วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ชัยชนะเป็นสิ่งที่คนต้องการ แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่าให้เป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า
หรือมิฉะนั้นก็ก่อเวร ก่อศัตรูมากมาย
เมื่อนึกถึงความชนะ ขอให้เรานึกถึงประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นตามมากับความชนะนั้น
นึกถึงความสงบร่มเย็นอันจะพึงมีแก่ตนและผู้อื่น
เช่น เอาชนะความโกรธด้วยการให้อภัย ที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้
ชัยชนะอีกเจ็ดประการต่อมาก็มุ่งให้เอาการชนะตนเองเป็นสำคัญ
เช่น เอาชนะความอยากด้วยความเสียสละ
เอาชนะความติดโลกด้วยการพิจารณาให้เห็นธรรมชาติอันชั่วร้ายของโลก เป็นต้น
ผู้พ่ายแพ้ตนเองย่อมไม่สามารถเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้เลย

การรบกับตนเองก็คือ รบกับกิเลสภายในตน
อาวุธหรือเครื่องมือในการต่อสู้ของเราก็คือ คุณธรรมต่างๆ
เลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับศัตรูที่เผชิญหน้าเราอยู่

ถ้าจำเป็นต้องต่อสู้กับคนร้ายหรือสัตว์ร้าย โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
ลองนึกถึงการต่อสู้ของพระพุทธเจ้า 8 ครั้ง ที่เรียกว่า “พุทธชัยมงคล”
มีการต่อสู้กับพญามาร เป็นต้นว่า
ในเหตุการณ์อย่างนั้นๆ พระพุทธองค์ทรงต่อสู้และได้ชัยชนะโดยวิธีใด
เราลองดำเนินตามพระพุทธเจ้าบ้างได้หรือไม่
เพราะทรงทำเป็นแบบอย่างไว้แล้ว
เป็นชัยชนะที่ถูกจารึกไว้ยั่งยืนมาจนถึงเวลานี้ และต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน

ข้าพเจ้าหวังว่า เรื่องชัยชนะ 8 ประการนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่น้อยทีเดียว
ขอให้ท่านผู้อ่านประสบชัยชนะโดยธรรม
มีชัยชนะที่เป็นประโยชน์ ปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ขอขอบใจคณะศิษย์ผู้มีกุศลฉันทะ มีอุตสาหะให้หนังสือเล่มนี้ออกมาได้
ขอให้คณะศิษย์ผู้ช่วยเหลือในกิจการนี้ ประสบชัยชนะโดยธรรม
และประสบความสำเร็จในชีวิตทุกประการ


วศิน อินทสระ

คัดลอกจาก...เรือนธรรม

http://www.ruendham.com/book_detail.php?id=40

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เรื่องในหนังสือ ชัยชนะ 8 ประการ

1. ชัยชนะ 8 ประการ อ.วศิน

2. -1- ชนะความโกรธ ด้วยการให้อภัย

3. -2- ชนะความอยาก ด้วยความเสียสละ

4. -3- ชนะความโลภ ด้วยความอดทนและสันโดษ

5. -4- ชนะความกลัว ด้วยความกล้าหาญ

6. -5- ชนะความทะนงตน ด้วยความกรุณา

7. -6- ชนะโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความพอประมาณในทุกๆ อย่าง

8. -7- ชนะความง่วง ด้วยความพอประมาณในอาหาร

9. -8- ชนะการติดโลก ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษหรือธรรมชาติอันชั่วร้ายของโลก


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ชัยชนะ 8 ประการ

วันนี้จะคุยกันเรื่องชัยชนะ 8 ประการ ซึ่งนำมาจากตำราเก่านะครับ เริ่มต้นด้วย

1. ชนะความโกรธ ด้วยการให้อภัย

2. ชนะความอยาก ด้วยความเสียสละ

3. ชนะความโลภ ด้วยความอดทนและสันโดษ

4. ชนะความกลัว ด้วยความกล้าหาญ

5. ชนะความทะนงตน ด้วยความกรุณา

6. ชนะโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความพอประมาณในทุกๆ อย่าง

7. ชนะความง่วง ด้วยความพอประมาณในอาหาร

8. ชนะการติดโลก ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษหรือธรรมชาติอันชั่วร้ายของโลก

อันนี้ผมบันทึกเอาไว้นานแล้ว ประมาณ 30 ปี จำได้ว่า
นำมาจากหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง
แต่พยายามค้นหาเท่าไร ก็หาไม่เจอว่าต้นตอมาจากไหน เราเริ่มด้วยความโกรธก่อน


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


1. ช น ะ ค ว า ม โ ก ร ธ ด้ ว ย ก า ร ใ ห้ อ ภั ย

ชนะความโกรธ ด้วยการให้อภัย มันเริ่มต้นจากความไม่พอใจ
อรติ แปลว่า ความไม่พอใจ บางทีแปลว่า ความริษยา ปฏิฆะ
ความขัดเคืองหงุดหงิด โกธะ โทสะพลุ่งพล่าน คิดประทุษร้าย
ถ้า ทำได้ก็ทำไป ทำด้วยกายบ้าง วาจาบ้าง
โกธะ คือ ขุ่นมัวหรือที่เรียกว่า โกรธ โกรธนั้นเป็นภาษาที่ยังไม่ได้แปล
โกรธนี่ยังไม่ถึงกับลงมือแต่ว่าด่าก่อน
คือ ขุ่นอยู่ภายใน ยังไม่แสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ
แต่ถ้าโทสะแล้วลงมือเลย โทสะนั้นพลุ่งพล่านออกมา มันกลายเป็นในระดับพฤติกรรม
ข้างต้นกว่านั้นมันก็ยังอยู่ใน พวกปริยุฏฐานกิเลส พวกกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ
ถ้าทำได้ก็ทำไป ถ้า ทำไม่ได้ก็ผูกพยาบาทกันไป
คราวหน้าจะเล่นงานให้สะใจ อันนี้เป็นพยาบาท
พอเป็นพยาบาทก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล เป็นกรรมบถขาด
ขาดตรงที่พยาบาท เพียงแต่โกรธ ก็ยังไม่ขาด

โทสะ ถ้ายังไม่กระทำก็ยังไม่ขาด แต่ถ้ามาถึงพยาบาท ศีลกรรมบถก็ขาด
เพราะว่ามันมีมโนกรรมอยู่ตัวหนึ่ง คือ พยาบาท
อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ อันนี้พูดถึงกระแสสายของความโกรธ

คราวนี้ก็เอาชนะ เอาชนะความโกรธด้วยการให้อภัย
ก็นึก ว่าคนเราทุกคนมีข้อบกพร่อง เขาก็มีข้อบกพร่อง คนอื่นก็มี ข้อบกพร่อง
คนเราดีไม่ทั่วชั่วไม่หมด บางส่วนดีบางส่วนไม่ดี ก็ให้อภัยไป
พยายามให้อภัยไป เอาชนะความโกรธได้ด้วยการให้อภัย
คนเก่งๆ นักปราชญ์ เป็นนักให้อภัยทั้งนั้น
พระพุทธเจ้า พระเยซู มหาตมะ คานธี หรือใครที่เป็นคนทางด้านนี้
เขาเป็นนักให้อภัย ให้อภัยแล้วใจสบาย ความโกรธก็หมดไปด้วย

เราควรจะให้อภัยคนเช่นไร ให้อภัยแก่คนที่ควรให้อภัย
ถ้า เผื่อว่าต้องเอาโทษ ก็ต้องลงโทษตามสมควร
คือ ถ้าเขาทำผิดก็ต้องลงโทษ ไม่ใช่ให้อภัยเรื่อยไป
อย่างนั้นไม่ได้ มันผิดหลักการปกครอง
หลักการปกครองมันอยู่ที่ว่า ลงโทษคนที่ควรลงโทษ
ให้รางวัลสำหรับคนที่ควรให้รางวัล
ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง
คนที่ทำความผิดเป็นอาจิณ เราก็อภัยอยู่เรื่อยอย่างนี้ใช้ไม่ได้
พลอยทำให้เขาเสีย ถ้าเป็นลูกก็ทำให้เขาเสีย
เราต้องไม่ประพฤติธรรมให้คนอื่นเขาเสีย
อย่างเมตตากรุณาก็เป็นการฆ่าความโกรธ ละความโกรธ
แต่เราต้องไม่เมตตากรุณาจนเสียความยุติธรรม
ความยุติธรรมมันเว้นอคติ ไม่มีอคติ เว้นอคติ 4 ก็คือ ความยุติธรรม
ถ้าบอกว่า ใช้เมตตาด้วยอคตินี่ไม่ได้เลย
เพราะว่า เป็นลูกของเรา เป็นลูกน้องของเรา ต้องใช้เมตตาอย่างนี้
ทำให้เสียความยุติธรรม ถ้ามีอคติแล้วเสียความยุติธรรม

ถ้าเผื่อ 2 อย่าง คือ เมตตากรุณากับความยุติธรรมมาเผชิญหน้ากัน
หมายความว่า ถ้าจะประพฤติเมตตากรุณา ก็จะเสียความยุติธรรม
ถ้าตั้งอยู่ในความยุติธรรม ก็จะเสียความเมตตากรุณา
อย่างนี้ให้เลือกเอาอย่างไร อันนี้ทางจริยศาสตร์ท่านให้ตั้งอยู่ในความยุติธรรม
ยอมเสียเมตตากรุณา ความจริงเมตตากรุณามันแฝงอยู่ในความยุติธรรม
คือ เมตตาต่อเขา ไม่อยากให้เขาเสียมากไปกว่านั้น
ก็เลยทำไปด้วยความยุติธรรม ดูเหมือนว่าไม่มีเมตตากรุณา
ความจริงเมตตากรุณามันก็แฝงอยู่ในความยุติธรรมนั่นแหละ
แต่บางทีก็ทำไปด้วยความเมตตากรุณา ให้อภัยแล้วก็เสียความยุติธรรม
ยกตัวอย่างเช่น พวกเราเป็นครู ถ้านักเรียนส่งข้อสอบในการสอบ
เราก็มีเมตตากรุณากับนักเรียน เราก็ให้ A หมดเลย สงสารให้ A หมดเลย
ตอบผิด ตอบถูก ตอบดี ตอบปานกลาง ก็ A หมด อย่างนี้มันเสียความยุติธรรม
คนที่ตั้งใจเรียนดีได้ A ก็ไม่ยุติธรรม เพราะคนที่ไม่เรียนเลยได้ A
คนที่ได้ A โดยไม่ควรได้ ก็จะเสียความนับถือเอาด้วย

เพราะฉะนั้น เรื่องเมตตากรุณาจึงต้องมองถึงความยุติธรรมด้วย
เมตตากรุณาที่เสียความยุติธรรมนี่ใช้ไม่ได้เลย
ต้องดำรงรักษาความยุติธรรมเอาไว้
ถ้าเผื่อมันมาเผชิญหน้ากัน การละความโกรธด้วยการให้อภัย
การให้อภัยในที่นี้ก็จะต้องมีความยุติธรรมหรือตัวอุเบกขา เข้ามากำกับด้วย
อุเบกขาไม่ใช่เฉยๆ เป็นตัวเว้น อคติ
เมตตาเกินอุเบกขา กรุณาเกินอุเบกขา มุทิตาเกินอุเบกขา
ถ้าอย่างนี้ก็เสียความยุติธรรม อุเบกขาเป็นธรรมะตัวรักษาธรรม
เมตตา กรุณา มุทิตาเป็นการรักษาคน
แต่อุเบกขาเป็นการรักษาธรรม
ถ้าไม่เสียความยุติธรรมก็ใช้ได้ ถ้าเสียความยุติธรรมก็คงไม่ได้

ความโกรธ ลองดูเข้าไปในคุก คนในคุกนี่
ความโกรธ ความโลภ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทั้งสามอย่างรวมกันมันส่งเข้าไป
แล้วก็มองไปทางไหนก็ดูเหมือนว่า
เห็นแต่คนที่ลำบาก ก็กิเลส 3 ตัวนี้เป็นตัวก่อตั้ง
แต่ถ้าโกรธจนระงับไม่อยู่ก็ต้องลำบาก
สุดแล้วแต่ตัวไหนจะออกหน้า ตัวไหนเป็นแรงหนุน

ทีนี้มองดูไปอีกแง่ว่าทรัพย์สมบัติ ชีวิต แล้วก็เวลาที่มีค่าของมนุษย์
ก็ถูกทำลายล้างผลาญไปเพราะความโกรธ โลภ หลง มากมายเหลือเกิน
ในที่นี้เน้นเรื่องความโกรธนะครับ หรือว่าเน้นเรื่องความหลงด้วยก็ได้
พวกนักการพนันนี่เพราะความหลง หลงคิดว่า เล่นการพนันแล้วจะรวย
ปรากฏว่าพออยากรวยก็เกิดความโลภขึ้นมา
เล่นไปแล้วเกิดเสียขึ้นมาก็เกิดความโกรธ ยิงกัน โกงกัน ก็กล้าเสี่ยง
พวกนี้กล้าเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย กล้าทำ
ทีนี้มองไปอีกแง่ว่ากุศลกรรมหรือความดี ก็ไม่ต้องเสี่ยงเลย เกิดผลดีอย่างเดียว
แต่ว่าทำไมคนจึงไม่ค่อยกล้าทุ่มตัวลงไปให้หมดตัว
ถ้าถือตามพระพุทธภาษิตก็ได้นะครับ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทุสฺสีโล หิ พหุชฺชโน
คนส่วนมากเป็นคนชั่ว เป็นคนทุศีล

เหมือนกับที่สญชัยปริพาชกพูดกับพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรว่า
“คนฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้า คนโง่ก็มาหาเรา”
คนโง่ในที่นี้ก็คือคนทุศีล
“ตราบใดที่คนโง่ยังมาหาเราอยู่ ไม่ต้องกลัวว่าจะอดตาย” อยู่กับคนโง่

บางคนบอกว่า “หาว่าผมโง่ ผมโง่ผมมีเงินเยอะได้อย่างไร”
คนโง่นี่เป็นคนมีเงินก็ได้ เป็นคนจนก็ได้
อย่างพราหมณเอกสาฎก เขามีผ้าผืนเดียว สุดท้ายก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
จนก็ฉลาดได้ หรือนางวิสาขาถือว่าเป็นคนรวยก็ฉลาด
แต่ว่าพ่อผัวเป็นคนรวยก็โง่ เรียกว่า การที่ร่ำรวยหรือว่าเรียนสูงๆ
ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่าเป็นคนโง่ หรือ คนฉลาดในความหมายของศาสนาพุทธ

ถือตามพระสูตรบางพระสูตร ที่ท่านกำหนดไว้
พระมหาโกฏฐิตะถามพระสารีบุตรว่า “คนเช่นไรเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญาดี”
พระสารีบุตรตอบว่า “ไม่รู้อริยสัจตามความเป็นจริงเรียกว่า คนมีปัญญาไม่ดี
เมื่อรู้อริยสัจตามความเป็นจริงแล้วเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี”
ถ้าเอาตรงนี้เป็นหลัก คนก็มีปัญญาน้อยเหลือเกิน
เพราะว่ารู้อริยสัจตามความเป็นจริงนี่รู้ยาก
ต้องละสมุทัยด้วย รู้แจ้ง
นิโรธ รู้ทุกข์ตามความเป็นจริง
แล้วมรรคก็เจริญได้บริบูรณ์ด้วย
สมุทัยที่ควรละก็ละได้ด้วย เรียกว่า รู้จริง
อันนี้กำหนดอย่างสูง ถ้าเอาตามมาตรฐาน คนโง่ก็ยิ่งมากขึ้น

ทีนี้ก็มีคนแย้งว่า ถ้าโลกมีแต่คนชั่วป่านนี้โลกคงแตกไปแล้ว
แสดงว่า โลกนี้มีคนดีมาก โลกจึงอยู่ได้
มันก็อยู่ได้ แต่มันก็อยู่อย่างเลอะๆ
อยู่อย่างรบราฆ่าฟันกัน ไม่ได้อยู่อย่างสะอาด


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


2. ช น ะ ค ว า ม อ ย า ก ด้ ว ย ค ว า ม เ สี ย ส ละ

ความอยากในที่นี้ คือ อิจฉา อิจฉา คือ ความอยาก ความต้องการ
อิจฉาตัวนี้ ถ้าหากอยากมากขึ้นมันก็เป็น มหิจฺฉา
ถ้ามากขึ้นอีกแล้วไม่ได้โดยทางที่ชอบ มันก็เป็น ปาปิจฺฉา คือ ปรารถนาในทางชั่ว
เมื่อปรารถนาในทางชั่วแล้วต่อไปมันก็เป็น อภิชฌา-วิสมโลภะ
คือ โลภอยากได้ของผู้อื่นในทางที่ผิด

เอาชนะความอยากด้วยความเสียสละ คือ มีความอยากถ้าไม่เสียสละ มันก็ละไม่ได้
มันต้องมีน้ำใจเสียสละ มีจิตใจเสียสละจึงละได้
คือ ถ้าไม่เสียสละบ้าง มันก็อยากอยู่นั่นแหละ ไม่พอ
หากเสียสละแล้วจะรู้สึกว่า มันจะไปอิ่มใจกับความเสียสละ

มีบางคนเสียสละเหมือนกัน แต่ว่าเสียสละเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น
เช่น สมมุติว่าจะทำบุญบ้าง ก็ทำไปเพื่อที่ประกาศให้คนเขารู้ว่าเรามันแน่ มีเงินมาก
ถ้าเสียสละอย่างนี้ถือว่าถูกต้องไหม อันนี้ก็เสียสละ แต่ว่ามันมีกิเลสตัณหานำมา

ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างคนโดยสารแท็กซี่
พอเห็นถุงกระดาษอยู่ที่เบาะหลัง
ลองเปิดดูก็เห็นเป็นธนบัตรใบละ 100 จำนวนมาก ปึกใหญ่เลย
ตั้งสมมุติฐานว่าเป็นของผู้โดยสารคนก่อนลืมไว้
มองดูคนขับแท็กซี่ก็รู้ว่าเขาไม่รู้เรื่อง
ทีนี้ถ้าจะถือ เอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเสียก็คงจะได้
ก็ลังเลอยู่นานว่าจะทำอย่างไรดี
ความเห็นแก่ตัวกับความเห็นแก่ธรรม คือ ความถูกต้อง และความเห็นใจผู้อื่น
ก็รบกันอยู่ในจิตใจของเขาชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในที่สุดก็ตัดสินใจบอกแท็กซี่ให้แวะที่สถานีตำรวจที่เป็นทางผ่าน
แล้วมอบเงินจำนวนนั้นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาเจ้าของเงินตามหลักฐาน
ตำรวจตามตัวเจ้าของเงินมารับเงินคืนไปได้
พร้อมทั้งนัดผู้เก็บเงินได้ให้มาพบ เจ้าของเงินดีใจมากเลย
ลงกราบผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัวด้วยความเคารพเลื่อมใสจากใจจริง
แล้วก็น้ำตาไหล คือ ปราโมทย์น้ำตาไหล

เมื่อสนทนากันไปก็ได้รู้ว่าเงินจำนวนนั้น เจ้าของเงิน กำลังจะเอาไปให้เจ้าของที่
เจ้าของบ้านซึ่งเขาผ่อนส่งไว้ ขาดส่ง มาหลายงวดแล้ว หาเงินไม่ทัน
พอได้เงินมาก็รีบเอาไปให้ รีบเอา ไปใช้เขา
ลูกก็ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ใจก็กังวลถึงแต่ลูกจนลืมของสำคัญ
เพราะว่ามีของหลายอย่าง หอบหิ้วพะรุงพะรัง
พอลงจากแท็กซี่ก็รู้สึกหิว แวะทานอาหาร
ขณะรออาหารก็สำรวจดูจึงรู้ว่า ลืมถุงเงินเอาไว้ แต่ไม่รู้จะไปตามแท็กซี่ได้ที่ไหน
กลุ้มใจจนทำอะไรไม่ถูก เพราะว่าถ้าไม่ส่งเงินงวดนี้อีก
เจ้าของที่หรือเจ้าของบ้านเขาจะยึดคืน

ฟังเล่าแล้วผู้เก็บเงินได้ก็ปีติจนขนลุกซู่ไปหมด รู้สึกเอิบอิ่มใจเป็นที่สุด
เป็นเรื่องที่จะต้องจดจำไปตลอดชีวิต รู้สึกขึ้นทีไร ก็ปลื้มใจสุขใจทีนั้น
รู้สึกว่าได้ตัดสินใจถูกที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อยากได้
ไม่ยอมทำตามข้อเสนอแนะของความโลภ ความอยาก
แต่ทำตามข้อเสนอแนะของธรรม คือ ความไม่โลภ ไม่อยากได้ ไม่เห็นแก่ตัว
แต่ก็จำไปตลอดชีวิตนะครับ ต่อไปก็ไปเล่าให้ลูกหลานฟังได้โดยความภาคภูมิใจ


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


3. ช น ะ ค ว า ม โ ล ภ ด้ ว ย ค ว า ม อ ด ท น แ ล ะ สั น โ ด ษ

ความโลภมีหลายระดับ ความโลภอย่างหยาบ อย่างกลาง
และอย่างละเอียด ก็มีความแตกต่างกัน

ความโลภอย่างหยาบ คือ ความโลภในทางทุจริต อภิชฌาวิสมโลภะ

ความโลภอย่างกลาง คือ ไม่รู้จักพอ อยากได้ในทางสุจริต
ทำมาหากินในทางสุจริต แต่ว่าไม่รู้จักพอ ไม่มีเพดาน
อยากได้มากเกินไป เกินขอบเขต ก็ถือเป็นความโลภเหมือนกัน
แต่เป็นอย่างกลาง มันก็ไม่ดีเหมือนกัน ทำให้เราเอาเปรียบคนอื่น
ถ้าเรามีของที่เกินจำเป็นมากๆ ก็ทำให้คนอื่นที่ควรจะได้ไม่ได้
ทำให้คนอื่นเขาเสียโอกาส

ความโลภอย่างละเอียด ท่านใช้คำว่า สิทธิโลภะ
หมายถึง ความติดใจในสิ่งของที่เป็นของตัว
จิตใจหมกมุ่นพัวพันในสิ่งของที่เป็นของตัว
เช่นว่า มีเสื้อผ้าเยอะๆ ก็รู้สึกจิตใจพัวพัน
หมกมุ่นในสิ่งของที่ตัวมีอยู่ อย่างคนที่สะสมอะไรเยอะแยะเกินความจำเป็น
อันนี้ก็เป็นความโลภอย่างละเอียด ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็น

ที่เขาเล่ากันว่าสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดบวรนิเวศฯ องค์ก่อนหน้า
ท่านสมเด็จฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ท่านมีถ้วยชาอยู่ใบหนึ่งบางเหมือนใบข้าว ท่านก็ใช้อยู่เป็นประจำ
วันหนึ่ง เด็กไปทำแตก ก็วันต่อมาก็เอาถ้วยชาอีกใบเข้าไป ตัวสั่นเชียว กลัวท่านดุ
ท่านถามว่าใบที่ใช้เป็นประจำไปไหน ก็ตอบว่าแตกเสียแล้ว เอ้อดี! หายห่วงไปที

อาจารย์ทองขาว เล่าว่า

“เรื่องนี้ผมก็เคยประสบกับตนเอง ท่านอาจารย์เมื่อตอนเป็น เณรอยู่ที่สุพรรณฯ
อาจารย์ที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เล็กๆ ท่านจะมีป้านน้ำชาอยู่ใบหนึ่ง ท่านรักมาก
ป้านใบอื่นชงชาแล้วไม่อร่อย ต้องใบนี้
เช้าขึ้นมาก็ต้องไปล้างแล้วเอามาชงน้ำชาให้ท่าน ท่านบอกว่าอร่อยดี
มันอาจเป็นเพราะว่ามันเป็นป้านที่เก่า
ไอกลิ่นชา ใบชา มันก็คงเกาะอยู่ที่ตัวมันนั่นนะ
ทำให้อร่อย วันหนึ่ง ผมก็ไปล้างแล้วก็ทำหูแตก

ทั้งพระทั้งเณรในวัดก็กะแล้วว่าเณรขาวนี่ถูกตีแน่นอน ไปทำของรักของหวงแตก
ผมก็ตัดใจบอกว่า หลวงตาครับผมทำหูกาน้ำนี่แตกครับ
ท่านพูดคำเดียวบอกว่า “เออ” แค่นั้นก็จบ ก็แสดงว่าท่านก็คงละได้”

เข้าถึงครับ ว่าสิ่งนี้มีความแตกเป็นธรรมดา


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


4. ช น ะ ค ว า ม ก ลั ว ด้ ว ย ค ว า ม ก ล้ า ห า ญ

ที่ควรจะวินิจฉัยก่อนก็คือ ความกลัวเป็นสัญชาตญาณ อย่างหนึ่งของทั้งคนและสัตว์
ดังสุภาษิตโบราณที่ว่า อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ
อาหารการกิน การนอน ความปลอดภัย แล้วก็การสืบพันธุ์
อันนี้เป็นสามัญทั่วไปแก่สัตว์ทั้งปวง
สามญฺเมตมฺปสุภิ นิรานํ ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส ธมฺเมน หีนา ปสุภิ สมานา
ธรรมนั้นแหละที่ทำให้คนและสัตว์แตกต่างกัน
คนที่เสื่อมจากธรรมหรือคนที่ไม่มีธรรม ก็เสมอกันกับสัตว์เดรัจฉาน

ความกลัวนี่ถือว่า เป็นสัญชาตญาณ หรือว่าเป็นพื้นฐานในจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด พอเกิดมาก็รู้จักกลัวแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น นก หนู หมู แมว แม้แต่สัตว์เซลล์เดียว
เรื่องของการกลัวภัยนี่ควรจะต้องมี แม้แต่หนอนนี่เราไปถูกมัน มันก็หนีเราแล้ว
มันต่างกันแต่เพียงวัตถุทางความกลัว
ซึ่งส่วนมากก็ไม่ใช่วัตถุที่มีตัวตนจริง เป็นเรื่องที่จิตสร้างขึ้นมากกว่า

สิ่งที่จิตสร้างขึ้นมาให้น่ากลัวมันอยู่นานกว่าสิ่งที่มีตัวตนจริงๆ
และทรมานจิตใจคนได้มากทีเดียว
วัตถุแห่งความกลัวที่มีตัวตนจริงๆ กับสิ่งที่จิตสร้างขึ้น
เช่น เสือ มันมีตัวตนจริงๆ งูหรือสัตว์ที่น่ากลัว
คนที่น่ากลัว มันเป็นวัตถุที่น่ากลัว

แต่ว่ามันมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น ที่ยั่งยืนก็คือสิ่งที่ไม่มีตัวตน
หรือ ว่าคนสร้างขึ้น จิตมันสร้างขึ้นให้น่ากลัว
แต่ละคนจะสร้างสิ่งที่น่ากลัวขึ้นมาในใจของตัว แล้วก็สิ่งนี้จะอยู่นานมาก
เช่น คนกลัวว่าจะไม่ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง
กลัวว่าคนโน้นจะเข้าใจผิด กลัวว่าคนโน้นจะไม่รัก
กลัวว่าเงินเดือนจะไม่ขึ้น กลัวอนาคตแก่แล้วจะไม่มีคนเลี้ยง
กลัวอะไรไปสารพัดอย่าง บางคนไปเบิกเอาทุกข์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน
ก่อนเรื่องยังมาไม่ถึงไปวิตก ไปกลัว เอาทุกข์ที่ยังไม่มีมาถมตน
ความกลัวมันก็มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย
ส่วนดีก็ทำให้รู้จักป้องกัน บางทีก็กลัวทำให้มีการประกันภัย ก็มีส่วนดีบ้างเหมือนกัน

ส่วนดีคือ ถ้าหากว่า มีสติสัมปชัญญะ
จะทำให้เกิดความไม่ประมาท จะทำให้มีการป้องกัน เช่น กลัวน้ำท่วม
ก็ช่วยกันป้องกันสาเหตุของน้ำท่วม คือ ช่วยป้องกันอะไรที่จะเป็นเหตุให้น้ำท่วม
นี่ก็เพราะความกลัวป้องกันไว้ก่อน กลัวว่าไฟจะไหม้บ้าน ก็เตรียมเครื่องฉีดดับเพลิงไว้
เตรียมเครื่องมือ เตรียมน้ำไว้

ส่วนเสียนี่ทำให้ตระหนกเกินไป วิตกกังวลเกินไป
ก็เป็นภัยต่อความสุขสำราญในชีวิตประจำวัน
ทางจิตวิทยาท่านบอกว่า สิ่งที่คนกลัว 90% ไม่เกิด
มันจะเกิดอย่างมากก็เพียงแค่ 10%
ทีนี้อีก 90% เราวิตกกังวลไปเปล่าๆ
บางคนไม่ขึ้นเครื่องบิน เพราะว่ากลัวเครื่องบินตก
แต่โอกาสที่เครื่องบินจะตก เราบอกว่า แสนเที่ยวจะมีสักเที่ยวหนึ่ง
สถิติก็คือ ลักษณะอย่างนั้น แต่ว่า บางคนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน
อย่างนักฟุตบอลฮอลแลนด์คนหนึ่งจะไปไหนต้องขับรถไป
เพราะไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน กลัวเครื่องบินตก
มีท่านผู้ใหญ่คนหนึ่ง ตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว เป็นนายทหารผู้ใหญ่
ท่านไม่ค่อยขึ้นเครื่องบินเหมือนกัน ท่านกลัวตก
แต่ว่าถ้าไปเมืองนอกท่านก็ขึ้น ต้องแข็งใจขึ้น

ความกลัวที่เกินเหตุไปนั้น มันก็วิตกกังวลเกินเหตุไป
มันเป็นภัยต่อความสุขสำราญในชีวิตประจำวันของเรา
ทีนี้มามองดู เด็กๆ เด็กๆ จะกลัวความมืด เด็กกลัวโดยไม่มีเหตุผลนะครับ
เพราะเด็กยังไม่มีเหตุผล ก็จะกลัวความมืด กลัวเสียงดัง
กลัวคนที่ทำท่าทางแปลกๆ เด็กยังแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับสิ่งที่หลอก
ก็เลยกลัวอะไรไปสารพัดอย่าง ถ้าเผื่อผู้ใหญ่ไปกลัวอะไรที่ไม่ควรกลัว
มันก็แสดงว่ามีความเป็นเด็กอยู่มาก

ความกลัวสูงสุดของสัตวโลกดูเหมือนว่า จะกลัวตาย
ท่านบอกว่าคนที่ไม่กลัวตายมีอยู่ 2 พวก คือ พระอรหันต์กับสัตว์อาชาไนย
สัตว์อาชาไนยก็ขยายแยกออกมาเป็นพวกช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย
โคอุสุภราช บุรุษอาชาไนยก็พระอรหันต์
ท่านอธิบายว่าพระอรหันต์ท่านละสักกายทิฏฐิแล้ว
ละอุปาทานในตัวตนได้แล้ว ก็เลยไม่กลัวตาย
สัตว์บางจำพวกนั้นตรงกันข้ามคือว่า มันมี สักกายทิฏฐิมาก
มีความทะนงตนมาก ก็เลยกลัวตาย
แต่ว่าที่สุดกับที่สุดไปทั้งสองจำพวกนี้ พระอรหันต์เป็นที่สุดข้างหนึ่ง

ชีวิตนั้นเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ
ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา ทำตนให้เป็นเครื่องเปรียบแล้ว
น หเนยฺย น ฆาตเย ไม่ควรฆ่าเองและไม่ควรให้คนอื่นฆ่ากัน
ชีวิตเป็นที่รัก ฉะนั้น เมื่อความตายเป็นการสูญเสียชีวิต
สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวตาย แต่ว่าชีวิตไม่ใช่อย่างเดียวกับความทุกข์
และก็ไม่ใช่ต่างหากจากความทุกข์เสียทีเดียว
คือ บางทีคนก็กลัวทุกข์ เพราะว่าความตายเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แล้ว
คนก็กลัวทุกข์ ก็เลยมีชีวิตอยู่แล้วก็กลัวว่า ชีวิตจะมีความทุกข์
มันไปพัวพันเข้ากับความตาย ความตายเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์อย่างหนึ่ง
แล้วชีวิตกับความทุกข์ มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน
แต่ ก็ไม่ใช่ต่างหากจากกันเสียทีเดียว
แต่เพราะอาศัยชีวิต ความทุกข์จึงเกิด
มันเหมือนคลื่นกับน้ำ ไม่ใช่อย่างเดียวกันและไม่ใช่แยกจากกัน

ทีนี้มองดูชีวิต ชีวิตเป็นปัจจัยธรรม มีกิเลสเป็นปัจจัย
คือ ความทุกข์จึงเกิดขึ้นมี 3 ตัว มีปัจจัยธรรม คือตัวตั้ง ปัจจัย
คือตัวประกอบ แล้วก็ปัจจยุปันนธรรมคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย
เช่น ว่าน้ำเป็นปัจจัยธรรม ลมเป็นปัจจัย
แล้วพอรวมกันก็เกิดคลื่นขึ้นมาเป็นปัจจยุปันนธรรม อันนี้ก็เหมือนกัน
ชีวิตเป็นปัจจัยธรรมเป็นตัวตั้ง กิเลสเป็นปัจจัย
พอมีกิเลสความทุกข์ก็เกิดขึ้น ความทุกข์เป็นปัจจยุปันนธรรม
มันเกิดขึ้นตามปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยมันไม่เกิด
ดังนั้น ชีวิตของพระอรหันต์จึงไม่มีความทุกข์ทางใจ
เพราะ เหตุที่ไม่มีปัจจัยให้เกิด ไม่กลัวความทุกข์
แล้วก็ไม่กลัวตาย ไม่กลัวทุกข์ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอะไร
เพราะว่าปัจจัยที่จะทำให้กลัวมันไม่มี

ความทุกข์กับชีวิตสัมพันธ์กันแบบสังโยชน์
ไม่ใช่สัมพันธ์แบบสมวาย (สะ-มะ-วาย)
คำว่า สัมพันธ์แบบสังโยชน์คือว่า แยกกันได้
เช่น เก้าอี้กับคนนั่งเก้าอี้ นี่สัมพันธ์แบบสังโยชน์
บางอย่างมันสัมพันธ์กันแบบสมวาย คือ แยกไม่ได้
เช่น กลิ่นกุหลาบกับดอกกุหลาบ เลือดกับเนื้อ มันแยกไม่ได้
เจาะเนื้อเข้าไปตรงไหน ก็เจอเลือดทุกแห่งเลย
ตัดเนื้อออกมาก็ติดเลือดออกมาด้วย
เหมือนกลิ่นกุหลาบกับดอกกุหลาบ
เราจะเอาเฉพาะกลิ่นของกุหลาบมาไม่ได้
มันต้องมีทั้งกลิ่นทั้งดอกอยู่ด้วยกัน
ทีนี้ของคนปุถุชน มันจะต้องเป็นอย่างนี้
คือ ชีวิตกับความทุกข์มันต้องสัมพันธ์กันไป
อย่างนี้ส่วนมาก จะทำอย่างไร ก็จะต้องให้รู้ตามความเป็นจริง
แล้วก็เดินตามรอยของพระอริยะ ตามรอยของพระอรหันต์
ทุกข์จะน้อยลง ถึงจะมีอยู่บ้างแต่จะน้อยลง

ปัญหาต่อไปว่าจะเอาชนะความกลัวได้อย่างไร

ในหัวข้อนี้บอกว่าเอาชนะความกลัวด้วยความกล้าหาญ
แต่ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะกล้าหาญ ตอบว่า ขอให้หลักย่อๆ เอาไว้นะครับ

1. สร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยึดไว้เป็นที่พึ่ง
เช่นว่า คุณความดีจะคุ้มครองเรา เพราะเรายึดความดี ไว้เป็นที่พึ่ง
ก็ให้มั่นใจว่าคุณความดีจะช่วยเรา ฉะนั้น ความกล้า ก็เกิดขึ้น ไม่กลัว
ความกล้าที่จะทำสิ่งที่ควรทำก็เกิดขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยึดไว้เป็นที่พึ่ง
ใครที่เห็นอะไรเป็นที่พึ่งได้ยึด สิ่งนั้นเอาไว้เชื่อมั่น

2. อย่าคิดถึงสิ่งที่กลัว
กลัวสิ่งใดก็อย่านึกสิ่งนั้น ให้นึกอย่างอื่น ส่งใจไปที่อื่นเสีย
คือ เมื่อกำลังนึกถึงสิ่งอื่น ไม่นึกถึงสิ่งที่กลัว
เช่น คนขับรถไม่เป็น ไม่กล้าขับรถ
แต่พอเข้าที่คับขันเข้า วันหนึ่ง ลูกป่วยไม่มีใครอยู่ต้องส่งโรงพยาบาลทันที
เกิดขับรถได้ขึ้นมา เพราะเวลานั้นไม่ได้คิดถึงอะไรแล้ว ไม่กลัวอะไรแล้ว
นึกแต่ว่าจะส่งลูกไปโรงพยาบาลอย่างไรทัน แต่ทีนี้ขากลับขับไม่ได้
เวลานั้นไม่นึกถึงสิ่งที่กลัว ใจมันไปนึกถึงสิ่งอื่น
อีกตัวอย่างนะครับคนที่กลัวผี กลัวผีไม่กล้าเดินผ่านป่าช้า
เกิดไปรักผู้หญิงขึ้นมา ทางไปบ้านผู้หญิงต้องผ่านป่าช้า
กล้าเดินไปหาทุกวัน เพราะว่าใจมันไปนึกอยู่ที่คนโน้น ไม่ได้นึกถึงผี

ในธชัคคสูตร พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถึงภิกษุที่อยู่ป่า แล้วก็กลัว
ท่านให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เล่าถึง เทวาสุรสงคราม เทพกับอสูรรบกัน
ท้าวสักกะท่านให้ดูธง ให้ดูยอดธง ไว้เป็นกำลังใจ
เขาดูยอดธงก็ไม่กลัวฉันใด
ภิกษุทั้งหลายเมื่อเกิดความกลัว ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ
ถ้ายังไม่หายก็ระลึกถึง พระธรรมคุณ
ถ้ายังไม่หายก็ระลึกถึงพระสังฆคุณ ก็จะหายกลัว
ก็คือ เอาใจไปไว้ที่อื่น ไม่ไว้ที่ผีหรือที่ความกลัว

3. กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว
ที่เขาบอกว่า เสือดุให้เข้าใกล้ บางคนไม่กล้าเข้าใกล้
คนดุพอเข้าไปท่านก็ไม่ดุ พูดถึงเสือ เสือมันมีคุณสมบัติพิเศษ
คือ จะกระโดดสวนทางกับลูกปืนที่ยิง มาไปหาต้นตอของปืน
แต่สุนัขมันจะกัดปลายไม้ที่แหย่มัน ถ้าเป็นเสือมันจะกระโดดกัดคนแหย่
มองดูก็เห็นข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ 2 ประเภทนี้ในการแก้ปัญหา
ก็มาเทียบดูกับคนคนโง่กับคนฉลาด
ในการแก้ปัญหาคนฉลาดจะแก้ไปที่ต้นตอเลยทีเดียว
เหมือนเสือกระโดดเข้าหาต้นตอของลูกปืน ไม่รีรอ แต่คนโง่จะแก้ที่ปลายเหตุ
เหมือนสุนัขที่ถูกแหย่แล้วก็ไปกัดปลายไม้
หรือเรารู้สึกร้อนเพราะว่าเรามีกองไฟอยู่ใกล้ๆ
เสร็จแล้วเราก็เอาน้ำมาราดอยู่ที่ในห้อง
ราดเท่าไรความร้อนก็ไม่ลดลง เพราะว่าไม่ได้ไปราดที่ต้นตอของมัน
แต่ถ้าไปราดที่กองไฟ เดี๋ยวก็เย็น
ทำนองนั้น การแก้ปัญหาถ้าเป็นปัญหาสำคัญ
เราไม่ไปแก้ที่ต้นตอ เราไม่ไปแก้ที่จุดกำเนิดมันก็อีรุงตุงนัง
แก้แล้วมันก็เกิดขึ้นมาอีก ถ้าถอนต้นอุตพิดทิ้ง กลิ่นมันก็หายไป
ทีนี้ถ้าเรามัวเอากลิ่นอื่นมากลบ ไอ้ต้นอุตพิดมันยังอยู่

ผมขอยกตัวอย่างพุทธจริยาหน่อย ในภยเภรวสูตร
พระสูตรที่แปลว่า พระสูตรที่น่ากลัว
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเอาไว้ว่าเมื่อยังไม่ตรัสรู้
พระองค์ทรงเสพเสนาสนะป่า แล้วก็ทรงสะดุ้งกลัวในบางคราว
ทรงมีวิธีฝึกให้หายกลัว โดยยืนอยู่ที่ใด นั่งอยู่ที่ใด
เมื่อรู้สึกกลัวก็จะยืนอยู่ตรงนั้นจนกว่าจะหายกลัว
เดินอยู่ที่ไหน เกิดความกลัวก็จะเดินอยู่ตรงนั้น
นั่งอยู่ตรงไหนเกิดความกลัวก็จะนั่งอยู่ตรงนั้น จนกว่าจะหายกลัว
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า ฝึกลงไปตรงๆ เผชิญหน้ากับความกลัวตรงๆ

อะไรคือต้นเหตุหรือมูลเหตุสำคัญของความกลัวก็คือ

อุปาทานซึ่งแตกตัวออกมา เป็นกามบ้าง เป็นความรักบ้าง
เป็นสิ่งที่รักบ้าง เป็นตัณหาบ้าง อย่างพระพุทธพจน์ที่ว่า
ความกลัวเกิดจากกาม ความกลัวเกิดจากสิ่งที่รัก
ความกลัวเกิดจากความรัก ความกลัวเกิดจากตัณหา

ถ้าจะตัดต้นเหตุของความกลัวจะทำอย่างไร

ถ้ามีกำลังพอก็ตรงเข้าตัดที่ต้นเหตุเลย เช่น ตัดอุปาทานไปเสียเลย
ตัดรักไปเลย ตัดตัณหาไปเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอก็ค่อยๆ บรรเทาให้เบาบางลง
โดยพยายามทำความดีทั้งทางโลกและทางธรรม
สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการจะทำได้
และตระหนักเสมอว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย

แล้วใจของคนผู้นั้นจะได้ที่พึ่งที่ประเสริฐ
แล้วก็จะตัดต้นเหตุของความกลัวไปได้มาก


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


5. ช น ะ ค ว า ม ท ะ น ง ต น ด้ ว ย ค ว า ม ก รุ ณ า

ความทะนงตน ก็คือ มานะ มานะในทางตำราของเรามี 9 อย่าง
แต่โดยย่อ เอาเพียงแค่ 3 ก็ได้


1. มานะว่าสูงกว่าเขา

2. มานะว่าเสมอเขา

3. มานะว่าต่ำกว่าเขา


ก็แจกไปอย่างละ 3 คือ

ตนสูงกว่าเขา สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา, เสมอเขา, ต่ำกว่าเขา

ตนเสมอเขา สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา, เสมอเขา, ต่ำกว่าเขา

ตนต่ำกว่าเขา สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา, เสมอเขา, ต่ำกว่าเขา

ก็รวมเป็น 9 พอดี เรียกว่ามานะ 9 ความทะนงตนก็มา คู่กับการดูหมิ่นผู้อื่น
มานะแล้วก็อติมานะ อยู่ในอุปกิเลส 16 มี มานะแล้วก็อติมานะ


อติมานะ คือ ดูหมิ่นผู้อื่น บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไม ตน สูงกว่าเขา
สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา จึงเป็นมานะด้วย น่าสงสัยไหมครับ
คือ โดยปกติท่านไม่ต้องการให้นำตนไปเทียบกับใคร
ไม่ต้องการให้นำใครมาเทียบกับตน
หมายความว่า เป็นตัวของตัวเอง เราคือเรา เขาก็คือเขา
ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะสูงกว่ากันโดยประการทั้งปวง
แล้วก็ไม่มีใครเสมอกันโดยประการทั้งปวง
ไม่มีใครต่ำกว่ากันโดยประการทั้งปวง
มันอยู่ที่แง่ในการเปรียบเทียบ คือ เปรียบเทียบในแง่ไหน
ถ้าเอามาตรฐานบางอย่างไปเปรียบเทียบมันก็อาจจะ ก ต่ำกว่า ข
แต่ถ้าเอามาตรฐานบางอย่างไปเทียบ ข จะต่ำกว่า ก
เช่นว่า อธิบดีกับคนถางหญ้าหน้ากระทรวง
ถ้าเอามาตรฐานในการปกครอง คือ ทางวิชาการไปอธิบดีก็เด่นกว่า
แต่ถ้าให้ไปถางหญ้าแข่งกัน
อธิบดีก็สู้คนถางหญ้าไม่ได้ ด้อยกว่าคนถางหญ้า


พอคิดได้อย่างนี้ ว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่จะเด่นกว่าผู้อื่นด้วยประการทั้งปวง
หรือต่ำกว่าผู้อื่นด้วยประการทั้งปวง อาจจะดีในบางแง่
เด่นในบางแง่ ด้อยในบางแง่
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อติมานะจะหมดไป จะไม่มี
อย่างคนขับรถเมล์เราไปขับอย่างเขาก็ไม่ได้
มันต้องมีคนอย่างนั้นอยู่ คนกวาดถนน คนขนขยะ
เว้นแต่ว่าใครจะไปอยู่ตรงนั้น
คือ ให้มองว่าแต่ละคนเขาก็มีความสำคัญของตัวเอง
เมื่อเรามองเห็นความสำคัญของคนอื่นเราก็ไม่ไปดูถูก
ไม่เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

ฉะนั้น ถ้าจะให้เอาชนะความทะนงตนแบบนี้
ก็ต้องใช้ธรรมะข้อ 1 คือ ความกรุณา เข้าใจ เห็นใจผู้อื่น
เปรียบว่าในบ้านถ้าจะสะอาดมันต้องมีไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว
แต่พอถึงเวลารับแขก เราก็เอาดอกกุหลาบมาวางบนโต๊ะสวยๆ
สิ่งที่ทำให้โต๊ะสะอาด คือ ผ้าขี้ริ้วกับไม้กวาด
แต่ผู้ที่ออกหน้าคือ ดอกกุหลาบ ก็ไม่ใช่ว่าผิด
แล้วก็ผ้าขี้ริ้วจะประท้วงดอกกุหลาบไม่เห็นทำอะไร
พอถึงเวลาก็มาออกหน้า มันคนละอย่างคนละหน้าที่

ในปัจจุบัน บางทีผ้าขี้ริ้วอยากเป็นดอกกุหลาบ
ดอกกุหลาบอยากเป็นผ้าขี้ริ้ว ทีนี้ในเรื่องของการถือตัว
บางทีเราก็สอนกันว่า
“ลูกเอ๋ย เราจะต้องเรียนให้สูงๆ เพื่อจะเป็นเจ้าคนนายคน”
ลักษณะนี้สอนให้เป็นคนถือตัวหรือเปล่า

ที่จริงอันนี้เอากิเลสไปล่อนะครับ คือ เอาตัวมานะไปล่อข้างหน้า
ในภาษาไทยก็ใช้คำว่า มานะพยายาม
จริงๆ ไม่ค่อย ถูกนักถ้ามองในแง่ของทางธรรม
แต่มันก็เอามาใช้ประโยชน์ให้มีความเพียรพยายาม
แล้วก็เอาตัวนี้ไปล่อเอาไว้เป็นเหยื่อ

เหมือน กับตอนที่เด็กๆ เล่นกัน ที่บอกว่า เต่าไม่ไปเอาไม้แหย่ตูด
เต่าไม่พูดเอาตูดลนไฟ ก็หมายความว่า เต่าปกติมัน จะไม่เดิน
ก็เอาไม้ไปแหย่ตูด มันก็จะรีบเดิน เอาของร้อนไปลน
เพราะฉะนั้น คนเราถ้าไม่ขยัน ก็ต้องเอาอย่างนี้เข้ามาพูด
เพื่อให้เกิดความตั้งใจ ความมานะที่จะเรียน
หรือต้องการมีความตั้งใจที่จะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง
คือเอาเหยื่อไปล่อ เอาเหยื่อไปเป็น motive เป็นแรงเร่ง แรงจูงใจ
ที่จริงถ้าสอนกันทางแนวพุทธ ไม่ต้องสอนแบบนั้นก็ได้
สอนให้เขารีบทำความเพียร รีบทำความดี
เขาจะได้เป็นตัวของตัวเอง เขาจะได้มีความสุข
ทำนองนี้ก็ได้ ไม่ต้องเป็นเจ้าคนนายคนก็ได้

มี พระเถระอยู่รูปหนึ่ง ตอนนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว
ตอนนั้นท่านเป็นพระครู ท่านเจ้าคณะภาคเรียกท่านมา
ท่านก็บอกให้ทำอย่างนั้นๆ แล้วผมจะให้เป็นเจ้าคุณ
เป็นพระราชาคณะในสมัยหน้า ท่านลุกขึ้นบอกว่า
จะใช้อะไรผมก็ใช้เพราะว่า ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา
อย่าเอาของพวกนี้มาล่อ ท่านพูดตรงๆ เลย

มีเจ้าคณะจังหวัดอยู่รูปหนึ่ง ท่านอยู่ทางภาคใต้ ก็มี
สามเณรลามาเรียนที่กรุงเทพฯ
ท่านก็บอกว่า ไปก็เรียนไม่สำเร็จหรอก
ท่านพูดอย่างนี้ แล้วสามเณรก็จำไว้ตลอด
เวลาท้อทีไรก็นึกถึงคำนี้ ก็เรียนไปๆ
เรียนได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค
เพราะนึกถึงคำที่ว่าไปก็เรียนไม่สำเร็จ
เกิดความวิริยะ เกิดความมุขึ้น มานะจะเอาชนะคำปรามาสให้ได้

ผมขอพูดถึงความกรุณาต่อไป
ที่ว่า เอาชนะความทะนงตน ด้วยความกรุณา
คนที่มีมานะทะนงตน และคนที่มีอติมานะ
คือ ดูถูกผู้อื่น เพราะว่าขาดความกรุณา
ผู้ที่เปี่ยมด้วยความกรุณาจะมีจิตใจอ่อนโยนต่อคนทั้งปวง
แม้ในคนชั่วหรือคนบาป ท่านก็มีใจกรุณา
ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ไม่ดูหมิ่น ไม่เหยียดหยาม

ตัวอย่าง ในพรหมวิหารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ท่านพูดถึงเอาไว้ตอนที่ว่าด้วยกรุณาพรหมวิหาร
ท่านสอนว่า “พึงแผ่กรุณาไปยังบุคคลผู้ตกยากก่อน
ถ้าไม่มีบุคคลเช่นนั้นก็แผ่ไปยังบุคคลที่ทำชั่ว คนบาป
ท่านว่าคนเช่นนั้น แม้มีอาการภายนอกเสมือนหนึ่งว่ามีความสุข
แต่ที่แท้แล้วเขามีความทุกข์ที่ควรได้รับความกรุณา”

เปรียบเหมือนโจรปล้นทรัพย์ที่กำลังจะถูกฆ่า
แม้จะประดับประดาไปด้วยพวงดอกไม้และของหอม
หรือมีคนนำโภชนะที่ประณีตมาให้ก็ตาม แต่โจรนั้นก็ไม่มีความสุข

ฉะนั้น คนที่มีความกรุณามาก จึงสามารถเอาชนะคนที่มีความทะนงตนได้
แม้ผู้อื่นจะต่ำต้อยกว่าก็ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามเขา
คอยหาทางช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์อยู่เสมอ
นี่เอาชนะความทะนงตนด้วยความกรุณา
“การที่ทำอะไรด้วยความกรุณา
ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ด้วยความอดทน
ทีนี้ถ้าไม่สำเร็จด้วยกำลังของเรา
ก็จะสำเร็จด้วยกำลังของผู้ที่มีกำลังมากกว่า ซึ่งมีความกรุณาต่อเรา”

เพื่อประกอบเรื่องนี้ ผมขอเล่าเรื่องหนึ่ง นานมาแล้วมีคนจีนชื่อ ยือคุง
เป็นคนแก่ที่โง่เขลา ใช้ชีวิตอยู่ในเทือกเขาสูง
ยากลำบากอยู่ระหว่างภูเขาไทจิงและหว่างหู

วันหนึ่ง เขาเรียกคนทุกคนในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนรวมกำลังกัน
เพื่อมีกำลังเข้มแข็งทำการเคลื่อนย้ายภูเขา ทุกคนเห็นด้วย
เริ่มขุดดินทันที ทุบหินแล้วก็ขนหิน ก้อนหินทั้งหมดไปทิ้งทะเล
ต้องใช้เวลาเดินทางไปถึง 1 ปี ระหว่างภูเขากับทะเล
ระหว่างทาง ยือคุงผ่านที่อยู่ของทิเชา ชายแก่ผู้ฉลาด ได้บอกเขาว่า
เขาคงจะมีอายุไม่ยืนยาวนัก
หมายถึง ยือคุงมีร่างกายที่อ่อนแอเกินไปไม่แข็งแรง
งานที่เขาทำก็จะเป็นการเสียเวลาสูญเปล่า

ยือคุงตอบว่า “คนปราดเปรียวทั้งหลายเช่นท่าน ล้วนมีความเห็นเช่นนี้ทั้งนั้น
แต่ความสำเร็จอาจไม่เกิดในช่วงชีวิตของข้าพเจ้า
ถ้าลูกหลาน ลูกของหลาน เหลนของหลาน เหลนของเหลน
จะทำงานนี้ต่อไปไม่หยุดด้วยความขยันหมั่นเพียร
ก็จะบรรลุจุดมุ่งหมาย บรรลุจุดหมายปลายทางในวันหนึ่งข้างหน้า

มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ จะไม่มีภูเขาใหม่งอกขึ้นมาแทนภูเขาเก่า”

เทวดาสองตนที่สิงสถิตอยู่ที่ภูเขาทั้งสอง
ได้ยินคำนี้รู้ถึงความตั้งใจจริงของยือคุง
เป็นสัญญาณบอกว่า ที่สิงสถิตของเทวดาพังแน่
เทวดาจึงขอให้จอมเทพในสวรรค์คือ ท้าวสักกะช่วย
ท้าวสักกะเห็นใจเทวดาแล้วก็เคารพจิตใจที่แน่วแน่ของยือคุง
จึงมีเทวบัญชาให้เทวดาที่มีพลัง
ย้ายภูเขาไปไว้ที่ห่างไกลเพื่อความปลอดภัย

ชื่อยือคุงชายชราผู้โง่เขลานี้
ไม่ทราบว่าจะเป็นคำประชด ประชัน แดกดันหรือไม่
จริงๆ แล้วเขามีสติปัญญามองเห็นว่า สิ่งที่น่าจะสูญเสียกำลังเปล่า
ถ้ามองในระยะยาวจะเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
คือว่า มีวิสัยทัศน์กว้างไกลยาวไกล
การยืนหยัดความเพียร พยายามหรือความบากบั่นที่แท้จริงด้วยความกรุณา
อยู่เหนือการทนทุกข์ในปัจจุบัน
ยือคุงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่ลุ่มลึกประเภทหนึ่ง
อันนี้ขอให้ท่านผู้ฟังโปรดจำให้ดีนะครับว่า
ยือคุงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่ลุ่มลึกประเภทหนึ่ง
บุคคลประเภทยือคุงนี้ มีความสามารถมั่นคงที่จะดำเนินชีวิต
ไปให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการตระหนักรู้
ว่างานของเขาจะนำไปสู่ความหมายนิรันดร
โดยไม่สนใจประโยชน์ผิวเผิน หรือประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นอย่างไร

คนส่วนมากจะมองแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า
ถ้ามองไม่เห็นประโยชน์เฉพาะหน้าก็จะไม่ทำ
แต่คนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บางทีดูเหมือนว่าวันนี้จะไม่ได้อะไร
หรือตอนนี้จะไม่ได้อะไร แต่อนาคตที่ยาวไกลจะได้สิ่งที่ดีงาม

ผม ขอย้อนกลับมาข้อความที่ว่า
ถ้าเราทำอะไรด้วยความกรุณา ด้วยความอดทน
ถ้าไม่สำเร็จด้วยกำลังของเรา ก็จะสำเร็จด้วยกำลังของคนที่มีกำลังมากกว่า
ที่มีความกรุณาต่อเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่า เห็นความตั้งใจจริง
ความยืนหยัด การไม่ยอมแพ้ต่อความตั้งใจที่ดีของเรา


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 16:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


6. ช น ะ โ ร ค ภั ย ไ ข้ เ จ็ บ ด้ ว ย ค ว า ม พ อ ป ร ะ ม า ณ ใ น ทุ ก ๆ อ ย่ า ง

มี สุภาษิตที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งว่า “โรคภัยเข้าทางปาก ทุกข์ภัยออกจากปาก”
ทำไมโรคภัยเข้าทางปาก คือ คนไม่ระวังปาก คือ กินไม่เลือก กินไม่พิจารณา
เห็นแก่กิน ก็มักจะมีโรคภัยมาก
โรคที่เกิดจากการไม่รู้จักประมาณในการกิน
ต่อมาก็ว่า ทุกข์ภัยออกจากปาก คือ ถ้าไม่สำรวมวาจา อยากพูดอะไรก็พูด
ก็มักจะมีทุกข์ภัยตามมา เพราะไม่ระวังวาจา
รวมความว่า “โรคภัยเข้าทางปาก ทุกข์ภัยออกจากปาก”
ก็เลยต้องระวังทั้งเรื่องโรคภัยและทุกข์ภัย

ผมจะพูดถึงเรื่องความไม่มีโรคก่อนนะครับ

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง” อันนี้เป็นพุทธภาษิต
อโรคยาปรมา ลาภา ก็ได้ยินกันทั่วไป
“ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง”
ที่พูดๆ กันว่า อโรคฺยา ปรมา ลาภา ไม่ถูกไวยากรณ์ ไม่ถูกภาษา
แต่ว่าพอกล้อมแกล้มไปได้ ในพุทธภาษิต จริงๆ หมายถึง โรคทางใจ
ต่เราเอามาใช้ในความหมายของโรคทางกายกันหมดแล้ว
ผมขอเล่าประวัติความเป็นมานิดหนึ่ง

ที่โรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชะ
พระพุทธเจ้าประทับบนกองหญ้าในโรงบูชาไฟนั้น
ซึ่งอยู่ที่นิคมชื่อกัมมาสธัมมะ ในแคว้นกุรุ
ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในชายป่า
ประทับ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง ครานั้น มาคัณฑิยปริพาชก เดินเที่ยวเล่นอยู่
เข้าไปในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชะ
เห็นที่นั่งที่ทำด้วยกองหญ้าแล้ว
ทักว่าคงจะเป็นที่นั่งของสมณพราหมณ์ ภารทวาชะตอบว่า
“เป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นพระอรหันต์”

ผมขอแวะตรงนี้หน่อย คือ ที่นั่งของผู้ที่มีศีลธรรม เขา เรียกว่า ทิพยอาสน์
ถ้าที่นั่งของผู้ที่ได้ฌานก็เป็นพรหมอาสน์
ที่นั่งของพระอริยะผู้ละกิเลสได้ ตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์
ท่านเรียกว่า อริยอาสน์ ฉะนั้น อย่างพระพุทธเจ้า พระองค์จะประทับนั่งอยู่ที่ไหน
ก็เป็นทั้งทิพยอาสน์ เป็นทั้งพรหมอาสน์ เป็นทั้งอริยอาสน์
แม้พระองค์จะนั่งบนกองหญ้าก็เป็น

ทีนี้ที่ว่าพราหมณ์ภารทวาชะตอบว่า เป็นที่นั่งของพระสมณโคดม ผู้เป็นพระอรหันต์
ตรงนี้ขอย้ำอีกทีนะครับว่า ให้อ่านออกเสียงว่า พระ-อะ-ระ-หัน
ถ้าออกเสียง ออ-ระ-หัน แล้ว ก็ไม่มี ต์ ด้วย
ก็จะเป็นสัตว์ในนิยายชนิดหนึ่งมี 2 เท้า มีปีก หัวเหมือนคน
ในความหมายอีกความหมาย หมายถึงผู้วิเศษ
แต่ไม่ใช่แบบพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนานะครับ

ที่นี่แหละครับที่พระพุทธเจ้าสนทนากับปริพาชก เรื่องความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันจะนำไปสู่อมตธรรม
มีองค์ 8 เป็นทางที่ประเสริฐ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้
ปริพาชกก็ทูลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งเป็นต้นนี้
เขาเคยได้ยินมาจากปริพาชกชั้นอาจารย์มาแล้วเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ในความนั้นท่านเข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร”
ปริพาชกเอามือลูบตัวแล้วทูลว่า “ความไม่มีโรคคืออย่างนี้” (คือไม่มีโรคทางกาย)
บัดนี้เขาเป็นผู้ไม่มีโรคมีความสุขดีอยู่

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า “เปรียบไปก็เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เคยเห็นอะไรเลย
ต่อมาได้ยินคนพูดถึงผ้าสีขาว เขาก็เที่ยวแสวงหาผ้าสีขาว
มีคนหนึ่งเอาผ้าขาวเทียมเปื้อนเขม่ามาลวงเขา
บอกเขาว่าเป็นผ้าขาวสะอาดบริสุทธิ์ ไร้มลทิน เขารับเอาผ้านั้นไว้ห่ม
แล้วดีใจว่าเขาได้ห่มผ้าขาวงามบริสุทธิ์
เขาเห็นเองหรือว่าเชื่อคนตาดีที่มาหลอกลวง”

ปริพาชกก็ทูลว่า “เขาเชื่อคนตาดีที่มาหลอกลวง”

“พวกปริพาชกทั้งหลายก็เหมือนกัน ไม่รู้จักความไม่มีโรค ไม่รู้จักพระนิพพาน
แต่ก็ยังกล่าวว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า

พระคาถานั้นได้กลายมาเป็นคำพูดของปุถุชนมาเรื่อยๆ
คือ แม้ปุถุชนผู้ไม่รู้ความหมายอย่างแท้จริงก็พูดต่อๆ กันมา
ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง อันที่จริงกายนี่แหละเป็นโรค
เป็นหัวฝีเป็นความลำบาก ปริพาชกจึงประกาศความเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า
และขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อให้รู้จักความไม่มีโรคและนิพพาน
พระศาสดาตรัสว่า ถ้าแสดงแล้วเขาไม่รู้ไม่เข้าใจก็เป็นการเหนื่อยเปล่า
เมื่อปริพาชกประกาศความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ขอให้ทรงแสดงธรรม จึงตรัสว่า

“บุรุษผู้ตาบอดแต่กำเนิดนั้น ต่อมาพยายามรักษาตาจน หายจากโรคแล้ว
ผ้าขาวไร้มลทินนั้นที่แท้เป็นผ้าสกปรกน่ารังเกียจ
เขาย่อมเคียดแค้นชิงชังคนที่หลอกลวงเขาถึงกับต้องการจะฆ่าเสีย

เมื่อเราแสดงธรรมว่าความไม่มีโรคเป็นอย่างนี้ นิพพาน เป็น อย่างนี้
ถ้าท่านรู้จักความไม่มีโรคและเห็นนิพพานได้
ท่านก็จะละความกำหนัดพอใจในขันธ์ 5 ซึ่งท่านยึดมั่นอยู่
ท่านจะมีความรู้สึกว่าเราถูกจิตนี้หลอกลวงให้หลงผิดมานานแล้วหนอ
จึงหลงยึดมั่น ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
เพราะมีความยึดมั่นจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่อยไป”

ปริพาชกประกาศความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ขอให้ทรงแสดงธรรมเพื่อเขาจะได้หายสงสัย
พระศาสดาตรัสสอนให้คบสัตบุรุษ คือ คนดี ฟังธรรมของคนดี นำธรรมไปปฏิบัติ
ก็จะรู้เห็นเองว่า โรค ฝี ลูกศร เป็นอย่างนี้ๆ และมันจะดับลงได้ในที่นี้
เพราะการดับอุปาทาน เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ดับตามกันไป
ทุกข์ทั้งมวลก็ดับตามกันไป กองทุกข์ทั้งมวลก็ดับลงอย่างนี้
ปริพาชกสรรเสริญพระธรรมเทศนา จึงขอบวช
เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เรื่องความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง พูดกันอยู่เสมอในพุทธบริษัทเรา
แต่ก็คงจะมีน้อยคนนักที่เข้าใจพุทธสุภาษิต หรือว่ารู้ถึงพุทธาธิบายลึกซึ้งนี้
เข้าใจกันแต่เพียงว่า การมีร่างกายที่ไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งแล้ว
แต่ในความหมายลึกๆ ของพระพุทธองค์ ก็คือ ร่างกายนั้นเองเป็นตัวโรคอยู่แล้ว
ฉะนั้น การที่ร่างกายจะไม่มีโรคเป็นไม่มี การละความกำหนัดพอใจในขันธ์ 5
มีรูป เป็นต้นนั้นต่างหาก ที่เป็นลาภอย่างยิ่ง
ข้อความเบื้องต้นที่เป็นที่มาของพระพุทธสุภาษิตก็จบแค่นี้นะครับ

การเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บด้วยความพอประมาณในทุกสิ่ง ทุกอย่าง
เลยทำให้เราได้ความรู้อย่างหนึ่งว่าแม้จะมีโรคแล้ว
ถ้าต้องการจะบรรเทาให้น้อยลง สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำก็คือว่า
ต้องพอประมาณในทุกสิ่งทุกอย่าง กินพอประมาณ นอนพอประมาณ
ทำงานพอประมาณ ทุกอย่างต้องพอประมาณ
พอประมาณก็คือ พอดีกับร่างกาย พอดีกับความต้องการ พอดีกับฐานะภาวะ
คือ พอดีกับบุคคลผู้นั้น ความพอประมาณนี่มีเฉพาะบุคคลด้วยนะครับ
พอประมาณของช้างก็อย่างหนึ่ง พอประมาณของสุนัขก็อย่างหนึ่ง


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 16:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


7. ช น ะ ค ว า ม ง่ ว ง ด้ ว ย ค ว า ม พ อ ป ร ะ ม า ณ ใ น อ า ห า ร

ก็คล้ายๆ กัน แต่นี่ระบุมาที่ความง่วง
ก็เคยมีที่ท่านสอนให้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
แล้วก็บริโภคแต่พอประมาณ ไม่น้อยจนหิว ไม่มากเกินไปจนอึดอัด
ทำอะไรไม่สะดวก แล้วก็ชวนง่วง
อย่างที่ว่าเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า คือ บรรเทาความหิว
เพื่อไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น คือ ไม่ให้ถึงกับอึดอัด
หรือที่พระสารีบุตรบอกว่า “อีก 4-5 คำ จะอิ่มก็ให้หยุด ก็ดื่มน้ำแทน”
ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่าอยู่ตลอดเวลา

เรื่อง ที่ชอบพูดถึงกันอยู่เสมอก็คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เมื่อก่อนท่านเป็นคนที่บริโภคมาก
เป็นคนอ้วนอุ้ยอ้าย อ้วนมากบริโภคมาก
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทีไรก็นั่งถอนหายใจ นั่งลำบาก
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนบอกว่า เมื่อใดบุคคลกินมากมักง่วง มักนอนหลับ
กระสับกระส่ายเหมือนหมูใหญ่ บุคคลผู้นั้นย่อมจะมึนซึมเข้าห้องนอนบ่อยๆ
เพราะฉะนั้น จึงควรมีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณ ในการบริโภคอาหาร
มีทุกขเวทนาน้อย อาหารที่บริโภคแล้วค่อยๆย่อย และต่ออายุให้ยืนนาน
นี่เป็นวิธีหนึ่งในการทำให้เป็นคนมี ทุกข์น้อย แก่ช้า และอายุยืน
คือมีสติบริโภคพอประมาณ
จะทำให้มีลักษณะอย่างที่ว่า มีทุกข์น้อย แก่ช้า อายุยืน

ต่อมาภายหลัง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอน
ก็กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงมากขึ้น
จึงทูลพระพุทธเจ้าว่า เวลานี้พระองค์สามารถวิ่งจับเสือได้แล้ว

แต่ มันค่อนข้างจะทำยากหน่อยนะครับ เพราะคนส่วนมากจะตามใจปาก
ตามใจลิ้นมานานตั้งแต่เด็ก จนเป็นหนุ่มเป็นสาวมาถึงอายุวัยกลางคน
ก็ตามใจปากตามใจลิ้น ติดในรสมาเป็นเวลานาน
และมันก็เป็นความเพลิดเพลินเป็นความสำราญอย่างหนึ่งของมนุษย์
ขอให้กินเมื่อหิว อย่ากินเมื่ออยาก

ฉะนั้น มาฝึกฝนเรื่องนี้กันบ้าง ให้ประชาชนเรามาฝึกฝนเรื่องการไม่ตามใจตนเอง
ก็จะได้ประโยชน์ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ
ถ้าเราเผยแพร่และชักชวนกันให้ดี มันจะไปได้ทั่วประเทศ
จะช่วยประหยัด คือ พอสุขภาพดี ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ
ทั้งแพทย์ทั้งพยาบาล ก็ลดไปได้หมด

เรื่อง ที่ว่าโรคภัยเข้าทางปากก็เป็นสิ่งที่ควรระวัง
แต่ทีนี้มันเป็นความสุขสำราญอย่างหนึ่งของคน
ในเรื่องการกิน ก็ชวนกันไปเลี้ยง จะนัดพบอะไรกัน ก็ต้องไปกิน ไปเลี้ยง
บริษัทต่างๆ จะตกลงความอะไรกัน ก็ต้องชวนกันไปกิน
ให้มีความสุขสำราญไว้ก่อน แล้วถึงเจรจากัน รู้สึกจะตกลงอะไรกันง่ายขึ้น


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 16:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


8. ช น ะ ก า ร ติ ด โ ล ก ด้ ว ย ก า ร พิ จ า ร ณ า ใ ห้ เ ห็ น โท ษ
ห รื อ ธ ร ร ม ช า ติอั น ชั่ ว ร้ า ย ข อ ง โ ล ก


ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญอยู่ เพราะสัตวโลกเกิดมาในโลก เหมือน กับปลาเกิดในน้ำ
ลิงเกิดในป่ามันก็ติดป่า ให้มองตามความเป็นจริง Realistic
คือว่า เรายอมรับกันไหมว่า ในโลกนี้มันมีความชั่วร้ายอยู่ไม่ใช่น้อยทีเดียว
มิฉะนั้น คนจะมีความทุกข์ได้อย่างไร
โดยทั่วไปคนจะมีความทุกข์มากกว่ามีความสุข

1. เพราะว่ามันมีธรรมชาติที่ชั่วร้ายของโลกอยู่

2. คือ คนไปติดโลก คล้ายลิงติดตัง ลิงมันซน
เห็นท่อนไม้ก็เอาตังหรือยางเหนียวไปทากับท่อนไม้ อยากจะจับเล่น
พอจับก็ไปติดมือหนึ่ง เอามือที่สองไปแกะ มือที่สองก็ไปติดอีก
เอาเท้าไปแกะก็ติดอีก เท้าที่ 4 ไปแกะก็ติดอีก
ก็ติดหมด เอาปาก ไปกัดปากก็ติดอีก
แปลว่าส่วนทั้ง 5 ก็ติด ทำนองนั้นนะครับ

ถ้าจะถามว่าคนติดโลก ติดอะไรของโลก
ก็โลกมีสิ่งยั่วยวน คือ กามคุณ กับโลกธรรม เป็นสิ่งสำคัญของโลก
กามคุณ 5 กับโลกธรรม 8 โดยเฉพาะโลกธรรม
ส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ เราไม่ได้หมายความว่า มันเป็นส่วนดี หรือเป็นส่วนไม่ดี
แต่ว่ามันเป็นส่วนที่คนต้องการ อนิฏฐารมณ์เป็นส่วนที่คนไม่ต้องการที่จะไปติด
ไปติดในส่วนที่คนต้องการคื ออิฏฐารมณ์

มีคนถามผมว่า กามไม่ดี เขาเรียกว่า กามคุณ หรือคุณของกาม
แล้วทำไมบอกว่าไม่ดี

กามคุณไม่ได้แปลว่าคุณของกาม ไม่ได้แปลว่าประโยชน์
หรืออะไรที่เป็นคุณ แต่มันแปลว่ากลุ่ม เหมือนกลุ่มด้าย
เช่น สุตตคุณ แปลว่า กลุ่มด้าย มาลาคุณ แปลว่า กลุ่มดอกไม้
กามคุณ ก็คือ กลุ่มของกาม ไม่ใช้คุณของกาม
พอถึงคราวที่จะแสดงถึงส่วนดี ของ กาม
พระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า อัสสาทะ ไม่ใช้คำว่า คุณ แปลว่า ส่วนที่น่าชื่นใจ
แต่ถ้าพูดถึงโทษ ท่านจะพูดถึง อาทีนวะ
เพราะฉะนั้น คำว่ากามคุณ ไม่ได้หมายถึงคุณของกาม บางคนเข้าใจอย่างนั้น

ก็การที่คนติดโลกก็คือ คนไปติดในส่วนที่ดีของโลก
หรือว่า เหยื่อของโลกก็คือติดกามคุณอย่างหนึ่ง
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ โลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
กามคุณ 5 ยังละได้ง่ายกว่า ลาภ ยศ

ถ้า ดูลาภสักการสังยุต ในสังยุตตนิกาย ก็จะเห็นชัดขึ้น
คือ พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงว่า สมณพราหมณ์บางพวกก็ละกามคุณไปแล้ว
แต่ว่าไปติดในลาภ ยศ ในเสียงสรรเสริญ
ปลีกตัวออกไปจากกามคุณแล้ว ก็ยังไปติดในโลกธรรม
ไปติดในลาภในยศ ในเสียงสรรเสริญ
พระพุทธเจ้าก็เน้นทั้งสังยุตเลยให้เห็นโทษของลาภ ของยศ ของสรรเสริญ

สำหรับสมณะให้เห็นให้มากๆ เลยว่าเป็นของทารุณ เผ็ดร้อน ควรจะละเสีย
นี่คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สุขที่เกิดจากลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นสุขที่ทารุณ
เป็นความสุขที่เผ็ดร้อน ที่ยังไม่เกิดก็ไม่ควรพยายามให้เกิด
นี่หมายถึงสมณะ และถึงไม่ใช่สมณะ ก็ควรจะเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน

กายนี่อาจจะปลีกออกมาจากกามคุณได้
ไม่ไปหลงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้
แต่ว่าในด้านของอิฏฐารมณ์ ก็ยังฝักใฝ่กันอยู่ เป็นสิ่งที่จิตต้องการ
จิตเข้าไปเสพแล้วก็ต้องการ ทีนี้ก็ไม่ค่อยจะเห็นโทษของมัน
แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษอยู่ก็ไม่สู้กระไร
อย่างที่ท่านใช้คำว่า อาทีนวทสฺสาวี นิสฺสรณปญฺโปริภุญฺชติ
คือ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการเห็นโทษ
มีปัญญาในการที่จะสลัดออก หมายความว่า พร้อมที่จะสลัดออกถ้าเผื่อจำเป็น
แต่ว่าถ้าจำเป็นที่จะบริโภคอยู่ ใช้สอยอยู่ก็ใช้สอยกันไป
วิธีหนึ่งที่ไม่ให้ติดโลกก็คือ “ตั้งใจไว้ ว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้”
มีก็ใช้ประโยชน์เท่าที่ประโยชน์มันมี ไม่มีก็เป็นประโยชน์อย่างที่มันไม่มี

ท่านถือว่า ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เป็นกุศล
คิดอยู่เสมอว่า ได้ก็ดีไม่ได้ก็เป็นกุศล
ขอใช้คำบาลีนิดนะครับ อลตฺถํ ยทิทํ สาธุ นาลตฺถํ กุสลํ อิติ
“ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เป็นกุศล” ให้ตั้งใจอยู่เสมอ คิดอยู่เสมอ
เป็นผู้คงที่ในการได้หรือไม่ได้
เหมือนกับคนที่เข้าไปใกล้ต้นไม้
เวลาที่ไม่ต้องการผลและไม่ต้องการอะไรๆ จากต้นไม้
จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน
อันนี้คือ ข้อความในโมไนยปฏิปทา แปลว่าเราไปอาศัยเพียงร่มเงาของต้นไม้
ส่วนผลของมันจะได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

เพื่อประกอบเรื่องนี้ขอเล่าเรื่องเด็กนะครับ
มีเด็กอยู่คนหนึ่ง พ่อเขามีเรือ แต่ไม่ใช่เรือจ้าง
เป็นเรือที่ชอบพาเพื่อนไปไหนๆ ก็ไปเรือ
แต่พ่อเป็นคนรับผิดชอบเรื่องเรือ เวลาจะไปไหนด้วยกัน
ก็มีเพื่อนฝูงไป ก็ไปลงเรือกัน พ่อก็เตรียมเรือ สำหรับลงเรือไป
พอไปเรือกันแล้วถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เพื่อนๆ ก็ลงเรือ
พ่อก็ต้องคอยดูแลเรือ คอยผูกมัดอะไร กังวลกับเรื่องเรือ
เด็กแกก็คอยสังเกตพ่อ รู้สึกว่ายุ่งกับเรือมาก
ตั้งแต่ก่อนออกเรือ พออยู่ในเรือพ่อก็ต้องแจวต้องพายไป
เพื่อนก็นั่งไป พอไปถึงแล้ว เพื่อนก็ลงจากเรือ
เขาไปกันสบายสนุกสนาน พ่อต้องกังวลกับเรื่องเรือ

วันหนึ่งเด็กถามว่า “พ่อครับ ทำไมคนอื่นเขาสบาย
เขาไม่ต้องยุ่งกับเรือ แต่ทำไมพ่อต้องยุ่งกับเรือ”

พ่อบอกว่า “ลูกเอ๋ย วิถีของเราก็เป็นอย่างนี้แหละ
คือว่า เรามี เราเป็นเจ้าของเรือ เรามีอะไรเราก็ต้องเดือดร้อนกับ
อันนั้นแหละ”

เด็กคนนี้เลยบอกว่า “พ่อครับ ต่อไปผมจะไม่มีอะไร”
แล้วท่านก็ออกบวช แล้วท่านก็ไม่มีอะไร จากตัวอย่างที่เห็นพ่อยุ่งกับเรือ

ฉะนั้น ผมถึงสรุปไว้ตรงนี้ วิธีไม่ให้ติดโลกคือตั้งใจไว้ว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้

ฉะนั้น มีก็ใช้ประโยชน์เท่าที่มันมี
ไม่มีก็เป็นประโยชน์ อย่างที่มันไม่มี
ไม่มีรถก็ดีเหมือนกันจะได้ขึ้นรถเมล์
ขึ้นรถเมล์ก็ไม่ต้องไประวังว่ามันจะหายหรือไม่หาย
ตรงนี้สำคัญนะครับที่ว่า “ไม่มีก็เป็นประโยชน์อย่างที่มันไม่มี”


มันโชคดีที่ไม่ได้ สมมุติว่าเป็นเจ้าอาวาส ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าอาวาส
ถ้าเผื่อใจไว้อย่างนี้ ถ้าเผื่อเป็นเจ้าอาวาสก็ดี จะได้ทำประโยชน์ให้กับอาวาส
เท่าที่กำลังความสามารถเรามีอยู่ ไม่ได้ก็เป็นกุศล
ไม่ได้เป็นนั่นแหละดีกว่าเป็น จะไปยึดมั่นไว้ทำไม หน่วงเหนี่ยวไว้ทำไม

ทุกวันนี้เราก็มาดูว่า ทุกคนวิ่งเต้นที่จะเป็นนั่นเป็นนี่
มันก็สวนกระแสกับที่เราพูดกัน ทุกคนอยากเป็นทหาร อยากเป็นนายพล
เป็นอธิบดี เป็นผู้อำนวยการ เขาเรียกว่า บางคนก็วิ่งกัน จนเสียเงินเสียทอง
อยากได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งลำบากลำบน
ที่มีเรื่องพูดๆ กันมานี่นะครับ เด็กของคนโน้น เด็กของคนนี้
มันก็สวนกระแสธรรม บางทีพูดไปพูดมาก็ว่า
ในวงพระสงฆ์องคเจ้า ก็ยังมี ก็พูดลามปามกันไป

ถ้ายังมีกิเลสให้อยากเป็นอยู่
ไม่ว่าในวงการไหนมันก็มีตัวผลักดันมันเป็นตัวกิเลส
ไม่ใช่ตัวรูปแบบ แต่มันเป็นที่ตัวกิเลสผลักดัน
ฉะนั้นก็ตั้งใจไว้อีกเรื่องว่า “มาก็ไม่ดีใจ ไปก็ไม่เศร้าโศก”

ถ้ามาก็มาตามเหตุของมัน ไม่ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ
ถ้ามันมาก็มาตามเหตุที่เราได้ทำเหตุเอาไว้ มันก็มา
ถ้าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา มันมาก็มาตามเหตุ
ทุกอย่างก็มีเหตุปัจจัย มันไปก็ไม่เศร้าโศก
เพราะว่ามันไปตามเหตุ ตามเหตุที่มันควรจะไป
อาย นฺตึ นาภินนฺทติ ปกฺกามนฺตึ น โสจติ สงฺคามชึ
มุตฺตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ “มาก็ไม่ดีใจ ไปก็ไม่เศร้าโศก”
คนอย่างนี้ไม่ติดโลก (เรื่องพระสังคามชิ)

ในธรรมบทจะมีที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระอรหันต์ เปรียบเหมือนนก
นกบินไปในอากาศมันจะไม่มีร่องรอยให้เห็น
ฉะนั้น คนที่อยู่กับโลก ถ้าหากว่าทำตัวให้เหนือโลก
มันก็ไม่มีอะไรเป็นร่องรอยให้กังวล
หรือว่าหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น เหมือนกับรอยเท้าไม่ปรากฏในอากาศ
น้ำไม่ติดใบบัว ใบบัวไม่ติดน้ำ ลมไม่ติดตาข่าย ตาข่ายไม่ติดลม
ลมผ่านตาข่ายได้แต่ไม่ติด
คนที่อยู่ในโลกแต่ไม่ติดโลก ก็เรียกว่า เหนือโลก เดินเหินอยู่ในโลก
แต่ก็พิจารณาเห็นโทษของโลก ก็ไม่ติดโลก ยิ้มเยาะโลกได้

ธรรมดา โลกมันหมุนไปสู่ความยุ่งเหยิงเสมอ
ถ้าใครเอาใจไปเกี่ยวข้องกับโลก ไม่ถอยออกมาจากโลกแล้ว
ก็พลอยยุ่งเหยิงกับมันไปด้วย อาศัยธรรมช่วยให้โลกมันยุ่งเหยิงน้อยลง
ถ้าไม่มีธรรมะโลกมันจะยุ่งเหยิงตลอดเวลา มันจะยุ่งมากขึ้น

ผมขอเรียนให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายลองอ่าน โมไนยปฏิปทา ดีมากเลยครับ
มีพระเถระรูปหนึ่งในศาสนาพุทธของเรานี้ คือ ท่านนาลกะ
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าเป็นเอตทัคคะทางโมไนยปฏิปทา โมไนยปฏิบัติ
เป็นผู้ปฏิบัติอย่างมุนี มุนีแปลว่า ผู้รู้ แปลว่า นักปราชญ์
แต่ว่าท่านมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติ มุนีสำหรับผู้เป็นโมไนยยะ โมไนยปฏิปทา
ถ้าท่านต้องการอ่าน รายละเอียด พระไตรปิฎก เล่มที่ 25 ข้อ 388 ชื่อนาลกสูตร
ใน สุตตนิบาต ขุททกนิกาย
โมไนยปฏิปทา หมายถึง ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี
แล้วก็ท่านผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นปฏิปทานี้ เป็นพิเศษ
คือ ท่านนาลกะ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เอตทัคคะในด้านทางนี้
ถ้าเผื่ออ่านตรงนั้นก็จะได้ความที่ดีมาก เป็นแนวปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนีที่ประเสริฐ

ผมขอยกตัวอย่างบางตอน เมื่อกี้พูดไปข้อหนึ่งแล้วว่า
ให้คิดอยู่เสมอว่า “ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เป็นกุศล ไม่ใบ้ทำเป็นเหมือนใบ้
ไม่หมิ่นทานว่าน้อย ไม่ดูแคลนผู้ให้ บริโภคปัจจัยอย่างระวัง
เหมือนเลียหยาดน้ำผึ้งจากมีดโกนด้วยความระมัดระวังเกรงจะบาดลิ้น
รักษาจิตให้พ้นจากกิเลสในการบริโภค
บรรเทาความอยากในรส เป็นผู้สำรวมอาหารในท้อง
คือ ไม่เสพปัจจัยที่เกิดในทางอันเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่ชอบธรรม”


มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากในข้อนี้
คือว่า ให้พิจารณาสัญญา 10 อยู่เสมอ
ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ให้พระอานนท์ไปแสดงกับพระคิริมานันทะ
ในพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่า อาพาธสูตร
ถ้าไปหาคิริมานันทะในพระสูตรจะไม่เจอ
ท่านใช้ อาพาธสูตร ในทสกนิบาต อังคุตรนิกาย เล่มท่ี่ 24
ท่านก็ให้พิจารณาสัญญา 10 อยู่เสมอ

อันนี้สำคัญมาก ทำให้สุขภาพจิตดี ทำให้ไม่ติดโลก ได้แก่

1. นึกถึงความไม่เที่ยงอยู่เสมอ ทุกอย่างมันไม่เที่ยง
ไม่ต้องไปกังวลกับมัน มันไม่เที่ยงไม่อยู่หรอก

2. นึกถึงความไม่มีตัวตนของสิ่งทั้งปวง รวมทั้งนิพพาน
ด้วย เป็นอนัตตา รวมทั้งนิพพานด้วย อย่าไปยกเว้นนิพพานไว้

3. นึกถึงความปฏิกูลของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่เสมอ
เพื่อไม่ติดในสิ่งที่เป็นรูปธรรม

4. พิจารณาให้เห็นโทษของร่างกายว่ามีทุกข์มาก มีโทษมาก
เป็นที่ตั้งของโรคต่างๆ มากมาย

5. ตั้งจิตไว้เพื่อละการเกิดในกามคุณ

6. คิดไปในทางคลายความผิดพลาดไปจากสิ่งที่เคยยึดมั่น
เช่น ใช้ปัญญายึดมั่นว่าสิ่งใดที่เข้าไปติดพันยึดมั่น
มันจะให้โทษ มันไม่ดี ถอนใจออก

7. คิดไปในทางดับ คือ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์
ชีวิตของเราอยู่เพื่อจะดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์

8. เห็นว่าไม่มีอะไรน่ายินดีในโลกทั้งปวง คือ ถอนตัวออกมาจากโลก

9. พิจารณาเห็นว่าไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง
ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้วมันเป็นทุกข์ทั้งนั้นครับ

10. เรื่องอานาปานสติ

นี่ก็เป็นสัญญา 10 ข้อ สัญญาแปลว่าสิ่งที่ควรพิจารณา
ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระอานนท์ไปแสดงกับพระคิริมานันทะ


ขอ ให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ
ให้อยู่ในโลกโดยการพิจารณาเห็นโทษของโลก
ให้ถือเอาส่วนที่ดีในความสุขที่พึงมีได้
อะไรที่เป็นโทษก็พิจารณาแล้วก็ละทิ้งไป เป็นคุณก็เอาไว้

ขอให้ทุกท่านสำเร็จในสิ่งที่ต้องการนะครับ สวัสดีครับ


:b51: :b52: :b53:


:b44: รวมคำสอน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=45418

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=44346

:b44: ประมวลภาพ “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48451


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2009, 22:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 15 มี.ค. 2009, 21:33
โพสต์: 10

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: อนุโมทนาค่ะ เห็นด้วยอย่างที่สุดค่ะ :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2018, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2019, 08:34 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร