วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช]


พ ระ ม ห า ธ า ตุ
อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์


“มหาธาตุ” หรือ “พระมหาธาตุ”
โดยคติความเชื่อในหมู่คนไทยแต่กาลก่อน
มีความหมายเป็นสองนัย คือ

“มหาธาตุ” หรือ “พระมหาธาตุ” โดยนัยแรก

หมายถึง พระอัฐิของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระบรมศาสดาแห่งพุทธศาสนา
คนไทยแต่กาลก่อนนิยมเรียกพระอัฐิพระพุทธเจ้าว่า
มหาธาตุ หรือพระมหาธาตุ


รูปภาพ
[วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช]


ความนิยมเช่นนี้มีปรากฏให้ทราบ เป็นต้น
ในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัย คือ ศิลาจารึกนครชุม
เมื่อพุทธศักราช ๑๙๐๐ ความตอนหนึ่งดังนี้

“ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช
หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้
มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี่ปีนั้น
พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์
คือ พระธาตุแท้จริงแลเอาลุกแต่แต่ลังกาทวีปพู้น มาดาย”


“มหาธาตุ” “หรือ “พระมหาธาตุ” โดยนัยหลัง
หมายถึง สถานที่ประเภทหนึ่ง
สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐาน “พระมหาธาตุ”


รูปภาพ
[วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย]


สถานที่เฉพาะประโยชน์เช่นนี้
ได้รับการเรียกว่า “พระมหาธาตุ” ซึ่งนามนี้มีมาแต่สมัยสุโขทัย
เมื่อครั้งยังเป็นแคว้นที่อยู่ของคนไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙
ทั้งนี้พึงเห็นได้จากความตอนหนึ่งว่า
ด้วย “พระมหาธาตุ” โดยนัยนี้ ในจารึกวัดศรีชุม ดังความต่อไปนี้

“สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีเป็นเจ้า
เอาตนเจ้าไปเลิกไปก่อกระทำพระมหาธาตุหลวงคืน
พระมหาธาตุด้วยสูงเก้าสิบห้าวา
ไม้เหนือพระธาตุหลวงคืน
พระมหาธาตุด้วยสูงเก้าสิบห้าวา
ไม้เหนือพระธาตุหลวงไซร้สองอ้อมสามอ้อม”


“พระมหาธาตุ” โดยความหมายเป็นสองนัยนี้
ภายหลังรวมกันเข้าเป็นความหมายเดียว
คือ หมายถึงศาสนสถานประเภทหนึ่ง
สร้างขึ้นเป็นที่สำหรับประดิษฐานพระมหาธาตุ
หรือต่อมาเรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ โดยเฉพาะ


รูปภาพ
[พระมหาธาตุหรือพระปรางค์ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา]


คตินิยมเรียกศาสนสถานประเภทนี้ว่า พระมหาธาตุ
มีให้ทราบได้จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ในรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ดังความต่อไปนี้

“ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้น
ให้สถาปนาพระวิหาร แลพระมหาธาตุเป็นพระอาราม
แล้วให้พระนาม ชื่อวัดพุทไธสวรรย”


คตินิยมในการสร้างและเรียกศาสนสถาน
ที่สำหรับประดิษฐานพระอัฐิหรือพระมหาธาตุพระพุทธเจ้า เช่นกล่าว
ยังมีต่อมาโดยลำดับ ดังในรัชกาล สมเด็จพระราเมศวร
โดยความปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลนี้ ดังนี้

รูปภาพ
[วัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา]


“เสด็จออกทรงศีลยังพระที่นั่งมังคลาภิเศกเพลา ๑๐ ทุ่ม
ทอดพระเนตรโดยฝ่าทิศบูรพ์
เห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์
เรียกปลัดวังให้เอาพระราชยานเสด็จออกไป
ให้ตรุยปักขึ้นไว้สถาปนาพระมหาธาตุนั้นสูง ๑๙ วา
ยอดนพศูลสูง ๓ วา ชื่อวัดมหาธาตุ”


คำว่า “พระมหาธาตุ” โดยความหมายว่า
ศาสนสถานที่สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนี้
ยังคงเป็นชื่อนามที่เรียกติดปากกันต่อมาครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
ดังในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
มีความในพระราชพงศาวดาร รัชกาลนี้ตอนหนึ่ง ดังนี้

“ครั้น ณ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู นพศก
เพลากลางคืนลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุวัดวรโพธิโทรมลง”


“พระมหาธาตุ” หรือภายหลังเรียกว่า “พระมหาธาตุเจดีย์”
ที่เป็นศาสนสถานประเภทหนึ่งตามกล่าวมานี้
มีรูปทรงและลักษณะเป็นเช่นไร


รูปภาพ
[พระมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา]


พึงเห็นได้จาก “พระมหาธาตุ” สมัยอยุธยา
ที่ยังคงปรากฏอยู่ในสภาพสมบูรณ์พอควร
เป็นต้นว่า “พระมหาธาตุ” วัดราชบูรณะ
สถาปนาขึ้นเมื่อรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
ปรากฏความในพงศาวดารว่า

“สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า
ท่านจึงให้ขุดเอาพระศพเจ้าอ้ายพระยา
เจ้ายี่พระยา ไปถวายพระเพลิง
ที่ถวายพระเพลิงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุ
แลพระวิหารเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อวัดราชบูรณะ”


กับ “พระมหาธาตุ” ที่ควรทำความรู้จักอีกแห่งหนึ่งในอยุธยา
คือ “พระมหาธาตุ” ณ วัดไชยวัฒนาราม
ซึ่งมีความปรากฏในพระราชพงศาวดาร
เมื่อรัชกาล สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่า

“แลที่บ้านสมเด็จพระพันปีหลวงนั้น
พระมหาธาตุเจดีย์
มีพระระเบียงรอบ แลมุมพระระเบียงนั้น
กระทำเป็นทรงเมรุทิพ เมรุราย อันรจนา
แลกอปด้วย พระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ
แลสร้างกุฏิ ถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก
พระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนา
เสร็จแล้วให้นามชื่อว่า วัดไชยวัฒนาราม”


รูปภาพ
[พระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม
ที่ได้รับคติในการสร้างโดยจำลองเขาพระสุเมรุมาจากขอม]



(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภูมิทัศน์แสดงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดไชยวัฒนาราม ยามสนธยา]


อนึ่ง คำว่า “พระมหาธาตุ”
หรือ “พระมหาธาตุเจดีย์” ซึ่งเรียกกันในชั้นหลัง
ยังมีคำเรียก “พระมหาธาตุ”
อีกคำหนึ่งว่า “พระปรางค์” เพิ่มเข้ามาด้วย

ดังเห็นได้จากความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดาร
เมื่อรัชกาลสมัย พระเจ้าปราสาททอง
ว่าด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ ณ วัดมหาธาตุ
ในพระนครศรีอยุธยา ดังต่อไปนี้

“ศักราช ๙๙๕ ปีระกาเบญจศก
ทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระปรางค์วัดมหาธาตุอันทำลายลงเก่า
เดิมในองค์สูง ๑๙ วา ยอดนภศูล ๓ วา
จึงทรงดำรัสว่าทรงเก่าล่ำนัก
ก่อใหม่ให้องค์ใหม่สูงเส้น ๒ วา ยอดนภศูลคงไว้
เข้ากันเปนเส้น ๕ วา ก่อแล้วเห็นเพรียวอยู่
ให้เอาไม้มะค่าแทรกตามอิฐเอาปูนบวก ๙ เดือนสำเร็จ
ให้กระทำการฉลองเปนอันมาก”


รูปภาพ
[ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์สมัยอยุธยา]


คำว่า “พระปรางค์” ที่เกิดมีขึ้น
และใช้เรียกพระมหาธาตุ หรือพระมหาธาตุเจดีย์
ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ยังเป็นคำที่ได้รับความนิยมเรียกศาสนสถานประเภทพระมหาธาตุ
ที่ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นลำดับมา


ซึ่งมีตัวอย่างคำว่าพระปรางค์นี้
ปรากฏให้ทราบได้ในความบางตอน
แห่งพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ดังนี้

รูปภาพ
[พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร]


“ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ
เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม”


อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่า “พระปรางค์” เป็นคำที่เข้ามาใช้เรียกแทนพระมหาธาตุ
ที่ได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังตัวอย่างเป็นต้น
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกัน ว่า


“วัดราชบูรณะนั้นซ่อมแซมของเก่า
ทำเพิ่มเติมขึ้นใหม่แต่พระปรางค์ องค์ ๑”


พระปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์แต่ละแห่งดังหลักฐานที่อ้างมานี้
ยังปรากฏบริบูรณ์อยู่ทุกที่ทุกแห่ง ให้เห็นรูปพรรณสัณฐานได้
ซึ่งรูปแบบก็มิได้แตกต่างไปจากศาสนสถานประเภทพระมหาธาตุ
ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยากี่มากน้อย

พระมหาธาตุ พระมหาธาตุเจดีย์ หรือ พระปรางค์
ตามคตินิยมมักสร้างด้วยเครื่องก่ออิฐถือปูน
บางแห่งใช้ศิลาแลงสร้างเสริม


ส่วนฐานเพื่อความมั่นคงถาวร
ก็มีว่าด้วยรูปพรรณสัณฐานโดยรวม
ก็เป็นลักษณะอย่างปราสาท คือ “เรือนหลายชั้น”

แต่ประสงค์ใช้ประโยชน์เพียงชั้นล่าง
ที่ก่อทำเป็นรูปเรือนสี่เหลี่ยมมีพื้นที่กว้างพอสมควร
เรียกว่า “ครรภธาตุ” เป็นตำแหน่งที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญ

ส่วนชั้นบนถัดขึ้นไปก่อรวบปลายเรียงแหลมเป็นส่วนยอดปรางค์
ปลายบนสุดปัก “นภศูล” “เป็นสัญลักษณ์บ่งคตินิยมทางพุทธศาสนา

พระมหาธาตุ หรือพระปรางค์ อาจสร้างขึ้นแต่เพียงองค์เดียว
เรียกว่าปรางค์โดดก็มี
สร้าง ๓ องค์แบบเรียงแถวหน้ากระดานก็มี
หรือสร้างเป็นอย่างปรางค์จำนวน ๕ องค์ ก็มี


รูปภาพ
[ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์]


พระมหาธาตุแต่ละแห่งที่ได้รับการสร้างต่างกาลต่างสมัย
มีการตกแต่งที่เป็นมัณฑนาการต่างๆ กัน
เช่นลวดลายปูนปั้น บุด้วยแผ่นโลหะลงรักปิดทองคำเปลว
ประดับกระเบื้องถ้วย เป็นต้น


พระมหาธาตุได้รับการสร้างขึ้นโดยพระราชนิยมของพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
แต่รัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
กระทั่งรัชกาล สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ คราวหนึ่ง
แล้วร้างพระราชนิยมไป

จนถึงรัชกาล สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
จึงมีพระราชนิยมสร้างพระมหาธาตุเป็นประธาน
สำหรับพระอารามขึ้นใหม่ จนถึงกาลเสียกรุง

สมัยรัตนโกสินทร์ นิยมสร้างพระมหาธาตุหรือพระปรางค์
เป็นประธานของพระอาราม พระปรางค์ทิศ พระปรางค์ราย
มาแต่ในรัชกาลที่ ๑ จนกระทั่งรัชกาลที่ ๓


พอพ้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
คตินิยมการสร้างพระมหาธาตุก็หมดไป
ไม่มีการสร้างศาสนสถานประเภทที่อธิบายมานี้ต่อมา

รูปภาพ
[พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓]


(มีต่อ : ประมวลภาพและสาระสังเขปพระมหาธาตุสำคัญของประเทศไทย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
Wat Phra That Doi Suthep, Chieng Mai

ศูนย์รวมแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาบนยอดดอยสุเทพ

• ศิลปะแบบ :

ล้านนา

• ปี พ.ศ. ที่สร้าง :

๑๙๑๒

• สถานที่ตั้ง :

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐๕๓-๒๙๕-๐๐๐

• ความสำคัญของวัด :

วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
- International Buddhism Center

• สังกัด :

มหานิกาย

• เว็บไซต์ :

http://www.doisuthep.com/

รูปภาพ

• ประวัติโดยสังเขป

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
เป็นวัดที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และเป็นวัดท่องเที่ยว
ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยโดยทั่วไป
ในฐานะที่เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากวัดหนึ่งของประเทศไทย

ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่
ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ๑,๐๕๓ เมตร
อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

องค์พระเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า ดอยสุเทพ
กล่าวกันว่า แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของฤาษี มีนามว่า สุเทวะ
เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า เทพเจ้าที่ดี
ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า สุเทพ นั่นเอง

รูปภาพ
[พระธาตุดอยสุเทพยามราตรี]


เพราะฉะนั้นจึงได้ ชื่อว่า ดอยสุเทพ
ซึ่งมาจากชื่อของฤๅษี คือ สุเทวะฤาษี


ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙
พระเจ้ากือนา ได้ทรงสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
ไว้บนยอด เขาดอยสุเทพ โดยได้นำเอาพระบรมธาตุ ของพระพุทธเจ้า
ที่พระมหาสวามี นำมาจาก เมืองปางจา จังหวัดสุโขทัย
บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแล้ว
ยังเป็นพระอารามหลวง ๑ ใน ๔ ของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
(พระอารามหลวงหมายถึงวัดที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ)

ชาวเชียงใหม่เคารพนับถือพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารมาก
เสมือนหนึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล


ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น
เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน
ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร
และปีนเขาต้องใช้เวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมงกว่า

จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า
ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ
ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ

รูปภาพ
[ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน]


ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ (ค.ศ. ๑๙๓๔)
ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทย
มาจากวัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ
โดยมี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น
เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์
ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน
ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว
โดยเริ่มสร้างวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
Wat Phra That Haripunchai, Lamphun

องค์พระธาตุต้นแบบพุทธสถาปัตยกรรมล้านนา
และศูนย์กลางพุทธศาสนาของวัฒนธรรมล้านนา


• ศิลปะแบบ :

ล้านนา

• ปี พ.ศ. ที่สร้าง :

พ.ศ. ๑๖๕๑ และบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑

• สถานที่ตั้ง :

ใจกลางเมืองลำพูน
ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑๕๐ เมตร
มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ
ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทาง ทิศตะวันออก
และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก

• ความสำคัญของวัด :

วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
- ศูนย์กลางพุทธศาสนาของวัฒนธรรมล้านนา

• สังกัด:

มหานิกาย

• เว็บไซต์ :

ไม่มี

รูปภาพ
[วิหารหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน]


วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน
ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑๕๐ เมตร
มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ
ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทาง ทิศตะวันออก
และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๑ ในรัชสมัย พระเจ้าอาทิตยราช
ต่อมาได้รับการบูรณะต่อเติมมาเป็นลำดับ

วัดพระธาตุหิริภุญชัย นับเป็นวัดหลวงมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗
ดังนั้นจากระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ทำให้วัดนี้เป็นแหล่งสะสมศิลปกรรมมาหลายยุคหลายสมัย และหลายรูปแบบ

สิ่งสำคัญที่สุดของวัดนี้
ซึ่งถือว่าเป็นหลักหรือเป็นศูนย์กลางของวัดคือ
องค์พระบรมธาตุเจ้าหิริภุญชัย
ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ชื่อของ วัดพระธาตุหริภุญชัย มาจากชื่อของ เมืองหริภุญชัย
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้
เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพุทธกาล
และได้แวะรับฉันลูกสมอ ที่ชาวลั๊วะนำมาถวาย
โดยได้ทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมือง
และตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร”

ซึ่งหริภุญชัยแปลว่าเมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ
(หริแปลว่าสมอ----ภุญชัยแปลว่าเสวย----นครแปลว่าเมือง)


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน]


• ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยในตอนต้นนั้น
ได้มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาต
ยังชัยภูมิซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ของชาวเม็ง

เมื่อรับบิณฑบาตแล้วได้เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์
ขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงสถานที่แห่งหนึ่ง
พระพุทธองค์มีพระราชประสงค์ที่จะประทับนั่ง
ก็ปรากฏหินก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน
พระพุทธองค์ทรงวางบาตรแล้วประทับบนหินก้อนนั้น

ในขณะนั้นมี พระญาชมพูนคราช
และ พระญากาเผือก ออกมาอุปัฏฐากพระองค์
และชาวลัวะผู้หนึ่งนำหมากสมอมาถวายพระองค์
เมื่อพระองค์เสวยแล้วทรงทิ้งเมล็ดหมากสมอลงบนพื้นดิน
เมล็ดหมากสมอได้ทำประทักษิณ ๓ รอบ

พระพุทธองค์ทรงมีพุทธทำนายว่า
สถานที่แห่งนี้ต่อไปในอนาคตจะเป็นที่ตั้งของ “นครหริภุญชัยบุรี”
และสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุวรรณเจดีย์”

และหลังจากที่พระองค์นิพพานแล้ว
จะมีพระบรมสารีริกธาตุเป็นต้นว่า
ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ
และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วย

หลังจากทรงมีพุทธพยากรณ์แล้ว
พระอรหันต์ พระญาอโศก พระญาชมพูนาคราช และพระญากาเผือก
จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลขอ “พระเกศธาตุ”
จากพระพุทธองค์ซึ่งทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวา
ลูบพระเศียรประทานให้เส้นหนึ่ง

ดังนั้นพระอรหันต์และพระญาทั้งสาม
ได้นำเอาพระเกศธาตุใส่ไว้ในกระบอกไม้รวกบรรจุในโกศแก้วใหญ่ ๓ กำ
นำไปบรรจุไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับนั้น
พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายจึงเสด็จกลับพาราณสี
ส่วนหินก้อนที่พระพุทธองค์ประทับนั้น
ก็จมลงไปในแผ่นดินเหมือนเดิม
โดย ชมพูนาคราชและพระญากาเผือก ได้ทำหน้าที่เฝ้าพระเกศธาตุนั้น

รูปภาพ
[ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน]


กาลเวลาล่วงมาจนถึงปีจุลศักราช ๒๓๘
พระพุทธศาสนาล่วงไปได้ ๑,๔๒๐ ปี
พระญาอาทิตยราชได้ครอง เมืองหริภุญชัย
พระองค์โปรดฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ

ครั้นเสร็จแล้ว พระองค์ก็เข้าประทับอยู่ภายในปราสาทราชมณเฑียรแห่งนั้น
อยู่มาวันหนึ่งพระองค์เสด็จไปสู่ห้องทรงพระบังคน
ปรากฏมีกาตัวหนึ่งได้บินโฉบลงมา
เป็นทำนองกันไม่ให้พระองค์เข้าไปถึงฐานนั้นได้

ด้วยความกริ้วพระองค์จึงต้องย้ายไปใช้ห้องทรงพระบังคนแห่งอื่น
และทรงมีกระแสรับสั่งให้จับกาตัวการนั้นมาฆ่าเสีย
แต่เทวดาได้ดลใจให้อำมาตย์ผู้หนึ่งทัดทานไว้
เพราะสงสัยในพฤติกรรมของกานั้น
คืนนั้นยามใกล้รุ่ง เทวดาผู้รักษาพระเกศธาตุได้สำแดงฤทธิ์มาในพระสุบิน
ถวายคำแนะนำให้พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา ๗ วัน
และอยู่กับคน ๗ วัน เป็นเวลา ๗ ปี

เมื่อถึงเวลานั้นเด็กก็จะสามารถแปลภาษากา
ให้คนได้รับทราบเหตุการณ์อันเป็นปริศนานั้นได้โดยชัดแจ้ง
ครั้นพระญาอาทิตยราชทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเกศธาตุโดยละเอียด
จึงโปรดฯ ให้เชิญ พระญากาเผือก
ซึ่งเป็นปู่ของกาดังกล่าวมาสู่ปราสาท
โดยพระองค์โปรดฯ ให้จัดสถานที่สำหรับต้อนรับ พระญากาเผือก
อย่างสมฐานะพระญาแห่งกาทั้งปวง

พระญากาเผือก จึงเล่าเรื่องถวายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
พระญาอาทิตยราช ทรงมีพระราชหฤทัยอภิรมย์ยินดีเป็นอย่างยิ่ง
จึงตรัสสั่งให้รื้อราชมณเฑียรทั้งปวง
ออกไปจากสถานที่แห่งนั้นจนหมดสิ้น

แล้วโปรดฯ ให้ปรับพื้นที่อันเป็นมงคลนั้นให้เรียบงามตา
พระองค์โปรดฯ ให้พระสงฆ์สวดพระปริตรมงคล
เพื่ออาราธนาพระบรมธาตุให้ออกมาปรากฏ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระบรมธาตุเจดีย์หริภุญชัย]


พระธาตุก็สำแดงฤทธาภินิหาร
โผล่ขึ้นมาพ้นแผ่นดินทั้งโกศแก้วลอยขึ้นไปในอากาศสูงเท่าต้นตาล
พระบรมธาตุได้เปล่งฉัพพรรณรังสีเจิดจ้าไปทั่วนครหริภุญชัย
เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงลอยลงมาประดิษฐานบนแผ่นดินดังเดิม


พระญาอาทิตยราช โปรดฯ ให้ขุดเอาโกศบรรจุพระธาตุขึ้นมา
แต่ยิ่งขุดโกศนั้นก็ยิ่งจมลงไป
พระองค์จึงต้องบูชาอาราธนาพระธาตุจึงได้ยอมลอยขึ้นมาสูงถึง ๓ ศอก
พระญาอาทิตยราช โปรดฯ ให้สร้าง
โกศทองคำหนัก ๓,๐๐๐ คำ สูง ๓ ศอก
ประดับประดาไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ
ครอบโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น
แล้วโปรดฯให้สร้างมณฑปปราสาท
สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้าอีกด้วย

สถานที่แห่งนั้นจึงได้แปรสภาพมาเป็นปูชนียสถาน
สำหรับชาวเมืองหริภุญชัยแต่นั้นมา
และมีฐานะเป็นพระอารามหลวง
ที่กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย
ต้องถือเป็นราชประเพณีที่จะต้องคอยดูแลเอาพระทัยใส่
รักษาบูชาพระบรมธาตุอย่างดี


เมื่อ พระญากือนา ครองเมืองเชียงใหม่
พระองค์ได้ปฏิบัติตามราชประเพณี
ที่จะต้องทำนุบำรุงพระบรมธาตุ
เฉกเช่นพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์
พระองค์จึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างมงคล
ชื่อ พู้ไชยหนองแขม ให้ออกไปหาดินแดนถวายพระธาตุ
ได้ดินแดนมามากมายดังนี้

“ช้างเชือกนั้นก็กระหวัดแปรไปทิศใต้ฟากน้ำแม่ระมิงค์
ด้านตะวันตกไปถึงสบล้องงัวเฒ่า
เกี้ยวไปข้ามสบแม่ทาน้อยแผวแสนข้าวน้อย (ฉางข้าวน้อย)
ฟากน้ำแม่ทาฝ่ายตะวันตกถึงหนองสร้อยและสบห้วยปลายปืน
แล้วไปกิ่วปลีดอยละคะแล้วถึงบ้านยางเพียง
ไปดอยถ้ำโหยด ดอยเด็ดสอง ถึงดอยมดง่าม
และดอยอี่หุยฝ่ายใต้ ลงคาวหาง (ทุ่งข้าวหาง)

แล้วไปดอยแดนขุนแม ขุนกอง ลงไปถึงแม่ขุนยอด
ไปม่อนมหากัจจายน์ ฝ่ายเวียงทะมอฝ่ายตะวันตก
เกี้ยวขึ้นมาทางแปหลวงมาผีปันน้ำ
ถึงกิ่วขามป้อมหินฝั่ง ถึงขุนแม่อี่เราะ
แล้วไปถึงขุนแม่ลานลงมาแม่ออน
ล่องแม่ออนมาถึงสบแม่ออนแล้วกินผ่าเวียงกุมกาม
กลับมาถึงป่าจรดกับปล่อยตอนแรก”

ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช
พระองค์โปรดให้ก่อพระมหาเจดีย์เจ้าองค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
โดยร่วมกับพระมหาเมธังกร ในปีดับเปล้า (ปีฉลู) เดือน ๘ (เหนือ)
ออกค่ำวันพุธ พระจันทร์เสวยฤกษ์ที่ ๒๒
ชื่อุตราสาฒะจนถึงปีรวายยี (ปีขาล) จุลศักราช ๘๐๘

พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๑,๙๙๐ ปี
เดือนวิสาขะ ออก ๓ ค่ำ วันอังคาร
ไทยกดสง้านับได้ ๖ เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์
พระเจดีย์องค์นี้ตีนฐานมนกว้าง ๑๒ วาครึ่ง
สูงแต่ใจกลางขึ้นไป ๓๒ วา มีฉัตร ๗ ใบ
เมื่อเสร็จแล้วก็โปรดให้มีการสวดปริตรมงคล
และพุทธาภิเษกฉลองอบรมพระมหาเจดีย์องค์นี้
และจัดให้มีการมหรสพฉลอง ๗ วัน ๗ คืน
ฝ่ายพระมหาเมธังกรก็โปรดเกล้าฯ สถาปนา
พระราชทานนามเป็น “อตุลสัตตยาธิกรณมหาสวามีเมธังกร”


และโปรดฯ ให้พำนักอยู่ที่ “สังฆาราม”
ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอยู่ทางทิศใต้เวียงลำพูน

รูปภาพ
[พระบรมธาตุเจดีย์หริภุญชัย]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 14:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระบรมธาตุหริภุญชัย งดงามในยามราตรี]


ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนคนที่ ๑๐
ได้อาราธนา ครูบาธรรมชัย จากวัดประตูป่า
มาทำการรื้อทองจังโกที่หุ้มองค์พระธาตุมาแต่เดิมออก และทำการบูรณะใหม่
โดยการหุ้มแผ่นทองเหลืององค์พระธาตุตลอดทั้งองค์
แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการว่าจ้างช่างทอง
มาทำการหลอมไล่เอาทองคำแยกออกจากแผ่นทองจังโก
เพื่อนำออกขาย นำเงินมาเก็บเป็นสมบัติของพระธาตุ

เงินส่วนหนึ่งนั้นได้มีการนำไปซื้อที่ดิน
บริเวณห้องแถวหน้าตลาดสดเก่ากลางเมืองลำพูน
เพื่อใช้สำหรับเก็บผลประโยชน์สำหรับมาบำรุงพระธาตุ
องค์พระบรมธาตุหริภุญชัยมีรั้วทองเหลืองล้อมรอบ ๒ ชั้นทั้งสี่ด้าน
โดยรั้วดั้งเดิมนั้นพระเมืองแก้วโปรดให้นำมาจากเมืองเชียงแสน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๙
พระเจ้ากาวิละ ได้มาบูรณะใหม่
พร้อมกับให้สร้างฉัตรหลวงตั้งไว้ที่มุมทั้งสี่ของรั้วที่ล้อมองค์พระธาตุ

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๔
พระเจ้ากาวิละ พร้อมกับน้องทุกคนได้ร่วมกันสร้าง “หอยอ”
คือวิหารทิศประจำทิศทั้ง ๔ ด้าน
และได้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
เพื่อประดิษฐานไว้ในวิหารด้านเหนือพระธาตุ
เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ให้ชื่อว่า พระละโว้

• ศาสนสถานและศาสนวัตถุที่สำคัญ

• ซุ้มประตู

รูปภาพ
[ซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร
เบื้องหน้าซุ้มประตู มีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเด่นเป็นสง่า]



ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด
ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร
เป็นฝีมือช่างโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ
เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ ๑ เมตร
สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัย พระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม

• วิหารหลวง

รูปภาพ
[“วิหารหลวง” หลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง]


เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง”
เป็นวิหารหลัง ใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน
และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า
ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล
และประกอบศาสนากิจทุกวันพระ
ภายในวิหารประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่
ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม ๓ องค์
และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้น
และชั้นกลางอีกหลายองค์

• พระบรมธาตุหริภุญชัย

รูปภาพ
[พระบรมธาตุหริภุญชัย
ต้นแบบพุทธสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยแท้อันวิจิตรงดงาม]



เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ
ประดิษฐานในพระเจดีย์ (ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง)
เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ที่ลงตัวสวยงาม
ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ
ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น
ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม

เจดีย์มีลักษณะ ใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่
สูง ๒๕ วา ๒ ศอก ฐานกว้าง ๑๒ วา ๒ ศอก ๑ คืบ
มีสัตติบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) ๒ ชั้น
สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ
และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม
และหอคอยประจำทุกด้านรวม ๔ หอ
บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ

นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้
เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่ง
ในล้านนาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ในวันเพ็ญ เดือน ๖ จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุทุกปี


• พระสุวรรณเจดีย์

รูปภาพ
[พระสุวรรณเจดีย์รูปแบบพระปรางค์รูปสี่เหลี่ยม ฝีมือช่างชาวละโว้
ประดิษฐานอยู่ทางด้านขวาของพระบรมธาตุ]



สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ
สร้างขึ้นโดย พระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช
ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุฯ เสร็จแล้วได้ ๔ ปี

พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบพระปรางค์ ๔ เหลี่ยม
ฝีมือช่างละโว้มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม
ฝีมือและแบบขอมหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง
ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่
ภายใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุ พระเปิม ซึ่งเป็นพระเครื่องชนิดหนึ่ง

• หอระฆัง

รูปภาพ
[“หอระฆัง” เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่
เพื่อไว้เป็นเครื่องบูชาพระธาตุหริภุญชัย]



ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย
เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่
สร้างขึ้นโดย พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑

ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์
เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๗
และชั้นล่างห้อยกังสดาลขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓
ฝีมือครูบาสูงเม่นโดยกัญจนมหาเถระ
เจ้าอาวาสวัดป่าเมืองแพร่ และเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่
เป็นศรัทธาสร้างหล่อกังสดาลนี้ ในวัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่
เพื่อไว้เป็นเครื่องบูชาพระธาตุหริภุญชัย

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

(มีต่อ : พระธาตุลำปางหลวง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
Wat Phra That Lampang Luang, Lampang

พระธาตุเก่าแก่คู่เมืองเขลางค์นคร
พุทธศาสนาสถานศิลปะล้านนา อายุกว่า ๕๐๐ ปี


• ศิลปะแบบ :

ล้านนา

• ปี พ.ศ. ที่สร้าง :

สร้างขึ้นในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐

• สถานที่ตั้ง :

ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา
อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร

• ความสำคัญของวัด :

โบราณสถานสำคัญของจังหวัดลำปาง ต้นแบบของเจดีย์ที่ส่งอิทธิพล
ต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง

• สังกัด :

มหานิกาย

• เว็บไซต์ :

ไม่มี

รูปภาพ
[ทัศนียภาพของวัดพระธาตุลำปางหลวง
พระบรมธาตุเจดีย์สถิตย์อยู่เบื้องหลังพระวิหารหลวงหลังใหญ่อย่างงดงาม]


• ประวัติสังเขป

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ
ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี
ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตอนปลาย

ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์
ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่างๆ จนถึง บ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง)

พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย
มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส
ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว
และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ
แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร

แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น
มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น
บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์
พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา

แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน
แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น

รูปภาพ
[พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุลำปางหลวงในมุมสูง]


ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์
มาก่อสร้างและบูรณซ่อมแซม
จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า


เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร
และเกิดความวุ่นวายขึ้น ท้าวมหายศ จากนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง
โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง

ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษของชาวลำปาง
ได้ทำการต่อสู้โดยลอบเข้ามาในวัด
และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป

ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์
ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าสุลวะลือไชยสงคราม
เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน

รูปภาพ
[ทัศนียภาพด้านหน้าทางเข้าสู่วัดพระธาตุลำปางหลวง]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2009, 14:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ยอดเยี่ยมด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอันงดงาม

เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมายได้แก่

ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอก
บุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ
มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ

ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชย
และพระบรมธาตุจอมทอง


ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา
และพระ อัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา
พระศอด้านหน้าและด้านหลัง


ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืน
ที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่

นอกจากนี้ พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู
ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู เช่นกัน

• ศาสนสถานและศาสนวัตถุที่สำคัญ

• ประตูโขง

รูปภาพ
[ซุ้มประตูโขง ก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้นๆ มีสี่ทิศ]


เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูน
ทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ
ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์

บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมังกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได
เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว
สร้างในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๑

ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง

• วิหารหลวง

รูปภาพ
[พระวิหารหลวง (วิหารประธาน) ของวัดพระธาตุลำปางหลวง]


เป็นวิหารประธานของวัด
ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์
เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ

รูปภาพ
[มณฑปพระเจ้าล้านทอง ภายในพระวิหารหลวง]

รูปภาพ
[พระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป]


ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง
ด้านในของแนวคอสอง มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดก

• ภาพเขียนสีโบราณบนไม้คอสอง

รูปภาพ
[ภาพเขียนสีโบราณบนไม้คอสอง
หรือแผ่นไม้ที่ติดอยู่ด้านบนของแต่ละช่วงเสาในพระวิหาร]



ไม้คอสองคือแผ่นไม้ที่ติดอยู่ด้านบนของแต่ละช่วงเสา
มีการเขียนเกี่ยวกับเรื่องทศชาติชาดก พุทธประวัติ
และพรหมจักรหรือรามเกียรติ์ ฉบับสำนวนล้านนา

ไม้คอสองรอบวิหารมีทั้งหมด ๒๔ แผ่น
จากเบื้องซ้ายของพระประธาน จะเริ่มด้วยทศชาติชาดก
ส่วนเบื้องขวของพระประธานนับเป็นแผ่นที่ ๑๖-๑๘
เป็นเรื่องพระเวสสันดรแผ่นที่ ๑๙ เป็นพุทธประวัติ
แผงคอสองที่ ๒๐-๒๔ เป็นเรื่องพรหมจักรโดยแผงคอสอง

• องค์พระธาตุเจดีย์

รูปภาพ
[พระบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลาย (ทองจังโก)
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ]



เป็นเจดีย์ล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกา ก่ออิฐถือปูน
ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น
เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลาย
หรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

• วิหารน้ำแต้ม

รูปภาพ
[วิหารน้ำแต้ม (วิหารบริวาร) วิหารเครื่องไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า]


เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์
เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม
ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๕ นิ้ว

• หอพระพุทธบาท

รูปภาพ
[หอพระพุทธบาททรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้]


เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม
ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้
สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๒

• วิหารพระพุทธ

รูปภาพ
[วิหารพระพุทธ]


สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม
สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง
ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง

รูปภาพ
[ภายในวิหารพระพุทธประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้วเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และสัดส่วนที่งดงามมาก]



• เงาพระธาตุลำปางหลวง

รูปภาพ
[เงาพระธาตุ : ภาพสะท้อนหัวกลับเสมือนจริง บนฉากผ้าขาวภายในวิหารอันมืดสลัว]


ภาพปริศนาที่คงอยู่คู่เมืองลำปางมาเนิ่นนานแต่ครั้งบรรพกาล
ภูมิปัญญาของสล่าล้านนาซึ่งค้นหาความอลังการ
ผ่านพบจากช่องเพียงเท่ารูเข็ม

มลังเมลืองอยู่ในความมืดทาบทาให้เห็นเป็นภาพเสมือนจริง
ใครจะเชื่อว่า บนฉากผ้าขาวเพียงผืนเดียว
จะมีภาพพระธาตุหัวกลับปรากฏให้เห็นได้ภายในวิหารอันมืดสลัว

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

(มีต่อ : วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 13:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย
Wat Maha That, Sukhothai

องค์พระธาตุต้นแบบพุทธสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้
มรดกโลกอันลำค่าที่สะท้อนความรุ่งเรืองทั้งวัตถุและจิตใจ
ของอาณาจักรสุโขทัยในอดีต


• ศิลปะแบบ :

สุโขทัยแท้

• ปี พ.ศ. ที่สร้าง :

สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๐

• สถานที่ตั้ง :

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ตั้งอยู่ห่างจากตัว จ.สุโขทัย ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
ถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข ๑๒ สายสุโขทัย-ตาก

• ความสำคัญของวัด :

เป็นวัดสำคัญกลางใจเมืองอาณาจักรสุโขทัย
อันเคยรุ่งเรืองในอดีตทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ
อย่างไม่มีอาณาจักรใดในสุวรรณภูมิในยุคนั้นมาเทียบเทียมได้

นับเป็นมรดกอันล้ำค่าของไทย
ที่มีค่าควรแก่ความภาคภูมิใจของชาวไทยและแก่ มนุษยชาติ

รูปภาพ
[ภาพถ่ายมุมสูง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย ในปัจจุบัน]


องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ตระหนักถึงคุณค่าดังกล่าว
จึงได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็น “มรดกโลก” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕


นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระเจดีย์ประธาน
อันงดงามด้วยยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว)
ซึ่งเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้

• สังกัด :

เป็นโบราณสถาน อยู่ในความดูแลของ กรมศิลปากร

• เว็บไซต์ :

เว็บไซต์ของ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
http://www.archae.go.th/Historical/sukhothai_detail.asp
(ไม่มีเว็บไซต์ของวัดโดยตรง)

รูปภาพ
[บริเวณวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ จ.สุโขทัย]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ประวัติโดยสังเขป

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริยราชวงศ์พระร่วง
ได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
อันมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๐

และได้สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก ๕ พระองค์ คือ

พ่อขุนบาลเมือง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พญาเลอไทย พญาลิไทย พญาไสลือไทย


จนถึงปี พ.ศ. ๑๙๒๑
จากนั้นกรุงสุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีอยุธยา
กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงอีก ๒ พระองค์
จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าเมืองขึ้น

ภายในเมืองสุโขทัยประกอบด้วย
ส่วนที่เป็นพระราชวังและศาสนสถานที่สำคัญ ๆ
มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส

นอกกำแพงเมืองออกไปโดยรอบทั้งสี่ด้าน
มีโบราณสถานต่าง ๆ ตั้งอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
รวมพื้นที่ที่ครอบคลุมโบราณสถานของเมืองสุโขทัยทั้งหมด
มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ ไร่

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอาราธนา
พระภิกษุสงฆ์จากนครศรีธรรมราชเข้ามาจำพรรษา ณ กรุงสุโขทัย
เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ในอาณาจักรสุโขทัย


รูปภาพ
[พระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช]


อนึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นนิยมสร้างพระมหาธาตุเจดีย์
เป็นประธานของพุทธสถาน
ด้านหน้ามีวิหารโถง สร้างติดกันไว้เรียกว่า วิหารหลวง

ลักษณะทางสถาบัตยกรรมสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของยุคนี้คือ
รูปแบบของเจดีย์จะมียอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม


รูปภาพ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 14:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[องค์เจดีย์ประธาน : พระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
(ทรงดอกบัวตูม) ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์แบบสุโขทัยแท้]



• อลังการศาสนสถานด้วยพุทธสถาปัตยกรรมอันสง่างามตามแบบสุโขทัย

• เจดีย์ประธาน

คือ พระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัวตูม)
ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์แบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นองค์ เจดีย์ประธาน


เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นี้
เริ่มจากส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานสองชนิด
คือฐานเขียงก่อซ้อนกัน ตามด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ซึ่งมีความสูงมากขึ้น

ส่วนเรือนธาตุประกอบด้วยฐานแว่นฟ้ารองรับเรือนธาตุ
ที่ก่อเป็นแท่งเหนือฐานบัวลูกฟักอีกชั้นหนึ่ง

มีการประดับกลีบขนุนบริเวณมุมด้านบนของเรือนธาตุ

ส่วนยอดเป็นทรงดอกบัวตูมที่คลี่คลายรูปแบบมาจากทรงระฆัง
ต่อด้วยยอดแหลมเรียว เป็นรูปกรวยควั่น
ส่วนล่างของกรวยเป็นปล้อง ต่อขึ้นไปเป็นกรวยเรียบ

• เจดีย์ทิศ

รูปภาพ

รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศจำนวน ๘ องค์ บนฐานเดียวกัน
องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชย ล้านนา

ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย
ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา
รอบ ๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลี
เดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ

• วิหารหลวง

รูปภาพ
[วิหารหลวง : วิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ “พระศรีศากยมุนี”]



ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธาน
มีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง
มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี

ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ วัดสุทัศน์เทพวราม กรุงเทพฯ
ที่ด้านเหนือและด้านใต้เจดีย์มหาธาตุ
มีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ

เรียกว่า “พระอัฎฐารศ”
ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า “ขอมดำดิน” อีกด้วย

• พระอัฎฐารศ

รูปภาพ
[พระอัฏฐารศ : พระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก
ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน]



พระอัฏฐารศ หมายถึง พระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก
ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน


ดังในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้บรรยายว่า

“กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง
มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม”



(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พระพุทธรูปทอง

เข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า
(ตำบลเมืองเก่า เป็นตำบลในพื้นที่เมืองโบราณสุโขทัย)
ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ


เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้
ที่วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ได้พระราชทานนามว่า “พระศรีศากยมุนี”
พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย
อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย


รูปภาพ
[ “พระศรีศากยมุนี” พระพุทธรูปสำริดปิดทอง ปางมารวิชัย จาก วัดมหาธาตุ จ. สุโขทัย
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ]



ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัย
จึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น

• วิหารสูง

รูปภาพ

ถัดจากวิหารหลวงไปทางตะวันออกเป็นวิหารสูง
ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว
มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร

เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง
ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูง
กับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบ ๆ
ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

• กลุ่มเจดีย์

นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุ
ยังมีกลุ่มเจดีย์จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่ง
อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์พระธาตุ

รูปภาพ

มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ ๕ ยอด
ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากเจดีย์พระธาตุ
ตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม
ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้


แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น
ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
และตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

(มีต่อ : วัดมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร