วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2018, 19:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ๑๐)

วันนี้ จะได้พูดเรื่องบุญกิริยา บุญกิริยาวัตถุในหมวด ๓ นั้น มี ๓ อย่าง แต่ว่าบุญกิริยานี้มันมี ๑๐ อย่าง เพราะฉะนั้นพูดให้ครบทั้ง ๑๐ อย่างไปเสียเลย อยู่ในหมวด ๑๐ เริ่มต้นด้วย

ข้อที่ ๑ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน.

ในเบื้องต้นนี้ขอทำความเข้าใจในคำว่า “บุญ” กันเสียก่อน คำว่า “บุญ” นี้เราเพี้ยนมาจากภาษาบาลี คำภาษาบาลีว่า ปุญญ ใช้ตัว “ป” คือภาษาบาลีไม่มีตัว “บ” ตัว “บ” ไม่มี มีตัว “ป” ออกเสียงจึงเรียกว่า “บุญ”

คำว่า “บุญ” นั้นเป็นชื่อของความสุขที่เกิดจากการกระทำความดี ตามหลักศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามอะไรก็ได้ เรียกว่าทำดีแล้วใจมันก็สบายเป็นสุข

ถ้าทำชั่วใจมันเป็นทุกข์ ก็เรียกว่า “บาป” บาปมาจากคำว่า “ปาป” แปลว่า “เศร้าหมอง” คนทำดี ใจไม่เศร้าหมอง คือมีความสุขเกิดมีความสุขขึ้นในใจ

(ข้อสังเกต คำพระทุกคำมาจากภาษาบาลี)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2018, 20:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าท่านตักเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุขนั่นเอง”

ความหมายของบุญนั้นเป็นชื่อของความสุข ความสุขที่เกิดจากการกระทำความดี ไม่ใช่สุขจากเครื่องล่อเครื่องจูงใจ เครื่องล่อ เครื่องจูงใจ เกิดสุขได้เหมือนกัน ได้เงินก็เป็นสุข ได้เมียสวยๆ ได้แฟนสวยๆ ก็เป็นสุข อย่างนั้นมันเป็นสุขได้ด้วยเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ เรียกว่า อามิสสุข

ทีนี้ความสุขที่เป็นบุญนั้น มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความอิ่มใจ เพลิดเพลินใจในการที่ได้กระทำความดีไม่ว่าในรูปใด

ถ้าทำแล้วมันก็เป็นสุขใจ ก็เรียกว่ามันเป็นบุญ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันเกิดความสุขขึ้นในใจ แล้วก่อในเกิดนิสัยในการรักษาความดี ใคร่ต่อการที่จะกระทำความดีเรื่อยๆไป คนนั้นก็อยู่กับความดี ที่เราเรียกว่า คนมีบุญน่ะ คำว่า “มีบุญ” นั้น หมายความว่า คนนั้นมีความสุขมีความดี

บุญนั้นมันมีทั้งเหตุทั้งผล บุญที่เป็นเหตุก็มี บุญที่เป็นผลก็มี

บุญที่เป็นเหตุก็หมายความว่า การกระทำที่ดีที่งาม ตามหลักในคำสอนทางพระศาสนา เรียกว่าเป็นบุญ เป็นตัวเหตุว่าทำแล้วก็มีความเบาใจ โปร่งใจ สบายใจ การมีความเบาใจ โปร่งใจ สบายใจ นั้นเป็นบุญที่เกิดจากตัวผล เป็นตัวผลอันเกิดขึ้นจากการคิด การพูด การกระทำในเรื่องดี เราก็มีความสุขทางจิตใจ คนใจมีบุญ ก็หมายความว่า คนนั้นมีความสุข

คำว่า “มีบุญ” ไม่ได้เกี่ยวด้วยเงินทอง ไม่ได้เกี่ยวด้วยทรัพย์สมบัติ ไม่ได้เกี่ยวด้วยความยิ่งใหญ่ตามวิสัยของชาวโลก แต่ว่าเกี่ยวด้วยความงามความดีทั้งนั้น

คนที่มีบุญคือคนที่มีคุณงามความดี อาจจะเป็นคนจนๆก็ได้ แต่เขามีคุณธรรม ก็เรียกว่าเขาเป็นคนมีบุญ
บางคนอาจจะร่ำรวย แต่ว่าไม่มีบุญก็ได้ เพราะร่ำรวยด้วยการโกงเขา การคอร์รัปชั่น กินสินบาทสินบนอย่างนั้นเขาก็ร่ำรวย

เราอย่าไปนึกว่าคนร่ำรวยแล้วเขาจะมีบุญ รวยทางบาปก็มี พวกค้าของเถื่อนมันก็รวยได้ ค้ายาเสพติด รวยได้ มันหาเงิน เงินนี้ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดความเป็นผู้มีบุญเสมอไป เขาทำอะไรที่เป็นทางชั่ว แต่ว่ามันได้เงิน เราจะถือว่าคนนั้นมีบุญไม่ได้ เพราะว่าเงินนั้นมาจากบาป มาจากอกุศล ไม่ใช่มาจากคุณงามความดี

แต่ถ้าร่ำรวยด้วยการประกอบกิจอันชอบ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เงินนั้นเป็นเงินบริสุทธิ์ คนมีเงินแบบนั้นก็เรียกว่าคนมีบุญ เพราะเงินนั้นได้มาด้วยความสุจริต

แต่ถ้าได้มาด้วยความทุจริต เงินนั้นไม่ได้เป็นเครื่องวัดของความเป็นผู้มีบุญ แต่กลายเป็นคนมีบาปไปเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น เราจะวัดคนด้วยเครื่องอะไรภายนอกไม่ได้ แต่ว่าวัดว่ามีบุญนั้นอยู่ที่น้ำใจ

ถ้าเป็นคนใจดีใจงาม ก็เรียกว่าเขามีบุญ มีความสุข คนแบบนี้น่ะ แต่ถ้าเป็นคนใจชั่วทรามก็ไร้บุญ อยู่อย่างเป็นทุกข์ ลักษณะมันเป็นอย่างนั้นนะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2018, 20:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ บุญเก่าบุญใหม่. บุญเก่า ก็หมายความว่า บุญที่ทำไว้ก่อนๆ ทำดีมาเรื่อยๆ ทำดีมาสมัยเป็นเด็กๆ มันก็ให้ผลมาเรื่อยๆ ทำดีเมื่อสมัยเป็นหนุ่มมันก็ให้ผลมาเรื่อยๆ แล้วก็ทำดีอยู่ในขณะนี้ มันก็เกิดผลอยู่ในขณะนี้ แล้วจะเกิดผลต่อไปในกาลข้างหน้า.

ผลกับเหตุมันสัมพันธ์กันมาเรื่อยๆเป็นลูกโซ่ เราเริ่มทำมาเรื่อยๆ ผลมันก็สัมพันธ์กันมาเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่สัมพันธ์กันมาเป็นสายยาวเหยียด ในวิถีชีวิตของเราอย่างนี้ ที่เรียกว่า เป็นบุญเก่า หมายความว่า บุญที่ได้กระทำในเวลาที่ล่วงแล้ว

บุญใหม่ ก็หมายความว่า บุญที่ได้กระทำอยู่ในขณะนี้ แล้วมันก็รวมกันเข้าเป็นความสุขความเจริญในชีวิตประจำวัน

เรามักจะพูดกันว่า แหม คนนั้นเขามีบุญ พูดบางทีก็พูดไม่ถูกเหมือนกัน ไปชมคนเหลวไหลว่ามีบุญก็มี ชมคนคอร์รัปชั่นว่ามีบุญ นั่นไม่ใช่ มันเป็นคนบาป ไม่ใช่คนบุญอะไร

คนมีบุญมันต้องดูให้ลึกซึ้ง ดูการพูด การคิด การกระทำของเขาที่แสดงออกมา เราจึงจะตัดสินด่าเป็นคนมีบุญหรือเปล่า ให้ตัดสินว่าเขามีคุณธรรมขนาดไหน มีความงามความดีในจิตใจเท่าไร ก็ดูที่การกระทำจึงจะวัดได้ ว่าเป็นคนมีบุญหรือเป็นคนมีบาป ลักษณะมันเป็นอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2018, 21:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในพระพุทธสุภาษิตตรัสว่า บุญให้ความสุขตราบเท่าชรา ตราบเท่าสิ้นชีวิตนั่นน่ะ ว่าใครทำบุญแล้วมันก็ได้ความสุขเรื่อยไปจนตราบเท่าสิ้นชีวิต

ทีนี้ บุญของคนอื่น มันก็สัมพันธ์กับตัวเราเหมือนกัน เช่น บุญของพ่อแม่มันก็สัมพันธ์กันกับลูก เพราะลูกนี้เกิดมาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นคนมีบุญ ลูกก็พลอยรับบุญจากพ่อแม่ไปด้วย ที่เรียกว่า รับบุญจากพ่อแม่ก็คือว่า ถ่ายทอดอุปนิสัย ถ่ายทอดการกระทำจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น พ่อแม่เป็นคนใจดีใจงาม อยู่ในศีล ในธรรม ในศาสนา เรียกว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน ลูกก็มักจะเป็นเช่นนั้น คือรับถ่ายทอดจากการได้พบได้เห็นทุกวันๆ ได้พบเห็นพ่อแม่ทำบุญอยู่ทุกวันๆ ลูกก็เลยรับนิสัยนั้นมา

ฉะนั้น เราจึงถือว่า บุญนี้เป็นไปตามพันธ์ก็ได้เหมือนกัน คือ สืบกรรมพันธุ์ เป็นกรรมพันธุ์ คือพ่อดีแม่ดีลูกก็ดีตามพ่อแม่

ถ้าพ่อแม่ไม่มีบุญ ลูกก็พลอยไม่มีบุญไปด้วย เว้นไว้แต่ว่าลูกนั้นได้ไปอยู่กับคนมีบุญ ก็ได้รับบารมีบุญจากคนนั้นมาสร้างเสริมนิสัยของตน เปลี่ยนชีวิตจิตใจไปได้ เช่น

เมื่อเด็กอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่มีบุญ โตขึ้นได้ไปอยู่กับผู้มีบุญ บุญของผู้นั้น ไดหล่อหลอมจิตใจให้เปลี่ยนจากสภาพเดิมมาเป็นคนใหม่ เหมือนกับว่าเป็นคนเกิดใหม่ในทางวิญญาณ ในทางจิตใจ

พวกเราเขามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เรียกว่าเราได้เข้ามาอยู่กับบุญ อยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นบุญ สิ่งไรที่ได้เคยกระทำมาก่อน ไม่ดีไม่งาม เราก็เลิกละจากสิ่งนั้น หันเข้าหาสิ่งดีสิ่งงามต่อไป ประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป ก็เกิดเป็นบุญเป็นกุศลต่อไปในจิตใจ เมื่อใดบุญเกิดขึ้นแล้วให้เรารักษาบุญนั้นไว้ อย่าให้สูญหายไปเสีย อย่าให้บาปเกิดแทรกแซง เพราะบุญกับบาปมันคอยแย่งตำแหน่งกันอยู่ ใจเราเหมือนกับเก้าอี้ของบุญบาป ถ้าบุญอยู่ บาปไม่อยู่ แต่ถ้าเผลอ บาปเข้ามาขับบุญออกไป

เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการคิด การพูด การกระทำในชีวิตประจำวัน เป็นบุญตลอดไป นี่คำว่าบุญมันก็มีความหมายอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2018, 21:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวนี้คำว่า กุศล มันคู่กับคำว่าบุญ หมายความว่า ความฉลาด กุศลนี้มันเป็นความฉลาด ดังที่พูดในครั้งที่แล้ว (หัวข้อ อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ตอนอธิบายองค์มรรคที่ ๑ ) เพราะฉะนั้น ให้มีทั้งบุญและกุศลในจิตใจของเรา อย่าให้บาป อย่าให้อกุศลเข้ามาเจือปนในจิตใจของเราเป็นอันขาด เพราะถ้าเกิดบาป เกิดอกุศลแล้ว มันเป็นทุกข์ เป็นโทษ ตัดประโยชน์หมดทั้ง ๓ ประการ คือประโยชน์ในเวลานี้ ประโยชน์ต่อไปข้างหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือการพ้นจากกิเลส ประโยชน์ทั้ง ๓ มันถูกตัดไป เพราะไม่มีฐานที่ดีงาม

นี่คือสิ่งที่จะให้เกิดบุญ เรียกว่า บุญกิริยา บุญกิริยาวัตถุ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งการกระทำที่เป็นบุญ ทำบุญทำด้วยอะไรบ้าง ? ให้ทานเป็นบุญ เรื่องทานเป็นบุญได้พูดแล้วเมื่อวันก่อนในข้อว่า สัปปุริสบัญญัติ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง ทาน การให้ บรรพชา เป็นอุบายเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาให้มีความสุข ได้พูดแล้วในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดซ้ำเสียเวลา

..........

อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55226

สัปปุริสบัญญัติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55178

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2018, 18:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(สังเกตจุดประสงค์ของศีลดีๆ มองภาพกว้างๆ)

บุญข้อที่ ๒ เรียกว่า สีลมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล.

คำว่า “ศีล” แปลว่า “ปกติ” ปกติ แปลตามตัวว่า ศีล. กายที่ปกติก็เรียกว่า เป็นศีล วาจาที่พูดโดยปกติ ไม่มีการปรุงแต่งด้วยกิเลสประเภทใดก็เรียกว่า เป็นศีล ใจที่ปกติไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็เรียกว่า จิตเป็นศีล

ศีล แปลว่า ปกติ ถ้าปกติมันไม่ยุ่ง ไอ่ที่ยุ่งเพราะมันผิดปกติ พูดผิดปกติ ทำผิดปกติ คิดผิดปกติ ก็เรียกว่ายุ่งละ มันผิดศีลแล้ว นี่แหละศีลโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของศีล คือการปกติ

คราวนี้คนเรามันไม่ได้ปกติอยู่เสมอไป เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ จึงต้องมีการถือเพื่อให้ปกติตลอดไป ที่เราเรียกว่า “ถือศีล”

การถือศีล ก็คือการยอมเดินปฏิบัติตามระเบียบที่เรียกว่า ศีล ระเบียบของศีลที่จะทำให้เกิดศีลคือความปกติขึ้นในตัวเรา เขาบัญญัติไว้ให้เราปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็เรียกว่า เราถือ

ถ้าเราไม่ปฏิบัติก็เรียกว่า เราไม่ถือ คราวนี้การถือศีลนั้นเป็นบุญ การไม่ถือศีลนั้นเป็นบาป เป็นความเศร้าหมองในจิตใจ การรักษาศีลจึงถือว่าเป็นบุญกิริยา

คราวนี้การรักษาศีล รักษากันไว้ที่ไหน ? ศีลมันอยู่ที่อะไร ? มันอยู่ที่ความตั้งใจงดเว้นโทษต่างๆ อันผิดจากศีล

จำง่ายๆ ว่า การรักษาศีลก็คือ การตั้งใจงดเว้นจากการกระทำความชั่ว เช่น เราตั้งใจว่าเราจะไม่ฆ่าใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ลักของใคร ไม่ประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจของใคร ไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร ไม่ดื่มกินของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันนี้ เรียกว่า รักษาศีลแล้ว คือตั้งใจลงว่าเราจะประพฤติอย่างนั้น ก็เรียกว่าเราเป็นผู้มีศีล ตราบใดที่เรายังตั้งใจปฏิบัติอยู่ ก็เรียกว่า มีศีลอยู่

ถ้าไม่มีความตั้งใจเมื่อใด ศีลมันก็หายไปเมื่อนั้น ศีลขาดก็เพราะขาดความตั้งใจ ความตั้งใจนี้ ภาษาพระท่านเรียกว่า “เจตนา” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว สีลลัง วะทามิ” ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าความตั้งใจเป็นตัวศีล เจตนา ตั้งความเจตนาว่า นี่เป็นตัวศีล เพราะฉะนั้น ศีลก็อยู่ที่เจตนา

ตัวเจตนานั้นมันอยู่ที่ไหน ? มันอยู่ที่ใจของเรา ศีลแท้ๆมันก็อยู่ที่ความตั้งใจจะปฏิบัตินั่นเอง พอไม่ตั้งใจปฏิบัติ ศีลมันก็หายไปเท่านั้นเอง ไม่อยู่กับตัวเราต่อไป ความตั้งใจปฏิบัติ จึงเรียกว่า เป็นตัวศีล

ทำไมจึงต้องตั้งใจรักษาศีล ? เพราะถ้าไม่ตั้งใจมันก็เป็นไปไม่ได้ ศีลมันก็ไม่เกิดถ้าไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น มันต้องมีการอธิษฐานใจ ผูกใจไว้กับเรื่องนั้น การรับศีลนั้นก็คือการให้สัญญากับพระ เช่น เราไปรับศีล รับศีลว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี เป็นต้น ก็ให้สัญญากับพระว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท

สิกขาบท ก็คือ แบบฝึกหัดในเรื่องเกี่ยวกับศีล จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นเป็นต้น เรียกว่า กล่าวคำสัญญาไว้กับพระ เมื่อสัญญาไว้แล้วก็ต้องรักษาสัญญา การรักษาสัญญาก็เรียกว่าเรารักษาศีล

ถ้าเราไม่รักษาสัญญาไว้ก็เรียกว่า เราไม่รักษาศีล

การไม่ถือระเบียบก็เรียกว่า ไม่มีศีล ถ้าเคารพต่อระเบียบ ก็เรียกว่ามีศีล ศีลคือระเบียบ คือจารีตประเพณีคือข้อปฏิบัติ ศีลทั้งนั้น ประเพณีต่างๆ ก็เรียกว่าศีลเหมือนกัน

จารีตที่เขาปฏิบัติกันแล้วมันสร้างเสริมความสงบในสังคม เรียกว่า เป็นศีล

นอกนั้นก็มีศีลที่พระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ มากขึ้นไปโดยลำดับ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา ? ให้เกิดความสงบในทางจิตใจ การรักษาศีลเพื่อให้เกิดความสงบ ให้เกิดความสว่างขึ้นในทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะต้องรักษา

นี่เรามาพิจารณาดูเรื่องศีลที่เรามาสมาทาน ตามหลักของการรักษาศีลนั้น ต้องสมาทาน

สมาทาน ก็แปลว่า รับเอามาปฏิบัติ รับเอาศีลปฏิบัติ เรียกว่า สมาทาน

การสมาทานศีล นั้น ไม่ต้องไปสมาทานกับพระก็ได้ ถ้าไม่มีพระเราตั้งใจเอาเองก็ได้ เรียกว่า สมาทานวิรัติ หมายความว่า ตั้งใจงดเว้น ตั้งใจว่าวันนี้เราจะถือศีลนั้น ข้อนั้น ข้อนี้ ให้เคร่งครัด อย่างนี้เรียกว่า ตั้งใจงดเว้น ก็เป็นศีลเหมือนกัน

แต่ถ้ามีพระเราก็เข้าไปหาพระ ขอศีลจากท่าน ขอศีล หมายความว่า ขอข้อปฏิบัติในเรื่องศีลจากพระ พระก็ให้ศีลแก่เรา เราก็รับ เวลารับศีล เราก็ต้องรับกันดังๆ

เมืองไทยนี้ ก็ในกรุงนี่รับศีลกันไม่ค่อยดัง คนบ้านนอกเขารับศีลกันดังๆทั้งนั้น ชาวนา ชาวไร่ เขารับศีลเป็น เขารับกันดังๆ ประเทศอื่นเขารับกันดังๆทั้งนั้น ชาวอินเดียที่นับถือพุทธ รับศีลดังชัดถ้อยชัดคำ ชาวลังกาก็รับศีลดัง พม่าก็ดัง แม้คนจีนมลายูที่นับถือพุทธศาสนา เขานับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ก็มีพระฝ่ายเถรวาทไปอยู่มาก เขาก็มีวัด เขาเรียนคำบาลีในเรื่อง สมาทานศีล อะไรได้ เขาว่าดังๆ รับศีลดังๆ แม้ว่าไม่ชัดเขาก็ว่าดังๆ เขาไม่ละอาย เพราะว่าลิ้นของเขามันอย่างนั้น เขาพยายามว่าให้มันชัดถ้อยชัดคำมากที่สุด

การรับศีล นี่ต้องรับดังๆ เพราะเป็นการกล่าวคำปฏิญาณกับผู้ที่ให้ศีล คือ ต้องกล่าวกับพระที่ให้ปฏิญาณ พูดเงียบๆ มันได้เสียเมื่อไร มันต้องพูดดังๆชัดถ้อยชัดคำ

การรับต้องรับด้วยความเต็มใจ จึงจะเป็นการรับที่ถูกต้อง อันนี้คือการรับที่ถูกต้อง อันนี้ก็คือการรับศีล หรือ สมาทานศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ความจริงไม่ต้องสมาทานบ่อย สมาทานทีเดียวตลอดชาติเลย หมายความว่าเป็นพุทธบริษัทก็มีศีล ๕ ประจำ เว้นไว้แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันขาด เราก็ไปสมาทานใหม่

คนที่สมาทานบ่อยๆ แปลว่า ศีลขาดบ่อยๆ นี่มันไม่ได้เรื่อง เหมือนเชือกมันต่อหลายปมแล้วมันไม่ทนเท่าไร ถ้าเส้นเดียวไม่มีต่อมันแข็งแรงดี เพราะฉะนั้น ให้สำรวมระวังไว้ ไม่ให้มันขาดก็ดี แต่อาจจะมีขาดตกบกพร่องไปบ้าง เราก็ไปสัญญากันใหม่ การรับศีลมุ่งอย่างนั้น

ศีลเบื้องต้นที่เป็นฐานสำคัญ คือศีล ๕

เรามานึกดูถึงศีล ๕ ข้อ ว่าบัญญัติไว้เพื่ออะไร ? เพื่อรักษาชีวิต เพื่อคุ้มครองทรัพย์สมบัติ เพื่อคุ้มครองครอบครัว เพื่อเกียรติทางคำพูด เพื่อคุ้มครองสติสัมปชัญญะให้ปรกติ นี้ศีล ๕ ข้อ คุ้มครองอย่างนี้

ข้อ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คุ้มครองชีวิต ชีวิตเขาชีวิตเรา คุ้มครอง

ข้อ ๒. ไม่ลักขโมย คุ้มครองทรัพย์สมบัติ

ข้อ ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม คุ้มครองวงศ์สกุลให้ตั้งมั่น และครอบครัวให้ตั้งมั่น คนประพฤติสำส่วนทำให้ครอบครัวไม่เรียบร้อย

ข้อ ๔. คุ้มครองการพูดจาให้คนเชื่อคนฟัง พูดอะไรเขาเชื่อเขาไว้ใจ

ข้อ ๕ เรียกว่า รักษาสติสัมปชัญญะให้คงอยู่ พอดื่มเหล้าแล้วก็เมาไป ไม่ได้เรื่องอะไร สูญเสียสติสัมปชัญญะ อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าไม่คุ้มครองสิ่งเหล่านี้ ที่กล่าวมาใน ๔ ข้อแล้วนั้น

อีกประการหนึ่ง ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศีลนี้ไว้ให้เป็นข้อบัญญัติ ก็เพราะว่ามนุษย์เรานี่ รักอะไรมากที่สุด เริ่มต้น (๑) รักชีวิต นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง คำบาลีว่า ความรักที่เสมอด้วยรักตนย่อมไม่มี รักอะไรมันอยู่ที่ตนทั้งนั้น เรารักเมีย นี่เรื่องอะไร รักเมียเพราะเมียให้ความสุขแก่เรา รักลูกเพราะให้ความสุขแก่เรา รักเงินทองเพราะเงินทองให้ความสุขแก่เรา มันอยู่ที่ตัวตั้งต้นที่ “ตัวเรา” เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้เป็นของรัก ทุกคนอยากจะได้ความสุข กลัวความทุกข์ กลัวลำบาก จึงได้บัญญัติศีลข้อที่ ๓ นี้ขึ้นมาจากที่ทุกคนต้องรักชีวิต

ฐานต่อไป คนรักอะไรต่อไป (๒) รักทรัพย์สมบัติ เราหาอะไรมาได้เราก็รัก เราก็หวงแหน ไม่อยากให้คนอื่นเอาของเราไป จึงต้องมีศีลข้อที่ ๒ เข้ามารับความรักส่วนนี้

ทีนี้ รักต่อไปก็คือ (๓) รักครอบครัว มีสามีมีภรรยาก็รักกันหวงแหนกัน ข้อนี้แรง แรงกว่าสมบัติเสียอีก แรงนักหนา ผู้ชายก็หวงแหนมาก ผู้หญิงก็หวงแหนมาก ผู้หญิงเขาหวงแหนมากถึงกับมีคำพูดว่า “เสียเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” ผู้หญิงเขาหึงหวง ผู้ชายก็อย่างนั้นแหละ ไม่เท่าไร แต่ผู้หญิงเขาแรงกว่า เขาหวง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในครอบครัว ก็มีศีลข้อ ๓ มารับ

ทีนี้ (๔) รักแต่จะฟังเรื่องที่จริง เรื่องที่แท้ ใครมาพูดโกหกให้ฟัง เราก็ไม่ชอบใจ โกหกเล่นๆน่ะไม่ว่าอะไรดอก แต่โกหกให้เสียประโยชน์นี่มันเคืองกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีศีลข้อ ๔ ไว้

ส่วนศีลข้อ (๕) นั้น เพื่อให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ พอดื่มของเมาเข้าแล้วมันเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ลดเปอร์เซ็นต์ลงไป เช่น เราเป็นมนุษย์ร้อยหนึ่ง ดื่มไปก๊งหนึ่ง ลดลง ๑ เปอร์เซ็นต์ สองก๊ง ๒๐ สามก๊ง ๓๐ ลดลงไปเรื่อย อันนี้พอมากๆเข้าก็เดินสี่ขา พอเดิน ๔ ขา นี่ไม่ใช่มนุษย์แล้ว เป็นพวกนอนข้างโรงเรียนแล้ว นั่นเป็นอย่างนั้น เพื่อคุ้มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ไว้ จึงบัญญัติศีลข้อ ๕

นี่เรียกว่า ศีล ๕ อันนี้ ถ้าเขยิบขึ้นไปหน่อยเป็น ศีลอุโบสถ อุโบสถหรือศีล ๘ ถือกันในวันพระ ศีล ๘ สำหรับรักษากันในวันพระ เดือนหนึ่ง รักษากัน ๔ ครั้ง เดือนละ ๔ ครั้ง นี่เรียกว่าเป็นวันอุโบสถ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2018, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุโบสถนี้ หมายความว่าอย่างไร ? เป็นวัตรปฏิบัติอันหนึ่งของผู้ต้องการรักษาจิตใจให้สะอาด เรียกว่า อุโบสถ
อุโบสถ แปลว่า การเข้าไปเก็บตัว เก็บตัวอยู่ที่ไหน ? เก็บตัวอยู่ในรั้วของศีล ไปอยู่ในรั้วของศีล ๘ ข้อ ไม่ออกมานอกรั้ว ยอมตัวถูกขังอยู่ในรั้ว ๘ ข้อนั้น เรียกว่าเข้าอยู่อุโบสถ เก็บเนื้อเก็บตัวไม่ไปไหน ไม่ทำอะไรที่มันจะยุ่ง เรียกว่า รักษาอุโบสถศีล

อุโบสถศีลมี ๘ ข้อ เพิ่มขึ้น ๓ ข้อ แล้วก็เปลี่ยนข้อ ๓ ให้สูงขึ้น เรารับศีล ๕ นั้น เรารับว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แต่ว่าพอถือศีล ๘ เราเปลี่ยนว่า อะพรหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ “อะพรหม” นี้หมายความว่า ไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ คือ การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นจากกามด้วยประการทั้งปวง ถือศีล ๕ นอนกับภริยา (สามี) ได้

ถือศีล ๘ ไม่ได้ ต้องแยกนอนกันละ ในวันที่ถือศีล ๘ นี้ ต้องแยกกันอยู่ เคยนอนบนเบาะก็ต้องไปนอนบนพื้น เพราะมีศีลเพิ่มขึ้น ไม่รับประทานอาหารในยามวิกาล หลังเที่ยงไปแล้ว ไม่ฟ้อนรำขับร้องฟังดนตรี ดีดสีตีเป่า อันเป็นข้าศึกของพรหมจรรย์ ไม่นั่งนอนบนเตียงตั่งที่นอนใหญ่ อันใส่นุ่นหรือสำลี อะไรที่มันนอนสบายเกินไปนั่นน่ะ ต้องการอย่างนั้น ให้งดเว้นสิ่งเหล่านี้

ไอ้ที่ไม่ให้กินอาหารในยามวิกาลนั่นเพื่ออะไร ? เพื่อตัดกังวลเรื่องอาหาร เพราะเรื่องกินนี่มันใหญ่เหลือเกิน ยิ่งครอบครัวใหญ่ๆ นั่นตื่นเช้าก็ต้องยุ่งเรื่องอาหารเช้า เสร็จแล้ว ยุ่งเรื่องอาหารกลางวัน เสร็จแล้วยุ่งเรื่องอาหารเย็น คนทำอาหารไม่ได้พักผ่อน เตรียมการณ์อยู่ตลอดเวลา เรื่องกินทั้งนั้น มนุษย์ยิ่งกินมากยิ่งยุ่งมาก ทีนี้ ตัดเรื่องการกิน ก็ลดการกินลงไปเสียบ้างในวันอุโบสถ ลดการกินอาหารเย็น เที่ยงแล้วไม่กินละ ไม่กินอาหารอะไร ตัดความกังวลในเรื่องอาหาร แล้ว

อีกประการหนึ่ง ลดส่วนเกินในร่างกาย เพราะเรากินอาหาร ๓ มื้อนี้ มันมีส่วนเกิน ร่างกายมันคึกคัก พรหมจรรย์มันจะเสีย ลองเรากินมันมากๆ มันคึกคักละ ร่างกายมันมีส่วนเกิน อะไร ๆ มันก็แข็งแรงขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้น พระเราจึงต้องฉันอาหารน้อยๆ เพื่อไม่ให้มันวุ่น ให้มันหลับสนิท อย่าให้มันตื่น จุดหมายมันมีอย่างนั้น จึงไม่กินอาหารในเวลาวิกาล

ทีนี้ การห้ามไม่ให้ฟ้อนรำขับร้อง นัจจะ คือ การฟ้อน คีตะ คือการขับ วาทิตะ คือการประโคม วิสูกะทัสสะนา คือการดูที่มันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ มาลา คือการตบแต่งระเบียบดอกไม้ คันธะ คือของหอม วิเลปะนะ คือเครื่องลูกไล้ร่างกาย ทาแป้ง แต่งตัว ห้ามหมด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยั่วอารมณ์ให้เกิดกิเลส เช่น เราทาแป้งก็ทำให้เราคิดถึงอะไรๆ มาล่อให้คิดถึงอะไรๆ ไปดูการฟ้อน การรำ ระบำโป้ มันยุ่งละ มันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เขาจึงห้ามไว้ การนั่งนอนที่สบายมันนอนนานไป ไม่มีเวลาปฏิบัติใจ จึงได้บัญญัติศีล ๘ ประการนี้ไว้ เพื่อให้รักษา

ทีนี้ ถ้าเป็นภิกษุสามเณรเพิ่มเป็น ๑๐ ศีล ๑๐ ข้อนี้ ความจริงเพิ่มข้อเดียว คือว่าแยกข้อที่ ๗ ออกเป็น ๒ ข้อ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี นี้ข้อหนึ่ง และมาลา ฯ อีกข้อหนึ่ง แยกข้อ ๗ ออกเป็นสอง และไปเพิ่มเอา ชาตะรูปะฯ อีกหนึ่งข้อ เป็น ๑๐ ข้อ ให้รักษาศีล ๑๐ ข้อนี้ สำหรับสามเณร สำหรับพระ พระมีศีล ๑๐ ข้อเป็นพื้นฐาน มีพระวินัยอีกมากมายเป็นเครื่องประกอบเพื่อให้ศีลอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืน

ศีลมันมีลักษณะอย่างนี้ เราจะต้องรักษา รักษาศีลแล้ว เช่นว่า ศีล ๕ นี้ เขาเรียกว่า ศีล ๕ ต้องมีกัลยาณธรรมห้า เขาเรียกว่าศีลธรรม ศีล ๕

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2018, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัลยาณธรรม ๕ คู่ กับ ศีล ๕

ไม่ฆ่าสัตว์แล้วต้องมี เมตตา ปรารถนาให้ความสุขความเจริญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ไม่ลักของใครแล้วไม่ฉ้อฉลใคร ไม่เบียดเบียนทรัพย์ของใคร แล้วก็ต้องมีสัมมาอาชีพ คู่กัน ต้องมีงานทำ ต้องมีอาชีพ อาชีพนั้นต้องชอบ ไมผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำให้เพื่อนมนุษย์เดือดร้อน เป็นอาชีพชอบคู่กันกับศีลข้อ ๒

ศีลข้อสามต้องมี ความสันโดษ พอใจในคู่ครองของตน ทีนี้ ปัญหาก็เกิดว่า ถ้ายังไม่มีคู่ทำไงล่ะครับ ไม่มีคู่ก็ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อย่าไปเที่ยวหาของบูดกินหัวมันจะแตก แล้วก็เป็นการส่งเสริมสิ่งชั่วร้ายในสังคม เช่น เราไปเที่ยวบาร์ เที่ยวไนต์คลับ ฯลฯ

ในศีลข้อ ๔ เมื่อเราไม่พูดโกหกแล้วเราก็ต้องพูดความจริง คำอ่อนหวานให้สมานสามัคคีมีประโยชน์ พูดให้มันดี

เมื่องดเว้นจากการดื่มของมึนเมาแล้ว ต้องหัดเพิ่ม สติปัญญา หัดสำรวมตนระวังตน สำรวมไม่ให้เกิดความเสียหาย เรียกว่า มีศีลมีธรรมประจำจิตใจ อันนี้ เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน

ทีนี้ เรื่องข้อ ๔ เรื่องการพูดเท็จ เราอย่าเข้าใจเพียงว่าไม่พูดโกหกอย่างเดียว พูดคำหยาบก็ไม่ได้ พูดส่อเสียดก็ไม่ได้ พูดเพ้อเจ้อก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้น ต้องพูดแต่คำจริง คำที่อ่อนหวานสานสามัคคีมีประโยชน์ ต้องถือหลักนั้นเป็นสุภาษิต พูดวาจาที่เป็นสุภาษิต อย่าให้เป็นทุภาษิต พูดอะไรก็พูดแต่เรื่องดีเรื่องแท้เรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่มีอะไรจะพูดนั่งเฉยๆ ก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีเรื่องอะไร ยิ่งพระสงฆ์องค์เจ้าเรานี้ก็ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมาพบกัน มีกิจที่จะต้องทำ ๒ อย่าง นิ่งอย่างพระอริยเจ้า ถ้าจะพูดก็พูดเรื่องธรรมะ

นิ่งๆ อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านิ่งไม่ชอบพูด ท่านพูดน้อย ถ้าจะพูดให้พูดธรรมะ ถ้าว่าพูดธรรมะนี้พูดน้อย พูดไม่ยาว แล้วที่พูดหัวเราะกันเฮฮานั้น ไม่ใช่พูดธรรมะแล้ว เรื่องอะไรแล้ว หรือคนมาหาเรา ถ้าเราพูดธรรมะไม่ยาว แล้วแกก็ไป แต่ถ้าพูดกันแล้ว นั่งคุยกันแล้วคุยกันอีก นั่นมันเรื่องอื่นแล้ว ไม่ใช่เรื่องธรรมะแล้ว เรื่องเหลวไหลแล้ว มันเป็นอย่างนั้น จึงถือหลักว่า เมื่อพบกัน นิ่งอย่างพระอริยเจ้า พูดต้องพูดธรรมะ แล้วมันก็ไม่ยุ่งดี

อันการพูดนี้เป็นเรื่องสำคัญ พูดต้องดูกาลเทศะ เวลา สถานที่ บุคคล เหตุการณ์ พูดให้เหมาะ พูดแล้วอย่าให้ปากแตกเป็นใช้ได้ ถ้าพูดแล้วปากแตกหัวแตกมันไม่ได้เรื่อง มันคงผิดเวลา ผิดบุคคล ผิดสถานที่ ผิดเหตุการณ์ เกิดหัวแตก ปากแตก คิดก่อนจึงพูด อย่าพูดแล้วคิดทีหลังมันเสียหาย เรียกว่า วาจาเหมือนงางอก ออกไปแล้วมันหลุบไม่ได้ งาช้างมันหลุบไม่ได้ ไม่เหมือนหัวเต่ามันหลุบได้ วาจาออกกันแล้วก็แล้วกั้น เพราะฉะนั้น คิดก่อนจึงพูด อย่าพูดโดยไม่คิด หากอย่างนั้นแล้วมันสบายใจ อะไรไม่สมควรเราก็ไม่คิด แล้วถ้าพูดถูกพูดเป็นมันก็เป็นประโยชน์ พูดไม่ขาดทุน

เล่านิทานให้ฟังสักเรื่อง

ลูกเศรษฐี ๔ คน เขาเป็นเพื่อนกัน ไปไหนไปด้วยกันสนุก เที่ยวด้วยกัน สนุกด้วยกัน ตามภาษาของลูกเศรษฐี วันหนึ่ง ก็ไปนั่งอยู่ศาลาหน้าบ้าน มีนายพรานป่าคนหนึ่งพร้อมด้วยเกวียน มีเนื้อเต็มเกวียนเลย ไปยิงสัตว์มาแล้วได้เนื้อมาตัวหนึ่ง มาถึงก็หยุดกินน้ำที่หน้าบ้าน ลูกเศรษฐีเข้าไปเห็นเนื้อก็เลยพูดขอ

คนแรกพูดว่า “เฮ้ย ไอ้พราน ขอเนื้อบ้างดิ”

นายพรานได้ยินก็นึกในใจว่า พุทโธ่เอ๋ย จะขอของของเขาจะพูดให้หวานๆหน่อยก็ไม่ได้ เมื่อขอแล้วก็ต้องให้เขาหน่อย นานพรานก็ตัดเนื้อฟังผืดให้ไปก้อนหนึ่ง ได้พังผืดต้ม ๗ วันก็กินได้ ให้พังผืดไปก่อน

คนที่สอง มาเห็นก็ว่า “พี่พราน ขอเนื้อให้น้องบ้างนะ”

เอ๊ะค่อยเข้าทีหน่อยพ่อคนนี้ ตัดเนื้อขาให้ไปชิ้นหนึ่ง เรียกว่าเป็นพี่น้องกันมา แขนขวาแขนซ้าย สัตว์นั้น มันมีขาก็เลยตัดเนื้อตรงขาไปให้ชิ้นหนึ่ง

คนที่สามมาถึงก็พูดว่า “พ่อพรานจ๋า เอาเนื้อให้ผมบ้างเถอะครับ”
แหม พูดกระทบถึงหัวใจ เรียกพ่อ นายพรานเลยตัดหัวใจให้ไป ไอ้นี่ต้มอร่อย พอใจไหม กินอร่อย

อีกคนหนึ่งว่า “สหายเอ๋ย เอาเนื้อมาจากไหนเยอะแยะ ขอแบ่งบ้างเถอะ”

นายพรานนึกในใจไอ้นี่มันตีตัวเสมอเราเป็นสหาย ให้มันทั้งเกวียนเลย ยกให้ทั้งตัวเลย เอาไปเลยทั้งตัว เอาไปส่งถึงบ้านแล้วเราไปกินข้าวด้วยกัน เพราะเป็นสหายเป็นเพื่อนกัน

สี่คนพูดไม่เหมือนกัน คนหนึ่ง เรียกไอ้พราน ได้พังผืด อีกคนเรียกพี่ ได้เนื้อขา คนหนึ่งเรียกพ่อพราน ได้หัวใจ คนเรียกสหายเอ๋ย ได้ทั้งตัวเลย มันแตกต่างกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้วาจาให้เหมาะแก่คนที่เรารู้จัก คนไหนควรเรียกพี่ คนไหนควรเรียกน้อง เรียกลุง เรียกป้า เรียกคุณอา เรียกให้แก่ไว้ดี เรียกว่าเรานับถือ โดยเฉพาะกับสุภาพสตรีเรียกให้แก่ๆไว้ดี ไอ้อ่อนนี่ไม่ค่อยได้ อ่อนไม่ได้ เราไปถึง น้องไปไหนมา เดี๋ยวก็เกิดเรื่อง แต่พี่ไม่เป็นไร เรียกพี่เพราะ ไม่เสียหาย แต่ว่าถ้าเห็นว่ามันพี่ไม่ไหว อย่าพูดกันดีกว่า เฉยๆ นี่คือศีลข้อ ๔ นี่ก็สำคัญเหมือนกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2018, 17:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนศีลข้อห้านั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะโทษมันมาก สุราเอาไว้พูดกันสักวันหนึ่ง ไอ้เรื่องสุรานี่ เพราะมันสำคัญอยู่

(สุราดูหัวข้อ อบายมุข ๖)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55256

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2018, 18:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไปเป็น ภาวนามัย แต่ทำความเข้าใจความหมายคำว่า ภาวนา ๓ นัยก่อน

ภาวนา การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ, การพัฒนา ก. การฝึกอบรม หรือการเจริญพัฒนา มี ๒ อย่าง คือ

๑. สมถภาวนา - ฝึกอบรมจิตใจให้อยู่กับความดีงามเกิดความสงบ
๒. วิปัสสนาภาวนา - ฝึกอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง

อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกัน คือ

๑. จิตตภาวนา - ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ

๒. ปัญญาภาวนา - เจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส และความทุกข์, ข. การเจริญสมถกัมมัฏฐาน เพื่อให้เกิดสมาธิ มี ๓ ขั้น คือ

๑. บริกรรมภาวนา - ภาวนาขั้นเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน
๒. อุปจารภาวนา - ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ
๓. อัปปนาภาวนา - ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาน ค. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็นการท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆ ให้ขลัง ก็มี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2018, 17:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อารมณ์สำหรับฝึกจิตนั้นละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งผู้ปฏิบัติเข้าใจแล้วพลิกแผลงได้ ดังนั้น ดูหลัก “สมถะ” กับ “วิปัสสนา” ทางแยกทางร่วมของทั้งสองนั้นกว้างๆ อีกสัก คคห. หนึ่ง

สัมปชัญญะ ก็ดี ธรรมวิจัย ก็ดี หรือปัญญาในชื่ออื่นๆก็ดี ที่ทำงานให้เกิดความเห็นแจ้งรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามสภาวะที่มันเป็น เพื่อให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ นี่แหละ คือ วิปัสสนา

สติทำกิจสำคัญทั้งในสมถะ และในวิปัสสนา หากพูดเปรียบเทียบ ระหว่างบทบาทของสติในสมถะ กับ ในวิปัสสนา อาจช่วยให้ความเข้าใจมากขึ้น

ในสมถะ สติกุมจิตไว้กับอารมณ์ หรือดึงอารมณ์ไว้กับจิต เพียงเพื่อให้จิตเพ่งแน่วแน่หรือจับแนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น นิ่งสงบไม่ส่าย ไม่ซ่านไปที่อื่น เมื่อจิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น เป็นหนึ่งเดียวต่อเนื่องไปสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิ และเพียงเท่านั้น สมถะก็สำเร็จ

ส่วนในวิปัสสนา สติกำหนดอารมณ์ให้แก่จิต หรือดึงจิตไว้กับอารมณ์เหมือนกัน แต่มุ่งใช้จิตเป็นที่วางอารมณ์ เพื่อเสนออารมณ์นั้นให้ปัญญาตรวจสอบพิจารณา คือจับอารมณ์ไว้ให้ปัญญาตรวจดู และวิเคราะห์วิจัยโดยใช้จิตที่ตั้งมั่น เป็นที่ทำงาน



หากให้อุปมา ในกรณีของสมถะ เหมือนเอาเชือกผูกลูกวัวพยศไว้กับหลัก ลูกวัวจะออกไปไหนๆ ก็ไปไม่ได้ คงวนเวียนอยู่กับหลัก ในที่สุด เมื่อหายพยศ ก็หมอบนิ่งอยู่กับหลักนั้นเอง จิตเปรียบเหมือนลูกวัวพยศ อารมณ์เหมือนหลัก สติเหมือนเชือก

ส่วนในกรณีของวิปัสสนา เปรียบเหมือนเอาเชือกหรือเครื่องมือ ผูกตรึงคน สัตว์ หรือวัตถุบางอย่าง ไว้กับแท่นหรือเตียง แล้วตรวจดู หรือทำกิจอื่น เช่น ผ่าตัด เป็นต้น ได้ถนัดชัดเจน เชือกหรือเครื่องยึด คือ สติ คนสัตว์หรือวัตถุที่เกี่ยวข้อ คือ อารมณ์ แท่นหรือเตียงคือ จิตที่เป็นสมาธิ การตรวจหรือผ่าตัดเป็นต้นคือ ปัญญา

ที่กล่าวมานั้น เป็นการพูดถึงหลักทั่วไป ยังมีข้อสังเกตปลีกย่อยที่ควรกล่าวถึงอีกบ้าง

อีกอย่างหนึ่ง คือ ในสมถะ ความมุ่งหมายอยู่ที่ทำจิตให้สงบ ดังนั้น เมื่อให้สติกำหนดอารมณ์ใดแล้ว สติก็ยึดตรึงดึงจิตกุมไว้กับอารมณ์นั้น ที่ส่วนนั้นอย่างเดียว ให้จิตจดจ่อแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้นเท่านั้น ไม่ให้คลาดไปเลย จนในที่สุด จิตน้อมดิ่งแน่วแน่อยู่กับนิมิต หรือมโนภาพของสิ่งที่กำหนด ซึ่งเป็นเพียงสัญญาที่อยู่ในใจของผู้กำหนดเอง

ส่วนในวิปัสสนา ความมุ่งหมายอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจสภาวธรรม ดังนั้น สติจึงตามกำหนดตามจับตามถึงอารมณ์เฉพาะตัวจริงของมันตามสภาวะเท่านั้น และเพื่อให้ปัญญารู้เท่าทันครบถ้วนชัดเจนเกี่ยวกับสภาวะของมัน สติจึงตามกำหนดกำกับจับอารมณ์นั้นๆ ให้ทันความเป็นไปของมัน เพื่อปัญญาจะได้รู้อารมณ์นั้นโดยตลอด เช่น ดูมันตั้งแต่มันเกิดขึ้น คลี่คลายตัว จนกระทั่งดับสลายไป

นอกจากนั้น จะต้องให้ปัญญาดูรู้อารมณ์ทุกอย่างที่เข้ามา หรือเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งปัญญาจะต้องรู้เข้าใจ เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง สติจึงเปลี่ยนอารมณ์ที่กำหนด หรือที่จับให้ดูไปได้เรื่อยๆ

อีกทั้งเพื่อให้ปัญญาดูรู้เท่าทันตรงตามที่สิ่งนั้นเป็นอยู่เป็นไปแท้ๆ สติจึงต้องตามจับให้ทันความเป็นไปในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ ไม่หยุดติดค้างอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอารมณ์ใดๆ

ข้อสังเกตปลีกย่อยอื่นๆ ยังมีอีก เช่น ในสมถะ สติกำหนดอารมณ์ที่นิ่งอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวเป็นรูปแบบเฉพาะซ้ำไปซ้ำมาภายในขอบเขตจำกัด

ส่วนในวิปัสสนา สติกำหนดอารมณ์ที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเป็นไปในสภาพใดๆก็ได้ ไม่จำกัดขอบเขต

ในสมถะ นิยมให้เลือกกำหนดอารมณ์บางอย่าง ในบรรดาอารมณ์ที่สรรแล้ว ซึ่งจะเป็นอุบายช่วยให้จิตใจสงบแน่วแน่ได้ง่าย

ส่วนในวิปัสสนา ใช้อารมณ์ได้ทุกอย่างไม่จำกัด สุดแต่อะไรปรากฏขึ้นให้พิจารณาและอะไรก็ตามที่จะให้เห็นความจริง (สรุปลงได้ทั้งหมดใน ร่างกาย เวทนา จิต ธรรม หรือในนามและรูป)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2018, 17:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เข้าหัวข้อกระทู้ต่อ

บุญ ข้อที่ ๓ ต่อไปคือ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา. ภาวนานี่หมายความว่าอย่างไร? ทำให้มาก ภาวนา แปลว่าทำให้มาก เรื่องที่ทำให้มาก นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะ เรื่องการรักษาศีล เรื่องการคุ้มครองจิต การฝึกจิตโดยเฉพาะ ทำให้มาก เรียกว่า ภาวนา ทำมากๆ ทำบ่อยๆ ทำติดต่อกัน เรียกว่าภาวนา

ทีนี้ ภาวนามันมี ๒ แบบ เรียกว่า สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เพื่อให้จิตสงบโดยส่วนเดียว ไม่เกี่ยวด้วยปัญญา ไม่เกี่ยวด้วยการคิดค้นอะไรทั้งนั้น มุ่งให้มันหยุดเท่านั้นเอง ให้มันสงบเรียกว่า สมถภาวนา
วิปัสสนาภาวนา นั้น หมายถึงการคิดค้นเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา
คนเราไปพูดมักจะพูดผิดอยู่ เช่น พูดไปว่า เจริญวิปัสสนา นี่ไม่ถูก พูดอย่างนั้น เรียกว่าพูดตามภาษาชาวบ้าน ถ้าพูดให้ถูกตามแบบวัด ต้องพูดว่า ฝึกฝนภาวนา เช่น ไปถามว่า วัดนี้ มีการเจริญภาวนาไหม พูดถูก ถ้าไปถามว่า มีการเจริญวิปัสสนาไหม โดยมากไม่ถูกดอก คือมุ่งจะถามว่ามีการฝึกฝนภาวนาหรือเปล่า อย่าไปถามเรื่องวิปัสสนา เพราะว่าภาวนามี ๒ อย่าง สมถะ กับ วิปัสสนา
สมถะมุ่งให้จิตสงบเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่นว่าเราเจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก เรียกว่า สมถภาวนา ถ้าเรามีใจสงบแล้วหยุดแล้วพอสมควร เราก็ไปนั่งคิดคิดว่ารูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ไม่เที่ยงอย่างไร คิดให้เข้าเนื้อแท้ของเรื่อง ให้เห็นชัดว่าไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร เป็นอนัตตาอย่างไร เรียกว่าเจริญวิปัสสนา วิปัสสนาจะนั่งเจริญตรงไหนก็ได้ แต่ว่าที่เงียบมันดีไม่รบกวนจิตใจ เราคิดได้ทั้งนั้น อารมณ์อะไรมากระทบก็แยกแยะวิเคราะห์วิจัยเอา เรียกว่าเจริญวิปัสสนา

๑. ให้จิตสงบ (เรียกว่า สมถภาวนา)

๒. ให้ได้คิดค้นในเรื่องสิ่งทั้งหลายให้รู้แจ้งตามสภาพที่เป็นจริง แล้วจะไดไม่หลงใหลมัวเมา

(เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา) ภาวนามี ๒ อย่าง อย่างนี้ สุดแล้วแต่ว่าเราจะชอบเรื่องใด ใช้เรื่องใด แต่ถ้าว่าทำตามลำดับใช้ทั้ง ๒ อย่าง สุดแล้วแต่โอกาส บางครั้งเราต้องใช้สมถะ เพราะจิตมันฟุ้งซ่าน มันวิ่งมาก วิ่งไปวิ่งมามันชนกัน เอาสมถะเข้ามาข่มไว้ ถ้าจิตมันสงบอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้สมถะ ใช้วิปัสสนา คือ การค้นคิดในเรื่องอะไรที่เป็นปัญหา เช่น เรื่องความทุกข์ เรื่องอะไรเป็นต้น นี่เรียกว่าเจริญวิปัสสนา ภาวนามันมี ๒ อย่าง อย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2018, 17:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


การฝึกเจริญภาวนานี้ เช่นว่าในเรื่องสมถะ ก็คือว่าต้องการฝึกจิตของเราให้มันหยุด ปกติจิตของคนเรานี้มันไม่ได้หยุด มันฟุ้งซ่าน มันดิ้นรนกลับกลอก เที่ยวไปไกลๆ ท่านจึงเรียกว่า “ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ - ผู้มีปัญญาย่อมหักห้ามจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายากห้ามยาก ให้เหมือนกับนายช่างศรดัดลูกศร”
นายช่างศรดัดลูกศรให้ตรง วิถีกระสุนที่มันยิงจะได้ไปตรง ถ้าว่าไม่ตรงมันไปคดๆ มันไม่ถึงจุดหมาย ถึงมันก็ไม่แรง เพราะมันไม่ตรง
จิตของคนเรานี้มันต้องดึงให้ตรง ให้มันสงบ ปกติมันไม่สงบ มันดิ้นรนกลับกลอก ไปนั่นไปนี่อยู่ตลอดเวลา คิดนั่นคิดนี่ไม่ได้หยุดดอก เราจึงเปรียบเหมือนว่าลิง
ลิงซนขนาดไหน เรานั่งดูลิงเถอะ ไม่มีหยุดซักขณะเดียว กลอกตากลอกหน้ามือไม้ ทำนั่นทำนี่ ลิงมันเป็นอย่างนั้น เปรียบชัด เปรียบเหมือนจิตนี้ว่าเหมือนกับลิงที่มันซุกซน
ลิงซุกซนนี้เราจะปราบให้มันหยุดนี่เราจะทำอย่างไร ต้องมัดเข้ากับหลักแล้วก็คอยตีไว้ มือกระดิกตีมือ เท้ากระดิกตีเท้า หัวกระดิกตีหัว กลับกลอกตีทั้งนั้น เมื่อใดมันนิ่ง เขาก็ไม่ตี มันเจ็บมันก็เรียนรู้ อ้อ ทำอย่างนั้นเขาตี ถ้ากูนั่งเฉยเขาไม่ตี เลยมันนั่งเฉย ทำท่าน่าเอ็นดู เมื่อเฉยแล้วก็ใช้ได้ ก็ฝึกให้ทำอะไรต่อไป เหมือนฝึกให้ลิงเล่นละคร ฝึกสัตว์เดรัจฉานเขาฝึกให้เชื่อฟังก่อน


เคยไปที่ค่ายทหารฝึกสุนัขปากช่อง หมาเยอะพันธุ์ดีๆ ทั้งนั้น เลี้ยงไว้เป็นร้อยเป็นพัน พันตัวกองพันหนึ่ง ถามว่าหัดอย่างไรเจริญพร หัดสุนัข เขาว่าเริ่มต้นต้องให้มันเชื่อฟังก่อน มีวิธีหัดให้เชื่อฟัง ครั้นเมื่อเชื่อฟังแล้วให้มันทำอะไรก็ได้ เอามาแสดงให้ดูว่ามันพร้อมเพรียง เช่น บอกว่าหมอบ หมอบราบไปเลย ยืน ยืนพรึบไปเลย พอสั่งให้วิ่ง วิ่งไปเลย พอเขาเป่านกหวีดหยุดปั๊บเลย แหม เหมือนกับคนเก่งคนเสียอีก มันไม่เก หัดได้ดีมาก ให้ดู ดูแล้วเขาก็แสดงจับผู้ร้าย เอาคนมาปิดหน้าปิดตาเสีย อย่าให้มันจำหน้าได้ เอากระสอบพันอยู่ที่แขน ๒ ข้าง ระวังมันกัด เขาก็เปลี่ยนปลอกคอให้มัน ใส่ปลอกคอหนัง เมื่อก่อนนี้ใช้ปลอกคอที่เป็นสายโซ่ พอเปลี่ยนเป็นคอหนังหูตั้ง หางชี้เดออกมาเลย มันรู้ เตรียมจะมีเรื่องแล้ว พอเปลี่ยนปลอกคอหูชัน สัญชาติญาณ เตรียมตัวทันที เขาก็สั่งจับขโมย เอาเลย คาบตรงนี้เลย หอบกันไปวิ่งกันไปมันไม่ว่าง จับอยู่นั่นฟัดเหวี่ยง แต่พอเจ้าของบอกว่าวาง วางทันที มันวางทันที มันวางแล้วมันยืนดู มองตาเขียว กูจับได้แล้วบอกว่าวางกูไม่วาง มันยืนมองแล้วคนนั้นก็ออกไป มันก็กลับมาหาเจ้าของ เจ้าของก็ลูบหลัง
ถามว่าทำไมต้องลูบหลังล่ะ ปลอบใจ มันชื่นใจว่าทำเรียบร้อย หมามันก็ต้องปลอบใจเหมือนกัน หมาก็มีหัวใจต้องปลอบมัน เขาบอกว่าวันหนึ่งกำลังฝึกหัดอยู่ คนเดินมามันวิ่งไปเลย ไม่ได้ผูกสายหนัง วิ่งไปเลย วิ่งไปกัดไอ้คนนั้น ทหารที่คุมสุนัขตัวนั้นก็วิ่งตามไป บอกว่าหยุดมันก็หยุดทันที
แล้วก็ถามว่าทำไมมันเรื่องอะไร พอเห็นเอ็งมันก็วิ่งมาหา เขาบอกว่า วันหนึ่งเขาไปที่ห้องมัน เขาขังมันเป็นห้องๆ เอาไม้แหย่มันเล่นให้มันโฮกฮากๆ มันโกรธ พอเห็นเดิน อ้อ ไอ้นี่มันเอาไม้แหย่กูวันก่อน ไล่กวดเลย ไอ้นั่นวิ่งขาถ่าง เขาหัดไว้อย่างนั้น


เขาว่าเอาไว้เฝ้าของ เอาของวางไว้ บอกเฝ้า มันไม่ไปไหน มันนอนจ้องหน้า อย่ามาแตะนะ ใครอย่ามาเอานะ ขืนเอางับคอเลย หมาตัวมันใหญ่ พันธุ์เยอรมันกัดคอเลย มันเฝ้าอยู่ ๑ ชม. ๒ ชม. เจ้าของไม่มามันไม่ไปไหน มันเฝ้าอยู่
แล้วเรื่องขนมของกินอะไร คนอื่นให้มันกินมันไม่กิน เขาหัดไม่ให้มันกิน เพราะถ้ากินตาย ข้าศึกเอาอะไรมาให้กินมันก็ตาย เพราะฉะนั้น เขาหัดไม่ให้มันกิน จะกินได้แต่ของที่พรานหมาให้ กินของอื่นไม่ได้ เขาหัดอย่างนั้น ฝึกหัดอย่างดี หัดเก่งใช้ได้ เวลาไปป่า สมมติว่าไปเจอลวดที่เขาขึงลูกระเบิดไว้มันหยุดทันที พอเจอหยุดทันที มองดูทหารว่ามีอะไร มีเชือกเขาขึงไว้ ขึงลวดขึงเชือกมันรู้ หลุดระเบิดก็เหมือนกัน ถ้ามันไปมันเดินหน้า พอถึงหลุดระเบิดมันหยุดทันที มันได้กลิ่นติดจมูก มันเลยหยุดปั๊บ เอาเท้าตะกุยค่อยๆ แล้วก็ไม่มีอันตราย ถ้าพาหมานี้ไปด้วยไม่มีอันตราย ทำอะไรดี เขาฝึกอย่างนั้น ฝึกให้เชื่อง แล้วก็ให้ทำตาม
จิตคนเรานี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นด้วยการฝึกให้มันหยุดก่อน หยุดนั่นคือเชื่องแล้ว แล้วก็ให้ทำอะไรต่อไปได้

(การฝึกลิงก็ทำนองเดียวกัน ฝึกมันเพื่อนำมันมาใช้งาน ทำการทำงานให้กับเจ้าของ https://www.youtube.com/watch?v=2LPDO6T7waQ)

การฝึกสมาธิภาวนา เรียกว่า ฝึกภาวนากัมมัฏฐาน จุดหมายก็เพื่อให้จิตสงบ เพื่อให้ตั้งมั่น เพื่อให้มันอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน ๓ อย่าง ฝึกเพื่อให้เกิดนี้คือ เพื่อให้สงบ เพื่อให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนสำหรับที่จะใช้งาน

จิตปกตินี้มันไม่สงบ มันไม่มีสมาธิ ไม่ตั้งมั่น แล้วมันไม่เหมาะที่จะใช้งาน คล้ายสัตว์ป่าที่ยังไม่เชื่อง เอาไปใช้ไม่ได้ ช้างเราเอามา ใช้ขี่เข้าไปในเมืองมันต้องเชื่องแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไปเหยียบรถยนต์เขาเสียหาย ฝึกให้มันเชื่องแล้วเอาไปใช้งานได้ ม้าวัวควายลิงก็เหมือนกัน

คนก็เหมือนกันจะเอาออกสนามมันต้องเก่งเชื่อง จิตเราก็ต้องฝึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีวิธีฝึก เช่น ว่า สมถะ กำหนดลมหายใจเข้าออก ให้มานึกอยู่ที่ลมเข้าออก ให้จิตมันนึกอยู่อย่างเดียว ให้มีสมาธิอยู่ในเรื่องลมแล้วนานๆ มันก็สงบได้ เป็นสมาธิ เราไปใช้อะไรก็ได้


เราอาจจะนึกว่า ไม่ต้องฝึกสมาธิก็ได้ เพราะไม่ต้องการมรรคผลนิพพาน มันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องการให้มันเกิดสมรรถภาพทางจิต ให้เกิดความสงบในเรื่องใหญ่ อันนี้ เราอยู่ในสังคมที่วุ่นวาย มีอะไรรบกวนอยู่เสมอ จิตมันต้องมีสมาธิ ทำงานการจะดีได้ก็ต้องมีสมาธิมั่นคง ไม่มีสมาธิบวกเลขผิด มันก็ขาดทุน ใส่ศูนย์ผิดตัวเดียวตายแล้ว ๔๐๐ กลายเป็น ๔,๐๐๐ เราก็แย่ เสียเงินกันงอมแงมเท่านั้น ไม่ว่าทำอะไรผิดพลาด เพระว่าจิตไม่เป็นสมาธิ


คนที่มีจิตเป็นสมาธิเขาจะทำอะไรได้ทุกๆแห่ง แม้อยู่ในท่ามกลางเสียงอึกทุกครึกโครม เขาก็ไม่หวั่นไหว เขานั่งทำงานได้เป็นปกติ เขาจะไม่มีความรำคาญเพราะเสียงเหล่านั้น เพราะเขาเจนกับเรื่องนี้กับเรื่องงาน มีสมาธิอยู่ในงาน ความรำคาญมันก็ไม่มี มันได้ประโยชน์ในการที่จะเอาไปใช้งาน
ยิ่งเป็นนักเรียนนักศึกษามีสมาธิ มันก็เรียนหนังสือเก่ง เรียนดี แล้วก็ประหยัดเวลา อ่านหนังสือเที่ยวเดียวรู้เรื่อง มีเวลาเยอะ คนไม่มีสมาธิ อ่านเที่ยวเดียวไม่รู้เรื่อง เพราะเวลาอ่านใจมันฟุ้งซ่าน

ตาดูหนังสือแต่ใจมันไปไหนก็ไม่รู้ เราต้องคอยเฝ้าดูใจของเราไว้ ว่ามันไปไหน เราไปนั่งดูที่นั่งๆมานั่งแล้วก็รู้ว่าแหมมันไม่ไหวเลย ไม่หยุดเลย ที่ไม่หยุดมันวิ่ง มันไปเรื่อยของมัน ไม่หยุดหย่อน เราต้องคุมให้มันหยุดแล้วจะดีขึ้น

เด็กๆเอามาฝึกสมาธิ แล้วมันจะดีขึ้นเยอะ เรียนหนังสือจะเก่งขึ้น สอบไล่จะได้คะแนนดี แต่หลายคนไม่เห็นประโยชน์ของเรื่องนี้เท่าไรเลย ไม่สนใจ นึกว่าไปเจริญภาวนาแล้วจะไปเข้าป่าเข้าดงไปเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น นั่นมันอีกพวกหนึ่ง เป็นพวกเจริญภาวนาเพื่อปรินิพพานนั้นพวกหนึ่ง
พวกที่เจริญภาวนานี่เอากำลังจิตไปใช้ในชีวิตฆราวาสก็มี มันเป็นประโยชน์ที่ควรจะสนใจฝึกฝนไว้


เราบวชเข้ามา หลักของเราก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา) ต้องทำให้ครบ รักษาศีลอยู่ แล้วต้องไปเจริญสมาธิ คิดค้นเพื่อให้เกิดปัญญา ต้องทำให้ครบ ถ้าไม่ครบก็เรียกว่าบวชไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ฝึกสมาธิ (ฝึกจิต) เรียกว่า เจริญภาวนา

ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา จุดหมายอย่างนั้น เพื่อฝึกจิตให้มีสมรรถภาพในการงานอันเป็นหน้าที่ของเราต่อไป เพื่อฝึกจิตให้มีกำลังต่อต้านสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ
ถ้าเราฝึกสมาธิไว้เราแก้ได้ไว ฝึกสติไว้มันก็ไว เห็นอะไรไม่ชอบ เพลิดเพลิน ก็รู้สึกกลับใจได้ วิธีมันมีอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2018, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ ข้อที่ ๔ ต่อไปว่า อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ เป็นบุญ ประพฤติถ่อมตนนี้เป็นบุญ อ่อนน้อมถ่อมตน
บุคคลใดมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตายไปแล้วก็เป็นสุข มันสุขจนกระทั่งหมดลมหายใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตนมันตรงกันข้ามกับความแข็งกระด้าง ความดื้อถือดี
คนหัวดื้อคนมีมานะคนแข่งดีไม่อ่อนน้อมใคร พวกนั้นอ่อนน้อมไม่เป็น แข็งตลอดเวลา ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เรามันก็หนึ่ง ไอ้แบบนั้นไม่ได้ อ่อนน้อมถ่อมตนนี่มันดี
อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อมไปบ้าง คนเจริญกว่าเราโดยวัย แก่กว่า โดยอายุ โดยชาติ พระราชา นี่เรียกว่าชาติวุฒิ ผู้ที่มีคุณงามความดี คุณวุฒิสูง มีอาวุโสกว่าเรา เราก็ต้องอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมทำให้เป็นเสน่ห์น่ารัก น่าพอใจ ความแข็งกระด้างไม่เป็นที่พอใจของใคร

เราเข้าไปหาใครนี่ เราแสดงความอ่อนน้อมไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ว่าเป็นคุณแก่ตัวเราเอง สุนทรภู่จึงเขียนไว้ว่า เป็นผู้น้อยคอยก้มประนมกร เหนื่อยไปก่อนค่อยสบายเมื่อปลายมือ

เราเป็นผู้น้อยต้องอ่อนน้อมไว้ อ่อนนี่มันเข้าคนได้ แข็งนี่เข้าไม่ได้ ของอ่อนนี่เข้าใครได้ทั้งนั้น ของแข็งมันเข้ากับใครไม่ได้ อย่าไปมีทิฏฐิมานะว่าเรามันก็หนึ่งเหมือนกัน ว่าเรามีความรู้ เรามันไม่ก้มหัวให้ใคร มีเรื่องทั้งนั้นไอ้พวกไม่ก้มหัวให้ใคร ไปอยู่ที่ไหนมันลำบาก ไม่ได้เรื่อง เพียงแต่ว่าเราจะไปของานเขา เราไม่มีความอ่อนน้อมเขาไม่รัก เขาเห็นเขาก็เกลียด เดินทื่อๆ ยกมือไหว้แล้วไม่อ่อนน้อม อ่อนน้อมมันต้องพร้อมกาย วาจา ใจ เช่นเราไหว้คน คนบางคนยกมือไหว้ ไหว้แข็งๆ หัวไม่ก้มยกแต่มือ ยกทำท่าจะเฉียงหัวไป มันไม่ได้เรื่อง การไหว้อ่อนนั้นมันต้องยกมือไหว้แล้วก้มหัว ตัวมันต้องก้มลงไปด้วย อ่อนไปด้วย
คนญี่ปุ่นนี่แข็งแรงแต่อ่อน มันอ่อนน้อมถ่อมตน คำนับอีก คำนับ ต่างคนต่างคำนับกัน พอเจอคนโน้นคำนับกันอีก คำนับกันอยู่ตั้ง ๕-๖ ครั้ง กว่าจะหยุดกันได้ เขาหัดมาอย่างนั้น อ่อนน้อมต่อพ่อแม่ ต่อครูบาอาจารย์ ต่อเจ้านาย ต่อผู้มีอาวุโสในหน้าที่การงาน เหมือนกับพระที่เขาทำวัตรกันนั่นอ่อนมาก อาจารย์เคาะ เก๊ง เก๊ง ออกมามองมาถึงหมอบเลย คอยฟังคำสั่ง อาจารย์จะสั่งอย่างไรก็หมอบอยู่อย่างนั้น พออาจารย์สั่งเสร็จแล้วต้องเอาหัวโขกกับพื้น ๓ ที แล้วลุกขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไอ้ตอนทำงาน ทำงานเข้มแข็ง แข็งเรื่องาน แต่ว่าต่อหน้าคนแล้วอ่อน มันมีระเบียบ

ความอ่อนน้อมมันสร้างระเบียบ ความแข็งกระด้างนี้มันไม่สร้างระเบียบ เพราะอะไร คนแข็งนี้ไม่ยอมเชื่อฟังใครทั้งนั้น ไม่อ่อนน้อมยอมให้ใคร มันก็แข็งเลย ไม่มีระเบียบ คนที่มีระเบียบนั่น คือคนที่อ่อนน้อมอ่อนโยน คนอ่อนโยนนี้มีระเบียบ ไปไหนก็ถือระเบียบแบบแผนไว้ มันก็เรียบร้อย เราจึงต้องฝึกหัดเรื่องนี้ เราต้องฝึกหัดไว้หน่อย บางทีใจมันกระด้างๆแข็งๆ ไม่ค่อยอ่อน เราก็หัดเป็นคนอ่อนๆ เสียบ้าง รู้จักก้ม รู้จักกราบ รู้จักไหว้ พูดจาอ่อนน้อม ใช้คำพูด ให้เหมาะให้ควร

ความอ่อนน้อมนี่ชะนความแข็งได้ แข็งต่อแข็งมันชนะกันไม่ได้ แหลกทั้งคู่ แต่อ่อนชนะ คำโบราณเขาพูดว่า ให้ทำตนเหมือนไม้จันทร์ ไม้จันทร์ยิ่งทุบยิ่งหอม เอาค้อนทุบลงไปมันก็มีกลิ่นออกมา หอม คนเราไปไหนให้เหมือนไม้จันทร์ อ่อนให้ดูรวงข้าวในนา รวงข้าวรวงไหนที่ก้มมากมีเม็ดมาก ไอ้ที่ก้มมากมีเม็ดมากนี้ ก้มโค้ง ถ้าชี้นี่ไม่ได้ความ ลีบๆ แล้วก็มีพยาธิ ให้ม้ากินวัวกินก็ไม่กิน ขม แต่รวงข้าวที่โค้งนี้มันมีเม็ดมาก ชาวนาเอาไปเก็บไว้ในยุ้งในฉาง มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน อ่อนนี้ชนะคนแข็งได้

อ่านสามก๊กตอนเล่าปี่ไปหาขงเบ้ง เล่าปี่ไปเจอใครท่าทางภูมิฐาน ก็ยกมือไหว้ทั้งนั้น คำนับเรื่อยไป ไม่ว่าคนผิดก็ไหว้ ผลที่สุดก็ไปที่ขงเบ้ง ขงเบ้งนอนเฉย ลองใจไม่ใช่เรื่องอะไร บอกว่ากำลังหลับให้คนใช้มาบอก ไปถึงสำนักแล้วเขาบอกว่าหลับแล้วคอย ไม่เข้าไปกวนให้สะเทือนใจ มาใหม่ มาอีก มาวันนั้นหิมะตก ฝนตก
เตียวหุยแกเป็นคนใจร้อน ไอ้ลูกบ้านนอกจะไปเอาอะไรมันหนักหนา เอาเชือกผูกคอมันลากออกมาก็ได้
เล่าปี่บอกว่า น้องอย่าคิดอย่างนั้น จะไปเอาหัวใจเขามันต้องประคับประคองหน่อย ไม่ใช่ไปเอาเนื้อ เอาเนื้อมันง่ายหน่อย ผูกลากเอาก็ได้ดอก หัวใจนี่ลากมาไม่ได้ ทนหน่อยซิ ไปอย่างนั้นต่อไป
วันนั้นไปถึง ขงเบ้งก็นอนหลับ ทำแกล้งหลับ
เล่าปี่ไปยืนอยู่แทบเท้า ไปยืนอยู่ครึ่งวัน ยืนอยู่แทบเท้าขงเบ้ง เด็กจะเข้าไปปลุกบอกว่าอย่าเข้าไปปลุก ว่าอาจารย์จะพักผ่อน ฉันคอยได้ ความจริงไม่ได้หลับ ได้ยินทุกคำพูด นอนแกล้งคลุมหัวอย่างนั้น
เล่าปี่ก็ไปยืนอยู่อย่างนั้นละ พอขงเบ้งลืมตาก็ว่า ใครมายืนอยู่นี่ ก้มอ่อนน้อม กราบแล้วก็ไหว้ด้วยความอ่อนน้อม

เล่าปี่เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่คนธรรมดา ไปอ่อนน้อมต่อลูกชาวนา แสดงว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปถึงก็กราบไหว้ ขงเบ้งถามว่าท่านคือใคร ข้าพเจ้าชื่อว่าเล่าปี่ มาหาท่านอาจารย์ พอได้ยินก็ลุกขึ้นทันที ขอโทษท่านผู้มีเกียรติมาหาข้าพเจ้ามีธุระอะไร ต้องการเชิญไปเป็นที่ปรึกษาราชการเมือง บ้านเมืองเวลานี้มันยุ่งยาก ยกแผนที่มากางเล่าให้ฟังว่า มันต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ผลที่สุดได้ตัว ไปตัวเปล่าไม่ได้เอาอะไรไป นุ่งกางเกงกับเสื้อไปเลย ทรัพย์สมบัติไม่ยุ่ง นี่ความอ่อนชนะความแข็ง ของอ่อนมัดของแข็งได้ ของแข็งมัดของอ่อนไม่ได้ เอามามัดเส้นไหมไม่ได้ มันแล้วมันลอดออกมาได้ มันแข็งนี่ ไอ้ของอ่อนมันมัดแน่นเลย อ่อนชนะแข็ง อ่อนชนะทุกอย่าง ความอ่อนโยน

เพราะฉะนั้น ต้องฝึกไว้ ฝึกหัดการอ่อนโยนต่อคนทุกคนที่เราได้พบ พูดจาอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าอวดรู้ อย่าอวดดี อย่าอวดเก่งกับใคร ทำตนว่าเราไม่รู้ไว้มันจะดี เรียกว่า อมภูมิ ยังไม่ทราบว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร ฟังเขาดูก่อน เขาพูดไปแล้วเราค่อยแสดงออกทีละน้อย เราไม่ข่มเขา แสดงออกก็ไม่ข่มเขา เราทำเป็นคนรู้น้อย ทำเป็นคนอ่อน มันเอาตัวชนะได้ นี่คือกุศโลบาย อ่านหนังสือเรื่อง “กุศโลบาย” เสียบ้าง กุศโลบายของหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ เป็นเนื้อเรื่องน่าอ่าน กุศโลบายเป็นอุบายผูกมิตรจูงใจคนหรือของเดลคาเนกี้ วิธีชนะมิตรจูงใจคน มีเรื่องอ่อนน้อมอยู่ทั้งนั้น ไม่มีเรื่องแข็ง ไม่มีเรื่องอวดดี ไม่มีเรื่องความแข็งกระด้าง อยู่ที่เรื่องอ่อนโยนทั้งนั้น

ของพระพุทธเจ้ามีแล้วทั้งนั้น ใช้วิเศษ ความอ่อน เอาไปใช้ได้ทั้งนั้น คือ มนุษย์เรามันชอบใหญ่ ทางจิตวิทยามนุษย์ชอบใหญ่ชอบโต ถ้าเราเล็กใช้ได้ ถ้าเราใหญ่เขาไม่ชอบ มนุษย์ไม่ชอบให้ใครใหญ่กว่าตัว เราจะใช้เขาต้องอ่อนเข้าไว้ ฝากเนื้อฝากตัว ใช้คำพูดให้เหมาะๆ เรื่องนี้ไม่เห็นจะมีใครจะดีกว่าใต้เท้าจะช่วยเรื่องนี้ได้ เขาดีใจ เขาภูมิใจที่เราให้เกียรติเขา แล้วเราก็ใช้เขาได้ เขาว่าไม้ซีกเอาไปงัดไม้ซุง ไม้ซีกคือความอ่อนน้อมเอาไปงัดไม้ซุงได้ เอาความอ่อนน้อมเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุงได้ เหมือนเอาไม้จิ้มฟันอันเล็กๆ ไปงัดไม้ใหญ่ได้ งัดด้วยความอ่อน งัดได้ อ่อนแล้วเขายอม แข็งต่อแข็ง ถ้าเราเข้าไปหาแล้วมันพังทุกราย อ่อนเข้าได้ทั้งนั้น อ่อนน้อมตัวนี้เป็นหลักสำคัญ

พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นคนอ่อนน้อม เพราะฉะนั้น พรที่เราให้ทุกเช้า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ - ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ คือกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ นี่เสกกันทุกวัน นิสัยคนไทยเรามันจึงอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง มีคนไทยแข็งกระด้างนั้นพวกแอ็บนอร์มอน ผิดปกติพวกนั้น ปกตินิสัยคนไทยเราคนอ่อนน้อม เพราะได้รับการเสกจากพุทธภาษิตนี้มานานเหลือเกิน นี่เป็นบุญข้อหนึ่ง เรียกว่า อปจายนมัย บุญเกิดจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ ๕ เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ. กิจกรรมทั้งหลาย ที่เพื่อนมนุษย์กระทำอยู่ เราอย่าดูดาย มีอะไรพอจะช่วยเหลือได้ช่วย ช่วยด้วยอะไร ช่วยด้วยออกแรง ช่วยออกความคิด ช่วยด้วยปัจจัยสนับสนุนได้ทั้งนั้น ให้ช่วยได้ทั้งนั้น การช่วยเหลือแก่กันนั้นเป็นบุญอันดีอันหนึ่งที่ควรกระทำ บุญอย่างนี้ไม่ต้องลงทุนอะไร ลงทุนคือการช่วย ยิ่งช่วยแรงไม่ต้องลงทุน มีอะไรมีแรงช่วย ยิ่งช่วยยิ่งได้แรงเพิ่ม คนออกกำลังกายได้กำลังเพิ่มไม่ขาดทุนอะไร อย่าเป็นคนดูดาย ในเมื่อเห็นเขาทำอะไรก็ไปช่วยเขา เรียกว่าขวนขวายในกิจที่ชอบ

เราหัดอย่างนั้น อย่าเป็นคนดูดาย อย่าให้ใครใช้ ทำอะไรอย่าให้ใครใช้ ใช้ตัวเราเอง เห็นอะไรที่พอจะทำได้ทำ นั่นแหละบุญ ให้เขาใช้ทำมันไม่เป็นบุญ เพราะว่าเขาใช้เรา เราทำตามเขาใช้ แต่ว่าความสำนึกในใจมันเกิดขึ้นว่า เราควรทำ ทำได้ทั้งนั้น เห็นอะไรมันไม่ดีมาทำมาจัด ว่างเราก็มาทำ
สมมติว่าพื้นที่เรานั่งดูมันมีขี้ฝุ่น เราก็มาถูโดยไม่ต้องให้ใครใช้ เช็ดกระจกไม่ต้องมีใครใช้ เห็นขี้ฝุ่นมันอยู่ตรงไหน มากวาดโดยไม่ต้องมีใครใช้ ฯลฯ นั่นแหละคือใจบุญในแง่ไวยาวัจมัย ไวยาวัจมัยในแง่ความช่วยเหลือ ในกิจกรรมที่ชอบที่ควร ถ้าได้เห็นใครทำอะไร เราพอจะช่วยได้เราก็ช่วย ไม่เป็นการเสียหาย แต่เป็นการผูกมิตรกับคนที่เราเข้าไปช่วย

ถ้าอยากจะได้มิตรได้เพื่อนต้องไวยาวัจมัยช่วยเหลือไม่ดูดาย ไม่เมินเฉย ช่วยกัน ช่วยอย่างนี้ ทุกแง่ทุกมุม เราขับรถไปเห็นคนเขารถเสีย มีน้ำใจก็หยุดหน่อย มีอะไรจะให้ผมช่วยเหลือบ้างครับ นี่ไวยาวัจมัย ฯลฯ สมัยเด็กๆ นี่เขาหัดให้ช่วยเหลือคนแก่ คนแก้หิ้วของมาเราเข้าไปหา ผมช่วยถือให้คุณยาย ก็กลายเป็นคนที่คุณยายรักขึ้นมา เราได้คนรักอีกคน คุณยายรักเรา คุณป้ารักเรา คุณพี่รักเรา ต้องเข้าไปช่วยได้เพื่อนได้ฝูง

เพราะฉะนั้น ไวยาวัจมัย นี้ เป็นการแสดงน้ำใจต่อเพื่อมนุษย์ แล้วก็จะได้เป็นมิตรเป็นสหายกัน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไปในกาลข้างหน้า เราเรียกว่าให้รู้จักฝากตัว คนโบราณเขาสอนว่าไปไหนให้รู้จักฝากตัว ฝากตัวนี้ก็คือเข้าไปรับใช้ทำงานทำการ นี้เรียกว่า ฝากเนื้อฝากตัว ถ้าเราไม่รู้จักให้ใครใช้ มันจะได้รับอะไรกัน หลักการมันว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ให้ฝึกฝนในเรื่องนี้ไว้ แล้วก็จะได้รับประโยชน์ตอบแทน บุญมันช่วยนี่ บุญที่เราช่วยคนอื่นนั้น มันย้อนกลับมาช่วยเราทีหลัง ทำให้ไม่เกิดปัญหาชีวิต ไม่เกิดความทุกข์ เพราะบุญมันช่วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร