วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 108 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

✿ ครั้นภควัน ฉันเสร็จ…. เสด็จต่อ
ด้วยเจ้าพ่อ ขอให้…. ไปเกื้อหนุน
ช่วยพิมพา นารี…. ก่อกองทุน
เลิกว้าวุ่น ขุ่นเคือง…. เปลืองเวลา

✿ ธ เสด็จ พร้อมด้วย…..สองเถระ
เกือบผงะ ผละหนี….. เจ้ามาหยา
ด้วยพระนาง ร่ำร้อง…. นองน้ำตา
พระเกศา ต้องตก…. ปกบาทองค์

✿ พระพ่อเจ้า เล่าความ…. ยาม ธ พราก
ทุกข์หลายหลาก ยากนัก…. หักไหลหลง
พิมพานอน ร้องไห้…. ด้วยงุนงง
ใยประสงค์ ทอดทิ้ง…. วิ่งหนีไป

✿ ธ จึงกล่าว เล่าความ…. แต่ยามหลัง
กี่หมื่นครั้ง แสนภพ…. จบสมัย
พระนางเจ้า เฝ้าตาม…. ทุกยามไกล
น้ำเนตรใส ไหลริน…. ถิ่นกันดาร

✿ ครั้นพิมพา สร่างโศก…. วิโยคแล้ว
ธ ยกแก้ว แสงธรรม…. ที่ฉ่ำหวาน
พระนางคิด จิตจ่อ…. ข้อธรรมทาน
ใจสมาน ผ่านโสดา…. น่ายินดี

พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่นเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ

พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จ ออกบวชเป็นต้นมา ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ ความเสียพระทัย ยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จมาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเองไม่ได้ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบสิ้นสมปฤดี

พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลย ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนองพระดำรัสของพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดี ต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง

พระนางฟังแล้วทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ได้ทรงบรรลุพระโสดาบันหรือโสดาปัตติผล


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• โอ้เจ้าหญิง "รูปนันทา"…. ธิดาเจ้า
หลงรูปเงา แห่งองค์…. ว่าวาบหวาม
จะพิศซ้าย พิศขวา…. ก็ว่างาม
ทั่วโลกสาม งามนี้…. ดีกว่าใคร

• ทรงศักดิ์ชิด ขนิษฐา …. พุทธาศรี
"ปชาบดี" มารดร…. ผู้อ่อนไหว
เธอเสด็จ เข้าบวช…. เพื่อกวดใจ
แต่หลงใหล ไม่ปลง…. ตรงหน้าตา

• ทรงหลบเล้น เผ่นกาย…. หายทุกครั้ง
มิยอมยั้ง รั้งพบ…. พระเชษฐา
กลัว ธ กล่าว ยาวความ…. ถามวาจา
กลัวท่านว่า เรื่องโฉม…. ประโลมใจ

• มาคราหนึ่ง แอบหลัง…. ฟังธรรมศรี
พระมุนี เนรมิต…. พิศสาวใส
เห็นดรุณี แรกรุ่น…. หุ่นไฉไล
โบกพัดไหว ใกล้ชิด…. ด้วยวิชนี

• แล้วแก่ลง ตรงตาม…. อายุขัย
เป็นความนัย ให้รู้…. ดูรูปนี้
ก่อนเคยสาว ขาวสวย…. ด้วยชีวี
เปลี่ยนเป็นผี ชี้เด่น…. เห็นกับตา

• ธ สอนให้ ใช้จิต…. พินิจมั่น
รูปกายนั้น พลันเปลี่ยน…. เวียนมาหา
มีหนอนไช ให้จิต …. คิด "อสุภา"
เพื่อศึกษา วางหลง…. ตรงกายิน

• "นันทาเถรี" คลี่คิด…. ปลิดความหลง
เคยพะวง ทรงวาง… สร่างถวิล
โอ้รูปนี้ มีหรือ…. คืออาจิณ
ล้วนสูญสิ้น ไม่งาม…. ตามเวลา

• พระเถรี เริ่มวาง…. ว่างที่จิต
ธรรมสถิตย์ ชิดคู่…. รู้ภาษา
แสงสว่าง พร่างพราย…. คลายอวิชา
ได้แสงฟ้า อรหันต์…. เพราะบั่นงาม

"เจ้าหญิงรูปนันทา" หรือ “นันทาเถรี” เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระขนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ และเป็นพระน้องนางต่างพระมารดากับพระพุทธเจ้า เป็นผู้หลงในความงามของตน ออกบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่ศรัทธา และได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลาย "เอตทัคคะผู้ยินดีในฌาน”

พระนันทาเถรี เมื่อออกบวชแล้ว พยายามหลบเลี่ยงมิเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้า พระทราบว่าพระพุทธเจ้า มักแสดงธรรมเกี่ยวกับรูปกายไม่สวยงาม ไม่คงทน ให้ปลง และวางเสีย จนวันหนึ่งพระนางตัดสินพระทัยเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรมจากองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระนางก็หลบนั่งอยู่หลังผู้อื่น แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณ จึงเนรมิตรหญิงงามที่งามยิ่งกว่าพระนางรูปนันทา อายุราว 16-17 ปี ถวายงานพัดอยู่ใกล้พระองค์ ใ้ห้เฉพาะพระนางรูปนันทาเท่านั้นที่เห็น และทรงเนรมิตให้รูปนารีนั้น ค่อยๆ เจริญวัยขึ้นตามลำดับ จาก 16 - 20 - 30 - 40 จน 80 และเริ่มเจ็บป่วย ดิ้นทุรนทุรายและตายไปในที่สุด ร่างที่เริ่มเน่าเปื่อย มีหนอนไช เน่าไม่น่าดู และกลายเหลือแต่กระดูก ในขณะที่รูปนารีนั้นเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าก็ทรงส่งเสียงที่ได้ยินเพียงพระนางนันทาเถรีเท่านั้น ให้พระนางดูรูป และคิดตามว่าร่างนี้ไม่คงทน มีแต่เน่าเปื่อยผุพัง ให้พระนางวางหยิ่ง ทนงในรูปของตนเสีย พระนางคิดตาม จนบรรลุพระโสดาบัน และยังคงเพ่งมองและคิดตาม จนสำเร็จพระอรหันต์ในที่สุด ด้วยการเพ่งอสุภะนั้นเอง

เมื่อจะทรงแสดงธรรม ด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบายแห่งพระนาง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

"นันทา เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออกอยู่ข้างล่าง ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก; สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น, สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น:

เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้ว จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป"

ลำดับนั้น พระศาสดาเพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐาน เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้งสามยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง จึงตรัสว่า

"แน่ะนันทา ในสรีระนี้ไม่มีสาระแม้มีประมาณน้อยเลย กายนี้มีเนื้อและเลือดฉาบทาไว้ เป็นที่อยู่ของชราเป็นต้น เป็นเพียงกองกระดูกเท่านั้น ดังนี้" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

"สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะมานะ และมักขะ"

ในกาลจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระอรหันต์


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ฝ่าย "เมฆิยะ" หนึ่งพระ…. อุปัฏฐาก
เกิดได้ยาก ลำบากคิด…. จิตมิใส
ด้วยทุกข์ล้น ทนเห็น…. เหตุเป็นไป
จึงหมองไหม้ ใน “วิตก”…. อกร้าวราน

• เห็นตัวเอง เป็นดั่ง…. พระราชา
เปล่งวาจา ฆ่าโจร…. อย่างเหี้ยมหาญ
“อกุศลวิตก” หมกจิต…. คิดยาวนาน
กรรมฐาน ผ่านไม่ได้…. เพราะใจตน

• ธ จึงแจ้ง แสงธรรม …ไว้นำคิด
หนึ่งคือ “มิตร” สถิตย์ดี…. เป็นศรีผล
"ปาติโมกข์" "กถา" เกลา…. เหง้ากมล
"ความเพียร" พ้น ค้นหยุด…. “อกุสลา”

• อริยสัจสี่ ที่เลิศ…. เปิดผ่องใส
ค้นหาใจ ให้รู้…. ดูปัญหา
ได้ลองคิด จิตเกิด…. เปิด "ปัญญา"
ธรรมทั้งห้า พาเกิด…. เลิศ "เจโตฯ"

• ท่านเจริญ "อสุภะ"…. ละราคะ
"เมตตา" ผละ พยาบาท…. ขาดโมโห
"อานาปานสติ" ตัดวิตก…. ยกเดโช
"อนิจจสัญญา" โผล่ถอน รอนตัวตน

• เมฆิยะ พระเพ่งพิศ…. ชิดธรรมศรี
ตามวลี ชี้นำ…. คำโกศล
เิปิดจิตรับ ดับตัวกู…. รู้กมล
ธรรมส่งผล อรหันต์…. ในทันที

พรรษาที่ 13 จำพรรษาที่จาลิยบรรพต เมืองจาลิยา พระชนมายุ 47 พรรษา
“พระเมฆิยะ” ตระกูลแห่งเจ้าศากยะ นครกบิลพัสดุ์ บวชในสำนักของพระบรมศาสดา อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ปฐมโพธิกาล ช่วงระยะ ๒๐ ปีแรก นับแต่ที่ได้ทรงตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี พระอุปฐากประจำ บางคราว พระนาคสมาละ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราว ท่านพระราธะ บาง คราวพระเมฆิยะ ในบรรดาท่านเหล่านั้น หลาย ๆ ท่านก็ไม่สามารถที่จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างเหมาะสม เช่น
ท่านพระนาคิตเถระ โดยที่ท่านมีร่างอ้วน ในการที่จะลุก หรือนั่งเป็นต้นก็อุ้ยอ้ายอืดอาด การอุปัฏฐากพระบรมศาสดานั้นก็ไม่คล่องตัว บางครั้งหลานชายของท่าน สามเณรชื่อว่า สีหะ ได้กระทำการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคแทนท่าน พระราธเถระ เมื่อท่านอุปสมบทอายุได้ ๘๐ ปี การอุปัฏฐาก พระบรมศาสดาจึงไม่สะดวก
…..พระนาคสมาลเถระ มีเรื่องเล่าว่า บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปทางไกล กับพระนาคสมาละเถระ เสด็จถึงทางสองแพร่ง พระเถระจะไปทางหนึ่ง พระพุทธเจ้าจะเสด็จทางหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง ครั้นแยกจากพระองค์ไปแล้ว ก็เจอโจร ปล้นเอาบาตรและจีวรไป ถูกโจรทำร้ายจนเลือดอาบที่ศีรษะ เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
….. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกา พระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ทูลว่าตัวท่านเถระ ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้ ท่านพระเมฆิยะ เข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม กลับจากบิณฑบาต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา เดินเที่ยวพักผ่อน ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ โดยที่ในอดีตกาล บริเวณนั้นเป็นพระราชอุทยาน ที่พระเถระเคยเกิดมาเป็นพระราชาและครอบครองมา ตลอด ๕๐๐ ชาติ ด้วยเหตุนั้น จิตของพระเถระนั้นจึงน้อมไปเพื่อจะอยู่ในที่นั้น ในขณะเพียงแค่ได้เห็นเท่านั้น
…..ครั้นเห็นแล้ว ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า หลังจากบิณฑบาตรเสร็จแล้ว จะขอไปนั่งวิปัสนา อัมพวัน อันน่ารื่นรมย์
พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ว่าญาณของพระเถระนั้น ยังไม่แก่กล้า จึงได้ตรัสห้ามท่านพระเมฆิยะ
ถึง 3 ครั้ง เมื่อทัดทานไม่ได้ ก็จำต้องอนุญาติ
….. พระเมฆิยะเข้าไปยังอัมพ นั่งพักบนแผ่นศิลามงคล ซึ่งวางอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แผ่นศิลานั้นก็เป็นแผ่นศิลาแผ่นเดียวกับที่พระเถระ เมื่อครั้งอดีตที่เคยเป็นพระราชาเคยนั่งอยู่ ตั้งแต่เวลาที่ท่านพระเถระนั่งลงบนแผ่นศิลานั้น ก็ปรากฏเหมือนภาวะแห่งสมณะเพศได้หายไป แต่ทรงเพศเป็นพระราชาเหมือนเมื่อในอดีต กามวิตกก็เกิดขึ้น ขณะนั้นเองท่านได้เห็น เหมือนเห็นโจร ๒ คนถูกจับพร้อมด้วยของกลาง ที่ราชบุรุษนำมายืนต่อเบื้องพระพักตร์ พยาบาทวิตกเกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้ฆ่า โจรคนหนึ่ง และวิหิงสาวิตก (ความคิดในทางทำลายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ) เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้จองจำโจรคนหนึ่ง
….. เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านได้เป็นผู้ถูกครอบงำด้วยอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตกวิหิงสาวิตก เกิดความฟุ้งซ่านเป็นอันมาก พระเถระเมื่อฟุ้งซ่านไปด้วย มิจฉาวิตกอย่างนี้ ไม่อาจทำกรรมฐานให้เป็นสัปปายะ จึงลุกขึ้นจากอาสนะ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลเรื่องของตน
พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมโปรดพระเถระ
….ดูกรเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑
…..เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระแลโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
…..เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓
…..เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔
…..เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕
…..ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่ง “เจโตวิมุติ” ที่ยังไม่แก่กล้า
…..ดูกรเมฆิยะ ก็แลอันภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ
…..พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
…..พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท
…..พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
…..พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ

ดูกรเมฆิยะ .. อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบัน เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเมฆิยเถระตั้งอยู่ในโอวาทนั้น เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต

“อัสมิมานะ” หมายถึง ความถือตัวว่าเป็นเรา ความถือเขาถือเรา จัดเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนเราเกิดความหยิ่งผยองตน หรือเกิดความหดหู่ท้อแท้ เป็นตัวขัดขวาง ความเจริญก้าวหน้าของคน อัสมิมานะ มี ๓ อย่าง คือ
…๑. ถือตัวว่าเด่นกว่าคนอื่น อันเป็นเหตุให้ยกตนข่มท่าน ทระนงตน ดูถูกคนอื่น
…๒. ถือตัวว่าด้อยกว่าคนอื่น อันเป็นเหตุให้ดูถูกตัวเอง เกิดความท้อแท้ ไม่คิดต่อสู้ยอมแพ้ต่อชะตากรรม
…๓. ถือตัวว่าเสมอกับคนอื่น อันเป็นเหตุให้ไม่ยอมคนอื่น หยิ่งยะโส ยึดถือตัวเป็นใหญ่


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาสิบห้า สู่แคว้น…. กบิลพัสดุ์
"สุปปพุทธะ" กษัตริย์…. มาเซ้าซี้
“เทวทัต” “พิมพา”…. พระเทวี
ใยทรงหนี ไม่ช่วย…. อำนวยพร

• ครั้น ธ แจง แจ้งสิ้น…. ยังดิ้นรั้น
ถือสำคัญ ท่านผิด…. มิคิดสอน
โอรสา องค์หนึ่ง…. ถึงม้วยมรณ์
อีกคนร้อน ซ่อนกาย…. ใต้เถรี

• สุดแค้นโกรธ โทษผิด…. คิดกลั่นแกล้ง
จึงแสดง แสร้งเมาขวาง…. ทางชินสีห์
มิให้องค์ ทรงบาตร…. วาดจรลี
แค่ทางนี้ ที่องค์…. จะทรงไป

• เป็นหนึ่งวัน ธ งด…. อดอาหาร
ด้วยคนพาล หาญกล้า…. ท่าเหลวไหล
พระอานนท์ ทนวอน…. อ้อนจาระไน
บาปอย่างไหน ให้พวกมาร…. พาลมุนี

• ธ พินิจ พิศโทษ…. ความโหดร้าย
ท่านจะตาย คล้ายโอรส…. หมดราศรี
ถูกแผ่นดิน สูบองค์…. ลงอเวจี
เจ็ดวันนี้ ที่ควรจุน…. หนุนด้วยธรรม

• ครั้นรู้ความ ตามคำ…. นำมาเล่า
องค์จอมเจ้า เฝ้าคิด…. จิตตอกย้ำ
เราต้องแกล้ง แฝงตัว…. ไม่กลัวกรรม
เจ็ดวันซ้ำ ย่ำบอก…. ตอกยืนยัน

• จึงเรียกหา ทหาร…. งานของเจ้า
ห้ามตัวเรา ลงดิน…. สิ้นทั้งนั้น
เวลาผ่าน นานไป… ได้เจ็ดวัน
ปูนของขวัญ พันเท่า…. สิ่งเจ้าทำ

• "สุปปพุทธะ" กะวัน…. กั้นเจ็ดชั้น
ทหารลั่น ดาลประตู…. ขู่ถลำ
อย่าให้องค์ ทรงผ่าน…. จารจดจำ
แล้วดื่มด่ำ เตรียมเย้ย…. หากเลยวัน

• จำเนียรกาล ผ่านพ้น…. คนเริ่มหน่าย
ลืมจุดหมาย คล้ายกรรม…. ย่ำโศกศัลย์
เสียงม้าแก้ว แว่วหวีด…. กรีดรำพัน
พระถลัน มั่นคง…. ลงจากวัง

• ครั้นเท้าเหยียบ เทียบดิน…. คนสิ้นศรี
ปฐพี ฉุดกระชาก…. ลาำำกไม่ยั้ง
นรกานต์ ขานขับ…. รับเสียงดัง
คนโอหัง ฝังไว้…. ในอเวจี

พรรษาที่ ๑๕ จำพรรษาที่นิโคธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระชนมายุ ๔๙ พรรษา เจ้าศากายะถวายสัณฐาคาร แสดงสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธะขวางทางพระพุทธเจ้า ถูกธรณีสูบลงนรกอเวจี

“พระเจ้าสุปปพุทธะ” เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเทวทหะ แห่งแคว้นโกลิยะ ทรงมีพระมเหสี นามว่า นางอมิตาเทวี แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระโอรส ๑ พระธิดา ๑ องค์แรกนามว่า เจ้าชายเทวทัต ส่วนองค์ที่ ๒ มีนามว่า นางยโสธรา หรือพิมพา ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระพุทธองค์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายสิตถัตถะ

เมื่อพระเจ้าสุปปพุทธะทราบว่าพระเทวทัตถูกธรณีสูบ ลงมหาอเวจีนรก ก็มิสำนึกในบาปบุญคุณโทษ กลับมีจิตอาฆาตพยาบาทพระพุทธองค์ เพราะนอกจากจะทำให้พระเทวทัตต้องธรณีสูบ พระพุทธองค์ยังทำให้ เจ้าหญิงยโสธราธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะเป็นหม้าย จึงกลั่นแกล้งพระพุทธองค์ ด้วยการเกณฑ์อำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งเสพเมรัย ขวางทางที่พระพุทธองค์ จะออกบิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งทางนั้นมีเพียงทางเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธองค์จะเสด็จดำเนินไปได้ เมื่อเสด็จดำเนินผ่านไม่ได้เพราะ พระเจ้าสุปปพุทธะกับบริวารขวางอยู่วันนั้น พระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหาร ๑ วัน

พระอานนท์จึงทูลถามอยากจะทราบโทษของพระเจ้าสุปปพุทธะ พระพุทธองค์จึงทรงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปนับได้ ๗ วัน พระเจ้าสุปปพุทธะจะลงอเวจีตามพระเทวทัตไป”

เมื่อบริวารของพระเจ้าสุปปพุทธะกลับไปถวายรายงาน พระเจ้าสุปปพุทธะ ก็มีจิตต้องการให้พุทธฎีกาของพระพุทธองค์มิเป็นความจริง จึงขึ้นประทับ ณ ปราสาท ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีนายทวารป้องกันแข็งขัน ทรงตรัสกับนายทวารที่มีร่างกายกำยำนั้นว่า

“ในระหว่าง ๗ วันนี้ ถ้าฉันลงมาละก็ พวกเธอจงขัดขวางเอาไว้ไม่มีใครทำโทษ”

โดยประกาศต่ออำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ดังนั้น เพื่อมิให้นายทวารทั้งหลายต้องโทษ จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ วันนั้นปรากฏว่า ม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าทรงศึกที่พระเจ้าสุปปพุทธะโปรดปราน อาละวาดกระทืบโรง ร้องเสียงดังมาก พระเจ้าสุปปพุทธะเกิดเป็นห่วงม้า ด้วยอาการขาดสติจึงทรงลงจากปราสาทชั้น ๗ แต่ปรากฏว่านายทวารมิได้ขัดขวาง ด้วยคิดว่าเลยครบกำหนด ๗ วันแล้ว พอพระเจ้าสุปปพุทธะย่างพระบาทเหยียบแผ่นดิน ก็ถูกพระธรณีสูบหายไปสู่มหานรกอเวจี ตรงตามพุทธฎีกาที่ตรัสไว้แก่พระอานนท์ พระอานนท์ทราบข่าว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ฝ่ายมารดา “วักกลิ”…. วิตกจริต
มารอำมหิต คิดมา ….ฆ่าลูกขวัญ
จึงยกลูก ค่าล้ำให้…. ธรรมราชัน
เพื่อทรงกั้น ผองภัย…. ให้ลูกยา

• ธ โอบอุ้ม เด็กน้อย…. ตัวจ้อยจิ๊ด
รักสนิท สถิตย์ไว้…. ในเคหา
ครั้นวันผ่าน กาลเปลี่ยน…. เวียนเจ็ดครา
เด็กเติบกล้า พาจิต…. ติดธรรมทาน

• ธ ให้บวช กวดจิต…. คิดธรรมศรี
เป็นมุนี ที่งาม…. ยามไขขาน
แต่เพราะจิต ติดรูป…. มาช้านาน
รสธรรมซ่าน ผ่านไม่ได้…. ในใจตน

• ธ พินิศ พิศมอง…. ต้องแกล้งว่า
ให้เกิดล้า กล้าหน่าย…. พ่ายสักหน
เพราะหลงยึด รูปเงา…. เฝ้ามองคน
จึงลืมสน ลืมมอง…. จ้องกายี

• "วักกลิ" หลงรูปเงา…. เจ้าธรรมฟ้า
ที่โสภา อ่าองค์…. ทรงรัศมี
ไม่มีจิต คิดธรรม…. นำชีวี
ถูก ธ ชี้ หนีไป….ให้พ้นเรา

• เกิดโศกศัลย์ ขวัญหาย…. ตระกายหนี
คิชฌกูฏมี ที่นั่ง…. ฝังโง่เขลา
เฝ้าเพ่งพิศ จิตจด…. ปลดเบาเบา
แต่ความเศร้า เหงามี…. หนีอย่างไร

• ธ พินิศ คิดว่า…. ต้องเพิ่มสุข
เพื่อปลอบปลุก ฉุกคิด…. จิตไสว
จึงเสด็จ ยืนเพรียก…. ร้องเรียกไป
อยู่แห่งไหน ให้มา…. เห็นหน้ากัน

• “วักกลิ” ผละวิ่ง…. ทิ้งทั้งหมด
ความกำสรด ปลดทิ้ง…. ยิ่งสุขสันต์
ธ เอ่ยถาม ยามอยู่เดียว…. เปลี่ยวชีวัน
เกิดลมสั่น ครั่นกาย…. หายอย่างไร

“วักกลิ” ยังเป็นทารกน้อยนอนแบเบาะอยู่ มารดาถูกภัยจากปีศาจ (จิตตนหลอน) คุกคาม มีใจเกิดความหวาดกลัวว่า ลูกน้อยจะป่วยไข้เป็นอันตราย จึงนำเอาทารกวักกลิไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้ววางทารกน้อยลงที่ใกล้พระบาท กราบทูลว่า “หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงกรุณาเป็นที่พึ่งแก่เขาด้วยเถิด”

พระศาสดาทรงรับเอาทารกน้อยขึ้นมาจากพื้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทารกน้อยเปรียบเสมือนได้รับการดูแลรักษาโดยพระพุทธองค์ ทารกจึงเป็นผู้พ้นแล้วจากความป่วยไข้ อยู่มาได้ด้วยความสุขสำราญ และมีความรัก ความผูกพัน ต่อพระศาสดาเป็นอย่างมาก อายุได้เพียง ๗ ขวบ จึงขอบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บวชแล้วก็เฝ้าติดตามพระศาสดาด้วยศรัทธาตลอดมา คอยรับใช้ใกล้ชิด เพราะไม่อิ่มในความปรารถนาที่ได้ดูพระสรีระอันงามประเสริฐของพระพุทธองค์ จิตของวักกลิภิกษุติดหลงในพระพุทธสรีระอยู่อย่างนี้

เมื่อพระศาสดาทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ภิกษุนี้หากไม่ได้ประสบ ความสลดสังเวชบ้าง ก็จะไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงได้” จึงตรัสขับไล่ออกไป

“วักกลิ เธอจงอยู่ให้ห่างเรา เธอจงหลีกไปเสีย”

พอถูกพระศาสดาขับไล่แล้ว วักกลิภิกษุไม่อาจจะอยู่ต่อพระพักตร์พระศาสดาได้ น้อยใจเสียใจอย่างรุนแรง คิดว่า “จะมีประโยชน์อะไร ที่จะมีชีวิตอยู่ห่างไกล โดยไม่ได้พบเห็นพระศาสดา” จึงบุกป่าฝ่าดงด้วยความเศร้าโศก ป่ายปีนขึ้นสู่ปากเหวของภูเขาคิชฌกูฏ พยายามข่มอารมณ์ที่เศร้าหมอง เจริญวิปัสสนา พระศาสดาทรงทราบความเป็นไป ของวักกลิภิกษุ ทรงเล็งเห็นว่า “หากวักกลินี้ไม่ได้รับ การคลายใจจากความเศร้าหมองแล้ว ก็จะทำให้ไร้มรรคผลนิพพานเป็นแน่”

พระศาสดาจึงเสด็จไปประทับยืนที่เชิงเขา ทรงปลอบโยนวักกลิภิกษุด้วยการตรัสเรียกหา

“วักกลิจงมาเถิด วักกลิจงมาเถิด”

เพียงได้ยินการตรัสเรียกหาเท่านั้น วักกลิภิกษุก็เกิดปีติและสุขใจยิ่งนัก รีบถลาวิ่งลงมาจากเงื้อมเขาสูง ถึงเชิงเขา ได้โดยสะดวก รวดเร็วทีเดียว พระศาสดาทรงถามขึ้นว่า “ดูก่อนวักกลิ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ที่ไร้เส้นทางสัญจร เป็นที่เศร้าหมอง แล้วถูกโรคลมเข้าครอบงำ เธอจะทำอย่างไร”


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ข้างฝ่าย “อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
อยู่สาวัตถี เมืองใหญ่…. ไม่สุงสิง
มาขายค้า ราชคฤห์.… ได้พักพิง
รับธรรมมิ่ง ยิ่งค่า…. กว่าครั้งใด

✿ บรรลุชั้น ขั้นโสดา.… ค่าอนันต์
พร้อมมุ่งมั่น อัญเชิญ…. เดินทางไข
ช่วยสอนสั่ง ตั้งธรรม…. นำจิตใจ
นครใหญ่ สาวัตถี…. ที่เรืองรอง

✿ ทุกหนึ่งโยชน์ สร้างอาราม…. ยามเสด็จ
ไม่ให้เหน็ด เหนื่อยล้น…. ชนทั้งผอง
เศรษฐีใหญ่ ใช้เงิน…. มาเทกอง
ซื้อดินของ “เชตราช”…. ชาติกุมาร

✿ ท่านก่อสร้าง วางผัง…. ดังเมืองแถน
แต่ขาดแผ่น แดนประตู…. คู่ประสาน
“เชตราช” ประกาศให้…. ได้ทันการณ์
เพียงท่านขาน จารชื่อลง….ตรงประตู

✿ อารามนี้ มีนาม… ตามเรื่องฝัน
"เชตวัน" วิหาร…. หวานเลิศหรู
ธ ประทับ สิบเก้าปี…. ที่นับดู
สมควรคู่ "ทายกเด่น" …. เน้นกล่าวนาม

“อนาถบิณฑิกเศรษฐี” หรือสุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี เป็นชาวเมืองสาวัตถีในสมัยพุทธกาล มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า เดิมท่านมีนามว่าสุทัตตะเศรษฐี เกิดในตระกูลของสุมนะ เศรษฐีผู้เป็นบิดา ท่านเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ ชอบช่วยเหลือคนตกยาก ทำให้ท่านถูกเรียก จากชาวเมืองสาวัตถีว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก (แปลตามศัพท์ว่า เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวให้กับคนยากจน)

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ไปค้าขายและได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์ จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงมีศรัทธาสร้างวัดเชตวันมหาวิหาร ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเงินจำนวนมาก ท่านได้เป็นผู้ให้ความ อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์อย่างดีมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่วัดพระเชตวันที่ท่านสร้างมากกว่าที่ประทับใดๆ ถึง ๑๙ พรรษา

เรื่องราวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีปรากฏมากมายในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวที่แสดงถึงความศรัทธา ความมีสติปัญญา และความเอาใจใส่ ในการบำรุงพระพุทธศาสนา ท่านเศรษฐี ทำบุญจนหมดตัว แต่ก็ยังมิเลิกทนุบำรุงศาสนา จนได้รับสรรเสริญจากพระพุทธเจ้า ให้เป็น อุบาสกผู้เลิศในการเป็นผู้ถวายทาน (เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก)

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเพื่อเสด็จไปประกาศพระศาสนายังเมืองสาวัตถี พร้อมทั้งกราบทูลว่า จะสร้างพระอารามถวาย ที่เมืองสาวัตถี พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาตามคำกราบทูล อนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปราบปลื้มปีติยินดี เป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถีโดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากให้สร้างวิหาร ที่ประทับเป็นที่พักทุกๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้วได้ติดต่อขอซื้อที่ดิน จากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคาด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดา และเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้น เจ้าชายเชตราชกุมารได้แสดงความประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ที่ซุ้มประตูพระอาราม ดังนั้นพระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม”


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ประวัติกล่าว ท้าวความ.... แต่ยามหลัง
ณ ริมฝั่ง “โรหิณี”.... มีลูกหลาน
ต่างจดจ้อง มองเน้น.... เขม่นพาล
ลืมประสาน หว่านไมตรี.... ตามศรีวงค์

• ฟากหนึ่ง “เทวทห”.... พระมารดา
อีกฟากหนา “กบิลพัสดุ์”.... ชัดประสงค์
ต่างมุ่งหวัง สั่งผันน้ำ.... ตามจำนงค์
โลภและหลง คงไม่เหลือ.... เผื่อผู้ใด

• ธ เสด็จ รุดห้าม.... ถามคำศรี
“โลหิตนที ปวัตติสสติ”.... หรือไฉน
สายวารี ชีวา.... ค่าอันใด
จึงยิ่งใหญ่ ให้ค่า.... เกินกว่ากัน

• จึงกำเนิด เกิดพระ.... “ปางห้ามญาติ”
มิตรเกือบขาด ชาติวงศ์.... พงศ์โศกศัลย์
เหตุครานี้ ธ เสด็จ.... โดยเร็วพลัน
อรหันต์ ท่านใด.... ก็ไม่ตาม


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ แต่คราวนี้เสด็จมาลำพังพระองค์เดียว เสด็จมาเพื่อทรงระงับสงครามระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย พระญาติฝ่ายหนึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพุทธบิดา ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพุทธมารดา ปกครองโกลิยนครหรือเทวทหนคร ทั้งสองฝ่ายตั้งบ้านเมืองอยู่คนละริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี แล้วเกิดพิพาทกันในปัญหาเรื่องน้ำที่ทดขึ้นทำนา เมื่อฝ่ายอยู่ทางเหนือน้ำทดน้ำจากแม่น้ำเข้านา ฝ่ายทางใต้ก็ขาดน้ำ ทั้งสองฝ่ายเปิดประชุมเพื่อตกลงกันก่อน แต่ก็ตกลงกันไม่ได้จึงเกิดปะทะคารมกันอย่างรุนแรง ถึงกับขุดบรรพบุรุษขึ้นมาประณามกัน

“ไอ้พวกสุนัขจิ้งจอก สมสู่กันเอง”
ฝ่ายที่ถูกด่าว่าอย่างนี้ เพราะต้นสกุลหลายชั่วคนมาแล้วได้อภิเษกสมรสกันเอง ระหว่างพี่ชายกับน้องสาว

“ไอ้พวกขี้เรื้อน”
ฝ่ายตรงกันข้ามที่ถูกด่าตอบอย่างนี้ ก็เพราะต้นสกุลเป็นโรคเรื้อน ถูกเนรเทศออกนอกเมืองไปอยู่ป่า


ทั้งสองฝ่ายเตรียมกำลังคนคือทหารและอาวุธจะเข้าห้ำหั่นกัน พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้า จึงเสด็จมาทรงระงับสงคราม ทรงประชุมพระญาติทั้งสองฝ่ายแล้วทรงซักถามถึงต้นตอของตัวปัญหา

พระพุทธเจ้า : “ทะเลาะกันเรื่องอะไร”

พระญาติ : “เรื่องน้ำ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า : “ระหว่างน้ำกับชีวิตคนนี่อย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน”

พระญาติ : “ชีวิตคนมากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า : “ควรแล้วหรือที่ทำอย่างนี้”

พระญาติดุษณีภาพทุกคนไม่มีใครกราบทูลเลย

พระพุทธเจ้า : “ถ้าเราตถาคตไม่มาที่นี่วันนี้ ทะเลเลือดจะไหลนอง” (โลหิตนที ปวัตติสสติ)

พระญาติทั้งสองฝ่ายเลยเลิกเตรียมทำสงครามกัน เหตุการณ์ตอนนี้เป็นบทบาทสำคัญตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า เพราะเห็นความสำคัญนี้ คนรุ่นต่อมาจึงสร้างพระพุทธรูปปางหนึ่งเป็นอนุสรณ์ที่เรียกว่า “พระปางห้ามญาติ” นั่นเอง

***************************************

:b44: ทรงห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=46118

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2012, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.พ. 2011, 10:52
โพสต์: 256

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b41: :b8: :b8: :b8: :b45:

.....................................................
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร ไม่ต้อง อ้อนวอน ขอพร กะใคร ให้กวน
พรที่ ให้กัน ผันผวน เป็นเหมือน ลมหวน อวลไป อวลมา อย่าหลง
พรทำ ดีเอง มั่นคง วันคืน ยืนยง ซื่อตรง ต่อผู้ รู้ทำ
อยากรวย ด้วยพร เพียรบำ - เพ็ญบุญ กุศลนำ ให้ถูก ให้พอ ต่อตน
ทุกคน เกิดมา เป็นคน ชั่วดี มีจน เป็นผล แห่งกรรม ทำเอง
ถือธรรม เชื่อกรรม ยำเยง บาปชั่ว กลัวเกรง ทำแต่ กรรมดี ทวีพรฯ

ท่านพุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2013, 15:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 มิ.ย. 2011, 10:28
โพสต์: 439


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนาบุญ
เป็นบุญตาที่ได้เห็นจริงๆ
ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปคะ

.....................................................
สรรพสิ่งทุกอย่าง ล้วนมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

.................................................................................................
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีเหตุและผลอยู่ในตัว
การกระทำของตนย่อมเป็นกรรมที่ตนกำหนดเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2013, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอบคุณครับ

ขออณุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะครับ
:b8:

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• คราหนึ่ง “พระปิณโฑล- …. ภารทวาช”
“สิงหนาท บันลือ”… น่าเกรงขาม
กับพระโมค คัลลา…. ลือชานาม
บิณฑบาตรข้าม เข้าย่าน…. บ้านผู้ดี

• ได้ยินเสียง เซ็งแซ่…. แต่หลายโยชน์
ชาวเมืองโจษ เล่าขาน ….บ้านเศรษฐี
แขวนบาตรไม้ จันทร์แดง…. แกล้งพาที
ในโลกนี้ มีอรหันต์…. เชิญท่านมา

• เจ็ดวันเวียน เจียนกาล…. จะผ่านแล้ว
ไร้วี่แวว อรหันต์…. ดั้นเวหา
สองเถระ ท่านมอง ….จ้องนัยน์ตา
ปรารถนา ระบือ…. ชื่อภควัน

• โมคคัลลา พาที…. วจีแจ้ง
พระปิณโฑล ท่านแสดง…. แห่งอรหันต์
ปิณโฑลรับ จับหิน…. บินไปพลัน
แสร้งขบขัน หินเกือบร่วง…. สู่ปวงชน

• แล้วคว้าบาตร ประกาศให้…. ได้รับรู้
เชิญท่านดู ให้แจ้ง…. แห่งกุศล
เราสาวก ชินสีห์…. มีตัวตน
ฤทธีล้น ยลให้ดี…. นี่แหละเรา

• ชาวเมืองต่าง วิ่งแล่…. แห่มาจ้อง
ตะโกนร้อง ป้องเสียง…. เยี่ยงขลาดเขลา
ธ ยินเสียง สำเนียง…. มิใช่เบา
อานนท์เฝ้า เล่าความ…. ตามยินมา

• ครั้นสอบความ ถามเถระ…. พระปิณโฑล
ท่านเลยโดน ตำหนิ…. มิควรหนา
ธ ตรากฎ กำหนด…. งดฤทธา
ห้ามอวดกล้า ท้าฤทธิ์…. ทุกทิศทาง


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

“พระปิณโฑลภารทวาชเถระ” เป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองราชคฤห์ นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญของพระพุทธศาสนา ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน “ผู้บันลือสิงหนาท” คือ พระสาวกองค์ นี้ ในวันที่ท่านบรรลุพระอรหัต ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ แม้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ เป็นปัจจัยมาจากการที่ท่านได้กระทำบันลือสีหนาทในสมัยอดีตชาติ ดังเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระเถระนี้ บังเกิดเป็นราชสีห์ผู้ไม่มีความกลัว อาศัยอยู่ในถ้ำที่ใกล้ภูเขาหิมวันต์ ทางทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ออกหากินไปในทิศทั้ง ๔ อยู่ ณ ที่นั้น พระศาสดาประทับอยู่ในถ้ำชื่อว่าจิตตกูฏ ที่ยอดเขาชื่อว่าจิตตบรรพต เพราะเป็นภูเขาที่งดงามหลากสีด้วยโอสถ และรัตนะทั้งหลาย พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นความถึงพร้อมแห่งเหตุที่สมควรจะเสด็จไปโปรดราชสีห์นั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จไปยังถ้ำเป็นที่อยู่ของราชสีห์ ในเวลาที่ราชสีห์ออกไปหาเหยื่อ ทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่นสามารถจะมานั่งยังที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ใหญ่แท้หนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำได้ แม้รัศมีสรีระของท่านก็แผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้จักเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้ เราควรกระทำสักการะตามสติกำลังถวายพระองค์ จึงไปนำดอกอุบลและดอกไม้ต่างๆ ลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิ กระทำจิตให้เลื่อมใส และเพื่อต้องการจะอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้สัตว์ร้ายอื่นๆ หนีไป ยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ตลอดคืนยังรุ่ง รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำดอกไม้เก่าออก เอาดอกไม้ใหม่ลาดอาสนะโดยทำนองนี้ เที่ยวตกแต่งปุบผาสนะบูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนอย่างที่บูชาในวันแรก บังเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง ในวันที่ ๗ พระ ศาสดาออกจากนิโรธสมาบัติ ประทับยืนที่ประตูถ้ำ ราชสีห์กระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ ครั้ง แล้วถอยออกไปยืนอยู่

พระปทุมุตรพุทธเจ้าทรงรับเครื่องบูชาแล้วตรัสว่า ผู้ใดได้ถวายปทุมนี้ และได้บันลือสีหนาท เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลกเมื่อพระศาสดาพระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาแล้ว พระยาสีหะนี้จักเป็นบุตรของพราหมณ์ จักออกจากสกุลพราหมณ์แล้วบวช ในพระศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น เขามีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน ณ เสนาสนะอันสงัด ปราศจากชน เกลื่อนกล่นด้วยสัตว์ร้าย

พระเถระแสดงฤทธิ์ เมื่อครั้งเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้จันทร์แดง ซึ่งมีค่ามากมาปุ่มหนึ่ง จึงได้ให้กลึงเป็นบาตรไม้ นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูง ๖๐ ศอก ประกาศว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรไม้นี้ไปเถิด นิครณฐนาฏบุตรผู้เป็นเดียรถีย์ กับเหล่าสาวกได้พยายามด้วยเล่ห์อุบายต่างๆ เป็นเวลาถึง ๗ วัน เพื่อเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นมาครอบครองแต่ก็ไม่สำเร็จ ในวันที่ ๗ พระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะ ได้ไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ยินพวกชาวเมืองคุยกันในเรื่องที่เศรษฐีประกาศ ให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร ไม้จันทร์แดงนั้นไป ก็บัดนี้ล่วงเข้าไปวันที่ ๗ แล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาเอาบาตรนั้นไปได้ เห็นทีพระอรหันต์นั้นคงจะไม่มีในโลกแล้วเป็นแน่แท้

พระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า พวกชนเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงเหาะไปในอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะกล่าวว่า ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาสาวกผู้มีฤทธิ์ ท่านจงถือเอาบาตรนั้น แต่เมื่อท่านไม่ถือเอา ผมจักถือเอา

ท่านโยนหินขึ้นฟ้า ใช้เท้าหนีบไว้ ท่านจึงเหาะไปเอาบาตรไม้จันทร์แดงมา ชาวเมืองต่างโจษจันท์ และติดตามมาให้ท่านแสดงฤทธิ์ จนเกิดเสียงดัง พระพุทธเจ้าจึงสอบถามพระอานนท์ และสั่งให้ท่าน นำบาตรมาให้ ทรงติเตียนพระเถระ แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้ว รับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสดงอุตตริมนุสสธรรมอันเป็น อิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ใดขืนแสดงต้องอาบัติ ทุกกฎ” ดังนี้

***************************************

:b44: ยมกปาฏิหาริย์สถูป เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=41346

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาเก้า เข้าแดน…. "แคว้นวังสะ"
สามอัคระ มหา….เศรษฐี
ผู้อยู่ยั้ง ยังกรุง …."โกสัมพี"
สร้างวัดที่ มีสง่า…. คราเดียวกัน

• "โฆสก" สร้างวัด…. "โฆสิตา"
"กุกกุฏา" โดย "กุกกุฏ"…. สุดเสกสรรค์
"ปาวาริก" สร้าง …."ปาวาริกัมพวัน"
อีกวัดนั้น "พัทริกา" ….งามน่ายล

• ทรงบัญญัติ สิกขาบท…. กำหนดไว้
น้ำเมรัย ไม่เลิศ…. ประเสริฐผล
"สุราปานวรรค" หมักดอง…. ฟ้องตัวตน
ทำคนหล่น จากฟ้า…. มาอบาย

• แม้พุทธา ก็ไม่พ้น…. คนตามด่า
ถูกกล่าวหา ใส่ความ…. ตามว่าร้าย
เรื่องกำเนิด เกิดมาก…. ยากอธิบาย
แต่สุดท้าย พ่ายฤทธี…. ความดีองค์

ในพรรษานี้ มีหลายบุคคลที่สำคัญอาจจะต้องแสดงไว้ในหลายลำนำด้วยกัน เพราะไม่อยากตัดทิ้ง โดยจะแบ่งกล่าวเป็นตอนๆ ต่อกัน ลำดับเหตุการณ์อาจไม่ได้ เกิดต่อเนื่องทุกอย่างภายในพรรษานี้ พรรษาเดียว แต่พยายามรวมเรื่องเมืองนี้ไว้ด้วยกันทั้งหมด

:- ๓ เศรษฐี สร้าง ๔ วัด
:- พระพากุละ
:- พระนางสามาวดี
:- ต่อเนื่องเรื่องพระเจ้าอุเทนราชา พระนางมาคันทิยา
:- พระฉันนะ หรือนายฉันนะที่เคยตามเสด็จตอนพระพุทธเจ้าออกผนวช
:- สังฆเภทของพระธรรมธร และพระวินัยธร
อันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้า ทรงปลีกวิเวกไปจำพรรษาที่ ๑๐ ตามลำพัง

ในพรรษที่ ๙ นี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่วัดโฆษิตาราม ซึ่งเป็นวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ ทรงแสดงธรรมโปรดประชากร ให้ตั้งอยู่ใน มรรคผลเป็นพุทธมามกะ ปฏิญาณตนตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยเป็นจำนวนมาก

โกสัมพีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้มี พระเจ้าอุเทนราชาเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแคว้นหนึ่ง

ในทีฆนิกาย มหาวรรค ระบุว่าพระอานนท์เคยทูลขอให้พระพุทธองค์ควรมาปรินิพพาน ที่เมืองใหญ่โกสัมพีนี้ แทนที่จะเป็นเมืองกุสินารา ที่เป็นเมืองเล็ก ในสมัยพุทธกาล เมืองแห่งนี้ปรากฏวัดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา 4 วัด คือ โฆสิตารามมหาวิหาร, กุกกุฏารามมหาวิหาร, ปาวาริการามมหาวิหาร หรือปาวาริกัมพวัน และพัทริการามมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยมหาเศรษฐีแห่งโกสัมพี 3 คน คือ โฆสกเศรษฐี, กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐี ตามลำดับ โดยสามวัดแรกเศรษฐีทั้งสาม ได้สร้างถวายพระพุทธเจ้าในคราวเดียวกัน

ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาที่ 9 ณ โกสัมพี และมีโอกาสเสด็จมาประทับ ณ เมืองโกสัมพีหลายครั้ง และบางครั้งได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ของพระภิกษุสงฆ์ หลายสิกขาบท ซึ่งรวมถึงสิกขาบทในสุราปานวรรค ข้อที่ห้ามพระดื่มสุราด้วย และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเหตุการณ์ ที่พระธรรมธรและวินัยธรแห่งโฆสิตารามมหาวิหาร ทะเลาะกันด้วยเรื่อง การคว่ำขันน้ำในห้องน้ำ เกิดเป็นสังฆเภท (แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาตักเตือนก็ไม่ยอมกัน จึงทำให้พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่ 10 ที่รักขิตวัน ในป่าปาริไลยกะ

ออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปเมืองสาวัตถี พระที่ทะเลาะกันสำนึกผิด และคืนดีกันได้ ในระหว่างพรรษา เมื่ออกพรรษาพระเหล่านั้นจึงพร้อมใจกัน ไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อกราบทูลขออภัยโทษ

และเรื่องพระฉันนะ (คนเดียวกับฉันนะอำมาตย์ที่พาเสด็จออกผนวช) ถูกพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ จนสำนึกผิด และกลับใจปฏิบัติธรรม จนบรรลุพระอรหันต์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในเมืองโกสัมพีที่ปรากฏในคัมภีร์ พระพุทธศาสนา เช่น เรื่องโฆสกะเศรษฐี, พระพากุละ, พระปิณโฑละภารัทวาชะ, เรื่องพระเจ้าอุเทนราชา กับพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา พระนางวาสุลทัตตา เป็นต้น

รวมทั้งเรื่องพระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า จ้างให้นักเลงและเดียรถีร์ เหล่ามิจฉาทิฏฐิติดตามด่าพระพุทธองค์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของพระพุทธภาษิต สำคัญที่ถือได้ว่าเป็นธรรมะสอนใจดียิ่ง

โกสัมพี (อังกฤษ: Kosambi) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นวังสะ 1 ในมหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขายในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซาก โบราณสถาน รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยวริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกสัม (Kosam) หรือหมู่บ้านหิสัมบาทตชนบท จังหวัดอัลลฮาบาต รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 59 กิโลเมตร

เมืองนี้ได้เริ่มต้นทำการขุดค้นทางโบราณคดีโดยศาสตรจารย์ จี.อาร์.ชาร์มา แห่งมหาวิทยาลัยอัลลาหบาต ในปี พ.ศ. 2492 และมีการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2494-2499 ปัจจุบันปรากฏหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุดค้นเป็นที่แน่นอนแล้ว โดยยังคงมีซากกำแพงเมืองปรากฏให้เห็นอยู่ และได้ค้นพบวัดโบราณ ที่สันนิษฐานว่าเป็นวัดโฆสิตารามมหาวิหาร วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีการค้นพบบาตรดินโบราณ พระพุทธรูป และโบราณวัตถุจำนวนมาก ภายในแหล่งขุดค้นเมืองโกสัมพีแห่งนี้ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ทางการอินเดียได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองอัลลหบาต


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 108 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร