วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
วิหารจตุรมุขของวัดบางสาม


จากการเสด็จพระปฐมเจดีย์และพระประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคมแล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒ สิงหาคม ก็เตรียมเสด็จไปยังอำเภอสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ว่า ตามกำหนดเดิมกะว่าจะเสด็จถึงสองพี่น้องราวบ่ายสองโมง จะประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในเย็นวันนั้น และวันรุ่งขึ้นจะออกกระบวนจากสองพี่น้องแต่เช้า ไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณ

แต่เนื่องจากได้เสด็จแวะประพาสที่คลองภาษีก่อน ทำให้เสด็จมาถึงอำเภอสองพี่น้องเวลาค่ำ เวลาไม่พอประพาส จึงต้องกะระยะทางแก้ใหม่ คือ วันที่ ๓ เช้าจะประพาสบ้านสองพี่น้อง จะออกจากสองพี่น้องในเวลากลางวัน แต่จะไปถึงเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้ จึงต้องหาที่ประทับแรมกลางทางระหว่างสองพี่น้องกับสุพรรณบุรี

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ ๒ สิงหาคม กระบวนเสด็จก็ประทับแรมที่อำเภอสองพี่น้อง แต่ในจดหมายเหตุไม่ได้บอกไว้ว่า ทรงประทับแรมที่ใด และในวันที่ ๓ สิงหาคมก็ได้เสด็จไปประพาสปลายคลองสองพี่น้อง ก่อนจะแวะทำครัวเย็นที่วัดบางสาม

รูปภาพ
พระอุโบสถหลังเก่า


แวะทำครัวเย็นที่วัดบางสาม

“...ข้างทางที่เสด็จนั้น ได้ยินว่าเสด็จไปประพาสข้างปลายคลองสองพี่น้อง จะประพาสที่ใดบ้างหาทราบไม่ ได้ความแต่ว่านายวงศ์ตะวันไปถูกหมากัด ประพาสคลองสองพี่น้องแล้วมาพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม เมื่อทำครัวอยู่นั้นพวกเราใครตกเบ็ดได้ปลาเทโพตัว ๑ ทราบว่าแกงเทโพวันนั้นอร่อยนัก แต่นายอัษฎาวุธ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๖) เคราะห์ร้ายไปตกร่องที่วัดบางสาม ฟกช้ำไปหน่อยหนึ่ง...”

รูปภาพ
พระอุโบสถหลังใหม่


วัดบางสาม ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ มีเนื้อที่ราว ๕๐ ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยพระอุโบสถ ซึ่งอุโบสถหลังเก่านั้นมีอายุร่วม ๑๐๐ ปี (ปัจจุบันได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แล้ว) ศาลาการเปรียญเก่า ที่คาดว่าสร้างในราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ มีเสาไม้ต้นใหญ่นับสิบๆ ต้นมาค้ำยัน และศาลาการเปรียญหลังใหม่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางต่างๆ

รูปภาพ
ศาลาการเปรียญหลังเก่า


รวมทั้ง ธรรมาสน์เก่าที่มีอายุใกล้เคียงกับศาลาการเปรียญเก่า แต่ยังดูสวยงาม เพราะทางวัดได้บูรณะซ่อมแซม และปิดกระจกสีใหม่ เดิมธรรมาสน์หลังนี้ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญหลังเก่า ส่วนด้านหลังวัดที่ติดแม่น้ำนั้นมีต้นไทรขนาดใหญ่ และมีซุ้มวงกลมสำหรับเดินจงกรม ซึ่งมีพระพุทธรูปปางลีลา และพระสีวลีประดิษฐานอยู่บนแท่น สำหรับทางด้านหน้าวัดนั้นเป็นที่ตั้งของวิหารจตุรมุข ซึ่งสร้างอย่างสวยงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร และรูปหล่อของพระครูเขมานุโยค อดีตเจ้าอาวาสวัดบางสาม

รูปภาพ
ศาลาท่าน้ำหน้าวัดในอดีต (ปัจจุบันกลายเป็นหลังวัด)


ปัจจุบัน วัดบางสาม ตั้งอยู่ที่ ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ
ธรรมาสน์สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ได้รับการบูรณะแล้ว


(มีต่อ ๑๖)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หอไตรเก่าวัดรางบัวทอง


ประทับแรมที่วัดบางบัวทอง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดรางบัวทอง)

หลังจากแวะทำครัวเย็นที่วัดบางสามแล้ว ก็เสด็จมาประทับแรมที่วัดบางบัวทอง ซึ่งก่อนหน้านั้นพระพุทธเจ้าหลวงได้มีรับสั่งให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปเลือกและจัดที่สำหรับประทับแรม ดังนั้นในวันที่ ๓ สิงหาคม ท่านจึงออกเรือล่วงหน้ามาแต่เช้ามืด เพื่อจัดหาและเตรียมที่ประทับแรม ซึ่งในที่สุดก็เลือกวัดบางบัวทอง และตกลงสร้างที่ประทับแรมที่หน้าวัด

“...กรมหลวงดำรงทรงเลือกเห็นที่วัดบางบัวทองเป็นที่สมควรดี ตกลงจะให้จัดที่ประทับแรมที่หน้าวัดนั้น ฉันออกนึกหนักใจว่าเวลามีเพียงราว ๘ ชั่วโมง ไม้ไร่ผู้คนและเครื่องมือก็ไม่มี จะทำอย่างไรกันจึงจะมีที่ประทับรับเสด็จ ฉันทูลถามกรมหลวงดำรง ท่านรับสั่งว่ามีมากันเท่านี้ ก็ลองดูว่าจะทำได้อย่างไร มีรับสั่งให้เรียกประชุมอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกัน

แล้วรับสั่งว่า วันนี้เจ้านายของเราจะเสด็จมาประทับแรมที่ตรงนี้ เราจะต้องช่วยกันแผ้วถาง และทำสะพานที่จอดเรือพระที่นั่งให้ทันเสด็จ พวกแกและชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ได้เคยรับเสด็จเลย และที่ยังไม่ได้เคยเห็นเจ้านายของแกเองก็จะมีเป็นอันมาก ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปเที่ยวป่าวร้องราษฎรในแถวนี้มาช่วยกันรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมีดพร้าเครื่องมือให้เอามาด้วย ช่วยกันทำรับเสด็จสักทีจะได้หรือไม่

พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านพากันรับอาสาแข็งแรง ต่างคนเที่ยวติดตามเรียกลูกบ้าน และหาไม้ไร่มาทำการตามรับสั่ง ใน ๒ ชั่วโมงมีคนมาช่วยทำงานสักสามสี่ร้อย ดูเต็มใจแข็งขันที่จะทำการรับเสด็จด้วยกันทุกคน แม้แต่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกขอแรงทำงาน ก็พากันมารับอาสาตั้งเตาหุงข้าวทำครัวเลี้ยงคนงาน ประเดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาให้ ประเดี๋ยวมีใครเอาปลามาเติม ตลอดลงไปจนผักหญ้าหมากบุหรี่ก็มีผู้เอามาช่วย กรมหลวงดำรงจะขอใช้เงินค่าเสบียงอาหารให้ก็ไม่มีใครยอมรับ ว่าอยากจะช่วยกันรับเสด็จ พอบ่าย ๔ โมงการแล้วเสร็จ เลี้ยงกันเอิกเกริกสนุกสนานราวกับงานไหว้พระอย่างใหญ่ ใครได้เห็นแล้วจะต้องยินดีด้วย เห็นได้ว่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวเพียงไร...”


รูปภาพ
หมู่กุฏิสงฆ์


วัดบางบัวทอง นั้น ปัจจุบันชื่อ “วัดรางบัวทอง” โดยพระครูสุวรรณปทุมรักษ์ ชุติมนฺโต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้บอกว่า วัดรางบัวทองนี้เดิมชื่อวัดบางบัวทอง เนื่องจากอาณาเขตของวัดด้านทิศเหนือและใต้ติดคลองบางบัวทอง ส่วนด้านตะวันออกติดแม่น้ำท่าจีน แต่ได้มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดรางบัวทอง ราว ๗๐ ปีมาแล้ว ในสมัยของอดีตเจ้าอาวาส คือ พระธูป สุวณฺโณ

รูปภาพ
อุโบสถหลังใหม่


วัดรางบัวทองเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านนั้นระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาแวะที่วัดนี้ในคราวเสด็จประพาสต้นตามลำน้ำท่าจีน และได้พระราชทานพระบรมฉายาทิสลักษณ์แก่วัดรางบัวทองเป็นราชานุสรณ์ด้วย ซึ่งพระครูสุวรรณปทุมรักษ์บอกว่า เดิมพระบรมฉายาทิสลักษณ์อยู่ในวิหารเก่า แต่ปัจจุบันพระบรมฉายาทิสลักษณ์นั้นอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ ซึ่งสร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗, ศาลาการเปรียญ, ศาลาบำเพ็ญกุศล, หอสวดมนต์, วิหาร, กุฏิสงฆ์ซึ่งเป็นอาคารไม้สัก รวมทั้ง หอไตรเก่าแก่ เป็นต้น

ปัจจุบัน วัดรางบัวทอง ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ
หอสวดมนต์


(มีต่อ ๑๗)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 09:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุโบสถหลังเก่าของวัดแค


ประทับเสวยที่วัดแค

ต่อมาในเช้าวันที่ ๔ สิงหาคม กระบวนเรือออกเดินทางต่อไปทางบางปลาม้า เพื่อเข้าสู่สุพรรณบุรี

“...เสด็จเมืองสุพรรณคราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้มีน้ำแม่น้ำยังน้อย จะเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตกพอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ที่ใกล้ๆ ในบริเวณเมือง ในวันที่ ๔ นั้นเสด็จไปประพาสเหนือน้ำ ประทับเสวยที่วัดแค...”

รูปภาพ
ศาลาริมน้ำ


ตามประวัติกล่าวว่า วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในราวปี พ.ศ.๒๐๓๔ ผู้สร้างคงเรียกชื่อวัดตามสภาพในขณะนั้นซึ่งมีต้นแคขึ้นมากมาย

มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือประวัติวัดที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเสวยที่วัดแคนั้น ขรัวตากัน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ ของวัด ทราบแว่วๆ มาว่าพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ทราบหมายกำหนดการที่แน่นอน จึงสั่งการให้ปัดกวาดลานวัด จัดที่ประทับไว้บนกุฏิและทำซุ้มรับเสด็จที่ศาลาท่าน้ำด้วย แต่คอยแล้วคอยเล่าก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมา มีเพียงชาย ๓ คนที่บอกว่าตนเป็นมหาดเล็กมาบอกข่าวแต่แรกเท่านั้นที่นั่งคุยกับขรัวตากัน พร้อมทั้งรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย และกลับไป

รูปภาพ
ต้นมะขามยักษ์


พอวันรุ่งขึ้น มหาดเล็กกลับมาหาขรัวตากันอีกครั้งเพื่อร่ำลา คราวนี้ขรัวตากันรู้สึกเอะใจ และนึกขึ้นได้ จึงรีบให้เด็กวัดเคาะระฆังเรียกพระมารวมกันที่ศาลาการเปรียญ แล้วสวดถวายพระพรส่งเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่มาในนามของมหาดเล็กนั่นเอง หลังจากนั้นราว ๔-๕ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็โปรดให้ขรัวตากันเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ เพื่อทรงสนทนาปราศัย พร้อมถวายเครื่องไทยทานหลายอย่าง เช่น ขันทองเหลือง ผ้าไตร ปิ่นโต ผ้าสังฆาฏิ ปักอักษรย่อ “จปร.” ตู้ใส่หนังสือ เป็นต้น

รูปภาพ
ตู้ใส่หนังสือพระราชทาน


วัดแคได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานในวิหารเก่า ศิลปะอยุธยาตอนต้น พระพุทธบาทสี่รอย เป็นพระพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่สร้างด้วยทองเหลือง ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง สำหรับพระใช้ย้อมจีวรด้วยสีกรัก และตู้ใส่หนังสือที่พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานมา

รูปภาพ
คุ้มขุนแผน


นอกจากนี้ ยังมีต้นมะขามยักษ์ อายุราว ๑,๐๐๐ ปี วัดโดยรอบประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า ต้นมะขามยักษ์ต้นนี้ที่เณรแก้ว ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เอาใบมาเสกเป็นตัวต่อตัวแตน และทางวัดยังได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณ เรียกว่า “คุ้มขุนแผน” ไว้ใกล้ต้นมะขามยักษ์นี้ด้วย

ปัจจุบัน วัดแค ตั้งอยู่ที่ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ
พระพุทธบาทสี่รอยจำลอง


(มีต่อ ๑๘)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 09:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สำหรับตอนนี้เป็นตอนจบ คือสิ้นสุดการเสด็จประพาสต้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเป็นผู้บันทึกไว้ ส่วนการเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง ปี พ.ศ.๒๔๔๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้พระราชนิพนธ์

เมื่อครั้งที่แล้วถึงตอนที่เสด็จถึงเมืองสุพรรณบุรีแล้ว โดยในวันที่ ๔ นั้นเสด็จไปประพาสเหนือน้ำ ประทับเสวยที่วัดแค ต่อมาในวันรุ่งขึ้น จึงได้ไปประพาสใกล้ๆ บริเวณเมือง

“...วันที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง วัดพระธาตุ หลักเมือง และวัดพระป่าเลไลยก์...”

รูปภาพ

ทอดพระเนตรวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี เนื่องจากพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งนักโบราณคดีหลายคนให้ความเห็นว่า เป็นวิธีการที่เก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา และน่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ

เชื่อกันว่าเดิมวัดนี้เป็นพระอารามหลวง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชศรีไตรโลก ต่อมาพระมหาเถระปิยะทัสสีสารีบุตร และพระฤาษีพิลาสัย ได้สร้างพระผงบรรจุไว้ในพระปรางค์ ซึ่งภายหลังพระผงเหล่านี้ได้กลายเป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรี อันเป็นหนึ่งในพระ ‘เบญจภาคี’ ๕ พระเครื่องยอดนิยม

ในสมัยเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งนี้ จากนั้นก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

รูปภาพ

สิ่งสำคัญภายในวัดนอกเหนือจากพระปรางค์องค์ใหญ่แล้ว ยังมีวิหารเก่าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ พร้อมพระพุทธรูปหินทรายสมัยอู่ทอง และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ รวมแล้วกว่า ๓๐๐ องค์ ส่วนวิหารใหม่นั้นเรียกว่า วิหารพระผงสุพรรณ พระประธานในวิหารนี้มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระผงสุพรรณพิมพ์ใหญ่ พระหูยาน นอกจากนี้ยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ด้วย

ปัจจุบัน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ


(มีต่อ ๑๙)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 09:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
วิหารหลวงพ่อโต


มาต่อที่วัดป่าเลไลยก์

วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่ เดิมมีชื่อว่า วัดลานมะขวิด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางป่าเลไลยก์ มีความสูง ๒๓.๘๔ เมตร ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารใหญ่ ประชาชนผู้คนเรียกกันทั่วไปว่า ‘หลวงพ่อโต’ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า เดิมน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ต่อมาภายหลังชำรุด แต่ผู้มาบูรณะไม่มีความรู้เรื่องปางพระพุทธรูป จึงบูรณะให้เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เห็นได้จากส่วนพระหัตถ์ซึ่งซ่อมใหม่ มีขนาดแตกต่างจากส่วนพระกรของเดิม หลวงพ่อโตผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง ทำให้มีพุทธศิลป์ผสมระหว่างศิลปะของอู่ทอง อยุธยา และสุโขทัย กล่าวกันว่าภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ถึง ๓๖ องค์

รูปภาพ
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์


ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.๑๗๙๓ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่ แต่หลังจากนั้นมาเกือบ ๕๐๐ ปีวัดก็ตกอยู่ในสภาพรกร้าง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ทรงผนวชอยู่ได้เคยเสด็จธุดงค์มาพบ และต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยสร้างพระวิหารครอบองค์พระที่แต่เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง แล้วโปรดให้ประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รูปพระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ ไว้ที่หน้าบันของพระวิหาร

รูปภาพ
คุ้มขุนช้าง


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ยกฐานะของวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และในสมัยรัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน ก็ได้มีการบูรณะพระวิหารและองค์หลวงพ่อโตอีกครั้งหนึ่ง

ชื่อวัดป่าเลไลยก์นั้นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพราะในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ขุนแผนได้มาบวชเรียนที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่เด็กๆ โดยมีชื่อว่า ‘เณรแก้ว’ ด้วยเหตุนี้ จิตรกรรมฝาผนังตรงระเบียงคด จึงเป็นเรื่องราวในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีเรือนไทยหลังใหญ่ชื่อว่า ‘คุ้มขุนช้าง’ ที่สร้างขึ้นตามลักษณะที่บอกไว้ในวรรณคดี

ปัจจุบัน วัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ที่ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ
จิตรกรรมฝาผนัง


(มีต่อ ๒๐)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 09:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประทับเสวยเย็น ณ วัดบางยี่หน

หลังจากเสด็จวัดป่าเลไลยก์แล้ว จึงเสด็จไปประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน อำเภอบางปลาม้า

“...เวลาบ่ายออกกระบวนล่องมาประทับแรมที่บางปลาม้า ถึงยังวันอยู่ จึงทรงเรือพระที่นั่งเล็กล่องลงมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน...”

ตามประวัติกล่าวว่า วัดบางยี่หน ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ เดิมชื่อ วัดบางชีหน ประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเป็น “วัดบางยี่หน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ทิศเหนือจดแม่น้ำท่าจีน ทิศใต้จดคันกั้นน้ำชลประทาน ทิศตะวันออกจดคลองบางยี่ขัน ทิศตะวันตกจดหมู่บ้านตะค่า

รูปภาพ

สำหรับอาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ ประกอบด้วยอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยพระประธานในอุโบสถเป็นพระปางสะดุ้งมาร ศิลปะสุโขทัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐

ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้ ยังมีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ วิหาร กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๗ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ และวิหารหลวงพ่อขาว ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

ปัจจุบัน วัดบางยี่หน ตั้งอยู่ที่ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

รูปภาพ



>>>>> จบ >>>>>


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ :b8: :b8: :b8:
รายงานพิเศษ : เที่ยวชมวัดตามเส้นทางเสด็จประพาสต้น

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2010, 23:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2010, 13:00
โพสต์: 599

งานอดิเรก: ปฏิบัติธรรม พัฒนาวัดร้าง
สิ่งที่ชื่นชอบ: กฎแห่งกรรม
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www




100_6489 (Medium).JPG
100_6489 (Medium).JPG [ 45.72 KiB | เปิดดู 9557 ครั้ง ]
อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ ที่ได้นำความรู้มาให้ บางวัดบัวลอยไข่หวานก็ไปมาแล้ว เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอีกหลายวัดที่ยังมีประวัติบ่งบอกถึงการเสด็จประพาสต้น ซึ่งสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ 136 วัด ตามรอยเสด็จประพาสต้น ถ้าได้อ่านแล้วรับรองได้ว่า คุณจะรักประเทศไทยมากขึ้นอีก ที่บูรพมหากษัตริย์ไทยท่านได้บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบสานและไม่ทอดทิ้งหรือละเลย ทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ทราบประวัติมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ

.....................................................
จงมีจิตใจที่ดี รักเพื่อนมนุษย์ เชื่อในความดีของผู้อื่น
และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จงพยายามยิ้มกับตัวเองแล้วบอกว่า
ตนเองมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้
ความคิดแบบนี้จะช่วยทำให้มีสติในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร