วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 13:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เที่ยวชมวัดตามเส้นทางเสด็จประพาสต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ พระองค์ได้ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ แต่ในขณะนั้นพระองค์มีพระชันษาราว ๑๕ พรรษา ยังมิได้ทรงบรรลุนิติภาวะ ดังนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน

ด้วยความที่ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๖ และลาผนวชเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ในปีเดียวกัน จากนั้นจึงโปรดให้จัดพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๖ ทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่นานถึง ๔๒ ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ รวมสิริพระชนมายุ ๕๘ พรรษา

ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระราชกรณียกิจตลอดรัชสมัยของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน จึงทรงเป็นที่รักของประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งทูลถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นที่รักยิ่ง นั่นเอง

รูปภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


• เสด็จประพาสต้น หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญ

หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ที่ทำให้ทรงล่วงรู้ถึงทุกข์สุขของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง จนทรงสามารถขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้ราษฎรได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือ “การเสด็จประพาสต้น”

ในหนังสือ “จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการเสด็จประพาสต้นว่า หลายบ้านที่เสด็จไปเยี่ยมโดยที่เจ้าของบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ประทับเสวยร่วมวงกับเจ้าของบ้านอย่างกันเอง เจ้านายที่ตามเสด็จอย่าง กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ เคยถูกเมียเจ้าของบ้านเอ็ดเพราะทรงใช้จวักตักแกงขึ้นมาชิมโดยไม่ทรงทราบธรรมเนียมว่าเขาถือกัน สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จพลาดตกท้องร่องสวนวัดบางสามฟกช้ำดำเขียว เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ถูกหมาเฝ้าสวนริมคลองสองพี่น้องกัดเอา และระหว่างเสด็จประพาส เจ้านายและขุนนางตามเสด็จก็ช่วยกันทำครัวเองไปตามมีตามเกิด หากมื้อไหนไม่ได้แวะบ้านใคร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ ทรงทำหน้าที่คนล้างถ้วยชาม เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) และกรมหลวงนครราชสีมา ทุกพระองค์ทรงใช้ชีวิตกันอย่างสามัญชนทั่วไปเวลาเสด็จประพาสต้น

การเสด็จประพาสต้นในแต่ละครั้ง นอกจากจะเสด็จประทับตามบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของการมีเพื่อนเป็นสามัญชนธรรมดาทั่วไปที่เรียกว่า “เพื่อนต้น” แล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ คือ “วัด” ซึ่งระหว่างทางได้เสด็จผ่านวัดมากมายหลายแห่ง

ดังนั้น ในการตามรอยเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ จะขอนำเสนอเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัดซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ใน “จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๑ ปี การเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


• จุดเริ่มของการเสด็จประพาสต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “พระพุทธเจ้าหลวง” ได้เริ่มการเสด็จประพาสต้นในปี พ.ศ.๒๔๔๗ อันมีที่มาจากการที่ทรงตรากตรำกับพระราชภารกิจมากเกินไป จนเสวยไม่ค่อยได้ บรรทมไม่ค่อยหลับ แพทย์จึงทูลให้ทรงพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ก็ทรงเห็นด้วย ดังนั้น ในคราวที่เสด็จแปรพระราชฐานไปที่พระราชวังบางปะอิน จึงทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปยังเมืองราชบุรี ซึ่งการเสด็จครั้งนี้ประพาสไปตามลำน้ำ เป็นการเสด็จอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีหมายกำหนดการใดๆ ถือเป็นการเสด็จไปเพื่อทรงพักผ่อนอิริยาบถ

และนับเป็นการเสด็จเยือนราษฎรเป็นการส่วนพระองค์ โดยมิให้ใครรู้จักว่าพระองค์เป็นใคร เพื่อจะได้ทรงสนทนาปราศรัยกับราษฎรอย่างใกล้ชิด แต่คำว่าประพาสต้นนี้ ไม่มีผู้ใดสามารถชี้ชัดถึงที่มาหรือความหมายอันแท้จริงได้ แม้กระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังทรงเพียงแค่สันนิษฐานถึงที่มาว่า

“...ไปจนถึงวัดเพลงจึงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวได้ลำ ๑ พระราชทานชื่อเรือว่า เรือต้น ได้ยินรับสั่งถามให้แปลกันว่า เรือต้น แปลว่าอะไร บางท่านแปลว่าเรือเครื่องต้น บางท่านแปลว่าเรือทรง อย่างในเห่เรือว่า ‘ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย’ ดังนี้ แต่บางท่านที่แปลเอาตื้นๆ ว่า หลวงนายศักดิ์เป็นคนคุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ หลวงนายศักดิ์ชื่ออ้น รับสั่งเรียกว่าตาอ้น ตาอ้น เสมอ คำว่า เรือต้นนี้ก็จะแปลว่าเรือตาอ้นนั้นเอง แปลชื่อเรือต้นเป็นหลายอย่าง ดังนี้ อย่างไรจะถูกฉันก็ไม่ทราบแน่ แต่วันนี้กว่าจะเสด็จกลับมาถึงเมืองราชบุรีเกือบยาม ๑ ด้วยต้องทวนน้ำเชี่ยวมาก เหนื่อยหอบมาตามกัน เริ่มเรียกการประพาสวันนี้ว่าประพาสต้น เลยเป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตในวันหลังๆ ว่า ประพาสต้น ต่อมา”

วัดที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จประพาสต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ มีอยู่ด้วยกันหลายวัด ได้แก่ วัดปรมัยยิกาวาส และวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร จ.นนทบุรี (ซึ่งทั้งสองวัดนี้ได้เสด็จอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๙), วัดหนองแขม กรุงเทพฯ, วัดโชติทายการาม วัดเพลง วัดสัตนาถ จ.ราชบุรี, วัดประดู่ วัดพวงมาลัย วัดดาวดึงส์ และวัดอัมพวัน จ.สมุทรสงคราม, วัดโกรกกราก วัดบางปลา และวัดตีนท่า จ.สมุทรสาคร, วัดพระประโทน จ.นครปฐม, วัดบางบัวทอง วัดบางสาม วัดแค วัดมหาธาตุ วัดป่าเลไลยก์ และวัดบางยี่หน จ.สุพรรณบุรี

สำหรับในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง วัดที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จไป ได้แก่ วัดเทียนถวาย วัดท้ายเกาะใหญ่ และวัดเวียงจาม จ.ปทุมธานี, วัดท่าหลวง และวัดสมุหประดิษฐ์ จ.สระบุรี, วัดสีกุก จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดป่าโมกข์ จ.อ่างทอง, วัดชลอนพรหมเทพาวาส และวัดสนามไชย จ.สิงห์บุรี, วัดวังพระธาตุ วัดพระแก้ว วัดพระนอน วัดพระยืน วัดกำแพงงาม วัดใหญ่ วัดมหาธาตุ และวัดเขาดิน จ.กำแพงเพชร, วัดโบสถ์ วัดพระปรางค์ และวัดบ้านเกาะ จ.อุทัยธานี, วัดโพธิ์ วัดช่องลมวารินศรัทธาราม วัดอรุณราชศรัทธาราม และวัดหัวเมือง จ.นครสวรรค์


รูปภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเจดีย์มุเตา วัดปรมัยยิกาวาส


เริ่มที่วัดปรมัยยิกาวาส

พระพุทธเจ้าหลวงทรงเริ่มต้นเสด็จออกจากพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า

“เสด็จออกจากบางปะอิน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๓ ล่องมาตามลำแม่น้ำ เรือฉันมาล่วงหน้า ทราบว่าเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาศครู่หนึ่ง...”

รูปภาพ
พระอุโบสถ


วัดนี้ตามประวัติกล่าวว่าเป็นวัดมอญมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี เรียกตามภาษารามัญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยยะเติ้ง” แปลว่าวัดหัวแหลม แต่ไทยเรียกวัดปากอ่าว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างไปตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้ชาวมอญมาอาศัยบริเวณเกาะเกร็ด ชาวมอญจึงได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง

รูปภาพ
พระมหารามัญเจดีย์


และอีก ๑๐๐ ปีต่อมา คือในปี พ.ศ.๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทอดกฐินที่วัดนี้ และทรงเห็นว่าวัดอยู่ในทำเลที่ดี แต่มีสภาพทรุดโทรม จึงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าบรมมหาอัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งได้ทรงอภิบาลพระองค์และพระราชมารดา และพระราชทานนามว่า “วัดปรมัยยิกาวาศ” ต่อมาจึงมีการเขียนใหม่ เป็น “วัดปรมัยยิกาวาส”

ศาสนสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ที่ตกแต่งด้วยวัสดุจากอิตาลี ภายในตกแต่งด้วยลายปูนปั้น และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่หน้าบันพระอุโบสถประดับตราพระเกี้ยว ส่วนด้านหลังพระอุโบสถนั้นมีพระเจดีย์ทรงรามัญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จฯ มาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจดีย์นี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ และได้พระราชทานนามว่า “พระมหารามัญเจดีย์”

รูปภาพ
ศาลารับเสด็จ


นอกจากนี้ยังมี ศาลารับเสด็จ พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัตถุของมอญที่หาชมได้ยากอีกด้วย เช่น พระไตรปิฎกฉบับอักษรรามัญ ซึ่งเป็นฉบับเดียวในประเทศไทย และหอไทยนิทัศน์ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวมอญ

ปัจจุบัน วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

รูปภาพ
เครื่องปั้นดินเผา


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ล่องมาถึงวัดเขมาฯ

วันเดียวกันนี้เอง หลังจากที่เสด็จประทับที่วัดปรมัยยิกาวาสในช่วงสายแล้ว ช่วงบ่ายก็ทรงไปสวนกระท้อน ตกเย็นจึงเสด็จมาประทับแรมที่วัดเขมาภิรตาราม

รูปภาพ

ดังบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ความว่า

“...เวลาเย็นเสด็จมาประทับแรมที่หน้าวัดเขมา จอดเรือพระที่นั่งหน้าวัดอย่างเราไปเที่ยวกัน ใช้ศาลาน้ำหน้าวัดเป็นท้องพระโรง ไม่มีพลับพลาฝาเลื่อนอย่างใด เจ้าพนักงานเจ้าของท้องที่ก็ดูเหมือนจะไม่รู้ตัวว่า จะเสด็จมาประทับแรมที่นั้น การล้อมวงกงจำกัดกัน ตามแต่จะทำได้ ดูก็สนุกดี จนเวลาสองทุ่มเศษ กรมหลวงนเรศร์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลจึงเสด็จไปถึง ได้ยินรับสั่งว่า อาศน์แข็งๆ กันไม่รู้ พอรู้ ก็รีบมา จะต้องนั่งอยู่ยังรุ่ง...”

วัดเขมาที่กล่าวถึงนี้ก็คือ วัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “วัดเขมา” ตามประวัติกล่าวว่าเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาหรือก่อนอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครสร้างและสร้างเมื่อใด

รูปภาพ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ และได้พระราชทานนามว่า “วัดเขมาภิรตาราม”

รูปภาพ

รูปภาพ

ภายในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ พระมหาเจดีย์สูง ๓๐ เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระที่นั่งมูลมณเฑียร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นตำหนักอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง แต่รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รื้อมาปลูกที่วัดนี้ ส่วนพระตำหนักแดงเป็นตำหนักเครื่องไม้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกัน รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ย้ายมาปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม

ปัจจุบัน วัดเขมาภิรตาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

รูปภาพ


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กระบวนเรือมาติดเกยท่าที่วัดหนองแขม

รุ่งเช้าของวันที่ ๑๕ กรกฎาคม กระบวนเรือจึงออกจากวัดเขมาฯ ล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า

“...ฉันมากระบวนหน้าตามเคย ประจวบเวลาหัวน้ำลง เมื่อพ้นหนองแขมเจอเรือไฟที่ไปก่อน ติดขวางคลองอยู่ลำหนึ่ง ฉันจึงปล่อยเรือไฟที่จูงเรือให้คอยตามเรือไฟลำหน้า ส่วนตัวฉันเองให้คนแจวเรือล่องเลยไปจอดคอยเรือไฟที่น้ำลึกบ้านกระทุ่มแบน รอๆ อยู่เท่าใดๆ ก็ไม่เห็นเรือไฟตามออกมา น้ำก็แห้งงวดลงไปทุกที...จอดรอกระบวนเสด็จอยู่จนค่ำ กลางคืนน้ำขึ้น เรือไฟพวกล่วงหน้าหลุดออกมาได้ทีละลำ สองลำ ถามดูก็ไม่ได้ความว่ากระบวนเสด็จอยู่ที่ไหน จนยามกว่าจึงได้ความจากเรือลำหนึ่งว่าประทับแรมอยู่ที่หน้าวัดหนองแขม ฉันก็เลยจอดนอนคอยเสด็จ อยู่ที่กระทุ่มแบนนั่นเอง...”

รูปภาพ

วัดหนองแขม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ โดยพระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม ท่านพร้อมญาติๆ และชาวบ้านจากหมู่บ้านหัวย่าน จ.นครปฐม ได้พากันอพยพมาอยู่ที่หนองแขม และได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับบรรจุอัฐิของบุพการี และไว้เป็นการทำบุญของญาติในวงศ์ตระกูลสืบไป เมื่อวัดสร้างเสร็จจึงได้ขนานนามว่า “วัดหนองแขม” เพราะเหตุที่บริเวณนั้นมีหนองน้ำปกคลุมด้วยต้นแขมมาก

รูปภาพ

ต่อมาในสมัยพระครูวิทยาวรคุณ (พร) เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนนามเป็น “วัดบำรุงราษฎร์ศรัทธา” ครั้นถึงสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามลำคลองภาษีเจริญ ได้ทอดพระเนตรเห็นนามวัด จึงโปรดรับสั่งว่า “วัดนี้ควรเรียกนามตามตำบลและจะได้เป็นวัดประจำตำบลต่อไป” แต่นั้นมาจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดกลับมาใช้ “วัดหนองแขม” ตามเดิมจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



บริเวณท่าน้ำหน้าวัด มีศาลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงการเสด็จมาประทับแรมของพระองค์ท่าน ณ วัดหนองแขมแห่งนี้

ปัจจุบัน วัดหนองแขม ตั้งอยู่ที่ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

รูปภาพ


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จออกจากพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๗ และทรงแวะชมตามสถานที่ต่างๆ ที่ทรงเสด็จผ่านเรื่อยมา เริ่มจากวัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ล่องเรือมาถึงวัดเขมา จนกระทั่งเรือประพาสต้นมาติดเกยท่าที่วัดหนองแขม จากนั้นพระองค์ก็ได้ล่องเรือตามลำน้ำมาหยุดประทับแรมที่วัดโชติทายการาม ซึ่งเป็นวัดที่กำลังจะกล่าวถึงในช่วงนี้

ประทับแรมที่วัดโชติทายการาม

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงเล่าไว้ใน “จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” ความว่า

“...ครั้นรุ่งเช้าวันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึงเลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งท่วมคันคลองเจิ่งทั้งสองข้างแล่นเรือได้สะดวก พอบ่ายสัก ๓ โมงก็มาถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม...”

รูปภาพ

จากเอกสารของทางวัดโชติทายการามระบุว่า “หลวงพ่อช่วง (พระอธิการช่วง เจ้าอาวาส) ได้ทราบว่าในหลวงเสด็จ จึงนำพระลูกวัด ๔-๕ รูป ลงมาสวดชัยมงคลต้อนรับ รู้สึกเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้ตรัสถวายเงินบูรณะวัด ๑๐ ชั่ง และถวายพระสงฆ์รูปละ ๑ ตำลึง และโปรดเกล้าให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้นประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ”

วัดโชติทายการาม เดิมเรียกว่า “วัดใหม่” สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ นับถึงปัจจุบันก็มีอายุถึง ๑๓๑ ปี สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก ได้ ๑๑ ปี วัดโชติทายการามตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองดำเนินสะดวก บริเวณที่สร้างวัดเดิมเป็นที่ดินของนายมั่ง มั่งมี ต่อมานายมั่งได้มีความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นใน พ.ศ.๒๔๑๗ จึงได้บอกบุญชาวบ้านในตำบลบางคนทีและตำบลใกล้เคียง รวบรวมเงินได้ประมาณ ๑ ชั่ง มาทำการก่อสร้างเป็นกุฏิ ๑ หลัง แล้วไปนิมนต์พระภิกษุช่วง ซึ่งจำพรรษาที่วัดบางคนทีในมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

รูปภาพ

วัดโชติทายการาม นับว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ และเป็นวัดขนาดใหญ่ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนของคนดำเนินสะดวกและอำเภอใกล้เคียง ภายในวัดมีวิหารจตุรมุขตั้งเด่นอยู่ทางเข้า ถัดมาเป็นพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อลพบุรีราเมศร พระพุทธรูปสมัยลพบุรี ซึ่งเป็นพระประธานที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และมีผู้เดินทางมากราบไหว้ไม่ขาดสาย

นอกจากนั้น ยังมีศาลาพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ได้เสด็จมาทรงถวายผ้าพระกฐิน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บวัตถุโบราณซึ่งชาวบ้านนำมาถวายและที่ทางวัดเก็บสะสมไว้ เช่น เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ลวดลายสวยงาม เครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ ตำราความรู้ใบลาน ฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้าชมได้ทุกวัน


ปัจจุบัน วัดโชติทายกราม ตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของคลองดำเนินสะดวก ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

รูปภาพ


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทอดพระเนตรแห่บวชนาคที่วัดสัตตนารถ

“...วันที่ ๑๘ กรกฎาคม วันนี้ประจวบเป็นวันกำหนดบวชนาคบุตรพระแสนท้องฟ้า เวลาเช้าเสด็จ ประพาสตลาดแล้ว เลยไปทอดพระเนตรแห่บวชนาคที่วัดสัตตนารถ...”

วัดสัตตนารถปริวัตร เดิมชื่อว่า “วัดกลางบ้าน” หรือ “วัดโพธิ์งาม” สร้างโดยชุมชนไทยยวนที่อพยพมาจากเชียงแสน จ.เชียงราย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง เนื่องจากส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ต้องการกวาดล้างเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของพวกไทยยวน ไม่ให้ต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเมื่อเกิดสงครามขึ้น

รูปภาพ

วัดโพธิ์งาม มีพระครูอินทโมฬี (ครูบาหลวงเปี้ย) เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก มีเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบต่อมาอีก ๕ รูปจนสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ วัดโพธิ์งามจึงได้กลายเป็นวัดร้างไม่มีพระอาศัยอยู่ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเจ้าพระยาราชบุรี (กลั่น วงศาโรจน์) เจ้าเมืองราชบุรี ได้สร้างวัดบริเวณเชิงเขาสัตตนารถ ซึ่งเป็นเขาสูงประมาณ ๔๔ เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองและได้เรียกชื่อวัดว่า “วัดเขาสัตตนารถ” โดยมีพระอธิการช้างเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และมีเจ้าอาวาสปกครองต่อมาอีก ๒ รูป

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระราชวังที่เขาสัตตนารถแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไถ่ถอนที่ดินจากวัดให้พ้นจากที่ธรณีสงฆ์ แล้วย้ายวัดสัตตนารถมายังวัดโพธิ์งามที่เป็นวัดร้างอยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง ทำการปรับปรุงบูรณะวัดขึ้นมาใหม่และเรียกชื่อว่า “วัดสัตตนารถปริวัตร” แปลว่า “วัดที่ย้ายมาจากเขาสัตตนารถ”


รูปภาพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวัง ณ เขาสัตตนารถ เพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ.๒๔๒๐ โดยใช้เป็นที่รับราชทูตจากโปรตุเกส หลังจากนั้นก็มิได้เสด็จมาอีกเลย รวมทั้งในรัชกาลต่อๆ มาก็มิได้ทรงมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้พระราชวังจึงขาดการดูแล ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กลายเป็นพระราชวังร้างนานกว่า ๔๐ ปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ พระครูพรหมสมาจาร และพระครูภาวนานิเทศก์ ได้ธุดงค์มาถึงบริเวณนี้ และเห็นว่าเป็นที่สงบเหมาะแก่การเจริญสมณธรรม จึงได้ใช้เป็นที่พำนักเป็นการชั่วคราว จนมีชาวบ้านให้ความศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังบริเวณเขาสัตตนารถให้กลับมาเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามเดิม และได้มีการดัดแปลงซ่อมแซมตำหนักเป็นโบสถ์และกุฏิ พร้อมกับเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดเขาวัง” มาจนถึงทุกวันนี้


ปัจจุบัน ทั้งวัดสัตตนารถปริวัตร และวัดเขาวัง ตั้งอยู่ที่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี

รูปภาพ


(มีต่อ ๖)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ถึงวัดเพลงซื้อเรือมาดประทุน

หลังจากทรงทอดพระเนตรแห่บวชนาคแล้ว ในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ก็ได้เสด็จประพาสในแม่น้ำอ้อม และมีพระประสงค์จะหาซื้อเรือเพิ่ม

“...เวลาบ่ายวันนี้ทรงเรือมาด ๔ แจว เรือไฟเล็ก ลากล่องน้ำไปประพาสในแม่น้ำอ้อม เรือลำเดียวอยู่ ข้างจะยัดเยียด จึงมีพระประสงค์ที่จะหาซื้อเรือ ๔ แจว สำหรับตามเรือมาดพระที่นั่งสักลำหนึ่ง ช่วยกันเสาะหาไปตามทาง ไปเห็นที่บ้านแห่งหนึ่ง จึงแวะเข้าไปถามซื้อ ได้ความว่าเป็นเรือของกำนันเหม็น แต่เป็นเรือชำรุด หาได้ซื้อไม่ ที่เรียกว่า กำนันเหม็นนั้นที่จริงแกจะชื่อไรก็ไม่ทราบ แต่บ้านเรือนของแกเหม็นเต็มที จึงสมมติกันว่าแกจะชื่อเหม็น ข้อนี้ฉันเห็นเป็นคติระวังอย่าให้บ้านเรือนสกปรก ถ้าเสด็จประพาสไปแวะพบจะได้รับสมมติชื่อว่าหลวงเหม็นอะไรก็เป็นได้ ไปจนถึงวัดเพลงจึงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวได้หนึ่งลำ พระราชทานชื่อว่าเรือต้น...”

รูปภาพ

วัดเพลง สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๑๔ บริเวณวัดอยู่ติดกับแม่น้ำแควอ้อม ถือได้ว่าเป็นวัดประจำอำเภอวัดเพลง ในสมัยที่มีงานพระศพของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน พัด บาตร ปิ่นโต และช้อนเงิน ถวายเป็นพระราชกุศลแก่หลวงพ่อปลั่ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ อยู่ในขณะนั้น และปัจจุบันทางวัดได้เก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี

รูปภาพ

โบราณสถานภายในวัดที่ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากคือพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ จำนวน ๒ องค์ และธรรมาสน์ที่ทำจากไม้สักทองมีลวดลายวิจิตสวยงาม ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระอุโบสถหลังเดิมนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ทางวัดจึงได้รื้อแล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข เมื่อพ.ศ.๒๕๒๔ แต่ทางวัดก็ยังเก็บรวบรวมชิ้นส่วนพระอุโบสถเดิมไว้ซึ่งยังพอมีลวดลายให้เห็น เช่น หน้าบันที่มีลวดลายแบบพรรณพฤกษา เป็นต้น

ปัจจุบัน วัดเพลง ตั้งอยู่ที่ ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี

รูปภาพ


(มีต่อ ๗)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
รัชกาลที่ ๕ ทรงนำเรือพร้อมเก๋งพระที่นั่ง ๔ แจว มาถวายหลวงปู่แจ้ง


เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจว มาหนึ่งลำ ณ วัดเพลง จังหวัดราชบุรี และทรงพระราชทานชื่อว่าเรือประพาสต้น ก็ทรงล่องเรือผ่านมาถึงเมืองสมุทรสงครามไปยังอำเภอต่างๆ แวะชมวัดสำคัญหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดประดู่ วัดพวงมาลัย วัดดาวดึงษ์ และวัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดที่จะได้นำมากล่าวถึงในการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้

ทอดพระเนตรรดน้ำมนต์ที่วัดประดู่

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้บันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” ถึงเรื่องเกี่ยวกับวัดที่เมืองสมุทรสงครามนี้ไว้ว่า

รูปภาพ
อาคารพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา


“...วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด ไปพบยายเจ้าของเรือที่แกเคยเห็นเจ้าชีวิต ๓ หน แกพาลูกมาเฝ้า ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็กนั้นหลายอย่าง ประพาสตลาดแล้วออกเรือจากเมืองราชบุรี กระบวนเรือพลับพลาให้ล่องลงไปตามลำน้ำใหญ่ไปคอยที่เมืองสมุทรสงคราม เสด็จเรือมาด ๔ แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือพระที่นั่งรอง พ่วงเรือไฟเล็กเข้าทางแม่น้ำอ้อม ไปแวะซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปากคลองวัดประดู่

...ออกจากตลาดแจวเข้าคลองเล็กไปจนถึงวัดประดู่ หยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนั้น กองล้างชามเที่ยวตรวจได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ว่า เป็นหมอน้ำมนต์ มีผู้ที่เจ็บไข้ไปคอยรดน้ำมนต์รักษาตัวอยู่หลายคน ได้ความว่าเป็นโรคผีเข้าบ้าง ถูกกระทำยำเยียบ้าง และโรคอย่างอื่นๆ บ้าง เมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้วจึงพร้อมกันไปดูรดน้ำมนต์ รดน้ำมนต์อย่างนี้ฉันก็พึ่งเคยเห็น คนพูดจากันอยู่ดีๆ พอเข้าไปนั่งให้พระรดน้ำก็มีกิริยาอาการวิปลาศไปต่างๆ...”

รูปภาพ
ต้นประดู่


วัดประดู่ เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างในราวๆ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า มีแก่นไม้ประดู่ด้านหนึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมยาวขนาดเท่าใบลาน ใช้เป็นที่อัดใบลาน ที่จารเสร็จ วัดประดู่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ว่าขึ้นชื่อในเรื่องของผีดุ รวมถึง เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่ผู้คนพยายามสืบค้น จนมีชื่อเรียกว่า “วัดประดู่ มีรูอยู่ ๙ แห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ตรงไหนเปียกไม่ยอมแห้งให้แทงตรงนั้น”

รูปภาพ
รูปปั้นหลวงปู่แจ้ง ตั้งเด่นอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา


นอกจากนั้น ยังมีคนเล่าว่า ภายในสระน้ำมีเป็ดคู่หนึ่ง ตัวหนึ่งมีสีเงิน อีกตัวหนึ่งมีสีทอง ได้ออกมาว่ายน้ำเล่นบริเวณสระน้ำในวัด เมื่อพบเจอคนก็จะหลบหายไปในสระ และยังมีเรื่องเล่าอีกว่ามีพระที่เป็นทองคำหน้าตักประมาณ ๒ ศอก ตกลงหายไปในสระน้ำ งมหาอย่างไรก็ไม่เจอ จนหลวงพ่อเอี้ยงได้มาสร้างพระอุโบสถทับลงบนสระน้ำ

สมัยที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นมาที่วัดนั้น พระองค์ได้ทรงพบและสนทนาธรรมกับ “หลวงปู่แจ้ง” ซึ่งเป็นพระผู้ทรงอภิญญาและเชี่ยวชาญในการรักษาโรคด้วยการรดน้ำมนต์และใช้สมุนไพร ซึ่งในภายหลังพระองค์ก็ได้ทรงนิมนต์หลวงปู่แจ้งเข้าไปในพระบรมมหาราชวังหลายครั้งหลายครา และได้ถวายเครื่องราชศรัทธาที่สำคัญๆ อันทรงคุณค่าไว้ให้กับหลวงปู่แจ้ง

รูปภาพ
ปิ่นโตพระราชทาน


อาทิ เรือพร้อมเก๋งพระที่นั่ง ๔ แจว, พระแท่นบรรทม, ตาลปัตรนามาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” และ ตาลปัตร “นารายณ์ทรงครุฑ”, ตู้เล็กและตู้ทึบ, ปิ่นโต, บาตร, สลกบาตรพร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวอักษรย่อ “ส.พ.ป.ม.จ.” ย่อมาจากคำว่า “สมเด็จพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์” และกาน้ำทองแดงมีตราสัญลักษณ์, ตะเกียงเจ้าพายุ เป็นต้น

รูปภาพ
อัฏฐบริขารของหลวงปู่แจ้ง


ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา เพื่อเก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังได้จัดแสดงหุ่นดินสอพองรูปเกจิอาจารย์ดังในจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น หลวงพ่ออ้น วัดบางจาก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม, หลวงพ่อใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี, หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ, หลวงพ่อคลี่ วัดประชาโฆสิตาราม, สมเด็จพระธีรญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค 1 และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม-เจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อีกทั้งยังมีหุ่นดินสอพองแฝดอิน-จันแฝดสยาม ผีเรือน เป็นต้น

รูปภาพ
พระรูปรัชกาลที่ ๕ ที่แกะสลักจากไม้หอม
ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา



นอกจากหุ่นปั้นด้วยดินสอพอง ยังมี พระรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่แกะสลักจากไม้หอม รวมทั้ง สิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณอีกมากมาย

ปัจจุบัน วัดประดู่ ตั้งอยู่ที่ ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

รูปภาพ
พระอุโบสถวัดประดู่


(มีต่อ ๘)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทอดพระเนตรยามเช้าที่วัดพวงมาลัย

“...วันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จไปทอดพระเนตรวัดพวงมาลัย แล้วเสด็จไปประพาสตลาดคลองอัมพวา เสด็จเป็นอย่างประพาสต้นเหมือนเมื่อเสด็จวัดประดู่ แต่วันนี้เกิดเหตุขัดข้องประพาสไม่สะดวก ด้วยในเมืองสมุทรสงครามนี้เขามีข้อบังคับกวดขัน ถ้าเรือหรือผู้คนแปลกประหลาดมาในท้องที่ ราษฎรบอกกำนันผู้ใหญ่บ้านๆ ต้องรีบลงเรือไปทักถาม เป็นธรรมเนียมบ้านเมืองอยู่ดังนี้...”

รูปภาพ

วัดพวงมาลัย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ เดิมชื่อว่า “วัดพ่วงมาลัย” โดยเรียกตามชื่อของผู้ที่บริจาคที่ดินให้สร้างวัดคือ สัสดีพ่วงและนางมาลัย หลังจากสร้างเสร็จก็ได้อาราธนา พระครูวินัยธรรมแก้ว หรือหลวงพ่อแก้ว จากวัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อแก้วได้สร้างเสนาสนะ กุฏิ ๗ หลัง ศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง พระอุโบสถ และเจดีย์แบบมอญที่จำลองแบบมาจากพม่า เรียกว่าเจดีย์หงษาวดี ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดที่มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ ในจังหวัด แม้ว่าเจดีย์จะผุพังไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีความงดงามหลงเหลืออยู่

รูปภาพ

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ภาพวาดฝาผนังหลังพระประธานที่เป็นต้นไทร ต่างจากวัดอื่นที่เป็นต้นโพธิ์ ปูนปั้นเรื่องทศชาติชาดกเรื่องนรก-สวรรค์ ซึ่งบางภาพใช้กระเบื้องลายคราม และเปลือกหอยประดับสร้างความแปลกตายิ่งนัก พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซุ้มเรือนแก้ว และมีศาลาท่าน้ำอายุเก่าแก่หลังหนึ่งที่มีภาพวาดสวยงามที่หาดูได้ยาก

รูปภาพ

ปัจจุบัน วัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ที่ ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

รูปภาพ


(มีต่อ ๙)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 14:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงษ์

ในวันที่ ๒๒ นั้นเอง หลังจากที่ทรงไปวัดพวงมาลัยแล้ว ก็ได้ไปที่วัดดาวดึงษ์

รูปภาพ

“...เสด็จกลับจากประพาสคลองอัมพวาแล้ว จึงได้ออกเรือเลยไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงษ์ เสร็จแล้วแจวต่อไปบางน้อย ประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับทางคลองแม่กลอง มาถึงที่ประทับเวลาสองทุ่ม...”

รูปภาพ

วัดดาวดึงษ์ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.๒๑๒๔ รัชสมัยของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑) มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑ ไร่ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ทำด้วยศิลาแลง

รูปภาพ

บริเวณหน้าวัดซึ่งมีแม่น้ำราชบุรีไหลผ่านนั้น เป็นสถานที่ตักน้ำมูรธาภิเษก ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา รวมทั้ง ใช้ในการทำน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีสำคัญๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ที่มีชื่อว่า “เบญจสุทธคงคา” นอกจากนี้ บริเวณท่าน้ำหน้าวัดยังมีศาลที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโพธิ์” ที่ชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบัน วัดดาวดึงษ์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

รูปภาพ


(มีต่อ ๑๐)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 06:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสต้นเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งทรงแวะวัดต่างๆ คือ วัดประดู่ วัดพวงมาลัย และวัดดาวดึงษ์ ซึ่งยังเหลืออีกหนึ่งวัดที่สมุทรสงคราม คือ วัดอัมพวัน จากนั้นได้เสด็จไปเพชรบุรี แต่การเสด็จเพชรบุรีในครั้งนั้นไม่ได้ทรงมีโอกาสประพาสตามสถานที่ต่างๆ มากนัก ทรงพักอยู่เพชรบุรีได้ไม่นาน ก็ทรงออกเดินทางด้วยเรือเป็ดทะเลแล่นออกจากปากน้ำบ้านแหลมมุ่งสู่สมุทรสาคร

ทรงแวะชมวัดอัมพวัน

ใน “จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕” ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้บันทึกไว้ระบุว่า

“...วันที่ 23 กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จไปที่ว่าการเมือง แล้วเสด็จวัดอัมพวัน กลับมาถึงที่ประทับเวลาค่ำ พรุ่งนี้กำหนดจะเสด็จเมืองเพชรในกระบวนใหญ่ เพราะจะต้องข้ามอ่าวไปทะเลปากแม่น้ำแม่กลองไปเข้าบางตะบูน แต่น้ำมาก กว่าเรือจะออกอ่าวได้ต่อเวลาเที่ยง...”

วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมเรียกว่า วัดอัมพวา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นวัดที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงอุทิศบริเวณนิวาสถานให้เป็นที่สร้างวัดถวายแด่พระมารดาคือ สมเด็จพระรูปสิริโสภาภาคย์มหานาคนารี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จพระราชสมภพ ณ สถานที่แห่งนี้

รูปภาพ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะใหญ่ และทรงสร้าง พระปรางค์เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร และพระบรมอัฐิบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปรางค์มีลักษณะแปลกที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกพระปรางค์องค์นี้ว่า พระปรางค์มีระเบียงล้อมรอบรูปบานบน คือยอดปรางค์กลมโตแล้วค่อยๆ สอบเล็กลงมาทางข้างล่าง ฐานล่างใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม

รูปภาพ

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงสร้างพระวิหารและพระที่นั่งทรงธรรมขึ้นอีกด้วย และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอัมพวันเจติยาราม” สิ่งสำคัญภายในวัดแห่งนี้ นอกจากพระอุโบสถ วิหาร และพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว ก็ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้นตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไกรทอง อิเหนา เป็นต้น

และยังมีภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ซึ่งเป็นส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงฝีพระหัตถ์ด้วย สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินต้นที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ได้ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ และต้นจันไว้เป็นที่ระลึก

ปัจจุบัน วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ที่ ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

รูปภาพ


(มีต่อ ๑๑)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทรงเรือเป็ดมุ่งสู่สมุทรสาคร แวะทำครัวเย็นที่วัดโกรกกราก

“...วันที่ ๒๙ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นออกกระบวนใหญ่ ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม ทอดพระเนตรเห็นเรือเป็ดทะเลทอดอยู่ที่นั่นหลายลำ รับสั่งว่าเรือเป็ดทะเลมีประทุนน่าจะสบายดีกว่าเรือฉลอม ใครกราบทูลไม่ทราบว่า เรือเป็ดทะเลแล่นใบเสียดดีกว่าเรือฉลอมด้วย จึงตกลงว่าจะลองเสด็จเรือเป็ดทะเลแล่นใบจากบ้านแหลมตรงมาเข้าปากน้ำท่าจีน...เสด็จมาถึงท่าจีน พอเวลาบ่าย แวะขึ้นซื้อเสบียงที่ตลาดบ้านท่าฉลอมแล้ว เรือขบวนใหญ่ยังมาไม่ถึง จึงไปพักทำครัวเย็นที่วัดโกรกกราก...”

รูปภาพ

วัดโกรกกราก นั้นไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่ามีอายุเกือบ ๒๐๐ ปี คำว่า โกรกกราก นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “ก๊กกั๊ก” ซึ่งเป็นชื่อเรียกชุมชนชาวจีนที่ทำกินในแถบนั้น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือ ‘หลวงพ่อปู่’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำจากศิลาแลง ไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีเพียงตำนานเล่าว่า เดิมนั้น ‘หลวงพ่อปู่’ อยู่ที่วัดช่องสะเดา ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นวัดร้าง ต่อมาชาวรามัญบ้านกำพร้าได้สร้างพระอุโบสถของวัดกำพร้าขึ้น และขาดพระประธาน จึงได้ไปอัญเชิญพระพระพุทธรูป ๒ องค์ที่วัดช่องสะเดาเพื่อมาประดิษฐานยังพระอุโบสถหลังใหม่

เมื่อเรือที่อัญเชิญล่องมาจนถึงวัดโกรกกราก ก็เกิดฝนฟ้าคะนองตกลงมาอย่างหนัก ชาวบ้านจึงได้จอดเรือพักหลบฝน และอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่งบรืเวณหน้าวัด ในขณะนั้นชาวบ้านบ้านโกรกกรากทราบเรื่อง จึงได้ขอแบ่งเพื่อนำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดโกรกกราก ชาวรามัญบ้านกำพร้าไม่รู้ว่าจะยกองค์ไหนให้ จึงได้อฐิษฐานว่าหากองค์ใดอยากจะประดิษฐานที่วัดโกรกกรากนี้ ก็ให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อจะยกองค์พระลงเรือเดินทางต่อ ก็มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งยกเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น จึงได้มอบพระพุทธรูปองค์นั้นให้ประดิษฐาน ณ วัดโกรกกราก มาจนกระทั่งทุกวันนี้

รูปภาพ
หลวงพ่อปู่


‘หลวงพ่อปู่’ เป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนชาวสมุทรสาคร โดยเฉพาะชาวประมงเป็นอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่เตรียมออกหาปลา ก็จะพากันไปกราบไหว้ เพื่อขอให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง และสิ่งที่ทำให้หลวงพ่อปู่ไม่เหมือนพระพุทธรูปที่ใดๆ ก็คือการใส่แว่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากสมัยหนึ่งเกิดโรคตาแดงระบาดไปทั่ว รักษาอย่างไรก็ไม่หายขาด ชาวบ้านเลยมาบนบานหลวงพ่อปู่ ว่าถ้าหายจากโรคตาแดง จะนำแว่นตามาถวาย พอชาวบ้านหายจริงๆ ก็นำแว่นมาถวายและสวมให้ เลยเป็นข้อที่ปฏิบัติสืบกันมาจนปัจจุบัน

‘หลวงพ่อปู่วัดโกรกกราก’ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ที่เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้งสี่ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน วัดโกรกกราก ตั้งอยู่ที่ ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

รูปภาพ


(มีต่อ ๑๒)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รับอรุณยามเช้าเมืองสมุทรสาคร พักทำครัวเช้าที่วัดบางปลา

“...วันที่ ๓๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสงคราม ขึ้นไปตามลำน้ำ ไปพักทำครัวเช้า ที่วัดบางปลา ส่วนขบวนเรือใหญ่ให้ตรงขึ้นไปจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี ระยะทางวันนี้ไกลด้วยไม่สนุกด้วย...”

วัดบางปลา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๒๐ ถือเป็นวัดที่สำคัญของชาวมอญ ตามธรรมเนียมแล้วชาวมอญจะต้องมีวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจเกี่ยวกับศาสนาและเทศกาลงานต่างๆ ในการเสด็จประพาสต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ นั้นเป็นช่วงที่หลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ หลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือศรัทธาของผู้คนในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก

รูปภาพ

มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” เคยเสด็จล่องเรือกลไฟผ่านมาที่วัด และได้มาลองวิชาอาคมกับหลวงปู่ ปรากฏว่าเสด็จเตี่ยยอมรับนับถือในวิทยาคมของหลวงปู่ จึงได้สร้างซุ้มศาลายาวเชิงชายแกะสลักสวยงาม ไว้ตรงทางเดินของวัด จากศาลาท่าน้ำขึ้นไปจนถึงหมู่กุฏิ ถวายให้กับหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด

นอกจากพระอุโบสถแล้ว สิ่งสำคัญภายในวัดยังมีศาลาท่าน้ำ ๔ สี่หลัง โดยหลังที่เก่าที่สุดเป็นศาลาแปดเหลี่ยม หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีมุขยื่น หน้าบันของมุขประดับด้วยไม้ฉลุ มีสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรม ส่วนอีกสามหลังเป็นอาคารไม้ทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมฝืนผ้า

รูปภาพ

นอกจากนี้ ยังมีวิหารจตุรมุขริมน้ำ ประดิษฐานรูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาส ๓ รูป และยังมีธรรมาสน์เก่าแก่ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก ทรงมณฑปลวดลายตกแต่งเป็นลายมังกรหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีลูกแก้วสีแดงขนาดใหญ่ และขณะนี้ทางวัดกำลังดำเนินการจัดทำ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดบางปลา” โดยใช้โรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่าของวัดที่มีความสวยงามเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนทั่วไป

ปัจจุบัน วัดบางปลา ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

รูปภาพ


(มีต่อ ๑๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
องค์พระปฐมเจดีย์


หลังจากที่กระบวนเสด็จได้แวะทำครัวเช้าที่วัดบางปลา จ.สมุทรสาคร กระบวนเรือก็ได้เสด็จไปแวะทำครัวเย็นที่วัดตีนท่า ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้บันทึกไว้ว่า “เป็นวัดที่ศาลารวนเรจวนจะหักพัง” ซึ่งจากการตรวจสอบในปัจจุบันก็ไม่พบว่ามีวัดตีนท่าปรากฏอยู่ในข้อมูลของวัดในจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าน่าจะเป็นวัดร้างไปแล้ว

ประพาสพระปฐมเจดีย์

จากสมุทรสาคร กระบวนเรือได้ล่องมาทางนครชัยศรี และประทับแรม จนถึงรุ่งเช้าจึงได้เสด็จโดยรถไฟไปยังพระปฐมเจดีย์

“...วันที่ ๑ สิงหาคม เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ เจ้าคุณสุนทรเทศาแกงไก่ดีพอใช้ เพราะไก่พระปฐมเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วย...”

รูปภาพ
พระเจดีย์องค์เดิมจำลอง


ประวัติการสร้างพระปฐมเจดีย์นั้นไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่จากการพิจารณาจากพระเจดีย์องค์เดิมที่เป็นรูปคล้ายบาตรคว่ำ แบบเจดีย์สาญจีในอินเดีย ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงมีผู้สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้อาจจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน

แต่ทั้งนี้รูปลักษณะของพระเจดีย์องค์เดิมนั้น ก็จะเห็นได้ว่ามีการสร้างซ่อมแซมต่อเติมมาหลายยุคหลายสมัย นอกจากนั้น จากโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบมากในบริเวณนี้ อยู่ในสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าอย่างน้อยที่สุดองค์พระปฐมเจดีย์คงจะมีอายุอยู่ในช่วงเวลานั้น

รูปภาพ
ภาพเขียนที่แสดงให้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน
ที่สร้างครอบทับพระเจดีย์องค์เดิม



อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชอยู่นั้น ได้เสด็จธุดงค์มาที่นครปฐม และได้พบองค์พระสถูปเจดีย์ที่ปรักหักพัง ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์องค์แรกสุดที่สร้างขึ้นในประเทศแถบนี้ จึงได้พระราชทานนามว่า “พระปฐมเจดีย์” และความที่พระเจดีย์มีขนาดใหญ่ คือ สูง ๓๙ เมตร จึงทรงคิดว่าภายในน่าจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ดังนั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ก่อเป็นพระเจดีย์ใหญ่หุ้มองค์เจดีย์เดิมสูงประมาณ ๑๒๐ เมตร พร้อมทั้งสร้างวิหารทั้ง ๔ ทิศ และระเบียงล้อมรอบ หอระฆังด้านนอกพระระเบียง ๒๔ หอ พระอุโบสถ โรงธรรม พร้อมทั้งรูปจำลองพระปฐมเจดีย์องค์เดิม เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จฯ มายกยอดพระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ และโปรดให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีทองพระมหาเจดีย์ทั้งองค์

รูปภาพ
พระร่วงโรจนฤทธิ์


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดหล่อพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย จากพระพุทธรูปเก่าที่ทรงพบที่เมืองศรีสัชนาลัย เพียงส่วนพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท ถวายนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” และอัญเชิญไปประดิษฐานในซุ้มด้านหน้าของวิหารด้านทิศเหนือ พร้อมมีรับสั่งว่าเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ที่ฐานของพระร่วงโรจนฤทธิ์ พร้อมกันนั้นยังได้โปรดฯ ให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

รูปภาพ
พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖


ครั้งถึงรัชสมัยของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนา และได้เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระปฐมเจดีย์ พร้อมกับทรงบรรจุพระบรมราชสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ใต้ฐานชุกชีพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ สำหรับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดมา

นอกจากสิ่งสำคัญภายในวัดดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ยังมีพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนา ประดิษฐานอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศใต้ และภายในซุ้มพระระเบียงคดด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปางและสมัยต่างๆ เป็นระยะๆ ส่วนที่พระวิหารด้านทิศตะวันออก เป็นพระวิหารหลวง หลังคาลด ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รูปภาพ
พระพุทธรูปศิลาขาว
ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศใต้



และที่มุขด้านหน้าของวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธสิหิงค์จำลอง ที่ผนังด้านหลังพระประธานเป็นภาพจิตรกรรม แสดงให้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบันที่สร้างครอบทับพระเจดีย์องค์เดิม และที่ผนังด้านข้างเป็นภาพแถวของเทวดา ครุฑ นาค และนักบวชต่างศาสนา ฯลฯ หันหน้านมัสการพระปฐมเจดีย์ นอกจากนั้น ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุที่พบในเมืองนครปฐม

ปัจจุบัน วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ที่ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

รูปภาพ
รูปท้าวจตุโลกบาลประจำทิศที่สลักบนเสมา


:b44: พระร่วงโรจนฤทธิ์ หรือ “หลวงพ่อพระร่วง”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19289

:b44: “หลวงพ่อประทานพร” และ “หลวงพ่อขาว”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910


(มีต่อ ๑๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2008, 07:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระประโทณเจดีย์


ล่องเรือมาประพาสต่อที่พระประโทณ

เมื่อทรงไหว้พระที่พระปฐมเจดีย์แล้ว ก็เสด็จลงเรือล่องมาประพาสที่พระประโทณ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เล่าไว้ในบันทึกว่า

“แล้วลงเรือล่องมาประพาสที่พระประโทณ มาพบมิวเซียมใหญ่ซึ่งโจษกันว่ามีอยู่นั้น คือท่านสมภารวัดพระปะโทณเป็นผู้เก็บรวบรวมสะสมของโบราณ ที่ขุดได้ในแถวพระปฐมพระปะโทณไว้มาก แต่ข่าวว่าเก็บซุกซ่อน มิได้ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดดูเป็นอันขาด ครั้นเสด็จไปถึงไปถามถึงเรื่องของเก่า ท่านสมภารก็ยินดีเชิญเข้าไปในกุฏิ แล้วยกหีบห่อของโบราณที่ได้สะสมไว้มาถวายให้ทอดพระเนตร และยอมให้ทรงเลือกแล้วแต่จะพอพระราชประสงค์ ทรงเลือกได้เครื่องสัมฤทธิ์ของโบราณ คือพระพุทธรูปเป็นต้น ซึ่งเป็นของแปลกดีหลายอย่าง...”

รูปภาพ
พระอุโบสถของวัด
มองจากด้านบนพระเจดีย์



พระประโทณเจดีย์ เป็นปูชนียสถานสำคัญของวัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ สมัยที่อาณาจักรทวารวดีรุ่งเรือง เพราะมีวัตถุโบราณสมัยทวารวดีที่ค้นพบได้ในบริเวณวัดมากมาย เช่น เหรียญเงินที่จารึกอักษร ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส อ่านได้ใจความว่า “ศรีทวารวดี ศวรบุญยะ” แปลว่า บุญของพระราชาแห่งศรีทวารวดี นอกจากนี้ยังมีเศียรพราหมณ์ ภาพปูนปั้นรูปสัตว์ ภาพคน ภาพเทวดาที่เกี่ยวกับวรรณคดีตามคติในศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธนิกายมหายาน

รูปภาพ
อีกมุมหนึ่งขององค์พระประโทณเจดีย์


จากการสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย สรุปได้ว่า พระประโทณเจดีย์เป็นสังฆาวาสโบราณร่วมสมัยกับองค์พระปฐมเจดีย์

ที่มาของชื่อวัด แปลได้สองนัย โดยนัยแรกแปลว่า “เจดีย์ของโทณ” หมายถึงเจดีย์ที่โทณพราหมณ์เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุสมบัติอันมีค่าของตระกูลพราหมณ์ และเป็นเจดีย์ที่ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนอีกนัยหนึ่ง แปลว่า “เจดีย์แห่งทะนาน” หมายถึงเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุทะนาน ซึ่งใช้เป็นที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แบ่งให้แก่เจ้าเมืองทั้ง ๘ เพื่อนำไปสักการบูชา

รูปภาพ
บันไดทางขึ้นสู่องค์พระเจดีย์
ซึ่งด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่



โดยมีตามตำนานเล่าสืบกันมาว่า ตำบลพระประโทณเป็นที่อยู่ของพราหมณ์ตระกูลหนึ่งเรียกว่า “โทณพราหมณ์” เข้าใจว่าพราหมณ์ตระกูลนี้มาจากอินเดีย มาทำการค้าขายในสุวรรณภูมิแล้วตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พราหมณ์ตระกูลนี้ได้นำ “ทะนานทอง” ที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย โดยได้สร้างเรือนหินเป็นที่เก็บรักษาทะนานทอง

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๑๓๓ ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ ผู้สร้างเมืองนครชัยศรี ได้ขอทะนานทองจากพราหมณ์ตระกูลนี้ เพื่อจะส่งไปแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าแผ่นดินลังกา จำนวนหนึ่งทะนาน แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะถือเป็นของสูงศักดิ์สิทธิ์ที่เหลืออยู่อย่างเดียวที่บรรพบุรุษนำข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินเดีย แต่ท้าวศรีสิทธิชัยได้ทำสัญญากับทางลังกาไปแล้ว และต้องการพระบรมสารีริกธาตุมาก จึงได้ยกพลไปนำทะนานทองมาจนได้ และส่งไปแลกพระบรมสารีริกธาตุกับลังกา

รูปภาพ
อนุสาวรีย์ยายหอมอุ้มพญาพาน
อีกหนึ่งตำนานเรื่อง “พญากงพญาพาน” ที่เล่าว่า
พญาพานสร้างพระประโทณเจดีย์เพื่อล้างบาป
ที่ฆ่ายายหอมผู้เป็นมารดาเลี้ยง
และสร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อล้างบาป
ที่ฆ่าพญากงพ่อของตนเอง



ครั้นถึงปี พ.ศ.๑๑๙๙ พระเจ้ากากวรรณดิศราช เจ้าเมืองละโว้ ได้ก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนศิลาที่บรรจุทะนานทอง แล้วให้นามว่า “พระประโทณเจดีย์” ซึ่งเจดีย์องค์นี้สูง ๕๐ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันได ๕๗ ขั้น พระประโทณเจดีย์ได้ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนปัจจุบันกรมศิลปากรก็ได้เข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์ในส่วนฐานของเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง

รูปภาพ
พระเจดีย์องค์เล็กที่หลวงพ่อชุ่มสร้างไว้


สิ่งสำคัญภายในวัดพระประโทณเจดีย์วรวิหารแห่งนี้ นอกจาก “พระประโทณเจดีย์” ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ใหญ่แล้ว ทางด้านตะวันออกของวัดยังมี เจดีย์จุลประโทณ ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ ที่ปัจจุบันเหลือเพียงซากให้เห็นเท่านั้น และยังมีเจดีย์เล็กอีกองค์หนึ่งซึ่งหลวงพ่อชุ่ม อดีตเจ้าอาวาสได้สร้างไว้ โดยนำพระพุทธรูปสมัยโบราณบรรจุในเจดีย์ และรอบผนังเจดีย์ก่อปูนและนำโบราณวัตถุสมัยทวารวดี อาทิ เศียรพราหมณ์ เศียรพระ และเศียรคนที่ขุดในบริเวณวัด มาฝังไว้ที่เจดีย์เล็กแห่งนี้ พร้อมทั้งนำถ้วยชามสังคโลกมาติดผนังเจดีย์ด้านใน และเจดีย์นี้เองก็ได้บรรจุอัฐิหลวงพ่อชุ่มไว้ด้วย

ปัจจุบัน วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ต.พระประโทณ อ.เมือง จ.นครปฐม

รูปภาพ
โบราณวัตถุสมัยทวารวดี
ที่ติดอยู่บนเจดีย์องค์เล็ก



(มีต่อ ๑๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร