วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 09:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง

ต่อจากลิงค์นี้ ดังนั้น ควรทำความเข้าใจเรื่องศีลกว้างๆ ที่นี่ก่อน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=54793

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีลสำหรับประชาชน

ความเข้าใจพื้นฐาน

ก่อนจะขยายความในเรื่องศีล โดยเฉพาะที่จะเน้นหลักความประพฤติในระดับของประชาชน หรือ ชาวบ้านทั่วไป เห็นควรย้ำหลักกว้างๆ ที่ควรรู้ตระหนักไว้ อันจะช่วยให้ประพฤติปฏิบัติศีลในทุกระดับได้ถูกต้อง ตรงตามความมุ่งหมาย เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ผู้ประพฤติปฏิบัติรักษาเรื่องศีลนั้น ตั้งแต่เริ่มแรก ควรมองเห็นความหมายของศีลที่ตนรักษาปฏิบัติโล่งสว่างพร้อมทั้งตระหนักรู้ถึงความมุ่งหมายของการปฏิบัติ และมองเห็นศีลที่ตนรักษานั้นในระบบการศึกษา หรือระบบการฝึกอบรมพัฒนาชีวิตว่า ความงอกงามด้วยศีลนั้น สัมพันธ์กับการพัฒนาจิตใจ และความเจริญปัญญาเกื้อหนุนสมาธิ และญาณทัศนะ จะพาให้ปราศปัญหาปลอดทุกข์ ประสบผลที่เป็นประโยชน์สุขอย่างไรๆ ศีลจำเป็นสำหรับชีวิต และสังคมที่ดีงามมีความสุขอย่างไร

ดังที่ทราบกันดีว่า มรรค ที่เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ รวมข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และองค์ ๘ ของมรรคนั้น ก็จัดได้เป็น ๓ ขันธ์ คือ ๓ หมวด ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ในเวลาจะฝึกปฏิบัติกันจริงจัง ก็ฝึกก็ศึกษากันใน ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ โดยจัดเป็นระบบการศึกษาที่เรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่า สิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อีกนั่นแหละ

เป็นอันว่า การปฏิบัติ การฝึก การหัด การพัฒนาคน การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

เมื่อจับหลักนี้ไว้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลทีมาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ ศีลที่เป็นองค์ของมรรค และตามพุทธพจน์ที่ยกมาให้ดู ก็เห็นชัดแล้วว่า องค์มรรคที่เป็นหมวดศีล ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ นี้ คือ ศีลที่จริง ที่แท้ ที่ครบบริบูรณ์

พุทธพจน์ข้างต้นนั้น แสดงความหมายของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ แต่ละอย่างแยกแยะแบ่งข้อย่อยออกไป ทำให้เห็นได้ว่า สาระสำคัญของศีล คืออะไร ศีลที่เป็นองค์มรรค หรือ ศีลที่จำเป็นจริงๆ สำหรับชีวิตที่ดีงามมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร

ผู้รู้แต่โบราณนับข้อย่อยของศีลในองค์มรรคนี้ ที่แยกย่อยออกไปว่ามี ๘ ข้อ แล้วตั้งชื่อเรียกไว้ว่า อาชีวัฏฐมกศีล แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘

ตัวศีลจริงๆ แท้ๆ มีเท่านี้ ต่อจากนี้ ก็แบ่งซอยย่อยต่อออกไป เช่น

เมื่อจะจัดการฝึกการศึกษาแก่คนพวกไหน กลุ่มใด ที่ควรมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อความมุ่งหมายจะไปถึงไหน จะเน้นหนักด้านใด หรือแม้แต่จะเตรียมวางฐานปูพื้นในการพัฒนาคนขึ้นมาเป็นขั้นๆ อย่างไร ก็แยกย่อยเป็นรายละเอียดออกไป เป็นศีลพระ ศีลสามเณร ศีลชาวบ้าน เป็นต้น ตลอดจนทำให้เป็นระบบการจัดตั้งจัดการทางสังคมขึ้นมาชัดเจนเพื่อให้ได้ผล เป็นจริงอย่างแน่ใจ เรียกว่าวินัย โดยมีการควบคุม ดำเนินการต่างๆ ปรับโทษ ลงโทษแก่ผู้ละเมิด เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 16:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


เมื่อได้หลักอย่างนี้แล้ว เพื่อให้จับจุดที่สำคัญๆ ได้ชัดขึ้น ขอให้ดูลักษณะที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ ดังนี้

๑. พุทธพจน์ที่จำแนกศีลในมรรคนั้น ทำให้เห็นได้ว่า มรรคมิใช่เป็นมรรคาที่มุ่งสำหรับภิกษุสงฆ์เท่านั้น มิฉะนั้น แล้วคำจำกัดความของศีลก็จะต้องหมายถึงศีล ๒๒๗ หรือภิกษุศีล หรือ บรรพชิตศีล หรืออะไรทำนองนั้น และ
ทำให้เห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงสาระของศีลในแบบที่ยืดหยุ่น กินความกว้าง คลุมศีลปลีกย่อย ที่แยกกระจายออกไปได้ต่างๆ มากมายหลายแบบ
ทำให้ไม่จำเป็นต้องทรงแจงระบุชื่อหมวดศีลปลีกย่อยเหล่านั้น เช่น ไม่ต้องระบุศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เข้าไว้ด้วย เป็นต้น

๒. ควรย้ำไว้ก่อน เพราะมักลืมกันบ่อยๆว่า ศีล มิใช่หมายเพียงความประพฤติดีงามสุจริตทางกายและวาจาเท่านั้น แต่หมายถึงอาชีวะสุจริตด้วย เรื่องการหาเลี้ยงชีพมีความสำคัญด้านศีลนี้ จะต้องเน้นกันไว้

๓. ขอทวนความที่เคยพูดข้างต้นว่า ในการจำแนกข้อของศีลนั้น ตามปกติท่านระบุไว้เพียงหัวข้อว่า เว้นปาณาติบาต เว้นอทินนาทาน เป็นต้นและเมื่อดูแต่หัวข้อก็เห็นเพียงด้านลบ หรือ ด้านปฏิเสธอย่างเดียว ถ้าจะดูให้ชัดให้ครบ ก็ควรดูที่พุทธพจน์ขยายความหมาย เข่น ในกุศลกรรมบถ ๑๐ จะเห็นชัดว่า ศีลแทบทุกข้อ แสดงความหมายแยกเป็น ๒ ตอน มีทั้งให้เว้น และให้ทำ ลบตามด้วยบวก คือ

- ตอนต้น กล่าวถึงการเว้นไม่ทำความชั่ว เช่น ละปาณาติบาต

- ตอนหลัง กล่าวถึงการทำความดี ที่ตรงข้ามกับความชั่วที่งดเว้นนั้น เช่นว่า เกื้อกูลสรรพสัตว์


๔. ในมรรคนี้ องค์มรรค มีทั้งด้านศีล ด้านจิตหรือสมาธิ และด้านปัญญา ซึ่งต้องมารวมกันครบ จึงจะเป็นมรรค และจึงจะสำเร็จเป็นผลแม้ว่าขณะนี้ เรากำลังพูดถึงศีล หรือจะปฏิบัติศีล ก็ต้องตระหนักว่า นี่เราอยู่ในส่วนนี้ของมรรค เมื่อเดินหน้าไป จะต้องให้ประสานขานรับกับอีก ๒ ส่วนนั้นด้วย จึงจะได้ผลจริง

ความเป็นจริง และความสำเร็จผลต่อเมื่อมีความครบพร้อมขององค์ประกอบอย่างนี้ เรียกอย่างภาษาพระว่า เป็นระบบธรรมสามัคคี หรือที่เวลานี้เรียกว่าองค์รวม แม้แต่ในชั้นสูงสุด การตรัสรู้ก็เกิดขึ้น เมื่อมีธรรมสามัคคี


เมื่อมองดูที่มรรค ซึ่งมีองค์มรรคทุกข้ออยู่ครบ ก็มองเห็นธรรมสามัคคี หรือ องค์รวม พร้อมทั้งเห็นเห็นองค์ร่วมทั้งหมด พร้อมไปด้วยกัน ก็ง่ายที่จะไม่ลืมระบบ ถึงแม้ขณะนี้อยู่ที่ศีล ก็ไม่ลืมองค์ร่วมอื่น

แม้ในชุดกุศลกรรมบถ ซึ่งพูดได้ว่า เป็นการขยายที่มรรคออกไป โดยจัดองค์มรรคทำนองประยุกต์เข้าให้เหมาะในระดับสำหรับคนทั่วไป หรือ สำหรับบรรดามนุษย์ชน (ดังที่เคยบอกแล้วว่า ท่านถือว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ เป็นมนุษยธรรม) ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ศีลในกรรมบถนั้นมากับจิตใจ/สมาธิ และปัญญาด้วย คือมีองค์มรรคมาครบทั้ง ๓ ด้าน (๗ ข้อแรก เป็นศีล ข้อ ๗-๘เป็นจิต/สมาธิ ข้อ ๑๐ เป็นปัญญา แถมว่า ศีลในกุศลกรรมบถ ยังขยายออกไปให้เห็นครบ ทั้งท่อนลบ และท่อนบวก)


แต่พอมาดูศีล ๕ ที่ว่า เป็นศีลอย่างต่ำที่สุด คือคนทุกคน อย่างน้อยควรมีศีล ๕ ปรากฏว่า ชุดเบญจศีลนี้ มีแค่ศีลเท่านั้น ไม่มีองค์มรรคด้านจิต และปัญญาเลย แสดงว่าไม่พอที่จะเจริญงอกงามพัฒนาก้าวไปในวิถีของพระพุทธศาสนา นี่แหละจึงว่าอย่างต่ำ คือ ยังทำอะไรไม่ได้ ก็ให้เว้นชั่วร้าย ให้พอยู่กันได้ ไม่เบียดเบียนกันนัก

อย่างไรก็ตาม ที่จริงนั้น ท่านไม่ได้ปล่อยทิ้งศีล ๕ ออกไปจากระบบองค์รวมหรือธรรมสามัคคี

แต่ท่านใช้วิธีจัดระบบใหม่เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือเมื่อมีเหตุที่จะต้องยอมให้แยกศีลออกไปเป็นชุดต่างหากอย่างนั้น แล้วท่านก็นำองค์มรรคด้านจิต และด้านปัญญา ไปจัดเป็นชุดอื่นเตรียมไว้ต่างหาก (ไม่มาอยู่ในชุดเดียวกันอย่างในกุศลกรรมบถ) และ
ท่านก็แนะนำสอนให้คนที่เริ่มปฏิบัติชุดศีล ๕ นั้นก้าวต่อไป ให้เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นอริยสาวกอริยสาวิกา และว่า นอกจากชุดศีล ๕ นั้นแล้ว ก็ให้ปฏิบัติชุดโน้นๆ ซึ่งเป็นด้านจิต และปัญญาให้ครบด้วย

ชุดด้านจิต และด้านปัญญา ที่จะมารวมกับชุดศีลนั้น พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นมาตรฐานทีเดียว เจาะจงสำหรับคฤหัสถ์ คือ ชาวบ้าน ตามปกติมี ๔ ชุด (บางทีมีชุดแถมเตรียมไว้ให้อีก ๑ ชุด รวมเป็น ๕ ชุด) ในหนังสือนี้ เคยกล่าวไว้ในที่อื่นแล้ว แต่ในพระไตรปิฎก ท่านแสดงไว้บ่อยมาก ดังนั้น ถึงแม้ที่นี้ จะกล่าวซ้ำ ก็สมควร แต่ก็จะไม่แสดงรายละเอียดเต็มบาลี เพียงคัดมาพอเห็นรูปเค้า

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 17:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


หลังจากตรัสถึงการจัดการเพื่อชัยชนะโลกนี้ (คือการดูแลจัดการบ้านเรือน ผู้คนทรัพย์สินเงินทองที่เป็นเรื่องของทิฏฐธัมมิกัตถ์) แล้ว ก็ตรัสถึงการจัดการเพื่อชัยชนะต่อโลกหน้า (ด้านสัมปรายิกกัตถ์) ต่อไป ดังนี้

“ดูกรวิสาขา สตรี (มาตุคาม) ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชนะโลกหน้า ชื่อว่าจัดโลกหน้าไว้แล้ว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน ?

๑)...สตรีถึงพร้อมด้วยศรัทธาอย่างไร ? ...สตรีเป็นผู้ศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคต (ตถาคตโพธิสัทธา) ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์...

๒) ...สตรีถึงพร้อมด้วยศีลอย่างไร ? ...สตรีเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท และจากสุราเมรัยและของเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท...

๓)...สตรีถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างไร ? ...สตรีอยู่ครองเรือน โดยมีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มีน้ำใจเผื่อนแผ่เสียสละเต็มที่ มีมือที่แบ (พร้อมที่จะให้) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการเจือจานแบ่งปัน...

๔)...สตรีถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างไร ? ...สตรีเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยอริยปัญญา ที่หยั่งถึงการเกิด และการดับ ชำแรกเรื่องได้ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยถูกต้อง


อีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็ควรมีแต่ไม่จำเป็นเท่า ๔ อย่างนั้น ได้แก่ สุตะ คือ ความรู้จากการเล่าเรียนเขียนอ่าน สดับฟัง หรือจำพวกข้อมูลข่าวสาร ถ้าเป็นพหูสูต ก็ยิ่งดี


การที่ยกเรื่องนี้มากล่าว ก็เพราะชาวพุทธจำนวนมากพูดกันอยู่ และหยุดกันอยู่ แค่ศีล

แม้จะนึกถึงพูดถึงหลักธรรมอื่น บ้าง ก็สับสนไม่เป็นระบบทั้งที่จัดเตรียมไว้ให้แล้ว ที่จะให้คนที่อยู่ในการพัฒนาทุกระดับ มีศีล จิต/สมาธิ ปัญญาครบ จึงควรพูดอย่างน้อยกับตนเองให้แม่นใจว่า พระพุทธเจ้าทรงย้ำให้คฤหัสถ์ หรือ ชาวบ้าน มีศรัทธา ศีล ๕ (+ สุตะ) จาคะ และปัญญา แล้วจากความพร้อมของธรรมสามัคคีระดับนี้ อริยมรรคก็เหมือนเปิดกว้างให้ก้าวหน้าพัฒนาอย่างดีต่อไป


๕. คำว่า "ศีล" มีความหมาย และขอบเขตกว้างขวางมาก และมีการใช้ทั้งแบบเคร่งครัด และอย่างหลวมๆ ยิ่งเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็มีการเพี้ยน และคลุมเครือยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมักจะสับสนกันบ่อยกับคำว่า วินัย ซึ่งบางทีก็ใช้ปนๆกันไป บางทีก็เหมือนใช้แทนกันได้
เวลานี้ แม้จะต้องยอมตามความนิยม แต่ก็ควรจะใช้อย่างรู้เท่าทัน และอย่างน้อยสามารถแยกความหมายได้ในขั้นพื้นฐาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ในที่นี้ จะแสดงความหมายในแง่ที่เหมือนว่า วินัยเป็นส่วนหนึ่งของศีล เมื่อตกลงพูดในแง่นี้ ก็บอกว่า เบื้องแรกมีธรรม ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา แล้วใน ๓ อย่างนี้ สมาธิ และปัญญาเป็นธรรมอย่างเดียว

ส่วนศีลนอกจากเป็นธรรมแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นวินัยด้วย

ดังนั้น จึงแบ่ง ศีล ได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑) ศีลในระดับที่เป็นธรรม (ธรรมขั้นศีล) ได้แก่ หลักความประพฤติทางกายวาจาและอาชีวะที่แนะนำสั่นสอนกันโดยถือเอาภาวะที่ควร จะมีควรจะเป็นตามธรรมชาติเป็นหลักและผู้ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนย่อมได้รับผลดี หรือชั่วโดยรับผิดชอบต่อกฎธรรมดาของธรรมชาติเองโดยตรงรวมทั้งการปฏิบัติศีล และการรักษาวินัยที่ได้กลายเป็นความประพฤติประจำตัว หรือ เป็นคุณสมบัติของบุคคล

๒) ศีลในระดับที่เป็นวินัย (วินัยขั้นศีล) ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับตลอดจนระบบกิจการที่จัดตั้งวางตราขึ้นเป็นบัญญัติทาง สังคมเพื่อกำหนดและกำกับความประพฤติของบุคคลให้เป็นไปตามความมุ่งหมายจำเพาะ ของหมู่ชนหรือชุมชนนั้นโดยมีระบบการจัดการบังคับควบคุมให้ได้ผลเป็นจริงตาม ที่กำหนดไว้รวมทั้งมีการลงโทษ (ต่างหากจากการได้รับผลทางจิตใจตามกฎธรรมชาติ)

ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด วินัยยังไม่เป็นศีล แต่วินัยคือส่วนที่พ่วงอยู่กับศีล หรือห้อยไว้กับศีล เป็นระบบวิธีจัดการทางสังคม ที่จะฝึกคนให้มีศีล หรือพูดให้สั้นว่า วินัย ก็คือ วิธีจัดการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง
ส่วนศีลนั้นอาศัยวินัย แต่ไม่ใช่วินัย เพราะศีลเป็นส่วนหนึ่งของธรรม

วิธีแยก คือ ธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ วินัย เป็นเรื่องของสังคม หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์

เมื่อแยกแยะความหมายให้เข้าใจดีเป็นฐานไว้แล้ว ก็สามารถพูดถึงศีล ในความหมายแบบหลวมๆ สบายๆ เป็นขั้นๆ แง่ๆ ได้ต่างๆ เช่นว่า

ศีล เป็นระเบียบวินัย เพื่อสร้างสังคมที่เรียบร้อย ไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข เป็นสภาพเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิต และปฏิบัติกิจของสมาชิกทั้งหลาย

ศีล เป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติ ทำให้กายวาจาเรียบร้อยงดงามอยู่ในระเบียบ

ศีล เป็นความประพฤติที่ดีงามเกื้อกูลของบุคคล ในการสัมพันธ์กับผู้อื่นและต่อสิ่งแวดล้อม อันทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตัวเขาและแก่คนอื่นทั้งหลายตลอดทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม

ศีล เป็นข้อปฏิบัติสำหรับกำจัดกิเลสขั้นหยาบ ที่แสดงออกทางกายวาจา ขัดเกลาคนให้ประณีตขึ้น

ศีล เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมกาย วาจา และอาชีวะ ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในระดับสมาธิ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพจิตและช่วยให้จิต มีสมรรถภาพ ที่จะใช้อย่างได้ผล

ศีล เป็นสภาพปกติทางกายวาจา และอาชีวะ ของผู้ที่มีชีวิตดีงาม หรือคนที่ได้รับการฝึกอบรมดี มีการศึกษาแท้จริง บรรลุภูมิธรรมอันสูงแล้ว

๖. สาระของศีลอยู่ที่ เจตนา ได้แก่ การไม่ตั้งใจ ไม่คิดล่วงละเมิด คำว่า ละเมิด แง่หนึ่งคือ ละเมิดระเบียบ กฎเกณฑ์ บทบัญญัติ ละเมิดวินัยที่วางกันไว้
อีกแง่หนึ่ง คือ ละเมิดต่อผู้อื่น หมายถึงเจตนา ที่จะเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง ศีลจึงหมายถึงการไม่เจตนาละเมิดระเบียบวินัย หรือ การไม่เจตนาล่วงเกินเบียดเบียนผู้อื่น
ถ้ามองแต่อาการหรือการกระทำ ศีลก็คือ ความไม่ละเมิด และการไม่เบียดเบียน

มองอีกด้านหนึ่ง ศีลอยู่ที่ความสำรวม กล่าวคือ การสำรวมระวัง คอยปิดกั้นหลีกเว้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นนั่นเอง เป็น ศีล และ
ถ้ามองลึกที่สุด สภาพจิตของผู้ไม่คิดจะละเมิด ไม่คิดจะเบียดเบียนใครนั่นแหละ คือตัวศีล*
……….
อ้างอิงที่ *

* ศีล ได้แก่ เจตนา ได้แก่ เจตสิก ได้แก่ สังวร ได้แก่ อวีติกกมะ (ขุ.ปฏิ.๓๑/๘๙/๖๔ อธิบายใน วิสุทธิ.๑๘)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 20:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 20:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เจตนา ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตจำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่งหรือเป็นตัวการในการทำกรรมหรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ...." แปลว่า "เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม"


เจตสิก ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2017, 20:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พึงทำความเข้าใจคำว่า "เจตนา" สักเล็กน้อย เจตนาในทางธรรม มีความหมายละเอียดอ่อนกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือในภาษาไทย มักใช้เจตนาต่อ เมื่อต้องการเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ภายใน กับ การกระทำที่แสดงออกมาในภายนอก เช่นว่า พูดพลั้งไป ไม่ได้เจตนา หรือเขากระทำการโดยเจตนา เป็นต้น

แต่ในทางธรรม คือตามหลักกรรมนี้ การกระทำ การพูด ที่แสดงออกภายนอกโดยจงใจก็ดี
ความคิดต่างๆ แม้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ๆ ชั่วครู่ชั่วขณะแล้วผ่านไปๆ ภายในจิตใจก็ดี
การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ดี
ความรู้สึกและท่าทีของจิตใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่ระลึกหรือนึกขึ้นมาในใจ ก็ดี ล้วนมีเจตนาประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น

เจตนาจึงเป็นเจตจำนง ความจงใจ การเลือกอารมณ์ของใจ ตัวนำที่หันเหชักพาทำให้จิตเคลื่อนไหวโน้มน้อมไปหา หรือผละไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นหัวหน้าเป็นผู้จัดการ หรือเจ้ากี้เจ้าการของจิตว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไร กับเรื่องใดอย่างไร เป็น ตัวการจัดแจงแต่งวิถีทางของจิต และในที่สุดก็เป็นตัวการปรุงแต่งจิตนั้น ให้เป็นไปต่างๆ

เมื่อเจตนาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือกรรมเกิดขึ้นทีหนึ่ง เมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีผลทันที เพราะเมื่อเจตนาเกิดขึ้น ก็คือมีกิจกรรมเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตมีการเคลื่อนไหว หรือไหวตัวแล้ว

แม้เป็นเพียงความคิดอะไรเล็กน้อย ซึ่งถึงจะไม่มีผลอะไรสำคัญ แต่ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย
อย่างน้อยก็เป็นละอองกรรมอันละเอียดที่สั่งสม หรือพอกเข้าไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งคุณสมบัติของจิตอยู่ภายใน เมื่อมากขึ้น เช่น จิตเสพความคิดนั้นบ่อยๆ หรือความคิดนั้นรุนแรงขึ้นจนออกมาภายนอก ผลก็แรงขึ้น ขยายออกมาเป็นลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 10:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 10:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไปนี้ จะสรุปหลักทั่วไปของศีล หรือศีลพื้นฐานไว้ แล้วนำพุทธพจน์ และบาลีภาษิตเกี่ยวกับศีลสำหรับคนทั่วไปหรือประชาชน มาแสดงไว้พอเป็นแนวประกอบความเข้าใจในเรื่องศีล ให้เห็นความหมาย ขอบเขต และเนื้อหาของศีลชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลพื้นฐาน

ศีลพื้นฐาน คือ ศีลที่เป็นหลักกลาง ซึ่งเป็นความหมายของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ที่เป็นองค์ของมรรค ได้แก่ การพูด การกระทำ การประกอบอาชีวะอย่างไรก็ตาม ที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งปราศจากความทุจริต หรือความคิดเบียดเบียน กินความคลุมถึงสุจริตที่เป็นคู่กันด้วย ดังที่เคยยกมาแสดงไว้ตั้งแต่ต้น
ในที่นี้ นำมาแสดงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตั้งเป็นฐาน และเป็นการทบทวนไปพร้อมกัน ดังนี้

๑. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่
๑) ละมุสาวาท เว้นการพูดเท็จ (คลุม สัจจวาจา พูดคำจริง)
๒) ละปิสณาวาจา เว้นการพูดส่อเสียด (คลุม สมัคคกรณีวาจา พูดคำสมานสามัคคี)
๓) ละผรุสวาจา เว้นการพูดคำหยาบ (คลุม สัณหวาจา พูดคำอ่อนหวานสุภาพ)
๔) ละสัมผัปปลาปะ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ (คลุม อัตถสัณหิตาวาจา พูดคำมีประโยชน์)

๒. สัมมากัมมันตะ กระทำขอบ ได้แก่
๑) ละปาณาติบาต เว้นการทำลายชีวิต (คลุม การกระทำที่ช่วยเหลือเกื้อกูล)
๒) ละอทินนาทาน เว้นการเอาของที่เขามิได้ให้ (คู่อยู่สัมมาอาชีวะ หรือทาน)
๓) ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นการประพฤติผิดในกาม (คลุม สทารสันโดษ)

๓. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ ละมิจฉาชีพ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ รวมถึง ความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพที่สุจริต เช่น ทำงานไม่ให้คั่งค้างอากูล (ไม่หมักหมม ไม่ผัดเพี้ยน ไม่จับจด ไม่ยุ่งเหยิงสับสน) เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ดังที่ได้กล่าวแล้ว สำหรับคนทั่วไป ท่านผ่อนลงมา เหมือนจับเอาศีลพื้นฐานนี้ ส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง มาแสดงเป็นข้อกำหนดอย่างต่ำที่สุดในทางความประพฤติของมนุษย์ เท่าที่พอจะให้สังคมมนุษย์อยู่กันโดยปกติสุข ให้แต่ละคนมีชีวิตที่ไม่เป็นโทษภัย หมู่ชนไม่เบียดเบียนกันจนเดือดร้อนมากนัก
เรียกข้อกำหนดนี้ว่า สิกขาบท (ข้อศึกษา หรือข้อฝึกความประพฤติ) ๕ หรือที่นิยมเรียกกันเป็นสามัญว่า ศีล ๕ ได้แก่

๑. เว้นจากปาณาติบาต คือ ไม่ทำลายชีวิต

จับสาระว่า ความประพฤติ หรือการดำเนินชีวิต ที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางด้านชีวิตร่างกาย

๒. เว้นจากอทินนาทาน คือ ไม่เอาของที่เขามิได้ให้ หรือไม่ลักขโมย

จับเอาสาระว่า ความประพฤติ หรือดำเนินชีวิต ที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์

๓. เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือ ไม่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

จับเอาสาระว่า ความประพฤติ หรือดำเนินชีวิต ที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางด้านคู่ครอง บุคคลที่รักหวงแหน ไม่ผิดประเพณีทางเพศ ไม่นอกใจคู่ครองของตน ไม่ทำลายสายตระกูลวงศ์ของผู้อื่น

๔. เว้นจากมุสาวาท คือไม่พูดเท็จ

จับเอาสาระว่า ความประพฤติ หรือดำเนินชีวิต ที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยวาจาเท็จโกหกหลอกลวงตัดรอนประโยชน์หรือแกล้งทำลาย

๕. เว้นจากสุราเมรัย และของมีนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือไม่เสพของมึนเมา

จับ เอาสาระว่า ความประพฤติ หรือดำเนินชีวิต ที่ปราศจากความประมาทพลั้งพลาดมัวเมาเนื่องจากการใช้ สิ่งเสพติดที่ทำให้เสียสติสัมปชัญญะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมาย และขอบเขตของศีล ๕ และศีลจำพวกเดียวกันนั้น ที่จำกันไว้ มักว่าตามที่อธิบายสืบๆ กันมาในชั้นหลัง ในที่นี้ จึงขอนำพุทธพจน์มาแสดงให้พิจารณา

"คหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายสำหรับน้อมเข้ามาเทียบตัว....

๑) อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเองอยากมีชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ถ้าใครจะปลงชีวิตเรา ผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะปลงชีวิตคนอื่น ผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน
สิ่งใดตัวเราเองไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นเขาก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ เหมือนกัน สิ่งใด ตัวเราเองก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่คนอื่นเล่า

อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้

๒) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ถ้าใครจะถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วย อาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะถือเอาของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน

๓) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะประพฤติผิดในภรรยาของ เรา ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน

๔) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน...

๕) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วย คำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าใครจะยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน...

๖) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะพูดจากะคนอื่นด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน.

๗) อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา ก็ถ้าเราจะพูดจากะคนอื่นด้วยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน,

สิ่งใด ตัวเราเองก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นเขาก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ เหมือนกัน สิ่งใดตัวเราเองก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่ให้คนอื่นเล่า

อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้" * (สํ.ม.๑๙/๑๔๕-๑๔๖๕/๔๔๒-๖)


“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลาย เคยได้เห็น หรือได้ยินบ้างไหมว่า บุรุษนี้ละปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว พระราชาทั้งหลายจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นเหตุ อย่างนี้ เธอทั้งหลาย เคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?

“ไม่เคยเลยพระเจ้าข้า”

“ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน...มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิง หรือ ชายตาย พระ ราชาทั้งหลายจึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ อย่างนี้ เธอทั้งหลายเคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?

“เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า”

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็น หรือได้ยินบ้างไหมว่า (บุรุษผู้นี้ ละอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทานแล้ว....จากกาเมสุมิจฉาจารแล้ว....จากมุสาวาท แล้ว...จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานแล้ว) พระราชาทั้งหลาย จับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะการเว้นจากอทินนาทาน....จากกาเมสุมิจฉาจาร....จากมุสาวาท...จากสุรา เมรยมัชชปมาทัฏฐานเป็นเหตุ”

“ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า”

“ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน...มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้าน หรือจากป่า...คนผู้นี้ประพฤติละเมิดในสตรี หรือในบุตรีของผู้อื่น....คนผู้นี้ทำลายประโยชน์ของชาวบ้าน หรือลูกชาวบ้าน ด้วยการกล่าวเท็จ....คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วฆ่าหญิง หรือ ชายตาย ....คน ผู้นี้ร่ำสุราเมรัย ฯ แล้วลักทรัพย์เขาจากบ้านหรือจากป่า... .คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วประพฤติละเมิดในสตรี หรือบุตรีของผู้อื่น... .คนผู้นี้ร่ำสุราเมรัยฯ แล้วทำลายประโยชน์ของชาวบ้าน หรือลูกชาวบ้าน ด้วยการกล่าวเท็จ พระราชาทั้งหลาย จึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะอทินนาทาน....กาเมสุมิจฉาจาร...มุสาวาท...สุราเมรัยฯ เป็นเหตุ อย่างนี้เธอทั้งหลาย เคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?"

“เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า" * (องฺ.ปญฺจก.22/178/232 แปลรวบความ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 11:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาชญากรรมที่ร้ายแรงแทบทั้งหมด เป็นเรื่องของการละเมิดศีล ๕

ในสังคมที่มากด้วยการสังหารผลาญชีวิต การปองร้าย การทำร้ายกัน การลักขโมย ปล้นแย่งชิง การทำความผิดทางเพศ มีคดีฆาตกรรม โจรกรรมการ ข่มขืน หลอกลวง การเสพของมึนเมา และสิ่งเสพติด
ตลอดจนการก่อปัญหา และอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องมาจากของมึนเมา และสิ่งเสพติดเหล่านั้น ระบาดแพร่หลายทั่วไป
ชีวิต และทรัพย์สินไม่ปลอดภัย จะอยู่ไหนหรือไปที่ไหน ก็ไม่มีความมั่นใจ เต็มไปด้วยความห่วงใย วิตกกังวล จิตใจหวาดผวาบ่อย ๆ
ผู้คนพบเห็นกัน แทนที่จะอบอุ่นใจ ก็หวาดระแวงกันอยู่กันไม่เป็นปกติสุข
สุขภาพจิตของประชาชน ย่อมเสื่อมโทรม ยากที่จะพัฒนาคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต

ในเวลาเดียวกัน สังคมเช่นนั้น ก็ไม่เป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการพัฒนาใดๆ เพราะมัววุ่นวายระส่ำระสาย ยุ่งแต่กับการแก้ปัญหา และมีแต่กิจกรรมที่บ่อนทำลายสังคมให้เสื่อมโทรมลงไป

โดยนัยนี้ การขาดศีล ๕ จะเนื่องมาจากเหตุใดก็ตาม จึงเป็นมาตรฐานวัดความเสื่อมโทรมของสังคม
ส่วนสภาพพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตที่ตรงข้ามจากนี้นั่นแหละ คือ การมีศีล ๕

ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคม ให้อยู่ในภาวะเกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และการพัฒนาที่สูงขึ้นไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 11:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระอรรถกถาจารย์ ได้ประมวลหลักเกณฑ์บางอย่างไว้ สำหรับกำหนดว่า การกระทำแค่ไหนเพียงใด จึงจะขิ้อว่าเป็นการละเมิดศีลแต่ละข้อๆ เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้รักษาศีล โดยจัดวางเป็นองค์ประกอบของการละเมิด เรียกว่าสัมภาระ หรือเรียกง่ายๆว่า "องค์"


บุคคลจะชื่อว่าละเมิดศีล (เรียกกันง่ายๆว่าศีลข้อนั้นจะขาด) ต่อเมื่อกระทำการครบองค์ทั้งหมดของการละเมิด ดังนี้ *

ศีลข้อ 1 ปาณาติบาต มีองค์ 5 คือ 1. สัตว์มีชีวิต 2. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต 3. จิต คิดจะฆ่า 4. มีความพยายาม 5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อ 2 อทินนาทาน มีองค์ 5 คือ 1. ของผู้อื่นหวงแหน 2. รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน 3. จิตคิดจะลัก 4.มีความพยายาม 5.ลักของได้ด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ 4 คือ 1. อคมนียวัตถุ ได้แก่ สตรี หรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด 2.จิตคิดจะเสพ 3. มีความพยายามในการเสพ 4. ยังมรรค คือ อวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน

ศีลข้อ 4 มุสาวาท มีองค์ 4 คือ 1. เรื่องไม่จริง 2. จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน 3. มีความพยายามเกิดจากจิตที่คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น 4. ผู้อื่นเข้าใจความที่พูดนั้น

ศีลข้อ 5 สุราเมรัย ฯ มีองค์ 4 คือ 1. สิ่งนั้นเป็นของเมา 2. จิตใคร่จะดื่ม 3. มีความพยายามเกิดจากจิตที่ใคร่จะดื่มนั้น 4. กลืนให้ล่วงลำคอลงไป


สำหรับศีลข้อ 1 คือ เว้นปาณาติบาตนั้น แม้ว่าการฆ่าสัตว์จะมุ่งเอาสัตว์ที่เรียกว่ามนุษย์เป็นหลัก ดังพุทธพจน์ ที่ยกมาแสดงแล้ว
แต่สัตว์จำพวกที่เรียกว่า ดิรัจฉาน ก็รักชีวิต รักสุขเกลียดทุกข์ เป็นเพื่อนร่วมโลก เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่ควรเบียดเบียนเช่นเดียวกัน
ศีลข้อนี้ ท่านจึงให้แผ่คลุมไปถึงสัตว์จำพวกดิรัจฉานด้วย แต่ยอมรับว่า การฆ่าสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มีโทษน้อยกว่าการฆ่าสัตว์จำพวกมนุษย์



ในเรื่องนี้ อรรถกถาก็ได้แสดงหลักสำหรับวินิจฉัยว่า การฆ่าสัตว์ใดมีโทษน้อย หรือโทษมาก โดยดูที่

๑. คุณ สัตว์มีคุณมาก ฆ่าก็มีโทษมาก สัตว์มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ ก็มีโทษน้อย เช่น ฆ่าพระอรหันต์ มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ช่วยงาน มีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น

๒. ขนาดกาย สำหรับสัตว์จำพวกดิรัจฉานที่ไม่มีคุณเหมือนกัน ฆ่าสัตว์ใหญ่มีโทษมาก ฆ่าสัตว์เล็กมีโทษน้อย

๓. ความพยายาม มีความพยายามมากในการฆ่า มีโทษฆ่า มีความพยายามน้อย มีโทษน้อย

๔. กิเลส หรือเจตนา กิเลสหรือเจตนาแรง มีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย เช่น ฆ่าด้วยโทสะ หรือจงใจเกลียดชัง มีโทษมากกว่าฆ่าด้วยป้องกันตัว เป็นต้น

แม้ในศีลข้ออื่นๆ ท่านก็กล่าวถึงการละเมิดที่มีโทษมากหรือโทษน้อยไว้แนวเดียวกัน เช่น

-อทินนาทาน มีโทษมากหรือน้อย ตามคุณค่าของสิงของ คุณความดีของเจ้าของ และความพยายามในการลัก

-กาเมสุมิจฉาจาร มีโทษมากหรือน้อย ตามคุณความดีของคนที่ถูกละเมิด ความแรงของกิเลสและความเพียรพยายาม

-มุสาวาท มีโทษมากหรือน้อย แล้วแต่ประโยชน์ที่จะถูกตัดตอน เป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็กน้อย และแล้วแต่ผู้พูด เช่น คฤหัสถ์จะไม่ให้ของของตน พูดไปว่าไม่มี ก็ยังมีโทษน้อย แต่ถ้าเป็นพยายามเท็จ มีโทษ สำหรับบรรพชิต พูดเล่นมีโทษน้อย จงใจบอกของที่ไม่เคยเห็นว่าเห็น มีโทษมาก

-การดื่มของเมา มีโทษมากน้อย ตามอกุศลจิตหรือกิเลสในการที่จะดื่ม ตามปริมาณที่ดื่ม และตามผลที่จะก่อให้เกิดการกระทำผิดพลาดชั่วร้าย * (ที่มาเดียวกับเรื่ององค์ของการละเมิดศีล และวิภงฺค อ. 497)

.........
ที่อ้างอิง *
* ครบเฉพาะศีล ๕ มาใน อิติ.อ.299-304; มีเฉพาะ ๔ ข้อต้น แล้วกล่าวถึงกรรมบถข้ออื่นๆ ต่อไป คือ ม.อ.1/276-7 ฯลฯ และคัมภีร์รุ่นหลังนำมาอ้างต่อ เช่น มงฺคล.1/210-4 ; องค์ของการละเมิดปิสุณวาจา เป็นต้น ไม่ได้ยกมาแสดงในที่นี้ด้วย เพราะประสงค์จะแสดงเพียงศีล ๕; อนึ่ง สำหรับศีลข้อ ๕ ปัจจุบัน สิ่งเสพติดที่เสพได้โดยวิธีการอย่างอื่นนอกจากดื่ม พึงจับเอาสาระมาเทียบเคียง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในยุคหลังต่อมา ปราชญ์ได้นำเอาธรรมบางข้อ ที่เข้าคู่กันกับสิกขาบทหรือศีล ๕ นั้น มาจัดวางเป็นหมวดขึ้น สำหรับแนะนำให้คฤหัสถ์ปฏิบัติคู่กันไปกับ เบญจศีล โดยเรียกชื่อว่า เบญจธรรม หรือ เบญจกัลยาณธรรม

ข้อธรรมที่นำมาจัดนั้น ก็เดินตามแนวของหลักที่เรียกว่ากุศลกรรมบถนั่นเอง แต่ในการเลือกข้อธรรมมาจัดเข้า มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแง่ของข้อธรรมที่มีความหมายกว้างแคบกว่ากัน *

หัวข้อของ เบญจธรรม นั้น เรียงตามลำดับให้เข้าคู่กับ ศีล ๕ คือ

๑. เมตตา และกรุณา
๒. สัมมาอาชีวะ (บางท่านเลือกเอา หรือรวมเอา ทานเข้าด้วย)
๓ กามสังวร คือ ความรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ หรือเรื่องรักใคร่ ไม่ให้ผิดศีลธรรม (บางท่านเลือกเอา สทารสันโดษ คือความยินดีด้วยคู่ครองของตน)
๔.สัจจะ
๕. สติสัมปชัญญะ (บางท่านเลือกเอา อัปปมาท คือความไม่ประมาท ซึ่งได้ความเกือบไม่ต่างกัน)

สำหรับข้อสทารสันโดษ ที่เป็นข้อปฏิบัติตรงข้ามกับกาเมสุมิจฉาจาร มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวไว้ คือ สทารสันโทษ แปลว่า ความพอใจด้วยภรรยาของตน ว่าโดยสาระก็คือ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน

แม้ว่ามองกว้างๆ หลักการจะเปิดให้เกี่ยวข้องกับจำนวนของคู่ครอง มิได้กำหนดไว้ตายตัวว่าคนเดียวหรือกี่คน สุดแต่ตกลงยินยอมกัน โดยสอดคล้องกับประเพณีและบัญญัติของสังคม โดยถือสาระว่า ไม่ละเมิดต่อคู่ครองหรือของหวงห้ามที่เป็นสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดฝ่าฝืนความสมัครใจของคู่กรณี และไม่นอกใจคู่ครองของตน เมื่อพร้อมใจกันและเป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ละเมิดและไม่เสียความซื่อสัตย์ต่อกันแล้ว ก็ไม่จัดเป็นเสีย

แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อว่าโดยนิยม ท่านยกย่องการมีคู่ครองแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งมีความรักใคร่ภักดีต่อกันมั่นคงยั่งยืน มีความมั่นคงภายในครอบครัว ลูกหลานมีความร่มเย็นเป็นสุขและอบอุ่นใจ ดังชีวิตของคู่อริยสาวก นกุลบิดาและนกุลมารดา ที่เป็นแบบฉบับบันทึกไว้ในพระสูตรเป็นตัวอย่าง

สามีภรรยาคู่นี้ เป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน และเป็นเอตทัคคะในทางสนิทสนมคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า
ทั้งสองท่านมีความประสานสอดคล้องโดยความรักภักดี และความซื่อสัตย์ ซึ่งนำไปสู่ความกลมกลืนกันโดยคุณธรรม จนปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า

ดังความที่บันทึกไว้ ซึ่งนกุลบิดาคฤหบดีได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ นับแต่เวลาที่ตระกูลนำนกุลมารดาคหปตานีซึ่งยังเป็นสาวมา เพื่อข้าพระองค์ผู้ยังเป็นหนุ่ม ข้าพระองค์มิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจนกุลมารดาคหปตานีเลยแม้ด้วยใจ ที่ไหนจะประพฤตินอกใจด้วยกาย ข้าพระองค์ทั้งสองปรารถนาพบกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ"

แม้นกุลมารดาคหปตานี ก็ได้ทราบทูลความอย่างเดียวกัน* (องฺ.จตุกฺก.21/55/80)

สทารสันโดษนี้ ท่านจัดเป็นพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง แสดงว่าเป็นความประพฤติและการดำเนินชีวิตที่ได้รับยกย่องอย่างสูงในพระพุทธ ศาสนา ท่านว่าเป็นเหตุอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ไม่ตายแต่ยังหนุ่มสาว ดังความว่า


"พวกเราไม่ประพฤตินอกใจภรรยา และภรรยาก็ไม่ประพฤตินอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ในหญิงอื่น นอกจากภรรยาของพวกเรา ฉะนั้น พวกเราจึงไม่มีใครตายตั้งแต่ยังหนุ่มสาว" (ที.อ.2/222 ฯลฯ)

ภาษิตต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นบทสรุปศีล

"ผู้ใด สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ ไม่กระทำความชั่วใดๆ ไม่พูดเหลาะแหละเพราะเห็นแก่ตน คนเช่นนั้น เรียกว่าผู้มีศีล" (ข.ชา.27/2466/540)

และพุทธพจน์ต่อไปนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นสาระของศีล

"จงสร้างความเกษมในปวงสัตว์"* (ม.มู.12/98/70 - อรรถกถาอธิบายว่า ความเกษมหมายถึงอภัย ความเกื้อกูล เมตตา และว่า ข้อความนี้หมายถึงความบริสุทธิ์ทางมโนทวาร – ม.อ.1/247 )

........
ที่อ้างอิง *
* เวลานี้ ถ้าหนุนให้ชาวพุทธคิดถึงการที่จะพัฒนาตนจากการถือศีล ๕ ขึ้นไปถือหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ (ที่บางทีเรียกว่า โสไจย บ้าง ธรรมจริยา บ้าง) คงจะดีทีเดียว เพราะมาตามหลักแท้ๆ มีองค์ประกอบครบทั้ง ศีล จิต และปัญญา จะเข้าทางของมรรคโดยตรง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร