วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 15:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.พ. 2009, 17:53
โพสต์: 107


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปฏิบัติให้ถูกพ้นทุกข์ได้
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เทศน์อบรมคณะพระธรรมบัณฑิต
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗


โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 003722
โดยคุณ : ธรรมะwww. luangta.com [14 พ.ย. 2544]



วันนี้ท่านหลวงปู่พระธรรมบัณฑิต เจ้าคณะภาควัดโพธิสมภรณ์
ได้นำคณะ เจ้าคณะทั้งหลายทั้งพระเณรตลอดถึงประชาชนมาจำนวนมาก
มาเยี่ยมวัดป่าบ้านตาด และมาทำวัตร
เขาเรียกสมมาคารวะตามภาษาของเรา
ขอขมาลาโทษซึ่งกันและกัน
เพราะคนเราต่างมีกิเลสย่อมมีความผิดพลาดเช่นเดียวกัน
การขออภัยซึ่งกันและกัน การขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันนี้
เป็นแนวทางของนักปราชญ์ที่ท่านดำเนินมา
ไม่ถือสีถือสาซึ่งกันและกัน เสร็จลงแล้ว
จากนี้ท่านขอนิมนต์ให้หลวงตาแสดงธรรมให้แก่พี่น้องทั้งหลาย
ฟังไม่มากก็ไม่เป็นไร ว่าอย่างนั้น ฉะนั้นจึงขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งอกตั้งใจฟัง

วันนี้จะพูดเรื่องศาสนา พวกเราชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนามานมนาน
ตั้งแต่ปู่ย่าตายายก่อนนั้นมาอีก จนกระทั่งปัจจุบัน
เรายังไม่อาจทราบได้ว่าศาสนาแท้คืออะไร ธรรมแท้คืออะไร
เพราะใครก็เห็นแต่ตามคัมภีร์ใบลานท่านบอกไว้ นั้นเป็นชื่อของธรรม
นั่นเป็นชื่อของศาสนา ชื่อของบาป ชื่อของบุญ ชื่อของนรกสวรรค์
ชื่อของคนดีคนชั่ว สัตว์ดีสัตว์ชั่ว แต่หลักธรรมชาติจริง ๆ แท้แล้วคืออะไร
ตัวจริงที่ระบุชื่อระบุนามนั้นน่ะคืออะไร ที่ถูกระบุนั้นคืออะไร
เช่น ตัวบาปจริง ๆ คืออะไร บุญจริง ๆ คืออะไร นรกจริง ๆ คืออะไร
สวรรค์จริง ๆ คืออะไร ศาสนาที่แท้จริงคืออะไร นี้เราไม่ค่อยจะได้เข้าใจกัน

คำว่าศาสนาที่แท้จริงนั้นท่านกล่าวออกมาเป็นกิริยาว่า สาสนํ
แปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเอามาจากของแท้ของจริงได้แก่ธรรมล้วน ๆ
ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว
ได้นำธรรมนั้นออกจากพระทัยที่ตรัสรู้
บรรจุธรรมไว้อย่างเต็มที่แล้วนั้นออกมาสั่งสอนสัตว์โลก ให้เป็นกิริยา
ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ กุสลสฺสูปสมฺปทา
การยังกุศลคือความฉลาดโดยธรรมให้ถึงพร้อม ๑ สจิตฺตปริโยทปนํ
การทำจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงขั้นบริสุทธิ์ ๑
นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และนี้แลคือศาสนา
ท่านชี้ลงในจุดนี้ กิริยาที่ท่านบอกนี้บอกลงในจุดที่จะเป็นบาปเป็นกรรม
ให้แก่พวกเราทั้งหลายทราบ หลักศาสนาที่เราปฏิบัติทุกวันนี้
ท่านแสดงอาการออกมาเพื่อนำกิ่งก้านสาขาดอกใบนี้
เข้าไปหาต้นลำอย่างแท้จริง คือธรรมแท้

ธรรมแท้ได้แก่ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เจอเข้าในพระทัย
ได้เจออย่างจัง ๆ ในพระทัยและพระอรหันต์ท่านบรรลุ นั้นแลคือธรรมแท้
การปฏิบัติตัวเองรักษาศีลภาวนา การทำบุญให้ทานนี้คือกิ่งก้านสาขาแห่งธรรมแท้
และเดินตามเข้าไป ๆ เพราะนี้เป็นสายทางที่จะให้เข้าถึงธรรมแท้
ความพ้นทุกข์แท้ ไม่ใช่พ้นธรรมดาไม่ใช่พ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ
แล้วเข้ามาคลุกเคล้ากับทุกข์อยู่อีก เป็นความพ้นทุกข์แท้
นี่ออกจากกิริยาแห่งการทำดีทั้งหลาย

อย่างพวกเราทั้งหลายมาบวชในพระพุทธศาสนานี้
ท่านให้รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ๒๒๗ ข้อนี้เป็นข้อห้ามอย่าได้พากันทำ
ถ้าทำลงไปแล้วก็เป็นความด่างพร้อยและทะลุในศีลของตนนั้นแล
คนเราเมื่อศีลไม่บริสุทธิ์แล้วก็เหมือนกับผ้าที่ไม่บริสุทธิ์
ขาด ๆ ด่าง ๆ พร้อย ๆ แล้วขาดมากกว่านั้นก็ขาดหมดทั้งตัว
เพียงแต่ขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่น่าดูแล้ว มองเห็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ
ชัดบ้างไม่ชัดบ้างเข้าไป จนกระทั่งถึงขาดเสียหมดทั้งผืนแล้วดูไม่ได้เลย
ใครนุ่งห่มก็ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกันศีลขาด ศีลขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ
ก็ด่าง ๆ ดาว ๆ ไม่น่าดู ถ้าเป็นคนก็ไม่เต็มบาตร เป็นพระก็ไม่เต็มเต็ง
เป็นพระ ๗๕ บ้าง เป็นพระ ๖๕ บ้าง เป็นพระ ๒๕ บ้าง
สุดท้ายไม่มีพระเหลืออยู่เลย ท่านว่าปาราชิก ๔ เหล่านี้
เรียกว่าขาดทะลุอย่างพินาศฉิบหาย

ให้เรารักษาศีลทั้ง ๒๒๗ นี้เป็นอย่างน้อย
ที่อนุบัญญัติซึ่งมีมากกว่านั้นก็รักษาไปตาม ๆ กัน
แต่ข้อสำคัญก็ที่บัญญัติไว้ในเบื้องต้นว่า ๒๒๗ นี้ให้ต่างองค์ต่างรักษาด้วยดี
เรามาบวชในพระพุทธศาสนามารักษาศีลรักษาธรรม
คำว่าธรรมก็คือเป็นคู่เคียงของศีล
กิริยาของศีลที่รักษาได้นี้ก็จะทำให้ธรรมของเรามีความแน่นหนา
มั่นคงขึ้นภายในใจ เช่น สมาธิภาวนา
การอบรมภาวนาให้จิตใจเป็นสมาธิเป็นอย่างไร
นี่ละเริ่มเข้าไปหาธรรมแล้ว เริ่มตั้งแต่จิตใจสงบ
นี่เริ่มเห็นกระแสของธรรมเข้าไปแล้ว จิตใจสงบเข้าไปมากเข้าไป ๆ
สงบจนราบคาบจนกระทั่งกิเลสไม่มีเหลือแล้ว
กิเลสสงบราบที่เรียกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบเพราะกิเลสสิ้นไปนี้ไม่มี
นี่เป็นความสงบอันราบคาบ หรือความสงบอันสุดยอด
นี้แหละเป็นธรรมแท้อยู่จุดนั้น

เราปฏิบัติศีลธรรมก็ให้พากันระมัดระวังรักษาแนวทางนี้ไว้ให้ดี
เพื่อจะก้าวเข้าสู่ธรรม สมาธิธรรมก็เป็นหน้าที่ของพระของเณร
เรานี้แหละจะเป็นผู้บำเพ็ญ
อย่าปล่อยอย่าทิ้งให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของของศีลธรรมเหล่านี้
เพราะคำว่าเป็นพระ เราเป็นพระเต็มองค์ เป็นเณรเต็มองค์ด้วยกัน
เป็นผู้ทรงศีลทรงสมาธิทรงปัญญาด้วยกัน
จงพยายามบำเพ็ญศีลของตนให้บริสุทธิ์
แล้วก็บำเพ็ญสมาธิคือความสงบใจให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ

ใจที่มีความสงบย่อมไม่วอกแวกคลอนแคลน
ไม่ดีดไม่ดิ้นไม่รบกวนตัวเอง เรียกว่าใจสงบ
ถ้าใจไม่สงบนั้นใจคึกใจคะนอง
มองเห็นอะไรก็มีแต่ความคึกความคะนองเต็มหูเต็มตา
เต็มจมูกเต็มลิ้นเต็มกาย จากรูปจากเสียงจากกลิ่นจากรส
มีแต่สิ่งยั่วยวนกวนใจ ใจของเรามีแต่ความวุ่นวี่วุ่นวาย
หาความสงบไม่ได้ก็หาความสุขไม่ได้
มาบวชในพระพุทธศาสนาแทนที่จะได้รับความสุขจากศาสนา
กลับได้รับความทุกข์ความลำบาก ความกระวนกระวาย
เพราะไม่รักษาจิตใจของตนให้เป็นสมาธิคือความสงบใจ
เพราะฉะนั้นจงพากันรักษา สมาธิก็ให้รักษาให้บำเพ็ญเป็นคู่เคียงกันไป
เวลาเรียนก็เรียน เรียนก็เรียนเพื่อเป็นสมาธินั้นแหละ เพื่อเป็นปัญญา
เพื่อเป็นวิมุตติหลุดพ้นนั้นแลจะเรียนเพื่ออะไร ไม่ใช่เรียนแบบโลกเขา
อย่างที่โลกเขาเรียนกันนั้นเขาเรียนเพื่อโลกเพื่อสงสาร
เราเรียนนี้เราเรียนเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อศีลเพื่อสมาธิเพื่อปัญญา
เพื่อวิมุตติหลุดพ้น เพราะฉะนั้นจงทั้งเรียนทั้งทำ
เวลาเรียนก็เรียนท่องบ่นสังวัธยาย
เวลาสงบใจปล่อยจากการศึกษาเล่าเรียนแล้ว
ก็ให้ทำจิตของตนให้มีความสงบด้วยสมาธิ

คำว่าสมาธินั้นคือความสงบ หรือคือความแน่นหนามั่นคงของใจ
ความสงบ-สงบเข้าไปหลายครั้งจิตก็เป็นสมาธิขึ้นมาได้
จิตเป็นสมาธิคือจิตมีความแน่นหนามั่นคง
แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวอะไรได้อยู่ก็ตาม
แต่ฐานของจิตนี้มีความแน่นหนามั่นคงอยู่กับตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ
เมื่อเรารักษาจิตของเราหลายครั้งหลายหนด้วยบทบริกรรมคำใดก็ได้
เพราะตามธรรมดาของจิตนั้นอยู่เฉย ๆ จะให้เป็นสมาธิให้สงบนี้จับไม่ถูก
เพราะความรู้มีอยู่ทั้งร่างกายของเราซ่านไปหมด
ไม่ทราบจะจับจุดไหนเป็นผู้รู้
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้จับเอาคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งมาเป็นที่เกาะของจิต
เช่น พุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสติ เป็นต้น
คำใดก็ตามให้จิตติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ นี่เรียกว่าภาวนา

ภาวนาคือการอบรมให้เกิดให้มีในความดีทั้งหลาย
เราภาวนาติดต่อกันระมัดระวังด้วยสติ เช่น พุทโธ ๆ ก็ให้รู้อยู่
ให้จิตรู้อยู่กับพุทโธ ๆ เท่านั้น มีสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา
จิตกับธรรมคือพุทโธ จิตคือผู้รู้สัมผัสสัมพันธ์กันต่อเนื่องไปโดยลำดับ
แล้วจะสร้างผลขึ้นมาให้เชื่อมโยงถึงกันกลายเป็นความแน่นหนามั่นคง
กลายเป็นความสงบร่มเย็นขึ้นมาภายในใจของตน นี่เรียกว่าธรรมเกิด
เริ่มเกิดแล้วคือความสงบเกิดแล้ว ความแน่นหนามั่นคงของใจเกิดแล้ว
ความไม่วุ่นวายทั้งหลายเกิดแล้ว นี่ผลเริ่มเกิด-เกิดจากนี้

เมื่อจิตได้อาศัยคำบริกรรมคำใดก็ตามอยู่เป็นนิจกาลในขณะที่ภาวนานั้นแล้ว
จิตจะมีความสงบเย็นลงไป ๆ แล้วก็จับจุดผู้รู้ได้
ผู้รู้คือมีความรู้เด่นอยู่ในจุดเดียว นี่เรียกว่าจับจิตได้แล้ว
ในขั้นนี้เราเริ่มจับจิตได้แล้ว นี้แหละจิตแท้เป็นอย่างนี้
ส่วนที่เรารู้อยู่ตามสรรพางค์ร่างกายนั้นเป็นกระแสของจิตแต่จิตเองก็จับไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องหาเครื่อง
ถ้าพูดแบบโลกเขาเรียกว่าเครื่องล่อ-เครื่องล่อใจ คือ พุทโธ
ให้ใจติดให้ใจเกาะอยู่กับคำว่าพุทโธเป็นต้น ให้รู้อยู่ตรงนั้น
เมื่อรวมเข้า ๆ มีแต่คำว่าพุทโธไม่มีคำอื่นเข้ามาแทรกมาปน
มีแต่คำว่าพุทโธคำเดียว ๆ ตลอดไปเลย
จิตเราจะสงบเข้ามา ๆ แล้วก็สงบแนบแน่นลงไป มีแต่ความรู้ล้วน ๆ

เวลาสงบมากจริง ๆ แล้วคำบริกรรมกับผู้รู้นี้จะกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
บริกรรมไม่ได้เลย นึกบริกรรมไม่ออกเพราะจิตเป็นผู้รู้เต็มตัวแล้ว
ถ้าอย่างนั้นให้ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย เพราะไม่บอกให้ปล่อยก็ปล่อยแล้ว
ให้อยู่กับความรู้นั้นเสีย จนกระทั่งความรู้นั้นกระดิกพลิกแพลง
หรือมีกระดิกออกมาแล้ว ค่อยนำคำบริกรรมเข้าไปแทนที่ใหม่
และบริกรรมต่อไปใหม่ นี่เรียกว่าภาวนา

จิตสงบย่อมอิ่มตัว คำบริกรรมนั้นก็อิ่ม ไม่รับคำบริกรรมต่อไป
มีแต่ความรู้ล้วน ๆ เด่นอยู่ภายในหัวใจ คือในหัวอกนี้แหละ
นี่หัวอกตรงกลางอกเรานี้ ไม่ได้อยู่บนสมองนะ
ทางภาคภาวนานี้ได้ทำเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งหายสงสัย
ในเรื่องความรู้นี้อยู่ที่ไหนแน่ ความรู้ไม่ได้อยู่บนสมอง
บนสมองเป็นสถานที่ทำงานแห่งความจำทั้งหลาย
เวลาเราเรียนหนังสือเรียนมาก ๆ นี้สมองทื่อไปหมดเลย
เพราะความจำอยู่บนสมองไปทำงานอยู่ตรงนั้น
แต่เวลาภาวนานี้ภาวนามากเท่าไร ๆ
จิตของเรายิ่งสงบอยู่ภายในทรวงอกของเราตรงกลางอกนี้แหละ
สงบอยู่ตรงนี้สว่างไสวอยู่ตรงนี้
แม้จะเกิดทางด้านปัญญาก็เกิดอยู่ที่จุดกลางนี้
คือเกิดอยู่ในทรวงอกของเรานี่ ซ่านอยู่ภายในนี้
สว่างไสวอยู่รอบตัวภายในหัวอกนี้ไม่ได้อยู่บนสมอง
บนสมองเลยกลายเป็นอวัยวะเหมือนอวัยวะทั่ว ๆ ไปหมด
ไม่ปรากฏว่าความรู้ไปหนักไปแน่นอยู่ในจุดใด
แต่มาหนักแน่นอยู่ในท่ามกลางอกนี้เท่านั้น นี่เรื่องการภาวนา

เวลาจิตมีความสงบแล้วจะสว่างไสว
หรือจะสงบเย็นอยู่ภายในหัวอกของเรานี้
เวลาจิตเกิดปัญญา คำว่าปัญญานี้
ปัญญาที่เราเรียนมานั้นเป็นบาทฐานแห่งปัญญาที่จะเกิดขึ้น
โดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ที่ท่านเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
ในหลักธรรมชาติเป็นอย่างนั้น จะเกิดขึ้นภายในนี้แหละ
อาศัยปัญญาที่เราคาดเราคิดนี้เสียก่อน สัญญาเป็นตัวหมายไป
ปัญญาพิจารณาโดยจิตของเรามีความสงบเย็นพอสมควรแล้ว
ก็อิ่มอารมณ์ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์
ที่ทำให้ใจคึกคะนองก็ปล่อยตัวไป ๆ
มีแต่ความสงบเย็นอยู่ภายใน นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์

จิตอิ่มอารมณ์นี้เราพาพิจารณาทางด้านปัญญา
คือ อนิจฺจํ ก็ตาม ทุกฺขํ ก็ตาม อนตฺตา ก็ตาม
อสุภะอสุภังความไม่สวยไม่งามในร่างกายของเขาของเราก็ตาม
เราก็พิจารณาอยู่ภายในหัวอกของเรานี้แหละ
มันหากอยู่ในนี้เองไม่ได้ไปไหน นี่เรียกว่าการพิจารณาทางด้านปัญญา
แล้วจะเกิดความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ความสว่างไสว
เกิดความคล่องตัวขึ้นภายในจิตใจ นี่เรียกว่าปัญญาได้เกิดกับผู้ภาวนา
ทีแรกอาศัยสัญญาคาดหมายไปเสียก่อน
พอคาดหมายไปหลายครั้งหลายหนปัญญาค่อยตั้งตัวได้แล้ว
ก็ดำเนินโดยลำพังตัวเองไม่ต้องไปอาศัยสัญญาอารมณ์ที่ไหน
เป็นปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา

ดังที่ท่านแสดงไว้ในปัญญา ๓ ประเภท คือ สุตมยปัญญา
ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ๑ จินตามยปัญญา
ปัญญาเกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองของสามัญชนทั่ว ๆ ไป ๑
ภาวนามยปัญญา ๑ ส่วนภาวนามยปัญญานี้เกิดขึ้น
โดยหลักธรรมชาติของตัวเอง นี้แลที่ท่านว่าปัญญาเกิด
ภาวนามยปัญญานี่เป็นปัญญาเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติ
ท่านเรียกว่าอัตโนมัติ ปัญญาขั้นนี้แลเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส
เป็นปัญญาที่เห็นมรรคเห็นผลโดยลำดับ

ที่พระพุทธเจ้าว่า โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค
สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล
คือปัญญาประเภทนี้แลจะเป็นผู้ก้าวเดินไปแถวธรรมเหล่านี้ของผู้ปฏิบัติเอง
ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดจะรู้จะเห็น หากเป็นผู้นั้นเพราะอำนาจแห่งปัญญานี้
เป็นปัญญาที่ซึมซาบ เป็นปัญญาที่ก้าวเดินโดยลำพังตนเอง
โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับรูป กับเสียงกับกลิ่นกับรสถ่ายเดียว
ว่าเราได้ยินได้เห็นสิ่งใดจึงมาเกิดปัญญาข้อคิดขึ้น
เพราะได้เห็นได้ยินสิ่งเหล่านั้น อย่างนั้นก็ไม่ใช่

เราจะพิจารณาอยู่โดยลำพังนี่เท่านั้น จะเกิดขึ้นโดยลำพังตัวเอง
เมื่อพบสิ่งใดสัมผัสสัมพันธ์ก็เกิด ไม่พบก็เกิด
ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติของผู้ปฏิบัติ
ไม่ปฏิบัติไม่รู้ปัญญาประเภทนี้ต้องปฏิบัติ ศีลเราก็ปฏิบัติแล้ว
สมาธิเป็นขึ้นภายในใจเราก็รู้แล้ว คือ ความสงบเย็นใจ มีขอบมีเขต
สมาธิมีขอบมีเขต เหมือนกับน้ำเต็มแก้ว
เมื่อเต็มภูมิของสมาธิแล้วจะทำให้หนาแน่นมั่นคงยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีกไม่ได้
เต็มภูมิเหมือนน้ำเต็มแก้ว เอาน้ำที่ไหนมาเทก็ล้นออกหมด
นี่สมาธิเมื่อเต็มภูมิแล้วก็เหมือนกันเช่นนั้น

แต่ปัญญาไม่เป็นเช่นนั้น ปัญญาเมื่อได้ก้าวเดินออกไป
ตั้งแต่เราเริ่มพิจารณาปัญญาโดยสัญญาอารมณ์เสียก่อน
ใช้สัญญาวาดภาพพิจารณาไปหลายครั้งหลายหน
จนเกิดความซึ้งภายในใจ เห็นว่าเป็น อนิจฺจํ อย่างแท้จริง
ทุกฺขํ อย่างแท้จริง อนตฺตา อย่างแท้จริง
เป็นอสุภะอสุภังประจักษ์ใจอย่างแท้จริงแล้วนี้
ปัญญาขั้นนี้แหละก้าวเดินที่นี่

ตั้งแต่นั้นต่อไปแล้วก้าวเดินหมุนติ้ว ๆ เหมือนน้ำซับน้ำซึม
เหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อไฟอยู่ที่ไหนไฟจะลุกลามไปตามเชื้อนั้นโดยไม่หยุดหย่อน
กระทั่งเชื้อไฟนั้นหมดเมื่อไรแล้วไฟถึงจะดับ อันนี้ฉันใดก็เหมือนกัน
การพิจารณาปัญญาในขั้นนี้ เช่นพิจารณาอสุภะอสุภัง
พิจารณาจนกระทั่งอสุภะอสุภังนี้อิ่มตัวเต็มที่แล้ว
ปล่อยวางทั้งสุภะทั้งอสุภะ หมุนตัวไปตรงกลางไม่ยึดในสุภะไม่ยึดในอสุภะทั้งสอง
นี้เรียกว่าปัญญาอิ่มตัวในขั้นนี้ นั่นเป็นขั้น ๆ อย่างนี้ของผู้ภาวนา
นี่ละปัญญาก้าวเดินเพื่อมรรคเพื่อผลครั้งพุทธกาลท่านก้าวอย่างนั้น

เรามาปฏิบัติก็เป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วเหมือนกัน
เมื่อปฏิบัติตามนี้แล้วของเราทุกสิ่งทุกอย่างมีเหมือนท่าน
อริยสัจของเราก็มีเต็มภูมิเหมือนกัน ทุกข์ก็เต็มหัวใจเต็มกาย
สมุทัยก็เต็มหัวใจของเราด้วยกัน มรรคพยายามทำให้เต็มหัวใจ
แล้วต้องแก้สมุทัยโดยแท้ เมื่อมรรคแก้สมุทัยไปมากน้อยเพียงไร
นิโรธคือความดับทุกข์จะดับไปเรื่อย ๆ
ตามผลของมรรคที่ทำได้มากน้อย แล้วก็ไหม้ไปเรื่อย ๆ

ส่วนอสุภะอิ่มตัวแล้วก็หมุนตัวไปทางอื่น
หมุนตัวไปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นี่เรียกว่าปัญญาโดยหลักธรรมชาติของผู้ปฏิบัติภาวนา
เมื่อพอตัวแล้วก็หมุนตัวไปเรื่อย ๆ ไปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ประสานงานซึ่งกันและกันโดยอัตโนมัติของปัญญา
นี่ละปัญญานี้เป็นปัญญาที่ก้าวสู่มรรคสู่ผล ไม่มีใครบอกก็ตาม
ใครจะปฏิเสธว่ามรรคผลนิพพานไม่มีก็ตาม
สิ่งที่หยั่งทราบประจักษ์ใจ ๆ หากซึมซาบกันอยู่เช่นนั้น
ดูดดื่มกันอยู่เช่นนั้น หมุนตัวไปอยู่เช่นนั้น

นี่เรียกว่าอจลศรัทธา เป็นผู้รู้ผู้เห็นในอรรถในธรรมทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ตั้งแต่พื้น ๆ จนกระทั่งหลุดพ้น
จะเป็นธรรมชาติซึมซาบภายในจิตโดยลำดับ ไม่ไปหวังฟังจากผู้หนึ่งผู้ใด
เขาบอกว่ามีหรือไม่มีมรรคผลนิพพาน ว่ามีก็ตามไม่มีก็ตาม
ไม่สนใจยิ่งกว่าความจริงที่รู้อยู่เห็นอยู่ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่ภายในใจ
สมุทัยเป็นยังไง มรรคเป็นยังไง เข้าแก้กันอยู่ภายในจิตใจ
ใจเป็นสนามรบ เพราะกิเลสกับธรรมอยู่บนหัวใจ
ใจเป็นเวทีฟัดกันอยู่ตรงนั้น ดูดดื่มอยู่ตรงนั้น หมุนติ้ว ๆ อยู่ตรงนั้น
นี่ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญาของผู้ปฏิบัติ
ให้มันเป็นในหัวใจของเจ้าของเองแล้วจะสว่างจ้าขึ้นเลย

พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้าน ๆ พระองค์หาที่สงสัยไม่ได้
เพราะจุดอริยสัจนี้แลเป็นที่อุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ตลอดถึงพระสาวกทั้งหลายจะพ้นจากอริยสัจนี้ไปไม่ได้แม้พระองค์เดียว
นี่คือเป็นสถานที่ผลิตหรืออุบัติของพระพุทธเจ้า
ของท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายอุบัติขึ้นที่ตรงนี้ เราก็จ่อจิตของเราไปตรงนั้น
เหมือนไฟได้เชื้อเผากันอยู่ตรงนั้น เห็นกันอยู่ตรงนั้น แก้กันอยู่ตรงนั้น
กิเลสออกมาฉากใดมุมใด สติปัญญาหลบฉากหลบมุมกันแก้กันอยู่นั้น
เหมือนนักมวยต่อยกันบนเวที

นี่เป็นเรื่องที่เพลินมากสำหรับผู้ปฏิบัติในปัญญาขั้นนี้แล้ว
ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือน
ลืมหิวลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลืมหลับลืมนอน หมุนติ้ว
เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้เข้าพักสมาธิ
เมื่อได้ออกรบได้แก่การพิจารณาทางด้านปัญญานี้มันจะเลยเถิด
แล้วให้เข้าพักในสมาธิพักผ่อนหย่อนจิต คือไม่ใช้กิริยา
เพราะเรื่องของปัญญาก็เป็นกิริยาแห่งการทำงานอันหนึ่ง
เรียกว่างานของปัญญางานของจิต เราพักอย่างนั้นเสีย
ให้จิตเข้ามาสู่สมาธิพักแรงพักเอากำลัง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องปัญญาขั้นใดก็ตามในเวลานั้น
ให้หมุนตัวเข้าสู่สมาธิสงบแน่วอยู่เพียงเท่านั้นเพื่อเอากำลัง

จะพักจิตกี่ชั่วโมงก็ให้อยู่ จนกระทั่งจิตอิ่มตัวแล้วจิตถอยออกมา
พอถอยออกมาแล้วทีนี้ไม่ต้องห่วงสมาธิ
คือไม่ต้องห่วงการพักผ่อนอีกต่อไปแล้ว
ก้าวเข้าสู่ปัญญาหมุนติ้วบนเวที
นี่คือผู้ปฏิบัติเพื่อทรงมรรคทรงผล
ท่านปฏิบัติอย่างนั้น ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เป็นอย่างนั้น
เพราะอริยสัจเป็นอันเดียวกัน
กิเลสเป็นอันเดียวกัน ทุกข์ สมุทัยเป็นอันเดียวกัน
มรรค นิโรธ เป็นอันเดียวกัน
แก้กิเลสได้อย่างเดียวกัน จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ๆ
ผู้ปฏิบัติพิจารณาย่อมเห็นได้ชัดภายในตัวเอง
นี่อธิบายถึงเรื่องภาวนามยปัญญา

พอก้าวจากภาวนามยปัญญานี้แล้วเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา
หาความเผลอตัวไม่ได้เลย เผลอได้ยังไงกิเลสจะต่อยเอา ๆ
เมื่อความเห็นโทษถึงขนาดคอขาดบาดตายกันแล้วนั้นจะเผลอกันไม่ได้
นั่นละมหาสติมหาปัญญาตั้งตัวแบบนั้นเอง เพราะตั้งตัวแบบสละตาย
ถ้าเผลอเมื่อไรก็ตายเหมือนกับนักมวยต่อยกัน
นี่ระหว่างจิตกับกิเลส กิเลสเข้าถึงขั้นละเอียดละเอียดมาก
แล้วสติปัญญาก็ตามต้อนกันให้ทันกันนั้น ฆ่าไปเรื่อยทันไปเรื่อย
ฆ่าไปเรื่อย สุดท้ายก็วิมุตติหลุดพ้น
กิเลสขาดสะบั้นลงไปจากหัวใจ นั้นเรียกว่าสมุทัยม้วนเสื่อ

สมุทัยคืออะไร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นแลคือยอดของสมุทัย
ในบรรดากิเลสทั้งหลายขึ้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
รวมตัวไปอยู่ในจิตนั้นหมด
กระแสของมันถูกสกัดลัดต้อนหมด
ออกไปทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย
สกัดลัดต้อนออกด้วยอำนาจของธรรมที่กล่าวมาเบื้องต้น
มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภังเป็นต้น
ตีต้อนเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงจิต

อวิชชาไม่มีทางเดิน เครื่องมือหรือทางเดินถูกตัดหมด
แล้วหมุนตัวเข้าไปสู่จิต นี่ละเรียกว่ายอดสมุทัยเข้าสู่จิต
แล้วจิตจะมีความสว่างกระจ่างแจ้ง มีความสว่างไสว
มีความอัศจรรย์ นี่ก็คือกลอุบาย คือโล่ของอวิชชาที่หลอกสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติจึงต้องติด อะไรละเอียดก็ตามไม่ละเอียดเหมือนอวิชชา
อวิชชานี้แม้แต่มหาสติมหาปัญญายังหลงกลมันได้
แต่หลงก็หลงเพื่อจะฆ่า ไม่ใช่หลงเพื่อจะหลงไปเลย
เหมือนความหลงทั้งหลาย หลงหมัดของมัน
หรือว่ามันต่อยมาหลบฉากไม่ทันถูกต่อยเอาก็มี
แต่ยังไงก็ตามจะต้องม้วนเสื่อแน่นอน
พอเข้าถึงจุดนี้แล้วมหาสติมหาปัญญานั้นหมายความว่ายังไง
ไม่ต้องถามรู้กันเอง ๆ ในวงปฏิบัติบนเวทีของหัวใจผู้ปฏิบัตินั้นแล

เมื่ออวิชชาได้ม้วนเสื่อลงไปแล้ว
คำว่ามหาสติมหาปัญญาก็หมดปัญหาไปในทันทีทันใด
โดยไม่ต้องบังคับบัญชา นี่เรียกว่าพอเหมาะพอดีกันทุกอย่าง
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขาดสะบั้นจากกันไปแล้ว
เหลือแต่ความวิมุตติหลุดพ้นโผล่ขึ้นมาตรงกลางนั้น
นี่ละพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ตรงนี้ พระสาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลาย
ตรัสรู้หรือบรรลุธรรมขึ้นที่ตรงนี้ เราจะตรัสรู้ที่ไหน
เราผู้ปฏิบัติเราต้องรู้ที่ตรงนี้จึงสามารถพูดอันนี้
ออกมาเป็นเครื่องยืนยันได้ นั่น นี่ละที่ว่าธรรมของพระพุทธเจ้า
เป็นเครื่องยืนยันโลก เวลานี้ก็มีอยู่อย่างนั้น

พระพุทธศาสนาของเรานี้จึงเป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน
เป็นตลาดแห่งพระโสดา พระสกิทา พระอนาคา
พระอรหันต์สมบูรณ์บริบูรณ์
ป็นห้างร้านอันใหญ่โตเต็มไปด้วยอริยมรรคอริยผล
จึงขอให้พระลูกพระหลานทั้งหลายตลอดประชาชนญาติโยม
เพราะเป็นผู้มีอริยสัจเหมือนกันจะปฏิบัติให้รู้ให้เห็นได้ด้วยกัน
แล้วต่างคนต่างอุตส่าห์พยายามปฏิบัติตน
ให้เป็นไปตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ผู้หญิงก็พ้นทุกข์ได้
ผู้ชายพ้นทุกข์ได้ ฆราวาสพ้นทุกข์ได้ พระเณรพ้นทุกข์ได้เมื่อปฏิบัติให้ถูก
ถ้าไม่ถูกก็เป็นทุกข์ได้ด้วยกันไม่ว่าพระว่าเณรฆราวาสญาติโยม
เป็นทุกข์ได้ด้วยกันทั้งนั้นถ้าปฏิบัติผิดจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ถ้าปฏิบัติให้ถูกแล้วเป็นอย่างนั้น

วันนี้ได้แสดงถึงเรื่องภาวนา ก้าวไปถึงภาวนามยปัญญาก็เลยไปใหญ่เลย
จึงขอสรุปเอาว่า ศีลก็อยู่กับเราทุกท่านผู้ปฏิบัติรักษาศีล
สมาธิอยู่กับเราทุกท่านที่เป็นผู้เสาะผู้แสวงหาจะบำเพ็ญให้เกิดให้มี
พระพุทธเจ้าไม่ลำเอียงและไม่ทรงผูกขาด สนฺทิฏฺฐิโก
ประกาศกังวานไว้กับผู้ปฏิบัติทุกรูปทุกนามไป
พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดไว้เลยแม้นิดหนึ่ง
มอบไว้กับผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองในธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้

จึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ
กำจัดสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายอยู่ในใจของเรา
คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ราคะตัณหานี้เป็นตัวภัยอันยิ่งใหญ่ ในสามแดนโลกธาตุนี้
ไม่มีอะไรเป็นภัยอันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่ากิเลส ๓ ประเภทนี้
จงพยายามกำจัดมันออกจากใจแล้วอยู่ที่ไหนสบายหมด
วันคืนปีเดือนดินฟ้าอากาศฟ้าแดดดินลมหมื่นแสนจักรวาลอะไร
ที่จะมาเป็นภัยต่อจิตใจไม่มี มีกิเลสอันเดียวนี้เท่านั้นเป็นภัยต่อใจ
เมื่อกิเลสได้ม้วนเสื่อลงไปแล้วไม่มีอะไรเป็นภัยต่อใจ
เวิ้งว้างสุดจิตสุดคิดสุดบรมสุขโดยไม่ต้องคาดต้องฝัน
หากเป็นหากพอเหมาะพอดีอยู่กับผู้เป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธนี้เท่านั้น


ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ


ที่มา : http://www.dharma-gateway.com

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


อ้างคำพูด:
ปัญญา ๓ ประเภท คือ
สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ๑
จินตามยปัญญาปัญญาเกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองของสามัญชนทั่ว ๆ ไป ๑
ภาวนามยปัญญา ๑ ส่วนภาวนามยปัญญานี้เกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง
นี้แลที่ท่านว่าปัญญาเกิด ภาวนามยปัญญานี่เป็นปัญญาเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติ
ท่านเรียกว่าอัตโนมัติ ปัญญาขั้นนี้แลเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส
เป็นปัญญาที่เห็นมรรคเห็นผลโดยลำดับ


สาธุ..

:b8: :b12:

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 21:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร