วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 19:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2020, 10:04 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, มกราคม ๒๕๕๐
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑ อย่าหลงเชื่อสังขารมาร
หน้า ๓๘๑-๓๙๓


รูปภาพ

อย่าหลงเชื่อสังขารมาร
พระธรรมเทศนาโดย...
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐

*************

บัดนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา การนั่งสมาธิภาวนานี้ให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตา เพราะเวลานั่งสมาธิภาวนานี้เป็นเวลาหยุด ไม่มีการยืน การเดิน ไม่ต้องใช้ตาก็ได้

เมื่อเราหลับตาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ระลึกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีอยู่ในใจ ในตัวเรานี้ ไม่ต้องคิดแส่ส่ายออกไปว่าพระพุทธเจ้าอยู่โน้น พระธรรมอยู่โน้น พระสงฆ์อยู่โน้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ให้น้อมเข้ามา รวมเข้ามาอยู่ที่ตัว อยู่ที่ใจ ใจที่เราภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

นี้แหละเป็นที่ฐานของพระพุทธเจ้า เป็นที่ฐานของพระธรรม เป็นที่ฐานของพระสงฆ์ เป็นวัตรของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า วัตรปฏิปทา ข้อปฏิบัติ

เพราะพระธรรมวินัยคำสอนของพระองค์ ที่ท่านตรัสไว้มากมายประการใดก็ตาม เมื่อย่นย่อเข้ามาแล้วก็เพื่อยังดวงจิตดวงใจของเราให้สงบระงับ เพื่อละความโกรธ ความโลภ ความหลง ให้เบาบางหมดสิ้นไป

พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดง ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงวันปรินิพพาน ๔๕ พรรษา เมื่อท่านจัดเข้าในพระไตรปิฎก ก็เรียกว่า พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ร่างกายตัวตนของเราทุกวัน เมื่อจัดเข้าในหลักพระธรรมก็คือ ตู้พระไตรปิฎก นั่นเอง พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ก็คือ กาย วาจา จิตของแต่ละบุคคล เพราะพระธรรมคำสอนของพระองค์ทั้งมวลนั้นต้องการให้สาวกผู้สดับรับฟังทั้งหลายประพฤติปฏิบัติ

คำว่า ประพฤติปฏิบัติ ก็ให้เราท่านทั้งหลายทำความดี มีการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ทำสมาธิภาวนาจนให้เกิดปัญญา ท่านจึงรวมเข้าในไตรสิกขา ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าศีลบริสุทธิ์ สมาธิตั้งมั่นจนเกิดปัญญา จนเกิดโลกุตรปัญญาแล้ว ก็เป็นทางที่เรียกว่าหลุดพ้นออกจากกิเลสต่างๆ ได้

การนั่งสมาธิภาวนานี้อย่าไปหลงสังขารมาร ผู้ที่นั่งสมาธิภาวนาได้น้อยหรือไม่ได้นั่งก็คือเชื่อสังขารมาร มารคือสังขาร มารคือสังขารนี้เป็นตัวสำคัญที่ไม่ให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนั่งสมาธิภาวนาได้

คือเราจะนั่งตอนเช้า สังขารมารก็คอยบอกว่ายังเช้านัก ยังไม่นั่งสมาธิภาวนาก็ได้ สายๆหน่อยนั่งก็ไม่เป็นไร ทีนี้ถ้าเราไปเชื่อมั่นตอนเช้าก็ตกไป ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนา

ทีนี้เมื่อถึงเวลาสาย บางวันก็ลืมไปเลย บางวันก็นึกได้ พอนึกได้จะทำท่าลุกขึ้นนั่งสมาธิภาวนา สังขารมารมันก็ว่าอีกแหละ ไม่ต้องนั่งก็ได้ท่าน หลังฉันหรือบริโภคอาหารแล้วท้องก็ยังอืดๆ อยู่ พักผ่านเสียก่อนก็ได้ ตอนบ่ายๆ จึงค่อยนั่งก็ได้

ทีนี้ถ้าเชื่อสังขารมาร มันก็หลงไปตามอีกแหละ เลยที่ตอนเช้ามันบอกว่าสายแล้วก็ภาวนาได้ เมื่อถึงสายมันก็บอกว่าบ่ายก็ได้ ให้ท้องยุบเสียก่อนสบายดี ถ้าเชื่อละก็ไม่ได้นั่ง

ทีนี้ตอนบ่ายมันก็เอาอีก เลยลงท้ายที่สุด ตลอดวันตลอดคืนไปเชื่อสังขารมารไม่ได้เรื่อง

พระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็เพราะไปเชื่อสังขารมารตัวนี้ ผัดวันประกันพรุ่งอย่างโน้นอย่างนี้เรื่อยไป

นับแต่พระองค์ออกผนวช ๖ พรรษาจึงมาได้สติ ไม่เชื่อสังขารมาร คิดดูสิว่าวัที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงทำสมาธิภาวนาผินหลังให้แก่ไม้โพธิ์ ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหน่อย

ในขณะที่พระองค์นั่งสมาธิครั้งนั้น พระองค์มีสัจจอธิษฐาน ตั้งอกตั้งใจเต็มที่ว่าการนั่งคืนนี้เป็นการนั่งอย่างเอาเป็นเอาตายทีเดียว พูดง่ายๆ ก็เรียกเอาเป็นเอาตายกัน จะไม่ลุกจากที่นั้นเป็นอันขาด ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้คุณความดีอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในวันนั้น

ตายเสียที่นั้นดีกว่า เพราะพระองค์จับกลมารยาของสังขารมารได้ มันคอยโกหกพกลมพระองค์อยู่เสมอๆ เลยมันผลัดไปตามอาการเหล่านั้นอยู่เรื่อยไป จึงไม่ได้สำเร็จ

ในวันวิสาขบูชานั้น พระองค์ไม่เคลื่อนที่ นั่งแล้วก็เป็นว่านั่ง ถึงกระนั้นในตำราโบราณท่านว่า พญามาราธิราช โจมตีอย่างขนาดหนัก พระองค์ก็ไม่ท้อถอย บอกว่าให้ลุกพระองค์ก็ไม่ลุก

ทำอย่างไร พระองค์กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก ลุกไปไหนก็จะต้องตายภายในร้อยปี ภายในแปดสิบปี พระองค์เพ่งลงที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ว่า เห็นไหมที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าเข้าไปแล้วออกไม่ได้ ติดขัดอย่างใดอย่างหนึ่งตายได้

หรือว่าลมหายใจออกแล้ว สูดเข้าไม่ได้ อะไรติดขัดปอด ติดขัดเข้าก็ตาย

พระองค์เอาลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ดูความตายทุกลมหายใจเข้าออก เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธก็พระองค์เองยังไม่ได้เป็นพระพุทธ มันเป็นผุดไปผุดมาตามสังขารมารนั้นตลอดกาล ไม่เป็นพุทธะได้

พระองค์ก็เอาความตายมาเตือนจิตพระองค์ทุกลมหายใจเข้า หายใจออก จนกระทั่งศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสบังเกิดขึ้นในจิต ในใจของพระองค์ว่ามันตายแน่ ที่แท้ก็คนเราตายมันก็ลมหายใจขาด ลมหายใจไม่มีนี่แหละมันตาย

พระองค์ก็เพ่งอยู่ในลมเข้า ลมออก

ลมเอาเป็นอาการ จิตผู้รู้เห็นลมเข้าออก ลมเข้าออกมันไม่รู้จักตัวของมันเป็นลมเข้า ลมออก

คำว่า ลม ลมก็ลมสมมติของโลกว่าลม จริงๆ มันไม่ได้สมมติตัวของมัน คนเราไปสมมติต่างหาก

พระองค์ก็เพ่งให้มันเห็นว่า ทุกลมหายใจเข้าออกมันตายแน่ ใครที่เกิดมาในโลกไม่ตายมันไม่มี ไม่ตายเวลาเด็กก็ตายในเวลาหนุ่ม ไม่ตายเวลาหนุ่มก็แก่ชรามันตาย


ตัวเราก็ต้องตายอย่างนี้ ก่อนที่จะถึงวันตายควรให้ได้ละกิเลส ราคะ โทสะ โมหะให้หมดไป สิ้นไป เรียกว่า ตรัสรู้

พระองค์ตั้งใจแน่วแน่มั่นคง หนักแน่น มีสัจจอธิษฐาน ตั้งใจลงไปมั่นคง นึกถึงทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ที่ได้บำเพ็ญมา ปัญญาบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

บารมีทั้ง ๑๐ ประการที่พระองค์บำเพ็ญมาเต็มบริบูรณ์แล้ว เข้ามารวมอยู่ในจิตดวงที่มีความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในดวงจิตของพระองค์นั้นเรียกว่า หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน

แผ่นดินภายนอกยังมีแผ่นดินไหวได้ ส่วนน้ำพระทัย ใจของพระพุทธเจ้าเมื่อระลึกถึงทาน ศีล ภาวนาเข้ามารวมที่ลมหายใจเข้าออก ทุกสิ่งทุกอย่างมารวมที่ดวงใจ มั่นคงหนักแน่นยิ่งกว่าพสุธาหน้าแผ่นดิน ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดๆ ทั้งหมด ชีวิตก็เสียสละลงไปได้ แม้จะตายในเวลานั้นพระองค์ก็ไม่กลัว

โบราณาจารย์เจ้าทั้งหลายท่านจึงแสดงรูปนิมิตว่า นางธรณีมารีดน้ำมวยผม ให้เป็นน้ำมหาสมุทร ทะเล พัดพาพญามาร เสนามาร กิเลสมารลงมหาสมุทร มีจรเข้เหรากินพวกพญามาร

เป็นบุคคลาธิษฐาน คำว่า นางธรณี ก็คือ ธรณี ธรณีก็คือแผ่นดิน

เมื่อจิตใจของพวกเราทั้งหลายมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดินแล้ว เอาแบบอย่างแผ่นดินแล้ว เป็นอันว่าสู้สังขารมารได้ สู้กิเลสพันห้า ตันหาร้อยแปดได้ ถ้าเอาใจอย่างแผ่นดิน

ดูแผ่นดิน ฝนตกลงมาในฤดูฝน แผ่นดินก็อยู่อย่างเก่า ไม่หวั่นไหว แดดออกในฤดูแล้ง ร้อนจนจะเกิดเป็นไฟ แผ่นดินก็ไม่หวั่นไหว หนาวจนเป็นน้ำแข็งจับหญ้าจับดิน แผ่นดินก็ไม่หวั่นไหว

มนุษย์เกิดมาในโลกนี้ สมมติว่าแผ่นดินตอนนั้นเป็นประเทศนั้น ประเทศนี้ ทุบก่นเผาไฟ ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งเอาระเบิดปรมาณู ไฮโดรเจนทิ้งลงไปในแผ่นดิน แผ่นดินก็เฉยอยู่อย่างนั้น

นี่แหละธรณี นางธรณีก็คือว่าแผ่นดิน

ถ้าจิตใจของสมณนักบวช นักบ้าน คฤหัสถ์ บรรพชิต เลื่อมใสในพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ย่อมไม่มีความหวั่นไหวประการใด

แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว เป็นธรรมดาต้องกิน ต้องนอน ต้องอะไรต่ออะไรจิปาถะ มันเป็นเรื่องของธาตุ เป็นเรื่องของขันธ์ จิตใจอย่าได้หวั่นไหวไปตามอาการเหล่านั้น

เมื่อเราจะทำอะไร เป็นต้นว่าจะนั่งสมาธิภาวนาก็อย่าให้สังขาร กิเลสมารเหล่านี้มาหลอกลวง หรือจะสมาทานเนสัชชิกธุดงคกรรมฐาน (อธิษฐานไม่นอน) ก็ให้ตั้งใจมั่นลงไป อย่าไปกลัวว่ามันจะเกิดโรคอย่างนั้น มีภัยอย่างนี้

โรคภัยไข้เจ็บใดๆ มันไม่เลยตายไปได้ แค่ตายเท่านั้นแหละ อดหลับอดนอน มันไปแค่ตายเท่านั้นแหละ อย่างมันแรงกล้าก็ตายเท่านั้น บอกสังขารมารให้มันรู้ไว้ว่าเราสู้ตาย ท่านรู้ไหมสังขารมาร ไม่ต้องมาหลอกลวงเราอีกต่อไป

นั่งภาวนาพุทโธ พุทโธ ทุกลมหายใจเข้าออกนี้ ถ้าจิตใจนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลายตั้งลงไปได้อย่างนี้ ดวงจิตดวงใจของผู้ตั้งได้นั้น หากรู้สึกตัวทีเดียว มีความเบากาย เบาใจ สว่างไสว เหมือนกับว่ามีพละกำลังเกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจ

ใจอันนั้นกล้าหาญขึ้นมา ไม่กลัวตาย ไม่กลัวเหน็ดกลัวเหนื่อย ไม่ท้อแท้อ่อนแอ


ขึ้นชื่อว่าการนั่งสมาธิภาวนาแล้ว ได้เวลาให้รีบทำ ให้รีบๆ ด่วนๆ รีบทำ ถ้าไม่รีบทำ ไม่ด่วน ทำไม่ได้

คำว่า ไม่ได้ คือจะเชื่อสังขารมาร หรือเชื่อคนที่ไม่ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญภาวนา มันก็มีแต่จะให้ท้อถอยนั่นเอง ดังนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงตรัสไว้ว่า ตุริตะ ตุริตัง สีฆะ สีฆัง ท่านว่าอย่างนั้น

คือว่าเวลาทำความดี ภาวนาทุกลมหายใจเข้าออกให้รีบๆ ด่วนๆ คือให้ตั้งใจทำ ตั้งใจปฏิบัติเสียในขณะนี้ ถ้าไม่รีบทำแล้วมันจะเป็นอย่างไร ก็กิเลสมาร สังขารมารมันพาไปจนเฒ่า จนแก่ จนชรา จนจะตาย หรือว่าถึงวันตายก็ไม่มีเวลาอีก

คนที่ไม่มีเวลา ก็คือว่า เชื่อสังขารมารตัวนี้แหละ

นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ไปเชื่อสังขารมาร ทุกลมหายใจเข้าออก บอกกรรมฐานให้สังขารมารรู้ว่า นี่แน่ ลมหายใจเข้าออกมันรอวันตายอยู่ทุกขณะ ทุกเวลา

พระพุทธองค์ท่านกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้แหละเป็นบาทสมถกรรมฐาน เป็นบาทแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ยังจิตใจของพระองค์ให้ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติได้

เราทุกคน ทุกตน ทุกองค์ก็มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเหมือนกัน มีดวงใจครองอยู่ในร่างกายสังขารนี้เหมือนกัน สิทธิพิเศษคือผู้ใดเอาชนะกิเลสในหัวใจของตนได้ก็รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งพระนิพพานได้ ไม่ต้องสงสัย ไปมัวสงสัยอยู่ทำไม

คำว่า สงสัย ก็คือว่าไม่ตกลงใจ ไม่ปลงใจลงในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ตั้งใจกระทำปฏิบัติในขณะนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้นั่นเอง ท่านเรียกว่าสงสัย

สงสัยบุญเก่า สงสัยบุญใหม่ สงสัยอะไรต่อมิอะไรจิปาถะ เลิกความสงสัยออกไป

พระองค์ตรัสว่าเรื่องอดีต อนาคตแล้วอย่ายื่นมือชูงวงออกไป ถ้ายื่นมือชูงวงออกไปเป็นอันว่าติดหมด ไปไม่รอด ไปไม่ได้


ถ้าตั้งใจลงไปขณะนี้แล้ว ดวงใจอันมีความรู้อยู่ภายในใจเราทุกคน มีอยู่หรือไม่ ก็ย่อมตอบได้ว่ามีอยู่ ถ้ามันไม่มีเราจะมาพูดอย่างไรได้ ถ้าไม่มีจะมานั่งฟังธรรมได้หรือ มันมีอยู่นี่แหละ นี่แหละบุญบารมีอยู่ตรงนี้

เราก็ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา รวมกำลังจิตกำลังใจเข้ามาสู่ดวงจิตที่มีความรู้อยู่ภายใน วางจิตสังขาร จิตวิญญาณ จิตกิเลสที่แส่ส่าย ลุ่มหลง คิดถึงโน้นคิดถึงนี้ คิดถึงหมู่คณะ เพื่อนฝูง บ้านเรือน สถานที่ ป่าเขาลำเนาไพร

ในที่อื่นนอกจากปัจจุบัน เป็นความผิดทั้งนั้น ความถูก ความตรงก็พระองค์ตรัสไว้ว่า ตัตถะ ตัตถะ ในที่นั้นๆ

คำว่า ตัตถะ ตัตถะ ในที่นั้นๆ ก็หมายถึงดวงใจผู้รู้ มีอยู่ภายในใจทุกคนนั้น รวมลงที่นี้ มีอยู่ในใจ มีอยู่ในจิต มีความรู้สึกอยู่ในที่นี้

เมื่อกำลังจิตอันนี้รวมเข้ามา ตั้งลงไป สงบลงไปจนเชื่อแน่ เชื่อมั่นว่ามีอยู่ในใจในจิตนี้จริงๆ ไม่ใช่มีอยู่ในที่อื่น

ศีล รักษากาย วาจา ก็คือดวงใจนี้แหละเป็นผู้รักษา สมาธิตั้งใจมั่น ก็อะไรจะมาตั้ง ก็จิตนี้แหละตั้ง ปัญญา ความรู้ในกองสังขาร สังขารก็จิตอันนี้แหละ มันจะนอกเหนือไปจากจิตอันนี้ไม่มี นอกเหนือไปจากดวงใจไม่มีเลย

ดวงใจอันเดียวนี้แหละ มันเป็นได้ทั้งรู้ มันเป็นได้ทั้งหลง


เมื่อปล่อยให้มันหลงใหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์แล้ว ใจอันนี้ จิตอันนี้มันก็หลงมา กระทั่งวัน กระทั่งคืน ตลอดตั้งแต่เกิดจนแก่ ตั้งแต่แก่จนตาย หลงใหลมาอย่างนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว

เมื่อภาวนาทำความเพียร เพียรแผดเผากิเลสในหัวใจอันนี้ให้มันเบาบางหมดสิ้นไป ก็คือว่าเพียรเพ่งอยู่จำเพาะดวงจิตอันนี้ เตือนบอกดวงจิตดวงที่มีความรู้สึกอยู่ภายในนี้ว่านอกจากจิตที่รู้อยู่ ตั้งอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ออกไป จะเป็นอดีต อนาคต มันคืออย่างไร ไม่เที่ยงทั้งหมด

ไม่มีอะไรที่เป็นของเที่ยงมั่นถาวรอยู่ได้เลยในโลกนี้ เป็นทุกข์เปล่าๆ นอกจากที่รู้อยู่นี้เป็นทุกข์ นอกจากที่รู้อยู่นี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา

แม้ที่รู้อยู่นี้ก็ยังไม่แน่เพราะยังมีอาสวะกิเลสต่างๆ ห่อหุ้มเต็มดาษดื่นอยู่ จำเป็นต้องทำความเพียรแผดเผากิเลสในที่นี้ บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนาในที่นี้ ในดวงจิตที่มีความรู้อยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เวลานี้

คอยระวัง เสียงเข้ามาทางหู อย่าได้ไปตามมัน รูปผ่านทางสายตา อย่าได้ตามมันไป กลิ่นมาทางจมูก อย่าได้หลง รสอาหารผ่านลิ้น อย่าได้หลงไป เย็นร้อนอ่อนแข็งมาทางผิวกาย อย่าได้หลงไป ความนึกคิดปรุงแต่ง ดีชั่วประการใด อย่าได้หลงไปตามอาการเหล่านั้น

ทำไมพระองค์จึงไม่ให้หลง พระองค์ให้รู้ ท่านว่าให้รู้อยู่เดี๋ยวนี้

ท่านทั้งหลายรู้อยู่ ไปมาพอแรงแล้ว รู้ไปโน้น รู้ไปนี้ จะเอาอย่างโน้น จะเอาอย่างนี้ มันได้อะไร ได้ก็แต่ชรา มรณะ ตายเกิด ตายเกิด ตายอยู่ในโลกนี้เห็นไหม เพราะทุกคนเกิดตาย เกิดตาย อยู่เหมือนกันเสียง ตั้งขึ้นก็ดับไป

รูปตั้งขึ้นมันก็ดับไป มีความเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมมีความดับไปในที่นั้น

ท่านให้รู้ รู้อันนั้นมันเป็นคำบอก คำสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อท่านเตือนว่าท่านให้รู้จิตของผู้ใด ผู้นั้นก็ให้รู้สึกตัว อย่าไปมัวเมาตามอารมณ์ของจิต ตามสังขารของจิต ตามตัณหาของจิต

ตัณหา ท่านว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือ ตัณหาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด มันมีอยู่ในดวงใจนั่นแหละ ที่จะเลิกได้ ละได้ อยู่ที่ความเพียรเพ่งอยู่

ความเพียรเพ่งอยู่ไม่หลงใหลไปตามตัณหาทั้งหลาย แผดเผาตัณหาเหล่านี้ให้หมดไป สิ้นไป ก็คือว่า ไม่ตามตัณหา ความอยาก ความปรารถนา อันบังเกิดในดวงจิตดวงใจนั่นเอง

มันจะมีความดิ้นรนวุ่นวายไปตามตัณหาอย่างใดก็ตาม สงบอยู่ รู้อยู่ แจ่มแจ้งอยู่ ณ ภายในดวงใจ

ท่านให้เห็นแจ้งลงไปในใจอันนี้ แล้วก็นอกใจออกไปก็ให้เห็นแจ้ง มันไม่มีอะไรเที่ยงมั่นถาวร อยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีเลย

แล้วก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นสุขกายสบายใจตลอดเวลา ไม่มีเลย มีแต่ทุกข์นั่นแหละ นั่งเป็นทุกข์ในนั่ง นอนเป็นทุกข์ในนอน ยืนเป็นทุกข์ในยืน เดินไปมาเป็นทุกข์ในการเดินไปมา


พูดจาปราศรัย แสดงธรรม มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นสุข ที่เราสมมติอันนั้นเป็นสุข อันนี้เป็นสุข ไม่จริงทั้งนั้น

ถ้ามันสุขจริง ตายแล้วทำไมมันมาเกิด มันไม่มีสุขหรอก สุขนั้นมันเป็นความหลงของปุถุชนคนที่ยังมีกิเลสหนา พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของความทุกข์ เป็นเรื่องของความไม่รู้ต่างหาก

พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงบำเพ็ญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ ท่านทำความเพียรภาวนาอยู่ตลอดเวลา หรือว่าเร่งทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา จึงมีการไม่หลับนอน

คือว่า การต่อสู้กับกิเลสในหัวใจ ถ้าไปมัวหลับมัวใหล มัวนอนเสีย กิเลสมันก็ย่ำยี สู้มันไม่ได้


ทีนี้ถ้าเราลุกขึ้นมานั่งกรรมฐานภาวนา พิจารณาอสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน อาทีนวโทษในธาตุขันธ์ ในรูป ในนามนี้อยู่ ชี้แสดงให้ดวงจิตดวงใจที่ลุ่มหลงมัวเมาอันนี้ให้รู้สึกสำนึกตัว จะได้ทำความเพียรแผดเผากิเลส

กิเลสคือความไม่รู้ กิเลสคือความหลง กิเลสคือความเมา เมื่อได้หลงได้เมาสิ่งใดแล้วไม่รู้สึกตัวแหละ มืดมิดปิดทาง ไม่มีทางใดจะมามืดมิดปิดทางเท่ากับความหลง ความไม่รู้ ความไม่รู้กาย ความไม่รู้รูปนาม ไม่รู้ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง

ใจไม่รู้อยู่ในใจ จิตไม่รู้ในจิต จิตไม่รู้ในปัจจุบัน ไม่เห็นแจ้งในปัจจุบัน ไม่ทำความเพียรแผดเผากิเลสในปัจจุบัน มัวเพลินไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เข้าใจว่านั่นเป็นความสุข

สุขมันเป็นสุขเจือปนด้วยอามิส มันไม่สุขจริงๆ สุขจริงๆ นั้นท่านว่าสุขในพระนิพพาน

สุขในพระนิพพานเป็นสุขที่ไม่ยึดถือ ไม่เอาอะไรเข้ามา และไม่มีอะไรออกไป แผดเผากิเลสราคะ กิเลสโทสะ กิเลสโมหะ ทั้งภายนอกภายในใจให้หมดสิ้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในเรื่องกิเลสทั้งหลาย


นี่แหละถึงเรียกได้ว่าความสุข แล้วก็สุขจริงๆ สุขตลอดกาล อนันตสุขตลอดเรื่อง ไม่กลับกลอกหลอกลวง

ส่วนสุขในโลก แม้จะสุขขนาดไหน ก็ยังเป็นความสุขอันหลอกลวงอยู่นั่นเอง เป็นท้าวพญา มหากษัตริย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นถึงจักรพัตราธิราช ก็ต้องมีความทุกข์อยู่นั่นเอง

เพราะอำนาจกิเลส กิเลสท่านเรียกว่าไฟ ไฟเป็นของร้อน ไฟราคะมีที่ไหนร้อนที่นั่น ไฟโทสะมีที่ไหนร้อนที่นั่น ไฟโมหะมีที่ไหนร้อนที่นั่น

ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจไม่รู้แจ้งเห็นแจ้ง ใจไม่ปล่อยไม่วาง ไม่เลิกไม่ละ ใจไม่ปล่อยทิ้งนี่แหละ ตัวใจที่ยึด ตัวยึดที่ตน ยึดหน้ายึดตา ยึดตีน ยึดมือ ยึดไปทุกสิ่งทุกอย่าง ยึดอยู่ได้เมื่อไร ตายแล้วมันเน่าเปื่อยผุพังฝังแผ่นดิน เผาใส่แผ่นดินเห็นหรือไม่

เมื่อยังไม่รู้ ไม่เห็น ว่าตัวจะต้องเป็นอย่างนั้น ก็ดูคนอื่น บิดามารดา ปู่ย่าตายายของเราทั้งหลาย เขาไปไหนกัน เขาตาย ตายแล้วไปไหน ก็เป็นดินนะ

ตัวเราที่มายึดมาถือว่าตัวเราของเรา ผลที่สุดมันก็เป็นดินนี่แหละ ห้ามไม่ได้


เมื่อห้ามชรา พยาธิ มรณะไม่ได้ พระองค์ห้ามจิต ห้ามจิตไม่ได้หลงไปตามเรื่องของโลกธรรมดา

ทำความรู้แจ้งในจิต นอกจากจิตที่รู้แจ้ง อนิจจังไม่เที่ยงทั้งหมด อย่าได้หลงใหลไปเป็นอันขาด

นอกจากจิตที่รู้อยู่ ทุกขัง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ทั้งนั้น นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้ไม่ใช่ตัวตนของเราทั้งนั้น ตัวตนเราเขา สมมติของโลกต่างหาก

ความจริงไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา ลองแยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูกออกไป แยกดิน น้ำ ไฟ ลมออกไปดูซิ อะไรเป็นอะไร มันไม่ว่าอะไรทั้งนั้น

นี่แหละเรื่องสมมติของโลก จงอย่าได้หลงใหลไปตามอาการเหล่านี้ จงทวนกระแสน้ำจิตน้ำใจเข้ามาสู่สมาธิภาวนา สงบจิตสงบใจตั้งมั่นอยู่ในธรรมปฏิบัติ แผดเผาแล้วแผดเผาอีก กิเลสราคะ โทสะ โมหะนี้ ถ้ายังมีอยู่ก็เพียรพยายามแผดเผาไปโดยลำดับๆ เรียกว่าไม่ถอนความเพียร

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ พระองค์ตรัสว่า ผู้จะล่วงทุกข์ไปได้เพราะความเพียร

เมื่อมีความเพียร ใจมีความเพียร จิตมีความเพียรแล้วพ้นทุกข์ได้

ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายเชื่อต่อพุทธภาษิตนี้อย่างเต็มอกเต็มใจแล้ว ไม่ต้องท้อถอย ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานให้เต็มที่ ในขณะปัจจุบันนี้เรื่อยไปทีเดียว

เมื่ออินทรีย์บารมีแก่กล้าสามารถเต็มที่เมื่อใด เวลาใด ก็จะได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน เห็นแจ้งในธรรมปฏิบัติได้ไม่ต้องสงสัย


ฉะนั้น อุบายต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เมื่อเราท่านทั้งหลายพากันได้สดับรับฟังแล้ว ได้ความจริงแจ้งในจิตของตนอย่างใด จงกำหนดจดจำไว้ ณ ภายในแล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

*************

:b49: :b50: รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673

:b49: :b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 43 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร