วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 23:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2017, 18:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก ๒ อย่าง

ธรรมเป็นโลกบาล โลกบาล แปลว่า คุ้มครองโลก

ในศาสนาพราหมณ์นั้น เขาว่า มีเทวดาคุ้มครองโลก ท้าวกุเวร ท้าววิรุฬหก ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ เทวดา ๔ องค์นี้ เขาเรียกว่า จตุโลกบาล มีหน้าที่รักษาโลก แบ่งคนละทิศ ท้าวนั่นอยู่ทิศนั้น ท้าวนั่นอยู่ทิศนี้ แบ่งกันคนละทิศ ทำการบริหารโลกให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย อย่าละเลยต่อหน้าที่ นี่เป็นเทวดา ๔ องค์ของพราหมณ์

เพราะฉะนั้น ตามวัดโบราณ เขามักจะทำรูปยักษ์ ๔ องค์ นี่เป็นยักษ์ทั้งนั้น มิใช่มนุษย์ แต่เป็นยักษ์ชั้นดี ยกให้เป็นเทวดารักษาโลก เรียกว่ายักษ์สุภาพ และดูแลรักษา มีตะบองเป็นอาวุธทั้งนั้น เขาจึงปั้นรูปยักษ์ไว้ ๔ ทิศของสถานที่วัด

บางแห่งก็ปั้นยักษ์ไว้มุมกำแพง เพื่อให้ดูแลว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ตามความเชื่อของคนสมัยนั้น อันนี้ เรียกว่า โลกบาล - ยักษ์รักษาโลก

ครั้นพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้นในโลก ทรงเห็นว่ายักษ์รักษาโลกนี่ไม่ไหว ต้องเอาธรรมะรักษาดีกว่า เลยสอนเสียใหม่ว่า สิ่งที่จะรักษาโลกนั้นไม่ใช่ยักษ์ ๔ ตน แต่เป็น ธรรมะ ๒ ประการ เท่านั้น ที่จะรักษาโลกไว้ได้ คือ หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความกลัวบาป สองประการนี้เป็นธรรมรักษาโลก

คราวนี้ โลกหมายถึงอะไร ? โลกมีหลายแบบ โลกคือแผ่นดิน ก็ใช่ เป็นโลกแบบหนึ่งทางภูมิศาสตร์

โลกอีกแบบหนึ่งนั้น คือ ตัวเรา นี่เอง กายเรานี้เป็นโลก ร่างกายยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ถือว่าเป็นโลกหนึ่ง. พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก มีใจครอง นี้น่ะ เราบัญญัติ ซึ่งโลก เหตุเกิดของโลก ความดับของโลก ทางให้ถึงความดับของโลก

โลกนี้แหละ ที่จะได้ความคุ้มครองจากหิริ โอตตัปปะ คุ้มครองอันนี้ก่อน

ถ้าคุ้มครองตัวเราได้ คุ้มครองได้หมด คุ้มครองครอบครัว คุ้มครองประเทศชาติ ก็เพราะว่าคุ้มครองตัวเองได้ ก็คุ้มครองได้ทั้งหมด

ถ้าหากว่าไม่มีความละอาย ไม่มีความกลัว คุ้มครองไม่ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2017, 18:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความละอาย ที่ว่า หิริ นั้น ละอายอย่างไร ? มันไม่ใช่ความกระดากอาย คนบางคนต่อหน้าคนอื่นทำชั่วไม่ได้ เขาเรียกว่า กระดาก ไม่ใช่ละอาย ไม่ใช่หิริ แต่ว่าพอไม่มีใครเห็นก็เอาเลย อันนี้แหละ เรียกว่า ไม่มีหิริ ไม่มีความละอาย

ความละอายที่เรียกว่า หิริ นั้น หมายถึงความ ละอายแก่ใจตัวเอง แม้อยู่ในที่ลับก็ไม่ยอมทำ ไม่มีใครเห็นก็ไม่ทำชั่ว เพราะรู้สึกว่ามันไม่เหมาะ มีความละอายแก่ใจตัวเองในการที่จะทำเช่นนั้น เรียกว่า หิริแท้

มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า ในเมืองตักกศิลา มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์สอนศิษย์ มีลูกศิษย์มาเรียนมากมาย อาจารย์ก็สอนศิษย์ ทุกคนเรียบร้อย ประพฤติดี ประพฤติชอบ อ่อนน้อม ตั้งใจศึกษา อาจารย์ก็รักใคร่เอ็นดูดี

วันหนึ่ง อาจารย์อยากทดสอบศิษย์ทั้งหลายว่ามีน้ำใจอย่างไร เลยเรียกศิษย์มาประชุมพร้อมหน้า แล้วก็พูดชมเชยว่า เธอทั้งหลายตั้งใจศึกษาเล่าเรียนดี ประพฤติเรียบร้อย ทำให้อาจารย์สบายใจ เรียนใกล้จะจบกันแล้ว อยากจะให้พวกเธอทำอะไรให้อาจารย์สักอย่างหนึ่ง

พวกนั้น ก็บอกว่า ยินดีขอรับ ยินดี อาจารย์จะให้ทำอะไร พวกผมยินดีทั้งนั้น

อาจารย์ก็บอกว่า งานที่ให้ทำนี่ มันก็ไม่ยากเย็นเข็ญใจอะไรดอก คือฉันต้องการให้เธอไปลักข้าวของเงินทองของชาวบ้านเอามาให้ฉัน แต่ว่า ในการไปลักนั้นต้องไม่ให้มีการรู้เห็น ไม่ให้มีใครรู้ใครเห็น ไม่มีใครจับได้ไล่ทัน
ถ้ามีการรู้เห็น จับได้ไล่ทัน ฉันไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่ท่านทั้งหลายไปกระทำ เมื่อสั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำภายใน ๗ วัน

พวกนั้น กลับไปก็วางแผนกันไปลักของบ้านนั้นบ้านนี้มาให้อาจารย์ อาจารย์จดบัญชีเรียบร้อย ลูกศิษย์ชื่อนั้นไปลักของบ้านนั้น วันที่เท่านั้น เวลานั้น มีของเท่านั้น ห่อไว้เรียบร้อยทุกอย่าง ทุกคนทำ เว้นคนเดียว

มีศิษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ทำอะไรเลย ครบ ๗ วัน ก็เรียกประชุม อาจารย์ก็บอกว่า ขอบใจมากที่เธอทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคำขอร้องของอาจารย์ แต่ว่ามีคนหนึ่งไม่ได้เอาอะไรมาให้อาจารย์เลย คือ คนนั้น ชี้ไปที่ศิษย์คนนั้น เธอมีเหตุผลอย่างไร จึงไม่กระทำตามที่อาจารย์สั่ง ?

ลูกศิษย์คนนั้น ลุกขึ้นกราบแทบเท้าอาจารย์ บอกว่าอาจารย์เป็นที่รักเคารพอย่างสูงของกระผม เมื่อสั่งให้ทำอะไรนั้น กระผมจะไม่ขัดขืนเป็นอันขาด แต่ว่าเรื่องนี้กระผมทำไม่ได้ เพราะอาจารย์บอกว่า ให้ทำโดยไม่มีใครรู้ใครเห็น ผมทำไม่ได้ เพราะว่าทำทีไรก็มีคนรู้คนเห็นทุกที

อาจารย์ถามว่า ทำเวลากลางคืนไม่ได้หรือ ?

ลูกศิษย์บอกว่า จะเป็นกลางคืนก็ตาม กลางวันก็ตาม ยังมีคนเห็นอยู่ตลอดเวลา

ใครเขาจะเห็น ? อาจารย์ว่าอย่างนั้น

ตัวผมเองเป็นคนเห็น แล้วก็การกระทำนั้น มันไม่ขึ้นกับการรู้เห็นของคนอื่น สุขทุกข์ ขึ้นอยู่กับการกระทำ กระผมจึงทำไม่ลง คิดแล้วตรองแล้วทำไม่ได้ เพราะทำไปแล้วก็มีผู้รู้ผู้เห็น คือ ตัวกระผมเอง ผมรู้สึกละอาย ละอายที่จะทำไปอย่างนั้น

อาจารย์ลุกขึ้น เข้าไปกอดลูกศิษย์เลย กอดลูกศิษย์คนนั้น หอมซ้ายหอมขวา บอกว่า เธอนี่แหละเป็นคนเข้าใจความหมายของคำว่า หิริ โอตตัปปะ เธอควรจะได้รับรางวัลสัตว์ ๒ เท้า อาจารย์เลยยกลูกสาวให้เป็นรางวัลไป

ส่วนลูกศิษย์อื่นถูกติใหญ่โตว่าไม่ได้การทั้งนั้น ไม่รู้จักละอายแก่ใจ ไปกระทำสิ่งเหลวไหลอย่างนี้ เอาไปคืนเขาตามบัญชี

พวกนั้น ก็ต้องเอาไปคืนเขาทุกรายไป ส่งคืนหมด แล้วก็เรียนหนังสือกันจนสำเร็จ กลับบ้านกลับเมืองไปตามๆกัน

อันนี้แหละคือความหมายของคำว่า หิริ - ละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำอะไรลงไปเป็นอันขาด ไม่ว่าจะลับจะแจ้ง

คนเราบางที ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีคนเห็นไม่เป็นไรมันไม่ได้ มันเป็นการเพาะนิสัย เพาะสันดานไม่ดีขึ้นมา เราทำอะไรลับๆ บ่อยๆ ก็เสียคน ต่อไปก็ไม่มีความละอายใคร ทำได้เรื่อยไป มันไม่ถูกต้องอย่างนั้น

ผู้ที่มีความละอายแก้ใจนั้น ไม่มีที่ลับ ถือตามพุทธภาษิตที่ว่า นตฺถิ โลเก รโห นาม - ขึ้นชื่อว่าที่ลับไม่มีในโลก ที่ลับไม่มี ใครทำอะไรมันเปิดเผยทั้งนั้นแหละ คนอื่นไม่รู้ เรารู้ เรารู้มันก็กระดากใจ มันเป็นทุกข์ เพราะเรารู้ นี่มันเป็นอย่างนั้น คือตัวหิริ - ละอายแก่ใจไม่กล้ากระทำลงไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2017, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วน โอตตัปปะ นั้น หมายถึงว่า กลัวต่อผลที่จะเกิดขึ้น คิดไปไกลถึงกาลข้างหน้า ว่าเราทำอย่างนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้น จะมีโรค จะมีภัย จะมีอะไรเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา แล้วก็กลัวต่อสิ่งนั้น ไม่กล้าทำ เพราะมีความกลัวเป็นรากฐานอยู่ในใจเลยไม่ทำอะไรลงไป อันนี้ เป็นเรื่อง โอตตัปปะ กลัวอนาคต เช่น สมมติว่า เราจะไปเที่ยว เที่ยวกลางคืน ถ้าเป็นคนมีโอตตัปปะก็ไม่ไป กลัว กลัวจะติดโรค เดี๋ยวกลัวจะออกดอกออกผลไปยืดยาว เลยก็ไม่ไป

เพื่อนเขาชวนไปดื่มเหล้า คนมีโอตตัปปะไม่ยอมดื่ม เพราะรู้ว่าเหล้ามันเป็นพิษ ดื่มแล้วไม่เกิดประโยชน์ เสียทรัพย์ เกิดโทษ เกิดโรคหลายอย่างหลายประการ มีความกลัวต่อทุกข์โทษอันจะเกิดเพราะการดื่มเหล้า

เพื่อนชวนไปเที่ยวสนามม้าแข่ง ถ้าคนมีโอตตัปปะ ไม่ยอมไปกลัวว่ามันจะฉิบหาย ถ้าไปเล่นบ่อยๆ จะฉิบหาย เลยไม่ไป

เพื่อนชวนไปลักขโมย โอ้ย ไม่ได้ติดคุก ติดตะราง เดือดร้อน กลัวอย่างนี้ เรียกว่า มีโอตตัปปะ ประจำจิตใจ

ความละอายก็ดี โอตตัปปะก็ดี มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้น มีธรรมะเป็นเครื่องรักษา เรียกว่ามี โลกบาลธรรมเป็นเครื่องรักษาผู้คนให้อยู่รอดปลอดภัย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2017, 18:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ ทำอย่างไรมันจึงจะเกิด หิริ โอตตัปปะ ทำอย่างไรมันจึงจะเกิด ? มีข้อให้คิด คิดถึงอะไรบ้าง ?

๑. คิดถึงชาติ หมายถึงเราเกิดในสกุลอะไร เราเป็นชาติอะไร นี่ช่วยได้ เช่นว่าเราเป็นคนไทย เราต้องมีจิตใจเป็นไทย อิสระ เหนือความชั่วร้าย ถ้าเราไม่กระทำอะไร ๆ ชั่วร้ายอย่างนั้น เราก็ไม่เป็นไท มันน่าละอายที่เราไม่เป็นไท ถ้าละอายข้อนี้ให้มากแล้ว รับรองไม่ชั่วเด็ดขาด คือละอายในการที่เราจะไม่เป็นคนไทย เราเรียกตัวเองว่าเราเป็นคนไทย ถ้าไปทำอะไรที่มันไม่ดีไม่งามนี่ น่าละอายที่เราไม่เป็นคนไทย นี้เรียกว่านึกถึงชาติ

๒. นึกถึงความรู้ที่เราได้เรียนได้ศึกษา เราเป็นคนมีการศึกษา มีปริญญา หรือว่ามีอะไรก็ตามใจ ยิ่งมีปริญญายิ่งดีใหญ่ เพราะคนที่ได้ปริญญานั้น เขาเรียกว่าบัณฑิต

บัณฑิต นั้น แปลว่า ผู้รู้จักรักษาตัวรอด รอดจากอะไร ? ก็รอดไปจากความชั่วความร้ายความตกต่ำทางจิตใจ ทีนี้ เมื่อเราเป็นบัณฑิต เราก็นึกว่า การกระทำเช่นนั้น ไม่เหมาะแก่การเป็นบัณฑิตเช่นเรา ไม่เหมาะแก่คนที่มีความรู้อย่างเราจะพึงกระทำ ถ้านึกอย่างนี้ มันก็ห้ามล้อ ยับยั้งชั่งใจ เลยไม่กระทำ นี่คือความละอาย เกิดความกลัวต่อการกระทำชั่วทำผิดขึ้นมา เพราะนึกถึงความเป็นผู้รู้ ความเป็นบัณฑิตของตน

๓. นึกถึงอายุของเรา เออเราอายุตอนนี้เท่าไรแล้ว ๒๐ ว่าอย่างนั้นเถอะ ๒๐ เขาเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รู้จักคิด รู้จักอ่าน เอ ถ้าเรา ไปทำอย่างนั้น เหมือนเด็กอมมือนี่ การกระทำอย่างนั้น เป็นเรื่องของเด็กๆ มันไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เช่นเรา ไม่ใช่เรื่องของคนมีอายุปานนี้เขาจะทำกัน ยับยั้งได้ ทำให้เกิดความละอายใจ กลัวขึ้นมา เพราะเราทำอย่างนั้นแล้วมันเป็นเด็กไป ไม่เหมาะแก่เราแล้ว ยิ่งอายุมากๆ คนเฒ่าคนแก่ไปทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรเข้าก็น่าละอาย คนแก่ควรจะไปนั่งอยู่ตามศาลาวัด หรืออยู่ในบ้านให้เป็นตัวอย่างแก่ลูก แก่หลาน กลับไปอยู่ตามบาร์ ตามไนต์คลับ นึกละอายในการที่จะไปกระทำเช่นนั้นแล้วก็ไม่ไป นี่เรียกว่า นึกถึงอายุของเรา แล้วทำให้เรามีหิริโอตตัปปะขึ้นมาได้

๔. ทีนี้ เรานึกถึงว่า เรานับถือศาสนาอะไร ? นึกถึงความเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทไม่ควรจะทำอย่างนั้น ไม่ควรจะทำอย่างนี้ ถ้าเราไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันน่าละอายในการที่เราไม่เป็นพุทธบริษัท

๕. หรือนึกว่าเราเป็นคนบวชแล้ว ได้บวชในพระศาสนา ได้เล่าเรียนธรรมะพอสมควร ถ้าจะไปทำอย่างนั้นไม่เหมาะแก่เรา เรามีความละอายที่เราประพฤติตนไม่สมกับคนที่บวชแล้ว อย่างนี้ ก็เป็นเหตุห้เกิดความละอายต่อการทำบาปได้

๖. หรือว่า นึกถึงความเป็นมนุษย์ผู้ใจสูง การกระทำอะไรที่มันไม่เหมาะ แก่ความเป็นมนุษย์ ละอายให้มากในการที่เราทำอะไรไม่เหมาะแก่ความเป็นมนุษย์ เกิดความละอาย เกิดความกลัวต่อสิ่งนั้นขึ้นมา อันนี้ต้องคิด จะทำอะไรนี้ต้องคิดว่ามันดีหรือชั่ว สังคมเขาว่าอย่างไร ชาวบ้านเขาว่าอย่างไร แต่ว่าชาวบ้านน่ะไม่แน่ดอก เอาแน่ไม่ค่อยได้ ในหมู่ใดที่มันเหลวไหล ก็ว่าดี ทำอย่างนั้นใช้ได้แล้ว อย่าไปถามเลย ต้องเอาธรรมะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไรดีกว่า แน่นอนไม่ผิดเพี้ยน ถามนึกในใจว่า เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร ? พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่ดี ลูกเอ๋ย อย่าเลย น่าอายนะ เรื่องเช่นนั้น ไม่เหมาะแก่การเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า คิดอย่างนี้แล้ว จะทำให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมา

ท่านกล่าวว่า หิริ, โอตตัปปะ สองข้อนี้ เป็นธรรมคุ้มครองโลก ให้อยู่รอดปลอดภัยจากความตกต่ำทางจิตใจนั่นเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทีนี้ ต้องฝึก ต้องฝึกละอาย ฝึกกลัวไว้เสมอ ทำอะไรต้องนึกถึงความเป็นอะไรๆ ของเราไว้ตลอดเวลา ไม่ประมาท นี่เรียกว่า หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัว เช่น เราเป็นพระนี่หัดละอายมากๆ กลัวมากๆ ดี คนโบราณเขาว่า ขี้ขลาดดีกว่า กล้าหาญ ฟังดูแล้วท่าจะไม่เข้าที แต่ถ้าคิดให้ดีแล้ว เข้าท่า ขี้ขลาด เขาหมายถึงเป็นคนละอายในการที่จะทำความชั่ว ดีกว่ากล้าหาญ ในการไปทำความชั่ว ขี้ขลาดดีกว่า กล้าหาญ มันดีตรงนั้น นี่อันหนึ่ง ธรรมเป็นโลกบาลคุ้มครองโลก ๒ อย่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2017, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จบตอน จากหนังสือนี้ (หน้า ๑๗๙)

รูปภาพ

คำสอนในทางพุทธศาสนานี้ มี ๒ ชั้น คือธรรมะหรือพระธรรมมี ๒ ชั้น: ธรรมะที่เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่ง กับ ที่เป็นสัจธรรมอีกอย่างหนึ่ง

ศีลธรรม นั้น เป็นคำสอนชั้นธรรมดา ที่มีคล้ายกันทุกศาสนา ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ มีคำสอนในด้านศีลธรรมคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

เรื่องของศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างไร เราควรรู้ เพราะศีลธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคม

สัจธรรม เป็นเครื่องแก้ปัญหาเฉพาะคน

ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อย ก็เรียกว่า สัจธรรมเป็นเรื่อง “ปัจเจกชน”

ศีลธรรมเป็นเรื่อง “สังคม”

ศีลธรรม กับ ศาสนา

ศาสนา นี่ ไม่ใช่คำสั่งสอนเฉยๆ ให้เราเข้าใจว่า ศาสนา นี่ คือคำสอนด้วยเหตุผล หรือข้อปฏิบัติที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม ได้พ้นจากความทุกข์ หรือความเดือดร้อน นี่แหละคือตัวศาสนา

ข้อปฏิบัติ ที่จะทำคนให้พ้นจากความทุกข์ หรือความเดือดร้อน นี่แหละคือตัวศาสนา

ถ้าปฏิบัติแล้วไม่พ้นจากทุกข์ ไม่ใช่ตัวศาสนา ศาสนาต้องทำคนให้พ้นทุกข์ มันหมายถึงอย่างนั้น เนื้อแท้หมายถึงอย่างนั้น

ดูเต็มๆ ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55033

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2018, 14:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2018, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทวธรรม ธรรมของเทวดา, ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา หมายถึงธรรม ๒ อย่าง คือ หิริ ความละอายแก่ใจ คือ ละอายต่อความชั่ว และ โอตตัปปะ ความกลัวบาป คือ เกรงกลัวต่อความชั่ว

หิริโอตตัปปะสัมปันนา - สุกกะธัมมะสมาหิตา
สันโต สัปปุริสา โลเก - เทวะธัมมาติ วุจจเร ฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2018, 05:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างคนตีความพุทธธรรม คือ อ่านพระสูตรแล้วตีความหลักธรรมว่ามันเป็นยังงั้นเป็นยังงี้ ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของเขา นี่ชัดเลย

เปิดธรรมที่ถูกปิด หิริ ความละอายต่อการแสวงหากาม โอตตัปปะ ความเห็นภัยของสงสารวัฎฎะ

https://pantip.com/topic/37817060

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 72 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร