วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 01:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2017, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง

ต่อจากลิงค์นี้

viewtopic.php?f=1&t=54803&p=411029#p411029

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2017, 10:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
กบนอกกะลาพูด ไว้ที่ # 2

http://larndham.org/index.php?/topic/44 ... ntry819070

.ศีล..ทำให้มีทรัพย์....อันนี้ก็เจอกับตัวครับ...ของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่ทราบนะ..แต่ของผมนี้ประหลาดมาก...

เมื่อก่อน...ผมทำงาน..มีเงินเดือนเยอะนะ...แต่..บ้าน..รถ..ไม่มี..แต่งงานก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน

แต่พอเห็นทุกข์..อยากพ้นทุกข์...ศึกษาทางพ้นทกข์..เริ่มลงมือปฏิบัติ ก็เริ่มจากการรักษาศีลก่อนเลยนี้แหละ...ธุรกิจส่วนตัวที่ทำก็ใช่ว่าจะดีนะ..มีขาดทุนเรื่อย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี..กำไรที่พอมีก็น้อยกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับซะอีก. ..แต่เงินทองก็มีมาเรื่อย..มีคนเมตตาเราเยอะ...ให้เราเยอะ..ให้เฉยๆนี้แหละ...จนมีบ้าน..มีรุถ...แต่งภรรยาได้...ก็ประหลาดนะ...เมื่อไม่กี่วันมานี้..ก็จะให้รถเรามาอีกคัน..แต่ไม่เอา..ที่มีอยู่ก็พอแล้ว...

ประหลาดนะ..มีมาได้แบบแปลกๆ..


ย้ำไว้อีกครั้ง เพราะจะเข้ากับหัวข้อ กท.นี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2017, 11:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เศรษฐกิจจะดี ถ้ามีศีล

ในเมืองไทยนี้ มีการขอศีล-ให้ศีล -รับศีล เป็นประเพณีที่รู้กันเป็นสามัญ เมื่อรับศีล ที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า สมาทานเบญจศีล จบ พระผู้ให้ศีลก็จะกล่าวด้วยคำแสดงอานิสงส์ศีล ว่า "สีเลน สุคตึ..." มีใจความว่าด้วยศีล จะได้ไปสุคติ จะเกิดโภคสัมปทา คือความสมบูรณ์พรั่งพร้อมแห่งโภคะ และจะถึงนิพพาน

สาระที่เกี่ยวข้องในที่นี้ คือ ตอนที่ว่า ศีลทำให้เกิดทรัพย์สินเงินทองพรั่งพร้อม หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้เศรษฐกิจดี แม้ว่าคาถาแสดงอานิสงส์ศีลนี้ จะเป็นของเรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ไม่พบในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย และเมื่อกล่าวกันมาเป็นแบบแผน ก็ควรนำมาพูดไว้ พอเป็นเรื่องแทรกสั้นๆ

หลักการใหญ่ของศีล ก็คือ เป็นเครื่องจัดตั้งวางพื้นฐานเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคง เพื่อจะได้ทำการใหญ่ๆ สำคัญๆ ทั้งหลายให้ก้าวไปได้ด้วยดี

ว่าถึงด้านเศรษฐกิจ ก็ชัดดังที่เคยพูดแล้ว ในทางสังคม เมื่อคนอยู่ในศีล ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน การสัญจรสะดวกปลอดภัย ไปได้ทุกที่

จะตั้งโรงงาน จะทำกิจการอะไรที่ไหน จะเดินทางไปทำงาน ไปซื้อไปขายไปจับจ่ายที่ไหนเวลาใด ไม่ว่าในเมืองหรือบ้านนอก ตรอกซอกซอยไหน ค่ำคืนดึกดื่นเท่าใด ปลอดโปร่งโล่งใจไปได้หมด

คนงานกับนายจ้าง มีความสัมพันธ์กันดี มีน้ำใจซื่อตรงเกื้อหนุนกัน ระบบราชการงานเมืองสุจริต มีประสิทธิภาพ บรรดากิจการนานาประเภทน่าเชื่อถือไว้ใจได้ ทั้งคนใกล้คนไกล คนในถิ่นนอกถิ่นนอกประเทศ ติดต่อสื่อสารคมนาคม ไปมาราบรื่นร่าเริง การผลิต การพาณิชย์คล่องตัว นี่คืออย่างง่ายๆ ที่คิดสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม เป็นความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองเฟื่องพู

เมื่อบ้านเมืองมั่นคงดี ประชาชนมีความมั่นใจสูง ที่นี้ก็มาถึงตัวคน ว่าอย่างรวบรัด ด้านลบที่ขาดศีล เช่น เสเพล ลักขโมย ขี้ฉกขี้ฉ้อขี้โกงขี้เกียจขี้เมา เสียหายอย่างไร ขอข้ามไป ไม่ต้องพูดถึง

พูดแต่ในแง่มีศีล ชาวบ้านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อตกลงใจว่าจะอยู่ในศีล ถ้าแน่ใจตัวเองแล้วว่าจะตั้งใจทำมาหากินในทางสุจริต พอใจมุ่งดิ่งไปอย่างนี้ ความคิดที่จะหาช่องได้โน่นได้นี่ รอหาช่องทำนั่นทำนี่ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือจะคิดการทุจริตอะไร ก็ไม่มีแม้แต่รายการได้ของเผลอลาภลอย ก็ไม่นึกถึง ไม่มีเรื่องนอกที่จะมาแย่งเวลาแย่งความคิด

พอใจมุ่งแน่วมาที่เรื่องการงานอาชีพตรงเรื่องจริงๆ แล้ว ความคิดที่จะฟุ้งซ่านออกไปนอกทางไม่มี นี่คือเข้าทางของสมาธิแล้ว

ทีนี้ อย่างที่ว่า ใจมุ่งมาที่เรื่องการอาชีพ ตั้งใจทำจริงจัง ก็คิดถึงแต่เรื่องการเรืองงาน ว่าจะริเริ่มอะไร จะทำอะไรบ้าง จะดำเนินการอย่างไรให้ได้ผลดี มีอะไรจะติดขัดตรงไหนที่ไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร จะติดต่อทำทางเปิดทางของงานอย่างไร ควรคบหาใคร ปรึกษาใคร ร่วมมือร่วมงานกับใคร อย่างไร ฯลฯ
อย่างนี้ ก็คือศีลส่งผลต่อมาที่จิต ด้านสมาธิ กับ ปัญญามารับช่วงต่อ
เดี๋ยวอิทธิบาท ๔ ก็ทยอยมากันครบ มีหวังสำเร็จแน่

ขอให้จับตรงนี้ให้ชัดว่า หน้าที่ของศีล อยู่ที่จัดฐานเตรียมสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคงที่จะทำการต่อไปได้อย่างมั่นใจ
ถ้าขาดศีล ก็ฐานเสีย พื้นผุโหว่ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ
ถ้าไม่มีศีล ก็เริ่มไม่ได้ ถ้าเริ่มก็ง่อนแง่นโงนเงน พอสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยดีแล้ว ฐานมั่นพร้อมดีแล้ว ก็คือเข้าไปในวิถีของเรื่อง คือถึงตัวการงาน
พูดภาษาพระก็คือ มีสมาธิที่จะทำงานทำการ แล้วถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอะไร

ก็ขอรวบรัดอีกว่า มีกึ่งคาถาที่พระพุทธเจ้าไว้เป็นหลักประจำ เป็นประโยชน์เริ่มต้นคาถาสรุปคำสอนสำหรับชาวบ้านที่ทำงานทำการสร้างเนื้อ สร้างตัว เพื่อชีวิตที่ดีมีความสำเร็จลุจุดหมายในโลกนี้ กึ่งคาถานี้ คือ (องฺ.อฏฺฐก.23/144/293 ฯลฯ – ในเล่มเดียวกันนั้น ตรัสแก่คฤหัสถ์ ๒ สูตร แก่ภิกษุ ๒ สูตร)


"อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา"

แปลว่า "ขยันในการงาน ไม่ประมาท ฉลาดจัดการ" ขมวดให้จำง่ายว่า "ขยัน ไม่ประมาท ฉลาดจัดการ"

ความจากพุทธพจน์นี้ ควรถือเป็นหลักการทำงานเลยทีเดียว แน่นอนว่า ในเรื่องงาน ก็ต้องเริ่มด้วยขยัน (ตัวศัพท์ คือ อุฏฐานะ แปลว่า ตัวคนลุกขึ้น ไม่มัวนั่งนอนอยู่ ก็ได้ เงินทองเพิ่มขึ้น หรือมีความเจริญขึ้น ก็ได้) เมื่อขยันหมั่นเพียร กิจธุรการงานจึงจะเดินหน้า ก้าวไป แล้วจึงจะเสร็จ และถึงความสำเร็จได้

ความขยันหมั่นเพียรนี้ พระพุทธเจ้าทรงเน้น ไม่เพียงเป็นองค์ของความสำเร็จ แต่เป็นข้อระลึกอ้างอิงสำหรับความภาคภูมิใจและความสุขในชีวิตแห่งการงานด้วย

ดังที่ทรงย้ำเป็นประจำในคำสอนสำหรับคฤหัสถ์ว่า "มีโภคะซึ่งหามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม" * (องฺ.จตุกฺก.21/62/90 ฯลฯ)

นอกจากนั้น ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้ คนก็จะได้พัฒนาตัว พัฒนาชีวิต เพราะการก้าวไปในงานนั้น เป็นทั้งการพัฒนาคน และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องพัฒนาตัวในทุกด้าน ที่จะพาตัวให้ก้าวผ่านไปได้ และสำเร็จผล

อย่างไรก็ตาม ความขยันเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความไม่ประมาทกำกับด้วย

ถ้าขยันไม่เข้าเรื่อง ไม่ถูกเวลา ผิดที่ผิดจังหวะ ที่ควรขยัน ไม่ขยัน ไปขยันที่ไม่ควรขยัน ก็อาจเสียการ
ความไม่ประมาท ก็คือสติที่ ออกโรงทำงานกับความเพียรนี้เอง ได้แก่ ตื่นตัว ทันเหตุการณ์ มีเรื่องผ่านจับจุดได้
มีเรื่องร้ายไม่หวั่นไหว ไม่รีรอเมื่อได้ที่ มิให้มีช่องโหว่ทิ้งไว้ มีอะไรจะต้องรับมือหรือป้องกัน ก็เตรียมให้พร้อม ถึงเวลา ถึงจังหวะ หรือเกิดโอกาส ก็ไม่พลาด ไม่ละเลย ถือหลักว่า เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า" * (ขุ.ชา.27/1636/328)

พูดสั้นๆว่า ความไม่ประมาท ช่วยให้เพียรครบ ๔ สถาน
คือ
ทั้งเพียรปิดช่องป้องกันความเสื่อมเสียหาย
เพียรแก้ไขปัญหากำจัดเรื่องร้ายภยันตราย
เพียรสร้างสรรค์ทำการดีงามให้สำเร็จ และ
เพียรอนุรักษ์ เช่น รักษาคุณภาพ ดำรงเกียรติคุณ และปรับปรุงส่งเสริมให้เจริญยิ่งภิญโญจนกว่าจะสมบูรณ์ไพบูลย์


หลักที่ ๓ คือ ฉลาดจัดการ ก็สำคัญ เป็นเรื่องของปัญญา ทำให้ใช้ความขยันถูกเรื่อง ถูกที่ เป็นต้น และให้ความไม่ประมาทออกผลจริง

ในที่นี้ เพื่อให้สั้นที่สุด ก็ว่า ต้องจัดการด้วยปัญญาซึ่งรู้หลัก เฉพาะอย่างยิ่ง สัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งมีหัวข้อว่า รู้หลักรู้จักเหตุ รู้ความมุ่งหมายรู้จักผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้กลุ่มชน ชุมชน ถิ่นสังคม เช่น รู้จักเลือกใช้คนให้เหมาะ กับ งาน รู้ความต้องการของกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแบบนั้น ฯลฯ

ความฉลาดจัดการ หรือความรู้จักจัดการนี้ เป็นธรรมที่ทรงเน้น หรือตรัสบ่อย ทั้งสำหรับพระสงฆ์ (อลัง สังธาตุง - สามารถจัดการ) และแน่นอนว่าย้ำพิเศษ สำหรับคฤหัสถ์ที่รับผิดชอบหมู่ชนหรือกิจการต่างๆ เช่น
ทรงเล่าถึงหลักธรรมสำหรับผู้รับผิดชอบครอบครองบ้านเรือนว่า ผู้ครองเรือน ควรเป็นคนเผื่อแผ่แบ่งปัน รู้จัดการ (วิธานวันต์) * (ขุ.ชา.28/949/332)

สำหรับผู้จะรับราชการ ก็ตรัสเล่าเรื่องที่แสดงหลักธรรมไว้มาก รวมทั้งที่ว่า
ผู้มีวิจารณปัญญา พร้อมด้วยพุทธิปัญญา ฉลาดในวิธีจัดการ รู้จักกาล รู้จักสมัย จึงควรสนองราชกิจ คนที่ขยันในกิจการ ไม่ประมาท มีปัญญาสอดคล้อง จัดการงานได้ดี จึงควรสนองราชกิจ * (ขุ.ชา.28/969/339)


รวมความว่า ศีลครอบคลุมถึงธรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย

พูดนัยหนึ่งว่า ศีลเป็นเรื่องของการจัดการชีวิตให้มีสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อก้าวไปในการพัฒนาจิตปัญญาได้เต็มที่

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2017, 17:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระสูตรต่อไปนี้ แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับอาชีวะของคฤหัสถ์ ในด้านความแสวงหาทรัพย์บ้าง การใช้จ่ายทรัพย์บ้าง ความสุขที่พึงได้รับจากอาชีวะอันชอบธรรมบ้าง นำมาลงไว้ประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ

การแสวงหา และการรักษาทรัพย์

ครั้งหนึ่ง อุชชัยพราหมณ์ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลว่า ตนจะไปอยู่ต่างถิ่น จะขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน และธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภายหน้า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

“ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา (ย่อๆว่า อุ.อา.กะ.ส.เป็นหัวใจเศรษฐี)

๑) อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน ?

คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ก็ดี พาณิชยกรรม ก็ดี โครักขกรรม ก็ดี ราชการทหาร ก็ดี ราชการพลเรือน ก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี เธอเป็นผู้ขยัน ชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้าน ในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวนตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

๒) อารักขสัมปทา เป็นไฉน ?

คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม
เธอจัดการรักษาคุ้มครองทรัพย์เหล่านั้น โดยพิจารณาว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคะเหล่านี้ของเราเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้เสีย น้ำไม่พึงพาไปเสีย ทายาทอัปรีย์ก็จะไม่พึงเอาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

๓) กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรเข้าอยู่อาศัยในคามหรือนิคมใดก็ตาม

เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษา กับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา
เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา
ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีล ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล
ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะ ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ
ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

๔) สมชีวิตา เป็นไฉน ?

คือ กุลบุตรเลี้ยงชีวิตพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่งหรือลูกมือคนชั่งยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้

“ถ้าหากกุลบุตรนี้ รายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ ...กินใช้ทรัพย์สมบัติเหมือนคนกินมะเดื่อ
ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่เพราะกุลบุตรนี้เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ..นี้เรียกว่า สมชีวิตา



"ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อบายมุข (ช่องทางเสื่อม) ๔ ประการ
คือ
เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรชั่วสหายชั่ว ฝักใฝ่ในคนชั่ว เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำแหล่งใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง
หากคนปิดทางน้ำเข้าเสีย เปิดแต่ทางน้ำออก อีกทั้งฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความลดน้อยลงอย่างเดียว ไม่มีความเพิ่มขึ้นได้เลย...

“ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อายมุข (ช่องทางเพิ่มขึ้น) ๔ ประการ
คือ
ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรดี มีสหายดี ใฝ่ใจในกัลยาณชน เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำใหญ่ ใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง
หากคนเปิดทางน้ำเข้า ปิดทางน้ำออก และฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความเพิ่มพูนอย่างเดียว ไม่มีความลดน้อยลงเลย...

“ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขปัจจุบัน แก่กุลบุตร”

จากนั้น ตรัสแสดงธรรม ๔ ประการ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเบื้องหน้า หรือประโยชน์ล้ำเลยตาเห็น (สัมปรายิกัตถะ) คือ สัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา * (องฺ.อฏฺฐก.23/145/294)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2017, 07:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความสุขอันชอบธรรมที่คฤหัสถ์ควรมี


หลักการต่อไปนี้ เรียกกันง่ายๆว่า ความสุขของคฤหัสถ์ 4 ประการ ดังที่พุทธพจน์ที่ตรัสแก่อนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

“ดูกรคหบดี ความสุข 4 ประการนี้ เป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรได้ควรถึงอยู่เรื่อยๆ ตามสมัย ความสุข 4 ประการนั้น คือ อัตถิสุข โภคสุข อนณสุข อนวัชชสุข

1. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์) เป็นไฉน?

คือกุลบุตรมีโภคะอันหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เรามีโภคะที่หามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขนอย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เรียกว่า อัตถิสุข

2. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค) เป็นไฉน?

คือกุลบุตรกินใช้และทำสิ่งดีงามอันเป็นบุญทั้งหลาย ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรอัน เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเธอ ย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าด้วยทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม เราก็ได้กิน ใช้ และได้ทำสิ่งดีงาม อันเป็นบุญทั้งหลาย นี้เรียกว่า โภคสุข

3. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้) เป็นไฉน?

คือกุลบุตรไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ ไม่ว่าน้อยหรือมาก เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ เลยไม่ว่าน้อยหรือมาก นี้เรียกว่า อนณสุข

4. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากกรรมดีงามไร้โทษ) เป็นไฉน?

คืออริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ
เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ นี้เรียกว่า อนวัชชสุข

“เมื่อตระหนักถึงความสุขจาก ความไม่เป็นหนี้แล้ว คนจะพึงระลึกถึงสุขที่เกิดจากความมีทรัพย์ เมื่อกินใช้ก็เห็นแจ้งชัดด้วยปัญญา ถึงโภคสุข เมื่อเห็นอย่างแจ้งชัด เขามีปัญญาดี ย่อมเข้าใจทั้งสองส่วนเทียบกันได้ แลเห็นว่า ความสุขทั้ง 3 อย่างข้างต้นนั้น มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของความสุข ที่มีความประพฤติสุจริตไร้โทษ” * (องฺ.จตุกฺก.21/62/90)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2017, 17:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การใช้จ่ายทรัพย์

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์ หรือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติ แก่อนาถบิณฑิกคฤหบดี โดยตรัสให้เหมาะกับสภาพสังคมสมัยนั้น พึงพิจารณาจับเอาสารัตถะตามสมควร ดังต่อไปนี้

"ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะทั้งหลาย มี ๕ ประการ ดังนี้ คือ

๑) ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ
ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยา คนรับใช้กรรมกรคนงาน ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๑

๒) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลาย ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๒

๓) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมป้องกันโภคะจากภยันตราย ที่จะเกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทอัปรีย์ ทำตนให้สวัสดี นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓

๔) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมกระทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับ) ราชพลี (บำรุงราชการ-เสียภาษี) เทวตาพลี (ถวายเทวดาหรือบำรุงศาสนา) นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔

๕) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้หายร้อนกิเลสได้ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๕

"คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะมี ๕ ประการเหล่านี้แล"


"ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะหมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็หมดสิ้นไป โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ

"และหากว่า เมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะทรัพย์เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ เป็นอันไม่มีความเดือดร้อนใจทั้งสองกรณี" * (องฺ.ปญฺจก.22/41/48)


ผู้ครองเรือน เมื่อมีกินมีใช้แล้ว ท่านถือเป็นหลักสำคัญที่จะต้องให้ปันเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และถือว่า การปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการดำเนินตามมรรคาแห่งอารยชน ดังภาษิตว่า

"มีน้อย ก็พึงให้ตามน้อย มีปานกลาง ก็พึงให้ปานกลาง มีมาก ก็พึงให้ตามมาก การไม่ให้เลย ย่อมไม่สมควร แน่ะท่านโกสิยเศรษฐี เราขอกล่าวกะท่านว่า จงให้ปัน และจงกินใช้ จงขึ้นสู่มรรคาแห่งอริยชนเถิด ผู้กินคนเดียว ไม่ได้ความสุขดอก" *(ขุ.ชา.28/250/88)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2017, 09:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย


นอกจากพึงรู้ว่า การมีทรัพย์มิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนการทำสิ่งดีงามเพื่อชีวิตตนและผู้อื่น แล้ว พึงทราบขอบเขตแห่งคุณค่าของทรัพย์สมบัติ และการที่จะต้องแสวงสิ่งอื่นที่มีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นต่อไปด้วย เช่น

"การงาน วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอุดม สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ หาใช่ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่" * (ม.อุ.14/738/471 ฯลฯ)

"ข้าพเจ้า มองเห็นคนทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์สินแล้ว ไม่ให้ปัน เพราะความลุ่มหลง โลภทรัพย์ เอาแต่สั่งสมไว้ และปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป

“ราชารุกรานมีชัยทั้งแผ่นดิน ครอบครองปฐพีจรดสาคร ไม่อิ่มแค่ฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก ทั้งพระราชาและเหล่ามนุษย์ทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ยังมิทันสิ้นความทะเยอทะยาน ก็เข้าถึงความตาย ทั้งยังพร่องอยู่นั่นเอง ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลกเลย


“ญาติทั้งหลาย พากันสยายผมร่ำไห้ถึงผู้นั้น กล่าวรำพันว่า โอ้ ที่รักของพวกเรา มาจากลับไปเสียแล้หนอ แล้วเอาผ้าห่อห่มเขา นำเอาไปขึ้นเชิงตะกอน จัดการเผา เขาถูกสัปเหร่อเอาหลาวทิ่มแทงไป ไหม้ไฟหมดไป มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัว ละทิ้งทรัพย์สมบัติไป

“เมื่อจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายทั้งหลาย จะเป็นที่ต้านทานไว้ได้ ก็ไม่มี ทรัพย์ของเขา พวกที่รับมรดกก็ขนเอาไป ส่วนสัตว์ก็ไปตามกรรม เมื่อตาย ทรัพย์สักหน่อยก็ติดตามไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้น ก็เช่นกัน คนจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ ก็หาไม่ จะกำจัดชราด้วยทรัพย์ ก็หาไม่ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

"ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวาหวาด
ส่วนผู้เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบ ก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้" * (ม.มู.13/451/411 ฯลฯ)



อุปกรณ์สำคัญของการประกอบสัมมาอาชีวะ ก็คือศิลปวิทยา หรือสิปปะ (วิชาชีพ ฝีมือ ความจัดเจนงาน) ดังนั้น ท่านจึงเตือนให้ขวนขวายศึกษาศิลปวิทยา และให้บิดามารดาถือเป็นหน้าที่ ที่จะให้บุตรศึกษาเล่าเรียน

แต่ความรู้วิชาชีพ หรือความชำนาญงานอย่างเดียว ก็แคบไป ท่านจึงให้มีพาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก หรือศึกษาเล่าเรียนกว้างขวางประกอบด้วย เพื่อช่วยให้เห็นช่องทางในการประกอบสิปปะกว้างขวางออกไป สามารถบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และมีความคิดความเข้าใจมองเห็นอะไรๆกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ความสดับ ที่ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวแท้เริ่มแรกของการศึกษา

พร้อมกันนั้น ก็ให้ฝึกอบรมระเบียบวินัย เพื่อพร้อมที่จะนำสิปปะไปใช้ในทางที่ถูกต้อง และมีความประพฤติทั่วไปที่ดีงาม เกื้อกูลแก่ความอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น หรือแก่สังคม กับทั้งฝึกฝนให้รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี เป็นการขยายช่องทางดำเนินชีวิต และบำเพ็ญประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

หลักการขั้นศีลที่กล่าวมานี้ ดำเนินตามพุทธพจน์ว่า

"พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว หรือฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ๑ วาจาที่กล่าวได้ดี ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงานไม่คั่งค้างอากูล นี่ก็เป็นอุดมมงคล.... กิจกรรมที่ไร้โทษ นี่ก็เป็นอุดมมงคล" * (ขุ.ขุ.25/5/3 ฯลฯ)

นอกจากนี้ มีบาลีภาษิตเตือนให้ศึกษาศิลปวิทยาอีกมาก เช่น

"คนไม่มีศิลปวิทยา เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ยาก" (ขุ.ชา. 27/1651/330)

"จงให้บุตรเรียนรู้วิทยา" (ขุ.ชา. 27/2141/434)

"อะไรควรศึกษา ก็พึงศึกษาเถิด" (ขุ.ชา.27/108/35)

"ขึ้นชื่อว่า ศิลปวิทยา ไม่ว่าอย่างไหนๆ ให้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น" (ขุ.ชา.27/107/35)

"อันความรู้ ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าต่ำ ว่าสูง หรือปานกลาง ควรรู้ความหมายเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง วันหนึ่งจำถึงเวลา ที่ความรู้นั้นนำมาซึ่งประโยชน์" * (ขุ.ชา.27/817/184)

ฯลฯ

มีข้อความแทรกเข้ามา เกี่ยวกับอุดมมงคลระดับนี้ว่า พาหุสัจจะ ความชำชองเชิงวิชาการ ควรมาพร้อมกับ สิปปะ ความชำนาญในเชิงปฏิบัติ คือ ดีทั้งวิชา และฝีมือ ถ้าทั้งสองอย่างนี้มาเข้าคู่กันครบ ก็หวังได้ ซึ่งความเป็นเลิศแห่งงาน

ยิ่งเป็นคนมีวินัย ที่ได้ฝึกมาอย่างดี และเป็นคนที่พูดเป็น คือรู้จักพูดจาให้ได้ผลดี สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจหรือเห็นตามได้ ชวนให้เกิดความร่วมมือและสามัคคี ก็ยิ่งหวังได้ว่ากิจการจะประสบความสำเร็จ

ครั้นสำทับเข้าด้วยการปฏิบัติงาน ที่เรียบร้อย ฉับไว ไม่คั่งค้างอากูล และเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องประกันถึงความสำเร็จบริบูรณ์แห่งชีวิตด้านการงาน

แต่เพื่อป้องกันมิให้มีช่องว่าง ที่บุคคลนั้นจะมัวหลงเพลิดเพลินแต่วิทยาและการงาน จนลืมหน้าที่ต่อบุคคลใกล้ชิดภายในความรับผิดชอบที่บ้าน ท่านจึงแทรกมงคลอีก ๒ อย่างเข้ามาในช่องว่างแรกที่เว้นไว้ คือ การบำรุงมารดาบิดา และการสงเคราะห์บุตรภรรยา

ครั้นภาระด้านส่วนตัวครบครันแล้ว ท่านจะให้บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น คำนึงถึงความรับผิดชอบที่ตนจะพึงเกื้อกูลแก่คนอื่นขยายกว้างออกไป ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ให้ชีวิตของตนก้าวหน้าไปในความดีงามและได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมในการผดุงธรรมของมนุษยชาติ ท่านจึงเสริมมงคลอีก ๓ อย่าง เข้ามาในช่องว่างหลัง คือ ญาติสังคหะ การสงเคราะห์ญาติ ทาน การให้ปันเกื้อกูลกว้างออกไป และธรรมจริยา การประพฤติธรรม

เมื่อประพฤติตนได้เพียงนี้ ก็นับว่าเพียงพอ สำหรับจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองชีวิตที่ดีงามในโลก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2017, 09:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ



เรื่องอาชีวะนี้ เห็นควรพูดสรุปไว้อีกว่าพระพุทธศาสนายอมรับ และยืนยันความจำเป็นทางวัตถุ โดยเฉพาะปัจจัย ๔ ดังเช่น พุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยว่า* (ที.ปา.11/226/226; 375/289 ฯลฯ)

"สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา" สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

อย่างไรก็ดี ความจำเป็นแท้จริงนั้น อยู่ภายในขอบเขตเท่าที่พอดีจะช่วยให้ชีวิตด้านกายดำรงอยู่ในภาวะดีงามที่ควรเป็นปกติของมัน คือ ปลอดภัย ปราศจากโทษของความขาดและความเกิน ไรโรค ไร้ภัยอันตราย และเป็นไปได้สบาย คือ เกื้อกูลแก่การทำกิจ และการบำเพ็ญความดีงามด้านจิตและปัญญาที่สูงขึ้นไป

คุณค่าและความสำคัญของวัตถุนี้ ยังมีส่วนยึดหยุ่น โดยสมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม และองค์ประกอบภายในบุคคล คือปัญญาที่รู้เข้าใจเท่าทันคุณโทษ และขอบเขตความสำคัญของวัตถุ และความสามารถประสบปีติสุขที่ประณีตกว่าการเสพเสวยอามิสสุข

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงไม่สนใจที่จะกะเกณฑ์ว่า คนเราจะต้องมีวัตถุเท่ากัน เพราะเกณฑ์นั้นไม่ใช่เครื่องวัดว่าจะทำให้ทุกคนเป็นสุข และมีชีวิตที่ดีงามได้ แต่สนใจเกณฑ์อย่างต่ำที่ว่า ทุกคนควรมีปัจจัย ๔ เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้ด้วยดี

พ้นจากนั้นแล้ว พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวย ตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญาภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ข้อนี้ หมายความว่า ในการที่จะมีชีวิตเป็นสุข บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาต่ำ ย่อมต้องการวัตถุเสพ หรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุ มากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า

ส่วนความตกต่ำแห่งจิตปัญญา ที่เลยขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไป ก็คือ ความต้องการที่กลายเป็นความหลงใหลมัวเมา เอาแต่หาสิ่งปรนเปรอตน หมกมุ่นติดกาม จนลืมนึกถึงภาวะที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพื้นฐานเพื่อสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป และสามารถทำการบีบคั้นเบียดเบียนผู้อื่นได้ทันที เพื่อเห็นแก่ตน

เลยจากนี้ออกไปอีกทางหนึ่ง ในทิศตรงข้าม ได้แก่ ความยึดติดถือมั่น ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติเป็นต้น ที่แสวงหามาไว้ เกิดความหวงแหนห่วงกังวลจนไม่ยอมใช้ ไม่จ่ายทำประโยชน์ เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นความชั่วร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง



อีกด้านหนึ่ง เลยเถิดออกไปอีกเช่นเดียวกัน ก็คือ ความผิดหวังเบื่อหน่ายกามวัตถุ จนกลายเป็นเกลียดชัง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับโลกามิสทั้งหลาย แล้วหันมาจงใจบีบคั้นชีวิตของตนเอง เป็นอยู่อย่างบีบรัดเข้มงวดวุ่นวาย หรือหมกมุ่นอยู่กับวิธีการต่างๆ ที่จะจำขังพรากตัวบีบคั้นตน ให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ ดูเผินๆบางทีวิธีการนี้คล้ายกับความเป็นอยู่ง่าย อาศัยวัตถุแต่น้อย
แต่ผิดพลาด ที่ถือเอาการปฏิบัติเช่นนี้เป็นตัววิธีที่จะให้หลุดพ้น หรือมุ่งบีบคั้นทรมานตัว
โดยมิใช่ทำด้วยปัญญารู้เท่าทันที่มุ่งความเป็นอิสระ ซึ่งอาศัยวัตถุเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้โล่งกว้างสำหรับชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา
และบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา



การที่จะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินจำเป็น ก็คือ การไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ไม่หลงใหลมัวเมา ซึ่งอาศัยความรู้เท่าทัน เห็นโทษ หรือข้อบกพร่องของวัตถุ ที่เรียกว่า อาทีนวทัสสาวี และมีปัญญาทำตัวให้เป็นอิสระได้ ที่เรียกว่า นิสสรณปัญญา


ผู้มีปัญญา ย่อมรู้เท่าทันเห็นโทษของวัตถุ เช่น ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งปรนเปรอทั้งหลาย ในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มันอาจทำให้เราหลงติดเป็นทาสของมันได้ ทำให้สุขทุกข์ของเราต้องฝากกับมันทั้งหมด มันไม่อาจให้คุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญา แม้แต่เพียงความสงบใจ และเมื่อหลงติดแล้ว มันกลับเป็นตัวขัดขวางการประสบคุณค่าเช่นนั้นด้วยซ้ำ


ที่สำคัญยิ่งก็คือ โดยธรรมชาติของมันเอง สิ่งเหล่านี้ ขาดความสมบูรณ์ในตัว ที่จะสนองความต้องการของเราได้อย่างเต็มอิ่ม บริบูรณ์แท้จริง เพราะมันมีสภาวะเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรปรวนไปได้ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของครอบครองได้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง จะต้องสูญสลายพรากกันไปในที่สุด

การครอบครองสิ่งเหล่านี้อย่างโง่เขลา ย่อมเป็นการทำตนเองที่ไม่มีทุกข์ ให้ต้องทุกข์ต้องเศร้า เมื่อเราเกิด มันก็ไม่ได้เกิดมากับเรา เมื่อเราตาย มันก็ไม่ตามเราไป การที่ได้แสวงหาและมีมันไว้ ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาบรรเทาความทุกข์ เป็นฐานให้ปัญญาใช้พัฒนาความสุข ไม่ใช่เอามาเพิ่มทุกข์แก่ตัว

การมีทรัพย์สั่งสมไว้ ไม่ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งหาสาระอันใดมิได้ ยิ่งยึดติดเป็นทาสของมัน มีทุกข์เพราะมัน ก็ยิ่งเป็นความชั่วร้ายซ้ำหนัก


เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็กินใช้ โดยเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้ของมันต่อชีวิต ใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และแก่เพื่อนมนุษย์ บำเพ็ญสังคหวัตถุทั้ง ๔ แบ่งปันกันไปบ้าง ช่วยสร้างเสริมสภาพสังคมชนิดที่ปิดกั้นการทำความชั่ว เอื้ออำนวยแก่การทำความดี เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณภาพจิตและปัญญาโดยวิธีต่างๆบ้าง ร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมที่ดีงาม และสนับสนุนคนที่ผดุงธรรมจรรโลงคุณภาพของมนุษย์บ้าง เป็นต้น ไม่ใช่การรวยเพื่อรวยยิ่งๆขึ้น หรือรวยยิ่งขึ้น เพื่อเสพเพื่อปรนเปรอตัวได้มากขึ้น


คฤหัสถ์ที่ขยันทำการงานหาเลี้ยงชีวิต และได้ทรัพย์มาโดยสุจริต กินใช้ทรัพย์อย่างเพื่อแผ่ รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น และใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องอย่างสูงในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผู้มีชัย ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า * (เช่น ที.ปา.11/174/195)


ยิ่งมีปัญญาพอที่จะทำตนให้รอดพ้นเป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ และโลกามิสอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของตน ไม่ทำให้การได้สิ่งเหล่านั้นมากลายเป็นเพียงการได้ทุกข์มาทับถมตัว สามารถเป็นอยู่ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส โลกธรรมฉาบไม่ติด โลกามิสถูกไม่เปื้อน มีทุกข์เบาบาง และถอนตัวออกจากทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ละคราวได้ฉับไว ก็ยิ่งนับว่าเป็นบุคคลประเสริฐ เป็นอิสรชน เป็นเสรีบุคคลที่แท้จริง

ท่านเหล่านี้ ถึงจะเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน หรือแม้อนาคามี ก็เป็นผู้ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ปรากฏว่า ท่านสนับสนุนให้คฤหัสถ์มีชีวิตไปวันๆ ไม่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ ทอดทิ้งความรับผิดชอบต่างๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2017, 17:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2017, 17:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังฆะ คือชุมชนของบุคคลที่เป็นอิสระ ทั้งโดยชีวิตและด้วยจิตปัญญา

“สังฆะ” คือ สงฆ์ เป็นชุมชนตัวอย่างของชีวิตที่พึ่งพาอาศัยวัตถุน้อยที่สุด หรือเป็นอิสระจากวัตถุมากที่สุด ทั้งนี้เกี่ยวพันกับเงื่อนไขทางสังคม เพื่อฝึกพระภิกษุให้สามารถมีชีวิตเช่นนั้น อย่างหนึ่ง เพื่อให้พระภิกษุอุทิศเวลาและแรงงานไปในด้านกิจเกี่ยวกับธรรมได้เต็มที่ ไม่มัวห่วงกังวลกับการแสวงหาวัตถุ อย่างหนึ่ง เพื่อทำตัวให้ชาวบ้านเลี้ยงง่าย ในฐานะที่เป็นผู้อาศัยการบำรุงของชาวบ้าน ไม่ประกอบอาชีพด้วยตนเอง อย่างหนึ่ง และเพื่อดำรงภาวะความเป็นชุมชนอิสระ ที่พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งระบบทางสังคมได้มากที่สุด โดยที่การใช้แรงงานไม่เป็นไปเพื่อผลตอบแทนในทางอาชีวะ อย่างหนึ่ง

พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือปุถุชน ก็ดำรงชีวิตตามหลักการอาศัยวัตถุให้น้อย อยู่เพื่อธรรมให้มาก อย่างเดียวกัน

ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้คฤหัสถ์เป็นอยู่อย่างพระ และก็ไม่ปรากฏว่าจะทรงมุ่งหวังให้คนมาบวชเป็นพระกันไปทั้งหมด

หลักความจริงตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยก็บอกชัดอยู่แล้วว่า ในเวลาหนึ่งๆ คนย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกัน และจึงย่อมมีความต้องการที่ต่างๆกัน แม้แต่บุคคลโสดาบันส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยจำนวนมากมาย ก็ครองเรือนอยู่กับครอบครัวที่บ้าน

สารัตถะของหลักการนี้ น่าจะได้แก่ การให้มีชุมชนอิสระ ซ้อนอยู่ในสังคมใหญ่ เพื่อเป็นแรงดุลทางธรรมหล่อเลี้ยงธรรมแก่สังคม และเป็นแหล่งอำนวยความหลุดพ้นจากปัจจัยครอบงำของสังคมในเวลานั้นๆ แก่ผู้ต้องการ และพร้อมที่จะพ้นออกไป

ชุมชนนี้ มีทั้งชุมชนรูปแบบ และชุมชนนามธรรม

@ ชุมชนอิสระโดยรูปแบบ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ หรือที่บางทีเรียกว่า สมมติสงฆ์ อันแทรกซ้อนและลอยตัวอยู่ ท่ามกลางสังคมใหญ่ของคฤหัสถ์

@ ชุมชนอิสระโดยนามธรรม ได้แก่ สาวกสงฆ์ หรือที่บางที เรียกว่า อริยสงฆ์ อันประกอบด้วยอริยชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ที่แทรกซ้อนและลอยตัวอยู่ ท่ามกลางสังคมใหญ่ของมวลปุถุชน

สารัตถะนี้เท่ากับบอกว่า สังคมอุดมคติ มิใช่สังคมที่มนุษย์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน และสังคมเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้
แต่สังคมอุดมคติ เป็นสังคมที่มนุษย์ผู้มีพัฒนาการทางจิตปัญญา แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็กำลังก้าวหน้าไปสู่จุดหมายเดียวกัน และแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็อยู่อย่างกลมกลืนกัน กับทั้งเป็นสังคมที่มนุษย์มีทางเลือกออกไปอย่างดีงาม ในเมื่อไม่ต้องการอยู่ในสังคมใหญ่นั้น (แม้แต่ในยุคพระศรีอาริย์ ที่ว่าคนเหมือนกันทุกอย่าง ก็ยังมีภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนอิสระโดยรูปแบบอย่างเดียวกัน)

กล่าวเฉพาะสังฆะของภิกษุสงฆ์ ในแง่ของความเป็นอิสระทางวัตถุ การที่จะมีและดำรงรักษาความเป็นอิสระเช่นนั้นไว้ได้ โดยพื้นฐาน ก็อยู่ที่การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาวัตถุน้อย ซึ่งต้องพ่วงมากับคุณธรรมในจิตใจ ที่จะให้อยู่ได้อย่างดีในวิถีชีวิตเช่นนั้น โดยเฉพาะข้อสำคัญที่แสดงออกมาในความเป็นอยู่ คือความสันโดษ ดังนั้น สันโดษ จึงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำสำหรับภิกษุ หรือบรรพชิตทั้งหมด

พร้อมกับสันโดษด้านวัตถุ ที่ทำให้เป็นอยู่ง่าย มีความสุขได้ด้วยอาศัยวัตถุน้อยนั้น พระภิกษุเมื่อไม่ต้องใช้เวลา เรี่ยวแรง และความคิดไปกับเรื่องวัตถุ ก็นำเวลา เรี่ยวแรง และความคิดไปทุ่มเทให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติเพื่อความเป็นอิสระทางจิตปัญญาได้เต็มที่ ดังที่ได้เป็นหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อริยวงศ์ ๔ ประการ


ขอกล่าวรวบรัดว่า พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาวัตถุน้อยนั้น ไม่ได้ประกอบศิลปวิทยาเลี้ยงชีพ และโดยอาศัยวิถีทางที่โบราณประเพณีเปิดไว้ ก็เป็นอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่ชาวบ้านแบ่งปันให้ แต่พร้อมกันนั้น ก็ถือว่า ไม่มีสิทธิเรียกร้องเลือกอาหารหรือปัจจัยยังชีพทั้งหลาย ควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย มักน้อย สันโดษ โดยดำเนินตามหลักอริยวงศ์ ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ คือ

๑. ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร ตามมีตามได้ เป็นผู้มีปกติสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่ประกอบอเนสนา (การแสวงหาในทางที่ผิด) เพราะเห็นแก่จีวร

เมื่อไม่ได้จีวร ก็ไม่กรวนกระวาย เมื่อได้จีวร ก็ไม่ติด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ย่อมใช้สอยอย่างรู้ทันเห็นโทษ มีปัญญาสลัดตัวออกได้ และทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น

ภิกษุใดชาญฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในจีวรสันโดษนั้น ภิกษุนี้ เรียกว่า เป็นผู้สถิตในอริยวงศ์ อันเป็นของเก่า มีมาแต่ดั้งเดิม

๒.อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้ ฯลฯ

๓.อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะ ตามมีตามได้ ฯลฯ

๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีการเจริญกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ชื่นชมยินดีในการเจริญกุศลธรรม มีการละอกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ชื่นชมยินดีในการละอกุศลธรรม

อีกทั้งเธอไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีการเจริญกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ด้วยความชื่นชมยินดีในการเจริญกุศลธรรม ด้วยความเป็นผู้มีการละอกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ด้วยความชื่นชมยินดีในการละอกุศลธรรมนั้น

ภิกษุใดชาญฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในภาวนา (การเจริญกุศลธรรม) และปหาน (การละอกุศลธรรม) นั้น ภิกษุนี้ เรียกว่า เป็นผู้สถิตในอริยวงศ์ อันเป็นของเก่า มีมาแต่ดั้งเดิม” (องฺ.จตุกฺก.21/28/35 – ข้อความที่ละไว้ พึงเทียบตามข้อ ๑)

คุณธรรมด้านความสันโดษนั้น ว่าโดยพื้นฐาน ก็สอดคล้องกับศีลสำหรับพระภิกษุนั้นเอง และศีลสำหรับพระภิกษุนั้น ก็จัดวางไว้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์มีวิถีชีวิตแห่งความสันโดษ และเพื่อเกื้อหนุนให้ภิกษุทั้งหลายอุทิศชีวิตให้แก่การบำเพ็ญเพียรในการพัฒนากุศล และลดละอกุศลนั่นเอง

เพื่อรวบรัดอีกเช่นกัน ขอสรุปว่า ศีลสำหรับพระภิกษุนั้น พระอรรถกถาจารย์ประมวลเข้า และจัดเป็นประเภทได้ ๔ อย่าง เรียกว่า ปาริสุทธิศีล (ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล) ๔ ประการ คือ (วิสุทฺธิ. 1/19-56 ฯลฯ)

๑.ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย ท่านว่าศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยศรัทธา

๒. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรม เช่น ความชอบ ชัง ติดใจ หรือขัดใจครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสิ่งกระทบ และใจรู้คิดเรื่องราวต่างๆ ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยสติ

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ได้แก่ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบธรรมบริสุทธิ์ ไม่ประกอบการแสวงหาในทางที่ผิด เช่น ไม่พูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ที่ไม่มีจริงในตน และไม่ออกปากขออาหารเพื่อตนเองบริโภคโดยมิได้เจ็บไข้ เป็นต้น ไม่กระทำกุหนา คือ การหลอกลวง เช่น ปั้นแต่งท่าทางหนาตาเคร่งครัดให้เขาเลื่อมใสถวายปัจจัยสี่ ไม่กระทำลปนา คือประจบเขากิน ไม่กระทำนิมิต คือเลศนัยเลียบเคียงต่างๆ ให้เขาถวายปัจจัย ไม่กระทำนิปเปสิกตา คือขู่เข็ญกลั่นแกล้งให้เขายอมถวายปัจจัย และไม่เอาลาภต่อลาภ เช่น ให้ของน้อยแก่เขาไป เพื่อว่าเขาจะได้ถวายมากตอบมา เป็นต้น ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยวิริยะ

๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ ใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยพิจารณาให้เป็นไปตามความหมาย และประโยชน์ หรือคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหา เช่น ฉันอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้สุขภาพดี มีชีวิตผาสุก ทำกิจได้สบาย ช่วยให้มุ่งไปได้ในไตรสิกขา มิใช่เพื่อปรนเปรอหรือสนุกสนาน มัวเมา ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2017, 07:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2017, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำแถมท้าย

พูดถึงคฤหัสถ์ เห็นควรสรุปเรื่องนี้ ด้วยการกล่าวถึงข้อปฏิบัติบางอย่างที่ควรเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับโภคทรัพย์ ดังนี้

ก. ในแง่บุคคล ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทาที่นิยมยกย่องคนมั่งมีทรัพย์ เฉพาะแต่ผู้ที่ร่ำรวยขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยทางสุจริตชอบธรรม และใช้ทรัพย์นั้นทำสิ่งดีงาม บำเพ็ญประโยชน์ คือ ยกย่องความเป็นคนดีมีประโยชน์ เหนือความมีทรัพย์

โดยเฉพาะ จะต้องฝึกสอนอบรมอนุชน (คนรุ่นใหม่) ให้มีค่านิยมที่จะเห็นเป็นความดีงามความสามารถอันน่าภาคภูมิใจ ต่อเมื่อได้สร้างโภคทรัพย์นั้น ด้วยความเพียร โดยสุจริต และมีความตั้งใจมุ่งหมายที่จะให้ทรัพย์นั้นทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญประโยชน์

การนิยมยกย่องคนเพียงเมื่อเห็นเขาเป็นคนมั่งมี โดยคิดว่า เขาเป็นคนมีบุญ ได้ทำกรรมดีไว้ในปางก่อน (ชาติก่อน) ไม่มองดูการสร้างเหตุแห่งความมั่งมีของเขาในชาติปัจจุบัน นับว่าเป็นการปฏิบัติผิดจากแนวทางของพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งเป็นการไม่ดำเนินตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวข้างต้น และทั้งเป็นการไม่ใช้ปัญญาสืบสาวเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย

โดยเฉพาะเหตุปัจจัยในชาติปัจจุบัน เป็นส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงใกล้ชิดกว่า จึงต้องพิจารณา และให้ความสำคัญมากกว่า
ส่วนกรรมปางก่อน จะช่วยได้ ก็เพียงเป็นพื้นฐานเดิมที่สนับสนุน เช่น ร่างกาย ความถนัด เชาวน์ไวไหวพริบ และจริตนิสัยบางอย่างที่เกื้อกูลแก่การนั้น

หากจะมองกรรมปางก่อนเป็นเหตุสำคัญ ก็จะได้เฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มั่งมีอยู่แล้ว และแม้ในกรณีเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็หาได้ทรงยกเป็นข้อสำหรับที่จะยกย่องสรรเสริญไม่ เพราะหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา ไม่ถือความประเสริฐเพียงเพราะชาติตระกูลอยู่แล้ว

จุดที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือ กรรมดีงามที่เป็นเหตุให้เขามาได้รับผลอันน่าปรารถนานี้ต่างหาก
ส่วนการที่เขาเกิดมาในความมั่งมีพรั่งพร้อมอยู่แล้วนั้น ก็เป็นอันว่าเขาได้รับผลดีของเขาอยู่แล้ว ไม่จำต้องยกเอามาสรรเสริญอีก
ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า นั่นเป็นทุนเดิม หรือพื้นฐานดี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสดี หรือพร้อมดีกว่าผู้อื่น หรือจะพูดว่าได้เปรียบคนอื่น ในการที่จะก้าวต่อไปในชาตินี้

เป็นอันว่า ผลของเรื่องเก่าได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ถึงจุดเริ่มต้นใหม่ จุดที่พระพุทธเจ้าจะทรงติเตียนหรือสรรเสริญสำหรับคนเช่นนี้ ก็อยู่ที่ว่า เขาจะปฏิบัติต่อทุนเดิมหรือพื้นฐานดีที่เขามีอยู่แล้วนั้นอย่างไร

ส่วนสำหรับกรณีทั่วไป ก็ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ จะทรงยกย่องสรรเสริญ หรือติเตียน ก็อยู่ที่ว่ากรรมอันเป็นวิธีที่เขากระทำเพื่อให้เกิดทรัพย์นั้น สุจริตชอบธรรมหรือไม่ และเขาปฏิบัติต่อโภคทรัพย์นั้นอย่างไร

พูดอีกอย่างหนึ่ง ให้ตรงจุดว่า มิใช่ความมั่งมี หรือคนมั่งมีดอก ที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ ที่การกระทำของคนมั่งมีต่างหาก

ข. ในแง่สังคม ตามหลักพระพุทธศาสนา ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิต ไม่ใช่จุดหมายของชีวิต ทรัพย์จึงควรเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกมากขึ้น และพร้อมมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำกิจที่ดีงาม เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

ทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน แก่บุคคลใด ก็ควรเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่มนุษย์ เป็นปัจจัยอุดหนุนให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีงามได้มากยิ่งขึ้น

ตามหลักการนี้ เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้หนึ่ง ก็คือทรัพย์เกิดขึ้นแก่มนุษย์ หรือมีทรัพย์เกิดขึ้นแล้วในสังคม เมื่อบุคคลผู้หนึ่งมั่งมีขึ้น สังคมก็พลอยยิ่งเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น ทรัพย์เกิดขึ้นแก่คนดีหนึ่ง ก็เท่ากับเกิดขึ้นแก่สังคมได้ บุคคลดีที่มั่งมีขึ้นนั้น เป็นเหมือนเนื้อนาที่ข้าวงอกงามขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง*
* (พึงอ้างพุทธพจน์ว่า สัตบุรุษเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง (องฺ.อฏฺฐก.23/128/249) และพุทธพจน์ที่ว่า ทรัพย์มีแก่คนดี เหมือนมีสระน้ำในที่ใกล้บ้าน ทุกคนได้กินใช้สุขสดชื่น แต่ทรัพย์มีแก่คนร้าย เหมือนสระน้ำอยู่ในถิ่นอมนุษย์ ถึงจะใสดีรื่นรมย์ ก็ไร้ประโยชน์ (สํ.ส.15/387-9/130-1)



คนมั่งมีตามหลักการนี้ พึงยินดีเอิบอิ่มใจ ที่ได้มีความสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทน เป็นเจ้าการ หรือมีเกียรติ เหมือนได้รับความไว้วางใจจากสังคม ในการจัดหาทรัพย์มาช่วยอุดหนุนหล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษย์ในสังคมของตน ให้อยู่สุขสบาย และมีโอกาสทำกิจทีดีงาม *
(เทียบกับคติการเกิดขึ้นแห่งอำนาจ และผู้ปกครองตามคติพุทธศาสนา เช่น ในอัคคัญญสูตร (ที.ปา.11/62/101) เศรษฐีชาวพุทธ เช่น อนาถบิณฑิก ดำเนินตามปฏิปทานี้ จึงสละทรัพย์เพื่อสงฆ์และคนยากไร้ตลอดเวลายาวนาน จนหมดตัวก็ไม่เสียดาย)

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลผู้หนึ่ง ยิ่งร่ำรวยขึ้น สังคมยิ่งซูบโทรมลง เพื่อนมนุษย์ยิ่งมีทุกข์ทรมานมากขึ้น ก็เป็นเครื่องแสดงว่า มีการปฏิบัติผิดต่อทรัพย์ ทรัพย์ไม่เป็นปัจจัยอุดหนุนตามวัตถุประสงค์ของมัน ไม่ช้าสังคมก็จะระส่ำระสาย ในที่สุด ถ้ามิใช่บุคคลมั่งมีอยู่ไม่ได้ ก็สังคมอยู่ไม่ได้ หรือทั้งสองอย่าง สังคมอาจปลดเขาจากตำแหน่ง แล้ววางระบบวิธีจัดหาทรัพย์ และตั้งเจ้าหน้าที่จัดสรรทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจเป็นผลดีขึ้น หรือเลวลงก็ได้

แต่จะอย่างไรก็ตาม คติก็มีอยู่ว่า ถ้ามนุษย์ปฏิบัติผิด ทรัพย์ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ ย่อมกลับเป็นโทษ ที่ทำลายทั้งความเป็นมนุษย์ ตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์

ค. ในแง่รัฐ พระพุทธศาสนามองเห็นความสำคัญของทรัพย์ในสังคมของชาวโลกว่า ความจนเป็นความทุกข์ในโลก * (องฺ.ฉกฺก.22/316/393) ความยากไร้ขาดแคลน เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและความชั่วร้ายต่างๆในสังคม* (ที.ปา.11/39/70; 45/77) (เช่นเดียวกับความโลภ และสัมพันธ์กันกับความโลภด้วย) และ
ถือว่า เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองที่จะต้องคอยเอาใจใส่ดูแลจัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ไม่ให้มีคนจนยากขัดสนในแผ่นดิน * (เช่น ที.ปา.11/35/65 ฯลฯ มุ่งช่วย พร้อมกับส่งเสริมความขยัน ไม่ให้จนเพราะเกียจคร้าน) ซึ่งทั้งนี้ ย่อมต้องอาศัยวิธีการต่างๆประกอบกัน และตามที่เหมาะกับสถานการณ์

เฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดช่องทางสร้างโอกาสให้ทวยราษฎร์ทำมาหาเลี้ยงชีพเจริญก้าวหน้าโดยสุจริต การส่งเสริมอาชีพ การจัดสรรเกี่ยวกับทุนและอุปกรณ์ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ * (เช่น องฺ.อฏฺฐก.23/91/152 ฯลฯ) และการควบคุมป้องกันไม่ให้มีอธรรมการ คือ การทำการและวิธีการทั้งหลาย ที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น
โดยที่รัฐควรถือเป็นหลักการว่า การลดหมดไปของคนยากไร้ เป็นเครื่องวัดความสำเร็จได้ดีกว่าการเพิ่มขึ้นของคนร่ำรวย และให้การลดหมดไปของความขัดสนนั้น เป็นผลของการจัดการทางสังคม ที่ไม่ละเลยการพัฒนาคน


ง. ในแง่ระบบเศรษฐกิจ – การเมือง มักมีคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง แบบไหน ถูกต้องหรือไปกันได้กับพระพุทธศาสนา เรื่องนี้ อย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธศาสนาจะต้องตอบ หรือหากไม่ถือว่าตีโวหาร ก็อาจต้องย้อนว่า ระบบไหนที่ปฏิบัติได้ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็ระบบนั้นแหละ

ความจริงระบบต่างๆนั้น เป็นเรื่องในระดับวิธีการ และเรื่องของวิธีการนั้น ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ย่อมเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงไปได้ ตามปัจจัยแวดล้อม ทั้งในทางกาละและเทศะ สิ่งที่ต้องพูดก่อนก็คือ หลักการและวัตถุประสงค์

สาระสำคัญของโภคทรัพย์ ก็ดังที่กล่าวแล้วในข้อ ข. คือ เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุน ช่วยให้มนุษย์สามารถจัดสรรความเป็นอยู่ของพวกตน ให้สะดวก และเกื้อกูลแก่การที่จะอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข และมีความพร้อมยิ่งขึ้น ที่จะทำสิ่งดีงาม บรรลุความดีงามที่ยิ่งๆขึ้นไป เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน หรือแก่ใครก็ตาม ก็คือมีปัจจัยอุดหนุนเกิดขึ้นแล้วในสังคม มนุษย์ทั้งหลายควรจะสามารถมีชีวิตที่ดีและเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

ระบบวิธีทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง อันหนึ่งอันใดก็ตาม สามารถทำให้สำเร็จผลด้วยดีตามความหมายแห่งหลักการและวัตถุประสงค์นี้ ระบบวิธีนั้น ก็สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา

ส่วนที่ว่า ระบบวิธีเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมแห่งกาละและเทศะนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่น ในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เป็นชุมชนเฉพาะกิจเฉพาะวัตถุประสงค์ ทรงจัดวางวินัยให้พระภิกษุไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว นอกจากบริขาร ๘ แต่ให้ทรัพย์สินเป็นของสงฆ์ คือส่วนรวมหรือของกลางนั้น

ในเวลาเดียวกัน สำหรับสังคมของชาวโลก ซึ่งขณะนั้น มีการปกครองในชมพูทวีป ๒ แบบ ก็ทรงสอนหลักอปริหานิยธรรมสำหรับรัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมหรือแบบสาธารณรัฐ
และ
ทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตรสำหรับรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย

เรื่องนี้ แสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพุทธธรรมด้วย คือ พุทธธรรมไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญา หรือเรื่องของนักคิด แต่เป็นเรื่องของศาสนานักปฏิบัติ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ดำรงชีวิตจริง ท่ามกลางสภาพสังคมและสถานการณ์ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้นๆ ต้องสอนสิ่งที่เขาใช้ได้ ปฏิบัติได้ ให้เกิดประโยชน์สุขแก่เขาตั้งแต่ปัจจุบัน ดังที่เรียกว่า ทรงสอนความจริงที่เป็นประโยชน์
หากจะต้องรอจนกว่าหลังจากสถาปนาระบบที่ว่าดีที่สุด ซึ่งความจริงก็ยังเป็นเพียงระบบที่หวังว่าดีที่สุด เสร็จแล้ว จึงค่อยใช้ระบบนั้นทำให้ประชาชนประสบประโยชน์สุข อย่างนี้จะพ้นจากความเป็นการปฏิบัติที่เลื่อนลอย และพ้นจากความงมงายได้อย่างไร

ในเมื่อทั้งระบบสามัคคีธรรมก็มีอยู่ ทั้งระบบราชาธิปไตยก็มีอยู่ ในเวลานั้น ก็เป็นอันว่า ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย พระศาสดาก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบสามัคคีธรรม พระองค์ก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข


@ สำหรับระบอบแรก ทรงเน้นให้ผู้ปกครองมองเห็นยศศักดิ์อำนาจ เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร มิใช่เป็นเครื่องมือแสวงหาสิ่งปรนเปรอบำเรอสุขส่วนตน

@ สำหรับระบอบหลัง ทรงแนะนำหลักและวิธีการที่จะดำเนินกิจการให้เข้มแข็งมั่นคงได้ผลดี

ในระยะที่ระบอบราชาธิปไตยเจริญในทางดีงามสูงสุด คติธรรมแนวพุทธนี้ ก็ได้เป็นหลักการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ดังดำรัสของพระองค์ในศิลาจารึกว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติ จะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติ เพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้ และในเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลาย จงตั้งใจฟังคำสอนธรรมของข้า ฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติในทางธรรม” * (ดู ธรรมโองการ จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ ในจารึกอโศก -หนังสือ Asokan Edicts หรือ Asokan Inscriptions ฉบับใดก็ได้)

เมื่อจับสาระที่เป็นหลักการ และความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ได้แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่า ระบบใด ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการและความมุ่งหมายนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดกันยืดยาว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้รู้เชียวชาญเกี่ยวกับระบบนั้นๆ จะพึงถกเถียงกัน หรือหากจะคิดวางระบบวิธีใหม่ที่ถูกต้องได้ผลดียิ่งกว่าระบบต่างๆเท่าที่มีอยู่ขึ้นมาได้ ก็คงจะยิ่งเป็นการดี
แต่ทั้งนี้ ยังมิใช่กิจของหนังสือนี้.

.....

เรื่องศีลเริ่มต้นแต่ กท.นี้

viewtopic.php?f=1&t=54793

ว่าไปเรื่อยๆจบที่ กท. นี้ นำจากหนังสือพุทธธรรมหน้า ๗๑๐-๗๕๓

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2017, 09:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับสังคมของชาวโลก ซึ่งขณะนั้น มีการปกครองในชมพูทวีป ๒ แบบ ก็ทรงสอนหลักอปริหานิยธรรมสำหรับรัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมหรือแบบสาธารณรัฐ
และ
ทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตรสำหรับรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย


จักกวัตติสูตร ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันปิฎก

พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือ พึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้น ไม่เปิดช่องให้แก่มาร
เช่นเดียวกับ พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง จักรพรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า

๑. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธ์ทั้งหลาย

๒. มิให้มีการอันอธรรม เกิดขึ้นในแผ่นดิน

๓. ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์

๔. ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบอยู่เสมอ

จักรพรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑ เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับ จัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง

นอกนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรพรรดิวัตร ๑๒

พระสูตรนี้ ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรมกล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ กับ จริยธรรม เรื่อง พระศรีอารยเมตไตร ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้

อปริหานิยธรรม ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม, ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว มี ๗ ข้อที่ตรัสสำหรับภิกษุ (ภิกขุอปริหานิยธรรม) ยกมาแสดงหมวดหนึ่ง ดังนี้

๑. หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์บัญญัติไว้

๔. ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน

๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น

๖.ยินดีในเสนาสนะป่า

๗. ตั้งใจอยู่ว่าเพื่อภิกษุ สามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข


อปริหานิยธรรมที่ตรัสแก่กษัตริย์วัชชี (วัชชีอปริหานิยธรรม) สำหรับผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง มีอีกหมวดหนึ่ง คือ

๑. หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

๓. ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม

๔. ท่านผู้เหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง

๕.บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้อยู่อย่างถูกข่มเหงรังแก

๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี

๗.จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ (หมายถึงบรรพชิตที่เป็นหลักใจของประชาชน) ตั้งใจให้ท่านที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่โดยผาสุก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2017, 18:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จักรธรรม ธรรมเปรียบด้วยล้อรถ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญ หรือให้ถึงจุดมุ่งหมาย มี ๔ อย่าง ดู จักร


จักร ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย มี ๔ อย่าง คือ

๑. ปฏิรูปเทสวาสะ - อยู่ในถิ่นที่เหมาะ

๒. สัปปุริสูปัสสยะ - สมาคมกับคนดี

๓. อัตตสัมมาปณิธิ - ตั้งตนไว้ชอบ

๔. ปุพเพกตปุญญตา - ได้ทำความดีไว้ก่อน


จักรพรรดิ พระราชาธิราช หมายถึงพระราชผู้ยิ่งใหญ่ มีราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครองมีความร่มเย็นเป็นสุข ปราบข้าศึกศัตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา รัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว แก้มณี

จักรวรรดิวัตร ๑๒

๑. อนฺโตชนสฺมี พลกายสฺมี - คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา

๒.ขตฺติเยสุ - แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ

๓. อนุยนฺเตสุ - แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร

๔.พฺราหฺมณคหปติเกสุ - แก่พราหมณ์และคฤบดีทั้งหลาย

๕.เนคมชานปเทสุ - แก่ชาวนิคมและชาวชนบท คือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย

๖.สมณพฺราหมเณสุ - แก่เหล่าสมณพราหมณ์

๗.มิคปกฺขีสุ - แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธ์

๘. อธมฺมการปฏิปกฺเขโป - ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม

๙. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ - เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุง แก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์

๑๐. สมณพฺราหมณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ - ไปสู่หาสมณพราหมณ์ ไต่ถามอรรถปริศนา

๑๑. อธมฺมราคสฺส ปหานํ - เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม

๑๒. วิสมโลภสฺส ปหานํ - เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร

จักรวรรดิวัตร ๑๒ นี้ มาในอรรถกถา โดยแบ่งซอยและเพิ่มเติมจากของเดิมในจักกวัตติสูตร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2017, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ราชสังคหวัตถุ สังคหวัตถุของพระราชา, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง มี ๔ คือ

๑. สัสสเมธะ - ฉลาดบำรุงธัญญาหาร

๒. ปุริสเมธะ - ฉลาดบำรุงข้าราชการ

๓. สัมมาปาสะ - ผูกผสานรวมใจประชา

๔. วาชไปยะ - มีวาทะดูดดื่มใจ


สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าวกล้า, ปรีชาในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่ง ที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะพึงบำเพ็ญ

ปุริสเมธ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่งของผู้ปกครองบ้านเมือง

สัมมาปาสะ “บ่วงคล้องไว้มั่น” ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชกรรม เป็นต้น

วาชเปยะ, วาชไปยะ “วาจาดูดดื่มใจ” “น้ำคำควรดื่ม” ความรู้จักพูด คือ รู้จักทักทายปราศรัย ใช้วาจาสุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 53 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร