วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ

กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นมคธโดยกำเนิด ซึ่งนอกจากกลุ่มพระอัครสาวกแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกที่เป็นชาวแคว้นมคธอีก ๘ รูป คือ พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก และพระสภิยะ ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระมหากัสสปะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลพราหมณ์มหาศาล เชื้อสายกัสสปโคตร ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ ‘มหาติฏฐะ’ ซึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์ บิดาชื่อ ‘กปิละ’ ส่วนมารดาไม่ปรากฏชื่อ ท่านเองมีชื่อเดิมว่า ‘ปิปผลิ’

พระราธะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลพราหมณ์ยากจนในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายชื่อ ‘สุราธะ’

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ พระขทิรวนิยเรวตะ เป็นน้องชายของพระสารีบุตร พระอุปเสนะศึกษาจบไตรเพท ส่วนพระมหาจุนทะและพระขทิรวนิยเรวตะ ไม่มีกล่าวถึงการศึกษาของท่านไว้

พระมหาปันถก และพระจูฬปันถก เป็นพี่น้องกัน พระมหาปันถกเป็นพี่ ส่วนพระจูฬปันถกเป็นน้อง เกิดในวรรณะจัณฑาล เนื่องจากบิดากับมารดาเป็นคนต่างวรรณะกัน บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ส่วนมารดาเป็นคนวรรณะไวศยะ ซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีราชคหะ ในเมืองราชคฤห์

พระสภิยะ เกิดในวรรณะไวศยะ ในเมืองราชคฤห์


๏ ชีวิตฆราวาส

พระมหากัสสปะ เพราะเหตุที่เป็นลูกพราหมณ์มหาศาลซึ่งต้องการผู้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล มารดาบิดาจึงจัดการให้ท่านได้แต่งงานกับหญิงลูกสาวพราหมณ์มหาศาลเช่นกัน ชื่อ ‘ภัททา กาปิลานี’ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๐ ปี

คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ปิปผลิ และภัททา กาปิลานี เป็นคู่ภรรยาสามีที่แปลก กล่าวคือ เมื่อแต่งงานกันแล้วก็มิได้ใช้ชีวิตคู่เยี่ยงสามีภรรยาคู่อื่นๆ มิได้ถูกเนื้อต้องตัวกัน มิได้มีเพศสัมพันธ์ต่อกัน แต่อยู่อย่างเพื่อนกัน ถึงคราวนอนแม้จะนอนเตียงเดียวกันแต่ก็วางพวกดอกไม้ไว้ตรงกลางเป็นเชิงกั้นเขตแดนมิให้ร่างกายถูกกัน พร้อมทั้งตกลงกันว่าหากพวงดอกไม้ของใครเหี่ยว แสดงว่าคนนั้นเกิดกามราคะขึ้นแล้ว

ปิปผลิ และภัททา กาปิลานี อยู่ด้วยกันอย่างนี้จนบิดามารดาถึงแก่กรรม และทิ้งกิจการรวมทั้งทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลไว้ให้ดูแล กิจการของตระกูลเกี่ยวข้องอยู่กับการทำไร่ไถนา ซึ่งใช้เนื้อที่ถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ ตารางกิโลเมตร) มีเหมืองสูบน้ำถึง ๖๐ เหมือง ปิปผลิพาบริวารขี่ม้าออกไปตรวจดูกิจการทุกวัน วันหนึ่งขณะยืนตรวจดูกิจการเห็นฝูงนกกาจับกลุ่มกันหากินไส้เดือนอยู่ตามรอยไถ จึงถามว่า

“นกเหล่านั้นหากินสัตว์อื่นอยู่ในไร่นาของเรา แล้วใครเล่าจะเป็นผู้รับผลกรรมนั้น”

“ท่านนั่นแหละขอรับจะเป็นผู้ได้รับ” บริวารตอบ

ปิปผลิได้ฟังแล้วรู้สึกสลดใจจึงถามตัวเองว่า ถ้าเราจะต้องมารับผลกรรมที่สัตว์เหล่านี้ทำแล้ว กิจการและทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลจะมีความหมายอะไร ทาสกรรมกรจำนวนมากจะช่วยอะไรเราได้ จากนั้นจึงเริ่มคิดถึงการออกบวช โดยตั้งใจว่าจะยกกิจการและทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ภัททา กาปิลานี ดูแล

ในขณะที่ปิปผลิพบเหตุการณ์ที่ทำให้สลดใจและตัดสินใจออกบวชนั้น ภัททา กาปิลานีก็พบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันและเกิดความรู้สึกเหมือนกัน นั่นคือ นางใช้ให้คนตากเมล็ดงาเต็มบริเวณลานหน้าบ้าน แล้วเฝ้าดูอยู่กับพวกพี่เลี้ยง นางเห็นฝูงนกกาลงจิกกินสัตว์เล็กๆ ซึ่งปนอยู่กับเมล็ดงาแล้วเกิดความสลดใจ ที่สัตว์มาอาศัยชีวิตสัตว์ด้วยกันเป็นอยู่ จากนั้นก็เริ่มคิดถึงการออกบวช

สองสามีภรรยาคิดเหมือนกัน แต่ต่างไม่ทราบความคิดของกันและกัน จนเมื่อได้เวลารับประทานอาหาร ซึ่งทั้งคู่มาอยู่พร้อมหน้ากัน จึงเปิดเผยความรู้สึกของกันและกัน ครั้นแล้วต่างฝ่ายต่างยืนยันจะออกบวชให้ได้ โดยไม่สนใจในทรัพย์สมบัติที่อีกฝ่ายหนึ่งจะมอบให้ ในที่สุดทั้งสองก็ตกลงใจออกบวชด้วยกัน โดยยกกิจการและทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติพี่น้องและบริวาร

พระราธะ ชีวิตฆราวาสไม่สู้ราบรื่นนัก เพราะเป็นคนยากจน มิหนำซ้ำเมื่อแก่ตัวลง ลูกเมียก็รังเกียจถึงขั้นขับไล่ออกจากบ้าน ท่านจึงต้องมาอาศัยพระอยู่ที่วัดเวฬุวัน ว่าโดยนิสัยที่แท้จริงแล้ว ท่านเป็นคนใจบุญ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก่อน แม้จะยากจนแต่ก็ทำบุญใส่บาตรตามสมควรแก่โอกาส พระสารีบุตรยังเคยรับบิณฑบาตจากท่าน โดยที่มีอุปนิสัยน้อมไปในการทำบุญเช่นนั้น เมื่อมาอยู่ที่วัดเวฬุวันท่านก็ได้ขวนขวาย รับใช้พระในด้านต่างๆ อาทิ ถางหญ้า กวาดบริเวณวัด จัดน้ำฉันน้ำใช้ถวาย และซักจีวร พระในวัดเวฬุวันก็มีเมตตาสงเคราะห์ท่านด้วยอาหารการกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ท่านพอมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ต่างเป็นพี่น้องกันดังกล่าวมาแล้ว และมีความเป็นอยู่สุขสบาย เนื่องจากเป็นลูกของนายบ้าน พระอุปเสนะนับว่ามีชื่อเสียงกว่าใครในบรรดา ๓ พี่น้อง เนื่องจากศึกษาจบไตรเพท พระมหาจุนทะไม่มีเรื่องราวชีวิตฆราวาสของท่านให้ได้ศึกษา แต่พระขทิรวนิยเรวตะมีกล่าวไว้ว่า ท่านถูกบิดามารดาขอร้องให้แต่งงานตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เนื่องจากท่านเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัว บิดามารดาเกรงว่าจะท่านจะออกบวชตามพี่ชาย คือพระสารีบุตร พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ อันจะเป็นเหตุให้ตระกูลขาดผู้สืบต่อ จึงได้จัดการแต่งงานให้ท่านกับเด็กหญิงวัยเดียวกัน ด้วยหวังจะใช้ชีวิตคู่เป็นเครื่องผูกมัด

พระมหาปันถก และพระจูฬปันถก แม้ตอนแรกจะลำบากเนื่องจากบิดามารดามีฐานะยากจน แต่ต่อมาได้ถูกส่งมาอยู่กับเศรษฐีราชคหะผู้เป็นตา จึงสุขสบายขึ้น เศรษฐีแม้จะรังเกียจมารดาของท่านที่ได้คนวรรณะศูทรเป็นสามี แต่ก็รักหลานทั้ง ๒ มาก เกือบทุกครั้งที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวันก็มักจะพาหลานไปด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามเมื่อเจริญวัยขึ้นสองพี่น้องโดยเฉพาะมหาปันถกรู้สึกไม่สบายใจที่ได้ยินใครต่อใครเรียกว่า ‘ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่’

พระสภิยะ เจริญเติบโตอยู่กับมารดาซึ่งบวชเป็นปริพาชิกา จนเมื่อถึงวันอันสมควรจึงได้บวชเป็นปริพาชก ใน ‘ปรมัตถทีปนี’ ว่า มารดาของท่านเป็นราชธิดา ออกบวชเป็นปริพาชิกา เพราะต้องการศึกษาลัทธิอื่นๆ นางได้เสียกับปริพาชกคนหนึ่งและตั้งท้อง ปริพาชกทั้งหลายรังเกียจจึงไล่นางออกจากสำนัก นางเร่ร่อนไปเรื่อยจนมาถึงสภา (ที่ประชุม) แห่งหนึ่งในกลางทางแล้วคลอดลูกชายที่สภา ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกชายได้ชื่อว่า ‘สภิยะ’ (ผู้เกิดในสภา) ในเวลาต่อมา


๏ การออกบวช

พระมหากัสสปะ หลังจากตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว ท่านกับภัททา กาปิลานีก็ให้คนไปซื้อผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตรดินมาจากตลาด ครั้นต่างฝ่ายต่างปลงผมให้กันและกัน อาบน้ำเรียบร้อยแล้วก็ครองผ้ากาสาวพัสตร์ สะพายบาตร เดินลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีห่วงกังวล พวกบริวาร อาทิ ทาสและกรรมกรเห็นแล้วจำได้ จึงเข้าไปอ้อนวอนให้ทั้งสองเลิกล้มความตั้งใจออกบวช แต่ก็ไร้ผล เพราะว่าทั้งสองได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งสอง ก็ได้ให้อิสรภาพแก่ทาสกรรมกร โดยบอกให้ทุกคนเป็นไทแก่ตนเองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งทำให้พวกเขาปลาบปลื้มใจมาก จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปจนถึงทาง ๒ แพร่ง ซึ่งแยกไปทางซ้ายกับทางขวา

“ข้าแต่ท่าน” ภัททา กาปิลานี เอ่ยขึ้น

“ท่านเป็นชายควรแก่ทางข้างขวา ส่วนดิฉันเป็นหญิงควรแก่ทางข้างซ้าย”

ว่าแล้ว นางก็เดินประทักษิณ (เดินเวียนขวา) เพื่อแสดงความเคารพสามี ๓ รอบ แล้วก้มลงกราบตรงเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องซ้าย และเบื้องขวา ก่อนที่ทั้งสองจะจากกันไป

คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ขณะที่ทั้งสองแยกทางกันเดินนั้น เกิดมีเหตุการณ์อัศจรรย์คือแผ่นดินไหว ยอดภูเขาพระสุเมรุเอนเอียง ในอากาศมีแสงฟ้าแลบแปลบปลาบ ฉวัดเฉวียนอยู่ไปมา

ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระคันธกุฎีในวัดเวฬุวัน ทรงทราบถึงสาเหตุให้เกิดความอัศจรรย์ว่า เป็นเพราะปิปผลิกับภัททา กาปิลานี แยกทางกันออกบวช จึงเสด็จไปประทับนั่งรอรับ ณ โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา นักบวชปิปผลิเดินผ่านมาทางนั้นเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ด้วยพระอาการสงบ แต่สง่างามด้วยพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกไปจากพระวรกาย จึงสำคัญว่า นี่คือพระอรหันต์ แล้วเข้าไปหมอบกราบถวายตัวเป็นสาวกถึง ๓ ครั้ง

“กัสสปะ” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกตามชื่อโคตร “นั่งเถอะ ตถาคตจะมอบความเป็นทายาทให้เธอ”

ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือทรงประทานโอวาทให้ ๓ ข้อ คือ

๑. ทรงสอนให้มีหิริโอตตัปปะในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ ทั้งที่บวชใหม่ และทั้งที่มีพรรษาปานกลาง

๒. ทรงสอนให้ฟังธรรมทั้งหมดที่ประกอบไปด้วยกุศล ด้วยความเคารพและทรงจำไว้ให้ได้

๓. ทรงสอนให้เจริญกายคตาสติอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้สมาทานถือธุดงค์ ๓ ข้อ คือ อยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรเป็นเบื้องต้น ต่อมาเพื่อนพระต่างเรียกท่านว่า ‘พระมหากัสสปะ’ เพื่อให้ต่างจากพระกัสสปะรูปอื่นๆ คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ และพระกุมารกัสสปะ


พระราธะ ขณะที่อาศัยวัดเวฬุวันอยู่นั้น ท่านได้เรียนรู้ว่าชีวิตพระเป็นชีวิตที่สงบไม่วุ่นวาย จึงปรารถนาจะมีชีวิตที่สงบอย่างนั้นบ้าง วันหนึ่งจึงเข้าไปหาพระที่คุ้นเคยกัน แล้วแจ้งความประสงค์ให้ทราบ ไม่มีพระรูปใดรับบวชให้ ท่านก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจ วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของท่านแล้วเห็นว่า แม้จะแก่แต่ก็สามารถบรรลุอรหัตผลได้ จึงตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วถามว่า จะมีใครสงเคราะห์ให้พราหมณ์นี้ได้บวชได้บ้าง

ในที่ประชุมสงฆ์ครั้งนั้นมีพระสารีบุตรรวมอยู่ด้วย พระสารีบุตรระลึกได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับบิณฑบาตเป็นข้าว ๑ ทัพพีจากท่าน จึงกราบทูลขอรับสงเคราะห์บวชให้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ซึ่งเป็นการบวชแบบต้องขอมติจากสงฆ์ก่อน

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ออกบวชต่างวาระกัน แต่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ ออกบวชตามพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย พระอุปเสนะและพระมหาจุนทะออกบวชหลังจากฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ


ส่วนพระขทิรวนิยเรวตะออกบวชในวันแต่งงานของท่านเอง เรื่องมีอยู่ว่า ขณะทำพิธีรดน้ำคู่บ่าวสาวอยู่นั้น ญาติมิตรต่างทยอยกันเข้ารดน้ำพร้อมทั้งกล่าวคำอวยพรต่างๆ อาทิ ขอให้ปรองดองกันเหมือนสายน้ำ ญาติมิตรจำนวนหนึ่งให้พรเจ้าสาว ขอให้อายุยืนเหมือนคุณยาย คุณยายของเจ้าสาวมีอายุถึง ๑๒๐ ปี ร่างกายแก่หง่อมหลังโกง ผิวหนังตกกระ ท่านได้ยินคำให้พรแล้วคิด เปรียบเทียบว่าหากเจ้าสาวมีอายุยืนเหมือนคุณยายก็จะมีสภาพเหมือนกัน ซึ่งไม่มีความสวยเหลืออยู่เลย จึงเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที

ท่านเริ่มครุ่นคิดถึงวิธีที่จะพ้นไปจากการมีครอบครัว ในที่สุดก็เห็นว่า มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือออกบวช เหมือนอย่างพระพี่ชายทั้ง ๓ รูป ดังนั้นขณะที่นั่งยานไปเรือนหอ ท่านได้ขอตัวลงไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะระหว่างทาง แล้วเลยหนีไปยังสำนักของพระผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรและขอบวช พระเหล่านั้นทราบว่าท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร จึงจัดการบวชให้ตามประสงค์ ทั้งนี้เนื่องจากพระสารีบุตรทราบด้วยญาณว่า ท่านจักออกบวชแน่ จึงได้มาบอกพระเหล่านั้นให้บวชให้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้ว

พระมหาปันถกและพระจูฬปันถก ออกบวชต่างวาระเช่นเดียวกัน พระมหาปันถกออกบวชก่อน พระจูฬปันถกออกบวชทีหลัง สำหรับพระมหาปันถกนั้น พระพุทธเจ้าตรัสขอท่านจากเศรษฐีราชคหะ ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาตให้บวชได้ การที่เศรษฐีราชคหะอนุญาตให้พระมหาปันถกออกบวชอย่างง่ายดายโดยไม่คัดค้านนั้น ก็เพราะเห็นว่าการบวชจะเป็นทางช่วยลบปมด้อยของหลานชายที่มักถูกเรียกว่า ‘ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่’ ลงได้

พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านเป็นสามเณรก่อน เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีแล้วจึงทรงบวชเป็นพระให้ ส่วนพระจูฬปันถกออกบวชเพราะความอนุเคราะห์ของพระมหาปันถกผู้พี่ชาย ที่พิจารณาเห็นว่าความสุขที่เกิดจากการได้บรรลุมรรคผลเป็นความสุขชั้นยอด ซึ่งจูฬปันถกน่าจะได้รับบ้าง ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้ พระมหาปันถกจึงไปขออนุญาตเศรษฐีราชคหะ พาจูฬปันถกออกบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาตให้เหมือนเช่นครั้งที่อนุญาตให้ท่านเองออกบวช


พระสภิยะ ออกบวชเป็นปริพาชกก่อน บวชแล้วก็ได้ศึกษาศิลปศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะวิชาการโต้วาทะท่านมีความชำนาญมาก ท่านเป็นนักโต้วาทะเรื่องลัทธิต่างๆ ที่มีฝีปากคม มีคนนิยมชมชอบกันมาก จนไม่มีนักโต้วาทะคนใดกล้าปะทะคารมด้วย ต่อมาท่านได้สร้างอาศรมอยู่ใกล้ประตูเมืองราชคฤห์ แล้วเปิดสอนศิลปศาสตร์แก่คนทุกวรรณะ แม้จะมีชื่อเสียงปานนั้น ท่านก็ยังไม่สบายใจเมื่อนึกถึงชาติกำเนิดของตนเอง ที่เกิดในขณะที่แม่ออกบวชเป็นปริพาชิกา ดังได้กล่าวไว้แล้วว่ามารดาของท่านได้กับปริพาชกรูปหนึ่งแล้วให้กำเนิดท่านขึ้นมา ท่านพิจารณาถึงความเป็นไปนี้แล้ว รู้สึกรังเกียจการเกิดมาเป็นหญิงของมารดา

วันหนึ่งพรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นสหายเก่าครั้งเป็นมนุษย์ในอดีตชาติ ได้มาหาท่านแล้วผูกเป็นปัญหาให้ ๒๐ ข้อ เพื่อให้ท่านนำไปถามสมณพราหมณ์อื่นๆ ท่านทำตามที่พรหมองค์นั้นบอก แต่ไม่มีใครตอบปัญหาท่านได้ จนมาถึงคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประกาศพระศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แล้วประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ท่านได้เข้าเฝ้าและทูลถามปัญหา ๒๐ ข้อนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตอบได้ทั้งหมด ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหานั้นแล้วเกิดศรัทธา จึงทูลขอบวชเป็นพระและพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามประสงค์


๏ การบรรลุอรหัตผล

พระมหากัสสปะ ครั้นบวชให้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาท่านออกจากโคนต้นพหุปุตตกนิโครธไป แต่ครั้นเสด็จพุทธดำเนินไปได้หน่อยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงพาท่านพักที่โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น ท่านเอาผ้าสังฆาฏิของท่านพับเป็น ๔ ชั้น ทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าสำหรับประทับนั่ง

“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอเนื้อนุ่มดี” พระพุทธเจ้าตรัสขณะประทับนั่ง พลางลูบคลำอยู่ไปมา

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงใช้เถิด”

“กัสสปะแล้วเธอล่ะ จะเอาอะไรใช้”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อข้าพระองค์ได้ผ้าจากพระองค์ก็จักใช้เป็นผ้าสังฆาฏิ”

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ซึ่งเก่ามากให้ท่าน การที่พระพุทธเจ้าทรงประทานผ้าสังฆาฏิให้นี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่ทำให้ท่านตระหนักถึงความเป็นทายาท ท่านได้เพิ่มอุตสาหะสมาทานธุดงค์เพิ่มอีก ๑๐ ข้อ รวมเป็น ๑๓ ข้อ นับแต่วันบวชทีเดียว ท่านบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาอย่างหนักและได้บรรลุอรหัตผลในวันที่ ๘ หลังจากบวช

พระราธะ ยังไม่ได้บรรลุธรรมทันทีหลังจากบวชเนื่องจากจิตไม่สงบ ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ความสะดวกเรื่องอาหาร แต่ละวันท่านได้อาหารไม่พอฉัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าท่านเป็นพระบวชใหม่ นั่งบนอาสนะท้ายสุดเวลาฉันอาหารในโรงฉัน ในโรงฉันนั้นมีพระมาก อาหารต้องแจกกันตามลำดับอาวุโสจึงไม่ค่อยเหลือถึงท่าน

พระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ทราบถึงความลำบากของท่านในเรื่องนี้ดี จึงแก้ปัญหาด้วยการพาท่านจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งทำให้ท่านได้อาหารพอฉัน ครั้นได้อาหารพอแล้วท่านกลับมีร่างกายแข็งแรง จิตเริ่มสงบ ประกอบกับได้พระสารีบุตรคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เนืองๆ ท่านเป็นคนว่าง่าย ปฏิบัติตามที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนทุกประการ และเข้าใจได้รวดเร็ว จึงปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาอยู่ได้ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระอุปเสนะ พระมหาจุนทะ และพระขทิรวนิยเรวตะ ได้บรรลุธรรมตามลำดับกันดังนี้

พระอุปเสนะ หลังบวชแล้วได้ ๑ พรรษา ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายหวังจะช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อมาท่านได้พาสัทธิวิหาริกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าครั้นทรงทราบว่าท่านบวชได้เพียงพรรษาเดียวแล้วเป็นอุปชฌาย์บวชให้กุลบุตร จึงทรงตำหนิอย่างรุนแรง


“โมฆบุรุษ เธอทำไม่ถูกนะ เธอเองยังต้องถูกสั่งสอน แต่นี่กลับไปสอนคนอื่นเสียแล้ว ดูช่างมักมากเหลือเกิน”

ท่านสลดใจที่ถูกพระพุทธเจ้าตรัสตำหนิจึงคิดหนัก

“เพราะสัทธิวิหาริกนี้เองจึงทำให้เราถูกพระพุทธเจ้าตำหนิ ดังนั้น เราจะอาศัยการมีสัทธิวิหาริกนี้แหละทำให้พระพุทธเจ้าสรรเสริญเราให้ได้”

ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็ลาพระพุทธเจ้า แล้วพาสัทธิวิหาริกกลับ จากนั้นก็เร่งบำเพ็ญเพียร ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระมหาจุนทะ หลังจากบวชแล้วก็ได้ศึกษากรรมฐานจากพระสารีบุตร ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

ส่วนพระขทิรวนิยเรวตะก็เช่นเดียวกัน หลังจากบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เดินทางไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าไม้ขทิระ (ป่าไม้ตะเคียน) และได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้นเอง

พระมหาปันถก หลังจากบวชพระแล้ว ท่านเจริญโยนิโสมนสิการ คือกำหนดนามรูปเป็นอารมณ์อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งได้บรรลุอรูปฌาน ๔ ออกจากอรูปฌาน นั้นแล้วก็เจริญวิปัสสนา ต่อด้วยการพิจารณาองค์ฌานจนเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุอรหัตผล พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านตั้งปณิธานไว้ว่าตราบใดยังถอนลูกศรคือตัณหาออกไม่ได้ จะไม่ยอมนั่งแม้แต่ครู่เดียว ปรมัตถทีปนีกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้นตั้งปณิธานอย่างนั้นแล้วท่านก็เจริญวิปัสสนาอยู่ทั้งคืน ด้วยการยืนกับการเดินจงกรมเท่านั้น เมื่อออกจากอรูปฌานก็เจริญวิปัสสนา โดยพิจารณาองค์ฌานเป็นหลัก จนทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล

พระจูฬปันถก หลังจากบวชแล้วได้ ๔ เดือน ท่านถูกพระมหาปันถกผู้พี่ชายขับไล่ให้สึก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นท่านท่องจำคาถา (คำร้อยกรอง) ไม่ได้เลยแม้แต่บทเดียว ท่านเสียใจมากจึงจะไปสึก เช้าวันนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาปลอบและพาท่านไปนั่งอยู่หน้าพระคันธกุฎี แล้วทรงประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ทรงสอนให้ ท่านนั่งดูดวงอาทิตย์พลางลูบผ้าขาวพลาง พร้อมทั้งนึกบริกรรมว่า ‘ผ้าเช็ดฝุ่น ผ้าเช็ดฝุ่น’ (รโชหรณํ รโชหรณํ) วิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกกับอุปนิสัยท่าน เพราะเมื่อลูบไปๆ ผ้าก็เริ่มสกปรกทีละน้อยๆ จนมีสภาพเหมือนผ้าเช็ดหม้อข้าว

ในขณะเดียวกันความรู้ของท่านก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับ จนทำให้ท่านมองเห็นความสิ้นความเสื่อมของสังขารได้ชัดเจน ท่านพิจารณาเปรียบเทียบจิตเหมือนผ้าขาว ซึ่งเดิมทีสะอาดแต่มาสกปรกไปเพราะอาศัยร่างกายนี้เอง จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ท่านพิจารณาอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งจิตสงบบรรลุฌาน ออกจากฌานแล้วก็อาศัยฌานนั้นเองเป็นพื้นฐานเจริญวิปัสสนาต่อไป ท่านเจริญสมถะสลับกับวิปัสสนาอยู่อย่างนี้จนเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผลหน้าพระคันธกุฎีนั้นเอง

พระสภิยะ หลังจากบวชแล้วท่านเจริญวิปัสสนาอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล


๏ งานสำคัญ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธ ๘ รูปนั้น แต่ละรูปได้ช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาตามกำลังความสามารถ แต่ที่มีบันทึกเป็นหลักฐานไว้มี ๔ รูปดังนี้

พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้ช่วยพระพุทธเจ้ารับภาระสอนพระ จนมีพระเป็นศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๒๑ วัน ท่านได้ปรารภเหตุที่พระสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย จึงได้ชักชวนพระสาวกที่ไปร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ รูป จัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย พระสาวกทั้งหลายต่างเห็นด้วย จึงมอบให้ท่านเป็นประธานในการจัดทำ ท่านคัดเลือกพระอรหันต์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือได้บรรลุอภิญญา ๖ และแตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ๔๙๙ รูป โดยรวมทั้งท่านด้วยเป็น ๕๐๐ รูป จากนั้นจึงได้ร่วมกันทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก (ปฐมสังคายนา) ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภาระ ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ

การทำปฐมสังคายนาครั้งนั้นนับว่าสำคัญมาก เพราะช่วยรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่ และจัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ แล้วแยกออกเป็น ๒ หมวดหมู่ใหญ่ คือ พระธรรมกับพระวินัย เพื่อสะดวกต่อการศึกษาทรงจำ ซึ่งทำให้คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้


พระอุปเสนะ ชักนำให้สัทธิวิหาริกของท่านสมาทานธุดงค์ตามกำลังความสามารถ กล่าวคือหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้สมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อด้วยตนเอง ต่อมาเมื่อมีกุลบุตรจำนวนมากมาขอบวชในสำนักของท่าน แต่เนื่องจากท่านยังมีพรรษาไม่ครบ ๑๐ จึงให้กุลบุตรเหล่านั้นบวชเป็นสามเณรก่อน ครั้นเมื่อท่านมีพรรษาครบ ๑๐ แล้วจึงรับเป็นอุปัชฌาย์บวชพระให้ สัทธิวิหาริกของท่านทุกรูปต่างล้วนปฏิบัติธุดงค์อย่างเคร่งครัด โดยบางรูปสมาทานเพียงบางข้อ ขณะที่บางรูปสมาทานหมดทุกข้อ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามสัทธิวิหาริกของท่าน ถึงเหตุผลที่สมาทานธุดงค์ สัทธิวิหาริกทั้งหลายกราบทูลว่า ที่สมาทานธุดงค์นั้นเพราะความเคารพในพระอุปัชฌาย์

พระมหาจุนทะ คราวที่พระพุทธเจ้ายังไม่มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำนั้น ท่านได้ถวายการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว และเคยรับอาสาจะแสดงฤทธิ์แข่งกับพวกนักบวชนอกศาสนาแทนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เพราะทรงมีพระประสงค์จะทรงแสดงฤทธิ์คือยมกปาฏิหาริย์ด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้นท่านยังได้ทำงานสำคัญอื่นๆ อีก คือแจ้งข่าวการตายของนิครนถนาฏบุตรให้พระอานนท์ได้ทราบ ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองปาวา

นิครนถนาฏบุตรหรือท่านมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน ได้มรณภาพลง แล้วสาวกของท่านได้แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย เพราะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องคำสอน พระมหาจุนทะเห็นความแตกแยกในข้อนี้ จึงเดินทางจากเมืองปาวาไปพบพระอานนท์ ที่หมู่บ้านสามะ ในแคว้นสักกะ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่นั่นกับพระอานนท์ พระอานนท์ครั้นทราบเรื่องราวจากท่านแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงชวนท่านเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าครั้นทรงทราบแล้ว จึงได้ตรัสถึงเหตุแห่งการขัดแย้ง เรื่องที่ขัดแย้ง และวิธีระงับความขัดแย้ง การทำปฐมสังคายนาภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธานนั้น ท่านก็ได้ร่วมทำอยู่ด้วย

พระขทิรวนิยเรวตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้แสดงฤทธิ์เนรมิตป่าให้เป็นพระคันธกุฎีและเรือนยอดถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูปที่ตามเสด็จ เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวก ๕๐๐ รูปมาเยี่ยมท่าน สถานที่ที่ท่านอยู่นั้นเป็นป่าไม้ตะเคียนใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะที่พระจำนวนมากจะมาอยู่เนื่องจากเป็นป่ารก ครั้นท่านได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าจะทรงพาพระสาวก ๕๐๐ รูปมาเยี่ยม ท่านจึงเนรมิตป่าให้เป็นพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้า เนรมิตป่าอีกส่วนหนึ่งให้เป็นเรือนยอดเป็นที่อยู่ของพระสาวก ๕๐๐ รูป จากนั้นก็ได้เนรมิตที่จงกรม ที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันอีกอย่างละ ๕๐๐ สำหรับพระสาวกทั้งหมดนั้นได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร และหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกเสด็จกลับแล้ว ท่านก็คลายฤทธิ์ ป่าทั้งป่ากลับมีสภาพดังเดิม


๏ บั้นปลายชีวิต

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธ ๘ รูปนั้น พระมหากัสสปะรูปเดียวที่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ว่า ท่านมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีแล้วจึงนิพพาน ณ เชิงเขากุกกุฏสัมปาตะ ในแคว้นมคธ ก่อนที่จะนิพพาน ๑ วัน หลังจากได้ตรวจดูอายุสังขารและเห็นว่าจะอยู่ได้เพียงวันนี้อีกวันเดียว ท่านจึงสั่งให้ประชุมศิษย์ของท่าน แล้วกล่าวให้โอวาทและบอกพระที่เป็นปุถุชนไม่ให้เสียใจ วันรุ่งขึ้นก่อนนิพพานท่านได้เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วกลับมาที่เชิงเขากุกกุฎสัมปาตะ ณ ที่นั้นท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ และให้โอวาทพุทธบริษัทที่มาประชุมกันอยู่ให้ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วจึงนิพพาน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธดังกล่าวมานี้ มีที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ๖ รูป คือ พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระขทิรวนิยเรตะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก

พระมหากัสสปะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์

พระราธะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยมเข้าใจได้เร็ว

พระอุปเสนะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านน่าเลื่อมใสของชนทุกชั้น

พระขทิรวนิยเรตะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า

พระมหาปันถก พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะด้านฉลาดในปัญญาวิมุติ (วิปัสสนา)

พระจูฬปันถก พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านฉลาดในเจโตวิมุติ (สมถะ) และชำนาญในมโนมยิทธิ

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๖ รูป นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ

พระมหากัสสปะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรกฎุมพีชาวเมืองหงสวดี มีชื่อว่า ‘เวเทหะ’ วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระมหานิสภะ พระสาวกรูปหนึ่งของพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์ แล้วเกิดความศรัทธาปรารถนา จะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังฉันภัตตาหารอยู่ที่บ้านของท่านนั้น พระมหานิสภะเดินบิณฑบาตผ่านมาพอดี ท่านจึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในบ้าน พระมหานิสภะปฏิเสธเพราะท่านสมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อ และมีธุดงค์อยู่ข้อหนึ่งว่าด้วยการฉันแต่เฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มา โดยจะไม่ยอมฉันในที่นิมนต์ ท่านจึงให้คนจัดอาหารมาใส่บาตร

ครั้นพระมหานิสภะกลับไปแล้ว ท่านได้กราบทูลเรื่องพระมหานิสภะให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระมหานิสภะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสมาทานธุดงค์ ยิ่งทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใส จึงถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเพิ่มอีกเป็น ๗ วัน วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครอง แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า พลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตลอด ๗ วันที่ข้าพระองค์ถวายมหาทานอยู่นี้ กายกรรม วจีกรรม นโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติอื่นใด ไม่ว่าสวรรค์สมบัติหรือมนุษย์สมบัติ นอกจากนิพพานสมบัติเท่านั้น ด้วยผลบุญนี้ขอข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศด้านสมาทานธุดงค์หมือนพระมหานิสภะนี้เถิด ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล”

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปได้ในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ยากจนชื่อ ‘จูเฬกสาฎก’ ได้นางพราหมณียากจนคนหนึ่งเป็นภรรยา จูเฬกสาฎกกับภรรยาต่างผลัดเปลี่ยนกันไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ภรรยาไปฟังธรรมตอนกลางวัน ส่วนจูเฬกสาฎกไปฟังธรรมตอนกลางคืน เหตุที่สองสามีภรรยาไม่สามารถไปฟังธรรมพร้อมกันได้ เพราะมีผ้าห่มออกข้างนอกอยู่เพียงผืนเดียว ซึ่งต้องผลัดกันใช้ คืนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นั้น จูเฬกสาฎกเกิดศรัทธาจึงได้ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวของตนนั้นเป็นพุทธบูชา พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า “ข้าพระองค์ชนะแล้ว”


ชัยชนะที่จูเฬกสาฎก หมายถึงคือ ชนะความตระหนี่ในใจของตนเองได้ พระเจ้าพันธุมหาราช กษัตริย์แห่งเมืองพันธุมดีทรงทราบความจริง จึงพระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้เขาพ้นจากความยากจน จูเฬกสาฎกกับภรรยาแม้จะมั่งมีขึ้นก็ไม่ได้ประมาท ทั้งสองได้บริจาคทรัพย์ส่วนหนึ่งบำรุงพระพุทธศาสนาและทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง (ช่วงระยะเวลาที่โลกว่างพระพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธศาสนา)

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรกฎุมพี วันหนึ่งขณะเดินไปตามริมฝั่งน้ำ พบพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งกำลังทำจีวรอยู่ ทราบว่าผ้าสำหรับทำอนุวาตะ (ผ้าทาบชายจีวร) ไม่พอ จึงได้ถวายผ้าชิ้นหนึ่ง นอกจากนั้นท่านยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอีกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ช่วยกันสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้สละทรัพย์จำนวนหนึ่งออกร่วมทำบุญถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนั้นยังได้จัดดอกไม้บูชาพระเจดีย์จนดูสวยงาม ท่านยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอีกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผล ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ

จนถึงพุทธุปบาทกาลพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์กปิละดังกล่าวมาแล้ว ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยจิตที่ตั้งปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วก็ได้สมาทานธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ ข้อก่อนได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์

พระราธะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก พร้อมทั้งได้ทำการบูชาอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่พระมหากัสสปะทำ แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะได้รับมาแล้วคือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ยากจนอยู่ในเมืองราชคฤห์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ยังไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมอยู่เนืองๆ จนเกิดความเข้าใจได้แจ่มแจ้งกว้างขวางลึกซึ้งและว่องไว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปฏิภาณยอดเยี่ยม

พระอุปเสนะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี คราวหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ เงื้อมเขาแห่งหนึ่งแล้วเลื่อมใส จึงได้นำดอกกรรณิกา ที่กำลังบานสะพรั่งมาทำเป็นร่มดอกไม้สีขาวไปกั้นถวายพระพุทธเจ้า จากนั้นจึงได้ถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกอีก ๘ รูปที่ตามเสด็จ ต่อมาท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระอาราม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้น แล้วปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง


ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายทาน แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่านและได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะและพระราธะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของชนทุกชั้น

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีคนทุกระดับชั้นเลื่อมใสท่านมาก นิยมมาบวชในสำนักของท่าน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นที่เลื่อมใสของชนทุกชั้น

พระขทิรวนิยเรวตะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นพ่อค้าชาวเมืองหงสวดี ทำการค้าขายทางเรือและจอดเรือทอดสมออยู่ที่ท่าปยาคปติฏฐานะ ซึ่งอยู่ด้านฝั่งแม่น้ำคงคา คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระเสด็จมาถึงท่าเรือพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมาก นายเรือทราบว่าพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะพาพระสาวกข้ามฟาก จึงชวนพวกชาวเรือด้วยกันผูกเรือขนานตกแต่งให้สวยงาม จัดอาสนะเรียบร้อยแล้ว กราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จนำพระสาวกขึ้นเรือ จากนั้นนายเรือได้ออกเรือพาพระพุทธเจ้าและพระสาวกมาส่งยังอีกฟากหนึ่ง

ขณะที่เรือยังแล่นอยู่กลางแม่น้ำนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาส จึงทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า นายเรือเห็นดังนั้นเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ ได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมใน อีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นอยู่ป่า

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วก็ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรด้วยจิตใจนิยมการอยู่ป่า พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านอยู่ป่า

พระมหาปันถก ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกฎุมพี ชาวเมืองหงสวดี มีน้องชายอยู่ ๑ คน (คือพระจูฬปันถกในชาติปัจจุบัน) วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทาน แด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุด ท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ และพระขทิรวนยเรวตะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตาย เกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นคนวรรณะจัณฑาล หลานของเศรษฐีราชคหะ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วมีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในปัญญาวิมุติ


พระจูฬปันถก ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นน้องชายของกฎุมพี ชาวเมืองหงสวดี (คือพระมหาปันถกในชาติปัจจุบัน) วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพี่ชายและพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในเจโตวิมุติ และด้านชำนาญในมโนมยิทธิ (การใช้ฤทธิ์ทางใจ) แล้วปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัสสปะ พระราธะ พระอุปเสนะ พระขทิรวนิยเรวตะ และพระมหาปันถกผู้เป็นพี่ชายได้รับแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในเจโตวิมุติ และชำนาญในมโนมยิทธิ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ


ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ มีสติปัญญาดีมาก ทรงจำพระพุทธพจน์ไว้ได้มากและแม่นยำ คราวหนึ่งได้ฟังพระปัญญาทึบรูปหนึ่งสาธยายพระพุทธพจน์ผิดๆ ถูกๆ แล้วหัวเราะเยาะ จนพระรูปนั้นอายเลิกท่องจำพระพุทธพจน์อีกต่อไป จากชาตินั้นท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านเกิดมาเป็นน้องชายของพระมหาปันถก ตอนบวชใหม่ๆ บาปกรรมที่เคยหัวเราะเยาะพระปัญญาทึบตามมาให้ผล โดยทำให้ท่านไม่ได้กัลยาณมิตรแนะนำการปฏิบัติธรรม จึงไม่สามารถท่องจำคาถาแม้เพียงบทเดียวได้ จนถูกพระมหาปันถกขับไล่ให้สึก

แต่ต่อมาได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรทรงแนะนำให้เจริญกรรมฐาน จึงได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วมีความชำนาญในการเข้าสมาธิ และชำนาญในการใช้ฤทธิ์ทางใจเนรมิตร่างกายท่านได้ตั้ง ๑,๐๐๐ ร่างในขณะจิตเดียว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านชำนาญในการเข้าสมาธิ (เจโตวิมุติ) และชำนาญในการใช้มโนมยิทธิ

ได้กล่าวถึงอดีตชาติของพระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นมคธที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะมาแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงอดีตชาติของพระอสีติมหาสาวก ชาวแคว้นมคธที่ไม่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะซึ่งมีอยู่ ๒ รูป คือ พระมหาจุนทะ กับพระสภิยะ

พระอสีติมหาสาวก ๒ รูปนี้ แม้จะไม่ได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้เหมือนพระอสีติมหาสาวก ๖ รูปนั้น แต่ก็ได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อเป็นพระสาวกและได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ซึ่งแต่ละรูปก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทำนองเดียวกัน คือจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมและจักได้บรรลุอรหัตผลดังมีรายละเอียดดังนี้

พระมหาจุนทะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองเวภาระ มีจิตเลื่อมใสให้ช่างทำดอกไม้แล้วนำไปบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์ว่าท่านจักได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคดม เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อ เนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นช่างหม้อชาวเมืองพันธุมดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ถวายบาตรดินแด่พระองค์ด้วยจิตเลื่อมใส แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้าสิทธัตถะตรัสพยากรณ์ เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล สมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

พระสภิยะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ


ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากกุสันธะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองเขมะ วันหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินด้วยพระบาทเปล่าแล้วเกิดศรัทธาถวายรองเท้า แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์ว่าท่านจักได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ

จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยชาวเมืองเพื่อฟังธรรม พระพุทธเจ้าทรงทราบความปรารถนาของท่าน จึงตรัสพยากรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้ากกุสันธะตรัสพยากรณ์มาแล้ว เป็นเหตุให้ท่านเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทำความดีอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของปริพาชิกานางหนึ่ง ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลสมตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ดังกล่าวมาแล้ว

๏ วาจานุสรณ์

พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วมีความประสงค์จะสอนพระทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของการอยู่ในที่สงัด จึงกล่าวว่า

ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก
การมัวแต่สงเคราะห์ (เกี่ยวข้องกับ) คนนั้นคนนี้อยู่ เป็นความลำบาก
ดังนั้น จึงไม่ชอบใจจะอยู่กับหมู่คณะ
ผู้มีปัญญา ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย
เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวยขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล
มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้
ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย
เป็นเปือกตมและลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก
บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากอย่างยิ่ง

ต่อมาท่านได้สอนพระให้ยินดีในปัจจัย ๔ โดยเฉพาะอาหารบิณฑบาตได้มา โดยกล่าวถึงข้อปฏิบัติของท่านว่า

เราลงจากเสนาสนะแล้วเข้าไปบิณฑบาตในเมือง
คนขี้เรื้อนคนหนึ่งกำลังบริโภคอาหารอยู่
เราไปยืนอยู่ใกล้เขาด้วยอาการสำรวม
คนขี้เรื้อนปั้นข้าวคำหนึ่งมาใส่บาตรเรา
มือของเขามีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
ขณะที่หย่อนข้าวลงในบาตร นิ้วของเขาขาดตกอยู่ในบาตร
เรานั่งฉันข้าวคำนั้นอยู่ข้างฝาเรือนต่อหน้าเขา
โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย
ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหารบิณฑบาต
ที่จะต้องลุกขึ้นเดินไปรับที่ประตูเรือนของชาวบ้าน ๑
บังสุกุลจีวร ๑ โคนต้นไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑
ภิกษุนั้นแล สามารถจะอยู่ได้ในทิศทั้ง ๔ แม้ยามชรา

เมื่อจะย่างเข้าสู่วัยชรา แต่ท่านยังคงสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้ออย่างเคร่งครัด กลับจากบิณฑบาตแล้วก็ขึ้นภูเขาบำเพ็ญฌาน ท่านได้กล่าวสรรเสริญภูมิภาคและภูเขาที่ท่านอยู่ไว้ว่า

ภาคพื้นดินแห่งนี้มีต้นกุ่มขึ้นเป็นแถว
กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
นั่นภูเขาสูง ชูยอดเสียดเมฆ คล้ายปราสาท
ณ เชิงเขานั้น มีสายน้ำใสสะอาด
ดารดาษด้วยหญ้าสีเหลืองเหมือนแมลงค่อมทอง น่ารื่นรมย์
ภูเขาที่ฝนตกรด มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเขียวชอุ่ม
เป็นถิ่นที่ฤาษีชอบมาอาศัย
ไพเราะด้วยเสียงนกยูง น่ารื่นรมย์
เราก็เหมือนคนที่จิตแน่วแน่ทั่วไป
ที่พิจารณาเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งถูกต้อง
จึงไม่ยินดีในดนตรีมีองค์ ๕
(แต่มายินดีเสียงน้ำตก เสียงช้างร้องและเสียงนกยูงแทน)
คราวหนึ่ง ท่านกล่าวเตือนพระนักปริยัติ แต่ไม่สนใจการปฏิบัติว่า
เพียงแค่ท่องบ่นพระพุทธวจนะได้
ย่อมทำให้คนโง่มองไม่เห็นตัวเอง
เขาย่อมเที่ยวชูคอสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าผู้อื่น

พระราธะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วก็ยังสนใจในการเพ่งพินิจธรรม วันหนึ่งขณะนั่งพินิจธรรมอยู่ในกระท่อม เกิดฝนตกรั่วรดลงมาทางหลังคาที่มุงไม่ดี ท่านคิดเปรียบเทียบเรือนที่มุงไม่ดีว่าเหมือนกับจิตที่ไม่ได้ฝึกฝน จึงกล่าวว่า

เรือนที่มุงไม่ดี ฝนตกรั่วรดได้
จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนก็เป็นเช่นนั้น
ราคะย่อมรั่วรดได้
เรือนที่มุงดี ฝนตกรั่วรดไม่ได้
จิตที่ฝึกฝนไว้ดีก็เป็นเช่นนั้น
ราคะย่อมรั่วรดไม่ได้

พระอุปเสนะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ที่เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ คราวนั้นเองพระชาวโกสัมพีได้แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย พระรูปหนึ่งถามท่านว่า ควรวางตัวเช่นไรในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านกล่าวว่า

ป่าที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ แต่สงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง
ภิกษุผู้หวังจะหลีกเร้น ควรอยู่ในเสนาสนะป่าเช่นนั้น
ควรห่มจีวรเศร้าหมอง ที่ได้มาโดยเก็บผ้ามาจากกองขยะ
จากป่าช้า จากตรอกซอกซอย แล้วมาทำเป็นจีวร
ควรสยบจิตให้หมดมานะ คุ้มครองทวาร สำรวมอินทรีย์
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
บิณฑบาตที่ได้มาแม้จะไม่ประณีตก็ควรยินดี
ไม่ควรอยากได้อาหารมากรส
เพราะคนที่ติดในรสอาหาร จิตย่อมไม่ยินดีในฌาน
ไม่ควรคลุกคลีกับใครๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ควรแสดงตนให้เป็นเหมือนคนบ้าและคนใบ้ คือ ไม่พูดมาก
เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่คณะ ไม่ควรใส่ร้ายใคร ไม่ควรกระทบกระทั่งใคร
ควรสำรวมในพระปาติโมกข์ และควรรู้จักประมาณในการฉันอาหาร
ควรศึกษานิมิตรหมายที่ทำให้จิตเกิดให้ดี
จิตเกิดแต่ละขณะเป็นอย่างไร ควรรู้ให้ทัน
ควรบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเนืองๆ
ไม่ควรวางใจในเมื่อยังไม่สิ้นทุกข์
ภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์ เป็นอยู่อย่างนั้น
อาสวะย่อมหมดไปได้ เธอย่อมบรรลุนิพพาน

พระมหาจุนทะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วประสงค์จะประกาศว่า การที่ท่านบรรลุอรหัตผลได้นั้นเพราะอาศัยครูและการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด จึงกล่าวว่า

เพราะตั้งใจฟังครูสอน จึงได้ความรู้
ความรู้ทำให้ได้ปัญญา
เพราะปัญญาจึงทำให้รู้ประโยชน์
ประโยชน์ที่รู้แล้วย่อมนำสุขมาให้
ภิกษุควรเสพเสนาสนะอันสงัด
ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด
ถ้าในเสนาสนะและธรรมนั้นยังยินดีเต็มที่ไม่ได้
เมื่ออยู่กับคณะ ก็ควรมีสติรักษาตน

พระขทิรวนิยเรวตะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว คราวหนึ่งขณะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าท่านเดินผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกโจรปล้น พวกชาวบ้านต่างร่วมใจกันต่อสู้ขัดขวาง ฝ่ายพวกโจรเมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองแล้วก็ห่อหิ้วหนีออกจากหมู่บ้าน ครั้นเห็นว่าจวนตัวเพราะพวกชาวบ้านไล่ล่าติดๆ และพอดีเห็นพระเถระเดินสวนทางมาจึงทิ้งห่อของไว้ใกล้พระเถระ เพื่อลวงชาวบ้านให้เข้าใจผิดจะได้ไม่ติดตามตน ฝ่ายชาวบ้าน ก็เข้าใจผิดอย่างที่พวกโจรคาดหวัง จึงช่วยกันจับท่านไปถวายพระเจ้าแผ่นดินให้สอบสวนและลงโทษ ระหว่างการสอบสวนท่านได้กล่าวขึ้นว่า

นับตั้งแต่ออกบวช อาตมาไม่เคยคิดร้ายใคร
ตลอดเวลาที่บวชอยู่นี้ไม่เคยคิดให้ใครถูกฆ่า
ถูกเบียดเบียนและได้รับทุกข์
ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือ แผ่เมตตาไปอย่างไม่จำกัด
ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
อาตมาเป็นมิตรของสรรพสัตว์
เป็นเพื่อนของสรรพสิ่ง
ยินดีที่ไม่เบียดเบียนใคร
แผ่เมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ
จิตของอาตมาไม่หวั่นไหว ไม่กำเริบ
อาตมาทำให้มันบันเทิงอยู่ด้วยการเจริญพรหมวิหารธรรม
คือแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ซึ่งคนต่ำช้าทำไม่ได้แน่
จากนั้นท่านได้กล่าวแก่พระสัทธิวิหาริกที่เดินทางมาเยี่ยมท่านว่า
พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เข้าเพียงทุติยฌานก็นิ่งได้ประเสริฐแล้ว เพราะหมดความหลง
ภิกษุสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงมั่นคงไม่หวั่นไหวคล้ายภูเขาหิน
คนที่หมดกิเลส สะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
ย่อมเห็นความชั่วแม้เล็กน้อยขนาดเท่าปลายขนทราย
ว่ามากมายเหมือนก้อนเมฆ
ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตัวเอง
ให้เหมือนนักรบ คุ้มครองเมืองหน้าด่านอย่างแข็งขัน
จะเป็นหรือตายเราก็ไม่ไยดี
เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางาน
จะเป็นหรือตายเราก็ไม่ไยดี
เรารอแต่เวลาอย่างคนมีสติสัมปชัญญะ
พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ทำตามได้แล้ว
ภาระหนักเราก็ปลงได้แล้ว
อีกทั้งตัณหา ตัวการทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว
ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการ คือความหมดกิเลสเราก็ได้รับแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความดีให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด

ท่านกล่าวสอนพระทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็เหาะขึ้นไปนั่งขัดสมาธิอยู่ในอากาศ เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างกายท่านหลังจากนิพพานแล้ว ท่านนิพพานกลางอากาศนั้นเอง

พระมหาปันถก หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านว่า

ครั้งแรกที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดคน
เราก็เกิดความสลดใจ (ว่าทำไมจึงไม่มาเฝ้าพระองค์เสียตั้งนาน)
ต่อมาเราสละสิ่งทั้งปวง ปลงผมและหนวดออกบวช
เรารักษาศีลได้ดีเยี่ยม
ศึกษาสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างถ่องแท้
สำรวมดีแล้วในในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่พ่ายแพ้แก่มาร
ครั้งนั้นเราตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า
ถ้ายังถอนลูกศรคือตัณหาออกไม่ได้
เราจะไม่ยอมนั่งแม้เพียงครู่เดียว
แล้วสิ้นราตรีนั้นเอง พอพระอาทิตย์อุทัย
เราก็ถอนลูกศร คือตัณหาได้หมดสิ้น
จากนั้นจึงเข้าไปนั่งขัดสมาธิภายในกุฏิ

พระจูฬปันถก หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระทั้งหลายถามท่านว่า สามารถบรรลุอรหัตผลได้อย่างไร ในเมื่อท่านเป็นคนปัญญาทึบ ท่านเล่าให้ฟังว่า

เมื่อก่อนผมเข้าใจได้ช้าจึงถูกตำหนิ
หลวงพี่ได้ขับไล่ผมให้สึกเสีย
ผมเสียใจมากเพราะยังอาลัยรักพระศาสนาอยู่
จึงไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูวัดชีวกัมพวัน
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาหาผม
ทรงลูบศีรษะแล้วจับแขนพาผมเข้าไปในวัด
พระศาสดาทรงประทานผ้าแก่ผม
แล้วทรงพระกรุณาตรัสบอกให้ผมไปนั่งบริกรรมจนขึ้นใจ
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้ผมยินดีอยู่ในศาสนา
บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แล้วผมก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หมดสิ้น
ผมเนรมิตตนได้ ๑,๐๐๐ ร่าง จนถึงเวลาเขานิมนต์
ผมได้เหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองผม

พระสภิยะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน อันเป็นช่วงเวลาที่พระเทวทัตกำลังพยายามทำลายสงฆ์ พระทั้งหลายเกิดความสับสน ท่านจึงให้โอวาทว่า

นอกจากบัณฑิตแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่า
เราทั้งหลายที่กำลังทะเลาะกันอยู่นี้กำลังย่อยยับ
คนที่รู้ย่อมไม่ทะเลาะกัน
เมื่อไม่รู้วิธีระงับการทะเลาะตามความเป็นจริง
พวกเขาย่อมทำตัวเหมือนไม่แก่ไม่ตาย ก็จะทะเลาะกันร่ำไป
ส่วนคนที่รู้ตามความเป็นจริงว่าการทะเลาะทำให้เร่าร้อน
พวกเขาย่อมไม่ก่อการทะเลาะ
การงานที่ทำเหลาะแหละ วัตรปฏิบัติที่ไม่น่าเลื่อมใส
และพรหมจรรย์ที่ระลึกถึงด้วยความน่ารังเกียจ ทั้ง ๓ นี้ไม่มีผลมาก
ผู้ใด ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม
เหมือนฟ้ากับดินห่างไกลกัน


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 08:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron