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ)

เป็นวิถีจิตในช่วง หรือขั้นตอนที่ทำกรรม (เป็นกุศลชวนะ หรือ อกุศลชวนะ แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่ทำกรรม เป็นกิริยาชวนะ) จึงถือว่าอยู่ในช่วงที่สำคัญ, โดยทั่วไป และอย่างมากที่สุด ปุถุชนในกามภูมิ มีชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะ แล้วเกิดตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก) เป็นวิปากจิตขึ้นมา ๒ ขณะ แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิต เรียกกันว่าตกภวังค์ เป็นอันสิ้นสุดวิถีจิต คือสิ้นสุดการรับอารมณ์ไปวิถีหนึ่ง,

ที่ว่ามานี้ เป็นกรณีที่ รับอารมณ์ที่มีกำลังแรงหรือเด่นชัดมาก (ถ้าเป็นอารมณ์ใหญ่มากทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า อติมหันตารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์เด่นชัดทางมโนทวาร เรียกว่า วิภูตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่รับนั้นมีกำลังไม่มากนัก หรือไม่เด่นชัด (คือเป็นมหันตารมณ์ทางปัญจทวาร หรือเป็นอวิภูตารมณ์ทางมโนทวาร) พอชวนจิตขณะที่ ๗ ดับไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตต่อเลย (เรียกว่าตกภวังค์) ไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น


ในทางปัญจทวาร ถ้าอารมณ์ที่กระทบ มีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) หรืออ่อนกำลังอย่างยิ่ง (เป็นอติปริตตารมณ์) วิถีจิตจะเกิดขึ้นน้อยขณะ แล้วเกิดเป็นภวังคจิต (ตกภวังค์) โดยไม่มีชวนจิต เกิดขึ้นเลย, ที่ว่ามานั้น เป็นการพูดทั่วไป

ยังมีข้อพิเศษหลายอย่าง เช่น ในกามภูมินี้แหละ ในกรณีที่อารมณ์อ่อนกำลังชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาเหล้า เป็นต้น หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลัง ยิ่งอย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดขึ้นเพียง ๔-๕ ขณะ

ส่วน ในภูมิที่มสูงขึ้นไป เช่น ในการบรรลุฌานแต่ละขั้นครั้งแรก ในการทำกิจแห่งอภิญญา ในการสำเร็จกิจแห่งมรรค และในเวลาออกจากนิโรธสมาบัติ ชวนจิตเกิดขึ้นขณะเดียว (แต่ในเวลาเข้านิโรธสมาบัติชวนจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ)

สำหรับผู้ ชำนาญในฌาน ชวนจิต (อัปปนาชวนะ) จะเกิด ดับ ต่อเนื่องไปตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น อาจจะตลอดทั้งวัน ไม่มีกำหนดจำนวนขณะ (เป็นอัปปนาวิถี ตลอดเวลาที่ฌานจิตยังสืบต่อติดเนื่องกันไป) จนกว่าจะเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมา สันตติของฌานจิตก็ขาดตอน เรียกว่าตกภวังค์ คือออกจากฌาน,


คำว่า "ชวนะ" นี้ ใช้หมายถึงจิต ซึ่งทำหน้าที่รับอารมณ์ในวิถี ก็ได้ หมายถึงการทำหน้าที่ของจิตในการรับอารมณ์นั้น ก็ได้ ถ้าต้องการความหมายให้จำเพาะชัดลงไป ก็เติมคำกำกับลงไปว่า "ชวนจิต" หรือ "ชวนกิจ" ตามลำดับ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวกโกมารภัจจ์ “ผู้ที่พระราชกุมารเลี้ยงชื่อชีวก”


ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชียวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย ชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวก เกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตก จึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ

แต่พอดี เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่า เป็นทารก และยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะทีทรงทราบว่าเป็นทารก เจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ (หรือ ยังเป็นอยู่) หรือไม่ และได้รับคำตอบว่ายังมีชีวิตอยู่ (ชีวิต = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่)

ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)

ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่า ตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัว จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี
อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์ รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยา

ชีวก หาไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์

อาจารย์ว่า สำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย

ชีวก เดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์

เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาของเศรษฐีเมืองนั้น ซึ่งเป็นโรคปวดหัวมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย

ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย

หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงิน และของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการคุณที่ได้ทรง เลี้ยงตนมา

เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวิตสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล

หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่า เป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น

พระเจ้าพิมพิสาร จึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และ
ถวายการรักษาพระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลา ที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ

หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวันคือสวนมะม่วงของตน เรียกว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก) เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์ และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัว จำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด

นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรม และเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย

หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 20:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชาดก "เครื่องเล่าเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเกิดมาแล้ว"

ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก อันเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังทรงบำเพ็ญบารมี มีจำนวนทั้งหมด ตามตัวเลขถ้วนที่กล่าวในอรรถกถาทั้งหลายว่า ๕๕๐ ชาดก
(นับตรงเลขว่า ๕๔๗ ชาดก แต่คนไทยมักพูดตัดเลขแค่หลักร้อยว่า พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ)

ทั้งหมดนี้จัดเป็นพระไตรปิฎก ๒ เล่ม (ฉบับอักษรไทย คือ เล่ม ๒๗ และ ๒๘)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาดกทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นคาถาล้วนๆ (เว้นชาดกหนึ่งที่เป็นความร้อยแก้ว คือ กุณาลชาดก) และโดยมากเป็นเพียงคำกล่าวโต้ตอบกันของบุคคลในเรื่อง พร้อมทั้งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสรุปหรือแสดงคติธรรม อันเรียกว่าอภิสัมพุทธคาถาเท่านั้น ไม่ได้เล่าเรื่องโดยละเอียด ผู้อ่านเข้าใจได้ยาก

จึงมีอรรถกถาขึ้นมาช่วยอธิบาย เรียกว่า "ชาตกัฎฐกถา" (เรียกให้ง่ายว่า อรรถกถาชาดก) ซึ่งขยายความออกไปมาก จัดเป็นเล่มหนังสือฉบับบาลีอักษรไทยรวม ๑๐ เล่ม

เรื่องชาดกที่เรียนและเล่ากันทั่วไป ก็คือเล่าตามชาตกัฏฐกถานี้ แต่นักศึกษาพึงรู้จักแยกระหว่างส่วนที่มีในพระไตรปิฎก กับส่วนที่เป็นอรรถกถา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2016, 20:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด, กรรมที่กุศลหรืออกุศลก็ตามที่เป็นตัวแต่งสัตว์ให้เกิด คือชักนำให้ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้ (ข้อ ๕ ในกรรม ๑๒)


ชะตา เวลาที่ถือกำเนิดของคน และสิ่งที่สำคัญ


ชาติ การเกิด, ชนิด, พวก, เหล่า, ปวงชน, แห่งประเทศเดียวกัน


ชีพ ชีวิต, ความเป็นอยู่


ชีวิต ความเป็นอยู่


ชีโว ผู้เป็น, ดวงชีพ ตรงกับ อาตมัน หรือ อัตตา ของลัทธิพราหมณ์


ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาติธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมด้วย) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่าย คือ

๑. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๑๓) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม)

บางทีเรียก รูปชีวิตินทรีย์

๒. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) อย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๖) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรม คือ จิต และเจตสิกทั้งหลาย

บางทีเรียก อรูปชีวิตินทรีย์ หรือ นามชีวิตินทรีย์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 31 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร