วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 11:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2019, 13:34 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

จิต
พระธรรมเทศนาโดย...หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร


อย่านั่งอยู่เปล่าๆ ให้ภาวนา สงบจิตของเราทุกคน
สงบเพื่อเหตุใด ให้รู้จัก เรามาทำบุญให้รู้จักบุญ จิตของเราเป็นบุญหรือยังให้พากันดู
บุญมันอยู่ที่ไหน เราอยากได้บุญ อยากได้ความสุข อยากได้ความเจริญ
ความสุขมันอยู่ตรงไหนเล่า ให้พากันเข้าที่ทุกคน
ที่มากันนี่หละ แสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก พากันมาแสวงหาคุณงามความดี
หาบุญหากุศล หาความสุขความเจริญ
ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจว่าอะไรมันสุข อะไรมันเจริญ อะไรมันดี
ที่มานี้อยากดีกันทุกคน ทำยังไงมันถึงจะดี ให้พากันรู้จัก
ถ้าเราไม่รู้จักของดีแล้ว จะหาวันยังค่ำมันก็ไม่ได้ของดี หาหมดปีมันก็ไม่ได้ของดี
ถ้าเรารู้จักของดีแล้วมันก็หาไม่ยาก นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็ได้ ให้พากันเข้าที่ดู
เราอาศัยพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนไว้แล้ว

ในเบื้องต้นเราก็พากันมาเวียนเทียนแล้วก็บูชาพระรัตนตรัย
ตรัยแปลว่าสาม คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์
พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
สามรัตนะนี่แหละเป็นที่พึ่งของเรา
คือเป็นแก้ว แก้วคือพระพุทธเจ้า แก้วคือพระธรรม แก้วคือพระสงฆ์
พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ไม่ใช่แก้วจริงๆ ท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนแก้ว
คือแก้วมันใสมันสะอาด ดวงใจของพระพุทธเจ้าท่านนั้นใสเหมือนกับแก้ว
ท่านมองเห็นหมด สุขทุกข์ทั้งหลาย นรกสวรรค์ท่านมองเห็นหมด ดีชั่วทั้งหลาย
ท่านจึงได้วางศาสนานี้ไว้ให้แก่เราเหล่าพุทธบริษัทนี้
ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้เกิดสุดท้ายภายหลังนี้ ไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาพบปะแต่ธรรมะคำสั่งสอนของท่านที่ชี้แจงแสดงไว้แล้ว
ที่ท่านชี้แจงแสดงไว้ก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล ในธรรมคุณท่านบอกไว้ว่า “เอหิปัสสิโก”
พึงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ท่านไม่ได้ให้ไปดูธรรม ท่านให้มาดูธรรม
นั่นเราจะมาดูตรงไหนล่ะธรรม ก็มาดูรูปธรรมนามธรรมนี่แหละ
รูปธรรมคืออัตภาพร่างกายของเรา ที่ให้พากันมาดูนั้นดูเพื่อเหตุใด
เราอยากรู้ว่าเรามาถืออันนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล
เป็นเราเป็นเขา มาเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย คือรูปธรรมนี้แหละ

ทีนี้เราก็พากันมาพิจารณา เรามาอาศัยสิ่งนี้อยู่
ถือเป็นตัวเป็นตนสัตว์บุคคลเราเขา ท่านจึงให้มาดู
ดูเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้หลง ท่านให้รู้
รู้รูปธรรมดีแล้ว เราทั้งหลายจะได้ละซึ่งทิฐิมานะทั้งหลาย
ละราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา อุปาทานภพชาติ
ถ้าเราไม่ได้ดู เราก็ถือว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา มันเป็นตรงไหนเล่าให้มาดู
ท่านก็เทศนาให้ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้งห้า ท่านยกธรรมจักกัปวัตนสูตรขึ้นมา
ท่านก็ได้บอกว่า อิทัง โข ปนะ ภิกขเว ทุกขัง อริยสัจจัง
ท่านบอกอย่างนี้แหละ ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจังของจริงคืออะไรเล่า
นี่แหละของจริง สัจจธรรมทั้งสี่ประการนี้
ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
เราทั้งหลายไม่ได้ทุกข์เพราะอื่น ทุกข์เพราะความเกิดนี่แหละ
ให้พากันพิจารณาดู ทุกข์เพราะความเกิด
ชราปิทุกขา ความทุกข์ที่สองรองลงมา
ความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า ความชำรุดทรุดโทรมในตัวของเรา นี่มันเป็นทุกข์
ท่านบอกไว้ว่าไม่ใช่อื่นเป็นทุกข์ ใจของเราเป็นทุกข์
ท่านให้มาพิจารณา ธรรมมีประจำอยู่ทุกรูปทุกนาม
ไม่ว่ามียศก็ตาม ไม่มียศก็ตาม สูงต่ำดำขาวก็ตาม ยากจนทุกข์ร้อนก็ตาม
ธรรมมีประจำอยู่แล้ว จึงเรียกว่าของจริง
ใครจะห้ามได้นอกจากพระพุทธเจ้าพระอรหันต์
ท่านห้ามไม่ให้ต่อไปได้ แต่เราทั้งหลายยังห้ามไม่ได้

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รู้ให้เห็น
ทุกข์ที่สามเข้ามา พยาธิปิทุกขา ความเจ็บไข้ได้พยาธิเป็นโรคเป็นภัย
เป็นหวัดเป็นไอเป็นไข้เป็นหนาว เจ็บตนเจ็บตัว เจ็บท้องเจ็บไส้
เจ็บแข้งเจ็บขา เจ็บหูเจ็บตา ปวดศีรษะ
นี่ พากันบ่นทุกคน มีใครล่ะไม่ได้เป็นสิ่งเหล่านี้
นี่มันเป็นอยู่อย่างนี้เราจึงต้องพากันพิจารณาให้มันรู้มันเห็น
เราจะทำวิธีไหน พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาให้รู้เห็นสิ่งเหล่านี้
เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนเราพ้นประมาณนักแล้วเราก็อยู่ไม่ได้
ถึง มรณัมปิทุกขัง ทุกข์คือความตาย ถึงความตาย ทุกข์จนตาย
ความตายนี้แหละ ไม่ว่าชั้นสูงชั้นต่ำดำขาวประการใด ทุกข์จนก็ตาม
ต้องเป็นอย่างนี้หมด รวมเราทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่ด้วย
อันนี้คำภาษาบาลีท่านไม่ได้ว่า “ตาย” ท่านว่าจุติ
จุติคือความเคลื่อนไป เหมือนอย่างเราจะหลุดจากนี่
เหตุใดจึงว่าเคลื่อนไปเล่า เพราะเราอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุอันใดอยู่ไม่ได้
ธาตุทั้งสี่มันไม่เป็นสมังคีกัน มันร้อนนักเย็นนัก มันหนัก หนักเหลือเกิน
เบญจขันธ์นี้เป็นของหนัก หนักเข้าๆ จนพ้นขีดพอแล้วลืมตาก็ไม่ได้
ยกแข้งขาก็ไม่ได้ ลุกยิ่งไม่ได้ใหญ่ หนักเข้าๆ ก็ต้องทิ้ง
ทิ้งแล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน จะเอาอะไรไปด้วย
นี่แหละ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงวางศาสนาไว้
ให้พากันทำคุณงามความดี ให้รู้จักที่พึ่งของเราที่อาศัยของเรา
นี่แหละเป็นข้อปฏิบัติ ท่านจึงได้วางทาน วางศีล วางภาวนาให้ไว้ ให้พากันรู้จัก
นี่แหละจะได้เป็นเสบียงเดินทางของเรา
ถ้าผู้ใดได้ทำไว้สร้างไว้ซึ่งคุณงามความดี ความดีนี่แหละนำเรา ปกปักเราไปสู่สุคติ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งของเรา
สิ่งใดเราไม่รู้เราก็ไม่ได้ทำไว้ สิ่งใดไม่ได้ทำไว้เราก็พึ่งไม่ได้
สิ่งใดเรารู้เราก็ได้ทำไว้ปฏิบัติไว้ เราก็พึ่งได้ นี่เป็นอย่างนี้
ท่านวางศาสนานี้ไว้เป็นเครื่องทะนุบำรุงตัวของเรา
ท่านทั้งหลายได้มาทำบุญทำกุศลทำคุณงามความดี
เป็นการบริจาค สละมัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่นในจิตใจของเรา
สละความโลภ สละความโกรธ สละความหลงออกไป
นี่แหละ เรื่องมันเป็นยังงี้
ผลานิสงส์นี่แหละจะกำจัดความทุกข์ความจน
เพราะเราได้ทำไว้ได้สร้างไว้ จะน้อยหรือมากก็เป็นของเรา
ที่ให้พากันกรวดน้ำเมื่อทำบุญกุศลแล้ว คือให้ตรวจน้ำใจของเรา
ที่เราทำมานี้ใจของเรามีความสุข ใจของเรามีความสบายไหม
ให้ดูซิ เราทำมาแล้วนี่แหละ ถ้าใจเรามีความสุข ใจเรามีความสบาย
เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย
นี่แหละใจของเราเป็นพุทโธ ใจเยือกใจเย็นใจสุขใจสบาย
นำความสุขความเจริญให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า

เพราะฉะนั้นให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ
ไม่ใช่อื่นสุข ไม่ใช่ข้าวของเงินทองสุข ไม่ใช่ฟ้าอากาศมันสุข ใจของคนเราเป็นสุข
สุขเพราะเหตุใด เพราะใจเราสงบ เราได้ทำคุณงามความดีไว้
ท่านทั้งหลายมานี้ก็มาทำคุณงามความดี
ดีแล้วหรือยัง ต้องดูให้มันรู้มันเข้าใจต่อไป
สิ่งใดเราไม่ได้ทำไว้เราก็พึ่งพาไม่ได้ ได้แต่ที่ทำไว้เท่านั้น
การที่เรารักษาศีล เราก็ไม่ได้รักษาอื่นไกล
รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจของเราให้เรียบร้อย
เมื่อกายของเราเรียบร้อย วาจาเรียบร้อย ใจเรียบร้อยแล้ว
เกิดไปภพไหนชาติไหนก็ตาม ถ้าเรายังไม่พ้นจากทุกข์ ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก
กายของเราก็จะเป็นคนเรียบร้อย วาจาของเราก็เป็นที่เรียบร้อยไม่มีโทษน้อยใหญ่
ดังนั้นท่านจึงให้รักษาศีล โทษน้อยโทษใหญ่คืออันใด
เราท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้วว่า
ปาณาฯ หรือ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ เหล่านี้มันเป็นโทษ
บ้านเมืองยุ่งยากทุกวันนี้ก็เพราะโทษห้าอย่างนี่แหละ ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ
เมื่อเราทั้งหลายไม่ได้ทำโทษห้าอย่างนี้เราก็มีความสุข
เราไปภพไหนชาติไหนเราก็มีความสุข ทั้งปัจจุบันและเบื้องหน้า
เราไม่ได้ทำโทษห้าอย่างแล้ว เราก็เป็นผู้มีโภคสมบัติ
เป็นคนไม่ทุกข์ เป็นคนไม่จน เป็นคนไม่อดไม่อยาก เป็นคนไม่ทุกข์ไม่ยาก
เหตุนี้ให้พากันฟัง แต่อย่าสักแต่ว่าฟัง ให้ทำจิตไปพร้อม

เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์
ภิกษุทั้งห้าเมื่อท่านได้สดับโอวาทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ท่านก็ยกอันนี้ขึ้นมาชี้แจงแสดงให้ฟัง
ท่านปัญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล
นี่เราก็ปัญจะ แปลว่าห้า
ห้าคืออะไรเล่า ก็ขาสอง แขนสองศีรษะหนึ่ง นี่แหละปัญจะแปลว่าห้า

เมื่อท่านปัญจวัคคีย์ได้ฟังธรรมแล้ว สิ่งใดไม่ดีท่านก็เลิกท่านก็ละ
ท่านยกอนัตตลักขณสูตรขึ้นมาชี้แจงแสดงให้ฟัง ชี้แจงยังไง
คือท่านยกรูป ยกเวทนา ยกสัญญา ยกสังขาร ยกวิญญาณ ขึ้นมาชี้แจงแสดงให้ฟัง
ชี้แจงแสดงว่าอย่างไรล่ะ รูปัง อนิจจัง
เมื่อท่านแสดงแล้วท่านถามว่า “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
ท่านปัญจวัคคีย์ก็ตอบว่าไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ท่านตอบว่าเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นว่าเป็นตัวตนได้ยังไงเล่า
ท่านว่าโน เหตัง ภันเต ไม่ใช่พระเจ้าข้า ท่านก็ละรูป
ทีนี้ถามถึงเวทนา เวทนา อนิจจา เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านบอกไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ท่านตอบว่าเป็นทุกข์ เมื่อสิ่งนั้นเป็นทุกข์ว่าตัวตนอย่างไรเล่า
ท่านบอกว่าไม่ใช่ ท่านก็ละเวทนา
เวทนาคือความเย็นความร้อน ความเป็นสุขความเป็นทุกข์
ที่เรียกว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา
เรานั่งอยู่นี่ก็มีเวทนา เดี๋ยวเจ็บตรงนั้นเดี๋ยวปวดตรงนี้
แล้วก็ให้ร้อน แล้วก็ให้เย็น วีวีวับวับแวบแวบอยู่นี่
นั่นแหละตัวเวทนา เห็นไหมล่ะมันอยู่เฉยๆ ไม่ได้
ให้พิจารณาอันนี้ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่ใช่อื่นไกล

เมื่อท่านถามเวทนาแล้ว ก็ถามสัญญา
สัญญา อนิจจา สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านตอบว่าไม่เที่ยง เมื่อสิ่งนั้นไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ท่านก็ตอบว่าเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นทุกข์จะว่าตัวตนอย่างไรเล่า
ท่านตอบ โน เหตัง ภันเต ไม่ใช่พระเจ้าข้า ท่านก็ละสัญญา
ทีนี้ถามถึงสังขาร สังขารา อนิจจา สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านตอบว่า ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งนั้นไม่เที่ยงเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ท่านตอบว่าเป็นทุกข์ เมื่อสิ่งนั้นเป็นทุกข์แล้วสิ่งนั้นจะว่าตัวตนอย่างไรเล่า
ท่านบอกไม่ใช่ ท่านก็ละสังขาร
ทีนี้ถามถึงวิญญาณ วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านก็ตอบไม่เที่ยง เมื่อสิ่งนั้นไม่เที่ยงแล้วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ท่านก็ตอบว่าเป็นทุกข์ เมื่อสิ่งนั้นเป็นทุกข์แล้วจะว่าเป็นตัวตนอย่างไรเล่า
ท่านก็เลยละ ท่านก็ปล่อยวางหมด
จิตของท่านก็สงบ เป็นศีลเป็นสมาธิ ละอารมณ์สัญญา
ละกิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหาอุปทานภพชาติ
ท่านก็ได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล จิตของท่านก็สงบ นี่ท่านเทศน์เพียงเท่านี้

เหตุนั้นให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีประจำตัวของเรา
อันนี้ให้พากันตรวจดูน้ำใจของเราในเวลานี้ เราจะอยู่ในชั้นใดภูมิใด
ในกามภพหรือรูปภพหรืออรูปภพ นี่พากันมาทำบุญทำกุศล
จิตเราเป็นบุญแล้วหรือยัง ให้พากันดู จิตเป็นบุญเป็นยังไง
จิตเป็นบุญก็คือจิตเราดี มีความสุขความสงบ เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนไม่วุ่นไม่วาย
พุทโธ ใจเบิกบานสบาย หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ
เป็นอย่างนี้แหละให้เข้าใจไว้ นี่แหละบุญ
คนทั้งหลายทำบุญแล้วไม่เห็นตัวมัน จักเป็นตัวยังไง ตัวบุญ อยากรู้จักตัวมัน
เออ ตัวบุญก็คือคนทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่แหละ ศีรษะมันดำๆ คอมันกิ่วๆ
เราทำคุณงามความดีแล้ว เราก็มีความสุขความสบาย จิตใจของเราก็เบิกบาน
จึงว่า พุทโธ มันเป็นอย่างนี้ จิตเราไม่ทุกข์ไม่ยากไม่มีความลำบากรำคาญ

เมื่อจิตเราดีแล้วสิ่งทั้งหลายมันก็ดีไปหมด
การงานเราก็ดี ทำมาหาอะไรก็ดี ค้าขายก็ดี เล่าเรียนก็ดี ครอบครัวก็ดี
ชาวบ้านร้านตลาดประเทศชาติก็ดี นี่แหละประเทศของเรา บ้านเมืองของเรา
เราจะได้รู้จักความดี ต่างคนต่างทำใจของตนให้สงบ
ข้าศึกศัตรูมันก็ไม่มี ภัยเวรมันก็ไม่มี แน่ะ เป็นอย่างนี้

เมื่อเรามี พุทโธ มีธัมโม มีสังโฆอยู่แล้ว
พุทโธคือเรารู้อยู่แล้ว ธัมโมก็คือเราก็ทำคุณงามความดีอยู่แล้ว
สังโฆเราได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่แล้ว
นี่แหละความชั่วทั้งหลายมันก็สลายไปเอง
เปรียบเหมือนกับมืดนี่แหละ เราจุดไฟขึ้นแล้วมืดมันก็หายไปเอง
ก็มีแต่ความสว่างไสว มีแต่ความผ่องใส นี่แหละเราอยากได้ไหมล่ะอย่างนี้
ให้พากันดูซิข้าศึกศัตรูมาจากไหน ภัยเวรมาจากไหน
มันไม่มาจากอื่นจากไกล มันมาจากราคะ โลภะ โทสะ โมหะนี่เอง
โลภัคคินา ความโลภมันเป็นไฟ
โทสัคคินา ความโกรธเป็นไฟ
โมหัคคินา ความหลงเป็นไฟ

ไฟนี้แหละมาไหม้หัวใจของเราให้วุ่นวาย เดือดร้อนหมดทั้งประเทศชาติบ้านเมือง
ด้วยเหตุนั้นเราจึงได้พากันมาทำบุญทำกุศลเพื่อระงับดับอันนี้ ไม่ใช่ระงับดับอื่นไกล
สมมติว่าเราให้ทาน เราก็ระงับดับความโลภนี่เอง
มันโลภมาเท่าไรเราก็สละออกไปเท่านั้น เป็นอย่างนี้แหละ

อนึ่งเรามารักษาศีล นี่เพื่อระงับดับความโกรธของเรา
เมื่อเรามีความโกรธแล้วเราก็ระลึกถึงศีลของเรา
นึกถึงเหตุใดศีลของเราจึงบกพร่อง นึกว่าเราโกรธอย่างนี้
เราเกิดมาจึงเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นคนทุกข์ใจ เป็นคนใบ้คนบ้า
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ละได้เรื่องความโกรธของเรา
เมื่อเกิดโมโหโทโสขึ้นแล้ว มันเกิดฆ่ารันฟันแทงกัน เกิดปล้นสะดมกัน เกิดฆ่ากัน
ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้
เรามารักษาศีล เราก็รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจของเราให้เรียบร้อย
เราไม่ทำโทษน้อยใหญ่ทางกายทางใจแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี
เกิดมาในชาติไหนภพไหนเราก็เป็นคนเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
นี่ให้เข้าใจไว้ ศาสนาท่านสอนไว้อย่างนี้
ทีนี้โมหะคือความหลง ท่านสอนให้เราภาวนา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ภาวนา พุทโธ๊ พุทโธ หมั่นระลึกไว้เราก็ไม่หลง

เมื่อเราไม่หลงแล้วเราก็ไม่กระทำความชั่ว กลัวบาปกลัวกรรมกลัวทุกข์กลัวยาก
เราก็นั่งไม่หลงแล้ว นั่งก็มีพุทโธ เป็นผู้รู้อยู่
นอนก็รู้อยู่ ยืนก็รู้อยู่ เดินก็รู้อยู่ ไปไหนก็รู้อยู่ เราอยู่เดี๋ยวนี้ก็รู้
ใจของเราเบิกบาน ใจเราเยือกใจเราเย็น ใจเราสุขใจเราสบาย
นี่แหละ เราทั้งหลายถามใครๆ ว่าบ้านเมืองของเราวุ่นวายมันเดือดร้อน
ร้อนที่ไหน นั่งดูซี่ ร้อนที่ไหนก็แก้ตรงนั้นซี่ ให้พากันแก้
เรามานี่คนมากน้อยเท่าไรล่ะ ต่างคนต่างสงบมันก็ไม่มีอะไร
มันก็มีระเบียบเรียบร้อยดี นี่แหละบุญกุศลมันเป็นอย่างนี้
เหตุนั้นให้พากันฟังให้รู้ให้เข้าใจต่อไป ให้พากันหมั่นภาวนา
เอ้า นั่งเข้าที่ฟังธรรม เทศน์ให้ฟังแล้ว มันสงบหรือไม่สงบ
นั่งเข้าที่ นั่งให้สบ๊ายสบาย ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรงนั่งให้สบายๆ เรามานี่เราต้องการความสุขความสบาย
นั่งให้สบายๆ กายเราสบายแล้ว
ทีนี้ฟังธรรม ฟังรูปธรรมนามธรรม ฟังธรรมฟังยังไงเล่า
กายสบายแล้วก็นึกถึงดวงใจของเรา
นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ในใจ

เมื่อเรานึกในใจอย่างนี้แล้ว ในเบื้องต้นนึกคำบริกรรมภาวนาเสียก่อน
ผู้เคยภาวนาแล้วก็ให้ดูใจแล้วภาวนานึกเอาเลย
ผู้ไม่เคยภาวนาก็ให้ระลึกอย่างนี้ว่า
พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ
สามหนแล้วให้รวมเอาแต่พุทโธคำเดียว
หลับตางับปากเสีย ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกเอาในใจ
ระลึกเพราะเหตุใดเล่า ให้ระลึกในใจของเรา
พุทโธ ความรู้สึกเกิดตรงไหนแล้ว ตั้งสติไว้ตรงนั้น
ตาก็เพ่งดูที่ตรงนั้น หูก็ลงไปฟังที่ตรงนั้น
เราอยากได้ยินว่าความสุขมันเป็นยังไง ตาเราก็อยากเห็น ใจเราก็อยากรู้
ความรู้ตรงไหนแล้ว อยู่ตรงนั้น มันเป็นยังไงเล่า ให้เข้าวัดดู
ใจของเราเป็นบุญหรือเป็นบาป มันเป็นบุญเป็นยังไงเล่า
ใจเราดีหรือชั่วให้รู้จัก ดีมันเป็นยังไง ใจเราดีคือใจเราสงบ
มีความสุขความสบาย เย็นอกเห็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย
พุทโธใจเบิกบานสบ๊าย พุทโธใจสว่างไสว พุทโธใจผ่องใสสะอาด
ปราศจากทุกข์ปราศจากโทษ ปราศจากภัยปราศจากเวร
ปราศจากความชั่วช้าลามก ปราศจากความทุกข์ความจน
ปราศจากโรคปราศจากภัย

นี่ดูเอา ใจเราสงบแล้ว ผู้นี้ไม่ได้ทำบาปทำกรรม กรรมมันจะมาจากไหนเล่า
ใจเราสว่างไสวผ่องใส ใจเราผ่องใส มันก็มองเห็นตนมองเห็นตัว
เห็นเขาเห็นเรา มองเห็นนรกมองเห็นสวรรค์ มองเห็นบุญมองเห็นบาป
ก็ดูซี่ บุญเป็นยังไง อธิบายมาแล้ว
ใจเรามีความสุขมีความสบาย นี่แหละบุญ
เมื่อเราดับขันธ์ก็ไปอยู่ที่สุขที่สบาย นี่แหละพากันฟังให้รู้ให้เข้าใจต่อไป
บาปเป็นยังไง เข้าวัดแล้วฟังธรรม ฟังดูซี่
บาปคือใจเราไม่ดี ใจไม่ดีก็ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน
ใจนี่นำสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยากในปัจจุบันและเบื้องหน้า
ใครๆ ก็ไม่อยากได้ไม่ใช่เหรอ

เมื่อใจไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี การงานก็ไม่ดี ครอบครัวก็ไม่ดี
ทำมาหากินเล่าเรียนอะไรก็ไม่ดี ชาวบ้านร้านตลาดประเทศชาติก็ไม่ดี
เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ใช่อื่น ไม่ใช่ฟ้าอากาศไม่ดี ใจเราไม่ดี
รีบนึกพุทโธตัดมันเสีย ให้รู้ไว้เสียเดี๋ยวนี้
เอ้า ต่อไปลองดู มันดีหรือไม่ดี สอบดูซี่ ใครดีไม่ดีก็รู้ตรงนี้แหละ
ใครดีก็ดูเอา ใครไม่ดีก็ดูเอา เราอยากได้ก็สร้างเอา
ไม่มีเทวบุตรเทวดาทำให้ ไม่มีพระพรหมทำให้
บ้านเมืองวุ่นวายเดือดร้อนจะทำวิธีไหน ก็ต่างคนต่างสงบอย่างนี้แหละ
อำนาจบุญกุศลกำจัดภัยกำจัดเวร กำจัดความชั่วช้าลามก
กำจัดความทุกข์ความจนได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้
ด้วยอานุภาพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น่ะแหละ ไม่มีอานุภาพอื่น
นี่แหละบ้านเมืองของเราก็จะอยู่เย็นเป็นสุข
ใจเราเป็นสุข บ้านเมืองก็เป็นสุข
ก็ใจคนนี้สร้างบ้านสร้างเมือง ใจคนนี้เป็นผู้รักษาประเทศชาติ
ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นก็อาศัยเรานั่งสมาธิภาวนานี้แหละ
ให้ดูใจเราสงบ มันสงบแล้วก็ไม่มีบาปไม่มีกรรม ไม่มีความชั่ว
มีแต่ความสุขความเจริญ

เมื่อใจไม่สงบแล้ววุ่นวายเดือดร้อน
เมื่อเห็นแล้วเราก็รีบแก้รีบชำระสะสางหัวใจของเรา
ต่างคนต่างสงบแล้ว มันก็สงบไปหมดดอก
ต่อไปแต่นี้ให้สัญญาณไว้ ได้ยินเสียงอะไรก็ตามให้รู้ว่าไม่มีอันตราย
แล้วเราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ต่างคนต่างฟัง
ฟังได้ยินแล้วน้อมเข้าไปหาตนของตน...

(นั่งสมาธิ) นั่งให้สบาย อยากสุขอยากสบาย ทำใจให้มันว่าง ทำใจให้มันนิ่ง
มันข้องอะไรมันคาอะไรรีบแก้ไขเสียเดี๋ยวนี้
ตายแล้วแก้ไม่ได้น้า ถึงตัวแล้วแก้ไม่ได้น้า รีบแก้เสียในเบื้องต้นนี้
จะคอยให้ท่านอาจารย์หลวงปู่เมตตา ให้หลวงตาเมตตา
ใครเป็นทุกข์เป็นร้อนก็ให้ท่านเมตตา เราเองล่ะไม่เมตตาตน
เมตตาตนซี่ เอ็นดูตนจึงมานั่งอย่างนี้ ถ้าใครไม่เอ็นดูตนแล้วก็มานั่งไม่ใด้
เมตตาตน นั่งดูตน ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตนดีหรือไม่ดี ให้รู้จัก
ไม่ใช่ฟ้าอากาศดี ไม่ใช่ฟ้าอากาศไม่ดี ดูเอาซี่
ไม่ใช่ฟ้าอากาศเป็นทุกข์ หัวใจเราเป็นทุกข์
เราไม่ต้องการทุกข์ก็นึก พุทโธ พุทโธ ให้ใจมันสงบ
ใจสงบแล้วก็หมดทุกข์ หมดเคราะห์ หมดเข็ญ หมดกิเลส หมดจัญไร
เพราะผู้นี้ไม่ได้ทำบาปทำกรรม กรรมมันจะมาจากไหน
เราไม่ไปกำเอา เราไม่ทำเอา เราไม่สร้างเอา กรรมมันจะมาจากไหนล่ะ
กรรมมันไม่ได้เกิดจากดินฟ้าอากาศ
เกิดจากกายของเรา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เวลานี้กายกรรมของเราก็เรียบร้อยแล้ว วจีกรรมของเราก็เรียบร้อยแล้ว
ยังเหลือแต่มโนกรรม มโนความน้อมนึก
เรานึกกรรมอันใดไว้ กรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะรับผลของกรรมสืบไป
กรรมดีน่ะเราจะรู้ได้อย่างไร ใจเราสงบดี มีความสุขความสบาย นี่แหละกรรมดี
กรรมไม่ดีเป็นยังไงเล่า ใจไม่ดี ทะเยอทะยานดิ้นรน
ใจทุกข์ใจยาก ใจเดือดใจร้อน นี่กรรมไม่ดี
นำให้ทุกข์ นำให้ยากในปัจจุบันและเบื้องหน้า...
(นั่งต่อ)...ใครเป็นยังไงรู้จักตรงนี้แหละ ดีหรือไม่ดี
ให้ตรวจดูบุญของเรา ตรวจดูหัวใจของเรา
เราให้ทานร้อยหนพันหนไม่เท่าเรานั่งสมาธิหนเดียว มีผลานิสงส์มาก
นี่แหละ ให้พากันทำบุญกุศลสร้างคุณงามความดี บ้านเมืองจะได้อยู่เย็นเป็นสุข
อาศัยพระพุทธศาสนาสอนกายสอนใจของเราให้ละความชั่ว
กลัวเราทุกข์กลัวเรายาก กลัวเราลำบากกลัวเรารำคาญ
ท่านให้ทำคุณงามความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
ธรรมะคำสั่งสอนได้นำมาแสดงในธรรมจักกัปวัตนสูตร

สรุปแล้วคือกายและใจเป็นที่ตั้งแห่งพุทธศาสนา
เป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล เป็นที่ตั้งแห่งความสุขความเจริญ
เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้ว โยนิโสมนสิการพากันกำหนดจดจำไว้แล้ว
นำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดตนของตนไปในธรรมคำสั่งสอน
ในท้ายที่สุดอัปปมาทธรรม เมื่อท่านทั้งหลายไม่มีความประมาทแล้ว
จะประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ
ดังได้แสดงมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้



ถอดความจากแถบบันทึกเสียงของคุณเฉลา ปัทมสถาน
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ม.ร.ว.ส่งศรี เกตุสิงห์ ผู้ถอดความ, นพ.อวย เกตุสิงห์ ผู้เรียบเรียง
:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ “อาจาโรวาท”
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๕๐


• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2019, 14:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2019, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร