วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 31 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 14:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คนเรา..มีเหตุผลมากมาย...อาจต่างกันบ้าง..เหมือนกันบ้าง..แต่การกระทำที่เห็นอาจเหมือนกัน..(ในที่นี้..ในลานนี้..คือ..เรามาศึกษาพระธรรม..เหมือนกัน)..

ก็อยากจะพูดคุยเล่นๆ..ง่ายๆ...ด้วยคำถามว่า..

เพื่อนๆ..มาศึกษาพระธรรมคำสอน..เพื่ออะไรกันบ้างครับ?

คนถาม..ตอบก่อนเลย..นะครับ..

ของกระผม...มีเหตุผลเดียวสั้นๆ..นะครับ..คือ..ไม่อยากทุกข์อีก..

http://larndham.org/index.php?/topic/44 ... ntry819427

กบนอกกะลาเป็น จขกท. มีวลีน่าสนใจ "ไม่อยากทุกข์อีก" โดยเฉพาะคำว่า ทุกข์ จึงได้โอกาสตั้งกระทู้ อริยสัจ ๔ นี้ ซึ่งนำมาจากหนังสือ (หน้า ๔๙๑) เล่มนี้

http://g-picture2.wunjun.com/6/full/9d4 ... s=614x1024

ซึ่งท่านพูดอธิบายง่ายๆไม่วิชาการมากนัก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 14:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(เฉพาะคคห.นี้ ตัดจากหนังสือพุทธธรรมหน้า ๑๖๐ มา ให้เห็นทุกข์ด้านลึกทั้งเข้าใจยากขึ้น)


คำสรุปของปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่าหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด เป็นกระบวนการเกิดดับของทุกข์ หรือหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด มีความมุ่งหมายเพื่อแสดงความเกิด-ดับของทุกข์เท่านั้นเอง

คำว่าทุกข์ มีความสำคัญและมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ไตรลักษณ์ และอริยสัจ ก็มีคำว่าทุกข์เป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงควรเข้าใจคำว่าทุกข์กันให้ชัดเจน

เมื่อศึกษาคำว่า ทุกข์ ในพุทธธรรม ให้สลัดความเข้าใจแคบๆ ในภาษาไทยทิ้งเสียก่อน และพิจารณาใหม่ตามความหมายในพุทธพจน์ ที่แบ่งทุกขตา (ภาวะแห่งทุกข์) เป็น ๓ อย่าง (ในพระไตรปิฎก แสดงไว้เพียงชื่อข้อธรรม ไม่ได้แสดงความหมาย) พร้อมด้วยคำอธิบาย ดังนี้

๑. ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่สบาย เจ็บปวด เมื่อยขบ โศกเศร้า เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ ที่เรียกกันว่า ทุกขเวทนา (ความทุกข์อย่างปกติที่เกิดขึ้น เมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งกระทบกระทั่งบีบคั้น)

๒. วิปริณามทุกขตา ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่แฝงอยู่ในความผันแปรของสุข คือ ความสุขที่กลายเป็นความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เพราะความแปรปรวนกลับกลายของมันเอง (ภาวะที่ตามปกติ ก็สบายดีเฉยอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์อย่างใดเลย แต่ครั้นได้เสวยความสุขบางอย่าง พอสุขนั้นจากลงหรือหายไป ภาวะเดิมที่เคยรู้สึกสบายเป็นปกตินั้น กลายเป็นเป็นทุกข์ไป เสมือนเป็นทุกข์แฝง ซึ่งจะแสดงตัวออกมาในทันทีทีความสุขนั้นจืดจางหรือเลือนลางไป ยิ่งสุขมากขึ้นเท่าใด ก็กลับกลายเป็นทุกข์รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เสมือนว่าทุกข์ที่แฝงขยายตัวตามขึ้นไป ถ้าความสุขนั้นไม่เกิดขึ้น ทุกข์เพราะสุขนั้นก็ไม่มี แม้เมื่อยังเสวยความสุขอยู่ พอนึกว่าสุขนั้นอาจจะต้องสิ้นสุดไป ก็ทุกข์ด้วยความกังวล ใจหายไหวหวั่น ครั้นกาลเวลาแห่งความสุขผ่านไปแล้ว ก็หวนระลึกด้วยความละห้อยหาว่า เราเคยมีสุขอยางนี้ๆ บัดนี้ สุขนั้นไม่มีเสียแล้วหนอ)

๓. สังขารทุกขตา ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ สภาวะของตัวสังขารเอง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัยได้แก่ ขันธ์ ๕ (รวมถึงมรรค ผล ซึ่งเป็นโลกุตรธรรม) เป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการสลายหรือดับไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง อยู่ในกระแสแห่งเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์ (ความรู้สึกทุกข์หรือทุกขเวทนา) แก่ผู้่ไม่รู้เท่่าทันต่อสภาพและกระแสของมัน และเข้าไปฝืนกระแสอย่างทื่อๆ ด้วยความอยากความยึด (ตัณหาอุปาทาน) อย่างโง่ๆ (อวิชชา) ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา

ทุกข์ข้อสำคัญ คือข้อที่ ๓ แสดงถึงสภาพของสังขารทั้งหลายตามที่ มันเป็นของมันเอง แต่สภาพนี้จะก่อให้เกิดความหมายเป็นภาวะในทางจิตวิทยาขึ้นได้ ในแง่ที่ว่า มันไม่อาจให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์ และสามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้เสมอแก่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เข้าเรื่อง

อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘

วันนี้ จะพูดเรื่องสำคัญ คือ เรือง อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ เรื่องมันควบคู่กันอยู่ เพราะฉะนั้น พูดกันเสียทีเดียว

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ เรามาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับปฐมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน คือการเทศน์ครั้งแรกของพระผู้มีพระภาคนี่ ควรจะรู้ว่าพระองค์เทศน์เรื่องอะไร

พระสูตรแรกที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า สูตรที่ยังจักรคือธรรมให้เป็นไป ถ้าพูดฟังกันแบบง่ายๆก็หมายความว่า หมุนล้อธรรมจักร

ธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีเครื่องหมายคือ วงล้อธรรมจักร เป็นเครื่องหมายแทน เวลาพระพุทธเจ้าไปเทศน์ครั้งแรก เขาทำภาพวงล้อ กับ กวาง ๒ ตัว เป็นเครื่องหมาย วงล้อกับกวางนั้น เป็นเครื่องหมายแทนปฐมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า


ทีนี้ ปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เริ่มต้นก็ด้วย เล่าให้ฟังก่อนนิดหน่อย ว่าเรื่องที่พระองค์ได้ไปแสดงนั้นมีอะไรบ้าง ชั้นแรก เมื่อตรัสรู้แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพิจารณาเห็นว่า เรื่องที่พระองค์ได้ตรัสรู้นี่เป็นของลึก ยากที่คนธรรมดาสามัญจะพึงเข้าใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง คนที่มีกิเลสบังดวงตาอยู่นั้นอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ แต่ภายหลังมาทรงเห็นดอกบัวในสระว่ามันมีอยู่ ๔ เหล่า คือ ดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ จะบานพอรับแสงอาทิตย์ทันทีในเมื่อรุ่งขึ้น
ดอกบัวใต้น้ำที่จะบานต่อไป
ดอกบัวที่จะบานได้
และดอกบัวที่ไม่บาน
ดอกบัวมี ๔ เหล่า ดอกบัวที่จะบานทันที ดอกบัวที่จะบานในวันต่อไป ดอกบัวที่จะบานได้ และดอกบัวที่ไม่บาน คือดอกบัวเน่าเป็นเหยื่อปลาเหยื่อเต่าต่อไป
เมื่อเห็นดอกบัวเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงนึกว่า มนุษย์ในโลกนี้น่าจะมีเหมือนดอกบัว คือ คนมีปัญญา พูดอะไรก็เข้าใจได้ทันที มีอยู่
พวกที่อธิบายย่อๆ ก็เข้าใจได้ มีอยู่
พวกที่จะต้องอธิบายกันยาวๆจึงจะเข้าใจ มีอยู่
พวกที่สอนไม่ไหวดึงไม่ได้ ก็มีอยู่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จึงตัดสินพระทัยว่า ต้องไปทำการสอนเพื่อประโยชน์แก่คนทั้ง ๓ เหล่า คือ พวกที่จะรู้ได้นั่นเอง แล้วก็ทรงคิดว่าจะไปสอนใครก่อน สอนครั้งแรกที่เป็นการทดสอบว่าเขาเข้าใจไหม ก็คือว่า จะไปสอนพวกนักบวชด้วยกันก่อน เพราะพวกนักบวชนั้นได้อบรมบ่มอินทรีย์มาพอสมควรแล้ว
คำว่า “บ่มอินทรีย์” หมายถึง อินทรีย์ คือ พละ ๕ จำความหมายแล้วมันก็เข้าใจ บ่มอินทรีย์มาพอสมควรแล้ว ควรจะได้รับการสอนได้ แล้วคิดต่อไปว่าจะไปสอนใครก่อนในพวกนักบวชนี่

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 15:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งแรกก็คิดถึง อาฬารดาบส อุทกดาบส เพราะทรงเคยเป็นศิษย์ไปอยู่ในสำนักนั้น แล้วก็เป็นผู้มีปัญญา ไปสอนก็คงเข้าใจ แต่ได้ทราบว่าทั้ง ๒ ท่านตายแล้ว ก็คิดไปถึง พวกฤๅษี ๕ ตน ซึ่งเคยร่วมบำเพ็ญความเพียรมาด้วยกันในที่หลายแห่ง อยู่มาด้วยกันหลายปี ห้าตนนั้น คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็นฤๅษี เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ หมายความว่า พวก ๕

พระองค์เห็นว่าพวกทั้งห้านั้นมีอินทรีย์แก่กล้า ควรแก่การบรรลุมรรคผล จึงนึกว่าต้องไปสอนห้าคนนี้ก่อน ก็พิจารณาว่าท่านเหล่านี้หายไปนานแล้ว น่าจะไปอยู่เมืองพาราณสี ทำไมพระองค์คิดอย่างนั้น ? เพราะเมืองพาราณสีนั้น เป็นศูนย์กลางแห่งการจาริก เป็นบุญยสถานที่ชาวอินเดียจะต้องไปกัน ก็คงจะไปอยู่แถวแม่น้ำคงคา ไปสะสางบาปอยู่ที่นั่นละ พระองค์ก็คิดว่าต้องไปหาที่นั่น เลยเสด็จออกจากพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ เดินขึ้นไปทางเหนือเพื่อจะไปเมืองพาราณสี
ระยะทางจากคยาไปเมืองพาราณสีนี้ ถ้านั่งรถไฟก็ ๕-๖ ชั่วโมง พระองค์ก็เดินไป ในสมัยนั้น ลัดเลาะไปตามริมฝั่งน้ำตามอะไรเรื่อยๆ ไปถึงเมืองกาสี ซึ่งเป็นแขวงเมืองของพาราณสีนั่นเอง แล้วก็หลบออกจากตัวเมืองไปที่สวนกวางของพระเจ้าเมืองพาราณสี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อไปถึงบริเวณสวนนั้น พบปัญจวัคคีย์ทั้งห้า แต่ว่าท่านทั้งห้า เมื่อเห็นพระองค์ก็ไม่ชอบใจ ไม่เสื่อมใสอะไร เพราะนึกว่าเป็นผู้คลายความเพียร เวียนไปสู่ความมักมาก คงไม่ได้เรื่องอะไร
พระองค์ได้ทำความเพียรด้วยกัน ทำกันอย่างหนัก เอาจริงเอาจัง แต่พระองค์เห็นว่ามันไม่ได้เรื่อง เลยเลิกเสีย
พวกห้าท่านั้นยังยึดมั่นอยู่ในการทำความเพียรแบบทรมานตน พระองค์ก็เห็นว่ามันไม่ได้เรื่องก็เลยเลิกเสีย

พวกนั้นไม่ยอมเลิก แต่หนีไปเสียไม่อยู่ด้วย แล้วก็คิดว่าถ้าขืนอยู่ไปก็ไม่ได้เรื่องอะไร อยู่กับคนโลเลนี่คงไม่ได้เรื่องอะไร คิดอย่างนั้น ไม่เข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์เลยหนีไป ครั้นไปเจอะกันเข้า ทั้งห้าก็บอกว่าโน้นๆ มาอีกแล้ว ถ้าจะไม่ได้ความอะไร มาหาพวกเราอีกแล้ว ดูหมิ่นน้ำใจ แล้วก็พูดว่ามาก็มา เราอย่าต้อนรับ แต่ว่าปูอาสนะไว้หน่อย ท่านจะนั่งก็จะได้นั่ง ก็สัญญากันว่าจะไม่รับ ว่าอย่างนั้นแหละ

ครั้นพระองค์เดินเข้าไปใกล้ ความที่เคยปฏิบัติมาในสมัยก่อน ก็ลุกขึ้นไปรับบาตร รับจีวรตักน้ำล้างเท้า ไปปัดขี้ฝุ่นที่อาสนะ เผื่อว่ามันจะมีอะไรอยู่บ้าง พระองค์ก็นั่ง แต่ว่าท่านเหล่านั้นใช้ถ้อยคำไม่เคารพ คือใช้คำว่า “อาวุโส” ซึ่งพูดกันอย่างเพื่อน

พระองค์ก็เลยตรัสบอกว่า อย่าใช้ถ้อยคำอันนั้นกับเราผู้ตถาคต เพราะเราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว

ท่านเหล่านั้น ก็บอกว่า เฮ้อ เราไม่เชื่อดอก บรรลุอะไร ทำความเพียรกันมากมาก ไม่เห็นได้ หนีเลิกเสียแล้วจะไปได้อะไร พูดโยกโย้กันไปตามเรื่อง

ผลที่สุด พระองค์ก็บอกคิดดูให้ดี เราเคยพูดคำเช่นนี้กับท่านบ้างหรือไม่ พูดว่า เราได้บรรลุอมฤตธรรมนี่ เราได้พูดกับท่านบ้างหรือไม่

ท่านเหล่านั้น ก็มองตากัน เอ้อ ถ้าจะจริง ไม่เคยพูดนี่คำนี้ มาพูดคำนี้ ถ้าจะมีอะไรดีเสียแล้ว ก็เลยตกลงกัน เอ้า ฟังกันหน่อย มีเรื่องะไร ไหม ลองมาเล่าให้กันฟังหน่อยซิ พุดตามภาษาชาวบ้านก็ว่ากันอย่างนั้น ก็ตกลงว่าจะฟังธรรม

สถานที่ที่ฤๅษีทั้งห้าพบกับพระพุทธเจ้านั้น เขาได้สร้างเจดีย์ใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า เสาคันธีสถูป เจดีย์นั้น ก็ผุพังไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังขาร บนยอดนั้นต่อเป็นป้อมไว้ ๘ เหลี่ยมบนยอดเจดีย์ เสาคันธีสถูป
ตรงนั้นเป็นที่ที่ปัญจวัคคีย์พบกับพระพุทธองค์ในทางกาย คือพบร่างกาย ไม่ได้พบธรรมะ พระองค์ก็ได้ชวนท่านทั้ง ๕ นั้นไปกันต่ออีกหน่อยสักกิโลหนึ่ง ก็ไปถึงบริเวณสวนกวางร่มรื่น พระองค์ก็ประทับนั่ง นั่งใต้ต้นไม้ร่มรื่นสบาย แล้วก็แสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 16:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค เริ่มต้นไม่พูดถึงเรื่องอะไร พูดธรรมะกันเลยทีเดียว ในเรื่องธรรมจักร ฯ ก็ขึ้นต้นว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ฯลฯ บอกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสองทางอันบรรพชิตไม่ควรเสพ ฯลฯ ทางนั้นคืออะไร ? คือ กามสุขขัลลิกานุโยค หมายถึงการมัวเมาในกาม การมัวเมาในกามนี้ เพราะว่า ในสมัยนั้น พวกฤๅษีชีไพร แม้ออกไปอยู่ป่าบำเพ็ญพรต แต่บางทีก็มีครอบครัว มัวเมาในกาม ถือว่ากามนั้นเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ ถืออย่างนั้น
ถ้าเป็นอยู่อย่างนั้นแล้วมันไม่สำเร็จ พระองค์ก็ตรัสว่า กามสุขขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้หมกมุ่นในกามของนักบวชที่ใช้ไม่ได้


ทีนี้ การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า นี่เราจะเห็นว่า พระองค์ ยั่วอารมณ์ผู้ฟังอยู่เหมือนกัน ทำให้เกิดสนใจฟัง เช่น พระองค์บอกว่า กามสุขขัลลิกานุโยคนี่ไม่ดี ปัญจวัคคีย์ก็หูผึ่งทีเดียว เพราะว่า ปัญจวัคคีย์นั้น ไม่ได้มัวเมาในกามแล้ว ก็หูผึ่งอยู่ว่า เออ ถ้าจะเข้าที มีอะไรออกมาอีกก็ไม่รู้
ทีนี้ พูดอย่างนั้นแล้ว พวกนั้นสนใจฟัง พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า อัตตกิลมถานุโยค ก็ใช้ไม่ได้

อัตตกิลมถานุโยค คือการทำตนให้ลำบาก ได้แก่ การบำเพ็ญความเพียรต่างๆ ที่ทรมานร่างกาย เช่น ยืน ไม่นอนบ้าง ทำอะไรต่างๆ มันมากเรื่องที่เขาทำกันอยู่ในอินเดีย เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ไม่ดี ทั้งสองประการนี้ ไม่ได้เรื่องอะไร เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อญาณ เพื่อความสงบ เพื่อนิพพาน ไม่เป็นไปอย่างนั้น
พระองค์บอกว่า ไม่ควรปฏิบัติในทางสองทางนี้ นี่เรียกว่า เป็นการห้ามเสียก่อน พอเริ่มแสดงก็ปิดทางสองทางเสียก่อนว่าไม่ควรเดิน เพราะเป็นทางที่ไม่ตรง ไม่ถูก ปฏิบัติไปก็จะเหนื่อยเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร


ทางทั้งสองนี้ เป็นทางที่เขาปฏิบัติกันอยู่ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นทุกข์ เป็นอนริยะ คือไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ทางสองทางนี้ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อห้ามทางสองทางนี้แล้ว พระองค์ก็บอกทางใหม่ คือว่าเป็นทางที่ไม่กระทบกระเทือนกับทางสองอย่าง ไม่สุดโต่ง ว่าอย่างนั้น หย่อนไปก็ไม่ดี ตึงไปก็ไม่ดี ประกอบตัวมัวเมาในกาม เรียกว่า หย่อนยาน บำเพ็ญความเพียรแรงกล้าทรมานร่างกาย เรียกว่า ตึงไป
ทางสองทางนั้น ทางหนึ่งหย่อนยวบยาบ ทางหนึ่งตึงเปรี๊ยะเลย เหมือนกับจะขาดไปอย่างนั้น ไม่ไหว
พระองค์บอกว่าทางสองทางนี้ ใช้ไม่ได้ เราได้พบทางใหม่แล้ว เป็นทางสายกลางๆ ไม่หย่อนไม่ตึงเกินไป ซึ่งเรียกว่า เป็นทางสายกลาง ทางสายกลางนี่แหละเป็นทางปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง ความเห็นแจ้ง เพื่อความสงบ เพื่อนิพพาน เพื่อการหมดไปจากกิเลส

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า กตมา จ สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา บอกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วนั้น มีอะไรบ้าง ? ก็ได้ตรัสตอบบอกว่า มี สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การเจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรพยายามชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) รวมกันเข้าเป็นทางอันประกอบด้วยองค์แปด ทางทั้งแปดประการนี้ ทางประกอบด้วยองค์แปดตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ได้กระทำให้แจ้ง กระทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ดับร้อนได้อย่างแท้จริง นี่เรียกว่า ทางสายกลางที่พระองค์ประกาศให้ทราบ ว่ามีทางใหม่ เป็นทางตรงทางเดียว แต่ว่าประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นแนวทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ได้ นี้ตอนหนึ่ง

........

(อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั่น ย่นย่อมาเป็นภาคปฏิบัติจริง เหลือ ๓ ที่เรียก ไตรสิกขา คือ ศีล (อธิศีลสิกขา) สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) และปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 18:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนต่อไป พระองค์ก็ได้ประกาศ อริยสัจสี่ประการ (ข้อแรก คือทุกข์) ว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ในเรื่องทุกข์ อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจจะ แปลว่า ความจริง อริยสัจ ก็แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ

ความจริงอันประเสริฐมีแจก คือ ทุกข์ นี่เป็นข้อแรกที่ประกาศ เรื่องความทุกข์

ทีนี้พระองค์ แจกไปว่า ทุกข์น่ะ มีอะไรบ้าง ? ชาติปิ ทุกฺขา (ความเกิดเป็นทุกข์) ชราปิ ทุกฺขา (ความแก่ เป็นทุกข์) มรณมฺปิ ทุกฺขํ (ความตายเป็นทุกข์) ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย-ใจ ความเหี่ยวแห้งใจ ก็เป็นทุกข์ ความเป็นอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจก็เป็นทุกข์ ต้องการสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั่นก็เป็นทุกข์ รวมความว่า ขันธ์ ๕ ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นตัวทุกข์ นี่เรื่องความทุกข์ พระองค์พูดเรื่องความทุกข์ในเรื่องเหล่านี้ เรามาฟังกันต่อไป อธิบายมากหน่อย

ทุกข์อริยสัจ เป็นเรื่องแรกที่พระองค์ประกาศ คือชี้ผลปรากฏอยู่ให้เห็น เพราะว่าความทุกข์มันมีอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นผลปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ชี้ให้เห็นว่า ไอ้นี่ทุกข์ละ สิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อันนี้ เป็นตัวทุกข์ ความทุกข์นั่นแจกออกไปเป็นเรื่องหลายๆเรื่อง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 18:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชาติปิ ทุกฺขา - ความเกิดเป็นทุกข์ ที่ว่า “ความเกิดเป็นทุกข์” หมายความว่าอะไร ? เกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ ถ้าพูดธรรมดาทั่วๆไปนั้น ก็พูดว่าที่เกิดมานี่มันเป็นทุกข์ การพูดอย่างนั้น ยังไม่ถึงตัวธรรมะแท้ของ “ชาติ” เพราะว่าเรื่องเกิดนี่มันเกิดแล้ว เราเกิดมาจากท้องแม่นี่เกิดมาเสร็จแล้ว แล้วเราก็มีชีวิตจนบัดนี้ จะว่ามันเป็นตัวทุกข์ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นทุกข์นอก ไม่ใช่ทุกข์ใน ไม่ใช่ทุกข์ตัวจริง

ชาติทุกข์ตัวจริงนั้น ไม่ใช่หมายถึงความเกิดของร่างกาย แต่หมายถึงความเกิดของจิต จิตที่มีความเกิดความยึดมั่นถือมั่นคืออุปาทาน ในขณะใด ที่จิตเกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอะไรๆ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เรายึดมั่นในสิ่งใดก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเป็นทุกข์ได้ทันทีทีเดียว ความทุกข์แบบนี้เกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ถ้าเราตัดเหตุมันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่ว่า ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง เกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความว่า เกิดลูกมากๆแล้วมันก็เป็นทุกข์ มันก็ทุกข์ มันก็ทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นทุกข์ในอริยสัจจ์ มันทุกข์เรื่องลูกที่เราทำให้มันเกิดออกมามากๆ

แต่ว่าทุกข์ในอริยสัจจ์นั้น หมายความว่า เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น เราไปยึดมั่นถือมั่นในบุตร ในธิดา ในภรรยา ในทรัพย์สิน ในเงินทอง ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้น มันก็เป็นชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที

ลองไปพิจารณาดูเถอะไม่ว่าอะไร ของใหญ่ของเล็กก็ตาม ถ้าเราไปยึดมั่นว่าของฉันของกูขึ้นมาแล้ว มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที นี่เรียกว่า ชาติปิทุกขา.

ชาติปิทุกขาแบบนี้นี่ มันเกิดวันหนึ่งไม่รู้สักกี่ชาติ ที่เรียกว่า เกิดไม่รู้กี่ชาติ ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ วันหนึ่งเกิดเป็นหมื่นๆชาติ เกิดขึ้นเรื่อยละไม่หยุดไม่ยั้ง เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป มันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แล้วก็เป็นทุกข์เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ส่วนทุกข์ที่เกิดตายนั้นมันเป็นมาแล้ว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างการปฏิบัติแล้วประสบสภาวธรรมนี่ เทียบการอธิบาย ชาติปิ ทุกฺขา คคห. บน

ภาวนาแล้วตัวหายค่ะ เรียนปรึกษา

1.เราถือศีลเป็นปกติ

2.เราภาวนาเป็นปกติ (มีแว่บบ้างอะไรบ้างตามสไตล์ฆราวาส ยิ่งตอนนี้หย่อนมากค่ะ)

เราเริ่มการภาวนาจากการสวดมนต์ค่ะ เริ่มวันแรกตัวสั่นถามอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นปิติ เราก็ยังภาวนาต่อทีนี้เริ่มนั่งสมาธิด้วย

หลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน เรานั่งสมาธิและถือศีลแปดด้วยทำเป็นประจำ รวมทั้งนอนสมาธิด้วยค่ะ จนกระทั่งวันหนึ่ง...
เราภาวนาอยู่ทุกอารมณ์ ทุกลมหายใจ เราล้มตัวลงพักผ่อนขณะมองดูลมหายใจไปตัวก็หายไปค่ะ ตอนนั้นเราตกใจแล้วหลุดออกมา

เราก็ถามรุ่นพี่นะคะ ท่านบอกว่าคราวหน้าให้ดูย้อนตรงๆไปเลย แต่ใจเราบอกว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำไม่ได้แน่นอน ก็ละไปแต่รักษา ศีล สวดมนต์เอาค่ะ

วันหนึ่ง เราหลับเห็นแสงสว่างมากๆ ตั้งอยู่รอบข้างกว้างไพศาล พูดไม่ถูก เราก็มอง มันพูดยากมาก แต่เหมือนเราพิจารณาแสงนั้นแล้วมันทวนย้อน (อธิบายไม่ถูกจริงๆค่ะ) ตื่นมาก็อิ่มมาก ทุกอย่างกระจ่างไปหมด เบา สบาย

หลังจากนั้นเราได้งาน ก็เลยละภาวนาไปเยอะ แต่ก็ยังรักษาศีลอยู่

ต่อมาก็ยังมีอีกช่วงหนึ่ง เรามีเรื่องในชีวิตให้คิดไม่ตก รู้สึกเหมือนมีอะไรปั่นอยู่กลางอกแล้วดีดออก ปั่นๆแล้วดีดออก นอนก็ปั่นๆอยู่ทั้งคืน นอนไม่ได้เลย จนกระทั่งมันปิ๊ง! เหมือนตัดเรื่องนั้นขาดเห็นต้นเหตุ-การแก้ไข-การวาง (ตอนนั้นก็น้อมมาพิจารณาแหล่ะค่ะ) อะไรบางอย่างถึงจะยอมลงให้แล้วจะรู้สึกปลง ปล่อย

จนเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทำงานพาเราไปวัดค่ะ เพื่อบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ท้ายกระบวนการเขาก็ให้ขึ้นนั่งสมาธิเราก็นั่งข้างๆพัดลมเหล็กๆค่ะ

เราไม่ได้นั่งเอาจริงเอาจังเลยนะคะ ก็สักแต่นั่งตามลมไปแต่กลับรู้สึกว่าร่างกายใจหาย ทุกอย่างนิ่ง ตอนแรกได้ยินเสียงพัดลมแล้วเสียงพัดลมก็หายไป ดับนิ่งสนิท ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากเราก็ตกใจหลุดออกมา...แบบวู้บ...ทีนี้ร่างกายเราสั่นแบบควบคุมไม่ได้เลย นั่งสะท้าน จนเราไปขอให้หลวงพี่เล่าธรรมะให้ฟังถึงคลายลง

ขออนุญาตสอบถามค่ะว่าเราควรทำอย่างไรต่อไปดี ตอนนี้ตัวเราเค้าไม่เอาแล้ว...กลัว...แหยงๆ...ไม่แตะเลย รักษาศีลยังรักษาอยู่ แต่พอจะนั่งเหมือนเขาร้องว่าไม่เอาๆกลัว อยากให้ทราบว่ามันทรมานจริงๆค่ะเคยปฏิบัติได้ แต่ปฏิบัติไม่ได้กลัวอะไรก็ไม่รู้

เราอยากปฏิบัติต่อมากๆ...เราควรไปหาพระอาจารย์สักคนไหมคะเพื่อขอแนวทาง

รบกวนขอความกรุณาด้วยนะคะ อาจจะยาวแล้วก็คำประหลาดๆ แต่เราไม่รู้จะอธิบายยังไงดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2018, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

การปฏิบัติธรรมะเพื่อให้ดับทุกข์ได้ มันต้องดับที่ตัวนี้ ตัวที่ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เกิดอุปาทานขึ้นในใจนั่นเอง
ถ้าไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด เมื่อนั้นก็หมดทุกข์ ชาติทุกข์มันก็หายไป เรียกว่า ตัดชาติความเกิดออกไปได้ เพราะมันไม่เกิดแล้วไม่สืบต่อแล้ว นั่นเป็นการเกิดแบบทางอริยสัจ.

ส่วนการเกิดของทางร่างกายนั้น มันก็เป็นอยู่ตามเรื่องของมัน มันไม่เป็นความเกิด ไม่เป็นความทุกข์ในอริยสัจ ให้เข้าใจความเกิดในรูปอย่างนี้ไว้ การแก้ไขก็จะสะดวกขึ้น เพราะเรารู้ว่าความเกิดเป็นทุกข์มันอยู่ตรงไหน แล้วเราจะแก้อย่างไร เราก็แก้ให้ถูกปมถูกเงื่อน

แต่ถ้าแก้ว่าเกิดจากท้องแม่เป็นทุกข์ นี่มันแก้ไม่ได้แล้ว เพราะมันเกิดมาแล้ว เกิดมาเสร็จแล้ว ถ้าคิดว่าจะไปแก้ว่าอย่าไปให้มันเกิดอีก มันก็ยังไม่มาถึง มันไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา

การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่นี่ตรงนี้ แก้สิ่งที่มันเกิดขึ้นทันทีทันควัน แล้วมันก็เป็นทุกข์ทันทีทันควัน แล้วมันก็เป็นทุกข์เดือดร้อนทันที เราต้องแก้ไอ้ที่เป็นตัวนั้น เพราะฉะนั้น ชาติทุกข์ ต้องหมายถึงว่า ความเกิดขึ้นแห่งความยึดมั่นถือมั่นในอะไรๆก็ตามเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้เข้าใจอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2018, 17:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์นี่มันก็เหมือนกับความทรุดโทรม ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วทำไมเราไปเที่ยวแส่เป็นทุกข์เสียเล่า ก็เพราะเราไปนึกว่าร่างกายของเรา ร่างกายของกู
ถ้าเราไม่ไปคิดว่าร่างกายของเรามันก็ไม่มีอะไร มันก็ไปตามเรื่องของสังขาร มันเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่อง แตกดับไปตามเรื่อง
แต่เราไปยึดถือว่าร่างกายของฉัน ฉันแก่ ฉันเจ็บ ฉันไข้ ฉันเป็นอย่างนั้น ฉันเป็นอย่างนี้ เอาคำว่า “ฉัน” เข้าไปใส่ไว้ เอา “ตัวกู” เข้าไปเที่ยวฝากไว้เข้ากับเรื่องอะไรต่างๆ เลยก็เกิดความทุกข์ขึ้น ในเรื่องความแก่

เรื่องความแก่ใครๆก็รู้จัก ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เราก็ไม่เป็นทุกข์อะไร ผมหงอกเราไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เฉยๆ
ร่างกายเหี่ยวแห้งขึ้นมา เออ ธรรมชาติมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ ปลงอย่างนั้นมันก็ไม่ทุกข์ แต่เราไม่ปลงไม่วาง กลับไปเสียอกเสียใจว่า แหม กูแก่เสียแล้ว ไม่หนุ่มแล้ว เข้าสนามไม่ได้แล้ว มันก็สร้างความทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะความแก่อย่างนั้น แต่ที่เป็นทุกข์ก็เพราะไปนึกด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าเราแก่ จึงได้เกิดความทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2018, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มรณมฺปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ เรื่องความตายเป็นทุกข์นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราไปนึกว่า เราจะตาย มันก็ทุกข์ก่อนตาย ตายแล้วมันไม่มีอะไร เป็นท่อนไม้ ท่อนฟืน ไม่มีอะไร แต่ว่าทุกข์ก่อนตาย

แล้วทำไมจึงทุกข์ก่อนตาย ? ทุกข์เพราะนึกว่า กูจะตาย ไปทุกข์ที่ตัวนั้น ตัวกูจะตาย กูจะจากเมียไป จะจากลูกไป จะจากทรัพย์สมบัติไป จะจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป แล้วก็คอยนอนเป็นทุกข์ เอาความตายมาเป็นเหตุ แล้วก็คิดว่ากูจะตาย แล้วกูจะไม่ได้เห็นหน้าเมีย เห็นหน้าลูก คิดถึงบ้านที่สร้างไว้ คิดถึงนาถึงไร่ คิดถึงไอ้โน่นไอ้นี่ที่ยังจะต้องมีอีกเยอะแยะ พอคิดมาอย่างนั้น ก็คิดถึงความตาย เลยก็เป็นทุกข์ตรงนี้เอง ทุกข์เพราะความยึดมั่นในตัวเราอยู่ แล้วตัวเรามันจะตาย จึงได้เกิดความทุกข์เพราะความตาย ทุกข์มันอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2018, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โสกะ คือ ความโศก ปะริเทวะ หมายถึงความร่ำไร ทุกขะ ความทุกข์นี่เป็นเรื่องทุกข์กาย โทมะนัส เป็นเรื่องทุกข์ใจ อุปายาสะ ความเหี่ยวแห้งใจ

โสกะ คือ ความเศร้าโศก ที่เกิดขึ้นในใจ ปะริเทวะ นั่นหมายถึงความร่ำไรรำพัน เช่น ว่าเมียเราตายไป ก็ไปนั่งพูดว่า แหม เธอตายแล้วฉันลำบาก กับข้าวก็ไม่อร่อย อาหารก็ไม่ดี บ้านช่องก็ไม่มีคนกวาด กลางคืนฉันก็ต้องนอนคนเดียว ฉันว้าเหว่ ฉันต้องกอดหมอนแทนเธอ ความโศกมันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น เขาเรียกว่า “ปะริเทวะ” หมายความว่า ร่ำไรรำพันบ่นเพ้อไปตามประสาคนที่ไม่มีสติปัญญา อันนี้ บ่นเพ้ออย่างนั้นมันก็เป็นความทุกข์ ทุกข์ทางกาย กับ ทุกข์ทางใจเห็นง่าย
อุปายาสะมันเหี่ยวแห้งใจ มันคล้ายๆอย่างนี้ คล้ายกับต้มน้ำ ความโศก มันเหมือนกับน้ำเดือดๆ ขึ้นมา ปะริเทวะ มันเดือดแรงจนล้นกระทะ อุปายาสะ น้ำแห้ง ร้อนจนแห้งระเหยหมด กระทะแตกเลย ความเกิดอุปายาสะเหมือนกับกระทะแตก

โสกะ ปะริเทวะ อุปายาสะ มันเป็นอย่างนั้น โสกะ เหมือนกับน้ำเดือด ปะริเทวะ มันเดือดพล่าน ล้นกระทะ เราต้มน้ำด้วยไฟฟ้า ปริเทวะ มันก็ล้นออกมาทางกรวยกา ทางปากเลอะเทอะไปหมด ทีนี้ พอทิ้งไว้ ก็อุปายาสะ น้ำแห้ง ไม่ถอดปลั๊กไฟ สายไฟก็ขาดแตกเลย การะเบิดเลย นี่อุปายาสะเป็นอย่างนั้น อุปายาสะคือกามันแห้ง
ใจเราก็เหมือนกัน ใจแห้ง ใจเหี่ยว อุปายาสะ ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่เป็นอันคิดอะไร ใจมันเหี่ยวแห้ง อุปายาสะก็เป็นทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2018, 17:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข. สัมปะโยคะ แปลว่า อยู่ร่วมกับ....อัปปิยะ แปลว่า สิ่งไม่เป็นที่รัก อยู่ร่วมกับสิ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ อันนี้เห็นง่าย อยู่ร่วมกับสิ่งไม่เป็นที่รัก แล้วมันก็เป็นทุกข์

เป็นทุกข์เพราะอะไร? เพราะว่าเราต้องการอย่างหนึ่ง แต่ไปได้อีกอย่างหนึ่ง ผมจะอยู่กับคนนี้ แต่ว่าเขาให้ไปอยู่กับคนนั้น เราไม่พอใจ เพราะไอ้คนนั้นไม่ใช่คนที่เราต้องการ เราต้องการคนโน้น แต่ต้องไปกับคนนี้ เรียกว่าอยู่กับคนที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ
อยู่ร่วมกับสถานที่ไม่น่ารักเป็นทุกข์ สมมติว่าได้กุฏิหลังหนึ่ง แล้วมันไม่พอใจ มันก็เป็นทุกข์เรื่อยไป เหมือนกับอยู่ในนรกเรื่อยไป
แต่ถ้าเราพอใจว่าเป็นวิมาน ที่นี่เป็นวิมานสวรรค์ของเรา เราพอใจ
อาหารก็เหมือนกัน ถ้าได้อาหารที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์
แต่ถ้าได้อาหารพอใจ พอเห็นเท่านั้นละ โอ๊ย อร่อย ๆ ชอบใจ

อะไรก็เหมือนกัน ดินฟ้าอากาศก็เหมือนกัน ถ้าเราร้อนไปเราไม่พอใจ เพราะว่าไม่เป็นที่รัก เย็นไปก็ไม่พอใจ ต้องให้มันพอใจ ต้องให้มันพอดีๆ แล้วใครจะปรุงให้ได้เรื่องพอดีนี่ ธรรมชาติมันไม่รู้ว่าเราต้องการขนาดไหน ธรรมชาติมันร้อนตามเรื่อง เย็นตามเรื่อง มันต้องปรับตัวเราให้เข้ากับธรรมชาติ อย่าไปปรับธรรมชาติให้เข้ากับตัวเรา
คนนี่ก็เหมือนกัน เราจะไปอยู่กับใคร ต้องปรับตัวเราให้เขากับเขา ต่างคนต่างปรับเข้าหากัน มันอยู่กันได้ ทีนี้ ถ้าต่างคนต่างไม่ปรับก็ตีกันหัวร้างข้างแตกเท่านั้นเอง อยู่กันไม่ได้ นี่เพราะว่าไม่รู้ธรรมชาติ

มนุษย์เรา ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ สัตว์เดรัจฉานมันยังเก่งกว่าเรา มันปรับตัวมันเก่ง สัตว์เลื้อยคลานอยู่ในหญ้าเขียวๆ ไปอยู่ที่ดำๆตัวมันดำ จิ้งจกในครัวผิวมันดำไปเพราะถูกเขม่าไฟบ่อยๆ มันดำกลมกลืนกันไปเลย
ตุ๊กแกอยู่ที่ตึกขาวๆ มันก็พลอยขาวไปตามฝาผนังด้วย มันกลมกลืนไปตามธรรมชาติ
เสือดาว เสือลายพาดกลอนนั้น มันเรื่องมธรรมชาติ ให้มันกลมกลืนกับต้นไม้ที่อยู่ในป่า
มนุษย์ที่เป็น ต.ช.ด. ก็ต้องใส่กางเกงที่ลาย กางเกงลายๆดูแล้วก็เหมือนเสือดาว ก็เพื่อจะให้มันกลมกลืนกับป่านั่นเอง เขาเรียกว่ารู้จักปรับปรุง ถ้าไม่รู้จักปรับปรุงแล้วมันลำบาก มนุษย์เราจึงต้องรู้จักปรับปรุง แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะการอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 31 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร