วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2018, 20:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปนิสัยของหลวงปู่

หลวงปู่ท่านมีอุปนิสัยค่อนข้างสงบเงียบ เรียบร้อย ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ใจเย็นและมีเมตตา ท่านเคยเขียนบรรยายอุปนิสัยท่านไว้ในอัตตโนประวัติว่า

“อาตมานั้นมีนิสัยชอบทำงาน และทำอะไรทำจริง ไม่เหลาะแหละ เหลวไหลทำการงานอย่างใดก็ให้เสร็จไปอย่างนั้น ไม่ทอดทิ้งการงานแและไม่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ชอบทะเลาะกับใครๆ ถ้าจะมีเหตุให้ทะเลาะกันก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยง และมีความอดทนต่อคำด่าว่าติเตียนต่างๆ ไม่ถือมั่นไว้ในใจ”


ความรัก

สำหรับในเรื่องของความรักนั้น หลวงปู่ท่านก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับปุถุชนทั่วไปคือ มีทั้งความรักที่มอบให้แก่บิดามารดา ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ไม่เว้นแม้แต่ความรักระหว่างชายหญิง

“ความรักของอาตมานั้นนอกจากรักพ่อแม่แล้ว ยังรักขยายออกไปถึงความรักเฉกเช่นหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเดียวกัน หญิงผู้นั้นเธอก็รักและมีใจให้อาตมาเช่นกัน โดยเข้าใจว่าเธอคงจะเห็นถึงคุณงามความดีที่มีอยู่ในตัวของอาตมา คืออดทนต่อความชั่วร้าย อดทนต่อความลำบาก อดทนต่อหน้าที่การงาน หรือแม้แต่จิตใจของตนเอง ความรักครั้งนั้นถึงขั้นวาดฝันว่าจะครองคู่อยู่เรือนทีเดียว”


“เนื่องจากไม่รู้แจ้งในร่างกายตามเป็นจริงจึงได้สร้างกิเลสเหล่านี้ขึ้นในใจ
หลงรัก จะรักคนอื่นก็มารักกายนี่ก่อน รักขันธ์ ๕ นี้ก่อนจึงลามไปถึงคนอื่น
ถ้าคลายความรักในร่างกายลงได้ก็ไม่ไปรักคนอื่นแล้ว”


ตั้งสัจจะจะไม่กินอาหารดิบ

ในช่วงที่หลวงปู่อายุ ๑๙ ปี มีอยู่คราวหนึ่ง แม่น้าของหลวงปู่ได้ทำอาหารสำหรับรับประทานกันในครอบครัว ครั้งนั้นก็มีก้อยหรือลาบดิบๆ อยู่ในสำรับอาหารด้วย ก้อยก็เป็นอาหารที่คนอีสานทั่วไปรับประทานกันเป็นปกติธรรมดา บางทีก็สุกบ้าง ดิบบ้าง แต่คราวนั้นเป็นก้อยดิบ

“เนื้อที่ใช้ทำก้อยนั้นเป็นเนื้อดิบๆ สับไม่ขาดยังติดกันเป็นยวงเลย ตั้งสำรับนั่งกินกันตามปกติ แต่พออาตมาหยิบเข้าปาก ก็รู้สึกว่าอยากจะคายทิ้งทันที พะอืดพะอมแต่ก็ทน จะอายก็อายเลยฝืนใจกลืนลงไป พกลืนลงไปมันเห็นภาพว่า ชิ้นเนื้อมันไหลลงไป ตั้งแต่คอลงไปถึงกระเพาะ ในใจก็คิดว่าไอ้เนื้อดิบๆ นี้ มันท่าจะไปเน่าอยู่ในกระเพาะ ในลำไส้ของเราเป็นแน่เพราะเป็นเนื้อดิบๆ และก็นึกดูเข้าไปอีก จนเห็นอวัยวะภายในร่างกายของเรานี้ก็น่าจะเน่าเหมือนกับเนื้อที่กลืนลงไป ก็เกิดความรู้สึกเบื่อล่ะทีนี้

อาตมาจึงตั้งใจไว้ว่า ต่อไปนี้เราจะไม่กินลาบก้อยดิบๆ อีก ทีหลังโยมพ่อโยมแม่ให้ทำให้ท่านกินอีก อาตมาก็ไม่ทำ ตอบท่านไปว่า ใครจะทำกินก็ทำกินกันไป ผู้นี้ไม่กินด้วยนะ จะกินแต่ผักจิ้มแจ่วก็พอหรอก”


หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ไม่แตะต้องอาหารดิบอีกเลย


ธรรมะกระตุ้นเตือน

เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังประกอบกิจการงานตามปกติ ท่านได้พิจารณาถึงความเป็นไปต่างๆ ก็ไม่พบแก่นสารใดๆ ในโลกแม้แต่น้อย หาที่ยุติในสิ่งต่างๆ ก็มิได้พบหนทางเลย โดยหลวงปู่ได้เล่าว่า

“ในคราวนั้น อาตมาก็คิดว่าจะครองเรือนเช่นเดียวกับคนทั้งหลายที่เขาครองกันมาแล้วอย่างนั้น แต่วันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่ ไถไปคราดนาไป จึงพิจารณาไปว่า เมื่อไรเราจะได้ยุติการทำสวนทำนาซะทีมันแสนทุกข์แสนยากจริงๆ ทำปีนี้แล้วได้ข้าวเอาไปใส่ยุ้งใส่ฉางไว้ ก็กินบ้างขายบ้าง ปีใหม่มามันก็ร่อยหรอลง ต้องทำใหม่อีก ปีต่อมาก็ทำอีก

เอ้ ! แล้วเราได้อะไรนี่ ไม่ได้อะไรเลย เงินก็ไม่มี ขายข้าวแล้วก็เอาไปซื้อโน่นซื้อนี่หมดไป สมัยนั้นข้าวราคาถูก ขายก็ได้เงินนิดๆ หน่อยๆ ไม่สามารถก่อร่างสร้างตัวได้ซึ่งก็เป็นทุกข์จริงๆ ทำไมหนอเราจึงจะพ้นจากทุกข์อันนี้ไปได้ มันมีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักหน่อย”



ใต้สามัญสำนึก

หลวงปู่ได้พิจารณาอยู่ครู่ใหญ่ ท่านจึงตั้งคำถามต่างๆ นานากับตัวเอง

"เมื่อไรจะได้หยุดได้เลิกจากการทำไร่ ทำนาทำสวนเล่า ใจมันตอบตัวเองว่า ไม่มีทางหยุดได้ ถ้าไม่วางมือหนีไปบวชเสีย การทำนาทำสวนมีแต่ทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ตายแล้วก็ไม่ได้อะไร เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง ตายไปแล้วก็มีแต่ทิ้งไว้บนโลกทั้งหมด"

ท่านได้ตั้งปัญหาถามตัวเองอีกว่า "แล้วทำไมคนทั้งหลายจึงชอบใจกับความเป็นอยู่เช่นนี้นักหนา ใจมันก็ตอบว่า ก็เพราะคนทั้งหลายไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลในเรื่องนี้ให้รู้อย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง จึงไม่รู้สึกเบื่อหน่าย อีกอย่างหนึ่งสิ่งต่างๆในโลกนี้ก็ไม่ใช่ว่า จะให้แต่ความทุกข์อย่างเดียว บางทีมันก็มีสุขบ้างเหมือนกัน คนถึงได้ติดมันไง ท่านนักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ท่านพิจารณาเห็นว่า ความสุขนั้นที่แท้จริงแล้วมันคือทุกข์น้อย หรือความสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืน"

"สรุปแล้วมันก็เป็นทุกข์อยู่วันยันค่ำ มากกว่าจะเป็นสุข ความสุขที่ว่า มันเป็นเพียงเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสุขยั่งยืนอะไร เพราะคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตายเสมอภาคกัน ร่างกายนี้เมื่อจิตละไปแล้วก็ต้องแตกสลายจากกัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย"


"การผูกเวรกันนำมาซึ่งทุกข์ไม่จบไม่สิ้น
แต่เวรระงับได้ด้วยการอโหสิกรรม เวรก็จะระงับกันไป"


จิตเป็นสมาธิครั้งแรก

"วันหนึ่งหลังเลิกจากนาแล้ว อาตมาก็นั่งบนหลังควายเข้าบ้าน นั่งไปก็พิจารณาดูชีวิตว่า ทำไมหนอชีวิตจึงเป็นแบบนี้ ไม่รู้ว่าเป็นสมาธิตั้งแต่เมื่อไร มันเพ่งเข้าไปในร่่างกายนี่ เพ่งไปเพ่งมาปรากฎว่า ไม่ทราบว่ากายมันหายไปไหน มองไปทางไหนก็ไม่มีอะไรเลย ต้นไม้ใบหญ้าก็ไม่มี คน สัตว์ สิ่งของก็ไม่มี ว่างไปหมดเลยทั้งโลกนี้ ทำไมหนอจึงเป็นเช่นนี้แล้วทำไมมนุาย์มันจึงหวงแหนหนักหนา ไม่เห็นมีอะไรว่างั้น เพ่งดูไปๆมันไม่เห็นมีอะไร ร่างกายก็ไม่มี มองดูร่างกายก็ไม่เห็น มันเกิดเป็นแสงสว่างอยู่อย่างนั้นเลยนะ เป็นอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วมันก็หายไป

ตอนนั้นมันเกิดปีติในใจอย่างรุนแรง โอ้ ! โลกนี้เป็นอย่างนี้หนอ ตัวเบา ใจก็เบา ปลอดโปร่ง ทั้งที่ไม่เคยได้ไปฟังเทศน์ ไม่เคยภาวนาสมาธิอะไรทั้งนั้น แล้วทำไมมันเกิดความคิดขึ้นอย่างนั้น ทำไมรู้จักทวนกระแสจิตเข้ามาหาร่างกายนี่นะ

หลังจากอาตมาออกบวชแล้วก็มาทบทวนเรื่องนี้จึงรู้ว่า โอ้ จิตมันเป็นสมาธินี่ คงจะเป็นบุญเก่าที่ทำมาแต่ก่อนมาดลบันดาล เราคงจะเคยเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐานมาก่อน พอปัจจัยพร้อม สิ่งที่สะสมมาจึงให้ผล ก็เลยดลจิตให้เกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาอย่างนั้น ทบทวนไปก็ได้ความอย่างนี้ ทบทวนไปมันยิ่งเบื่อหน่ายโลกอันนี้ เบื่อมาก ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรซึ่งเป็นหลักฐานที่จะถือเป็นจริงเป็นจังได้สักอย่าง"



ค้นพบหนทางแห่งความสุข

เมื่อหลวงปู่ท่านพิจารณาเห็นความเป็นไปดังกล่าวแล้ว ท่านจึงได้พบหนทางที่จะยุติสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์

"บวชสิ! บวชเท่านั้น มีทางเดียวที่จะพ้นทุกข์เหล่านี้ไปได้ พอนึกขึ้นมาได้อย่างนี้มันเกิดวามพอใจในการบวชขึ้นมาอย่างแรงกล้าทีเดียว พอกลับถึงบ้านอาตมาก็พูดกับโยมพ่อโยมแม่น้าว่า เวลานี้คิดอยากจะบวช ขออนุญาตไปบวชเถอะ โยมพ่อก็ว่า ตอนนี้ยุ้งข้าวมันชำรุด ถ้าจะไปบวชจริงๆ ก็ขอให้สร้างยุ้งข้าวใหม่ให้ก่อนเถอะ ยุ้งข้าวก็เล็ก ข้าวก็มาก ไม่มีที่จะเก็บจนล้นออกมา เวลาเอาออกมาใส่รถใส่เกวียนมันก็หล่นลงตามพื้น ไก่มันก็กินกันสนุกเลย เอ้า ก็ให้ทานมันไป

แต่พอถึงเวลาทำยุ้งข้าวเข้าจริงๆมือไม้มันก็อ่อนลงหมด ไม่สามารถจะทำงานได้ มันมีแต่จะบวชลูกเดียว พอจิตใจมันเป็นอย่างนั้นแล้วก็เลยบอกโยมพ่อโยมแม่น้าไปตรงๆ ว่า เห็นจะทำไม่ได้ มือไม้อ่อนหมด ไม่สามารถจะทำงานได้ มันมีแต่จะบวชลูกเดียวว่างั้น"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2018, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ในที่สุด คุณพ่อผาก็อนุญาตให้หลวงปู่อุุปสมบทตามความปรารถนา และพาหลวงปู่ไปฝากบวชกับท่านเจ้าอาวาสที่วัดบ้านหงส์ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ก่อนจะมีการบรรพชาอุปสมบท หลวงปู่ได้เข้าบวชเป็นผ้าขาวก่อน เรียนท่องคำขออุปสมบทอยู่ ๑๕ วัน จึงได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในสังกัดมหานิกาย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในคราวนั้นมีผู้มาขอบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับหลวงปู่รวม ๘ รูปด้วยกัน

หลังจากนั้น ท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย อันเป็นวัดที่อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากครอบครัวของท่านมากนัก


ได้รู้จักการภาวนาครั้งแรก

หลังจากหลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยแล้ว ท่านก็ปฏิบัติกิจของพระภิกษุสามเณร คือ การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น การบิณฑบาต ปัดกวาดวิหาร ลานเจดีย์ และศึกษาพระธรรมวินัยต่างๆ เท่าที่พระบวชใหม่จะพึงศึกษากัน แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ซึ่งท่านไม่เคยรู้ ไม่เคยทราบ นั่นคือ "การปฏิบัติภาวนา"

จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเดินผ่านกุฏิของหลวงตาซึ่งพำนักอยู่ภายในวัดโพธิ์ชัย หลวงตารูปนี้บวชก่อนหลวงปู่ ๑ พรรษา

"หลวงตารูปนี้ท่านนั่งหลับตาบ่นอะไร อุม อุม อยู่รูปเดียว พออาตมาเห็นท่านทำอย่างนั้นก็เกิดความฉงนสนใจ เพราะเราเป็นพระบวชใหม่ ไม่รู้เรื่องอะไร หรือแม้แต่ตอนเป็นฆราวาสก็ไม่เคยเห็น ไม่เข้าใจ

จนเช้า พบท่านจึงเข้าไปถามท่านว่า

เมื่อคืนนี้ท่านทำอะไร เห็นนั่งบ่น อุม อุม อยู่คนเดียว

ท่านก็ตอบว่า อ้าว..ก็ภาวนาสิ

อาตมาก็ถามต่อไปว่า ภาวนานี้มันดียังไง

ภาวนานี้มันได้บุญ ได้บุญแล้วก็ยังเป็นการตอบบุญแทนคุณ ค่าข้าวก้อนน้ำนมมารดาด้วย ท่านตอบ

นี่ท่านไปศึกษามาจากไหน อาตมาถามท่าน

หลวงตารูปนั้นท่านเล่าว่า ก็อยากภาวนาเลยไปเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ คราวนั้นได้ไปพบกับ "ญาครูสีทัตถ์" อยู่ที่พระบาทหอนาง (พระพุทธบาทบัวบก) อำเภอบ้านผือนี้จึงได้เรียนกัมมัฏฐานภาวนากับท่าน"


หลวงปู่เล่าประวัติพระพุทธบาทบัวบก

"ท่านญาครูสีทัตถ์นี้ ท่านเป็นผู้มาพบพระบาทบัวบกหรือพระบาทหอนางที่ว่ากันนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณะ ท่านพิจารณาเห็นสมควรว่าน่าจะได้สร้ารงเจดีย์ครอบเอาไว้ เพื่อเป็นสถานที่เคารพสักการะของคนรุ่นหลัง ลักษณะรูปทรงของเจดีย์นั้นเป็นทรงเดียวกับเจดีย์พระธาตุพนมองค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ขนาดของพระพุทธบาทบาวประมาณ ๒ เมตร กว้างประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร องค์เจดีย์สูงประมาณ ๑ เส้น ท่านญาครูสีทัตถ์ผู้นี้เป็นพระกัมมัฏฐานชื่อดัง ท่านเป็นคนแถบอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้ธุดงค์ผ่านมาทางนี้ และพบพระบาทนี้ประทับอยู่บนพลาญหิน ท่านได้บูรณะจนเป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้"



ภาวนาแทนคุณมารดา

หลวงปู่ท่านได้ทราบถึงอานิสงส์ของการปฏิบัติภาวนาแล้ว ท่านจึงเกิดความสนใจด้วยความมุ่งมั่นที่จะทดแทนบุญคุณของบิดามารดา

"ถ้าภาวนาแล้วตอบแทนคุณของพ่อแม่ได้จริง อย่างนั้นผมก็เป็นหนี้บุญคุณพ่อแม่อยู่เหมือนกัน ผมอยากตอบบุญแทนคุณท่านเหมือนกันนา บุญคุณโยมแม่ผมก็ล้นหลายเพราะท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว เหลือแต่โยมพ่อและแม่น้า ผมอยากอุทิศบุญให้มารดาผู้วายชนม์ อาตมาขอร้องท่าน เมื่อท่านรับปากว่าจะสอนจึงเริ่มภาวนากันเลย แต่ท่านไม่ได้ให้เรียนในบทที่ท่านภาวนาอยู่ ท่านสงวนลิขสิทธิ์อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านแนะนำให้ท่องอนุสติ ๑๐ ท่องจำให้ได้ จำได้แล้วก็ให้บริกรรมไปสุดแล้วซ้ำใหม่ สุดแล้วซ้ำใหม่อย่างนั้นละ

พอท่องอนุสติ ๑๐ ได้แล้ว ก็นั่งบริกรรมภาวนา พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เรื่อยไปจนถึงอุปสมานุสติ จบแล้วก็กลับมาตั้งใหม่อีก จบแล้วตั้งใหม่อยู่อย่างนั้น นั่งสมาธิอยู่กับคำบริกรรมอนุสติทั้ง ๑๐ ออกจากสมาธิไปแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเดินไปไหนมาไหนก็ภาวนาแต่อนุสติ ๑๐ นั้นอยู่ สุดแล้วตั้ง สุดแล้วตั้ง อยู่อย่างนั้นแหละ พอภาวนาไปรู้สึกว่า ใจมันเย็นสบาย เอ้อ! ภาวนามันดีอย่างนี้ ทำให้จิตใจสงบเย็นสบาย จึงได้เอาใจจดจ่ออยู่กับอนุสติ ๑๐ ทั้งกลางวันกลางคืนด้วยใจหวังจะทดแทนคุณมารดา"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2018, 20:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พ.ศ.๒๔๗๕ จำพรรษา ณ วัดศรีสุมังคล์
อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย


"ปัญญากับสมาธินี้ต้องเป็นคู่ขนานกันไป
ปัญญามากเกินไปจิตฟุ้งซ่าน สมาธิมากเกินไป หดหู่ ง่วงเหงา หาวนอน"

กระทั่งเดือนพฤษภาคมในปีนั้น หลวงปู่ท่านได้พิจารณาว่า ท่านเองเป็นพระนวกะ บวชมาใหม่ๆ ยังขาดความรู้ในด้านพระธรรมวินัยอยู่มาก ถ้าจะพอมีความรู้ก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ จึงควรจะไปศึกษาในฝ่ายพระปริยัติธรรมบ้าง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ในธรรมวินัยให้มากขึ้น จะได้นำมาใช้ปฏิบัติควบคู่ไปกับการภาวนาและจะได้มีความรู้สำหรับอบรมสั่งสอนญาติโยมด้วย

เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วท่านจึงตัดสินใจชวนพระซึ่งพำนักอยู่ด้วยกันที่วัดโพธิ์ชัย ร่วมเดินทางไปยังวัดศรีสุมังคล์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดในสมัยนั้น เพื่อจะขออยู่จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป

ขณะที่หลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ที่วัดศรีสุมังคล์ ทางวัดได้จัดให้ท่านพักอยู่ภายในพระอุโบสถ ร่วมกับพระที่เดินทางไปจากวัดโพธิ์ชัยด้วยกัน

สำหรับกิจวัตรต่างๆ ที่หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติขณะที่อยู่วัดศรีสุมังคล์มีดังนี้

ตี ๔ หลังจากเสียงระฆังที่กุฎิท่านเจ้าอาวาสดังขึ้น ท่านก็เตรียมตัวห่มจีวรขึ้นไปทำวัตรเช้าที่กุฎิท่านเจ้าอาวาสพร้อมกับพระภิกษุสามเณรภายในวัด เมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็นั่งสมาธิภาวนา ต่อจากนั้นก็ไปบิณฑบาต ตอนบ้ายเรียนนักธรรม ตอนเย็นทำวัตรเย็นเสร็จก็จะท่องหนังสือนักธรรม เช่น นวโกวาท ธรรมวิภาค พุทธประวัติ กระทั่งถึงเวลาเที่ยงคืนจึงหยุดท่องหนังสือ

ต่อจากนั้นก็ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนาจนสงบ คืนไหนไม่สงบก็ตั้งจิตอธิษฐาน ไม่ลุกจากที่นั่ง ภาวนาจนจิตสงบจึงจำวัด



ภาวนาพุทโธ

ที่วัดศรีสุมังคล์แห่งนี้ มีพระอาจารย์บุญจันทร์เป็นเจ้าอาวาส คอยปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรภายในวัด และท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอีกด้วย พระอาจารย์บุญจันทร์รูปนี้ ท่านเป็นพระที่มีความรู้และสนใจในด้านการปฏิบัติภาวนา

เมื่อหลวงปู่มาอยู่จำพรรษาที่วัดศรีสุมังคล์นี้แล้ว ท่านยังคงถือปฏิบัติด้วยอนุสติภาวนา แต่ท่านก็ยังมีความคลางแคลงใจอยู่บ้าง ว่าจะถูกต้องถูกทางหรือไม่ ท่านจึงนำเรื่องการปฏิบัติของท่าน ไปกราบเรียนถามพระอาจารย์บุญจันทร์

"อาตมารู้สึกถูกอัธยาศัยกับพระอาจารย์บุญจันทร์อย่างมาก ได้ไปสนทนากับท่านหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาส จึงได้กราบเรียนถามท่าน ถึงเรื่องการภาวนาด้วยอนุสติ ๑๐

ผมภาวนาอนุสติ ๑๐ อยู่ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่

พระอาจารย์บุญจันทร์ตอบว่า ถ้าจะให้ถูกต้องจริงๆ ก็คงไม่ถูก แต่ก็พอจะใช้ได้

ถ้าภาวนาที่ถูกต้องจริงๆ ภาวนาอย่างไร อาตมาเรียนถามท่านต่อ

ท่านก็บอก พุทโธสิ เอาคำเดียวเท่านั้นแหละ ใจจึงจะสงบลงได้ ถ้าบริกรรมไปหลายคำหลายบริบทมากไป จิตใจมันไม่สงบ มันจะฟุ้งซ่าน

เมื่อท่านบอกอย่างนั้น อาตมาก็ลองปฏิบัติตามท่านดู เอ๊า ! พุทโธ ก็ พุทโธ พอทำวัตรสวดมนต์ตอนเย็นเสร็จ ก็ไปนั่งท่องหนังสือนวโกวาท ตอนที่ไปถึงวัดศรีสุมังคล์น่ะมันเป็นเดือน ๖ ยังไม่ได้จับหนังสือท่องหลักสูตรอะไรเลย ก็ไปเร่งท่องตั้งแต่หัวค่ำจนเข็มนาฬิกามาที่เลข ๑๒ เที่ยงคืนน่ะ จึงงดท่องหนังสือ ขณะนั้นพักอยู่ในอุโบสถจึงไหว้พระแล้วก็นั่งสมาธิ บริกรรม พุทโธ พุทโธ ทีแรกมันไปทั่วพิภพเลยนะ ไปไหนเราก็เอาพุทโธไปด้วย ตามไปจนสุดเหวี่ยง"



อานุภาพการภาวนาพุทโธ

ในระยะแรกที่ท่านเริ่มปฏิบัติภาวนาด้วยการบริกรรม "พุทโธ" เป็นอารมณ์ จิตของท่านยังส่งออกภายนอกอยู่ นึกถึงเรื่องต่างๆ นึกถึงสิ่งต่างๆ ทั่วไป ตามธรรมของผู้ปฏิบัติใหม่

"ภาวนาไปมันส่งออกนอก พุทโธไปทั่วพิภพเลย รู้สึกว่าจิตใจมันยังไม่สงบ แต่ว่าไม่ลืมคำภาวนา พอนึกพุทโธ จิตมันก็วิ่งไปตามเรื่องต่างๆ ตามไปจนสุดเหวี่ยง แล้วก็ค่อยพุทโธกลับโค้งเข้ามา โค้งเข้ามา ใกล้ตัวเข้ามา ใกล้ตัวเข้ามาเรื่อย ในที่สุด พุทโธก็มาอยู่ที่กาย น้อมจากกายก็น้อมเข้าสู่ใจ พอพุทโธเข้าถึงใจแล้ว ใจก็สงบลง เมื่อสงบลงไปพอควรก็สบาย เวลาภาวนา อาตมาก็ทำอย่างนั้น ทำมาโดยลำดับ ทั้งเรียนนักธรรมทั้งภาวนาไปด้วยกัน แต่รู้สึกว่า จิตใจมันสบาย ร่าเริงบันเทิง ไม่เดือดร้อนเลย ร่างกายก็สมบูรณ์ มีกำลังเรี่ยวแรงดี เพราะว่าจิตใจผ่องใส อะไรก็ดีตามไปด้วย

คนเรานี้เมื่อจิตใจเบิกบานผ่องใสแล้ว ร่างกายนี้ก็จะกระชุ่มกระชวยไปด้วย จะไม่ค่อยวิบัติขัดข้องอะไร เว้นแต่ผู้ที่มีกรรมมีเวร ถ้ามีกรรมมีเวรหนหลังมาสนองแล้ว มันก็เป็นไปชั่วระยะหนึ่ง พอหมดกรรมหมดเวรแล้ว สิ่งขัดข้องก็จะหายไป ทีนี้เมื่ออาตมาปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว ในที่สุด พุทโธ ก็มาอยู่ในกาย น้อมจากกายก็มาเข้าใจถึงใจ พุทโธเข้าถึงใจ ใจก็สงบลงหมด พอเพ่งใจสงบลงพอสมควรแล้วก็ถึงได้จำวัด พอจำวัดไปถึงตีสี่ เสียงระฆังที่กุฎิเจ้าอาวาสดังเม้งๆ ก็ตื่น พอตื่นแล้วก็ล้างหน้าล้างตาห่มผ้า ขึ้นกุฏิเจ้าอาวาสไปทำวัตรเข้ากัน ทำวัตรเช้าเสร็จแล้วท่านก็ให้นั่งภาวนาอยู่พักหนึ่ง นั่งสงบจิตอยู่พักหนึ่งก็เลิกกันไป ต่อจากนั้นก็ไปบิณฑบาต พอตอนบ่ายก็ไปเรียนนักธรรม นี่คือข้อวัตรในพรรษาแรกของอาตมา"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2021, 20:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ตั้งสัจจะไม่จับเงิน

หลวงปู่ท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยถือสัจจะอย่างมั่นคง เมื่อได้พูดหรือรับปากอะไรลงไปท่านจะปฏิบัติตามนั้นตลอด มิให้ผิดในสิ่งที่ลั่นวาจาไปแม้แต่น้อย ในพรรษานี้หลวงปู่ท่านได้ตั้งสัจจะขึ้นอย่างหนึ่ง

"ธรรมดาบวชในมหานิกายก็เก็บเงิน จับเงิน กระเป๋าสตางค์ก็มีติดอยู่ในย่าม ตอนนั้นอาตมาไปเรียนนักธรรม ไปนั่งตอบปัญหาอยู่ในห้อง ตอนไปถึงนั้นมันยังพอมีเวลา ยังไม่ถึงเวลาเรียน จึงเอาย่ามไปวางในห้องเรียน แล้วก็ไปคุยกับหมู่เพื่อน พอได้เวลาเรียนก็กลับเข้าห้อง โดยไม่ได้ใส่ใจกับย่าม เลิกเรียนแล้วก็นึกอยากจะซื้อบุหรี่ ไปค้นดูในย่ามหากระเป๋าเงิน ไม่มีเลย กระเป๋าเงินไม่ทราบหายไปไหน อาตมาก็เลยว่าดีแล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย จะจับหรือนับเงินใช้ด้วยตัวเองก็ดี ให้ผู้อื่นเก็บรักษาก็ดี หรือมีใจยินดี เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ได้ เรามันประมาทล่วงวินัย

เอาละนับแต่บัดนี้ไป เราจะไม่สะสม จะไม่จับปัจจัยอีกเลย แต่ว่าวันนี้เราจะขอเงินเพียงแค่ค่ารถค่าเรือกลับวัดเท่านั้น พอถึงวัดแล้วในย่ามอาตมาจึงไม่มีเงินติดย่ามเลย พอเรียนนักธรรมเสร็จสิ้น จึงลาพระอาจารย์บุญจันทร์กลับวัดโพธิ์ชัย ตั้งแต่นั้นมาไม่เอาแล้วเงิน ไม่ถือแล้ว พูดยังไงต้องทำอย่างนั้น สัจจะคนเรามี ไม่เอาไม่จับมันอีก"


หลังจากนั้น หลวงปู่ท่านก็มิได้จับเงินอีกเลย สมกับสัจจะที่ท่านตั้งไว้


"พระศาสดาทรงสอนว่า
ไอ้ทุกข์แก่ ทุกข์เจ็บ ทุกข์ตาย
อันนี้นะ ละไม่ได้เลย มีแต่รู้เท่าอย่างเดียว
เพราะเหตุว่า จิตเมื่อยังอาศัยอยู่ในร่างกายนี่ตราบใด
เมื่อร่างกายนี่วิบัติลง
ทุกข์แก่ ทุกข์เจ็บ ทุกข์ตายก็มากระทบกระทั่งกับจิตนี้"


เทศน์ครั้งแรก

จากนั้น หลวงปู่ท่านได้กลับมาพำนักที่วัดโพธิ์ชัย เพียงไม่กี่วันต่อมา ชาวบ้านญาติโยมได้พากันมานิมนต์หลวงปู่ขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา ด้วยญาติโยมทั้งหลายคงจะเห็นว่า ท่านเองก็ได้ไปเรียนทางด้านปริยัติมาแล้วคงจะมีความรู้มาสอนพวกเขาได้บ้าง การแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนั้น เป็นการแสดงธรรมต่อหน้าชุมชนครั้งแรก

หลวงปู่ได้เล่าว่า

"อาตมารู้สึกประหม่าอยู่บ้าง มันตื่นเต้น แต่ก็พอมีความรู้ที่ได้จากการเรียนวิชากระทู้ธรรมมาบ้าง จึงนำมาเทศนาว่ากันเรื่อยไปจนจบและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี"



พบแนวทางปฏิบัติที่ลึกซึ้ง

ในระหว่างที่หลวงปู่กลับมาพำนักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนั้น คุณพ่อผาได้นำหนังสือธรรมะมาถวายท่านเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เขียนโดยหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เมื่อหลวงปู่ท่านได้อ่านแล้ว เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก เนื้อหาภายในหนังสือส่วนใหญ่นั้น อธิบายเกี่ยวกับเรื่องแนวทางการปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งท่านสนใจเป็นพิเศษ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า

"หนังสือเล่มนี้ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน โคราช เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ พออาตมาอ่านดูแล้วรู้สึกว่าดีมาก ท่านอธิบายแบบกะทัดรัด ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมเข้าใจง่าย โดยเฉพาะกายานุปัสสนา

ท่านว่า ให้พิจารณาร่างกาย โดยให้เพ่งพิจารณากายนี้ แล้วแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น ผมกองหนึ่ง ขนกองหนึ่ง เล็บกองหนึ่ง ฟันกองหนึ่ง หนังกองหนึ่ง เป็นต้น ตลอดจนอาการ ๓๒ เมื่อแบ่งออกเป็น ๓๒ กอง ตามอาการต่างๆ ในร่างกายแล้ว ท่านให้ถามตัวเองว่า ตรงไหน ที่ว่าตัวของเรา ตัวเรานั้นอยู่ตรงไหน ตรงนั้นก็กองผม ตรงนี้ก็กองขน ดังนี้

ในที่สุดตัวเราก็ไม่มี เอาไฟเผาแล้วก็เหลือเพียงเถ้าถ่าน และกองกระดูกเท่านั้น กำหนดเอากระดูกใส่ครก บดให้ละเอียด แล้วซัดไปตามลม ลมก็พัดหายไป ไม่เหลืออะไรอีกเลย

แล้วสติก็รู้ได้ว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นของของตนสักอย่างเดียว มีแต่เกิดแล้วดับไป ดังที่ปรากฎมาแล้วนั้น แล้วใครเป็นผู้รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนั้น ก็จิตนี้สิเป็นผู้รู้ เมื่อสติกลับมารู้จิต จิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง แสดงว่าจิตปล่อยวางร่างกายได้ตามสภาพจึงประคองจิตให้สงบอยู่ต่อไป นานเท่าที่จะนานได้

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนั้นจบลงแล้ว อาตมาจึงคิดว่า เราต้องลองทำดู จำกรรมวิธีจำแบบ จำแนวทางนั้นได้แล้ว ก็นั่งสมาธิเพ่งพิจารณากายเข้าไป ก็รู้สึกว่าได้ผลดีกว่าแต่ก่อน เพราะก่อนหน้านี้จิตใจยังไม่สงบแนบเนียนถึงปานนี้ พอมาเจริญภาวนาสติปัฏฐาน ตามแนวทางที่ท่านแนะนำแล้ว จิตใจดูจะสงบอยู่ได้นาน วิธีนี้เห็นจะถูกทางแล้ว"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2021, 21:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติย่อหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

นามเดิม สิงห์ บุญโท

บิดา เพีย อัครวงศ์* (อ้วน)

มารดา หล้า บุญโท

เกิด วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู

บรรพชา ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ในสำนักพระอุปัชฌาย์ "ป้อง" ณ วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (*เพิ่มเติม ในสมัยนั้นยังยังไม่แยกเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ)

อุปสมบท เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ฯ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ เหตุที่ได้จูงใจให้ท่านออกเที่ยวธุดงค์ เจริญสมถวิปัสสนากัมมัฎฐานนั้น สาเหตุด้วยคำนึงถึงพระพุทธศาสนาว่า หมดเขตสมัยมรรคผลธรรมวิเศษแล้ว หรือว่ายังมีหนทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนาอยู่

ในระหว่างพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ทราบว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อได้ศึกษากับท่านจนได้ความแน่ชัดว่า หนทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ จึงได้ตกลงใจออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวกเพื่อเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฎฐานตั้งแต่นั้นมา

สมณศักดิ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

มรณภาพ มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลา ๑๐.๒๐ น. ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา สิริอายุรวมได้ ๗๓ ปี พรรษา ๕๑


-----
*เพีย อัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พระอุปัชฌาย์

รูปภาพ
พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) พระกรรมวาจาจารย์


"พอใจมันสงบ มันนึกถึงป่าขึ้นมาทันทีเลย จึงคิดว่า เราจะมานั่งภาวนาอยู่ทำไม ในที่ที่มีคนห้อมล้อมอยู่มากมาย มันไม่สะดวกต่อการภาวนาเลย คงจะก้าวหน้าไปไม่ได้แน่ๆ มันต้องไปภาวนาอยู่ในป่า"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2023, 20:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สยบกิเลสมารด้วยอธิษฐานบารมี

จากนั้น หลวงปู่ท่านจึงดำริที่จะแสวงหาสถานที่ สำหรับออกปฏิบัติสมณธรรมเพื่อความสงบของจิตใจ เมื่อดำริเช่นนั้น ความขัดข้องต่างๆ ก็ได้มาเกิดขึ้นแก่จิตใจของท่าน คือ กิเลสมารแสดงอาการออกมาขัดขวาง มิให้หลวงปู่ท่านออกปฏิบัติ

"เมื่อเป็นอย่างนั้น อาตมาจึงเกิดความรู้สึกนึกคิดเป็นสองทาง ทางหนึ่งอยากสึกออกไปครองเรือน อีกทางหนึ่งอยากออกปฏิบัติเจริญสมถะวิปัสสนาตามที่ตั้งใจไว้ พอตั้งใจจะออกป่า กิเลสก็จะมาสกัดไว้ ไม่ให้ไป เป็นอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า ไม่สามารถตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้ จึงตัดสินใจไม่ฉันอาหารหนึ่งวันเพื่อทรมานกิเลส พอถึงเวลาประมาณสามทุ่ม อาตมาก็ห่มผ้าพาดสังฆาฏิแล้วทำวัตร เสร็จแล้วก็อธิษฐานในใจว่า

บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อพิจารณาตัดสินใจให้ลงไปในทางใดทางหนึ่งให้จงได้ คือจะสึกหรือจะออกปฏิบัติ ถ้าหากข้าพเจ้าตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย


พออาตมาอธิษฐานสิ้นสุดลงก็เริ่มนั่งภาวนา กำหนดจิตให้เข้าถึงความสงบ พอจิตสงบไปได้เพียงชั่วครู่ นางตัณหาก็มากระซิบที่จิตนี้ ขอให้สึกออกไปครองเรือนดีกว่าน่า พรรณนาถึงความสุขต่างๆของการมีคู่ แล้วจิตก็ปรุงแต่งไปในเรื่องการครองเรือนว่า ต้องมีเมีย เมื่อมีเมียแล้วไม่นานก็ต้องมีลูก ต้องแสวงหาข้าวของเงินทอง มาเลี้ยงเมียเลี้ยงลูก ทีนี้การแสวงหาทรัพย์นั้น ใช่จะหามาได้ด้วยวิธีสุจริตเท่านั้นก็หาไม่ เพราะคนเราเมื่ออยู่ทางโลก ต้องปากกัดตีนถีบ มันต้องโดยทางทุจริตด้วย เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฉ้อโกงหลอกลวงเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตนบ้าง เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นบาปทั้งสิ้น คนเราอยู่ในโลกนี้ไม่ถึงร้อยปีก็ตาย เมื่อตายแล้วก็คงจะไม่พ้นนรกเป็นแน่ คงต้องจมอยู่อย่างนั้นนานแสนนานกว่าจะพ้นได้ พอคิดมาถึงตอนนี้ จิตก็คลายความกระสันอยากสึกลงเพราะเชื่อว่านรกมีจริง ดังที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ กลัวว่าจะต้องไปตกทุกข์อยู่ในนรกนานแสนนาน

พอเป็นอย่างนี้จิตก็สงบ แต่สงบลงไปได้ไม่นาน มารก็มาเบียดเบียนอีก จิตก็ฟุ้งไปตามอำนาจของมารนั้น คิดอยากจะสึกขึ้นมาอีก กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ว่านานเท่าไรเพราะสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกาใช้ ความปวดเมื่อยแข้งขาก็เป็นไปอย่างแรงแต่เราเคารพต่อความสัตย์ที่ตั้งเอาไว้ ถ้าตัดสินใจไม่ลงทางใดทางหนึ่งโดยเด็ดขาดแล้วก็จะไม่ลุกจากที่นั่งจริงๆ ตายเป็นตาย มันไม่กลัวนรกหรือมันถึงเป็นอย่างนี้

พอนึกถึงนรกครั้งที่ ๒ นี้ ก็ปรากฏนิมิตว่า มีหม้อนรกปรากฎขึ้นมา พร้อมทั้งเปลวไฟลุกท่วมน้ำเดือดพล่าน อู้! ไม่ไหวแล้ว ถ้าเราสึกไปทำบาปทำกรรม ตายแล้วก็คงจะไปตกนรกนี่ล่ะ ใจก็เลยหยุด ไม่สึกแล้ว ได้ถามย้ำกับตัวเองถึง ๓ ครั้ง มันก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้นทั้ง ๓ ครั้ง ว่าจะไม่สึก ต่อจากนั้นจึงคลายสมาธิ สยบกิเลสลงได้"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2023, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พบพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน วัดป่ากลางโนนภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


เมื่อหลวงปู่เกิดความมั่นใจ ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้ว ท่านก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติภาวนาต่อไป แต่ภายในใจของท่านในครั้งนั้น ปรารถนาที่จะพบกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ สามารถชี้แนะการปฏิบัติที่ถูกทางได้

คิดได้อย่างนั้น จึงแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้

"ครั้งแรกอาตมาได้พบกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน บ้านเดิมของท่านอยู่ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พอดีครูบาอาจารย์ท่านมาเที่ยวธุดงค์ทางจังหวัดหนองคาย พักอยู่ที่ริมฝั่งโขง เมื่อท่านมาอยู่ที่นี่แล้วอาตมาก็มีโอกาสไปศึกษาธรรมะกับท่าน แต่ก็ได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงแรก เพราะยังมิได้ออกปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง

จากนั้นก็นิมนต์ท่านไปแสดงธรรมที่วัดโพธิ์ชัย ท่านก็ไปให้ ไปทำมาฆบูชาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย คืนนั้นทั้งคืนไม่นอนเลย ถือเนสัชชิก ท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง ทั้งญาติโยมก็ไม่นอนกันตลอดคืน เช้ามาฉันภัตตาหารแล้ว พระอาจารย์ก็กลับที่พัก เราก็เตรียมบริขาร กะว่าเดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ จะออกไปอยู่ป่า"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร