วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 44 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b42: หัวข้อ

1. บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด
2. คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ
3. บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้
4. สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากเสด็จออกผนวช
5. พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้
6. บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์
7. พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
8. สาวกรูปแรก
9. อุบาสกอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา
10. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
11. พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก
12. อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก
13. ประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก
14. ตำแหน่งที่ทรงแต่งตั้งครั้งแรก
15. สามเณรรูปแรก
16. ภิกษุณีรูปแรก
17. ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก
18. แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)
19. ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก
20. คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้พระรับคหบดีจีวร
21. โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก
22. ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก
23. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก
24. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก
25. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก
26. สังคายนาครั้งแรก
27. พระธรรมทูตชุดแรก
28. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก
29. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก
30. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
31. มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต
32. รอยพระพุทธบาทรอยแรก
33. ผู้กล่าวพุทธคุณ 100 บทคนแรก
34. สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ
35. คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก
36. คาถาบังสุกุลครั้งแรก
37. ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก
38. การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก
39. การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก
40. การเกิดนิกายครั้งแรก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

1. บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด
[เจ้าชายสิทธัตถะ พระราชกุมารแห่งศากยวงศ์]

เมื่อสองสามปีมาแล้ว ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข เชิญผมไปบรรยายให้แก่นักศึกษาหลักสูตรของรามคำแหงอะไรสักอย่างนี่แหละ เห็นมีดารา นักการเมือง นางงาม มาเรียนกันมากมาย ท่านอาจารย์รังสรรค์บอกว่าให้ผมพูดเรื่อง “สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา”

ผมเรียนท่านว่ามีหลาย “แรก” มาก เล่าไม่หมดในเวลาสองสามชั่วโมง ท่านอาจารย์บอกว่า เล่าให้เป็นตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่องก็พอ มีเวลาว่างเมื่อใดขอให้เขียนให้อ่านก็แล้วกัน ผมรับปากท่านว่าได้

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่ได้โอกาสเหมาะจะเขียนสักที วันนี้น่าจะเป็น “วันแรก” ที่เริ่มเขียนเรื่องนี้ จึงนำลงติดต่อกันไป โปรดตามข้าพเจ้ามา ณ บัดนี้

บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด

บอกไว้ก่อนว่า เรื่องอย่างนี้มิใช่เรื่องอัศจรรย์ มิใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ “ธรรมดา” ที่เกิดขึ้นสำหรับบุคคลพิเศษ บุคคลพิเศษในที่นี้ก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

เจ้าชายสิทธัตถะคือใคร ชาวพุทธทุกคนก็ต้องรู้

เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย ปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศเนปาล

ก่อนประสูติเล็กน้อย พระนางสิริมหามายาเสด็จนิวัตยังพระนครเทวทหะ บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเพื่อไปคลอดลูก (แหม พอได้พูดคำธรรมดา ไม่ใช้ราชาศัพท์ เขียนคล่องเลยครับ)

ขบวนเสด็จไปถึงพระราชอุทยานชื่อ ลุมพินีวัน ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ พระนางก็เจ็บพระครรภ์จึงเสด็จไปพักผ่อนในพระราชอุทยาน แล้วก็ทรงมีพระประสูติกาล (คลอดลูกนั่นแหละครับ) ณ สวนลุมพินีวันนั้นเอง

เคยมีครูถามนักเรียนว่า นักเรียน ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะถึงประสูติที่สวนลุมพินี นักเรียนยกมือตอบคำถามด้วยความมั่นใจว่า “เพราะอยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาฯ ครับ!”

พระนางสิริมหามายาทรงยืน (ตรงนี้ไม่ “ประทับยืน” แน่ๆ เพราะ “ประทับ” แปลว่านั่ง ประทับยืน ก็แปลว่า “นั่งยืน” มองไม่ออกว่าทำอีท่าไหน) เหนี่ยวกิ่งสาละ (ไม่ควรแปลว่าต้นรัง ผมไปเห็นมาแล้ว ต้นสาละไม่ใช่ต้นรัง) พระราชกุมารน้อยก็ “ก้าวลงจากพระครรภ์” ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงชี้พระดรรชนีขึ้นฟ้า เสด็จดำเนินไป 7 ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)

อาสภิวาจา ว่าอย่างไร อาทิตย์หน้าค่อยว่ากัน

วันนี้ขอแถลงเรื่องการที่เจ้าชายสิทธัตถะ พูดได้ เดินได้ ทันทีที่ประสูติ

คนส่วนมากตั้งคำถามว่า “พูดได้ เดินได้จริงหรือ” บางท่านก็พูดออกมาตรงๆ ว่า ไม่เชื่อ อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่าเรื่องอย่างนี้จะเป็นไปได้กระมัง อาจารย์รุ่นหลังๆ จึงหาทางออกว่า เป็น “สัญลักษณ์” หรือ “บุพนิมิต” แล้วก็แจกแจงอย่างน่าฟัง เช่น

การที่ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เป็นสัญลักษณ์ว่าท่านผู้นี้ต่อไปจะเป็นผู้อยู่เหนือ คือเอาชนะเจ้าลัทธิทั้งหลายในชมพูทวีป

การเสด็จดำเนิน 7 ก้าว เป็นสัญลักษณ์แทนแว่นแคว้นทั้ง 7 ที่จะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้ให้แพร่หลาย หรือ (มีหรือด้วยครับ แสดงว่าตีความได้สองนัย) หมายถึงโพชฌงค์ 7 ประการ

ดอกบัวที่ผุดขึ้นรองรับพระบาท หมายถึงท่านผู้นี้จะเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสโดยสิ้นเชิง (หมายเหตุ ในพระไตรปิฎกไม่พูดถึงดอกบัว ดอกบัวนี้เพิ่มมาภายหลัง)

การที่ทรงเปล่งอาสภิวาจา หมายถึง ท่านผู้นี้จะได้ประกาศสัจธรรมที่ยังไม่เคยมีใครประกาศมาก่อนเลย ฯลฯ

นี้คือการหาทางออกเพื่อไม่ให้ชาวพุทธอึดอัดใจ เมื่อมีใครซักถาม แต่ขอกราบเรียนว่า คำตอบนั้นมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสาวกของพระองค์เอง พวกเราชาวพุทธอ่านไม่ละเอียดเองจากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นได้จริง มิใช่สัญลักษณ์แต่อย่างใด

อาสภิวาจา มีบันทึกในพระไตรปิฎก 2 แห่ง คือพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อที่ 377 หน้าที่ 253 เป็นคำพูดของพระอานนท์กราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ได้ยินจากพระโอษฐ์พระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ๆ...” กับอีกแห่งหนึ่งในพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ข้อที่ 26 หน้าที่ 17 ในรูปพระพุทธพจน์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่...”

ใจความของอาสภิวาจาตรงกัน ต่างกันนิดเดียว “อยมนฺติมา เม ชาติ” ในเล่มที่ 14 ไม่มีคำว่า “เม” เท่านั้นเอง

ข้อความเต็มมีดังนี้ครับ

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมฺสมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺสส อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโว “เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”


ในพระไตรปิฎก ได้เล่าเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วท่านก็สรุปลงด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “นี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์”

ท่านบอกว่า เหตุการณ์พิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของพระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์คือผู้บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้วท่านย่อมมี “ธรรมดา” ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป

ถามว่าเรื่องอย่างนี้เป็นปาฏิหาริย์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ เป็นอิทธิฤทธิ์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ “มันเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์”

“ธรรมดาของนกย่อมบินได้” ท่านเห็นนกบินได้ท่านอัศจรรย์ไหม เปล่าเลย มันธรรมดาของมัน ถ้าถามว่า ทำไมนกมันบินได้ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “มันเป็นธรรมดาของนกมัน” นกบินไม่ได้สิผิดธรรมดาแน่ๆ ใช่ไหมครับ

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะขอให้เข้าใจว่า ก็คือเหตุการณ์ธรรมดาๆ นั้นเอง ไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์อะไร เพียงแต่เป็นธรรมดา ที่ไม่ทั่วไปสำหรับสามัญชนอื่นๆ เท่านั้นเอง


ผมเคยอ่านบันทึกจากกินเนสส์บุ๊ก (คนอื่นเขาลอกมาให้อ่านอีกที) บันทึกไว้ว่า มีเด็กชายสองคน ชื่อเจมส์ โซดิช คนหนึ่ง คริสเตียน ไฮเนเก้น อีกคนหนึ่ง เป็นอัจฉริยมนุษย์ โดยเฉพาะคริสเตียน ไฮเนเก้น เกิดมาสองชั่วโมงพูดได้ อายุสี่ขวบพูดได้เจ็ดภาษา อายุเจ็ดขวบขึ้นแสดงปาฐกถาเรื่องอภิปรัชญาชั้นสูงให้ที่ประชุมนักปราชญ์ทั้งหลายฟัง ทึ่งไปตามๆ กันว่าทำได้ไง

กินเนสส์บุ๊กเป็นที่รู้กันว่าบันทึกเรื่องจริง ไม่โกหกเราแน่นอน สมัยนี้เด็กเกิดมาสองชั่วโมงพูดได้แล้วก็มี แล้วย้อนหลังไปสองพันห้าร้อยกว่าปี เจ้าชายแห่งราชวงศ์ศากยะ ทันทีที่เกิดมาก็พูดได้ จะต่างอะไรล่ะครับ

อย่าคิดแต่เพียงว่า เป็นไปไม่ได้ๆ สมัยนี้มีกี่หมื่นกี่แสนอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ มันเป็นไปได้แล้วทั้งนั้น


สรุปแล้ว บุคคลแรกที่พูดได้ทันทีที่เกิดคือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ ต่อมาก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกแห่งโลกนั้นแล

:b8:

๏ “ลุมพินีวัน” อนุสรณ์สถานแห่งการประสูติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=50871

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...เจ้าชายสิทธัตถะ พระราชกุมารโพธิสัตว์ประสูติ
แล้วเสด็จพระราชดำเนิน 7 ก้าว มีดอกบัวทิพย์รองรับพระบาท

:b47: :b45: :b47:

2. คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ

สัปดาห์ที่แล้ว ได้บอกว่าพระโพธิสัตว์คือเจ้าชายสิทธัตถะพูดได้ เดินได้ หลังประสูติชั่วขณะ และได้บอกด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจารย์ในภายหลังพยายามอธิบายว่าเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือ “บุพนิมิต” ว่าไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง แต่ข้อความในพระไตรปิฎกในรูปพุทธวจนะตรัสแก่พระสาวก ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ทรงอธิบายสั้นๆ ว่า เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

คราวนี้มาว่าถึงคำพูดอันองอาจ เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า อาสภิวาจา ที่พระโพธิสัตว์เปล่งออกมานั้นว่าอย่างไร

คัมภีร์บันทึกไว้ไม่ค่อยตรงกันนัก ในแง่พลความ แต่ในสาระเหมือนกัน เช่นในพระไตรปิฎก บันทึกไว้ว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส

เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส

อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว


ตรงนี้เขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดา แต่อีกที่หนึ่งแต่งเป็นคาถาหรือบทกวีดังนี้

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ

อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว


แปลว่า เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป


นี้แปลตามตัวอักษร ตามประโยคบาลีเปี๊ยบเลย ถ้าจะแปลเป็นไทยๆ คำว่าของโลก แปลว่า ในโลก น่าจะเข้าใจดีกว่า

:b44: หมายเหตุ ปรากฏการณ์เจ้าชายน้อยประสูตินี้ ในพระไตรปิฎก ไม่มีดอกบัวเจ็ดดอกผุดขึ้นรองรับ พูดแต่เพียงว่า ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงเหลียวดูทิศทั้งหลาย เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจา ดังกล่าวข้างต้น

อาจารย์ในภายหลัง ไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง จึงพยายามแปลเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือบอกว่าเป็นบุพนิมิต

แต่ใจความในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเรื่องเป็นไปได้ คือปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ มิใช่เรื่องเหลือเชื่อหรืออิทธิปาฏิหาริย์อะไร ดังผมได้อธิบายขยายความมาแล้วในอาทิตย์ที่แล้ว

ผมเห็นว่าท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในปัจจุบัน - สาวิกาน้อย) ท่านถอดเป็นภาษาธรรมได้ดีที่สุด คือท่านว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นเครื่องสำแดงว่า เจ้าชายสิทธัตถะต่อมาคือพระพุทธเจ้านั้น ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทั้งปวง

เนื่องจากสมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายตกเป็นทาสความยึดถือผิดๆ ว่า มนุษย์อยู่ในการดลบันดาลของพระพรหม ต้องพึ่งพระพรหม เรียกว่าพรหมลิขิต ค่านิยมความดีความชั่ว ตัดสินเอาที่ว่าใครเกิดในวรรณะไหน ถ้าเกิดในวรรณะสูงก็เป็นคนดีโดยอัตโนมัติ เกิดในวรรณะต่ำก็เป็นคนเลว

จากนี้ต่อไป ท่านผู้นี้จะได้ปลดปล่อยมนุษย์ทั้งหลายจากความเข้าใจผิดเสียที ประกาศให้เห็นศักยภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองด้วยการกระทำของตน

คนจะดีหรือชั่วเพราะการกระทำด้วยตนเอง มิใช่เพราะการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หรือด้วยการอ้อนวอนขอ และเซ่นสรวงเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

ท่านเจ้าคุณใช้คำคมว่า เป็นการดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือ ในขณะที่สังคมมุ่งหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เอาแต่อ้อนวอนขออำนาจเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ เจ้าชายน้อยพระองค์นี้ ซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้า ก็ดึงให้คนทั้งหลายมาสนใจตัวธรรมที่อยู่ในธรรมชาติ คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ถอดความให้ฟังง่ายก็คือ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนคนว่าอย่ามัวหวังพึ่งเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ ให้หันมาพึ่งการกระทำของตนเองดีกว่า

นี้แหละครับ คือการดึงประชาชนจากเทพมาสู่ธรรม นับว่าเจ้าชายน้อยพระองค์นี้ทรงถือกำเนิดมาเพื่ออิสรภาพของโลกอย่างแท้จริง

การอธิบายในแง่นี้ยังไม่มีใครอธิบายมาก่อน นอกจากท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในปัจจุบัน - สาวิกาน้อย) จึงขอนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟัง ถ้าใครอยากทราบรายละเอียด (เพราะผมจำมาไม่หมด) ให้ไปหาหนังสือ จาริกบุญ-จารึกธรรม ของท่านมาอ่านก็แล้วกัน


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระโพธิสัตว์ทรงรับการถวายข้าวมธุปายาส
จากนางสุชาดา เสนิยธิดา (มารดาของยสกุมาร)
โดยนางได้หุงข้าวด้วยความปราณีตพิถีพิถัน
ด้วยนมวัวอย่างดีที่เตรียมจากแม่วัวนม 1,000 ตัว

:b47: :b45: :b47:

3. บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้
[นางสุชาดา มารดาของยสกุมาร]

คราวที่แล้วพูดทิ้งท้ายไว้ว่า นางสุชาดานี้ที่จริงเป็นมารดาของยสกุมาร พุทธประวัติบอกเราว่า นางสุชาดาเธออยู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ แต่ยสกุมารอยู่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี จะมาเป็นแม่-ลูกกันได้อย่างไรหนอ ใครๆ ก็สงสัยอย่างนี้

แต่คัมภีร์อรรถกถาท่านไขข้อข้องใจให้เราได้ เอาไว้พูดถึงตอนท้ายนะครับ ตอนนี้ขอเล่าเรื่องการถวายข้าวมธุปายาสก่อน

เมื่อพระมหาสัตว์ (คือพระสิทธัตถะ) ทรงเห็นว่าการทำทุกรกิริยาอดอาหารนั้นมิใช่ทางบรรลุ จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ ให้มีพระพลานามัยเพื่อจะได้มีกำลังบำเพ็ญเพียรทางจิต

ตรงนี้คัมภีร์เล่าเป็นตำนานว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง ตึงนักสายก็จะขาด ดีดเสียงไม่ไพเราะ หย่อนนักก็เสียงไม่ไพเราะเช่นกัน ต้องพอดีๆ เสียงจึงจะไพเราะ

พระองค์ “ทรงคิดได้” ว่าทุกอย่างต้องพอดีจึงจะดี

พระอินทร์ในที่นี้อาจมิใช่พระอินทร์ตัวเขียวๆ ที่ไหน หากเป็น “สัญลักษณ์” บอกว่าเมื่อทรงพยายามมาจนถึงขั้นนี้แล้วยังไม่บรรลุ แสดงว่ามีข้อผิดพลาดเสียแล้วละ การ “ได้คิด” ขึ้นมาว่าทุกอย่างต้องพอดี มันเกิดขึ้นมาเองหลังจากประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติ แต่ถ้าท่านผู้อ่านเสียดายพระอินทร์ ก็ให้พระอินทร์มามีบทบาทเตือนสติของพระมหาสัตว์ก็ไม่ว่าอะไร

ปัญจวัคคีย์อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้ารู้สึกผิดหวังที่พระองค์ทรงเลิกทำทุกรกิริยา ถึงกับประณามแรงๆ ว่าพระองค์เป็นคน “คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก”

พูดง่ายๆ คือ หาว่าเป็นคนขี้เกียจ เห็นแก่กิน ไม่มีทางบรรลุมรรคผลดอก ปานนั้นเชียวนิ ทั้งห้าจึงพากันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียกสารนาถ อยู่รัฐพิหาร)

สารนาถ กร่อนมาจากคำเต็มว่า “สารังคนาถ” แปลว่าที่พึ่งแห่งกวาง (สารังค = กวาง + นาถ = ที่พึ่ง) เป็นป่าสงวนพันธุ์สัตว์ซึ่งมีกวางเป็นส่วนมาก ฝรั่งจึงแปลว่า The Deer Park หรือ The Deer Sancuary

หลังเลิกทุกรกิริยาใหม่ๆ พระสิทธัตถะก็เสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ใกล้หมู่บ้านอุรุเวลาเสนานิคม

นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเคยพบเทพที่ต้นไทรสมัยยังสาวว่าถ้าได้แต่งงานกับคนมีสกุลเสมอกัน และได้บุตรชายจะแก้บน ต่อมาได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ไปอยู่กับตระกูลสามีจนได้บุตรชายชื่อยสกุมาร เมื่อบุตรชายเจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว จึงนึกได้ว่ายังมิได้แก้บนจึงเดินทางกลับบ้านเกิด

วันนั้นนางสั่งสาวใช้ให้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด สาวใช้ไปเห็นพระองค์ประทับนิ่งสงบอยู่ คิดว่าเป็นเทพที่สิงอยู่ต้นไทรสำแดงตน ตาลีตาเหลือกมารายงานนายหญิงว่าเทพเจ้าท่านกำลังรออยู่ นางสุชาดาก็เอาข้าวมธุปายาสที่เตรียมไว้ใส่ถาดทองปิดอย่างดีแล้วรีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวปธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาบุรุษเจ้าทรงรับถาดข้าวมธุปายาสแล้วก็ทรงปั้นข้าวมธุปายาสเป็นก้อนได้ 49 ก้อน แล้วเสวยจนหมด เสร็จแล้วทรงลอยถาดลงสู่แม่น้ำ

ตํานานเล่าต่อว่า ด้วยอานุภาพพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว ได้เกิดอัศจรรย์ถาดนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ 1 เส้นแล้วก็จมลง ว่ากันอีกนั่นแหละว่า จมลงไปยังพินาคพิภพแห่งพญากาฬนาคราช

พญานาคซึ่งนอนหลับตลอดกาลยาวนานได้ยินเสียงถาดกระทบกับถาดใบเก่าสี่ใบดัง “กริ๊ก” ก็สะดุ้งตื่น ร้องว่า “อ้อ มาตรัสอีกองค์แล้วหรือ”

คงเป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าแปลตามตัวอักษร คือถึงตอนนี้จะได้เกิดมี “พุทธ” (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) เกิดขึ้นหนึ่งพระองค์ ท่ามกลางเหล่าสัตว์ผู้หลับสนิทตลอดกาลด้วยอำนาจ “กิเลสนิทรา”

และถาดที่ลอยทวนน้ำนั้น หมายถึงพระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้โลกุตรธรรมสูงสุด อัน “ทวนกระแสโลก” โดยทั่วไป

เข้าใจว่าหลังจากแก้บนแล้ว นางสุชาดาคงเดินทางกลับเมืองพาราณสี ที่คัมภีร์อรรถกถาท่านบอกว่านางสุชาดาคือมารดายสกุมารจึงมีความเป็นไปได้ด้วยประการฉะนี้แล

:b8:

๏ นางสุชาดา เสนิยธิดา มารดาของยสกุมาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50297

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


4. สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากเสด็จออกผนวช

กล่าวกันว่า ความดำริจะเสด็จออกจากโลกียวิสัยไปบวชบำเพ็ญพรตนี้เกิดขึ้นเพราะทรงทอดพระเนตรเห็น “เทวทูต” ทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับ

แต่ในพระสูตรกล่าวว่า พระองค์ทรงเบื่อหน่ายในกามสุขขึ้นมาเอง หลังจากได้รับการปรนเปรออย่างบำรุงบำเรอสารพัดจากพระราชบิดา ผู้ไม่ทรงมีพระประสงค์จะให้พระราชโอรสเสด็จออกผนวช

พระองค์ตรัสเล่าไว้ใน ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 ว่า

ขณะยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ (คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ) พระองค์ทรงได้คิดว่า

“เราเองยังมีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดาอยู่ ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดา ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศก ความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แล้วทำไมหนอ เราจึงไม่แสวงหานิพพาน อันไม่เกิดไม่ตาย เป็นธรรมปลอดจากเครื่องร้อยรัดใจ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า”

นี้คือสาเหตุทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช

แต่อย่างไรก็ดี เทวทูตทั้งสี่ก็เป็นส่วนประกอบด้วย คืออาจพบเทวทูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัย หรือทรงครุ่นคิดพิจารณาถึงความวุ่นวายต่างๆ ทางโลกอยู่พอดีทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ก็เร่งช่วยให้ตัดสินพระทัยเร็วขึ้น

แม้กระทั่งการได้ข่าวพระโอรส (ราหุล) ประสูติ ก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้ต้องรีบตัดสินพระทัย ด้วยทรงเกรงว่าหากล่าช้าไป ความรักในพระโอรสอาจจะเป็นพันธะเหนี่ยวรั้งให้ไปไหนไม่ได้

ดังพระอุทานที่เปล่งออกมาว่า “ราหุล” (บ่วง) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” นั้นแล

เวลาเสด็จออกผนวช ก็เป็นข้อถกเถียงกัน

เพราะพุทธประวัติที่เขียนภายหลัง ไม่ตรงกับในพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกซึ่งอยู่ในรูปพระพุทธดำรัสเล่าว่า พระไตรปิฎกมีข้อความว่า

“เมื่อสมัยเรายังหนุ่ม มีผมดำสนิทอยู่ในวัยกำลังเติบโต เมื่อบิดาและมารดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์สละเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”

หลังจากเสด็จออกผนวชแล้ว ประทับอยู่ที่ตำบลอนุปิยอัมพวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นก็เสด็จไปยังแคว้นมคธ

ทรงพบพระเจ้าพิมพิสารที่มาเข้าเฝ้า และทูลเชิญให้ลาพรตไปครองราชสมบัติด้วยกัน

ว่ากันว่าพระเจ้าพิมพิสาร “ใจป้ำ” จะแบ่งอาณาจักรให้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว แต่พระองค์ตรัสว่าพระองค์มิได้ต้องการสมบัติทางโลกใดๆ ที่สละทุกสิ่งทุกอย่างมานี้ก็เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นอย่างเดียวเท่านั้น

จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกปฏิบัติโยคะอยู่กับอาจารย์สองท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร อุทกดาบส รามบุตร

โดยอยู่กับอาจารย์คนแรก ทรงได้รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 3

อยู่กับอาจารย์คนที่สอง ทรงได้อรูปฌานที่ 4 เพิ่มขึ้น คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ระยะเวลานานเท่ามดไม่ปรากฏ แต่คาดว่าคงไม่เกินสองปีหรือน้อยกว่านั้น

ผลสัมฤทธิ์แห่งฌานก็ทำให้จิตใจสงบ ไม่ถูกกิเลสรบกวน แต่ก็ไม่ได้ถอนรากถอนโคนโดยสิ้นเชิง ออกจากฌานสมบัติเมื่อใด กิเลสอาสวะก็กลับมาเหมือนเดิม ดุจเอาศิลาก้อนใหญ่ทับหญ้าไว้ ตราบใดที่ยังไม่ยกศิลาออกหญ้าก็ไม่สามารถงอกงามได้ แต่ถ้ายกศิลาออกเมื่อใด หญ้าก็งอกขึ้นได้อีกฉะนั้น

ทรงเห็นว่ายังมิใช่สัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงแสวงหา

พุทธประวัติแต่งกันภายหลัง มักพูดทำนองดูแคลนว่า ฌานสมบัติที่อาจารย์ทั้งสองสอนนั้นมิใช่ทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

บางฉบับก็ว่าแรงว่าเป็นแนวทางที่ผิด

แต่เมื่อพิจารณาแล้ว วิธีปฏิบัติให้ได้ฌานนี้พระพุทธเจ้านำมาปรับใช้สอนสาวกของพระองค์

เรียกว่าระบบสมถะนั้นเอง

เพียงแต่สมถะล้วนๆ ไม่ทำให้บรรลุพระนิพพานได้

ต้องทำสมถะจนได้ฌานแล้วทำฌานเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะดำเนินสู่มรรคผลนิพพานได้

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า วิธีโยคะของดาบสทั้งสองนั้น ก็เป็นอันเดียวกับสมถกรรมฐานนั้นเอง และสมถกรรมฐานนี้มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว โยคีที่บรรลุถึงขั้นสุดยอดของสมถกรรมฐานมีปรากฏมากมาย แต่ท่านเหล่านั้นมิได้ตรัสรู้เป็นพุทธะ เพราะระบบโยคะอำนวยผลเพียงศีลกับสมาธิ ยังขาดปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้สมถกรรมฐานเป็นบาทฐานแห่งการเจริญวิปัสสนา จึงได้ปัญญาตรัสรู้ ดังนั้น วิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นคำสอนเฉพาะของพระพุทธศาสนา

และที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีครูสอนนั้น

ความจริงพระองค์มีครูสอน เท่าที่ทราบทั่วไปก็มี ครูวิศวามิตรประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยา 18 แขนงให้

ขณะยังทรงเป็นพระราชกุมาร ครูอาฬารดาบส และอุทกดาบส สอนฝึกสมาธิ ตามระบบโยคะ

ครูทางด้านอื่นๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงมีเช่นเดียวกับคนอื่น

แต่ครูที่สอนให้ตรัสรู้นั้นไม่มี พระองค์ทรงค้นพบวิธีปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเป็น “สัมมาสัมพุทธะ” (ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง) ด้วยประการฉะนี้แล

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


5. พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้

อุทาน คือคำที่เปล่งออกมาจากแรงบันดาลใจ เช่น บุคคลได้บรรลุธรรมแล้วเปล่งอุทานออกมา ส่วนมากเป็นบทกวี หรือไม่ก็เป็นร้อยแก้วที่มีถ้อยคำสละสลวยคล้ายบทกวี

อุทานถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขุททกนิกาย ในสุตตันตปิฎก (พระไตรปิฎกเล่มที่ 24) เป็นพระสูตรสั้นๆ บอกที่มาที่ไปของอุทานนั้นๆ

เช่น พระพุทธองค์ประทับที่ไหน ทรงพบใคร เปล่งอุทานว่าอย่างไร มีทั้งหมด 82 สูตร นอกจากนี้แล้วยังมีในที่อื่นด้วย เช่น ธรรมบทบ้าง สังยุตตนิกายบ้าง

ถ้าถามว่า หลังตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานอะไรออกมาเป็นอุทานแรก ตอบได้ว่า มี 2 อุทาน

ไม่ทราบแน่ชัดว่าอย่างไหนเป็นอุทานแรก อย่างไหนเป็นอุทานหลัง

ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) กล่าวว่า ทันทีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ

คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหิสิ

สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

แปลว่า

เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่สังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

นายช่างผู้สร้างเรือนเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว จันทันอกไก่เราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว

“นายช่างผู้สร้างเรือน” ในที่นี้หมายถึงตัณหา เพราะตัณหาความอยาก 3 ประเภทนี้เองที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น เรียกว่าวงจรแห่งสังสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่บรรลุพระนิพพาน

“จันทัน อกไก่” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ

ส่วน “เรือนยอด” หมายถึงอวิชชา พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า

บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหาพร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว

ส่วนในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ได้กล่าวว่า หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปัจจยตา ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม (ย้อนลำดับ) ทั้งฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ ทรงเปล่งอุทาน 3 บท ในปฐมยามบทหนึ่ง มัชฌิมยามบทหนึ่ง และปัจฉิมยามบทหนึ่ง

ในปฐมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(1) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา

อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา

ยโต ปนาชาติ สเหตุธมฺมํ

ให้มัชฌิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(2) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา

อาตาปิโณ ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา

ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ

ในปัจฉิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(3) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา

อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ

สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ

แปลว่า

(1) เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ

(2) เมื่อใดธรรม (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป เพราะรู้ความดับสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย

(3) เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นเขาย่อมขจัดมารและเสนามารดำรงอยู่ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขจัดความมืด ยังท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น

ถ้าปุจฉาว่า ระหว่างอุทานบทแรก (อเนกชาติสํสารํ…) กับอีก 3 บท (ยทา หเว…) บทไหนเป็นบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งหลังตรัสรู้ ก็เห็นจะวิสัชนาว่า ไม่ทราบครับ

ก็เห็นจะมีแต่เณรน้อยอิกคิวซังเท่านั้นที่จะตอบได้

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

6. บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบ
เมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์

[อุปกะ]

ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยจะไปโปรดเวไนยสัตว์นั้น ทรงนึกถึงดาบสผู้เป็นอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร กับ อุททกดาบส รามบุตร แต่ท่านทั้งสองสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านั้น 7 วัน จึงทรงตั้งพระทัยจะไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ศิษย์เก่าที่เคยอุปัฏฐากดูแลพระองค์ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา

จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันคือสารนาถ) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองพาราณสี ระยะทางห่างจากพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ประมาณ 230 กิโลเมตร

ระหว่างทางทรงพบอาชีวก (นักบวชประเภทหนึ่ง) นามว่า อุปกะ อุปกะเห็นบุคลิกอันสง่างามของพุทธองค์ ก็ประทับใจ ใคร่จะรู้ว่าเป็นใคร จึงทูลถามว่าท่านเป็นใคร ท่านบวชเจาะจงใคร ใครเป็นอาจารย์ของท่าน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบอุปกะเป็น “คาถา” คือบทกวีว่า

“เราเอาชนะสรรพสิ่ง เรารู้สรรพสิ่ง ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง
ละกิเลสทุกอย่าง หลุดพ้นเพราะหมดตัณหา
เมื่อเราตรัสรู้เองแล้ว ควรจะอ้างใครว่าเป็นอาจารย์เล่า”


อุปกะได้ยินดังนั้น ก็กล่าวต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็เป็นอนันตชินะ สิ” อนันตชินะ ของอุปกะนี้แปลว่า “ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด” คงเป็นคำที่รู้กันดีในสมัยนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเช่นนั้น

อุปกะจึงสั่นศีรษะ กล่าวว่า “หุเวยฺยาวุโส” แล้วก็หลีกทางไป

ที่ยกคำพูดของอุปากะมา ยังไม่แปล ก็เพราะคำพูดประโยคนี้เป็น “รหัส” ไขข้อข้องใจว่า อุปกะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ รายละเอียดเป็นจะไดเดี๋ยวได้รู้เอง ตามผมมาก็แล้วกัน

ผู้แต่งพุทธประวัติในยุคต่อมามักจะพูดเหมือนกันว่า อุปกะ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จึงสั่นศีรษะ บางฉบับเพื่อให้เห็นว่าไม่เชื่อมากขึ้น กล่าวว่า นอกจากสั่นศีรษะแล้ว อุปกะแกแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกด้วย

ผมว่าตรงนี้ เราตีความผิด เพราะเราเอาวัฒนธรรมไทยไปตัดสินวัฒนธรรมอินเดีย จริงอยู่วัฒนธรรมไทยเรามีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งมากับพระพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่ในเรื่องสั่นศีรษะนี้แขกกับไทยถือไม่เหมือนกัน

ไทยสั่นศีรษะ แสดงว่าปฏิเสธ แต่แขกสั่นศีรษะแปลว่าเขายอมรับครับ


อ้าว ถ้าไม่เชื่อผม ไปคุยกับชาวอินตะระเดียดูสิครับ ไม่ต้องไปถึงอินเดียก็ได้ แถวๆ พาหุรัดก็ได้ ลองไปต่อราคาผ้าเขาแล้วสังเกตดู ถ้าเขาสั่นศีรษะด๊อกแด๊กๆ ก็สบายใจได้ว่าตกลงครับ

นอกจากตัดสินจากวัฒนธรรม ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกอย่างหนึ่ง คือ คำพูดของอุปกะเองนั้นแหละบ่งชี้ข้อนี้ด้วย คือแกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส (หุเวยฺย-อาวุโส) แปลตามตัวอักษรว่า “ดูก่อนผู้มีอายุ คำที่ท่านพูดนั้นพึงมีได้พึงเป็นได้” แปลความง่ายๆ ว่า “คุณ ที่ท่านพูดนั้นเป็นไปได้” น้ำเสียงของอุปกะแสดงว่าแกเชื่อพระพุทธเจ้าเกิน 70 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ

เพราะเหตุนี้ฝรั่งจึงแปลว่า “I see” เวลาเราไอซีกับใครแสดงว่าเราเห็นด้วย ใช่อ๊ะป่าว?

ผมเป็นคนขี้สงสัย เมื่อสงสัยอะไรแล้วก็ไม่อยากให้ค้างคาอยู่เช่นนั้น เมื่อสงสัยเรื่องอุปกะจึงตามดูจนถึงที่สุด อยากรู้ว่าหลังจากพบพระพุทธเจ้าแล้วแกไปไหน ก็ได้ทราบจากอรรถกถาว่า อุปกะแกไปยังหมู่บ้านนายพรานริมน้ำแห่งหนึ่ง (หมู่บ้านริมน้ำน่าจะเป็นหมู่บ้านชาวประมง แต่เขาบอกว่าหมู่บ้านนายพรานล่าเนื้อจริงๆ) หัวหน้าหมู่บ้านเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้อยู่ที่นั่น แล้วก็นำอาหารบิณฑบาตไปถวายทุกวัน วันไหนไม่ว่างก็ให้จาปาลูกสาวของตนไปส่ง

เด็กหญิงจาปาก็ทำหน้าที่นำอาหารไปถวายหลวงพ่อเป็นประจำ แรกๆ ก็ไม่มีอะไร แต่พอนานเข้าหลวงพ่อก็เปี๊ยนไป๋ มองดูสีกาวัยรุ่นแล้วก็หลงรัก พยายามปลงอนิจจัง ยุบหนอ พองหนอ อย่างไรก็ไม่ไหว เพราะกามเทพซุกซน แผลงศรปักอกหลวงพ่อดังฉึก

วันหนึ่งหลวงพ่อไม่ยอมฉันอาหาร เอาแต่นอนคลุมโปง ครางฮือๆ อยู่ จาปาไปรายงานให้พ่อทราบ หลวงพ่อเป็นอะไรไม่รู้ ข้าวปลาไม่ฉัน เอาแต่ครางฮือๆ

พ่อรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น จึงรีบไปหา จับเข่าถามตรงๆ ว่า เป็นอะไรไปท่าน ข้าวปลาไม่ยอมฉัน ท่านเจ้าคุณ เอ๊ย อุปกะจึงบอกว่าอาตมาคงจะบวชต่อไปไม่ไหวแล้วละ เพราะหลงรักลูกสาวโยมเข้าเต็มเปาแล้ว

นายพรานบอกว่า ถ้ารักจริงก็สึกมาสิ เห็นว่าได้รับอนุญาตแล้ว อุปกะจึงสึกออกมา แต่งงานกับลูกสาวนายพราน พ่อตาใหม่ๆ หมาดๆ ถามว่า “ท่านได้เรียนศิลปะวิทยาอะไรบ้าง”

อุปกะตอบว่า ไม่เรียนอะไรเลย มัวแต่บวชอยู่ “อ้าว แล้วจะเอาอะไรทำมาหาเลี้ยงชีพ” พ่อตาร้องเมื่อเห็นลูกเขยหน้าเจี๋ยมเจี้ยม จึงบอกว่า “ไม่เป็นไร ถ้าเช่นนั้นมาช่วยข้าก็แล้วกัน” ตั้งแต่นั้นเมื่อนายพรานล่าเนื้อได้ แล่เนื้อแล้ว อุปกะก็จะหาบเนื้อนั้นตามพ่อตาไปขายนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว จนกระทั่งมีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ สุภัททะ

เวลาเนิ่นนานไป ระยะข้าวใหม่ปลามันหมดไป สองสามีภรรยามักระหองระแหงกันเสมอ เวลาเมียโมโหมาก็จะด่าลูกกระทบพ่อว่า “ไอ้ลูกฤๅษีขี้เกียจ มึงไม่น่าสึกมาเลย กูไม่น่าแต่งงานกับฤๅษีขี้เกียจอย่างมึง…” ทำให้อุปกะสลดสังเวชใจ พลันก็นึกถึง “อนันตชินะ” ขึ้นมาได้ จึงลงเรือนไป ตั้งใจจะไปบวชเป็นสาวกของอนันตชินะ ภรรยาพูดไล่หลังว่ามึงไปแล้วไม่ต้องกลับ

พอสามีไปไม่กลับจริงๆ จึงตามไป พบสามีกำลังจะบวชอยู่พอดี ขอร้องให้กลับบ้าน อุปกะไม่ยอม นอกจากจะไม่กลับแล้วยังร่ายโศลกด่าภรรยา ลามไปถึงสตรีอื่นด้วยอย่างสาดเสียเทเสีย เรียกว่าฉุนขาดเลย

ท้ายที่สุด อุปกะก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ส่วนจาปา เมื่อสามีไม่กลับ ก็ตัดสินใจไปยังสำนักภิกษุณีบวชเป็นภิกษุณีอีกคน

ถ้าดูตามนี้แสดงว่า อุปกะแกเชื่อพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมาก็ยังนึกถึงพระพุทธเจ้า จนกระทั่งตามมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ด้วยประการฉะนี้แล

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

:b47: :b45: :b47:

7. พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
[ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร]

พระธรรมเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังตรัสรู้คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ (ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด) ซึ่งต่อมาได้กำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นอีกวันหนึ่งชื่อว่า วันอาสาฬหบูชา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลตามตัวอักษรว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม” เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาพระสูตร ขอ “แวะข้างทาง” สักเล็กน้อย

ความหมายของพระสูตรนี้ คงเลียนความหมายทางโลก คือเวลาพระเจ้าจักรพรรดิต้องการกฤษดาภินิหารจะยกกองทัพไปโจมตีเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่สยบต่ออำนาจของตน ล้อรถศึกของพระมหาจักรพรรดิผู้เกรียงไกรหมุนไปทางทิศใด ยากที่จะมีใครต้านทานได้ อุปมาฉันใด

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมสูงสุดที่ได้ตรัสรู้ ก็เท่ากับ “ทรงหมุนล้อธรรม” เพื่อปราบตัณหาอวิชชาออกจากจิตใจของเวไนยสัตว์ให้ราบคาบ “ล้อแห่งสัจธรรม” นี้หมุนไปยังทิศทางใด จึงยากที่ใครๆ จะคัดค้านหรือยับยั้งได้ อุปไมยก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ตอนท้ายพระสูตร ผู้บันทึกจึงกล่าวว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้ว ไม่มีใครๆ ในโลก สามารถยับยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็น สมณะ พราหมณ์ มาร เทพ พรหม”

เนื้อของธัมมจักกัปวัตตนสูตร แบ่งได้เป็น 5 ตอน คือ

ตอนที่ 1 พูดถึงทางที่ไม่พึงดำเนิน หรือข้อปฏิบัติที่ไม่พึงทำ 2 ทาง คือ ความติดอยู่ในความสุขทางเนื้อหนังมังสา เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”

ทางนี้เรียกตามศัพท์ว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ถือว่าเป็นทางสายที่หย่อนเกินไป อีกทางหนึ่งคือ การทรมานตนด้วยตบะวิธีต่างๆ ทางนี้เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” ถือเป็นทางที่ตึงเกินไป

ตอนที่ 2 ทรงแสดง “ทางสายกลาง” ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป คืออริยมรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด

ตอนที่ 3 ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ (หรือปัญหาของชีวิต) สมุทัย (เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ภาวะดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง) และมรรค (แนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหา)

ทรงอธิบายว่า พระองค์ตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่ประการนี้ผ่านญาณ (การหยั่งรู้) ทั้ง 3 ระดับ คือ

(1) ทรงรู้สภาพของปัญหา เหตุปัจจัยของปัญหา ภาวะหมดปัญหา และวิธีแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไรบ้าง (สัจจญาณ = รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น)

(2) ทรงรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนั้น (กิจจญาณ = รู้ว่าควรทำอย่างไร)

(3) ทรงรู้ว่าเมื่อทรงทำตามนั้นแล้วเกิดผลอะไร (กตญาณ = รู้ว่าทำเสร็จสิ้นแล้ว)

ตอนที่ 4 โกณฑัญญะดวงตาเห็นธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว อาจารย์ผู้รวบรวมพระสูตรกล่าวว่า โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ เข้าใจแจ่มแจ้งถึงธรรมชาติและธรรมดาของสรรพสิ่ง ว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ) คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” จึงกลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

ตอนที่ 5 เหล่าเทพร้องบอกต่อๆ กัน พวกเทพทั้งหลาย ตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ร้องบอกต่อๆ กันไปจนถึงหมู่พรหมว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมอันประเสริฐ

ยากที่ใครๆ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มาร เทวดา พรหม จะสามารถยับยั้งได้

สรุปเนื้อหาของพระสูตรอีกที พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ครบวงจร จึงสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ คือ

รู้ว่าความจริงคืออะไร (สัจจญาณ)

รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร (กิจจญาณ)

รู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ)


รู้อริยสัจ 3 ขั้นตอนนี้ รวมเป็น 12 (3 x 4 = 12) เพราะเหตุฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “รู้อริยสัจสี่ อันมี 3 รอบ 12 อาการ” แล


:b8:

๏ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=57701

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


8. สาวกรูปแรก
[อัญญาโกณฑัญญะ]

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอันว่าด้วยแนวทางที่ไม่พึงดำเนินและแนวทางที่พึงปฏิบัติเพื่อดับทุกข์แล้วต่อท้ายด้วยการอธิบายอริยสัจครบวงจรจบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์คือโกณฑัญญะก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม”

ดวงตาเห็นธรรม แปลมาจากบาลีว่า ธัมมจักขุ การที่โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ก็คือได้เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริงซึ่งธรรมชาติและธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ว่ามีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีการดับสลายเป็นธรรมดา

พระบาลีตรงนี้ว่า ยํ กิญฺจิ สมุทรยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ = สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีการดับไปเป็นธรรมดา

ความรู้เห็นอย่างนี้เป็นความรู้เห็นด้วย “ตาใน” มิใช่ด้วยตาเนื้อ ทางพระพุทธศาสนาบอกว่า เป็นความรู้ระดับโสดาปัตติผล ผู้รู้เห็นอย่างนี้เรียกว่าเป็นพรธโสดาบัน พระอริยบุคคลระดับที่ 1

พระอริยบุคคลมีระดับด้วยหรือ?

บางท่านอาจคิดเช่นนี้ มีครับ มีถึง 4 ระดับแน่ะ คือ (1) พระโสดาบัน (2) พระสกทาคามี หรือสกิทาคามี (3) พระอนาคามี และ (4) พระอรหันต์

ระดับสุดท้ายนี้นับว่าสูงสุดยิ่งกว่าเหรียญทองโอลิมปิกอีก อ่านว่า “พระ-อะ-ระ-หัน” พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับปรับปรุงใหม่ให้อ่านว่า “ออ-ระ-หัน” ได้ บังเอิญผมไม่เชื่อพจนานุกรม ผมไม่อ่านตาม กลัวคนจะเข้าใจว่า “พระอรหันต์” ไม่ต่างอะไรกับ “อรหัน” สัตว์ในนิยายชนิดหนึ่งมีลักษณะครึ่งนกครึ่งคน

อรหันต์ประเภทด่าพ่อล่อแม่คน ท้าเตะปลายคางคนก็มีแล้วไม่อยากให้เลอะเทอะไปกว่านี้

หมายเหตุไว้ในแง่วิชาการว่า “ดวงตาเห็นธรรม” นั้น เป็นการรู้ความจริงระดับพระอนาคามีได้ด้วยพูดอีกนัยหนึ่งผู้ดวงตาเห็นธรรม เป็นไปทั้งพระโสดาบันและพระอนาคามี หลักฐานก็คือ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินจะไปโปรดชฎิลสามพี่น้องนั้น ทรงพบ “ภัททวัคคีย์” เด็กหนุ่มเจ้าสำราญ 30 คน กำลังตามหาสตรีที่ “ยกเค้า” เครื่องประดับของพวกเขาไป ขณะไปแสวงหาความสำราญอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า ให้แสวงหา “ตนเอง” ดีกว่าแสวงหาสตรี เมื่อพวกเขาได้ฟังธรรมเทศนาจากพระองค์แล้วก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” แล้วทูลขอบวช

ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พวกภัททวัคคีย์ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

เรื่องมันเป็นเช่นนี้แหละครับ ท่านสารวัตร ผมจึงสรุปว่า “ดวงตาเห็นธรรม” มีทั้งระดับพระโสดาบัน และระดับพระอนาคามี

กล่าวถึงท่านโกณฑัญญะ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเปล่งพระอุทานว่า อญฺญา สิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ = โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ

จากนั้นโกณฑัญญะก็ได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ประทานการบวชที่เรียกว่า “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” ให้ พิธีกรรมไม่มี เพียงตรัสสั้นๆ ว่า “เอ หิ ภิกฺข = จงมาเป็นภิกษุเพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (ตรงนี้ถ้าผู้ขอบวชเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องมีคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์” พระโสดาบันอย่างพระโกณฑัญญะ ยังไม่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงตรัสอย่างนี้”

ท่านโกณฑัญญะจึงนับได้ว่าบวชเป็นพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” ได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่าน ท่านจึงปรากฏนามว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” แต่บัดนั้นมา

การเกิดพระสาวกขึ้นครั้งแรก ทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบ ก่อนหน้านี้มีเพียงพระพุทธเจ้าและพระธรรม เมื่อเกิดพระสงฆ์ขึ้น จึงเป็นพระรัตนตรัยครบถ้วน

วันนี้จึงเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เป็นกำเนิดแห่งวันอาสาฬหบูชาขึ้น ดังที่ชาวพุทธทราบกันดี

ที่คิดว่าทราบกันไม่ค่อยจะดีคือคำอ่าน อ่านว่า “อา-สาน-หะ-บู-ชา” ไม่ใช่ “อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา”

แล้วอย่ายกพจนานุกรม มาเถียงล่ะครับผมไม่ฟังใครดอก พวกขาประจำน่ะ

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ พ่อค้าพานิช 2 พี่น้องชาวพม่า
ได้ถวายเสบียงเดินทางคือข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธองค์
ณ ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) โดยได้รับเส้นพระเกศา 8 เส้น
เป็นที่ระลึกเพื่อให้นำกลับไปบูชาสักการะยังบ้านเมืองของตน

:b47: :b45: :b47:

9. อุบาสกอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา 2 คู่ คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอเล่าโดยย่อดังนี้

(1) ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก [ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ]

อุบาสกคู่นี้มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ คัมภีร์พระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า ตปัสสุ และ ภัลลิยะ ก็มี อรรถกถาเถรคาถาบอกว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรชายของหัวหน้ากองเกวียนชื่อ โปกขรวตี ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง นัยว่าอยู่ภาคเหนือของชมพูทวีป แถวตักสิลาโน่นแหละครับ ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายยังเมืองราชคฤห์ ผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ (หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ 7)

เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา “ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง” (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น “สัตตุผง สัตตุก้อน”) ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ใบประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

“สัตตุผง” นั้นบาลีเรียกว่า “มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วน “สัตตุก้อน” บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ

พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงรัตนะทั้งสอง (พระพุทธเจ้าและพระธรรม) เป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ นับเป็นอุบาสกคู่แรกที่ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ เรียกว่า “เทฺววาจิกอุบาสก”


ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผงสัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิ เรื่องจบแค่นี้ครับ แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ นักปราชญ์พม่าเขียนเพิ่มเติมว่า พ่อค้าทั้งสองก่อนกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา 8 องค์หลุดติดพระหัตถ์มา พระพุทธองค์ประทานให้แก่พ่อค้าทั้งสอง

พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศธาตุ 8 องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้กันในปัจจุบันนี้ว่า ชเวดากอง ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า “มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่”

เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา ต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่านาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวชนาย ก. นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ “ตัดต่อ” เก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน

ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทย เพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า

ตปุสสะ ก็ “ตาบุตร” ภัลลิกะ ก็ “ตาพัน” ยังไงล่ะครับ

รูปภาพ
พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
โปรดยสกุมาร บิดามารดาของยสกุมาร
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ

--------

(2) ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก [บิดามารดาของยสกุมาร]

บิดามารดาของยสกุมาร บิดาของยสกุมารชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ส่วนมารดาของยสกุมารนั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือ นางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล นางได้บนเทพต้นไทรไว้ก่อนแต่งงาน เมื่อแต่งงานก็ได้ตามสามีไปอยู่ที่เมืองพาราณสี ตอนพบพระพุทธองค์นั้นนางได้กลับไปบ้านเกิด (ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ) เพื่อแก้บนที่บนไว้กับเทพต้นไทรข้างบ้านดังกล่าว

มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จมาแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และประทานการอุปสมบทให้ทั้งห้าท่านเป็นภิกษุแล้ว พระพุทธองค์ยังประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

คืนหนึ่งยสกุมาร ผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำทั้งหลายที่นอนหลับใหล แสดง “ทัศนะอุจาด” ต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น ยิ่งทำให้เด็กหนุ่มบังเกิดความเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนยิ่งนัก

ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความสุขทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่าน่าดูน่าชมดุจน้องนัทน้องแนทอะไรนั้น แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมารเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้าปานนั้น จึงเดินลงเรือนไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฺฐํ” สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงแปลว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า “วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ย” ประมาณนั้น

เขาเดินไปบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะนั้นจวนสว่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตื่นบรรทม เสด็จจงกรมอยู่ ได้ยินดังนั้นพระองค์ตรัสตอบว่า “อิทํ อนุปทฺทูตํ อิทํ อนุ ปสฏฺฐํ = ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” เขาจึงเข้าไปกราบแทบยุคลบาท สดับพระธรรมเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ


รุ่งเช้า “บิดามารดาของยสกุมาร” ตามหาบุตรที่หายไป มายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วมาพบพระพุทธองค์ได้สดับพระธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น “พระยสะ” นั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกันด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนบิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล สองสามี-ภรรยาได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

:b8:

๏ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
เกี่ยวข้องกับ “พระพุทธเจ้า” อย่างไร?

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=43353

๏ นางสุชาดา เสนิยธิดา มารดาของยสกุมาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50297

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“พระเจ้าพิมพิสาร” ทรงถือสุวรรณภิงคาร (น้ำเต้าทอง)
หลั่งน้ำอุททิโสทกลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า
ถวายที่ดินคือสวนหลวงเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ที่ตั้งเสนาสนะ
หรือวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
แด่คณะสงฆ์ ชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน”
และได้มีการถวายตัวเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

:b47: :b45: :b47:

10. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
[วัดพระเวฬุวัน]

เมื่อพูดถึงวัดในพระพุทธศาสนา หลายท่านอาจนึกไปถึง “วัดพระเชตวัน” เพราะมีพูดถึงบ่อยในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่มิใช่วัดแรกดอกนะครับ วัดแรกสุดชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน”

เวฬุวัน แปลว่า ป่าไผ่ เป็นที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ มิใช่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ หากมีมาก่อนรัชกาลของพระองค์ด้วย นานเท่าใดไม่แจ้ง แต่มีประวัติน่าสนใจ

ป่าไผ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กลันทกนิวาปสถาน” สถานเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต หรือสถานเลี้ยงกระแต แสดงว่ามีกระแตมากมายในป่าไผ่นี้

แม่นแล้วครับ สมัยหนึ่ง พระราชาเมืองนี้พระองค์หนึ่ง กลับจากไปล่าเนื้อมาบรรทมพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่ในป่านี้ ขณะม่อยหลับไป ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะเสียงกระแตร้องกันเจี๊ยวจ๊าวๆ (เจี๊ยวจ๊าวน่าจะเป็นเสียงลิงมากกว่าเนาะ)

อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมายังที่พระราชาบรรทมอยู่ พระองค์รอดจากถูกอสรพิษกัด เพราะฝูงกระแตช่วยปลุกให้ตื่นบรรทม ทรงสำนึกถึงบุญคุณของฝูงกระแต จึงทรงประกาศให้ป่าไผ่เป็นอุทยานสงวนพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะกระแต พระราชทานทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแต ตั้งแต่นั้นมาป่าไผ่นี้ จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “กลันทกนิวาปสถาน” ด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด ชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวารจำนวนรวมทั้งสิ้น (รวมทั้งชฎิลสามพี่น้องด้วย) 1,003 คน ให้เห็นความเหลวไหลของการบูชาไฟ จนมีจิตเลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้วนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมข้าราชบริพารผู้นับถือชฎิลสามพี่น้อง อันมี ปูรณกัสสปะ เป็นประมุข ได้เสด็จมาเพื่อฟังธรรมจากอาจารย์ของตนตามที่เคยมา ได้ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์ ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์อยู่

พระราชาและชาวเมืองต่างก็สงสัยว่า ระหว่างทักษิณกับเอกยุทธ เอ๊ย สมณะหนุ่มท่าทางสง่างามนั่งอยู่ตรงกลาง กับอาจารย์ของพวกตน อันมีปูรณกัสสปะเป็นประมุขนั้นใครใหญ่กว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาและชาวเมือง จึงรับสั่งกับพระปูรณกัสสปะว่า เธอบำเพ็ญตบะทรมานตัวเองจนผ่ายผอม บูชาไฟตลอดกาลนาน บัดนี้เธอคิดอย่างไรจึงละทิ้งความเชื่อถือเดิมเสีย มาบวชเป็นสาวกของเราตถาคต

พูดง่ายๆ ก็คือถือตบะเข้มงวดมานาน ทำไมตอนนี้เธอ “เปลี๊ยนไป๋” ว่าอย่างนั้นเถิด

พระปูรณกัสสปะจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบบังคมแทบพระยุคลบาทแล้ว เหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศระยะสูงเท่าลำตาล ประกาศว่า ตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของตน แล้วลงมากราบแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอันมีพระพิมพิสารทรงเป็นประมุข หายสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างก็สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระองค์จึงทรงมอบถวายป่าไผ่ดังกล่าวนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

“วัดพระเวฬุวัน” จึงนับเป็นวัดแรกสุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้แล

มีเกร็ดเล่าขานกันมาว่า หลังจากถวายวัดแล้ว พระเจ้าพิมพิสารมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป ตกกลางคืนมา พวกเปรตจึงมาปรากฏตัวขอส่วนบุญ พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นขึ้นมา รีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นคือญาติของพระเจ้าพิมพิสารในชาติปางก่อน ทำบาปกรรมไว้ รอส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครคิดถึง ครั้นทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญกุศล ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ จึงพากันมาขอส่วนบุญ แต่พระองค์ก็มิได้อุทิศให้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้กรวดน้ำตั้งใจอุทิศ

พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง แล้วทรงกรวดน้ำอุทิศให้พวกเปรตเหล่านั้น คราวนี้พวกเขาพากันมาเป็นขบวนยาวเหยียด ยังกับขบวนติดตามอารักขานกขมิ้นสัญจรก็มิปาน ขอบบุญขอบคุณเป็นการใหญ่ ว่าที่ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้นั้น พวกเขาได้รับแล้ว “ขอบพระทัยฝ่าบาท” ตามสำนวนหนังกำลังภายใน ถ้าพูดเป็นฮินดูก็ว่า “พหุต ธันยวาท” (ขอบคุณมาก) ประมาณนั้น

พวกเปรตเหล่านี้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน อยากทราบไหมครับ พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลยาวนานโพ้น พระเจ้าพิมพิสารและเปรตพวกนี้เป็นชาวเมืองเมืองหนึ่ง ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันทำบุญเป็นการใหญ่ บางครั้งถึงกับแข่งขันกันถวายทาน ว่าใครจะถวายทานได้ประณีตกว่ากัน วันหนึ่งขณะที่พวกเขาตระเตรียมภัตตาหารรอถวายพระอยู่ พระสงฆ์ยังมาไม่ถึง บางพวกก็เกิดหิวขึ้นมา หยิบฉวยเอาอาหารที่เตรียมจะถวายพระมากินก่อน ด้วยบาปกรรมนี้แหละ พวกเขาจึงมาเกิดเป็นเปรตรับใช้กรรมตลอดเวลายาวนาน

ฟังเรื่องนี้แล้ว ขนลุกไหมครับท่าน คนโบราณนั้นเขากลัวบาปกลัวกรรมมากนะครับ ของที่จะใส่บาตรแม้ว่าจะใส่ไม่หมด หรือไม่ได้ใส่ เขาจะไม่เอามากิน จะพยายามตามไปถวายพระถึงวัด เพราะถือว่าตั้งใจจะถวายพระแล้ว เป็นของสงฆ์ไม่ควรเอามากิน

สมัยนี้หรือครับ อย่าว่าแต่แค่นี้เลย ที่ธรณีสงฆ์ที่เขาถวายสงฆ์ไปแล้ว ยังแย่งเอามาทำสนามกอล์ฟเลย แค่นั้นยังไม่พอ จะออกกฎหมายจัดรูปที่ดิน ผนวกเอาที่วัดและธรณีสงฆ์ทั้งประเทศมาจัดสรรปันแบ่งอีกด้วย โชคดีพระสงฆ์องค์เจ้ากลัวท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจะเป็นเปรตกันทั่วหน้า จึงได้ทักท้วงมิให้ทำ ดีว่าท่านเหล่านั้นยังพอมีหิริโอตตัปปะอยู่แล้ว ได้ถอนที่วัดและธรณีสงฆ์ออกจากร่างกฎหมายดังกล่าว ดังที่ทราบกันดีแล้ว

ไม่อย่างนั้นคงได้เห็นเปรตธรณีสงฆ์ใส่เสื้อนอกเดินเพ่นพ่านเต็มสภาแน่ โยมเอ๋ย


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร
และข้าราชบริพาร ณ ลัฏฐิวัน หรือสวนตาลหนุ่ม
พระอุรุเวลกัสสปเถระได้แสดงฤทธิ์ยืนยันในความเป็นพระสาวก
ทำให้พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธเจ้า

:b47: :b45: :b47:

11. พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก
[พระเจ้าพิมพิสาร]

ถ้าถามว่าพระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรกคือใคร นักเรียนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาคงตอบได้ว่าคือ พระเจ้าพิมพิสาร แต่ถ้าใครตอบไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพราะผู้ใหญ่ที่จบสูงกว่านักเรียนมัธยมก็มีมากมายที่ตอบไม่ได้

“พระเจ้าพิมพิสาร” เป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีโอกาสพบพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธองค์เสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต หลังจากได้ทรงสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว ได้ชักชวนให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยจะทรงแบ่งดินแดนให้กึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาคือ โมกขธรรม หาใช่ราชสมบัติไม่

กษัตริย์กราบทูลว่า ถ้าทรงได้บรรลุสิ่งที่ทรงประสงค์แล้ว ขอให้เสด็จมาสอนเป็นคนแรก พระพุทธองค์ทรงรับ ด้วยเหตุนี้เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดยสกุมารพร้อมสหาย จนมีพระสาวก 60 รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้ว พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

จุดมุ่งหมายก็คือ ทรงต้องการจะเปลื้องปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

เมื่อทรงพิจารณาว่า บุคคลที่พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับถืออยู่คือ ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร พระองค์จึงเสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เพราะว่าเมื่อชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารนับถือพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมชาวเมืองก็จะนับถือตามโดยง่าย

หลังจากโปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารแล้ว พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน (แปลกันว่า ป่าตาลหนุ่ม) นอกเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชนจำนวนมากได้ไปยังป่าตาลดังกล่าว ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์สละเพศชฎิลหันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งแวดล้อม “สมณะหนุ่ม” รูปหนึ่ง หน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยรู้จักมาก่อน ก็ทรงสงสัยอยู่ครามครันว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ของพระองค์จึงได้ “เปี๊ยนไป๋”

พระพุทธองค์ทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันไปตรัสถาม ปูรณกัสสปะ หัวหน้าชฎิลทั้งหลายว่า “เธอเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฎิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานาน หันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความรำงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา”

“ถ้าเช่นนั้น เธอยินดีอะไร เทวโลกหรือมนุษยโลก”

“ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและปูรณกัสสปะ และเห็นอาจารย์ของพวกตนคุกเข่าประนมมือต่อพระพักตร์สมณะหนุ่มเช่นนั้น ก็หายสงสัยโดยสิ้นเชิง พลอยเลื่อมใสพระพุทธเจ้าไปตามอาจารย์ของพวกตนด้วย กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า สมณะหนุ่มรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้ว

หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวายสวนไผ่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน” ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารนี้มีพระมเหสีพระนามว่า โกศลเทวี หรือเวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมเหสีเช่นกัน แว่นแคว้นทั้งสองนี้จึงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าพิมพิสาร ต่างก็ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันมั่นคงจนตลอดรัชกาลของพระองค์

มีเรื่องน่าสนใจก็คือ พระเจ้าพิมพิสารทรงนำแนวคิดวิธี “ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ” จากแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวี มาใช้ในเมืองราชคฤห์ของพระองค์ โดยทรงสถาปนาตำแหน่งนาง “นครโสเภณี” ขึ้น นางนครโสเภณีคนแรกชื่อสาลวดี สาลวดีมีบุตรชายด้วยความประมาท จึงสั่งให้สาวใช้เอาไปทิ้งไว้ข้างประตูวัง บังเอิญ เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ทรงเก็บไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาได้จบการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นแพทย์หลวงประจำพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ และได้ถวายตนเป็นนายแพทย์ถวายการอุปัฏฐากพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา

พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสชื่อ อชาตศัตรู ผู้ซึ่งได้ทำ “ปิตุฆาต” เพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต แม้อชาตศัตรูเองก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกพระราชโอรสของตนปลงพระชนม์เช่นกัน ว่ากันว่า ฆ่าติดต่อกัน 7 ชั่วโคตรทีเดียว ประชาชนทนเห็นพระราชวงศ์ปิตุฆาตต่อไปไม่ไหว จึงรวมตัวกันปฏิวัติล้มรัฐบาลไทยรักไทย เอ๊ย ราชวงศ์โมริยะ สถาปนาราชวงศ์ใหม่สืบต่อมา


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


12. อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก
[อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา]

เอ่ยชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากจะรู้จัก เพราะทั้งสองท่านนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อยในตำราเรียนพระพุทธศาสนา

บ่อยจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษไทยเราทีเดียว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นามเดิมว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล วันหนึ่งเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พักอยู่ที่บ้านของน้องเขย เห็นคนที่นั่นตระเตรียมสถานที่กันเอิกเกริก ยังกับจะมีงานรวมพล ยังไงยังงั้น จึงเอ่ยปากถามว่า มีงานเลี้ยงอะไรหรือ

ได้รับคำตอบว่า มิได้จัดงานเลี้ยงรับรองอะไร หากแต่พรุ่งนี้เช้าได้อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พร้อมภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยปีติ บอกว่าอยากพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้องเขยบอกให้รอพรุ่งนี้เช้าก็ได้พบแน่นอน


แต่สุทัตตะรอไม่ไหว ตกดึกคือนั้นจึงออกจากคฤหาสน์น้องเขยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า

ได้พบและสดับพระธรรมเทศนาจากพระองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังจากขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น สุทัตตะกราบทูลเชิญเสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายยินดีในสถานที่สงบสงัด”

สุทัตตะเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

เมื่อกลับเมืองสาวัตถี จึงได้ไปเจรจาซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาว่า เอากหาปณะมาปูลาดเต็มพื้นที่นั้นแหละคือราคาของสวนนี้ สุทัตตะจึงสั่งให้ขนกหาปณะจากคลังมาปูพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง หมดเงินไป ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตเห็นความตั้งใจจริงของสุทัตตะจึงยินยอมเอาแค่ ๑๘ โกฏิ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตนออกสมทบ ทั้งสองร่วมกันสร้างวัดสำเร็จ ได้ขนานนามเป็นอนุสรณ์เจ้าของสวนเดิมว่า “วัดพระเชตวัน”


สุทัตตะ เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากคนจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นประจำ จึงถูกขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ

ฝรั่งแปลว่า benefactor หรือ “เศรษฐีใจบุญ” นั่นเอง

คัมภีร์กล่าวว่า ท่านใจบุญสมชื่อ คราวหนึ่งการค้าขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลง ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม ไม่ตัดทอนงบการทำบุญแต่อย่างใดจนเทวดาที่สิงอยู่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏกายขอร้องให้ลดการถวายทานลงบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตู เศรษฐีจึงตะเพิดไล่หนีไป ในที่สุดเทวดานั้นต้องมาขอขมา จะไม่ขัดใจท่านผู้มีอำนาจอีกแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาวสามคน ต่างก็ช่วยงานบุญงานกุศลของบิดาคนละไม้คนละมือยกเว้นบุตรชายคนโตที่เกเร เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสุขสนุกตามประสาลูกคนมีเงิน ดีว่าไม่ไปหาเรื่องเหยียบตีนชาวบ้าน แต่เท่านั้นก็สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อมากในช่วงแรกๆ

ต่อมาเศรษฐีคิดอุบาย “ดัด” สันดานลูกชายได้สำเร็จ คือจ้างลูกชายไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานลูกชายก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ดำเนินรอยบุญตามพ่อ

หมายเหตุ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเร ลองนำเทคนิควิธีของท่านอนาถบิณฑิกะมาใช้บ้าง บางทีอาจแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่ต้องจ้างไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ ให้เรียนให้เก่งนะ อย่าติดสินบนด้วยของเล่นหรือวัตถุแพงๆ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวัน นางวิสาขาก็คิดสร้างวัดบ้าง จึงได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง เรื่องราวของนางวิสาขาน่าสนใจ ขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

นางเป็นบุตรสาว ธนัญชัยเศรษฐี กับ นางสมุนา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ นางได้พบพระพุทธเจ้าได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเด็ก (ว่ากันว่า วัยแค่ ๗ ขวบเท่านั้นเอง) นางเป็นสาวงามแบบ “เบญจกัลยาณี” คืองามพร้อม ๕ ส่วน ได้แก่ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูก (ฟัน) งาม, ผิวงาม และวัยงาม (ไม่รู้จักแก่ไปตามวัน)

นางได้แต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีตระกูล “มิจฉาทิฐิ” (หมายถึงตระกูลที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) แต่นางก็ปรนนิบัติสามีและบิดามารดาของสามีอย่างเคารพ ไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่ถึงประพฤติตัวดีอย่างไรก็พลาดจนได้ วันหนึ่งขณะนางพัดวีบิดาสามีผู้รับประทานอาหารอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้าน ทำนองขอบิณฑบาต (สมัยพุทธกาลภิกษุมักจะไปยืนหน้าบ้านทายกทายิกาที่คาดว่ามีศรัทธาถวายอาหาร)

เศรษฐีเฒ่าเห็นพระแต่ทำเป็นไม่เห็น แถมหันข้างให้ รับประทานอาหารไป นางจึงเลี่ยงออกมา กระซิบกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังกินของเก่า”

พูดขาดคำก็ได้ยินเสียงถ้วยชามดังเพล้ง แม่นแล้ว เศรษฐีลุกขึ้นเตะเอง ด้วยความโมโหที่ลูกสะใภ้บังอาจด่าตนหาว่า “กินอุจจาระ” ออกปากไล่นางออกจากตระกูลของตน


พราหมณ์ ๘ คนที่บิดานางมอบให้ดูแลนางวิสาขา ได้ทำการสอบสวนเรื่องราว นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาบิดาสามีว่ากินอุจจาระดังเข้าใจ หากนางหมายถึงว่า บิดาสามีนางทำบุญแต่ปางก่อนไว้มากจึงมาเกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้แต่มิได้สร้างบุญใหม่เพิ่มเลย ที่ว่าบิดาสามีนาง “กินของเก่า” หมายถึงกินบุญเก่า

พราหมณ์ทั้ง ๘ ตัดสินว่านางไม่มีความผิด เศรษฐีก็เข้าใจและให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูลแถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีนับถือลูกสะใภ้คนนี้ว่ามีบุญคุณต่อตนเป็นเสมือน “บิดาในทางธรรม” ของตน ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า วิสาขาวิคารมาตา (วิสาขามารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

นางได้ขายเครื่องระดับราคาแพงของนางชื่อ “ลดาปสาธน์” ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ว่ากันว่าไม่มีใครซื้อ จึงควักเงินตัวเองซื้อ) และเพิ่มเงินอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว

ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างเป็นอุบาสกอุบาสิกาตัวอย่าง ว่ากันว่าทั้งสองท่านไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลย ถ้าเป็นเวลาเช้าก็ถืออาหารไปถวายพระ ถ้าเป็นเวลาเย็นก็ถือดอกไม้ของหอมไปบูชาพระ จึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน

นี่คือเรื่องราวสังเขปของอุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรกในพระพุทธศาสนา


:b8:

๏ สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

๏ นางวิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา
(นางวิสาขามหาอุบาสิกา)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57225

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


13. ประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก
[จาตุรงคสันนิบาต]

การประชุมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต (การประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ 4) มีขึ้นในวันเพ็ญเดือนสาม ต่อมาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “วันมาฆบูชา”

คงต้องเท้าความสักเล็กน้อย หลังจากบวชให้ปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้บรรลุพระอรหัตทุกรูปแล้ว ทรงบวชให้ยสกุมารและสหายอีก 55 ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดทุกรูป

เป็นอันว่าได้เกิดมีพระอรหันต์สาวกจำนวน 60 รูปในเวลาอันรวดเร็ว

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามีจำนวนพอสมควรแล้ว จึงทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังแคว้นต่างๆ

พระองค์เองเสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร

ระหว่างทางได้โปรดภัททวัคคีย์ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

ประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปเผยแผ่พระศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ ประทานอุปสมบทให้แก่ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารหนึ่งพันและทรงแสดงธรรมให้ฟังจนได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ประทับยับยั้งอยู่ที่เวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระสาวกที่ไปประกาศพระศาสนายังถิ่นต่างๆ คงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ทำนองมารายงานผลการปฏิบัติงาน ประมาณนั้น กระจายอยู่รอบเมืองราชคฤห์ พระอัสสชิน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ก็เช่นกัน ได้เดินทางมายังเมืองราชคฤห์ เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

วันหนึ่งขณะท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อุปติสสมาณพ เห็นเข้าประทับใจในบุคลิกอันงามสง่า สงบสำรวมของท่าน จึงเกิดความเลื่อมใส ใคร่จะสนทนาธรรมด้วย รอจนได้โอกาสแล้ว จึงเข้าไปไต่ถาม รู้ว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

พระอัสสชิกล่าว “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนาคือคาถา เยธัมมาฯ สรุปใจความของอริยสัจสี่

อุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรม ไปบอกโกลิตะสหายรักทราบ โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองคนจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อุปติสสะปรากฏนามภายหลังว่า พระสารีบุตร โกลิตะปรากฏนามว่า พระโมคคัลลานะ

คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสาม วันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตพอดี เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้น 4 ประการในวันเดียวกันคือ

1. พระภิกษุจำนวน 1,250 รูปมาประชุมกันที่วัดพระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย

2. ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุล้วน (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)

3. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา

4. วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม

พระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุการณ์ทั้ง 4 อย่างปรากฏในวันเดียวกัน เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” (พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ) 13 ประการดังนี้

“การไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อม

การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง

พระนิพพาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่าสูงสุด

ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นบรรพชิต

ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นสมณะ

การไม่ว่าร้ายเขา การไม่เบียดเบียนเขา

การเคร่งครัดในระเบียบวินัย

การรู้จักประมาณในการบริโภค

การอยู่ในสถานสงบสงัด

และการฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูงเสมอ

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

โอวาทปาติโมกข์นี้มีทั้งหมด 13 หัวข้อ สรุปได้ 4 ประเด็นคือ

1. กล่าวถึงอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน

2. กล่าวถึงหลักการทั่วไป คือไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้พร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว

3. กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา คือจะต้องมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่เห็นแก่กิน อยู่ในสถานสงบสงัด ฝึกจิตอยู่เสมอ

4. กล่าวถึงเทคนิควิธีการเผยแผ่ศาสนาคือ ไม่ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ใช้สันติวิธีในการเผยแผ่ รู้จักประสานประโยชน์

ดูตามเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ น่าจะเป็นการปัจฉิมนิเทศแก่พระธรรมทูตรุ่นแรก และปฐมนิเทศแก่ชุดใหม่ที่จะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น

มากกว่าเหตุผลอื่นใดดังที่นักวิชาการบางท่านพยายามอธิบาย

คือมีนักวิชาการบางท่านตั้งคำถามเองและตอบเองเสร็จว่า ทำไมพระสาวกเป็นพันๆ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกัน และจำเพาะเจาะจงมาประชุมกันในวันเพ็ญเดือนสามด้วย

ตอบว่า ท่านเหล่านั้นมาด้วยความเคยชิน เคยชินอะไร ก็ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์นั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม เขาจะมาชุมนุมทำพิธีกรรมทางศาสนาของเขาเรียกว่า วันศิวาราตรี

เมื่อท่านเหล่านั้น แม้จะมาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงวันเช่นนี้ ก็รู้สึกเหงาเพราะเคยทำอะไรมาก่อน บังเอิญพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใกล้ๆ นี้ด้วย จึงพากันมาเฝ้าด้วยความเคยชิน

พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสสำคัญจึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ว่าเข้าไปโน่น เข้ารกเข้าพงดีแท้

พระสาวก 1,250 รูป มิได้เป็นพราหมณ์มาก่อนก็มี จะเอาความเคยชินอะไรมาเล่าครับ อีกอย่างพระอรหันต์ ขนาดกิเลสที่ละได้แสนยาก ท่านก็ละได้หมดไม่เหลือหลอ แล้วความเคยชินธรรมดาๆ ยังจะเหลืออยู่อีกหรือ การพูดว่าท่านพากันมาด้วยความเหงา ยิ่งไม่ควร อย่าว่าแต่พูดเลย แม้แต่คิดก็ไม่ควร

เดี๋ยวใครไม่รู้จะเข้าใจว่า วันมาฆบูชาของชาวพุทธ เกิดขึ้นเพราะอารมณ์เหงาของพระอรหันต์

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2018, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


14. ตำแหน่งที่ทรงแต่งตั้งครั้งแรก
[ตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวาเบื้องซ้าย]

“เอตทัคคะ” ในพระพุทธศาสนาคืออะไร ?

มีคำในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “เอตทัคคะ” (มาจาก เอต=นั้น บวก อัคคะ=เลิศ) แปลตามตัวอักษรว่า นั้นเป็นเลิศ หรือเลิศในทางนั้น ทางนั้นน่ะ ทางไหน ก็ทางที่ผู้นั้นเป็นเลิศทั้งนั้นแหละ

ตอบแบบนี้ ก็ไม่ได้ความกระจ่างแต่อย่างใด คือสมัยพุทธกาลในยุคต้นๆ ก็มิได้มีตำแหน่งแห่งที่อะไร เมื่อมีพระสาวกอรหันต์เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ละรูปก็มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าแต่ละท่านต่างก็มีความสามารถหรือความถนัดแตกต่างกัน ล้วนแต่เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งนั้น

จึงทรงประกาศให้ทราบว่า พระสาวกรูปนั้นๆ เป็นผู้มีคุณสมบัติเลิศกว่าผู้อื่นในทางนั้นๆ ให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป

ในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ได้ประมวลตำแหน่งเอตทัคคะ ที่ทรงประกาศแต่งตั้งทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หลายตำแหน่ง แต่เมื่อตรวจดูแล้วก็มีไม่ครบจำนวนเท่าที่เรารับทราบกัน

อย่างตำแหน่งพระเถระก็มีเพียง 47 รูป (เท่าที่รับทราบกันมีถึง 80 รูป เรียก อสีติมหาสาวก) เข้าใจว่า การประกาศแต่งตั้งคงมิได้ประกาศครั้งเดียว คงทยอยประกาศเป็นระยะๆ เมื่อมีบุคคลผู้มีคุณสมบัติพิเศษเกิดขึ้น

ตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวา-เบื้องซ้าย เข้าใจว่าคงทรงประกาศแต่งตั้งในยุคแรกๆ ที่ประกาศพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ เพราะในช่วงแรกที่ประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงต้องการ “มือ” ช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อเห็นท่านอุปติสสะกับโกลิตะเดินเข้าสำนักมา ยังมิทันได้รับการอุปสมบทเลย พระองค์ก็ทรงชี้ให้พระสงฆ์ดูพร้อมตรัสว่า

“สองคนนั้นจะได้เป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา”

ขอเท้าความเรื่องที่เคยเขียนถึงมาหลายครั้งอีกครั้งหนึ่ง อย่าหาว่าเขียนแบบ “พูดติดอ่าง” เลยขอรับ เมื่ออุปติสสะกับโกลิตะ สองสหายเห็นความไร้สาระแห่งชีวิต อยากแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐเหมาะสำหรับชีวิตของตน ทั้งสองจึงพากันออกจาบ้านไปแสวงหาครูอาจารย์ที่จะช่วยบอกทางสว่างให้

แม้ว่าตอนหลังจะมาศึกษาปฏิบัติอยู่กับ อาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร เจ้าลัทธิปรัชญาที่มีชื่อเสียง ก็รู้สึกว่ามิใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงแยกย้ายกันไปเพื่อแสวงหาอาจารย์ต่อ โดยสัญญากันว่าใครพบก่อนก็ให้มาบอกอีกฝ่ายหนึ่ง

เช้าวันหนึ่ง อุปติสสะมาณพได้พบพระอัสสชิ น้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ประทับใจในความสงบสำรวมของท่าน คิดในใจว่า ท่านผู้นี้ต้อง “มีดี” แน่นอน จึงรีรอโอกาสจะเข้าไปสนทนา เห็นว่าท่านยังเดินภิกขาจารอยู่จึงมิกล้าเข้าไปสนทนา

ต่อเมื่อท่านเดินออกจากเมือง กำลังหาทำเลจะฉันอาหาร จึงเข้าไปสนทนาด้วย ขอร้องให้ท่านสอนธรรม

พระอัสสชิได้กล่าวคาถา “เยธัมมาฯ” อันแสดงถึงหัวใจแห่งอริยสัจสี่ให้ฟังแต่ย่อๆ

อุปติสสะได้ฟังก็เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” รู้ว่าท่านอัสสชิเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ดีใจอยากจะไปบวชเป็นสาวกของพระองค์บ้าง จึงรีบไปบอกแก่โกลิตะผู้สหาย กล่าวคาถานั้นให้โกลิตะฟัง โกลิตะก็ได้เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” เช่นกัน

ทั้งสองถึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอบวช

ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทอดพระเนตรเห็นสองท่านกำลังเดินเข้าพระวิหารเวฬุวันมา จึงทรงชี้ไปที่ท่านทั้งสองพร้อมตรัสข้อความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คงไม่ต้องคิดว่า ทำไมพระพุทธองค์ตรัสว่าจะตั้งให้ท่านทั้งสองเป็นพระอัครสาวก เพราะทรงเห็นแก่หน้าหรือเพราะทรงมีพระเมตตาเป็นพิเศษหรืออะไร เหตุผลที่สำคัญก็คือพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าทั้งสองนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะ

1. ท่านทั้งสองเป็นพราหมณ์ผู้จบไตรเพทมาก่อน

2. ท่านทั้งสองจบปรัชญาลัทธิ “อมราวิกเขปิกา” จากอาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร ที่เน้นการโต้ตอบใช้วาทะหักล้างกัน และ

3. ท่านทั้งสองเมื่อมาบวชในพระพุทธศาสนาได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็จะเป็นผู้มีคุณสมบัติประเภทที่เรียกว่า “รู้เขา-รู้เรา” เหมาะสมในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

หลังจากท่านอุปติสสะและโกลิตะได้อุปสมบทแล้ว อุปติสสะได้นามเรียกขานในหมู่สงฆ์ว่า พระสารีบุตร โกลิตะได้นามว่า พระโมคคัลลานะ 7 วันหลังจากอุปสมบทพระโมคคัลลานะได้บรรลุพระอรหัต 14 วันหลังจากอุปสมบทพระสารีบุตรก็ได้บรรลุพระอรหัต

พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศแต่งตั้งทั้งสองท่านเป็นอัครสาวกขวาซ้าย โดยพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะ (เลิศกว่าผู้อื่น) ทางด้านมีปัญญามากเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะทางด้านมีฤทธิ์มากเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

พระบาลีใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีว่าดังนี้ “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขุนํ มหาปญฺญานํ ยทิทํ สารีปุตฺโต อิทฺธิมนฺตานํ ยทิทํ มหโมคฺคลฺลาโน ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นเลิศ บรรดาภิกษุสาวกของเรา ผู้มีฤทธิ์ มหาโมคัลลานะเป็นเลิศ”

ตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวาเบื้องซ้าย เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งแรกที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้ง


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 44 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร