วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 05:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2018, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท

อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์หรือความสำเร็จ) หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือแปลง่ายๆว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความมีใจจดจ่อ) และวิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) แปลให้จำง่ายว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น โดยนัยนี้ จึงมีสมาธิ ๔ ข้อ คือ

๑. ฉันทะสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือสมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

๒. วิริยสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากวิริยะ หรือสมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

๓. จิตตสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากจิตตะ หรือสมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

๔. วิมังสาสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากวิมังสา หรือสมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่

อนึ่ง สมาธิเหล่านี้ จะเกิดมีควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า "ปธานสังขาร" ซึ่งแปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร หรือความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง แปลง่ายๆว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์หรือความเพียรสร้างสรรค์ (ได้แก่ ความเพียรซึ่งทำหน้าที่ ๔ กัน-ละ-เจริญ-รักษา ที่เรียกว่า ปธาน ๔ นั่นเอง)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2018, 15:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังเกตสภาวะ หน้าที่ของฉันทะ


สมาธิเกิดจาก ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือจากความมีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวนได้อย่างไร มีแนวความเข้าใจ ดังนี้


๑. ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น อยากทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุจุดหมาย พูดง่ายๆว่า รักงาน และรักจุดหมายของงาน พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่า ความรักใคร่ใฝ่ใจปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยม สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำ หรือซึ่งจะเข้าได้ด้วยการกระทำนั้น อยากให้สิ่งนั้นๆ เข้าถึงหรือดำรงอยู่ในภาวะที่ดีที่งดงามที่ประณีต ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ของงานนั้น เกิดมีเป็นจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายทีดีงามนั้น

ความอยากที่เป็นฉันทะนี้ เป็นคนละอย่างกับความอยากได้สิ่งนั้นๆมาเสพ หรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นตัณหา ความอยากของฉันทะนั้น ให้เกิดความสุขความชื่นชม เมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ บรรลุความสำเร็จ เข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน


อาการของความอยากที่เป็นฉันทะนี้ พูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้น หรืองานนั้น กำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็เกิดปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมาย ก็ได้รับโสมนัส มีความสุข เป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึกโปร่งโล่งผ่องใสเบิกบานแผ่ออกไปเป็นอิสระ ไร้ขอบเขต

ส่วนความอยากของตัณหา ให้เกิดความสุขความชื่นชม เมื่อได้สิ่งนั้นมาให้ตนเสพเสวยรสอร่อย หรือปรนเปรอความยิ่งใหญ่พองขยายของตัวตน เป็นความฉ่ำชื่นใจที่เศร้าหมอง หมกหมักตัว กีดกั้นกักตนไว้ในความคับแคบ และมักติดตามมาด้วยความหวงแหนห่วงกังวลเศร้าเสียดาย และหวั่นกลัวหวาดระแวง



เมื่อเด็กเล็กๆ คนหนึ่งอยู่ตามลำพัง เด็กนั้นอาจกำลังเขียนภาพอย่างประณีตบรรจงด้วยใจรัก ตั้งใจให้ภาพนั้นดีงามสมบูรณ์ที่สุด หรืออาจกำลังเอาของเล่นที่เป็นชิ้นส่วนมาต่อเข้าเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างระมัดระวังให้เรียบร้อยดีที่สุดของรูปร่างที่หมายใจไว้นั้น เด็กนี้มีความสุข เมื่องานเขียนหรืองานต่อชิ้นส่วนนั้น ดำเนินไปด้วยดี มีความสำเร็จทีละน้อยๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อการเขียนหรือต่อชิ้นส่วนเสร็จสิ้นบรรลุจุดหมาย เขาจะดีใจ มีความสุขมาก อาจถึงโลดเต้น

เด็กนี้ทำงานนั้น ด้วยจิตใจแน่วแน่ ตั้งมั่น พุ่งตรงต่อจุดหมาย เขามีความสุขด้วยงานและความสำเร็จของงานนั้นเอง เป็นความสุขที่มิใช่เกิดจากการการเสพเสวยรสสิ่งใด ไม่จำเป็นต้องอาศัยอามิสตอบแทน และไม่จำเป็นต้องมีใครอื่นมาคอยดูคอยชมพะนอตัวตนของเขา คือไม่ต้องอาศัยรางวัล ทั้งที่เป็นกาม และที่เป็นภพ

แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว เขาอาจอยากเรียกให้ใครๆมาดู หรือเอาภาพนั้นไปอวด (เผื่อแผ่) ให้คนอื่นได้ชื่นชมกับความดีงาม ความประณีตสมบูรณ์ของภาพ หรือรูปที่เขาต่อขึ้นนั้นบ้าง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้ใหญ่ที่ดู หรือรับการอวดนั้น จะแสดงความชื่นชมต่อความดีงามสมบูรณ์ของภาพหรือสิ่งนั้นด้วย หรือแสดงความเอาใจใส่ต่อคุณค่าของสิ่งนั้นตามสมควร หรือเสริมบ้างว่า น่าทำอย่างนี้อีก และหนุนให้ทำดียิ่งขึ้นไป ก็น่าจะเป็นการถูกต้องเพียงพอ

แต่การที่จะชม หรือเอาใจใส่เกินเลยไป จนกลายเป็นการหันจากความดีงามความสำเร็จของงานไปเป็นการพะนอ (ความยึดมั่น) ตัวตนของเด็กในรูปหนึ่ง น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะจะกลายเป็นการแปรฉันทะของเด็กให้กลายเป็นตัณหา เปลี่ยนจากกุศล เป็นอกุศลไป อาจเป็นการสร้างนิสัยให้แก่เด็ก คือเมื่อเกิดมีฉันทะขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดตัณหาตามมาด้วย ทำให้ฉันทะของเด็กนั้นเป็นปัจจัยของตัณหาสืบต่อไป การฝึกอบรมเด็กในลักษณะเช่นนี้ คงจะมีอยู่มิใช่น้อย
ถ้าสังคมเช่นนี้ คนที่จะมีความสุขได้ด้วยฉันทะ จะมีน้อยลง และคนที่จะมีความสุขได้ต่อเมื่อมีการสนองตัณหา จะมีจำนวนมากขึ้น และสังคมก็จะเดือดร้อนมากขึ้น * (*มีข้อสังเกตที่เสนอไว้ โดยยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า คนตะวันออกแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ดูจะหย่อนในต้านฉันทะ ส่วนคนตะวันตกดูเหมือนจะมีฉันทะสูง แต่น่าเสียดายที่เอาฉันทะนั้นไปเป็นปัจจัยเลี้ยงตัณหาเสีย จึงสร้างความสำเร็จได้ดีกว่า พร้อมกับที่ก่อปัญหาขึ้นมากกว่าเช่นเดียวกัน)

การที่เด็กอยากชวนคนอื่นมาชื่นชมสิ่งที่พบเห็น หรืออยากอวดแสดงนั้น ไม่จำเป็นเฉพาะสิ่งที่เป็นความสำเร็จของเด็กเองเท่านั้น แต่จะมีต่อสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไป ทั้งที่เป็นของมนุษย์ปรุงแต่ง และที่เป็นธรรมชาติ แม้แต่เม็ดหินกรวดทราย ใบหญ้า และแมลงเล็กๆ ที่เขามองเห็นความดีงามสมบูรณ์แฝงอยู่

ความรู้สึกเช่นนี้จะเห็นได้ไม่ยาก แม้ในผู้ใหญ่ทั่วไป เมื่อมองเห็นธรรมชาติอันงดงาม ผลงานที่ประณีตน่าชื่นชม การแสดงออกของคนซึ่งทำได้อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์ เป็นต้น คนมักจะอยากชวนคนอื่นให้มาดูมาชม มาสร้างความรู้สึกที่เป็นกุศลอย่างที่ตนได้รับด้วย ในการที่เขาชวนใครๆนั้น เขามิได้ต้องการจะเสพเสวยอะไรหรือจะเอาอะไรเพื่อตนเลย คนที่ได้มองเห็นคุณค่าความจริงแท้ของธรรม ก็จะมีความรู้สึกทำนองเดียวกันนั้น อันทำให้ธรรมมีคุณสมบัติเป็น เอหิปัสสิโก คือ ชวนให้เชิญกันมาดู

ถ้าสามารถปลุกเร้าฉันทะให้เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เกิดความรักในคุณค่าความดีงาม ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น หรือจุดหมายนั้นอย่างเต็มที่แล้ว คนก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจอุทิศให้แก่สิ่งนั้น เมื่อรักแท้ ก็มอบใจให้ อาจถึงขนาดยอมสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้นได้

เจ้า ขุนนาง เศรษฐี พราหมณ์ คนหนุ่มคนสาวมากมายในพุทธกาล ยอมสละวัง ทรัพย์สมบัติ และโลกามิสมากมาย ออกบวชได้ ก็เพราะเกิดฉันทะในธรรม เมื่อได้สดับซาบซึ้งคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้คนทั้งหลายที่ทำงานด้วยใจรัก ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีฉันทะนำแล้ว ก็ต้องการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ให้สำเร็จผลอย่างดีที่สุดของสิ่งนั้น ของงานนั้น ไม่ห่วงพะวงกับสิ่งล่อเร้า หรือผลตอบแทนทั้งหลาย จิตใจก็มุ่งแน่วแน่มั่นคงในการดำเนินสู่จุดหมาย เดินเรียบ สม่ำเสมอ ไม่ซ่าน ไม่ส่าย ฉันทสมาธิจึงเกิดขึ้นโดยนัยนี้ และพร้อมนั้น ปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์ ก็ย่อมเกิดควบคู่มาด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2018, 20:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความอาจหาญ แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป ใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก
เมื่อคนรู้ว่าสิ่งใดมีคุณค่าควรแก่การบรรลุถึง ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว แม้ได้ยินว่าจุดหมายนั้นจะลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก หรืออาจใช้เวลายาวนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทาย ที่จะเอาชนะให้ได้ ทำให้สำเร็จ

ในพุทธกาล มีนักบวชนอกศาสนาหลายท่าน เมื่อสดับพุทธธรรมแล้วเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้รู้ ว่าผู้เคยเป็นนักบวชนอกศาสนา จะต้องประพฤติวัตรทดสอบตนเองก่อน เรียกว่าอยู่ปริวาส (ติตถิยปริวาส เป็นเวลา ๔ เดือน ก็ไม่ท้อถอย กลับกล้าเสนอตัวประพฤติวัตรทดสอบเพิ่มเป็นเวลาถึง ๔ ปี)

ส่วนผู้ขาดความเพียร อยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน แต่พอได้ยินว่าต้องใช้เวลานานเป็นปี ก็หมดแรง ถอยหลัง ถ้าอยู่ระหว่างปฏิบัติ ก็ฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นวาย ปฏิบัติได้ผลยาก

คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุน เวลาทำงาน หรือปฏิบัติธรรมระดับใดก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่ มั่นคง พุ่งตรงต่อจุดหมาย สมาธิก็เกิดขึ้นได้ เรียกว่า เป็นวิริยสมาธิ พร้อมทั้งมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เข้าประกอบคู่ไปด้วยกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2018, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. จิตตะ ความมีใจจดจ่อ หรือเอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ ความมีจิตผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้น ใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน
ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง คนผู้นั้นจะไม่สนใจ ไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ ใครจะพูดอะไรเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ แต่ถ้าพูดเรื่องนั้น งานนั้น จะสนใจเป็นพิเศษทันที บางทีจัดทำเรื่องนั้น งานนั้น ขลุกง่วนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาใจใส่ร่างกาย การแต่งเนื้อแต่งตัว อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่สนใจ เรื่องอื่นเกิดขึ้นใกล้ๆ บางทีก็ไม่รู้ ทำจนลืมวันลืมคืน ลืมกินลืมนอน

ความมีใจจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่ แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมาก เรียกว่าเป็นจิตตสมาธิ พร้อมนั้นก็เกิดปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุนไปด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 05:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔. วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลย บกพร่อง หรือขัดข้อง เป็นต้น ในกิจที่ทำ รู้จักทดสอบ และคิดค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง

ข้อนี้เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก คนมีวิมังสา ชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนชอบทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป เช่น คิดว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ผลคราวนี้เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านี้ ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสีย จะเป็นอย่างนี้ ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้ ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้ว ไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมาย เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ


ในการปฏิบัติธรรม วิมังสกชนก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวน เช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆ มีความหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร ควรใช้ในโอกาสอย่างใด ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด ปฏิบัติธรรมคราวนี้ ไม่ค่อยก้าวหน้า อินทรีย์ใดอ่อนไป ควรใช้วิธีอย่างใด ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น

การคิดหาเหตุผลตรวจตรองสอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนดและติดตามเรื่องที่พิจารณาติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแล่นดิ่งแน่วไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง เรียกว่าเป็นวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เกิดมาด้วย เช่นเดียวกับสมาธิข้ออื่นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 09:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความจริง อิทธิบาท ๔ อย่างนี้ เกื้อหนุนกัน และมักมาด้วยกัน เช่น เกิดฉันทะ มีใจรักแล้ว ก็ทำให้พากเพียร เมื่อพากเพียร ก็เอาใจจดจ่อใฝ่ใจอยู่เสมอ และเปิดช่องให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง

แต่ที่แยกเป็นแต่ละข้ออย่างนี้ ก็ด้วยถือเอาภาวะที่เด่นเป็นใหญ่ เป็นตัวนำ เป็นตัวชักจูงข้ออื่นๆ ในแต่ละกรณี เช่นว่า

เมื่อฟังธรรมด้วยกัน คนหนึ่งชอบศึกษาธรรม ฟังด้วยความรักความพอใจในธรรม อยากรู้อยากเข้าใจธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป (หรือแม้เพียงแต่ชอบใจธรรมที่แสดงในคราวนั้น หรือชอบผู้แสดงธรรมคราวนั้น) จึงฟังด้วยจิตใจแน่วแน่ ก็มี ฉันทะ เป็นตัวเด่น ชักนำสมาธิ และกุศลธรรมอื่นๆ

อีกคนหนึ่ง มีนิสัย หรือแม้แต่มีความรู้สึกเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เมื่อพบอะไรที่ควรทำ ก็ต้องสู้ ต้องเอาชนะ ต้องเข้าเผชิญ และต้องทำให้สำเร็จ จึงฟังด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทาย จะต้องพยายามเข้าใจให้ได้ ก็มีวิริยะ เป็นธรรมเด่น

อีกคนหนึ่ง มีนิสัยเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ว่าอะไรที่ตนเกี่ยวข้อง ก็จะต้องใส่ใจเอาจิตจดจ่อติดตาม จึงตั้งใจฟัง เอาจิตติดตามเนื้อความนั้น ก็มีจิตตะ เป็นใหญ่

อีกคนหนึ่ง คิดจะตรวจสอบว่า ธรรมที่แสดงนั้น จริงหรือไม่ ดีหรือไม่ หรือจะค้นหาเหตุผลในธรรมที่ฟัง ฟังไปก็คิดใคร่ครวญพิจารณาสอบสวนไป ใจจึงแน่วแน่อยู่กับธรรมที่ฟัง ก็มีวิมังสา เป็นใหญ่

ด้วยเหตุนี้ บางแห่งท่านจึงเรียกอิทธิบาท ๔ นี้ว่า เป็นอธิบดีหรืออธิปไตย ๔ * (อภิ.สํ.34/193/79ฯลฯ) โดยกำหนดเอาภาวะที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ในกรณีนั้นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ใช้งานที่ทำในแต่ละวัน แต่ละขณะนั้นแหละสร้างธรรมะปลุกเร้าธรรมให้เกิด อย่าคิดไปไกล :b32: แม้แต่การเดินจงกรม นั่งทำสมาธิโดยมีลมเข้า-ออก อาการของท้องที่พองและยุบสร้างธรรมะ ดูตัวอย่างนี้


สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอิทธิบาท ก็คือ เอางาน สิ่งที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการ เป็นอารมณ์ของจิต แล้วปลุกเร้าระดมฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา เข้านำหนุน สมาธิก็เกิดขึ้น และมีกำลังแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี


โดยนัยนี้ ในการปฏิบัติธรรมก็ดี ในการเล่าเรียนศึกษา หรือประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี เมื่อต้องการสมาธิ เพื่อให้กิจที่ทำนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดี ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ให้เกิดผลเป็นองค์ธรรมเด่นขึ้นมาสักข้อหนึ่ง แล้วสมาธิ ความสุขสบายใจ และการทำงานที่ได้ผล ก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากว่าจะเกิดมีตามมาเอง พร้อมกันนั้น การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา ในที่ทำงาน และในสถานที่ทุกๆแห่ง


ตัวอย่างเช่น เมื่อจะสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูก็ทำตนเป็นกัลยาณมิตร โดยอาจชี้แจงให้นักเรียนเห็นคุณค่าความดีของวิชานั้น หรือเรื่องราวนั้น ให้มองเห็นว่า วิชานั้นมีประโยชน์อย่างไร อาจเป็นประโยชน์ของตัวผู้เรียนเองเกี่ยวกับการหางานทำ การได้รับผลตอบแทน หรือความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นต้น (ใช้โลภะเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ) ก็ได้ หรือถ้าจะให้ดี ควรเป็นประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ความเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ (ฉันทะบริสิทธิ์) ก็ได้ จนทำให้นักเรียนเกิดความรักความพอใจ อยากเรียนเพราะอยากรู้วิชานั้น นี่เรียกว่าปลุก ฉันทะ ให้เกิดขึ้น


อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ที่เป็นสิ่งท้าทายสติปัญญาความสามารถ กระตุ้นความเข้มแข็งคึกคักที่จะเรียน หรือกล่าวถึงตัวอย่างการกระทำสำเร็จของผู้อื่น ให้เกิดกำลังใจสู้ เป็นต้น เรียกว่า ปลุกเร้า วิริยะ ขึ้น


อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับหน้าที่ หรือความรับผิดชอบ ให้เห็นความเกี่ยวข้องและความสำคัญของเรื่องนั้น ต่อชีวิต หรือต่อสังคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับภัยอันตราย และความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแม้นักเรียนจะมิได้ชอบ มิได้รักเรื่องนั้น แต่ก็จะเอาใจใส่ตั้งจิตจดจ่อเรียนอย่างแน่วแน่ เรียกว่า ทำให้เกิด จิตตะ


อีกอย่างหนึ่ง ครูอาจสอนตามแนวของการสำรวจตรวจสอบสืบสวนทดลอง หรือค้นคว้าหาเหตุผล เช่น ตั้งเป็นปัญหา หรือคำถาม เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนต้องใช้วิมังสา นักเรียนก็จะเรียนอย่างมีสมาธิได้เหมือนกัน เรียกว่า ใช้วิธีวิมังสา

ยิ่งถ้าครูจับหลักลักษณะนิสัยของนักเรียนได้ แล้วปลุกเร้าอิทธิบาทข้อที่ตรงกับลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ยิ่งดี หรืออาจปลุกอิทธิบาทหลายๆข้อ ไปพร้อมกันก็ได้


ในขณะเดียวกัน ผู้เรียน หรือผู้ทำงานที่ฉลาด ก็อาจใช้โยนิโสมนสิการปลุกเร้าอิทธิบาทขึ้นมาใช้สร้างผลสำเร็จได้ด้วยตนเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 10:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดูความหมายเฉพาะตัว สังเกตความหมายฉันทะซึ่งมีหลายนัย


ฉันทะ 1. ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่ใฝ่ปรารถนาในสิ่งนั้นๆ (เป็นกลางๆเป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่น ในคำว่า กามฉันทะ ที่เป็นกุศล เช่น ในคำว่า อวิหิงสาฉันทะ) 2. ฉันทะ ที่ใช้เป็นคำเฉพาะ มาเดี่ยวๆ โดยทั่วไปหมายถึงกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ได้แก่ กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความต้องการที่จะทำหรือความอยากทำ (ให้ดี) เช่น ฉันทะ ที่เป็นข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔ ตรงข้ามกับ ตัณหาฉันทะ คือ ความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว ที่เป็นฝ่ายอกุศล 3. ความยินยอม, ความยินยอมในที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุที่อยู่ในวัดเดียวกันภายในสีมา มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ พึงเข้าร่วมประชุมทำสังฆกรรม เว้นแต่ภิกษุใดมีเหตุจำเป็นจะเข้าร่วมประชุมไม่ได้ เช่น อาพาธ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆได้


ฉันทราคะ (ฉันทะ+ราคะ) ความพอใจใคร่ติด, ความชอบใจจนติด, ความอยากที่แรงขึ้นเป็นความติด, ฉันทะในที่นี้ หมายถึงอกุศลฉันทะ คือ ตัณหาฉันทะ ซึ่งในขั้นต้น เมื่อราคะอย่างอ่อน (ทุพพลราคะ) ก็เรียกแค่ว่าเป็นฉันทะ แต่เมื่อมีกำลังมากขึ้น ก็กลายเป็นฉันทราคะ คือราคะอย่างแรง (พลวราคะ หรือสิเนหะ)


วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔ ข้อ ๒ ในอินทรีย์ ๕ ข้อ ๒ ในพละ ๕ ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗ ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐)


จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย, ความมีจิจดจ่ออุทิศตัวอุทิศใจต่อสิ่งนั้น


จิต,จิตต์ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ


วิมังสา การสอบสวนทดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 11:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อิทธิ ความสำเร็จ, ความรุ่งเรืองงอกงาม อำนาจที่จะทำอะไรได้อย่างวิเศษ

อิทธิบาทภาวนา การเจริญอิทธิบาท, การฝึกฝนปฏิบัติให้อิทธิบาทเกิดมีขึ้น

ฤทธิ์ อำนาจศักดิ์สิทธิ์, ความเจริญ, ความสำเร็จ, ความงอกงาม, เป็นรูปสันสกฤตของ อิทธิ, ฤทธิ์ หรือ อิทธิ คือ ความสำเร็จ ความรุ่งเรื่อง มี ๒ คือ

๑. อามิสฤทธิ์ อามิสเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางวัตถุ

๒. ธรรมฤทธิ์ ธรรมเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จ หรือความรุ่งเรืองทางธรรม

@ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ กล่าวถึงอิทธิ หรือฤทธิ์ไว้ ๑๐ ประเภท ฤทธิ์อย่างที่แสดงในพุทธพจน์นี้ เป็นประเภทที่ ๑. ฤทธิ์ประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ความสำเร็จเพราะประกอบถูกต้องในเรื่องนั้นๆ และข้อสุดท้ายในประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ฤทธิ์ คือ การละกิเลสได้หมดสิ้น ด้วยอรหัตมรรค... วิสุทธิมัคค์นำมาอธิบายพิเศษในด้านอิทธิปาฏิหาริย์... แต่ก็ได้อ้างความหมายอื่นๆไว้ด้วย เช่น ความสำเร็จที่เกิดจากศิลปะในยุทธวิธี หรือแม้แต่การไถหว่าน ก็เป็นฤทธิ์ในประเภทที่ ๑๐...ดังนั้น อิทธิบาท จึงใช้เพื่อความสำเร็จได้ ในกิจทุกอย่าง

(ชาวพุทธบ้านเราบางกลุ่ม จะเน้นฤทธิ์ตามวิสุทธิมัคค์ คือเหาะเหินเดินอากาศ ฯลฯ กัน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 11:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอยกความจากบาลี มาเป็นเครื่องทบทวนความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่า อิทธิ ไปทีเดียว


อิทธิ แปลว่า ความสำเร็จ


"คำว่า อิทธิ หมายความว่า ความสำเร็จ ความสัมฤทธิ์ การสำเร็จ การสำเร็จด้วยดี การได้ การได้จำเพาะ การถึง สมบัติ การสัมผัส การประจักษ์แจ้ง การบำเพ็ญให้ถึงพร้อม ซึ่งธรรมเหล่านั้น" (อภิ.วิ.๓๕/๕๐๘/๒๙๓)


อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์ อย่างที่เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์


ภิกษุทั้งหลาย อิทธิเป็นไฉน ? กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบฤทธิ์ต่างๆได้มากมายหลายอย่าง คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนน้ำก็ได้เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ใช้มือจับต้องลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ซึ่งมีกำลังฤทธิ์เดชมากมายถึงเพียง นี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกายถึงพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 11:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทเป็นไฉน ? มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อการได้อิทธิ เพื่อประสบอิทธิ มรรคาปฏิปทานี้ เรียกว่า อิทธิบาท”


“อิทธิบาทภาวนา (การเจริญอิทธิบาท) เป็นไฉน ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร
ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร
ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร
ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา” * (สํ.ม.19/1175-6/355)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 12:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


“ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุอาศัยฉันทะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ
ภิกษุนั้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น
(๑) เพื่อความไม่เกิดขึ้น แห่งอกุศลธรรมอันชั่วร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น....
(๒) เพื่อละอกุศลธรรมอันชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว...
(๓) เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น...
(๔) เพื่อความตั้งอยู่ได้ ไม่เลือนหาย เพื่อภิยโยภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความ เจริญเต็มบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่าปธานสังขาร


“ฉันทะนี้ด้วย ฉันทะสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่าอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ) และปธานสังขาร (ความเพียรสร้างสรรค์)


“หากว่า ภิกษุอาศัยวิริยะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ....วิริยะนี้ด้วย วิริยสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่าอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร


“หากว่าภิกษุอาศัยจิตตะ จึงได้ สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่าจิตตสมาธิ....จิตตะนี้ ด้วยจิตตสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่าอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร


“หากว่าภิกษุอาศัยวิมังสา จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่าวิมังสา สมาธิ....วิมังสานี้ด้วยวิมังสาสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่าอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร (สํ.ม.19/1150-3/343-6)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 12:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิปทาที่ให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน ? มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันเป็นอริยะนี้แหละ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี่เรียกว่า ปฏิปทาให้ถึงอิทธิบาทภาวนา” (สํ.ม.19/1177/355)


“ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการไปจากที่มิใช่ฝั่ง (มิใช่จุดหมาย) สู่ที่อันเป็นฝั่ง (คือจุดหมาย)” (สํ.ม.19/1108/326)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2018, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพูดถึงหลักธรรมไม่ว่าในแง่ไหนมุมใดมากมายแค่ไหน เมื่อสรุปเข้าภาคปฏิบัติแล้วก็มาที่อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งย่นย่อเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ศีล สมถะ วิปัสสนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 107 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร