วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 15:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2008, 15:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

คัดลอกจาก...เรือนธรรม

http://www.ruendham.com

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2008, 15:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


...ความสุข...

ความสุขสัมพันธ์อยู่กับกรรม
กล่าวคือ กรรมดีเป็นเหตุแห่งสุข
กรรมชั่วเป็นเหตุแห่งทุกข์
คนทุกคนต้องการความสุข
แต่ความสุขเป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับคนทำความชั่ว
(น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฏการินา)

ความทุกข์ของสังคมมีมูลเหตุมาจากบาป ที่คนในสังคมร่วมกันทำ
แต่คนส่วนมากไม่ค่อยตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้มุ่งมองหา
แต่สาเหตุอื่นจึงไม่พบต้นตอของความทุกข์
ส่วนความสุขของสังคม
มาจากการที่คนทั้งหลายช่วยกันทำความดี
ประพฤติธรรมให้เหมาะสมตามฐานะของตน
สมพระพุทธพจน์ที่ว่า “ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมิ โลเก ปรมฺหิ จ”
แปลว่า “ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
ถ้าชาวพุทธเราส่วนใหญ่เข้าใจพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง
และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างทั่วถึงกันแล้ว
สังคมพุทธจะเป็นสังคมที่ดีกว่านี้มาก
จึงได้ยกเอาปัญหาที่น่าสนใจทางพระพุทธศาสนามาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ถ้าชาวพุทธเราดำเนินชีวิตแบบพุทธ
ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมีสติปัญญาแล้ว
ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงอย่างทันตาเห็น (ทิฏฐธรรม)
เราจะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ทั้งประโยชน์ต่อตนเองและ

ประโยชน์ต่อผู้อื่น ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า
ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงควรทำความเข้าใจในหลักธรรม

พิธีกรรม และจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน
เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม
มีผลเป็นความสุขสงบเย็น เป็นสวรรค์และนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน
ข้าพเจ้าหวังว่า หนังสือเรื่อง ความสุข นี้
จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง
ที่จะให้ท่านผู้อ่านเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข พ้นจากเวรภัย
มีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน
ขอผู้มีทุกข์จงพ้นทุกข์ มีโศกจงพ้นโศก มีโรคภัย
จงพ้นจากโรคภัย ตลอดกาลทุกเมื่อ


ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง


วศิน อินทสระ


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2008, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


...กรรม...

กรรมที่จะพูดวันนี้ จะมีหัวข้อใหญ่ว่า กรรม 16
อีกข้อหนึ่งคือกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว
และข้อ 3 ผลของกรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

กรรม คือ การกระทำด้วยกาย วาจา ใจ พร้อมด้วยเจตนา
ถึงไม่เจตนาก็เป็นกรรมได้ ที่ท่านเรียกว่า กกัตตากรรม
แต่มันมีผลเดือดร้อนถึงผู้อื่น เช่นว่า โยนก้อนหินเล่นมาจากชั้น 5
แล้ว มาถูกหัวคน โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้ถูกหัวเขา
อันนี้ก็เป็นกรรมเหมือนกันแม้ไม่เจตนา

กรรม เป็นคำกลางมีความหมายว่าการกระทำ จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้

กรรม สมุทัย เหตุเกิดของกรรม อันนี้จากพระไตรปิฎก อังคุตรนิกาย
เล่มที่ 20 ก็มีโลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นเหตุเกิดของกรรม ทางฝ่ายชั่ว
คล้ายเมล็ดพืชที่ยังไม่แตก ไม่หัก ไม่เปื่อย
ไม่ถูกลมแดดทำให้เสียหาย เนื้อยังดีอยู่
เมื่อถูกหว่านลงไปในพื้นที่ที่พรวนไว้ดีแล้วในนาไร่ที่ดี
ทั้งฝนก็ตกถูกต้องตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นก็จะเจริญงอกงามดีเทียว

ถ้าเผื่อกรรมที่กระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ
มันก็ทำให้อกุศลเจริญขึ้น

ถ้าเป็นกรรมที่ทำด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ
อันนี้ก็จะ เป็นไปเพื่อความสิ้นภพสิ้นชาติไม่เกิดอีก
ท่านเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ที่เผาแล้ว เป็นเขม่า
โปรยลงไปในลมพายุลอยแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว
แต่ว่าเป็นเมล็ดพืชที่ไม่งอกขึ้นอีก

ใน พระไตรปิฎกตอนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
คนเขลาย่อมทำกรรมเพราะโลภะ โทสะ โมหะ
กรรมใดที่เขาทำแล้วน้อยหรือมากก็ตามนั้น
ให้ผลในอัตภาพนั้นบ้าง ให้ผลในอัตภาพอื่นบ้าง
เพราะฉะนั้นก็ควรจะระวังกรรมที่กระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

ทีนี้ขอพูดเรื่องกรรม 16 ท่านกล่าวไว้อย่างนี้

1. บางคนทำกรรมชั่วไว้มาก
แต่อาศัยกรรมดีบางอย่างไปเกิดในกำเนิดดี
เช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ย่อมจะได้เสวยสุขอย่างเทวดา
กรรมชั่วยังไม่มีโอกาสให้ผล อันนี้เรียกว่า คติสมบัติ ป้องกันไว้

2. บางคนทำกรรมชั่วไว้มาก ถืออาศัยกรรมชั่วปฏิสนธิในที่ไม่ดี
ในตระกูลต่ำ แต่อาศัยกรรมดีบางอย่างทำให้รูปงาม มีพลานามัยดี
เป็นที่พอใจของผู้พบเห็น ถ้าเป็นหญิงทาส นายก็พอใจในรูปร่าง

นายก็นำไปเป็นภรรยา ถ้าเป็นหญิงยากจน
คนร่ำรวยเห็นเข้าก็จะนำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมบ้าง เป็นภรรยาบ้าง
พ้นจากความลำบากยากจนไป
ผมแถม เช่น พวกนางงามที่มีฐานะยากจนมาก่อน
ก็คงอยู่ในข้อนี้นะครับ เรียกว่า อุปธิสมบัติ ป้องกันไว้
ถ้าเขาเกิดเป็นชายมีรูปร่างหน้าตาดี
ตกทุกข์ได้ยาก ผู้หญิงมั่งคั่งนำไปเป็นสามีบ้าง
มีชีวิตสุขสบายไปได้พอสมควร
ก็ด้วยอานุภาพของอุปธิสมบัติ คือ ร่างกายดี

3. บางคนทำกรรมชั่วไว้มาก แต่เขาเกิดในสมัยที่ข้าวปลา
อาหารอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติมาก
มีมนุษย์อยู่น้อยเขา จึงไม่ลำบากด้วยความเป็นอยู่
อันนี้กาลสมบัติป้องกันไว้ กรรมชั่วจึงยังไม่ให้ผล
ในอรรถกถาท่านยกตัวอย่าง เช่น มนุษย์ต้นกัลป์
ใครเกิดมาก็ไม่มีใครอดอยาก อาหารสมบูรณ์
ถ้าเขาเกิดในสภาพอย่างนั้น
แม้จะทำชั่วมากก็ไม่อดอยาก กาลสมบัติป้องกันไว้

4. บางคนทำกรรมชั่วไว้มาก
แต่เขามีความเพียรพยายามดีในการทำมาหากิน
รู้จักเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ รู้จักถอยในกาลที่ควรถอย
แล้วก็รู้จักเพิ่มพูนทำความเพียรถูกกาลเทศะ ถูกเหตุการณ์
รู้ว่าเหตุการณ์อย่างไรควรทำอย่างไร
เขาจึงมีชีวิตเป็นสุขอยู่ได้ อันนี้ปโยคสมบัติป้องกันไว้

ถ้า เราทบทวนเรื่องสมบัติ 4 นิดหนึ่ง ก็จะทำให้เข้าใจดีขึ้น
มนุษย์เราถ้าเผื่อว่าได้สมบัติ 4 แล้ว กรรมชั่วก็มีโอกาสให้ผลน้อย
กรรมดีมีโอกาสให้ผลมาก คือ ได้กำเนิดดี
ถ้าเป็นมนุษย์ก็เกิดในชาติตระกูลดี มีสมบัติมั่งคั่ง นี่ก็เรียกคติสมบัติ
คนพวกนี้ถ้าทำชั่วเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ค่อยเป็นไร มีอะไรป้องกันไว้เยอะ

แต่ถ้าได้คติวิบัติ เช่น ไปเกิดในที่ต่ำแร้นแค้น ยากจน
เปิดโอกาสให้กรรมชั่วให้ผลได้เยอะ กรรมดีให้ผลได้ยาก

อีก อันหนึ่งคืออุปธิสมบัติ พลานามัยดี ร่างกายดี
รูปร่างสวยงาม น่าดูน่าชม แม้แมวสีดี รูปร่างหน้าตาดี
ก็ได้กำไรกว่าแมวไม่สวยต่อมาคือ กาลสมบัติ
เกิดในกาลที่เหมาะ ที่เขาจะทำอะไรได้

ปโยคสมบัติก็คือ ความเพียรดี ตรงกันข้ามก็จะเป็นวิบัติไป

5. บางคนทำกรรมชั่วไว้ ไปเกิดในทุคติ
คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
กรรมชั่วย่อมได้โอกาสให้ผลเต็มที่
ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ในสภาพที่ยากจน ขัดสน ตกต่ำ
เป็นการเปิดโอกาส ให้กรรมชั่วให้ผลมากเหมือนกัน
นี่อาศัยคติวิบัติให้ผล อย่างไปเกิดเป็นงูก็เสร็จไปชาติหนึ่ง
เลยทำความดีอะไรก็ไม่ได้

6. บางคนทำกรรมชั่วไว้ไปเกิดในภพใหม่ มีอวัยวะพิกลพิการ
ร่างกายไม่สมประกอบ อ่อนแอ ขี้โรค
ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ผู้ใดเกิดในท้องหญิงทาสี
หรือกรรมกรผิวพรรณไม่งาม ร่างกายไม่สวย
ชวนให้สงสัยว่าเป็นยักษ์ หรือมนุษย์ หรือปีศาจ
ถ้าเป็นชายเขาก็ให้ไปเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า
เลี้ยงโค ให้หาหญ้าหาฟืน
ถ้าเป็นหญิงเขาก็ให้ไปต้มถั่วให้ช้างให้ม้า ให้เทหยากเยื่อ เป็นต้น
บาปกรรมของ ผู้นั้นชื่อว่าอาศัยอุปธิวิบัติ

7. บางคนทำกรรมชั่วไว้ ไปเกิดในยามข้าวยากหมากแพง
สังคมแร้นแค้นข้าวปลาอาหาร หรือในเวลาที่ตระกูลเสื่อมสิ้นสมบัติ
หรือในอันตรกัลป์ บาปกรรมของผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยกาลวิบัติ
(อันตรกัลป์ คือ ช่วงต่อระหว่างกัลป์หนึ่งกับอีกกัลป์หนึ่ง)

8. บางคนทำความชั่วไว้ มีความเพียรย่อหย่อน
ตรงกันข้ามกับข้อ 4 มีชีวิตตกต่ำลำบาก
กรรมชั่วของเขาอาศัยปโยควิบัติให้ผล

9. บางคนทำความดีไว้ แต่อาศัยความชั่วบางอย่าง
ไปปฏิสนธิในกำเนิดต่ำ เช่น อบายภูมิ 4
หรือกำเนิดมนุษย์ที่ตกต่ำลำบาก
กรรมของเขาถูกคติวิบัติห้ามไว้ จึงยังไม่ให้ผล

10. บางคนทำกรรมดีไว้ ไปเกิดในภพใหม่
แม้เกิดในตระกูลดี เช่น ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลเศรษฐี
พอจะสืบราชสมบัติเป็นต้นได้ แต่อาศัยอุปธิวิบัติ
คือมีร่างกายไม่สมประกอบ พิกลพิการ ไม่ถูกเลือกให้สืบสกุล
หรือไม่ถูกเลือกให้สืบราชสมบัติ
กรรมดีของเขา ถูกอุปธิวิบัติห้ามไว้ จึงยังไม่ให้ผล

11. บางคนทำกรรมดีไว้ แต่ไปเกิดในยุคสมัยที่ข้าวยากหมากแพง
อย่างเดียวกับข้อ 7 ความดีของเขาถูกกาลวิบัติห้ามไว้ จึงยังไม่ให้ผล

12. บางคนทำกรรมดีไว้ ไปเกิดในภพใหม่
มีความเพียรย่อหย่อน อย่างในข้อ 8 ชีวิตตกต่ำ
กรรมดีของเขา ถูกปโยควิบัติห้ามไว้ กรรมดีจึงยังไม่ให้ผล

13. - 16. บางคนทำกรรมดีไว้เมื่อไปเกิดในภพใหม่
เขาประกอบพร้อมด้วยสมบัติทั้ง 4
คติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ
กรรมดีของเขาได้อาศัยสมบัติเหล่านี้ให้ผลทวียิ่งขึ้นไป

เรื่อง กรรมมีความสลับซับซ้อนมาก
ผู้ที่ไม่มีญาณจักษุยากที่จะมองให้ทะลุปรุโปร่งได้
เช่น ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 14 มหาวิภังคสูตร กล่าวว่า

1. บางคนทำชั่วมากแทบตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีพไปสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

2. บางคนทำชั่วมาก เมื่อสิ้นชีพไปอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

3. บางคนทำความดีมาก สิ้นชีพแล้วไปทุคติ ก็มี

4. บางคนทำดีมาก สิ้นชีพแล้วไปสุคติโลกสวรรค์ ก็มี


อันนี้เพราะเหตุใด พวกที่ 1 เพราะกรรมชั่วที่เขาทำยังไม่ให้ผล
แต่ความดีที่เขาทำไว้ได้โอกาสให้ผล

พวกที่ 2 เพราะกรรมชั่วที่เขาทำนั้น มีโอกาสให้ผล

พวกที่ 3 ทำดีไว้มาก สิ้นชีพแล้วไปทุคติ กรรมดีที่เขาทำ

ยังไม่มีโอกาสให้ผล กรรมชั่วที่เคยทำไว้ ได้โอกาสให้ผล

พวกที่ 4 ก็เพราะว่ากรรมดีที่เขาทำมีโอกาสให้ผล

ดังนั้น แม้จะมีหน้านองด้วยน้ำตา ก็ให้อดทนทำความดีไป
ถ้ารู้สึกว่าทำดีแล้วยังไม่เห็นผลกรรมดี

กรรม ที่กล่าวถึงนี้ หมายถึง กุศลกรรมบถ 10
กับอกุศล-กรรมบถ 10 ในฝ่ายชั่ว
และตรัสไว้ในตอนท้ายพระสูตรว่า
อิติโข อานนฺท กมฺมํ เป็นต้น ความว่า ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์


กรรมที่ไม่สมควร คืออกุศล ปรากฏเป็นไม่สมควร ก็มี

กรรมที่ไม่สมควร ปรากฏเป็นสมควร ก็มี

กรรมที่สมควร ปรากฏเป็นสมควร ก็มี

กรรมที่สมควร ปรากฏเป็นไม่สมควร ก็มี


เหตุนี้เอง เดียรถีย์ บางพวกที่เห็นอดีตอนาคตเพียงเล็กน้อย
จึงเข้าใจผิด เห็นผิดว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว
เมื่อเห็นผิดก็สอนผิด ทำให้คนสมาทานเอาวิถีชีวิตที่ผิด

สำหรับ พระพุทธเจ้า ทรงเห็นโดยตลอด มีพระญาณไม่มีที่ขีดคั่น
ทรงรู้ว่าสัตว์ใดเข้าถึงสุคติหรือทุคติ ด้วยผลของกรรมใด
การตรัสบอกของพระองค์จึงถูกต้อง

จบเรื่องกรรม 16 เพียงเท่านี้นะครับ


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 10:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หัวข้อที่ 2 กรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว


คนทั้งหลายมักเข้าใจว่า
กรรมเป็นสิ่งตายตัว ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
แต่ตามหลักฐานทางพุทธศาสนา กรรมไม่ใช่สิ่งตายตัว


ส่วน คำที่กล่าวว่า ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ พลัง
หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ผู้ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว


คืออันนี้ยังไม่ลงรายละเอียด ท่านพูดเอาไว้กว้างๆ นะครับ
แต่ถ้าลงรายละเอียดแล้วจะมีเงื่อนไขนะครับ


ลองนึกดูคำอุปมาก็ได้ ที่ว่าหว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น
บางทีหว่านแล้วมันไม่ได้ มันตายหมดเลย น้ำท่วม หรือแล้งเกินไป


พระ พุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้นนะครับ
“ถ้าผู้ใดพึงกล่าวว่า บุคคลพึงทำกรรมไว้อย่างใด
เขาต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้น
ถ้าเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่มีประโยชน์
โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็มีไม่ได้


แต่ ถ้าผู้ใดพึงกล่าวว่า บุคคลกระทำกรรมที่จะต้องเสวยผลอย่างใด
เขาย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นอย่างนั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จึงมีประโยชน์
โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ย่อมจะมีได้”


ผม ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้นะครับ
ข้อความตอนแรกเล็งถึงตัวกรรม คือตัวกระทำ
ข้อความตอนหลังเล็งถึงผลแห่งกรรม
กรรมที่บุคคลทำแล้วทำคืนไม่ได้เป็นอันทำแล้ว
แต่การเปลี่ยนแปลงผลของกรรมย่อมมีโอกาสทำได้บ้าง
โดยการทำกรรมใหม่ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงผลแห่งกรรมที่ทำแล้ว


เช่นกรณีพระองคุลีมาล และตัวอย่างที่พระองค์ทรงยกขึ้นเป็นตัวอย่าง


บุคคล บางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย
บาปกรรมนั้นนำเขาสู่นรกได้
แต่บางคนทำบาปกรรมเล็กน้อย เช่นนั้นเหมือนกัน
บาปกรรมนั้นให้ผลในปัจจุบัน
ส่วนเล็กน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ส่วนที่มาก
อันนี้แปลตามฉบับหลวง


ฉบับ มหามงกุฎแปลตรงนี้ว่า บาปกรรมแม้น้อยอย่างเดียวกันนั้น
บางคนทำแล้วกรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
ให้ผลในภพปัจจุบัน ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย


อรรถกถาฉบับไทย กล่าวว่า
กรรมที่มากย่อมให้ผลกรรมเล็กน้อยไม่ให้ผล


ส่วนฉบับพม่า กลับเห็นว่า กรรมเล็กน้อยไม่ให้ผล
กรรมมากจะให้ผลได้อย่างไร อันนี้ก็แล้วแต่ท่าน ตามใจท่าน


ทีนี้บุคคลเช่นไรทำบาปกรรมเล็กน้อยแล้ว
บาปกรรมนั้นนำเขาสู่นรก คือ บุคคลที่ไม่ได้อบรมกาย
ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา
เป็นคนมีคุณน้อย มีใจต่ำ คับแคบ มีปกติอยู่เป็นทุกข์
แม้ด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย อปฺปทุกฺขวิหารี
ถ้าอย่างนี้ ทำบาปกรรมเล็กน้อย ก็จะไปนรกแล้วละ
คล้ายเรือเพียบอยู่แล้ว เอาก้อนหินเท่ากำปั้นมันก็จมแล้ว


บุคคล เช่นไร ทำบาปกรรมเล็กน้อยแล้ว
ให้ผลในปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็ไม่นำไปสู่นรก
ก็คือ บุคคลที่อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาดีแล้ว
เป็นผู้มีคุณมาก ใจสูง ใจกว้าง
มีปกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีพรหมวิหาร เป็นต้น
อันหาประมาณมิได้
เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในขันใบน้อย
หรือในถ้วยน้ำเล็กๆ น้ำย่อมเค็มจัด ดื่มไม่ได้
แต่ถ้าเอาก้อนเกลือเช่นนั้น ใส่ในแม่น้ำคงคา
น้ำจะไม่เค็มเลย เพราะแม่น้ำนั้นเป็นห้วงน้ำใหญ่


นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับ
เป็นข้อแตกต่างระหว่างคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน
แต่ว่าให้ผลไม่เหมือนกัน ไม่ตายตัว มันมีเงื่อนไข


ก็ ดูคนที่เขาทำผิดต่อเรามาตลอด
พอทำผิดอีกนิดเดียวเท่านั้น เป็นเรื่องใหญ่โตเลย
แต่บางคนทำดีกับเรามาตลอด
ทำผิดอย่างเดียวกันกับคนแรก แต่เราไม่เอาเรื่องเขาเลย


อีกตัวอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ว่า


บุคคล บางคนถูกจองจำ เพราะทรัพย์ 1 กหาปณะ บ้าง
100 กหาปณะ บ้าง แต่บางคนไม่ถูกจองจำเพราะทรัพย์จำนวนนั้น
คนพวกไหนถูกจองจำ คนพวกไหนไม่ถูกจองจำ
พวกยากจนขัดสนถูกจองจำ พวกร่ำรวยไม่ถูกจองจำ ฉันใด
คนทำกรรมเล็กน้อย ดังกล่าวมาก็เป็นเช่นนั้น
บางคนไปนรกบ้าง บางคนไม่ไปนรกบ้าง


อีก อุปมาหนึ่ง คนลักแกะ คนหนึ่งถูกจองจำ ถูกเผาไฟ
เพราะไปลักแกะของคนยากจนขัดสนเข้า
เพราะเขาไม่ค่อยมีอยู่แล้ว คนลักแกะบางคนไม่ถูกฆ่า
ไม่ถูกจองจำ ไม่ถูกเผาไฟ เพราะเขาไปลักแกะคนมั่งคั่ง
เพราะเขามีแกะมากมาย ถูกลักแกะไปเล็กน้อยเขาไม่เดือดร้อน
เพียงแต่ผู้ลักลอบน้อมขออภัย เจ้าของแกะก็ปล่อยเขาไป
บาปกรรมที่บุคคลทำก็ฉันนั้น
นำคนไปสู่นรกบ้าง ไม่นำคนไปสู่นรกบ้าง


ข้อ ความตามพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้วนี้
จะเห็นว่าเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขมาก
กฎแห่งกรรมไม่ได้ตายตัวอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
เช่น คนทำกรรมเล็กน้อยเท่ากัน
คนหนึ่งไปนรก อีกคนไม่ต้องไปนรก
เพราะมีความดีช่วยพยุงเอาไว้
คล้ายคนหนึ่งกระโดดลงจากตึก คนหนึ่งลงบนซีเมนต์
อีกคนลงบนผ้าใบ มันไม่เหมือนกัน
เพราะสิ่งที่รองรับไม่เหมือนกัน
คุณเหล่านี้มันจะช่วยป้องกันไว้
ความดีมันท่วมความชั่ว
ทำให้ความชั่วเล็กน้อยไม่มีฤทธิ์ในการให้ผล
ที่ทรงเปรียบเหมือนน้ำกับเกลือ
แสดงว่า ความดีสามารถละลายผลแห่งความชั่วบางอย่างได้
สามารถจะเปลี่ยนแปลงกรรมได้บ้าง
ความชั่วที่มีจำนวนมากก็ทำนองเดียวกันนะครับ
เมื่อท่วมความดีก็จะละลายผลแห่งกรรมดีได้เหมือนกัน
แต่ไม่ได้หมายความว่ากรรมชั่วนั้นหมดไป แต่ละลายได้
มีอยู่แต่เหมือนไม่มี
ภาษาทางศาสนาเราเรียก อโพหาริก มีเหมือนไม่มี
เหมือนเรามีตังค์อยู่สลึงหนึ่ง แต่ซื้ออะไรไม่ได้เลย


มี เรื่องมากในตำราทางพุทธศาสนา
ที่ได้กล่าวถึงผู้ที่เคยทำบาปกรรมเป็นอันมาก
ตอนหลังกลับใจมาทำความดี และยึดมั่นอยู่กับความดี
แม้ชั่วระยะเวลาไม่นานนัก ก็ทำให้ไปสุคติได้
ถ้าได้คุณธรรมชั้นสูงเป็นอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปแล้ว
ก็เป็นอันว่าปิดกั้นอบายภูมิได้เลย
ไม่ว่าจะเคยทำกรรมชั่วมาอย่างไร
นี่แสดงว่ากรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้
กรรมเก่าเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกรรมใหม่


จึง เป็นคติเตือนใจว่า ทุกวันนี้ถ้าเราทำอะไรที่ผิด
ก็อย่าได้หดหู่ท้อแท้
ละห้อยหาแต่กรรมเก่่า ที่ทำแล้วก็ทำไป
ให้ทำกรรมใหม่่ที่ดีต่อไป


กรรม ที่เปลี่ยนแปลงได้นี้ ก็มองง่ายๆ ว่า
เราเตะฟุตบอล มันจะต้องเข้าโกล
แต่เมื่อเตะจริงๆ 30 นาที ยังไม่เข้าเลย
เพราะมีคนคอยขัดอยู่ตลอด ไม่ให้เข้าได้ง่ายๆ


ข้อที่ 3 ผลแห่งกรรม เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้


ที่ บอกไว้ว่า เมื่อเตะฟุตบอล มันต้องเข้าโกล
ถ้ามีคนดักอยู่มากฝ่ายหนึ่งมันก็ไม่เข้า มันมาเข้าโกลเราเสียอีก
คือ กษณะที่ว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ มีเงื่อนไข
ไม่ใช่ว่าเราทำแล้วมันจะได้ตามที่เราทำ
เราทำแล้วมีเงื่อนไขมาก
มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มันเบี่ยงเบนเป็นอย่างอื่นมันก็เปลี่ยนไป


หรือเขายิงลูกศรมา ธรรมดามันเข้าเป้้า
ถ้าเราต้องการจะไม่ให้มันเข้าเป้า
ก็ยิงสกัดแล้วก็เบี่ยงเบนมันไป มันก็ไม่เข้าเป้า


เหมือน กรรมมันพุ่งมา จะให้ผลแก่คนใดคนหนึ่ง
แล้วเขาทำกรรมดีอะไรหลายๆ อย่างแล้วก็ไปสกัดกั้นเอาไว้
ผลแห่งกรรมมันเปลี่ยนแปลงได้้ ทั้งทางดีและไม่ดี
ถ้าผลดีมันจะเกิดขึ้น แต่ว่าไปทำความชั่วแรงๆ เข้า
มันจะไปสกัดกั้นผลแห่่งความดีให้เบี่ยงเบน
ไปยังไม่สามารถจะให้ผลได้ในตอนนั้น


เพื่อให้ชัดเจน ขอพูดถึงนิยาม 5 คือ


1. อุตุนิยาม ธรรมชาติที่เกี่ยวกับฤดูกาล
หรือความเป็นไปตามธรรมชาติ มีฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน
เป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
และมีอิทธิพลต่อรูปร่างผิวพรรณของมนุษย์ด้วย
เช่น มนุษย์ที่อยู่ ประจำถิ่นร้อนจัด มีผิวดำ
เมื่ออยู่หลายชั่วอายุคน ก็จะกลายเป็นพันธ์ุดำไป


2. พีชนิยาม กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพืชพันธ์ุ หรือพันธุกรรม
ทั้งอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์
เช่น ขนุนออกลูกเป็นขนุน สุนัขมีลูกเป็นสุนัข คนมีลูกเป็นคน


3. จิตนิยาม กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต
หรือจิตเป็นตัวกำหนด เช่น เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน
จะสังเกตว่าเมื่อเวลาจิตโกรธ พฤติกรรมก็จะออกมาอย่างหนึ่ง
จิตมีเมตตา พฤติกรรมก็จะออกมาอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน


พระ พุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ก็มีทุคติเป็นที่หวัง
เมื่อจิตไม่เศร้าหมองก็มีสุคติเป็นที่หวัง
จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ่ว ก็เป็นตัวกำหนดทุคติหรือสุคติ
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรรมนิยามด้วยเหมือนกัน


4. กรรมนิยาม กรรมเป็นตัวกำหนดสัตวโลก
เป็นไปต่างๆ ดีบ้างเลวบ้าง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามบ้างให้ประณีตบ้าง
สัตว์ผู้ที่ทำดีก็ไปดี ผู้ทำชั่วก็ไปในทางที่ชั่ว ต่อไป
ก็ได้รับผลแห่งกรรมเป็นสุขเป็นทุกข์
ตามที่สั่งสมไว้แต่ก็มีเงื่อนไข
มีเหตุปัจจัยตามที่เคยกล่าวมาแล้ว และมันเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้


5. ธรรมนิยาม ธรรมดาเป็นตัวกำหนด
ความเป็นธรรมดา ของสิ่งทั้งหลายที่จะต้องเป็นเช่นนั้น
เป็นความแก่ความตาย เป็นธรรมดาของสิ่งนั้น
เป็นธรรมดาของนกที่บินได้


ทั้ง 5 ข้อก็มีความสัมพันธ์กันหมด
เคยตั้งปัญหาถามว่า จิตนิยาม กับกรรมนิยามอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล

“ภิกษุ ทั้งหลายกล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
เพราะบุคคลคิดแล้วจึงทำ ด้วยกายบ้าง วาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง”
ดังนั้นจิตนิยามเป็นเหตุ กรรมนิยามเป็นผล
มีคนถามว่ากรรมมันแก้ได้หรือเปล่า ตอบว่าแก้ได้โดยไม่

กระทำ กรรมนั้นเพิ่มเติม หยุดการกระทำเช่นนั้น
ก็ถือว่าเป็นการล้าง กรรมได้แล้ว
แต่วิธีอื่นที่ไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา
ฟังสวดภาณยักษ์ อะไรเหล่านี้ แก้กรรมไม่ได้


บาง คนบอกว่า ผมหยุดกินเหล้าแล้ว แต่โรงเหล้ายังไม่หยุดผลิต
อันนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่นไป
เอาแต่ตัวเราว่าเราหยุดกินแล้ว กรรมอันนั้นก็ได้้ลบไปแล้ว



บาง คนสงสัยว่ากรรมมันมองไม่เห็นเลยสงสัยเรื่องที่กรรมมันจะให้ผล
อันนี้ก็เหมือนต้นไม้ เมื่อมันยังไม่มีผล ตอนนั้นผลมันอยู่ ที่ไหน
ถ้าเขาตอบปัญหานี้ได้ เขาก็เข้าใจคำถามของเขา


พอถึงคราวมะม่วงมันจะมีผล มันก็มีผลขึ้นมา
ก่อนหน้านั้นก็หาไม่เจอว่าผลอยู่ที่ไหน


ใน วาเสฏฐสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 ข้อ 707 ได้กล่าว
ถึงพระพุทธองค์ตรัสกับ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ
ถึงเรื่องบุคคลต่างๆ ว่าเขาเป็นเช่นไร
ก็เพราะการกระทำของเขาเอง
เช่น เป็นพราหมณ์ เป็นชาวนา เป็นพ่อค้า เป็นศิลปิน
เป็นโจร เป็นทหาร เป็นพระราชา เป็นต้น
ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมคือสิ่งที่เขาทำ
ไม่ใช่เพราะกำเนิด ตอนท้ายพระองค์ตรัสว่า
ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้เห็นในกรรม
และผลของกรรมย่อมเห็นกรรมตามเป็นจริงดังกล่าวมา
และตรัสต่อไปว่า โลกเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์ก็เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่ในกรรม เหมือนเพลารถยึดรถที่กำลังวิ่งไป
บุคคลย่อมเป็นผู้ประเสริฐ เพราะตบะพรหมจรรย์
พรหมจรรย์นี่หมายถึงระบบการทำความดีนะครับ
ความสำรวม และการฝึกตน อย่างนี้แหละคือผู้ประเสริฐสูงสุด


นี่เป็นข้อความในวาเสฏฐสูตร


ผม ขอเพิ่มเติมอีกนิด
มีกฎอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ธรรมนิยาม 5 อย่างนี้แล้ว
อันนี้ผมเพิ่มเอง คือ กฎระเบียบที่มนุษย์ตั้งขึ้น
เรียกว่า Man Made Law
เพื่อความอยู่กันสงบเรียบร้อยในสังคม จะเรียกว่าสังคมนิยามก็ได้
ถ้าจะรวมลงในธรรมนิยาม ก็คงรวมลงในกรรมนิยามนั่นเอง
เพราะเป็นการกระทำของมนุษย์
สังคมนิยาม มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเองพอ
คอยเดินตามแฟชั่น ค่านิยมของสังคม
เป็นไปในทางใดก็เฮกันไปในทางนั้น
ไม่ได้พิจารณาถึงผลได้ผล เสียแก่คนสักเท่าไร
ปัญญาจักษุยังน้อยอยู่ ทำให้พิจารณาพิษภัย
ไม่เห็นหรือจิตใจยังไม่แข็งพอ
ที่จะโยนทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระ เก็บเอาแต่ ที่เป็นสาระไว้


การ แก้ปัญหาสังคม ผมเห็นว่าต้องแก้ที่ครอบครัว
ถ้า ครอบครัวดี สังคมก็จะดีไปด้วย
คือบางคนบอกว่าผู้หลักผู้ใหญ่
โตแล้วสอนยาก เป็นไม้แข็ง ไม่เท่าไหร่ก็ตาย
เราไปสอนเด็กกัน เถอะ ไปเริ่มต้นที่เด็ก
ผมว่าไม่สำเร็จ ผู้ใหญ่ที่ยังไม่ดี เด็กดียาก
ในครอบครัวที่แตกสลาย ไปดูตามสังคมต่างๆ
ก็ไม่มีแบบที่ดี เท่าที่ควร
เขาก็ได้ยินคำสอนมาอย่างหนึ่ง
แต่พอดูแบบที่เห็นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง


อย่าง เวลามีงานเลี้ยง คนใหญ่คนโต
ก็มีการเลี้ยงเหล้ากัน ก็ทำให้ดูไม่ออกว่าเหล้ามันไม่ดียังไง
ก็เห็นกินกัน คือ เขายังแยกแยะไม่ออกว่าความดีกับสิ่งที่ดี
สิ่งที่ชั่วกับความชั่ว มันต่างกันยังไง

เมื่อ ครอบครัวยังย่ำแย่อยู่ เด็กมันก็แย่ไปด้วยอันนี้ไม่ได้
หมายความว่า ไม่ให้โทษเด็ก เด็กต้องรับผิดด้วย
ถ้าเขาไปทำความผิดความชั่วต้องรับผิดด้วย
ไม่ใช่ว่าจะปลอดจากความผิด
แต่ว่าถ้าจะแก้ ปัญหาสังคม เพื่อให้สังคมประกอบกรรมดีมากขึ้น
ผมว่าต้องสอนที่ผู้ใหญ่
คือให้ผู้ใหญ่ดีก่อน ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่ดีเด็กดียาก


สุภาษิตอังกฤษว่า
Action Speak Lounder than Word
การกระทำดังกล่าวคำพูด


เคย มีท่านผู้หนึ่ง ไปสัมภาษณ์ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า
ทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นคนดี
ท่านบอกว่า “ให้แม่มันดีเสียก่อน”
ผมจำได้ติดหู คมมาก
ท่านก็อธิบายว่า ต้องให้พ่อแม่ดี ผลิตผลมันก็ดีด้วย


เหมือน ขนมปังบางแห่งเขาทำอร่อยมาก
ขายไม่ทัน คนจองเยอะ แป้งคุณภาพดี
ส่วนผสมดี ฝีมือดี มันก็เลยดีไปหมด
บางรายแป้งก็ไม่ดี ฝีมือไม่ดี หลอกขายคนไป
คนมาซื้อคราวเดียวก็ ไม่มาซื้ออีก คือ ตัวประกอบ
ที่เราเรียกเหตุปัจจัย มันต้องดี จึงจะได้สิ่งดี
คนเราก็ต้องมีเหตุปัจจัยดี มันจึงจะดีได้


ผม เคยให้นักเรียนเขียนว่า ความทุกข์ของเขาคืออะไร
คำตอบที่ได้มากที่สุด คือ ครอบครัวเขาแตกแยก
ก็เรียกมาอธิบาย และให้กำลังใจเขา
ผมจึงคิดว่า สถาบันครอบครัวนี่สำคัญมาก


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ไม่ดี
แล้วลูกจะดีไม่ได้ คือมันมี 4 จำพวกนะครับ

พ่อแม่ดี ลูกดี

พ่อแม่ไม่ดี ลูกไม่ดี

พ่อแม่ไม่ดี ลูกดี

พ่อแม่ดี ลูกไม่ดี

เด็ก บางคนมีบุญบารมีดี ถึงพ่อแม่ไม่ดี แกก็ดีจนได้
เรียกว่ามี ปุพเพกตปุญญตา ทำให้เป็นลูกไม้หล่นไกลต้น
ไปได้ดีต่อไปแกก็จะได้อุปัตถัมภกกรรม
มีคนคอยช่วยเหลือชี้นำไปไกลเลย ดียอดเยี่ยมเลย


อาจารย์ทองขาวได้เล่าเสริมตัวอย่างว่า


ครอบครัวของท่านพลเอก ชาติชาย
กับพ่อท่านจอมพล ผิน ชอบไปทำบุญวัดอินทร์ บางขุนพรหม
เด็กคนหนึ่งจะมาช่วยดูแล เอาน้ำมาให้


วันหนึ่ง เด็กคนนี้เรียนจบก็ไปเป็นทหารอยู่โคราช เป็นร้อยตรี
พอดีจอมพล ผิน ก็ไปเจอ
จำได้ว่าเป็นเด็กวัดคนที่เคยยกน้ำมาให้ เป็นร้อยตรีได้ไง


รุ่ง ขึ้นก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ อยู่กับบ้านจอมพล ผิน
ได้เป็นพันเอกจนท่านสิ้น พอถึงพลเอก ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี
ก็ได้เป็น พลตรี พอรุ่งขึ้นอีกปี
ก่อนพลเอก ชาติชายจะออกจากนายกฯ ก็เลื่อนเป็นพลโท
ทั้งที่ดูแล้วไม่มีโอกาสได้เป็นพลโท
เพราะจบจากมหาวิทยาลัยธรรมดา
ไม่ได้เรียนนายร้อย และอยู่กับบ้านมาตลอด


เรื่อง ปุพเพกตปุญญตา นี่สำคัญมาก
พอดีเขาตั้งตนไว้ชอบด้วย
ปัจจุบันกรรมก็ดี ได้อุปัตถัมภกกรรมที่ดี
มันจะได้จักรธรรมพร้อม
จักรธรรมคือธรรมที่เป็นเหตุของความรุ่งเรือง


บางคนเกิดมาน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิต
ก็เมื่อมาเรียนธรรม ก็จะได้รู้ว่ากรรมต่างๆ มันแก้ไขได้
คนที่มีธรรม โชคร้ายต่างๆ จะมาเป็นบทเรียน มาเป็นสิ่งที่เรียนรู้
ทำความเข้าใจ มาเป็นสิ่งที่ อุดหนุนให้เขาสูงขึ้น
ยิ่งลำบากยิ่งดีขึ้น เหมือนปลาเป็นจะว่ายทวนกระแสน้ำ
มันไม่ไหลไปตามน้ำ มีแต่ปลาตายไหลไปตามน้ำ
เพราะอาหารมาตามน้ำ
ปลาที่ไม่ลอยทวนกระแสน้ำมันจะไม่ได้อาหาร

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 10:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปัญหาน่าสนใจทางพุทธศาสนา

สวัสดี ครับท่านผู้ฟังที่เคารพ
นี่คือรายการธรรมและทรรศนะชีวิตนะครับ
ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ผม วศิน อินทสระ
จะได้มาพบกับท่านผู้ฟังในรายการนี้
เรื่องที่จะคุยกับท่านผู้ฟังวันนี้เป็นการตอบปัญหา
ก็จะขอเล่าความเป็นมาของปัญหาสักนิดนะครับ
เมื่อหลายปีมาแล้ว มีนักศึกษาไทยผู้หนึ่ง
เรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ
มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหลายอย่างหลายประการ
ได้ส่งคำถามมาถึงเพื่อนซึ่งเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยค้นคว้าคำตอบให้
เพื่อนของเขาก็มีจดหมายติดต่อมาถึงผมขอให้ช่วยตอบ
ผมก็ได้ตอบส่งไปแล้ว
แล้วก็เห็นว่าคำถามคำตอบเหล่านี้จะเป็นประโยชน์
แก่ผู้ที่สนใจพุทธศาสนาโดยทั่วไป
จึงได้นำมาเล่าให้ท่านผู้ฟังได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง
เป็นการได้ใช้ประโยชน์ในวงกว้างนะครับ
ขอเรียนให้ทราบเสียก่อนว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์
แต่ว่าตอบพอสมควรแก่คำถามพอเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป
คำถามนี้มีความยาวถึง 4 หน้ากระดาษสมุด
แล้วก็มีคำภาษาอังกฤษ อยู่มากนะครับ
คำตอบก็อาจจะมีคำภาษาอังกฤษอยู่บ้างนะครับ
ขอสรุปคำถาม เป็นข้อๆ ดังนี้

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การบรรลุอรหัตผลเป็นไปได้หรือไม่
ทางที่จะให้บรรลุเป็นอย่างไร


ข้อหนึ่งถามว่า การบรรลุอรหัตผลเป็นไปได้หรือไม่
ทางที่จะให้บรรลุเป็นอย่างไร


การ บรรลุอรหัตผลเป็นไปได้หรือไม่
คือว่า บรรลุอรหัตผล แล้วก็เป็นพระอรหันต์
ถ้าจะถามว่า พระอรหันต์ยังมีอยู่หรือไม่
หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นพระอรหันต์
อันนี้ขอให้ใช้อย่าให้สับกันนะครับ
คือ ถ้าเป็นชื่อของคุณธรรมเราก็ใช้คำว่า อรหัต
อรหัตมรรค อรหัตผล
และถ้าเป็นชื่อของบุคคลก็ใช้คำว่า อรหันต์ พระอรหันต์
ชื่อของคุณธรรมก็เป็น อรหัตมรรค อรหัตผล
อนาคามิมรรค อนาคามิผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
ถ้าเป็นชื่อคนก็จะเป็นพระอรหันต์
และก็พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน
แม้นว่าจากสูง ลงมาต่ำนะครับ
คำตอบคำถามนี้ก็ว่า การบรรลุอรหัตผลเป็น พระอรหันต์
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน
แล้วก็มีผู้บรรลุมามากแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน
และก็คาดหวังว่าแม้ในอนาคตก็จะมี ผู้บรรลุได้ด้วย


ภาวะ แห่งการบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์
ก็คือ การกวาดล้างกิเลสในดวงจิตให้หมดจดสิ้นเชิง
และการลุกโพลงขึ้นของกิเลส
ไม่ว่าประเภทใดก็ก่อให้เกิดความเร่าร้อนดิ้นรน
การสงบกิเลสได้ ก็เป็นความสุขตามสัดส่วนที่สงบได้
คือ ในคราวใดที่เราทุกข์ใจ เวลานั้นก็ไปนรก
เวลาใดที่มีความสุขใจ ก็ไปสวรรค์
และสงบใจก็ไปนิพพาน
พูดอีกทีหนึ่งว่านรกอยู่ที่ความทุกข์ใจ
และสวรรค์ก็อยู่ที่ความสุขใจ
นิพพานก็อยู่ที่ความสงบใจ
ทีนี้มีบาลี ที่มีท่านผู้ใดก็ไม่ทราบนะครับ
ได้แต่งไว้ในสวดมนต์ฉบับหลวง ที่ว่าด้วยคาถาสารทพรต
ก็มีคำอยู่ว่า เจตโส โหติ สา สนฺติ นิพฺพานมีติ วุจฺจติ
และความสงบใจนั่นเอง ท่านเรียกว่า นิพพาน
ก็มีเป็นขั้นๆ เรียกว่า สงบชั่วคราว
สงบเพราะข่มไว้ด้วยอำนาจฌาน
สงบเพราะตัดได้เด็ดขาด
อันนี้ก็แล้วแต่เป็นขั้นๆ ไป เรียกการดับกิเลสเป็นขั้นเป็นตอน


ทางที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์หรือบรรลุเป็นอริย- บุคคล
ก็คือ มรรคมีองค์ 8
มรรค มีองค์ 8 นั้น ก็ย่อลงเหลือเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลก็ทำให้กายวาจาสะอาด สมาธิทำให้ใจสงบ
แล้วปัญญาทำให้ใจสว่าง ใจที่สะอาด สว่าง และสงบ
อยู่นั้นแหละคือทางให้บรรลุถึงนิพพาน
นิพพานคือภาวะที่ดับทุกข์ ดับความหม่นหมองใจ และจิตสะอาด
สงบและสว่างมากเท่าใด ความทุกข์ต่างๆ ก็ลดลงมากเท่านั้น
และการที่ทุกข์ลดลงถึงที่สุด
นั่นแหละครับ คือนิพพานถึงที่สุด
ความเป็นพระอรหันต์เป็นสิ่งที่บรรลุได้เช่นเดียวกันนะครับ
มีอยู่ 4 ระดับตามกิเลสที่ละได้ เอาสังโยชน์ 10 มาเป็นตัวตั้ง
ถ้าละ 3 ตัวแรกได้ ก็เป็นพระโสดาบัน
แล้วก็ทำ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางก็เป็นพระสกทาคามี
แล้วก็ละอีก 2 ตัวต่อมาได้ ก็เป็นพระอนาคามี
ละ 5 ตัวหลังได้ก็เป็นพระอรหันต์
อันนี้ผมไม่แจงรายละเอียดสังโยชน์ 10 นะครับ
มันเรื่องเยอะ เดี๋ยวก็จะเป็นเรื่องอื่นไป


ทีนี้ในสมัยพุทธกาลบุคคลที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ก็ได้ความสงบได้ความสุขอย่างไร
มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกันแหละครับ
สมัยนี้ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ก็ได้ความสงบและความสุขเช่นเดียวกัน
ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8
หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ได้รับรางวัลคือ มรรคผลอย่างไร ในสมัยนี้ก็อย่างนั้น
ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามมรรคมีองค์ 8
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วนบริบูรณ์
ก็ถึงนิพพานได้อย่างนั้นเหมือนกัน
คือ ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยบุคคลทุกระดับ
ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยกาลเวลา
ว่าเวลานั้นเท่านั้นถึงจะทำได้ เวลานี้ทำไม่ได้
แล้วพระธรรมของพระพุทธเจ้า มีพระคุณอยู่ข้อหนึ่ง
ที่เรียกว่า อกาลิโก อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ไม่มีกาล
คือว่า ปฏิบัติเมื่อไหร่ ก็ได้ผลเมื่อนั้น
สวา กขาโต ภควตา ธัมโม
พระธรรมพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
สันทิฏฐิโก เห็นได้ในปัจจุบัน
อกาลิโกไม่มีกาล ไม่จำกัด ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา
เอหิปัสสิโก เรียกให้มาดูได้ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ
ผู้ปฏิบัติรู้ได้เฉพาะตน
เพราะฉะนั้น ความเป็นไปได้ของความเป็นอริยบุคคลนั้น
ขอยืนยันว่าเป็นไปได้ ผู้ที่ปฏิบัติตามก็มีโอกาสที่จะเป็นได้
เหมือนเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
ก็พระธรรมวินัยนั่นแหละ เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีวิธีใดที่จะผ่อนคลายความทุกข์ได้บ้าง
นอกจากการบรรลุธรรม


ปัญหาข้อที่ 2 เขาถามว่า
มีวิธีใดที่จะผ่อนคลายความทุกข์ได้บ้าง นอกจากการบรรลุธรรม


การผ่อนคลายความทุกข์ นอกจากการบรรลุธรรมแล้ว ก็มีหลายวิธี
เช่น การพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่เจือด้วยโทษความสำนึก
คือ ความเห็นด้วยปัญญาที่แจ่มใส
ประกอบด้วยเหตุผล ว่าสิ่งใดมีเหตุปัจจัยพอให้เกิดได้ ก็ย่อมจะเกิดขึ้น
สิ่งใดไม่มีเหตุปัจจัยพอย่อมไม่เกิด
รวมความว่ามันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
ความสำนึกอย่างนี้เป็นโอสถขนานวิเศษ
และแก้โรควิตกกังวลได้ชะงัดอีกอย่างหนึ่ง นะครับ
ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ว่า เป็นเราหรือเป็นของเรา
ก็เป็นยาสำหรับที่จะผ่อนคลายความทุกข์
ความจริงมันก็เป็นอย่างนั้นนะครับ
คือว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราจริงๆ เราเลือกเอาไม่ได้
ถ้าเลือกได้ทุกคนก็คงจะเลือกเอาสิ่งที่ดีที่ตัวต้องการทั้งหมด
ก็จะรวยเหมือนกันหมด ดีเหมือนกันหมด
แต่เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
เราพอเลือกได้บ้างเฉพาะเท่าที่เหตุปัจจัยอำนวยให้เลือก
ตัวอย่างแม้จะเลือกเสื้อผ้าสักตัวนะครับ หรือกินอาหารสักจาน
เราก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคา อาหาร
ราคาเสื้อผ้ากับสตางค์ในกระเป๋าของเรา เป็นต้นนะครับ
บางทีก็ต้องคำนึงถึงท้องของเราด้วยว่า
ไปกันได้หรือไม่กับอาหารประเภทนั้นๆ
อันนี้แสดงว่ามันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
วิธีผ่อนคลายความทุกข์ก็มีเยอะนะครับ
นอกจากที่พูดมานี้แล้ว ยังมีวิธีการ ต่างๆ อีกมากมาย
วิธีผ่อนคลายความทุกข์มีตั้ง 14 - 15 อย่าง
ถ้าเผื่อจะพูดให้ละเอียด มันก็ยาวอีกละครับ
มันกลายเป็นเรื่องยาว มีตั้ง 14-15 อย่าง
ก็เคยพูดในที่บางแห่งบ้างแล้ว ในหนังสือที่เขียน เอาไว้ก็มีครับ
วิธีผ่อนคลายความทุกข์มีหลายอย่าง ที่นำมาใช้ในชีวิตปัจจุบันได้
เช่น อย่าไปคำนึงถึงอดีตให้มากนัก
อย่าไปคำนึงถึงอนาคตให้มากนัก
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่างมันก็จะดีเอง
เราไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไรมาก
ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา
อนาคตมันจะจัดตัวมันเอง ทำปัจจุบันให้ดี

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การสวดมนต์ไม่รู้เรื่อง และถูกบังคับให้สวด
ตามกฎของโรงเรียนบ้าง ตามประเพณีบ้าง มีประโยชน์อย่างไร


ปัญหาข้อที่ 3 การสวดมนต์ไม่รู้เรื่อง
และถูกบังคับให้สวดตามกฎของโรงเรียนบ้าง
ตามประเพณีบ้าง มีประโยชน์อย่างไร


การ ที่ผู้สวดมนต์ไม่รู้เรื่อง การไหว้พระสวดมนต์นี้นะครับ
จุดประสงค์อยู่ที่การสำรวมจิตและทำใจให้สงบ
เมื่อผู้ใหญ่ทำได้แล้วเห็นว่ามีผลดี ก็อยากให้ลูกหลานทำบ้าง
แต่ว่าบังเอิญจิตใจของเด็กอยู่ห่างกันมาก
ในเรื่องนี้ เด็กจึงมักเห็นเป็นการบังคับให้ ทำโดยไม่มีประโยชน์
คือไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไปกับกิจกรรมนั้น


ความ จริงการที่ใจสงบนั้น ก็เป็นจุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้
การสวดมนต์นั้นเป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่ง
เหมือนคนที่เป็นแผลพุพอง
เมื่อยังไม่มียากินก็ใช้ยาทาไปก่อน เพื่อระงับการลุกลาม
คือ ถ้าเราสามารถทำใจให้สงบได้โดยวิธีอื่น ก็ใช้วิธีอื่นก็ได้
แต่การที่ใจสงบนั้นดีแน่ครับ
เพราะว่าเป็นอุปการะต่อกิจการทุกอย่าง


การสวดมนต์ เมื่อทำไปนานๆ เข้า ก็กลายเป็นประเพณี
แต่จุดประสงค์ก็เพื่อตะล่อมขึ้นไปหาความดีงามต่างๆ ที่เราต้องการ
ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักไม่ค่อยอธิบายเหตุผล
แต่ให้ทำจนเคยชินเป็นนิสัย
ความเคยชินในทางเลว ทำให้คนเลวได้อย่างไร
ความเคยชินในทางดี ก็ทำให้คนดีได้อย่างนั้น
กิจกรรมที่ทำแต่ละวัน ถ้าทำด้วยความสมัครใจ จะเคยชินเป็นนิสัย
เหมือนเชือกที่ทบกันเข้าวันละเกลียว
เมื่อนานวันก็ยากที่จะตัดให้ขาดได้
เพราะฉะนั้น การทำให้เคยชินในทางที่ดี
จึงเป็นประโยชน์กับชีวิตในอนาคตมาก
อันนี้เป็นเรื่องของการสวดมนต์โดยไม่รู้เรื่องนะครับ ถ้ารู้เรื่องได้ก็ดี


การ สมัครใจ มันเป็นจุดมุ่งหมายของกิจกรรม
ส่วนการสวดมนต์เป็นวิธีการ (means) ที่จะไปให้ถึงตรงนั้น
แต่ถ้าใครได้ไปถึงตรงนั้นแล้ว โดยไม่ต้องใช้วิธีการนี้ก็ได้
เหมือนกับคนทำงานเพื่อหาสตางค์
แต่ถ้าเขามีสตางค์อยู่แล้ว ไม่ต้องทำงานก็ได้
เพราะว่าเขาถึงจุดมุ่งหมายแล้ว
เขาอาจจะทำงานเพื่ออย่างอื่น หรือเพื่อได้ อย่างอื่น
ไม่ใช่เพื่อได้สตางค์ อะไรทำนองนี้นะครับ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 15:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีคนพูดเสมอว่า คนเราเกิดมาใช้กรรม
แต่ความจริงแล้ว คนเป็นผู้ทำกรรม
สงสัยว่า กรรมมาก่อนคน หรือคนมาก่อนกรรม


ปัญหาข้อที่ 4 มีคนพูดเสมอว่า คนเราเกิดมาใช้กรรม
แต่ความจริงแล้ว คนเป็นผู้ทำกรรม
สงสัยว่า กรรมมาก่อนคน หรือคนมาก่อนกรรม


อันนี้ถ้าตอบแบบง่ายๆ ก็บอกว่า คนมาก่อนกรรม
เพราะว่าคนเป็นผู้ทำกรรม ถ้าไม่มีคน ก็ไม่มีกรรม
ทีนี้ถ้ามองในแง่ ของความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันก็ได้
ถือว่าเป็นเรื่อง คล้ายๆ ไก่กับไข่ และต้นไม้กับผลของมัน
การสาวไปหาต้นตอ (original) ทำให้เสียเวลาโดยที่ไม่คุ้มกัน
แต่พอเราพิจารณาปฏิบัติ เท่าที่พอมองเห็นได้ก็พอแล้ว
คือ กรรมมันก็สร้างคนเหมือนกัน


กระบวนการ (process) ของเรื่องนี้ ก็คือ กรรม กิเลส และวิบาก
กิเลสนั้นอยู่ที่คน อยู่ที่จิตของคน
แต่ถ้าไม่มีคนหรือไม่มีสัตว์ กิเลสมันก็ไม่มี
กิเลสอยู่ที่จิตของคน กิเลส กรรม และวิบาก คือ ผลของกรรม
กิเลส คือ แรงกระตุ้นหรือการลุกโพลงขึ้น
ของความปรารถนาในภายใน
แล้วก็แสดงออกเป็นพฤติกรรม
ที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมนั้น
ก็คือ กรรม ดีบ้าง ชั่วบ้าง
ดีมีผลเป็นสุข ชั่วมีผลเป็นทุกข์ นี่ก็คือ วิบาก
ทีนี้สุขถ้าไม่เพลิดเพลินและ มัวเมา
และก่อให้เกิดกิเลสต่อไปอีก
ทุกข์ก็ทำให้คนซบเซาเศร้าหมอง โกรธแค้น ชิงชัง
ก่อให้เกิดกิเลสอีกเหมือนกัน เป็นกิเลสอีกสายหนึ่ง เป็นสายโทสะ
แล้วก็เวียนไปเป็นรอบที่ 2 รอบที่ 3
ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่อย่างนี้ อันนี้เราจึงเรียกว่า วัฏฏะ


วัฏฏะ แปลว่า วน ลองสังเกตนะครับ
จิตของคนแต่ละคน หรือสังเกตจิตของตัวเองก็ได้
อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง
ก็จะเห็นกระบวนการนี้อย่างชัดเจน
คือ กระบวนการของกิเลส กิเลสและก็กรรม
วิบากคือ ผลของกรรม กิเลสวิจิตร หรือตัณหาวิจิตร
ทำให้กรรมวิจิตร กรรมวิจิตรก็ทำให้วิบากวิจิตร
คำว่า วิจิตร ในที่นี้ไม่ใช่แปลว่า สวยงาม
แต่แปลว่า หลากหลาย (plurality) หรือ ปุถุตตะ
คือ ความมากมายหลากหลาย กรรมกิเลส
วิจิตร หรือตัณหา ตัณหาวิจิตร
ตัณหานั่นเป็นตัวแทนของกิเลส
ที่แสดงตัวที่แสดงบทบาทอย่างชัดเจน
ตัณหาวิจิตรทำให้กรรมวิจิตร หรือกิเลสวิจิตร
กิเลสวิจิตรทำให้กรรมวิจิตร
กรรมวิจิตรทำให้วิบากวิจิตร
วิบากวิจิตรนั่นแหละทำให้สัตว์วิจิตร


แต่ว่าสัตว์เป็นไปต่างๆ กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้ทรามบ้าง ให้ประณีตบ้าง
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตวโลกเป็นไปตามกรรม
เมื่อพูดในแนวของตรรกวิทยา (Logic)
หลักพระพุทธศาสนาก็อยู่เหนือ Logic
แต่เราไม่สามารถจะหาเหตุผลเองได้ (reasoning)
หาเหตุผลเอาไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสติปัญญาเรามีจำกัดเกินไป
ความจริงบางอย่างเราพอรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส (sense)
ทางประสบการณ์ ทางอายตนะ
แต่เฉพาะส่วนที่มันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า sensuous world
คือ สิ่งที่มันอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอายตนะเท่านั้น
เช่น เราเห็นรูปกายหยาบด้วยตาเนื้อ
เราฟังเสียงหยาบด้วยหูธรรมดา เป็นต้นนะครับ
และความจริงบางอย่าง เรารู้ได้ด้วยเหตุผล
ทีนี้ความจริงระดับนี้ ที่เราพอจะพูดกันได้ด้วยเหตุผล
อันนี้แหละคือมันเป็น Logical หรือ reasoning หาเหตุผลเอาได้
เช่น ดี ชั่ว ถูก ผิด เราก็พอหาเหตุผลเอาได้ พูดได้ด้วยเหตุผล


แต่ ความจริงบางอย่าง เราต้องรู้ด้วยญาณ ด้วยญาณพิเศษ
ที่ท่านเรียกว่า Intuition หรือ Intuitive knowledge
ความรู้ที่เราจะรู้ได้ด้วยญาณพิเศษภายใน
อยู่เหนือตรรกศาสตร์ขึ้นไป เรียกว่า เป็นประสบการณ์ทางจิตโดยตรง
แต่ไม่ต้องพูดถึงความจริงระดับนี้หรอกครับ
แม้แต่ความจริงระดับสามัญ
ระดับที่เรารู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใน field
จะต้องรู้ด้วยอายตนะนี่เองนะครับ
บางอย่างเราก็ไม่สามารถจะอธิบายได้
เช่น เรากินส้มรู้สึกเปรี้ยว กินมะนาวรู้สึกเปรี้ยว
น้ำมะนาวรู้สึกเปรี้ยว เราอธิบายให้คนที่ ไม่เคยกิน
รู้สึกได้อย่างไร ว่าเปรี้ยวเป็นอย่างไร
หรือว่ารสของผลไม้บางอย่างที่เราไม่เคยเห็นและก็ไม่เคยกิน
แต่ว่าคนอื่นเขาเคยเห็น และเคยกิน
และเขาบอกว่ามันมีรสเปรี้ยวอมหวาน
แต่เราไม่เคยกินรสของผลไม้ชนิดนั้น
เราก็รู้ไม่ได้ว่า รสของผลไม้ชนิดนั้นมันเป็นอย่างไร
ต่อเมื่อเรารู้รสได้ด้วยตนเองเราจึงรู้
เรียกว่า ความรู้ที่ได้ด้วยประสาทสัมผัส
และเราก็จะต้องใช้ประสาทสัมผัสนะครับ ได้รู้มัน


ความ รู้อะไรที่เราต้องใช้เหตุผล
เราก็ต้องใช้เหตุผลไป รู้มัน
แต่ความรู้อะไรที่อยู่เหนือเหตุผล เหนือตรรกะ
เราก็ต้องรู้ด้วยอะไรที่มันเหนือตรรกะ หรือเป็นประสบการณ์ตรง
หรือรู้ด้วย ญาณ ด้วยการปฏิบัติโดยตรงก็ได้
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้
รู้ตามได้ยาก เห็นได้ยาก สงบประณีต
ไม่เป็นวิสัยของตรรกะ อตักกาวจโร
คือ คิดเอาไม่ได้ ต้องรู้ด้วยประสบการณ์ตรงทางจิต
แต่ปัณฑิตเวทนีโย บัณฑิตพอรู้ได้
ก็ต้องรู้ด้วยเครื่องมือของความรู้ที่เป็น Intuitive knowledge
หรือความรู้ที่เป็นญาณพิเศษ ทำนองนั้น
อะไรที่ควรจะรู้ด้วยเครื่องมืออะไร มันต้องรู้ด้วยเครื่องมืออันนั้น
แต่เรื่องกรรมนั้นเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่งในศาสนาพุทธนะครับ
ท่านจึงจัดเป็นอจินไตยอย่างหนึ่งใน 4 อย่าง
อจินไตย คือ คิดเอาไม่ได้
เมื่อคิดเอาไม่ได้ เราก็ไม่ควรจะใช้เครื่องมือ คือ ความคิดไปรู้มัน
คนที่จะรู้กรรมได้ดี คือ เข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดเจน ก็ต้องได้ทิพยจักษุ
หรือได้จุตูปปาตญาณ
และสามารถจะเจาะลงไปเป็น case study ได้เลย
ว่าคนไหน เคยทำกรรม ทำไมจึงต้องได้รับผลอย่างนี้
คือ เจาะลงไปเป็นคนคน ไปได้เลย
แต่ถ้าเราไม่รู้ถึงขนาดนั้น มันก็เป็นเพียงสันนิษฐาน
สันนิษฐานนึก สันนิษฐานเข้าใจว่า
และก็เทียบเคียงเอาจากตำราหรือคัมภีร์ ไม่ใช่ว่าจะจริงเสมอไป
เพราะว่าความรู้ที่ได้จากการเทียบเคียงเอาจากตำราหรือคัมภีร์
ไม่ใช่ว่าจะจริงเสมอไป
เพราะความรู้ที่ได้จากการเทียบเคียง ไม่ใช่ความรู้จริง


ไม่กี่วันมานี้ก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง
ที่มาออกในทีวีรายการเจาะใจรายการหนึ่ง
ที่เป็นแผลปุปะไปหมดทั้งตัว เป็นแผลเป็นหนองพุพองไปหมด
ตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงเท้า
ต้องพันตัว พันเท้า พันแขน พันศีรษะ
ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนบัดนี้อายุถึง 18 แล้ว
แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร
คุณหมอก็วินิจฉัยไม่ถูกว่าเป็นโรคอะไร
เคยได้ยินในวิทยุพระท่านเอามาเทศน์ในเรื่องกรรม
ท่านก็เล่านิทานเทียบเคียง เรื่อง พระปูติคัตตติสสเถระ
พระเถระชื่อติสสะ ที่ร่างกายท่านเน่าเปื่อย
พระพุทธเจ้าก็มาเทศน์โปรดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระก็ทูลถามว่า เป็นกรรมอะไร
อะไรเป็นอุปนิสัย แห่งพระอรหัตผล
และกรรมอะไรที่ทำให้มีร่างกายเปื่อยเน่าอย่างนี้


พระพุทธเจ้าก็เจาะลงไปเฉพาะ case นั่นเลยว่า
เคยทำกรรมอย่างนั้นมา เคยเป็นพรานนก
ได้นกมาเยอะมาก ก็เอามากินบ้าง ขายบ้าง
ที่เหลือกลัวมันบินก็หักปีกหักขามันเอาไว้
เวรกรรมอันนั้นมันก็ทำให้มาเป็นคนที่มีร่างกายเปื่อยเน่า
อันนี้ก็เป็นแต่เพียงการเทียบเคียง ไม่ได้หมายความว่า
เด็กหญิงคนนั้นจะทำกรรมอย่างเดียวกันมากับพระปูติคัตตะ
เขาอาจจะทำอย่างอื่นก็ได้ หรือมีเหตุอื่นก็ได้
เรื่องของกรรม ถ้าเราไม่มีญาณ เช่น ทิพยจักษุญาณ
หรือจุตูปปาตญาณ แล้ว เราก็พยากรณ์เขาไม่ได้
จะได้ก็เป็นแต่เพียงเข้าใจว่า สันนิษฐานว่า หรือเทียบเคียงเอาเท่านั้น
หรือเห็นคนถูกรถชนขาหัก ชาติก่อนคงจะปาหมาขาหัก
หรือไปทำให้คนอื่นขาหักอะไรทำนองนั้น
สันนิษฐานเอามันไม่ใช่รู้จริง
เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่งที่จะรู้
พระพุทธเจ้าท่านจึงจัดเป็นอจินไตยเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่อง
ที่ว่าอจินไตยนี้คือ คิดเอาไม่ได้ ไม่ควรคิด
ในตำรา ท่านแปลว่า ไม่ควรคิด
ทำไมจึงไม่ควรคิด เพราะว่ามันคิดเอาไม่ได้
รู้ไม่ได้ด้วยความคิด มันต้องรู้ด้วยญาณพิเศษ
ว่าใครทำกรรมอะไรมา ดังนี้เป็นต้นนะครับ


หรือ คนเราเกิดมาใช้กรรมจริงหรือไม่
มันก็ใช้กรรมบ้าง ใช้บุญบ้าง
เราเกิดมาทั้งบุญทั้งกรรม มีทั้งบุญ ทั้งกรรมทั้งบาปมา
แต่ถ้ามีแต่กรรมอย่างเดียวมาเราต้องไปนรก
คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ คนที่ทำกรรมไว้มาก
ส่วนมากต้องไปนรก นิรยํ ปาปกมฺมิโน
แล้วถ้าทำความดีอย่างเดียว มันก็ไปสุคติ
สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ ก็ต้องไปสุคติ ไปเทวโลก เป็นมนุษย์
มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง
เราทำทั้งกรรมดำ และกรรมขาวมา
เราต้องได้เสวยวิบากของกรรมดำบ้าง กรรมขาวบ้าง คละกันไป
เราจึงอยู่ในโลกที่มีสัมผัสอยู่ในโลกของความทุกข์บ้างสุขบ้าง
สลับกันไปเป็นธรรมดา
เราก็เคยทำกรรมชั่วมาบ้าง ทำกรรมดีมาบ้าง มาเกิดเป็นมนุษย์
บางคนมาเกิดเป็นมนุษย์เพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์
คือว่า มีกรรมดีมาเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์
เราก็ต้องมาทำเพิ่มอีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
และบางคนเขาก็ได้ทำมาแล้วเก้าสิบ
ทำกรรมดีเพิ่มอีกไม่เท่าไหร่
สิบเปอร์เซ็นต์ เขาก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้นะครับ
เพราะเราได้ทุนมาไม่เท่ากันในระหว่างที่มีชีวิตอยู่
เราก็ทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง สลับกันไป
บางวันก็ทำชั่วมากทำดีน้อย บางวันก็ทำดีมากทำชั่วน้อย


แต่ละขณะจิตมันเป็นการสะสมกรรมทั้งนั้นแม้ใน
ปัจจุบัน ในชีวิตปัจจุบันนี้มีกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้างทำคละกันไป
ต่อไปข้างหน้า มันก็ต้องได้รับสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นธรรมดาทั้งนั้น
มีคนที่ต้องการไปเกิดได้ตามที่ต้องการ
มันก็ต้องมีธรรมตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนเอาไว้
ในสังขารูปปัตติสูตร แปลว่า เกิดได้ตามที่ต้องการ
หวังจะเกิดในภพใดในภูมิใด ในที่ใดก็เกิดได้
แต่ว่าต้องประกอบด้วยธรรม 5 อย่างนี้คือ ศรัทธา ความเชื่อ ศีล
การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย สุตะก็คือการสดับตรับฟังมาก
มีจาคะ มีปัญญา มีธรรม 5 อย่างนี้แล้ว
หวังจะไปเกิดในที่ใด ในภพใด ในภูมิใด ได้ตามประสงค์
แม้หวังจะสิ้นอาสวะก็ได้ หวังจะสิ้นอาสวะ ก็คือ การสิ้นกิเลสก็ได้
ถ้ามีธรรม 5 อย่างนี้บริบูรณ์ ศรัทธา ศีล สุตะ
สุตะนี้คือ สดับตรับฟังมาก แล้วก็จาคะ
ความเสียสละทั้งภายนอกและภายใน
ความหมายระดับต่ำก็มี ระดับสูงก็มี
หัวข้อธรรมแต่ละข้อนี้ละครับ
และปัญญา นี่ก็คือ สังขารูปปัตติสูตร
ที่ว่าด้วยเกิดได้ตามที่ต้องการ
เราจะเกิดมาอย่างไร จะเป็นอย่างไรก็ได้
ตั้งใจเอา และก็ไปเกิดได้ตามนั้น
คล้ายๆ คนที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก
จะไปอยู่ที่ไหนก็ไปได้ ตั้งใจจะไปอยู่ที่ไหนก็ไปได้
แต่ถ้าคนที่มีทรัพย์น้อย มีอะไรน้อย มันก็ไปไม่ได้
ความจำกัดของทรัพย์มันจำกัดเอาไว้ไปไม่ได้
นี่ละครับเรื่องกรรม คำถามเดียว วันนี้ก็หมดเวลาแล้วครับ
เราทบทวนคำถามอีกทีนะครับว่า
มีคนพูดเสมอว่าเราเกิดมาใช้กรรม
แต่ความจริงแล้ว คนเป็นผู้ทำกรรมสงสัยว่ากรรมมาก่อนคน
หรือว่าคนมาก่อนกรรม อันนี้ก็ตอบมาพอสมควรนะครับ
ยี่สิบกว่านาที ยี่สิบห้านาที


เรื่องที่กำลังคุยอยู่กับท่านผู้ฟังในขณะนี้
ก็คือ เรื่องปัญหาจากประเทศอังกฤษ
ได้พูดกับท่านผู้ฟังมาสองครั้งแล้วนะครับ
เมื่อคืนวานนี้ ก็พูดถึงเรื่องปัญหาข้อที่ 4 ที่ว่า
มีคนพูดเสมอว่า คน เราเกิดมาใช้กรรม
แต่ความจริงแล้ว คนเป็นผู้ทำกรรม
สงสัยว่ากรรมมาก่อนคน หรือคนมาก่อนกรรม
ก็ได้ตอบไปบ้างพอสมควรนะครับ ขอเพิ่มเติมนิดหน่อย


ตาม ที่มีคนเขาชอบพูดกันอยู่เสมอว่า
คนส่วนมากพูดว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้
ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า คนเราเลือกเกิดได้หรือไม่
ก็ตอบได้ 2 อย่างนะครับ คือว่า เลือกเกิดได้ก็มี เลือกเกิดไม่ได้ก็มี


เมื่อวานนี้ผมพูดถึง สังขารูปปัตติสูตร ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงว่า ถ้ามีคุณธรรม 5 อย่าง
คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา
แล้วก็สามารถจะเลือกเกิดได้ แม้นิพพานก็ได้
ทีนี้ ท่านตั้งคำถามว่า ถ้ามีคุณธรรม 5 ประการ แต่ไม่ได้ตั้งใจ
คือ ไม่ได้อธิษฐานจิต ว่าขอให้เกิดที่นั่น ที่นี่
หรือขอไม่เกิดอะไร อย่างนี้ ไม่ได้อธิษฐาน เรียกว่าจะเกิดอย่างไร
อันนี้ก็ตอบได้ว่าเป็นไปตามกรรม ที่จะจัดสรรให้เป็นไป


ที นี้ถ้าคนที่อธิษฐาน ตั้งใจจะไปเกิดที่ใดที่หนึ่ง
แต่ว่าไม่มีคุณธรรม 5 ประการ คำอธิษฐานนั้นจะสำเร็จหรือไม่
จะตอบว่าไม่สำเร็จ เพราะว่าไม่มีคุณธรรมที่จะเป็นเหตุให้สำเร็จ
ทีนี้คนที่มีคุณธรรม แต่ไม่ได้อธิษฐาน
ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปเกิดในที่ใดที่หนึ่งก็จะไปตามกรรม
คือ มีกรรมที่สมควรจะไปเกิดในที่ใดก็ไปเกิดในที่นั้น
กรรมเป็นตัวจัดสรร
ถ้าเขามีกรรมเพียงพอที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์
ถ้ากรรมเพียงพอที่จะไปเกิดเป็นเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง
ก็จะเกิดเป็นเทวดาชั้นนั้น
ถ้ากรรมที่บุคคลนั้นทำพอที่จะไปเป็นพรหม
ชั้นใดชั้นหนึ่งก็จะไปเป็นพรหม หรือโดยที่สุดเป็นพรหมอนาคามี
ชั้นสุทธาวาส ก็เป็นไปตามกรรม
อย่างนี้คล้ายๆ กับว่า คนมีเงินแต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะซื้ออะไร
ก็ถ้าจะใช้คนซื้อของ เขาก็ซื้อตามที่เขาพอใจ
แต่ถ้าเราระบุลงไปว่า เงินจำนวนนั้นให้ซื้อสิ่ิงนั้นสิ่งนี้
เขาก็ซื้อตามที่เราต้องการ
ตามจำนวนเงินที่เราให้ไปและก็ตามที่เราต้องการ


เพราะ ฉะนั้น มีคุณธรรมแต่ไม่อธิษฐานก็ไม่ได้
หรือว่าอธิษฐานแต่ไม่มีคุณธรรมก็ไม่ได้
แต่ถ้ามีคุณธรรมด้วยอธิษฐานด้วย
ก็จะได้ตามที่ประสงค์ตามที่ต้องการ
เหมือนเรามีเงินแล้วก็ให้คนไปซื้อของ
บอกว่า ซื้อสิ่งนี้ ของก็มีอยู่ เงินมันก็มีอยู่
ไปซื้อก็ได้รับตามคำสั่งแน่นอน
กะว่าซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ตามที่ต้องการ
นี่เป็นคำอธิบาย ในอรรถกถาของสังขารูปปัตติสูตร


ตัวอย่าง ที่พอยกเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้
เช่น พระเจ้า พิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารนี่
ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว สิ้นพระชนม์
แล้วไปเกิดในหมู่ยักษ์ชั้นจาตุมหาราช
เพราะว่าเป็นพระโสดาบัน
ท่านมีสิทธิ์จะไปเกิดชั้นดาวดึงส์หรือไปอยู่กับท้าวสักกเทวราช
หรือมีสิทธิ์ไปเกิดในชั้นดุสิต
อันเป็นชั้นที่อยู่ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย
ท่านไม่ไป ท่านไปขออยู่ที่ชั้นจาตุมหาราชในภพของยักษ์
เป็นที่อยู่ที่ท่านบอกพอใจที่จะอยู่ที่นั่น
เพราะว่าก่อนที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์
เป็นพระเจ้าพิมพิสาร เคยอยู่ที่นั่น
อย่างนี้เป็นตัวอย่าง นะครับว่า ความคุ้นเคยกับสถานที่
เราคุ้นเคยกับสถานที่ไหน รู้สึกว่าสบายหรือมีความสุขที่จะไปที่นั้น
ถ้าเรามีสิทธิ์เลือกไปในที่ที่เราคุ้นเคยและก็อยู่เป็นสุข ทำนองนี้นะครับ


ที นี้พูดในขั้นธรรมดาสามัญ ที่จริงสภาพการเกิด เราเป็นคนเลือก
ถ้ามองในแง่ของตรรกะ เพราะอะไร
เพราะว่าเราเป็นคนเลือกทำกรรม
กรรมเป็นสิ่งจำแนกคนให้เป็นไปต่างๆ ตามกรรม
เมื่อเราเป็นคนเลือกทำกรรม กรรมทำให้บุคคลเป็นต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับเราเป็นผู้เลือกการเกิดของเรา
จากการกระทำกรรมของเรา
อย่างคนที่ไปติดคุก โดยทั่วไปคนติดคุก
แกบอกว่าแกไม่ได้เลือกไปติดคุก
แต่ทีนี้แกทำกรรม มันเป็นเหตุให้ติดคุก
และกรรมก็จัดสรรให้ไปตามความเหมาะสมแก่กรรม
ทีนี้ถ้าคนตัดสินใจเลือกที่จะบวช ก็ไปอยู่ในวัด
แต่แกบอกว่า แกไม่ได้เลือกที่จะอยู่ในวัด
แกตัดสินใจที่จะทำกรรมคือ การบวช
ทีนี้สภาพของ ผู้ บวชก็ต้องอยู่ในวัด อยู่กันกับหมู่พระ
เมื่อเป็นพระจะมาอยู่เป็นหมู่กันกับฆราวาสก็ไม่ได้
อย่างนี้ก็ต้องถือว่าแกเป็นคนเลือกที่จะอยู่ในวัดที่จะเป็นพระ
เพราะแกตัดสินใจบวชอย่างนี้เป็นต้นนะครับ


เพราะ ฉะนั้น ถ้ามองตามแง่นี้แล้ว
สภาพการเกิดเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง
แต่เราไม่รู้ว่าเราเป็นคนเลือก
สมมุติว่า บุคคลผู้หนึ่งเป็นคนที่มีความรู้ความฉลาด
เชี่ยวชาญในวิชาใดวิชาหนึ่ง
เขาบอก เอ...ทำไมเขาต้องมาตกอยู่สภาพอย่างนี้
ทำไมเขาต้องมารับผิดชอบอะไรมากมาย
ที่จริงสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เขาเลือก
เขาเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น
ทีนี้สภาพที่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องยุ่งอย่างนั้นนั่นแหละ
เพราะเมื่อมีความรู้มากขึ้นๆ ใครเขาก็ต้องการความช่วยเหลือ
ต้องการพึ่งพาอาศัย เหมือนต้นไม้ใหญ่
ลูกดกใบหนาร่มเงามาก คนก็เข้าไปอาศัยร่มเงาบ้าง
เข้าไปอาศัยลูกบ้าง เข้าไปอาศัยดอกบ้าง ใบบ้าง
แล้วแต่ใครต้องการอะไร
ถ้าต้นไม้เขาพูดได้ อาจจะบอกว่า เอ...ฉันไม่ได้ต้องการอย่างนี้
แต่ไอ้สภาพอย่างนั้น มันเป็นความต้องการ
เป็นการกระทำของต้นไม้เอง
แม้ว่าสภาพอย่างนั้นไม่ได้เลือก แต่ว่าการกระทำมันบ่งไปว่า
เมื่ออยู่ในสภาพอย่างนั้น มันต้องรับสถานการณ์ต่างๆ ที่ตามมา
ที่ทำมากับความเป็นอย่างนั้น
อันนี้ท่านผู้ฟังทั้งหลายก็คงจะพอเข้าใจนะครับ


บางทีมันเป็นความรู้สึกลี้ลับของชีวิต
ถ้าไม่วิเคราะห์ก็ไม่เห็น มีสุภาษิตอยู่ว่า
บุคคลย่อมจะได้รับสิ่งที่ตนควรจะได้รับอยู่เสมอ
นี่ถ้าเราท่องคำนี้อยู่ให้ขึ้นใจ
เราได้รับสิ่งใดก็นึกได้นึกทันว่า สิ่งที่เราได้รับนั้นคือ
เป็นสิ่งที่สมควรแก่เรา บุคคลย่อมได้รับในสิ่งที่สมควรรับอยู่เสมอ
ถ้าเราได้รับมัน ก็คือว่า เราสมควรจะได้รับ อย่างนั้น


บาง คนถ้ามันอยากมากเกินไป
ความอยากมันแล่นออก หน้ามากเกินไป
เหตุมันไม่พอกันกับผลของการได้รับ
มันก็รู้สึกว่าไม่ได้รับ ในสิ่งที่ควรจะได้รับ
อย่างนั้นเป็นเพราะว่า เราใจร้อนเกินไป อยากได้ผลเร็วเกินไป
คล้ายๆ คนที่ใจเย็นก็รอได้คอยได้
แล้วเมื่อถึงคราวที่จะรับผล มันก็ได้รับ
ได้รับจนมากมายเกินความจำเป็นหรือเกินความต้องการซะอีก
แต่มันก็ได้ ทำนองนี้นะครับ
เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรม เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน
เป็นเรื่องมีความหมายมีความสำคัญกับชีวิต คนจึงสนใจเรื่องนี้
คนส่วนมาก สนใจเรื่องนี้
แต่ทีนี้ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดีมันจะไปทำอะไรไขว้เขว
ไปทำอะไรผิด ไปทำอะไรไม่ตรงกับเหตุกับผลที่ต้องการ
เรื่องทำนองนี้ผมยังจะต้องพูดกับท่านทั้งหลายข้างหน้าอีก
คิดว่า มากมายไม่ใช่น้อยทีเดียว เรื่องทำนองนี้

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 15:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทำอย่างไรพุทธศาสนา
จึงจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด


ปัญหาข้อที่ 5 เขาถามว่า
ทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด


อัน นี้เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก คิดว่าชาวพุทธเป็นจำนวนมากสนใจเรื่องนี้
ขอให้เราชาวพุทธศาสนิกทุกคนเริ่มที่ตัวเราเองก่อน
และขอให้เราเห็นประโยชน์ของพุทธศาสนาจริงๆ
แล้วก็จะแผ่ประโยชน์นั้นไปยังคนใกล้เคียง
และก็จะแผ่ขยายวงกว้างออกไปทุกที
จนมาบรรจบกันหมดทั้งสังคม
คือ เหมือนกับต้นไม้จำนวน มากนะครับ
ที่มันเรียงกันอยู่ เรียงต้นกันอยู่แล้วก็โตขึ้นๆ
กิ่งใบมันแผ่เป็นร่มเงาสองข้างทางนั้น
ก็จะรื่นรมย์ ร่มรื่น จะมีความรู้สึกสบาย
เพราะว่าต้นไม้ที่มันเติบโตขึ้นมา มันอำนวยประโยชน์ให้ ทุกต้น
แล้วก็กิ่งใบมันมาประสานกัน เมื่อก่อนนี้ที่กรุงเทพฯ ต้นไม้เยอะ
ตามถนนหนทางต่างๆ ต้นไม้เยอะ ถูกตัดไปเสียหมด
โดยการขยายถนน เพราะว่ารถไม่พอวิ่งก็ขยายถนน
บางทีก็ตัดต้นไม้ พูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องขออภัยนะครับ
นึกถึงที่อินเดีย ที่อินเดียนี่เขารักษาต้นไม้ดีนะครับ
เป็นเมืองร้อน เทศบาลหรือว่าประชาชน หรือว่าคนของรัฐ
เจ้าหน้าที่อะไรต่างๆ เขาเห็นประโยชน์ของต้นไม้
ไปทางไหนรู้สึกว่าจะร่มครึ้มมาก มีต้นไม้มาก
และบางแห่งเขาตัดถนนผ่าน แต่ว่าไม่ตัดต้นไม้
คือว่า อ้อมต้นไม้รักษาต้นไม้ไว้ อ้อมต้นไม้ไป
ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เช่น
มหาวิทยาลัยบานาเรส ฮินดู ยูนิเวอร์ซิตี้
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า มหาวิทยาลัยพาราณสีี นะครับ ร่มรื่นมาก
ต้นไม้สองข้างทางนี้เต็มไปหมดเลย
ไม่ว่าจะไปทางไหน ต้นไม้มาก สนามมาก
เวลาเขาจะทำถนนผ่านต้นไม้
เขาจะอ้อมต้นไม้ไป ไม่ตัดต้นไม้เพื่อให้ถนนตรง
แต่จะเว้นต้นไม้เอาไว้ เพื่อรักษาต้นไม้ อันนี้ดีนะครับ


เมื่อก่อนนี้ บ้านเรามีต้นไม้ค่อนข้างมาก
ตามถนนสายต่างๆ ก็ถูกตัดไปเยอะเพื่อจะขยายถนน
ต้นไม้นี้มันตัดง่าย วันเดียวก็ตัดได้เยอะ
ปลูกกว่าจะขึ้นเป็นต้นไม้เติบโตแต่ละต้นนานครับ
นานด้วยยากด้วย เหมือนกับการปลูกคนเหมือนกันนะ ครับ
สร้างคนนี่สร้างยาก แต่ทำลายคนนี่ทำง่าย
สร้างคนกว่า จะให้ประสบความสำเร็จสักคนหนึ่ง
คนที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่สังคม บ้านเมือง ยากมากกว่า
ปพฺพตาปิ พหู เสลา ภูเขามีศิลาเป็นอันมาก แต่หารัตนะได้น้อย
ในประเทศบ้านเมืองมีคนเป็นอันมาก แต่หาบัณฑิตได้น้อย
ปณฺฑิตาปิ จ ทุลฺลภา
ในบ้านเมืองมีคนจำนวนมาก แต่หาบัณฑิตได้น้อย


เพราะฉะนั้น เราเห็นประโยชน์แก่พุทธศาสนาด้วยตัวเองก่อน
ให้เห็นประโยชน์ได้จริงๆ แล้วการพูด เผยแผ่อะไร
มันก็จะออกจากความรู้สึก มันจะออกมาจากใจ ก็จะได้ประโยชน์
เกิดความประทับใจแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
เพราะมันออกมาจากความรู้สึกของคนที่พูดของคนที่เผยแผ่
ผู้ที่สนใจพระพุทธศาสนาอย่าง ตั้งอกตั้งใจสักระยะหนึ่ง
ไม่ใช่เรียนเพราะถูกบังคับในโรงเรียน โดยไม่เต็มใจ
ถูกบังคับให้เรียนตามหลักสูตร คนที่ตั้งอกตั้งใจ
ศึกษาพุทธศาสนาสักระยะหนึ่ง
ก็จะเห็นด้วยตนเองนะครับว่า พุทธศาสนามีคุณค่าอย่างแท้จริง
คนที่มีการศึกษาทางโลกมาดีๆ
ถ้าสนใจเรียนหลักพุทธศาสนาสักระยะหนึ่ง
ก็จะเห็นความลึกซึ้งไพศาลของพุทธศาสนา
มันเป็น Pactical คือ ปฏิบัติได้
ไม่ใช่แขวนดึงอยู่ในอากาศเหมือนดอกฟ้า ไม่ใช่อะไรอย่างนั้น
มันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ มันเป็น Intrinsic value
คือ มีคุณค่าภายใน และก็มีผลที่น่าชื่นใจจริงๆ
ขอให้ลงทุนสักระยะหนึ่ง ไม่นานก็จะเห็นประโยชน์


เรื่องนี้ก็ต้องคุยกันนานหน่อยนะครับ
จำเป็นที่จะต้อง คุย กันให้รู้เรื่องให้ละเอียด ว่าทำอย่างไร
ให้คนเห็นคุณค่าของ พระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง
ทีนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรา ท่านลองสังเกต
เราใช้พุทธศาสนาที่เป็นเนื้อแท้กันน้อยเกินไป
คือ ไม่ได้นำเอาพระธรรมที่เป็นหลักของ


พุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่ตั้งใจเอามาใช้บ้าง ก็ไม่เข้าใจวิธีใช้
เพราะอวดดีบ้าง อวดดีว่าไม่ต้องเรียนก็ได้
พวกที่เรียนมากก็อีกพวกหนึ่ง
คนที่เรียนมากบอกฟุ้งซ่านไปนอกเรื่องเสีย
เป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติจริงไม่ได้
ทีนี้ก็เลยไม่สามารถจะนำพุทธศาสนา
ที่เป็นเนื้อแท้มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือ ใช้น้อยเกินไป
เรานับถือพุทธก็จริงแต่พอถึงคราวที่จะใช้ขึ้นมา
เรากลับไปใช้เรื่องอื่น สิ่งอื่น เป็นไสยศาสตร์บ้าง
โหราศาสตร์บ้าง อะไรศาสตร์บ้าง แต่ไม่ใช่พุทธศาสตร์
ถึงคราวที่จะเอามาใช้กับชีวิตประจำวัน
พุทธศาสนาก็เลยไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตเท่าที่ควร
อันนี้น่าเสียดายมากนะครับ

พุทธศาสนานี่เป็นยาวิเศษจริงๆ
ทำอย่างไรให้คนทั้งหลายได้เห็นศาสนา
เป็นยาวิเศษของมวลมนุษย์อย่างแท้จริง
ไม่ใช่เห็นศาสนาเป็นเพียงพิธีกรรม
หรือเป็นเครื่องประโลมใจชั่วครู่ชั่วยาม
อย่างที่เห็นกันอยู่โดยมาก ในข้อนี้ผมยังจะมีเรื่องราวที่จะคุยกับ ท่านอีก


พรุ่งนี้เป็นวันที่ 12 เป็นวันแม่แห่งชาติ ผมไม่มีโอกาสพูดในวันนี้
ก็จะพูดปรารภถึงวันแม่บ้างนิดหน่อย
ทีนี้พระคุณของแม่เป็นอย่างไร
ท่่านทั้งหลายคงจะได้ฟังกันมามากแล้วในช่วงสองสามวันมานี้
ผมจะขอร่วมพูดกับท่านผู้ฟังเกี่ยวกับปรารภวันแม่
แต่ว่าอาจจะพูดในวิถีทางหนึ่ง
คือจะพูดว่าธรรมเป็นมารดาของโลก
แม่หรือมารดาที่ให้กำเนิดให้คลอดเด็กออกมา
ถ้าไม่มีธรรมเป็น มารดา เด็กก็จะไม่มีความสุข
แม่ที่ให้กำเนิดเรามานี้จะต้องมีธรรมเป็นมารดา
จึงจะทำนุบำรุงให้เด็กอยู่เย็นเป็นสุขได้
ท่านจะเห็นว่าแม่ที่เป็นศัตรูของลูกก็มี
คือให้ความทุกข์แก่ลูกมากมาย
บางทีก็เพราะ รู้เท่าไม่ถึงการณ์
บางทีก็เพราะความโง่เขลา
บางทีก็คิดว่าหวังดีแต่เพราะโง่ก็ก่อความทุกข์ให้ลูกหนักหนา
เพราะไม่มีธรรมเป็นมารดา บิดาก็เหมือนกัน
บิดาผู้ที่ให้กำเนิดแล้วก็ควรจะเลี้ยงดู
แต่กลับทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู
ปล่อยให้เด็กเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง
เป็นเด็กเร่ร่อนไม่มีที่พึ่ง อย่างนี้ก็มีมาก
เวลานี้ก็มีเยอะที่ให้ทุกข์ให้โทษแก่ลูก
ที่ให้คุณแก่ลูกนั้นก็เพราะว่ามีธรรมอยู่ในใจ
ตณฺหามาตุกํ ทุกฺขํ ความทุกข์มีตัณหาเป็นมารดา
สุขํ เว ธมฺมมาตุกํ แปลว่า ความสุขมีธรรมเป็นมารดา
ความทุกข์มีกิเลสตัณหาเป็นมารดา
ความสุขก็มีธรรมเป็นมารดา
ธรรมนั้นแหละเป็นมารดาของคนทุกคน
แม่ที่ลูกจะพึ่งได้แท้จริงก็ต้องเป็นแม่ที่มีธรรม


อย่างพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พระพุทธเจ้าท่านใช้ คำว่า เกิดจากธรรม
เธอทั้งหลายเป็นผู้ที่เกิดจากธรรม สทฺธมฺมโช
เป็นผู้ที่เกิดจากพระสัทธรรม มีธรรมเป็นแดนเกิด
นี่ก็ให้ความสำคัญแก่ธรรมว่าทั้งบัดนี้แลภายหน้า
ธรรมนั้นแลประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนทั้งในบัดนี้และบัดหน้า
ทีนี้มีสุภาษิตสันสกฤตอยู่บทหนึ่ง
ที่ว่า มาตาไวรี ปีตาศัตรุ เยน พาโล น ปาฐิต
น โศภเต สภามธฺเย หํสมธฺเย พโก ยถา
มารดาเป็นไพรี บิดาเป็นศัตรู
เพราะเหตุที่ไม่ให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน
ลูกก็จะเป็นคนโง่เขลา หรือเป็นคนพาล
เยน พาโล ก็จะเป็นคนพาลหรือคนโง่
เพราะเหตุที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน
มารดาก็จะเป็นไพรี บิดาก็เป็นศัตรู
และเขาก็ไม่งาม ไม่สง่างามในท่ามกลางชุมชน
เหมือนกับนกยางไม่งามท่ามกลางฝูงหงส์
นี่ก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่ามารดาก็เป็นไพรีได้
บิดาก็เป็น ศัตรูได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมของมารดาบิดา
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีธรรมของบิดามารดาเป็นทางดำเนิน
จึงทำให้ลูกมีความสุขอยู่ได้
และลูกก็จะต้องมีธรรมของลูก
ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่มีธรรมอยู่ฝ่ายเดียว
ลูกก็ต้องมีธรรมของลูก


ทีนี้พูดให้สูงขึ้นไปก็คือ ยกจิตของแต่ละคนให้สูงขึ้น
พุทธบริษัทยกจิตให้สูงขึ้น คือ แผ่เมตตา
หรือพรมจิตพรมใจให้ประกอบเมตตา
อันหาประมาณมิได้ในสัตว์ทั้งปวง
เหมือนกับมารดา ที่รักษาลูกคนเดียวด้วยชีวิต
มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข
มารดาพึงตามรักษาบุตรคนเดียวที่เกิด
แต่รักลูกอย่างไร ก็ให้พุทธบริษัทมีจิตประกอบด้วยเมตตา
อบรมจิตให้ประกอบด้วยเมตตาทั้งปวง
ในบุคคลทั้งปวงหาประมาณมิได้ หรือไม่มีประมาณ
ให้มีความเป็นอยู่อย่างนั้น
โลกหรือสังคมของเรา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในกลุ่มของเรา
ก็จะมีความสงบสุข มีใจเมตตาต่อกัน มีไมตรีต่อกัน
มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน มันก็จะไม่มีการแย่งกันดี
คือ ถ้าแย่งกันดีก็จะไม่มีใครดีสักคน
ถ้าแบ่งกันดี ก็จะดีทุกคน ก็ขอให้เราภาวนาเอาไว้
มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
ให้มีอบรมจิต ให้มีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
ถ้าแย่งกันดีก็จะไม่มีใครดี
แต่ถ้าเราแบ่งกันดี ก็จะดีด้วยกันหมดทุกคน


อันนี้เป็นการพัฒนาจิตขึ้นไปสู่ระดับสูงที่เขามองเห็นว่า
ทุกคนเปรียบเหมือนบุตรของตน
มีเมตตาต่อสรรพสัตว์เหมือนบุตรของตน
มารดารักลูกรักษาลูกคนเดียวด้วยชีวิตของตนฉันใด
ก็ขอให้มีจิตเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวงเหมือนอย่างนั้น
อันนี้ก็ปรารภ วันแม่ ก็พูดเรื่องนี้นิดหน่อยพอเป็นนิทรรศนะ
พูดยาวไปกว่านี้ก็ ไม่จำเป็น
เพราะว่าคิดว่าท่านผู้ฟัง คงได้ฟังกันมาสองสามวันแล้ว
ก็พูดเรื่องพระคุณของแม่ต่างๆ มากมาย


ทีนี้ย้อนกลับมาพูดเรื่องที่ค้างอยู่ คือ
จดหมายจาก ประเทศอังกฤษ มาถึงข้อที่ 5 นะครับ
ที่ถามมาว่า ทำอย่างไร
พระพุทธศาสนาจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากที่สุด
อันนี้ผมได้พูดไปบ้างแล้ว
ก็จะขอพูดเพิ่มเติมตามที่ได้เกริ่นเอาไว้
ว่าจะต้องพูดกันให้ละเอียดสักหน่อยในเรื่องนี้
เพราะว่ามันรู้สึกสับสนกัน ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว


ในโลกปัจจุบันของเราเจริญขึ้นมาก
แต่ว่ามันเจริญในด้านวัตถุ คนที่นานๆ จะมากรุงเทพฯ สักครั้งหนึ่ง
ก็เกือบจะจำอะไรไม่ได้ เพราะว่าได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
ไม่แน่นะครับ ว่าเจริญไปเพื่อหายนะ
หรือว่าเจริญไปเพื่อความเจริญจริงๆ
หรือเจริญพัฒนาอย่างน่ากลัว
เพราะว่าสิ่งที่ติดตามมากับสิ่งที่เราเรียกว่าความเจริญ
นั้นก็คือความสับสน วุ่นวาย เร่าร้อน สูญเสีย ความสงบร่มเย็น
ความเจริญของสังคม ทำให้เราต้องกระเสือกกระสนมากขึ้น
เวลาพักผ่อนหรือความสงบสุขของชีวิต
ความอบอุ่นในครอบครัว หรือความสนิทสนม
คุ้นเคยกับเพื่อนฝูงก็ลดน้อยลง
การแข่งขันกัน ทุกระบบในสังคม
เลยทำให้ผู้หญิงที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนสมัยก่อน
เลี้ยงลูกให้ความอบอุ่นแก่ลูก แก่ครอบครัว ก็ต้องทำงานหนัก
ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องแข่งขันกันเรียน
แข่งขันกันทำงาน แข่งขันกันสวย แข่งขันกันหาเงินหาชื่อเสียง
บางคนก็พยายามจะปีนป่ายไปให้ถึงสิ่งที่เรียกว่า
ดีที่สุดในชีวิต ที่ตัวคาดหมายเอาไว้
กระเสือกกระสนไปทั้งผู้ชายและผู้หญิง


ทีนี้มองอีกมุมหนึ่ง เหมือนกับว่า
เราพัฒนาไปเพื่อความเป็นทาส ไม่เป็นอิสระ
เพราะเรียนแล้ว ทำงานเหนื่อยแทบตายเกือบตลอดชีวิต
ผลที่ได้คือ เพียงพอกินพออยู่
แล้วก็เป็นส่วนมากเสียด้วยนะครับ
ไม่พอกิน ไม่พออยู่เสียด้วยซ้ำไป
เป็นจำนวนมากทีเดียวที่ต้องตกเป็นทาสของแฟชั่น ของการโฆษณา
เพราะเงินทองที่หามาได้ก็หมดไปกับการสมาคมการท่องเที่ยว
การอะไรต่ออะไรไปหมดเลย พวกเด็กก็เรียนหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน
ไม่มีเวลาเล่นตามประสาเด็ก
พูดไปเรื่องพวกนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดหรอกครับ รายละเอียดมันเยอะ


ทีนี้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นประโยชน์แก่ คนส่วนน้อย
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังลำบากอยู่เหมือนเดิม
บางครอบครัว จนกว่าเดิม พัฒนาไปๆ ยิ่งลำบากมากขึ้น
นี่ก็คือการพัฒนา หรือความเจริญที่น่ากลัว
แต่เป็นที่น่าวิตกว่าสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมา
ในนามของความเจริญ ความทันสมัยนี่ละครับ
มันจะกลับมาทำลาย ผู้สร้างหรือเปล่า อันนี้ก็ขอให้คิดดูให้ดี


นิทาน ชาดก เรื่องเด็กหนุ่มศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
เรียนวิชาชุบชีวิตสัตว์ วันหนึ่งก็ไปพบเสือนอนตายอยู่
ก็ทดลองวิชาด้วยการทำให้เสือฟื้นคืนชีพ
เขาก็ถูกเสือตัวนั้นกัดตาย
คือ เรียนชุบชีวิต แต่ไม่ได้เรียนให้ดับชีวิตมันทันที
เราเรียนสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างร้ายแรง
ในโลกมนุษย์ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ
แต่เราไม่รู้จะควบคุมมันได้อย่างไร
ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มที่เป็นศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์์
เรียนชุบชีวิต แต่ว่าไม่มีวิชาที่จะจับมัน
หรือที่จะจัดการกับมันที่จะควบคุมมันว่า
จะควบคุมมันได้อย่่างไร


ความเจริญในสังคมของเราในเวลานี้ มีเป็นอันมากนะครับ
ที่เป็นอันตรายมากเลย เรามีสิ่งพิมพ์ มีหนังสือพิมพ์
มี วิทยุโทรทัศน์ เป็นอันมากเลยครับ
รวมถึงหนังสือนิตยสารรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์
มีวิดีโอ มีอะไรเยอะแยะไปหมดเลยก็มีทั้งคุณและโทษ
อินเตอร์เน็ตเวลานี้ก็บ่นกันว่า
มีโทษเป็นอันมากสำหรับเด็กที่ไม่สามารถจะควบคุมตัวเองได้
สร้างความเจริญขึ้นมา แต่พัฒนาจิตใจไม่ทัน
มันก็เลยเอาสิ่งเหล่านั้นไปใช้ ในทางเสื่อม
ในโลกปัจจุบันนี้นะครับ ท่ามกลางสื่อมวลชนหลากหลาย
ที่พูดมานี้ มนุษย์ก็ได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง อยู่คนเดียวไม่ได้
และก็ไม่มีเวลาที่จะมองย้อนเข้ามาในตัว
สังเกต พิจารณาความคิดหรือความรู้สึกของตัว
ไม่มีเวลาอย่างนั้น ว่าควรจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไร
อะไรเหมาะสมแก่ตัวหรือไม่
ปล่อยให้ความทะยานอยากมันชักลากไปถูลู่ถูกัง
ล้มลุกคลุกคลาน ถลอก ปอกเปิกกันไปหมด
สังคมของเราไม่ได้มีหนี้สินเฉพาะรัฐบาลเท่านั้นนะครับ
ประชาชนทั่วประเทศก็คล้ายๆ กัน
น้อยคนที่ไม่มีหนี้สิน เพราะว่ามันมีสิ่งยั่วยวนมากมาย
คนที่ใจไม่แข็งจริงก็อดไม่ได้ อดไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น
ที่จริงสุขภาพมันสำคัญกว่าเงิน สุขภาพมีสองอย่าง
คือ สุขภาพกายกับสุขภาพจิต
แต่สุขภาพจิตสำคัญกว่า
เพราะว่ามันเป็นบ่อเกิดของความสุขได้มากกว่า
ถ้าสุขภาพจิตดี แม้สุขภาพกายจะค่อนข้างง่อนแง่นสักหน่อย
แต่มันก็ยังหาความสุขอย่างสงบได้
ถ้าสุขภาพกายดี แต่สุขภาพจิตมันแย่
นี่แหละดูไม่ได้ มันสับสนวุ่นวายไปหมด
ทีนี้ถ้าโดยสภาพของการพัฒนาที่เป็นไปเพื่อความสับสนวุ่นวายอย่างนี้
มนุษย์ก็ได้ช่วยกันสร้างนิสัยไม่ดีๆขึ้นในสังคมเป็นอันมาก
เช่น ความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว ความโหดร้ายทารุณ
ไม่เว้นแม้แต่กับเด็กเล็กๆ ซึ่งเขาควรจะมีเมตตากรุณา
แต่กลับนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับขู่เข็ญให้ทำงาน
ให้ยาเสพติด ให้เป็นโสเภณีเด็ก เมืองไทยเป็นสังคมพุทธนะครับ
สอนเน้นเรื่องให้มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
เป็นเวลาตั้งแปดร้อยเก้าร้อยปีมาแล้ว
แต่ทำไมความโหดร้ายทารุณ ความแล้งน้ำใจจึงมีมากขึ้น
น่าจะมีความบกพร่องที่เป็นพื้นฐานสำคัญอะไรอยู่เป็นแน่แท้นะครับ
ลองวิเคราะห์เจาะลึกกันจริงๆ ดู มองให้ดีก็จะเห็น


ที่ตั้งข้อสงสัยว่า มันน่าจะมีข้อบกพร่องพื้นฐานอะไร
สักอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมพุทธในไทยของเรานี้
มีความเดือดร้อนสับสนวุ่นวาย
อาชญากรรมมาก ไร้ระเบียบ
ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างชุลมุนวุ่นวาย
เท่าที่สังเกตเห็นข้อบกพร่องพื้นฐาน
ก็คือเราใช้พุทธศาสนากันน้อย
คือไม่ได้นำเอาพระธรรมที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา
มาใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่ที่ตั้งใจจะเอามาใช้บ้าง ก็ใช้ไม่เป็น ไม่เข้าใจวิธีใช้


ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มีข้อบกพร่องในเรื่องการเรียน
การสอนพุทธศาสนาอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน
ผู้ให้และผู้รับเข้าใจพุทธศาสนาถูกต้องหรือเปล่า
ผู้รับส่วนมากเป็นผู้ไม่รู้ ผู้ให้คำสอนให้สิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
ถ้าจะลองทบทวนกันดู ผู้บริหารการพระศาสนา
ตั้งแต่ระดับต้น ไปจนถึงระดับสูง ก็น่าจะใคร่ครวญพิจารณาให้ถ่องแท้
ว่าที่การสอนพุทธศาสนาไม่ค่อยได้ผลในสังคมไทย
และแม้ในหมู่พระสงฆ์เองนั้นเนื่องมาจากอะไร
ถ้าจะโทษสิ่ง แวดล้อมภายนอก ก็โทษได้เสมอ
ไม่หวนกลับมาทบทวนบทบาทของเราเองบ้างหรืออย่างไร
ว่าเรามีบทบาทย่อหย่อน หละหลวมไม่สมจริง
สอนอย่างทำอย่างอยู่มากหรือเปล่า
เวลาปฏิบัติเราปฏิบัติทางอื่น
ทางโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ อะไรศาสตร์ก็ไม่รู้
แต่ว่าเวลาสอนกันก็สอนพุทธศาสนา


เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าหน่วยเผยแผ่ศีลธรรมของเรา
โดยทั่วไปก็ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้จริงและความสามารถดีจริง
ที่มีอยู่บ้างก็จำนวนน้อยเกินไป และก็ต้องรับงานหนักมากเกินไป
นอกจากนี้เรายังขาดบุคลากรที่เป็นตัวอย่างได้จริงในสิ่งที่สอน
จึงทำให้การเผยแพร่หรือเผยแผ่ได้ผลน้อย
ประชาชนขาดแบบอย่างที่ดี
สมกับที่ท่านโซเครตีส นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก
ได้พูดอยู่เสมอว่า จริยธรรมหรือศีลธรรมนั้น สอนได้ไม่ยาก
ถ้ามีตัวแบบที่ดี แต่ ที่สอนยาก เพราะว่าขาดตัวแบบที่ดี
ตัวแบบก็คือ ตัวอย่างที่มันเป็นนิทรรศการที่ชัดเจน
มันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นภาพที่ชัดเจน
มันเหมือนกับภาพอะไรที่ข้างนอกนี่แหละครับ
ที่เราเห็นภาพ ที่เขาแสดงอะไรสักอย่างหนึ่ง
มันมีความหมายและอธิบายได้มากกว่าคำพูดเป็นร้อยๆ คำ
เราเห็นภาพแสดงโดยภาพ มันจะเข้าใจได้ง่าย
และก็เข้าใจได้เร็วกว่าการพูดเป็นร้อยๆ คำเพียงอย่างเดียว
นี่ก็สำคัญว่าประชาชนขาดตัวอย่าง แบบอย่างที่ดี


ท่าน ลองนึกดูว่า ถ้าท่านไปงานศพ ไปฟังสวดศพ
แต่ละวันคนเข้าวัดเพื่อฟังการสวดศพไม่รู้เท่าไหร่ ทุกวัดมีเมรุ
หรือมี การตั้งศพสวดศพ ท่านก็จะไปพบแต่พิธีรีตอง
ไม่มีคำสอน ไม่มีคำแนะนำอะไรเลย
คือ เราไม่รู้ว่าศาสนาสอนอะไร ก็ฟังๆ กันไปเป็นภาษาบาลี
ท่านสวดอะไร คนฟังก็ไม่รู้ และถ้าเขาไม่รู้ว่า
เขาได้อะไรนอกจากไปทำบุญเท่านั้น เพื่ออุทิศให้คนตาย
ก็น่าเสียดายไม่ใช่น้อย โอกาสดีมากๆ เลยสำหรับในงานศพ
ที่คนก็กำลังเศร้าโศก จิตกำลังต้องการที่พึ่ง
ถ้าทางวัดได้จัดให้มีการแสดงธรรมทุกครั้งทุกคืน
ที่มีการสวดศพก็จะได้ประโยชน์มาก
อันนี้กระผมพูดมาหลายครั้งหลายหนแล้วครับ
พูดมาจนบางท่านอาจจะเบื่อแล้วก็ได้
แต่พอถึงเวลาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เข้า ก็อดที่จะพูดอีกไม่ได้
เพราะเสียดายโอกาสที่ไม่ได้จับฉวยเอาโอกาสนั้นเอาไว้
เวลามีการประชุมพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ถ้าผมอยู่ในฐานะเป็นวิทยากร ผมก็จะพูดเรื่องนี้เหมือนกัน
ก็พูดอยู่เสมอ แต่ไม่ทราบว่าจะทำได้ แค่ ไหน อย่างไร
แต่เท่าที่ไปงานสวดศพมาทุกแห่งก็ไม่มี คือ สวดอย่างเดียว
ไม่รู้ว่าพุทธศาสนาสอนอะไร
จริงก็สะดวกมากในการที่จะแสดงธรรมในโอกาสนั้น


การปรับปรุงก็คือ องค์กรทางศาสนา ควรจะต้องรีบเร่ง
ส่งเสริมให้มีบุคลากรที่มีความรู้จริง
มีความสามารถจริงในการเผยแผ่ศาสนา
และมีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างได้
ให้มีการสอนศาสนาในทุกโอกาสที่มีพิธีกรรม
ถ้าจะมีพิธีกรรมก็ขอให้มีบ้างเล็กน้อย
อย่างเช่น ในหนึ่งชั่วโมงจัดให้มีพิธีกรรมสักยี่สิบนาทีเป็นอย่างมาก
อีกสี่สิบนาที ขอให้เป็นเวลาพร่ำสอน
หรือสนทนาธรรม หรือแนะวิถีชีวิต ดีที่สุดก็คือ แนะวิถีชีวิต


เพราะบางทีคนทั้งหลายก็เหมือนกับคนหลงทาง
อยู่ในลักษณะเหมือนคนหลงทาง ไม่รู้จะไปทางไหน
ไม่รู้จะดำเนินชีวิตอย่างไร
ในเหตุการณ์อย่างนี้ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร ว้าเหว่ สับสน
เรื่องที่ท่านเอามาสวดนั้นสวดสักกี่จบๆ มันก็เท่านั้น
เพราะคนยังไม่รู้เรื่อง อยู่นั่นเอง
และคิดว่าเป็นแต่เพียงพิธีกรรม
และต้องฝึกฝนส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้จริง
มีความสามารถในการเผยแผ่ มีการดำเนิน
ชีวิตที่เป็นแบบอย่างได้


องค์กรทางศาสนาหลายๆ ด้านนะครับได้ทุ่มเทเวลา
ได้ทุ่มเทกำลังเงินกำลังคนไปในทางก่อสร้างวัตถุ
ก่อสร้างศาสนสถานไปมากมาย
ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานมากมายเหลือเกิน
โดยเฉพาะวัดที่มีงานสวดศพอยู่เป็นประจำ
จะมีศาสนสถานใหญ่โต มโหฬาร เพราะไม่รู้จะเอาเงินไปไหน
สร้างอะไรต่อมิอะไรไป มากมายมโหฬาร
ไม่ค่อยมีกิจกรรมในทางพัฒนาคนและสร้างสรรค์มนุษย์
เบื้องแรกต้องให้เขาเป็นสัมมาทิฏฐิก่อน
ให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรชั่ว
อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
วิถีชีวิตอย่างไรควรดำเนิน อย่างไรไม่ควรดำเนิน


ผม ก็ขอพูดซ้ำๆ ซากๆ อีกแหละว่าในงานศพ
คนทุกจำพวกจะเข้ามา ในโอกาสอื่น
เช่น วันมาฆะ วิสาขะ หรืออะไรเราก็มีเทศน์ บางทีมีเทศน์ทั้งคืน
บางวัดเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า สักการะพระพุทธเจ้า
แต่คนที่ไปฟังเทศน์วันนั้น มีแต่คนดีๆ
และโดยเฉพาะคนที่อยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน จนถึงตลอดรุ่ง
ก็มีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่นอนฟุบอยู่กับพื้น พื้นโบสถ์นั่นแหละ
มีพระเปลี่ยนมารูปหนึ่ง
เขาก็ลุกขึ้นยกมือสาธุครั้งหนึ่ง แล้วก็ฟุบหลับไป


ไปงานศพนี่จะมีคนมาทุกประเภท
ทั้งคนดีคนไม่ดีบางคนที่ไม่เคยฟังธรรม
และคนที่ฟังเสียจนจำเจ ก็มากันทุกประเภท
เพราะว่าเป็นญาติเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนฝูง
เป็นอะไรต่ออะไรก็งาน นี้แหละ
เป็นงานที่ควรจะเทศน์มากที่สุด และก็ต้องเทศน์ทุกคืน
ถือว่า บอกชีวิตกันทุกคืนที่มีการสวด
พูดแล้วก็น่าอนุโมทนากับท่านปัญญานันทะ
หรือท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
ซึ่งท่านทำมานานแล้วในลักษณะนี้


การพัฒนาคน การสร้างสรรค์มนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในมนุษย์
ถ้าเราได้มนุษย์ที่ดี มีคุณภาพละก็ อย่างอื่นมันก็จะดีไปหมด
แต่ทีนี้กิจกรรมที่เราทำกันส่วนมาก
ก็จะมุ่งหน้าไปทาง ลาภ ยศ ชื่อเสียง เป็นจุดมุ่งหมาย
ไม่ได้ชักจูงคนไปในทางสงบร่มเย็น
คนในสังคมของเรา จึงมุ่งหน้าไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ
ชื่อเสียง เกียรติยศจากสังคม
จึงสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
จึงเร่าร้อน กังวล เครียด
เพราะว่าไม่ได้เอาหลักธรรมมาใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างจริงจัง


นี่ก็มาถึงประชาชนทั่วไป ส่วนมากไม่ค่อยสำนึกว่า
ตนเป็นพุทธบริษัท ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อความเจริญ
หรือความเสื่อมของพุทธศาสนา
และปัดความรับผิดชอบเหล่านี้ไปให้กรมการศาสนา
ไปให้ภิกษุสามเณรเสียทั้งหมด
เหมือนกับที่บางคนพูดบอกว่า
ไม่ห่มผ้าเหลืองอย่าพูดการวัด
ไม่เป็นสัญญาบัตรอย่าพูดการเมืองทำนองนี้
ไม่ทราบว่าผูกคำพังเพยอย่างนี้ขึ้นมาได้อย่างไร
และไม่รู้ว่าไปผูกคำพังเพยสอนคนแบบนี้ได้อย่างไร
ว่าไม่ได้ห่มผ้าเหลืองอย่าพูดการวัด
ก็แปลว่า เรื่องของวัด การพูดเรื่องของวัดของวา
ต้องผูกขาดอยู่เฉพาะเรื่องของพระ
ให้พระพูดอย่างเดียว ชาวบ้าน ไม่เกี่ยว พูดไม่ได้


แต่ทีนี้ชาวบ้านอยู่ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
เป็นผู้บำรุงศาสนา เป็นผู้ลงทุนลงแรง เจียดรายได้ทุกคน
รายได้ต่างๆ ที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำแทบตาย
ทุกคนก็ต้องเจียดไปเพื่อ บำรุงศาสนา
ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เขาก็ต้องมีสิทธิ์ในการที่จะพูดบ้าง
มันเป็นหุ้นส่วนอยู่ เป็นบริษัท เป็นหุ้นส่วนบริษัท
เป็นพุทธบริษัท ทั้งผู้หญิงผู้ชาย อุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นหุ้นส่วนอยู่
และมีพระสงฆ์เป็นหุ้นส่วนอยู่
เพราะฉะนั้น ถึงเขาจะไม่ได้ห่มผ้าเหลือง เขาก็พูดการวัดได้


สมัย พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทมากมาย
ทรงแก้ไขอะไรให้ถูกต้องมากมาย
เพราะเหตุที่ชาวบ้านเขาติเตียน พระทำอย่างนั้นๆ
พระพุทธเจ้าจึงประชุมสงฆ์ และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ต่อไปทำอย่างนี้ไม่ได้ เป็นอาบัติ อย่างนี้เป็นต้น


แสดง ว่าชาวบ้านเขาไม่ได้ห่มผ้าเหลือง
แต่เขาก็พูดการวัด เขาเอาเรื่อง
ถ้าพระที่เขาอุปถัมภ์บำรุงอยู่ ไม่ตั้งอยู่ในธรรมของภิกษุ เขาเอาเรื่อง
และมีคำพังเพยไทยอีกคำหนึ่งที่ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
อันนี้ก็ไม่รู้ใครเป็นคนพูดขึ้นมา พูดได้อย่างไร
คือ ใครจะชั่วจะดีก็ช่างไม่ว่าอะไร
พระก็ส่วนพระ ชาวบ้านก็ส่วนชาวบ้าน แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เพราะเรามีความเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างแยกกันไม่ได้
มันก็ต้องติได้ชมได้ เวลาทำดีเราก็อยากให้เขาชม
เวลาทำไม่ดีเขาก็ติเอาบ้าง
ให้ท่านลองนึกดู คนพวกหนึ่งชมเป็น ติเป็น
ชมคนที่ควรชมตามความเป็นจริงในการอันควร
และบางคนชอบนิยมชมชอบคนที่ท่านไม่ติใครเลย
แหมท่านดีเหลือเกิน ท่านไม่ติใครเลย
ทีนี้ถ้าเอาหลักของพระพุทธเจ้ามาตัดสินแล้ว
พระพุทธเจ้ายังไม่พอพระทัย ท่านพอพระทัยคนที่ติคนที่ควรติ
และก็ชมเชยคนที่ควรชม
นี่ตามข้อความที่ปรากฏในอังคุตรนิกาย
ทรงสนทนากับโปตลิย ปริพาชก


นี่ ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง ว่าควรจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการรักษาศาสนา
และเป็นการทำให้พุทธศาสนาเป็นประโยชน์ที่สุดแก่สังคม
เพราะฉะนั้น ชาวบ้านไม่ควรจะปัดความรับผิดชอบของตน
มันมีอยู่สมัยหนึ่ง นักธุรกิจไม่สนใจการเมือง
คิดแต่ทำงานหาเงินอย่างเดียว
คือเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัว กับพวกของตัว
ทีนี้เดี๋ยวนี้ได้เห็นแล้วว่า ความไม่มั่นคงของการเมือง
ทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วน คลอนแคลนอย่างไร
นักธุรกิจจึงได้หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น
บางคนก็ทุ่มลงไปทั้งตัวเลย เพื่อเล่นการเมือง


เพราะ ฉะนั้น ชาวบ้านที่เห็นศาสนา เป็นเรื่องของพระ
เป็นเรื่องของกรมการศาสนา อย่างนี้ไม่ได้ครับ
มันเป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะเรามีส่วนได้ส่วนเสีย
เราเป็นพุทธบริษัท ชาวพุทธเป็นเรื่องของพระสงฆ์
ตนก็มีหน้าที่ทำบุญให้ทาน เป็นต้นนะครับ ก็พอใจเพียงแค่นั้น
แต่ทีนี้พอความทุกข์เกิดขึ้น
ไม่รู้จะแก้ปัญหาความทุกข์อย่างไร
เมื่อไม่รู้จะแก้ปัญหาความทุกข์อย่างไร
ก็ไปโทษดวง ไปโทษโชคชะตา โทษนั่น โทษนี่ไปตามเรื่อง
แล้วก็วิ่งเข้าหาหมอดู ทางวัดหลายวัดก็มีไว้บริการ มีหมอดู
มีปล่อยนก ปล่อยปลา มีการทำถวายสังฆทาน
บนบานศาลกล่าวครบวงจร มีบริการให้ครบวงจร


พระพุทธรูปบางแห่ง เวลานี้ไม่เพียงแต่เอาไปบูชาท่าน
ด้วยดอกไม้ธูปเทียนนะครับ
มีขนมหวานของคาวของหวานอะไรไปวางไว้เต็มไปหมด
เหมือนกับบนบานศาลกล่าว เหมือนกับเป็น เทวรูปเป็นอะไรไป
คือ ทำท่านให้เป็นเทวรูป รับของเซ่นของสังเวย อะไรทำนองนั้น
เซ่นสรวงบูชา คือ ไม่รู้ทำอะไรกัน


ถ้า พระพุทธเจ้าพระองค์มาเห็นเข้า
และพระองค์ทราบว่า ที่นั่งอยู่นั่นเป็นรูปแทนพระองค์
เป็นรูปที่เขาทำขึ้นมาแทนพระองค์ พระองค์จะรู้สึกอย่างไร
นี่เป็นฉันหรือนี่ ฉันไม่เป็นอย่างนี้
ก็เป็นการบนบานศาลกล่าว ถามเจ้าเข้าทรง
ก็เรียกว่าแล่นไปผิดท่า ท่าเรือนะครับ
เหมือนเรือที่แล่นไปผิดท่าเสียแล้ว มันก็มีแต่จะจม
แต่ว่าคนที่ขึ้น ก็ขึ้นไม่ถูกท่าแล้ว
แก้ปัญหาไม่ตก เพราะว่าไม่ได้ แก้ที่เหตุ ไม่ตรงกับหลักของพุทธศาสนา
เหตุมันอยู่ที่ไหนก็ต้องไปแก้ที่นั่น
ไม่ใช่ไปแก้ด้วยบนบานศาลกล่าว
ไม่ใช่ไปแก้ด้วยการถวายนั่น ถวายนี่
พระพุทธรูปซึ่งท่านก็ไม่สามารถจะรับได้
มีแต่ความเชื่อของเราขึ้นมา
และก็ทำให้ศาสนาเละเทะไปหมดเลย


ท่านลองคิดดูสิครับ สิ่งเหล่านี้เพื่อลาภ เพื่อผล เพื่ออะไร
มันทำให้ศาสนาเละเทะไปหมดเลย
ยังชอบใจ พระที่เป็นลูกศิษย์ รูป หนึ่ง ท่านไปอยู่ต่างจังหวัด
แล้วท่านก็กลับมา วันนั้นเจอกัน
ท่านบอกว่า อาจารย์เวลานี้อาตมาละอายเหลือเกิน
พวกเราไปขายศาสนากินกันเยอะแล้ว
ท่านปรารภเรื่องนี้ และก็พูดออกมา


ผม ตอบปัญหาที่ท่านผู้ถาม
ถามมาว่า ทำอย่างไรพุทธศาสนา
จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากที่สุด
มันก็มีเรื่องที่จะต้องคุยกันเยอะสักหน่อยนะครับ
แล้วถ้าชาวบ้านเราไม่ช่วยกันปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม
เพื่อช่วยตัวเองแล้ว พระสงฆ์จะเทศนาสั่งสอนสักเท่าไร
ก็คงไม่สามารถจะช่วยเหลือได้
เหมือนนักเรียนที่ไม่เรียน ไม่ดูบทเรียน
ไม่เอาเรื่องกับการเรียน เกเรียน
เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้จะได้ครูดีสักเท่าไหร่
ก็ไม่อาจให้เด็กคนนั้นเรียนรู้ได้
ทีนี้ถ้าเผื่อว่าได้ครูที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องเข้าด้วย
เด็กก็เกเรด้วยจะเป็นอย่างไร ท่านลองนึกดู


อีก ประการหนึ่ง พระสงฆ์ในเมืองไทย
แม้ว่าเราคิดว่าจะมีมากแล้ว ก็มีประมาณสองแสนครึ่งถึงสามแสน
ในพรรษาก็ประมาณสามแสน นอกพรรษาก็ประมาณสองแสนครึ่ง
ก็อยู่ประมาณนี้ละครับ มาเป็นเวลานานแล้ว
แล้วก็คิดว่ามีแต่จะลดลงไป คงจะไม่ขึ้นมาก
สามเณรเวลานี้ก็หายากแล้วในวัดต่างๆ
เพราะว่าเด็กไม่บวช เด็กได้เรียนหนังสือ
และพ่อแม่เองก็มัวเพลิดเพลินกับ
วัตถุต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ
จะให้ลูกท่านเองได้บวชก็ไม่มี สามเณร

ที่เป็นหน่อของพระ หรือหน่อของสมณะ
คือ เป็นเยาวชนของศาสนา ก็ไม่มี
โดยเฉพาะในเวลานี้ วัดในกรุงเทพฯ หายากเหลือเกิน


สำหรับ ชาวบ้านที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 18 ล้านคน
มาเป็น 20 ล้าน 30 ล้าน เรื่อยขึ้นมาจนเวลานี้ 60 ล้านกว่าแล้ว
แต่พระยังจำนวนคงอยู่เท่าเดิม คราวนี้เมื่อเป็นอย่างนี้
ถ้าจะเปรียบด้วยล้อรถ ถ้าล้อรถมี 4 ล้อ พระเณรก็เป็นล้อหนึ่ง
หรือต่อให้เป็นสองล้อด้วยซ้ำไป
คฤหัสถ์เป็นผู้ชายผู้หญิงอีกสองล้อ หรือสามล้อ
ถ้าเผื่อมันดีอยู่ล้อเดียว อีกสองล้อหรือสามล้อไม่ดี
กำลังไม่เท่ากันแล้วจะไปได้อย่างไร
อีกสองล้อมันแฟบไม่ต้องสองล้อ
เพียงแต่ล้อเดียวมันแฟบ มันก็ไปไม่ได้แล้ว
ไม่มีลมยาง ไปไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงเน้นนักเน้นหนาว่า
พรหมจรรย์คือศาสนานี้จะดำรงอยู่ได้ด้วยพุทธบริษัทสี่
หรือพุทธบริษัทเกื้อกูลกัน ช่วยกันหนุนกัน
และพุทธบริษัทสี่ต้องมีความรู้ในทางธรรมด้วยกัน
ไม่ใช่เกณฑ์ให้พระรู้ไปฝ่ายเดียว
แล้วชาวบ้านก็ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องศึกษา
ไม่ต้องรู้พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
คอยแต่ทำบุญให้ทาน รักษาศีลห้า ไม่ต้องรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า
อย่างนี้เรียกว่า ล้อรถมันไม่เท่ากัน ทำอย่างไรมันก็ไปไม่ได้


พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาส ต้องเพิ่มความสนใจในการศึกษาธรรม
ปฏิบัติธรรม และต้องรู้ธรรมที่ทรงแสดงว่าคืออะไร เป็นอย่างไร
สามารถจะพึ่งตัวเองได้ สามารถจะเอาใจรอดเวลามีเหตุการณ์
และความทุกข์เกิดขึ้น
แต่สำหรับปากท้องนั้น ก็เอารอดอยู่พอสมควรแล้วแหละ
พอสมควรไม่เดือดร้อนด้วยเรื่องเศรษฐกิจ
รื่องการงาน แต่ในทางด้านจิตใจ เอาใจรอดมั้ย
เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น ต้องเอาใจรอด
นี่ละครับคือวิธีการที่จะช่วยกันส่งเสริมพุทธศาสนา
หรือทำพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์ที่สุดในสังคม


องค์กร ทางศาสนาจำเป็นต้องเร่งเร้า
จุดประกายให้ประชาชนมีจิตสำนึก
รู้สึกรับผิดชอบต่อการเป็นพุทธบริษัทของตน
ศึกษาพุทธศาสนาให้ถ่องแท้
แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดผลจริงในชีวิตประจำวัน
ก็จะได้เห็นคุณค่าของพระศาสนา
มิฉะนั้นแล้ว เราจะเป็นเหมือนคนแขวนทุเรียนไว้ไม่ได้กิน
ทีนี้เมื่อไม่ได้ลิ้มรส ได้แต่ความภูมิใจว่า
เราก็มีทุเรียนกับเขาด้วยเหมือนกัน
ทำนองเดียวกันนี้นะครับว่า
เราภูมิใจต่อคำสอนอันดีเยี่ยมของพระพุทธเจ้า หรือของพุทธศาสนา
แต่ถ้าไม่นำมาปฏิบัติให้สมควรแก่ฐานะของตนแล้ว
ก็เหมือนแขวนพุทธศาสนาไว้เฉยๆ โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์
ไม่สมกับที่ตั้งใจทำนุบำรุง
อย่ามัวแต่ยุคนอื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่เลย
ตัวของตัวเองนั่นแหละลงมือเอง ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์



เมื่อตอนเย็นนี้มีท่านผู้หนึ่งถามว่า
การเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้นควรเข้าอย่างไร
ก็บอกว่า มีสองแบบ คือ แบบปุถุชน และแบบอริยชน
แบบปุถุชนก็มีสองพวก คือ
1. อันธปุถุชน อันธะ ที่แปลว่า มืดบอดนะครับ
อันธปุถุชน ปุถุชนที่มืดบอด
คือ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ
สักแต่ว่ามีพุทธศาสนาอยู่ในทะเบียนบ้าน
และก็เป็นคนเกเรเกตุง ทำร้ายสังคม ทำร้ายผู้อื่น
ทำร้ายตนเอง และอันธปุถุชน
ชอบเป็นพุทธแต่ในทะเบียนบ้าน
แต่ว่าตัวจริงๆ เป็นอันธพาล
ทีนี้ 2. กัลยาณปุถุชน ก็คือคนดี ปุถุชนชั้นดี
ปุถุชนที่เป็นคนดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ
รู้จักทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
รู้จักพุทธศาสนา เป็นคนมีศีลมีธรรม
อันนี้ก็เข้าถึงพระรัตนตรัย
ด้วยการมีศีล มีธรรม มีคุณงามความดี
เอาพระรัตนตรัยเป็นผู้นำทาง


การเข้าถึงพระรัตนตรัย อีกพวกหนึ่งก็คือ การเข้าถึงแบบอริยชน
ท่านรู้อริยสัจ เป็นพระโสดาบัน
สมฺมปฺปญฺฐายเห็น อริยสัจสี่ ด้วยความชอบ
อันนี้คือการเข้าถึงพระรัตนตรัย แบบอริยชน
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
ผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
จตฺตาริ อริยสจฺจานิ แล้วก็เห็นอริยสัจสี่ด้วยปัญญาชอบ
นี่แหละคือ การเข้าถึง พระรัตนตรัยแบบอริยชน
แล้วเมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยแบบอริยชน
แล้วก็เป็นพระอริยะ เป็นพระรัตนตรัยเสียเอง
แต่ว่าภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม
อุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ที่ได้บรรลุอริยธรรม
อริยชนแล้วเป็นพระอริยะ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป
ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใด เพศอะไร
เขาก็เป็นพระรัตนตรัย อยู่ในพระรัตนตรัย อยู่ในสังฆรัตน์
เพราะว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ
ปฏิบัติเพื่อนิพพาน ปฏิบัติชอบยิ่ง ยทิทํ
นี่คือใครเล่า คือ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
คือบุคคลสี่คู่ แปดจำพวก เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ
อันนี้แหละคือสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาค
เรียกว่า เมื่อถึงพระรัตนตรัยแบบอริยะเป็นพระอริยะแล้ว
ก็เป็นพระรัตนตรัยเสีย เอง คือ เป็นสังฆรัตนะเสียเอง
ลำพังแต่บวชเป็นพระสงฆ์ นุ่งเหลืองห่มเหลืองนั้น
อย่าคิดว่าเป็นพระรัตนตรัยแล้ว อย่างนั้น ไม่ใช่
ผู้ที่จะเป็นสังฆรัตนะ
ต้องเป็นพระอริยบุคคล ถึงจะจัดเข้าอยู่ในสังฆรัตนะ


ถ้าทำได้ตามที่กล่าวมานี้
ก็เชื่อว่าการเผยแผ่ศีลธรรมของเรา ก็จะมีประโยชน์
มีประสิทธิภาพมากขึ้น และก็มีผลจริงด้วย


ถ้าเราไม่ได้ดำเนินไปอย่างนี้ แม้ว่าเราจะฉลองวิสาขบูชา
อาสาฬหบูชา มาฆบูชา กันทั้งเดือน
เราแต่งรถบุปผชาติแข่งขันกัน ประกวดกันทั่วประเทศ
แห่เทียนพรรษากันเอิกเกริกโอฬารสักเท่าไหร่
ก็ไม่ได้แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ถ้าในสังคมของเรายังมากไปด้วยอาชญากรรม
คลาคล่ำไปด้วยคนยากจน คนเห็นแก่ตัว
เพราะฉะนั้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาตัวแท้
ยังไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่เลย
ประโคมกันก็แต่เพียงเปลือกของพระพุทธศาสนา
หรือบางทีไม่ใช่เปลือกด้วยซ้ำไป มันเป็นอะไรก็ไม่รู้
ที่เข้ามาห่อหุ้มพุทธศาสนา แล้วก็มีอยู่เป็นอันมากด้วย
ที่เข้ามาห่อหุ้มพุทธศาสนา เหมือนกับเป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง


สมมุติ ว่าเป็นต้นพุทธศาสนา อยู่ไปนานๆ
ก็มีกาฝากขึ้นมามากมายบนต้นพุทธศาสนา
กาฝากรัดต้นแผ่กิ่งก้านสาขาคลุมไว้หมดเลย
เพราะเรารู้มาแต่เดิมว่านี่คือต้นพุทธศาสนา
แต่มันถูกคลุมไว้หมดแล้วด้วยต้นกาฝาก
ที่มันละม้ายคล้ายกัน แต่มันไม่ใช่ต้นพุทธศาสนา
มันเป็นต้นกาฝากแทบทั้งนั้น พุทธกับไสยก็คละกันอยู่
เหมือนกับจะแยกกันไม่ออก
เพราะว่าชาวพุทธเป็นคนเอามาทำเสียเอง
ทีนี้ถ้าพระเป็นผู้ทำด้วย คนทั้งหลายเห็นก็นึกว่านี่คือ พุทธ
เพราะพระนั่นเป็นพระของพุทธศาสนา
แต่มาทำในสิ่งที่เรียกว่า ไสยศาสตร์
ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจไม่เคยเรียนรู้ว่าอะไรคือ พุทธศาสนา
เห็นอย่างนี้ก็นึกว่านี่แหละคือ พุทธศาสนา

ก็เลยงมกันต่อไป อันนี้เรียกว่า ต้นพุทธศาสนา
ที่มีต้นไม้อื่นมันขึ้นมาคลุม เหมือนแป้งขนมที่มันคลุกกับน้ำตาล
มันคลุกกันจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร


ทีนี้ถ้าเมื่อใดประชาชนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
ปลอดอาชญากรรม และไม่มีคอร์รัปชั่น
การคอร์รัปชั่นนี่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียวนะครับ
เวลานี้มีการคอร์รัปชั่นวรรณกรรม และโกงวรรณกรรม
โกงทรัพย์สินทางปัญญากันอย่างไม่รู้สึกละอาย
แม้แต่ในวงการพุทธศาสนานี้แล ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจ


ถ้าเราไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่มีคนเห็นแก่ตัว
หรือหาคน เห็นแก่ตัวได้ยาก มีแต่คนเสียสละ
คนส่วนมาก พออยู่พอกิน พอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย
ประชาชนไม่ต้องระแวงภัยในเรื่องการถูกประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
อย่างที่กล่าวไว้ในตำราของเราว่า
บ้านเรือนไม่ต้องมีลิ่มสลัก ไม่ต้องมีกลอน
ไม่ต้องมีกุญแจ หรือเหล็กดัดกันขโมย

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บุคคลจะพาใจให้รอดในเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่
โดยไม่ต้องผ่านทางศีลและการสวดมนต์


ปัญหาข้อที่ 6 ท่านผู้ถามได้ถามมาว่า
บุคคลจะพาใจให้รอดในเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่
โดยไม่ต้องผ่านทางศีลและการสวดมนต์


นี่ แสดงว่า ส่วนมากที่พาใจรอดกัน
ก็มีเรื่องการรักษาศีล กับเรื่องการสวดมนต์ ที่ผู้ถามคุ้นเคยอยู่นะครับ
นอกจากทางนี้แล้วก็ยังมีทางอื่นอีกนะครับ
แต่ว่าเรื่องศีลกับการสวดมนต์ก็ใช้ได้ครับ ยังใช้ได้อยู่
นอกจากนี้แล้ว ผู้ถามยังมีความปรารถนาที่จะให้เราคนไทย
เห็นศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อันนี้ก็เห็นด้วยนะครับ
ที่ว่าคนเราควรเห็นศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา
และก็ต้องเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ด้วย


พุทธศาสนาเน้นปัญญาว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง
อันนี้ แหละครับที่จะทำให้เอาใจรอดได้ด้วยปัญญา
มีพระพุทธพจน์ที่ว่า ปญฺาย ปริสุชฺฌติ
บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้น ทางพุทธศาสนาในขั้นสูงที่จะเอาใจรอดกัน
ก็เน้นเรื่องปัญญาเป็นสำคัญ
ทำให้คนเอาใจรอดได้ เมื่อทุกข์รุกเร้าหรือโถมเข้ามา
แต่อย่างไรก็ตามนะครับ
การสวดมนต์ การรักษาศีล ก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่เหมือนกัน
คล้ายๆ กับว่าเป็นการห้ามล้อไว้ก่อน
การสวดมนต์นี่เป็น วัตรอย่างหนึ่ง
หมายถึง ข้อปฏิบัติประจำ ที่ทำประจำ
การสวดมนต์ต้องไม่เป็นวัตรปรามาส
คำว่า วัตรปรามาส หมายความว่า
เข้าไปลูบคลำ เข้าไปลูบคลำวัตร โดยผิดจุดมุ่งหมาย
การประพฤติวัตรทุกอย่างก็เพื่อขัดเกลากิเลส
ขัดเกลาอัธยาศัยให้ประณีต
การสวดมนต์เพื่อต้องการให้จิตใจสงบ ประณีต
แต่ว่าถ้าสวดเพื่อให้ได้ลาภ ให้ได้ทรัพย์
ให้ได้อะไรต่ออะไรที่เขาสวดกันอยู่
มีการอ้อนวอนเพื่อให้ได้นั่นได้นี่
ดูเหมือนวัดบางแห่งก็พูดไปในทำนองนั้นเหมือนกัน
บอกว่าอันนี้สวดแล้วทำให้รวย
อันนี้สวดแล้วทำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตามที่ชาวบ้านเขาต้องการ
โดยเฉพาะที่สวดแล้วทำให้รวยนี่ คนชอบสวด
ก็มีหลายวัดเหมือนกัน ที่มีแนวโน้มไปทางนี้
คือ ชักชวนญาติโยมให้สวดมนต์เพื่อความร่ำรวย
เพื่อให้ได้ทรัพย์ อันนี้คือ วัตรปรามาส
คือเป็นการลูบคลำวัตร ซึ่งผิด จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า


ถ้าจะสวดมนต์ให้ตรงตามจุดประสงค์
ก็คือ (1) สวดเพื่อให้ใจสงบ
เพราะว่าเวลาเราสวดจิตมันจะอยู่ที่บทสวดมนต์
ไม่วอกแวกไปที่อื่น
(2) เพื่อให้ได้ปัญญา สวดแล้วรู้เรื่อง
รู้ตัวกำลังว่าทำอะไร เพราะเป็นการทบทวน
เหมือนเด็กที่ท่องอาขยานไปเป็นบทกลอนแล้วเขาก็รู้เรื่อง
แล้วในนั้นก็เป็นบทสอนใจไปด้วย
จุดประสงค์ก็เป็นอย่างนั้น
(1) เพื่อให้ใจสงบ (2) ให้ได้ความรู้ ทบทวนความรู้
อย่างที่พระท่านสวดมนต์
สมัยก่อนนี่ท่านจะสวดมนต์เพื่อจะทบทวนพระพุทธพจน์
สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร
สูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา
แล้วก็มีอริยสัจเป็นแกนกลางอยู่
และเพื่อสวดรักษาพระพุทธพจน์
นั่นละครับคือ เป้าหมายหรือจุดประสงค์ในการสวดมนต์


ต่อมาไม่รู้ใครประดิดประดอยเป็นคาถาให้รวย
นี่เป็น คาถาให้สวย นั่นเป็นคาถาให้คนรัก
เป็นมหาเสน่ห์มหานิยมอะไรมันไม่ได้ครับ
คือ ถ้าหลักของพระพุทธเจ้าแล้วมันต้องปฏิบัติ
เช่น ถ้าอยากรวยก็ต้องปฏิบัติปฏิปทา
ดำเนินตามปฏิปทาที่จะให้รวย
ถ้าจะให้พออยู่พอกินก็ต้องปฏิบัติมีปฏิปทา
ที่จะให้พออยู่พอกิน
ถ้าจะต้องการอะไรก็ต้องปฏิบัติ
เหตุเพื่อจะให้ได้ผลที่ต้องการ อันนี้แหละคือ หลักพุทธ
พูดกันตรงๆ คือ อย่าสอนให้ประชาชนงมงาย
อย่าให้เขางมงายโดยที่ว่าเขาทำแล้วไม่ได้ผลอะไร
นอกจากว่าให้ยึดมั่นถือมั่น
เป็นอุปาทานไปเปล่าๆ มันง่ายเกินไป
ถ้าทำเพียงแค่นั้นแล้วมันได้ผล
มันก็ช่วยกันทำให้ทั่วประเทศ
ประเทศก็พ้นจากความยากลำบากเสียที
ถ้ารดน้ำมนต์แล้วมันหายซวย ก็สวดมนต์กันสักครั้งหนึ่ง
แล้วก็เอาน้ำมนต์ไปใส่ที่คลองประปาโน่น
ประปาก็จ่ายไปทั่วกรุงเทพฯ ทั่วทุกจังหวัด
เราก็อาบน้ำมนต์กินน้ำมนต์กันให้หมดทั่วประเทศ
มันจะได้หายเคราะห์หายทุกข์หาย โศกกัน
แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
พูดกันตรงๆ ดีกว่าไม่ต้องอ้อมค้อม
ทำอะไรให้มันสิ้นเปลืองเสียเงินเสียทอง
มันไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ ก็ต้องไปซื้อทั้งนั้น
ต้องไปในที่ที่เขาเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์
แล้วก็ไปขอน้ำมนต์ไปเอาน้ำมนต์
มันต้องซื้อนะครับเขาวางขายเป็นขวดๆ


ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า น้ำเหงื่อดีกว่าน้ำมนต์
ถ้าเราอยากมีสตางค์ก็ออกเหงื่อกันหน่อย
อยากมีสุขภาพดี มันก็ต้องทำเหตุให้เป็นเหตุที่มีสุขภาพดี
พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้
ท่านสอนตรงๆ คือว่าไม่อ้อมค้อม
ไม่ไปมอมเมาให้หลงใหลในสิ่งที่มันไม่มีผลจริง
ถ้าเผื่อไปทำเข้ามันก็เป็นวัตรปรามาส
แปลว่า ลูบคลำวัตรในทางที่ผิด
หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในทางที่ผิด
และในสังคมของเรามันก็มีวัตรเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดเลย
ไม่รู้เพราะอะไร ท่านก็คงรู้ ต่างคนต่างก็รู้กันอยู่


คราวนี้ก็มาถึงเรื่องศีล การรักษาศีลก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็อย่าให้เป็นสีลปรามาส
ซึ่งแปลว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับศีลโดยไม่ถูกต้อง
เช่น การรักษาศีลนี้จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมาย
ก็คือ ต้องการให้กายวาจาบริสุทธิ์
เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ทางกายทางวาจา
สำรวมกายสำรวมวาจา เว้นจากการเบียดเบียน
นี่ถ้าสังคมของเรา ต่างคนต่างก็รักษาศีลในลักษณะนี้
คือเว้นจากการเบียดเบียนกันด้วยกายด้วยวาจา
แม้แต่เพียงสองข้อแรก
เราก็ไม่ต้องประหวั่น พรั่นพรึงเท่าไหร่แล้ว
เพียงแต่ว่าไม่ฆ่ากัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ลักทรัพย์กัน
แม้เพียงสองข้อนี้ สังคมก็สงบราบคาบไปเยอะแล้ว
แต่เวลานี้ที่ชุกชุมกันมาก ก็คือ สองข้อนี้


เรื่อง การคอร์รัปชั่นก็มีมากมาย
เมื่อตอนเย็นนั่งฟังวิทยุมาด้วย เขาก็คุยกันถึงเรื่องคอร์รัปชั่น
ผู้สนทนาก็พูดดีคุยเก่ง เขาบอกว่า มันมีทุกระบบ ทุกแห่ง
ทุกสถานที่ ทุกองค์กร ทั้งของเอกชนและของรัฐ
มันเต็มไปหมด และนี่ก็คือศีลข้อสองนี้
การรักษาศีลก็เพื่อต้องการให้สังคมสงบเรียบร้อย
ถ้าสังคมสงบ เรียบร้อย เราก็เย็นตาเย็นใจ
ไปที่ไหนอยู่ที่ไหนก็ไม่ต้องหวาดระแวง
เวลานี้คนที่มาถึงหน้าบ้านแล้วก็ยังกลัว
กลัวว่าคนจะมาทำอะไรที่หน้าบ้านนั้นเอง
ลองนึกดูผู้ชายยังกลัวเลยครับ ไม่ต้องพูดถึงผู้หญิง
ผู้หญิงก็ยิ่งต้องกลัวมากขึ้น ก็เพราะคนไม่มีศีล
ศีลก็คือ เว้นจากการเบียดเบียนกัน
แต่ต้องให้เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่ให้เป็น สีลปรามาส
ต้องรักษาศีลเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมาย
คือ รักษากายวาจาให้เรียบร้อย
ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น อย่างนี้ก็เป็นศีลที่ดี


การจะรักษาศีลข้อไหนอย่างไร ก็ต้องมีเหตุผล
ภาษาทางปรัชญาเขาเรียกว่าต้องเป็น
คือว่า ต้องเป็นศีลที่เป็นนาย (master morality)
ไม่ใช่ศีลที่เป็นทาส (slave morality)
ศีลที่เป็นทาส ก็คือ การรักษาศีลตามธรรมเนียมที่ทำกันมา
แล้วก็ไม่รู้เหตุผลไม่รู้จุดมุ่งหมาย
ไม่รู้วิธีการรักษาไปตามตัวหนังสืออะไรอย่างนี้
ศีลแบบทาส มันไม่ได้รับอานิสงส์
บางทีก็ลำบากแทบตายเพื่อ รักษาศีลที่เป็นอกุศล
ศีลที่เป็นกุศลก็มี ศีลที่เป็นอกุศลก็มี
ศีลที่เป็นอกุศลคือ ศีลไม่ดี
เป็นแต่เพียงบัญญัติกันว่านี่เป็นศีล
แต่ว่า มัน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
บางทีก็มาเป็นจารีต เขาเรียกว่า จารีตศีล
ก็คือ สิ่งที่ทำกันมาตามจารีตตามประเพณี
บรรพบุรุษเคยทำกันมาอย่างนี้
แล้วก็ทำกันต่อไปโดยไม่รู้ว่าเหตุผลเป็นอย่างไร
พอถามถึงเหตุผลมันตอบไม่ได้
เพราะมันเป็นศีลที่เป็นทาส
แต่ว่าของพระพุทธเจ้านี่พระองค์ใช้คำว่า ศีลที่เป็นไท
ไทที่แปลว่าไม่ใช่ทาส นะครับ
ยานิ ตานิ สีลานิ ภุชิสฺสานิ คือ ศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาส
อปรามฏฐานิ อันกิจอันตัณหาและทิฐิ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
อย่างนี้จึงเป็นศีลที่ใช้ได้และได้ประโยชน์
อย่างที่ว่าเป็นการห้ามล้อไว้ก่อน
ก่อนที่จะตัดสินใจนำรถไปทางใด
เมื่อถึงหัวเลี้ยวหรือทางแยก


ในลักษณะนี้ สวดมนต์บ้างไม่สวดมนต์บ้างก็ได้
ตามความเหมาะสม ตามกาลเวลาอันสมควร
ศีลรักษาบ้างไม่รักษาบ้างก็ตาม
สังคมของเราก็สงบเรียบร้อยอยู่ได้
บางคราวเราก็จำเป็นที่จะต้องรักษาศีลตามฐานะของตน
อย่างทหารที่มีหน้าที่ที่จะไปออกรบ
อย่างไรศีลข้อปาณาติบาตก็ต้องเก็บไว้ก่อนละ มันรักษาไม่ได้
นี่ก็คือที่ผมว่า รักษาบ้างไม่รักษาบ้าง
แต่เมื่อเลิกการรบทัพจับศึก เลิกจากการที่จะไปกองทัพแล้ว
ก็กลับมารักษาศีลอย่างเดิม
คนที่ทำงานบริษัทกำจัดปลวก
อย่างนี้ยังจะรักษาศีลข้อปาณาติบาต ให้ได้ตลอดไปได้อย่างไร
แกก็รักษาให้ตลอดไปไม่ได้
แต่วันไหนที่ไม่ต้องไปกำจัดปลวกแกก็ต้องรักษาเอาไว้
อย่างน้อยที่สุดก็คือ ไม่ฆ่าคนก็ยังดี
และก็ได้ประโยชน์ในการรักษาศีล ให้สมควรกับฐานะของตน
หรือชาวประมงที่หากินอยู่กับทะเล ลงเรือไปหาปลาทุกวัน
อย่างนี้จะไปรักษาศีลข้อปาณาติบาตแกก็ทำไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็ให้เหมาะสมกับฐานะของตนก็อยู่ได้


พุทธ ศาสนาของเรานี้นะครับ มีข้อปฏิบัติหลายระดับ
พุทธศาสนิกชนสมัครใจจะอยู่ในระดับใด ก็ปฏิบัติระดับนั้น
ก็ได้รับผลตามระดับชั้นของตน
ผู้ที่ยังเป็นห่วงโลกเป็นห่วงสังคมอยู่
ท่านก็สอนธรรมะในระดับที่จะให้อยู่กับโลกกับสังคมได้โดยสันติสุข
เช่นสำหรับฆราวาสทั่วไปก็มีธรรมะที่เรียกว่า
คิหิปฏิบัติ คิหิ นี่แปลว่าคฤหัสถ์
ที่เราชินหูชินตากันว่า คฤหัสถ์
ภาษาบาลีท่านใช้คำว่าคิหิปฏิบัติ
ข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ เป็นภาษาสันสกฤต
แปลว่า ผู้อยู่ครองเรือน เห็นเขาเรียกในภาษาฝรั่งในเรื่องนี้ว่า
Social Philosophy of Buddhism
เป็นปรัชญาสังคมของพุทธศาสนา
เป็นธรรมของผู้รู้สำหรับคฤหัสถ์
ที่จะให้รู้หน้าที่ของกันและกัน เพื่อไม่เบียดเบียนกัน
ใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ทำหน้าที่อย่างนั้นให้สมบูรณ์


ขงจื๊อ ปรมาจารย์ของชาวจีนท่านก็เคร่งครัดในเรื่องนี้
ท่านมีอิทธิพลกับชาวจีนมาก
มีคนไปถามท่านทำอย่างไรบ้านเมืองถึงจะสงบสุข
ท่านบอกให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
แค่นี้ก็เรียบร้อย ที่ยุ่งเหยิงกันอยู่ก็เพราะหลายคน
หรือคนจำนวนมากไม่ได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
ธรรมะคือ หน้าที่ (Dhamma is duty) การปฏิบัติหน้าที่
การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ว่าตัวทำหน้าที่อะไร
ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวอยู่
ได้ทำหน้าที่ของตัวให้สมบูรณ์ไหม
ถ้าทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้ก็เป็นธรรมะ


อันนี้ทำให้สังคมอยู่รอด ทำให้โลกอยู่รอด
ทำให้ครอบครัวอยู่รอด
หรือที่สุดทำให้เรื่องส่วนตัวแต่ละคนอยู่รอด
คือว่า ถ้าเขาเป็นเด็กเขาก็ทำหน้าที่ของเด็ก
ถ้าเป็นนักเรียนก็ทำหน้าที่ของนักเรียนให้สมบูรณ์
เป็นผู้ใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์
ทุกอย่างก็เรียบร้อย นี่แหละคือคิหิปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเอาไว้ มันปรากฏในหนังสือเป็นทิศหก
ทิศหกก็จับกันเป็นคู่ๆ ทุกคู่
เช่นว่า ครูอาจารย์กับศิษย์ พ่อแม่กับลูก
อย่างนี้เป็นคู่ๆ กันไปทำหน้าที่ให้สมบูรณ์


มาถึงปัญหาข้อที่ 6 นะครับ ยังอยู่ในปัญหาข้อที่ 6 ที่ว่า
บุคคลใดจะพาใจให้รอดได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่
โดยไม่ต้องผ่านทางศีลและการสวดมนต์
เมื่อวันศุกร์ผมได้พูดมาหลายเรื่องนะครับเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้
แล้วก็มาจบลงที่ข้อความที่ว่า พุทธศาสนามีข้อปฏิบัติหลายระดับ
ผู้ใดสมัครใจที่จะอยู่ในระดับใด
ก็ปฏิบัติในระดับนั้น ก็ได้รับผลตามระดับชั้น
ผู้ที่ยังเป็นห่วงโลกเป็นห่วงสังคม
ท่านก็สอนธรรมในระดับที่จะให้อยู่กับโลกกับสังคมโดยสันติสุข
สำหรับฆราวาสทั่วไป ก็ให้ปฏิบัติในระดับคิหิปฏิบัติ
ก็เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของกันและกัน
จะได้มีความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน


ทีนี้ผู้ที่เบื่อโลกเบื่อสังคมแล้ว
ต้องการความสงบให้ กับชีวิตส่วนตัว
ก็มีธรรมอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้นั้น
สำหรับผู้ที่จะไปนิพพานเร็วๆ ท่านก็สอนไว้อีกอย่างหนึ่ง
ก็สุดแล้วแต่ใครจะเลือกอย่างไร
เกือบเหมือนห้างสรรพสินค้านะครับ
มีของให้เลือกเยอะ ใครจะไปทางแผนกไหน
ไปเลือกเอาอย่างไหนตามที่ต้องการก็ได้
หรือว่าร้านขายยาใหญ่ๆ ก็มียาแก้โรคอยู่ทุกชนิด
ใครต้องการยาอย่างไหน ก็เลือกเอาอย่างที่เหมาะแก่โรคของตน
เมื่อมองในแง่นี้แล้วนะครับ
ก็จะไม่มองพุทธศาสนารุงรังไร้สาระ
คนเลี้ยงเด็กบางคน
บางทีก็ยังต้องเอาจุกหัวนมเปล่าๆ ให้เด็กดูดเล่น
มองในแง่ของผู้ใหญ่ ก็ว่าไร้ประโยชน์
แต่สำหรับเด็กแล้วให้ประโยชน์แก่เด็ก
ความพร้อม (Maturity) หรือ Maturation ของคนเรามีไม่เท่ากัน
เป็นความจำเป็นที่เราต้องเห็นใจคนอีกพวกหนึ่ง
ที่ขึ้นมายืนอย่างเราไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยยังไม่พร้อม
แต่ขอให้เขาเดินในทางที่ถูกก็แล้วกัน
เหมือนอาหารเลี้ยงเด็ก เด็กอ่อนกินอาหารอ่อน
แต่ต้องเป็นอาหารที่ถูกต้อง ผู้ใหญ่กินอาหารแข็งหน่อย
แต่ก็ต้องเป็นอาหารที่ถูกต้อง
ถ้ากินอาหารผิด เป็นอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร
มันก็ไม่มีประโยชน์ทั้งแก่เด็กทั้งแก่ผู้ใหญ่


เพราะฉะนั้น การสอนศาสนาให้เป็นประโยชน์
แก่คนทุกระดับนั้นถูกแล้ว ธรรมะก็ง่ายบ้าง ปานกลางบ้าง ยากบ้าง
แต่ต้องเป็นธรรมะที่ถูก ศาสนาที่ถูกไม่ใช่มอมเมา
คือ เราให้เด็กกินอาหารที่เป็นประโยชน์
แต่ไม่ใช่มอมเมา ไม่ใช่อาหารประเภทมอมเมา
เราให้เด็กเล่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย
และการสร้าง สติปัญญา
ไม่ใช่ให้เขาเล่นสิ่งที่มอมเมา ฉันใดนะครับ
เรื่องศาสนาก็เหมือนกัน
การสอนศาสนาก็ต้องสอนให้ถูกต้อง
แม้วิธีสอนอาจจะต่างกัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องถูกต้อง ด้วยเหตุนี้นะครับ
การเผยแผ่ศาสนาให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
แล้วก็เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของผู้ที่มีใจกรุณา


ทีนี้ภารกิจที่ยิ่งใหญ่หรือสำคัญเป็นสิ่งที่ทำยาก
คนส่วนมากจะเข้าไม่ถึงจุดมุ่งหมายและวิธีการ
ท่านมหาตมะคานธีได้เขียนบอกเอาไว้
ในหนังสือเรื่องโลกทั้งผองพี่น้องกัน ตอนหนึ่งว่า
“ในภารกิจที่สำคัญๆ ทั่วไป
จำนวนของผู้ต่อสู้มิใช่เป็นเครื่องชี้ขาด
เท่ากับคุณสมบัติที่ผู้ต่อสู้เหล่านั้นมีอยู่ในตัว”
อันนี้หมายความว่า จำนวนของผู้ต่อสู้แม้จะมีจำนวนมาก
แต่ถ้าไม่มีคุณสมบัติมันก็ใช้ไม่ได้
หรืออาจล้มเหลว หรืออาจจะนำไปผิดทางพวกมากลากไป
เหมือนกับว่าโจรห้าร้อยคน และผู้ทรงศีลผู้มีศีลคนเดียว
ถ้าโหวตเสียงกันมันก็สู้โจรไม่ได้
แต่ว่าความถูกต้องอยู่ที่ผู้มีศีลธรรม
ผู้ที่มีใจกรุณา ผู้ที่พูดในสิ่งที่ถูกต้อง
เอาจำนวนกันแล้วมันสู้โจรไม่ได้
โจรตั้งห้าร้อยโหวตเสียงกัน ไปปล้นดีหรือไม่ดี
ให้โหวตเสียงกันมันก็แพ้อยู่ดี
แต่ท่านเหล่านั้นก็จะต่อสู้ ต่อสู้จนตัวตาย
เช่นท่าน มหาตมะ คานธี
นี่คือคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของผู้ต่อสู้


ท่านมหาตมะ คานธีได้เขียนต่อไปว่า
“มหาบุรุษในโลก ทรงยืนหยัดต่อสู้
ด้วยพระองค์เองแต่ผู้เดียวทุกพระองค์
โปรดดูศาสดาพยากรณ์ที่สำคัญๆ ในโลก
เช่น พระโซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้า
พระเยซูคริสต์ พระมูฮัมหมัด เป็นต้นเทอญ
ศาสดาเหล่านี้ ทรงยืนหยัดต่อสู้ด้วยพระองค์เองแต่ผู้เดียวเสมอ
ท่านที่ได้กล่าวนามมานี้ ทรงมีความเชื่อมั่นในพระองค์เอง
และในพระผู้เป็นเจ้า และโดยเหตุที่ทรงเชื่อว่า
พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เคียงข้างท่าน
ท่านจึงไม่เคยรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย”
ทีนี้ถ้าเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า
ก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเรานับถือพุทธศาสนา
แล้วก็ให้นึกถึงพระธรรม ว่าแม้เราจะต่อสู้เพียงคนเดียว
แต่เราก็ยืนอยู่ข้างพระพุทธเจ้าและข้างพระธรรม
ทำงานถวายพระพุทธเจ้ามอบตนให้แก่ธรรมไป
ทีนี้ถ้าเคยมีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดายว่าไม่มีพวก
ก็ให้นึกถึงพระธรรมว่าเราไม่ได้เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย
เราอยู่กับพระธรรม
พระธรรมนั่นแหละเป็นพวกพ้องของเรา
ความถูกต้องนั่นแหละเป็นพวกพ้องของเรา


เพราะฉะนั้น ภารกิจในการประกาศศาสนาให้ถูกต้อง
มันทวนกระแส เป็นการทวนกระแสจิตของคน
ทวนกระแสโลก ทวนกระแสของคนหมู่มาก
มันก็ตรงตามหลักของพระพุทธเจ้าแล้ว
ที่ท่านตรัสว่า ปฏิโสตคามิ นิปณํ คมฺภีรํ ทุทฺทสํ อณุํ พระธรรม
ที่พระองค์ตรัสรู้ แล้วสอนนี้ เป็นธรรมที่ทวนกระแส
ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง แล้วก็เห็นได้ยาก
เมื่อเห็นได้ยากคนที่มีจักษุน้อย
คือ จักษุไม่ดีก็ไม่สามารถจะเห็นได้
เป็นหน้าที่อีกประการหนึ่งของผู้เผยแผ่ศาสนาประกาศศาสนา
ทำคนให้มีตาดี ทำคนให้มีจักษุ ให้แสงสว่างแก่เขา
ให้ดวงตาแก่เขา ทำตาเขาให้ดี
ทำให้เขาเป็นคนตาดีแล้วให้เขาเดินไปเอง
ไม่ต้องทำให้เขาตาบอดแล้วไปจูงเขา
แล้วก็เรียกค่าจูง หรือทวงหนี้บุญคุณที่ได้จูง
แต่ที่ทำให้เขาตาบอดมันจะไม่ยิ่งร้ายกว่าหรือ
กับการที่เราทำให้เขาตาดีให้เขาเดินไปด้วยตาของเขาเอง
มันย่อมจะดีกว่า อย่างที่โบราณชอบพูดกันเสมอว่า
แทนการเอาปลาไปแจกกันทุกเดือนทุกปี
ก็สอนให้เขาจับปลาเป็น ให้เขาจับปลากินเอง
ให้เขาพึ่งตัวเองได้หากินเองได้
ดีกว่าที่จะเอา ปลาไปแจกซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด


เราเลี้ยงลูกเลี้ยงลูกศิษย์ ก็ต้องการให้เขาปีกกล้าขาแข็ง
คำนี้เป็นคำด่าในสำนวนไทย
ถ้าลูกคนไหน ลูกศิษย์คนไหนอวดดีขึ้นมาก็ว่า
ไอ้นี่มันปีกกล้าขาแข็งแล้วมันก็บินไป
ความเห็นของผมเอง คือ แม่นกมันเลี้ยงลูกนก
เพื่อให้ปีกกล้าขาแข็ง แล้วลูก มัน จะได้บินไปเอง
ไม่ต้องมาหาเหยื่อไปเลี้ยงที่รังมันตลอดเวลา
เราเลี้ยงลูกเพื่อให้ลูกปีกกล้าขาแข็ง
เพื่อเขาจะได้บินไปเอง เขาจะได้หากินเอง
เขาจะได้ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ตลอดเวลา
แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พ่อแม่จะต้องพึ่งเขา
เพราะมันต้องแก่ลงไปทุกวัน
พ่อแม่ ก็ปีกอ่อนขาอ่อนลงไปทุกวัน
เดินก็ไม่ค่อยไหว พอแก่มาก็ขาสั่น
เพียงแต่เดินเฉยๆ ก็หอบแล้ว
อย่าว่าแต่จะไปทำอะไรเลย


นี่ละครับการสอนคนไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์
ขอทบทวนให้ฟังอีกครั้งหนึ่งก็ได้ที่ว่า
อานนท์ การแสดงธรรมก็คือการสอนคนอื่น
การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย
ผู้แสดงธรรมจะต้องมีคุณสมบัติของผู้แสดง
พึงตั้งธรรม 5 อย่างไว้ในใจ
คือ 1. เราจักกล่าวชี้แจง ไปตามลำดับ
2. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจ
3. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตาความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง
4. เราจักไม่แสดงเพราะเห็นแก่ลาภหรือแก่อามิส
5. เราจะแสดงธรรมโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น


นี่คือข้อความที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับพระอานนท์ว่า
การแสดงธรรม การกล่าวธรรม การสอนธรรม
ไม่ใช่สิ่งที่จะทำ ได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ผู้ทำจะต้องมีคุณสมบัติ
มีคุณสมบัติมากมายไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้
เพราะฉะนั้น การเผยแผ่ศาสนาให้ถูกต้อง
จึงเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่
อันนี้เป็นคำตอบข้อที่ 6 นะครับ เป็นคำตอบ
ต่อคำถามที่ว่า บุคคลจะพาใจให้รอดในเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่
โดยไม่ต้องผ่านทางศีลและการสวดมนต์
นี่ผมตอบมาสองวันแล้วนะครับ
ทีนี้วันนี้ เวลาที่เหลืออยู่ก็จะขอต่อไปข้อที่ 7
ถ้าไม่จบในวันนี้ก็จะไปต่อในวันต่อไป
ผู้ถามมีความปรารถนาเห็นคนไทยสนใจพุทธศาสนา
ในส่วนที่เป็นเนื้อหามากกว่าในส่วนที่เป็นประเพณีหรือพิธีรีตอง



คำตอบก็คือเห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับ
ที่ปรารถนาให้คนไทยหันมา
สนใจพระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นเนื้อแท้
เพื่อประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน
และก็เพื่อประโยชน์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์
แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่หลายประการประการหนึ่ง
ก็คือ ในเมืองไทยของเราผู้ที่มีการศึกษาดีก็ยังมีน้อยอยู่
การศึกษาดี นี่หมายถึง การศึกษาที่สมบูรณ์รอบด้านนะครับ
ผู้ที่มีการศึกษาดีในทางโลกแม้จะมีอยู่มากพอสมควร
แต่ก็มักจะเป็นน้ำชาล้นถ้วยเสียเป็นส่วนมาก
น้ำชาล้นถ้วยก็คือ เอาแต่ความเห็นของตัวเป็นบรรทัดฐาน
พยายามหมุนพุทธศาสนาให้มาเป็นอย่างความคิดเห็นของตัว
นี่ก็มักจะเป็นเสียอย่างนี้ คือว่า พุทธศาสนาสอนอย่างไร
ไม่พยายาม ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน
ก็มักจะอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า
ไปหมุนคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาเข้ากับทิฐิของตัว
อะไรที่ตัวไม่เห็นด้วยก็ใช้ไม่ได้อะไรทำนองนั้น
ไม่พยายามปรับทิฐิของตัวเองให้เข้ากับพระพุทธเจ้า
ซึ่งพระองค์ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบ
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
พระธรรมได้ตรัสไว้ดีแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้
การพิจารณาเลือกว่าอะไรควรยึดไว้อะไรควรทิ้งไป
ก็อยู่ในระดับต่ำไปด้วย
ผู้เผยแผ่ศาสนาพยายามประคับประคองคนพวกนี้
ให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติโดยการสอนชาดกบ้าง
เล่านิทานบ้าง ให้ทำกิจกรรมที่เป็นบุญกุศล
พอเป็นเครื่องอุ่นใจให้เขาบ้าง
แล้วก็พระผู้สอนศาสนาของเรา
ที่มีการศึกษาดีจริงๆ ก็ยังมีน้อยอยู่
มีองค์ประกอบ (factor) หลายประการนะครับเกี่ยวกับเรื่องนี้
ซึ่งผมจะได้นำมาพูดในวันต่อไปนะครับ
ว่ามีองค์ประกอบอะไรในข้อนี้


วันนี้ ผมจะขอพูดถึง
สาเหตุที่การเผยแผ่ศาสนาในเมืองไทยได้ผลน้อย
หรือทำไมพระของเรามีเป็นจำนวนมาก
แต่ผู้ที่มีความสามารถในการเผยแผ่ศาสนาจึงมีเป็นจำนวนน้อย


ก็ ลองพิเคราะห์ดูนะครับลองวิจารณ์
ตามทรรศนะของผมเท่านั้นนะครับไม่เกี่ยวกับผู้อื่น
เคยตั้งปัญหาถามทั้งตัวเองและถามผู้อื่นอยู่เสมอว่า
ทำไมเมืองไทยเราซึ่งมีพระสงฆ์หรือสามเณรเป็นจำนวนมาก
มีสองแสนครึ่งถึงสามแสน บางทีก็มากไปถึง สามแสนครึ่ง
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังขาดแคลนพระภิกษุสามเณร
ผู้สามารถหรือมีคุณสมบัติเพียงพอ
ในการที่จะเผยแผ่ศาสนาของตน
พูดกันตรงๆ ก็ว่าแม้จะสอนในโรงเรียนมัธยมให้ทั่วถึง
ให้ทั่วประเทศก็ยังหาได้ยาก
ไม่ต้องกล่าวถึงในระดับมหาวิทยาลัย
หรือว่าในองค์กรต่างๆ ของเอกชน หรือของรัฐบาล
เพราะเหตุนี้แหละครับ เราจึงได้ยินได้เห็นได้ฟัง
ชื่อเสียงของพระสงฆ์อยู่ เพียงไม่มากนักในสังคมไทย
ผมก็ลองวิเคราะห์ดูลองเสนอวิธีแก้ไข
ก็พูดอย่างตรงไปตรงมานะครับด้วยความหวังดี
หวังดีต่อวงการของเรา


ประการ ที่ 1 พระภิกษุสามเณรส่วนมาก
มีพื้นฐานการศึกษาไม่สูงมาก่อน
คือจบเพียงแค่ ป.4 ป.6 หรือมัธยมต้นๆ
เมื่อเข้ามาบวชมาศึกษาทางธรรม
ก็ดิ่งไปทางธรรมอย่างเดียว
ไม่ได้เหลียวแลความรู้ทางโลกซึ่งเกื้อกูลแก่ความรู้ทางธรรมอีกเลย
โชคดีหน่อยมาถึงเวลานี้นะครับ มีโรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญ
ซึ่งเรียนควบทั้งหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
และหลักสูตรของคณะสงฆ์
ผู้เรียนก็ค่อนข้างจะหนักนิดหนึ่ง
แต่ก็เรียนได้เพื่อประโยชน์
แต่จะได้สำเร็จแค่ไหน อย่างไรก็ดูผลเอาได้


อีกประการหนึ่งในข้อเดียวกันนี้
หลักสูตรในการศึกษา พระธรรมไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย
และมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายก็ค่อยๆ คุยกันไปนะครับ
คนที่อยู่ในวงการศาสนาคลุกคลีอยู่ในวงการศาสนา ก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี


ประการ ที่ 2 ซึ่งสืบเนื่องมาจากประการที่ 1 นั่นเอง
หลักสูตรความรู้ทางธรรมค่อนข้างสูง ละเอียดอ่อน
เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีวัยสูง
และมีความรู้มีประสบการณ์ทางโลกมาแล้วอย่างดี
จึงจะขบแตก มันมีเป็นปรมัตถธรรมบ้าง เป็นปรัชญาชีวิตบ้าง
ซึ่งผู้เรียนมีประสบการณ์ชีวิตทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ
จึงจะขบแตกและเข้าใจ ผู้ที่ไปบวชเรียนตั้งแต่เยาว์วัย
เมื่อจบ ป.4 ป.6 หรือมัธยมต้นๆ
มีพื้นความรู้ไม่สูงนักประกอบด้วยวัยยังเด็กอยู่
บางคนก็ไม่ได้สัก ป.ไปอ่านออกเขียนได้เอาในวัด
ก็เป็นการยากที่จะรู้ธรรมยากๆ
ทำได้แต่เพียงแค่ท่องจำไว้สอบ
สอบเสร็จแล้วก็ลืม ในระหว่างที่เรียนนั้น
ก็น้อยคนที่จะเรียนด้วยความรักและความพอใจ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ส่วนมากก็เรียนเพราะถูกสภาพต่างๆ บีบบังคับให้ต้องเรียน
ถ้าไม่เรียนได้ก็ไม่เรียน ข้อทดสอบอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน
อย่างในวัดบางวัดในกรุงเทพฯ
ที่มีพระบวชใหม่ที่มีการศึกษามาทางโลกสูงๆ
แล้วก็ประกอบด้วยวัยวุฒิอายุสามสิบขึ้น
ก็มีประสบการณ์ในชีวิตมามาก
เคยครองเรือน เคยทำราชการ เคยทำอะไรต่ออะไรมามากมาย
ผ่านเมืองนอกมาก็มีแล้วมาบวช
มาบวชเป็นพระใหม่เป็นพระนวกะ
ในวัดบางวัดในกรุงเทพฯ
เวลาเรียนนักธรรมจะเรียนหลักสูตรเดียวกันกับสามเณร
ที่จบ ป.4 ป.5 ป.6 หรือมัธยมต้นๆ
เรียนนักธรรมตรีก็จะ เรียนหลักสูตรเดียวกัน
แล้วก็มีวิชาหนึ่งคือวิชาที่เรียกว่า เรียงความแก้กระทู้ธรรม
ก็คือเรียงความนี่แหละ
แต่ภาษาทางวัดเรียกว่าเรียงความแก้กระทู้ธรรม
คือให้พุทธศาสนสุภาษิตแล้วก็เขียน อธิบาย
ผู้ที่ทำได้ดีก็คือ พระบวชใหม่นั่นเอง
เพราะว่าได้ผ่านประสบการณ์มามากและวัยวุฒิก็มาก
นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เลยนะครับ


ประการ ที่ 3 น้อยนักนะครับที่มีบุญบารมีมาแต่ในอดีต
ทำให้สนใจในธรรมดื่มด่ำในธรรม
ค้นหาความรู้อย่างเพลิดเพลิน
ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอในการแสวงหาความรู้ทางธรรม
ตั้งตนอยู่ในธรรมสม่ำเสมอ อย่างน่าเลื่อมใส
จิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่ถูกกระแสโลกพัดไป
เมื่อบวชเรียนอยู่ก็เป็นพระที่ดีเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์
ของพระศาสนาและบ้านเมือง
นี่เมื่ออยู่ไม่ได้สึกไปเป็นฆราวาสที่ดี
เป็นกำลังของบ้านเมืองและเป็นกำลังของศาสนาด้วย
คนอย่างนี้มีอยู่จำนวนน้อย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้
ไม่ได้ 1 เปอร์เซ็นต์ หมื่นคนอาจจะมีสัก 1 คน
หรืออาจไม่ได้สักคนก็ได้ เราจึงมีคนประเภทนี้อย่างนับตัวได้
นอกจากนี้ก็เป็นประเภทสามัญทั่วไป
คือ เรียนเพื่อสอบเพื่อได้ชั้นเพื่อจุดประสงค์อื่น
มิได้มีความ ดื่มด่ำ มิได้จับจิตจับใจในรสพระธรรมแต่ประการใด
เพียงแต่ผ่านเข้ามาในระบบนี้ในวิถีนี้
แล้วก็เรียนๆไปอย่างนั้นเอง พอมีทางเลือก อื่นก็กระโจนจับทันที
คนเรามีบุญบารมีมาไม่เท่ากัน
สั่งสมอุปนิสัยมาไม่เหมือนกัน
สิ่งที่คนหนึ่งสามารถทำได้เป็นพันๆหน่วย
อีกคนหนึ่งทำไม่ได้เลยสักหน่วย
ทำได้ก็ทำได้ไม่ดี อันนี้เป็นสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้


ประการ ที่ 4 ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาดูความจริงว่า
นักเรียนทางโลก เรียนวิชาวิทยาศาสตร์
และภาษาอังกฤษกันมาแล้วทุกคนในชั้นประถมและมัธยม
ในฐานะเป็นความรู้พื้นฐาน
ถ้าเรียนอุดมศึกษาในสายวิชาวิทยาศาสตร์
หรือภาษาอังกฤษเขาก็ต้องเพิ่มเติมความรู้นี้มากขึ้น
แต่ลองถามดูมีใครกี่คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้
หรือแม้เพียงสอนวิทยาศาสตร์ได้ดี
มีความรู้ภาษาอังกฤษใช้การได้อย่างมั่นใจ
ทั้งๆ ที่เรียนมานานปีและเกี่ยวข้องอยู่เสมอ


ทีนี้หันมาดูทางธรรม ธรรมะเป็นของละเอียดอ่อน
ลึกซึ้งกว่าวิชาทั้งสองที่ผมกล่าวมานี้มากนัก
เป็นนามธรรมที่สัมผัสได้ยาก รู้เห็นได้ยาก
ผู้ที่รู้เห็นแล้วจะทำให้ผู้อื่นรู้เห็นเช่นตัวก็แสนยาก
แล้วก็จิตใจของมนุษย์เราไม่ว่าพระหรือฆราวาส
มักจะถูกกระแส กิเลส พัดพาไป
ห่วงหาอาลัยกับกิเลส
คงเพราะเป็นมิตรกันมานานหลายภพหลายชาติ
กระแสกิเลสเป็นสิ่งที่ต่อต้านกระแสธรรม
เมื่่อกระแสกิเลสท่วมทับ
กระแสธรรมก็จมอยู่ใต้กระแสกิเลสนั่นเอง
โลกภายนอกก็มีแต่สิ่งกระตุ้นเร้า
กระตุ้นเร้าให้ไฟกิเลสที่มีอยู่รุนแรงมากขึ้นดับได้ยาก
เมื่อดับได้ยากคนก็ไม่อยากดับ
เพราะมันไม่อยากทำสิ่งที่ยาก
สนองกิเลสซะเลยดีกว่าง่ายดี
ปรนเปรอ ให้เต็มที่เท่าที่กำลังจะปรนเปรอได้
เมื่อเป็นอย่างนี้จะเอาใจที่ไหนมาสนใจธรรม
ศึกษาธรรม ปฏิบัติตามธรรม


การสอนธรรมยิ่งยากกว่าสอนวิชาอื่นๆ อีกหลายเท่า
แม้พระพุทธเจ้าของเราผู้มีบารมีเปี่ยมล้น
ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ตอนแรกๆ ทรงปรารภเรื่องธรรม
ก็ทรงพิจารณาว่าเป็นของที่เห็นได้ยากลึกซึ้ง
และก็ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะแสดงธรรม
แต่เพราะอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์
จึงตัดสินพระทัยทรงแสดงธรรมประกาศศาสนา
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผู้ศึกษาธรรมทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
จะให้เข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเอง
เพียงพอแก่ตนเองก็ยังยากเสียแล้ว
ไม่ต้องกล่าวถึงผู้ที่จะรู้ชัดด้วยตนเอง และสั่งสอนผู้อื่นได้
บุคคลประเภทนี้จะหายากขึ้นไปอีกสักเท่าไร


ถ้าสอนแบบพี่สอนน้อง ก็ทำได้โดยไม่ยาก
เพราะสอนเท่าที่ตนรู้ แต่ในระบบโรงเรียน
ระบบมหาวิทยาลัยมีหลักสูตร ผู้สอนต้องสอนไปตามหลักสูตร
หลักสูตรนั้นร่างขึ้นทำขึ้นโดย ท่านผู้รู้ที่ไม่ต้องสอนเอง
ในระบบโรงเรียนจึงมีพวกทำหลักสูตร
พวกหนึ่ง ผู้สอนพวกหนึ่ง ผู้เขียนตำราอีกพวกหนึ่ง
ทั้งสามพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนไป
ภาระหนักไปตกอยู่ที่ครูผู้สอน
เพราะบางเรื่องแม้ตนไม่รู้ หรือไม่ค่อยรู้ก็ต้องสอน
เพราะมีอยู่ในหลักสูตร
เมื่อเป็นอย่่างนี้ท่านลองคิดดูสภาพจะเป็นอย่างไร
การเป็นครูที่ดี นอกจากมีความรู้จริงในวิชานั้นๆ แล้ว
ก็ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอีกมากมาย
เพราะฉะนั้นการเป็นครูเป็นสิ่งที่ทำยาก


ประการ ที่ 5 หลักสูตรนักธรรมบาลีของคณะสงฆ์นั้น
มีมาแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
คือสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนบัดนี้
ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงแต่ประการใด
หนังสือหลักสูตรเล่มเดิม การเรียนการสอนอย่างเดิม
การวัดผลอย่างเดิม
แม้จะเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาบ้างบางสมัยก็น้อยมาก
ไม่ได้เพิ่มวิชาสมัยใหม่เข้ามาในหลักสูตร
ทีนี้ถ้าสมมุติว่า เพิ่มเข้ามาก็คงติดปัญหาอีกมากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับงบประมาณและครูผู้สอนจะหาที่ไหน
หลักสูตรของนักธรรมบาลี
หรือหลักสูตรทางศาสนาละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
เป็นภูมิปัญญาของนักปราญช์ผู้ที่มุ่งทางนี้
แต่พื้นฐานของ ผู้เรียนไม่เพียงพอที่จะรู้ที่จะเข้าใจ
เมื่อไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจก็ เบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายจะทำอย่างไร
เบื่อหน่ายต่อนักธรรมบาลี แต่ยังต้องบวชอยู่
ใจก็ส่ายแส่หาช่องทางที่จะเรียนอย่างอื่น
เพื่ออะไรก็สุดแล้วแต่
แต่ละคนจะคิดว่า จะเป็นสิ่งที่พึ่งแก่ชีวิตของตนได้
โดยมากก็คิดคำนึงถึงอนาคต ตามประสาคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
พระเณรส่วนมากเป็นเยาวชน
และเป็นคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์
เจออะไรเหมาะกับอุปนิสัยของตน
เพื่อนชักชวนไปก็เรียนอันนั้น
ซึ่งไม่ใช่นักธรรม ไม่ใช่บาลี
ไม่ใช่พระธรรมวินัย ไม่ใช่พระไตรปิฎกปาฐกถา
ไม่ใช่คัมภีร์ทางศาสนา
ส่วนหนึ่งมาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์
ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก ก็มีข้อจำกัดหลายประการ
เช่น วุฒิภาวะไม่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยไม่มี เป็นต้นนะครับ
โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ก่อตั้งมานาน 50 กว่าปีแล้ว
มีผู้สำเร็จการศึกษารับปริญญาตรีไม่เกิน 2,000 รูปเท่านั้น
เพียงเท่านี้ท่านก็มองเห็นแล้วว่า มันมีจำนวนน้อยเท่าไร
จำนวนน้อยเหลือเกิน จำนวนน้อยมาก
เมื่อเทียบกับจำนวนพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ
จำนวน 3-4 แสนรูป อันนี้คือ สาเหตุสำคัญ
ที่ทำให้การเผยแผ่ศาสนาในเมืองไทยได้ผลค่อนข้างน้อย
ตามที่ผมได้พูดมาโดยย่อนี้นะครับ
นอกจากนั้นคนที่มีความรู้จริงๆ ก็ค่อนข้างจะหาได้ยาก
แล้วก็โอกาสก็มีน้อย
บางทีกว่าจะรู้จริงก็แก่แล้ว ก็ทำอะไรไม่ค่อยได้
มันก็มีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ก็มีปัญหาทางวัดทางสังคมไทย
ซึ่งมีความเชื่อความนับถือประเพณีรีตอง
ความเชื่อต่่างๆ ที่มันขัดแย้ง
กับหลักของพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก
ทั้งๆ ที่เราก็นับถือพุทธศาสนานั่นเอง
อันนี้ก็เป็นส่วนที่ดึงเหนี่ยวเอาไว้
ไม่ให้การประกาศศาสนาดำเนินไปโดยราบรื่่นเท่าที่ควร



ท่านผู้ฟังที่เคารพครับ
นี่คือคำตอบเกี่ยวกับปัญหาจากประเทศอังกฤษทั้งหมด
ซึ่งผมใช้เวลาหลายครั้งไม่น้อยกว่า 10 ครั้งในการตอบปัญหานี้
วันนี้ก็คิดว่าควรจะจบได้แล้ว
วันต่อไปก็คงจะนำธรรมหรือเรื่องที่ควรทราบ
ควรจะนำมาคุยกัน คุยกับท่านผู้ฟังต่อไป
วันนี้เวลาหมดแล้วครับ ขอยุติเพียงเท่านี้


ขอความสุขสวัสดี พึงมีแด่ท่านผู้อุปถัมภ์รายการ
และท่านผู้ฟังโดยทั่วกัน สวัสดีครับ

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร