วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่เจือ สุภโร ท่านเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี ธัมมธโร,
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ



ผมได้คัดลอกหลักธรรมคำสอนของหลวงพ่อเจือ สุภโร มาให้ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น มาให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติกันครับ และต่อนี้จะเป็นคำนำของผู้พิมพ์หนังสือคำสอนของหลวงพ่อท่านกล่าวไว้ครับ คิดว่าผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายคงจะมีปัญหาในการเริ่มปฏิบัติธรรมคล้ายคลึงกัน ดังนี้

ผมเคยอ่านหนังสือธรรมะและฟังเทปธรรมะมามาก อ่านแล้ว ฟังแล้ว ก็เกิดสติปัญญาขึ้นมาบ้าง แต่มองไม่เห็นความกระจ่างชัดในขั้นตอนของการฝึกและพัฒนาสติ เพื่อให้ถึงขั้นอริยมรรค อริยผล มีความเข้าใจได้เพียงตื้นๆ ว่า ต้องพยายามรักษาศีลและทำศีลให้บริสุทธิ์ หมั่นฝึกสมาธิ แล้วจะเกิดปัญญาถึงขั้นที่สำเร็จอริยมรรคอริยผล และเข้าใจว่าการที่จะฝึกปฏิบัติไปให้ถึงขั้นอริยมรรคอริยผล ก็มีอยู่เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องบวชเป็นพระ และเดินธุดงค์เข้าไปฝึกสมาธิในป่า ในเขา เหมือนพระอริยสงฆ์หลายท่านที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ฆราวาสหรือชาวบ้านธรรมดาๆ คงจะไม่มีโอกาส และไม่มีสิทธิ์ที่จะปฎิบัติเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายเช่นนั้น

ผมได้ตั้งใจฟัง ใคร่ครวญไตร่ตรองหลายสิบครั้ง จนเกือบจะจดจำคำพูดของหลวงพ่อได้ทุกคำ รู้สึกว่าเป็นสุดยอดของเทปธรรมะเท่าที่เคยได้สดับครับฟังมา และเป็นเทปอมตะฟังไม่รู้จักเบื่อ ทุกครั้งที่ฟังจะได้ข้อคิดและข้อปฎิบัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกว่าข้อปฏิบัติที่จะดำเนินไปให้ถึงขั้นอริยมรรค อริยผล ค่อยๆ ปรากฎโปร่ง โล่ง สว่างไสวขึ้นโดยลำดับ ไม่มืดแปดด้านหมือนก่อนที่จะฟังเทปม้วนนี้

หลวงพ่อได้บรรยายวิธีการฝึก และผลที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิตและสร้างสมาธิโดยละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน จากพื้นฐานขั้นต้น คือ “อินทรยสังวร ทำกายคงที่ ทำจิตคงที่” จนถึงขั้นสุดท้ายของ การเข้าสู่อริยมรรคอริยผล เปรียบเสมือนการชี้แนะให้เห็น “หลักกิโลเมตรของการฝึกและพัฒนาจิต” ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถตรวจสอบดูว่า เราปฏิบัติได้มรรคผลมาถึงขั้นไหนแล้ว และอยู่ห่างจากปลายทางอีกเท่าไร เป็นเหตุให้ไม่หลงทางและติดวกวนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งใน “ป่าธรรม”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


กุณฑลิยสุตตกถาเทศนา
โดย หลวงพ่อเจือ สุภโร

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
อิทานิ กุณฑริยสูตฺตกถํ ภาสิสฺสามีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ
สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพ


บัดนี้จะแสดงอธิบายขยายความในกุณฑริยสูตร อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ปริพพาชก ชื่อว่า “กุณฑริยะ” เป็นพระสูตรที่แสดงข้อปฏฺบัติแห่งโพธิปักขิยธรรม 7 หมวด 37 ประการโดยย่อ อันผู้ฟังฟังแล้ว ถ้าเข้าใจข้อปฏิบัติในพระสูตรนี้ ก็จะสามารถปฏิบัติไปตามให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้

ความในพระสูตรนี้มีว่า ครั้งหนึ่งปริพพาชกผู้หนึ่งชื่อกุณฑริยะเข้าไปเผ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้กล่าวปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เกิดความยินดีพอสมควรแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นั้นหลังจากบริโภคอาหารแล้ว ก็ออกจากอารามของตนไปสู่อารามอื่น และออกจากอารามอื่นไปสู่อารามอื่นอีก ข้อนี้เป็นเหมือนอาหารว่างของข้าพระองค์ เพราะเหตุที่ข้าพระองค์ออกจากอารามไปสู่อารามอื่น และออกจากอารามอื่นไปสู่อารามอื่นอีกนี้ ข้าพระองค์จึงได้พบ ได้เห็น ได้ยิน สมณะทั้งหลายในอารามนั้นๆ จับกลุ่มสนทนากัน ปรึกษาหารือกัน เพื่อเฟ้นหาถ้อยคำสำหรับข่มขี่ถ้อยคำของผู้อื่น เพื่อยกย่องเชิดชูถ้อยคำของตนให้สูงเด่น ข้าพระองค์ได้รู้ ได้เห็นสมณะทั้งหลายในอารามนั้นๆ อยู่ด้วยวิหารธรรมอย่างนี้ เมื่อกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ส่วนพระองค์อยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ตถาคตอยู่ด้วยวิชชาและวิมุติ”

กุณฑริยปริพพาชก จึงทูลถามว่า “อะไรเป็นเหตุแห่งวิชชาและวิมุติ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่งวิชชาและวิมุติ”

กุณฑริยปริพพาชก จึงทูลถามอีกว่า “อะไรเป็นเหตุแห่งโพชฌงค์ 7”

พระองค์ตรัสตอบว่า “สติปัฎฐาน 4 เป็นเหตุแห่งโพชฌงค์ 7”

กุณฑริยปริพพาชก จึงทูลถามอีกว่า “อะไรเป็นเหตุแห่งสติปัฏฐาน 4”

พระองค์ตรัสตอบว่า “สุจริต 3 เป็นเหตุแห่งสติปัฎฐาน 4”

กุณฑริยปริพพาชก จึงทูลถามอีกว่า “ อะไรเป็นเหตุแห่งสุจริต 3”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “อินทรียสังวรเป็นเหตุแห่งสุจริต 3”

เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว พระองค์ทางแสดงอินทรียสังวรว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้”

เมื่อเห็นรูปด้วยอาศัยตา ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่
ได้ยินเสียงด้วยอาศัยหู ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่
รู้กลิ่นด้วยอาศัยจมูก ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่
รู้รสด้วยอาศัยลิ้น ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่
รู้สิ่งถูกต้องกาย มีเย็นร้อน ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่
อ่อนแข็ง เป็นต้น ด้วยอาศัยกาย
รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ที่น่าพอใจหรือที่ไม่น่าพอใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้นกุณฑริยปริพพาชกได้ฟังอย่างนี้แล้ว จึงแสดงอาการชื่นชมยินดีแล้วก็ลาจากไป พระสูตรนี้แสดงว่า :

อินทรียสังวร เป็นเหตุแห่ง สุจริต 3
สุจริต 3 เป็นเหตุแห่ง สติปัฏฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7
โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่ง วิชชาและวิมุติ ดังนี้

ที่ว่า โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่งวิชชาและวิมุตินั้น หมายความว่า โพชฌงค์ 7 ช่วยให้อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น เพราะอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นจึงรู้แจ้ง เห็นแจ้ง อริยสัจทั้ง 4 ว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ ทั้งรู้ว่าไม่ใช่ตนอย่างแจ่มแจ้งด้วย เรียกว่า “วิชชา” เกิดขึ้น เพราะ “วิชชา” เกิดขึ้น เห็นแจ้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าไม่ใช่ตน “อวิชชา” ตัณหา อุปาทาน กรรม และ ทุกข์ ดับไปจากจิต จิตพ้นจาก “อวิชชา” ตัณหา อุปาทาน กรรม และทุกข์ จึงชื่อว่า วิมุติ โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่งวิชชาและวิมุติ ดังอธิบายมาโดยย่อๆ ดังนี้

โพชฌงค์ 7 ได้แก่ ธรรมเป็นส่วนช่วยให้ตรัสรู้อริยสัจ 4 มี 7 อย่าง คือ

สติสัมโพชฌงค์ มีสติจดจ้อง อริยสัจทั้ง 4 อยู่
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญารู้เห็นอริยสัจทั้ง 4 เป็นส่วนๆ พร้อมกันอยู่
วิริยสัมโพชฌงค์ มีความเพียรประคองจิต เพ่งจ้อง อริยสัจทั้ง 4 อยู่
ปีติสัมโพชฌงค์ มีความอิ่มกาย อิ่มจิต เห็นอริยสัจทั้ง 4 อยู่
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตสงบระงับ ไม่ข้องไม่กังวล เห็นอริยสัจทั้ง 4 อยู่
สมาธิสัมโพชฌงค์ ความรู้ของจิต เพ่งจ้อง อริยสัจทั้ง 4 อยู่
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตเห็น อริยสัจทั้ง 4 เฉยอยู่ ไม่คิดเอา ไม่คิดละ

ธรรมทั้ง 7 อย่างนี้ ชื่อว่า โพชฌงค์ หมายความว่าเป็นองค์ช่วย เป็นส่วนช่วย หรือเป็นเครื่องช่วยให้อริยมรรคทั้ง 8 มีกำลังเสมอกัน ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคี เมื่ออริยมรรคทั้ง 8 มีกำลังเสมอกันแล้ว “วิชชา” คือ ความรู้แจ้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคว่าไม่ใช่ตน และเห็นตนด้วย เรียกว่า “วิชชา” เกิดขึ้น เหมือนดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น

เมื่อ “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา” ก็ดับไป เพราะ “อวิชชา” ดับไป กิเลสทั้งหลายก็ดับไปด้วย เรียกว่า อริยผลเกิดขึ้น อริยผลก็คือ “วิมุติ” นั่นเอง เพราะกิเลสมี “อวิชชา” เป็นต้น หลุดพ้นไปจากจิต จึงชื่อว่า “วิมุติ” เรียกว่า “จิตหลุดพ้น” ความจริงกิเลสหลุดพ้นไปจากจิตนั่นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


“อวิชชา” มี 4 ขั้น ตัณหา อุปาทาน กรรม ก็มี 4 ขั้น วิชชาจึงมี 4 ขั้นด้วย เมื่อ “วิชชา” ขั้นต้นเกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ขั้นต้น อันเป็นขั้นของปุถุชนดับไป ทุกข์ของปุถุชนก็ดับไปด้วย ผู้นั้นจึงเป็น พระโสดาบัน

“วิชชา” ขั้นที่สองเกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ขั้นที่สอง อันเป็นขั้นของพระโสดาบันดับไป ทุกข์ของพระโสดาบัน ก็ดับไปด้วย ผู้นั้นจึงเป็น พระสกิทาคามี

“วิชชา” ขั้นที่สามเกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ขั้นที่สาม อันเป็นของพระสกิทาคามี ดับไป ทุกข์ของพระสกิทาคามี ก็ดับไปด้วย ผู้นั้นจึงเป็น พระอนาคามี

“วิชชา” ขั้นที่สี่เกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ขั้นที่สี่ อันเป็นของพระอนาคามี ดับไป ทุกข์ของพระอนาคามี ก็ดับไปด้วย จึงได้ชื่อว่าเป็น พระอรหันต์ เป็นผู้หมดกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีทุกข์ใดๆเหลืออยู่ในจิตในใจอีก จิตของท่านก็เป็นอิสระเต็มที่ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจึงไม่ต้องเกิดในที่ทั้งปวง เป็นผู้อันความทุกข์อะไรๆ จะเข้าไปรบกวนจิตใจของท่านไม่ได้อีกเลย จึ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง

“วิชชา” อันเกิดแต่อริยมรรคทั้ง 4 ขั้นนี้ไม่มีในปุถุชน ที่เราเรียกว่าวิชานั้นวิชานี้ ที่เราเรียนจนชื่อว่า เป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก วิชาอันนั้นไม่ใช่วิชชาในพระพุทธศาสนา เป็นวิชาในทางโลก ส่วนวิชชาใน พระพุทธศาสนาหมายถึง ความรู้แจ้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าไม่ใช่ตน อย่างแจ่มแจ้ง จนสมุทัยคือ สิ่งที่ทุกข์เกิดขึ้นพร้อม อันได้แก่ “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ต้องดับไปพร้อมกับทุกข์ดับไปด้วยนั้น เรียกว่า “วิชชา” ในพระพุทธศาสนา และที่ว่า โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่ง “วิชชาและวิมุติ” นั้น ก็เพราะ “วิชชา” เกิดขึ้นเมื่อใด “วิมุติ” ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที ทีนี้พระองค์ตรัสว่า “สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7” ความจริงโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้มี 7 หมวด ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 โพธิปักขิยธรรมมีถึง 7 หมวดอย่างนี้ แต่ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสเพียง 2 หมวด คือ ตรัสโพชฌงค์ 7 หมวดหนึ่ง กับสติปัฏฐาน 4 หมวดหนึ่ง ได้แก่ “ตรัสว่า โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุแห่ง “วิชชาและวิมุติ” กับตรัสว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่งโพชฌงค์ 7” ดังนี้ ดูคล้ายกับว่าพระองค์ตรัสโพธิปักขิยธรรมไม่ครบ 7 หมวด

ที่แท้พระองค์ตรัสครบทั้ง 7 หมวดทีเดียว เพราะโพธิปักขิยธรรมอีก 5 หมวดคือ สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อริยมรรคมีองค์ 8 ทั้ง 5 หมวดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 เมื่อพระองค์ตรัสว่าสติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่งโพชฌงค์ 7 จึงเท่ากับตรัสว่า สติปัฏฐาน4 พร้อมด้วย สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7 นั่นเอง

ความจริงโพชฌงค์ 7 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 เหมือนกัน แต่เมื่อวิปัสสนายังไม่เกิด ก็ทำหน้าที่เป็นโพชฌงค์ยังไม่ได้ ต่อเมื่อวิปัสสนาเกิดและเจริญขึ้นจนถึง สังขารุเปกขาญาณ โพชฌงค์ทั้ง 7 ประการจึงทำหน้าที่ได้ คือ ทำหน้าที่ช่วยประคองให้อริยมรรคทั้ง 8 ประการมีกำลังเสมอกัน ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคี “วิชชา” จึงเกิดขึ้นให้ถึง “วิมุติ” คือให้ “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” หลุดพ้นไปจากจิต จึงเรียกว่า “วิมุติ” ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ทีนี้สติปัฏฐาน 4 ถ้าเราดูตามตำราในพระสูตร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้และมีผู้แปลไว้นั้น ดูแล้วเข้าใจยาก รู้สึกว่าไม่น่าจะทำตาม ไม่ชวนให้ทำตาม ไม่อยากจะทำตาม ทั้งนี้เพราะเราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจได้แล้ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นขอน่าทำตาม ทำให้เกิดความยินดีที่จะทำตาม คำว่า “สติปัฏฐาน” เป็นชื่อสำหรับเรียกย่อๆ บอกลักษณะให้รู้ว่า “ความตั้งทั่วแห่งสติ” คำว่า “สติปัฏฐาน 4” ถ้าจะแปลให้เต็มความหมาย ก็จะต้องแปลว่า “ความมีสติกับสัมปชัญญะและอาตาปีตั้งทั่วอยู่ที่ 4 อย่าง” คือ ตั้งอยู่ที่กายด้วย ที่เวทนาด้วย ที่จิตด้วย ที่ธรรมด้วย จึงชื่อว่า สติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรม ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


ที่ชื่อว่า “โพธิปักขิยธรรม” ก็แปลว่า “ธรรมเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้” คือ เป็นธรรมให้ถึงความตรัสรู้อริยสัจจธรรมทั้ง 4 คือ ให้รู้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างแจ่มแจ้ง พร้อมกับรู้เห็นว่าไม่ใช่ตนอย่างแจ่มแจ้งด้วย สติปัฏฐาน 4 จึงต้องมีสติ 1 สัมปชัญญะ 1 อาตาปี 1 ตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม ดังนี้
สติกับสัมปชัญญะนั้นเป็นของคู่กัน สติมีที่ใด สัมปชัญญะก็มีที่นั้น สติตั้งอยู่ที่ใด สัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่นั้น ส่วน “อาตาปี” นั้นจะเกิดมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะหยุดนิ่งคงที่ ตั้งอยู่ที่กายที่จิตได้ “อาตาปี” จึงเกิดขึ้นได้ เพราะ “อาตาปี” ก็คือ “อานุภาพของสติสัมปชัญญะที่หยุดนิ่ง คงที่ตั้งอยู่ที่กายที่จิต” นั่นเอง และสติสัมปชัญญะจะหยุดนิ่ง คงที่ ตั้งอยู่ที่กายที่จิตได้ ก็ต่อเมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้น และ “สัมมาสมาธิ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าได้แก่ “รูปฌานทั้ง 4” เพราะเหตุนั้นเมื่อรูปฌานอันมี “ปฐมฌาน” เป็นต้น เกิดขึ้นเมื่อใด “มโนวิญญาณ” คือ “ความรู้ของจิตหยุดนิ่ง คงที่ เพ่งจ้อง ซึ่งอารมณ์ของกรรมฐานอยู่ สติสัมปชัญญะของจิตก็ต้องหยุดนิ่ง คงที่ ตั้งอยู่ที่กายที่จิตด้วยเมื่อนั้น “อาตาปี” จึงเกิดขึ้นได้ จึงสำเร็จเป็น “สติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรม” ได้

คำว่า “อาตาปี” ถ้าแปลตามพยัญชนะก็แปลว่า “มีความร้อน” คือ ทำให้กิเลสเร่าร้อน แต่จิตกลับเย็นสบาย พระอรรถกถาจารย์ ท่านแปลโดยความหมายว่า “ความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้ร้อน” และอธิบายว่าได้แก่ “สัมมัปปธาน 4” คือ ความเพียรชอบ 4 อย่าง ได้แก่

1. สังวรปธาน ความเพียรปิดกั้นบาปที่ยังไม่เกิด เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน ความเพียรเพื่อให้บาปที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องเสื่อมไป ดับไป
3. ภาวนาปธาน ความเพียรเพื่อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้ได้เกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน ความเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่ให้เสื่อมและให้เจริญงอกงามจนถึงความไพบูลย์บริบูรณ์เต็มที่ ดังนี้

“อาตาปี” จึงได้แก่ “ความร้อนอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพของสติสัมปชัญญะที่หยุดนิ่ง คงที่ ตั้งอยู่ที่กายที่จิต และ “ อาตาปี” นี้เป็นตัวทำให้สัมมัปปธาน 4 เกิดขึ้นด้วย “สติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรม” จึงได้แก่ ความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีอาตาปีตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม จึงเป็นเหตุให้เห็นแจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง 4 ได้บรรลุอริยผล

จึงเห็นได้ว่า “สติปัฏฐาน 4” จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสมาธิ อันเป็นองค์มรรคที่ 8 และพร้อมด้วย “อาตาปี” อันได้แก่ สัมมัปปธาน 4 เพราะเหตุนั้นสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้นเมื่อใด โพธิปักขิยธรรมอีก 4 หมวด คือ อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และอริยมรรคมีองค์ 8 จึงต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 แม้โพชฌงค์ 7 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 เหมือนกัน เพราะโพธิปักขิยธรรมทุกหมวด ย่อมเกิดดับร่วมกับ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 และสัมมาสมาธิ แต่ว่าโพชฌงค์ทั้ง 7เกิดขึ้นแล้ว เมื่อวิปัสสนายังไม่เกิด ก็ทำหน้าที่เป็นโพชฌงค์ยังไม่ได้ ครั้น สติปัฏฐาน 4 พร้อมด้วย สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และอริยมรรคมีองค์ 8 มีกำลังพอ วิปัสสนาเกิดขึ้นถึงสังขารุเปกขาญาณ โพชฌงค์ ทั้ง 7 ประการ จึงทำหน้าที่เป็นโพชฌงค์ได้ คือ เป็นเครื่องช่วยประคองให้อริยมรรคทั้ง 8 มีกำลังเสมอกัน ให้วิชชาและวิมุติเกิดขึ้น

เพราะเหตุนั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7” นั้น คำว่า “สติปัฏฐาน 4” จึงหมายความถึง โพธิปักขิยธรรม 6 หมวด คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อริยมรรคมีองค์ 8 รวมทั้ง 6 หมวดนี้แหละว่าเป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7 แม้พุทธพจน์ว่า “สุจริต 3 เป็นเหตุแห่ง สติปัฏฐาน 4” นั่นก็เหมือนกัน คือ เท่ากับมีความหมายว่า “สุจริต 3 เป็นเหตุแห่งโพธิปักขิยธรรม 6 หมวด” มี สติปัฏฐาน 4 เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นที่สุด และอินทรียสังวร คือ “กายคงที่ จิตคงที่ เป็นเหตุแห่งสุจริต 3” ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


อินทรียสังวร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ว่า มีกายคงที่ มีจิตคงที่ คือเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง เป็นต้นด้วยกาย ใจรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีกายคงที่ มีจิตคงที่ พระองค์แสดงว่า มีกายคงที่ มีจิตคงที่ ว่าเป็นอินทรียสังวร ก็เป็นปัญหาอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้กายคงที่ จิตคงที่ เป็นอินทรียสังวรเกิดขึ้นได้ ครั้นทดลองตั้งใจทำกายคงที่ทำจิตคงที่ไว้เนืองๆ เมื่อเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น รู้เย็นร้อน เป็นต้นด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้เนืองๆ ไม่นานเท่าไร ความคิดดูหมิ่นผู้อื่นที่เคยมีอยู่บ้างตามวิสัยของปุถุชนก็จะจืดจางไป กลับมีความเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้นแทน และความวู่วามต่างๆก็หายไป ความยับยั้งชั่งใจจึงเกิดมากขึ้น เป็นเหตุให้สุจริต 3 ซึ่งมีอยู่บ้างแล้วเจริญมากขึ้น จึงรู้ว่า วิธีเจริญอินทรียสังวร ก็ได้แก่ “การตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้เนืองๆนั่นเอง” ซึ่งเป็นเหตุให้สุจริต 3 เกิดขึ้น และสุจริต 3 ก็เป็นเหตุให้โพธิปักขิยธรรม 6 หมวดเกิดขึ้น โพธิปักขิยธรรม 6 หมวดเป็นเหตุให้โพชฌงค์ 7 เกิดขึ้น ได้แก่ โพชฌงค์ 7 ทำหน้าที่ช่วยให้อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น ก็คือ “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ต้องดับไปจากจิตทันทีเรียกว่า “วิมุติ” “วิชชา” คือ ความรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง 4 ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น เพราะอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น “วิมุติ” คือ อริยผล ก็เกิดขึ้น ดังนี้ แสดงว่า เราไม่ได้ละกิเลส แต่กิเลสละเราไปต่างหาก

กุณฑริยสูตรนี้ เมื่อเข้าใจวิธีปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกต้อง “วิสุทธิทั้ง 7 อย่าง” มี “ศีลวิสุทธิ” เป็นต้น ก็เกิดขึ้นพร้อมกับ อินทรียสังวร และสุจริต ทั้ง 3 และเกิดขึ้นเป็นสายคู่กันไปตามลำดับ จนถึงข้อที่ 7 สุดท้าย ชื่อว่า “ญาณทัสนวิสุทธิ” ก็เกิดขึ้นพร้อมกับวิชชาและวิมุติ เพราะเหตุนั้นเมื่อพูดถึง “โพธิปักขิยธรรม “ ก็เท่ากับพูดถึง “วิสุทธิ 7” ด้วยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าต้องการจะปฏิบัติให้บรรลุวิชชาและวิมุติ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ก็ตั้งใจเจริญอินทรียสังวร ให้สุจริต 3 เกิดขึ้น คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กายจะทำอะไรก็ไม่มีโทษ วาจาจะพูดอะไรก็ไม่มีโทษ จิตจะคิดอะไรก็ไม่มีโทษ คือ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นด้วย ไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นด้วย คือ ทำอะไรๆ ก็ไม่เป็นการเบียดเบียนแก่ตน ไม่เป็นการเบียดเบียนแก่ผู้อื่น ไม่เป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เมื่อไม่เป็นโทษอย่างนี้ จิตก็สบายนับว่าเป็นสุข สติสัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่กายดี จึงเป็นสติปัฏฐาน 4 ธรรมดาๆ แต่ยังไม่เป็นสติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรม เพราะ “อาตาปี” ยังไม่เกิด และเมื่อสติปัฏฐานธรรมดาๆ เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เรามาเจริญสติปัฏฐาน 4 ตามอุบายวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงแสดง ไว้เฉพาะ ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยหัวข้อใหญ่ๆถึง 14 หัวข้อ ถ้าเราปฏิบัติตามหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง มี อานาปานสติ สติปัฏฐาน เป็นต้น คือ มีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ ตั้งอยู่ที่กายทั่วกาย หายใจเข้า ก็รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออก ก็รู้ว่าเราหายใจออก ด้วยจิตใจธรรมดาๆ ไม่กด ไม่เก๊ก แต่มีสติรู้อยู่ที่กายทั่วกายเบาๆ ที่เรียกว่า มีสติหายใจเข้าอยู่ มีสติหายใจออกอยู่ ตามพระบาลีว่า “โส สโต วา อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ” แปลว่า “ภิกษุนั้นมีสติ หายใจเข้าอยู่ มีสติหายใจออกอยู่” นั่นเอง เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ครั้นความรู้ของจิตหยุดนิ่งได้เมื่อใด ก็เป็นสัมมาสมาธิเกิดขึ้น ครั้นสัมมาสมาธิเกิดขึ้นเมื่อใด สติก็หยุดนิ่ง สัมปชัญญะก็หยุดนิ่งด้วย “อาตาปี” จึงเกิดขึ้น สำเร็จเป็น สติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรม เกิดขึ้น พร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรมทุกหมวด กิเลสทั้งหลายจะค่อยเสื่อมไปๆ หมดไปๆ กุศลธรรมทั้งหลายจึงเกิดขึ้นๆ ปัญญาก็จะสว่างไสวมากขึ้นๆ ปัญญาสว่างไสวมากขึ้นเพียงใด ก็ย่อมรู้ย่อมเห็นตามความเป็นจริง สิ่งใดเป็นตน สิ่งใดไม่ใช่ตน เห็นทั้งสิ่งที่เป็นตนและสิ่งที่ไม่ใช่ตนด้วย เมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล้วยังไม่เลิกไม่ละ คงทำสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิต รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกอยู่อย่างนั้น สมาธิจะสูงขึ้นๆ สมาธิจะสูงสักเท่าไรก็ตาม เราไม่เลิกไม่ละการทำนั้น คงทำอยู่เนืองๆ โพธิปักขิยธรรมทุกหมวดมีกำลังมากขึ้นถึงขนาด วิปัสสนา จึงเกิดขึ้น แม้วิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว ก็คงทำอยู่อย่างนั้น วิปัสสนาจึงเจริญขึ้นจนถึง “สังขารุเปกขาญาณ” คือ ปัญญารู้เห็นความที่จิตเห็นสังขารทั้งหลายเฉยอยู่ โพชฌงค์ทั้ง 7 ประการก็ทำหน้าที่ช่วยให้อริยมรรคทั้ง 8 ประการมีกำลังเสมอกัน ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นเมื่อใด “อวิชชา” ก็ดับไปเมื่อนั้น กิเลสและความทุกข์จึงดับไปพร้อมกับ “อวิชชา” ดับด้วย เราจึงไม่ต้องตั้งใจละอะไรๆ สักอย่างเดียว บางอาจารย์สอนว่า ให้ปล่อยวางอย่างนั้น ให้ละอย่างนี้ อย่ายึดอย่างนั้น อย่ายึดอย่างนี้ ที่แท้ไม่ต้องปล่อย ไม่ต้องละอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่ต้องละ เราดูให้รู้ ให้เห็นเท่านั้น วิปัสสนาก็จะเกิดขึ้นจนถึงอริยมัคคสมังคี อริยผลจึงเกิดขึ้น พร้อมกับที่ “อวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ดังไปตามกำลังของมรรคนั้นๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


การจะดูให้รู้ ให้เห็น ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิต ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 พร้อมด้วย โพธิปักขิยธรรมทุกหมวด เมื่อสติปัฏฐาน 4 พร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรมทุกหมวดเกิดขึ้นแล้ว รักษาไว้ได้ไม่ให้เสื่อมไป ปัญญาก็จะเกิดขึ้นรู้เห็นตามความเป็นจริง ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตน และสิ่งที่เป็นตนด้วย ครั้นโพชฌงค์ทั้ง 7 เข้าทำหน้าที่เมื่อใด อริยมรรคทั้ง 8 ก็มีกำลังเสมอกัน ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคี เกิดขึ้น “วิชชา หรือ ปัญญาจึงเห็นแจ้ง เห็นชัด อริยสัจทั้ง 4 ว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งเห็นชัดว่าทุกข์ไม่ใช่ตน สมุทัยไม่ใช่ตน นิโรธไม่ใช่ตน มรรคไม่ใช่ตน เห็นชัดว่าไม่ใช่ตนพร้อมกันทั้ง 4 อย่าง สมุทัยคือ “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ก็ดับไป กิเลสและความทุกข์ จึงดับไปพร้อมกับ “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ที่ดับไปนั้น เราจึงไม่ต้องตั้งใจจะละอะไร ๆ สักอย่าง ทำถูกอุบายแล้วกิเลสมันละเราไปเอง คือ ถ้าเราทำ โสดาปัตติมรรคให้เกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” และ ทุกข์ของปุถุชนดับไป ก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าทำสกิทาคามิมรรคให้เกิดขึ้น “อวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” และทุกข์ของพระโสดาบันดับไป ก็เป็นพระสกิทาคามี ถ้าทำอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้น “อวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” และทุกข์ของพระสกิทาคามีดับไป ก็เป็นพระอนาคามี ครั้นทำอรหัตตมรรคให้เกิดขึ้น “อวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” พร้อมด้วยทุกข์ทั้งปวงดับหมด เป็นผู้ไม่มีทุกข์ เรียกว่าเป็นพระอรหันต์

การที่ใครๆ จะปฏิบัติให้ถึงมรรคผลเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์นั้น จึงไม่ต้องคิดละอะไรทั้งสิ้น ที่แท้การคิดว่า จะละความโลภ จะละความโกรธ จะละความหลง คิดจะละอย่างนั้นมันกลับไม่ถูกอุบาย เพราะเราจะละสิ่งใด เราต้องดูให้รู้เห็นสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ว่ามันไม่ใช่เรา และรู้ว่าเรายึดมันไว้ด้วยอำนาจความหลง เรายึดมันไว้คิดว่ามันเป็นเราบ้าง เป็นของเราบ้าง ร่างกายของเรานี้เป็นก้อนทุกข์ เรามาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้แล้ว เพราะเหตุที่เรามี “อวิชชา ” คือความไม่รู้แจ้ง ทำให้เราไม่รู้จักตนตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้สำคัญเอาขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน จิตจึงยึดขันธ์ 5 นั้นว่าเป็นตน ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เราจะนึกปล่อยนึกวางอย่างไรก็ไม่ได้ผล เพราะว่าความยึดนี้ เรายึดด้วยอำนาจความหลงอันเกิดจาก “อวิชชา” เมื่อ “อวิชชา” ยังไม่ดับ ความยึดยังยึดอยู่อย่างนั้น ครั้นเราทำการดูอยู่ จนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตน “วิชชา” ก็เกิดขึ้น “อวิชชา” ดับไป ความหลงก็ดับไปด้วย ความยึดคืออุปาทานในขันธ์ทั้ง 5 ก็ดับด้วย ทุกข์จึงดับไปด้วย แต่ขันธ์ 5 ยังอยู่ เราไม่ต้องตั้งใจปล่อย ไม่ต้องตั้งใจวาง ไม่ต้องตั้งใจละอะไรทั้งสิ้น หลักความจริงมีอยู่อย่างนี้

เมื่อเรารู้หลักความจริงได้เช่นนี้แล้ว ต้องการให้ทุกข์ดับเพื่อประสพความสุขที่แท้ริงไม่ใช่สุขสมมุติ ก็ตั้งใจทำอุบายให้ “วิชชาเกิดขึ้น” เพื่อให้”อวิชชาดับไป” โดยตั้งใจเจริญอินทรียสังวร พร้อมกับทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน 40 อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วนั้น ซึ่งเป็นอุบายให้สติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้น ครั้นศีลบริสุทธิ์ สมาธิเกิดขึ้นก็เป็น “สัมมาสมาธิ” อันเป็นองค์อริยมรรคที่ 8 เกิดขึ้น อริยมรรคอีก 7 องค์มี สัมมาทิฎฐิ เป็นต้น ก็เกิดขึ้นเป็นบริวาร คือ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันกับสัมมาสมาธินั้น โพธิปักขิยธรรมทั้ง 7 หมวด 37 ประการ ก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสมาธิด้วย และสัมมาสมาธิตั้งอยู่ได้นานเพียงใด โพธิปักขิยธรรมทั้ง 7 หมวดก็ตั้งอยู่ได้นานเพียงนั้น เมื่อตั้งอยู่ได้นาน โลกียปัญญาในทางธรรม ก็เกิดเจริญขึ้นได้มาก ครั้นมีกำลังพอ วิปัสสนาก็เกิดขึ้น เมื่อวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว ยังรักษาสัมมาสมาธิไว้ได้อยู่ วิปัสสนูปกิเลสก็เกิดไม่ได้ วิปัสสนาจึงดำเนินไปจนอริยมัคคสมังคี คือ “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา” และทุกข์ก็ต้องดับไป เรียกว่า “วิมุติ” จึงประสพความสุขที่แท้จริง เพราะ “วิชชา” เกิดขึ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อ “วิชชา” เกิดขึ้นครบทั้ง 4 ขั้น “อวิชชา” ก็ดับหมดครบทั้ง 4 ขั้น เป็นผู้หมด “อวิชชา” และหมดทุกข์ด้วย หมด “อวิชชา” ก็เป็นผู้อยู่ด้วย “วิชชา” และ “วิมุติ” เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่กุณฑริยปริพพาชกว่า “ตถาคต อยู่ด้วยวิชชาและวิมุติ” เพราะ “อวิชชา” ของพระองค์ดับหมด “วิชชา” ของพระองค์เกิดขึ้นครบทั้ง 4 ขั้น วิมุติของพระองค์ก็เกิดขึ้นครบทั้ง 4 ขั้น จึงชื่อว่า อยู่ด้วย “วิชชา” และ “วิมุติ” คือ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นสุขอย่างยิ่ง “วิมุติ” แปลว่าหลุดพ้น “วิชชา” แปลว่า “รู้แจ้ง” สิ่งใดไม่ใช่ตน ก็รู้อย่างแจ่มแจ้งว่าไม่ใช่ตน สิ่งใดเป็นตนก็รู้อย่างแจ่มแจ้งว่า นี่เป็นตน นั่นไม่ใชตน เปรียบเทียบกันได้ เอาสิ่งที่เป็นตนเปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่ใช่ตนได้ รู้ชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างนี้เรียกว่า “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา” จึงดับ ตัณหา อุปาทาน และกรรมก็ดับด้วย เรียกว่า “วิมุติ” ดังนี้

การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าทำถูกวิธีก็ไม่ใช่เป็นของยาก ทำสติสัมปชัญญะให้ตั้งอยู่ที่กายที่จิต แล้วก็เจริญสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น เดินอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ชัดทั่วกายว่าเราเดินอยู่ ยืนอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ชัดทั่วกายว่าเรายืนอยู่ นั่งอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ชัดทั่วกายว่าเรานั่งอยู่ นอนอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ชัดทั่วกายว่าเรานอนอยู่ ตั้งกายไว้อย่างใดๆ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ชัดทั่วกายที่ตั้งไว้อย่างนั้นๆ ด้วยจิตใจธรรมดาๆ พร้อมกับตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้ด้วย ทำอยู่อย่างนี้เนืองๆ อินทรียสังวร ก็จะแก่ขึ้นๆ อินทรียสังรแก่ขึ้นเท่าใด สุจริต 3 ก็แก่ขึ้นเท่านั้น สุจริต 3 แก่มากเท่าใด สติสัมปชัญญะที่กายที่จิตก็จะแก่มากขึ้นเท่านั้น ทั้งกายทั้งจิตก็จะเบาสบายมากขึ้นเพียงนั้นด้วย ครั้นสัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้เมื่อใด สติปัฏฐาน 4 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสมาธิได้ทันที เมื่อสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้นแล้ว ก็คงทำอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปนึกเอานึกละอะไร สิ่งดีที่เกิดขึ้น เราก็ไม่นึกเอา สิ่งชั่วเกิดขึ้น เราก็ไม่นึกละ อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ดู ดู ดู ดู ดูอยู่อย่างเดียว การดูอยู่อย่างเดียวนี่เป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” เป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์ คือ เป็นเหตุให้อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น

“ที่สุด 2 อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ” ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั้นมีว่า ที่สุดสองอย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค ทำตนให้พัวพันอยู่ในความสุขทางกามอย่างหนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้เป็นทุกข์เปล่าอย่างหนึ่ง กามสุขัลลิกานุโยค ก็คือ สิ่งใดดีเป็นที่ชอบใจเรา เราต้องการเราอยากได้ ชื่อว่าเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ส่วนสิ่งที่ชั่วเราตั้งใจจะละ ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ที่กล่าวมานี้เป็น กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกลมถานุโยคอย่างละเอียด ถ้ากามสุขัลลิกานุโยคอย่างหยาบ ก็ได้แก่ ความต้องการเพศตรงข้าม ผู้ชายก็ต้องการมีเมียมากๆ ผู้หญิงก็ต้องการผ่านผู้ชายหลายๆ คน ส่วนอัตตกิลมถานุโยคอย่างหยาบก็ได้แก่ การทรมานตนเพื่อจะให้กิเลสเหือดแห้งไป เช่น นอนบนหนาม นอนบนร่างร้านแล้วก่อไฟไว้ข้างใต้ ลนให้ร้อน ย่างให้ร้อน ยืนขาเดียวหรือยืนอย่างเดียว ไม่นั่งไม่นอน อย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยคอย่างหยาบ ซึ่งชาวอินเดียเขาทำกัน ถ้าเราทำสติไว้ที่กายไว้ที่จิต รู้ทั้งภายในกาย ภายนอกกายอยู่ สมาธิเกิดขึ้น เกิดความเบาความสบาย จิตใจปลอดโปร่งเบาสบาย เราต้องการจะให้ความปลอดโปร่งเบาสบายอยู่ที่จิตใจของเราตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชีวิต ความต้องการอยากจะให้ความสบายๆ อยู่กับเราอย่างนี้แหละ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อย่างละเอียดแล้ว กามแปลว่าความใคร่ สิ่งน่าใคร่ทั้งปวงในโลก เป็นวัตถุกามทั้งสิ้น คือ เป็นเหตุให้กิเลสกามกำเริบ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 11:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อใดความอึดอัดใจเกิดขึ้น เราต้องการให้ดับไป หายไป พ้นไป หาอุบายต่างๆ เพื่อจะทำให้พ้นไป ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคอย่างละเอียด เพราะต้องการจะให้พ้นไป ความอึดอัดใจก็ไม่ดับ จึงเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค มันจะดึก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เราดูอยู่เฉยๆ พอดูอยู่เฉยๆ สมาธิเกิดขึ้น สิ่งที่อึดอัดวุ่นวายใจจะหายไป ความสบายใจก็เกิดขึ้น ครั้นความสบายใจเกิดขึ้นแล้ว เรายังดูอยู่เฉยๆ ความสบายใจนั้นก็เพิ่มขึ้นๆ เราก็รู้ก็เห็นสิ่งนั้นอยู่ เมื่อรู้อยู่นานๆ ก็จะรู้ว่ามันไม่เที่ยง ทีแรกมีอยู่เพียงเล็กน้อย เราดูเฉยอยู่ ก็มากขึ้นๆ แล้วก็ทรงอยู่ ต่อไปก็ดับ ก็รู้ว่าความสุขนี้ก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ดูอยู่เห็นอยู่บ่อยๆ เข้า โลกียปัญญาแก่ขึ้นพอสมควร วิปัสสนาก็เกิดขึ้นจนถึงอริยผลได้ ไม่ต้องไปนึกว่าอันนั้นไม่เที่ยง อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้ไม่ใช่ตน ดูอยู่เฉยๆ แล้วเราก็เห็นความไม่เที่ยงของมัน การเห็นความไม่เที่ยง เรียกว่า พิจารณาเห็นอนิจจัง การที่เรานึกว่าไม่เที่ยงๆ นั้นไม่ใช่พิจารณาอนิจจัง คำว่า “พิจารณา” นี้เป็นภาษาบาลีที่เรารับมาใช้ในภาษาไทย และส่วนมากเข้าใจความหมายกันผิด ความจริงนั้นหมายถึง การได้รู้เห็นด้วยปัญญาของจิตอย่างแจ่มแจ้ง การที่รู้เห็นความไม่เที่ยงอย่างแจ่มแจ้งนั้นแหละ เรียกว่าพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์คือ เห็นความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปไม่คงที่ เราดูเฉยอยู่เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าไม่คงที่ ความรู้สึกอย่างนี้ เรียกว่าเห็นความเป็นทุกข์ เรียกว่า พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ ที่นี้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย แต่เรายังไม่เปลี่ยน เรายังเป็นอยู่อย่างเก่า รู้ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปนั้น ไม่ใช่เราและไม่ใช่ตนของเรา เรียกว่า พิจารณาเห็นอนัตตา ความรู้ดังกล่าวมานี้ เป็นความรู้ที่รู้ด้วยโลกียปัญญา ด้วยปัญญาที่เกิดจากสมถะ สมถะ ก็คือ ฌาณสมาบัติที่เกิดขึ้น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน แต่ยังเห็นตนไม่ชัด เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เนืองๆ หนักๆ เข้าก็รู้ว่า อันนี้ไม่ใช่เรา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น ครั้นวิปัสสนาเกิดขึ้นจะรู้ทั้งสองอย่าง คือ รู้ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตนด้วย รู้ทั้งตนด้วย รู้ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตน และรู้สิ่งที่เป็นตนด้วยอย่างนี้แล้ว ไม่ละการดู คงดูอยู่อย่างนั้น ความรู้นั้นชัดขึ้นๆ จนถึงขนาด เรียกว่า “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา” ก็ดับไป จึงสำเร็จอริยมรรค อริยผล เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ ตั้งแต่โสดาบันจนถึงอรหันต์เป็นที่สุด

จะเป็นพระโสดาบันก็ตาม จะเป็นพระสกิทาคาทีก็ตาม จะเป็นพระอนาคามี หรือจะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็ต้องตั้งใจดู ไม่ใช่ตั้งใจละ ถ้าตั้งใจละแล้วก็ ละได้เพียงชั่วคราวเป็นตะทังคะปหานหรือวิกขัมถนะปหานเท่านั้น ไม่สามารถละได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เพราะมัวแต่ตั้งใจละ ก็ไม่ได้ตั้งใจดู จึงไม่เห็นชัดว่าไม่ใช่ตน “วิชชา” จึงเกิดขึ้นไม่ได้ เราต้องดูไว้เฉยๆ อะไรเกิดขึ้นก็ดู ดับไปก็ดู ดูไว้เฉยๆ ด้วย ตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้ด้วย จึงจะสำเร็จมรรคผลได้ เพราะมีกายคงที่ มีจิตคงที่ จึงจะสามารถดูเฉยๆ อยู่ได้ กายที่คงที่ จิตที่คงที่ ก็คือ อินทรียสังวร อันเป็นเหตุให้ศีลบริสุทธิ์ อันนี้เราต้องนึกไว้เนืองๆ เราต้องนึกไว้บ่อยๆ เมื่อเรานึกถึงกายคงที่ จิตคงที่บ่อยๆ เราก็ทำกายคงที่ทำจิตคงที่ได้บ่อยๆ เมื่อเรานึกอยู่เนืองๆ ความมีกายคงที่ มีจิตคงที่ของเราก็มีมากขึ้นๆ หนักๆ เข้า ก็กลายเป็นพื้นฐานธรรมดาๆ ของเรา เมื่อกายคงที่จิตคงที่ของเราเป็นพื้นฐานธรรมดาแล้ว สุจริต 3ก็เป็นพื้นฐานธรรมดาอีก เพราะอินทรียสังวรมีกำลังพอ สุจริต 3 ก็มีกำลังพอ ศีลจึงบริสุทธิ์ ครั้นศีลบริสุทธิ์ จึ่งเป็นบุคคลทำดีทำง่าย ทำชั่วทำยาก จิตก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย สติสัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่กายที่จิตดี ครั้นสัมมาสมาธิเกิดขึ้น ความรู้ของจิตหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน สติสัมปชัญญะก็หยุดนิ่งอยู่ที่กายที่จิต จึงเป็นสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้นพร้อมกับสัมมัปปธาน 4 โพธิปักขิยธรรมอีก 5 หมวดก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 และ สัมมัปปธาน 4 นั้น ครั้นรักษาสัมมาสมาธิให้ดำรงอยู่ได้นาน โพธิปักขิยธรรมทุกหมวดก็ตั้งอยู่ได้นานด้วย ปัญญาจึงเจริญขึ้นโดยลำดับจนวิปัสสนาเกิดขึ้นถึงอริยมรรค อริยผล ดังกล่าวแล้วข้างต้น

เพราะฉะนั้น ผู้ใดคิดว่าจะปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระธรรมและพระอริยสงฆ์ ก็ตั้งใจกำหนดจดจำพระสูตรนี้ นำไปประพฤติปฏิบัติอยู่เนืองๆ สิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำตลอดเวลา ก็คือ มีกายคงที่ มีจิตคงที่ จะอยู่ในที่ไหนๆ ก็นึกถึงกายคงที่จิตคงที่ไว้ อันเป็นปฏิบัติในอินทรียสังวร ซึ่งจะเป็นเหตุให้สุจริต 3 และสัมมาสมาธิ พร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม 7 หมวด เกิดขึ้น จนถึงวิชชาและวิมุติ เป็นผลสูงสุด

คำว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีกายคงที่มีจิตคงที่” ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้เป็นการแสดงทั้งเหตุและผล เหตุก็คือให้ตั้งใจทำกายคงที่ทำจิตคงที่ ผลก็คือมีกายคงที่ มีจิตคงที่เกิดขึ้น อินทรียสังวร คือ กายคงที่จิตคงที่ เป็นเหตุแห่ง สุจริต 3 สุจริต 3 คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กาย วาจา จิต ทำ พูด คิด ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นสุจริต 3 สุจริต 3 เป็นเหตุแห่งสติปัฏฐาน 4 คือ สติตั้งนิ่งคงที่ อยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เป็นสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้น

เมื่อสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้น สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อริยมรรคมีองค์ 8 ก็เกิดขึ้น พร้อมกับสติปัฏฐาน 4 นั้น ครั้นเมื่อสติปัฏฐาน 4 พร้อมด้วย สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อริยมรรคมีองค์ 8 แก่กล้าขึ้นพอสมควร วิปัสสนาจึงเกิดขึ้น เมื่อวิปัสสนาเจริญถึงสังขารุเปกขาญาณได้เมื่อใด โพชฌงค์ 7 ก็เข้าทำหน้าที่ช่วยให้อริยมรรคทั้ง 8 องค์มีกำลังเสมอกัน ที่เรียกว่า อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น การกำหนดเห็นทุกข์จึงมีขึ้นได้ “วิชชา” ความรู้แจ้งว่า นี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่นิโรธ นี่มรรค ทั้งรู้ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่ใช่ตนอย่างแจ่มแจ้งก็มีขึ้น พร้อมกับเห็นตนอย่างแจ่มแจ้งด้วย “วิชชา” ก็เกิดขึ้นเต็มที่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และทุกข์ก็ดับพร้อมกับที่ “วิชชา” เกิดขึ้น เรียกว่า นิโรธ นิโรธ คือ ความดับไปแห่งทุกข์พร้อมด้วยเหตุแห่งทุกข์ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม จิตจึงหลุดพ้นจากทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ เรียกว่า “วิมุติ”

สรุปแล้ว ถ้าเราตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ อยู่เนือง ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่เลิก ไม่ละ ทำอยู่ทุกวันๆ ทุกเวลาที่ระลึกได้ การทำอยู่อย่างนี้ ชื่อ เราทำการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระธรรม และพระอริยสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติบูชา อันมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ คือ ให้สามารถบรรลุมรรคผล มีโสดาบัน เป็นต้น ได้ในชาตินี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 12:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าการปฏิบัติของเรายังไม่ได้สำเร็จมรรคผล มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ในชาตินี้ ใกล้จะตายก็จะถึงมรรคผลได้ ถ้าใกล้จะตายยังไม่ถึงมรรคผล ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ก็จะสำเร็จมรรคผลได้ ถ้าได้เกิดบนสวรรค์แล้วยังสำเร็จมรรคผลไม่ได้ เพราะเหตุที่เป็นธาตุเวไนย คือ ไม่อาจสำเร็จมรรคผลในมนุษย์ แม้เกิดบนสวรรค์หรือพรหมโลกแล้ว ถ้ายังไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมสารีริกธาตุ ก็ยังสำเร็จมรรคผลไม่ได้ ครั้นอีก 7 วันจะสิ้นศาสนา พระบรมสารีริกธาตุทั้งปวงจะไปประชุมกันที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วแสดงปาฏิหาริย์เป็นองค์พระพุทธเจ้า เปล่งรัศมี 6 ประการ แสดงธรรม 7 วัน 7 คืน ตามอำนาจที่พระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานไว้ มนุษย์ทั้งหลายมองไม่เห็น เทวดาและพรหมเท่านั้นได้เห็น เทวดาและพรหมที่เป็นธาตุเวไนย ฟังพระธรรมนั้นแล้ว ก็ได้สำเร็จมรรคผลกันทั้งสิ้น บรรดาผู้ที่เป็นธาตุเวไนยนั้นไม่อาจสำเร็จมรรคผลในมนุษย์ ถ้าหากว่ามีความดีอย่างใดอย่างหนึ่งพอจะไปเกิดบนสวรรค์ได้ เช่น นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า อินทรียสังวร คือ กายคงที่จิตคงที่ แล้วตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ได้อยู่เนืองๆ ก็ได้ชื่อว่าได้ทำการบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระธรรมและพระอริยสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาอย่างยิ่งเหนืออามิสบูชาทั้งปวง เป็นเหตุให้ไปเกิดบนสวรรค์ได้โดยง่าย เมื่อไปเกิดบนสวรรค์แล้ว เพราะเป็นธาตุเวไนย ก็จะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมสารีริกธาตุ แล้วสำเร็จมรรคผลในตอนนั้น ถ้าไม่ทำความดีไว้ ไปตกนรกอยู่ในเวลานั้น ก็หมดโอกาสที่จะได้สำเร็จมรรคผล จะต้องรอไปถึงศาสนาของพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติขึ้นภายหน้า คือ ศาสนาพระศรีอารย์อีกช้านานอย่างน้อยก็ประมาณ 200 อสงไขยปี ( 1 อสงไขยมี เลข 0 ตาม เลข 1 ถึง 140 ศูนย์) 200 อสงไขยปี ช้านานนักหนา ถ้าเรามาทำการสักการะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติบูชาดังกล่าวแล้ว หากเราไม่ใช่ธาตุเวไนย ก็อาจได้สำเร็จมรรคผลในชาตินี้ แม้เป็นเพียงพระโสดาบันก็จะพ้นจากอบายภูมิทั้ง 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน อย่างต่ำจะเกิดได้แต่เพียงเป็นมนุษย์เท่านั้น เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วก็เป็นผู้รู้ข้อปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ได้ตลอดถึงอรหันต์ ทั้งความรู้นี้ ก็รู้ติดจิตใจไปทุกชาติจนกว่าจะถึงอรหันต์ และพระโสดาบันทั้งหลายจะเกิดในมนุษย์ได้อีกอย่างมากเพียง 7 ชาติ ก็สำเร็จอรหันต์

บัดนี้เมื่อเรายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เราตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้เนืองๆ ต่อไปสุจริต 3 เกิดขึ้นแล้ว และเราเคยได้ยินได้ฟังแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่ต้องตั้งใจละ เมื่อ “วิชชา” เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นๆ มันจะดับไปเอง และเราตั้งใจทำกายคงที่ ทำจิตคงที่ไว้เนืองๆ สุจริต 3 เกิดขึ้นแล้ว จิตใจของเรามีความผ่องใสขึ้น และจำได้ว่า เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า สิ่งทั้งหลายเราไม่ต้องตั้งใจละ เพียงแต่เราทำให้ “วิชชา” เกิดขึ้น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม” ก็จะต้องดับไปจากจิต เพราะเรารู้ข้อปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ไม่ตั้งใจละสิ่งใดทั้งสิ้น ทำอยู่เนืองๆ ก็จะรู้จะเห็นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้นว่า ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต จิตเป็นของมีอยู่จริง แต่เป็นของว่างๆ ไม่มีรูปร่าง และเป็นของไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เมื่อรู้เห็นอยู่อย่างนี้ หากอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นได้ ก็จะสำเร็จอริยผลเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ในชาตินี้ ส่วนผู้ที่เป็นธาตุเวไนยไม่ได้สำเร็จมรรคผลในชาตินี้ ครั้นไปเกิดบนสวรรค์หรือพรหมโลกแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมสารีริกธาตุเมื่อใกล้จะสิ้นศาสนา ก็ได้สำเร็จมรรคผลกันทั้งสิ้น

ตามที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ผู้ฟังทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม แต่ควรกำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ ทดลองดู เพื่อพิสูจน์ให้รู้ได้ด้วยตนเองว่า สิ่งที่กล่าวมานี้ ถูกหรือไม่ถูก เมื่อรู้เห็นด้วยปัญญาของตนว่าไม่ถูกก็จะได้ละเสีย ถ้าเห็นว่าถูกก็ทำตามต่อไป ครั้นทำตามถูกต้องดี การบรรลุมรรคผลก็จะมีแก่ตน สมความปรารถนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 12:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อสำคัญอย่าดูหมิ่นตนเอง คือ อย่าคิดว่าเรามีบารมีไม่พอ ไม่สามารถจะปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่า เรามีบารมีพอหรือยัง ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่ คือ คนยากจนทั้งเป็นโรคเรื้อนก็ตาม คนเป็นทาสผู้อื่นอยู่ก็ตาม ก็ยังสามารถบรรลุมรรคผลได้ แม้คนขอทานผู้อดอยากแสนสาหัส เพียงเข้ามาเกิดในท้องแม่ ก็ทำให้พ่อแม่มีอาหารกินไม่พออิ่ม ครั้นเติบโตขึ้นพอสมควร พ่อแม่ให้ไปขอทานกินเอง พ่อและแม่จึงมีอาการกินพออิ่มได้ตามธรรมดา ส่วนตนเองก็ไม่เคยได้กินอิ่ม แม้ภายหลังได้บวชเป็นพระแล้ว ก็ยังไม่เคยได้ฉันอาหารอิ่มเลยสักมื้อเดียว ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถทำความเพียรให้บรรลุอรหันต์ได้

แม้บุคคลที่ชื่อว่า “ชีวกเปรต” คือ เหมือนเป็นเปรตทั้งที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ก็ยังสำเร็จอรหันต์ได้ เรื่องมีว่า ในสิงหลทวีป (ศรีลังกา) ชายผู้หนึ่งมีเครื่องมีอจับสัตว์ป่า 3 ชนิด มี “แร้ว” เป็นต้น ชนิดละ 100 รวมเป็นจำนวน 300 วันหนึ่งไปดักสัตว์ในป่ารู้สึกกระหายน้ำ จึ่งเข้าไปในวัด เปิดหม้อน้ำในที่เก็บน้ำ 12 หม้อ ไม่เห็นมีน้ำ จึ่งพูดขึ้นว่า “พระนี่กินข้าวชาวบ้านแล้วขี้เกียจขี้คร้าน จะตักน้ำให้คนผ่านไปมา ได้ดื่มแก้หระหายบ้างก็ไม่ได้” พระอรหันต์องค์หนึ่งได้ยิน จึงไปเปิดดู เห็นมีน้ำเต็มทั้ง 12 หม้อ จึงเรียกกลับมา ตักน้ำให้ดื่ม น้ำก็ไหลออกผิวกายหมด ยกหม้อ
ให้ดื่ม น้ำก็ไหลออกหมด ชายผู้นั้น จึงรีบกลับบ้าน เพื่อดูบุตรภรรยาของตน เห็นยังเป็นปกติอยู่ จึงทำลายเครื่องมือจับสัตว์ทั้งหมดแล้วไปบวช ครั้นบวชแล้วตั้งใจทำกรรมฐานจริงจัง ไม่เห็นแก่การหลับนอน ก็สำเร็จอรหันต์ได้

อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะอยู่โดยชอบตามธรรม ตามวินัยแล้วไซร้ พระอรหันต์ทั้งหลายจักไม่ว่างไปจากโลก” ดังนี้ ที่ว่า “ภิกษุอยู่โดยชอบตามธรรม” กล่าวโดยย่อ ก็คือ รู้จักข่มจิตของตนไม่ให้ทำ ไม่ให้พูด และไม่ยินดีคิดไปตามอำนาจกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงของตน ที่ว่า “อยู่โดยชอบตามวินัย” ก็ได้แก่ ประพฤติตนถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วทุกอย่าง ดังนี้

พระพุทธพจน์เพียงสั้นๆ นี้ ย่อมส่องความให้เห็นว่า ผู้ที่จะบรรลุมรรคผลให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยทั่วๆ ไปนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างสมบุญญาบารมีอะไรมากนัก เพียงแต่ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญถูกอุบาย คือ ปฏิบัติถูกตามธรรมะและวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้วเท่านั้นก็จะสามารถยังโลกียปัญญาของตนให้เจริญขึ้น จนวิปัสสนาเกิดขึ้นให้บรรลุอริยมรรคอริยผล มีโสดาบันเป็นต้น ตลอดจนถึงอรหันต์เป็นที่สุดได้ เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลาย จึงไม่ควรดูหมิ่นตนเองว่า มีบารมีไม่พอ แล้วไม่ปฏิบัติตามย่อมไม่สมควรเลย แสดงมาในกุณฑริยสุตตกถา ก็พอสมควรแก่เวลา ด้วยประการฉะนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2011, 13:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b13: :b13:

ขอเอาไปเผยแพร่ต่อด้วยตัว

:b4: :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2015, 13:02 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2019, 14:00 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2019, 07:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b20:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร