วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2020, 08:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, ธันวาคม ๒๕๔๘
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๔ ภาวนา - สมาธิ
หน้า ๔๙๗-๕๑๑


รูปภาพ

ภาวนา - สมาธิ
พระธรรมเทศนาโดย...
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
อบรมพระภิกษุ สามเณรในวัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต
วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

การฟังเทศน์ในแนวภาวนาที่จะให้หายสงสัยกันเด็ดขาด เป็นของทำได้ยาก ถ้าหากพวกเราภาวนาไม่เป็น

ผู้ภาวนาเป็นแล้ว ยึดอุบายภาวนาของตนเองให้เป็นหลักไว้ดีแล้ว ท่านจะเทศนาอะไร ใครจะว่าที่ไหน ใจมันไม่ได้ยึดเหนี่ยวแต่อุบายนั้นๆ จะมาเข้ากับอุบายของเรา ทำให้เกิดความสว่างแจ่มแจ้งหายสงสัยไปเอง


สำหรับผู้ที่ยังภาวนาไม่เป็น จิตจะต้องส่ายหาอุบายมาเป็นเครื่องอยู่ของตน แล้วก็จะลังเลใจ พอได้รู้จากตำรา ได้ข่าวจากคนพูด คิดนึกโดยคาดคะเนว่านั้นดีนี่ดี ที่โน้นอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดัง แล้วก็วุ่นวายคาดหมายไปต่างๆ นานา จับหลักอะไรไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งส่งก็ยิ่งแต่จะเกิดความสงสัย ทำจิตใจให้วุ่นไปหมด

เพราะหลักธรรมที่แท้มิได้เกิดจากความคิดที่ส่งออก แต่เกิดจากการคิดค้นตรงเข้ามาหาของจริงที่มีอยู่ในตัวนี้

เมื่อเราค้นเข้ามาหาของจริงในตัวนี้แล้ว จิตก็เป็นสมาธิ (คือคิดค้นอยู่ในที่อันเดียว) ต่อนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดเป็นธรรมไปทั้งหมด


มีตัวอย่างสมัยครั้งพุทธกาล บัณฑิตสามเณร อายุ ๗ ขวบ ลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร ได้เห็นเขาขุดเหมืองเข้านา ได้เห็นเขาถากไม้ เห็นเขาดัดลูกศร

ท่านน้อมเข้ามาอบรมจิตของท่านให้มันเป็นไปตามบังคับ ให้เหมือนเขาบังคับของซึ่งหาวิญญาณมิได้เหล่านั้น ให้เป็นไปตามประสงค์ จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ก็สิ่งทั้งสามนั้นเป็นธรรมอะไร วัตถุของภายนอกแท้ๆ แต่เมื่อท่านน้อมนำเข้ามาพิจารณาเป็นอุบายอบรมภายในใจของท่านเอง เลยได้ผลอย่างสุดยอด

พุทธวจนะ คำสอนของพระองค์มีมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ตามที่ท่านกำหนดไว้แต่ละหมวดละข้อหรือแต่ละขันธ์ ล้วนแต่เป็นของดี ท่านโบราณาจารย์เคยปฏิบัติได้รับผลสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น จึงได้รวมตั้งไว้เป็นปริยัติ เพื่อเป็นบทศึกษาแก่อนุชนสืบมา

ธรรมเป็นของดีแล้ว แต่เราปฏิบัติดียังไม่พอที่จะเป็นรากฐานให้เกิดธรรมของดีได้

มรรค ๔ ผล ๔ นิพาน ๑ เป็นของผู้ปฏิบัติที่มีสัมมาสมาธิเป็นรากฐาน

อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ ๑ สมุทัย ๑ นิโรธ ๑ มรรค ๑ เป็นวิชาของสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง


ทุกข์ทั้งหลาย มีชาติทุกข์ เป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริง ในทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่มี

สมุทัย มีความทะยานอยากในความใคร่ เป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเห็นโทษในสมุทัยนั้นแล้วละเสียไม่มี

นิโรธ คือความเข้าไปดับซึ่งราคะธรรมเป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปดับไม่มี

มรรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางยังผู้ดำเนินตามแล้วให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่ แต่ผู้จะดำเนินตามไม่มี ทางจึงเป็นทางว่างหาผู้สัญจรไม่มี ก็เพราะขาดสัมมาสมาธิ อันเป็นรากฐานที่มั่นคง

ความจริงอริยสัจ คือ ทุกข์ และ สมุทัย มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของเราทุกๆ คน ทั้งทุกขสัจ มีชาติ เป็นต้น ทุกๆ คนก็มีมาแล้วทั้งนั้น แต่คนเราไม่ทำความรู้ ปล่อยวางละเมินไปเสีย เห็นว่ามันเป็นของไม่ดี ไม่น่าพอใจ ไม่อยากได้ ก็เลยไม่สนใจ ไม่นำมาพิจารณา

แต่หาได้รู้ไม่ว่านั่นเป็นของจริงของประเสริฐ เมื่อเกิดขึ้นในดวงใจของบุคคลใดแล้ว ผู้นั้นถึงแม้จะเป็นปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า

ไปตามเอาแต่สุขจอมปลอมมากลบทุกข์ที่แท้จริงไว้ เวลาที่ทุกข์ที่แท้จริงประดังปรากฏออกมาจริงจังเข้า สุขหลบหน้าหายตัวไปหมด ช่วยอะไรไม่ได้ ปล่อยให้เราเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่แต่คนเดียว

โทษแห่งการไม่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง มันเป็นเสียอย่างนี้

ผู้ที่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ทุกข์ทั้งหลายจะไม่เข้ามาเบียดเบียนเขาได้ เพราะความรู้จริงเห็นจริงเสียแต่เบื้องต้น ทุกข์เลยเป็นของธรรมดา เป็นสภาวธรรมมีอยู่ประจำโลก ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วหนีไม่พ้น

ใครจะร้องไห้เป็นทุกข์หรือไม่ ทุกข์มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น

ทางที่จะพ้นได้ มิใช่เมื่อทุกข์มาถึงเข้าแล้ว เป็นทุกข์ร้องไห้คร่ำครวญ แต่จะต้องละตัวเหตุ คือ ความทะยานอยาก มีอยากใคร่ในกามเป็นต้นเสีย ที่เรียกว่า สมุทัย คือความทะยานอยากใคร่ในกาม เป็นต้น ซึ่งมีอยู่แล้วในใจของพวกเราทุกๆ คน

แต่พวกเราเห็นสมุทัยเป็นของหวาน ไม่เข้าใจว่าเป็นของศัสตรายาพิษ จึงพากันรับประทานเข้าไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินมาก

แต่เมื่อมันทำพิษติดคอเข้าแล้ว ทุกๆ คนจะพากันดิ้นด้าวระทมทุกข์ ต่างก็ช่วยอะไรกันไม่ได้

เมื่อเหตุและผลของจริงเบื้องต้นมีอยู่ในตัวของเราอย่างนี้แล้ว แต่เราไม่เอามาพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวของเรา (คือนิโรธและมรรค) แต่เราจะต้องเจริญให้เกิดมีขึ้น เมื่อเราไม่เจริญก็เกิดมีไม่ได้

นี่พูดถึงเรื่อง ภาวนาไม่เป็น มันเป็นเสียอย่างนี้

แต่เมื่อผู้ภาวนาเป็น มีสัมมาสมาธิเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดปัญญารู้แจ้งเป็นธรรมไปหมด ดังแสดงมาแล้วข้างต้น

เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวเรา (คือนิโรธและมรรค) เราไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นมาเจริญอีกแล้ว แต่เป็นการเจริญมรรค (คือความเห็นชอบตามเป็นจริง) อยู่แล้ว

เมื่อเจริญเกิดขึ้นแล้ว ความโง่ความเขลาในความอยากทั้งหลายมันก็หมดไปเอง


ฉะนั้น จะขอบอกให้ทราบอีกทีว่า เมื่อจะฟังเทศน์เอาอุบายภาวนา หาความสงบจนให้เกิดสัมมาสมาธิกันจริงๆ แล้ว ขออย่าได้ไปตื่นเต้นส่งส่ายไปหาเรื่องอุบายนั่นนี่ หรือวิธีนั้นวิธีนี้ให้มันยุ่งไปมากเลย ไม่เป็นผลดอก

การภาวนาเป็นเรื่องตัดภาระให้น้อยลงทุกๆ วิถีทางจนไม่เหลือ แม้แต่อารมณ์ที่เรายกขึ้นพิจารณาอยู่นั้น ก็จะต้องเปลี่ยนสภาพไป เป็นอารมณ์ของภาวนาโดยเฉพาะ มิใช่อารมณ์อุบายยกขึ้นมาพิจารณาอย่างเบื้องต้น แต่มันเป็นของจริงเกิดจากการภาวนาโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ภาวนาเท่านั้นจะรู้ได้ด้วยตนเอง

การทำภาวนามี ๒ วิธีด้วยกัน ได้เคยอธิบายให้ฟังมาแล้วหลายครั้งว่า

วิธีที่ ๑ เราปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมดไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ที่ใจ พร้อมๆ กับอัดลมหายใจเข้าไปแล้วปล่อยวางลมหายใจออกมา แล้วตั้งสติกำหนดเอาแต่ผู้รู้ จะไปตั้งอยู่ตรงไหนแล้วแต่ความถนัดของตน

แบบนี้ทำได้ง่าย สบาย แต่ไม่มีหลักหนักแน่น ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ส่งส่ายไปตามอารมณ์ที่ตนชอบเสีย

วิธีที่ ๒ ให้หยิบเอาอารมณ์อันใดก็ได้ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มันเคยทำความกระเทือนใจให้เราเกิดความสลดสังเวช จิตของเราเคยไปจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องนั้นมาแล้ว

เช่น เราเคยพิจารณาเห็นโทษทุกข์ในความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นต้น

เรายกเอาเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาค้นคว้าทบทวนกลับไปกลับมา ไม่ให้จิตแลบออกไปจากเรื่องนั้น จนเข้าไปรู้เรื่องความเป็นอยู่ เป็นมาและเป็นไปของเรื่องนั้นละเอียดถี่ถ้วน

แล้วจะเกิดมีอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ณ ที่นั้นอย่างแปลกประหลาด คือ

ความชัดเจนแจ่มแจ้ง อันมิใช่เกิดแต่ความนึกคิดคาดคะเน และได้สดับศึกษามาจากคนอื่น แต่มันเป็นความรู้ที่ชัดเจนอันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ ที่เกิดเองเป็นเอง อันใครๆ จะแต่งเอาไม่ได้ ๑

มิฉะนั้นจิตก็จะหดตัวเข้าไปนิ่งสงบเฉยอยู่ โดยไม่คิดอะไรแม้แต่ความคิดที่คิดค้นอยู่นั้นก็พักหมด ๑

บางทีสงบนิ่งเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเฉพาะจิตอย่างเดียว บางทีก็รู้อยู่เฉพาะตัว แต่ความรู้อันนั้น มิใช่รู้อย่างที่เราจะพูดกันถูก หรือบางทีก็ไม่รู้ตัวเสียเลย คล้ายๆ กับหลับที่เรียกว่า จิตเข้าภวังค์ อาการเหล่านั้นใครๆ จะทำเอาไม่ได้ แต่เมื่อภาวนาถูกต้องดังแสดงมาแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ๑

อาการทั้งสามอย่างนี้มิใช่จะเกิดเหมือนกันหมดทุกๆ คน และทุกๆ อาการก็หาไม่ บางคนก็เป็นและเป็นครบ บางคนก็เป็นอย่างสองอย่าง

เรื่องของการภาวนานี้พิสดารมาก หากจะนำมาพรรณนาไว้ ณ ที่นี้ จะเป็นหนังสือเล่มเขื่องเล่มหนึ่ง ที่แย้มให้เห็นเพียงเล็กน้อยก็เพื่อแนะให้ทราบว่า ผู้ภาวนาเป็นแล้วจะเป็นไปอย่างนั้น

แบบที่ ๒ ที่ให้หยิบเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณานี้ เป็นการหัดสมถะและวิปัสสนา ไปในตัว

ถ้าผู้ที่มีนิสัยวาสนาแล้วเป็นไปได้รวดเร็ว ถ้านิสัยพอประมาณปานกลาง บางทีก็จะหนักไปในทางสมถะ จิตเข้าหาความสงบ มีอาการ ๓ อย่าง ดังแสดงมาแล้ว

ถึงอย่างไร การพิจารณาอย่างนี้ย่อมมีคุณานิสงส์มาก เพราะพิจารณาให้เห็นสภาวะเป็นจริง ถึงไม่ได้ปัญญาขั้นละเอียด แต่ก็ยังรู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วค่อยๆ วางอุปาทาน ลงได้โดยลำดับ

การยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณานั้น เป็นอุบายของการภาวนาโดยแท้ อย่าได้สงสัยว่าเราไม่ได้ภาวนา

อุบายภาวนาคือการที่หยิบยกเอากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา เมื่อจิตแน่วแน่ลงสู่อารมณ์อันเดียวจนเข้าเป็นภวังค์ เรียกว่าจิตเข้าถึงภาวนาแล้ว

ฉะนั้น การที่เรายกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณา จิตของเราจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้นอยู่อย่างเดียว เรียกว่าเรากำลังเจริญภาวนาอยู่แล้ว ขอให้ยินดีพอใจในจิตของตนที่เป็นอยู่นั้นเถิด จิตก็จะได้แน่วแน่และเกิดปีติปราโมทย์จนละเอียดลงไปโดยลำดับ

ผู้ไม่เข้าใจเรื่องภาวนามักจะสงสัยต่างๆ นานา แล้วก็ปรุงแต่งไปว่าภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ แล้วจัดระดับชั้นภูมิของตนๆ ไว้ก่อนภาวนา เมื่อจิตไม่เป็นไปตามสังขาร ก็เลยฟุ้งซ่านเกิดความรำคาญ

สังขารเป็นผู้ลวง จะไปแต่งภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะแล้ว สังขารเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อยังละสังขารไม่ได้ตราบใดแล้ว ไม่มีหวังจะได้ประสบรสชาติของการภาวนาเลย

ที่สุดฟังเทศน์หรือยกอุบายใดขึ้นมาพิจารณาก็ไม่เป็นผล มีแต่ความลังเลใจ ธรรมทั้งหลายแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็จะไม่มีคุณค่าแก่เขา แม้เท่าที่เขาได้ส่ายตาไปมองดูรูปที่สวยๆ ขณะแวบเดียว

ผู้ที่ท่านช่างคิดค้นหาข้อเท็จจริงทั้งหลาย ท่านไม่ใช้สัญญาออกหน้า แต่ท่านใช้เหตุผลและปรากฏการณ์เฉพาะหน้า เข้าค้นคว้าพิจารณา จึงได้ผลสมประสงค์

ธรรม หรือ วิธีเจริญกัมมัฏฐาน มิใช่เป็นของมีโครงการอะไร ขอแต่ให้หยิบยกเอาเหตุผลหรือสิ่งปรากฏการณ์นั้นๆ มาพิจารณาให้เข้าถึงหลักของจริง ก็เป็นอันใช้ได้

ที่มีพิธีรีตรองและโครงการมากๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ว่าตามความจริงของท่านที่ท่านได้ทำสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น

ฉะนั้น ยิ่งนานและมีผู้ค้นพบของจริงมากเข้าเท่าไร วิธีและโครงการหรือตำราก็ยิ่งมากขึ้นจนผู้ศึกษาภายหลังทำตามไม่ถูก ก็เลยชักให้สงสัย บางคนพาลหาว่าตำราไม่ได้เรื่องอย่างนี้ก็มี

ถ้าหากทำตามดังแสดงมาแล้ว คือยกเอาของจริง เช่น เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นเป็นจริง จนเป็นภาวนาสมาธิขึ้นมาแล้ว โครงการหรือวิธีทั้งหลายแหล่จะมากสักเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงกระจกเงาเท่านั้น หาใช่ตัวจริงไม่

ด้วยเหตุนี้ สาวกของพระพุทธองค์จึงได้สำเร็จมรรคผลด้วยอุบายแปลกๆ ไม่เหมือนกัน

ขนาดแสงไฟในดวงเทียนจะมีธรรมอะไร ใครๆ เขาก็ใช้กันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ไม่เห็นจะวิเศษวิโสได้สำเร็จมรรคผลอะไร

แต่ภิกษุณีชื่อ ปฏาจารา จุดเทียนบูชาในวิหารแล้วเพ่งดูแสงเทียน ยึดเอาอาการแสงเทียนพลุ่งขึ้นด้วยกำลังแรงไฟ แล้วย่อยยับๆ ลงมาด้วยความอ่อนกำลังของมันเองอยู่อย่างนั้นเป็นอารมณ์ น้อมเข้ามาเทียบกับอายุขัยและวัยในอัตภาพของตน จนเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งหลาย ที่สุดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะไฟนั้น

นี้เป็นตัวอย่าง ท่านยกเอาแสงเทียนขึ้นมาพิจารณา เห็นเป็นของไม่เที่ยง ตามลักษณะที่มันพลุ่งขึ้นแล้วย่อยยับๆ หดตัวลงตามความเป็นจริง แล้วหมดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง ธรรมอื่นๆ ไม่ต้องไปตามพิจารณา แต่มันมาปรากฏชัดในที่แห่งเดียวแล้ว

บัณฑิตสามเณรลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร ท่านเห็นเขาไขน้ำใส่นามันไหลไปตามเหมือง ท่านนำมาพิจารณาว่าน้ำเป็นของไม่มีจิตใจ แต่ก็ไหลไปตามคลองได้ตามประสงค์ จิตของเราเมื่อทรมานให้อยู่ในอำนาจก็จะทำได้

เห็นเขาถากไม้ ดัดลูกศร เขาหลิ่วตาข้างเดียวดูที่คดที่ตรง ท่านก็นำมาพิจารณาว่าผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวกันแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นของควรละ

ผลที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะอุบายอันนั้น

นี่แหละความละเอียดและเป็นธรรมชาติ มิใช่อยู่ที่อุบาย แต่อยู่ที่จิตอบรมถูกจนจิตเป็นภาวนาสมาธิแล้ว อุบายทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ว่าหยาบและละเอียด ก็จะได้ปัญญา มีคุณค่าให้สำเร็จมรรคผลเป็นที่สุดเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ทุกๆ คนเมื่อเราหยิบยกเอาอุบายอันใดขึ้นมาพิจารณา เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม ขออย่าได้ทอดทิ้ง ให้นำเอาอุบายนั้นแหละมาพิจารณาอีก จิตจะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ขอได้ทำเรื่อยไปจนให้ชำนาญ

ข้อที่ควรระวังก็คือ อย่าให้เกิดความโลภในอุบายภาวนา เมื่อภาวนาไม่เป็นก็ยิ่งโลภใหญ่ อยากได้แต่อุบาย เห็นว่าอันนี้ไม่ดี อันอื่นจะดีกว่า แล้วก็ส่ายหาหยิบเอาโน่นบ้างนี่บ้างมาพิจารณา เจริญสมถะเห็นว่าเป็นของทึบ เป็นคนโง่บ้าง เจริญวิปัสสนาสำเร็จเร็ว อะไรต่ออะไร ผลที่สุดเอาอะไรเป็นแก่นสารไม่ได้

ความโลภและความเป็นคนรู้มาก เป็นภัยแก่การภาวนาอย่างยิ่ง

ได้เคยอธิบายให้ฟังมามากแล้วว่า อย่าเป็นคนมักมากในอุบายภาวนา เมื่ออุบายใดได้แล้วขอให้เจริญอยู่ในอุบายนั้นเรื่อยๆ ไป

อุบายใดเป็นเหตุให้เราชอบคิดและสนใจ ซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรานี้ อันนั้นแหละเป็นของควรเจริญ เช่นความแก่ เจ็บ ตาย และทุกข์ทั้งหลายที่เราได้ประสบอยู่เสมอๆ

ที่จริงเรื่องเหล่านี้เป็นอุบายภาวนาที่ดีที่สุด และเราทุกคนเคยได้กำหนดพิจารณามาแล้ว โดยตัวของท่านไม่รู้ว่าเราเจริญภาวนาอยู่แล้ว เพราะเป็นของง่าย ประสบอยู่กับตัวเอง ก็เลยเห็นเป็นของไม่สำคัญอะไร ไม่ดำเนินติดต่อ ทิ้งเสีย แล้วไปแสวงหาอุบายอันหาสาระมิได้อันอื่นโน้น ผลที่สุดก็เหลว

ของง่ายๆ มีอยู่ภายในกายในใจ เป็นของมีคุณค่ามาก

นะโม, พุทธัง, อะระหัง เป็นบทเรียนเบื้องต้น ของการจะบำเพ็ญคุณงามความดีในพุทธศาสนาทั้งผอง เพราะเป็นเบื้องต้นและเห็นเป็นของง่าย จึงได้กลายเป็นขี้ปากของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเสีย สวดไปเถิดกี่จบๆ ก็หาได้รู้ไม่ว่าเรากล่าวอะไร ว่าอะไร เพื่อประโยชน์และสำคัญอย่างไร

ฉะนั้น โบราณาจารย์ท่านจึงมีวิธีสอนกัมมัฏฐานหลายอย่าง เช่นสอนให้พิจารณาปัญจกัมมัฏฐาน ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

เมื่อว่าเสียจนชินคล่องปากคล่องใจ แต่ยังไม่เกิดความสนใจ ท่านจึงให้พิจารณาทวนถอยหลังอีกว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา

ถ้ายังไม่ได้ผลจิตยังไม่จดจ่ออยู่เฉพาะ ท่านให้ว่าแยกคือว่า เกสา นขา ตโจ ข้ามกันไปสลับกันมาอย่างนี้ เป็นต้น

ส่วนพิจารณาอานาปานสติ ก็ทำนองเดียวกัน

สรุปความแล้วว่า ทำอย่างไรจิตใจจะจดจ่ออยู่เฉพาะในอุบายนั้นๆ เท่านั้น

เมื่อสิ่งใดเป็นของง่ายเราก็ไม่สนใจ ฉะนั้นท่านจึงมีวิธีทำให้ยากขึ้นเพื่อจะได้สนใจ แล้วจิตจะได้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นภาวนาสมาธิ นี่เป็นเบื้องต้น

เมื่อเราทำไปจนชำนาญ คือชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น จนเป็นเหตุให้จิตหยุดนิ่ง เพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะในอารมณ์เดียว ที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของตนโดยเฉพาะ ซึ่งมีปัญญาญาณ เป็นเหมือนกับประทีปตามส่อง ให้พิจารณาอยู่ในที่ทุกสถาน

นี่เป็นผลของความชำนาญในการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ถ้าปัญญาญาณดังว่านั้นไม่มี ไม่เกิดขึ้นในที่นั้น เป็นแต่เพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะอารมณ์กัมมัฏฐานของตน คือ มิได้ยึดเอาความรู้และอุบายของใครมาพิจารณา แต่มันเป็นความรู้ความชัดเจนของมันเองอยู่อย่างนั้นแล้ว จิตจะรวมใหญ่ คือมีการวูบวาบเข้าไปแล้วตั้งเฉยอยู่

ถ้าหากสติอ่อน อาจลืมตัวเข้าภวังค์เลย ถ้าสติยังกล้าอยู่จะเพียงแต่นิ่งเฉยโดยปราศจากนิวรณ์ทั้งหมด จะถึงอัปปนาสมาธิได้ก็ตอนนี้

สมาธิตอนนี้มีเรื่องวิจิตรพิสดาร เมื่อนำมาอธิบายก็จะมากเกินต้องการ

ที่แสดงมานี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการยกเอาของอันเดียว ไม่โลภในอุบายภาวนา แต่เจริญภาวนาให้ชำนาญเท่านั้น

ความชำนาญเป็นของสำคัญมาก ตามหลักท่านเรียกว่า วสี มี ๕ อย่างด้วยกัน คือ

ชำนาญในการยกอุบายอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ทันท่วงที ๑
ชำนาญในการเข้าสมาธิ ๑
ในการออกจากสมาธิ ๑
ในการตั้งอยู่ของสมาธิ ๑
ในการกำหนดรู้อารมณ์ของสมาธิ ๑


ความชำนาญนี้ ถึงแม้ไม่ครบทั้ง ๕ ชำนาญแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังสามารถภาวนาสมาธิให้มั่นคงอยู่ได้ นี่ว่าตามวิถีของสมาธิ

ถ้าจะว่าตามวิถีของปัญญาแล้ว ผู้ได้ปัญญาอันเกิดจากสัมมาสมาธิ พิจารณาเห็นสรรพสังขารทั้งหลายตกลงปลงสู่พระไตรลักษณญาณแล้ว ถึงแม้อุบายนั้นจะเกิดโดยวิธีใดก็ตาม ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ภายในหรือภายนอก ปัญญาดวงนั้นจะต้องเอามาตัดสิน ลงสู่พระไตรลักษณะเหมือนกันทั้งหมด ไม่ผิดแปลกกันเลย

พระไตรลักษณญาณ เป็นเหมือนกับยานพาหนะของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย อุบายภาวนาสมาธิถึงแม้จะมีมากอย่างแปลกต่างออกไป ก็เป็นไปตามวิถีของอุบายภาวนาสมาธิเท่านั้น แต่ปัญญาต้องมีพระไตรลักษณญาณเป็นหลักยืนโรง เป็นเครื่องตัดสิน

อนึ่ง ขอแนะไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ภาวนาสมาธินี้ ถ้าเราฝึกหัดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนอื่น หรือเพื่อเพียงปาฏิหาริย์อำนาจศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวแล้ว พึงหัดให้ชำนาญในวสี ๕ ดังแสดงมาแล้ว จึงจะสำเร็จ แต่ไม่เข้าถึงปัญญาดังกล่าวแล้ว เพราะปัญญาญาณเป็นโลกุตระ - ทางให้พ้นทุกข์

ฉะนั้น อุบายภาวนาสมาธิจึงไม่จำเป็นให้เกิดอยู่เฉพาะในขอบเขตจำกัดอย่างเดียว จะเกิดโดยวิธีใดๆ ก็ตาม ถ้ามีพระไตรลักษณญาณเป็นเครื่องตัดสินอยู่ตลอดเวลาแล้ว เป็นอันใช้ได้

อุบายภาวนาสมาธิที่เกิดในวิถีต่างๆ กัน เช่น เกิดจากตาเห็นรูป หูฟังเสียงเป็นต้น ก็ดี หรือจิตที่เป็นภาวนาสมาธิแปลกๆ ต่างๆ หยาบละเอียดไม่เหมือนกัน ก็ดี แทนที่จะเป็นเครื่องบั่นทอนอุบายภาวนาสมาธิ หรือปัญญาให้เสื่อมทรามลง แต่กลับให้เป็นผู้ฉลาดในอุบาย และรู้รสชาติของวิถีของภาวนาสมาธิ ตลอดถึงเป็นการชำนาญอาจหาญ ในการใช้พระไตรลักษณญาณเป็นเครื่องตัดสินอีกด้วย

นักปฏิบัติที่ปฏิบัติมานานๆ แล้ว ภายหลังกลับเสื่อมเสีย ก็เพราะเหตุไม่ชำนาญในวสี ๕ และไม่เข้าใจในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของอุบายภาวนาสมาธิ หรือบางทีก็ไปหลงในฤทธิ์ ในปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ จนเลยเถิด เข้าสมาธิดังเดิมไม่ได้

ถึงแม้ผู้มีปัญญาญาณใช้พระไตรลักษณ์เป็นเครื่องตัดสินในทุกกรณีก็ตาม แต่เมื่อจิตเปลี่ยนสภาพ คือมีอาการไม่คงที่เช่นเคย ก็ยังเกิดสงสัย เข้าใจว่าจิตของตนเสื่อมเสียแล้ว

ฉะนั้น จึงขอสรุปความย่อเพื่อจำง่ายอีกทีว่า การฟังเทศน์ในแนวภาวนาที่จะให้เข้าใจดี ต้องภาวนาเป็นเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นจะไม่หมดสงสัย

อุบายภาวนาอะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจจดจ่อคิดค้นหาเหตุผลของจริงในสิ่งที่ได้ประสบ แล้วน้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นชัดแจ้งภายในตัวของตนจนเป็นสัจธรรม

อุบายทั้งหลาย ขออย่าได้ส่งไปภายนอก จงหาเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวของเรา เช่น ความเกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย เป็นต้น ถึงอุบายภายนอกจะเกิดขึ้นก็ให้น้อมเข้ามาในตัว

การหัดภาวนามีวิธี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งปล่อยวางเอาเฉยๆ ไม่ให้จิตไปเกาะเกี่ยวอะไรทั้งหมด ทำให้จิตว่างเปล่าๆ เฉยๆ วิธีนี้ทำได้ง่าย แต่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วจิตก็จะส่ายไปตามอารมณ์ที่ชอบใจเรียกว่า สมถะ โดยเฉพาะ

อีกวิธีหนึ่ง ต้องหยิบยกเอาอารมณ์สิ่งที่เราชอบมาคิดค้น เป็นต้นว่า ทุกข์ ซึ่งเราได้เคยประสบมาแล้ว มาคิดค้นจนจิตจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องเดียวนั้น นี่เป็นการทำ สมถะ วิปัสสนา ไปพร้อมกันในตัว

วิธีนี้จิตจะหยาบหรือละเอียดก็มีหลักหนักแน่นอยู่ได้นาน ข้อสำคัญขอให้เข้าใจว่า การที่เราหยิบเอาทุกข์ เป็นต้น ขึ้นมาพิจารณาอยู่นั้น มันเป็นการภาวนา และเป็นธรรม แล้วพอใจในการที่เราทำถูกต้องนั้น อย่าได้สงสัย ส่ายหาอุบายโน่นนี่อื่นอีก

ข้อสำคัญประการสุดท้าย ใครจะหัดภาวนาทำสมาธิแบบไหน ได้อุบายอย่างไรก็ตาม ขอได้ทำให้ชำนาญ

ถ้าหัดให้ชำนาญแล้วจะใช้ในทางอำนาจปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ย่อมได้สมประสงค์ แต่เป็นไปในทางโลก

ถ้าเป็นไปในทางธรรมแล้ว อุบายภาวนาสมาธินั้นจะเป็นอย่างนั้นยืนตัวหรือไม่ก็ตาม แต่จะต้องมีปัญญาญาณใช้พระไตรลักษณ์ตัดสินอยู่เสมอ อุบายใดจะเกิดขึ้นโดยวิธีใด ภายนอกภายใน หยาบละเอียดไม่ว่า อุบายนั้นจะต้องลงมาตัดสินด้วยพระไตรลักษณญาณเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนั้นขออย่าได้สงสัยว่า ทำไมหนอจิตของเราไม่ยึดอุบายเก่าคงที่ละเอียดตามเดิม เรื่องนี้มันมีเหตุผลมากอย่าง ดังที่อธิบายมาโดยย่อแล้ว จะเห็นได้เพราะอารมณ์ การสำรวม ความกล้าหาญ การตั้งสติ เป็นต้น ในเบื้องต้นก่อนที่เราจะทำภาวนาเข้าสมาธิ

ถึงอย่างไรๆ เมื่อมีพระไตรลักษณญาณเป็นพนักงานควบคุมตัดสินอยู่แล้ว ขออย่าได้สงสัย

อธิบายมาวันนี้ พูดถึงสมาธิภาวนาโดยเฉพาะ แต่ก็เห็นว่ายืดยาวพอควร หากพากันภาวนาเป็นไปแล้วก็จะพอจับเค้าความได้ และดำเนินตามโดยไม่ผิดพลาด แล้วสามารถจะรักษาสมาธิภาวนาของตนไว้ให้มั่นคงต่อไป

แสดงมาด้วยประการ ฉะนี้ฯ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35963

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b49: :b49: บัณฑิตสามเณร ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58994

:b49: :b49: พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6788


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2020, 09:13 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร