วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2019, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ทำไฉน ? จึงจะฝันดี
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

รูปภาพ

การนอนหลับเป็นความจำเป็นแก่ชีวิตมนุษย์เท่าๆ กับการกิน
การกินเป็นการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยอาหาร
การนอนหลับเป็นการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยการพักผ่อน
ข้อสังเกตความสุขสบายของร่างกายที่เห็นได้ง่าย คือการกินได้นอนหลับ
ถ้าลงกินไม่ได้นอนไม่หลับแล้ว ก็ทำนายไว้ล่วงหน้าได้ดีทีเดียวว่า
ชีวิตของผู้นั้นใกล้จุดอันตรายเข้าไปทุกที

สิ่งที่คู่กับการหลับคือ “ความฝัน” ดังคำพังเพยที่ว่า
“กินมากถ่ายมาก พูดมากโกหกมาก นอนมากฝันมาก”


คนที่ไม่เคยฝันคือคนที่ไม่เคยนอนหลับนั่นเอง
ความฝันคืออะไร ความฝันคือการที่สามารถเห็นปรากฏการณ์ในเวลาหลับ
โบราณท่านแบ่งเหตุแห่งความฝันไว้เป็น ๔ ประการ คือ

๑. ฝันเพราะธาตุกำเริบ
หมายความว่า ธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอ
คือ ธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง
เช่น คนที่รับประทานอาหารที่ย่อยยาก ทำให้เกิดท้องอืดท้องเฟ้อ
เป็นเหตุให้เกิดความละเมอเพ้อฝันได้

๒. ฝันเพราะหน่วงเอาอารมณ์ที่ผ่านพบมาแล้ว
สิ่งที่เราได้ผ่านพบมาแล้ว เช่น รูป เสียง กลิ่น รส
และสัมผัสต่างๆ มีความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นต้น
ถ้าเป็นส่วนที่ชอบใจก็ทำให้จิตใจระลึกถึง นึกอยากได้
ถ้าไม่ชอบใจก็ทำให้จิตใจระลึกถึงไม่อยากจะให้ผ่านเข้ามาอีก
การที่จิตยึดหน่วงเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ก็เป็นเหตุให้ฝันได้

๓. ฝันเพราะเทวดาสังหรณ์
เรื่องเทวบุตรเทวดาเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นคนละพรรคละพวกกับมนุษย์
เทวบุตรเทวดาเป็นพวกกายทิพย์ ตามนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้
เหมือนกับคลื่นเสียงของวิทยุ หูของมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะฟังได้
ต่อเมื่อเปิดวิทยุรับ จึงสามารถจะฟังเสียงได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่อยากจะเห็นเทวดาก็ต้องทำตาให้เป็นทิพย์ จึงจะสามารถเห็นเทวดาได้
เทวดาดังกล่าวนี้ เมื่อท่านประสงค์จะให้มนุษย์คนใดทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า
ท่านก็บันดาลให้เกิดนิมิตฝันในเวลาหลับ

๔. ฝันเพราะอำนาจ “กุศล” “อกุศล” บันดาล
คำว่ากุศล-อกุศล ในที่นี้หมายถึงบุญ-บาป ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั่นเอง
เรื่องบุญ เรื่องบาป เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่สามารถจะปรากฏผลให้เห็นได้
ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า คนที่รูปสวยรวยทรัพย์ ไม่ใบ้บ้าบอดหนวกชื่อว่าคนมีบุญ
คนที่มีลักษณะตรงกันข้ามชื่อว่าคนมีบาป
บุญบาปที่ยังไม่ให้ผล จะชี้ให้ตัวตนยังไม่ได้
แต่สามารถติดตามคนผู้กระทำเหมือนเงาที่ติดตามคนไปทุกหนทุกแห่ง
ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่ผลิดอกออกผล
ก็บอกไม่ได้ว่าดอกผลอยู่ตรงไหนของต้นไม้
ฉะนั้น บุญบาปที่บุคคลทำไว้แล้วนั้น เป็นเหตุดลบันดาลให้เกิดความฝันได้

ความฝันเป็นสิ่งที่เอาแน่นอนไม่ได้
เราฝันดี แต่ไม่ได้รับผลดีเหมือนฝันก็ได้
เราฝันร้าย แต่ไม่ได้รับผลร้ายเหมือนฝันก็ได้
คนที่ไปเที่ยวที่ไหนมานานๆ เมื่อนึกถึงสถานที่ที่เคยไป
จำได้เพียงเลือนราง ก็มักจะพูดว่า “นึกถึงแล้วเหมือนกัน”
หรือคนที่นึกถึงความหลังที่ผ่านมา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ
ก็มักจะเปรียบชีวิตอย่างนี้ว่า “เหมือนฝัน”
แสดงให้เห็นว่าชีวิตกับความฝันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
บางคืนนอนฝันไปว่าถูกหวยรวยทรัพย์ ดีอกดีใจ
ตื่นขึ้นมายังดีใจไม่หาย แต่แล้วก็เหลวไม่เป็นไปดั่งฝัน

บางวันนอนฝันไปว่าถูกเขาจองจำทำโทษ ได้รับความทุกข์ทรมาน
อกสั่นขวัญหาย ตื่นขึ้นมาอกยังเต้นอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไปดั่งฝันอีก
เช่นเดียวกับชีวิตในหนหลัง
บางตอนรุ่งโรจน์เต็มไปด้วยความชุ่มชื่นรื่นเริง จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้ดังใจหวัง
ชีวิตบางตอนอับเฉาเหี่ยวแห้ง เต็มไปด้วยความทุกข์ระทม
มีแต่ความพลาดหวัง จะหันหน้าไปพึ่งใครมีแต่เบือนหน้าหนี

ความสุขความทุกข์เหล่านั้น
เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เหมือนสายน้ำไหล เมื่อไหลผ่านไปแล้วจะให้ไหลย้อนกลับคืนอีกไม่ได้
จะไปเอาอะไรจริงจังกับชีวิตและความฝัน
คนนอนหลับแล้วฝัน ยังพอจะเล่าเรื่องความฝันให้คนอื่นแก้ว่าร้ายหรือดี

แต่มีความฝันอีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาจจะเล่าให้ผู้อื่นแก้ได้
ความฝันชนิดนี้คือ “ความฝันของคนที่ตื่นอยู่”
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความละเมอเพ้อฝัน”

เป็นความฝันทั้งๆ ที่ลืมตา นั่งฝันก็ได้ เดินฝันก็ได้
ไม่จำเป็นจะต้องนอนฝันเหมือนกับคนที่หลับฝัน
คนฝันประเภทนี้เข้าทำนองที่ว่า “ชอบสุกก่อนห่าม ชอบงามก่อนแต่ง”
เรียนหนังสือวันเดียวจะให้เป็นนักปราชญ์ ทำงานวันเดียวจะให้เป็นเศรษฐี
ไม่ชอบทำแต่ชอบสร้างวิมานบนอากาศ
ปล่อยจิตใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ ไม่มีจุดหมายปลายทาง
คล้ายกับนุ่นที่ถูกลมพัด เหมือนกับว่าวที่ไม่มีสาย
เขาสามารถที่จะนั่งยิ้มอยู่ได้คนเดียวทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องน่าขำ
และเมื่อปล่อยให้ฝันหนักๆ เข้าจนไม่สามารถจะยับยั้งจิตของตัวเอง
ก็จะกลายเป็นคนวิกลจริตผิดธรรมดา
ความฝันชนิดนี้เป็นภัยต่อชีวิต จึงไม่ควรฝัน

ยังมีความฝันอีกอย่างหนึ่ง
เป็นความฝันที่ทางพระพุทธศาสนายกย่องว่าเป็นความฝันที่ดี
คือ “ความฝันของคนที่เจริญเมตตา”
ดังที่ท่านแสดงไว้ในอานิสงส์ของการเจริญเมตตาว่า
คนที่เจริญเมตตาดีแล้วย่อมไม่ฝันร้าย หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข

เมตตาเป็นอาการของจิตที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ดีงาม
รู้จักหัวอกเขาหัวอกเรา ไม่เอาแต่ใจตนเองเป็นประมาน
รู้จักให้อภัย ไม่มีการผูกอาฆาตจองเวร
จะนึกคิดและทำสิ่งใดก็มุ่งหมายความสามัคคีสงบสุขเป็นที่ตั้ง
เมตตาจิตนี้ควรจะให้มีทุกกาลและทุกสถานที่
แต่ถ้าไม่สามารถจะเจริญได้ทุกกาล สถานที่
อย่างน้อยที่สุดควรจะเจริญเวลาก่อนนอนเป็นประจำ
เพราะเวลานอนเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน ได้รับความสงบ
ควรจะให้จิตได้รับอารมณ์ที่สะอาดปราศจากความสะดุ้งหวาดหวั่น
เป็นโอกาสได้พักผ่อนหลับนอนทั้งกายและใจ
ก่อให้เกิดความสุขทั้งส่วนกายและส่วนจิต
หลับอยู่ก็เป็นสุข แม้จะฝัน ก็ไม่ฝันร้าย ตื่นขึ้นมาก็เบิกบานแจ่มใส

คนเราที่หลับลงไปคืนหนึ่งก็เหมือนตายไปครั้งหนึ่ง
และเมื่อตื่นขึ้นมาก็เหมือนการเกิดใหม่
ชีวิตเป็นของมีค่า ควรจะให้ตายดีและเกิดดี
แม้ในสมัยที่ยังหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งเป็นเหมือนตายๆ เกิดๆ อยู่นี้

เมื่อจะสรุปใจความตอบปัญหาตามหัวข้อที่ตั้งไว้
ก็ได้ใจความว่า การที่จะฝันดีนั้นพึงปฏิบัติดังนี้


๑. อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป น้อยเกินไป
และอย่ารับประทานอาหารที่ย่อยยาก

๒. อย่าเก็บเอาเรื่องที่ล่วงไปแล้วมาครุ่นคิด
ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่านในเวลาก่อนจะนอน

๓. พยายามสร้างความดีให้เกิดขึ้นทางกาย
ทางวาจาและทางใจ ตลอดเวลาที่ผ่านไป

๔. อย่าสร้างความฝันอันเลื่อนลอยหลอกตัวเองในเวลาตื่น

๕. ก่อนจะนอนให้ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ

หลังจากไหว้พระสวดมนต์แล้วให้เจริญเมตตา
คือ ให้ถอนจิตจากอารมณ์ที่ประกอบด้วยอาฆาตพยาบาท
และให้ระลึกถึงคนอื่นด้วยความปรารถนาดี หรือจะระลึกตามบทบาลีว่า

“สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ อพยาปชฺฌา โหนฺตุ
อนีฆา โหนฺตุ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” ด้วย ยิ่งเป็นการดี


ขอให้ทุกท่านผู้อ่านจงฝันดีมีความสุขทั่วกันทุกท่านเทอญฯ


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก : หนังสือ เครื่องหมายของคนดี
โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙

หมายเหตุ : พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
มีสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ พระพุทธพจนวราภรณ์


:b50: :b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่จันทร์ กุสโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20885

:b50: :b50: รวมคำสอน “หลวงปู่จันทร์ กุสโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50386


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ย. 2019, 20:23 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2020, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2020, 12:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


onion

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร