วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 08:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 08:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สามัญลักษณะ ๓ (ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง ๓ อย่าง)

ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกว่า สามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ แจกเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. อนิจจตา - ความเป็นของไม่เที่ยง

๒. ทุกขตา - ความเป็นทุกข์

๓. อนัตตตา - ความเป็นของไม่ใช่ตน

สิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ควรจะศึกษาทำความเข้าใจ เพราะว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ จริงเช่นนี้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้ง มีอยู่ตลอดไป เรียกว่า สามัญลักษณะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 08:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในสูตรหนึ่งว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมนิยาม ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบเอามาเปิดเผย ทำให้ตื้น แจกแจงแก่ชาวโลก ซึ่งเป็นพุทธดำรัสที่ยืนยันว่า สิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่ว่าใครจะบัญญัติแต่งตั้งขึ้น เพราะมันเป็นตัวสัจธรรม

ตัวสัจจธรรมนั้นไม่ต้องมีใครบัญญัติแต่งตั้งเหมือนศีลธรรม ซึ่งแต่งตั้งขึ้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม

แต่สัจธรรมนั้น ไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้ง มันมีอยู่อย่างนั้นตลอดกาล แต่เมื่อก่อนอย่างนี้ ไม่มีใครค้นพบ พระผู้มีพระภาคได้ไปค้นพบสิ่ง ๓ ประการนี้ ก็นำมาเปิดเผยแจกแจงแก่ชาวโลก

สิ่งทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ มีผู้เคยสอนมาก่อนที่พระพุทธเจ้าเกิด สอนให้พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่ไม่ได้สอนเรื่องอนัตตา พระพุทธเจ้าเพิ่งมาค้นพบอีกอันว่าเป็นอนัตตา จึงได้นำมาสอนเพิ่มในพระพุทธศาสนา คือเรื่องการไม่มีตัวไม่มีตน

แต่ก่อนเขาก็สอนกันว่า มีตัวมีตน แต่มันไม่เที่ยง มันมีทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านได้ค้นคว้าต่อไปว่าตัวตนนั้นมันไม่มี ไม่มีตัวตนที่แท้ สอนหลักอนัตตาขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง ฉะนั้นหลักทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นหลักคู่กับโลกมาตลอดเวลา เราจะพบได้ทั่วไปทุกแห่ง แต่ผู้ที่จะพบนั้นต้องเป็นผู้มีปัญญาคิดค้นจึงจะมองเห็น ถ้าไม่คิดไม่ค้นก็มองไม่เห็นสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ จึงยังมัวเมา มีทุกข์อยู่เรื่อยไป ไม่รู้จบสิ้น

เกิดกิเลส เกิดความทุกข์เมื่อใด ให้ใช้ปัญญาพิจารณา มองเห็นสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ในสภาพที่เป็นจริงด้วยปัญญาอย่างเคร่งครัด ความกำหนัดขัดเคือง ความมัวเมา ความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ นั้นก็จะหายแห้งไป เพราะมาเห็นแจ้งในสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะได้ศึกษา ทำความเข้าใจกัน และเมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเอามาเป็นหลักคิดพิจารณาในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร ไม่เที่ยงอย่างไร อนัตตาอย่างไร ใจจะได้ไม่ผูกพันมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้นๆ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ความทุกข์ในชีวิตเรานั้น เกิดจากการไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งนั้นๆ ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เราก็หลงใหลในสิ่งนั้น เพราะเราคิดว่ามันเที่ยง มันมีความสุข มันมีตัวตน อย่างนี้เรียกว่า ความคิดวิปลาส คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ซึ่งความจริงมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เรามองเห็นว่ามันเที่ยง มีสุข มีเนื้อมีตัว ก็เลยไปยึดไปถือ หลงใหลในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของตัว อยากมีอยากเป็นในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็มีความทุกข์ขึ้น สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นก็เพราะความไม่เข้าใจชัดนเรื่องนี้ตามสภาพที่เป็นจริง

ฉะนั้น การศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องสามัญลักษณะ เป็นเรื่องจำเป็น ที่จะช่วยให้เราเปิดปัญญา มองเห็นอะไรชัดเจนตามเป็นจริง แล้วเราจะได้พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน หรือไม่พ้นทุกข์เด็ดขาด แต่ก็พอแบ่งเบาความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่เกิดขึ้นให้หายไปจากใจของเราได้ เรื่องนี้ จึงนับว่ามีประโยชน์ที่เราควรจะได้ทำความเข้าใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำว่า “สามัญลักษณะ” ลักษณะ แปลว่า เครื่องหมาย สามัญ แปลว่า ทั่วไป

เครื่องหมายของสิ่งทั่วไปนั้นมันเป็นอย่างนี้ คือ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓

ลักษณะ ๓ นี้ มีเหมือนกัน ในคนในสัตว์ในต้นไม้ ในแผ่นหิน แผ่นดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก ในสากลจักรวาลนี้ ขึ้นอยู่กับกฎนี้ หนีจากกฎเกณฑ์นี้ไม่ได้ คือ ขึ้นอยู่กับกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หนีจากกฎนี้ไปไม่ได้เป็นอันขาด มันมีอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงเรียกว่า เป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง


คำว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง” นั้น ก็หมายถึง สังขาร นั่นเอง

สังขาร แปลว่า “สิ่ง” คือ ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไร เลยแปลว่า “สิ่ง” สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง สิ่งอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง สิ่งนั้น เรียกว่า สังขาร สังขาร มี ๒ ประเภท คือ

๑. สังขาร ที่มีความรู้สึกนึกคิด มีใจครอง

๒. สังขาร ที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่มีใจครอง

สังขารประเภทมีใจครอง เป็นมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เรียกว่า มีใจครอง

มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีปัญญา มีกลไกสำหรับนึกคิดเป็นพิเศษ

สัตว์เดรัจฉานมันก็มีความรู้สึกนึกคิด แต่ว่ามันไม่มีปัญญา มันมีแต่ความจำ เขาทำอะไรก็ทำตามนั้น แต่ไม่มีการปรุงแต่งให้มีอะไรใหม่ๆขึ้น ในชีวิตสัตว์ทั้งหลายไม่มีวิวัฒนาการทางด้านสมองจิตใจ

แต่มนุษย์นั้นมีทั้งสมองและจิตใจ จึงมีการคิดสร้างอะไรขึ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา สัตว์เดรัจฉานไม่เคยคิด มันอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แต่มันก็อยู่ในพวกมีชีวิตจิตใจเป็นสังขารประเภทนั้น

สังขารทีมีชีวิต ภาษาพระท่านเรียกว่า อุปาทินนะกะสังขาร แปลว่า สังขารที่มีใจครอง

ศัพท์เหล่านี้ ต้องจำไว้ด้วยเหมือนกัน เพราะเวลาอ่านหนังสือธรรมะ จะมีศัพท์ การใช้ศัพท์นี่มันเป็นการประหยัดการเขียน ไม่อย่างนั้นแล้วต้องเขียนยาว

อนุปาทินนะกะสังขาร แปลว่า สังขารไม่มีใจครอง ไม่มีความรู้สึกนึกคิด เช่นว่า เครื่องขยายเสียง เก้าอี้ เสื้อผ้า เรือน เป็นต้น มันไม่มีใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด จะมีอยู่ทั่วๆไป มันขึ้นอยู่กับกฎสามัญลักษณะ

คำว่า “สังขาร” ยังมีในขันธ์ ๕ อีกตัวหนึ่ง ที่เราสวดว่า “สังขารา อะนิจจา – สังขารไม่เที่ยง” สังขารตัวนั้น ก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งใจให้เป็นไปในรูปต่างๆ ให้เป็นความโลภ โกรธ หลง ริษยา เรียกว่าเป็นเรื่องของสังขาร

อะไรในโลกนี้ เรียกว่า สังขารธรรม ทั้งนั้น มีการปรุงแต่งทั้งนั้น

สิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง เรียกว่า พระนิพพาน และพระนิพพานนั้น เรียกว่า วิสังขาร ที่เราสวดมนต์ว่า “วิขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา - จิตถึงวิสังขารหมดสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงพระนิพพาน”

พระนิพพานนั้น ไม่ใช่สังขาร เพราะไม่มีสิ่งปรุงแต่ง มันเป็นธรรมชาติที่สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีอะไรไปปรุงแต่ง เป็นธรรมเย็นสนิท ไม่มีอะไรจะไปปรุงให้ร้อนให้วุ่นวาย หรือให้เป็นอะไรๆได้ จิตที่ถึงสภาพเช่นนั้นแล้ว เรียกว่า ถึงสภาพวิสังขาร หมายความว่า ไม่อาจปรุงแต่งให้เกิดกิเลสได้อีกต่อไป

แต่จิตเราธรรมดานั่น ยังเป็นสังขาร ยังถูกปรุงแต่งเป็นรักบ้าง ชังบ้าง อยากได้ ไม่อยากได้ เป็นไปต่างๆนานา จึงเรียกว่า สังขารปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา

สังขารทุกประเภท ไม่ว่าสังขารสอง หรือสังขารในขันธ์ ๕ มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในตัวของมันเอง

รวมความว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้จะเป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม เรียกว่าสังขารได้ และสังขารทั้งหมดนั้นมีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ มีความเป็นอนัตตา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ ศัพท์ที่ว่า อนิจจัง บ้าง อนัตตา บ้าง มันเกี่ยวด้วยไวยากรณ์

รูปศัพท์ อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง อนิจจตา ต้องแปลโดยมีคำว่า “ความ” นำหน้าด้วย เช่น ความไม่เที่ยง ไอ้ตัว “ตา” ที่นำมาใส่ข้างหลังเป็นหลักเกณฑ์ไวยากรณ์ แปลว่า ความเป็น เช่น อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง

ถ้าอนิจจังเฉยๆ แปลว่า ไม่เที่ยง ทุกขัง แปลว่า ความทุกข์ แต่เป็น ทุกขตา แปลว่า ความเป็นทุกข์

อนัตตา แปลว่า ไม่มีตัวตน แต่พอเขียนว่า อนัตตตา แปลว่า ความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันมีหลักไวยากรณ์ เอามาเติมเข้าเพื่อให้มันชัดเจนขึ้น

ให้รู้ว่าที่มีคำว่า “ตา” ข้างหลังนั้น เรียกว่า ความเป็น เช่น อรหันตตา แปลว่า ความเป็นอรหันต์

ใน ๓ คำนี้ ก็เหมือนกัน เช่น คำว่า อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน


คำว่า อนิจจตา หรือ อนิจจา อนิจจัง นี่ความจริงก็เป็นคำที่คนไทยเราพูดกันจนติดปาก ทั้งคนแก่คนหนุ่ม เวลามีอะไรเปลี่ยนแปลงก็พูดว่า อนิจจา อนิจจัง หมายความว่า มันไม่เที่ยง ปลงตก ปลงได้ว่า มันไม่เที่ยง พูดกันทั่วไป เป็นของธรรมดาสามัญ แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เรียนปริยัติธรรม แต่ก็มีความรู้ในเรื่องนี้ เรื่องอนิจจัง แล้วก็ไปแก้ปัญหาชีวิตได้ โดยนึกถึงคำว่า อนิจจัง อนิจจา “มันไม่เที่ยงโว้ย” เป็นตัวอย่าง

แม้คนที่ขี้เมาก็พูดเวลาแก้วเหล้าแตก ก็พูดว่า อือ อนิจจังเว้ยเฮ้ย ท่านว่าอนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง หมายความว่า ไม่คงที่ ไม่อยู่ในรูปเดิมตลอดไป ไม่คงที่ไม่อยู่ในรูปเดิมแม้ขณะจิตเดียว มันเป็นขนาดอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น เราจึงมีหลักว่า มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สามขณะเท่านั้น คือ เกิดขึ้นขณะหนึ่ง ตั้งอยู่ขณะหนึ่ง ดับไปขณะหนึ่ง

ขณะหนึ่งมันนิดเดียวเท่านั้นเอง วิบเดียว ชั่วอึดใจเดียว เพียงเสี้ยวของวินาที มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือลักษณะของอนิจจัง ไม่มีอะไร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แม้แต่ขณะจิตเดียว มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าคนเรามองไม่เห็น เห็นว่าเหมือนเดิมอยู่ แต่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไอ้ตัวที่ว่าเหมือนเดิมคือม่านหนาที่มาปิดบังไว้ไม่ให้เห็นอนิจจัง ทำให้เราหลง อยากมี อยากได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ปัญญา ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลักษณะของความไม่เที่ยง คือส่วนไม่รู้จักหยุด เปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลง ตามความชำรุดทรุดโทรมของร่างกายก็อยู่ในลักษณะนี้ เปลี่ยนขึ้นก็คือ เติบโตขึ้น เช่น เด็กๆเริ่มจากปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา การจะปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็เป็นขั้นตอน ครั้งแรกก็เป็นน้ำขุ่นๆข้นๆ น้ำขุ่นๆข้นๆ นั้นมีชีวะ หรือมีสิ่งมีชีวิตมากมายก่ายกองไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนตัว แล้วไปรวมกับไข่ของเพศหญิง ผสมกันตั้งท้องเกิดเป็นรูปร่างเป็นก้อนขึ้นมาแล้ว ก็แตกเป็นหัวเป็นมือเป็นเท้า เขาเรียกว่า ปัญจสาขา เจริญขึ้นทุกวันๆ ๑๐ เดือน นั้นคือ ความเปลี่ยนแปลงทุกขณะจิต ไม่มีหยุดยั้ง แล้วก็ออกมาจากครรภ์ พอลืมตาเห็นโลกก็ร้องทันที “กูแย่ละโว้ย” ร้องแว้ออกมา แสดงว่าเป็นทุกข์ ไม่สบายดอกที่ร้องออกมา เขาก็จับไปอาบน้ำอาบท่าตามเรื่อง นอนอยู่ในเบาะตัวน้อยๆ น่าจับน่าต้อง

เมื่อกินนมมารดาเข้าไป ก็โตวันโตคืน ผอมบ้างอ้วนบ้าง แล้วก็รู้จักคว่ำ พลิกตัวได้ รู้จักคลาน ลุกขึ้นนั่ง เดิน แล้วก็วิ่งตามลำดับ ตอนวิ่งได้เริ่มซุกซน เริ่มพูดบ้าง จำโน้นจำนี่ได้ พูดภาษามนุษย์ได้ เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล

ต่อมาก็เข้าโรงเรียนชั้นประถม มัธยม พอโตขึ้นก็ไว้ผมรุ่มร่าม ไว้หนวดไว้เครายาว นุ่งกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อยืด รองเท้ายาง สะพายย่ามแดง เรียกว่า พวก ๕ ยอ ก็เปลี่ยนไปตามลำดับ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แล้วก็เปลี่ยนไปในทางเสื่อม

ครั้งแรกก็เจริญขึ้นๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ถึงที่สุดของความเจริญเติบโต ไม่มีการเปลี่ยนการเติบโตได้ มีแต่ว่าอาจขยายอะไรออกไปนิดๆหน่อยๆ อ้วนบ้าง ลดลงไปบ้าง ตามเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง แล้วก็เริ่มเดินลง เดินลงก็คือโทรม เปลี่ยนแปลงไปในทางโทรม ผมหงอก ฟันเริ่มโยกคลอน หูตึง ตามืด อะไรทุกอย่างในร่างกายเปลี่ยนๆ จนถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลง ก็คือความตาย

“ความตาย” หมายความว่า ถึงที่สุดของการเปลี่ยนแปลง ถ้าความเปลี่ยนแปลงไปถึงตรงไหนหยุด มันก็ตายตรงนั้น อันนี้คือวิถีชีวิตของคน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต้นไม้ก็เหมือนกัน เราปลูกต้นไม้ในดิน มันแตกหน่อขึ้นมานิดหนึ่ง ค่อยๆเจริญขึ้น แตกใบ ๒ ใบ ๓ ใบ ๔ ใบ แตกกิ่งก้านจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งมันตายไป แต่เวลาของการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เหมือนกัน

คน กับ สัตว์ กับ ต้นไม้ กับ วัตถุสิ่งของ กาลเวลาระยะการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เหมือนกัน เช่น ร่างกาย กับ เสาคอนกรีต มันก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ว่ามันช้า ระยะของการเปลี่ยนแปลงมันช้า ที่ช้าก็เพราะว่าสิ่งปรุงแต่งมันไม่เหมือนกัน อันใด ที่เครื่องปรุงแต่งอ่อนก็เปลี่ยนแปลงไว ถ้าเครื่องปรุงแต่งแข็ง แปลว่าเปลี่ยนแปลงช้า แต่เราจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง

เราดูว่าหิน ก็นึกว่ามันไม่เปลี่ยนแปลง แต่มันก็เปลี่ยนแปลงลงไปทุกวัน ไปดูหินอ่อนที่เขาปะไว้ตามกลีบบัวของโบสถ์ ถ้าเราไปลูบดูมันจะรู้สึกว่ามันขรุขระ แรกเริ่มเดิมทีนั้นมันขัดเรียบร้อย แต่ว่าเป็นร้อยปี ดูมันขรุขระ เพราะถูกอากาศ ถูกความร้อน ความชื้น มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นขรุขระ จากนั้น จะสึกหรอจนหมดไป เห็นง่ายที่อิฐสำหรับก่อที่เสาโบราณ



คราวหนึ่ง ไปที่ชายทะเลสงขลา ไปที่ศาลา “ตาตุมะระหุ่ม” ชื่อนี้ เป็นเจ้าของเมืองพัทลุงสมัยสุโขทัย แล้วท่านก็ตายไป เขาว่าท่านเป็นอิสลาม แขกเปอร์เซีย แล้วสืบสกุลมาเป็น ณ พัทลุง มาตอนปลายลูกหลานก็นับถือพุทธ “ตาตุมะระหุ่ม” ชาวบ้านเรียกว่า “ทวดหุ่ม” อีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ตาตุมมะระโหม” ชาวบ้านเรียกว่า “ทวดโหม” ฝังไว้คนละที่ ที่ศาลานี่ฝังศพทวด อิฐนั้นกร่อนไปจนกิ่ว เกือบจะขาดตรงเสา ทั้งๆที่ไม่มีใครไปทำอะไร แต่ลมทะเลที่พัดมาทุกๆวัน นี้มากระทบ มันก็กิ่วไปได้

ต้นไม้ก็เช่นกัน ต้นไม้ที่อยู่ชายทะเลเหมือนกับคนไปตัด เอามีดไปตัดไปแต่ง ความจริงไม่มีใครไปตัด แต่ลมมันตัด ลมมันพัดกระทบทุกวันมันก็กร่อนไป เหมือนคนเอาตะไกรไปตัด

อันนี้ สิ่งทั้งหลายเมื่อกระทบกับลมฟ้าอากาศมันก็เปลี่ยนแปลงไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แผ่นดินที่เราอยู่อาศัย มันเปลี่ยนแปลไปเท่าใด เรามองไม่เห็น ถ้าไม่ไปดูตามสถานที่ต่างๆ เช่น ไปดูเมืองเก่าสมัยสุโขทัย เห็นแผ่นดินมันสูง ความจริงที่มันสูงขึ้นนั้น เพราะมันทับถมขึ้นมาเป็นเวลา ๗๐๐ ถึง ๘๐๐ ปี ที่ทับถมสูงขึ้นมาตั้งเมตร ครั้นเมื่อเขาไปจัดการแผ้วถางปัดกวาดเอาอะไรออกหมด ถึงรู้ว่าข้างล่างมีอิฐปูไว้เป็นพื้นรอบโบสถ์ เหมือนกับโบสถ์ เหมือนกับวัดเรา เมื่อกวาดขี้ดินออกหมด ดินนั้นสูงขึ้นตั้งเมตร นี่คือความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นนั้นๆ

ถ้าไปเมืองศรีสัชนาลัย จะเห็นกำแพงที่เขาก่อด้วยศิลาแลง เวลาเดินต้องก้มเข้าไป ชาวบ้านก็พูดว่า คนสมัยพระร่วงคงจะตัวเล็ก จึงทำซุ้มประตูต่ำ คนสมัยนี้ จึงต้องเดินก้มเข้าไป ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น คนสมัยพระร่วงท่านใหญ่กว่าเราเสียอีก แต่ว่าแม่น้ำเอาดินมาทับถมทุกปีๆ มาจนสูงขึ้นมา โบสถ์เก่าๆ เมื่อเราไปเห็นก็จะติว่าทำไมทำโบสถ์ต่ำอย่างนั้น หน้าต่างเสมอแผ่นดิน ก็คงว่าคนโบราณทำไมทำหน้าต่างอย่างนี้ ปีนขึ้นไปยังได้ หารู้ไม่ว่า ดินมันทับสูงขึ้น ถ้าไปโกยดินนั้นออกจะเห็นรากฐานของโบสถ์ว่าอยู่ข้างล่างลึกลงไป

ที่พระธาตุไชยาก็เหมือนกัน เขาโกยดินออกตั้งเมตรที่มาทับถมองค์พระธาตุ ทำให้เห็นว่าพระธาตุเตี้ยไป ความจริงพระธาตุไม่เตี้ย

ที่พัทลุงข้างภูเขาสมัยก่อนเป็น พรุใหญ่ ถ้าเราลงไปเหยียบโคลนมันจะจมถึงเข่า เวลาเขาจะปลูกข้าว เขาไม่ต้องไถ เพียงแต่ว่าไปตัดต้นกกออกไปเท่านั้นเอง ต้นข้าวงามเพราะปุ๋ยเยอะ เดี๋ยวนี้ สถานที่นั้นกลายเป็นที่ดอนไป ไม่มีน้ำ เพียง ๔๐ ปีเท่านั้น ทำให้ที่ตรงนั้นกลายเป็นที่ดอน เป็นดินดอนไม่มีโคลน เวลาจะทำนาก็ไม่มีน้ำแล้ว นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2018, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ สภาพจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลง มันรวดเร็วกว่าอย่างอื่น คือประเดี๋ยววิบโกรธ ประเดี๋ยววิบเกลียด เดี๋ยววิบรัก และมันคิดอะไรหลายๆอย่าง คิดโน่นคิดนี่ มันคือความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง

สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา อันนี้ เราจึงควรคิดให้เห็นโดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้เรารัก เราชัง อะไรบ้าง ก็คือ กามคุณนั่นเอง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ห้าประการนี้ ต้องเอาสิ่ง ๕ ประการนี้มาตั้ง แล้วเอาอนิจจังมาใส่ ถามตัวเองว่า รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง เสียงเที่ยงหรือไม่เที่ยง ธัมมารมณ์คือสิ่งที่เกิดในใจเรานั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ให้ตั้งปัญหาคิด ว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง

อย่างเห็นรูปหญิง เราคิดว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง ถ้าคิดอย่างนั้น ความกำหนัดมันจะไม่เกิดขึ้น เพราะมัวไปคิดเรื่องเที่ยงไม่เที่ยงเสียแล้ว ใจไม่คิดกำหนัด มันอาจจะไม่คิดเรื่องสวยเรื่องงาม เพราะไปคิดสงสัยว่ามันเที่ยงหรือเปล่า เที่ยงหรือไม่เที่ยง สวยหรือไม่สวย เปื่อยเน่าหรือไม่เปื่อยเน่า หอมหรือเหม็น อันนี้เป็นตัวอย่าง
เราคิดกันในรูปอย่างนั้น ขณะนั้น จิตมันก็ไม่เกาะจับอยู่ในเรื่องนั้น แล้วเราคิดให้มันติดต่อกันไป อาจจะเกิดปัญญาโพล่งขึ้นมา มองเห็นว่า เออ ไม่เที่ยงจริงโว้ย แล้วก็ไม่มีอารมณ์อะไร ไม่เกิดกำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่เกิดลุ่มหลง ไม่เกิดมัวเมา
อันนี้ เป็นห้ามล้อชีวิต ถ้าเราคิดบ่อยๆ จะสบายใจ ในเรื่องสิ่งสวยงาม น่ารัก หรือไม่น่ารัก ถ้าเอาหลักอนิจจังเข้าไปจับไว้ จะช่วยได้มาก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 05:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ เรื่องบางเรื่อง ที่เราสวดมนต์ว่า “อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข - การอยู่ร่วมกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นทุกข์”

ที่เราเป็นทุกข์เพราะอะไร ? เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ไม่ได้คิดว่ามันไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ คือถ้าเราคิดเสียว่ามันไม่เที่ยง เช่นว่าเราได้ของอันใดมา แทนที่เราจะนึกว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป เรากลับบอกตัวเองว่า มันไม่เที่ยงนะ ไม่แน่ว่ามันจะหายเมื่อไร มันจะแตกเมื่อไร มันจะหักเมื่อไร ใครจะมาเอาไปเสียเมื่อไรก็ไม่รู้ คิดไว้บ่อยๆ พอนึกไว้อย่างนั้น สมมติว่า มันแตกขึ้นมาจริงๆ ก็เลยปลงตกลงไป เออ เหมือนกับที่คิดไว้ เพราะเราได้คิดไว้ล่วงหน้าแล้ว เราคิดไว้ล่วงหน้าแล้วมันไม่เป็นทุกข์ เพราะเรารู้ว่าธรรมชาติมันต้องเป็นไปอย่างนั้น
คนที่มีความทุกข์ความเสียหาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็เพราะว่าไม่ได้คิดถึงปัญหานี้ ไม่ได้แยกอนิจจังมาเป็นเครื่องพิจารณา ไมได้คิดไว้ล่วงหน้า พออะไรเปลี่ยนแปลงไปก็เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับเอาเลยทีเดียว อันนี้แหละเสียหาย ชีวิตมันวุ่นวายกันที่ตรงนี้ ตกต่ำกันที่ตรงนี้ หมดกำลังใจกันที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรจะใช้หลักอนิจจังไว้

ที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนา ก็เจริญด้วยหลักนี้ ยกสังขารขึ้นพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน คิดไว้บ่อยๆ พูดกับตัวเองไว้บ่อยๆ ว่ามันไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ท่องเป็นคาถาไว้ เห็นอะไรก็ต้องพูดว่า อือ ไม่เที่ยง เรียกว่า เป็นธรรมสำหรับเตือนใจเพื่อให้เกิดปัญญา คิดบ่อยๆ นึกบ่อยๆ ให้นึกว่าไม่เที่ยง
เราเล่นต้นไม้ ถ้าเราเล่นให้เป็นธรรมะมันก็ได้ประโยชน์ พอดอกไม้มันออกมา เราก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงทุกวัน จะเห็นดอกตูม แย้ม บาน จนเต็มที่
ถ้าเป็นกล้วยไม้มันก็อยู่หลายวันหน่อย ผลที่สุดก็เหี่ยว จนกระทั่งร่วงผล็อยสู่พื้น เราเห็นดอกไม้ร่วง ให้คิดน้อมเอามาเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า ชีวิตเรามันก็จะร่วงเหมือนดอกไม้ ใบไม้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กิจวัตรอย่างหนึ่งว่ากวาดวัด เป็นต้น เขาไม่ใช้ให้กวาดเฉยๆ แต่ให้เอาใบไม้มาคิดนึก ว่าใบไม้มันแห้ง แต่ก่อนมันจะแห้ง มันเป็นใบอะไร ก็เป็นใบไม้แก่ ใบไม้อ่อน มันเป็นยอดไม้ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นใบไม้เหลืองเหี่ยว หลุดจากขั้วมากองบนดิน เราก็ต้องมากวาดทุกวัน เอาใบไม้นั้นมาเป็นครู แล้วบอกตัวเองว่า เราก็เหมือนใบไม้นี้แหละ ไม่นานก็เหี่ยว แล้วเขาก็เผาเป็นขี้เถ้า แล้วบอกตัวเองบ่อยๆ
ถ้าเห็นซากใบไม้ ซากสัตว์ตาย ก็เอามาพิจารณาให้เห็นว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็จะเกิดประโยชน์กับชีวิตบ้าง
เกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็คิดว่าชีวิตมันไม่เที่ยง แม้ความทุกข์เองก็ไม่เที่ยง
ความสุขก็ไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ถาวร คล้ายๆกับกระแส กระแสลม กระแสไฟฟ้า ชีวิตเรามันเป็นกระแส มันไหลเรื่อยไปไม่มีไหลกลับ เว้นไว้จะใช้เครื่องผันเอา แต่โดยธรรมชาติมันไม่ไหลกลับ มันไหลไปตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และเมื่อมันไหลอยู่อย่างนั้น ควรหรือที่เราจะเข้าไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่ามันเที่ยง เช่น รถมันกำลังวิ่ง ขืนไปจับมันก็แย่

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง มองดูแขน ก็ต้องบอกว่า แขน เอ๊ะ เจ้าไม่เที่ยง มองดูมือก็ตอบบอกว่ามือไม่เที่ยง ดูกระจกส่องหน้าก็ว่าหน้าไม่เที่ยง ผมไม่เที่ยง จมูกไม่เที่ยง ตาไม่เที่ยง ทั้งเนื้อทั้งตัวก็ไม่เที่ยง ว่าไปอย่างนั้น เห็นผู้หญิงเดินมา โอ๊ย ไม่เที่ยง ไม่เข้าท่าดอก ว่าไปอย่างนั้น พอเห็นละก็รีบว่าเชียว เขาว่าไม่เที่ยงก็ไม่เข้าท่า
พอว่าอย่างนั้นแล้วใจมันหยุด ไม่เกิดอะไรดอก แต่ว่าไม่ว่าอย่างนั้นดอก กลับว่า เอ้อ เข้าท่าดีนี่ มันก็เกิดกิเลสไปซี่ไปว่าอย่างนั้น เราต้องรีบบอกว่า ไม่เข้าท่า ไม่เที่ยง ไม่เข้าท่า เป็นทุกข์ ไม่น่าดู คอยพูดเป็นคาถาไว้ เป็นคำเตือน
คนโบราณเข้าใช้กัน ใช้เป็นคาถาเตือนใจ พอเห็นเข้า ไม่เที่ยง ไม่เข้าท่า ไม่เห็นงามสักหน่อย ว่าไว้บ่อยๆ ใจก็เฉยๆ ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามคำพูด อันนี้ ก็ใช้หลักอนิจจังเข้าจับสิ่งต่างๆ และเมื่อสิ่งใดมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราก็อย่าไปร้อนอกร้อนใจ

ถ้านึกถึงความไม่เที่ยงเป็นเครื่องปลอบโยน เช่นว่า มารดาบิดาตายไป บุตรภรรยาตายไป วัวหาย ควายสูญ นาฬิกาถูกจี้ ก็มานึกถึงกฎอนิจจังไว้ว่า มันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา มันไม่อยู่กับเราตลอดไปดอก มันหายไปแล้วก็ช่างหัวมัน หาใหม่ต่อไป นึกไว้อย่างนี้ สอนตัวเองอย่างนี้ด้วยหลักอนิจจัง มันก็เบาใจ ไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
คนแก่ๆ ที่ท่านเข้าวัดนานๆ เราจะเห็นว่าท่านใจเย็น ท่านไม่ปราดเปรื่องในเรื่องธรรมะอะไรดอก แต่ว่าอย่าดูหมิ่นน้ำใจ แม้ว่าจะพูดจาธรรมะไม่เก่ง แต่ท่านรู้ รู้ถึงหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอะไรเกิดขึ้นท่านก็นั่งเฉยๆ ไม่สนใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นร้อน


มีโยมคนหนึ่ง คือ คุณหญิง โยมหญิงก็มีเรื่องกระทบใจอยู่ไม่น้อย ครอบครัวต้องสูญเสียอะไรมาก ลูกเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีตามีชื่อเสียง เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ลูกก็ต้องหลุดออกไปจากตำแหน่ง ยังไม่พอ ทรัพย์สมบัติถูกริบไปจนหมดจนสิ้น แต่ว่าดูสภาพคุณโยมนี่แกเฉยๆ แกก็ทำบุญเลี้ยงพระไปตามเรื่อง เวลานิมนต์พระมาเลี้ยงก็ดูครึกครื้นดี พูดจาหัวเราะไม่เห็นว่าจะเป็นทุกข์เป็นร้อน
พระก็เลยถามว่า คุณโยมไม่เห็นเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรเลย ท่านกล่าวว่า จะไปเสียใจอะไร มันไม่ใช่ของเรา แสดงว่า ปลงตก เข้าใจซึ้งในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ว่าจะไปทุกข์ร้อนอะไร ลูกเขาจะมียศถาบรรดาศักดิ์ฉันก็เฉยๆ เสื่อมยศถาบรรดาศักดิ์ฉันก็เฉยๆ ได้เงินหรือสูญเสียไปมันก็เท่ากัน ถ้าเมื่อได้ไม่ดีใจ เมื่อเสียมันจะเสียใจอย่างไร
ถ้าได้ก็ดีใจมาก เมื่อเสียก็เสียใจมาก คล้ายกับเราขึ้นต้นไม้ เมื่อเราขึ้น ๑๐ เมตร ก็ต้องลง๑๐ เมตร ถ้าลงตามระเบียบก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าตกลงมาก็ซี่โครงหักเลย รักร้อยก็เสียใจร้อย ปริมาณขึ้นกับลงมันเท่ากัน เพราะฉะนั้น เขาจึงว่า อย่ายินดียินร้ายมาก
การอยู่อย่างไม่ยินดียินร้าย ก็ต้องนึกถึงกฎเกณฑ์ว่ามันไม่เที่ยง พูดเตือนตัวเองไว้บ่อยๆ บอกตัวเองบ่อยๆ ว่าไม่เที่ยงเว้ย เห็นอะไรได้มาก็บอกตัวเองว่าไม่เที่ยง พูดไว้บ่อยๆ เตือนไว้บ่อยๆ ใจเราก็จะมีปัญญาคิดในเรื่องนั้น เรียกว่าเอาอนิจจัง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทุกขัง อนัตตา ก็แบบเดียวกัน ทีนี้ สามัญลักษณะข้อต่อไปที่เรียกว่า ทุกขัง อนัตตา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกขตา ความเป็นทุกข์ ในความหมายของสามัญลักษณะทั่วไป มันมีทุกข์ทั้งนั้น ต้นไม้ก็มีทุกข์ ก้อนหินก็มีทุกข์ มันก็เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ

คนเรามันเป็นทุกข์มากกว่าสัตว์หรือต้นไม้ เป็นเพราะมีสมองคิดได้มาก จึงเป็นทุกข์มาก สุนัขมันทุกข์น้อยกว่าเรา ต้นไม้มันก็ทุกข์ตามธรรมชาติ

คำว่า “ทุกข์” หมายความว่า ทนอยู่ไม่ได้ ก็ได้ ไม่น่าดู ก็ได้ หรือมันทนอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ก็เรียกว่า เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น
ร่างกายของเราก็เป็นทุกข์ตามแบบธรรมชาติ แล้วมันก็ไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้น ต้นหมากรากไม้ในสนาม มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติแบบสามัญลักษณะ


ส่วนความทุกข์อีกแบบในใจคนเรา นั้น เรียกว่า ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น คืออุปาทาน พอมีอุปาทานในสิ่งใดก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้น คนเราเป็นทุกข์อยู่แล้ว ไอ้สิ่งที่เราไปยึดมันก็เป็นทุกข์ แต่เราก็ยังกล้าไปยึดถือ เท่ากับว่าเอามือไปแหย่ไฟ มนุษย์นี่เขาว่าไม่รู้จักเข็ดไม่รู้จักหลาบ ไม่รู้จักกลัวในสิ่งที่ควรกลัว กล้าเข้าไปเสี่ยงกับสิ่งที่ทำให้ตนเดือดร้อน จึงเกิดความทุกข์ความไม่สบายใจในลักษณะต่างๆ เราต้องคิดไว้บ่อยๆ ว่าสิ่งทั้งหลายเราไม่ควรไปยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนของเรา

คำพูดง่ายๆ เจ้าคุณพุทธทาสท่านพูดบ่อยๆว่า “ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น” นี่แหละการแก้ปัญหาในเรื่องความทุกข์ ให้พูดไว้บ่อยๆว่าไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ให้พิจารณาในแง่ใด ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น แม้เราจะต้องทำสิ่งนั้น ก็เรียกว่า ทำไปตามหน้าที่ แต่ใจอย่าไปยึดถือเข้าว่า ไม่น่าเอาน่าเป็น ให้เอา “เป็น” ให้เป็น “เป็น” ถ้าเอา “เป็น” มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าเป็น “เป็น” มันก็ไม่ทุกข์ เรื่องได้ เรื่องดี เรื่องเป็น นี่ต้องฉลาด ท่านเขียนเป็นกลอน

ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี
ถ้าเช่นนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย.

เรียกว่า ให้รู้จักว่า มันไม่เที่ยงนี้เป็นทุกข์ เอาหลักนี้ไว้แล้ว ความหลงใหลมันก็ไม่เกิดในสิ่งนั้นๆ เราก็สบายใจ

เวลาใด ความทุกข์เกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร ควรบอกตัวเองว่า ฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ พยายามพูดกับตัวเองไว้บ่อยๆ พูดบอกใครๆให้ดังๆก็ได้ว่า กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์เว้ย
ถ้ามันยังทุกข์ ก็ออกไปยืนกลางแจ้ง แล้วก็กระโดดแบบมวยจีน แล้วตะโกนดังๆว่า กูไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์เว้ย แล้วมันก็จะเบาลงไป สำนึกขึ้นมาว่า กูนี่ไม่ได้เรื่อง ทุกข์ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ เกิดเพราะความยึดมั่นถือมั่น เราต้องปล่อยมันเสีย ถ้าปล่อยได้วางได้ มันก็สบาย หลักมันก็เป็นอย่างนั้น
ทีนี้ สิ่งอะไรที่เราไปยึดไปถือก็ต้องท่องว่า ไม่น่าเอา ไม่น่าดู ไม่น่าเป็น ให้คิดไว้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ มันก็ช่วยให้ผ่อนคลายความทุกข์ตามสมควร แต่ว่ายังไม่เป็นการถึงที่สุด อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ยังไม่ถึงที่สุด ที่สุดของเรื่องอยู่ที่อนัตตา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนัตตา ความไม่มีตัวตน อนัตตามันแย้งกับอัตตา คือในศาสนาฮินดูของพราหมณ์ มีอัตตาชนิดถาวร ฝรั่งเรียกว่า Soul หรือ Immortal Soul วิญญาณถาวร วิญญาณนี้ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักอะไร มันมีอยู่อย่างนั้น เท่ากับมันเที่ยง กลายเป็นของเที่ยง

อัตตา แปลว่า ของเที่ยง มันขัดกับความจริง สมมติว่าร่างกายแตกสลาย วิญญาณออกจากร่างไปเกิดในร่างใหม่อะไรก็ได้ สังสารวัฏฏ์ของฮินดูเขาคิดอย่างนั้น ไม่เหมือนกับสังสารวัฏฏ์ของเรา ไม่เหมือนกัน ให้จำไว้ด้วย ของฮินดูหมายถึงว่า วิญญาณออกจากร่างแล้วไปเกิดในร่างใหม่ อาจไปเกิดในสุนัขก็ได้ ในร่างวัวก็ได้

ถ้าตายไปนึกถึงวัว ร่างอะไรก็ได้ที่ตัวนึกถึง แล้วก็วิญญาณนี้ก็ต้องเกิดไปๆ เรื่อยๆไป จนกว่าจะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็หลุดไปจากการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อหลุดไปแล้วก็ต้องไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าเขา เรียกว่า ปรมาตมัน บรมอัตตา ไปรวมกันที่นั่น แล้วไม่ออกมาอีก ที่ออกมาอีกก็เพราะแยกออกจากตัวนั้น แต่มีปัญหาว่าทำไมมันออกมา อันนี้ เขาไม่ยอมตอบ เพราะตอบไม่ได้
อัตตาทั้งหลายเมื่อบริสุทธิ์ก็เข้าไปรวมอยู่ที่ปรมาตมัน ฮินดูเขามองอย่างนั้น เป็นปรัชญาของฮินดูว่ามีตัวตัวนี้ ไม่รู้จักตาย แต่สามารถเปลี่ยนเครื่องแบบ เหมือนกับเราเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนเรือน เปลี่ยนร่างกายนี้ไปสู่ร่างกายอื่น แต่ตอนนี้เวลาอธิบายพุทธศาสนา เผลอๆ ก็กลายเป็นฮินดูไป อธิบายเป็นตัวเป็นตน วิญญาณจุติขึ้นมา มันก็เป็นแบบฮินดูไป

สังสารวัฏฏ์การเวียนว่ายตายเกิดของพระพุทธศาสนา หมายถึง การเกิดของกิเลส มีกิเลส ทำกรรม แล้วก็เกิดผล (กิเลส กรรม วิบาก) แล้วก็เกิดกิเลส เวียนอยู่เช่นนั้น โลภ โกรธ หลง ไม่รู้จักจบ เวียนอยู่ในเรื่องต่างๆ นี่คือสังสารวัฏฏ์ของพระพุทธศาสนา

แต่เผลอๆ ก็กลายเป็นสังสารวัฏฏ์ฮินดูไปได้ พวกที่อธิบายพระพุทธศาสนาเป็นแบบฮินดู เขาเรียกว่าพวก สัสสตทิฏฐิ ซึ่งเห็นว่าเที่ยง เห็นว่าคงทนอยู่ตลอดไป เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ไม่ห้ามสวรรค์แต่ห้ามนิพพาน จะไปนิพพานเพราะมีทิฏฐิอย่างนี้ไม่ได้

คนที่จะไปนิพพานต้องไม่ยึดมั่นว่ามีตัวมีตนถึงจะไปได้ เรื่องมีตัวมีตน เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูเขามีตัวอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ก็สอนอนัตตา อนัตตาอันแรกที่ทรงสอนก็คือ อนัตตลักขณสูตร สอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านปัญจวัคคีย์ฟังครั้งแรก เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงเทศน์ให้ฟังครั้งที่ ๒ เรียกว่า อนัตตลักขณสูตร
พระพุทธเจ้าท่านแยกออกไปหมดว่า ไม่มีตัวตนที่แท้ แยกชีวิตร่างกายออกเป็น ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็บอกว่า รูปก็เป็นอนัตตา เวทนาอนัตตา สัญญาอนัตตา สังขาราอนัตตา วิญญาณังอนัตตา ไม่มีตัวที่เป็นสิ่งที่เรียกว่าเนื้อแท้ของอนัตตา ดังนั้น อนัตตาจึงแย้งต่อหลักอัตตาของพราหมณ์ จึงเข้ากับศาสนาพราหมณ์ไม่ได้ในส่วนลึก แต่ส่วนตื้นๆขั้นศีลธรรม พุทธศาสนาเข้ากับศาสนาพราหมณ์ได้ แต่พอถึงส่วนลึกเข้ากันไม่ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อันนี้ พวกอิสลาม กับ คริสต์เตียนอยู่ด้วยความเชื่อศรัทธาธิกะ ไม่ใช่ปัญญาธิกะ ไม่ใช่วิริยาธิกะ อยู่ด้วยความเชื่อ เชื่อว่าเทพเจ้ามองเห็น ใครทำอะไรพระเจ้าต้องเห็น เพราะฉะนั้น ศีลธรรมเขาจึงดี มีความกลัวว่าจะถูกจดบัญชีไว้ว่าทำไม่ดี แล้วไปกลัววันตัดสิน เพราะเขาไปตัดสินว่า จะไปนรกหรือสวรรค์ก็ตรงนี้แหละ เทพเจ้าตัดสินเป็นเด็ดขาด ไม่มีอุทธรณ์ตามกรรมที่ทำไว้ ก็จะเอามาอ่านประกาศว่าใครทำอะไรไว้มั่ง แล้วก็ตัดสินว่าคนไหนดีก็ให้ไปอยู่ร่วมกับพระเป็นเจ้า แต่ว่าการไปอยู่ร่วมได้ต้องบริสุทธิ์
แต่พวกอิสลาม คริสต์เตียน ไม่ต้องทำความเพียรพยายามเท่าไร ตายแล้วก็รอฟังคำตัดสินแล้วไปอยู่ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า อยู่อย่างนั้นตลอดอนันตกาล ไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เวลานี้ พระเยซูไปนั่งเบื้องขวาของพระผู้เป็นเจ้า คอยวันสิ้นโลก จะได้มีคนตามไปอยู่กับพระองค์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2018, 16:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ คำสอนในศาสนาพุทธไม่เหมือนใคร ไม่มีอัตตา มีแต่อนัตตา เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดจากการปรุงแต่ง แยกออกไม่ได้ วิเคราะห์ออกไปแล้ว ไม่มีอะไร ในส่วนรูปจะแตกสลายหมด เป็นสักแต่ว่าธาตุที่มาปรุงกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง
ในส่วนความรู้สึก เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เกิดจากการกระทบกันเข้า ตากระทบรูป เกิดความรู้สึกทางตา เกิดผัสสะ เกิดเวทนา แล้วเมื่อแยกออกไปแล้ว เนื้อมันไม่มี

เสียงจะเกิดก็เพราะมีสิ่ง ๒ สิ่งมากระทบกันเข้า เสียงจะเกิดขึ้น มันจะมีเสียงต่อเมื่อมีอะไรมากระทบ เช่น เคาะไม้ พวกดนตรีทั้งหลายนี่ บรรเลงเพลงต่างๆ มันเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ มันเป็นสังขารที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป เป็นคลื่นหายไปในอากาศ เป็นของผสมทั้งนั้น

เรากินแกงก็เป็นของผสมมีพริก มีข่า มีตะไคร้ มีกระชาย มีน้ำตาล มาผสมกันเข้า มีรสชาติ แล้วสิ่งที่เรียกว่าเกลือก็เป็นของผสม น้ำตาลก็เป็นของผสม แล้วธาตุเหล่านั้นก็สลายไปได้ อันนี้ นักปราชญ์ไอน์สไตน์ เอาไปคิดเป็นสูตรปรมาณูขึ้น แกคงได้หลักเกณฑ์ที่ว่าธาตุปรมาณูมันสลายตัวได้ เป็นอนัตตา
หลักอนัตตาของพุทธศาสนา ทำให้เกิดความคิดว่าวัตถุสลายได้ เลยสลายตัวเป็นระเบิดปรมาณูเปรี้ยงปร้าง โลกฉิบหายไปเลย ก็อนัตตามันสลายได้ หลักอนัตตาจึงเป็นหลักลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจ ยากที่จะมองเห็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 57 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร