วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 19:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2009, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


มนุษยธรรมที่ ๕

“สุราเมรย มฺชฺชปมาทฏฐานา เวรมณี” เว้นจากการดื่มน้ำเมา


อันน้ำดื่มธรรมดาเพื่อแก้กระหาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ร่างกาย แต่น้ำดื่มอีกชนิดหนึ่งไม่ใช่เพื่อแก้กระหาย ไม่เป็นสิ่งจำเป็นต้องหัดดื่ม เมื่อดื่มติดๆ เรื่อยๆ ไปจนติดเข้าแล้ว ก็ทำให้กระหาย ทำให้เหมือนเป็นของจำเป็น ทีแรกคนดื่มน้ำครั้นหนักๆ เข้า น้ำนั้นกลับดื่มคน พูดอย่างสามัญฟังง่ายๆ ว่าทีต้นคนกินน้ำ ทีหลังน้ำกินคน อันน้ำกินคนนี้ก็คือน้ำเมา เป็นของกลั่นเรียกว่า สุรา เป็นของดองเรียกว่า เมรัย มีชนิดต่างๆ คนรู้จักดื่มน้ำเมามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จะกล่าวว่าตั้งแต่ก่อนพระอินทร์เกิดก็ได้ ที่กล่าวดังนี้ เพราะมีเรื่องที่ท่านแต่งแสดงไว้ว่า

เมื่อมฆมานพ ทำกรรมดีงามในมนุษยโลก ไปเกิดในเทวโลกเป็น ท้าวสักกเทวราช คือ พระอินทร์นั้น เทวโลกที่พระอินทร์ปเกิด มีเทพจำพวกหนึ่ง ครอบครองเป็นเจ้าถิ่นอยู่ก่อนเทพเจ้าถิ่นเห็นพระอินทร์กับบริวารเป็นอาคันตุกะมา ก็เตรียมน้ำดื่มมีกลิ่นหอมเพื่อเลี้ยงต้อนรับ ในขณะที่ประชุมเลี้ยงต้อนรับพระอินทร์ ได้ให้สัญญาณแก่บริษัทของตนไม่ให้ดื่ม ให้แสดงเพียงอาการเหมือนดื่ม เทพเจ้าถิ่น จึงพากันดื่มฝ่ายเดียว พากันเมานอนหมดสติ

พระอินทร์และเทพบริวาร ก็ช่วยจับเทพเจ้าถิ่นเหวี่ยงทิ้งไปยังเชิงเขาสิเนรุ พวกเทพเจ้าถิ่นเมื่อถูกจับเหวี่ยงตกลงไปสร่างเมากลับฟื้นคืนสติขึ้นแล้ว ก็กล่าวแก่กันว่าพวกเราไม่ดื่มสุราอีกแล้ว จึงเกิดเป็นเชื่อขึ้นว่าอสุระ เพราะกล่าวว่าไม่ดื่มสุรา แต่ช้าไป เพราะเมาจนเสียเมืองไป ต้องสร้างอสุรภพขึ้นใหม่ นับแต่นั้นมา หมู่เทพบนยอดเขาสิเนรุมีพระอินทร์เป็นประมุข และหมู่อสุรเทพที่เชิงเขาสิเนรุ ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันอยู่เนืองๆ แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยเข้าเมืองของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็ตามเข้าไปไม่ได้ เมืองทั้งสองจึงเรียกว่า อยุชฌบูร คือ อยุธยา ใครรบไม่ได้ ตีไม่แตก

เรื่องนี้บางท่านเห็นว่า มีเค้าทางตำนานของอินเดียโบราณอยู่บ้าง (ไม่ใช่พระพุทธศาสนา) นำมาเล่าเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องเก่าๆ มีคติเกี่ยวกับน้ำเมาอยู่บ้างว่า เรื่องน้ำเมามีมาเก่าแก่ และเมามายกันจนเสียบ้านเสียเมืองมาแล้ว

เรื่องเช่นนี้ในศาสนาอื่นก็มีเล่าไว้ เช่น คัมภีร์หนึ่งเล่าว่าโนอาห์ทำไร่องุ่นและดื่มสุราองุ่น เมาตั้งแต่สมัยหลังจากน้ำท่วมโลกไม่กี่ร้อยปี

อีกคัมภีร์หนึ่ง เมื่อเทวดาพากันเสื่อมฤทธิ์ เพราะถูกพระฤษีผู้มีนามว่า ทุรวาสสาป ก็ดื่มน้ำอมฤต เรื่องมีว่า พระอินทร์ทรงช้างไอยราพตไปในวิถีอากาศ พบฤษี ทุรวาส ซึ่งถือพวงมาลัยดอกไม้สวรรค์อันนางฟ้าองค์หนึ่งถวาย พระฤษียื่นถวายพระอินทร์ ท้าวเธอรับมาพาดบนศีรษะช้าง ช้างสูดกลิ่นดอกไม้ซึ่งอวลอบแรงหนักหนาทำให้เป็นบ้าคลั่ง จึงฟาดงวงเอื้อมจับพวงดอกไม้จากตระพองขว้างลงเหยียบย่ำ พระฤษีทุรวาสโกรธว่าพระอินทร์ดูหมิ่น จึงสาปให้เสื่อมฤทธิ์ และให้พ่ายแพ้แก่หมู่อสูรนับแต่นั้นมา พระอินทร์และเทพบริวาร ก็อ่อนฤทธิ์รบมิใคร่ชนะหมู่อสูร พากันอยู่ไม่เป็นสุข ก็พากันไปเฝ้าพระนารายณ์ขอให้ช่วย

พระนารายณ์ ก็แนะอุบาย ให้ทวยเทพไปชวนเลิกยุทธสงครามกับหมู่อสูร ผูกพันธไมตรีร่วมกันตั้งพิธีกวนสมุทร หมู่เทพก็ปฏิบัติตาม ไปชวนอสูรเลิกรบและชวนไปเก็บโอสถโยนลงไปในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เอาภูเขามาเป็นไม้กวน เอาพญานาคมาเป็นเชือก

พระนารายณ์มาช่วยพิธี ปันหน้าที่ให้หมู่อสูรถือทางศีรษะนาค ให้หมู่เทพถือทางหางนาค พระนารายณ์เองอวตาร (แบ่งภาคลงมา) เป็นเต่าลงไปรองรับภูเขาที่เป็นไม้กวนเมื่อช่วยกันกวน หมู่อสูรอยู่ทางศีรษะนาค ก็ถูกไฟที่พุ่งจากนาคแผดเผาจนอ่อนฤทธิ์ลงไป หมู่เทพอยู่ทางหางนาค ก็ถืออย่างสบาย ครั้นกวนสมุทรได้ที่ก็เกิดสิ่งต่างๆ รวมทั้งสุราและอมฤต (น้ำที่กินแล้วไม่ตาย) ในที่สุด ทวยเทพชิงดื่มน้ำอมฤตได้ก่อนจนหมดจึงกลับคืนฤทธิ์ และได้ชื่อว่า อมร (ผู้ไม่ตาย) เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เห็นมีเรื่องเกี่ยวกับน้ำเมา จึงนำมาเล่าไว้เพื่อแสดงว่าคนในทุกๆ ส่วนของโลกเชื่อว่าสุราได้เกิดมีมานานตั้งแต่สมัยนิยาย

ในชาดกก็มีเล่าไว้ด้วยเหมือนกันว่า ในอดีตกาลนานนักแล้ว มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระ ได้เข้าป่าหิมพานต์มาถึงต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นค่าคบแยกออกเป็น ๓ ในที่สูงขนาดชั่วบุรุษ ในระหว่างค่าคบทั้ง ๓ มีเป็นบ่อขนาดตุ่ม ในฤดูฝนมีน้ำขังเต็ม และมีผลเสมอ มะขามป้อม และพริกตกลงไป รวมอยู่จากต้นที่เกิดอยู่โดยรอบ มีหมู่นกแขกเต้า จิกข้าวสาลีที่เกิดเองในที่ไม่ไกลกัน มาทำตกลงไปผสมอยู่ด้วย เมื่อถูกแดดเผาน้ำนั้นก็แปรรส มีสีแดง หมู่สัตว์มีนกเป็นต้นดื่มเข้าไปแล้ว ก็พากันเมาตกอยู่ที่โคนต้นไม้ สร่างเมาแล้วจึงพากันบินไปได้

นายพรานสุระเห็นดังนั้น เห็นว่าไม่เป็นพิษจึงลองดื่มดูบ้างดื่มเข้าไปแล้วก็เมาและอยากบริโภคเนื้อ จึงฆ่าสัตว์มีนกเป็นต้นที่เมาตกลง ปิ้งบริโภคกับน้ำเมา ครั้นเมาแล้วก็ฟ้อนรำขับร้องชวนดาบสรูปหนึ่งชื่อว่าวรุณให้ลองดื่มดูบ้าง ก็พากันดื่มจนเมามายไปทั้งคู่ แล้วนำมาแพร่หลายในบ้านเมือง

ต่อมาก็คิดวิธีทำน้ำเมาขึ้น และได้เริ่มเรียกชื่อว่าสุรา หรือวรุณี ตามชื่อของนายพรานสุระและดาบสวรุณะ แต่เมื่อดูตามศัพท์สุรา แปลว่ากล้า อาจหมายความว่า เพราะดื่มแล้วทำให้ใจกล้ามุทะลุก็ได้และวรุณี อาจหมายถึงวรุณคือฝน เพราะตามเรื่องนั้น เกิดจากน้ำฝนตกลงขังหมักดองกับสิ่งต่างๆ ในค่าคบไม้ก็ได้

น้ำเมานี้ เป็นสิ่งที่ชาวโลกมิใช่น้อย มักจะโปรดปรานเมื่อมีงานรื่นเริงอะไรก็มักจะทิ้งไม่ได้ ถ้าขาดไปมักจะบ่นว่าแห้งแล้งเงียบเหงา บางแห่งมีจัดงานเทศกาลดื่มสุรากัน

แต่บัณฑิตทั้งหลายในโลก ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน ไม่สรรเสริญยกย่องการดื่มสุราว่าเป็นของดี มีแต่แสดงโทษไว้ต่างๆ โดยตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง โดยตรงนั้น เช่น แสดงว่าการดื่มน้ำเมาเป็นอบายมุข และชี้โทษไว้ ๖ สถาน คือ เสียทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท เกิดโรค ต้องติเตียน ไม่รู้จักอาย ทอนกำลังปัญญา

ส่วนโดยอ้อมนั้น เช่นที่ผูกเป็นนิทานไว้ต่างๆ ดังเรื่องกำเนิดสุราในทางตะวันตก ว่าได้มีเทวดาองค์หนึ่งไปพบต้นองุ่นเข้าก็มีความพอใจจึงนำมา ทีแรกเมื่อนำมานั้น ปลูกมาในหัวกะโหลกนก ต้นองุ่นโตเร็วเต็มหัวกะโหลกนก

ต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกะโหลกลา แล้วต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกะโหลกเสือตามนิทานนี้ เข้าใจความหมายว่า ดื่มเหล้า (องุ่น) ทีแรกรื่นเริงอย่างนก มากเข้าอีกก็โง่ซึมเซาอย่างลา มากเข้าอีกก็ดุร้ายอย่างเสือ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งแสดงกันมาว่า สุราผสมด้วยเลือดของสัตว์หลายชนิด คือ เลือดนก เลือดสุนัข เลือดเสือ เลือดงู เลือดหมู และเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ทำให้พูดมาก คะนองสนุกอย่างนก ทำให้เอะอะอย่างสุนัข ทำให้ดุร้ายอาละวาดอย่างเสือทำให้เดินเปะปะไม่ตรงอย่างงูเลื้อย ทำให้หมดสตินอนซมอย่างหมู

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโทษของสุราโดยตรงดังกล่าวแล้ว เพราะการดื่มสุรากับทั้งเมรัยอันรวมเรียกว่าน้ำเมา เป็นฐานะคือที่ตั้งของความประมาท ฉะนั้น จึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ ว่า

สุราเมรย มฺชฺชปมาทฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมา

คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท น้ำเมาเป็นของดอง เช่น น้ำตาลต่างๆ ชื่อเมรัย เมรัยนั้นกลั่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เข้มข้นขึ้น เช่น เหล่าต่างๆ ชื่อสุรา สุราเมรัยนี้เป็นของทำให้ผู้ดื่มแล้วเมาเสียสติอารมณ์ แปรปกติของคนที่เป็นคนดีให้ชั่วไปได้ จนถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี ซึ่งในเวลาปกติทำไม่ได้แต่ครั้นเมาแล้วทำแทบจะทุกอย่าง น้ำเมาจึงได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความเว้นจากดื่มน้ำเมาเรียกว่า เวรมณี หรือวิรัติ เป็นตัวศีลในข้อนี้ วิรัติมี ๓ เหมือนกับข้ออื่นๆ คือ

เว้นด้วยตั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน ด้วยวิธีรับศีล หรือคิดตั้งใจด้วยตนเอง เรียกว่า สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน)

ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน เมื่อไปพบน้ำเมาที่อาจจะดื่มได้ แต่งดได้ไม่ดื่ม เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ (เว้นจากวัตถุอันถึงเข้า)

ถ้าเว้นได้เด็ดขาดจริงๆ จัดเป็น สมุจเฉทวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด)

วิรัติข้อใดข้อหนึ่งมีขึ้นเมื่อใด ศีลก็มีขึ้นเมื่อนั้น วิรัติขาดเมื่อใด ศีลก็ขาดเมื่อนั้น
ลักษณะสำหรับตัดสินว่าศีลขาดนั้น คือ

๑. เป็นน้ำเมามีสุราเป็นต้น
๒. จิตใคร่จะดื่ม
๓. พยายามคือทำการดื่ม
๔. ดื่มน้ำเมานั้นให้ไหลล่วงลำคอเข้าไป


อนึ่ง ห้ามน้ำเมาเพราะเป็นของทำให้เมาประมาท จึงห้ามตลอดถึงของทำให้เมาเช่นเดียวกันชนิดอื่น มีฝิ่นกัญชาเป็นต้นด้วย

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ นี้โดยตรง เพื่อมิให้มัวเมาประมาทเป็นหลัก คนเราที่เป็นคนธรรมดาสามัญ โดยปกติก็ประมาทกันอยู่แล้ว เพราะมักขาดสติมากบ้างน้อยบ้างต้องระมัดระวังกันอยู่เสมอ

จึงถึงมีภาษิตเป็นต้นว่า
“สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง”
“ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์”
“คนที่ไม่เคยทำอะไรผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย”


ฉะนั้น เมื่อเพิ่มเติมน้ำเมาให้เมาประมาทยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผิดมากขึ้น
เพราะคนที่เมาประมาทเป็นคนขาดสติ (ความระลึกได้)
ขาดสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)
อาจผิดศีลได้ทุกข้อ


อาจทำชั่วทำผิดได้ทุกอย่าง และเมื่อประมาทเสียแล้ว ก็เป็นคนหลงอย่างเต็มที่ไม่รู้จักเหตุผลควรไม่ควร ไม่รู้จักดีจักชั่วผิดถูก จะพูดชี้แจงอะไรกับคนกำลังเมาหาได้ไม่ คนเมาประมาท จึงเป็นผู้ที่ควรเมตตากรุณาหรือสมควรสงสาร เหมือนคนตกน้ำที่ทิ้งตัวเองลงไปช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ใครช่วยก็ไม่ได้

หรือเหมือนดื่มยาพิษฆ่าตนเอง ทั้งที่ไม่เห็นว่าเป็นยาพิษ จึงดื่มอย่างสนุกสนานรื่นเริงใครบอกว่ายาพิษก็ไม่เชื่อ แต่เห็นเหมือนน้ำอมฤติของเทวดาเพราะดื่มแล้วทำให้อุกอาจให้ร่าเริง ไม่มีทุกข์ ไม่มีกลัว แต่หาจริงไม่ เพราะสิ่งที่ทำให้ฤทธิ์สุราของคนเมาเสื่อมได้ดีนั้นคือความกลัว คนเมาอาละวาด เมื่อประสบเหตุอะไรที่ทำให้เกิดรู้สึกกลัวขึ้นได้แล้วความเมาก็เสื่อม เว้นแต่จะเมาจนสลบไสลซึ่งก็หมดฤทธิ์ที่จะอาละวาดอะไรได้

คนเมาอาละวาดเมื่อไปทำร้ายใครเข้ามักรู้จักหลบหนี เพราะเกิดรู้สึกกลัวผิดขึ้นแล้วความเมาจึงแพ้ความกลัว มิใช่ชนะความกลัว ที่ว่าทำให้กล้านั้นไม่ใช่ความกล้า เป็นความเมาต่างหาก เหมือนอย่างที่พูดกันว่าเห็นช้างเท่าหมู่ ก็เป็นเรื่องของความเมาที่แก่กล้า อันจะพาให้พินาศ เว้นไว้แต่ช้างจะเล็กลงมาเท่าหมูได้จริงๆ โดยมากความรู้สึกกลัวทำลายฤทธิ์เมาให้เสื่อมมักมาช้าเกินไป เพราะมักมาในเมื่อคนเมาไปทำผิดเสียแล้ว ต่างจากคนไม่เมา เพราะความรู้สึกกลัวผิดเกิดได้ง่ายกว่ามากนัก คนไม่เมาจึงรักษาตัวได้ดีกว่ามาก

อีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าศีลนั้น โดยตรงคือปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ คือความที่มีกาย วาจา ใจ เป็นปกติ ได้แก่เรียบร้อยดีงาม เมื่อดื่มนำเมาเข้าไป เมาประมาทขึ้นเมื่อใด ก็เสียปกติกาย วาจา ใจ เมื่อนั้น เพราะน้ำเมาทำให้กายของคนเมา วาจาของคนเมา ใจของคนเมา เสียปกติ ถึงจะยังมิได้ไปประพฤติผิดศีลข้ออื่นๆ แต่ศีลทางใจคือความมีใจเป็นปกติเรียบร้อยก็เสียไป คนเมาที่พูดว่าใจยังดีไม่เมานั้น ถ้าเป็นความจริงก็ไม่ใช่คนเมา ถ้าเป็นคนเมา คำที่พูดเช่นนั้นก็พูดไปตามความเมาเท่านั้น

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๕ คือ ความมีสติรอบคอบ
ตรงกันข้ามกับความไม่ประมาท
สติ คือ ความระลึกนึกคิดขึ้นได้
ประกอบกับสัมปชัญญะ ความรู้ตัว
สติต้องมีสัมปชัญญะอยู่ด้วยจึงเป็น สติ ที่ถูกต้อง

เช่น เมื่อกำลังเดินอยู่ในถนน นึกถึงบทเรียนจนลืมตัวว่ากำลังเดินอยู่ในถนน ถึงจะนึกถึงบทเรียนได้ ก็ไม่ใช่สติ เมื่อรู้ตัวอยู่ว่า กำลังเดินอยู่ในถนนและระลึกได้ว่า จะเดินอย่างไรจะหลีกหลบรถอย่างไร จึงเป็นสติ คนเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องทำ ต้องพูด อยู่ทุกๆ วัน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสติเมื่อทำอะไร พูดอะไร ไปแล้ว ก็ระลึกได้ว่า ได้ทำ หรือพูดอะไร ผิดหรือถูก เรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อย เป็นต้น

จะทำจะพูดอะไรก็มีความระลึกนึกคิดก่อนว่าดีหรือไม่ดี อย่างที่โบราณสอนให้นับสิบก่อน คือให้นึกให้รอบคอบก่อนนั่นเอง ในขณะที่กำลังทำกำลังพูดก็รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ลืมหลงในเรื่องที่ทำที่พูด ไม่ลืมตัวไม่เผลอตัว บางคนมีปัญญาความรู้ดี แต่ขาดสติ ทำพูดอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่กล่าวกันว่า ฉลาดแต่ไม่เฉลียว จึงสมควรหัดให้มีสติรอบคอบ เพราะทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจทำสติได้วิธีหัด เช่น

๑. หัดนึกย้อนหลัง เป็นการฝึกความกำหนดจดจำ
๒. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะทำจะพูดอะไร
๓. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะโกรธใคร มิใช่โกรธเสียก่อนจนหายโกรธแล้วจึงนึกได้
๔. หัดให้มีความรู้ตัวอยู่ในเรื่องที่กำลังทำกำลังพูดตลอดถึงกำลังคิดอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ลืมตัว เผลอตัว
๕. หัดให้มีความยับยั้งในการที่ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด ให้มีอุตสาหะในการที่ควร อันตรงกันข้าม

การหัดทำสติ เมื่อหัดอยู่เสมอ สติจักเกิดมีทวีขึ้นตามลำดับ จนถึงเป็นสติรอบคอบ ถ้าไม่หัดทำจะให้มีสติขึ้นเองนั้นเป็นการยากที่จะมีสติพอใช้ เหมือนอย่างเมื่อประสงค์ให้ร่างกายมีอนามันดี ก็ต้องทำกายบริหารให้ควรกัน

จบ มนุษยธรรมที่ ๕

: มนุษยธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2009, 21:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ค. 2008, 10:19
โพสต์: 246


 ข้อมูลส่วนตัว www


สุราเป็นสิ่งที่กลืนกินสติ เป็นขวากหนามของเส้นทางไปสู่นิพพาน
ขอบคุณคราบ :b4: :b20: :b8:

.....................................................
ธรรมะคือธรรมชาติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2009, 21:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


โมทนาด้วยครับ :b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร