วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 00:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2010, 23:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


จากประสบการณ์ผู้เขียนเห็นว่า มีหลักการและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นฝึกปฏิบัติใหม่ เพื่อทดลองฝึกปฏิบัติ (หลังจากที่ได้อ่านแนวทางปฏิบัติทุกแนวแล้วยังงงๆ อยู่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน อย่างไรดี) พอจะรวบรวมได้ ๑๖ ข้อ ดังนี้ คือ
๑. เริ่มจากตื่นนอนในแต่ละวัน ให้ฝึกทำสมาธิอย่างน้อยประมาณ๑๕-๓๐ นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มจนถึง ๑ ชั่วโมงเป็นประจำ (อาจมีการสวดมนต์ไหว้พระด้วยหรือไม่ก็ได้) การทำสมาธิจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ และคำบริกรรมที่ใช้แล้วแต่ถนัด เพื่อเริ่มฝึกจิตให้มีคุณภาพ
๒. ต่อด้วยการเจริญสติ คือระลึกรู้ในการทำกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร หรือพบปะพูดจา ฯลฯ ทำกิจได้ก็ให้มีสติระลึกรู้และตื่นตัวอยู่เสมอทุกๆ อิริยาบถ “เดินนับเท้า นอนนับท้อง จับจ้องลมหายใจ เคลื่อนไหวด้วยสติ” หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ
๓. ให้ฝึกทำสมาธิ สลับกับการเจริญสติเช่นนี้ ทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง(ระยะเวลาอาจปรับสั้นยาวได้ตามความเหมาะสม) ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า เป็นการปฏิบัติในแนวทางที่ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเจริญสติได้คล่องขึ้น ให้เพิ่มการเจริญสติให้มากกว่าการทำสมาธิ
๔. ศีลห้าและกุศลกรรมบถสิบอย่าให้ขาด และให้งดเว้นอบายมุขทุกชนิดตลอดชีวิต หากศีลข้อใดขาดให้สมาทานศีลห้าใหม่ทันทีโดยวิธีสมาทานวิรัติด้วยตนเอง เอาเจตนางดเว้นเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นบาทฐานของการปฏิบัติ
๕. ท่านที่มีภารกิจมากและต้องทำกิจการงานต่างๆ ที่จะต้องพบปะติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ให้หมั่นสำรวม กาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิจ ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับงานนั้นๆ ขณะพูดเจรจาก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับการพูดเจรจานั้นๆ ตลอดเวลา เมื่ออยู่ตามลำพังก็ให้เริ่มสมาธิหรือเจริญสติต่อไป
๖. เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ จะมีอาการเผลอสติบ่อยมาก และบางทีเจริญสติไม่ถูก หลงไปทำสมถะเข้า เรื่องนี้ในหนังสือวิมุตติปฏิปทาของท่านปราโมทย์สันตยากร ท่านกล่าวว่า “ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณภาพเสียก่อน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตถธรรมไม่ได้ เมื่อไปเจริญสติเข้าก็จะกลายเป็นสมถะทุกคราวไป ฯลฯ” ดังนั้น จึงต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น และเมื่อใดที่เผลอหรือคิด ใจลอยฟุ้งซ่านไป ก็ให้กลับมามีสติระลึกรู้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน ขณะที่รู้ว่าเผลอหรือรู้ว่าคิดฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การกำหนดหรือน้อมและไม่ใช่ตั้งท่าหรือจ้องหรือเพ่ง
หากจิตมีอาการเกิดกามราคะ หรือโทสะที่รุนแรง ให้หันกลับมาอยู่กับการทำสมาธิแทนจนกว่าอาการจะหายไป แล้วเริ่มเจริญสติต่อไปใหม่ถ้าอาการยังไม่หายแสดงว่า ท่านไม่ได้อยู่กับสมาธิ ให้ตั้งใจปฏิบัติสมาธิให้มั่นใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะสงบ ความสงบอยู่ที่การปล่อยวางจิตให้พอดี ตึงไปก็เลย หย่อนไปก็ไม่ถึง ต้องวางจิตให้พอดีๆ
๗. ขณะที่เข้าห้องน้ำถ่ายทุกข์หนัก-เบา หนาว-ร้อน หิว-กระหายก็ให้เจริญสติระลึกรู้ทุกครั้งไป
๘. ตอนกลางวัน ควรหาหนังสือธรรมะมาอ่าน หรือฟังเทปธรรมะสลับการปฏิบัติ ถ้าเห็นว่ามีอาการเบื่อหรืออ่อนล้า อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการตั้งใจเกินไป หรืออาจปฏิบัติไม่ถูกทางก็เป็นได้ ให้เฝ้าสังเกตและพิจารณาด้วย
๙. ให้มองโลกแง่ดีเสมอๆ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสตลอดทั้งวันไม่คิด พูด หรือทำในสิ่งอกุศล ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น ให้พูด คิด แต่ส่วนที่ดีของเขา การพูด การคิดและทำ ก็ให้เป็นไปในกุศล คือ ทาน ศีล สมาธิ และภาวนาเท่านั้น (ไม่พูดดิรัจฉานกถา) พยายามประคับประคองรักษากุศลธรรมให้เกิดและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ บางทีบางโอกาสอาจเห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ และเห็นการดับไปของความโกรธ ซึ่งความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมากแต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมาก แล้วจึงค่อยๆมอดดับลงไป นั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา และต่อไปจะทำให้กลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงออกทางกายน้อยลงๆ จะเห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่แต่ในจิตเท่านั้น
๑๐. ให้ประเมินผลทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง หรือวันละ ๓-๔ ครั้งและให้ทำทุกวัน ให้สังเกตดูตัวเองว่า เบากายเบาใจกว่าแต่ก่อนหรือไม่เพราะเหตุใด
๑๑. ก่อนนอนทุกคืน ให้อยู่กับสมาธิในอิริยาบถนอนตะแคงขวา(สีหไสยาสน์) หรือเจริญสติจนกว่าจะหลับทุกครั้งไป ถ้าไม่หลับให้นอนดู“รูปนอน” จนกว่าจะหลับ
๑๒. เมื่อประเมินผลแล้วให้สำรวจตรวจสอบ เป้าหมายคือการเพียรให้มีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้สังเกตดูว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างหรือไม่ หากยังไม่ก้าวหน้า ต้องค้นหาสาเหตุแท้จริงแล้วรีบแก้ไขให้ตรวจสอบดูว่าท่านได้ปฏิบัติถูกทาง หรือไม่ หาสัตบุรุษผู้รู้หรือกัลยาณมิตรเพื่อขอคำแนะนำ ไม่ควรขอคำแนะนำจากเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะอาจหลงทางได้
๑๓. ให้พยายามฝึกทำความเพียร เฝ้าใส่ใจในความรู้สึกให้แยบคาย(โยนิโสมนสิการ) พยายามแล้วพยายามอีก ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คิดว่ายากมากๆ จนกลายเป็นง่าย และเกิดเป็นนิสัยประจำตัว
๑๔. จงอย่าพยายามสงสัย ให้เพียงแต่พยายามเฝ้าระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมอยู่ในกายในจิต (รูป-นาม) กลุ่มปัญหาข้อสงสัยก็จะหมดความหมายไปเอง (หลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ ท่านว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว”)อย่าพยายามอยากได้ญาณ หรือมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น ตัวของเราเองมีหน้าที่เพียงแต่สร้างเหตุที่ดีเท่านั้น
นักปฏิบัติที่คิดมาก มีปัญหามาก เพราะไม่พยายามรู้ตัว และยังรู้ตัวไม่เป็น ไม่มีสติพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตนเอง เอาแต่หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้ หรือไม่ก็ไปพยายามแก้อาการของจิต ดังนั้นจึงให้พยายามรู้ตัวให้เป็นถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้ กับมีผู้รู้ และให้พยายามมีสติพิจารณาอยู่แต่ภายในจิตของตนก็พอ ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่งโปรดจำไว้ว่าให้รู้อารมณ์เท่านั้น อย่าพยายามไปแก้อารมณ์ที่เกิดขึ้น (วิมุตติปฏิปทา)
๑๕. จงอย่าคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อย ขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ของตัวยังอ่อนเกินไป คิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง จงอย่าดูหมิ่นตัวเอง เมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติหรือเจริญสติใหม่ๆ จะเกิดการเผลอสติบ่อยๆจะเป็นอยู่หลายเดือน หรือบางทีอาจหลายปี แต่ฝึกบ่อยๆ เข้าก็จะค่อยๆระลึกรู้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ขอให้พยายามทำความเพียรต่อไป ถ้าผิดก็เริ่มใหม่เพราะขณะใดที่รู้ว่าผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
ประการที่สำคัญ คือ ต้องเลิกเชื่อมงคลตื่นข่าว และต้องไม่แสวงบุญนอกศาสนา จงอยู่แต่ใน ทาน ศีล สมาธิและภาวนา (บุญกิริยาวัตถุสิบ) ก็พอ
๑๖. จงพยายามทำตนให้หนักแน่นและกว้างใหญ่ดุจแผ่นดินและผืนน้ำที่สามารถรองรับได้ ทั้งสิ่งของที่สะอาดและโสโครก ซึ่งแผ่นดินและผืนน้ำรักชังใครไม่เป็น คือทั้งไม่ยินดี (สิ่งของที่สะอาด) และไม่ยินร้าย (ของโสโครก) ใดๆ วางใจให้เป็นกลางๆ ให้ได้ ความสำเร็จก็อยู่ที่ตรงนี้
ท่านที่รู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว การเจริญสตินั่นแหละจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะหาอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์มา เป็นเครื่องมืออยู่ที่ถนัด (วิหารธรรม) ให้จิตมีสติเฝ้ารู้อย่างต่อเนื่อง
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ท่อนซุงที่ลอยล่องไประหว่างสองฝั่ง ถ้าไม่ติดอยู่ข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ช้าก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน”
แต่ถ้าลอยไปติดอยู่กับฝั่งใด (กามสุขัลลิกานุโยค หรือความยินดี)ฝั่งหนึ่ง (อัตตกิลมถานุโยค หรือความยินร้าย) ไม่ช้าก็คงกลายเป็นซุงผุใช้การไม่ได้เป็นแน่

ที่มา http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1150.php


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2010, 11:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2010, 23:57
โพสต์: 6

ชื่อเล่น: นกเอี้ยง
อายุ: 18

 ข้อมูลส่วนตัว


จะนำไปปรับใช้นะคะ

^^

.....................................................
สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิ เวสายะ

" สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคล ไม่ควรยึดติดถือมั่น "


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 20 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron