วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2021, 11:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


แบบที่ ๑ ทักขิไณยบุคคล ๘ หรือ อริยบุคคล ๘

เกณฑ์แบ่งแบบนี้ จัดตามกิเลสคือสังโยชน์ที่ละได้ในแต่ละขั้น พร้อมไปกับความก้าวหน้าในการ
บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ดังนั้นจึงควรรู้จักสังโยชน์ไว้ก่อน

“สังโยชน์” แปลตามศัพท์ว่า เครื่องผูก หมายถึง กิเลสที่ผูกใจสัตว์ หรืออกุศลธรรมที่ผูกมัด
สัตว์ไว้กับทุกข์ในสังสารวัฎฏ์ เหมือนผูกเทียมสัตว์ไว้กับรถ มี ๑๐ อย่าง คือ

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ หรือขั้นหยาบ) ๕ อย่าง คือ

๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา
เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกัน
เข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

๒. วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระ
สงฆ์ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็ง
แกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่ง
ไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต คือความยึดถือผิดพลาดไปว่า จะบริสุทธิ์ จะหลุดพ้น
ได้เพียงด้วยศีลและพรต ได้แก่การถือศีล ระเบียบ แบบแผน บทบัญญัติ และข้อปฏิบัติต่างๆ
โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นเป็นขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ติดอยู่แค่รูปแบบหรือพิธีรีตอง ก็ดี
ถือด้วยตะณหาและ ทิฏฐิ คือปฏิบัติเพราะอยากได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ
เพราะเห็นว่าจะทำให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่ ก็ดี ไม่เป็นไปตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง
ของศีลและพรต ทำให้เขวออกนอกลู่นอกทาง หรือเลยเถิดไป เป็นอย่างศีลและของนักบำเพ็ญตบะ
เป็นต้น ไม่เข้าสู่อริยมรรค

๔. กามราคะ ความติดใคร่ในกาม ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส และ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง หรืองุ่นง่านใจ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง หรือขั้นละเอียด) ๕ อย่าง คือ

๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน พอใจในรส
ความสุข ความสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ เป็นต้น

๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม เช่น ติดใจในอารมณ์แห่ง อรูปฌานติดใจปรารถนาใน
อรูปภพเป็นต้น

๘. มานะ ความถือตัว ความสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นว่า สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล หรือ
ไม่รู้อริยสัจ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2021, 12:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ทักขิไณยบุคคล หรือพระอริยบุคคล ๘ นั้น ว่าโดยระดับหรือขั้นตอนใหญ่แล้ว ก็มีเพียง ๔
และสัมพันธ์กับการละสังโยชน์ ดังนี้

ก. พระเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) หรือ สอุปาทิเสสบุคคล (ผู้ยังมีเชื้อคืออุปาทานเหลืออยู่) คือ

๑. พระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสคือเข้าสู่ มรรค เดินทางถูกต้องอย่างแท้จริง หรือปฏิบัติถูกต้อง
ตามอย่างแท้จริงแล้ว เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอ
ประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส

๒. พระสกทาคามี ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์
ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ ๓
ข้อต้นได้แล้ว ยังทำ ราคะ โทสะ และ โมหะ ให้เบาบางลงไปอีกต่อจากขั้นของพระ โสดาบัน

๓. พระอนาคามี ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น ไม่เวียนกลับมาอีก เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในศีล
ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ แต่ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้อีก ๒ ข้อ คือ กามราคะ
และปฎิฆะ (รวมเป็นละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ ๕ ข้อ)

ข. พระอเสขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษา) หรือ อนุปาทิเสสบุคคล (ผู้ไม่มีเชื้อคืออุปาทานเหลืออยู่เลย) คือ

๔. พระอรหันต์ ผู้ควร (แก่ทักขิณาหรือการบูชาพิเศษ) หรือผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็น
ผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์เบื้องสูง
ได้อีกทั้ง ๕ ข้อ (รวมเป็นละสังโยชน์หมดทั้ง ๑๐)

พระเสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา คือยังมีกิจเกี่ยวกับการฝึกฝนอบรมตนที่จะต้องทำต่อไป
อีก จึงได้แก่ทักขิไณยบุคคล ๓ ระดับต้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติในสิกขา เพื่อละ สังโยชน์ และบรรลุ
ธรรมสูงขึ้นต่อไป จนถึงเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา คือทำกิจเกี่ยว
กับการฝึกฝนอบรมตนเสร็จสิ้นแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติในสิกขาต่อไป ไม่มี
กิเลสที่ต้องพยายามละต่อไป และไม่มีภูมิธรรมสูงกว่านั้นที่จะต้องขวนขวายบรรลุอีก จึงได้แก่
พระอรหันต์

สอุปาทิเสสบุคคล คือผู้ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ คือยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ซึ่งก็หมายถึงยังมีกิเลส
เหลืออยู่บ้างนั่นเอง จึงได้แก่ทักขิไณยบุคคล ๓ ระดับต้น ส่วนอนุปาทิเสสบุคคล คือผู้ไม่มี
อุปาทิเหลืออยู่ คือไม่มีอุปาทานเหลือ ซึ่งก็หมายถึงว่าไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลยนั่นเอง จึงได้แก่
พระอรหันต์

พึงสังเกตว่า ในที่นี้ แปลคำอุปาทิ ว่าอุปาทาน คือความยึดมั่นที่เป็นตัวกิเลสเอง ให้ต่างจากอุปา
ทิใน สอุปาทิเสสนิพพานและ อนุปาทิเสสนิพพานซึ่งแปลว่าสิ่งที่ถูกยึดมั่น อันหมายถึงเบญจขันธ์
ความจึงไม่ขัดแย้งกัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2021, 12:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ในพระสูตรที่แสดงข้อปฏิบัติสำคัญๆ เช่น สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ เป็นต้น ในตอน
ท้ายมักมีพุทธพจน์ ที่ตรัสทำนองสรุปแบบส่งเสริมกำลังใจของผู้ปฏิบัติว่า เมื่อได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติ
นั้นๆ แล้ว พึงหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาผล ๒ อย่างนี้ได้ คือ “ทิฏเฐว ธมฺเม อญฺญา, สติ วา
อุปาทิเสเส อนาคามิตา” (อรหัตตผลในปัจจุบัน, หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็เป็นอนาคามี) ซึ่ง
เห็นได้ชัดว่า คำว่าอุปาทิในกรณีเช่นนี้หมายถึง อุปาทาน หรือพูดอย่างกว้างๆ ว่า กิเลสนั่นเอง

ทักขิไณยบุคคล หรือ อริยบุคคล ๘ ก็คือ ทักขิไณยบุคคล หรือ อริยบุคคลใน ๔ ระดับข้างต้นนั้นเอง
ที่แบ่งซอยออกไประดับละคู่ ดังนี้

๑. โสดาบัน (ท่านผู้ทำให้แจ้ง คือบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว)

๒. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล

๓. สกทาคามี (ท่านผู้ทำให้แจ้งสกทาคามิผลแล้ว)

๔. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล๑

๕. อนาคามี (ท่านผู้ทำให้แจ้งอนาคามิผลแล้ว)

๖. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล๑

๗. อรหันต์ (ท่านผู้ทำให้แจ้งอรหัตตผลแล้ว)

๘. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล๑

ทักขิไณยบุคคล ๘ จัดเป็น ๔ คู่ ชุดนี้นี่แล ที่ท่านหมายถึงว่าเป็น สาวกสงฆ์ หรือพระสงฆ์สาวกของ
พระพุทธเจ้า ที่เป็นอย่างหนึ่งในพระรัตนตรัย หรือเป็นชุมชนในอุดมคติของพระพุทธศาสนา ดังคำ
ในบทสวดสังฆคุณว่า “ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ, อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา, เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ”
(ได้แก่คู่บุรุษ ๔ ตัวบุคคล ๘ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้...) และสาวกสงฆ์นี้แล ที่ต่อมา
นิยมเรียกกันว่า อริยสงฆ์

ในชั้นพระไตรปิฎก พบใช้คำว่า “อริยสงฆ์” แห่งเดียว ในข้อความที่เป็นคาถาในอังคุตตรนิกาย ฉักก
นิบาต คือใช้อริยสงฆ์ เป็นไวพจน์ของสาวกสงฆ์ ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาจึงใช้คำว่าอริยสงฆ์กัน
ดื่นขึ้น ดังจะเห็นได้ชัดเจนในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์

เมื่อนิยมเรียกสาวกสงฆ์ เป็นอริยสงฆ์แล้ว ก็เรียก ภิดษุสงฆ์ เป็น สมมติสงฆ์ (สงฆ์โดยสมมติ คือ
โดยการตกลงหรือยอมรับร่วมกัน ได้แก่ ชุมนุมพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ไม่เจาะจงรูปใดๆ) เป็น
อันเข้าคู่กัน (สาวกสงฆ์ คู่กับภิกษุสงฆ์, อริยสงฆ์ คู่กับสมมติสงฆ์)

อย่างไรก็ดี การเรียกว่า อริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์นี้ นับว่าเป็นการเรียกที่มีหลัก และเป็นการเน้นความ
หมายที่มีประโยชน์อีกด้านหนึ่งของคำว่าสงฆ์ จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใดๆ ในการที่จะใช้กันอย่างแพร่หลาย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2021, 17:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




SmartSelectImage_2021-05-22-17-16-37.jpg
SmartSelectImage_2021-05-22-17-16-37.jpg [ 63.64 KiB | เปิดดู 1810 ครั้ง ]
เพื่อมองเห็นชัดเจนขึ้น จะแสดง ทักขไณยบุคคล พร้อมด้วยไตรสิกขา ที่บำเพ็ญ และที่ละ
ดูภาพประกอบ

แบบที่ ๒ ทักขิไณยบุคคล ๗ หรือ อริยบุคคล ๗

เกณฑ์แบ่งแบบนี้ จัดตามอินทรีย์ที่แก่กล้าเป็นตัวนำในการปฏิบัติ และสัมพันธ์กับวิโมกข์ ๘
จึงควรทราบอินทรีย์ และวิโมกข์ ๘ ก่อน

อินทรีย์ แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจ หมายถึง ธรรมที่เป็นเจ้าการ ในการครอบงำหรือ
กำราบสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ในการปฏิบัติธรรม คือ ความขาดศรัทธา ความเกียจคร้าน
ความเพิกเฉยปล่อยปละละเลย ความฟุ้งซ่าน และการขาดความรู้ ความหลงผิด หรือ
การไม่ใช้ปัญญา

อินทรีย์เป็นอำนาจที่หนุนนำให้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้ มี ๕ อย่าง คือ สัทธา (ความเชื่อ)
วิริยะ (ความเพียร) สติ (ความระลึกได้ หรือครองใจไว้กับกิจที่ทำ) สมาธิ (ความมีจิตตั้งมั่น)
และปัญญา (ความรู้ชัดหรือความเข้าใจ)

ในการปฏิบัติธรรม อินทรีย์แต่ละอย่างของต่างบุคคล จะยิ่งหรือหย่อนไม่เท่ากัน อินทรีย์
ที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการบรรลุธรรม จนเป็นเกณฑ์แบ่งประเภททักขิไณย หรือ
อริยบุคคล มี ๓ อย่าง คือ สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา) สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ)
และ ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)

วิโมกข์ แปลว่า ความหลุดพ้น หมายถึงภาวะที่จิตหลุดพ้นจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลาย
เพราะจิตนั้นยินดียิ่งในอารมณ์ที่กำลังกำหนด จึงน้อมดิ่งเข้าอยู่ในอารมณ์นั้น ในเวลานั้น
จิตปราศจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าเป็นความหลุดพ้น แต่ก็เป็นเพียงความ
หลุดพ้นด้วยกำลังสมาธิในฌานสมาบัติ และเป็นไปชั่วคราวตราบเท่าที่อยู่ในฌานสมาบัติ
เหล่านั้น ไม่ใช่วิมุตติที่เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งเป็นไวพจน์ของ
พระนิพพาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2021, 17:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




SmartSelectImage_2021-05-22-17-33-37.jpg
SmartSelectImage_2021-05-22-17-33-37.jpg [ 30.5 KiB | เปิดดู 1810 ครั้ง ]
ในการปฏิบัติ อินทรีย์จะมาสัมพันธ์กับวิโมกข์ดังนี้ คือ
เมื่อเริ่มปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะมีสัทธิน
ทรีย์ หรือ ปัญญินทรีย์ อย่างใดอย่างหนึ่งแรงกล้า เป็นตัวนำ

วิโมกข์มี ๘ อย่าง คือ

๑. ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (หมายถึง รูปฌาน ๔ ของผู้ที่ได้ฌานโดยเจริญที่กำหนดวัตถุ
ในกายตัว เช่น สีผม เป็นต้น เป็นอารมณ์)

๒. ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (หมายถึงรูปฌาน ๔ ของผู้ที่
ได้ฌานโดยเจริญกสิณ กำหนดอารมณ์ภายนอก)

๓. ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (หมายถึง ฌานของผู้เจริญวรรณกสิณ กำหนดสีที่งามหมดจด
เป็นอารมณ์ หรือตามคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ว่า ฌานของผู้เจริญ อัปปมัญญา คือ พรหม
วิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา เป็นอารมณ์ ซึ่งทำให้มองเห็นคนสัตว์ทั้ง
หลาย งดงามน่าชมไปหมด ไม่น่ารังเกียจเลย)

๔. เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจ
นานัตตสัญญา (ความกำหนดหมายภาวะที่เป็นต่างๆ) จึงเข้าถึง อากานัญจายตนะโดย
มนสิการว่า อากาศ (ช่องว่าง) หาที่สุดมิได้

๕. เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญานัญจายตนะ
โดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้

๖. เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ
โดยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเลย

๗. เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญา
ยตนะอยู่

๘. เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงสัญญาเวทยิต
นิโรธอยู่

ว่าโดยสาระสำคัญ วิโมกข์ ๘ ก็คือ การแสดงสมาบัติทั้งหลาย (ครบถึงอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙)
อีกแนวหนึ่งนั่นเอง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2021, 05:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าผู้นั้นไปบำเพ็ญสมถะจนได้ วิโมกข์ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ที่ว่าได้วิโมกข์
ในที่นี้หมายถึงวิโมกข์ที่ ๔ ขึ้นไป (คือได้ถึงอรูปฌาน) ส่วนผู้ที่ยังคงมีสัทธินทรีย์หรือปัญญินทรีย์
เป็นตัวนำ ก็อาจได้ถึงรูปฌานที่ ๔ แต่ไม่สามารถได้ อรูปฌาน พูดคลุมๆ ว่าไม่อาจได้วิโมกข์
(อย่างไรก็ดี ถึงหากจะมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ แต่เมื่อถึงตอนท้ายสุด สมาธินทรีย์นั้นก็ต้อง
กลายเป็นฐานให้แก่ปัญญินทรีย์อยู่ดี ต่างแต่ว่า กว่าจะถึงตอนนั้น สมาธินทรีย์ก็ได้ช่วยให้เกิด
วิโมกข์เสียก่อนแล้ว)

ทักขิไณย หรือ อริยบุคคล ๗ สัมพันธ์กับอินทรีย์และ วิโมกข์ ดังจะเห็นได้ต่อไปนี้

อย่างไรก็ดี ตามปกติ ทักขิไณย ๗ นั้น ท่านแสดงตามลำดับจากขั้นสูงลงมาต่ำ แต่ในที่นี้ เพื่อให้
เข้ากับแบบที่ ๑ จึงจะแสดงจากขั้นต่ำขึ้นไปหาขั้นสูง ดังนี้

ก. พระเสขะ หรือ สอุปาทิเสสบุคคล

๑. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา) ได้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุ
โสดาปัตติผล ที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า อบรมอริยมรรค โดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ (ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุ
ผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุตติ)

๒. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม) ได้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัต
ติผล ที่มีปัญญินทรีย์แรงกล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ (ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุผลแล้ว
กลายเป็นทิฏฐิปัตตะ)

๓. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) ได้แก่ ผู้ที่เข้าใจอริยสัจธรรมถูกต้องแล้ว เห็นธรรมที่พระ
ตถาคตประกาศโดยแจ่มชัด ประพฤติปฏิบัติถูกต้องดี และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็น
(อริยสัจ) ด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า (หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป
จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล ที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า; ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุอรหัตผล กลาย
เป็นปัญญาวิมุต)

๔. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ) ได้แก่ ผู้ที่เข้าใจอริยสัจธรรมถูกต้องแล้ว เห็นธรรมที่พระ
ตถาคตประกาศโดยแจ่มชัด ประพฤติปฏิบัติถูกต้องดี และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็น
(อริยสัจ) ด้วยปัญญา (หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตผล
ที่มี ปัญญินทรีย์แรงกล้า; ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุอรหัตผล กลายเป็นปัญญาวิมุต)

๕. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือผู้ประจักษ์กับตัว) ได้แก่ ผู้ที่ได้สัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วย
กาย และอาสวะ บางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา (หมายถึง ผู้บรรลุโสดา
ปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตผล ที่มีสมาธินทรีย์แรงกล้า; ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุ
อรหัตผล กลายเป็นอุภโตภาควิมุต)

ข. พระอเสขะ หรือ อนุปาทิเสสบุคคล

๖. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา) ได้แก่ ท่านผู้มิได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แต่อาสวะทั้ง
หลายสิ้นไปแล้ว เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา (หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเป็นตัว
นำมาโดยตลอด จนสำเร็จ)

๗. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน) ได้แก่ท่านผู้ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย และอาสวะทั้ง
หลายก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา (หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็น
อย่างมากก่อนแล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ จนสำเร็จ)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron