วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 02:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2017, 11:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2017, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม

คำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้มากที่สุด ก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้นศีล เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอก เกี่ยวด้วยการแสดงออกทาง กาย วาจา เป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

การดำเนินกิจการต่างๆของหมู่ชน การจัดสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่ การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น และแก่ความผาสุกแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน อันจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกรณีย์ที่ดีงามยิ่งๆขึ้นไป เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตตามความตกลงนับถือของพวกตน หรือเพื่อเข้าถึงประโยชน์และความดีงามสูงสุดตามอุดมการณ์ของหมู่ชนนั้น
ตลอดจนเกื้อกูลแก่การที่หมู่ชนนั้นจะเผยแพร่อุดมการณ์ กิจการ และประโยชน์สุข ความดีงามของตนให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

ศีลพื้นฐาน หรือขั้นต่ำที่สุด ก็คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา และการไม่ทำลายสติสัมปชัญญะที่เป็นตัวคุ้มศีลของตน ศีลขั้นต้นสุดนี้ นิยมเรียกว่า ศีล ๕

เรื่องศีล กับสังคม หรือคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสังคมนั้น เป็นเรื่องใหญ่ มีขอบเขตกว้าง ฯลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2017, 19:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สามคำสำคัญในชุดของศีล: ศีล วินัย สิกขาบท

ในเบื้องต้น จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำเล็กน้อย คือ คำว่า “ศีล” นี้ เราพูดอย่างชาวบ้านว่าเป็นคำพระคำหนึ่ง และคำพระแทบทุกคำก็มาจากภาษาบาลี

บรรดาคำเหล่านี้ แต่เดิม ในภาษาบาลีเอง หลายคำมีความหมายแยกไปได้หลายนัย ซับซ้อนอยู่แล้ว
พอนำมาใช้ในภาษาไทย พูดต่อๆกันไป ความหมายที่เข้าใจก็ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปต่างๆ
บางคำ ถึงกับมีความหมายกลายเป็นตรงข้ามจากเดิมก็มี จึงต้องคอยซักซ้อมทบทวนกันไว้ให้ดี

“ศีล” ที่แปลง่ายๆ ว่า ความประพฤติที่ดีนี้ มีคำในชุดเดียวกันที่สำคัญ ซึ่งควรเข้าใจให้ชัด และแยกกันให้ถูก รวม ๓ คำ คือ ศีล วินัย และสิกขาบท

ทั้ง ๓ คำนี้ ในภาษาบาลีเดิม มีความหมายแยกต่างกันชัดเจน แต่บางครั้ง ก็มีการใช้แบบหลวมๆ หรือแบบภาษาชาวบ้าน โดยในบางโอกาสก็ใช้แทนกันบ้าง

แต่ถ้าพูดเป็นงานเป็นการ อย่างที่เรียกว่าเป็นวิชาการ ก็ใช้ในความหมายที่เคร่งครัด แยกกันออกไป ไม่ให้สับสนปนเป

ส่วนในภาษาไทย คำพระจากภาษาบาลีเหล่านี้ ได้ใช้ปนและผิดเพี้ยนไปไม่น้อยแล้ว คงแก้ไม่ไหว
ผู้ที่ศึกษาควรรู้ตระหนักไว้ และใช้อย่างรู้เท่าทัน โดยมีความเข้าใจในความหมายที่แท้ชัดแจ้งอยู่ภายในของตน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2017, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ขอแสดงความหมายที่แท้ของคำทั้ง ๓ ดังนี้

ศีล” (บาลี สีล) ความประพฤติดีงามสุจริต ที่แสดงออกทางกาย และวาจา เป็นคุณสมบัติของคนที่ประพฤติอย่างนั้น เป็นคำรวมๆ เพราะฉะนั้น ตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ (ไม่เป็นข้อๆ)

วินัย” (บาลี วินย) คือ ระเบียบ หรือแบบแผนความประพฤติ ความเป็นอยู่ และการประกอบกิจดำเนินการต่างๆ ซึ่งตั้งวางไว้โดยเป็นประมวลแห่งข้อบัญญัติ ข้อปฏิบัติ ข้อกำหนด กฎน้อยใหญ่
สำหรับฝึกฝนควบคุมกำกับความประพฤติและการปฏิบัติ ให้เป็นไปในแนวทางอันหนึ่งอันเดียวกัน
ที่จะเกิดความเรียบร้อยดีงาม และความเจริญงอกงามสัมฤทธิ์ความมุ่งหมาย วินัยนี้เป็นคำรวมๆ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท” (บาลี สิกขาปท = ข้อศึกษา, ข้อฝึกความประพฤติ) คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เป็นข้อปฏิบัติ ที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่า สิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์

ตามที่ว่านี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย, การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย (หรือความประพฤติที่ถูกต้องตามสิกขาบท เป็นไปตามวินัย) ก็เป็นศีล เช่นว่า

สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมกันว่า วินัยของภิกษุ ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยของภิกษุ (ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบทสำหรับภิกษุ) ก็เป็นผู้มีศีล

สิกขาบท ๓๑๑ ข้อ เรียกรวมกันว่า วินัยของภิกษุณี ภิกษุณีที่ตั้งอยู่ในวินัยของภิกษุณี (ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบทสำหรับภิกษุณี) ก็เป็นผู้มีศีล

สิกขาบท ๕ ข้อ สำหรับคฤหัสถ์ คือ ชาวบ้านทั้งหลาย มีเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น (ปัญจสิกขาบท หรือเบญจสิกขาบท) เมื่อคฤหัสถ์ ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบท ๕ นี้ ก็เป็นผู้มีศีล (บางทีเรียกเป็นศัพท์ว่า เบญจสิกขาบทศีล) *

(* สิกขาบทสำหรับคฤหัสถ์ ๕ ข้อ เป็นหลักปฏิบัติที่ถือกันมาในสังคมสืบแต่โบราณ พระพุทธศาสนายอมรับตามนั้น และก็มิได้มีข้อบัญญัติมากหลายที่จะประมวลขึ้นเป็นวินัย ดังนั้น ตามปกติ จึงไม่พูดถึงวินัยของคฤหัสถ์ (เหมือนรู้กันว่าก็คือศีล ๕ นั่นแหละ) แต่บางที พระอรรถกถาจารย์บางท่าน จัดหลักธรรมบางชุดให้เรียกว่าเป็นวินัยของคฤหัสถ์ ดังที่คัมภีร์สุมังคลวิลสสินีบอกว่า สิ่งคาลกสูตร เป็นคิหิวินัย คือศีลของคฤหัสถ์ (ที.อ.3/151) และปรมัตถโชติกาจัดให้ว่า การเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็น อาคาริยวินัย คือวินัยของผู้ครองเรือน (ขุทฺทก.อ.117)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2017, 20:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ที่ว่ามานี้ เป็นความหมายหลัก หรือเป็นการใช้คำอย่างเคร่งครัด แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า มีการใช้คำเหล่านี้อย่างหลวมๆด้วย คือ บางทีเรียกแทนกันได้ ที่คุ้นกันดี ก็ได้แก่ สิกขาบท ๕ หรือเบญจสิกขาบท ซึ่งนิยมเรียกกันว่าศีล ๕ หรือเบญจศีล
ในพระไตรปิฎกมีเรียกว่า ศีล ๕ หรือเบญจศีลน้อยอย่างยิ่ง เหตุที่เรียก คงเป็นเพราะคำว่าเบญจสิกขาบทยาว เรียกยาก เวลาพูดอย่างไม่เคร่งครัด โดยเฉพาะในคาถา ซึ่งต้องการคำสั้นๆ ก็เลยเรียกเป็นเบญจศีล
แต่ในสมัยอรรถกถา เรียกเบญจศีล (ปญฺจสีล) มากมาย

ครั้นมาเมืองไทย คนทั่วไปเรียกสิกขาบท ๕ นั้น ตามนิยมของยุคหลังนี้ว่า ศีล ๕ หรือเบญจศีล จนไปๆมาๆ แทบไม่รู้จักคำว่า สิกขาบท (แต่เวลาสมาทาน ถ้าสังเกต จะเห็นชัด)


เมื่อศีล ๕ มาแทนสิกขาบท ศีลก็เลยกลายเป็นตัวข้อปฏิบัติแต่ละอย่าง เป็นข้อๆได้ ใช้เป็นพหูพจน์ได้ ไม่ใช่แค่เป็นคุณสมบัติของคน ไม่ใช่แค่เป็นภาวะของคนที่ประพฤติถูกต้องตามวินัย เป็นไปตามสิกขาบท


ส่วนวินัยนั้น ในภาษาบาลีเดิม เป็นคำใหญ่มาก และมีความหมายกว้างขวางมากหลายนัย เช่นเป็นระบบใหญ่คู่กับธรรม ในคำว่า “ธรรมวินัย” ความหมายหลายอย่างของวินัยอยู่นอกชุด ๓ ที่รวมกับศีลและสิกขาบทนั้น พอเข้ามาในภาษาไทย เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างอย่างที่ว่า และในชุดนี้เอง ก็เป็นคำที่อยู่กลาง ระหว่างศีล กับ สิกขาบท ในเมื่อคำเหล่านี้ เวลาใช้อย่างหลวมๆ ก็พอแทนกันได้อยู่แล้ว คนจับที่คำต้นคือศีล กับคำท้าย คือ สิกขาบท คงรู้สึกว่าพอแล้ว ก็เลยหยุดเอาแค่นี้ คำว่าวินัยก็เลยมีความหมายค่อนข้างพร่าๆคลุมๆ


ยิ่งกว่านั้น ขณะที่ในวัดหรือในพระศาสนา วินัยใช้กันในความหมายแบบกว้างๆคลุมๆ และพร่าด้วย คำนี้กลับออกไปเป็นคำที่ใช้มากในสังคมของชาวบ้านชาวเมือง ตลอดจนในวงงานกิจการสมัยใหม่ แต่มีความหมายแคบลงไปมาก กลายเป็นเรื่องของการควบคุมตัวและควบคุมกันให้อยู่ในระเบียบ ให้ทำตามข้อบังคับ ให้เป็นไปตามกติกา เช่น วินัยจราจร และแถมว่า ในแง่หนึ่ง วินัยมีความหมายกลายเป็นคุณสมบัติของคน คือความเข้มแข็งที่สามารถบังคับควบคุมตนให้อยู่ให้ทำได้ตามหลักการ ตามกฎกติกา (ตรงนี้ก็สับสนกับศีลด้วย)


ถึงตอนนี้ เหมือนมีการแบ่งแยกกันออกไป คือ ทางฝ่ายวัด หรือทางพระศาสนา ใช้คำว่า “ศีล”

ส่วนทางฝ่ายคนนอกวัด หรือทางบ้านเมือง และสังคมภายนอก ใช้คำว่า “วินัย” ดังที่ว่า เวลาพูดคำว่าศีลขึ้นมา คนไทยทั่วไปก็จะนึกว่า เป็นเรื่องไปที่วัด หรือทางศาสนา ทั้งที่ว่า ทั้งศีลและวินัย เป็นคำสำคัญทั้งคู่ในพระพุทธศาสนา


ทีนี้ เรื่องมิใช่แค่นั้น หันกลับมาดูที่วัด เมื่อคน (รวมทั้งพระ) ห่างเหินเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัยออกไปๆ

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำทางธรรมวินัยนั้น ก็รางเลือนลงๆ แม้แต่สามคำในชุดที่พูดถึงนี้ ก็เสื่อมถอยจากวิถีชีวิตลงไปอีก กล่าวคือใน ๓ คำนั้น
จะเห็นว่า คำแรกคือศีล ที่เป็นคุณสมบัติในตัวคน หรือเป็นภาวะของคนนั้น ก็คือเป็นจุดหมายของ ๒ คำหลัง เพราะที่ฝึกบุคคลด้วยสิกขาบท โดยควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปพร้อมด้วยวินัยนั้น เพื่อให้เขาเป็นคนมีศีล หรือเพื่อให้ศีลเกิดขึ้นในตัวคน ไปๆมาๆ ในที่สุด คำว่า ศีล คำเดียว กลายเป็นใช้แทนได้หมด ทั้งแทนสิกขาบทก็ได้ แทนวินัยก็ได้ เลยเหลือแต่ศีลคำเดียว วินัยกับสิกขาบท เหมือนอยู่แค่หลังฉาก แต่พร้อมกับที่ศีลมีความหมายคลุมหมด ก็พร่ามัวไปด้วย


แล้วเรื่องก็ไม่ใช่เท่านั้นอีก ที่ว่าศีลเป็นจุดหมายนั้น หมายถึงเป็นจุดหมายในการพัฒนาคน
ดังที่ในหลักการศึกษา คือไตรสิกขา มีศีลเป็นข้อต้นในชุด คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
เรียกให้เต็มว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิศีลสิกขา แปลง่ายๆรวบรัดว่า ศึกษาคือฝึกฝนพัฒนาให้มีศีลยิ่งขึ้นไป ให้จิตใจมีคุณภาพยิ่งขึ้นไป และให้มีปัญญายิ่งขึ้นไป


ตรงนี้เป็นเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของคน ที่ว่าชีวิตคนจะดีได้ โลกมนุษย์จะดีได้ ก็ต้องพัฒนาคนให้ดี ให้สมบูรณ์ ให้มีคุณภาพสูงสุด อย่างน้อยคนก็เป็นผู้ไปทำกิจกรรมแม้แต่ในสังคม ศีลก็จัดมาอยู่ที่ตัวคน แล้วก็แยกเป็นแต่ละบุคคล


แต่มองย้อนออกไปดูในกระบวนการฝึกคนนั้น จะเห็นชัดว่า ในการพัฒนาคนแม้แต่ละคนๆให้เจริญงอกงามนั้น ต้องมีการรู้จักอยู่ร่วมสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคม มีการทำกิจกรรมในสังคม ทั้งแต่ละคนและร่วมกัน ตั้งแต่กิจกรรมเพื่อเจริญกาย จนถึงกิจกรรมเพื่อเจริญปัญญา มีการจัดสภาพแวดล้อม การจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่และสรรพอามิส การกินอยู่ การประกอบอาชีพ การปกครอง ฯลฯ สารพัด นี่คือ วินัย


แม้ว่าวินัยจะเพื่อศีล อยู่ในชุดร่วมกับศีลก็ตาม แต่วินัย ก็มีขอบข่ายเขตแดนแตกต่างจากศีล มิใช่เป็นเพียงคำที่ใช้แทนกันได้ หรือสับสนปนเป หรือพร่ามัว อย่างที่ความเข้าใจของคนได้เสื่อมลงไป

ได้อธิบายมาเพียงเท่านี้ พอให้เข้าใจความหมายของถ้อยคำที่สำคัญ เพื่อเป็นฐานของการที่จะพูดเรื่องศีลกันต่อไป ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะได้รู้เข้าใจความหมายที่แท้จริงให้ชัดเจน
แต่พร้อมกันนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะได้ตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน ที่ได้มีความเข้าใจความหมายของถ้อยคำเหล่านี้ไม่เพียงพอ โดยมองเห็นว่าความหมายได้คับแคบคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปอย่างไร แล้วศึกษาอย่างรู้เท่าทันที่จะให้ได้ผลตามที่มุ่งหมาย


ขอแทรกเล็กน้อยว่า ในเรื่องวินัย ในความหมายเชิงสังคมนั้น ได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่องกรรมบ้างแล้ว ควรจะศึกษาอย่างโยงถึงกันด้วย

เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็จะพูดถึงเรื่องศีลในเชิงสังคม โดยถือความหมายของคำตามที่เข้าใจกันแบบคลุมๆ ในปัจจุบัน เช่น เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ และใช้ปนกันไปกับคำในชุดเดียวกัน ครั้นแล้วพร้อมด้วยความรู้เท่าทันนั้น ก็ศึกษาจับสาระของเรื่องราวให้ชัดเจน ดังที่จะกล่าวต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 03:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ศีลพื้นฐาน หรือขั้นต่ำที่สุด ก็คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา และการไม่ทำลายสติสัมปชัญญะที่เป็นตัวคุ้มศีลของตน ศีลขั้นต้นสุดนี้ นิยมเรียกว่า ศีล ๕


อนุโมทนาครับ

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 09:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ขอแทรกเล็กน้อยว่า ในเรื่องวินัย ในความหมายเชิงสังคมนั้น ได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่องกรรมบ้างแล้ว ควรจะศึกษาอย่างโยงถึงกันด้วย


เพื่อให้เข้าใจหัวข้อนี้ง่ายขึ้น ก็นำมาโยงให้เห็นด้วย ดังนี้ (สังเกตความหมาย "สมมติ" "วินัย" ให้ชัด)


กรรมตามสมมตินิยาม หรือกรรมในกฎมนุษย์


เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน เป็นหมู่คน เป็นชุมชน เป็นสังคม มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทำการร่วมกัน ก็ต้องมีการติดต่อสื่อสาร และด้วยความฉลาดของมนุษย์ ก็มีการตั้งข้อรู้ร่วม และสร้างเครื่องรู้ร่วมขึ้นมา โดยมีการยอมรับร่วมกัน ร่วมรู้ ร่วมเข้าใจและร่วมกันถือตาม ปฏิบัติตาม

ข้อรู้ร่วม ที่ตกลงกัน พร้อมกันยอมรับ หรือยอมรับด้วยกัน คือมติร่วมหรือสมมติ นี้เป็นหัวใจ เป็นแกน เป็นสาระของสังคม ที่จะให้สังคมดำรงอยู่ ดำเนินไป มีความเจริญก้าวหน้างอกงาม จนถึงขั้นที่เรียกว่ามีวัฒนธรรม มีอารยธรรม พูดกลับกันว่า อารยธรรมของมนุษย์ ก็ตั้งอยู่บนสมมติ หรือสมมตินี้เอง


ข้อตกลง ข้อรู้ร่วม หรือสมมติแรก ที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้ ก็คือ ข้อรู้ร่วม หรือข้อตกลงเพื่อสื่อในการพูด เกิดเป็นถ้อยคำ คำพูดจา ภาษา เป็นทางหรือสื่อของการตอบโต้ แลกเปลี่ยน คือ โวหาร แล้วก็มีการบัญญัติต่างๆ สำหรับเรียกขาน บนฐานของสมมตินั้น

มนุษย์ผู้ฉลาด มิใช่หยุดแค่นั้น นอกจากข้อร่วมรู้ ให้รู้ร่วมกันตามคำพูดจา ว่านี่ชื่อนั้นๆ นั่นเรียกว่าอย่างนั่นๆแล้ว อาศัยภาษานั้น เขาก็บัญญัติ จัดตั้งข้อตกลงร่วมรู้เพื่อสื่อในการทำ วางเป็นข้อร่วมทำ สำหรับให้พร้อมกันทำตาม ร่วมกันทำตาม ร่วมกันปฏิบัติตาม เป็นกติกา กลายเป็น นิติ คือแบบแผน เครื่องนำการปฏิบัติ เกิดเป็นข้อบัญญัติ ที่เรียกว่า ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ ตลอดจนกฎหมาย

นอกจากบัญญัติจัดวางข้อร่วมทำ ร่วมปฏิบัติ หรือข้อที่พร้อมกันถือไปปฏิบัติตามแล้ว ก็มีบัญญัติต่อไปอีกว่า ถ้าใครไม่ปฏิบัติตาม เขาจะถูกกระทำโดยสังคมอย่างไร เรียกรวบรัดว่าถูกอำนาจบังคับ ถูกลงโทษ


แล้วเพื่อให้บัญญัติมีผลบังคับจริงตามที่ตกลง ก็มีการตกลงกันตั้ง หรือยอมรับร่วมกัน ให้มีบุคคลตลอดจนระบบที่ดูแลกำกับให้การเป็นไปตามบัญญัตินั้น เกิดมีเป็นการปกครองขึ้น


โดยนัยนี้ เพื่อให้สมมติ คือ ข้อตกลง ที่หมายรู้เพื่อพูดจา และเพื่อทำการทั้งหลาย อย่างสอดสมลงตัวกันนั้น คงอยู่ได้เป็นไปจริงตามที่ได้ตกลงกัน ก็ต้องมีการดูแลจัดการรักษาให้คงอยู่และเป็นไปตามนั้น อันเรียกว่าเป็นระเบียบแบบแผน เป็นระบบ นี้คือ วินัย


วินัยก็คือการจัดตั้งสมมติ และจัดการให้เป็นไปตามสมมติ ดังที่ปรากฏเป็นระบบแบบแผน การจัดระเบียบ และวางกฎตามสมมติขึ้นมา

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งวางระเบียบชีวิต และวางระบบกิจการก็ตาม ข้อความบอกกล่าวกำหนดให้รู้ว่า จัดตั้งวางระเบียบระบบให้เป็นอย่างไร ให้ทำอะไรไม่ให้ทำอะไร ก็ตาม การดูแลบังคับควบคุมกำกับการให้เป็นไปตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้น นั้น ก็ตาม จึงรวมอยู่ในคำว่า "วินัย" ซึ่งเท่ากับมีความหมาย ๓ ชั้น

ดังที่กล่าวแล้วว่า สมมติเป็นแกนของสังคม เป็นสาระของความเป็นสังคม และวินัยก็ เป็นตัวทำการให้บรรลุความหมายนั้น ทำให้สังคมสมประโยชน์ของสมมติ ในขั้นพื้นฐาน วินัยจึงเป็นฐานรองรับสมมติ และเป็นเครื่องดำรงรักษาสังคม

ลึกลงไป ผู้เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงความหมาย และความมุ่งหมายของวินัยให้ชัดว่า ระเบียบและระบบที่จัดตั้งวางขึ้นนั้น มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้ อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือเป็นเพียงการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่ประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตาม ระเบียบ และระบบที่จัดวางขึ้นนั้น
แต่แท้ที่จริง วินัยเป็นเครื่องเสริมโอกาส ให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยทำให้บุคคลที่มาอยู่รวมกันเป็นปัจจัยเกื้อกูลหนุนกัน และทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการพัฒนาชีวิตของแต่ละบุคคล
ตรงนี้ ขอกล่าวไว้โดยรวบรัดเพียงเท่านี้ (ขอให้ขยายความเองตามหลักที่แสดงไว้)


ถึงตอนนี้ ควรเข้าใจต่อออกไปอีกว่า สมมติที่เป็นสาระของความเป็นสังคม และวินัยที่จัดระบบสมมติให้สมจริงนั้น เพราะเหตุที่มันเป็นเรื่องของมนุษย์ เกิดจากคน มีอยู่ในความคิดของคน แท้ที่จริง จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย แต่ที่มันกลายเป็นเรื่องจริง ไม่เลื่อนลอย ก็เพราะมันโยงไปยังของจริง ที่เป็นเนื้อหาสาระและเป็นฐานรองรับมันอีกชั้นหนึ่ง

ของจริง เนื้อหาสาระอันมีจริง ที่เป็นฐานรองรับให้แก่สมมติและวินัยนั้น คืออะไร ก็คือ สิ่งธรรมชาติทั้งหลาย ที่มีอยู่เป็นไปตามธรรมดานี้เอง ซึ่งเรียกสั้นๆ คำเดียวว่า "ธรรม"

ธรรม มีความหมายกว้างขวางครอบคลุม หมายถึงสิ่งธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงบรรดามี (บางทีเรียกว่า สภาวะหรือสภาวธรรม) ก็ได้ หมายถึงระบบระเบียบแห่งความเป็นอยู่เป็นไป ที่เป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งบางทีเรียกว่า กฎธรรมชาติ ก็ได้

สิ่งธรรมชาติที่มีจริงนี่แหละ เป็นเนื้อหาสาระของสมมติ เป็นที่อ้างอิงและให้ความหมายแก่สมมตินั้น ถ้าไม่มีสิ่งธรรมชาติเป็นเนื้อหาสาระที่อ้างอิงแล้ว สมมติก็เลื่อนลอย หมดความหมาย

เช่นเดียวกันนั่นแล ธรรมดาที่เป็นกฎเป็นระบบระเบียบแห่งความเป็นอยู่เป็นไปของสิ่งธรรมชาติเหล่านั้น หรือการที่สิ่งธรรมชาติเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า ธรรม ในแง่ที่เป็นกฎธรรมชาตินี้ ก็เป็นฐานรองรับให้แก่วินัย แห่งสังคมมนุษย์
ถ้าวินัยจัดตั้งวางไว้ ไม่สอดคล้องกับเหตุและผล ในความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรม คือ ธรรมดา หรือกฎธรรมชาตินี้ วินัยที่เป็นระบบของสังคมมนุษย์ ก็เลื่อนลอยและต้องล้มละลาย

แท้จริงนั้น สิ่งที่มนุษย์ต้องการ ก็คือ เนื้อตัวจริงที่เป็นของธรรมชาติ และความเอื้ออำนวยประโยชน์จากธรรม ที่เป็นกฎธรรมชาติ แล้วที่ตั้งสมมติ และจัดวางวินัยขึ้นมานั้น โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ก็เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามความมุ่งหมายนี้

ดูง่ายๆ แค่ว่า คุณหมอสั่งแก่บุตรหญิงหรือบุตรชายของคนไข้ว่า กลับไปอยู่บ้านแล้ว ทุกวัน จัดน้ำบริสุทธิ์จืดสนิทให้คุณพ่อดื่ม วันละอย่างน้อย ๑ ลิตรครึ่งนะ เอาเหยือกน้ำใหญ่ๆ ที่มีขีดบอกปริมาณน้ำด้วยก็จะดี

แค่ตามตัวอย่างนี้ ก็มีสมมติที่สื่อไปถึงของจริงในธรรมชาติ และวินัย ที่จัดระบบให้มนุษย์ได้ประโยชน์ ทั้งจากสมมติ และจากระบบปัจจัยสัมพันธ์ที่โยงลงไปถึงกฎแห่งธรรมดามากมาย ยิ่งคนที่เกี่ยวข้องมีปัญญาเข้าถึงธรรมชาติ และธรรมดามากเท่าใด ก็ยิ่งเห็นชำแรกเข้าไปในระบบสัมพันธ์ที่โยงต่อไปกว้างลึกมากขึ้นเท่านั้น


ดังนั้น ถ้าเป็นมนุษย์ที่มีปัญญา ทำการด้วยความตระหนักรู้ มองเห็นความเป็นไป ของปัจจัยสัมพันธ์ชัดเจน ก็ยิ่งทำการได้สัมฤทธิ์ผลอย่างดี

ถึงตรงนี้ ก็มองเห็นได้ว่า มี ๒ ระบบโยงกันอยู่ คือ

๑. ระบบของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามธรรมดาหรือตามกฎธรรมชาติ มนุษย์จะมีอยู่หรือไม่ และจะรู้ถึงมันหรือไม่ มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น ก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ระบบนี้ เรียกสั้นๆว่า "ธรรม"

๒. ระบบของสมมติที่มนุษย์ผู้ฉลาดจัดตั้งวางขึ้น ให้เป็นไปโดยสอดคล้อง ที่จะให้หมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า สังคม ได้สมปรารถนาของตน จากธรรมชาติและจากฎธรรมดานั้น เรียกสั้นๆว่า "วินัย"


เป็นอันว่า มี ๒ ระบบ คือ ธรรมกับวินัย และเห็นได้ชัดว่า ระบบสมมติแห่งวินัยของมนุษย์ ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมที่เป็นระบบแห่งธรรมดาของธรรมชาติ จึงจะสมจริงและได้ผล แล้วพูดอีกด้านหนึ่งว่า ระบบสมมติแห่งวินัยนั้น มนุษย์จัดตั้งขึ้น ก็เพื่อให้ตนได้ประโยชน์จากธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมดาในระบบของธรรมนั่นเอง

พูดสั้นๆว่า วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และวินัย ก็เพื่อธรรม โดยธรรมเป็นทั้งฐาน และเป็นวัตถุประสงค์ของวินัย

ถ้าพูดให้แคบลง และง่ายเข้า ก็บอกว่า กฎมนุษย์ต้องอยู่บนฐานของกฎธรรมชาติ ต้องสอดคล้อง กับ กฎธรรมชาติ จึงจะได้ผลที่ต้องการจากกฎธรรมชาติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 09:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานอย่างนี้แล้ว เห็นควรพูดถึงเรื่องสำคัญบนพื้นฐานของความเข้าใจนี้ไว้สัก ๒ อย่าง

เรื่องแรก ดังได้พูดแต่ต้นว่า สังคมมนุษย์เป็นไปได้ด้วยสมมติหรือมติร่วม คือ การรับรู้ยอมรับตกลงกัน อันทำให้การติดต่อสื่อสารดำเนินไปได้ และวินัย คือ การจัดตั้งวางระบบการทั้งหลายของสังคมก็เป็นไปได้

นี่คือ การบอกชัดเจนอยู่ในตัวว่า สมมติที่ตกลงยอมรับร่วมกันนั้น ต้องอาศัยความพร้อมใจร่วมกันลงตัวเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน ที่เรียกว่าความ “สามัคคี” พูดง่ายๆว่า ในเรื่องของสังคมนี้ สมมติตั้งอยู่ได้ด้วยสามัคคี ตั้งแต่ตกลงกัน ก็ยอมรับ ร่วมรู้ แล้วก็ร่วมปฏิบัติตาม

โดยนัยนี้ สามัคคีจึงเป็นฐานรองรับสมมติไว้ ถ้าไม่มีสามัคคี สมมติก็อยู่ไม่ได้ อารยะธรรมก็สั่นคลอน เพราะสังคมมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยสมมติ และสามัคคีก็รองรับสมมติไว้ โดยทำให้คนยอมรับตามสมมตินั้น

ถ้าคนไม่สามัคคีกัน ก็จะเกิดการไม่ยอมรับตามสมมติ เช่น ไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น หรือของคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน ไม่ยอมรับสิทธิต่างๆ ของคนพวกอื่นฝ่ายอื่น ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย จึงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายระส่ำระสาย จนถึงอาจจะทำให้สังคมดำรงอยู่ไม่ได้

ในแง่นี้ สามัคคีจึงเป็นพื้นฐานของวินัย เป็นหลักประกันของสมมติ เป็น เครื่องรองรับและผนึกสังคมไว้ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก เหนือขึ้นไปกว่านั้น สามัคคีทำให้สังคมเกิดมีคุณประโยชน์ตามความหมายของมัน โดยทำให้บุคคลทั้งหลายในสังคมนั้นๆ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน และเป็นสภาพเอื้ออำนวยโอกาสแก่ทุกคนที่จะดำรงชีวิตของตนอยู่ด้วยดี สามารถพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าถึงประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป


เฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่มีระบบชุมชนหรือการเมืองที่ปกครองแบบให้บรรดาสมาชิกมีส่วนร่วมอย่างเช่น สังฆะในพระพุทธศาสนาและระบอบประชาธิปไตย ความสามัคคี คือการพร้อมเพรียงใจ มีเอกภาพ จึงเป็นเหมือนหัวใจของระบบสังคมนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำหลักสังฆสามัคคี ที่ต้องมีอยู่คู่กับวินัยที่มั่นคง


ผู้บริหารหรือผู้ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ที่ฉลาด ต้องสามารถเอาปัญญามาให้วินัย จัดแจงให้บรรดาบุคคลหรือสมาชิก ประสานเข้าด้วยกันเป็นสังฆสามัคคี หรือที่บางทีเรียกว่าคณสามัคคี


มองลึกลงไป เทียบด้านธรรม ก็เหมือนบุคคลผู้เฉลียวฉลาด จะทำการตามระบบของกฎธรรมชาติ ให้สำเร็จผล เขาใช้ปัญญาสืบค้นและจัดสรรเหตุปัจจัย พอได้ปัจจัยทั้งหลายพรั่งพร้อมและประสานกัน เกิดเป็นปัจจัยสามัคคี การที่ทำก็บรรลุผลที่หมาย ได้ผลสำเร็จดังที่ประสงค์ แต่ถ้าปัจจัยไม่พรั่งพร้อม ไม่มีปัจจัยสามัคคี ไม่ว่าจะทำอย่างไรๆ ผลที่หมายก็ไม่เกิดขึ้น


ทีนี้ มองแยกออกไปอีกด้านหนึ่ง ที่ว่า วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และเพื่อธรรมนั้น ควรทำความเข้าใจความหมายของธรรม ให้ครบแง่ครบด้านด้วย คือ ธรรม ที่ว่าเป็นสิ่งธรรมชาติ และกฎธรรมดานั้น แปลอีกแบบหนึ่งว่า ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม


เมื่อพูดในด้านนี้ เรื่องก็โยงกับความสามัคคีอีก

ถ้าสมมติและวินัย ที่จัดการสมมตินั้นไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม หรือไม่เป็นไปตามธรรม ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้
แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงหรือแพร่หลาย ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสังคม

จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะให้สมมติที่เป็นหลักของสังคมตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม และเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อให้เกิดความสามัคคี แม้หากว่าสมมตินั้นขัดต่อผลประโยชน์ของบุคคลบางคน
แต่ถ้าสมมตินั้นชอบธรรม มีธรรมเป็นฐานรองรับ เขาก็ไม่อาจปฏิเสธสมมตินั้นได้
พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการพัฒนาคนอยู่เสมอเพื่อให้ร่วมสามัคคีในการที่จะยอมรับ และปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรมนั้นๆ

ถ้าคนไม่ยอมรับความจริงในธรรมดาของธรรมชาติ เขาก็จะได้รับผลร้ายตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ
แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับสมมติ เขาก็จะแตกสามัคคีกันในสังคมมนุษย์เอง และผลร้ายก็เกิดแก่เขาเนื่องจากความแตกสลายของสังคมของเขานั้น



ขอย้อนกลับไปที่จุดเดิมว่า เมื่อสมมติและวินัยที่จัดการสมมตินั้นตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม เป็นไปตามธรรม ตามที่ควรจะเป็นด้วยดี ไม่มีความขัดข้องด้านนี้แล้ว ในภาวะอันเป็นปกติอย่างนี้ บุคคลซึ่งรู้ตระหนักอยู่แล้วว่า การที่อยู่ร่วมกันในสังคม ตนควรจะส่งเสริมความเข็มแข็งมั่นคงของสังคมหรือสังฆะ เพื่อความแน่นแฟ้นแห่งสังฆสามัคคี จึงควรปฏิบัติตนในทางที่จะเกเกื้อหนุนสังฆสามัคคีนั้น


การที่บุคคลจะเกื้อหนุนต่อสังฆะ เพื่อเสริมสังฆสามัคคีนั้น นอกจากการีส่วนร่วมแล้ว ก็พึงมีความเคารพสงฆ์ คือถือสงฆ์เป็นใหญ่ ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นใหญ่ ดังที่พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์*
(องฺ.จตุกก.21/21/27)


การที่บุคคลผู้อยู่ร่วมในสังคม ส่งเสริมความเข้มแข็งมั่นคงของสังคม หรือสังฆะนั้น ในที่สุดก็มิใช่เพื่อประโยชน์อะไรแก่สังฆะ ซึ่งมิได้มีตัวตนที่จะเสวยผลอะไร แต่การที่สังฆะหรือสังคมเข้มแข็ง ก็เพื่อว่าสังฆะที่เข้มแข็งมั่นคงนั้น จะได้มารองรับหนุนบรรดาบุคคลเหล่านั้นให้เจริญเติบโตขึ้นไป


ถ้าสังฆะไม่เจริญมั่นคง ก็จะไม่เอื้อให้บุคคลเจริญพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงให้ถือหลักการเรื่องเคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ คือสังฆะคารวตา และหลักการเรื่องความสามัคคีเป็นสำคัญ ตามหลักที่เรียกว่า “สังฆสามัคคี” แปลว่า ความพร้อมเพรียงของสงฆ์

ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีแล้ว สภาพชีวิตและระบบความเป็นอยู่ก็จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาของบุคคล เพราะฉะนั้น จึงต้องมีความสามัคคี


เรื่องสมมติพึ่งพาความสามัคคี ขอว่าไว้เท่านี้ก่อน และจะโยงกับเรื่องที่จะพูดต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เรื่องที่สอง ดังได้กล่าวแล้วว่า วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และเพื่อธรรม แต่แยกออกเป็นคนละระบบ เหมือนเป็นเรื่องต่างหากกัน ธรรม เป็นเรื่องของความจริงแท้ในธรรมชาติ
ส่วนวินัย เป็นเรื่องสมมติของมนุษย์

พอถึงตอนนี้ พูดต่อไปอีกว่า วินัยใช้สมมติมาจัดการหมุนธรรมได้

ถ้าพูดเป็นสำนวนภาษามนุษย์ตามสมมตินั้น ก็บอกว่า เราเอาวินัยมาบังคับธรรม หรือไม่จำเป็นต้องรอธรรม ก็ได้

ขอให้ดูตัวอย่างข้อพิจารณานี้ว่า คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่า มีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา

แต่วินัยไม่รอ วินัยที่เป็นกฎมนุษย์ จึงตั้งกรรมสมมติขึ้นมา และนำผู้กระทำความผิดเข้ามาในกลางที่ประชุมและลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจัดการทันที ด้วยกรรมสมมติ โดยใช้กฎมนุษย์


พร้อมกันนี้ ก็มีคำทักท้วงติงเตือนชาวพุทธอีกด้วยว่า ในเรื่องอย่างนี้ ยังมีชาวพุทธที่วางท่าทีไม่ถูกต้อง บางคนถึงกับพูดว่า ใครทำกรรมชั่ว เราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาเอง
คนที่มองอย่างนี้ แสดงว่าพลาดแล้ว ยังมองไม่ถึงความจริง หรือมองไม่ตลอดสาย ยังไม่เข้าถึงวินัย ยังไม่ทั่วถึงธรรม


ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ขอให้มองดูความเป็นจริง พิจารณาเหตุผลให้ชัดเจน

ที่บอกว่า มีระบบธรรมชาติของธรรม กับ ระบบสมมติของวินัย แยกเป็น ๒ ระบบนั้น พอพูดกันไปๆ บางทีก็ชักเพลินเห็นไปว่ามี ๒ ระบบแยกต่างหากกันจริงๆ เหมือนอย่างที่แยกว่าเป็นโลกของธรรมชาติ กับ โลกของมนุษย์ (คือสังคม)
แต่ความจริง ที่แยกอย่างนั้นก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เท่านั้น จึงต้องเตือนกันว่า ระวังอย่าหลงเห็นเป็นความจริงจบไปชั้นเดียวแค่นั้น

เมื่อมองกว้างออกไป มองให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ ก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามนุษย์นี้เอง ตัวคนนี้เอง ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เรื่องอะไรๆของมนุษย์ และไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรๆ ในที่สุดก็ถึงกับธรรมชาติ ไปเป็นธรรมชาติอยู่ดี


อย่างที่ท่านแยกให้ว่า การกระทำของมนุษย์ เรื่องที่คนทำอะไรๆ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เรียกว่า กรรมนิยาม เหมือนเป็นกฎอื่นต่างหากไป แต่ที่จริง กรรมนิยามนั้น ก็คือกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ดังที่ว่ามาแล้ว เพียงแต่แยกออกมาพูดต่างหากเพื่อให้ชัดเจนเป็นด้านๆกันไป


ดังนั้น ที่ว่าธรรมกับวินัย เป็น ๒ ระบบนั้น แท้จริง ก็แยกเพื่อความสะดวกในการพิจารณาเรื่องราวให้เป็นขั้นเป็นตอน พอมองกว้างออกไปให้คลุมทั้งหมดทั้งสิ้น ระบบของวินัยก็เชื่อมกลืนเข้าไปในธรรมที่เป็นระบบใหญ่อันเดียว

ถึงตอนนี้ ก็ต้องถามว่า แยกที่ไหนอย่างไร และเชื่อมที่ไหนอย่างไร

ขอให้ดูง่ายๆ คนมีการเคลื่อนไหวชนิดที่ไม่เป็นไปเพียงเรื่อยๆลอยๆ ไม่เหมือนอย่างกิ่งไม้ใบไม้ที่ถูกลมพัด ก็สั่นไหวแกว่งไกวไปมา ตามลมตามแรงอื่นข้างนอก ไม่ใช่อยู่ๆ ก็แกว่งขึ้นมาเอง
แต่คนสั่นขา แกว่งแขนเองได้ หรืออย่างว่า เมื่อชายคนหนึ่งเดินมา พอดีจังหวะกิ่งไม้ผุร่วงหล่นลงมาถูกหัวแตกบาดเจ็บ นี่ไม่เหมือนกับมีคนอีกคนหนึ่ง หยิบกิ่งไม้ขึ้นมาแล้วตีหัวของชายคนนั้น หรือแม้แต่ว่าคนผู้นั้นตกต้นไม้ลงมาทับหัวชายคนนั้นพอดี

อะไรเป็นความแตกต่างระหว่างใบไม้ร่วง หรือกิ่งไม้หล่นโดนหัวคนแตก กับคนที่แกว่งแขน ไกวขา หรือ หยิบกิ่งไม้ขึ้นมาตีหัวคนอื่น ก็ตอบง่ายๆว่า กิ่งไม้ใบไม้ไม่มีการกระทำ แต่คนมีการกระทำ



แล้วถามลึกลงไปอีกว่า คนต่างจากกิ่งไม้ใบหญ้าและบรรดาธรรมชาติอย่างอื่น ตรงที่มีการกระทำนั้น การกระทำของคนคืออะไร เกิดขึ้นเป็นมาอย่างไร
ถ้าตอบอย่างชาวบ้าน เพราะคนมีจิตมีใจ ไม่ใช่เป็นแค่อิฐแค่ปูน แต่ก็ตอบกว้างเกินไป ถ้าตอบให้ตรงจุดเลย ก็บอกว่า เพราะคนมี “เจตนา” และการกระทำ คือกรรมของเขา ก็เกิดจากเจตนา หรือเจตนานั่นแหละเป็นการกระทำ เป็นกรรม เป็นตัวกระทำ

เจตนา คือเจตจำนง ความจำนงจงใจ ความตั้งใจ การเจาะจงเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเอาอันไหน จะเอาจะทำอย่างไร เป็นตัวหัวหน้านำแสดง ที่พาแรงจูงใจ ความดีความชั่ว โลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฏฐิ หรือที่ตรงข้าม เช่น เมตตาและปัญญา ออกโรงมาแสดงตัวทำการต่างๆ ทั้งหลาย


เรื่องของคน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ ตั้งแต่การตั้งสมมติ การวางกฎกติกา การบัญญัติ การจัดสรรการแต่งเรื่องราว กิจการงานอาชีพ การบ้านการเมือง เทคโนโลยี วัฒนธรรม อารยธรรม เกิดจาการกระทำของคน มีเจตนาเป็นตัวกำหนดจัดสรรบันดาลให้เป็นไป


คนเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่ง และเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ
เจตนาในตัวคนนั้น ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่อยู่ในระบบเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้น
แต่ในบรรดาองค์ประกอบอะไรๆมากมายในตัวคนนั้น
เจตนาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เท่ากับเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด เป็นที่หรือเป็นช่องทางแสดงตัวของคน โดยออกมาเป็นการกระทำ เริ่มแต่คิด แล้วก็พูด หรือลงมือลงเท้าทำ


ทีนี้ ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาตินั้น
เจตนาเป็นตัวแปรเจ้าใหญ่ ที่พลิกผันเปลี่ยนแปรความเป็นไปให้ปรากฏเป็นไปได้ในลักษณะ และอาการต่างๆ หลากหลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกลายเป็นแดนใหญ่ในระบบเหตุปัจจัยนั้น อันควรใส่ใจพิจารณาศึกษาหรือจับตามองเป็นพิเศษ จึงจัดแยกออกมาเป็นกฎธรรมชาติส่วนย่อยอันหนึ่ง ดังที่เรียกว่ากรรมนิยาม หรือกฎแห่งกรรม


เป็นอันว่า โลกมนุษย์หรือสังคมนี้ เป็นแดนของกรรมนิยาม และเจตนานั่นแหละเป็นตัวทำกรรม หรือพูดสั้นๆว่า เจตนาเป็นกรรม หรือ กรรมก็คือเจตนา อยู่ที่เจตนา


เมื่อวินัยจัดการในระบบแห่งสมมติของสังคมนั้น ก็จัดไปตามเจตนา หรือจัดด้วยเจตนานั่นเอง และไม่ว่าจะปฏิบัติจัดทำอะไร ทุกอย่างนั้น ก็เกิดจากเจตนา และถึงแม้จะเป็นเรื่องของสังคม แต่ในที่สุด ก็เป็นอันเข้าไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ไม่หายไปไหน


ที่นี้ มนุษย์ที่ดีมีปัญญา เมื่อใช้วินัยจัดการสมมติในสังคมนั้น ก็ต้องการให้สังคมดี คือให้มนุษย์ที่อยู่รวมกันนั้น อยู่ดี ทำดี มีความเรียบร้อย สงบสุข คือให้เป็นสังคมที่ดำเนินไปถูกต้องตามธรรม พูดสั้นๆว่าให้เป็นสังคมที่มีธรรม

ถึงตอนนี้ มนุษย์ที่ดีมีปัญญาดังว่านั้น ก็เอาวินัยมาจัดระบบสมมติของตัว ให้ประสานบรรจบกับระบบแห่งธรรมของธรรมชาติ ในทางที่จะเกิดเป็นผลดีที่ต้องการแก่คนหรือแก่สังคมมนุษย์นั้น

พูดง่ายๆ นี่ก็คือรู้จักจัดการเหตุปัจจัยให้ดีได้อย่างฉลาดนั่นเอง พูดอีกนัยว่า เข้าถึงเหตุปัจจัยซ้อน ๒ ชั้น


ตอนนี้ พูดสั้นๆ ก็คือ คนมีเจตนาที่ดี หรือเจตนาเป็นกุศลแล้ว นี่ก็คือเขาทำกรรมดีอย่างหนึ่งนั่นเอง
แต่ทำอย่างไร จึงจะเกิดผลสำเร็จตามเจตนาที่ดีนั้นได้ คือจะทำอะไรให้เหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติ ในระบบของธรรมนั้น ดำเนินไปจนให้เกิดผลดีที่ตนต้องการ
ก็ตอบง่ายๆว่า ต้องรู้เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลอย่างนั้นแล้วก็ทำเหตุปัจจัยนั้นๆ

ตรงนี้ก็มาถึงเจ้าบทบาทสำคัญอีกตัวหนึ่ง คือปัญญา และปัญญานี้ก็อยู่ในตัวคนนี่เอง
เป็นคุณสมบัติเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของคน
ปัญญาก็จึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง และเมื่อมันออกโรง มันก็เข้าไปเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งร่วมด้วยในกระบวนการของธรรมชาติ


ปัญญานี้สำคัญยิ่งนัก เพราะเป็นตัวที่รู้ธรรมชาติได้
ถ้าพัฒนาขึ้นไปๆ ก็ยิ่งรู้กว้างลึกเต็มรอบทั่วตลอดจนครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งหมด เรียกว่า เข้าถึงธรรมเลยทีเดียว


เมื่อเจตนาดีอยู่แล้ว มามีปัญญารู้เหตุปัจจัยทั่วรอบถึงตลอด ปัญญาก็บอกให้ว่าจะต้องทำอะไรๆ แล้วเจตนาก็ทำเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลดีอย่างนั้น ก็ใช้สมมติในระบบของวินัยนั่นแหละปฏิบัติการให้การทำเหตุปัจจัยดำเนินไป จนเกิดผลที่ว่าจะให้สังคมดีมีธรรม

ยิ่งกว่านั้น อย่างที่ว่า เมื่อมีเจตนาที่ดีบริสุทธิ์แล้ว ทีนี้ ปัญญาที่ทั่วชัด ก็บอกปัจจัยต่างๆ ให้เห็นชัดไปทั่วแล้ว เจตนาในทางวินัย ก็จัดตั้งวางลำดับการทำเหตุปัจจัยเหล่านั้นๆไว้ เป็นแบบแผน เป็นกฎระเบียบ ให้ทำกันไปได้เรื่อยๆ แม้แต่คนที่ไม่ค่อยจะดีไม่ค่อยจะมีปัญญา ก็ใช้ระบบสมมติของวินัยเอาไปปฏิบัติ ให้เกิดผลอย่างที่ผู้มีปัญญาจัดตั้งวางไว้
ตอนนี้ กระบวนเหตุปัจจัยของธรรม ก็มาเป็นบัญญัติในระบบของวินัย ให้ทำเหตุปัจจัย (ที่ดีๆ) เหล่านั้นกันไปได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืนนาน

ถึงตอนนี้ ก็มาบรรจบคำบอกข้างต้นที่ว่า คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่ามีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา
แต่วินัยไม่รอ วินัยที่เป็นกฎมนุษย์ จึงตั้งกรรมสมมติขึ้นมา และนำผู้กระทำความผิดเข้ามาในกลางที่ประชุม และลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจัดการทันที ด้วยกรรมสมมติ โดยใช้กฎมนุษย์ คำที่ว่านี้ ถึงตอนนี้ก็ไม่ต้องสงสัยแล้ว

ดังเช่นว่า ถ้าพระเกิดทะเลาะกันขึ้น ก็มีวิธีระงับอธิกรณ์ คือ ดำเนินดี เพื่อตัดสินความผิด และลงโทษกัน โดยที่ประชุมสงฆ์ทำกรรมที่บัญญัติจัดวางไว้ เอามาทำให้เสร็จสิ้นไป ไม่ให้ต้องรออยู่อย่างนั้น

ถ้ามีคดีเกิดขึ้น แต่ไม่ดำเนินการ ก็เอาผิดกับพระที่ไม่ดำเนินการอีก จะไปอ้างว่ารอให้กรรมจัดการ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต วินัยไม่ให้รอ เพราะวินัยก็มีกรรม ที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที (ดูเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงนิคคหกรรมจำนวนมาก ในพระวินัยปิฎก)


เป็นอันว่า มีหลักที่เป็นระบบใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย
ในเรื่องของสังคม ถ้าผิด วินัยจัดการทันที หมายความว่า วินัยมีวิธีจัดตั้งสมมติ และดำเนินการตามสมมติ เพื่อให้ธรรมสำเร็จเป็นผลในสังคม มิฉะนั้น ในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ การปฏิบัติตามธรรมก็จะคลาดเคลื่อนไป และสังคมก็จะคลาดจากธรรม


อย่างไรก็ตาม จะต้องทำความเข้าใจลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ แท้จริงนั้น ที่พูดว่า "วินัยไม่รอธรรม" เช่น เมื่อมีภิกษุทำความผิด วินัยและสงฆ์จะไม่รอให้กรรมแท้ตามกฎธรรมชาติแสดงผล แต่สงฆ์จะนำเอากรรมสมมติตามวินัยมาใช้จัดการกับภิกษุนั้นทันที การที่พูดอย่างนี้ นับว่าเป็นสำนวนพูดในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่ามนุษย์แยกตัวเองพ้นเหนือกฎธรรมชาติได้

ความจริงมีเพียงว่า การจัดตั้งต่างๆ โดยสมมติ และปฏิบัติการต่างๆ ในทางวินัยทุกอย่างนั้น ที่แท้ก็คือความสามารถพิเศษของมนุษย์ ที่นำเอาปัจจัยอันเป็นธรรมชาติในฝ่ายของตนเอง เข้าไปเป็นส่วนร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่มนุษย์ในทางที่ดีงามพึงปรารถนา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัย หรือระบบสมมติทั้งหมด ก็คือการที่มนุษย์นำเอาปัญญาและเจตจำนง ซึ่งเป็นคุณสมบัติธรรมชาติอันวิเศษที่ตนมีอยู่ มาเพิ่มเข้าไปเป็นปัจจัยพิเศษในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น ดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน โดยสอดคล้องกับปัญญา และเจตจำนงของมนุษย์นั่นเอง


ปัญญา และ เจตนา หรือเจตจำนง ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆนั้น ก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่เป็นธรรมชาติด้านนามธรรม และเป็นธรรมชาติส่วนพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการฝึกศึกษาพัฒนาที่เป็นศักยภาพของมนุษย์


พูดสั้นๆว่า วินัย คือ การนำเอาปัญญาและเจตนา ที่เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ เข้าไปร่วมเป็นปัจจัยที่จะผันแปรกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดีแก่ตนในเชิงสังคม

ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมขึ้นมา อยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้คุณสมบัติเหล่านี้ให้เป็นปัจจัย ความเป็นมนุษย์จะมีประโยชน์อะไร


การที่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งเกิดจากปัญญา และเจตจำนง/เจตนาของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะชักนำให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ตามความต้องการของปัญญา และเจตจำนงได้จริงนั้น ย่อมเป็นข้อเรียกร้องหรือบังคับอยู่ในตัวว่า มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาและเจตจำนงในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้นำไปสู่ผลที่ต้องการได้จริง


ทั้งนี้ สังคมหรือสังฆะนั้นก็จะต้องมีสามัคคี ที่จะยอมรับถือตามสมมติและปฏิบัติตามบัญญัติ ที่ได้ตกลงไว้ โดยพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระบบของวินัยนั้น จึงจะสำเร็จผลที่จะให้เป็นไปตามธรรมดังที่ประสงค์ด้วยดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 10:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทบทวนอีกทีว่า กรรม มี ๒ แบบ คือ

๑. กรรมในธรรม ที่เป็นกฎธรรมชาติ

๒. กรรมในวินัย ที่มนุษย์ตั้งขึ้นโดยสมมติ

ในทางวินัย ถ้าพระทำผิด ชุมชนคือสงฆ์ ก็มีกรรมสมมติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบท ที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที และต้องจัดการโดยไม่รอกรรมในกฎธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ถึงตอนนี้ เราได้นำเอากรรมสมมติ ที่เกิดจากปัญญา และเจตนาของมนุษย์ มาเป็นปัจจัยร่วมที่เพิ่มเข้าไปเป็นกรรมในกฎธรรมชาติด้วยแล้ว

อนึ่ง พึงเข้าใจด้วยว่า กรรมสมมติ หรือกรรมทางวินัยนี้ มิใช่มีเฉพาะกรรมในการลงโทษ หรือในการแก้ไขระงับปัญหาเท่านั้น แต่กรรมในทางก่อเกิดเกื้อหนุนก็สุดแต่จัดตั้งขึ้นมา
ดังในสังฆกรรมทั้งหลาย มีอุปสัมปทากรรม อุโบสถกรรม ปวารณากรรม และบรรดาสมมติกรรม ในการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ หรือผู้รับผิดชอบกิจกรรมของส่วนรวม เป็นต้น รวมอยู่ด้วย

ทิ้งท้ายว่า ท่านผู้มีปัญญาเยี่ยมยอด ประจักษ์แจ้งธรรม ถึงสัจจะสูงสุด ตรัสรู้แล้ว แต่หยุดแค่นั้น ก็เป็นพระพุทธเจ้า แต่คือแค่ปัจเจกพุทธะ

หากอาศัยมหากรุณา ก้าวไปใช้วินัย บัญญัติจัดตั้งและดำเนินกิจการในระบบสมมติ ให้ชุมชน ให้สังคม ให้มวลประชาชาวโลก ได้รับประโยชน์จากธรรมด้วย จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จะรู้จักและได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาคุ้ม จึงมิใช่แค่ถึงธรรม - ธรรมชาติ แต่จัดวินัย - สังคมได้ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2017, 17:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ศีลระดับธรรมอยู่ที่ตัวคน ศีลระดับวินัยขยายผลเพื่อสังคม


ศีลตามความหมายกว้างๆ อย่างที่ใช้เป็นคำไทยนั้น กล่าวได้คร่าวๆว่ามี ๒ ระดับ

หนึ่ง ระดับทั่วไป ได้แก่ ระดับธรรม หรือระดับที่ยังเป็นธรรม คือ ข้อแนะนำสั่งสอน หรือหลักความประพฤติที่แสดง (เทสิตะ) ให้รู้เข้าใจ ผู้ที่ทำดี ทำชั่ว มีความประพฤติดี ประพฤติชั่ว หรือรักษาศีล ละเมิดศีล ย่อมรับผลดีผลชั่วเองตามเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมดาแห่งความดีความชั่ว ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม หรือตามกฎแห่งกรรมนั้น

สอง ระดับเฉพาะ ได้แก่ ระดับวินัย หรือระดับที่เป็นวินัย คือ เป็นแบบแผนข้อบังคับที่บัญญัติ คือวาง หรือกำหนดขึ้น (ปัญญัตตะ) ไว้ เป็นทำนองประมวลกฎหมาย สำหรับกำกับความประพฤติของสมาชิกในหมู่ชนหรือชุมชนหนึ่ง โดยสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะ หรือชุมชนนั้นโดยเฉพาะ ผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศีลประเภทวินัย มีความผิดตามอาณาของหมู่ ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจากอกุศลเจตนาที่จะได้รับผลตามกฎแห่งกรรมของธรรมชาติ


เมื่อพิจารณาตามหลักนี้ จะเห็นได้ว่า สังคมวงกว้าง คือหมู่มนุษย์ทั้งหมด มีสภาพต่างกันไป ทั้งโดยกาละ และเทศะ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาวะเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นต้น ซึ่งแปลกกันไปตามถิ่น ตามยุคสมัย การที่จะวางบทบัญญัติเกี่ยวกับศีลในส่วนรายละเอียดไว้เป็นแบบแผนอย่างเดียวกันตายตัวโดยอาณา อย่างที่เรียกว่าวินัยนั้น มิใช่ฐานะที่จะพึงกระทำ เพราะไม่อาจให้สังคมทุกยุคทุกสมัยทุกสภาพแวดล้อม ดำรงอยู่ด้วยดี และมีสภาพเกื้อกูล ด้วยประมวลบทบัญญัติที่มีข้อปลีกย่อยอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันทั้งหมด



ดังนั้น สำหรับสังคมมนุษย์ทั่วไป พระพุทธศาสนาจึงแนะนำสั่งสอน หรือเสนอหลักธรรมหมวดที่นิยมเรียกกันว่า ศีล ๕ ไว้เป็นข้อกำหนดอย่างต่ำ หรือหลักความประพฤติอย่างน้อยที่สุดในระดับศีล
เลยจากนั้นขึ้นไป ก็มีศีลในกรรมบถ คือ กุศลกรรมบถ ๗ ข้อต้น หรือศีลที่เป็นองค์แห่งมรรค ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นหลักของศีลอย่างกว้างๆ

ศีลอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนตามฐานะที่มันเป็นธรรม คือ คำแนะนำหรือหลักความประพฤติ ซึ่งเมื่อปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ย่อมก่อให้เกิดผลดีหรือผลร้ายไปตามกฎแห่งธรรมดา


ถ้าผู้ใดเห็นชอบว่าตนควรประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ยกเอาข้อธรรมขั้นศีลเหล่านี้มาเป็นข้อปฏิบัติของตน เพียรพยายามตั้งใจทำตามนั้น ถือกันว่า ถ้าเขาปฏิบัติได้แม้เพียงศีล ๕ ก็สมควรแก่การเรียกว่าเป็นชาวพุทธ

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าคนผู้ใดต้องการเป็นชาวพุทธ พระพุทธศาสนาก็กำหนดเงื่อนไขให้เขารับเอาข้อธรรมอย่างน้อย ๕ ข้อนั้น ไปถือปฏิบัติ เมื่อถึงตอนนี้ ธรรมขั้นศีล ๕ ข้อนั้น ก็ได้ชื่อว่า สิกขาบท ๕ แปลว่า ข้อสำเหนียก หรือข้อฝึกหัดความประพฤติ ๕ อย่าง

ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา มีข้อกำหนดความประพฤติอย่างต่ำเท่านี้

แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะ จะประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก เช่น รักษาอุโบสถมีองค์ ๘ ในวันอุโบสถอีกส่วนหนึ่ง ก็ได้



สิกขาบทนี่แหละ ที่ทำให้ศีลระดับธรรม กลายมาเป็นศีลระดับวินัย เพราะวินัย คือ ประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง
แต่ถึงกระนั้นพระพุทธศาสนา ก็มิได้วางประมวลบทบัญญัติเป็นวินัยไว้ สำหรับให้มนุษย์ทั้งหมดต้องปฏิบัติเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเรื่องของมนุษย์หมู่หนึ่ง ชุมชนหนึ่ง หากเห็นงาม จะพึงบัญญัติขึ้นให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม และความมุ่งหมายของพวกตน โดยอาจนำเอาข้อธรรมต่างๆในขั้นศีล ซึ่งมีอยู่มากมาย มาเลือกกำหนดเป็นวินัยบังคับใช้แก่พวกตน ดังเช่น ที่พระอรรถกถาจารย์ถือเอาการเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นอาคาริยวินัย (ขุทฺทก.อ.149 สุตฺต.อ.2/101) (วินัยของผู้ครองเรือนหรือวินัยของชาวบ้าน) บ้าง

ถือเอาหลักความประพฤติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสิงคาลกสูตร เช่น การเว้นอคติ ๔ การไม่เสพอบายมุข ๖ และความสัมพันธ์ตามหลักทิศ ๖ เป็นต้น ว่าเป็น คิหิวินัย (วินัยของคฤหัสถ์ ตรงกับอาคาริยวินัยนั่นเอง) บ้าง

นี่เป็นเรื่องของศีลสำหรับสังคมวงกว้าง หรือสังคมคฤหัสถ์

แต่สำหรับชุมชนที่เรียกว่าภิกษุสงฆ์ หลักการต่างๆ ในเรื่องศีล สามารถวางให้แน่นแฟ้นยิ่งกว่าที่กล่าวมานั้น เพราะภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเอง ตามหลักการและความมุ่งหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้มีสภาพเกื้อกูลที่สุดการปฏิบัติ ที่มุ่งตรงต่อจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และการเผยแพร่ความดีงามที่เกิดจากการปฏิบัติเช่นนั้นให้กว้างขวางออกไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก
ดังนั้น พระองค์จึงได้บัญญัติระเบียบ ข้อบังคับต่างๆขึ้นควบคุมความเป็นอยู่ และความประพฤติทั่วไปของภิกษุทั้งหลายที่เป็นสมาชิกของสงฆ์นั้น เท่าที่จะให้บังเกิดผลตามหลักการและวัตถุประสงค์

บุคคลที่จะเป็นสมาชิก คือบวชเป็นพระภิกษุ ต่างก็เข้ามาโดยสมัครใจ จึงเป็นอันต้องถือว่าได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นเสมอเหมือนกันทั้งหมด ประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบข้อบังคับทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล เป็นวินัยของภิกษุทั้งหลาย

วินัยหรือประมวลบทบัญญัตินี้ ประกอบด้วยสิกขาบทต่างๆมากมาย มีทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัว
ข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก คือ พระภิกษุด้วยกัน และความสัมพันธ์กับคนภายนอกเช่นกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ตลอดจนการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระเบียบว่าด้วยการปกครอง และการดำเนินกิจการต่างๆ ของสงฆ์ เป็นต้น


แม้ภิกษุณีสงฆ์ที่ตั้งขึ้นภายหลัง ก็บัญญัติสิกขาบทต่างๆ ขึ้นเป็นวินัยเช่นเดียวกัน

ส่วนผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก แต่ยังมีคุณสมบัติบางอย่างไม่ครบถ้วน ก็อาจรับเข้ามาเป็นสามเณร หรือสามเณรีก่อน โดยมีฐานะและสิทธิแห่งความเป็นสมาชิกยังไม่สมบูรณ์ และได้บัญญัติสิกขาบทไว้เป็นเครื่องกำกับความประพฤติ ๑๐ ข้อ ซึ่งรวมอยู่ในประมวลกฎหมายที่เรียกว่าวินัยนั้น

ภาวะที่ดำรงอยู่ด้วยดี หรือประพฤติดี โดยไม่ละเมิดวินัย (คือไม่ละเมิดสิกขาบททั้งหลายในวินัย) นั่นแหละ เรียกว่า ศีล

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ย. 2017, 07:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ความสำนึกในการรักษาศีล หรือปฏิบัติตามศีล แยกออกได้เป็น ๒ ด้าน
คือ
การฝึกหัดขัดเกลาตนเอง (เพื่อความก้าวหน้าในคุณธรรมที่ยิ่งๆขึ้นไป) อย่างหนึ่ง และ
การคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคม อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะวินัยของพระสงฆ์ ท่านเน้นความสำนึกอย่างนี้ไว้หนักแน่น

ความสำนึกอย่างแรก คือการฝึกหัดขัดเกลาตนเองนั้น พอจะมองเห็นกันได้ชัดอยู่แล้ว ส่วนที่ควรย้ำไว้ ณ ที่นี้ คือ การคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือของผู้อื่น

เมื่อมีภิกษุกระทำการไม่ดีไม่งามขึ้น สมควรจะบัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าก็ประชุมสงฆ์ สอบสวนผู้กระทำการได้ความสมจริงแล้ว จะทรงชี้โทษของการกระทำนั้นว่า ไม่เป็นไปเพื่อปสาทะ คือความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว มีแต่จะทำให้เกิดความไม่เลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว บางพวกกลายเป็นอย่างอื่นไป แล้วตรัสแถลงประโยชน์ที่มุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ในการบัญญัติสิกขาบท เสร็จแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆขึ้นไว้ * (ข้อความนี้ มีทั่วไปเกือบทุกสิกขาบท ในวินัยปิฎกเล่ม ๑-๒-๓ ตั้งแต่ วินย.๑/๒๐/๓๕ เป็นต้นไป)

ข้อความที่ว่า ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของคนที่ยังไม่เลื่อมใส เป็นต้นนั้น แสดงความคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวม และของผู้อื่น

ประโยชน์สุขของส่วนรวมอย่างแรก ก็คือ ความดำรงด้วยดีของชุมชนที่เรียกว่า สงฆ์ หรือจะว่าขอพระศาสนาก็ได้ เพราะความมั่นคงของสงฆ์ และของพระศาสนาต้องอาศัยศรัทธาของประชาชน

ประโยชน์สุขสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือประโยชน์สุขของประชาชน หรือชาวบ้าน ผู้เลื่อมใสและจะเลื่อมใสนั่นเอง เพราะ ปสาทะ คือความเลื่อมใส ความผ่องใส ความแช่มชื่น แจ่มใส โปร่งสบายของจิตใจ ความสดใสฟูใจ มั่นใจที่เร้าจิตให้หันมาพอใจสนใจ ใส่ใจในคน ในเรื่องที่ดีงาม เป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งเกื้อกูลแก่จิตใจ เป็นปัจจัยแห่งความสุข ช่วยให้เกิดสมาธิ และเอื้ออำนวยแก่การใช้ปัญญา ทำให้เกิดกำลังพร้อมที่จะเข้าใจเรื่องที่พินิจพิจารณา* (เช่น “เมื่อมีความผ่องใส ก็จะเข้าอาเนญชสมาบัติได้ในบัดนี้ หรือไม่ก็น้อมดิ่งไปเพื่อปัญญา” (ม.อุ.14/82-88/75-78) “เมื่อระลึกถึงตถาคต จิตก็ผ่องใส เกิดปราโมทย์ และละอุปกิเลสของจิตได้” (องฺ.ติก.20/510/265) เรียกได้ว่า เป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานของจิตใจ เป็นการทำประโยชน์ขั้นแรกแก่บุคคล เป็นจุดได้กำลังตั้งตัวที่จะก้าวขึ้นสู่การพัฒนาจิตพัฒนาปัญญา

เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงเทศนาอริยสัจแต่ละครั้ง พระองค์ค่อยๆสอนเตรียมพื้นจิตใจและปัญญาของผู้ฟังให้พร้อมขึ้นปีละขั้นๆ จนผู้นั้น มีจิตที่คล่อง สบาย นุ่มนวล ปลอดจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส คือมี ปสาทะ แล้ว จึงแสดงอริยสัจ ๔ * (ดู วินย.4/26/0 ฯลฯ เนื้อความเหมือนกันทุกแห่ง ต่างแต่บุคคล)

การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีล จึงมิใช่เพื่อมุ่งประโยชน์ที่พึงมีมาแก่ตนจากความเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติผิดพลาดอย่างเต็มที่ แต่ต้องมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของสงฆ์ และของชาวบ้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้อง


สำหรับภิกษุปุถุชน การปฏิบัติเพื่อสงฆ์และเพื่อประชาชน ยังต้องดำเนินควบคู่ไปกับการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง
แต่สำหรับพระอริยบุคคล โดยเฉพาะพระอรหันต์ ซึ่งหมดกิจที่จะฝึกตนในด้านศีล หรือหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว การรักษาศีล หรือปฏิบัติตามวินัย ก็มีแต่การกระทำเพื่อประโยชน์สุขของสงฆ์และประชาชนด้านเดียว เข้ากับคติที่เป็นหลักใหญ่แห่งการดำเนินชีวิตและการบำเพ็ญกิจของพระพุทธเจ้า และพุทธสาวกที่ว่า “ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน...เพื่ออนุเคราะห์โลก” (เช่น ที.ม.10/211/254 ฯลฯ) และคติแห่งการมีจิตเอื้อเอ็นดูแก่ชุมชนที่จะเกิดมาภายหลัง เพื่อเป็นแบบอย่างทีดีงามของอนุชน หรืออย่างน้อยก็เพื่อเชิดชูความดีงามไว้ในโลก เป็นการเคารพธรรม เคารพวินัย นั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระอริยบุคคล จึงรักษาศีลประพฤติปฏิบัติอยู่ในเหตุผลอย่างเคร่งครัด การอ้างว่าตนหมดกิเลสแล้ว ไม่จำเป็นต้องรักษาสิกขาบทข้อนั้นข้อนี้ หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ เพราะจิตไม่ยินดียินร้าย ดังนี้ เป็นต้น ย่อมมิใช่ลักษณะของอริยชน

ความจริง มิใช่แต่ศีลเท่านั้น แม้ข้อวัตรต่างๆมากมาย ในการถือธุดงค์ข้อหนึ่งๆ ซึ่งมิใช่สิ่งจำเป็นแก่ตัวท่าน และมิใช่ข้อบังคับในวินัย พระอรหันต์บางท่านก็ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารส่วนตน และหวังจะอนุเคราะห์ชนรุ่นหลังให้ได้มีแบบอย่างที่ดีงาม

จึงควรระลึกไว้ด้วยว่า ในการพิจารณาเรื่องสีลัพพตปรามาส ไม่พึงลืมมองเหตุผล และความมุ่งหมายที่เกี่ยวกับความดีงามและประโยชน์สุขของหมู่ชนด้วย การรักษาศีล ข้อวัตร ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีการบางอย่าง ซึ่งกระทำด้วยความเข้าใจ มุ่งหมายเพื่อความเรียบร้อยดีงาม เป็นแบบอย่างอันดี เป็นเครื่องประสานหมู่ชนและเชิดชูธรรม หากทำเท่าที่จำเป็นพอสมแก่เหตุผล และความมุ่งหมายที่ดีงามนั้น มิใช่อำพรางตนเอง ก็มิใช่ข้อที่พึงด่วนติเตียน



การประพฤติในเรื่อง ศีล วัตร ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีการ แบบแผน ระบบ ระเบียบต่างๆ ที่ผิดพลาด ก็คือ
การถือโดยงมงายสักว่าทำตามๆกันมา อย่างไม่เข้าใจความมุ่งหมาย ไม่เห็นเหตุผล จนหลงไปว่าจะถึงความบริสุทธิ์ จะบรรลุจุดหมายสุดท้าย เพียงด้วยศีลพรต ด้วยระบบระเบียบพิธีเหล่านี้ เป็นเหตุให้ศีลพรตข้อวัตรระบบระเบียบพิธีการเหล่านั้น ขยายรูปแปลกประหลาดพิสดาร เตลิดออกไปเป็นข้อปฏิบัตินอกแนวทางของพระพุทธศาสนา หรือ
รักษาศีลบำเพ็ญระเบียบปฏิบัติต่างๆ โดยมีตัณหามานะทิฏฐิแอบแฝง อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ เป็นผลตอบแทน มุ่งหวังจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนบดบังความมุ่งหมายที่แท้จริง และปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงจุดหมายของการปฏิบัติธรรม หรือรักษาศีลบำเพ็ญข้อวัตร ทำตามระเบียบ แบบแผนวิธี อย่างอสัตบุรุษ คือเกิดความมัวเมาลุ่มหลงตนเอง ยกเอาคุณความดีเหล่านี้ขึ้นมาเป็นข้อเปรียบเทียบเพื่อยกตนข่มผู้อื่น*

* (เช่น เป็นพหูสูต เป็นวินัยธร เป็นธรรมกถึก ถืออยู่ป่า ถือผ้าบังสุกุล ถือรุกขมูล ถือฉันมื้อเดียว หรือได้ฌานสมาบัติเป็นต้นแล้ว ภูมิใจตน คิดดูถูกผู้อื่นว่าไม่ได้ไม่เป็นอย่างนั้น ท่านว่าเป็นอสัตบุรุษ (ม.อุ.14/184-190/137-140) มีศีลสัมปทาแล้ว ดีใจภูมิใจ ยกตนข่มผู้อื่น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท (ม.มู.12/348/365) แม้คุณธรรม หรือความดีพิเศษอื่นๆ ก็ไม่พึงถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น เช่นเดียวกัน (ดู ม.มู.12/464/498 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ย. 2017, 07:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ผู้รักษาศีล ประพฤติตามวินัย ควรเข้าใจ วัตถุประสงค์ คือประโยชน์ที่มุ่งหมายของวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงแถลงก่อนบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ประการ (ในที่นี้ จัดหมวดย่อยใส่ไว้ เพียงเพื่อให้ดูง่าย)
คือ
ก) ว่าด้วยประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม
๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแก่สงฆ์

ข) ว่าด้วยประโยชน์แก่บุคคล
๓.เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
๔.เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม

ค) ว่าด้วยประโยชน์แก่การเจริญธรรมพัฒนาชีวิต
๕.เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียที่ก่อความเดือดร้อนในปัจจุบัน
๖.เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียที่ก่อความเดือดร้อนในเบื้องหน้า

ง) ว่าด้วยประโยชน์แก่ประชาชน
๗.เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว

จ) ว่าด้วยประโยชน์แก่พระศาสนา
๙.เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อสนับสนุนวินัยให้หนักแน่น (วินย.1/20/37ฯลฯ)

จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์เหล่านี้ แสดงถึงเจตนารมณ์ที่เน้นความดีงามและประโยชน์สุขของสังคมเป็นอย่างมาก และบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายในวินัยนั้น เรื่องที่ยืนยันถึงการให้ความสำคัญแก่ส่วนรวมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือบทบัญญัติเกี่ยวกับสังฆกรรมต่างๆ อันได้แก่ การดำเนินกิจการของสงฆ์ โดยการร่วมกันคิดร่วมกันพิจารณาของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสมาชิก

แต่สังฆกรรมทั้งหลายจะเป็นได้ด้วยดี ก็เพราะสงฆ์มีความสามัคคี ไม่แตกแยก ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญของสังฆเภท และสังฆสามัคคี โดยตรัสว่า สังฆสามัคคี เป็นธรรมเอก ที่เมื่อเกิดมีในโลก ก็จะเป็นเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ส่วนสังฆเภท ก็เป็นธรรมเอกฝ่ายตรงข้าม (ขุ.อิติ. 25/196-197/237-238)

ไม่ต้องพูดถึงการดำเนินกิจการของส่วนรวม แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวัน พุทธบัญญัติต่างๆ ก็ล้วนเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่เกี่ยวกับประโยชน์สุข และความดีงามของสงฆ์และสังคมทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากข้อปฏิบัติสามัญอย่างหนึ่ง คือ การแสดงความเคารพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron