วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2020, 13:50 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, มกราคม ๒๕๕๐
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๖ นี่คือยอดกรรมฐาน
หน้า ๔๔๙-๔๖๒


รูปภาพ

นี่คือยอดกรรมฐาน
พระธรรมเทศนาโดย...
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๒๐

*************

ณ โอกาสนี้ไป เป็นโอกาสฟังธรรม
เป็นการปฏิบัติธรรมะไปในตัว จึงมีวิธีนั่งสมาธิภาวนา

การนั่งสมาธิภาวนานี้ ให้พากันเอาขาขวาทับขาซ้าย
เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย ตั้งกาย ตั้งตัวให้เที่ยงตรง หลับตา
บริกรรมภาวนาพุทโธในใจ หรือเอามรณกรรมฐานภาวนา


คนเราที่ไม่กลัวบาป ทำบาปได้
ก็คือว่าไม่เห็นมรณภัย ความตายที่จะมาถึงตน

พระพุทธเจ้าจึงเตือนว่าให้ภาวนามรณะ
ความตายนี้ ให้มันได้ทุกลมหายใจเข้าออก

ถ้าเราแค่นึกได้ เจริญได้ซึ่งความตายทุกลมหายใจเข้าออก
แต่จิตใจนั้นยังไม่สงบ ยังไม่เป็นดวงหนึ่งดวงเดียว
ก็ได้แค่ปริยัติธรรม คือคำว่าเรื่องตาย

แต่จิตคนเรามันหาเป็นไปอย่างนั้นไม่ จึงจำเป็นต้องนึก ต้องเจริญ
จนจิตใจนั้นเห็นด้วย เข้าใจตามที่เราฟังธรรมคำสั่งสอนนั้นด้วย
จิตนี้จึงจะเข้าสู่สมาธิภาวนาเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวอยู่ภายใน

อุบายคือ ความตาย นี้แหละ
จึงเป็นยอดกรรมฐานสูงสุดในกรรมฐานทั้งหลาย


เพราะว่าเมื่อความตายมาถึงบุคคลใดแล้ว
บุคคลนั้นจำเป็นต้องตายไปตามยถากรรมนั้นๆ

ทีนี้ที่เราจะไตร่ตรองพินิจพิจารณาให้เห็น
ก็คือว่าได้ข่าวคนอื่นตายก็รีบให้เอามาสอนใจของตน
เอามาสั่งสอนใจของเรา

ก็ไม่เฉพาะสองสามคำคิดนึกเท่านั้น แล้วก็หยุดไป
เอามาสอนมาตักเตือนจนจิตนั้นสงบระงับ
มีความสลดสังเวชในความตาย


การนึกถึงความตายไม่ใช่แค่แต่ว่านึกๆ คิดๆ แล้วก็หยุดไป
อันนั้นมันเป็นเพียงแค่ความจดจำ ว่าเราจะต้องตาย
ทุกคนที่เกิดมาจะต้องตายแน่ๆ

ถ้าเราไปฟังแต่คำพูด มันก็สุดแค่นั้นแหละ แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่แค่นั้น

ถ้าจิตมองเห็นความตายของบุคคลอื่นและของตัวเองด้วย
คนเราจะไม่นิ่งนอนใจ จะต้องรีบเร่งทีเดียว เร่งภาวนา
ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความตายนี้ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเห็นแจ้งซึ่งความตาย

คำที่ท่านสอนว่าให้นึกทุกลมหายใจ อันนั้นเป็นเรื่องของคำสอน
ส่วนการทำการปฏิบัตินั้น มันจะต้องเอามานึกมาพิจารณา
จนซึมซาบเข้าไปในหัวใจจริงๆ จนเห็นแจ้งภายในใจของตน
ว่าความตายนี้มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครจะมาแก้ไขไม่ได้
จนจิตใจมันเห็นแจ้งภายใน

ถ้ามันยังไม่เห็นแจ้งภายในทุกดวงใจ เราจะต้องมีสติระลึกอยู่
เมื่อเห็นสัตว์ตายก็เอามาเตือนใจ ไม่ว่าสัตว์ประเภทเล็ก ประเภทใหญ่
หรือสัตว์สี่เท้าสองเท้าอะไรก็ตาม ยิ่งเห็นสัตว์เหล่านั้นตายก็ให้เอามาสอนใจ

โดยเฉพาะอาหารการบริโภค อาหารการกินของคนเราทุกคน
เรากินอาหารทุกอย่าง แต่เราไม่ได้คิดถึงความตาย

อาหารมนุษย์นั้นส่วนมากก็เอาสัตว์ที่ตายมาเป็นอาหาร
ถ้าเป็นไข่ปูไข่ปลา มันก็เป็นล้านๆไข่ แต่เราก็ไม่ได้นึกให้มันเห็น
ว่าไข่แต่ละใบมันก็ตัวหนึ่งนั้นเอง ตัวหนึ่งก็คือเราคนหนึ่งนั่นเอง

ทำไมเราบริโภคอยู่ทุกวันจึงไม่ได้คิดให้เห็น
ว่าเขาตายขนาดไหน เราจะมีความตายอย่างนั้นหรือไม่
เอามานึก เอามาเจริญ จนเกิดความสลดสังเวช

ถ้าไม่มาคิดพินิจพิจารณาแล้ว จิตมันก็เลินเล่อเผอเรอ
สัตว์ต่างๆ ตายไม่เกี่ยว เราไม่ตาย
คนอื่นตายไม่เกี่ยว เราไม่ตาย ตายแต่คนอื่น

จิตมันก็ประมาท อยากพูดบาปก็พูด
อยากทำบาปก็ทำ คิดสิ่งใดเป็นบาปก็คิดได้
ไม่กลัวบาป เพราะมันไม่เห็นว่าเป็นบาป

คำว่า ไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ นั้นมันเป็นปัญหาอยู่

ดูให้เห็น อย่างว่าทำไมคนเราบางเวลาจึงเหยียบขวากเหยียบหนาม
ปักเท้า ปักตีน จนเดือดร้อน

ก็เพราะไม่เห็น ถ้าเห็นแล้วคนนั้นจะไม่เหยียบ
เห็นแล้วแม้มันจะเหยียบลงไปมันก็เต้นหนี
เพราะมันมองเห็นว่าขวากหนามหรือสิ่งแหลมคม
เมื่อมันตำเข้าตามตัวเราที่ตรงไหนก็ตาม มันต้องเกิดความเดือดร้อน

พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เห็นความตายที่จะมาถึงตน
เห็นคนอื่นตายก็อย่านึกแต่ว่าคนโน้นตาย

ถ้าคนที่เราเกลียดชังตายไปก็ดีใจ
ถ้าคนที่ตายนั้นเป็นญาติของเรา เป็นพ่อแม่เรา
หรือเป็นลูกหลานของเรา ก็เดือดร้อนด้วยความเป็นห่วงอาลัย

สิ่งเหล่านี้เราต้องคิดพิจารณาให้มันเห็น ทำไมไม่เห็น
คนเราที่เกิดมาปีเดียวเขาตายไปก่อนก็มี
เมื่อเขาตายไป ทำไมเราไม่นึก ไม่พิจารณาให้เห็น

หรือบางคนนั้น พ่อของเรานั้น เขาตายไหม พ่อเราก็ตายไป
แม่เราเขาตายไหม แม่ก็ตายไปก็มี

ในขณะที่เรานึกถึงอย่างนั้น แล้วตัวเรามันตายไหม
แม้เดี๋ยวนี้ยังไม่ตายแต่มันจะตายต่อไปในภายข้างหน้า

ต้องเอามาสอนใจของเราให้ได้ ไม่ให้ใจประมาท

ใจประมาท เห็นสัตว์ตายก็ไม่นึกถึงความตาย
ว่าแต่สัตว์โน้นตาย เห็นคนตายก็ไม่เอามาสอน
ว่าคนโน้นตาย แต่ตัวเรามันไม่ตาย และเรามันตายไม่เป็นด้วย

แต่มันจะต้องตายให้เราเห็นต่อไปในภายข้างหน้า

อันมรณกรรมฐานนี้ต้องนึกให้มาก เจริญให้มาก

นึกมากขนาดไหน เจริญมากขนาดไหน มันมีจุดอยู่
นึกเจริญจนมันสลดสังเวช มองเห็นความตายในจิตใจได้ตลอดเวลา
ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเขียนหนังสือเป็นความตาย พูดเป็นความตายเท่านั้น

จิตใจมันเห็นแจ้ง ณ ภายในว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ตัวเรา ตัวเขา ทั้งคน สัตว์
มันต้องมีความตายอย่างนี้ เจ้าตัวจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
แต่ความตายมันเป็นภัยอันใหญ่หลวง

เมื่อจิตมันเห็นอย่างนั้น แจ้งอย่างนั้น จิตมันก็สงบระงับ
ไม่ทำบาปในทางกาย ไม่กล่าวบาปในทางวาจา ไม่คิดบาปในทางจิตทางใจ

จิตใจก็มีแต่มุ่งให้ตัวเราและคนอื่นมีความสุขความสบาย
ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
เรียกว่ามุ่งให้ผู้อื่นมีความสุขตลอดเวลา

เพราะมองเห็นภัยอันตรายที่จะมาถึงตัวอยู่ตลอดเวลา
และก็ให้นึกให้เจริญอยู่ ไม่ให้มันหลง ให้มันแจ่มแจ้งในจิตในใจของเราทุกคน

เราจะอยู่ดีสบายไม่ตายไม่ได้

บางคนนั้นก่อนที่ยังไม่หลับไม่นอนก็อยู่สบายดี
เป็นพระเป็นเณรก็ไม่มีเรื่องอะไร เป็นญาติเป็นโยมก็ไม่มีเรื่องอะไร
แต่พอเข้าไปนอนหลับเท่านั้นแหละ
บางคนก็เกิดเป็นลม แก้ไขจนหายก็มี ไม่หาย ตายไปก็มี

บางคนไม่มีเรื่องอะไร เงียบหายไป ตื่นเช้าไปดู
ปรากฏว่าตายไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ตัวแข็งไปหมดแล้ว ร่างกายแข็งกระด้าง
ไม่รู้มันตายไปตั้งแต่เมื่อไร ตายแบบนี้มันมีอยู่ทั่วไป

แต่ว่าคนเราไม่เอามาภาวนา ไม่เห็น จิตมันก็ประมาท

เห็นสัตว์ตายก็ไม่สะดุ้งกลัวบาป เห็นคนตายก็ไม่สะดุ้งกลัวบาป
เพราะสติ สมาธิ ปัญญามันไม่เกิดไม่มีขึ้น
หรือว่าจิตใจภายในมันมืดมันดำ มองไม่เห็นซึ่งความตายนั้น
จิตมันก็ประมาทต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

จึงจำเป็นต้องเอามานึก มาเจริญในใจทุกๆ คน
ไม่ใช่ว่าเพ่งให้คนสอน ให้คนอื่นนึก อย่างนี้ก็ไม่ได้

เมื่อเรายังนึกได้ เจริญได้ซึ่งความตาย เอามาสอนใจของตัวเองนั้นแหละ
ให้เกิดความรู้สึกสำนึกตัวในการที่จะแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีให้มันดีขึ้น
สิ่งใดยังไม่รู้ ไม่เข้าใจในธรรมปฏิบัติก็จะได้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาในใจ
คือต้องการผลแห่งการปฏิบัตินั้น

ท่านจึงให้เอามานึกมาเจริญ ให้มองเห็นอยู่ตลอดกาลเวลา
เพราะมันเป็นธรรมภายใน ไม่ใช่คนอื่นบอกอย่างเดียว

เอาจนมันเห็นในจิตในใจผู้รู้อยู่ ในตัวในใจของเราทุกดวงใจ
ไม่ว่าจะอยู่ในเพศพรรณวรรณะใดๆ มองเห็นมันได้ตลอด

ความตายนั้น ท่านว่ามันคืบคลานเข้ามาจนถึงสมณะ นักบวช
นุ่งเหลือง นุ่งขาว นุ่งสี นุ่งอะไรก็ตาม มันคืบคลานเข้าไปได้ทุกคน

บางคราวยังมีพระอุปัชฌาย์ไปบวชนาคในช่วงใกล้ๆ ฤดูเข้าพรรษา
บวชนาคยังไม่หมดเพราะมันหลายองค์
จนค่ำมืด แล้วก็เลิกรากันไป พรุ่งนี้ค่อยบวชกันใหม่

ในคืนวันนั้นแหละ พระอุปัชฌาย์องค์นั้น พระองค์นั้น ไม่รู้ว่าเกิดโรคอะไร
จนตื่นเช้า พระเณรในวัดทั้งพระใหม่พระเก่าก็สงสัย
ว่าทำไมท่านยังไม่ลงมาจากกุฏิสักที
พระเณรก็ไปบิณฑบาตมาแล้ว ยังไม่เห็น ก็ไปตามดูที่กุฏิ

เมื่อไปตามแล้ว มันก็เกิดวิปริตขึ้นมา ไปจับเท้าก็สั่นถึงศีรษะ
ท่านตายไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แข็งกระด้างไปหมดแล้ว
เป็นอุปัชฌาย์มันก็ไม่ยกเว้นให้

เมื่อเราได้รู้ ได้เห็น ได้ฟังอย่างนี้ ก็ให้รีบมาสอนใจของเรา
ข้อแก้ตัวที่ว่าเราไม่ตาย ตายแต่อุปัชฌาย์ เราไม่ตายง่ายๆ ไม่ให้มันว่า

ก็ในเมื่ออุปัชฌาย์ยังตายได้ เราก็ต้องตายได้
พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทวดเรา ท่านทั้งหลายไปไหนเวลานี้

ก็ย่อมรวมความว่าเขาตายไปแล้ว เรายังไม่ตาย
แต่ว่าเราทุกคนนั้น หมายถึง กาย วาจา จิตนี้ จะต้องตายอย่างนั้นแน่นอน


ความคิด ความรู้ ความเห็นอันนี้ให้มันซึมซาบเข้าไปในจิตในใจ
ซึมเข้าไปจนเห็นแจ้งว่าความตายนี้มันเป็นความจริง ใครจะมากั้นไม่ให้ตายไม่ได้
กั้นอย่างหนึ่ง มันก็ตายอย่างหนึ่งให้ได้ ให้มันซึมซาบอยู่ในจิตในใจ

บางคนก็มักจะคิดว่า ข้าพเจ้ายังเด็กอยู่
เป็นสามเณรเด็กๆ อยู่ เป็นเด็กหนุ่มอยู่ไม่ตาย ไม่ได้
เวลามันจะตายขึ้นมา เด็กก็ตายได้ ไม่มีอะไรแก้ไขได้

เพราะความตายมันเป็นกรรมของแต่ละบุคคล
มันได้เวลาตายแล้วมันก็ต้องตาย จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็ตาม
เหตุการณ์แห่งความตายนั้น ท่านว่ามากมายคิดไม่ถึง

ทางที่เหมาะสม เราต้องนึกถึงมรณกรรมฐานให้มันกว้างขวางไว้
เห็นคน ก็ให้เห็นคนนั้นจะต้องตาย

ไม่ว่าเห็นคนเด็ก คนหนุ่มคนสาว คนอะไรก็ตาม เห็นก็ให้เห็นตายไปด้วย
คือไม่ตายในเวลานั้น ก็จะต้องตายในเวลาต่อๆ ไป

ภายในร้อยปี ทั้งเราทั้งเขา ทั้งนักบวช นักบ้าน
ใครจะเก่งกล้าสามารถอย่างไรก็ตาม
ความตายนี้มันเข้าไปถึงหมด ไม่มีอะไรกั้นได้

ในทางธรรม ท่านจึงให้ชื่อว่าเป็นพญาใหญ่
ความตายนี้เป็นพญาใหญ่ เป็นผู้มีอิทธิพลใหญ่ยิ่ง
ใครจะกล้ามารบกับพญามัจจุราชคือความตายนั้น ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้

อาวุธจะดีขนาดไหนก็ตาม
จะมาสู้กับพญามัจจุราชคือความตายนั้นไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ไปหมด

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราท่านทั้งหลาย นึกให้เห็น เจริญให้ได้
เอาจนกระทั่งนั่งก็มองเห็นความตายจะมาถึงตัวเราอยู่

นอนสบายก็ไม่ให้ลืมว่าสบายขนาดไหนก็ตามแต่
เมื่อภัยคือความตายมาถึงเข้า นอนอยู่ก็ตายได้ นั่งอยู่ก็ตายได้
หัวเราะเพลิดเพลินก็ตายได้ ยืนอยู่ก็ตายได้ เดินไปเดินมาก็ตายได้

ทำการงานกิจกรรมอันใดอยู่ก็ตายได้ เขียนหนังสืออยู่ก็ตายได้
สวดมนต์ไหว้พระ พูดจาปราศรัย ร้องรำทำเพลง ก็ตายได้ทั้งนั้น

ใครจะไปอวดดิบอวดดีว่าข้าพเจ้าไม่ตาย อวดไปเถอะ
ภายในร้อยปีนั้นแหละ มันจะมาสอนให้รู้

ในระยะนี้มันสอนความไข้ได้ป่วยให้เรารู้ไว้ก่อน
อีกไม่นาน สุดท้ายมันก็จะเอาความตายมาให้เรา
หรือว่ามันลากคอให้ตายไปเลย เราอย่าได้ประมาท

มรณํ เม ภวิสติ ให้นึกอยู่ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก
จนได้รับความสลดสังเวชทุกลมหายใจเข้าออก
จนจิตใจนี้ เมื่อมันเห็นความตายจริงๆ แล้วมันหยุด
หยุดความอยากได้ ความอยากดี อยากมี อยากเป็น ต่อมิอะไรๆ ได้หมด

เพราะว่าเมื่อความตายมาถึงเข้า เรามีความมุ่งมาดปรารถนาอย่างใดอยู่
เมื่อความตายมาถึงเข้า มันสู้ไม่ได้ ต้องตาย

พระหนุ่ม เณรหนุ่ม ผ้าขาว จะมาว่าเราไม่ตายไม่ได้
เวลามันมาถึงเข้าแล้ว เด็กก็ตายได้ คนหนุ่มก็ตายได้ คนแก่คนชรายิ่งตายเร็ว
ลมหายใจเข้าไปออกมาไม่ได้ก็ตายได้

ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าไม้ต้นไหนที่มันอยู่ริมฝั่ง
จะเป็นฝั่งน้ำหรือฝั่งภูเขาก็ตาม มันต้องมีเวลาล้มโค่นลงมา

ฉันใดชีวิตของเราท่านทั้งหลาย
แม้จะแข็งแรงขนาดไหน อยู่ดีสบายขนาดไหนก็ตาม
แต่ถึงเวลามันจะแตกตายแล้ว เหมือนต้นไม้ที่มันจะโค่นลงมาให้เราเห็น

อย่างที่เราอยู่ถ้ำผาปล่องนี้ เมื่อมองไปที่ยอดเขาเชียงดาว
จะเห็นว่าภูเขานั้นเป็นของแข็ง ไม่มีอะไรจะไปทำลายได้

แต่บางวันบางเวลา ก้อนหินที่อยู่ข้างบนโน้นก็มีเวลาแตก มีเวลาหลุดลงมา
ทำไมก้อนหินที่แข็งแกร่งมันจึงหลุดลงมาได้

นั่นแหละคนเรา จะเด็ก หนุ่ม แก่ อย่างไรก็ตาม
ความตายนี้มันต้องมาถึงเราได้สักวันหนึ่ง

ที่เรานึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มาถึงเราไม่ได้ซึ่งความตายนั้น มันคิดเอาเอง

เวลาความตายมันเข้ามาถึงแล้ว ไม่มีอะไรที่จะไปทัดทานได้
จำเป็นต้องแตก ต้องตายไปตามยถากรรมนั้นๆ

ทางที่ดี ที่เหมาะสม ท่านจึงให้ภาวนาให้มันรู้แจ้งจริง ให้มันชัดแจ้งตั้งแต่นี้ต่อไป
จนให้เห็นว่าความตายนี้ มันขยับเข้ามาใกล้เข้าไปทุกวัน
ทุกคืน ทุกปี ทุกชั่วโมง นาที วินาที
มันขยับเข้าไปเรื่อย ไม่มีเวลาไหนที่จะห่างไกลออกไป

เตือนใจของเราให้รู้ซึ้งในมรณะความตายนี้ให้ได้
จนเกิดธรรมสังเวช สลดจิตสลดใจในคนตาย ในสัตว์ตาย ในคนอื่นตาย
และตัวเราก็ต้องตายอย่างเขา อย่างนั้นด้วย


ทีนี้เมื่อมรณภัยความตายนั้น มันนึกมันเจริญได้ เห็นว่ามันหนีไม่พ้น

บุคคลผู้นั้นก็ต้องบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ไม่ท้อถอย
ทำอยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่งนอน ทุกอิริยาบถ

เพราะว่าเมื่อความตายมาถึงเข้าแล้ว
ทุกสิ่งจำเป็นต้องละทิ้งจากสิ่งทั้งหลายไป

ใครมียศก็ต้องตายหนีจากยศ ใครมีลาภ มีทรัพย์สินเงินทองอันใด
เวลาตายแล้วก็ต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป

สิ่งที่เรามีความรักใคร่พอใจอยู่ในญาติ พ่อ แม่ ลูก หลาน
เมื่อมรณภัยคือความตายมาถึงเข้าแล้ว
ต้องตาย ต้องจากกันไป ไม่มีสิ่งใดจะมาทัดทานได้

มีอยู่อย่างเดียว ก่อนที่ยังไม่ถึงความตาย
เราจะได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล โดยเฉพาะการนั่งสมาธิภาวนา
อย่าไปทอดธุระ ทุกคืนทุกวันเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้


โดยเฉพาะคือว่าก่อนที่เราจะหลับจะนอนทุกๆ คืนนั้น ย่อมมีโอกาสอันดี
เพราะคนเราทำการงานมาตั้งแต่เช้าจนค่ำ จนถึงเวลานอน

เวลานั้นจึงเป็นโอกาสอันดี
จะกราบพระ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ อย่างไรๆ ก็ให้ทำเสียก่อน
นั่งสมาธิภาวนา รวมจิตรวมใจเข้ามาให้สงบตั้งมั่น
ให้จิตใจเยือกเย็น สบายเสียก่อน
ไม่ให้ใจประมาท นึกเห็นความตายที่จะมาใกล้ตัวอยู่ทุกเวลา

ความตายนั้นใครจะไปผูกเป็นมิตร เป็นสหายกับความตาย
มันไม่ฟัง มันไม่เอาทั้งนั้น

หน้าที่ความตาย เมื่อถึงเวลาแล้ว มันเข่นฆ่าเอาจนตายให้ได้
จะตายแบบไหนก็ตาม มันก็ตายทั้งหมด


ทีนี้ถ้าผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกสำนึกตัวแล้ว รีบปฏิบัติภาวนา ทำคุณงามความดี
ไม่ต้องมัวไปติเตียนนินทา ว่าร้ายป้ายสีให้แก่กันและกัน
เพราะทุกๆ คนมันต้องตาย

ก่อนจะตายนี้ ใครภาวนาดี ผู้นั้นก็ไปสู่ที่ดี
ใครละกิเลสได้ ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข ความสบาย


ใครจะไปช่วยไม่ได้ ใครไม่ทำบุญ ทำแต่บาป
บาปที่บุคคลผู้นั้นทำ มันก็ให้ผลเดือดร้อนวุ่นวาย

การนั่งภาวนาก็ดี การเดินจงกรมก็ดี เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ
จะต้องประกอบกระทำให้เกิดให้มีขึ้น จนจิตใจนี้เกิดความเฉลียวฉลาด
สามารถอาจหาญในการที่จะปฏิบัติภาวนา

ทำจิตใจของตนให้องอาจกล้าหาญ
อย่าไปกล้าทำความชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว

กล้าทำความดี กล้าละกิเลส ราคะ
ตัณหาให้หมดไป เรียกว่าคนกล้า

กล้าละกิเลส โทสะจริตให้หมดสิ้นไป นั่นแหละคนกล้า
กล้าละกิเลสโมหะ อวิชชา ตัณหา ในจิตใจให้หมดสิ้นไป

ก่อนที่ความตายจะมาถึง ให้เราทำความดีไว้ให้เต็มที่

เมื่อคุณงามความดีเต็มที่ เต็มใจ เต็มกาย วาจา จิตของเราแล้ว
บุคคลผู้นั้นไม่ทุกข์ ไม่ร้อน
เมื่อความเจ็บมาถึงเข้า ท่านก็แก้ไขภาวนาในใจได้

แม้ความตายมาถึงเข้า ใจท่านก็ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อน
เรียกว่าใจมันพ้นจากความเจ็บ พ้นจากความตาย
ใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน
ไม่ยึดหน้าถือตา ไม่ยึดตัวถือตน ไม่ยึดเรา ไม่ยึดของของเรา

จิตใจก็แจ้งสว่างไสว กิเลสความโกรธหมดไป
กิเลสความโลภหมดไป กิเลสความหลงหมดไป

สาวกของพระพุทธเจ้านั้น ท่านทำความเพียรภาวนาละกิเลส
ท่านไม่ให้กิเลสมาผูกมัดรัดรึงหัวใจท่าน

พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตาม
พระสาวกของพระองค์ก็ตาม ท่านผู้ได้บรรลุมรรคผล
จึงเป็นที่น่ากราบ น่าไหว้สักการบูชา เคารพนับถือทุกสิ่งทุกอย่าง

กิเลสนั้น มันหุ้มห่อจิตใจปุถุชนคนเรามาตั้งแต่อเนกชาติ
นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว

ทีนี้ถ้ามาปัจจุบันชาติ ใจมันก็ยังไม่รีบเร่ง ยังไม่ภาวนา
ย่อหย่อนท้อถอยอยู่ ย่อมใช้การไม่ได้

เราต้องพากันลุกขึ้น ตื่นขึ้นในหัวใจ รวมกำลังตั้งมั่นลงไป

ถ้ามันมัวคิดฟุ้งซ่านอย่างอื่น ก็ให้เตือนใจของเราว่า มรณํ เม ภวิสติ

มรณะ มรณํ ก็แปลว่า ความตาย

เม ก็เรา ตัวเรา
กาย วาจา จิตของเรานี้จะต้องตายแน่ๆ ภายในร้อยปีไม่มีเหลือ

เราจะมานิ่งนอนใจไม่ได้ จะต้องตั้งใจภาวนาเอาใจของเราให้ได้

ใจคนเรานั้น ไม่ใช่ตัวที่มองเห็นนี่ อันที่มองเห็นนี้เรียกว่า รูปขันธ์

รูปขันธ์นี้คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ไม่ใช่จิตใจ และไม่ใช่ตัวของเราด้วย

ร่างกายสังขารนี้เปรียบเสมือนดังกว่ากุฏิวิหาร บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคน
มันมีตัวคนอยู่ในบ้านเรือนนั้นอีกส่วนหนึ่ง

รูปร่างกายจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หนุ่ม แก่ ประการใดก็ตาม
อันนี้เรียกว่า รูปขันธ์

มีดวงจิตดวงใจ ผู้รู้ผู้เห็น ผู้นึกภาวนาอยู่ในมรณกรรมฐานนั้น อยู่ภายในนั้นอีก

แต่คนเราเห็นหรือรู้เห็นกัน ก็เห็นแต่รูป
รูปนี้มันเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนบ้านเรือนที่ว่านั้น

ส่วนจิตนั้นมันมาอาศัยอยู่ที่นี้ เรียกว่าเป็นเรือนของจิตของใจ
จิตใจได้อาศัยเรือนนี้เป็นที่อยู่อาศัย

แล้วเรือนหลังนี้คือขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่งนี้ มันอยู่ได้ไม่นาน
มันเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ตลอดเวลา มันรอวันตายอยู่ทุกลมหายใจ

เราจะมาดีใจ พอใจ สนุกสนานเฮฮา ตามประสาคนหลงคนไม่รู้ไม่ได้
จะต้องปฏิบัติบูชาภาวนา ทำจิตทำใจของตนให้มีความเคร่งครัด มัธยัสถ์

เรียกว่าตามรู้ตามเห็นจิตใจดวงผู้รู้อยู่ภายในนี้ให้ได้
อย่ามาหลงยึดเอาถือเอาแค่ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง
อันเป็นเรือนร่างของจิตใจมาอาศัยอยู่นี้เท่านั้น

ดวงจิตดวงใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ รูปร่างกายไม่สำคัญเท่าดวงจิตดวงใจ
ผู้รู้ผู้เห็นอยู่ในตัว ในใจเราท่านทั้งหลาย นี่แหละสำคัญ

จิตใจ ผู้รู้อยู่ภายในนี้แหละ ท่านว่าเป็นใหญ่ในตัวเราทุกคน
เป็นใหญ่ เป็นประธาน สำเร็จด้วยดวงจิตดวงใจอันนี้ทั้งนั้น


ถ้าจิตใจดวงนี้จะทำดีแล้ว ทำได้ตลอด
ที่เราเรียกว่าทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ ละไม่ได้ อะไรต่อมิอะไรนั้น
คือเราไม่ตั้งใจลงไปให้เต็มที่ มันก็ทำไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ละไม่ออกทั้งนั้นแหละ

ถ้าหากว่าจิตใจดวงนี้ ดวงจิตดวงใจผู้รู้อยู่นี้แหละ
มาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยในกิเลสกาม วัตถุกาม ในโลกวัฏฏะสงสารอันนี้
จนเห็นแจ้งแทงตลอด ใจมันก็ไม่มาลุ่มหลงมัวเมา

เพราะจิตมันเห็นแจ้งว่าเกิดมาแล้วมันก็มีเรื่องทุกข์ เรื่องเดือดร้อน
เรื่องไม่เที่ยงแท้แน่นอน เต็มไปด้วยทุกข์ เต็มไปด้วยโทษ
จะมายึดเอา ถือเอาอย่างไรก็ไม่พ้นจากความตาย

ความตายนี้หนีไม่พ้นแน่ๆ ไตร่ตรองให้มันเห็นแจ้งในจิต

ถ้าจิตไม่รู้ไม่ได้ จิตไม่รู้มันก็มืดมน
คนที่จิตหลง จิตไม่รู้ ท่านว่าเหมือนกลางคืน
มืดเหมือนกลางคืน ไปไหนมาไหนไม่ได้

ถ้าขืนเดินไปก็ตำต้นไม้ ขวากหนาม มีภัยอันตรายรอบด้าน
เพราะจิตมันมืด จิตมันหลง จิตไม่รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม

ผู้ปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เมื่อท่านมานึกได้ เจริญได้
ว่า มรณํ เม ภวิสติ เราต้องตาย
ท่านไม่นิ่งนอนใจ ท่านภาวนา ทำความเพียรละกิเลส


กิเลสความโกรธมีมากน้อยเท่าไร ก็ละทิ้ง ตั้งใจอยู่ภายใน

กิเลสความโลภ กิเลสความหลง อวิชชา ตัณหา มีมากน้อยเท่าไร
ก็เพียรละออกไปให้หมดสิ้น

เพราะว่าเมื่อมรณภัยคือความตายมาถึงเข้า เราจะเอาอะไรไปไม่ได้ทั้งนั้น

นี่แหละเมื่อว่าเราท่านทั้งหลาย เมื่อว่าได้ยิน ได้ฟังแล้วซึ่งมรณกรรมฐานนี้
ก็ให้พากันกำหนดจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติ
จนมาชำระกิเลส ราคะ โทสะ โมหะในจิต ในใจของตนๆ ให้หมดสิ้นไป
ก็จะมีความสุข ความเจริญในทางพุทธศาสนา

ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

*************

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร