วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 06:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 18:54 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งหนึ่งเคยถามท่านอาจารย์ว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดแต่ไม่บวชเราสามารถตัดภพตัดชาติได้ไหมท่านก็ตอบว่าได้ซิหลักจากนั้นได้อ่านเรื่องปฏิจจสมุทบาทจากพระโอษฐ์จึงเข้าใจว่าคำว่าตัดภพตัดชาติคืออะไรและเกิดความสว่างขึ้นกับจิตในเรื่องการเกิดภพชาติและวิธีตัดภพตัดชาติมากขึ้นจึงนำมาฝากให้เพื่อนๆสมาชิกได้ศึกษากันคะแล้วลองพิจารณาดูนะคะว่าในวันหนึ่งท่านเกิดและดับกี่ครั้ง
ปฏิจจสมุปบาท

ชีวิตมนุษย์เราทุกวันนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ เพราะใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความอยาก ซึ่งอยู่ในโลกของความหลง คือ สุขเวทนาและทุกขเวทนา ที่วิ่งพล่านไปตามความพอใจ และไม่พอใจ

ดังนั้นมนุษย์จึงเร่าร้อนดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ความอยากของตนเต็ม แต่ก็หามีใครทำให้ ความอยากเต็มได้ไม่ยิ่งแสวงหาความเร่าร้อนจากการแสวงหาก็จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็ เกิดตามขึ้นมาตลอด ไร้ความพอ หาความเต็มมิได้ เพราะจิตของมนุษย์ถูก อวิชชาครอบงำ ความ พร่องจึงมีอยู่ในจิตของมนุษย์ตลอดเวลาอยู่เป็นนิตย์


พระองค์ทรงตรัสว่าทุกข์กำเนิดอยู่ปัจจุบัน ไม่ควรไปคิดเรื่องที่แล้วมา ทุกข์ที่ยังมา ไม่ถึงไม่ควรไปถามหาทุกข์ ผู้ข้องอยู่ด้วยความไม่รู้ หลง ย่อมจะถามว่าวิญญาณมา จากไหน เกิดเมื่อไร ใครเป็นผู้สร้าง พระองค์ทรงตรัสว่าคนกำลังถูกลูกศรยิงบาดเจ็บ อยู่ขณะนี้ กำลังรอ ความช่วยเหลือจากหมอ หมอจะถามผู้ป่วยว่าลูกศรนั้นถูกยิง ตั้งแต่เมื่อไร เวลาเท่าไรและที่ไหน คนยิงคือใครและต้องหาคนยิงมาก่อน จึงจะแก้ไขวางยาให้ถูกและถอนลูกศรออกได้ การแก้ไข ของหมอจะแก้ไขได้หรือ คนไข้จะต้องตาย แน่นอน ฉะนั้นทุกข์ของกายใจเกิดขึ้นตอนปัจจุบัน เราไม่ไปถามหาอดีต เสียเวลา เราควรแก้ทุกข์กันเดี๋ยวนี้คือปัจจุบันที่เราเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราควรจะปฏิบัติธรรม เพื่อความรู้วิธีดับทุกข์กันในวันนี้เลย ไม่ต้องรอช้านาน เพื่อเห็นความเกิด แก่เจ็บตาย โดยเร็วพลัน


การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกัน จึงมีตัวกฎหรือสภาวะ ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้า แสดงหลักธรรมชาติ ธรรมหมวดหนึ่งหรือหลักความจริงซึ่งเป็นเรื่องปิดไว้ พระองค์ มาตรัสรู้ความจริง ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วใช้ปัญญาค้นโดยรู้จัก ธรรมชาติที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้เกิดมาก่อน พระพุทธเจ้าทุกพระองค์และหมุ่พระพุทธเจ้า ไม่มีผู้เกิดทันรู้ไม่ เพราะว่ารูปนามนี้เกิดมานาน ไม่สามารถจะ คำนวณกาลเวลาได้ แต่พระองค์ตรัสรู้ด้วยปัญญาสมาธิญาณ ยิ่งรู้ละเอียดลึกซึ้ง สุดที่สัตว์ปุถุชนจะหยั่ง รู้ธรรมชาติได้แท้จริงดังปัญญาของพระพุทธเจ้าได้ จึงเป็นพยานของธรรม ทรงกล้าตอบปัญหาแก่สมณ พราหมณ์ที่มีปัญหาได้อย่างสง่าผ่าเผยโดยเชื่อแน่ว่า หลักธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของจริง พิสูจน์ ได้โดยการปฏิบัติ มีในแนวทาง ของพระองค์ตรัสรู้เท่านั้น จะพิสูจน์ได้ทางบรรลุธรรมจิตอย่างแท้จริง พระองค์ ทรงตรัสว่าเพราะมีอวิชชา จึงมีสังขาร ฯลฯ


" ภิกษุทั้งหลาย ? ตถตา ( ภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น ) อวิตถตา ( ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้) อนัญญถตา ( ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น ) คือหลักอิทัปปัจจยตาดังกล่าว มานี้แลเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท " พระองค์ทรงกล่าวว่าสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้ได้สามารถรู้ธรรมเหล่านี้ได้ รู้จักเกิดรู้จักดับของ ธรรม รู้จักดำเนินตาม ธรรมชาติเหล่านี้ ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงควรยอมรับว่าเป็นผู้มีปัญญา อันยิ่ง บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน


ดังที่กล่าวในพระไตรปิฎก พระอานนท์ได้กราบทูลพระองค์ว่า

" น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาเลย ไม่เคยได้ยินเลย ไม่เคยได้เห็นเลย เป็นบุญตา เป็นบุญใจ เป็นบุญหูจริงที่ได้เกิดมารู้เห็นความจริงที่พระองค์ทรงตรัสเทศนา ช่าง ไพเราะลึกซึ้งละเอียดอ่อนสุขุม คัมภีรภาพและเข้าใจง่ายซาบซึ้งได้แจ่มแจ้ง ดุจของ คว่ำปิดอยู่เป็นความลับ แต่พระองค์มาจับหงายอย่างง่าย ให้คนอื่นได้เห็นตามรู้เห็น ตามธรรมที่ยากมาทำให้ง่ายอัศจรรย์จริงหนอ ของยากพระองค์มาทำให้เป็นของง่าย"


พระองค์ทรงตรัสว่า

" อานนท์ อย่ากลัวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เป็นของรู้ยาก บุคคลไม่เข้าใจ ไม่รู้ ไม่แทงตลอดในธรรมนี้แหละ หมู่สัตว์จึงพากันวุ่นวายกันไม่รู้ จักจบสิ้นไป ความวุ่นวายยุ่งยากเปรียบ เหมือนเส้นด้ายที่ขอดเข้าหากันจนยุ่งเป็น ปุ่มเป็นปมเหมือนกับหญ้าคาหญ้าปล้องนี่แหละอานนท์หมู่สัตว์จึง วุ่นวายดิ้นรน เดือดร้อนกันมากจึงผ่านพ้นอบายทุคติวินิบาต (นรก) สังสารวัฏไปไม่ได้ "


" ดุก่อนอานนท์ พระองค์ขอเตือนว่าอย่าประมาท ธรรมที่เราบรรลุแล้วเป็นของรู้ได้ยาก หมุ่ ประชาชนเป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยความอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัยอาวรณ์ ผู้หลง อยู่ในรื่นเริงอาลัยอาวรณ์ ด้วยความประมาทอย่างนี้ ฐานะอย่างนี้เป็นสิ่งที่รู้เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสุปบาท เห็นได้ยาก รู้ได้ยาก ความสงบของ สังขารทั้งปวง ความสงัด " กิเลส " อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน พระองค์ทรงดำริเป็นการสอนที่เหนื่อยเปล่า ลำบากแก่พระองค์ผู้แสดง เพราะมีแต่ผู้ประมาท อยู่ ผู้หลงตัวตนอาลัยอาวรณ์อยู่ "


" อานนท์ จงรู้เถิดว่าธรรมที่เรากล่าวนั้นง่ายสำหรับผู้มีปัญญา ไม่หลงตัวตนอาลัยอาวรณ์ หลงตัวเพลิดเพลิน ผู้นั้นจึงรู้ว่าธรรมของพระองค์ง่าย ฟังแล้วไพเราะลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนลุ่มลึก แต่ก็ยากสำหรับคนประชาชนผู้หลงใหลในตัวตน อยุ่ในความ ประมาทลุ่มหลง จึงรู้ธรรมปฏิจจสมุปบาทได้ยาก เป็นของที่เข้าไม่ถึงธรรมอันนี้ เลยตลอดชีวิตของเขาเหล่านั้นเพราะความมีตัวตน อาลัยอาวรณ์สนุกเพลิดเพลินอยู่ "


หลักปฏิจจสมุปบาทมี 2 นัย นัยหนึ่งคือจากอวิชชา จึงมีสังขาร นัยหนึ่งคือความเกิด ของธรรมชาติ นัยที่สองคือการตรัสรู้ธรรมของธรรมชาติคือความดับ ตอนต้นแสดง ความเกิดของสมุทัย ( ตัณหา ) ตอนท้ายแสดงถึงการตรัสรู้ธรรมคือ นิโรธวาร อนุโลมปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท


องค์ประกอบ 12 ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น ( คือ อวิชชา สังขาร>วิญญาณ>นามรูป>สฬาตนะ>ผัสสะ>เวทนา>ตัณหา>อุปาทาน> ภพ>ชาติ>ชรามรณะ ) ส่วนโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมม อาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก

ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูป อย่างนี้ ( คือชักต้นไปหาปลาย ) เสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัส ในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหามัก ตรัสในรูปย้อนลำดับ ( คือชักปลายมาหาต้น ) เป็น( ชรามรณะ< ชาติ < ภพ < อุปาทาน < ตัณหา < เวทนา < ผัสสะ < สฬายตน < นามรูป < วิญญาณ <สังขาร< อวิชชา )


ส่วนประกอบความทะยานอยาก
ของคนเรา
อาศัย ความพอใจ จึงเกิด ความอยาก

อาศัย ความอยาก จึงเกิด การแสวงหา
อาศัย การแสวงหา จึงเกิด ลาภ
อาศัย ลาภ จึงเกิด การตกลงใจ

อาศัย การตกลงใจ จึงเกิด ความรักใคร่ผูกพัน

อาศัย ความรักใคร่ผูกพัน จึงเกิด การพะวง

อาศัย การพะวง จึงเกิด การยึดถือ

อาศัย การยึดถือ จึงเกิด ความตระหนี่

อาศัย ความตระหนี่ จึงเกิด การป้องกัน

อาศัย การป้องกัน จึงเกิด อกุศลธรรม


กุศลธรรม - อกุศลธรรม
( จิตที่ฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล สงบเย็น - จิตที่ไม่ฉลาด ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัวฟุ้งซ่าน )

การกระทำอันเป็นบาป เช่น การฆ่ากัน, การทะเลาะกัน, การแก่งแย่ง, การว่ากล่าว, การพูดส่อเสียด, การพูดเท็จเป็นต้น จิตของคนเราถูกอวิชชาครอบงำ ผูกต่อกัน เป็นลูกโซ่ของความอยาก พร่องอยู่เป็นนิตย์


ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกนี้ หาทางดับความพอใจละความทะยานอยากซึ่งเป็นสันดานที่นอนเนื่อง อยู่ภายในจิตของตนเอง โดยวิธีการศึกษาเรื่องของปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมวิชชา ของพระพุทธเจ้า เป็นตัวดับอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งอกุศลธรรมเป็นปัจจัยให้มนุษย์ เราตกอยู่ในกองทุกข์ที่เร่าร้อนก็จะดับ ความสงบใจ ความอิ่มใจ ความพอดีก็จะเกิดขึ้น ภายในจิตของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม


ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมสัจจะที่จำเป็นสำหรับพุทธบริษัทที่จะต้องศึกษา เพราะปฏิจจสมุปบาท คือแนวทางที่จะเรียนรู้เข้าใจถึงสภาพจิตของมนุษย์เราด้วยการ ปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยการใช้สติปัญญาพิจารณากาย , เวทนา, จิต, ธรรม เพื่อให้รู้ทุกข์ ให้รู้เหตุเกิดของทุกข์ ให้รู้การดับทุกข์ ให้รู้ปฏิปทาที่ จะให้ถึงความดับทุกข์ได้ เรียกว่า ปฏิบัติธรรมจนเกิดวิชชา เพราะวิชชาเกิด อวิชชาจจึงดับ


ปฎิจจสมุปบาท แยกออกเป็นหลายรูปแบบหลายนัย เมื่อแจงออกมาแล้วทำให้ ผู้ปฎิบัติเกิดความเข้าใจ จนเกิดปํญญาเป็นวิชาขึ้นมาได้ โดยการปฎิบัติไปตามวงจร ของปฎิจจสมุทปบาท คือ เข้าสู่การดับเป็นขั้นตอน ไปจนเกิดวิชารู้แจ้งในสังสารวัฎ หายสงสัยในเรื่อง การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย จนเกิดญาณปัญญา รู้ทุกข์ เห็น ทุกข์เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เข้าใจจน พาตัวเองออกจากวงจรของปฎิจจสมุปบาทได้ สามารถดับกิเลส ตัณหา อุปทานได้หมด จนถึงมรรค4 ผล4 นิพาน1 คือ เข้าถึงการดับ เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล เข้าสู่ นิพานอันเป็นยอดแห่งคุณธรรมของเทวดา และมนุษย์


พระพุทธเจ้า

ทรงรู้ว่า "อวิชชา" คือ ตัวตัวเหตุของความทุกข์ อวิชชา คือจิตที่ไม่รู้จิตในจิต ตัวเองหลงจิตจึงจึงทรงใช้มรรคอริยสัจ คือ ตัวรู้ ตัววิชชา(วิชชา คือจิตที่รู้จิต) เข้าประหารอนุสัยที่นอนเนื่องในสันดาน จนพระองค์ทรงรู้แจ้งเห็นจริงในโลกทั้ง สาม รู้จักตัวตนว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เป็นเพียงส่วนประกอบของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นเพียงรูปธาตุ นามธาตุ


อวิชาจึงดับด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง ทรงเข้าถึงการดับโดยแท้จริง ดับสภาพ ปรุงแต่งของสังขารด้วยมรรคสัจ ทรงประหารอวิชชา ทรงพ้นจากบ่วงของการเกิด แห่งกองทุกข์ทั้งมวลได้ ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง จนเป็นวิชา เป็นแสงแห่ง คุณธรรมที่สว่างอยู่ในจิตใจของผู้ปฎิบัติ โลกของผู้ปฎิบัติจึงสงบร่มเย็นอยู่จนปัจจุบันนี้


วิชชาของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมดับทุกข์ เป็นยาดับโรคของความอยากซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ของความหลงในวัฎฎสังสารของมนุษย์


การเกิดของปฎิจจสมุปบาท

สาเหตุของการเกิดปฏิจจสมุปบาทเพราะว่า

อวิชชา เป็นปัจจัยจึงมี สังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยจึงมี วิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยจึงมี นามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยจึงมี สฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยจึงมี ผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยจึงมี เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยจึงมี ตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยจึงมี อุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยจึงมี ภพ

ภพ เป็นปัจจัยจึงมี ชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยจึงมี ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส อุปายาส

ความเกิดของกองทุกข์ทั้งหมดนี้เรียกว่า " ปฏิจจสมุปบาท "

ปฏิจจสมุปบาทจะดับได้เพราะ

อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ

สังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ

วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ

นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ

สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ

ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ

ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ

อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ

ภพ ดับ ชาติ จึงดับ

ชาติ ดับ ชรา มรณะ โสกะปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส จึงดับ ความดับของกองทุกข์ทั้งมวลนี้ คือ การเดินออกจากบ่วงของปฏิจจสมุปบาท

องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท
เพราะการหมุนเวียนของวัฏชีวิตที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หมุนเวียนไปตามองค์ประกอบ ของการเกิด หาจุจบไม่ได้และไม่สามารถหาต้นเหตุได้ว่าอะไร คือ ต้นเหตุของการเกิด และอะไร คือ ปลายเหตุของการดับ เริ่มจากอดดีตสู่ปัจจุบัน ปัจจุบันสู่อนาตค อนาคตกลับมาเป็นอดีต อดีตมาเป็นปัจจุบัน ประดุจห่วงของลูกโซ่ที่ผูกต่อกันไปหาที่สุดมิได้ เรียกว่า เป็นวงจรของปฏิจจสมุปบาท หรือ บาทฐานการเกิดของกองทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย :-
1. อวิชชา

คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงในความทุกข์ของจิต ไม่รู้ในเหตุให้เกิดแห่งความทุกข์ไม่รู้ในการดับ ทุกข์ไม่รู้ในปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อวิชชาเป็นจิตที่ไม่รู้จิตในจิต

เพราะความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร


2. สังขาร

คือ การปรุงแต่งของจิตให้เกิดหน้าที่

ทางกาย - เรียกกายสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งร่างกายให้เกิดลมหายใจเข้าออก

ทางวาจา - เรียกวจีสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งวาจาให้เกิดวิตกวิจาร

ทางใจ - เรียกจิตสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญญา เวทนา สุข ทุกข์ทางใจ

เพราะการปรุงแต่งของจิตหรือสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ


3. วิญญาณ

คือ การรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบในทวารทั้ง 6 คือ

ทางตา - จักขุวิญญาณ

ทางเสียง - โสตวิญญาณ

ทางจมูก - ฆานวิญญาณ

ทางลิ้น - ชิวหาวิญญาณ

ทางกาย - กายวิญญาณ

ทางใจ - มโนวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป


4. นามรูป

นาม คือ จิตหรือความนึกคิด ในรูปกายนี้ เป็นของละเอียดได้แก่

เวทนา คือ ความรู้สึกเสวยในอารมณ์ต่างๆ

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ จดจำในเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วทั้งดีและไม่ดีดังแต่อดีต

เจตนา คือ ความตั้งใจ การทำทุกอย่างทั้งดีและชั่ว

ผัสสะ คือ การกระทบทางจิต

มนสิการ คือ การน้อมจิตเข้าสู่การพิจารณา

รูป คือ รูปร่างกายที่สัมผัสได้ทางตา เป็นของหยาบ ได้แก่ มหาภูตรูป 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม

เพราะนามรูปเกิด จึงเป้นปัจจัยให้มีสฬายตนะ คือ ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ


5. สฬาตนะ

คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกันทางวิถีประสาทด้วยอายตนะทั้ง 6 มี

ตา - จักขายตนะ หู - โสตายตนะ

จมูก - ฆานายตนะ ลิ้น - ชิวหายตนะ

กาย - กายายตนะ ใจ - มนายตนะ

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ


6. ผัสสะ

คือ การกระทบกับสิ่งที่เห็นรู้ทุกทวารทั้งดีและไม่ดี เช่น

จักขุผัสสะ - สัมผัสทางตา โสตผัสสะ - สัมผัสทางเสียง

ฆานผัสสะ - สัมผัสทางจมูก ชิวหาผัสสะ - สัมผัสทางลิ้น

กายผัสสะ - สัมผัสทางกาย มโนผัสสะ - สัมผัสทางใจ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา


7. เวทนา

คือ ความรู้สึกเสวยอารมณ์พอใจ, ไม่พอใจและอารมณ์ที่เป็นกลางกับสิ่งที่มากระทบพบมาได้แก่

จักขุสัมผัสสชาเวทนา - ตา โสตสัมผัสสชาเวทนา - เสียง

ฆานสัมผัสสชาเวทนา - จมูก ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - ลิ้น

กายสัมผัสสชาเวทนา - กาย มโนสัมผัสสชาเวทนา - ใจ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องรับของความรู้สึกต่างๆ

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา


8. ตัณหา

คือ ความทะยานอยาก พอใจ และไม่พอใจในสิ่งที่เห็นรู้ใน

รูป - รุปตัณหา เสียง - สัททตัณหา

กลิ่น - คันธตัณหา รส - รสตัณหา

กาย - โผฎฐัพพตัณหา ธรรมารมณ์ - ธัมมตัณหา

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน


9. อุปาทาน

คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ และที่เกิดขึ้นในขัน 5 มี 4 เหล่า คือ

กามุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุกาม

ทิฎฐุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในการเห็นผิด

สีลัพพตุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในการปฎิบัติผิด

อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนในขันธ์ 5

เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ


10. ภพ

คือ จิตที่มีตัณหาปรุงแต่ง เกิดอยู่ในจิตปุถุชนผู้หนาแน่นในตัณหา 3 เจตจำนงในการเกิดใหม่ ความกระหายในความเป็น เพราะยึดติดในรูปในสิ่งที่ตนเองเคยเป็น มี 3 ภพ คือ

กามภพ - ภพมนุษย์, สัตว์เดรัจฉาน, เทวดา

รูปภพ - พรหมที่มีรูป

อรูปภพ - พรหมที่ไม่มีรูป

เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

11. ชาติ

คือ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง ได้แก่ จิตที่ผูกพันกันมากๆจึงเกิดการสมสู่กัน อย่างสม่ำเสมอ จนปรากฎแห่งขันธ์ แห่งอายตนะในหมู่สัตว์

เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกปริเทวะทุกขโทมมัส อุปายาส มีความเศร้าโศก เสียใจ ร้องไห้อาลัย อาวรณ์


12. ชรา มรณะ

ชรา คือ ความแก่ ภาวะของผมหงอก ฟันหลุด หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่ของอินทรีย์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ในตัว

มรณะ คือ ความเคลื่อน ความทำลาย ความตาย ความแตกแห่งขันธ์ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์


บ่อเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะอวิชา ดั่งพืชเมื่อเกิดเป็นต้นไม้แล้ว มีราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นลำดับไป ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นเกิดมาแต่ครั้งไหน ดั่งรูปนาม ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นคือ " อวิชชา" เกิดมาตั้งแต่เมื่อไร เพราะ เกิดการผูกต่อกันมาเป็นลำดับ เกิดเป็นปฎิจจสมุปบาทขึ้นมา

ปุถุชนดับวงของปฎิจจสมุปบาทได้บ้าง เป็นการดับชั่วขณะจึงต้องเกิดอีก เพราะ ตัววิชชายังไม่แจ้งในขันธ์ 5

ส่วนตัวอริยชนดับวงของปฎิจจสมุปบาทได้สนิท เพราะดับได้ด้วยวิชชาจึงไม่ต้องเกิดอีก เป็นการดับไม่เหลือเชื้อ เพราะวิชชาแจ้งในขันธ์ 5 พ้นจากการเกิด เปรียบเหมือนไฟ ที่สิ้นเชื้อดับไปแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 19:03 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๑

ทีนี้ จะยกตัวอย่างให้ฟัง ในการเป็นอยู่ ทุกวันๆ ของคนเรา มีปฏิจจสมุปบาท อย่างไร เด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ร้องไห้จ้า ขึ้นมา เพราะ ตุ๊กตาตกแตก พอเขาเห็น ตุ๊กตาตกแตกนี้ เรียกว่า ตากับรูป กระทบกัน เกิด จักษุวิญญาณ ขึ้นมา รู้ว่า ตุ๊กตาตกแตก ตามธรรมดา เด็กคนนี้ ประกอบด้วย อวิชชา เพราะว่า เขาไม่เคยรู้ธรรมะ ไม่รู้อะไรเลย เมื่อตุ๊กตาตกแตก นั้น ใจของเขา ประกอบอยู่ด้วย อวิชชา อวิชชาจึงปรุงแต่ง ให้เกิด สังขาร คือ อำนาจชนิดหนึ่ง ที่จะทำให้ เกิดความคิด ความนึกอันหนึ่ง ที่จะเป็นวิญญาณ สิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ ก็เห็นตุ๊กตา ตกแตก แล้วรู้ว่า ตุ๊กตาตกแตก อันนี้ เป็น วิญญาณทางตา เพราะอาศัย ตาเห็น ตุ๊กตาตกแตก แล้วมีอวิชชา อยู่ในขณะนั้น คือ ไม่มีสติ เพราะว่า ไม่มีความรู้ เรื่องธรรมะเลย จึงเรียกว่า ไม่มีสติ และมีอวิชชาอยู่ ฉะนั้น จึงเกิดอำนาจ ปรุงแต่งวิญญาณ ที่จะเห็นรูปนี้ ไปในทาง ที่จะ เป็นทุกข์ ความประจวบของ ตากับรูป คือ ตุ๊กตา กับวิญญาณ ที่รู้นี้รวมกัน เรียกว่า ผัสสะ เดี๋ยวนี้ ผัสสะทางตา ได้เกิดขึ้นแก่เด็กคนนี้แล้ว จากผัสสะอันนี้ ถ้าจะพูดให้ละเอียดก็ว่า ได้เกิด นามรูป คือ ร่างกาย และ ใจของเด็กคนนี้ ขึ้นมา ชนิดที่ พร้อมสำหรับ ที่จะเป็นทุกข์

นี่ขอให้รู้ว่า ตามธรรมดา ร่างกายจิตใจของเรา ไม่อยู่ในลักษณะ ที่จะเป็นทุกข์ จะต้องมีอวิชชา หรือ มีอะไรมาปรุงแต่ง ให้มันเปลี่ยน มาอยู่ในลักษณะ ที่มันอาจจะเป็นทุกข์ ดังนั้น จึงเรียกว่า นามรูป ก็พึ่งเกิดเดี๋ยวนี้ เฉพาะกรณีนี้ หมายความว่า มันปรุงแต่งวิญญาณ ด้วยอวิชชานี้ ขึ้นมากแล้ว วิญญาณนี้ ก็จะช่วยทำ ให้ร่างกาย กับจิตใจนี้ เปลี่ยนสภาพ ลุกขึ้นมา สำหรับทำหน้าที่ ที่พร้อม จะเป็นทุกข์ และ ในนามรูปชนิดนี้ ขณะนี้ จะเกิดมี อายตนะ อันพร้อมที่จะเป็นทุกข์ คือ ไม่หลับอยู่ตามปกติ แล้วมันก็มีผัสสะ ที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเป็นทุกข์ เฉพาะในกรณีนี้ แล้วมันก็มี เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นทุกข์ แล้วเวทนา ที่เป็นความทุกข์นี้ ทำให้เกิด ตัณหา คือ อยาก ไปตาม อำนาจ ของความทุกข์ นั้น มี อุปาทาน ยึดมั่นว่า เป็นความทุกข์ของกู มันก็เกิด กู ขึ้นมา เรียกว่า ภพ แล้วเบิกบานเต็มที่ เรียกว่า ชาติ แล้ว มีความทุกข์ในเรื่อง ตุ๊กตาตกแตกนี้ คือ ร้องไห้ นั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า อุปายาส แปลว่า ความเหี่ยวแห้งใจ อย่างยิ่ง

ทีนี้ เรื่อง ชาติ นี้ มันมีความหมายกว้าง คือรวม ชรามรณะ อะไรไว้เสร็จ ถ้าไม่มีอวิชชา ก็จะไม่ถือว่า ตุ๊กตาแตก หรือ ตุ๊กตาตาย หรือ อะไรทำนองนั้น แล้วก็จะไม่มีทุกข์ แต่อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเลย เดี๋ยวนี้ ทุกข์มันเกิดเต็มที่เพราะว่า มันเกิดอุปาทานว่า ตัวกู ตุ๊กตาของกู แล้วตุ๊กตาก็แตกแล้ว แล้วก็ทำอะไรไม่ถูก เพราะมีอวิชชา ดังนั้น จึงร้องไห้ การร้องไห้ คือ อาการของความทุกข์ ขึ้นสูงสุดเต็มที่ ถึงที่สุดของ ปฏิจจสมุปบาท

ตรงนี้ คนโดยมาก ฟังไม่เข้าใจ ในข้อลี้ลับ ของข้อที่ว่า ภาษาธรรมะ หรือ ภาษาปฏิจจสมุปบาท นี้ เขาไม่ได้ถือว่า คนได้เกิดอยู่แล้ว ตลอดเวลา หรือ ว่า นามรูป ได้เกิดอยู่แล้ว หรือ อายตนะ ได้เกิดอยู่แล้ว ถือว่า เท่ากับ ยังไม่ได้เกิด เพราะ มันยังไม่ได้ทำอะไร ตามหน้าที่ ต่อเมื่อ มีธรรมชาติ อันใดอันหนึ่ง มาปรุงแต่ง ให้มันทำหน้าที่ เมื่อนั้น จึงจะเรียกว่า เกิด เช่น ลูกตาของเรา เราก็ถือว่า มีอยู่แล้ว หรือ เกิดอยู่แล้ว แต่ตามทางธรรมะ ถือว่ายังมิได้เกิด จนกว่าเมื่อใด ตานั้นจะเห็นรูป ทำหน้าที่ การเห็นรูป จึงจะเรียกว่า ตาเกิดขึ้นมา แล้วรูปก็เกิดขึ้นมา แล้ววิญญาณทางตานั้น ก็เกิดขึ้นมา ๓ อย่างนี้ ช่วยกัน ทำให้ สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ เกิดขึ้นมา แล้วผัสสะนี้ ทำให้เกิด เวทนา ตัณหา เรื่อยไป จนตลอดสาย

ทีนี้ ถ้าว่าต่อมา เด็กคนนี้ เอาเรื่องตุ๊กตาแตก มานอนคิด แล้วมานอนร้องไห้ อยู่อีก นี่มันกลายเป็นเรื่องทาง มโนวิญญาณ ไม่ใช่ทาง จักขุวิญญาณแล้ว คือ เขานึกคิดขึ้นมา ถึงตุ๊กตาที่แตก ก็เป็นเรื่องความคิด ที่เป็น ธรรมารมณ์ แล้ว ธรรมารมณ์ กับ ใจสัมผัสกัน ทำให้เกิด มโนวิญญาณ รู้สึกถึงเรื่องที่ตุ๊กตาแตก นี้มันสร้างนามรูป คือ กายกับใจ ในขณะนั้น ให้เปลี่ยนปั๊บไปเป็น นามรูป ที่จะเป็น ที่ตั้งของอายตนะ ที่จะเป็นทุกข์ อายตนะนั้น ก็จะสร้างให้เกิด ผัสสะ ชนิดที่เป็น ที่ตั้งของความทุกข์ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน จนเป็นทุกข์ จนนอนร้องไห้ อยู่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ตุ๊กตามันแตก มาตั้งหลายวันแล้ว หรือ หลายอาทิตย์แล้ว ก็ได้ ความคิดที่ปรุงแต่ง ทะยอยกันอย่างนี้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ในคน เป็นประจำวัน

คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 19:04 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๒

ยกตัวอย่างอีกว่า นักเรียนคนหนึ่ง สอบไล่ตก นอนร้องไห้อยู่ หรือ สมมุติว่า เป็นลม เด็กคนนี้ ไปเห็นประกาศ ที่ติดอยู่ว่า ในบัญชีนั้น มีชื่อของตัวแสดงว่าตก สอบไล่ตก หรือไม่มีชื่อของตัว ก็แสดงว่า สอบไล่ตก เขาเห็นประกาศนั้นด้วยตา ประกาศนั้น มันมีความหมาย มันไม่ใช่รูปเฉยๆ มันเป็นรูป ที่มีความหมาย ที่บอกให้เขารู้ว่า อย่างไร สำหรับ เขานั้น เมื่อเห็นประกาศนี้ ด้วยตา มันเกิด จักษุวิญญาณ ชนิดที่จะทำให้ นามรูป คือ ร่างกายจิตใจตามปกติ ของเขา เปลี่ยนปั๊บไปเป็น ลักษณะอย่างอื่น คือ ลักษณะที่จะให้เกิด อายตนะ แล้ว ผัสสะที่จะเป็นทุกข์ อายตนะที่มีอยู่ตามปกตินั้น ไม่เป็นทุกข์ พอถูกปรุงแต่ง อย่างนี้ อายตนะนั้น มันจะต้องเป็นทุกข์ คือ จะช่วยไปในทาง ที่ให้เกิดความทุกข์ คือ มีผัสสะ เวทนา เรื่อยไปจนถึง ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวกู สอบไล่ตกแล้ว เป็นลมล้มพับลงไป ในชั่วที่ตาเห็น ประกาศนั้น อึดใจหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นลม ล้มลงไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้ทำงานไปแล้ว ตลอดสายทั้ง ๑๑ อาการ เขามีตัวกู ที่สอบไล่ตก เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เป็นโทมนัสอย่างยิ่ง เป็น อุปายาส อย่างยิ่ง

ทีนี้ ต่อมาหลายชั่วโมง หรืออีกสองสามวัน เขามานึกถึงเรื่องนี้ ก็ยังเป็นลมอีก อย่างนี้ มันก็มีอาการ อย่างเดียวกัน คือ เป็นปฏิจจสมุปบาท อย่างเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ อาศัยทางมโนทวาร หรือ มโนวิญญาณ มีวิญญาณอย่างนี้ เกิดแล้วก็สร้างนามรูป ที่จะเป็นทุกข์ สร้างอายตนะ ที่จะเป็นทุกข์ สร้างผัสสะ เวทนาที่จะเป็นทุกข์ แล้วก็มีตัณหา มีอุปาทาน ปรุงเพื่อเป็นทุกข์ ไปตามลำดับแล้ว ก็ไปรุนแรงถึงขั้นสุด เมื่อเป็นชาติเป็น "ตัวกูสอบไล่ตก" อีกทีหนึ่ง



คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 19:09 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๓

ตัวอย่างวงจรปฏิจจสมุปบาททางตา

ทีนี้ ยกตัวอย่างอีกว่า นางสาวคนหนึ่ง เห็นแฟนของตัว ไปควงอยู่กับ ผู้หญิงคนอื่น นี่..ขออภัย พูดคำโสกโดก หยาบคายอย่างนี้บ้าง เพราะว่า เขาพูดกันอย่างนี้ มันก็มีหัวอกหัวใจ ร้อนเหมือนกับนรก เข้าไปอยู่ในนั้น สัก ๑๐ ขุม ภายในชั่วอึดใจเดียว หรือ ครึ่งอึดใจเท่านั้น หลังจาก ที่เห็น แฟนของเขา ไปควงกันอยู่กับ ผู้หญิงคนอื่น นี่หมายความว่า ตาของแก กระทบกับรูปนั้น รูปของแฟน ที่ควงอยู่กับ ผู้หญิงคนอื่นนั้น ฉะนั้น มันก็สร้างวิญญาณ คือ จักษุวิญญาณ ขึ้นมาในทันทีทันใดนั้น ก่อนหน้านี้ ไม่มีวิญญาณชนิดนี้ มีแต่วิญญาณ ที่ไม่ทำหน้าที่อะไร หรือ เรียกว่า ไม่ได้มี ทีนี้ วิญญาณชนิดนี้ กับรูปกับตานี้ รวมกันเป็นผัสสะ เมื่อตะกี้ ผัสสะไม่ได้มี เดี๋ยวนี้มีผัสสะ คือ การกระทบกัน ระหว่างตากับรูป เกิด จักษุวิญญาณ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ทำให้มีเวทนา ตัณหา เรื่อยไป หรือว่า จะเอาละเอียด กระทั่งว่า พอวิญญาณ เกิดขึ้นแล้ว ก็เปลี่ยน ร่างกายและใจ นี้ ไปเป็นคนละชนิดเลย แล้วก็สร้าง อายตนะทางตา นั่นแหละ ให้มันพร้อมที่จะเป็นทุกข์ แล้วมันก็มีผัสสะ มีอะไรที่เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นทุกข์ได้

นี่พูดให้มันละเอียด มีเวทนาที่เป็นทุกข์ มีตัณหาดิ้นรน แล้วก็มี อุปาทานว่า กู! กู! ก!ู แย่แล้ว กูตายแล้ว กูอะไรอย่างนี้ นี่มันเป็นชาติ มันเป็นตัวกู ที่เป็นทุกข์ ตัวกูชนิดที่เป็นทุกข์ เกิดเป็นชาติขึ้นมา มันก็ต้องเป็นทุกข์ หรือว่าเพียงเป็นตัวกูเท่านั้น ก็ยึดถือชาตินี้ ให้เป็นความทุกข์ เป็นความสูญเสียของกู แล้วก็มีทุกข์ มีโทมนัส มีอุปายาส อย่างนี้คือ ปฎิจจสมุปบาทที่เต็มรูป เต็มสายทั้ง ๑๑ อาการ อยู่ที่หัวใจของเด็กหญิงคนนี้ นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท สายนี้ รอบนี้ได้เกิดขึ้นทางตา

ตัวอย่างวงจรปฏิจจสมุปบาททางหู

ทีนี้ สมมติว่า นางสาวคนนี้ ถูกเพื่อนหลอก ที่จริงแฟนของเขา ไม่ได้ไปควงกับใครที่ไหน แต่เพื่อนด้วยกัน มันมาหลอกว่า แฟนของแก ไปควงอยู่กับ ผู้หญิงคนนั้น แล้วมันเชื่อ อย่างนี้เสียง ก็เข้ามาทางหู คือว่า เสียงกระทบหู เกิดโสตวิญญาณ ที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เพราะปราศจากสติ วิญญาณนี้ ก็จะสร้างนามรูป คือ กายกับใจ ของเขา อันใหม่ทันที สำหรับที่จะมี อายตนะ ที่จะทำหน้าที่ ให้เป็นทุกข์ ในกรณีนี้ มีผัสสะสมบูรณ์ มีเวทนาเกิดขึ้น มาตรงตามเรื่องนั้น คือ ทุกขเวทนา มีตัณหาดิ้นรน มีอุปาทานยึดมั่น มีภพ เป็นตัวกูของกู เต็มที่ เป็นชาติ ของกู ที่มีความทุกข์ โทมนัส อุปายาส นี้เรียกว่า เขาเป็นทุกข์ ตามกฏเกณฑ์ ของปฏิจจสมุปบาท ครบถ้วน หากแต่ว่า ทางหู

ตัวอย่างวงจรปฏิจจสมุปบาททางมโนทวาร

ทีนี้ นางสาวคนนี้ อีกเหมือนกัน ต่อมา หลายชั่วโมงหลายวัน เขาเพียงแต่ เกิดนึกระแวง ขึ้นมาเองเท่านั้น ไม่มีใครมาบอก และไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เขานึกระแวง ขึ้นในใจว่า แฟนของเขา ไปควงกับ ผู้หญิงอื่นแน่ เพราะเหตุอย่างนั้นๆ เขาสันนิษฐานอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็เกิดขึ้น ทางมโนทวาร คือ ธรรมารมณ์ กระทบมโนเกิด มโนวิญญาณ มโนวิญญานนี้ ก็สร้างนามรูปใหม่ คือ เปลี่ยนนามรูป ร่างกายจิตใจเปล่าๆ ที่ไม่ทำอะไร ให้เป็น ร่างกายและใจ ที่มันจะเป็นทุกข์ขึ้น จากนามรูปนี้ ก็สร้างอายตนะ ที่ทำให้เป็นทุกข์ สร้างผัสสะที่จะทำให้เป็นทุกข์ สร้างเวทนาที่จะทำให้เป็นทุกข์ แล้วก็มีตัณหา ดิ้นรนตามเวทนานั้น มีอุปาทานยึดมั่น แล้วมันก็เป็นทุกข์ อย่างเดียวกันอีก นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทตอนนี้ ของนางสาว คนเดียวกันนี้ อาศัยมโนวิญญาณ เมื่อเขาเห็นด้วยตา ปฏิจจสมุปบาท ของเขา ก็อาศัยจักขุวิญญาณ เมื่อเขาได้ฟัง เพื่อนหลอก ไม่ใช่เรื่องจริง เขาก็อาศัยโสตวิญญาณ เมื่อเขาระแวงเอาเอง เขาอาศัยมโนวิญญาณ นี่แสดงว่า มันอาจจะอาศัย อายตนะอื่นๆ ก็ได้ แล้วก็มีความทุกข์ ได้เหมือนกัน

ขอให้คิดดูว่า ชั่วแว่บเดียวเท่านั้น ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นไปครบวงจร ที่จะเป็นทุกข์ เป็นไปเต็มรอบ หรือสายหนึ่ง ครบทั้ง ๑๑ อาการ หรือว่า ชั่วขณะที่ลูกสะใภ้ เห็นหน้าแม่ผัว อึดอัดร้อนรนใจอยู่นี้ ชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นไปครบทั้ง ๑๑ อาการ เขาก็เห็นด้วยตาแล้ว ก็สร้างจักขุวิญญาณ ชนิดที่เปลี่ยนนามรูป นี้มาเป็นนามรูป ที่พร้อมที่จะเป็นทุกข์ สร้างอายตนะ ที่จะเป็นทุกข์ สร้างผัสสะที่จะเป็นทุกข์ เวทนาเกิดขึ้น ก็เป็นทุกขเวทนา ตัณหาก็ดิ้นรน เพราะไม่ชอบหน้าแม่ผัว มันก็มีอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นตัวกู ที่เกลียดหน้าแม่ผัว แล้วก็เป็นทุกข์ นี่มันเสียเวลา กันมากสักหน่อย ในเรื่องนี้ ขอให้ทนฟัง





คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 19:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๔

ทีนี้ จะไม่พูดถึง คนนั้นคนนี้ แต่จะพูดว่า ใครคนใดคนหนึ่ง กำลังเคี้ยวอาหาร อย่างเอร็ดอร่อย อยู่ในปาก กินของเอร็ดอร่อยนั้น คนธรรมดา ต้องขาดสติเสมอ ต้องเผลอสติ ต้องมีอวิชชา ครอบงำเสมอ ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ เมื่อกำลังกิน อะไรอร่อยที่สุดนี้ มันเป็นเวลา ที่เผลอสติ เพราะความอร่อย มี อวิชชา ผสมอยู่ด้วยเสร็จ ทีนี้ ความคิดของมัน ที่อร่อยทางลิ้นนี้ เป็นปฏิจจสมุปบาทเต็มรอบ อยู่แล้ว โดยลักษณะอย่างเดียวกัน รสกระทบกับลิ้น เกิด ชิวหาวิญญาณ สร้างนามรูปใหม่ขึ้นมา สำหรับจะเป็ฯทุกข์ หรือ เปลี่ยนนามรูปธรรมดานี้ ขึ้นมาเป็น นามรูปใหม่ ที่จะเป็นทุกข์ นี่ นามรูป เกิด แล้วก็เกิด อายตนะ ที่พร้อม ที่จะให้มันเกิด ผัสสะ และเวทนา ชนิดที่จะเป็น ทุกขเวทนา เกี่ยวกับกรณีนี้ หรือเป็น สุขเวทนา เกี่ยวกับกรณีนี้ ถ้าอร่อยมันเป็นสุข ตามภาษาชาวบ้านพูด แต่พอไปยึดถือ ความอร่อยเข้าเท่านั้น เป็นอุปาทาน ก็กลายไปในทาง ที่จะเป็นทุกข์ เพราะ หวงในความอร่อย แล้วความอร่อย หรือความสุขนั้น ก็กลายเป็นทุกข์ ขึ้นมาทันที นี่กูอร่อย! กูมีความสุข! กูว่ามีความสุขก็จริง แต่ว่าหัวใจ มันเป็นทาสของความสุข เพราะร้อน เพราะ ยึดมั่นในความสุข นั้น นี่แยบยล ของปฏิจจสมุปบาท มันลึกซึ้งไปอย่างนี้ ถ้าชาวบ้านพูดก็ว่า เป็นสุข ถ้าปฏิจจสมุปบาท พูดก็กลายเป็น ตัวทุกข์ นี้ส่วนที่เขาอร่อย มันก็เกิดเป็น ปฏิจจสมุปบาท เสร็จไปเต็มรอบแล้ว

ทีนี้ มันยังมีต่อไปว่า เพราะเขากินอร่อย นั่นแหละ เขาจึงคิดว่า พรุ่งนี้ กูจะไปขโมยมากินอีก เขาเกิดเป็นโจร ขึ้นมาในขณะนั้น นี้คิดจะขโมย ก็มีความคิดอย่างโจร เกิดขึ้น ก็กลายเป็นโจร สมมติว่า มันไปขโมยทุเรียน ของสวนข้างบ้าน มากินอร่อย แล้วคิดว่า พรุ่งนี้ กูจะไปขโมยอีก ความคิดเป็นโจร หรือ กลายเป็นโจร เป็นภพๆหนึ่ง เกิดขึ้นในใจ หรือว่า ถ้ามันกินเนื้อสัตว์อร่อย พรุ่งนี้จะไปยิง ไปฆ่ามากินอีก นี้ มันก็เกิดเป็น นายพรานขึ้นมา หรือแม้แต่ว่า มันหลงอร่อยจริง อร่อยจัง มันก็เกิดเป็นเทวดา ที่กลุ้มอยู่ ด้วยความอร่อย หรือ ถ้ามันอร่อย ถึงขนาดที่ว่า ปากเคี้ยวไม่ทันใจอยาก นี้มันเป็นเปรต เพราะ มันอร่อย จนปากเคี้ยวไม่ทัน ไม่ทันกับ ความอร่อยของมัน

ลองคิดดูเถิดว่า ชั่วแต่เคี้ยวอาหาร อร่อยในปากนี้ ยังเป็นปฏิจจสมุปบาท ได้หลายชนิด ฉะนั้น ขอให้สังเกต ให้ดีๆ ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ คือ เรื่องวงจรของความทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ คือ การบรรยาย ให้ทราบถึงความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมาเต็มรูป เพราะ อำนาจความยึดถือ ต้องมีอุปาทาน ความยึดถือด้วย จึงจะเป็นความทุกข์ ตามความหมาย ของปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่ทันยึดถือ แม้จะมีความทุกข์อย่างไร ก็ไม่ใช่ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท



คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 19:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๕

ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ต้องอาศัยความยึดถือเสมอไป เหมือนอย่างชาวนา ตากแดดตากลม ดำนาอยู่ในทุ่งนา ร้อนเหลือเกิน แต่ถ้าไม่เกิดความยึดถือแล้ว ที่เรียกว่า "ร้อนเหลือเกิน" นั้น มันเป็นความทุกข์ตามธรรมดา ยังไม่ใช่ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ถ้าความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท มันต้องยึดถือถึงกับกระวนกระวาย เกี่ยวกับ "ตัวกู" ถึงกับน้อยใจว่า กูเกิดมาเป็นชาวนา เป็นเวรเป็นกรรม ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ถ้าคิดไปถึงอย่างนี้แล้ว อย่างนี้เป็นทุกข์ ตามแบบปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันร้อนจนแสบหลังเฉยๆ รู้สึกว่าร้อน รู้สึกว่าอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ยึดถือถึงขนาดเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนี้ ยังไม่ใช่ความทุกข์ ตามแบบของปฏิจจสมุปบาท

ฉะนั้น ขอให้สังเกตให้ดี แล้วแยกกัน เสียตอนนี้ว่า ถ้าความทุกข์ ที่ถูกยึดถือ เป็นทุกข์ที่สมบูรณ์แล้ว เป็นทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท อย่างสมมติว่า เราทำมีดที่คมๆ บาดมือ เช่น มีดโกนบาดมือ เลือดไหลแดงร่า รู้สึกว่า เจ็บเท่านั้น แต่ ยังไม่ถึงกับ ยึดถือ ก็ไม่ถึงกับ เป็นทุกข์ อย่างปฏิจจสมุปบาท อย่าเอาไปปนกันเสีย ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ต้องไปจาก อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เสมอไป มันต้องครบอย่างนี้ จึงจะเรียกว่า เป็นความทุกข์ ตามแบบ ปฏิจจสมุปบาท

ทีนี้ ถ้าพูดเป็นหลักสั้นๆ ผู้ที่เรียน ธัมมะธัมโม มาแล้ว อาจจะเข้าใจว่า อายตนะภายใน ได้พบกันกับ อายตนะภายนอก ที่มีค่า หรือมีความหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเป็น ที่ตั้งแห่งอวิชชา ยกตัวอย่างทางตา เช่น ทอดสายตาไปอย่างนี้ ก็เห็นต้นไม้ เห็นก้อนหิน เห็นอะไรก็ตามแต่ ไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่า สิ่งที่เห็นนั้นยังไม่มีค่า ไม่มีความหมาย สำหรับเรา แต่ถ้าเราเห็นเสือ หรือว่า เห็นอะไร ที่มันมีความหมาย เห็นผู้หญิงหรือว่า เห็นอะไรที่มีความหมาย นี้มันผิดกัน เพราะ อย่างหนึ่งมีความหมาย อย่างหนึ่งไม่มีความหมาย หรือว่า ถ้าสุนัขตัวผู้ เห็นผู้หญิงสาวสวยๆ มันก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเป็นชายหนุ่ม เห็นหญิงสาวสวยๆ นี้มันมีความหมาย คือผู้หญิงนั้น มีความหมาย สำหรับเขา ฉะนั้น การเห็นของสุนัข ไม่อยู่ใน เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท แต่การเห็น ของชายหนุ่มนั้น อยู่ในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท

เดี๋ยวนี้ เรากำลังพูดถึงคน คนเป็นผู้เห็น พอทอดสายตา ไปเห็นอะไร ตามธรรมดานี้ แต่ไม่เกิดความหมาย อย่างนี้ ยังไม่มีเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท เหลือบตาไปดูซิ รอบๆนี้ มีต้นไม้ มีหญ้า มีก้อนหิน ไม่มีความหมาย อะไรเลย เว้นไว้แต่ เป็นกรณี ที่มีความหมาย เช่น เมื่อมันเป็นเพชร ขึ้นมา หรือเป็น ก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ อะไรขึ้นมา อย่างเป็น ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมา มันจึงจะมีความหมาย แล้วมันจึง จะเกิดเรื่อง ในจิตใจ แล้วมันจึง จะเป็น ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น เราจึงจำกัดความ ลงไปว่า อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ต้องเป็นสิ่งที่ มีความหมาย ด้วยแล้ว เป็นที่ตั้งแห่ง อวิชชา คือ เป็นที่ตั้ง แห่งความโง่ ความหลง ด้วย

เมื่อนั้นแหละ การกระทบ ระหว่าง อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก จึงจะทำให้เกิด วิญญาณ วิญญาณที่สร้างขึ้นมา ปุ๊บเดียว จากการกระทบนี้ แล้วมันก็จะเกิด สังขาร คือ อำนาจอีกอันหนึ่ง ที่จะปรุงแต่ง ต่อไปอีก หมายความว่า ปรุงแต่ง นามรูป คือ กาย กับใจ ของผู้เห็นนี้ ให้เปลี่ยนเป็น กายกับใจ ชนิดที่บ้า ขึ้นมาทันที หรือมันโง่ ขึ้นมาทันที คือ มันพร้อมที่จะเป็นทุกข์ เมื่อร่างกายจิตใจเปลี่ยน ก็หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันก็เปลี่ยนไปด้วย เป็นอายตนะที่จะ "บ้า" ด้วยกัน แล้วมันก็เกิด ผัสสะ ที่บ้า เวทนาที่บ้า ตัณหา อุปาทาน ที่บ้า จนได้เป็นทุกข์ ไปจบลงที่เป็นตัวกูที่ ชาติ ตัวกูเต็มที่ที่คำว่า ชาติ ทีนี้ ความแก่ ความเจ็บ ความไข้ ความตาย ความทุกข์อะไร มันก็เกิดเป็น สิ่งที่มีความหมาย ขึ้นมาทันที เพราะว่ามัน ยึดถือ และยึดถือว่า ของกู นี่คือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน





คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ

หวังว่าข้อความที่โพสต์มานี้คงเป็นประโยชน์ให้ทุกท่านที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ได้เข้าใจเรื่องปฏิจสมุปบาทมากขึ้นและขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปคะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ผมเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ เป็นธรรมที่อัศจรรย์
ธรรมนี้ ครอบคลุมทั้งหมด ..ทั้ง ทุกข์ใจในทุกๆขณะในปัจจุบัน ...ตลอดจน ยันไปถึงการเวียนว่ายตายเกิดของหมู่สัตว์ในสังสารวัฏฏ์(ชาติแบบกำเนิด๔ คือ คนสัตว์เกิดจริงๆ) ตามอำนาจแห่งกรรมจะพาไป

คือ ทุกข์ใจในปัจจุบัน ยันไปจนถึงการที่หมู่สัตว์ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด(ชาติแบบกำเนิด๔ คือ คนสัตว์เกิดจริงๆ) มีเหตุร่วมกัน..นั้นคือ การไม่รู้แจ้งแทงตลอดในไตรลักษณ์ หรือ อวิชชา นั่นเอง




อีกทั้ง ปฏิจจสมุปบาท ทั้ง11ปัจจัย 12องค์ธรรมนี้ ก็ มีการแสดงตัวปรากฏครบทั้งหมดอยู่แล้วในปัจจุบันขณะ...
จะเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทที่พบได้ทุกเมื่อเชื่อวันก็ได้...
รายละเอียด ลองหาอ่าน ปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน จาก หนังสือพุทธธรรม น่ะครับ

อวิชชา เป็นปัจจัยของ สังขาร
สังขาร เป็นปัจจัยของ วิญญาณ
ๆลๆ

คำว่า สังขาร ที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ หมายเอา สังขารในจิตส่วนที่ขับเคลื่อนวงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวาร....
สังขารในที่นี้ มันอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก หรือ จะเรียกว่าในระดับ ขันธสันดาร ก็น่าจะได้. ต้อง อาศัย สติ สมาธิ ปัญญา ที่อบรมดีแล้วจริงๆ จึงจะลงไปแก้ไขในระดับจิตใต้สำนึกนี้ได้

จุดที่ วิถีแห่งปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวารระดับจิตใต้สำนึก(สังขารที่มีอวิชชาเป็นปัจจัย) เชื่อมต่อกับ วิถีแห่งปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวารระดับจิตสำนึก(ความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ หรือ เวทนา) ในปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ ก็คือ ผัสสะ (วิญญาณ+นามรูป+อายตนะ) นั่นเอง

ท่านผู้รู้ ท่านจึงกล่าวว่า จะไม่ทุกข์ ถ้าไม่โง่(มีอวิชชา) เมื่อผัสสะ

สังขารที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึกนี้ มันพร้อมที่จะปรุงแต่งวงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวารไปสู่ทุกข์ทันที เมื่อ มีมโนผัสสะของสัญญาจากอดีตผุดขึ้นในใจ

เรียกได้ว่า เมื่อจิตจำเรื่องราวในอดีตขึ้นมาเมื่อใด.... ก็พร้อมจะทุกข์ได้เมื่อนั้น
วันหนึ่งๆ สัญญาผุดเกิดกี่ครั้ง ก็ทุกข์มันทุกๆครั้ง.... ถ้า วิถีแห่งจิตนั้นๆ อยู่ในสมุทัยวารแห่งปฏิจจสมุปบาท

และ นี่คือ เหตุที่ทำให้ทุกข์ใจเมื่อเผลอขาดสติในปัจจุบันขณะ ไปจมอยู่กับสัญญาอารมณ์จากอดีต



คำตอบ ของเรื่องทั้งหมด จึงอยู่ที่ สติในทุกๆปัจจุบันขณะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


บางท่าน อาจนึกว่า

เอ... แล้ว ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ นี่ มันสำคัญมากหรือ???


ความเห็นส่วนตัว
ผมเห็นว่า สำคัญมากน่ะ...

สำคัญเท่าๆกับ ปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายการที่หมู่สัตว์ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติ(ชาติแบบกำเนิด๔)เลย

เพราะ มันมีเหตุเดียวกัน
และ ถ้าจะจบสิ้น.... ก็จบสิ้นด้วยกันทั้งหมด

จะเรียกว่า เป็นเรื่องเดียวกัน ยังได้เลย






หลวงปู่ชา สุภัทโท

ท่านจะเปรียบเทียบธรรมที่ลึกซึ้ง ด้วยการเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ
เช่น ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท กับ การตกต้นไม้


ผมคัดลอกการอธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาให้อ่าน เผื่อว่ามีคนยังไม่เคยอ่าน


อ้างคำพูด:
(จากบทเทศนา กุญแจภาวนา)

....มันจะเกิดยินร้ายก็เป็นสังขาร มันอยากจะไปโน่นไปนี่ก็เป็นสังขาร ถ้าไม่รู้เท่าสังขารก็วิ่งตามมันไป เป็นไปตามมัน
เมื่อจิตเคลื่อนเมื่อใดก็เป็นสมมติสังขารเมื่อนั้น

ท่านจึงให้พิจารณาสังขาร คือ จิตมันเคลื่อนไหว นั่นเอง

เมื่อมันเคลื่อนออกไปก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
ท่านให้พิจารณาอันนี้ ท่านจึงให้รับทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ ให้พิจารณาสังขารเหล่านี้


ปฏิจจสมุปบาทธรรมก็เหมือนกัน....

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญ-ญาณ

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปฯลฯ

เราเคยเล่าเรียนมาศึกษามาก็เป็นจริง คือ ท่านแยกเป็นส่วนๆไปเพื่อให้นักศึกษารู้
แต่เมื่อมันเกิดมาจริง ๆ แล้วท่านมหานับไม่ทันหรอก

อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง

จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมาถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้
มันไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติ ด้วย
มันไม่บอกว่า ตรงนี้เป็นอวิชชา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญาณ ตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก


เหมือนกับการตกจากต้นไม้ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริงๆ

อาตมาจึงมีหลักเทียบว่าเหมือนกับการตกจากต้นไม้

เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บ มิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต...เห็นแต่มัน ตูม!!!...ถึงดินเจ็บแล้ว

ทางนี้ก็เหมือนกัน
เมื่อมันเป็นขึ้นมา เห็นแต่ทุกข์โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย มันเกิดมาจากไหนมันไม่ได้อ่านหรอกมันไม่มีปริยัติ ที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด

แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน

แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน




ถ้าปราศจาก พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้ว
เรา-ท่าน ที่ไม่มีบารมีที่จะตรัสรู้เอง(เป็นพระปัจเจกๆ) คงไม่มีทางที่จะรู้ เรื่องนี้ได้

อาจจะรู้สึกว่า ทุกข์ๆๆๆ เต็มไปหมด...
แต่ ก็ไม่รู้ ว่าทุกข์มาอย่างไร และ จะดับอย่างไร

รู้สึกแต่ว่า เมื่อประสบพบกับสิ่งที่น่าพอใจ หรือ ไม่พอใจ ก็นำไปสู่ทุกข์ในที่สุด... หรือ เมื่อสัญญาในอดีตผุดขึ้นในมโนผัสสะ... ก็ ทุกข์เลย...ทุกข์ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นล่ะ
แต่ องค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาทนั้น เรา-ท่าน ไม่มีทางเห็นได้เองหรอก ถ้าไม่อาศัยสดับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ไม่มีทางรู้ได้เองหรอก ว่า กระบวนการเหล่านี้ มันมาจากไหน ผ่านมาทางไหน และ จะไปสู่ทุกข์อย่างไร

ทั้งๆที่
มันก็ทุกข์กัน จนน้ำตาไหลนองหน้า
ทุกข์กัน จนเป็นบ้าเป็นหลัง
ทุกข์กัน จนอาจทำลายชีวิตตนเอง เพราะ เข้าใจผิดว่า ฆ่าตัวตายแล้วจะพ้นทุกข์.... แต่ หารู้ไม่ว่า ตัวตนมันไม่ตายจริงๆ
และ ด้วยเหตุแห่งการเกิด(กรรม ที่สืบเนื่องจากตัณหา และ อุปาทาน)ยังมีอยู่... ต้องเกิดใหม่อีก.. แถม อาจต้องเกิดใน นรก อบาย สัตว์เดรัจฉานภพ
วิบัติไปกันใหญ่....

เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


รถของฉันหาย ฉันจึงเป็นทุกข์....
สังเกตุดีๆ มีคำว่ารถ"ของฉัน"หาย....ฉันจึงทุกข์
ถ้ารถของใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักหาย ฉันไม่ทุกข์
นี่ เรียกว่า รูปูปาทานนักขันโธ คือ ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นว่ารูปภายนอก(รถ)เป็น"ของฉัน"

ร่างกายของฉันป่วย ฉันจึงเป็นทุกข์.....
สังเกตุดีๆ มีคำว่าร่างกาย"ของฉัน"ป่วย....ฉันจึงทุกข์
ถ้าร่างกายของใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักป่วย ฉันไม่ทุกข์
นี่ เรียกว่า รูปูปาทานนักขันโธ คือ ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นว่ารูปภายใน(ร่างกาย)เป็น"ของฉัน"

ฉันปวดท้อง ฉันจึงเป็นทุกข์
สังเกตุดีๆ มีคำว่า"ฉัน"ปวดท้อง หรือ มีการปวดท้อง(เวทนา)ที่เป็น"ของฉัน"....ฉันจึงทุกข์
ถ้าท้องของใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักปวด ฉันไม่ทุกข์
นี่ เรียกว่า เวทนูปาทานนักขันโธ คือ ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าเวทนาภายใน(การปวดท้อง)เป็นของฉัน

ลูกของฉันปวดท้อง ฉันจึงเป็นทุกข์
สังเกตุดีๆ มีคำว่าลูก"ของฉัน"ปวดท้อง หรือ มีการปวดท้อง(เวทนา)ที่เป็น"ของลูกฉัน"....ฉันจึงทุกข์
ถ้าท้องของใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักปวด ฉันไม่ทุกข์
นี่ เรียกว่า เวทนูปาทานนักขันโธ คือ ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าเวทนาภายนอก(การปวดท้อง)เป็นของลูกฉัน

สัญญา สังขาร วิญญาณ.... ก็เป็นในลักษณะเดียวกัน

คือ ยึดมั่น-ถือมั่น ว่า ขันธ์๕(ทั้งภายใน-ภายนอก) เป็น "เรา"หรือ"ของเรา"
นี่เรียกว่า อุปาทานขันธ์๕.... คือ ขันธ์๕ที่ยังมีอาสวะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน

มีพระพุทธวจนะที่ตรัสในลักษณะที่ว่า

Quote Tipitaka:
อุปาทาน กับอุปาทานขันธ์๕ หาใช่สิ่งเดียวกันไม่..... แต่อุปาทานอื่นจะนอกจากอุปาทานขันธ์๕ก็หามีไม่


และ

Quote Tipitaka:
กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์๕เป็นทุกข์


คือ ตราบใด ที่ยังมีอุปาทานอยู่ .....ตราบนั้นทุกข์จะยังไม่ดับ

อุปาทานดับ ก็คือ จิตหลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์๕ทั้งหลายว่าเป็นเรา หรือของเรา..... นั่นคือ ที่สุดแห่งทุกข์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้า ท่านตรัสใน กุตุหลสาลาสูตรว่า

Quote Tipitaka:
การเกิดใหม่ย่อมมี แก่ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่




ดังนั้น การฆ่าตัวตายหนีทุกข์ใจจึงผิดพลาดอย่างรุนแรง
เพราะ
1.เหตุแห่งทุกข์ยังไม่ดับ
2.การเกิดใหม่ยังต้องมีอยู่ เพราะยังมีอุปาทานอยู่
3.การเกิดใหม่คราวหน้าจะแย่ยิ่งกว่าเก่า..... เพราะจิตสุดท้ายอยู่ในสภาพที่หดหู่
และโอกาสจะเ้กิดเป็นคนหรือเทวดาแทบจะไม่มีเลย


ทางที่ถูกต้อง คือ ต้องดับอุปาทาน

เมื่ออุปาทานดับหมดแล้ว วงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทัยวาร(เกิดทุกข์)จะยุติลง ทุกข์ใจจะดับหมดทันที(สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ)นับตั้งแต่วินาทีที่อุปาททานดับหมดจากใจ..... จึงมีคำกล่าวที่ว่า พระอรหันต์ท่านสิ้นทุกข์ทางใจแล้ว เหลือแต่ทุกข์ทางกายตามสภาพธาตุขันธ์

และ เมื่อขันธ์แตกดับ จะไม่มีการเกิดใหม่อีก ไม่ว่าจะในภพภูมิใด(อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ)
เป็นการยุติอย่างสิ้นเชิงของสังสารวัฏฏ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ในพระสูตรที่ตรัสถึงปฏิจจสมุปบาท กล่าวถึงว่าทุกข์เกิดอย่างไร(สมุทัยวาร) และทุกข์ดับอย่างไร(นิโรธวาร)
พูดให้รวบรัดสุด คือ เมื่อความไม่รู้ตามจริงในไตรลักษณ์ดับลง(อวิชชาดับ หรือ วิชชาเกิด) จิตจะไม่ปรุงแต่งไปในทางที่เกิดทุกข์(เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ)...... และจะไม่ไปสู่ขั้นตอนของการยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์๕(ไม่เกิดอุปาทาน)ในที่สุด......
ขั้นตอนเหล่านี้มันผ่านมาทาง อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สาฬยตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน .....
เมื่อมีอุปาทาน ก็จะมีอุปาทานขันธ์๕ คือ ยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์๕เป็นเรา-ของเรา....
และนี่คือ การเกิดของทุกข์
เวลาถ้าจะยุติวงจรของทุกข์นี้ จิตต้องมีสติ.... เมื่อมีสติ จิตก็จะเกิดสมาธิ และปัญญา ตามมา
เมื่อเกิดปัญญา รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว วงจรทุกข์ก็จะดับลง
นี่คือหลักการ ในการดับทุกข์

เวลาจะปฏิบัติ ต้องใช้มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นแนวปฏิบัติ

มหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวลงในรายละเอียดมากที่สุดแล้ว ว่าจะปฏิบัติเช่นไร จึงจะล่วงโศกไปได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มีคำถามคลาสสิก ที่จะได้ยินกันบ่อย ประเด็นเรื่องที่ว่า
แล้วตกลงว่า

ปฏิจจสมุปบาทนั้นครอบคลุมแค่ไหน

เฉพาะ การดับทุกข์ใจในปัจจุบัน
หรือ การอธิบายถึงเหตุผลที่หมู่สัตว์ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์(เกิดแบบกำเนิด๔ ตายแบบทำกาละ)???



คำถามนี้ มีผู้ถามท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง
ผมขออนุญาต คัดลอกมาเฉพาะคำถามมาน่ะครับ


อ้างคำพูด:
ถาม
พระอาจารย์บางท่านบอกว่าชาติ คือการเกิดทุกข์เกิดไม่ต้องรอต่อเมื่อตายแล้ว
คือกฏปฏิจจสมุปบาท ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่
เหมือนกับท่านจะบอกว่าชาติหน้าไม่มีจริง ไม่มีการมาเกิดอีก ทำให้ผู้ที่เลือกที่จะเดินทางสับสนไม่รู้จะเชื่อทางไหนแน่ เพราะมีการตีความคัมภีร์ไตรปิฏกไปคนละทาง ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่
และพระหรือคนที่มีความคิดเช่นนั้นจะเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่
เพราะคำตอบจะต้องเป็นทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ไม่มีทางที่จะเป็นทั้ง ๒ ทางไปได้




ผมเห็นดังนี้ครับ

ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมที่ลึกซึ้งสุดประมาณ
อธิบายครอบคลุมกว้างไกล...... ขึ้นกับว่าจะมองจุดไหน
เสมือน สมการที่ลึกซึ้งสมการหนึ่ง จะใช้ตัวแทนค่าใดลงไปในสมการ ก็ได้คำตอบที่น่าอัศจรรย์ด้วยกันทั้งสิ้น
การพูดคุยเรื่องนี้ ต้องมองกว้างๆ

อธิบายครอบคลุม ได้ตั้งแต่การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ของหมู่สัตว์(เกิดแบบกำเนิด๔-ตายแบบทำกาละ)

หรือ แม้นแต่ทุกข์ใจที่เรา-ท่านประสบในปัจจุบัน ก็อธิบายด้วยวงจรปฏิจจสมุปบาททั้งวงได้เลย


ผมพิจารณาเห็นว่า

เรื่องอันยาวไกลในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน มันก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของปัจจุบันในแต่ล่ะขณะที่เหนี่ยวนำด้วยกรรมมาเรียงสืบต่อกัน(สันตติ)

ตราบใดถ้าอวิชชาไม่สิ้นไปจากใจ ตราบนั้นทุกข์ก็จะดำเนินไปตลอด
โดยวงจรนี้ไม่ได้จบลงตรงที่ทำกาละ(ร่างกายแตกดับ).... เพราะ การเกิดใหม่ย่อมมีสำหรับผู้ที่ยังมีตัณหา-อุปาทานอยู่



เปรียบเสมือน จุด กับ เส้นตรง

ถ้าเรานำจุดมาเรียงต่อกันไปเรื่อยๆ เราจะได้เป็นเส้นตรง.... ซึ่งเปรียบแบบยาวข้ามภพ-ชาติ

ถ้าเรานำเส้นตรงมาซอยให้ละเอียดที่สุด ในแต่ล่ะขณะ เราจะได้เป็นจุด..... ซึ่งเปรียบแบบในปัจจุบันแต่ล่ะขณะ

มันขึ้นกับมุมมอง

อย่างเช่น คำถามที่ยกมา
ผู้ถามให้เลือกว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเขาเห็นว่าไม่มีทางที่จะเป็นทั้งสองอย่างพร้อมๆกันนั้น
แสดงว่า ผู้ถามยังถามด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมด้วยความเป็นตัวตนอยู่
โดยถ้ามองว่าตัวตนนั้น ขาดสูญลงเมื่อชีวิตสิ้น นี่จะตกไปสู่อุจเฉททิฏฐิ
แต่ถ้ามองว่าตัวตนนั้นล่ะ ที่คอยยืนโรงไปเกิดไปตาย นี่จะตกไปสู่สัสตทิฏฐิ

กล่าวคือ ยังไม่เห็นในเบื้องต้นว่า แม้นแต่ผู้ถาม(ที่กำลังถามอยู่)โดยแท้แล้ว ก็เป็นเรื่องของเหตุ-ปัจจัยที่สืบเนื่องอยู่ หาได้มีตัวตนที่แท้จริงใดๆไม่

ผู้ถามไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริง ไม่มีอัตตาที่เที่ยงแท้ใดๆ มาคอบเกิด-ตายเลย
ไม่ว่าจะเรียกว่า วิญญาณ อาตมัน ๆลๆ

สิ่งที่ปรากฏและแสดงตนอยู่ มันเป็นเรื่อง ของเหตุ-ปัจจัยและผล ที่เกิด-ดับ สืบเนื่องติดต่อกันไปด้วยกรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 22:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มีคนเข้าใจผิด ท่านพุทธทาส ในประเด็นนี้กันมาก

ว่า ท่านปฏิเสธ เรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดข้มภพชาติ( แบบ ชาติ ชนิดกำเนิด๔ ตายชนิดทำกาละ)

บางท่านที่มีอุจเฉททิฏฐิ หรือ นัตถิกทิฏฐิ จะอ้างคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่เน้นปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ มาหักล้าง สาสวสัมมาทิฏฐิ
และ ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ออกมาโต้ และ กล่าวโทษท่านพุทธทาส

เมื่อก่อนผมเอง ก็เคยโต้เถียงกับ ผู้ที่คำกล่าวของท่านพุทธทาสที่เน้นปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ มาหักล้าง สาสวสัมมาทิฏฐิ

และ ก็เคยไปร่วมวงตำหนิท่านพุทธทาสเอาไว้ด้วย....(เวรกรรม ๆ)


ผมขออนุญาต นำความเห็นของท่านพุทธทาสมาลงบ้าง
เพื่อเพื่อนสมาชิก จะได้รับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย


จาก หนังสือ ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน หน้า269



อ้างคำพูด:
พุทธศาสนาถือว่ามีสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ แต่ไม่ใช่ตัวตนสำหรับตายแล้วไปเกิด.
การที่สอนว่าวิญญาณเป็นตัวตนสำหรับตายแล้วไปเกิดนั้น เป็นคำสอนที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้า.พระพุทธเจ้าไม่ต้องมาพูดอะไรซ้ำ กับพวกเดียรถีย์อื่นอย่างนี้.

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักเรื่อง อนัตตาของพระองค์เอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจจะเป็นตัวตน. ปัจจัยแห่งการเวียนว่ายนั้นคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน. ถ้ามันมีปัจจัยอันนี้เหลืออยู่จิตมันก็ดับลงไปไม่ได้

มันก็เป็นไปตามวัฏฏะสังสาร.

เราก็ยืนยันอย่างนี้ว่า ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนสำหรับตายแล้วไปเกิด อย่างเป็นสัสตทิฏฐิ.
แล้วก็ไม่ได้ยืนยันว่า ไม่มีอะไรเสียเลย ซึ่งเป็นอุจเฉททิฏฐิ .
มันอยู่ที่ตรงกลางว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยสำหรับปรุงแต่งเป็นไป มันก็ยังมีการเป็นไป.ถ้าหมดเหตุปัจจัย มันก็ไม่มีการปรุงแต่งและเป็นไป.



...................................



พิจารณาเปรียบเทียบ กับที่ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์
ท่านวิสัชนาไว้ในเรื่อง วิญญาณ กับ การเกิดใหม่ น่ะครับ


อ้างคำพูด:
ถาม - คำว่า soul ภาษาไทยใช้คำว่า วิญญาณ จะเป็นอันเดียวกับปฐมวิญญาณหรือไม่

ตอบ - ในวงการพระพุทธศาสนานี่ เราหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้คำว่า soul
เพราะว่า soul นี่มีลักษณะอย่างที่เขาใช้สำหรับ อาตมัน เป็นวิญญาณในความหมายที่คลาดเคลื่อนหรือเพี้ยนไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความหมายในภาษาบาลี
ในวงการศาสนาภาษาอังกฤษ ไม่มีใครแปลวิญญาณว่า soul เขาใช้เพียง consciousness
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ หรืออังกฤษ-บาลีทั้งหลายใช้ soul เป็นคำแปลของอัตตาหรืออาตมัน และแปลอัตตา หรืออาตมันว่า soul ทั้งนั้น ไม่มีใครใช้คำนี้กับวิญญาณ

หลักพุทธศาสนาถือว่าจิตนี้เกิดดับตลอดเวลา เป็นกระแสไม่ใช่เป็นตัวยืนที่ตายตัว ถ้าหากเป็น soul ก็จะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรคงอยู่ยั่งยืนตลอดไปเป็นอมตะนิจนิรันดร เพราะฉะนั้นก็จึงใช้กันไม่ได้

เหมือนคำว่า เกิดใหม่ ในภาษาอังกฤษ สำหรับพวกฮินดู ที่ถือว่ามี soul เขาใช้คำว่า reincarnation
แต่ในพุทธศาสนาคำนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เราใช้คำว่า rebrith และถือว่า การเกิดใหม่เป็นปรากฏการณ์ในกระแสของการเกิดดับตลอดเวลา




สิ่งที่ข้ามภพชาติ ที่เป็นชีวิตใหม่ได้.... จึงไม่ใช่ วิญญาณ
แต่เป็น กรรม ต่างหากที่ตามข้ามภพชาติได้..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 23:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


หลวงปู่ บุดดา ถาวโร


ท่านเป็นพระเถระที่กล่าวชัดเจนมาก ในเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติ แบบเป็นคนเป็นสัตว์.
แปลกไหม....หลวงปู่ บุดดา เป็นสหธรรมิก ของท่านพุทธทาส


ลองอ่าน

อ้างคำพูด:
ระหว่างที่ท่านจำพรรษาที่วัดราชาธิวาสนั้น ท่านพุทธทาสได้พบและสนทนาวิสาสะเป็นที่ถูกใจ จึงได้ออกปากนิมนต์ไปจำพรรษาที่สวนโมกข์พลาราม ท่านบอกท่านพุทธทาสว่า อย่าให้ท่านเป็นผู้ทำลายแบบแผนที่วางไว้เลย จากเหตุคราวนั้น ทำให้ท่านพุทธทาสแก้ไขระเบียบที่ว่าผู้ที่จะเข้าพำนักในสำนักของท่านได้ ต้องเป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก มาเป็นข้อยกเว้นว่า หากไม่มีประโยคประธานใด ๆ ท่านต้องทดสอบก่อน

เกี่ยวกับท่านพุทธทาสนั้น เมื่อคราว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปยังเพชรบุรีได้พบกับท่านพุทธทาสอีก ซึ่งต่อมาหลวงปู่บุดดาได้ไปเยี่ยมท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์อีกหลายครั้ง บางครั้งก็พักค้างคืน ครั้งหลังสุดเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาปี ๒๕๓๓ ท่านก็ยังไปเยี่ยมท่านพุทธทาสจวบจนท่านปรารภว่าจะไม่ไปไหนอีกแล้ว





กรณี ท่านพุทธทาสภิกขุ กับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร


พระสุปฏิปันโนทั้งสองนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทน ของแนวปฏิจจสมุปบาททั้งสองนัยยะ

ท่านพุทธทาส เป็นตัวแทนของแนวปฏิจจสมุปบาทแบบที่มีนัยยะที่อธิบายเน้นการดับทุกข์ในปัจจุบัน

ในขณะที่ หลวงปู่บุดดา เป็นตัวแทนของแนวปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายการเกิด-ตายข้ามภพชาติ(ชาติแบบกำเนิด๔ หรือ ชาติที่ตรัสในบุพเพนิวาสานุสติญาณ).... เพราะท่านกล่าวตรงๆ แบบมั่นใจ ว่าท่านระลึกชาติย้อนหลังได้มากมาย


ตอนที่หลวงปู่บุดดา ถูกเชิญตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพๆ ท่านพุทธทาสก็ได้แวะเยี่ยมเยียนหลวงปู่บุดดา....
และหลวงปู่บุดดา ก็ได้แวะไปเยี่ยมท่านพุทธทาสถึงสวนโมกข์
ท่านทั้งสอง ต่างนับถือ ซึ่งกันและกัน


ผมตั้งข้อสังเกตุดังนี้

1.ถ้า แนวปฏิจจสมุปบาทสองแนวนี้ เป็นแนวทางที่ขัดแย้งกันจริง ไม่มีทางที่ท่านทั้งสองจะเคารพนับถือซึ่งกันและกันได้เลย

2.ถ้า แนวปฏิจจสมุปบาทแบบที่มีนัยยะที่อธิบายการดับทุกข์ในปัจจุบัน เป็นแนวทางทำให้คนเป็นอุจเฉทิฏฐิทั้งหมดจริง..... ทำไมหลวงปู่บุดดาไม่ตำหนิท่านพุทธทาส

3.ถ้า แนวปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายการเกิด-ตายข้ามภพชาติ(ชาติแบบกำเนิด๔ หรือ ชาติที่ตรัสในบุพเพนิวาสานุสติญาณ)ทำให้คนเป็นสัสตทิฏฐิทั้งหมดจริง....... หรือ หลวงปู่บุดดาระลึกชาติ(แบบกำเนิด๔)ได้ไม่จริง..... ทำไมท่านพุทธทาสไม่ตำหนิหลวงปู่บุดดา


ก็ฝากพิจารณาตรงนี้ด้วย

อยากเสนอให้ผู้ที่ขัดแย้งกันในประเด็นนี้ ในยุคปัจจุบัน
ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วมองด้วยมุมมองของผู้อื่นดูบ้าง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 12:59 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณมากคะที่ช่วยขยายความและร่วมแสดงความคิดเห็นที่ป็นประโยชน์กับผู้ที่ศึกษามากยิ่งขึ้นขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 94 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron