วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 04:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 20:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วิธีเจริญเมตตา


1. เราต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น สมเหตุสมผลทุกกรณี กรรมเราทำไว้ก่อนทั้งนั้น ความโกรธ ความโลภ ความหลงในจิตใจเป็นต้นเหตุ เราต้องรับผิดชอบ 100 % ด้วยตัวเอง

2. พยายามเข้าใจ เห็นอกเห็นใจเขาว่า เขาก็กำลังทุกข์เหมือนเราเหมือนกันทุกชีวิต ทุกข์จากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ผิดหวัง ไม่สมปรารถนาต่างๆ ยิ่งคนที่กำลังด่านินทาเรา เขาทุกข์ก่อนเราอีก สงสารเมตตาเขา ถึงแม้ว่าเขากำลังได้เปรียบ เราเสียเปรียบก็ตาม ไม่ต้องอิจฉาเขา ไม่ต้องน้อยใจอะไรเลย ถ้าเขากำลังได้เปรียบมีความสุขที่ได้มาจากอกุศลกรรม บาปกรรม แล้วไซร้ เปรียบเทียบได้ว่าเขากำลังมีความสุขอยู่ชั้นบน แต่ชั้นล่างไฟกำลังไหม้บ้าน ควรสงสารเขาตั้งแต่บัดนี้เดี๋ยวนี้ขณะนี้ เราไม่ต้องสร้างกรรมสร้างเวรกับใครอีกต่อไป ให้ตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้องด้วยกายวาจาใจดีกว่า

3. เริ่มฝึกเจริญสติ ปัญญา เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ และกำลังจะเกิดอารมณ์ เสียอารมณ์ รีบตั้งสติ หายใจลึกๆ ซ้ำๆ เป็นจังหวะๆ จะเริ่มรู้สึกตัวขึ้น ทำให้ต่อเนื่องกัน ไม่ให้คิดจองเวรคิดอาฆาตพยาบาท คิดบ่น คิดเบียดเบียน ให้ระงับอารมณ์ ถ้าคิดก็คิดสอนใจตัวเอง ให้รู้จักคิดถูก ฝึกสติ ฝึกปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างนี้

4. ฝึกสมาธิเช้าเย็น 10-15 นาที ทำบ่อยๆ ในวันหนึ่ง ตื่นเช้า หลังจากกินอาหารเช้า ในรถ ก่อนทำงาน หลังเลิกงาน ก่อนโทรศัพท์สำคัญ เมื่อเกิดอารมณ์เสีย เป็นต้น ตั้งใจไม่โกรธ รักษาใจระวังใจในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายหน้า ซึ่งเคยทำให้เราโกรธ ทุกข์ อยู่บ่อยๆ ตั้งใจแผ่เมตตา ส่งถึงทุกคนทุกชีวิต ไม่จำกัด ไม่ยกเว้น แม้แต่คนที่เราไม่ชอบ ตั้งใจคิดดี พูดดี ทำดี ในทุกกรณี

5. เจริญวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ฌาน 5

- วิตกในสมาธิ
หมายความว่า นึกๆๆ อารมณ์กรรมฐานอย่างเดียว เช่น ความรู้สึกที่ลมสัมผัสที่เกิดขึ้นจากการหายใจเข้าออก พยายามตั้งสติบ่อยๆ นั้นแหละ

- ถ้าเกิดวิตก ตั้งสติติดต่อกัน ไม่ช้าก็จะเกิดวิจาร วิจารในที่นี้ คือ รู้สึกตัว รู้ว่าหายใจยาว สั้น เบา หนัก ร้อน เย็น เป็นต้น ความรู้สึกตัวนี้เป็นกำลังผูกมัดจิตกับอารมณ์กรรมฐานให้แนบแน่นมากขึ้น แล้วความปีติ สุข ก็จะเกิดตามมา มีความสุขที่สุดในโลก

- พยายามเจริญสมาธิ จนสัมผัสความสุขในสมาธิบ่อยๆ เมื่อเรารักษาความสุขทางใจได้นั่นแหละ ใจเราจึงจะมีเมตตา เป็นใจเมตตา มีความรัก ความสุข เต็มหัวใจ

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข
ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมตามความเป็นจริง ประกอบด้วยปัญญา
เมตตาก็ถาวร เป็นเมตตาที่แท้จริง

• เมตตาภาวนา •

อานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนา
1. หลับเป็นสุข
2. ตื่นเป็นสุข
3. ไม่ฝันร้าย
4. อมนุษย์รักใคร่
5. มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
6. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง
7. ไฟ ศาสตราวุธ ยาพิษ ไม่อาจกล้ำกลาย
8. ผิวหน้าย่อมผ่องใส
9. จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
10. เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลง
11. เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

เมื่อเจริญเมตตาภาวนาบ่อยๆ จะมีอานิสงส์ช่วงระงับความโกรธได้
ให้เจริญเมตตาให้กับตัวเองก่อนโดยอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา
ให้พยายามรักษาใจให้สงบนิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สักพักหนึ่ง

• การแผ่เมตตาให้กับตัวเอง •

อะหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข
ยกขึ้นมาพิจารณาทุกครั้งที่รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์โกรธ หรือเมื่อเราได้
โกรธคนอื่น เราโกรธเขา เขาก็เป็นทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์มาก
กว่าเรานั่นแหละ เขาก็กำลังแก่ กำลังเจ็บไข้ ป่วย กำลังจะตาย
เหมือนเรานั่นแหละ

เขาก็กำลังประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เหมือน
กับเรา เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ในที่สุด ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ได้

ความสุขอยู่ที่การปล่อยวางสิ่งภายนอก และสัญญาอารมณ์ต่างๆ
ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถอนจิต ถอนใจอุปาทาน
จากอารมณ์โกรธ น้อมเข้ามาๆ ให้จิตพักอาศัยอยู่ที่ลมหายใจ

เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออกช้าๆ ลึกๆ หน่อย
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออก สบายๆ ภาวนาว่า
ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข หายใจเข้า
หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไร้ทุกข์
ความชั่วร้ายของเขา เป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องไปคิด
ไปเกาะติดยึดมั่นถือมั่น แบกเอาไว้
ความชั่วของใครก็เป็นของร้อนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราไปยึดติดเมื่อไร
ก็เดือดร้อน เป็นทุกข์เมื่อนั้น
ถึงแม้ว่า เขาผิดจริงก็ตาม ผู้มีปัญญา ผู้หวังความสุข ไม่เอามาคิด
เป็นอารมณ์ ให้ระวังๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

อะเวโรโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร
ตรวจตราดูความรู้สึกภายในใจตัวเอง หรือสังเกตดูความนึกคิด
ของเรา ว่ามีเวรหรือไม่
จองเวรเขา ก็เหมือนจองเวรตัวเอง ทำให้จิตเศร้าหมอง

“เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร”
ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องเป็นผู้ไม่มีเวร ให้ระงับความรู้สึก
นึกคิดจองเวรใครๆ ออกไปจากภายในใจของเรา
ให้อภัย อโหสิกรรมแก่ทุกคน ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ชำระความรู้สึก ความนึกคิดจองเวรให้หมดไปๆ เอาลมหายใจเป็น
กัลยาณมิตร หายใจเข้า หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อ

อัพยาปัชโฌโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ตรวจตราภายในใจดูว่า มีความรู้สึกนึกคิดเบียดเบียนใครหรือไม่
ถ้าเขาคิดอย่างนี้กับเรา พูดอย่างนี้กับเรา ทำอย่างนี้กับเรา
เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่สบายใจ เราก็ไม่น่าคิดกับเขาอย่างนั้น
รักษาใจ ไม่ให้หวั่นไหวต่ออารมณ์พอใจ และไม่พอใจที่มากระทบ

จงสร้างเกาะไว้เป็นที่พึ่งด้วย สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ
หิริโอตตัปปะ และขันติ คือความอดทน รวมกันไว้ที่ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออก ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้มีทุกข์ ไม่ให้เบียดเบียนใคร
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ จงรักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด
ให้ระลึกถึงปีติสุขทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรื่อยๆๆๆ
รู้เฉพาะปีติสุข หายใจเข้า รู้เฉพาะปีติสุข หายใจออก
ให้หัวใจของเรานี้เต็มไปด้วยปีติสุข แล้วแผ่ความสุขออกไปๆๆๆ

การแผ่เมตตานี้ ต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเองก่อน จนให้เกิดความสุขใจ
การจะให้เกิดความสุขใจนั้นต้องอาศัย สมาธิ และปัญญาสนับสนุนกัน
ด้วยอำนาจสมาธิ จิตสามารถยังปีติสุขให้เกิดได้ และต้องใช้ปัญญา
เห็นโทษของการคิดผิด คิดเบียดเบียน ฯลฯ ให้ระงับความคิด
เหล่านั้นด้วยสติปัญญาจึงจะเกิดเมตตาได้

• การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ •

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงความสุข

เมื่อใจเรามีความสุข มีเมตตา มีความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี
มีความรักที่บริสุทธิ์ ให้แผ่ความรัก ความเมตตาที่บริสุทธิ์กระจาย
ออกไปจากหัวใจของเราไปยังสรรพสัตว์

วิธีแผ่เมตตา มี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1. อาศัยนิมิต วิธีที่ 2. ไม่มีนิมิต


อาศัยนิมิต เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว ขณะที่ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้า ให้นึกมโนภาพถึงคนที่เราตั้งใจจะแผ่เมตตาไปให้ไว้เฉพาะ
หน้าหรือไว้ที่หัวใจ นึกมโนภาพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กำลังมีความสุข
ของเขาและส่งกระแสเมตตาจิตไป ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดตัวเราที่รักกันอยู่ก่อน เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา
เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ต่อไปก็คนที่เป็นกลางๆ ไม่รัก ไม่ชัง
ค่อยๆ แผ่ไปๆ ทีละคน ทีละกลุ่ม

ต่อไปก็ถึงคนที่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับเขา ตั้งใจ หวังดีต่อเขา
ปรารถนาดีต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขเถิด ขอให้ไม่มีเวรซึ่งกัน
และกันเถิด ขอให้เราอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

ไม่มีนิมิต เมื่อเราพร้อมแล้ว เรามีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าแล้ว สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลาย
ทั้งปวง จงเป็นผู้ถึงความสุข พยายามทำความรู้สึกที่ดี
ความปรารถนาดี ความรักที่บริสุทธิ์ แผ่ออกไปรอบๆ ตัวเรา
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

พยายามนึกไปกว้างๆ ไกลๆ คลุมไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล มีแต่ความ
สุข ทุกลมหายใจออก - เข้า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ หายใจออก
เต็มไปด้วยความสุข หายใจเข้าเต็มไปด้วยความสุข

กามวิตก พยาบาทวิตก หิงสาวิตก เป็นศัตรูต่อการเกิดเมตตาจิต
เมื่อใจเรามีเมตตา จิตใจก็จะสงบ มีความสุข ไม่ต้องคิดเรียกร้อง
ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก จากใครอีกต่อไป พ่อแม่
ไม่รักเรา ลูกหลานไม่รักเรา สามีภรรยาไม่รักเรา ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป
เพราะหัวใจของเราเต็มไปด้วยความสุขและความรัก เรามีแต่ให้ๆๆๆๆ

• พรหมวิหาร 4 •

คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่
เมตตา
คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง ใครที่
อดอยากทุกข์ยากลำบาก ด้อยกว่าเรา เราอยากให้เขามีความสุข
ด้วยการให้ทาน ช่วยเหลือสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีความสุขเราก็มี
ความสุขด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กำลังอดๆ
หิวข้าวอยู่ เราก็ให้อาหาร เขาก็มีความสุขในการกิน เราก็มี
ความสุข แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าเราตามใจลูกหลาน
เขาอาจพอใจ แต่เสียนิสัยก็เป็นได้ ต้องระวัง

พรหมวิหาร มี 4 ข้อ แต่ต้องเจริญเมตตาก่อน ไม่มีเมตตา กรุณามีไม่ได้
ไม่มีกรุณา มุทิตา อุเบกขาก็มีไม่ได้ การเจริญเมตตาง่ายกว่าข้ออื่นทุกข้อ

กรุณา คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า
และยากกว่าเมตตา เป็นความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ รู้จักผิดถูก
เมื่อเขาทำผิดต้องชี้แจง แนะนำ สั่งสอน เพื่อให้เขาละความชั่ว
ความผิด แก้ไขตัวเอง อันนี้เราต้องมีจิตใจกล้าหาญ ถ้าใจดีแต่ใจ
อ่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเราเจตนาดีแต่เขาอาจจะไม่พอใจ อาจจะ
กระทบกระเทือนใจเขา เขาอาจจะโกรธเรา
พ่อแม่ที่เมตตารักลูกก็มีแยะ แต่คนที่มีกรุณาก็น้อย เพราะต้องดุ
ต้องว่า ต้องสอน บางทีก็ต้องลงโทษด้วย นี่เป็นกรุณา

มุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่า
กรุณาอีก เขาได้ดีกว่าเรา เราไม่อิจฉา ยินดีมีความสุขกับเขาด้วย
เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกับเราเรียนเก่งกว่าเรา หล่อกว่าเรา รวยกว่าเรา
ตำแหน่งก็ได้สูงกว่าเรา ภรรยาของเขาสวยกว่าภรรยาเรา
เรารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา อะไรๆ ก็ดีกว่าเราทุกอย่าง
(จริงๆ แล้วไม่แน่) แต่เรายินดีกับเขาด้วย อันนี้เป็นมุทิตาจิต

มุทิตาจิตนี้ละเอียด ทำยาก ขนาด พระ ครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตา กรุณามาก
แต่มุทิตาจิตนี้ก็มียาก มุทิตาจิต เป็นจิตที่ไม่อิจฉา สูงกว่ากรุณา และทำยากกว่า

อุเบกขา วางเฉยนี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก อะไรจะเกิด ใครจะ
นินทาก็ไม่ให้หวั่นไหว รักษาใจเป็นกลาง เฉยๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ต้องเข้าใจเรื่อง
เหตุผลและเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญา จึงจะเกิดอุเบกขาได้ เช่น
ลูกติดยาเสพติด พ่อแม่ก็ต้องทำใจอุเบกขา เพราะเราได้ทำดีที่สุดแล้ว

อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา
จึงจะเป็นอุเบกขาจริงๆ


:b8:

คัดลอกบางตอนมาจาก
หนังสือธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2009, 23:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2008, 12:29
โพสต์: 814

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b40: ปากแผ่เมตตา ใจเราก็ต้องมีเมตตากับทุกสรรพสิ่งด้วย......เป็นธรรมะที่เข้าใจได้ง่ายและปฏิบัติได้ไม่ยากจนเกินไป ทำให้ผู้อ่านมีกำลังใจในการทำสมาธิพร้อมเจริญเมตตาภายในพร้อมกันไปด้วย :b39: :b40:

.....................................................
"มีสติเป็นเรือนจิต ใช้ชีวิตเป็นเรือนใจ ใช้ปัญญาเป็นแสงสว่างส่องทางเดินไปเถิด จะได้ล้ำเลิศในชีวิตของท่าน มีความหมายอย่างแท้จริง"
ในการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อท่านบอกว่า ให้ตัดปลิโพธกังวลใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ลูก สามี ภรรยา ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง อย่าเอามาเป็นอารมณ์ จากหนังสือ: เจริญกรรมฐาน7วันได้ผลแน่นอน หัวข้อ12: ระงับเวรด้วยการแผ่เมตตา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2009, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มิ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1855

แนวปฏิบัติ: อานาปานสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: THAILAND

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: อนุโมทนา กับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยจ้า

:b8: "เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา"

.....................................................
[สวดมนต์วันละนิด-นั่งสมาธิวันละหน่อย]
[ปล่อยจิตให้ว่าง-ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ]


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2009, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 42 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร