วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2013, 17:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โอวาทธรรม
ของ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส
บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


:b42: :b42:

ในการเทศน์อบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมักจะกล่าวปรารถเปรียบเทียบให้ญาติโยมฟังอยู่เสมอว่า
“การเทศน์การสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น เหมือนกับการจับปลานอกสุ่ม”
(สุ่มคือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง) การจับปลานอกสุ่มนั้นใครๆ ก็ย่อมรู้ว่ามันยากขนาดไหน
เพราะปลามันมีที่จะไปได้หลายทางโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มันจึงไม่ยอมให้จับได้ง่ายๆ
ไม่เหมือนปลาที่อยู่ในสุ่ม ซึ่งมีขอบเขตจำกัดบังคับมันอยู่ จึงจับได้ง่าย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าปลานอกสุ่มจะจับไม่ได้เลย จับได้เหมือนกันสำหรับผู้มีปัญญา

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีอุบายวิธีอันชาญฉลาดมากในการสั่งสอนคน
ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวปรารถทำนองถ่อมตน
แต่องค์ท่านก็สามารถอบรมสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจของญาติโยม
ให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส
มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามปฏิทาของท่าน เป็นจำนวนมากมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้

ข้อที่น่าสังเกตในอุบายวิธีการสอนญาติโยมของท่านคือ
ท่านจะสอนเน้นเป็นรายบุคคลเฉพาะผู้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรม
ตามที่ท่านได้พิจารณาดูภายในแล้วเท่านั้น
ถ้าหากญาติโยมผู้ใดถูกท่านพระอาจารย์มั่นทักซักถามแล้ว จะต้องตั้งใจฟังให้ดีๆ
นั่นแสดงว่าท่านจะบอกขุมทรัพย์ให้ จึงเป็นบุญวาสนาของบุคคลนั้นโดยแท้
และบุคคลผู้นั้นจะถูกท่านซักถามแนะนำติดตามผลอยู่เสมอตามอุบายวิธีของท่าน
จนสมควรแต่บุญวาสนาของบุคคลนั้นแล้ว ท่านจึงปล่อย
ให้ดำเนินตามที่ท่านแนะสอนเพื่อเพิ่มบารมีของเขาจนแก่กล้าเป็นลำดับต่อไป

สมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก
ทั้งหญิงทั้งชายหลังจากได้พากันละเลิกนับถือผีแล้ว โดยเฉพาะอาจารย์หลุย
ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรกให้ละเลิกนับถือผี ถือผิดเหล่านั้น
ให้หันหน้ามานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจัง
มี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแทน
และท่านยังได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาพร้อมทั้งเดินจงกรมด้วย
พากันปฏิบัติอย่างนั้นมาเรื่อยๆ จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้น

บางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน
โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี
สมาทานศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน ที่สำคัญมีคุณยายขาวกั้ง เทพิน
คุณยายขาววัน พิมพ์บุตร คุณยายขาวสุภีร์ ทุมเทศ คุณยายขาวตัด จันทะวงษา
คุณยายขาวเงิน โพธิ์ศรี คุณยายขาวงา มะลิทอง คุณยายขาวกาสี โพธิ์ศรี
และคุณแม่ชีกดแก้ว จันทะวงษา โดยมีพระอาจารย์หลุย เป็นผู้บวชให้

เมื่อบวชแล้วไปอยู่ตามสำนักที่ตั้งขึ้นชั่วคราวใกล้ๆ กับสำนักสงฆ์ของครูบาอาจารย์
เพื่อจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเมื่อมีโอกาส
บางครั้งพวกเขาก็พากันออกไปภาวนาหาความสงบวิเวกตามป่าช้าบ้าง
ตามป่าเชิงเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นบ้าง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ให้แก่จิตใจ
ไปเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางด้านปฏิบัติสมาธิแล้ว
จึงค่อยหาโอกาสเข้าไปกราบนมัสการเล่าถวายท่าน
ท่านก็จะแก้ไขความขัดข้องนั้นให้ด้วยความเมตตากรุณา
จนปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ และได้ปฏิบัติกันอย่างนั้นมาเรื่อยๆ

จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางเข้าไปยังบ้านหนองผือ
และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ยิ่งทำให้คุณยายขาว และแม่ชีและญาติโยม
ซึ่งกำลังมีความสนใจปฏิบัติธรรมอยู่แล้วมีความสนใจมากยิ่งขึ้น
จนบางคนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
ในจำนวนนั้นมีคุณยายขาวกั้ง เทพิน อายุประมาณ ๗๐ กว่าปี
การปฏิบัติสมาธิมีความก้าวหน้ามาก
มีความรู้ความเห็นซึ่งเกิดจากการภาวนาหลายเรื่องหลายประการ
ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทางด้านจิตตภาวนาอยู่เสมอ
เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องทางด้านจิตตภาวนา มีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการ
เล่าปัญหาถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ท่านก็จะแนะอุบายวิธีให้ไปประพฤติปฏิบัติตาม
ในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ตกไป

ตอนหลังคุณยายขาวกั้ง ท่านแก่ชราภาพมากไปมาไม่สะดวก
ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้าน ขณะที่อยู่บ้านท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร
ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ
ทำอย่างนี้ทุกวัน ตอนหนึ่งท่านนั่งสมาธิภาวนาจิตไปเที่ยวเพลิน
ชมเมืองสวรรค์เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้ง
ท่านบอกว่า มันสนุกสนานเพลิดเพลิน เห็นแต่สิ่งสวยงดงามทั้งนั้น
ไปแล้วก็อยากไปอีก เป็นอย่างนี้นอยู่หลายวัน
วันหนึ่งไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ถวายพระอาจารย์มั่น
ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก
แต่คุณยายขาวกั้งก็ยังติดอกติดใจจะไปชมเมืองสวรรค์อีก

คืนหนึ่งคุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ตามที่เคยไป
แต่เหมือนมีอะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้
พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จ คุณยายก็ไปที่วัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น
เล่าเรื่องถวายท่านว่า “เมื่อคืนนี้หลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้”
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า “ไปเที่ยวเฮ็ดยั้ง ดุแท้ (บ่อยแท้)”
คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบว่า “ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวยๆ งามๆ ทั้งนั้น”
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า “เอาล่ะ บ่ต้องไปอีกนะทีนี้”

คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเช่นนั้น
แต่ในใจของคุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก
ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไป เพราะท่านกลัวคุณยายจะผิดทางและเสียเวลา
ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่า จึงจะไม่ผิดทาง
ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไปปฏิบัติตาม
ซึ่งตามปกติคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ
แต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน เพราะคุณยายขาวกั้งจะถามปัญหาที่แก้ไม่ตกจริงๆ เท่านั้น

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นตอบมาอย่างไร คุณยายเข้าใจแล้วจะกราบลาท่านกลับที่พักของตน
เป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญอีกคือ
วันหนึ่งไปที่วัดเพื่อจะไปกราบถามปัญหากับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ
วันนั้นพอเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า
“ฮ้วย...บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาวแหล่วบ่เน้อ”
(หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยายเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ)
เพราะช่วงนั้นคุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่ง แต่งงานใหม่ กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่

ด้วยเหตุนี้คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“ข้าน้อย มิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก”
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า “อ้าว...เอาให้ดีเด้อ...ภาวนาให้ดีๆเด้อ”
เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมากล่าวอยู่เสมอว่า

“แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง
แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด
เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่”


ดังนี้ จากนั้นพระอาจารย์มั่นคงจะแนะอุบายวิธีแก้ให้แก่คุณยายนำไปปฏิบัติ
คุณยายพอได้อุบายแล้วก็ถือโอกาสกราบลาท่านกลับบ้านองตน
เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัว เตรียมใจ
ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ
คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียรนั่งสมาธิ ภาวนาอยู่ประมาณสองหรือสามวันจึงรู้สาเหตุ
แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านั้นได้
จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูกหลานฟังว่า
“พวกสู...กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิ กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้”
(หมายความว่า พวกลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายยายเห็นว่า
ยายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น แต่ว่ายายไม่ต้องการจะเกิดอีก
จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้)

หลังจากนั้นต่อมาไม่นานนางอุ่นหลานสาวของคุณยายขาวกั้งที่กำลังท้องอยู่
ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยายขาวกั้ง
เข้าไปปฏิสนธิของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุ
คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว

สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง เรื่องการภาวนานั้นรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามาก
และเป็นไปได้เร็วกว่าบรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน
แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตาม
การภาวนาของท่านก็เกิดความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก
แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยายที่มีท่านพระอาจารย์มั่น
ซึ่งเป็นคูรบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตตภาวนา
ได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงนั้นพอดี
จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขาวกั้งได้เข้ากราบเรียนถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน
จนเป็นที่อบอุ่นใจของคุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย

ส่วนแม่ขาวแม่ชีนอกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
ประพฤติปฏิบัติทำความพากเพียรตามรอยปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่นมาเรื่อยๆ ตามลำดับ
และได้ครองเพศถือบวช เป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปด
เจริญเมตตาภาวนาของท่านมาจนจิตใจหนักแน่น
มั่นคงในธรรมปฏิบัติไม่อาจกลับย้อนไปถือเพศเป็นผู้ครองเรือนอีกจนตลอดสิ้นอายุขัยของท่านทุกคน

ส่วนฆราวาสญาติโยมผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่อาจสละบ้านเรือนออกถือบวชได้
ก็ตั้งตนอยู่ในภูมิธรรมของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีทั้งหลาย
และมีจิตใจศรัทธามั่นคงอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา
ถือพระไตรสรณคมน์เป็นหลักในการบำเพ็ญตน
ตลอดถึงคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาห้าประการ คือ ประกอบด้วย
ศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ เชื่อกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๑
ไม่แสวงบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา ๑ และบำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา ๑

ดังนี้ ตลอดมาจนสิ้นชีวิตของเขานั่นแล


:b43: :b43:


คัดลอกกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8746


:b45: ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6786

:b45: กระทู้รวมคำสอนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2013, 22:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2012, 17:02
โพสต์: 18


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ สาธุ สาธุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ค. 2021, 12:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร